วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

16. 高山族ชนกลุ่มน้อยเผ่าเกาซาน

คัดลอกภาพจาก http://traityn.cyzn.cn/cyzn-front/traitYN/xiangxi.asp?news_id=2054



คำว่า “เกาซาน” (高山 ɡāo shān) แปลว่า “ภูเขาสูง” เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นภูเขาสูงบนเกาะติดชายทะเลด้านตะวันออกของเกาะไต้หวันที่เรียกว่า จ้งกู่ผิงหยวน (纵谷平原Zònɡɡǔ pínɡyuán) และบริเวณหลันหยวี่ (兰屿Lányǔ) ชาวไต้หวันเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “พี่น้องชาวเขา” (山地同胞Shāndì Tónɡbāo) ในบริเวณดังกล่าวมีประชากรชาวเขาอยู่มากกว่าสิบกลุ่ม มีภาษาต่างๆกัน อาศัยเป็นกลุ่มๆแยกจากกัน เช่น ชาวอาเหม่ย (阿美人Āměi rén) ชาวไท่หย่า(泰雅人Tàiyǎ rén) ชาวผายวัน (排湾人Páiwān rén) ชาวปู้หนง(布农人Bùnónɡ rén) ชาวหลูข่าย (鲁凯人Lǔkǎi rén) ชาวเปยหนาน(卑南人Bēinán rén) ชาวเฉา (曹人Cáo rén) ชาวไซ่เซี่ย(赛夏人Sàixià rén) ชาวหยาเหม่ย (雅美人Yǎměi rén) ชาวผิงผู่ (平埔人Pínɡpǔ rén) เป็นต้น เนื่องจากคนเหล่านี้อาศัยอยู่คละเคล้าปะปนกัน แต่งงานข้ามเผ่ากัน กระทั่งแต่งงานกับคนจีนเผ่าฮั่น ทำให้ความเป็นชนเผ่าค่อยๆถูกกลืนไปเป็นชาวฮั่นเสียส่วนมาก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ชนกลุ่มนี้กลายมาเป็นชาวฮั่นอย่างเต็มตัวกว่าแสนคน รับวัฒนธรรมและภาษาฮั่นมากมายจนไม่เหลือความเป็นชนเผ่าแต่ดั้งเดิม กระทั่งศตวรรษที่ 19 หลอมรวมเป็นกลุ่มเดียวกันกับชาวฮั่น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเกาซานมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,461 คน และมีบางส่วนอพยพเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ ชาวเกาซานเดิมมีภาษาพูดเป็นของตนเอง จัดอยู่ในตระกูลภาษาเกาะใต้ สาขาภาษาอินโดนีเซีย ไม่มีภาษาเขียน จากการขุดค้นทางโบราณคดีในเกาะไต้หวันพบหลักฐานที่กำหนดอายุได้ว่าเป็นโบราณวัตถุในยุคหินใหม่ ซึ่งมีความคล้ายคลึง และคาดว่ามีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกับยุคหินใหม่ในมณฑลเจี้ยน ชาวไต้หวันก็เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานที่ว่าชาวเกาซานในไต้หวันคือผู้คนที่อพยพข้ามทะเลเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะไต้หวัน


วัฒนธรรมของชาวเกาซานมีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีนใต้มาก เช่น การตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การบริโภค อาหารการกิน การกลั่นเหล้า การแต่งกาย การสักตามร่างกาย เครื่องดนตรี การเต้นรำ การไหว้บรรพบุรุษ ความเชื่อในโทเทม และการเคารพกราบไหว้เชื่อถือในธรรมชาติ งานด้านศิลปะ การฝีมือ วรรณกรรม นิทาน ตำนาน เหล่านี้ล้วนเป็นวัฒนธรรมของคนโบราณที่อยู่ในดินแดนประเทศจีนมาช้านาน


