วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

15. 鄂温克族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเอ้อเวินเค่อ
























ในอดีตชนเผ่าเอ้อเวินเค่ออาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆของจีน และมีชื่อเรียกต่างๆกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น สั่วหลุน(索伦Suǒlún,Solon) ตุนกุส (通古斯Tōnɡgǔsī,Tungus) ยาคุท (雅库特Yǎkùtè,Yakut) ในปี 1957 ชนกลุ่มนี้ยอมรับตัวเองในชื่อ “เอ้อเวินเค่อ” และใช้เรียกชนเผ่าของตนที่กระจายอยู่ในทุกที่ด้วยชื่อเดียวกันนี้ คำนี้มีความหมายว่า “ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหุบเขาใหญ่” ชาวเผ่าเอ้อเวินเค่ออาศัยอยู่ในกลุ่มปกครองตนเองเมืองฮูหลุนเป้ยเอ่อร์เหมิง(呼伦贝尔盟Hūlúnbèi’ěrménɡ) เผ่าเอ้อเวินเค่อ และในบริเวณกลุ่มปกครองตนเองกลุ่มเฉินปาร์ฮู กลุ่มปู้เท่อฮา กลุ่มอาหรง กลุ่มเออร์กูนาจัว กลุ่มโมลีต๋าหว่า กลุ่มปกครองตนเองเผ่าต๋าโว่ร์ และบริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าเอ้อหลุนชุนในมณฑลเฮยหลงเจียง นอกจากนี้ยังอาศัยปะปนอยู่กับชนเผ่าอื่นๆ เช่น มองโกล ต๋าโว่ร์ ชาวฮั่น เอ้อหลุนชุน แต่บริเวณที่อาศัยอยู่แน่นอนและมีจำนวนประชากรมากได้แก่ กลุ่มปกครองตนเองเอ้อเวินเค่อ บริเวณทุ่งหญ้าตะวันตกซิ่งอานหลิง


จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเอ้อเวินเค่อมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 30,505 คน พูดภาษาเอ้อเวินเค่อ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาหม่าน-ตุนกุส (Tungus) แขนงภาษาตุนกุส (Tungus) โดยมีสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน 3 สำเนียงคือ ไฮลาร์ เชนปาร์ฮู อาวลูกูยา ไม่มีภาษาอักษร เด็กชาวเอ้อเวินเค่อเข้าเรียนในโรงเรียนพิเศษของชนเผ่า ใช้ภาษามองโกล ส่วนประชากรทั่วไปใช้ภาษาฮั่น


จากการขุดค้นทางโบราณคดีมีหลักฐานยืนยันได้ว่า บรรพบุรุษชาวเอ้อเวินเค่อมีอารยธรรมยาวนานประมาณ 2000 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบ Baikal (贝加尔湖沿岸Bèijiā’ěr hú yán’àn) มีการขุดพบหัวกะโหลกมนุษย์โบราณ ข้าวของเครื่องใช้ที่บริเวณมณฑลเฮยหลงเจียง(黑龙江Hēilónɡjiānɡ) บริเวณเมืองชีโหยว (七游Qīyóu) บริเวณคลองสือเล่อคา (石勒喀河Shílèkāhé) ซึ่งตรงกับข้าวของเครื่องใช้ และการแต่งกายของชาวเอ้อเวินเค่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพกะโหลกมนุษย์โบราณก็ตรงกับลักษณะทางกายภาพของชาวเอ้อเวินเค่อด้วย นอกจากนี้ยังตรงกับตำนานการสร้างเผ่าพันธุ์ของชาวเอ้อเวิน-เค่อที่เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณที่ว่า ชาวเอ้อเวินเค่อกำเนิดและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เฮยหลงเจียงและทะเลสาบ Baikal อีกด้วย


