วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

17. 仡佬族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเกอลาว
























ชนเผ่าเกอลาว เป็นชนเผ่าเก่าแก่และดั้งเดิมที่สุดเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงหยวินกุ้ย (云贵Yúnɡuì) ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่กระจัดกระจายบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้และทางตอนเหนือของมณฑลกุ้ยโจว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 20 เมืองเช่น จุนอี้(遵义Zūnyì) เหรินหวย(仁怀Rénhuái) อานซุ่น(安顺 Ānshùn) กวานหลิ่ง(关岭Guānlǐnɡ) ผู่อาน(普安Pǔ’ān) ชิงเจิ้น(清镇Qīnɡzhèn) ผิงป้า (平坝Pínɡbà) เฉียนซี(黔西Qiánxī) ต้าฟาง(大方Dàfānɡ) จือจิน(织金Zhījīn) จินซา (金沙Jīnshā) เจินเฟิง(贞丰Zhēnfēnɡ) ฉิงหลง(晴隆Qínɡlónɡ) ลิ่วจือ(六枝Liùzhī) สุ่ยเฉิง(水城Shuǐchénɡ) เป็นต้น มีบางส่วนกระจายอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงในมณฑลกว่างซี และบริเวณกว่างหนาน(广南Guǎnɡnán) หม่าซง(马松Mǎsōnɡ) ฟู่หนิง (阜宁Fùnínɡ) ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงและเผ่าเหมียว ในมณฑลยูนนาน


จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเกอลาวมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 579,357 คน ด้วยเหตุที่ชนชาวเกอลาวมีจำนวนประชากรไม่มากนัก ประกอบกับการตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยมีความกระจัดกระจายมาก ทำให้ภาษาของชาวเกอลาวในแต่ละท้องที่แตกต่างกัน กระทั่งไม่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง ปัจจุบันมีชาวเกอลาวอยู่จำนวนน้อยมากที่พูดภาษาเกอลาวของตนได้ เพราะเหตุความแตกต่างของสำเนียงภาษาในแต่ละท้องถิ่น ชาวเกอลาวจึงใช้ภาษาจีนเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารกัน มีบางส่วนใช้ภาษาของชนเผ่าอี๋ ภาษาเหมียว ภาษาปูเยย ชาวเกอลาวบางที่สามารถพูดได้ถึง 4 ภาษา แต่ภาษาที่เป็นภาษาดั้งเดิมของชาวเกอลาวชื่อ ภาษาเกอลาว จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า จัดอยู่ในสาขาภาษาและแขนงภาษาใด ไม่มีภาษาอักษร


ชาวเกอลาวเป็นชนเผ่าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มชนในอดีตชื่อ “เหลียว” (僚Liáo) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นเมืองกุ้ยโจวในปัจจุบัน เริ่มมีการกล่าวถึงชนกลุ่มนี้ในพงศาวดารสมัยซ่ง และสมัยถังในชื่อ เก๋อเหลียว (葛僚Gěliáo) เก๋อหล่าว (革老Gélǎo) อี้หล่าว(仡佬Yìlǎo) อี้เหลียว(仡僚Yìliáo) แม้จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่และภาษาของผู้เรียก แต่ชื่อกลางที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ “เหลียว” (僚Liáo) ในสมัยโบราณคำว่า “เหลียว” เป็นคำที่ใช้เรียกรวมกลุ่มชนน้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองกุ้ยโจว คาดว่าชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาชนเผ่าหลากหลายกลุ่มเหล่านั้นพัฒนามาเป็นชาวเกอลาวในปัจจุบัน ส่วนชื่อเรียกชนเผ่า “ เกอลาว” ปรากฎครั้งแรกในบทประพันธ์ของจูฝู่เรื่อง “ซีหมานฉงเสี้ยว” 《溪蛮丛笑》 Xīmáncónɡxiào ในสมัยซ่ง นับตั้งแต่สมัยหมิงเป็นต้นมา บันทึกพงศาวดารโบราณต่างๆ กล่าวตรงกันว่าคำว่า “ เกอลาว” เป็นชื่อเดิมของชนกลุ่ม “เหลียว” ในช่วงสองสามร้อยปีมานี้ ชาวเกอลาวบางส่วนยังคงรักษาสืบทอดขนบธรรมเนียมโบราณดั้งเดิมของชาวเหลียวอยู่ เช่น หญิงสวมผ้าถุง เจาะฟัน และใช้โลงศพหิน แสดงให้เห็นว่าชาวเกอลาวในปัจจุบันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวเหลียวในอดีต


ชาวเหลียวคือชนเผ่าโบราณกลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งในประเทศเย่หลาง (夜郎国 Yèlánɡɡuó) ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานราว 2100 ปี คือตั้งแต่สมัยซีฮั่นเป็นต้นมา มีชีวิตและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองกุ้ยโจว ยูนนาน ในอาณาเขตของประเทศเย่หลางประกอบด้วยชนเผ่าหลากหลายที่สำคัญคือ ชาวเหลียว ดำรงชีวิตด้วยการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่อาศัยกันเป็นชุมชน มีหัวหน้าเผ่าปกครอง ระบบสังคมเป็นแบบช่วงต่อระหว่างยุคปลายของสังคมบุพกาลเข้าสู่ยุคสังคมแบบแบ่งชนชั้นวรรณะ ราว 130 ปีก่อนคริสตกาล ราชสำนักฮั่นรวบรวมประเทศเย่หลางเข้ามาเป็นเขตหนึ่งในอำนาจการปกครอง ระบบสังคมศักดินาของชาวฮั่นในสมัยนั้นมีปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมของชาวเหลียวจนกลายมาเป็นระบบสังคมแบบศักดินาในที่สุด ในศตวรรษที่ 7 ราชสำนักถังรวบรวมและก่อตั้งบริเวณตอนเหนือของเมืองกุ้ยโจวในปัจจุบันซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเหลียวเข้ามาเป็นเมืองประเทศราช ในช่วงนี้ปริมาณการผลิตของชาวเหลียวมีจำนวนสูงขึ้น มีการปลูกข้าวเจ้า ข้าวสาลีเพื่อบริโภคในครัวเรือน และเพื่อการค้าขาย งานฝีมือปักผ้าของชาวเหลียวงดงามต้องตา จนได้รับยกย่องให้ใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการถวายและใช้ในราชสำนัก


นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ซ่งและชิงเป็นต้นมา ชาวเกอลาวถูกการกดขี่และขูดรีดจากชนชั้นสูงในสังคมศักดินามาตลอด จนถึงสมัยหยวนและหมิงชาวเกอลาวส่วนใหญ่ถูกครอบงำ และถูกกดขี่จากชนชั้นกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างหนัก โดยเฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการและทหารมาปกครองดูแล ชีวิตของชาวเกอลาวลำบากยากแค้นมากขึ้น มาในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正 Yōnɡzhènɡ) มีนโยบายรวบรวมที่ดินกลับคืนสู่รัฐ ชีวิตของชาวเกอลาวตกอยู่ในอำนาจการปกครองข้าราชการ แต่ยังมีชาวเกอลาวบางส่วนโดยเฉพาะในบริเวณกุ้ยโจว เฉียนซี ต้าฟางยังคงรักษาระบบสังคมแบบชนชั้นกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ ชาวเกอลาวตกอยู่ในอำนาจของชนเผ่าที่เหนือกว่าอย่างชาวอี๋ (彝族Yí Zú) มาจนกระทั่งก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลในยุคนั้นยังคงกดขี่รังแกและขูดรีดประชาชนชาวเกอลาวอย่างแสนสาหัส ชาวเกอลาวดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืชการเกษตรเป็นหลัก ที่สำคัญมี ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลีและมัน แต่ด้วยวิทยาการที่ล้าหลัง ผลผลิตต่ำมาก ชาวเกอลาวในขณะนั้นรู้จักใช้เครื่องมือจำพวกกระบุง ภาชนะที่ทำจากเปลือกไม้ เครื่องจักสานไม้ไผ่ รองเท้าฟาง หลังจากปี 1840 เป็นต้นมา สินค้าจากภายนอกถาโถมเข้าสู่ประเทศจีนรวมทั้งชุมชน เกอลาวก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก งานฝีมือที่ผลิตขึ้นเองของชาวเกอลาวถูกมองข้ามและละเลย ไม่ได้รับความนิยม สภาวะเศรษฐกิจตามชนบทตกต่ำ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดำดิ่งสู่ภาวะยากจนแร้นแค้น


