วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

“นาง”คำยืมจากภาษาเขมรหรือคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีน

เมชฌ สอดส่องกฤษ (2550) “นางคำยืมจากภาษาเขมรหรือคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีน”, วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง,ปีที่ 3 ฉบับที่ 1,หน้า 139 – 178.


“นาง”คำยืมจากภาษาเขมรหรือคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีน
คำสำคัญ ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ คำยืมในภาษาไทย คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีน
บทคัดย่อ นักภาษาศาสตร์มีความสนใจศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายมาตลอด ผลที่ได้จากการศึกษานำไปสู่การจัดแบ่งตระกูลภาษาอย่างถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ของชนชาติต่างๆได้เป็นอย่างดี คำยืมเกิดจากการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กันระหว่างภาษาหนึ่งกับอีกภาษาหนึ่ง ส่วนคำศัพท์ร่วมเชื้อสายคือคำที่นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นภาษาเดียวกัน แล้วพัฒนาแตกสาขาไปเป็นภาษาอื่นๆ แต่ยังคงลักษณะทางภาษาแบบเดิมเป็นเหตุผลในการจัดให้เป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน ในดินแดนที่มีความใกล้ชิดและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันจะพบคำเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งยากที่จะตัดสินว่าเป็นคำยืมระหว่างกันและกัน หรือเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับภาษาที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาแต่อดีต ดังเช่นภาษาไทยที่มีความใกล้ชิดกับภาษาเขมร แต่ในขณะเดียวกันก็เคยมีความสัมพันธ์ร่วมกับภาษาจีนมาตั้งแต่อดีต บทความนี้วิเคราะห์คำว่า “นาง”ในภาษาไทยว่าเป็นคำที่ยืมมาจากคำภาษาเขมรหรือเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับคำในภาษาจีน โดยอาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และบันทึกข้อมูลทางภาษา โดยได้สรุปแนวความคิดสองประเด็นคือ “นาง” ในภาษาไทยไม่ได้ยืมมาจากคำในภาษาเขมร แต่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีน และประเด็นที่สองคือ คำเดียวกันนี้ในภาษาเขมรมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์
"Nang" is it a loanword from Khmer or Thai-Chinese cognate
Key Words: Historical Linguistics; Thai Language Loanwords; Thai-Chinese Cognate
Abstract Linguists have been interested in researching cognates. The outcomes of the researches lead to correct language family. Furthermore, it can indicate the relationships of various human races in certain areas. Loanwords occur when there is communication between different languages. For The cognate, linguistics believe that they have the same origin. As time passed, the words change and evolved to become a new language. Meanwhile, some characteristics still remained so that they are specified as cognates. In the region where cultures are similar and the history in shared, a lot of words containing some of the same characteristics are found, and sometimes, it is hard to judge whether they are cognates or loanwords. In the Thai language which is related to the Khmer language as well as Chinese, there is such a word which is “Nang” . This article considers whether the word “Nang” is a loanword from Khmer or a cognate with a Chinese word relying on historical data and linguistics evidence. The research draws two conclusions. The first on informs us that the word “Nang” is not a loanword from the Khmer language, but it is a cognate word of Thai and Chinese. The second one is that the word “Nang” in Khmer has connected to middle historic Chinese.
ความนำ
ภาษาไทยกับภาษาเขมรมีความใกล้ชิดกันมาแต่โบราณทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มีการหลั่งไหลถ่ายเท ยืมคำซึ่งกันและกันเป็นจำนวนไม่น้อย กระทั่งคนไทยเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าคำที่ใช้อยู่เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคำราชาศัพท์ล้วนยืมมาจากภาษาเขมรแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุความใกล้ชิดทางภาษานี้เอง ทำให้บางครั้งเกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องคำยืมและคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย เป็นความจริงที่ว่าในภาษาไทยมีคำที่เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรจำนวนมาก คำศัพท์ที่ภาษาไทยมีความคล้ายคลึงกับภาษาเขมรส่วนใหญ่จึงถูกตัดสินว่าเป็น “คำยืม” เพราะเป็นภาษาต่างตระกูลกัน ซึ่งการศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายจะศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ของภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน แต่ในภาษาไทยมีคำศัพท์อีกเป็นจำนวนมากที่หากมองมองในมิติของคำศัพท์ร่วมเชื้อสายแล้วกลับพบว่า คำหลายคำที่เข้าใจกันว่าเป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร แท้ที่จริงแล้วเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาไทยกับภาษาอื่นในตระกูลภาษาเดียวกัน ไม่ใช่คำที่ยืมมาจากภาษาเขมรแต่อย่างใด และหากศึกษาลึกลงไปอีก อาจพบว่าคำที่คิดว่าภาษาไทยยืมมาจากภาษาเขมรนั้น แท้ที่จริงเป็นคำศัพท์ที่ทั้งภาษาไทยและภาษาเขมรต่างได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอื่นก็เป็นได้

งานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาไทยกับภาษาจีน

เกี่ยวกับการจัดแบ่งตระกูลภาษาของภาษาไทยนี้นักภาษาศาสตร์มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปหลายทฤษฎี ความแตกต่างนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดแบ่งตระกูลภาษา หากแต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงชื่อเรียกภาษาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไทย ไท ไต ได ลาว สยาม กัมไท ในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน มีตัวอักษรที่เรียกชื่อภาษาไทหรือชาวไทอย่างน้อยสี่ตัวขึ้นไป คือ泰 (tài) 傣 (dǎi) 台 (tái) 暹 (xiān) แต่เราจะไม่ถกเรื่องชื่อเรียกภาษาไทในที่นี้ เพราะมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อคิด
เห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมายแล้ว เช่น เรืองเดช (2531) ในหนังสือชื่อ “ภาษาถิ่นตระกูลไทย” จิตร(2519) ในหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” สุริยา (2548) ในหนังสือชื่อ “นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท” แต่สิ่งสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การจัดแบ่งตระกูลภาษาที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยและจีนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผู้เขียนจะอาศัยแนวความคิดของ สุริยา (2548) ที่ว่าคำว่า “ไท” เป็นคำที่เป็นกลางมากที่สุด ในบทความนี้จึงจะเรียกตามว่า “ภาษาตระกูลไท” ยกเว้นการอ้างอิงข้อความคิดของนักวิชาการท่านอื่น จะคงคำเรียกตามที่อ้างมา
โดยทั่วไปถือว่าภาษาไทยเป็นตระกูลย่อยภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาใหญ่ จีน-ธิเบต ซึ่งภาษาตระกูลจีน – ธิเบตนี้ เป็นตระกูลภาษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาคือ (1)สาขาภาษาจีน (2)สาขาภาษาไทย (3) สาขาแม้วเย้า (4) สาขาธิเบตพม่า (เรืองเดช: 2531) อย่างไรก็ตามนักภาษาศาสตร์หลายท่านเรียกชื่อตระกูลภาษานี้แตกต่างกันไป อย่างเช่น Grierson (1903-28) เรียกรวมเป็นตระกูลเดียวกันกับภาษาจีนว่า ตระกูลภาษาไทยจีน (Siamese-Chinese family) Benedict (1975) เรียกว่า ออสโตร – ไทย (Astro-Tai) เพราะเห็นว่าเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลออสโตรเนเชียน ต่อมามีการตั้งชื่อตระกูลภาษาไทอีกหลายชื่อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บ้างเรียกว่า ตระกูลภาษาไทย ตระกูลภาษาไต แยกออกมาเป็นตระกูลภาษาใหญ่ต่างหาก บ้างเรียกว่าตระกูลคำไต (KamTai family) และ ภาษาไดอิก (Daic) โดยรวมภาษาไทยถิ่นต่างๆที่พูดในประเทศต่างๆ 8 ประเทศเป็นตระกูลเดียวกันหมด (เรืองเดช: 2531) Benedict (1942) ได้ตั้งชื่อตระกูลภาษานี้ใหม่ว่า ตระกูลภาษาไทยกะได (Tai Kadai) เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาษาไทยถิ่นที่พูดอยู่ที่เกาะไหหลำ อ่าวตัวเกี๋ย และภาษากลุ่มตระกูลภาษาไทยที่พูดอยู่ที่ประเทศจีน และเวียดนามทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภาษาตระกูลไทโดยยึดหลักภูมิศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์ของไทยในอดีตที่สำคัญคือพระยาอนุมานราชธน(อ้างในเรืองเดช : 2531) ได้แบ่งภาษาตระกูลไทยออกเป็น 4 กลุ่ม โดยอาศัยหลักทางภูมิศาสตร์ คือ (1) ไทยกลาง คือภาษาไทยที่พูดอยู่ในประเทศไทย (2) ไทยจีน คือภาษาไทยที่พูดอยู่เขตประเทศจีนบริเวณกวางสี ไกวเจา กวางตุ้ง เช่นภาษาไทยลาย ไทยลุง ไทยย้อย ไทยโท้ ไทยนุง (3) ไทยตะวันตก คือภาษาไทยที่พูดอยู่ในพม่า เช่น ไทยใหญ่ ไทยเขิน ไทยอาหม (4) ไทยตะวันออก คือภาษาไทยที่พูดอยู่ในประเทศเวียดนาม และลาว เช่น ไทยโท้ ผู้ไทย ไทยลาว
การใช้หลักเกณฑ์ทางภาษา เช่นหลักการกระจายคำและเสียง ดูจะเป็นที่ยอมรับในการจัดกลุ่มภาษา นักวิชาการที่สำคัญคือ Li Fanggui (1959) ใช้เกณฑ์ทางการกระจายคำศัพท์ ลักษณะทางเสียงและพัฒนาการทางเสียงแบ่งกลุ่มภาษาไทยออกเป็นถิ่นต่างๆ 3 กลุ่มด้วยกันคือ (1) กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ เช่นภาษาไทยสยาม ลาว ลื้อ อาหม (2) กลุ่มกลาง เช่น ภาษาโท้ นุง Lung-Chow (3) กลุ่มเหนือ เช่น Wu-ming, Ch’ien-chiang, His-Lin, Po-ai
ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกหลายท่านที่ศึกษาภาษาตระกูลไท และจัดให้ภาษาที่พูดอยู่ในประเทศจีน หรือภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นสมาชิกในภาษาตระกูลไท เช่น John F. Hurtmann (1986) จัดแบ่งภาษาไทยเฉพาะกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ของ Li Fanggui เป็นกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่างนี้ครอบคลุมไปถึงตอนใต้สุดของตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังมีนักภาษาศาสตร์ในยุคต่อจาก Li Fanggui อีกหลายท่าน เช่น Marwin Brown (1965), William J.Gedney(1972), James R.Chamberlain(1972) ก็ได้ดำเนินรอยตาม Li Fanggui โดยในการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทล้วนมีความเกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลจีน หรือเป็นภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนทั้งสิ้น เรืองเดช (2531) นักวิชาการภาษาตระกูลไทยได้จัดแบ่งภาษาตระกูลไทยออกเป็น “กลุ่มไท”โดยรวมภาษากลุ่มไทสยามและลาวไว้ในกลุ่มเดียวกัน และ “กลุ่มไต” รวมภาษาไตยวน ไตหลวง ไตจีนไว้ด้วยกัน สุริยา (2548) ให้ความเห็นว่า “นอกจากภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาไทแล้ว ยังมีภาษาอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่นักภาษาศาสตร์ไม่จัดเข้าอยู่ในตระกูลไทเพราะลักษณะทางภาษาจัดได้ว่ามีความสัมพันธ์ห่างจากภาษาตระกูลไทออกไป แต่ก็ยังเป็นความห่างที่เห็นได้ว่ายังมีร่องรอยของสายใยความสัมพันธ์เดิมอยู่ ภาษาเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากภาษาที่นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของภาษาตระกูลไทคือที่เรียกว่าภาษาตระกูลกะได (Kadai Language Family)” จากข้อมูลการศึกษาและการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทจะเห็นว่า ภาษาไทยมีร่องรอยความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนอยู่
ตามทรรศนะของนักวิชาการจีน จัดภาษาไทยอยู่ในภาษาตระกูลจีนธิเบต สาขาภาษาต้งไถ สาขาย่อยภาษาไต (梁敏,张均如:1996) และเพื่อยืนยันว่าภาษาไทยจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาเดียวกัน การศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนจึงเป็นความสนใจของนักภาษาศาสตร์และนักศึกษาภาษาไทยจีนมาช้านาน งานที่สำคัญที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยและจีนในยุคเริ่มแรกคือ A.Conrady, K.Wulff (อ้างใน龚群虎:2002) เสนอแนวคิดในเรื่องความสัมพันธ์ของระบบเสียงวรรณยุกต์ โดยได้สรุปกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ของระบบเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยและจีน นอกจากนี้ยังเปรียบเทียบคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทยหรือภาษาอื่นในสาขาภาษาไท พบว่ามีคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกว่า 200 คำ
งานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านจีนศึกษาชาวไทยคือ A Study of Sino-Thai Lexical Correspondences ของ ประพิน มโนมัยวิบูล ที่เสนอต่อ University of Washington (P.Manomaivibool:1975) งานวิจัยชิ้นนี้เปรียบเทียบคำศัพท์ร่วมเชื้อสายในภาษาไทยและจีน โดยมุ่งเน้นยืนยันความสัมพันธ์ของหน่วยเสียงในทั้งสองภาษา โดยรวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ ที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนถึง 600 คำ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา เปรียบเทียบคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยกับภาษาจีนในยุคกลางประวัติศาสตร์เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังขยายขอบเขตการวิจัยไปถึงภาษาจีนและภาษาอื่นในสาขาภาษาไท โดยใช้ข้อมูลคำศัพท์ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ของ B.Karlgren (อ้างใน龚群虎:2002) และ ภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ของนักวิชาการชาวจีน หลี่ ฟางกุ้ย (李方桂:1976) งานวิจัยนี้ไม่เพียงสามารถรวบรวมจำนวนคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนที่เพิ่มมากขึ้นกว่านักวิจัยอื่นๆที่ผ่านมา แต่ยังสามารถยืนยันแนวคิดในเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนอย่างกว้างขวางอีกด้วย
นักวิชาการชาวจีน หลี่ ฟางกุ้ย (李方桂:1976) ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนว่า ภาษาไทยมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนเหมือนอย่างที่ภาษาจีนมีความสัมพันธ์กับภาษาธิเบต ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาร่วมสายเลือด และเพื่อสนับสนุนข้อคิดเห็นนี้ หลี่ ฟางกุ้ย ได้รวบรวมคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาจีนกับภาษาในสาขาภาษาไท (ไต) ร้อยกว่าคำ ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนเล่มสำคัญเลยทีเดียว
งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่สนับสนุนแนวคิดคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนคือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ กง ฉวินหู่ ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยฟุตั้น เมืองเซี่ยงไฮ้เรื่อง ยุคสมัยของคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีน (龚群虎:2002) ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของภาษาไทยและจีนในแต่ละยุค โดยแบ่งความสัมพันธ์ภาษาไทยจีนเป็น 3 ช่วงคือ (1) คำศัพท์ร่วมสายเลือดภาษาไทยจีนซึ่งหมายถึงคำศัพท์ที่เคยเป็นภาษาเดียวกันมาตั้งแต่อดีต (2) คำศัพท์ที่มีการถ่ายเทซึ่งกันและกันในยุคสองพันปีลงมา (3) คำศัพท์ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาจีนในยุคที่ชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในระยะร้อยสองร้อยปีมานี้ นับเป็นการเพิ่มเติมความรู้และวงคำศัพท์ให้กับวงการศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนเป็นอย่างมาก