ชาวเอ้อเวินเค่อในสมัยโบราณดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ป่าและจับสัตว์น้ำ โดยใช้ธนูและฉมวก เนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้นิยมย่างให้สุกโดยใช้ไฟ หรือไม่ก็ย่างให้สุกบนหิน หรือใส่ในกระบอกไม้แล้วต้มให้สุก การจุดไฟใช้หินสองก้อนทุบกันให้เกิดประกายไฟแล้วจุดกับเยื่อไม้เป็นฉนวนฟืน พักอาศัยอยู่ในกระโจมที่มุงหลังคาด้วยเปลือกไม้ ในยุคนั้นระบบสังคมของชาวเอ้อเวิน-เค่อสืบสายตระกูลโดยสายแม่ ต้นตระกูลชาวเอ้อเวินเค่อที่เก่าแก่ที่สุดสามารถสืบสาวไปถึงสมัยเป่ย สุย และถัง สมัยนั้นชาวเอ้อเวินเค่อตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทะเลสาบ Baikal จากถังเป็นต้นมากระจายขอบเขตที่อยู่อาศัยไปทางตะวันออก มีกลุ่มใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเฮยหลงเจียงและเลยไปถึงบริเวณชายแดนประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ตำนานที่จดบันทึกไว้ในสมัยหมิงมีกล่าวถึง “ชาวป่าเขาเหนือ” (北山野人Běishān yě rén) ซึ่งน่าจะหมายถึงบรรพบุรษของชาวเอ้อเวิน-เค่อและชาวเอ้อหลุนชุน นั่นเอง บันทึกในสมัยชิงก็มีกล่าวถึง “สั่วหลุนปู้” (索伦部Suǒlúnbù) ซึ่งเป็นคำกลางที่เรียกรวมชนเผ่าสามชนเผ่า ได้แก่ ต๋าโว่ร์ เอ้อเวินเค่อและเอ้อหลุนชุน แต่ความหมายหลักๆ แล้ว เป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกชาวเอ้อเวินเค่อนั่นเอง นอกจากนี้ในอดีตยังมีชื่อเรียกชนเผ่าเอ้อเวินเค่อในชื่ออื่นๆ อีก เช่น สั่วหลุนเปี๋ยปู้ (索伦别部Suǒlúnbiébù) คามู่หนีคาน(喀穆尼堪Kāmùníkān)


ก่อนชนจากรัสเซียจะลี้ภัยสงครามเข้ามาในสมัยพระเจ้าซาร์นั้น บริเวณเฮยหลงเจียงเป็นดินแดนในปกครองของกษัตริย์หวงไท่จี๋ (皇太极Huánɡtàijí)แห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งในยุคนั้นก็ได้รวบรวมบริเวณถิ่นที่อยู่ของชาวเอ้อเวินเค่อเข้ามาอยู่ในการปกครองแล้ว ราชวงศ์ชิงได้แต่งตั้งชาวเอ้อเวินเค่อเป็นหัวหน้าเขตปกครอง และทำหน้าที่เก็บภาษีจากราษฎรส่งเข้าคลังหลวง ถึงกลางศตวรรษที่ 17 ด้วยเหตุการณ์รุกรานจากภัยสงครามของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ชาวเอ้อเวินเค่อในการปกครองของราชสำนักชิง ได้อพยพหลบลี้ภัยไปอยู่ตามคลองสายเล็กสายน้อยที่แตกแขนงมาจากแม่น้ำเนิ่น (嫩江Nèn jiānɡ) เช่น คลองกาน(甘河Gānhé) คลองนั่วหมิ่น (诺敏河Nuòmǐn hé) คลองอาหลุน(阿伦河Ālún hé) คลองจี้ซิน (济心河Jìxīn hé) คลองหยาหลู่(雅鲁河Yǎlǔ hé) คลองน่ามั่วร์ (纳莫尔河Nàmò’ěr hé) เป็นต้น โดยชาวเอ้อเวินเค่อในชุมชนใหม่นี้แบ่งเป็น 5 หมู่บ้านใหญ่ๆ เรียกว่า 5 เขตทุ่งล่าสัตว์ ต่อมาในปี 1731 จักรพรรดิยงเจิ้งก่อตั้งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในการปกครอง ในปีถัดมาราชสำนักชิงได้เกณฑ์ชาวเอ้อเวินเค่อในบริเวณปู้เท่อฮา(布特哈Bùtèhā)ไปเป็นทหารกว่า 1600 คน ทำให้ชาวเอเวนกิต้องนำพาครอบครัวโยกย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่ทุ่งหญ้าฮูหลุนเป้ยเอ่อร์(呼伦贝尔草原Hūlúnbèi’ěr cǎoyuán) ซึ่งสืบทอดสายตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้ อนุชนรุ่นหลังของทหารชาวเอ้อเวินเค่อที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่นี้ ก็คือประชาชนในบริเวณอำเภอปกครองตนเองชาวเอ้อเวินเค่อ(鄂温克族自治县 Èwēn kè Zú zìzhìxiàn) ในปัจจุบัน นอกจากนี้ราชสำนักชิงยังได้มอบหมายให้ชาวเอ้อเวินเค่อเป็นหัวหน้าผู้ปกครองดูแลชนเผ่า และคัดเลือกทหารชาวเอ้อเวินเค่อ หัวหน้ากลุ่มและทหารกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็นคณะทูตที่เดินทางไปเยี่ยมเยือนเมืองข้างเคียง ดูแลรักษาอธิปไตยของชาติ เช่น อ้ายฮุย (爱辉Àihuī) โม่ร์เกิน (墨尔根Mò’ěrɡēn) อีหลี (伊犁Yīlí) ถ่าเฉิง(塔城Tǎchénɡ) เคอปู้ตัว (科布多Kēbùduō) ฉีฉีฮาร์ (齐齐哈尔Qíqíhā’ěr) อูหลี่หย่าซูถาย (里雅苏台Wūlǐ yǎsūtái) อูรุมชี (乌鲁木齐Wūlǔmùqí) เป็นต้น