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลมีนโยบายให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการปกครองตนเอง โดยในปี 1953 ได้ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองหลากเผ่าพันธุ์ที่ตำบลหลงหลิน มณฑลกว่างซี (广西隆林各族自治县 Guǎnɡxī Lónɡlín ɡè zú zìzhìxiàn) ซึ่งมีกลุ่มชนชาวเกอลาวรวมอยู่ด้วย ต่อมาปี 1956 ก่อตั้งหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยขึ้นที่เมืองจุนอี้และเหรินหวนในมณฑลกุ้ยโจว (贵州遵义和仁怀民族乡Guìzhōu Zūnyì hé Rénhuái mínzú xiānɡ) คณะกรรมการตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มณฑลตลอดจนระดับ ประเทศ มีชาวเกอลาวเป็นสมาชิก หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมและการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ดินทำกิน ตลอดจนผลผลิตของชาวเกอลาวพัฒนาเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการพัฒนาระบบการศึกษา ก่อตั้งโรงเรียนให้แก่ลูกหลานชาวเกอลาว อารยธรรมและวัฒนธรรมของชาวเกอลาวกลับฟื้นฟูและมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง


ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมประจำเผ่าของชาวเกอลาวได้แก่ เพลง กลอน นิทาน สุภาษิตคำพังเพย รูปแบบลักษณะคำกลอนมีสัมผัสคล้องจองกันเป็นวรรคๆ เป็นกลอนสาม กลอนห้า กลอนเจ็ด นิทานของชาวเกอลาวส่วนใหญ่มีเนื้อหาการยกย่องชาวนาผู้อดทน ชาญฉลาด และมีจิตใจดีงาม มีบางเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการกดขี่ข่มเหงรังแกของระบบศักดินา การดนตรีของชาวเกอลาวเรียบง่ายแต่งดงาม เครื่องดนตรีมี ซอเอ้อร์หู ขลุ่ยผิว ปี่ โหม่ง กลอง บรรเลงประกอบการเต้นรำรื่นเริงประจำเผ่า


ชาวเกอลาวอาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นมาเป็นเวลานาน ซึมซับรับเอาวัฒนธรรมของชาวฮั่นไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ การแต่งกาย ประเพณี เทศกาลสำคัญ ล้วนกำหนดตามแบบอย่างชาวฮั่นทั้งสิ้น จนดูจะไม่มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมากนัก เดิมทีหญิงชาวเกอลาวสวมเสื้อลำตัวสั้น กระโปรงยาว สวมรองเท้าหัวแหลม แต่ในระยะสิบปีหลังมานี้ไม่พบการแต่งกายแบบนี้แล้ว อาหารหลักของชาวเกอลาวที่อาศัยอยู่บนภูเขาคือข้าวโพด ส่วนกลุ่มที่อยู่บนพื้นที่ราบกินข้าวเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ยังบริโภคข้าวสาลี ข้าวเกาเหลียง ข้าวเหนียว ชอบอาหารรสเปรียวและเผ็ด


ชาวเกอลาวตั้งบ้านเรือนอยู่ทั้งบนเขาและที่ราบริมชายเขา ลักษณะบ้านเรือนไม่แตกต่างจากบ้านเรือนของชาวฮั่น ในบ้านแบ่งเป็นสามห้อง คือห้องนอน ห้องครัว ห้องโถงหนึ่งห้อง หรือบางบ้านแบ่งเป็นสองห้องคือห้องนอนกับห้องครัว


