วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

11. 东乡族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าตงเซียง





















ตั้งแต่อดีตชนกลุ่มน้อยเผ่าตงเซียงอาศัยอยู่บริเวณเมืองเหอโจว (河州Hézhōu) ปัจจุบันคือ หมู่บ้านตะวันออก ตำบลหลินเซี่ย(临夏Línxià) ของมณฑลกานซู่(甘肃Gānsù) คำว่าหมู่บ้านตะวันออกภาษาจีนออกเสียงว่า “ตงเซียง” จึงใช้คำบอกสถานที่อยู่เป็นคำเรียกชื่อชนกลุ่มน้อยเผ่านี้ แต่ชนกลุ่มน้อยเผ่าตงเซียงเรียกตัวเองว่า “ซาร์ทา” (撒尔塔Sā’ěrtǎ) ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกชื่อชนกลุ่มนี้หลายชื่อ เช่น ตงเซียงหุยหุย(东乡回回Dōnɡxiānɡ Huíhuí) เหมิงกู่ตงเซียง (蒙古东乡Dōnɡxiānɡ Měnɡɡǔ) ตงเซียงถู่เหริน (东乡土人 Dōnɡxiānɡ Tǔrén) ปัจจุบันชาวเผ่าตงเซียงอาศัยอยู่ในบริเวณอำเภอปกครองตนเองตงเซียง เขตปกครองตนเองเผ่าหุย (回族Huí Zú) ตำบลหลินเซี่ย นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายอาศัยอยู่บริเวณเมืองหลานโจว(兰州Lánzhōu) กว่างเหอ(广河Guǎnɡhé) ตำบลเหอเจิ้ง(和政Hé zhènɡ) ตำบลหลินเซี่ยของมณฑลกานซู่ และบริเวณอำเภออีหลี (伊犁Yīlí) ของมณฑล ซินเจียง(新疆Xīnjiānɡ) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าตงเซียงมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 513,805 คน ภาษาที่ใช้คือภาษาตงเซียง จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต (阿尔泰语系 Ā’ěrtài yǔxì) สาขามองโกล(蒙古语族Měnɡɡǔ yǔ zú) ชาวตงเซียงไม่มีภาษาอักษร ส่วนใหญ่พูดภาษาฮั่นได้และใช้อักษรจีน


ชนเผ่าตงเซียงเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชนเผ่าเล็กเผ่าน้อย ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณหมู่บ้านตงเซียงราวกลางศตวรรษที่ 14 เป็นกลุ่มชนชาวเซ่อมู่(色目人Sèmùrén) และมองโกล(蒙古人Měnɡɡǔ rén)ที่นับถือศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ในบริเวณเมืองเหอโจว(河州Hézhōu) ซึ่งแป็นที่ตั้งกองกำลังทหารเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่รวมเอาเซ่อมู่และมองโกลไว้ด้วยกัน มาจนถึงปลายศตวรรษที่ 13 คือในช่วงสมัยหยวน เจ้าเมืองอานซี อาหนานต๋า (安西王阿难答 Ānxīwánɡ Ā’nándá) เจ้าเมืองผู้ครองเมืองเจิ้นฝูส่านซี(镇抚陕西Zhènfǔ Shǎnxī) กานซู่(甘肃Gānsù) หนิงเซี่ย(宁夏Nínɡxià) บวชเป็นนักบวชในศาสนาอิสลาม ชาวเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองจึงนับถือศาสนาอิสลามตามไปด้วย ชาวเซ่อมู่ที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ก่อนแล้วจึงมารวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ จนถึงต้นศตวรรษที่ 14 กษัตริย์หยวนเฉิงจงเสด็จสวรรคต เจ้าเมืองอานซีอานันตะร่วมมือกับชาวมองโกลและชาวเซ่อมู่พยายามวางแผนจะสืบทอดราชบัลลังก์ แต่เรื่องราวแพร่งพรายออกไปจึงถูกตามสังหาร และหลบหนีไปอยู่กับอิสลามิกชนด้วยกันที่เมืองตงเซียง เมื่อตั้งหลักปักฐานอยู่ร่วมกับกลุ่มชนในเขตตงเซียงนานวันเข้า มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับชาวฮั่นและชาวทิเบตเรื่อยมา จนหลอมรวมเป็นชนเผ่าและตั้งชื่อตามถิ่นที่อยู่ว่า “เผ่าตงเซียง”