เนื่องจากชาวเอ้อเวินเค่อตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนกระจัดกระจายกัน ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ระบบสังคมเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันด้วย กลุ่มที่อาศัยอยู่กลุ่มธงปกครองตนเองชาวเอ้อเวินเค่อ (鄂温克族自治旗 Èwēnkè Zú zìzhìqí) และหมู่บ้านเฉินปาร์หู่ (陈巴尔虎Chénbā’ěrhǔ) มีประชากรชาวเอ้อเวินเค่อเกินครึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ชาวเอ้อเวินเค่อ มีระบบสังคมเศรษฐกิจแบบสังคมบุพกาล ก่อนยุคปลดปล่อยในปี 1949 ชาวเอ้อเวินเค่อ เริ่มเข้าสู่ระบบสังคมแบบครอบครัวเดี่ยว แต่ยังคงประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนอยู่อย่างเดิม จากเดิมที่เคยเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนเป็นคาราวานใหญ่ เปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนแบบกลุ่มเล็กที่ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกในสายเลือดเดียวกัน ช่วยกันทำมาหากิน มีฐานะทางสังคมเท่าเทียมกัน ไม่มีการกดขี่ข่มเหงรังแกจากชนชั้นสูง ต่อมาค่อยๆพัฒนามาเป็นระบบสังคมแบบศักดินา โดยผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่ารวมตัวกันกับผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าก่อตั้งกลุ่มคาราวานเลี้ยงสัตว์ขึ้น มีการแบ่งผลผลิตตามสถานภาพสูงต่ำ พื้นที่เลี้ยงสัตว์เป็นกรรมสิทธิ์ของคนรวย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็คือจุดกำเนิดของระบบเศรษฐกิจศักดินาแบบกดขี่ขูดรีดคนจนนั่นเอง ในระยะเวลาเดียวกันนี้ชาวเอ้อเวินเค่อส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้าน เอ๋อเอ๋อร์กู่น่า (额尔古纳 É’ěrɡǔnà) ยังคงดำเนินชีวิตในสังคมแบบสังคมบุพกาลที่มีการทำมาหากินแบบระบบกองกลางของตระกูลสายพ่ออยู่ ยังมีชีวิตเลี้ยงสัตว์แบบดำรงชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์ ที่พักอาศัยล้วนสร้างขึ้นง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติ


ชาวเอ้อเวินเค่อ มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมานาน ในยุคก่อตั้งราชวงศ์ชิง ชาวเอ้อเวินเค่อ ถูกเกณฑ์ไปทำสงครามสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับยุคสงครามญี่ปุ่น ซ้ำร้ายด้วยโรคระบาด ประชากรชาวเอ้อเวินเค่อลดลงอย่างรวดเร็ว จากปี 1931 มีอยู่ 3,000 คน ถึงปี 1945 ลดลงเหลือเพียง 1,000 คน ต่อมาในปี 1947 ชาวเอ้อเวินเค่อ ได้พบกับชีวิตใหม่เมื่อรัฐบาลกว๋อหมินตั่งให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ และส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง ก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ของระบบสังคมนิยม ในปีเดียวกันนี้มีการก่อตั้งหมู่บ้านปกครองตนเองชาวเอ้อเวินเค่อในหลายพื้นที่ รัฐบาลสนับสนุนและฝึกฝนให้ชาวเอ้อเวินเค่อได้มีโอกาสรับผิดชอบและทำหน้าที่ทางการเมือง พัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ให้เจริญยิ่งขึ้น ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นมาเริ่มพัฒนาระบบการชลประทาน ระบบประปา เพื่อใช้ในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มากมาย เช่น การผลิตยา การปลูกหญ้า การตัดขนสัตว์ การฟอกขนสัตว์ และการทอผ้าขนสัตว์ เป็นต้น ในปี 1949 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า สินค้าที่ผลิตกว่า 20 ชนิดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ การอุตสาหกรรมและการทำการเกษตรด้านอื่นๆ เช่น การทอผ้า การเพาะเห็ด เริ่มพัฒนาขึ้น ริมฝั่งแม่น้ำฮุย (辉河Huī hé) มีต้นกกธรรมชาติกินพื้นที่ถึง 200 ลี้ ในแต่ละปีผลิตภัณฑ์จากต้นกกที่ได้มาจากฝีมือชาวเอ้อเวินเค่อ ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตกกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ก่อนปี 1949 ชาวเอ้อเวินเค่อ ไม่มีใครรู้หนังสือเลย แต่หลังจากที่สภาพเศรษฐกิจสังคมพัฒนาขึ้น และจากความช่วยเหลือของรัฐบาล โรงเรียนประถมมัธยมจากเดิมที่มีเพียง 9 แห่งเท่านั้น ก็มีการสร้างเพิ่มเติมขึ้นในทุกๆหมู่บ้าน นอกจากนี้ระบบการสาธารณสุข โรงพยาบาล การคมนาคมก็พัฒนามาตามลำดับ