ชาวเกอลาวยึดถือการแต่งงานแบบมีสามีภรรยาคนเดียว และอาศัยอยู่เป็นครอบครัวเล็ก สถานภาพในครอบครัวของชายและหญิงเท่าเทียมกัน ในอดีตการแต่งงานของชาวเกอลาวเป็นแบบคลุมถุงชน นิยมแต่งงานระหว่างญาตินอกสายตระกูล (ญาติในสายตระกูลคือญาติที่สืบเชื้อสายโดยตรงโดยเพศชาย นอกจากนั้นถือเป็นญาตินอกสายตระกูล) แต่ปัจจุบันหนุ่มสาวมีสิทธิเสรีในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง และแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย บางรายพ่อแม่หมั้นหมายกันไว้ตั้งแต่เด็ก วันแต่งงานฝ่ายเจ้าบ่าวส่งคนไปรับเจ้าสาวมาจากบ้าน โดยต้องกางร่มให้เจ้าสาวจนถึงบ้านเจ้าบ่าว เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าว ไม่มีพิธีกราบไหว้ใดๆ ส่งตัวเข้าห้องหอได้เลย ในอดีตชาวเกอลาวบางกลุ่มยังคงรักษาประเพณีการแต่งงานแบบชาวเหลียวอยู่ นั่นคือหญิงที่จะแต่งงานออกเรือน ในวันแต่งงานก่อนจะเข้าบ้านเจ้าบ่าวต้องถอนเขี้ยวฟันบนออกก่อน พิธีนี้ชาวเกอลาวเรียกว่า “ เกอลาวเปลี่ยนฟัน”


พิธีศพของชาวเกอลาวส่วนใหญ่เหมือนกับชาวฮั่น มีเพียงชาวเกอลาวที่อำเภอจุนอี้ (遵义 Zūnyì) เหรินหวย(仁怀Rénhuái) ยังคงยึดถือพิธีการ “ย่ำโบสถ์” อยู่ พิธีนี้คือ ก่อนจะฝังศพจะมีพิธีร้องเพลงสรรเสริญผู้ตาย ญาติสนิทมิตรสหายมาเคารพศพ ไม่มีการเลือกวันฝังศพ ไม่เลือกสถานที่ฝังศพ ถือเอาวันและที่ที่สะดวก และไม่ตั้งป้ายหลุมศพ


ชาวเกอลาวมีความเชื่อในเทพเจ้า เคารพบูชาบรรพบุรุษ และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับความเชื่อหลายอย่าง เช่น วันขึ้นปีใหม่วันแรกจะไม่กวาดบ้าน ไม่กระโดดน้ำ ไม่ต้มเนื้อ ไม่เทน้ำหน้าบ้าน ไม่ลงนาทำงาน เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ของชาวเกอลาว ช่วงเทศกาลปีใหม่จัดกิจกรรมรื่นเริงและการละเล่นบันเทิงมากมาย เช่น การเล่นตีลูกมังกร ตีไข่ไก่ ลูกมังกรคือลูกบอลลูกเล็กๆ ที่สานจากเปลือกต้นอ้อแล้วยัดในด้วยเศษกระเบื้องและเงินเหรียญสองสามเหรียญ เมื่อตีเหรียญที่อยู่ข้างในจะกระทบกันเป็นเสียง เวลาเล่นแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละสองคน แล้วตีลูกบอลไปมา ส่วนการเล่นตีไข่ไก่ คือ ใช้ลูกบอลที่สานจากไม้ไผ่ลูกใหญ่ ข้างในยัดด้วยฟางข้าว วิธีการเล่นเหมือนกัน เทศกาลสำคัญนอกจากจะมีการละเล่นสองอย่างนี้เป็นกิจกรรมหลักแล้ว ยังมีการร้องรำทำเพลงอันถือเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานของชาวเกอลาว นอกจากนี้ในต้นเดือนตุลาคมจะมีเทศกาล “เทพเจ้าวัว” เทศกาลนี้จะทำข้าวเหนียวแผ่นแขวนไว้ที่เขาวัว ตกแต่งสวยงาม จูงวัวไปที่ริมน้ำ ให้วัวส่องดูเงาตัวเอง แล้วเอาข้าวเหนียวแผ่นนี้ป้อนให้วัวกิน

1 ความคิดเห็น: