วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

20. 赫哲族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเฮ่อเจ๋อ
























ชนเผ่าเฮ่อเจ๋อเป็นเผ่าดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อยู่ติดแผ่นดินบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมาแต่อดีต ปัจจุบันอาศัยอยู่บริเวณตำบลถงเจียง(同江 Tónɡjiānɡ) หราวเหอ(饶河Ráohé) ฝูหย่วน (抚远Fǔyuǎn) ของมณฑลเฮยหลงเจียง มีบางส่วนกระจายอาศัยอยู่บริเวณตำบลฮว่าชวน(桦川Huàchuān) อีหลาน(依兰Yīlán) ฟู่หราว(富饶Fùráo) ด้วยเหตุที่อาศัยอยู่ต่างพื้นที่กัน บางครั้งคำเรียกตัวเองก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ บ้างเรียกตัวเองว่า น่าเป้ย(那贝Nàbèi) บ้างเรียกว่า น่าไหน่ (那乃Nànǎi) บ้างเรียกว่า น่าหนีเอ้า(那尼傲Nà ní’ào) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเฮ่อเจ๋อมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,640 คน พูดภาษาเฮ่อเจ๋อ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาหม่าน-ตุนกุส (Man-Tungus) แขนงภาษาหม่าน ไม่มีภาษาอักษร ชนเผ่าขาดการสืบทอดปัจจุบันผสมผสานเป็นชาวฮั่นแล้ว


บรรพบุรุษของชาวเฮ่อเจ๋อ มีชีวิตอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเฮยหลง(黑龙江Hēilónɡjiānɡ) แม่น้ำซงฮวา(松花江Sōnɡhuājiānɡ) แม่น้ำอูซูหลี่(乌苏里江Wūsūlǐjiānɡ) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มชนชาวป่าโบราณชื่อซู่เซิ่น(肃慎Sùshèn) หลายกลุ่มได้แก่ อี้โหลว (挹娄Yìlóu) อู้จี๋(勿吉wùjí) เฮยสุ่ยโม่เสอ(黑水靺鞨Hēishuǐmòshé) ถึงต้นราชวงศ์ชิงเริ่มมีปรากฏชื่อชนเผ่าเฮยจิน(黑斤Hēijīn) เฮยเจิน(黑真Hēizhēn) เฮ่อเจิน (赫真Hèzhēn) ฉีเหลิง (奇楞Qílénɡ) และ เฮ่อเจ๋อ (赫哲Hèzhé) หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมเรียกชนกลุ่มนี้ด้วยชื่อ “เฮ่อเจ๋อ”( 赫哲Hèzhé)


เกี่ยวกับการกำเนิดและก่อตั้งกลุ่มชนเผ่าเฮ่อเจ๋อ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ามีที่มาอย่างไร แต่โดยทั่วไปเชื่อว่าชาวเฮ่อเจ๋อคือชนเผ่าเฮ่อเจ๋อโบราณที่รับเอาวัฒนธรรมของชนเผ่าอื่น เช่น เอ้อ หลุนชุน(鄂伦春族 Èlúnchūn Zú) เอ้อเวินเค่อ (鄂温克族Èwēnkè Zú) หม่าน (满族 Mǎn Zú) มองโกล (蒙古人Měnɡɡǔrén)และชาวฮั่น ผสมผสานหลอมรวมเกิดเป็นกลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งมั่นคง และเป็นรูปร่างกลุ่มชนในช่วงตอนต้นของราชวงศ์ชิง มีชีวิตอยู่ด้วยการทำการประมง ก่อนยุคการปลดปล่อย ระบบสังคมเป็นแบบสังคมบุพกาลตอนปลายเข้าสู่สังคมการสืบสายตระกูลจากพ่อ หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาชนกลุ่มน้อย ชีวิตของชาวเฮ่อเจ๋อจึงได้รับการพัฒนาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว


ต้นศตวรรษที่ 19 ชาวเฮ่อเจ๋อที่เร่ร่อนตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำหมู่ตาน (牡丹江Mǔdānjiānɡ) ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเฮยหลง(黑龙江Hēilónɡjiānɡ) มีทั้งหมด 22 สายตระกูล ถูกปกครองโดยราชสำนักชิงทั้งหมด และยังต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชสำนักชิงอยู่ตลอด แต่ในขณะเดียวกันชาวเฮ่อเจ๋อก็มีการติดต่อสัมพันธ์แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนเผ่าอื่นๆ เป็นประจำ กิจการประมง และเครื่องมือจับสัตว์น้ำของชาวเฮ่อเจ๋อพัฒนารุดหน้า ความเป็นอยู่ดีขึ้น ระบบสังคมแบบบุพกาลเริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบศักดินาในที่สุด หลังประสบวิกฤตของการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่ราบลุ่มแม่น้ำสามสายที่เป็นที่อยู่ของชาวเฮ่อเจ๋อพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวเฮ่อเจ๋ออาศัยอยู่ร่วมกันและมีการปฏิสัมพันธ์ร่วมสังคมเดียวกันกับชาวฮั่น ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวเฮ่อเจ๋อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชาวฮั่นและชนกลุ่มน้อยใกล้เคียงอื่นๆอย่างแยกกันไม่ออก จากนั้นเข้าสู่วิกฤตสงคราม ทหารญี่ปุ่นรุกรานเข้าครอบครองดินแดนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ชาวเฮ่อเจ๋อ เอ้อเวินเค่อ และเอ้อหลุนชุน ก็ถูกทหารญี่ปุ่นปกครองและทำลายล้างเผ่าพันธุ์ในคราวนี้ จำนวนประชากรชาวเฮ่อเจ๋อลดน้อยลงอย่างมาก หลังยุคปลดปล่อย ในขณะนั้นชาวเฮ่อเจ๋อมีจำนวนประชากรเพียง 300 คนเศษ แต่ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชาวเฮ่อเจ๋อพัฒนาดีขึ้น จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่า