งานวิจัยที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาภาษาไทยและเขมร
Diffloth,Gerard(1974) จัดภาษาเขมรอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติค สาขามอญเขมร สาขาย่อยภาษาเขมร ภาษาเขมรกับภาษาไทยแม้จะจัดอยู่คนละตระกูลภาษากัน แต่ด้วยความคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ ภาษาเขียน ระบบไวยากรณ์ เหมือนกันจนน่าสงสัยว่าจะเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน หรือเหมือนกันมากกว่าภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันบางภาษาเสียด้วยซ้ำ ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเขมรศึกษาของไทย กาญจนา นาคสกุล(กาญจนา:2511) กล่าวไว้ว่า “ภาษาเขมรดูจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาษาไทยหลายประการเป็นต้นว่าการลำดับคำเข้าประโยค การใช้ลักษณะนาม การใช้ราชาศัพท์ ฯลฯ ” นักวิจัยด้านเขมรศึกษาแห่งดินแดนอีสานใต้อันเป็นภูมิลำเนาภาษาเขมรสูง สงบ บุญคล้อย (สงบ : 2529) ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสอดคล้องของภาษาเขมรและภาษาไทยไว้ด้วยเช่นกัน ความตอนหนึ่งว่า “แม้ว่าภาษาไทยและภาษาเขมรจะไม่จัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน แต่เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ จึงทำให้มีคำศัพท์ใช้ร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็คงจะเป็นผลมาจากที่ภาษาทั้งสองยืมคำในภาษาของกันและกันมาใช้เป็นระยะเวลานานแล้วนั่นเอง”
จากข้อความที่ยกมาข้างต้นเกี่ยวกับความสอดคล้องกันของภาษาเขมรกับภาษาไทย พอจะมองเห็นภาพว่าทั้งสองภาษามีความใกล้ชิดกันเพียงใด แต่เพื่อเน้นย้ำให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ของภาษาทั้งสอง สามารถยืนยันได้ด้วยงานวิจัยและพจนานุกรมเปรียบเทียบภาษาไทยและเขมร งานการศึกษาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยกับภาษาเขมรที่ผ่านมาก็มีจำนวนไม่น้อย ที่สำคัญเห็นจะได้แก่ สมชาย (2527) โดยได้ให้รายละเอียดไว้ว่า “คำเขมรที่ปรากฏอยู่ในคำไทยตามหลักฐานจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งหลังสุดในคราวฉลองกรุงเทพฯ 200ปี มีอยู่ทั้งหมดไม่เกิน 500 คำ” แต่เมื่อลองตรวจสอบดูในพจนานุกรมเขมร-อังกฤษของ จูดิธ เอ็ม.จาค็อบ(Jacob:1974)และพจนานุกรมไทยเขมรฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน(อ้างในบรรจบ :2521) แล้วปรากฏว่า มีคำเขมรอยู่ในคำไทยไม่ต่ำกว่า 5000 คำ หรือประมาณ 10 เท่าของจำนวนคำที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ความจริงจะเรียกว่าเป็นคำเขมรในคำไทย หรือคำไทยในคำเขมรก็คงได้ หรือจะเรียกว่าคำที่ไทยและเขมรใช้ร่วมกันก็ไม่น่าจะผิด จากหลักฐานพจนานุกรมสามารถยืนยันได้ถึงความสอดคล้องกันของภาษาไทยกับภาษาเขมร จนเกิดข้อกังขาของนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ภาษาไทยและภาษาเขมรอยู่เนืองๆว่า อยากจะจัดให้เป็นภาษาตระกูลเดียวกันเสียเลย
ด้วยข้อสงสัยและสมติฐานดังกล่าว นักศึกษาด้านภาษาไทยและเขมรศึกษาพยายามศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยและเขมรเพื่ออธิบายปรากฏการความคล้ายคลึงและความสอดคล้องต่างๆ ที่สำคัญคือ รายงานการค้นคว้าอิสระระดับมหาบัณฑิตของ ประสงค์ ทองประ (ประสงค์: 2546) เสนอต่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามเรื่อง “การศึกษาคำที่มีความสอดคล้องกันในภาษาไทยและภาษาเขมร” โดยศึกษาเปรียบเทียบคำที่มีความสอดคล้องกันในภาษาไทยและภาษาเขมรในด้านเสียง รูปคำ (หมายถึงรูปตัวเขียน) และความหมาย จากการศึกษาพบว่ามีจำนวนคำที่มีความสอดคล้องกันอยู่ทั้งสิ้น 297 คำ ซึ่งในงานวิจัยนี้ไม่ได้ตัดสินชี้ชัดว่าใครยืมใครแต่อย่างใด เพียงระบุว่าเป็นคำที่ “มีความสอดคล้องกัน” เท่านั้น
แต่ในขณะที่ผลงานล่าสุดที่เกี่ยวกับคำยืมภาษาเขมรไทยคือพจนานุกรมคำยืมภาษาเขมรในภาษาไทยของ ศานติ ภักดีคำ (ศานติ: 2549) ระบุชัดเจนว่า “นาง” ในภาษาไทยยืมมาจากคำว่า “nag” /nia/ ในภาษาเขมร