นอกจากนี้ยังมีอีกหลายทฤษฎีเกี่ยวกับกำเนิดของชนเผ่าตงเซียง ที่สำคัญคือในยุคที่เจงกีสข่านเข้าพิชิตซีเซี่ย ได้นำกำลังทหารมากมายมาประจำการอยู่ที่บริเวณเหอโจว(河州Hézhōu) และหลินถาว(临洮Líntáo) ทหารเหล่านี้อยู่ในดินแดนดังกล่าวเป็นเวลานาน บ้างตั้งหลักปักฐาน ก่อตั้งบ้านเรือนและแต่งงานกับชาวเมืองพื้นที่เป็นจุดกำเนิดและเป็นบรรพบุรุษของชาวตงเซียง อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าในยุคที่เจงกีสข่านเข้าพิชิตเมืองทางตะวันตก ได้กวาดล้างช่างและชาวเมืองจากเมืองทางเอเซียกลางและ เปอร์เซียเข้ามา และจัดให้อยู่ในเมืองตงเซียง อยู่ติดดินแดนสืบต่อเผ่าพันธุ์เรื่อยมาก่อเกิดเป็นชนเผ่าตงเซียง


ด้วยเหตุที่เป็นชนเผ่าที่เกิดใหม่ ไม่ใช่ชนที่อยู่ติดดินแดนมาแต่เดิม ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวตงเซียงจึงเป็นไปตามสังคมที่แวดล้อม หรือเป็นระบบสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย โดยรวมแล้วล้วนอยู่บนพื้นฐานของระบบศักดินาที่มีมาตั้งแต่ราชวงศ์หยวน หลังยุคจักรพรรดิคังซีในสมัยราชวงศ์ชิง ขุนนางผู้ครองเมืองเหอโจวล้มล้างระบบการปกครอง ทำให้สังคมเศรษฐกิจที่วุ่นวายแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี การล้มล้างระบบการถือครองที่ดิน และจัดระเบียบสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หาได้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวตงเซียงมากเท่าใดนัก


ก่อนยุคก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวตงเซียงตกอยู่ในอำนาจการปกครองของกองกำลังทหาร สภาพชีวิตลำบากยากแค้นมาก จนกระทั่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนประสบความสำร็จ ชีวิตของชาวตงเซียงจึงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยในปี 1950 รัฐบาลก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวตงเซียงขึ้น ในปี 1981 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองเผ่าตงเซียง เผ่าซาลา เผ่าป่าวอานขึ้นที่อำเภอจีสือซาน (积石山保安族东乡族撒拉族自治县 Jīshíshān Bǎo’ān zú Dōnɡxiānɡ Zú Sālā Zú zìzhìxiàn) สถานภาพทางสังคมของชาวตงเซียงดีขึ้น ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน และมีอำนาจในการปกครองตนเอง เหมือนชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆ


อาชีพหลักของชาวตงเซียงคือการทำการเกษตร พืชเกษตรหลักๆที่ปลูกคือ ข้าวสาลี มันฝรั่ง ข้าวโพด ผลิตผลที่มาจากชาวตงเซียงมีปริมาณมาก และคุณภาพดี แต่ชาวตงเซียงยังไม่รู้จักการบำรุงดิน นานวันเข้าดินเสื่อมสภาพ ผลผลิตต่ำลง ค่าเช่าที่ดินทำกินสูงขึ้น การเก็บดอกเบี้ยและภาษีสูงขึ้น เจ้าของที่ดินขูดรีด ทำให้เศรษฐกิจของชาวตงเซียงตกต่ำย่ำแย่ ชาวตงเซียงบางส่วนจึงหันมาประกอบอาชีพปศุสัตว์ตามทุ่งหญ้า โดยเฉพาะแพะ เนื้อแพะที่มาจากชุมชนชาวตงเซียงมีคุณภาพดีและปริมาณมาก มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงมากในอันดับต้นๆ ของประเทศเลยทีเดียว นอกจากนี้ชาวตงเซียงบางส่วนยังประกอบอาชีพอื่นๆ อีก เช่น การค้า การขนส่ง ชาวตง-เซียงมีฝีมือในการทอผ้า และผ้าสักหลาด ผลผลิตที่ได้ใช้ในครัวเรือนและการค้า