ชาวเกาซานพัฒนาระบบสังคมมาจากสังคมบุพกาล ตามบันทึกพงศาวดารมีหลักฐานชี้ว่า ในสมัยสามก๊ก(三国 Sānɡuó) ชาวเกาซานแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย แต่ละกลุ่มย่อยมีชื่อเรียกว่า หมีหลิน (弥麟Mílín) สมาชิกในกลุ่มย่อยนี้มีหน้าที่ดูแลจัดการกิจการที่เป็นส่วนกลาง เครื่องมือเครื่องใช้มี ขวาน ลูกธนู ภาชนะต่างๆที่ทำจากหิน มีหอกทำจากเขากวาง ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ การเลี้ยงสัตว์มีบ้างแต่ยังไม่พัฒนามากนัก ชายแต่งงานเข้าบ้านผู้หญิง ในยุคนี้ระบบสังคมเป็นแบบการสืบสายตะกูลสายแม่


ในศตวรรษที่ 7 เริ่มมีการทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ แต่การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ยังคงใช้วัสดุที่ทำจากหินเป็นหลัก เริ่มมีการใช้เครื่องมือโลหะ ระบบการปกครองมีหัวหน้าเผ่า งานที่เป็นของกองกลางยังเป็นหน้าที่ของสมาชิกกลุ่มย่อยอยู่ ยังไม่มีการเก็บภาษีประชาชน เมื่อมีผู้กระทำความผิด การตัดสินโทษกระทำโดยสมาชิกของแต่ละกลุ่มลงความเห็นร่วมกัน โดยใช้ธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาเป็นกฎชี้วัดความผิดรวมไปถึงบทลงโทษต่างๆ หากเป็นความผิดสถานเบาก็ให้รับผิดชอบความเสียหาย หากเป็นความผิดร้ายแรงมีการตัดสินโทษถึงขั้นประหารชีวิต ชาวเกาซานในสมัยนั้นไม่มีภาษาอักษร ไม่มีการนับปฏิทิน นับถือเทพพนม เทพสมุทร มีการรวมตัวกันร้องเพลง เต้นรำในงานเทศกาลรื่นเริง ด้านศิลปกรรมมีการแกะสลักและวาดภาพ ในอดีตตั้งแต่สมัยซ่ง หยวน หมิง ไต้หวันและแผ่นดินใหญ่มีการติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นนิจ มีบันทึกในสมัยหมิง ชื่อ ตงฟานจื้อ 《东番志》Dōnɡfānzhì เขียนโดย เฉินตี้ (陈第Chén Dì) กล่าวถึงชาวเกาซานไว้ว่า การเกษตร ปศุสัตว์ และการล่าสัตว์ของชาวเกาซานในสมัยนั้นพัฒนาไปมาก มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและค้าขายกับชาวฮั่นในแผ่นดินใหญ่แล้ว เช่น หินสี เกลือ ผ้า เครื่องโลหะ เครื่องปั้นดินเผา ปิ่นปักผมและผลิตภัณฑ์ของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ แต่การแบ่งแยกของชนเผ่าเกาซานกลุ่มย่อยบางกลุ่มยังไม่ยอมรวมตัวเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน ชาวเกาซานกลุ่มย่อยต่างๆนี้ยังคงดำรงชีวิตแบบสังคมบุพกาลอยู่