ในอดีตชาวเฮ่อเจ๋อล้วนไม่รู้หนังสือ หลังยุคปลดปล่อย รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัจจุบันมีกิจการประมงและเกษตรกรรมที่ก่อตั้งโดยชาวเฮ่อเจ๋อเพิ่มขึ้นมากมาย นอกจากนี้ชาวเฮ่อเจ๋อยังให้ความสำคัญต่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยได้สร้างโรงเรียนทั้งประถมและมัธยมขึ้นหลายแห่ง มีการจัดตั้งสถานีอนามัยเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน มีการก่อตั้งสถานีวิทยุ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้กับชาวเฮ่อเจ๋อได้รับรู้เกี่ยวกับข่าวสารและสังคมภายนอก นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์ดำเนินงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมชนเผ่าขึ้น เพื่ออนุรักษ์เผยแพร่ และสร้างเสริมวัฒนธรรมอีกด้วย แม้ชาวเฮ่อเจ๋อจะเป็นชนเผ่าที่จำนวนประชากรน้อยมาก แต่ก็ได้รับการดูแลและมีสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันเหมือนชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆในประเทศจีน


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวเฮ่อเจ๋อมีวรรณกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณคือ บทละครร้อง ภาษาเฮ่อเจ๋อเรียกว่า อีหมาข่าน (依玛坎Yīmǎkǎn) ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสรรเสริญวีรบุรุษ ความทุกข์ยากของบรรพบุรุษและชนเผ่า และเรื่องราวของความรักอันบริสุทธิ์ การเล่าเรื่องราวดังกล่าวนี้ ต้องท่องจำบทกลอนให้ได้ โดยร้องไปตามบทประพันธ์ที่แต่งไว้ ไม่สามารถเพิ่มเติมเสริมแต่งคำพูดใดลงไปได้ นอกจากนี้ยังมีการเล่าเรื่องอีกอย่างหนึ่งชื่อ การเล่าเรื่องหูลี่ (说胡力Shuō húlì) คือการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ นิทานพื้นบ้าน นิทานอีสป เทพนิยาย ตำนาน การเล่าเรื่องประเภทนี้ผู้เฒ่าผู้แก่จะเล่าให้เด็กๆฟัง เป็นการปลูกฝังความดีให้กับเยาวชน นอกจากนี้การดนตรีและเพลงของชาวเฮ่อเจ๋อก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เครื่องดนตรีที่มีชื่อ และมีเฉพาะในชาวเฮ่อเจ๋อคือ พิณเป่า ซึ่งมีมาแต่โบราณและยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้


ชาวเฮ่อเจ๋อมีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย เสื้อผ้าของชาวเฮ่อเจ๋อมีทั้งที่ทำมาจากผ้า และทำมาจากหนังสัตว์ บนเสื้อผ้า หมวก รองเท้า ผ้าปูที่นอนของชาวเฮ่อเจ๋อจะปักลวดลายต่างๆ สวยสดงดงาม เช่น ลายดอกไม้ ผีเสื้อ พืชพันธุ์ต่างๆ ชายชาวเฮ่อเจ๋อก็มีฝีมือในการแกะสลักที่ยอดเยี่ยม ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องไม้ เครื่องหนังล้วนแกะสลักลวดลายดอกไม้ ภูเขา นก ทิวทัศน์อย่างงดงาม หลังจากความเป็นอยู่ดีขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวเฮ่อเจ๋อมีพลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะ และผลงานหัตถกรรมชิ้นเอกออกสู่สายตาผู้คนภายนอก จนได้รับการตอบรับและเป็นที่นิยมชมชอบของบุคคลต่างเผ่ามากมาย