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนสนับสนุนการพัฒนาที่ดิน และนำความเจริญต่างๆ เข้าสู่ตงเซียง พัฒนาระบบน้ำชลประทาน การปลูกป่า ระบบป้องกันการไหลซึมของน้ำ การทำนา หักร้างถางพงป่าเขาให้เป็นที่ราบลุ่มเพื่อเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตที่ได้มีปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้น ชีวิตและเศรษฐกิจของชาวตงเซียงดีขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มมีการพัฒนาที่ดินเป็นต้นมา ชาวตงเซียงสามารถประกอบอาชีพกสิกรรมได้เป็นอย่างดี เกิดอาชีพต่างๆ ที่สร้างรายได้งดงามขึ้นมากมาย เช่น การเกษตร ประมง การเลี้ยงสัตว์ เมื่อมีผลผลิตที่ดีขึ้น ความเจริญด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ ก็ตามมา มีการสร้างถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า ประปา โรงงานอุตสากรรมแปรรูปอาหาร ชีวิตประชาชนอยู่ดีกินดีทั่วหน้า


วัฒนธรรมด้านวรรณกรรมและศิลปกรรมของชาวตงเซียงมีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่เพียงแต่มีเพลงกลอนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาลแล้ว ยังมีเรื่องเล่า สุภาษิตคำพังเพยที่มีการเสียดสี ประชดประชัน แต่แฝงไว้ด้วยปรัชญาลึกซึ้ง มีปริศนาคำทาย นิทานอีกมากมาย ที่โดดเด่น เช่น เรื่อง《勇敢的阿里Yǒnɡɡǎn de Ā lǐ “อาลีผู้กล้าหาญ” เรื่อง《璐姑娘斩蟒》Lù ɡūniɑnɡ zhǎn mǎnɡ “สาวสกุลลู่ฆ่างู” นอกจากนี้กลอนสมัยใหม่อย่าง เรื่อง《米拉朵黑》 Mǐlāduǒhēi “หมี่ลาตั่วเฮย” ของผู้แต่งชื่อ วางเหลียงยวี่ (汪良玉Wānɡ Liánɡyù) กวีชาวตงเซียงก็เป็นกลอนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากเรื่องหนึ่ง
เพลงพื้นเมืองของชาวตงเซียงมีลักษณะพิเศษ มีรูปแบบที่หลากหลาย ที่สำคัญหลัก ๆ มีอยู่ 3 ประเภทคือ เพลงที่ร้องในเวลาทำงาน เพลงชมดอกไม้ และเพลงในพิธีแต่งงาน ด้านการละเล่นพื้นบ้าน ชาวตงเซียงมีการร้องเล่นเต้นรำ มีเครื่องดนตรีหลายชนิดเช่น เครื่องดนตรีคล้ายกับขลุ่ย เรียกว่า มี้มี้ (咪咪mīmī) นอกจากนี้ยังมี พิณสี่สาย และเครื่องดนตรีประเภทเป่า ทำจากดินเผา ที่ชื่อ สือยา (什鸦shíyā) เป็นเครื่องดนตรีประจำเผ่าของชาวตงเซียงด้วย


กีฬาพื้นเมืองที่สำคัญคือการแข่งม้า มวยปล้ำ งานหัตถกรรมพื้นบ้านที่สำคัญได้แก่ การแกะสลักไม้และหิน ส่วนงานฝีมือของหญิงชาวตงเซียงได้แก่ การปักผ้า การทอผ้าสักหลาด นับเป็นผลงานหัตถกรรมฝีมือดีที่มีชื่อเสียงมากอย่างหนึ่ง


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะการแต่งงาน ชาวตงเซียงยึดถือธรรมเนียมประจำชนเผ่าที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เรียกว่า “อาฮาเจียว” (阿哈交 Ā’ hājiāo) คือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งงาน ในสายตระกูลที่มีสายเลือดเดียวกันไม่ว่าจะมีมากน้อยเท่าใดก็ตามจะมีผู้อาวุโสที่สุดเป็นหัวหน้าสายตระกูล ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้ผู้ที่อยู่ในสายตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกประนามจากคนในชุมชน การแต่งงานพ่อแม่เป็นผู้จัดการให้ เดิมชายหญิงอายุ 15 – 16 ก็จะจัดการจับคู่แต่งงานกันแล้ว แต่ปัจจุบันกฎหมายแต่งงานของประเทศจีนอนุญาตให้แต่งงานกันได้เมื่ออายุครบ 18 ปี การแต่งงานของชาวตงเซียงจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ


เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวตงเซียงในระยะหลังมานี้คล้ายคลึงกับชาวฮั่น และชาวหุย แต่มีลักษณะเด่นอยู่ที่เครื่องประดับบนศีรษะ ชายสวมหมวกไม่มีปีกสีขาวหรือสีดำเรียกว่า เฮ่าเม่า (号帽hàomào) สตรีสวมผ้าคลุมผมที่ทำด้วยผ้าแพรและผ้าไหม หญิงสาวและสาวที่แต่งงานใหม่สวมหมวกสีเขียว แต่หญิงที่แต่งงานแล้วและหญิงวัยกลางคนสวมหมวกสีเขียวแก่ หญิงสูงอายุสวมหมวกสีดำ ผ้าคลุมศีรษะปกติยาวคลุมไปถึงเอวคลุมผมไว้ทั้งหมด แต่ด้วยความจำเป็นในการทำงาน บางครั้งใส่ผ้าคลุมผมที่ยาวถึงเอวไม่ได้ อาจจะไม่สะดวก และไม่ปลอดภัย จึงเปลี่ยนเป็นหมวกใบเล็กแทน ชายชาวตงเซียงไม่ไว้ผมยาว แต่มักจะไว้หนวดยาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกันรู้จักและแสดงความเคารพต่อกัน


อาหารหลักของชาวตงเซียงคือข้าวสาลี ข้าวโพด มันฝรั่ง และอาหารจำพวกถั่วต่างๆ อาหารแป้งที่ทำจากข้าวสาลีที่ชาวตงเซียงรับประทานได้แก่ จำพวก หม่านโถว บะหมี่ ปาท่องโก และอาหารที่ถือว่าเป็นจานเด่นที่ต้องใช้ในการรับแขก ได้แก่ ลาสือฮา (拉拾哈Lāshíhā) คือบะหมี่นั่นเอง สิ่งที่ชาวตงเซียงพิถีพิถันมากในเรื่องอาการคือ ชาวตงเซียงจะแบ่งเนื้อไก่โดยกำหนดคุณค่าต่างๆของไก่พิถีพิถันมาก ไก่ 1 ตัวแบ่งได้ 13 ชิ้นส่วนที่สำคัญ หางไก่มีค่ามากที่สุด ปกติจะให้กษัตริย์ หัวหน้า ขุนนาง และแขกผู้มาเยือนรับประทาน เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพ การรับแขกของชาวตงเซียงมีข้อพิเศษคือจะไม่รับประทานอาหารร่วมกับแขกที่มาเยือน แต่จะยืนดูอยู่ใกล้ๆ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ แขกผู้ชายที่มาเยือนจะให้เจ้าบ้านผู้ชายต้อนรับ และแขกผู้หญิงให้เจ้าบ้านผู้หญิงเป็นฝ่ายต้อนรับ
วัฒนธรรมที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของชาวตงเซียงคือการทำความสะอาดร่างกาย ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตามหลักศาสนา มีการชำระร่างกายสองแบบคือ การชำระเล็กและชำระใหญ่ การชำระเล็กคือการทำความสะอาดทุกวัน จะทำความสะอาดมือ เท้า ปาก หน้า จมูก การชำระใหญ่คือการอาบน้ำทำความสะอาดทั้งร่างกายสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และก่อนเทศกาลสำคัญก็จะทำความสะอาดร่างกายแบบชำระใหญ่เช่นกัน การรับประทานอาหารก็ต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา ชาวตงเซียงไม่รับประทานเนื้อหมู และเลือดสัตว์ ไม่นำของสกปรกเข้าไปในสุสานและมัสยิด ไม่นำอาหารมาพูดเป็นเรื่องล้อเล่น ไม่เปลือยอกและหลังต่อหน้าผู้อื่น ไม่ส่งต่อบุหรี่และเหล้าให้กัน


การประกอบพิธีศพกระทำโดยการฝัง และต้องกระทำอย่างรวดเร็ว ไม่เก็บศพไว้นาน


“ตงเซียง” นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามของประเทศจีนก็ว่าได้ เพราะเป็นชุมชนที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด และเป็นต้นกำเนิดของศาสนาอิสลามในจีนมาตั้งแต่โบราณ ศาสนสถานที่สำคัญในศาสนาอิสลามก่อสร้างขึ้นที่ตงเซียง ความเชื่อและเทศกาลสำคัญต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา คือเทศกาลศีลอด เทศกาลกุรปัง เทศกาลบูชาพระเจ้า ซึ่งเทศกาลบูชาพระเจ้านี้จะจัดรวมกันที่มัสยิด กิจกรรมในเทศกาลนี้คือการสวดมนต์ บูชาสรรเสริญพระเจ้า และฟังเทศนาคำสอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น