ในศตวรรษที่ 17 สังคมเศรษฐกิจชาวเกาซานในสมัยนั้นยังคงเป็นแบบสังคมบุพกาลอยู่ ยังดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ ปลูกพืชเพื่อบริโภคในครัวเรือนจำพวกเผือก มัน ข้าว เป็นต้น ยังไม่รู้จักใช้เครื่องมือโลหะ หลังศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ชาวฮั่นจากแผ่นดินใหญ่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเกาะไต้หวันเป็นจำนวนมาก นโยบายการพัฒนาของทางการราชสำนักชิง และวิวัฒนาการความรู้ทางการเกษตรและการใช้เครื่องไม้เครื่องมือของชาวฮั่น มีส่วนช่วยเหลือให้ระบบสังคมของชาวเกาซานพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมาก ชาวเกาซานที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกข้าว งา ถั่วต่างๆ การใช้เครื่องมือทำกินจากชาวฮั่น จนพัฒนาเข้าสู่ระบบสังคมแบบศักดินา แต่ในขณะเดียวกันชาวเกาซานที่อาศัยอยู่บนภูเขาและป่าลึกยังคงดำรงชีวิตล่าสัตว์แบบเดิม ยุคใกล้ปัจจุบันการล่าสัตว์ของชาวเกาซานเริ่มลดน้อยลง ชาวเกาซานกลุ่มย่อยบางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวอาเหม่ย ชาวเปยหนานที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมทะเลเปลี่ยนอาชีพมาเป็นการประมงแทน เริ่มมีการประดิษฐ์อุปกรณ์จับปลาขึ้นมากมาย เช่น แห อวน เบ็ด แพ ฉมวก สุ่ม กระบุงช้อนปลา เป็นต้น เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนเป็นการทำการประมงที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ชาวเกาซานบางกลุ่มแม้จะมีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมชายฝั่ง แต่กลับมาประกอบอาชีพประมง เช่น ชาวผายวัน ชาวหลูข่าย ยังคงทำการเกษตร ปศุสัตว์และล่าสัตว์อยู่ดังเดิม ช่วงก่อน ปี 1949 สังคมชาวเกาซานบางกลุ่ม เช่น ชาวผิงผู่ ชาวไท่หย่า ชาวผายวัน ชาวหลูข่าย ชาวอาเหม่ย ยังเป็นแบบสังคมศักดินา โดยเฉพาะชาวผิงผู่และผายวันยังมีระบบการใช้ทาสและการเช่าที่นาอยู่


หลังจากปี 1949 เป็นต้นมา ระบบเศรษฐกิจสังคมของไต้หวันพัฒนาไปมาก ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งสี่ลูกมังกร ปัจจัยในการพัฒนาประเทศนี้เองส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ต่อการเกษตรกรรมและการประมงของชาวเกาซาน อุตสาหกรรมการผลิตอาหารจากผลิตผลการเกษตรและประมงพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณภาพชีวิตของชาวเกาซานพัฒนาขึ้นมากโดยเฉพาะชาวเกาซานกลุ่มย่อยที่อาศัยอยู่ริมทะเล แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากปริมาณผลผลิตของชาวเกาซานบนภูเขามีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวเกาซานริมชายฝั่ง การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาซานบนภูเขาจึงยังช้าอยู่ สภาพสังคมเศรษฐกิจก็ยังไม่พัฒนาไปมากเท่าใดนัก


ศิลปวัฒนธรรมของชาวเกาซานมีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ศิลปะ งานฝีมือ ดนตรี วรรณกรรมของชาวเกาซานได้แก่ เพลงพื้นเมือง เทพนิยาย ตำนาน นิทาน การดำรงชีวิต การทำการเกษตรและการประมง เทพนิยายเกี่ยวกับการกำเนิดเผ่าพันธุ์ ความเชื่อ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการอธิษฐานขอพร ตำนานเกี่ยวกับการสู้รบ การทำศึกสงครามกับผู้รุกราน ความยากลำบากจากอุทกภัย การแต่งงานกับชนเผ่าอื่น นิทานเกี่ยวกับผู้กล้า นิทานอีสปที่กล่าวถึงพืชและสัตว์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเกาซานได้อย่างชัดเจน


ชาวเกาซานเป็นผู้มีพรสวรรค์ในการดนตรีและการเต้นรำ ในการดำรงชีวิตประจำวัน ชาวเกาซานไม่เคยขาดความบันเทิง ในกิจการงาน เทศกาล งานพิธีการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และงานเลี้ยงฉลองล้วนแสดงออกถึงความรื่นเริงนั้นด้วยการร้องรำทำเพลง การเต้นรำจับมือกันเป็นวงกลม ย่ำจังหวะเท้าและส่ายหัวตามเพลง ชาวเกาซานแต่ละกลุ่มมีการเต้นรำที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชนเผ่าและสะท้อนสภาพชีวิตของตนได้อย่างชัดเจน เช่น ระบำสะบัดผมของชาวหยาเหม่ย ระบำบูชาของชาวไซ่เซี่ย ระบำเก็บข้าวของชาวอาเหม่ย เครื่องดนตรีของชาวเกาซาน เช่น หีบเพลงเป่า ขลุ่ยผิว ขลุ่ยที่ใช้จมูกเป่า กลองไม้ เกราะ โกร่ง เป็นต้น