ด้วยความที่เป็นชนเผ่าที่มีอารยธรรมมายาวนานมาก ชาวเอ้อเวินเค่อจึงมีศิลปวัฒนธรรมมากมายหลากหลาย ตั้งแต่นิยายอิงประวัติศาสตร์ เทพนิยาย นิทาน ภาษิตคำพังเพย ปริศนาคำทาย แม้ว่าวรรณกรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นต่างๆยุคสมัยกัน แต่ล้วนสะท้อนถึงชีวิตความเป็นจริงของชาวเอ้อเวินเค่อได้อย่างชัดเจน เช่น “การกำเนิดของโลกและมนุษย์” อธิบายถึงการเกิด การดำรงชีวิต การอยู่รอดของบรรพบุรุษราวกับบันทึกประวัติศาสตร์เล่มสำคัญ วรรณกรรมปัจจุบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับคือ วรรณกรรมชื่อ 《一个猎人的恳求》Yí ɡè lièrén de kěnqiú “คำวิงวอนของนายพราน”


ชาวเอ้อเวินเค่อ รักชีวิตสนุกสนาน มักรวมตัวกันร้องเล่นเต้นรำ บทเพลงและท่วงทำนองเพลงของชาวเอ้อเวินเค่อ งดงาม โดดเด่น มีเอกลักษณ์ บอกให้เรารู้ถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ธรรมชาติก่อกำเนิดอารมณ์ อารมณ์ก่อกำเนิดบทเพลง” โดยเฉพาะเพลงทุ่งเลี้ยงสัตว์ เพลงล่าสัตว์ สะท้อนลักษณะนิสัยที่ซื่อตรงและจริงใจของชาวเอ้อเวินเค่อได้อย่างจับจิตจับใจ ในงานเทศกาลหรือพิธีการรื่นเริง หญิงชาวเอ้อเวินเค่อเต้นรำเฉลิมฉลองอย่างสนุกสนาน จังหวะฝีเท้าในการเต้นรำอ่อนหวานแต่ทรงพลัง จังหวะแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบำเสือ” และ “ระบำพรานไพร” เป็นการเต้นรำรอบกองไฟในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่จัดขึ้นในเวลากลางคืนในงานเทศกาลสำคัญ หนุ่มสาวชาวเอ้อเวินเค่อ มารวมตัวกันมีกิจกรรมการละเล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การยิงธนู กระโดดสูง กระโดดไกล ค้ำถ่อ นอกจากนี้ศิลปะงานฝีมือก็งดงามจับตา เช่น ผ้าปัก งานแกะสลัก ภาพวาด การผลิตของเล่นหน้ากากสัตว์และหัวสัตว์ที่ทำมาจากเปลือกไม้ เป็นต้น


ตามธรรมเนียมของชาวเอ้อเวินเค่อ จะแต่งงานมีสามีภรรยาคนเดียว แต่งงานนอกสายตระกูล ไม่แต่งงานกับสายตระกูลเดียวกัน แต่ยังรักษาขนบธรรมเนียมการแต่งงานระหว่างพี่ชายพ่อกับพี่สาวแม่อยู่ สามารถแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับชาวต๋าโว่ร์ มองโกลและเอ้อหลุนชุนได้ มีประเพณีการแต่งงานแบบ “ลักหาพาหนี” คือ หนุ่มสาวที่มีความรักต่อกัน เมื่อกำหนดวันแต่งงานแล้ว ฝ่ายหญิงจะหนีออกจากบ้านไปยังกระโจมที่ฝ่ายชายสร้างไว้ สาวชาวเอ้อเวินเค่อที่ยังไม่แต่งงานจะถักเปีย 8 เปีย เมื่อมีการหลบหนีไปค้างที่กระโจมฝ่ายชายในคืนแต่งงานแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะจับเปียทั้ง 8 เปียถักรวมกันเป็น 2 เปีย เป็นอันยอมรับการแต่งงานที่ถูกต้องตามประเพณี


พิธีศพของชาวเอ้อเวินเค่อ เดิมใช้วิธีทิ้งไว้ในป่าลึกหรือบนเขาให้แห้งไปเอง ต่อมาได้รับอิทธิพลจากชนเผ่าใกล้เคียง จึงเปลี่ยนมาประกอบพิธีศพโดยการฝัง


ชาวเอ้อเวินเค่อมีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ มีความชำนาญและผูกพันกับการใช้เปลือกไม้เป็นอย่างมาก ในป่าของชาวเอ้อเวินเค่อ มีเปลือกไม้ชนิดหนึ่งมีความเหนียวและคงทน ชาวเอ้อเวินเค่อใช้เปลือกไม้นี้ในการประกอบเป็นวัสดุอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ กระทั่งใช้คลุมหลังคาที่พักอาศัย จนได้รับสมญาว่า “จ้าวแห่งเปลือกไม้” ชาวเอ้อเวินเค่อ ใช้ไม้ประกอบเป็นเครื่องมือล่าสัตว์และจับปลา ใช้เปลือกไม้ประดิษฐ์เป็นภาชนะในครัวเรือน รองเท้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ นอกจากนี้ยังใช้เปลือกไม้ในงานศิลปะ โดยการวาดรูปสัตว์ต่างๆ การแกะสลัก การพิมพ์ภาพลงบนเปลือกไม้ ปัจจุบันชาวเอ้อเวินเค่อ มีความรู้มากขึ้น พัฒนางานศิลปะและผลิตภัณฑ์จากเปลือกไม้เป็นที่สนใจและเป็นผลผลิตที่ได้รับความนิยม สร้างรายได้ได้อย่างงดงาม


ชาวเอ้อเวินเค่อ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจ ด้วยการดำรงชีวิตแบบเร่ร่อน ชาวเอ้อเวินเค่อ จะแบ่งปันซึ่งกันและกัน และให้ความสำคัญกับมารยาทที่ผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ เด็กเมื่อพบผู้ใหญ่จะต้องสอบถามทุกข์สุข และมอบบุหรี่ให้เป็นการแสดงความเคารพ วิธีการเคารพที่กระทำเป็นปกติคือการคุกเข่า เอียงตัวเล็กน้อย มือทั้งสองข้างชิดกันทำเป็นอุ้ง เมื่อมีแขกมาบ้านถือเป็นเรื่องยินดี จะใช้นม และชาเป็นเครื่องต้อนรับ ในทุ่งหญ้าล่าสัตว์หรือทุ่งเลี้ยงสัตว์ เมื่อย่างเนื้อสุกแล้ว จะมอบเนื้อส่วนอก และนมกวางให้กับแขก


เทศกาลสำคัญมีเทศกาลบูชาเทพเจ้า เทศกาลเดือนแรม เป็นต้น เทศกาลบูชาเทพเจ้าจัดเป็นประจำทุกวันที่ 22 เดือนพฤษภาคมของทุกปี ในเทศกาลนี้มีการเชือดวัว แกะ เพื่อบูชา และอธิษฐานขอพรให้การเลี้ยงสัตว์อุดมสมบูรณ์และปลอดภัย ในเทศกาลนี้มีกิจกรรมแข่งม้า มวยปล้ำ ประทับตราม้า ตัดหูแกะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ และจัดงานเลี้ยงฉลอง


ในด้านความเชื่อ แต่เดิมชาวเอ้อเวินเค่อ ส่วนใหญ่เชื่อลัทธิซ่าหม่าน(萨满教Sàmǎn jiào) ถึงปี 1945 ยังคงรักษาประเพณีการกราบไหว้สัตว์เคารพและบรรพบุรุษ เคารพในโทเทม ชาวเอ้อเวินเค่อถือสัตว์ปีกและหมีเป็นโทเทมของเผ่า ในแต่ละหมู่บ้านมีหมอผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น