“นาง” ในภาษาไทย กับ “娘” ในภาษาจีน
ในงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภาษาไทยและจีนนั้นวิเคราะห์ว่า คำว่า “นาง” เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนคำหนึ่ง และเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เสียด้วย ซึ่งในการศึกษาทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติของจีนนั้นจัดแบ่งระยะเวลาภาษาเป็น 4 ช่วงคือ ภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์(上古汉语 คือภาษาจีนสมัยโจว周朝 1046 ถึง 256 ปีก่อนคริสตกาล) ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ (中古汉语 คือภาษาจีนสมัยหนานเป่ย 南北朝ถึงสมัยถัง唐朝 คือปี ค.ศ.420 ถึง ค.ศ.907) ภาษาจีนยุคใกล้ปัจจุบัน (近代汉语 คือภาษาจีนในศตวรรษที่ 5 คือช่วง หกราชวงศ์ 六朝ได้แก่สมัย ตงอู๋ 东吴 ตงจิ้น东晋 ซ่ง宋 ฉี齐 เหลียง梁 และเฉิน陈) และภาษาจีนยุคปัจจุบัน
คำว่า “นาง” ตรงกับคำในภาษาจีนว่า 娘 คำนี้ภาษาจีนตั้งแต่ยุคกลางประวัติศาสตร์ลงมาออกเสียงว่า /nia/ (郭锡良: 1986) แต่ภาษาจีนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ออกเสียงว่า/na/ (龚群虎:2002) จะเห็นว่าภาษาจีนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ออกเสียงคำว่า 娘 เป็นเสียงเดียวกันกับคำว่า “นาง”ในภาษาไทย หลักฐานดังนี้อาจตีความและสรุปว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายเสียเลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อมูลสนับสนุนอื่นก็อาจจะอาจหาญกระทำได้ แต่การจะตัดสินว่าคำใดคำหนึ่งในสองภาษามีความสัมพันธ์กัน หากไม่พิจารณาความหมายของคำคงเป็นไปไม่ได้ จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีนใช้คำว่า 娘ในหลายๆ ความหมาย ที่สำคัญมีอยู่ 7 ความหมายดังนี้ (คัดเลือกจาก吉常宏:2000)
ความหมายของคำว่า娘 ในภาษาจีน
(1) หมายถึงหญิงสาว เช่น พงศาวดารสมัยถัง กว่าง ยวิ่น ผิง หยาง《广韵•平阳》บันทึกไว้ว่า娘,上女之号 “เหนียง, คำเรียกสตรีสูงศักดิ์”
(2) คำเรียกทั่วไปสำหรับเพศหญิง พงศาวดารเหอตง 《河东记》ในสมัยถังมีความตอนหนึ่งว่าา 其姊四人曰:某娘最小李郎又贫,盍各率十千已助焉。นางโม้วเล็กสุด นายหลีก็ยากจนทำไมถึงต้องส่งกำลังคนฝ่ายละหมื่นคนไปช่วยด้วย
(3) หมายถึง แม่ เช่น บทประพันธ์ในสมัยหนายเป่ย (南北朝)เรื่องมู่หลานฉือ 《木兰辞》ของกู่เล่อฝู古乐府ตอนหนึ่งว่า 旦辞爷娘去,署宿黄河边 “เช้าลาพ่อแม่ไป พำนักอยู่ริมหวงเหอ”
(4) คำที่คนใช้เรียกเจ้านายผู้หญิง เช่น นวนิยายกู่จินตอนที่หนึ่ง 《古今小说》卷一 แต่งในสมัยหมิง มีตอนหนึ่งว่า 晴云领命,走过街上薛婆衣袂一扯,道:我家娘请你。“ฉิงหยวินได้รับคำสั่ง,ดึงเสื้อ นางเสวียที่เดินอยู่บนถนนว่า : นายหญิงฉันเชิญเธอ”
(5) หมายถึงเมีย เช่น ชุมนุมวรรณคดีของกัวหวงเปี้ยน ประพันธ์ในสมัยถังของยุคห้าราชวงศ์ ชื่อ ปู้จือหมิงเปี้ยนเหวิน 《敦煌变文•不知名变文》ตอนหนึ่งกล่าวว่า 娘子今日何置言,贫富前生恶业牵。不是交娘得如此,下情终日也饥寒。เมียฉันวันนี้ใยกล่าว จนรวยด้วยเหตุแต่ปางก่อน มีเมียหาต้องเป็นเยี่ยงนี้ไม่ รักแล้วทุกข์ทนชั่วนิรันดร์
(6) คำเรียกนางสนมกำนัลในวัง เช่น พงศาวดารเป๋ยสื่อ แต่งในสมัยเว่ย (魏朝) เรื่อง โห้วเฟยจ้วนซวี่ 《北史•后妃传序 》文襄既尚魏朝公主,故无别号。两宫自余姬侍,并称娘而已 องค์หญิงเหวินเซียงแห่งราชวงศ์เว่ย เหตุไร้สมญา สองตำหนักล้วนมีสนมงาม เรียกนางเหล่านั้นว่า เหนียง (娘)
(7) คำเรียกผู้หญิงที่อายุมากกว่าตนหนึ่งรุ่นหรือเรียกหญิงที่แต่งงานแล้ว เช่นคำว่า 大娘
“แม่” 婶娘 “ป้า” (เธียรชัย:2541)
ความหมายของคำว่า “นาง” ในภาษาไทย อ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน(2542) มีความหมาย ดังนี้
(1) คำประกอบหน้าคำเพื่อแสดงว่าเป็นเพศหญิง เช่น นางฟ้า นางบำเรอ นางละคร นางพระกำนัล นางตานี นางงาม นางไม้ นางรอง นางโลม
(2) คำแทนชื่อหญิง เช่น นางก็ร้อยพวงมาลัย
(3) (กฎ) คำนำหน้าชื่อหญิงผู้มีสามีแล้ว
(4) คำเรียกสัตว์ตัวเมียโดยสุภาพ เช่น นางช้าง นางม้า ใช้เป็นชื่อผู้หญิง คือ นาง
(6) คำเรียกหญิง มักกล่าวเป็นเชิงเหยียดหยามเป็นต้น พูดเสียงสั้นว่า นัง ก็มี
ความหมายของ “นาง” ในภาษาไทยในอดีตหรือปรากฏในคำราชาศัพท์
(1) ในวรรณคดีไทยใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สามเรียกสตรี เช่น ในวรรณคดีเล่มเก่าแก่ของไทยอย่างไตรภูมิพระร่วงตอน อิตถีรัตนะ มีบทหนึ่งกล่าวว่า “แล้วนางจิงนวดฟั้นคั้นบาทแลกรของพระญานั้น” (นิยะดา:2538)
(2) ในไตรภูมิพระร่วงใช้เรียกสตรีสูงศักดิ์ดังเช่น “เมื่อใดแลพระญามาหามาสู่นางแก้ว นางแก้วนั้นไม่ได้นั่งอยู่ในที่อยู่ตนนั้น” สตรีที่จะเป็นนางแก้วได้นั้นต้องมาจากตระกูลมัทราชตระกูล ซึ่งเป็นตระกูลกษัตริย์ (นิยะดา:อ้างแล้ว)
(3) ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อทั่วไปสำหรับเรียกเพศหญิง เป็นการยกย่องหรือใช้เรียกหญิงสูงศักดิ์ เช่น หลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัยมีคำว่า แม่กูชื่อนางเสือง (พิริยะ:2547)
(4) ในภาษาวรรณคดีใช้นำหน้าชื่อ คำเรียกขาน และคำลักษณะนาม เมื่อกล่าวถึงเพศหญิง เช่น (ราชบัณฑิตยสถาน : 2544)
“นางนครโสภินี” หมายถึงหญิงงามประจำเมือง ในความว่า “ธ จึงตั้งนางอัมพปาลิกานั้นไว้ให้เป็นนางนครโสภินี”
“นางนักสนม” หมายถึงหญิงที่มีหน้าที่รับใช้บำเรอพระมหากษัตริย์ ในความว่า “นับแต่นี้ไปเมือหน้า ถิ่นฐานบ้านเมือง ปราสาทเรือนหลวง ช่างม้า ข้าไท ไพร่พลทั้งผอง เงินทองของแก้ว แลนางนักสนม ทั้งหมื่นหกพันเรามอบเวนให้แก่เจ้า”
“นางอสันธิมิตตา” พระนามของพระอัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช ในความว่า “พระญานั้นมีสนมได้ ๑,๖00 นาง ผู้เป็นพระอัครมเหสีนั้น ทรงนามชื่อว่า นางอสันธิมิตตา”
(5) ปรากฏเป็นคำราชาศัพท์หรือคำเรียกยศตำแหน่งสำหรับเพศหญิง เช่น ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อภรรยาที่เรียกตามราชทินนามของสามีที่มีบรรดาศักดิ์ต่ำกว่าพระยาลงมา “นางท้าว” หมายถึงหญิงซึ่งรับบรรดาศักดิ์และมีหน้าที่ระวังรักษาราชการฝ่ายในในพระบรมมหาราชวัง “นางแต่งตัวสะ” หมายถึงหญิงสาววัยรุ่นแต่งตัวใส่เกี้ยว นุ่งผ้าลายพื้นเขียว ห่มผ้าแพรพื้นแดง เดินประนมมือตามกระบวนแห่เต็มยศขนาบพระราชยานในพระราชพิธีโสกันต์ “นางกำนัล” หมายถึงนางอยู่งานที่ทรงใช้สอยในพระราชมณเฑียร และได้รับพระราชทานหีบหมากกาไหล่ แต่ยังไม่นับว่าเป็นเจ้าจอม (ราชบัณฑิตยสถาน:2542)

ความหมายของ “นาง” ในภาษาไทต่างๆ หรือภาษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลไท 1. ภาษาไทลื้อ ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อ หรือคำสรรพนามบุรุษที่สามเรียกเพศหญิง
ตัวอย่างเนื้อเพลง “เพลงขับ” เกี้ยวพาราสีกันของชาวไทลื้อที่สิบสองปันนา
“ฟังเตาะ แมตี หอมเดิ๊กเผย ตากเหมยลงก้อม เปิ่นหากล่อม ออนอ้าย แต่ใด เสปิ่น แวะไข
หญ้าตี่ม่อน น้าวถอด ยอดตี่งาม ดั่งแต้ม เมิ๋นฮูปเตวดา กำจ๋านาง เมิ๋น หูงย่างฟ่อน”
ถอดความ : ฟังเถิดแม่น้องสาว ดอกราตรีที่เผยกลีบบาน รับละอองน้ำค้างเมื่อยามดึกและโน้มกิ่งลงมานั้น หากคนอื่นที่เดินผ่านมาพบเข้าก่อน ก็จะเอื้อมมือโน้มกิ่งเอาดอกไม้มาสูดเสียสิ้นยังกลิ่นหอม จากยอดเกสรอันงดงามประดุจแต้มเฉกเช่นเทพารักษ์ คำกล่าวแห่งน้องนางนี้ช่างอ่อนหวานไพเราะ ประดุจนางหงส์ที่ย่างเท้าร่ายรำ (บุญช่วย:2547,หน้า273)
ตัวอย่าง “หนังสือธรรมคำขับเรื่องเจ้าสุวัต” ข้อความตอนหนึ่งว่า
“เจ้ายอดหล้านางน่อง (น้อง) ไผผู้ใดแต้มเบ่าเมิ๋น(ไม่เหมือน)แต้น้อ โต๋เดียวน่องเดินดงในป่นี่เฮย หากู่ (คู่) เต้าเยิ้ม (อยู่) เบ๋ามี๋นางนิรู่ว่า ปิ๋นกินนารี (เป็นกินร)................นางน่านางน่องเมิ๋น(เหมือน) ดั่งผียินนอ นางนิผิดใจ๋มี๋ง(โกรธ) เบ่ายินใคร่ต้านเส (เสีย) แล่ว นางอยู่ด่าวป่าไม่(ไม้) ก็เป๋น เจ้อ (เชื้อ) ใหญ่ขุนทอนก่อนลาย(ขุนทอนยักษ์ใหญ่)” (บุญช่วย:อ้างแล้ว,หน้า335)
ตัวอย่างจากหนังสือ “เชื้อเครือเจ้าแสนหวี สิบสองปันนา” (เท่าคว่างแซ้งและอ้ายคำ:2544) ที่เขียนเป็นอักษรภาษาไทลื้อแบบเก่า ซึ่งมีรูปอักขรวิธีคล้ายคลึงกับอักษรธรรมล้านนาและอักษรไทเขินในเชียงตุง ข้อความจากต้นฉบับ หน้า 7 ความตอนหนึ่งว่า
คำถ่ายถอดตัวอักษร “อ้ายพูงมีลูกชาย๑ ยิง ๑ ผู้ชายชื่ท้าวรู่งแก่นชาย ผู้ยิงชื่นางโอมิ่งไข่ฟ้า”
คำอ่านภาษาไทย “อ้ายพูงมีลุกชาย๑หญิง๑ ผู้ชายชื่อท้าวรุ่งแก่นชาย ผู้หญิงชื่อนางอั้วมิ่ง
ไข่ฟ้า”