ศิลปะการแกะสลัก เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวเกาซานที่อาศัยอยู่แถวชายทะเล งานแกะสลักของชาวผายวันงดงามโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ทำมาหากิน การสร้างบ้านเรือนล้วนพบเห็นงานแกะสลักอยู่ทั่วไป รูปที่นำมาแกะสลักมักเป็นรูปเคารพโทเทม ศีรษะมนุษย์ รูปงู กวาง บนเรือหาปลาของชาวหยาเหม่ยก็ประดับประดาด้วยไม้แกะสลัก หรือสลักลงบนเรือได้อย่างงดงาม


ชาวเกาซานในยุคบุพกาลไม่สวมเสื้อผ้า พึงพอใจในการเปลือยเรือนร่างว่าเป็นสิ่งงดงาม มีเพียงผ้าผืนเล็กปิดคลุมอวัยวะเพศเท่านั้น ใช้หนังสัตว์พันรอบเอว แต่หลังจากมีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวฮั่นแล้ว เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ชาวเกาซานชายเปลี่ยนมาสวมเสื้อเชิ้ตยาวคลุมเข่า หญิงสวมกระโปรงยาว และเริ่มพิถีพิถันกับการแต่งกายมากขึ้น เครื่องนุ่งห่มในยุคที่เริ่มสวมเสื้อผ้าใช้หนังสัตว์เป็นหลัก หลังจากนั้นเริ่มเรียนรู้การทอผ้าจากชาวฮั่นจึงเปลี่ยนมาสวมเสื้อผ้าที่ทอขึ้นและปักลวดลายงดงามใช้เอง การแต่งกายของชาวเกาซานแต่ละกลุ่มย่อยแตกต่างกัน ชาวเกาซานตอนเหนือสวมชุดยาวไม่มีแขน สวมเสื้อคลุม รัดเข็มขัด ชาวเผ่าเกาซานตอนกลางสวมเสื้อกั๊กหนังกวางอ่อน สวมเสื้อคลุมอก รัดเข็มขัด กระโปรงดำ ส่วนชาวเผ่าเกาซานตอนใต้สวมเสื้อแขนกระบอกยาว กระโปรง กางเกง มีผ้าโพกหัว นิยมสักลวดลายตามร่างกาย เจาะหู สวมต่างหู สร้อยคอ กำไลและเครื่องประดับที่ได้จากธรรมชาติ


ด้านอาหารการกินของชาวเกาซาน มีข้าวสาลี ข้าวสวย มัน เผือก เป็นอาหารหลัก ผักป่าและ เนื้อสัตว์ นิยมปลูกข้าวหอมบริโภค ในสมัยโบราณยังกินอาหารดิบ เนื้อสด แต่ปัจจุบันทำให้สุกแล้ว นอกจากนี้ชาวเกาซานยังชอบสูบยา ดื่มเหล้า และเคี้ยวหมาก


การตั้งบ้านเรือนของชาวเกาซานแต่เดิมอาศัยพักพิงตามชายเขาริมทะเล ก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง ก่อตั้งเป็นร้านใต้ถุนสูง แล้วอาศัยอยู่ด้านบน ปัจจุบันบ้านเรือนสร้างด้วยวัสดุหลากหลาย เช่น ไม้ หิน อิฐ ต้นหญ้า การสร้างบ้านเป็นแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือจัตุรัส มีประตูทางเข้า แต่ไม่มีหน้าต่าง


วัฒนธรรมการแต่งงานของชาวเกาซานยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว ห้ามแต่งงานในกลุ่มญาติใกล้ชิด ชายหญิงมีอิสระในการเลือกคู่ครอง อย่างเช่น ชาวไท่หย่า จะเป่านกหวีด ผิวปากเพื่อเป็นการบอกรักต่อกัน ชาวอาเหม่ยมอบสิ่งของให้กันเพื่อแสดงถึงความระลึกถึง คิดถึงกัน


พิธีศพของชาวเกาซานมีหลายแบบ ชาวไท่หย่า ชาวปู้หนง ชาวเฉา ประกอบพิธีศพในบ้าน และฝังในบ้าน โดยการขุดหลุมฝังศพไว้ใต้ที่นอนของผู้ตายนั่นเอง ส่วนชาวผายวัน ชาวหยาเหม่ย ฝังศพไว้ที่สุสานในป่า ส่วนศพที่เสียชีวิตแบบผิดปกติจะแยกฝังเดี่ยวไว้ในป่า


ชาวเกาซานมีข้อกำหนดเกี่ยวกับความเชื่อมากมาย เช่น ผู้หญิงท้องห้ามใช้มีด ขวาน ไม่กินเนื้อลิง หมูป่า ตัวนิ่มและผลไม้ที่เป็นพวงเพราะเชื่อว่าจะทำให้กำเนิดลูกแฝด การพบเจองู หมูป่า หนู สัตว์กัดหางและหลุมศพว่าเป็นเรื่องอัปมงคล ห้ามการจาม การผายลม การสมสู่ในตระกูล ห้ามกินหัวและหางของสัตว์ ห้ามผู้ชายสัมผัสหรือเข้าใกล้ของที่ผู้หญิงใช้ เช่น สะดึงปักผ้า เครื่องทอผ้า และคอกหมู และในขณะเดียวกันก็ห้ามผู้หญิงแตะต้องหรือเข้าใกล้ของใช้ของผู้ชาย เช่น อาวุธ เครื่องมือล่าสัตว์ จุดนัดพบหรือที่ประชุมเผ่า


เทศกาลสำคัญของชาวเกาซานมีแตกต่างกันไปแต่ละกลุ่ม ที่สำคัญมี เทศกาลบูชาการเพาะปลูก เป็นเทศกาลสำคัญของชาวไท่หย่า จัดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูการเก็บเกี่ยวถือเป็นการสิ้นสุดฤดูเพาะปลูก เทศกาลบูชาความราบรื่น เป็นเทศกาลสำคัญของชาวปู้หนง จัดขึ้นวันที่ 4 เดือนเมษายนของทุกปี เทศกาลบูชาบรรพบุรุษอาลี่ เป็นเทศกาลของชาวผิงผู่ จัดขึ้นวันที่ 6 เดือนกันยายนของทุกปี เทศกาลบูชาการเก็บเกี่ยว เป็นเทศกาลของชาวเฉา ชาวหลูข่าย ชาวอาเหม่ย จัดขึ้นวันที่ 5 เดือนกันยายนของทุกปี เทศกาลบูชาคันเบ็ด เป็นเทศกาลของชาวผายวัน จัดขึ้นวันที่ 25 เดือนตุลาคม เทศกาลบูชาลิงและการล่า เป็นเทศกาลของชาวเปยหนาน จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เทศกาลบูชาวิญญาณอ่ายหลิง เป็นเทศกาลของชาวไซ่เซี่ย จัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เทศกาลบูชาปลาของชาวหย่าเหม่ย นอกจากนี้ยังมีเทศกาลปลีกย่อยของชาวเกาซานแต่ละกลุ่มอีกมากมาย ที่ยกมาเป็นเพียงเทศกาลสำคัญๆ เท่านั้น ในเทศกาลสำคัญเหล่านี้ชาวเกาซานจะเฉลิมฉลองด้วยการรื่นเริง บันเทิง การแข่งขันกีฬา การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่า


ปัจจุบัน ชาวเกาซานยังคงรักษาขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับพิธีกรรมและความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม ยึดถือบูชาในวิญญาณ การบูชาเทพเจ้าในแต่ละกลุ่มชนแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกัน เป็นส่วนใหญ่มี เทพสวรรค์ เทพจักรวาล เทพธรรมชาติและเทพปฐพี นอกจากนี้ยังมีการเซ่นไหว้บูชาตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เช่น บูชาการเพาะปลูก บูชาการกำจัดหญ้า บูชาข้าวใหม่ขึ้นยุ้ง บูชาการล่าสัตว์ บูชาการจับปลา เชื่อในคาถาอาคมและเวทมนตร์ แต่หลังจากที่ชาวฮั่นอพยพเข้ามา และถูกครอบครองจากชาติตะวันตก ความเชื่อของชาวเกาซานจึงเปลี่ยนแปลงไป บ้างนับถือพุทธ บ้างนับถือคริสต์ โดยยังคงผสมผสานกับการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อแบบเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น