เสื้อผ้าของชาวเฮ่อเจ๋อส่วนมากใช้หนังกวางและหนังปลา สวมรองเท้าที่ทำมาจากหนังปลาและหนังกวางเช่นเดียวกัน เมื่อสองสามร้อยปีก่อน ชนชั้นสูงของชาวเฮ่อเจ๋อเริ่มสวมผ้าไหมที่ซื้อเข้ามาจากชาวฮั่นหรือชาวเผ่าอื่น แต่ชาวเฮ่อเจ๋อส่วนใหญ่ยังคงสวมเสื้อผ้าที่ทำจากหนังสัตว์อยู่ เสื้อผ้าของหญิงชาวเฮ่อเจ๋อร้อยกระดิ่งที่ชายเสื้อ ส่วนชายสวมเสื้อคลุมยาว จนเข้าศตวรรษที่ 20 ชาวเฮ่อเจ๋อส่วนใหญ่หันมาสวมเสื้อผ้าฝ้าย เสริมกับหนังกวางและหนังปลาอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม เสื้อผ้าผู้หญิงได้รับอิทธิพลจากชาวหม่าน มีลักษณะคล้ายกับชุดกี่เพ้า ที่เป็นเอกลักษณ์คือการปักลวดลายบนเสื้อผ้าที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ


อาหารการกิน ชาวเฮ่อเจ๋อชอบอาหารจำพวกปลา เนื้อสัตว์ รู้จักวิธีถนอมอาหารจำพวกปลาแห้ง เนื้อแห้งไว้บริโภคตลอดปี บางท้องที่สร้างบ้านด้วยอิฐ ปูน มุงหลังคาด้วยหญ้าแห้ง การคมนาคมในฤดูหนาวใช้สุนัขลากรถเลื่อนออกล่าสัตว์ ในฤดูร้อนใช้เรือทำการประมงจับสัตว์น้ำ


ที่อยู่อาศัยของชาวเฮ่อเจ๋อสร้างเป็นกระโจมทรงกลม คลุมด้วยหนังสัตว์ แต่ในฤดูร้อน ใช้ไม้สร้างเป็นกระท่อมพักอาศัย ฤดูหนาวขุดหลุมเป็นห้องใต้ดินเป็นที่พักอาศัยหลบหนาว


ด้วยเหตุที่ชาวเฮ่อเจ๋อ ไม่มีภาษาอักษร การสืบทอดทางวัฒนธรรมภาษา วรรณกรรมจึงกระทำได้เพียงการสืบทอดแบบปากต่อปาก เพิ่งมีการจดบันทึกวรรณกรรมของชาวเฮ่อเจ๋อในระยะหลังมานี้เอง ชาวเฮ่อเจ๋อที่รู้หนังสือและเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงได้จดบันทึกวรรณคดี นิทาน นิยาย ตำนาน และเรื่องราวต่างๆของชาวเฮ่อเจ๋อด้วยภาษาฮั่น นอกจากนี้ยังมีบทละครที่แต่งขึ้นใหม่โดยชาวเฮ่อเจ๋อ อันเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงอย่างมากในวงวรรณกรรมจีน ดังเช่น เรื่อง 《赫哲人的婚礼》Hèzhérén de hūnlǐ “งานแต่งงานของชาวเฮ่อเจ๋อ” เรื่อง《冰山上的来客》Bīnɡshān shànɡ de láikè “แขกผู้มาเยือนบนเขาน้ำแข็ง” เรื่อง《好班长》Hǎo bānzhǎnɡ “หัวหน้าที่ดี” ซึ่งเป็นงานประพันธ์ของ อูป๋ายซิน(吴白欣Wú Báixīn) นักประพันธ์ชาวเฮ่อเจ๋อ


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งงานมีข้อกำหนดไม่แต่งงานในสายตระกูลเดียวกัน โดยทั่วไปชาวเฮ่อเจ๋อแต่งงานมีสามีภรรยาเดียว แต่ในอดีต ผู้ชายที่ร่ำรวยสามารถมีภรรยาหลายคนได้


พิธีศพของผู้ใหญ่ประกอบพิธีศพโดยการฝัง แต่ศพของเด็กจะแขวนไว้บนต้นไม้


ชาวเฮ่อเจ๋อมีวัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่ ผู้น้อยที่จากบ้านไปนาน เมื่อกลับมาต้องคุกเข่าคารวะเพื่อทำความเคารพผู้ใหญ่ในบ้านตามลำดับอาวุโส ผู้ใหญ่จูบที่หน้าผากของผู้น้อยเพื่อแสดงความรักและเอ็นดู


ชาวเฮ่อเจ๋อเชื่อและนับถือศาสนาซ่าหม่าน (萨满教Sàmǎnjiào) และเชื่อถือในวิญญาณ โดยนับถือธรรมชาติต่างๆ ว่า มีวิญญาณสิงสถิตอยู่ เช่น เทพนที เทพแม่น้ำ เทพเขาเดียว เทพพนม เทพอาทิตย์ เทพจันทรา และเชื่อว่าสัตว์และแมลงทุกชนิดเป็นเทพที่ต้องเคารพกราบไหว้ เทพที่ชาวเฮ่อเจ๋อเคารพมากที่สุดคือเทพเทวาที่มีหน้าเหมือนคน นอกจากนี้ยังเคารพบูชาบรรพบุรุษอีกด้วย
เทศกาลสำคัญของชาวเฮ่อเจ๋อไม่แตกต่างจากชาวฮั่นมากนัก มีการเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน หยวนเซียว เชงเม้ง ไหว้พระจันทร์ เหมือนอย่างชาวฮั่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น