ข้อความจากต้นฉบับ หน้า 20 ความตอนหนึ่งว่า
คำถ่ายถอดตัวอักษร “ดั่งเจ้าคานเมิงหันไส่สาวลฺวะผู้นั้น คัมีความสู้มักรักพืงนัก จิ่งส่อดมา
เป็นนางเทวี เอากันได้ยหึงนาน บัช่างมีลูก นางเทวีคัไหว้สา
ตนเปนผัวว่า ข้าแด่มหาราช เปนเจ้า ตามดั่งปเว ”
คำอ่านภาษาไทย “ดั่งเจ้าคานเมืองหันใส่สาวลัวะผู้นั้น ก็มีความสู้มักรักพึงนัก จึ่งสอดมา
เป็นนางเทวี เอากันได้หึงนานบ่ช่างมีลูก นางเทวีก็ไหว้สาตนเป็นผัวว่า
ข้าแด่มหาราชเป็นเจ้า ตามดั่งปะเว”
2.ภาษาไทจ้วง ใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับเพศหญิง
ตัวอย่างจากคำในภาษาจ้วง (ปราณี : 2535)
nangz น. สาวรัก
nangz ว. (อายุ) อ่อน
baz nangz เมียสาว
nangz น. นาง
beih nangz พี่สะใภ้
3. ภาษาไทดำ ใช้ในความหมายถึงเพศหญิงที่ต้องให้ความเคารพ
ตัวอย่าง คำเรียกชื่อ “แถน” ซึ่งก็คือ “ผี” ตามความเชื่อของชาวไทดำว่ามีอำนาจลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้เกิดความเป็นไปต่างๆของโลก ฉะนั้นชาวไทดำต้องเคารพบูชาแถน ชื่อแถนที่เป็นเพศหญิงจะใช้คำนำหน้าว่า “นาง” เช่น
“ฮอดเลียนปานเจ้าแถนทอง นางกาก่อง ฝมหอม ปู่แถนลอชื่อแถนทอง” (ภัททิยา:2544)


4. ภาษาไทขึน หรือไตขึน หรือ ไตเขิน ใช้ในความหมายถึงเพศหญิง
ตัวอย่าง คำเรียกญาติของภาษาไทขึน คือ “ปี้นาง” (พี่นาง) ใช้เป็นคำเรียกผู้หญิงทั่วๆไป ที่อายุมากกว่า (เรืองเดช:2531)
5. ภาษาคำเมือง คำว่า “ปี้นาง” (พี่นาง) หมายถึง พี่สะใภ้
จากความหมายต่างๆทั้งของคำว่า “娘” ในภาษาจีนและของคำว่า “นาง” ในภาษาไทยรวมถึงภาษาในตระกูลภาษาไทข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกันจะเห็นว่ามีความหมายพ้องกัน คือใช้เป็นคำเรียกทั่วไปสำหรับเพศหญิง, ใช้เป็นคำเรียกสตรีสูงศักดิ์, ใช้เรียกหญิงที่แต่งงานแล้ว โดยภาพรวมทั้งภาษาไทยและจีนความหมายของคำว่า “娘” และ “นาง” มีความสัมพันธ์สอดคล้องเป็นอย่างเดียวกันหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือหมายถึง “เพศหญิง”
จากการเปรียบเทียบ คำว่า “娘” ในภาษาจีนและ คำว่า “นาง”ในภาษาไทย ทั้งในเรื่องเสียง ซึ่งออกเสียงอย่างเดียวกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของจีน (1046 ถึง 256 ปีก่อนคริสตกาล) คือ /na/ และเรื่องความหมาย ซึ่งมีการใช้ในความหมายอย่างเดียวกัน เกี่ยวข้องกัน เป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าคำดังกล่าวในทั้งสองภาษามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

“นาง” ในภาษาไทย กับ “nag” ในภาษาเขมร
จากพจนานุกรมเขมรโบราณในศิลาจารึกบุเรอองกอร์ ศตวรรษที่ 6-8 (caråkbuerGgÁr stvtSTI 6-8) (Long Sieam:2000) พบคำว่า
“Tag” nān / nag / “femme” nag, narI / nameQµaHmnusS
นาง “นาง,นารี” / นามชื่อคน (ผู้เขียนแปล)
ในวรรณกรรมโบราณของเขมรที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นฉบับเขียนและจำพวกวรรณกรรมมุขปาฐะก็พบการใช้คำว่า“nag” เพื่อเรียกหรือแสดงความหมายถึง “เพศหญิง” เช่น
มหาเวสสันดรชาดก ฉบับแปลภาษาไทยใช้คำว่า “นาง” เป็นคำนำหน้าชื่อสตรี และใช้เป็นสรรพนามสำหรับเรียกสตรีสูงศักดิ์ เช่น (พุทธศาสนบัณฑิต: 2539)
“นางสุปารบดีที่ประกอบตั้งเบญจพิธกัลยาณีอันมีเสมอดุจทอง”(หน้า31)
“พระองค์พระนางนั้นได้กลิ่นพิโดรประหนึ่งเขาลูบไล้ด้วยผงแก่นจันทน์แดง” (หน้า 29)
มหาเวสสันดรชาดก ฉบับภาษาเขมร mhaevsSnþrCatk (Franklin :1988,p.299)
.......nag®ksñak¾ykxñgeTArgtag..............
.......นางกรสนา ก็เอาหลังไปรองตาง....... (ผู้เขียนแปล)
ตุมเตียว Tu¿Tav (Franklin :1988 ,p.193)
mindwgklkic©eK])ay TavmansahaymWungYn
sresIreKfaéhb¥Úns¶Ün nagnYnl¥dac;elIEpndI
ไม่รู้กลกิจเขาอุบาย เตียวมีสหายหมื่นงวน
สรรเสริญเขาว่าน้องสงวน นางนวลสวยสุดในแผ่นดิน (ผู้เขียนแปล)
พระชินวงศ์ RBHCinvgS (Franklin :1988,p.256)
nagesayesakbeNIþr edaydMeNIrnageqamqay
eyIgesøHBuMniyay nwgbriyayBIkinñrI
นางเสวยโศกบันเดิน โดยดำเนีรนางโฉมฉาย
เราหยุดอย่านิยาย และบริยายถึงกินรี (ผู้เขียนแปล)
คำว่า “nag” ในภาษาเขมรที่ศานติ ภักดีคำ (ศานติ:2549 ) ระบุว่าภาษาไทยยืมมาใช้นั้น มีความหมายดังนี้
“nag” นาง (ข.โบ)
“nag” นาง (เนียง)
น. ตัวไหม
น. คำร้องเรียกเด็กหรือผู้มีอายุน้อยกว่าใช้ได้ทั้งหญิงชายเป็นคำอ่อนโยน
นาง คำเรียกหญิงสูงศักดิ์ ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย
เม็ด ตัวหมากรุกจำนวน ๒ อยู่ข้างตัวขุน
ในพจนานุกรมเขมร-ไทย (Lug esom : 2002) ให้ความหมายคำว่า “nag” ดังนี้
“nag” 1. นาง, นางสาว,สาว
2. เธอ,คุณ
3. ตัวไหม
จะเห็นว่าความหมายของคำว่า “nag” ในภาษาเขมรมีความหมายที่สัมพันธ์กันกับ “นาง” ในภาษาไทยคือ “คำเรียกเด็กหรือผู้มีอายุน้อยกว่า” และ “คำเรียกหญิงสูงศักดิ์” แต่ที่แตกต่างจากภาษาไทยคือคำว่า “nag” เป็นคำพ้องเสียงที่ใช้เรียกสิ่งอื่นที่ไม่มีความหมายเกี่ยวข้องกัน คือ ตัวไหม และตัวหมากรุก และที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็คือ ความหมายคำว่า “nag” ในภาษาเขมรตามที่ศานติ ภักดีคำ ได้ให้ความหมายไว้นั้น สามารถใช้ได้กับทั้งเพศหญิงและชาย ซึ่งผิดกับภาษาไทยและจีนที่จำกัดใช้เรียกเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น และคำพ้องเสียงที่มีความหมายเป็นอย่างอื่นมีเฉพาะในภาษาเขมรเท่านั้น
ในพจนานุกรมภาษาไทย-เขมร(กาญจนา : 2548) เมื่อค้นหาคำว่า “นาง” จากภาษาไทยแปลกลับไปเป็นภาษาเขมรกลับไม่พบว่าตรงกับคำว่า “nag” แต่อย่างใด หรือหากมีก็น้อยมาก ดังนี้
นาง naa เนียะสรี
นางฟ้า TiBVnarI
นางเอก tÜÉk®sI
นางสาว kjØa
นางอัปสร ®sIeTBGbSra
นางพญาผึ้ง emXMuµú
นางงาม kjØaÉk
นางนม emedaH
นางแก้ว ®sIrtnH
ในพจนานุกรมไทย-เขมร ที่แต่งโดยชาวเขมร (låm : 2002) เมื่อค้นหาจากคำว่า “นาง” แปลไปเป็นภาษาเขมร คำแปลส่วนใหญ่ก็ไม่มีคำว่า “nag” ปรากฏเช่นกัน เช่น
นางพยาบาล Kilanub,d§akyika
นางรำ ®sIrMa
นางโลม ®sIpáamas
นางงาม bvrkjØa
นางชี yayCI
หมอตำแย qµb
จากการแปลสลับกันไปมาระหว่างภาษาเขมรกับไทยพบว่าคำว่า “นาง” ไม่ได้แปลว่า “nag” เสมอไป ในทางกลับกัน คำว่า “nag” ก็ไม่ได้แปลว่า “นาง” เสมอไปเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่า คุณค่า หรือการถือครองความหมายของคำว่า “นาง” และ “nag” ในทั้งภาษาไทยและเขมรไม่เท่าเทียมกัน มีความแตกต่างกันอยู่ จุดนี้เองเป็นเครื่องสะท้อนถึงระดับความเกี่ยวข้องกันของคำ ความเกี่ยวข้องกันของคำว่า“นาง” และ “nag” จึงคงไม่สามารถตัดสินว่าเป็นคำที่ยืมซึ่งกันและกันได้
คำว่า “nag” ในภาษาเขมร มาเกี่ยวข้องกับภาษาไทยได้อย่างไร หากตัดสินว่าคำว่า “นาง” ยืมมาจากคำว่า “nag” ในภาษาเขมร คำว่า “nag” ออกเสียงว่า /ni/ เหตุใดเมื่อยืมมาแล้ว ไม่ออกเสียงเหมือนเดิมเป็นสระ /i/ แต่ออกเสียงเป็นสระ /a/ ต่อข้อคำถามเหล่านี้ผู้ที่มีความรู้ภาษาเขมรและภาษาไทยมักอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางภาษาของภาษาไทยและภาษาเขมร กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบอักขระวิธี การประสมพยัญชนะสระของภาษาเขมรและภาษาไทยแล้วจะพบว่า พยัญชนะภาษาเขมรมีสองชุด คือชุดที่อ่านกำกับเสียงเป็นสระ /ออ/เรียกว่าพยัญชนะอโฆษะ หรือสำเนียงเล็ก และอีกชุดหนึ่งคือพยัญชนะชุดที่อ่านกำกับเสียงเป็นสระ/อา/ เรียกว่าพยัญชนะโฆษะหรือสำเนียงใหญ่ พยัญชนะสองชุดนี้เมื่อประสมกับสระเสียงเดียวกัน จะออกเสียงต่างกัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สระหนึ่งตัวในภาษาเขมรสามารถออกเสียงได้สองเสียง โดยจะแปรผันไปตามพยัญชนะตัวที่นำมาข้างหน้านั่นเอง เมื่อเทียบกับภาษาไทย พยัญชนะในภาษาไทยไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มเสียง ไม่ว่าพยัญชนะตัวใดประสมกับสระใดๆ จะออกเสียงสระเหมือนกัน ดังนี้เสียงสระ/อา/ในภาษาเขมรเมื่อประสมกับพยัญชนะกลุ่มเสียง/ออ/จะออกเสียงเป็น/i/แต่เมื่อประสมกับพยัญชนะกลุ่มเสียง/อา/จะออกเสียงเป็น/อา/ นักวิชาการทางด้านภาษาเขมร-ภาษาไทยจึงอาจจะถูกความสัมพันธ์ของอักขระวิธีในทั้งสองภาษานี้ล่อลวง และชี้นำความคิดไปอย่างไม่ต้องสงสัยว่า คำที่เกิดจากเสียงสระที่เกิดจากพยัญชนะกลุ่มเสียง /ออ/ในภาษาเขมร เมื่อภาษาไทยยืมมาใช้ ก็ยืมมาเฉพาะรูปคำ ไม่ได้เปลี่ยนเสียงสระตามอักขระวิธีภาษาเขมรแต่อย่างใด คงอ่านตามอย่างอักขระภาษาไทย ดังนั้น สระ “ a ” ในภาษาเขมรที่ประสมกับพยัญชนะกลุ่มเสียง/ออ/ ในภาษาเขมรอ่าน/i/แต่ภาษาไทยอ่าน /a/ ดังการเปรียบเทียบในตารางต่อไปนี้

ภาษาเขมร พยัญชนะชุดเสียง ประสมสระ ออกเสียงเป็น ภาษาไทย
gar /i/ /ออ/ a /a/ /i/ งาน
yay /jij/ /ออ/ a /a/ /i/ ยาย
rab /rip / /ออ/ a /a/ /i/ ราบ
lag /li/ /ออ/ a /a/ /i/ ล้าง
RBak /prik/ /ออ/ a /a/ /i/ พราก
nag /ni/ /ออ/ a /a/ /i/ นาง
จากตารางชี้ให้เห็นว่าสระ “ a ” ในภาษาเขมรที่ประสมกับพยัญชนะต้นกลุ่ม [ออ] ออกเสียง /i/แต่ภาษาไทยไม่มีความแตกต่างของกลุ่มเสียงพยัญชนะ ดังนั้นคำว่า nag ในภาษาเขมรอ่านว่า /ni/แต่ภาษาไทยอ่านว่า/na/ มูลเหตุความสัมพันธ์ของอักขระวิธีระหว่างภาษาไทยกับภาษาเขมรนี้เองนำไปสู่ข้อสรุปว่า “นาง” เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรคำว่า “nag”


“นาง”ในภาษาไทย ยืมมาจาก “nag” ในภาษาเขมรหรือเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับ “娘” ในภาษาจีน
ในรายการคำไทยและเขมรที่มีความสอดคล้องกัน 297 คำของ ประสงค์ ทองประ (2546) นั้น ไม่มีคำว่า “นาง” เป็นคำสอดคล้องกับคำว่า “nag” ในภาษาเขมร
ความหมายของคำว่า “nag” ในพจนานุกรมคำยืมภาษาเขมรในภาษาไทยของศานติ (2549) ความหมายของคำมีความแตกต่าง และขัดแย้งกับความหมายในภาษาไทยอย่างเห็นได้ชัด ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
มองในมุมมองของประวัติศาสตร์ชนชาวไทย ปัจจุบันในทางประวัติศาสตร์ยังหาข้อสรุปไม่ได้เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดและที่มาของชนชาวไทย แต่มีความเชื่ออยู่ 5 ทฤษฎีคือ (นวลจันทร์:2537)
1. มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต อันเป็นชนชาติที่มีความเก่าแก่มาก่อนจีน กระจายกันอยู่ตามพื้นที่ที่เป็นดินแดนปัจจุบันของจีน (ในปัจจุบันทฤษฎีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป เพราะบริเวณภูเขาอัลไตเป็นเขตหนาวเย็นจัด มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้)
2. อยู่บริเวณมณฑลเสฉวน ตอนกลางของประเทศจีน
3. อยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ได้แก่บริเวณมณฑลกว่างซี และบริเวณตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. อยู่บริเวณที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
5. อยู่บริเวณคาบสมุทรอินโดจีน หรือคาบสมุทรมลายู
จากทฤษฎีข้อสมมติฐานข้างต้น แม้ว่าปัจจุบันจะยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ก็มีสมมติฐานที่น่าเชื่อได้ว่า ชนชาติไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ถึงสามทฤษฎี ซึ่งตามทรรศนะของนักประวัติศาสตร์ได้ให้ความสำคัญและมีแนวโน้มเชื่อถือต่อทฤษฎี “คนไทยเดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณตอนใต้ของจีน ต่อมากระจายลงใต้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณประเทศไทยปัจจุบัน” มากที่สุด ซึ่งหากเราเชื่อตามทฤษฎีที่ว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่บริเวณปัจจุบันของประเทศจีนแล้วอพยพลงใต้นั้น ก็จะสามารถวิเคราะห์การเดินทางของคำว่า “娘” ได้ไม่ยากนัก
เมื่อดำเนินตามกรอบความคิดที่ว่าคนไทยเดิมอยู่ในพื้นที่ประเทศจีนปัจจุบันแล้วอพยพลงใต้ สามารถกำหนดระยะเวลาตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ดังนี้
William Clifton Dodd (อ้างในถนอม:2543) บันทึกไว้ว่า ชนชาติไทยมีเชื้อสายมาจากมองโกลซึ่งมีความรุ่งเรืองมาก่อนจีนคือเมื่อ 5000 ปีก่อน จึงเรียกว่าเป็นพี่ใหญ่ของจีน ตั้งตนเป็นปึกแผ่นเรียกอาณาจักรนี้ว่า “อาณาจักรอ้ายลาวหรือต้ามุง” ต่อมาถูกชาวจีนรุกรานถอยร่นลงใต้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองกุ้ยโจว หยุนหนาน กว่างซี กว่างตงในปัจจุบันเมื่อราว 600 ปี ก่อนคริสตกาล
จดหมายเหตุของจีน(อ้างในถนอม : 2543) ระบุว่า เมื่อ 300 ปีก่อนพุทธศักราช ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดที่ลุ่มน้ำหวงเหอ บริเวณมณฑลหูเป่ย เหอหนาน ซึ่งเป็นบริเวณตอนเหนือของจีนปัจจุบัน และถูกจีนรุกรานถอยร่นลงใต้มาตั้งถิ่นฐานเป็นอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งบริเวณมณฑลหยุนหนานของจีนในปัจจุบัน
นอกเหนือจากคนแนวคิดเรื่องคนไทยที่มีต้นกำเนิดเดิมอยู่ในประเทศจีนแล้ว ยังได้พบลักษณะความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรมระหว่างผู้คนในดินแดนประเทศไทยกับบริเวณอื่นๆในตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงไต้ ตลอดจนภาคตะวันออกของอินเดีย นั่นก็คือวัฒนธรรมการใช้ขวานหินแบบมีบ่า วัฒนธรรมการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบเขียนสี ตลอดจนการทำเครื่องใช้ด้วยโลหะและวัตถุประเภทหยกซึ่งกำหนดเรียกกันว่า “วัฒนธรรมดองซอน” เช่น กำไล แหวน ต่างหู ลูกปัดและกลองมโหระทึก ล้วนเป็นร่องรอยแสดงว่ากลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณหยุนนานตอนใต้ บริเวณประเทศเวียดนาม ไทย กัมพูชา ลาว และทางตอนเหนือของพม่า ตลอดจนรัฐอัสสัมของอินเดียคงมีสิ่งผูกพันกันอยู่ ซึ่งนักโบราณวิทยาชาวต่างชาติมีความเห็นว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชนตระกูลอินโดเนเชียน (กาญจนี:2525) หลักฐานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของ สุริยา (2548) เกี่ยวกับอาณาเขตของภาษาตระกูลไทซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ใน 8 ประเทศ ได้แก่อินเดีย พม่า ไทย มาเลเซีย ลาว เวียดนาม เขมรและจีน และสอดคล้องกับถิ่นที่อยู่ของภาษาตระกูลไท ตามการจัดแบ่งของ Frank (1964) ที่แบ่งเป็น (1) กลุ่มตะวันตก คือภาษาไทยที่พูดอยู่ในประเทศพม่าและรัฐอัสสัมของอินเดียวเช่น ไทอาหม ไทคำตี่ ไทฉาน เป็นต้น (2) ภาษาไทยกลุ่มใต้ คือภาษาไทยที่พูดอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด (3) กลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง คือภาษาไทยที่พูดอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่พม่าเลยลงไปทางตอนเหนือของลาวและเลยลงไปถึงประเทศเวียดนาม เช่น ไทลื้อ ไทขึน เป็นต้น (4) ภาษาไทยกลุ่มที่ราบสูงตอนกลาง ได้แก่ภาษาไทยที่พูดอยู่ในประเทศเวียดนามและลาวเช่น ไทดำ ไทขาว ไทกะเลิง ไทย้อ ไทโย้ย (5) ภาษาไทยกลุ่มตะวันออก คือภาษาไทยที่พูดอย่ในประเทศจีนและเวียดนาม เช่นภาษาปูยี ภาษาจ้วง ภาษานุง (6) กลุ่มไทยกะได คือภาษาไทยที่พูดบนเกาะไหหลำของจีน เช่น ภาษาเกลาว ภาษาไต ภาษาลาตีเป็นต้น ไม่เพียงแต่ Frank และสุริยา เท่านั้นที่กล่าวถึงภาษาตระกูลไทที่มีพูดอยู่ในดินแดนนอกเหนือประเทศไทย การจัดแบ่งกลุ่มภาษาของนักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่ ล้วนรวมเอาภาษาที่พูดอยู่ในดินแดน 8 ประเทศดังกล่าวเข้ามาอยู่เป็นสมาชิกภาษาตระกูลไททั้งสิ้น
ก่อนที่ชนชาติไทยจะเข้ามาจัดการปกครองในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันนี้นั้น ปรากฏหลักฐานว่าดินแดนดังกล่าวนี้เคยมีอาณาจักรอื่นปกครองอยู่ก่อนแล้ว เช่น อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรผาน อาณาจักรตามพรลิงค์ อาณาจักรลังกาสุกะ อาณาจักรเจนละ อาณาจักรละโว้ อาณาจักรหริภุญชัย อาณาจักรโคตรบูรเป็นต้น ซึ่งอาณาจักรที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาเขมรก็คืออาณาจักรฟูนันและอาณาจักรเจนละ
