วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

19. 哈萨克族ชนกลุ่มน้อยเผ่าคาซัค























ภาษาจีนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ฮาซ่าเค่อ (哈萨克Hāsàkè) แต่ชนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า คาซัค (Kazak) อาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองอุยกูร์ (维吾尔Wéiwú’ěr) กลุ่มปกครองตนเองอีหลีคาซัค(伊犁Yīlí) กลุ่มปกครองตนเองมู่เหลยคาซัค(木垒哈萨克Mùlěihāsàkè) และอำเภอปกครองตนเองปาหลีคุนคาซัค(巴里坤哈萨克Bālǐkūn hāsàkè) ของมณฑลซินเจียง นอกจากนี้ยังมีจำนวนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ตามอำเภอปกครองตนเองอาคซายคาซัค (阿克赛哈萨克Ā kèsàihāsàkè) ของมณฑลกานซู่ และเขตปกครองตนเองห่ายซีมองโกลคาซัค(海西蒙古族哈萨克Hǎixīměnɡɡǔ Zúhāsàkè) ของมณฑลชิงห่าย


จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าคาซัคมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,250,458 คน ประชากรส่วนใหญ่อาศัยรวมตัวกันอยู่ที่เขตปกครองตนเองอุยกูร์ พูดภาษาคาซัค จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาเทอร์กิค(Turkic) ชาวคาซัคตั้งแต่อดีตเคยใช้ภาษา Kyrgyz – Kypchak และภาษา Yugur หลังจากที่ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาสู่ชนเผ่าคาซัคในปี 1959 แล้ว ได้พัฒนาภาษาอักษรขึ้นใช้โดยใช้อักษรภาษาลาติน แต่ใช้ไม่แพร่หลายมากนัก กระทั่งปี 1982 กลับมาใช้ภาษาแบบดั้งเดิมที่เคยใช้ในอดีต ส่วนภาษาใหม่ที่เป็นอักษรลาตินใช้เพียงเป็นอักษรกำกับเสียงเท่านั้น


บรรพบุรุษชาวคาซัคอาศัยอยู่บริเวณตอนเหนือของมณฑลซินเจียง และบริเวณทุ่งหญ้าภาคกลางมาแต่อดีต มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนเผ่าโบราณน้อยใหญ่ต่างๆ ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำอีหลี (伊犁Yīlí) บริเวณรอบทะเลสาบอีไซเค่อ(伊塞克湖Yīsāikèhú) ซึ่งเคยอยู่ในความปกครองของจีนในสมัยโบราณ เช่น ชนกลุ่มอูซุน (乌孙Wūsūn ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 2 - คริสต์ศตวรรษที่ 2) ชนกลุ่ม เทอร์จิค (突厥Tūjué กลางศตวรรษที่ 6) ชนกลุ่มเก๋อหลัวลู่และชนกลุ่มหุยกู่ (葛逻禄Gěluólù、回鹘Huíɡǔ ศตวรรษที่ 12) ชนกลุ่มฮาชื่อชี่ตาน (哈刺契丹Hācìqìdān ศตวรรษที่ 12) ชนกลุ่มเค่อเลี่ย ไหน่หมาน ชินฉา(克烈Kèliè、乃蛮Nǎimán、钦察Qīnchá ศตวรรษที่ 12 - 13) ปัจจุบันชาวคาซัคในบางท้องที่ยังคงเรียกตัวเองด้วยชื่อชนเผ่าโบราณนี้ ตามตำนานของชาวคาซัคที่ว่าชาวคาซัคสืบทอดเชื้อสายมาจากหงส์ขาว ดังนั้นคำว่า “คาซัค” จึงมีความหมายว่า “หงส์ขาว” นอกจากนี้นักวิชาการบางรายเชื่อว่าคำเรียกชื่อคาซัคนี้เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่ในสมัยโบราณเรียกชื่อว่า เหอซ่า (曷萨Hésà) อาซ่า(阿萨Āsà) หรือ เข่อซ่า (可萨Kěsà) นอกจากนี้ยังมีผู้แปลชื่อชนเผ่าคาซัคอีกหลายความหมาย เช่น ทหารหาญ ชนอิสระ ชนลี้ภัย ชนเผ่าหลบหนี เป็นต้น


นักวิชาการต่างชาติให้ความเห็นว่าชื่อชนเผ่า “คาซัค” ปรากฏครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 ในยุคนั้นบริเวณภาคตะวันออกมีเมืองหนึ่งชื่อ Ozbek (乌孜别克汗国Wūzībiékè hànɡuó) มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ปลายสายของแม่น้ำซีร์ (锡尔河Xī’ěrhé) อาณาเขตของเมืองนี้ทิศเหนือจรดแม่น้ำทัวโปร์ (托波尔河Tuōbō’ěrhé) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดแม่น้ำอาร์จีส (额尔齐斯河É’ěrqísīhé) ในปี 1456 เมือง Khan (汗国Hànɡuó) แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ จีลาย (吉来Jílái) และเจนีเบค (扎尼别克Zhāníbiékè,Janibek) โดยได้จัดแบ่งให้บริเวณทิศตะวันออกเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ต่อมาชนในพื้นที่ทางตะวันออกนี้เข้มแข็งขึ้นและแยกตัวออกมาจากประเทศ Khan ซึ่งก็คือชาวคาซัคในเวลาต่อมา คำว่าคาซัคนี้จึงมีความหมายว่า ผู้หลุดพ้น ผู้ลี้ภัย ต่อมาชาวคาซัครวบรวมชนเผ่าเล็กเผ่าน้อยข้างเคียง สถาปนาประเทศของตนขึ้นเป็นประเทศ คาซัคข่าน (哈萨克汗国Hāsàkèhànɡuó) ขึ้นในปลายศตวรรษที่ 15 นับเป็นต้นกำเนิดของชนเผ่าคาซัคที่เก่าแก่ที่สุด
ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ช่วงที่รัสเซียรุกรานจีน ได้รุกรานดินแดนของชนชาวคาซัค ในปี 1864 – 1883 บีบบังคับให้ราชสำนักชิงลงนามในสนธิสัญญา โดยมีเนื้อหามุ่งครอบครองดินแดนของชาวคาซัคโดยให้พลเมืองและดินแดนกลับไปเป็นของเจ้าของเดิม ซึ่งก็หมายความว่ารัสเซียต้องการจะครอบครองดินแดนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวคาซัค ซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศจีน ในปี 1883 ชาวคาซัคราว 3000 ครัวเรือนอพยพเข้าไปอยู่ในบริเวณดินแดนเมืองอีหลี (伊犁Yīlí) และโปร์ตาลา (博尔塔拉Bó’ěrtǎlā) นอกจากนี้ยังมีชาวคาซัคอีกจำนวนไม่น้อยอพยพเข้ามาในประเทศจีน ในศตวรรษที่ 19 ชาวคาซัคกลายเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของบริเวณเมืองอีหลี พวกชาวคาซัคมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตกิจการด้านปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งยังเป็นกลุ่มชนสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาบริเวณเขตพรมแดนของจีนมาโดยตลอด


ปี 1884 ทางการจีนได้ก่อตั้งมณฑลซินเจียงขึ้น เมืองอีหลี (伊犁 Yīlí) ถ่าเฉิง (塔城 Tǎchénɡ) มองโกล (蒙古Měnɡɡǔ) และคาซัค (哈萨克Hāsàkè) ก็ถูกจัดเข้าอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอีหลี หลังปี 1911 ผ่านพ้นการปฏิวัติวัฒนธรรม ชาวคาซัคจึงหลุดพ้นจากการถูกปกครองของราชสำนักชิงในที่สุด


ก่อนปี 1949 ระบบสังคมของชาวคาซัคเป็นแบบศักดินา มีการสืบทอดอำนาจการปกครองจากพ่อสู่ลูก ถิ่นที่อยู่ของชาวคาซัคตั้งบ้านเรือนอยู่ตามเชิงเขา ริมชายฝั่ง และที่ราบลุ่ม ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก เทือกเขาเทียนซานและเทือกเขาอัลไตฝั่งทิศใต้นับเป็นหนึ่งในห้าของทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่กว้างใหญ่ของจีน ชาวคาซัคใช้ประโยชน์จากธรรมชาติบริเวณนี้ดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์มาหลายชั่วอายุคน และเมื่อฤดูการเปลี่ยนไปก็จะโยกย้ายเร่ร่อนไปหาแหล่งอุดมสมบูรณ์แห่งใหม่ นอกจากเลี้ยงสัตว์แล้วชาวคาซัคบางส่วนยังมีอาชีพทำการเกษตร และล่าสัตว์ด้วย ผลผลิตที่ได้มาจากการล่าสัตว์จะแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกัน สัตว์เลี้ยงของชาวคาซัคที่สำคัญมี ม้า แกะและแพะ นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์จากม้าอย่างครบถ้วน อันได้แก่ ขี่ม้า ดื่มนมม้า กินเนื้อม้า และใช้หนังม้าทำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สิ่งของต่างๆ นอกจากใช้ม้าแล้ว ชาวคาซัคยังใช้ลาและวัวเป็นพาหนะด้วย ในการล่าสัตว์ชาวคาซัคยังรู้จักการใช้สุนัข และเหยี่ยวเป็นผู้ช่วยล่าสัตว์อีกด้วย ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน หรือคนในชนชั้นศักดินากับชนชั้นกรรมกรและชนชั้นชาวนามีมาก ชนชั้นศักดินามีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน และสามารถสืบทอดต่อให้กับรุ่นลูกหลานได้ แต่ชนชั้นยากจนกลับไม่มีที่ดินทำกิน ผลผลิตจากการทำนาและเลี้ยงสัตว์ตกเป็นของชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ชีวิตของชาวคาซัคที่เป็นชนชั้นกรรมกรและเกษตรกรถูกกดขี่ขูดรีดอย่างทารุณ


หลังจากปี 1949 เป็นต้นมา ซินเจียงได้รับการปลดปล่อย ภายใต้การนำของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวคาซัคและชนกลุ่มน้อยทั้งหลายได้รับการปลดปล่อยจากระบบศักดินา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ร่วมมือกันสร้างความเจริญและผาสุกให้กับชุมชนตนเองและประเทศชาติ เพื่อให้ชนชาวคาซัคมีอำนาจในการปกครองตนเอง ในปี 1954 รัฐบาลได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองขึ้นหลายแห่ง ได้แก่
1. เขตปกครองตนเองคาซัคเมืองอีหลี (伊犁哈萨克自治州Yīlí Hāsàkè zìzhìzhōu)
2. เขตปกครองตนเองคาซัค มองโกล ทิเบต เมืองชิงห่ายอำเภอห่ายซี (青海海西蒙古族藏族哈萨克族自治州 Qīnɡhǎi Hǎixī Měnɡɡǔ Zú Zànɡ Zú Hāsàkè Zú zìzhìzhōu)
3. อำเภอปกครองตนเองคาซัค อำเภออาคาซาย มณฑลกานซู่ (甘肃阿克塞哈萨克自治县Gānsù ākèsāi Hāsàkè zìzhìxiàn)
4. อำเภอปกครองตนเองชาวคาซัคอำเภอมู่เหล่ย มณฑลซินเจียง(新疆木垒哈萨克自治县Xīnjiānɡ Mùlěi Hāsàkè zìzhì xiàn)


ในช่วงก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรม การเลี้ยงสัตว์แบบทุ่งหญ้าของชาวคาซัคหยุดชะงักลง แต่หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมแล้ว การปศุสัตว์ของชาวคาซัคพัฒนาขึ้น ชาวคาซัคซึ่งประกอบอาชีพหลักด้วยการเลี้ยงสัตว์มาแต่บรรพบุรุษเริ่มดีขึ้น สภาพชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นมาตามลำดับ ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลทุ่มทุนมหาศาลในบริเวณเมืองอันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวคาซัค มีการสร้างโรงงานผลิตน้ำมัน โรงงานกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตแป้ง การตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าและน้ำประปา ทำให้ผลผลิตที่ได้สูงขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและการทำมาค้าขายกับชนกลุ่มอื่นอย่างกว้างขวาง


ด้วยเหตุที่ชาวคาซัคมีชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนไปทั่ว ทำให้เกิดการซึมซับและรับวัฒนธรรมของชนเผ่าอื่นๆที่มีความสัมพันธ์ด้วยมากมาย นำมาประสมประสานกับวัฒนธรรมที่สืบทอดมานานก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมคาซัคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวคาซัคบริเวณทุ่งหญ้าภาคกลางทางตอนใต้ของเมืองซินเจียง ซึ่งรับวัฒนธรรมมาจากรัสเซียยูเครนและชาวทาทาร์ รวมทั้งวัฒนธรรมของพวกหม่าน-ตุนกุส ก็มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของชาวคาซัคเป็นอย่างมาก


ในการดำเนินชีวิตของชาวคาซัคก่อเกิดวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ขึ้นมากมาย ทั้งในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาฐะ และวรรณกรรมอักษร เช่น เทพนิยาย ตำนาน นิทานพื้นบ้าน บทกลอน เพลงพื้นเมือง สุภาษิตคำพังเพย โดยเฉพาะนิทานกลอนของชาวคาซัคที่มีมากกว่า 200 เรื่อง ที่เด่นๆ เช่น เทพบุตรทาร์เกน วีรบุรุษอัลคาร์ค เป็นต้น


งานด้านการฝีมือหัตถกรรมของชาวคาซัคมีเอกลักษณ์โดดเด่น หญิงชาวคาซัคชำนาญการทอพรม การทอผ้าขนสัตว์ และการตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ส่วนชายมีฝีมือในงานไม้ เหล็ก กระดูกสัตว์ เงิน และทอง งานด้านเครื่องประดับหยกก็ไม่น้อยหน้ากว่าชนเผ่าใดๆ
ชาวคาซัคมีอุปนิสัยรื่นเริง ชอบการร้องรำทำเพลงและเต้นรำ เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงคือ ตงปู้ลา(冬不拉dōnɡbùlā)
ด้านขนบธรรมเนียมและเทศกาลสำคัญ ด้วยเหตุที่แต่เดิมชาวคาซัคอาศัยอยู่ในธรรมชาติที่ แวดล้อมไปด้วยคอกปศุสัตว์ ชาวบ้านเลี้ยงสัตว์อาศัยอยู่ในกระโจมที่ก่อตั้งขึ้นง่ายๆ ทำให้ง่ายแก่การเคลื่อนย้าย อาหารการกินส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวกนมและเนื้อ ชาวคาซัครู้จักผลิตอาหารที่ทำมาจากนมมากมาย อาหารนมม้าที่ผลิตโดยชาวคาซัคเป็นอาหารยอดนิยมและมีราคา การแต่งกายของสตรีในฤดูร้อน สวมชุดเสื้อกระโปรงยาวสีสันสะดุดตา ฤดูหนาวใส่เสื้อคลุมเป็นชุดเดียวกันกับชุดเสื้อกระโปรงยาว มีผ้าขาวบางคลุมผม บนศีรษะประดับประดาด้วยเครื่องประดับงดงาม สวมตุ้มหู แหวน กำไลข้อมือ ชาวคาซัคมีนิสัยโอบอ้อมอารีและเป็นมิตร ต้อนรับแขกที่มาบ้านด้วยความยินดี
ชาวคาซัคส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีบางส่วนยังคงนับถือศาสนาซ่าหม่านซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวคาซัคที่นับถือกันมาแต่อดีต


พิธีศพของชาวคาซัค จะมีพิธีอาบน้ำศพให้สะอาดก่อน จากนั้นพันศพด้วยผ้าขาว แล้วประกอบพิธีฝัง


เทศกาลสำคัญมีเทศกาลกุรปัง และเทศกาลนั่วลู่จือ เทศกาลนี้ทุกคนจะอวยพรซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่ชาวฮั่นฉลองวันตรุษจีนนั่นเอง ในงานเทศกาลต่างๆ จะมีกิจกรรมการละเล่นรื่นเริงมากมาย เช่น แข่งม้า ปล่อยแกะ และตามสาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น