คำว่า“เจนละ” เป็นชื่อที่ชาวจีนใช้เป็นคำเรียกเขมรก่อนเมืองพระนคร และสมัยพระนครว่า 真腊 (zhen la) เป็นอาณาจักรเขมรโบราณก่อนที่จะรวมตัวกันเป็นอาณาจักรเขมรกัมพูชาที่เป็นปึกแผ่น โดยมีเมืองพระนครเป็นเมืองหลวงเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 จดหมายเหตุจีนระบุว่าอาณาจักรฟูนันซึ่งเคยครอบครองความเป็นใหญ่ในดินแดนนี้ถูกรุกรานจากอาณาจักรเจนละ ซึ่งได้รวบรวมเอาแคว้นเล็กแคว้นน้อยทางแถบลุ่มแม่น้ำโขงในกัมพูชาไว้ในเครือข่ายทางวัฒนธรรมและการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคดังกล่าว (ศุภรัตน์ : 2540)
ในขณะที่อาณาจักรเขมรโบราณเรืองอำนาจอยู่นั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 จารึกเขมรได้กล่าวถึงพวก “เซียม” (esom) ที่เข้ามาทำลาย สรุกขแมร์ (sukExµr) หมายถึงเข้ามาทำลายบ้านเมืองเขมร ซึ่งคำว่าเซียม หรือ ซีม นี้ เป็นคำที่ภาษาเขมรใช้เรียกคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในบันทึกของโจวต้ากวาน(อ้างในประภาพร:2508) ที่เดินทางเข้ามานครธมในปี1839 ก็ได้จดบันทึกไว้ว่า “ในการสงครามกับไทยเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศเขมรพินาศย่อยยับแทบสิ้นเชิง” ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนรวมทั้งโจวต้ากวานเรียกคนไทยว่า เซียน (暹) หรือเซียนหลัว (暹罗) ซึ่งเป็นคำที่ภาษาจีนใช้เรียกคนไทยในอดีต กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ คำว่าเซียนหลัวก็ยังใช้หมายถึงคนไทยทั้งที่เป็นชาวเซียนที่มีถิ่นฐานอยู่แถบจีนตอนใต้ในอดีต และคนไทยที่อพยพลงใต้มาตั้งถิ่นฐานที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงชาวไทยในประเทศไทยในปัจจุบันด้วย นอกจากนี้ บันทึกของโจวต้ากวานยังจดไว้ว่า “ชาวเขมรไม่รู้จักวิธีเลี้ยงไหม ผู้หญิงรู้จักแต่ทอผ้าฝ้าย ใช้ไนปั่นด้ายก็ไม่เป็น ต้องทำเส้นด้ายด้วยมือ ฟืมหรือกี่ทอผ้าก็ไม่รู้จักใช้ ทอกันด้วยมือ เมื่อเร็วๆนี้พวกคนไทยได้คิดเลี้ยงไหมขึ้น ต้นหม่อนและตัวไหมส่งมาจากประเทศไทย คนไทยชำนาญการทอผ้าไหม รู้จักเย็บและชุน” ซึ่งหากกล่าวถึงวัฒนธรรมการทอผ้าไหมแล้ว ก็ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่าชาวเซียนที่ชาวจีนเรียก หรือชาวเซียมที่ชาวเขมรเรียกนั้น มีความเกี่ยวข้องทางอารยธรรมธรรมกับจีนมายาวนานและแน่นแฟ้น เพราะแบบอย่างต้นตอของวัฒนธรรมการทอผ้านี้เป็นวิทยาการทางภูมิปัญญาของกลุ่มชนในดินแดนจีนมาแต่โบราณกาล
จากข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการอพยพถอยร่นจากจีนลงใต้ของชนชาติไทยที่ระบุว่าเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ในขณะที่ดินแดนที่ชนชาติไทยอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานนั้นเป็นอาณาจักรของเจนละมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความเกี่ยวพันธ์ของไทยและจีน แสดงให้เห็นว่าชนชาวไทยมีความสัมพันธ์กับชาวจีนมาก่อนที่จะมีความสัมพันธ์กับชาวเขมรอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั่นก็หมายความว่าภาษาไทยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับภาษาจีนมาก่อนที่จะมามีความสัมพันธ์กับภาษาเขมรอย่างแน่นอน ดังนั้นสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคำว่า “นาง” ในภาษาไทย และ “娘” ในภาษาจีนได้ กล่าวคือคน “เซียม”หรือ “เซียน” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนไทยมีคำว่า “นาง” ใช้ในภาษามาก่อนคริสตกาลแล้ว อย่างน้อยก็ก่อน 256 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีหลักฐานทางเสียงของคำว่า“娘” ในภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (256 ปี ก่อนคริสตกาล) ออกเสียงเหมือนกับคำว่า “นาง” ในภาษาไทยคือ /na/ ประกอบกับความสอดคล้องในด้านความหมายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นข้อสนับสนุน นอกจาก นี้ จากร่องรอยคำศัพท์ในภาษาร่วมตระกูลไทอย่างภาษาไทลื้อ ภาษาจ้วงที่พูดอยู่ในบริเวณประเทศจีนปัจจุบัน และเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นบรรพบุรุษของไทยก่อนที่จะอพยพลงใต้ ยังคงมีคำว่า “นาง” ใช้ในภาษา ซึ่งมีลักษณะทางเสียงและความหมายเหมือนกันกับภาษาไทยในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกัน และสามารถตีความได้ว่าคนไทมีคำว่า “นาง” ใช้ในภาษาอยู่ก่อนที่จะอพยพลงมามีความสัมพันธ์กับพวกฟูนันและเจนละ
หลักฐานที่ระบุถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาเขมรที่สนับสนุนว่าเกิดการยืมคำจากภาษาเขมรมาใช้มีหลากหลายทรรศนะ เช่น ธเนศร์ (2540) ให้ความเห็นว่าไทยกับเขมรมีความสัมพันธ์กันมานานนับได้ร่วมพันปี ต่างรับและถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือวัฒนธรรมด้านภาษา สงบ (2524) ให้ความเห็นว่าไทยมีความสัมพันธ์กับเขมรมาตั้งแต่ยุคก่อนกรุงสุโขทัยมาจนปัจจุบัน มีความใกล้ชิดกันมาช้านาน และรับวัฒนธรรมจากเขมรมากมาย บรรจบ (2523) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของไทยกับเขมรว่าคนไทยมาตั้งถิ่นฐานเป็นปึกแผ่นขับไล่ขอมไปและตั้งบ้านเมืองขึ้น มีสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ด้วยชนชาติขอมมีอำนาจแผ่ไปทั่วดินแดนมาแต่ครั้งอดีต ไทยจึงยอมรับคำเขมรมาใช้มากมาย โดยเฉพาะใช้เป็นคำราชาศัพท์ กาญจนา (2539) ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมด้านภาษาของเขมรมีความเจริญมาก คนไทยก็ใช้ภาษาเขมรในการจารึกข้อความต่างๆ ด้วยเหตุว่าภาษาไทยยังไม่มีอักษรเป็นของตนเอง และไทยเริ่มมีอักษรใช้เมื่อสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อักษรไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้นก็มีวิวัฒนาการมาจากอักษรขอมหรือขอมโบราณ วิจิตรา (2524) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของไทยกับเขมรว่า เรามีเรื่องต้องเกี่ยวข้องกับประเทศเขมรอยู่ตลอดเวลา ไทยรับวัฒนธรรมหลายอย่างจากเขมรทั้งศาสนา ลัทธิการปกครองรวมทั้งภาษา ประภาพร (2508) ให้ความเห็นว่าในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่เหนือกว่าเขมร ทำให้เขมรยอมรับวัฒนธรรมจากไทยไปเป็นจำนวนมหาศาล กษัตริย์เขมรเริ่มหันมาใช้นามาภิไธยแบบไทยตั้งแต่ปลายสมัยนครหลวงลงมา เราย่อมจะวาดภาพของอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของไทยที่มีต่อเขมรในระยะนั้นได้ว่า ต้องมีมากและสูงพอสมควรทีเดียว จึงสามารถทำให้เขมรทิ้งจารีตที่อดีตกษัตริย์เคยใช้สืบทอดมานับพันปีนั้นเสียได้ และในระยะที่อำนาจทางการเมืองของไทยครอบคลุมเขมรนั้นเอง วัฒนธรรมโบราณหลายด้านของเขมรที่เหนือกว่าก็ได้เคลื่อนเข้าสู่ไทยด้วยเช่นกัน เฉลิม (2516) กล่าวถึงความสัมพันธ์เรื่องการสงครามระหว่างไทยกับเขมรในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าไทยและเขมรมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีตอย่างไม่ขาดสาย
จากหลักฐานความสัมพันธ์ของไทยกับเขมรตั้งแต่ก่อนสุโขทัย สุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์นั้นจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาเขมรนั้นส่วนใหญ่เป็นประวัติ
ศาสตร์ยุคหลังหรือก่อนสุโขทัยขึ้นไปไม่นานนัก ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่กี่ร้อยปีหรืออย่างมากก็ในระยะพันปีลงมานี้เอง ซึ่งหากเทียบกับความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับจีนและกับชนชาติไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่

ในบริเวณประเทศจีนปัจจุบันแล้วพบว่าห่างไกลกันยาวนานหลายพันปี
ธรรมชาติการยืมคำจากภาษาหนึ่งไปใช้ในอีกภาษาหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะยืมมาใช้ในความหมายเดิมหรือแผลงความหมายไปเป็นอย่างอื่นก็ตาม เสียงของคำจะยังคงเดิมหรือใกล้เคียงมากที่สุด โดยเฉพาะภาษาไทยมีตัวอักษรจดบันทึกที่เป็นอักขระแทนเสียง เมื่อมีการยืมคำจากภาษา
ต่างประเทศมาใช้ จะออกเสียงเหมือนกับคำในภาษาดั้งเดิมโดยเฉพาะภาษาพูด และพยายามใช้อักษรซึ่งเป็นอักษรแทนเสียงของไทยจดบันทึกเสียงให้ใกล้เคียงกับเสียงเดิมมากที่สุด โดยไม่มีหรือไม่คำนึงถึงข้อแปรผัน หรือการสับเปลี่ยนอักขระวิธีของภาษาไทยกับภาษาที่ยืมมาแต่อย่างใด ดังนั้นหากคำว่า “นาง” ยืมมาจากคำว่า “nag”ในภาษาเขมรจริง ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่ายืมมาก่อนที่ไทยจะประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ภาษาพูดก็ควรจะออกเสียงว่า “เนียง” เช่นเดียวกับภาษาเขมร หลังจากประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ในสมัยสุโขทัยแล้ว ก็ต้องเขียนตามเสียงของคำคือ “เนียง” ไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนเสียงของเสียง “อา” ที่เมื่อผสมกับพยัญชนะกลุ่ม อา ออ ทำให้ออกเสียงต่างกันในภาษาเขมรแล้วเปลี่ยนมาเขียนเป็น “นาง” และที่สำคัญ คำที่ยืมมาเดิมออกเสียงว่า “เนียง” แต่หลังจากประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้จะเปลี่ยนมาออกเสียงว่า “นาง” ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ข้อโต้แย้งนี้น่าจะเพียงพอที่สนับนุนความคิดที่ว่าคำว่า “นาง” ในภาษาไทยไม่ได้เป็นคำที่ยืมมาจากคำว่า “nag” ในภาษาเขมรแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นหากพิจารณาในด้านความหมายของคำแล้ว คำว่า “นาง” ในภาษาไทยมีความหมายใกล้ชิดกับคำว่า “娘” ในภาษาจีนมากกว่า ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบความหมายของคำว่า “นาง” ในภาษาไทย กับ“nag” ในภาษาเขมรแล้ว แม้จะมีบางความหมายที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความหมายที่ขัดแย้งกันหรือไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด
ในบทความนี้มุ่งเน้นเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของไทยกับจีน และไทยกับเขมรเพื่อจะหาข้อสรุปว่าไทยมีความสัมพันธ์กับจีน หรือมีความสัมพันธ์กับเขมรกันแน่ แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่งคือความสัมพันธ์ของจีนกับเขมร อันจะนำไปสู่การมองแบบรอบด้าน เพื่อจักได้สรุปข้อสมมติฐานได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ในจารึกเขมรโบราณศตวรรษที่ 6 – 8 (Long Sieam:2000) ก็มีคำว่า “nag” ใช้ในภาษาแล้ว หากศึกษาตามประวัติศาสตร์สืบย้อนขึ้นไปอีกจะพบว่าก่อนที่จะเป็นอาณาจักรเจนละ อาณาจักรฟูนันซึ่งพูดภาษาจำพวกมอญเขมรได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับจีนมาก่อนแล้ว จากหลักฐานที่ได้จากจีน (อ้างในวิไลเรขาและคณะ:มปป.) กล่าวว่า อาณาจักรฟูนันก่อตั้งขึ้นเมื่อ คริสต์ศตวรรษที่ 1 เรื่องราวของอาณาจักรฟูนันในระยะแรกปรากฏอยู่ในบันทึกทูตจีน 2 คนคือ คังไถ และชูอิง ซึ่งได้เดินทางมายังอาณาจักรฟูนันในคริสต์ศตวรรษที่ 3
ในบันทึกราชวงศ์เหลียง (อ้างในวิไลเรขาและคณะ:มปป.) กล่าวว่ากษัตริย์พันพัน(Pan Pan) ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบทอดต่อราชบัลลังของพระเจ้าฮวนตี้ และได้มอบสิทธิขาดให้ขุนพลนามว่าฟันมัน (Fan Man) เมื่อ Pan Pan สิ้นพระชนม์ ประชาชนได้เลือก Fan Man ขึ้นเป็นกษัตริย์ ฟันมันทรงดำรงตำแหน่งมหาราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน
ประวัติศาสตร์จีนสมัยสามก๊ก (อ้างในวิไลเรขาและคณะ:มปป.) กล่าวว่า ค.ศ.243 อาณาจักรฟูนันได้ส่งคณะทูตมายังประเทศจีนพร้อมด้วยนักดนตรีและผลิตผลเป็นเครื่องราชบรรณาการ
วิไลเรขาและคณะ (วิไลเรขาและคณะ:มปป.) วิเคราะห์ว่า ระยะที่อาณาจักรฟูนันมีความเข้มแข็ง มีเหตุการณ์หลายๆ รัชกาลแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์อาณาจักรฟูนันมักส่งบรรณาการไปทำ ไมตรีกับจีน ดูเหมือนจะยอมรับความยิ่งใหญ่ของจีนโดยปริยาย ..........จีนจึงมีความสำคัญในตัวเองว่าตนอยู่ในฐานะเหนือกว่าอาณาจักรใหญ่น้อยในบริเวณนี้ ...........ดังนั้นบางครั้งจีนจึงมอบตำแหน่งทางการเมืองของจีนให้แก่กษัตริย์ฟูนัน
อาณาจักรเจนละซึ่งเดิมเป็นประเทศราชของอาณาจักรฟูนัน ได้ก่อการกบฏต่อต้านอำนาจของฟูนันจนแยกตัวเป็นอิสระได้ในปี ค.ศ. 550 จนถึงปลาย คติสตศตวรรษที่ 7 และรุ่งเรืองแผ่ขยายอาณาเขต ไปทางตะวันออกเฉียงใต้รวบรวมเอาดินแดนฟูนันไว้ทั้งหมด จากนั้นก็ขยายอำนาจไปยังบริเวณทะเลสาบเขมรและปากแม่น้ำโขง
เป็นที่น่าสังเกตว่าคำว่า “nag” ในภาษาเขมร ออกเสียงเหมือนกับ “娘” ในภาษาจีน ตั้งแต่ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ลงมา (สมัยหนานเป่ย 南北朝ถึงสมัยถัง唐朝 คือปี ค.ศ.420 ถึง ค.ศ.907) คือ /ni/ หากจะกล้าหาญที่จะเสนอความคิดสามประเด็นดังต่อไปนี้ ก็ไม่น่าจะห่างไกลความเป็นจริงนัก
1. “นาง” ในภาษาไทย มีความสัมพันธ์กับ “娘” ในภาษาจีนเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตั้งแต่ภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีหลักฐานทางเสียงที่เหมือนกันคือ/na/และความหมายเหมือนกัน หรือสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ “เพศหญิง” เป็นข้อสนับสนุน นอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่าคนไทยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศจีนปัจจุบัน ก่อนที่จะอพยพลงใต้นั้นก็เป็นเวลาเดียวกันกับช่วงระยะเวลาของภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย รวมทั้งร่องรอยภาษาในกลุ่มชนที่เชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของคนไทที่อยู่ในประเทศจีน ก่อนที่จะอพยพลงใต้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
2. “nag” ในภาษาเขมรมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ “娘” ในภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ (สมัยหนานเป่ย 南北朝ถึงสมัยถัง唐朝 คือปี ค.ศ.420 ถึง ค.ศ.907) มีหลักฐานทางเสียงที่เหมือนกันคือ /ni/ และความสัมพันธ์เกี่ยวกับการส่งเครื่องราชบรรณาการ การยอมรับเจ้าเมืองที่ส่งมาปกครองจากจีนของอาณาจักรฟูนัน ทำให้อาณาจักรฟูนันรับอิทธิพบต่างๆมาจากจีน เป็นข้อสนับสนุน
3. เมื่อชาวเซียน (ชาวไทย) อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณปัจจุบัน ด้วยความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ จึงมีการติดต่อสัมพันธ์กับเขมร เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายเทภาษาและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ความหมายด้านอื่นๆ ของคำว่า “นาง” และ “nag” จึงเกิดการถ่ายเทสัมพันธ์กันในคราวนี้
จากเรื่องราวและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนในดินแดนนี้ได้รับอิทธิพลจากจีนมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นอาณาจักรฟูนันแล้ว มาถึงอาณาจักรเจนละอิทธิพลจีนก็ยังคงแผ่ขยายเข้ามาตลอดไม่ขาดสาย และแน่นอนว่าต้องมีอารยธรรมที่รับมาจากจีนตั้งแต่อาณาจักรฟูนันหลงเหลือสืบทอดมาถึงเจนละ รวมทั้งภาษาด้วย ชาวฟูนันอาจได้รับอิทธิพลจากภาษาจีน โดยยืมคำว่า “娘” มาจากภาษาจีนก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนคงมิอาจตัดสินประเด็นนี้ได้ในขณะนี้ จำต้องศึกษาให้แน่ชัดต่อไป แต่ที่แน่ๆ จากข้อสนับสนุนทั้งทางประวัติศาสตร์การตั้งและการโยกย้ายถิ่นฐาน ประวัติศาสตร์เรื่องเสียงอ่านและความหมายของคำ ความผูกพันทั้งด้านเชื้อชาติและภาษาของชนชาวไทยกับชนชาวไทในบริเวณอื่นๆที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากเขมร โดยเฉพาะในดินแดนที่ถูกระบุว่าเป็นหลักแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของชนชาติไทยอย่างภาษาไทลื้อและไทจ้วงมีคำว่า “นาง” ใช้ในภาษามาแต่ดั้งเดิม เพียงพอที่จะสรุปสมมติฐานของบทความนี้ได้ว่า “นาง” ในภาษาไทย น่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับ “娘”ในภาษาจีน มากกว่าที่จะเป็นคำยืมมาจาก “nag” ในภาษาเขมร
บทสรุป
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องการตั้งถิ่นฐานจนถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนไทยที่เดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณที่เป็นประเทศจีนปัจจุบันแล้วอพยพลงใต้สู่ดินแดนอาณาจักรเจนละ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์กันของไทยกับจีน เขมรกับจีนและไทยกับเขมรที่ชี้ชัดว่า ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนและชนชาติไทที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศจีนปัจจุบันมาเป็นเวลายาวนานก่อนที่จะมีความสัมพันธ์กับเขมรเสียอีก รวมทั้งหลักฐานเรื่องเสียงและความหมายของคำที่เสียงภาษาไทยตรงกับเสียงภาษาจีนก่อนประวัติศาสตร์คือ/na/ มีความหมายสอดคล้องกันคือหมายถึง “เพศหญิง” แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาเขมร กลับมีทั้งข้อที่เหมือนและต่างกันทั้งในเรื่องเสียงและความหมาย ชี้ให้เห็นว่า คำว่า “นาง” ในภาษาไทยไม่ได้เป็นคำที่ยืมมาจาก “nag” ภาษาเขมร หากแต่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับคำว่า “娘” ในภาษาจีน และอาจเดาต่อไปได้อีกว่า “nag” ในภาษาเขมรมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนมาตั้งแต่ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ได้ด้วย โดยสามารถสรุปเสียงของคำและช่วงเวลาเพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสามภาษาดังตารางต่อไปนี้
ช่วงเวลา ภาษาจีน ภาษาเขมร ภาษาไทย
ภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ 1046 ปี ถึง 256 ปี ก่อนคริสตกาล /na/ ก่อนฟูนันจนถึงเริ่มต้นเจนละ /nān/ *เขียนแบบถ่ายถอดรูป
อักษรอย่าง Long Sieam:2000 /na/
ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์
ค.ศ. 420 - 907 /niá/ เจนละ /ni/ /na/
ปัจจุบัน /niá/ เขมร /ni/ /na/

บรรณานุกรม
กาญจนา นาคสกุล.(2511) นิรุกติศาสตร์-ภาษาเขมร. คุรุสภาพระสุเมรุ,กรุงเทพฯ.
————---------. (2539) อ่านภาษาเขมร. พิมพ์ครั้งที่ 2,โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพฯ.
———---------—. (2548) พจนานุกรมไทย-เขมร.,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพฯ.
กาญจนี ละอองศรี(2525) “การค้นคว้าศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทย” เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาของ
สมาคมประวัติศาสตร์ เรื่อง “เวทีความรู้ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน” ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 30 – 31 มกราคม 2525.
จิตร ภูมิศักด์.(2519) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์
ครั้งที่ 1. โครงการตำราสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.กรุงเทพฯ.
เฉลิม อยู่เวียงชัย. (2516) สมัยกรุงธนบุรี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์.โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,กรุงเทพฯ.
บรรจบ พันธุเมธา. (2521) พจนานุกรมเขมรไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน.รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์,กรุงเทพฯ.
———— .(2523) ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย.พิมพ์ครั้งที่ 3 ,โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,กรุงเทพฯ.
ถนอม อานามวัฒน์และคณะ.(2543)ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย. วัฒนาพานิช,กรุงเทพฯ.
เท่าคว่างแซ้งและอ้ายคำเรียบเรียง,เรณู วิชาศิลป์ ปริวรรต – แปล. (2544) เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองปันนา. โอ.
เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,กรุงเทพฯ.
ธเนศร์ เวชภาดา(2540) “การใช้คำเขมรในมหาชาติคำหลวง” ภาษาและวรรณคดีไทย.14(14),45-81.
เธียรชัย เอี่นมวรเมธ.(2541) พจนานุกรมจีน-ไทย.รวมสาส์น,กรุงเทพฯ.
นวลจันทร์ ตุลารักษ์.(2547) ประวัติศาสตร์:การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาชาติไทย. โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,กรุงเทพฯ.
นิยะดา เหล่าสุนทร.(2538) ไตรภูมิพระร่วง: การศึกษาที่มา. แม่คำผาง, กรุงเทพฯ.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.(2547) ไทยสิบสองปันนาเล่ม 1 .พิมพ์ครั้งที่ 3 .ศยาม,กรุงเทพฯ.
ประภาพร (2508) “อิทธิพลของวัฒนธรรมไทยที่มีต่อเขมรในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา” วัฒนธรรมไทย. ปีที่ 5 ฉบับ
ที่ 9 .
ประสงค์ ทองประ.(2546) การศึกษาคำที่มีความสอดคล้องกันในภาษาไทยและภาษาเขมร. รายงานการศึกษา
ค้นคว้าอิสระเสนอต่อมหาวิทยาลัยมหาสารคาม,ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย
(กลุ่มภาษา) ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ปราณี กุละวณิชย์.(2535) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,กรุงเทพฯ.
ปราณี กุละวณิชย์และคณะ.(2527) ศัพท์ไท 6 ภาษา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,กรุงเทพฯ.
พิริยะ ไกรฤกษ์. (2547) จารึกพ่อขุนรามคำแหงวรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2,มติ
ชน,กรุงเทพฯ.
พุทธศาสนบัณฑิต.(2539) มหาเวสสันดรชาดก. พุทธศาสนบัณฑิต,พนมเปญ.
ภัททิยา ยิมเรวัต.(2544) ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท.ธีระการพิมพ์,กรุงเทพฯ.
ราชบัณฑิตยสถาน.(2544) พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยสมัยสุโขทัย ไตรภูมิกถา.อรุณการพิมพ์,กรุงเทพฯ.
----------------------.(2546) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2542.นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น,กรุงเทพฯ.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531)ภาษาถิ่นตระกูลไทย. (พิมพ์ครั้งที่2) โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,กรุงเทพฯ.
วิจิตรา แสงพลฤทธิ์. (2524) การใช้ภาษาไทย. พีรพัธนา,กรุงเทพฯ.
วิจิตรวาทการ,พลตรี หลวง.(2549) งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย.สร้างสรรค์บุ๊คส์,กรุงเทพฯ.
วิไลเลขา บุรณศิริและสิริรัตน์ เรืองวงศ์วาร.(มปป.)ประวัติศาสตร์อาเซียอาคเนย์. บทที่ 1 – บทที่ 12. มหาวิทยาลัย
รามคำแหง,กรุงเทพฯ.
สงบ บุญคล้อย.(2524) ภาษาเขมรในภาษาไทย. วิทยาลัยครูบุรีรัมย์,บุรีรัมย์.
————-----. (2529) ลักษณะภาษาเขมร.วิทยาลัยครูบุรีรัมย์,บุรีรัมย์.
สมชาย ลำดวน.(2527) ภาษาเขมรที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,มหาสารคาม.
สุริยา รัตนกุล.(2548) นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท.สหธรรมิก.กรุงเทพฯ.
ศานติ ภัคดีคำ. (2549) พจนานุกรมคำยืมภาษาเขมรในภาไทยฉบับฉลองครบรอบ 55 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์
ทางการทูตไทย-กัมพูชา. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,กรุงเทพฯ.
ศุภรัตน์ เลิศพานิชกุล. (2540) “ความเป็นมาของชุมชนไทย” เอกสารการสอนชุดวิชาไทยศึกษาหน่วยที่ 1 – 7.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,นนทบุรี.
Benedict Paul K.(1942)Thai, Kadai and Indonesian: A new alignment inSoutheastern Asia, American
Anthropologist 44:576-601.
-----------------. (1975) Austro-Thai: Language and culture. New Haven: HRAF Press.
Brown, J. Marvin (1965) From Ancient Thai to Modern Dialects. In From Ancient Thai to Modern Dialects,
and Other Writings on Historical Thai Linguistics, pp. 69-254. White Lotus, Bangkok. ISBN 974-
8495-07-8.
Chamberlain,James R. (1972) ‘The Origin of The Southwestern Tai’ in Bullentin des Amis du Royaume
Laos,7-8:233 – 44 Vientiane
Diffloth, Gérard.( 1974) Austro-Asiatic Languages. Encyclopaedia Britannica. 480-484.
Dodd,William C.(1923) The Tai Race-Elder Brother of Chinese. Cedar Rapids, Iowa, The Torch Press.
Franklin E.Huffman.(1988) Cambodian Literary reader and glossary. Sortheast Asia Program ,Cornell
University,Ithaca,Niwyork.
Frank M.Lebar. (1964) Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven,Conn.:HumanRelations
Area Files.
Gedney,William J. (1972) ‘A checklist for determining tones in Tai dialects’ , in Studies in Linguistics in
honor of Georg L. Trager. The Haug.Mouton.
Grierson,G.A. (1903 - 28) Linguistics servey of India,11vols.Culcutta,Office of the Superementendent of
Government Printing.
Hartman, John F. (1986) ‘Style, Scope, and Rigor in Comparative Tai Research’ in Bickner, Robert
J., Thomas J. hudak and Pacharin Peyasantiwong (eds.)
Jacob,M.Judith. (1974) A Concise Cambodian-English Dictionary. Oxford University, London.
Li Fang Kuei.(1959) “Classification by vocabulary : Tai Dialects” in Anthropological Linguistics,1.2,15-21.
-----------------.(1976) Sino-Tai, Genetics Relationship Diffusion and typological similarities on East and
Southeast Asian Languages ,Paper for the 1st Japan –US Joint Seminar on East and Southeast
Asian Linguistics, Tokyo.
Manomaivibool Prapin.(1975) A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence , PhD Dissertation, University
Of Washington.
吉常宏.(2000) 《汉语称谓大词典》河北教育出版社:河北。
龚群虎.(2002) 《汉泰关系词的时间层次》复旦大学出版社,上海。
郭锡良(1986) 《汉字古音手册》北京大学出版社,北京。
梁敏,张均如.(1996) 《侗台语族概论》社会科学出版社, 北京。
lwm epc.(2002)vcnanu®kmExµr - éf> PñMeBj>
yn; vNÑvgS nig rs; sar:avuF.(2006)vcnanu®kméf - Exµr TMenIb> PñMeBj>
Lug esom.(2000)vcnanu®kmExµrburaN tamsilacaråkbuerGgÁr stvtSTI 6-8> PñMeBj>

4 ความคิดเห็น: