วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

31. 毛南族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมาหนาน

























ชนเผ่าเหมาหนานเป็นชนกลุ่มน้อยชาวเขาที่มีจำนวนประชากรไม่มาก แม้ว่าชาวเหมาหนานจะมีจำนวนประชากรน้อย แต่ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้ชนเผ่านี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ศูนย์กลางที่มีชนเผ่าเหมาหนานอาศัยอยู่คือภูเขาเหมาหนาน (茅难山Máonán shān) ทางใต้ของตำบลหวนเจียง(环江Huánjiānɡ) โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเขื่อนถือเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของชาวเหมาหนาน นอกจากนี้ยังมีส่วนน้อยกระจายอาศัยอยู่ในตำบลหนานตาน(南丹Nándān) และตูอาน (都安Dū’ān) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมาหนาน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 10,716 คน พูดภาษาเหมาหนาน จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาต้ง-สุ่ย ไม่มีภาษาอักษร ชาวเหมาหนานอาศัยอยู่ร่วมกับชาวจ้วง ชาวฮั่นมาเป็นเวลานาน ดังนั้นชาวเหมาหนานส่วนมากพูดภาษาจ้วงและภาษาจีนได้ ภาษาเขียนที่ใช้คืออักษรจีน


ชาวเหมาหนานเรียกตัวเองว่า “อาหนาน” (阿难 Ā’nán) หมายความว่า “คนพื้นที่นี้” จากชื่อเรียกตัวเองนี้แสดงให้เห็นว่า บรรพบุรุษของชาวเหมาหนานอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว พงศาวดารภาษาฮั่นที่บันทึกไว้ในสมัยซ่งระบุว่า พื้นที่ปัจจุบันของอำเภอหวนเจียง(环江Huán jiānɡ) มณฑลกว่างซี (广西Guǎnɡxī) มีชื่อเรียกหมู่บ้านที่ออกเสียงใกล้เคียงกับชื่อชนเผ่าเหมาหนาน เช่น เหมาทาน (茆滩,茅滩 Máotān,Máotān) เม่าหนาน (冒南Màonán) จะเห็นว่าชนเผ่าต่างๆในสมัยโบราณ จะมีคำเรียกชื่อชนเผ่ากับชื่อหมู่บ้านที่สัมพันธ์กันหรือเป็นชื่อเดียวกัน ชาวเหมาหนานก็ได้ชื่อมาจากชื่อสถานที่เช่นกัน หลังการปลดปล่อย รัฐบาลเรียกชื่อชนกลุ่มนี้อย่างเป็นทางการว่า “ชาวเหมาหนาน” (毛难族Máonán Zú) จนยุคปี 80 ชนชาวเหมาหนานเสนอขอเปลี่ยนชื่อเป็น “ชาวเหมาหนาน” (毛南族Máonán Zú)[1]


ชาวเหมาหนานพัฒนาแตกสาขามาจากชนร้อยเผ่าที่ชื่อว่า ป่ายเยว่ (百越Bǎiyuè) ยุคก่อนสมัยถังคือกลุ่มชนชื่อ เหลียว(僚Liáo)ในสมัยซ่ง หยวน และหมิง เรียกชื่อว่า หลิง (伶 Línɡ) ชนเผ่าเหล่านี้นี่เอง คือบรรพบุรุษยุคแรกๆ ของชาวเหมาหนาน
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ชาวเหมาหนานดำรงชีวิตและตั้งถิ่นฐานอยู่อำเภอซือเอิน (思恩Sī’ēn) ในช่วงสมัยถัง จัดอยู่ในการปกครองเขตหวนโจว (环州Huán zhōu) ในสมัยซ่งเคยอยู่ในอำนาจการปกครองของเขตฝูสุ่ย (抚水Fǔ shuǐ) ในสมัยหยวนอยู่ในเขตการปกครองของเขตชิ่งหย่วน(庆远Qìnɡ yuǎn) ในสมัยหมิงอำเภอซือเอิน(思恩Sī’ēn) เปลี่ยนไปอยู่ในการปกครองของเขตเหอฉือ (河池州Héchí zhōu) ต่อมาในสมัยชิงอำเภอซือเอิน กลับไปอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดชิ่งหย่วน และก่อตั้งชุมชนเหมาหนานขึ้น ในชุมชนเหมาหนานแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ขั้น เรียกว่า “เอ๋อ” (额 é) ในแต่ละเอ๋อมี “ผาย” (牌pái) เป็นส่วนปกครองย่อย แต่ละ“ผาย” มีหัวหน้า“ผาย” ดูแล 10 ครอบครัว ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชาวเหมาหนานรวมกำลังลุกขึ้นต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของระบบชนชั้นอยู่เนืองๆ ในยุคที่กองกำลังทหารญี่ปุ่นรุกราน ชาวเหมาหนานก็เป็นกำลังรบสำคัญกลุ่มหนึ่ง จนถึงยุคสงครามการปลดปล่อยชาวเหมาหนานได้รวมกำลังขึ้นต่อสู้กับการปกครองของพรรคกว๋อหมินตั่งอย่างเข้มแข็งและกล้าหาญ


เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวเหมาหนาน ชาวเหมาหนานอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าลึกลับ ซับซ้อนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีพื้นที่ทำกินคับแคบ แต่ด้วยสติปัญญาที่ปราดเปรื่อง ชาวเหมาหนานรู้จักวิธีการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า พื้นที่ใช้สอยไม่เว้นให้ว่างเปล่าแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ชาวเหมาหนานรู้จักวิธีการปรับที่ภูเขาเพื่อทำนาแบบขั้นบันได ชาวเหมาหนานรู้จักใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทำจากเหล็กมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว แต่ลักษณะและรูปแบบเครื่องมือยังคงล้าหลังไม่มีการพัฒนา ในช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนยังใช้คราดไถนาแบบเท้าเหยียบแล้วใช้วัวควายลาก หรือคนลากอยู่ การเก็บเกี่ยวก็ยังใช้เคียวเกี่ยวข้าวด้วยแรงงานคนอยู่ ผลผลิตที่ได้จึงมีปริมาณน้อยมาก จากการสำรวจ ชาวเหมาหนานบริเวณหมู่บ้านยวี่หวน (玉环Yùhuán) อำเภอหวนเจียง (环江Huánjiānɡ) ประชากรที่มีที่ดินเป็นของตนเองมีอัตราส่วนเพียง 3 %ของประชากรทั้งหมด และมีประชากรชนชั้นรับจ้างทำนามากเกินกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด ในขณะที่พื้นที่ทำกินมีเพียง 30% ของพื้นที่ชุมชนเหมาหนานทั้งหมด เจ้าของที่ดินทำนาเพาะปลูกด้วยตนเอง บ้างจ้างแรงงานแบบกดขี่ รีดไถ ทำให้ค่าจ้างที่ได้ไม่เพียงพอ เกิดการกู้ยืมหรือเช่าที่ดินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยสูง ผลผลิตที่ชนชั้นแรงงานกู้ยืมไป ตลอดจนการเช่าที่ดินทำกิน เจ้าของที่ดินจะคิดค่าเช่าโดยหักจากผลผลิตที่ได้สูงถึง 70 – 80% และจะต้องชดใช้หนี้ด้วยการใช้แรงงานแบบไม่วันสิ้นสุด ชาวนาไม่เพียงทำนาเลี้ยงชีพ ยังต้องเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม แต่ผลผลิตที่ได้ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อการผลิตเพื่อกินอยู่เองในครอบครัว และดอกเบี้ยค่าเช่าที่สูงมาก


หลังยุคการปลดปล่อย ในปี 1952 รัฐดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดิน ล้มล้างระบบสังคมศักดินาจ้าวกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระบบสังคมและการปกครองชุมชนในหมู่บ้านเหมาหนานเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ประชาชนมีสิทธิทางสังคมเท่าเทียมกัน ภายใต้การสนับสนุนและช่วยเหลือของรัฐบาล เศรษฐกิจชาวเหมาหนานพัฒนาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำการเกษตรมีการพัฒนาวิธีการ และนำเทคโนโลยีความรู้ต่างๆเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงขึ้นเป็นเท่าตัว การเลี้ยงวัวควายของชาวเหมาหนานเปลี่ยนจากเลี้ยงเพื่อช่วยทำการเกษตร เป็นการเลี้ยงเพื่อการค้าและส่งออกขายไปทั่ว จนชุมชนเหมาหนานได้รับการขนานนามว่า “ดินแดนแห่งทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์” เมื่อเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น ประชาชนอยู่ดีมีสุข ประชาชนล้วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถ้วนหน้า


ชาวเหมาหนานมีความขยัน ฉลาดและอดทน แม้ช่วงเวลาที่ตกอยู่ในภาวะลำบาก แต่ก็ยังสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามากมาย ผลงานด้านวรรณกรรม ตำนาน นิทานของชาวเหมาหนานมีอยู่มากมาย ส่วนใหญ่สะท้อนถึงวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน ความเชื่อและคุณธรรมคำสั่งสอนทั่วไป อย่างเช่น เรื่อง 《盘古的传说》Pánɡǔ de chuánshuō “ตำนานเทพเจ้าผานกู่ผู้สร้างโลก” เรื่อง《顶卡花》Dǐnɡkǎ huā “ดอกติงข่า”เรื่อง《七女峰》Qī nǚ fēnɡ “เจ็ดยอดเขาสาวน้อย” เรื่อง《恩爱石》Ēn’ài shí “ศิลาแห่งรัก” เรื่อง《三九的传说》 Sānjiǔ de chuánshuō “ตำนานสามเก้า”[2] เป็นต้น


เพลงกลอนของชาวเหมาหนานก็มีเอกลักษณ์โดดเด่น เนื้อหาหลากหลาย กลอนเหมาหนานแต่ละวรรคมี 7 – 8 คำ มีบังคับสัมผัสคล้องจอง ชายหญิงร้องเพลงต่อกลอนโต้ตอบกัน เรียกว่า “ปี่” (比bǐ มีความหมายว่า เปรียบ ในที่นี้คือ การเปรียบกลอน) เมื่อร้องโต้กันจบทุกๆ 2 วรรค จะร้องคำว่า “หลัว – ห่าย” (罗海luó hǎi) ต่อท้าย คล้ายกับที่ภาษาไทยร้อง “ฮ้า - ไฮ้” จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกการร้องกลอนต่อเพลงของชาวเหมาหนานว่า “เพลงหลัวไฮ” (罗海歌Luó hǎi ɡē) ในงานเทศกาลรื่นเริง หรือการแสดงความยินดีในพิธีมงคลต่างๆ จะร้องเพลงกลอนห้าหรือกลอนแปดโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง เรียกเพลงชนิดนี้ว่า “ฮวน” (欢Huān มีความหมายว่า ยินดี) นอกจากนี้ยังมีเพลงร้องเดี่ยว เนื้อเพลงบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดชนเผ่า ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชนเผ่า กลอนเพลงเป็นแบบกลอนวรรคเจ็ด 4 วรรคเป็น 1 เพลง แต่ละเพลงร้องแบบร้อยเรียงต่อกันเป็นเพลงตับ เรียกเพลงชนิดนี้ว่า “ผายเจี้ยน” (排见 páijiàn) นอกจากนี้ยังมีงิ้วเหมาหนาน ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมมากอีกอย่างหนึ่ง เรื่องราวที่แสดงมักเกี่ยวกับเรื่องราวความทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิต การพลัดพรากของคู่รัก ประวัติศาสตร์ และตำนานพื้นบ้านต่างๆ


หัตถกรรมงานฝีมือที่สำคัญของชาวเหมาหนานมีการแกะสลักและจักสาน สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาวเหมาหนานคือ “งอบไม้ไผ่” ชาวเหมาหนานเรียกว่า “ดอกติ๋งข่า” (顶卡花 Dǐnɡkǎ huā) ลวดลายที่ใช้ไม้ไผ่จักสานเป็นวัสดุเครื่องใช้ต่างๆ มีความชัดเจนและงดงาม งานแกะสลักที่ได้รับความนิยมคือการแกะสลักหน้ากากไม้เลียนแบบอากับกริยาและอารมณ์ของคนได้เหมือนจริง นอกจากงานแกะสลักไม้แล้ว ศิลปะการแกะสลักหินของชาวเหมาหนานก็งดงามดุจภาพเหมือน เช่น ภาพมังกร หงส์ กิเลน ต้นสน และพืชพันธุ์ดอกไม้ งดงามราวกับมีชีวิต เป็นงานที่ได้รับความนิยมชมชอบและกล่าวขวัญไปทั่ว ทั้งชาวเหมาหนานเองและชนเผ่าใกล้เคียง งานฝีมือผลิตเครื่องประดับเงินของชาวเหมาหนานก็มีลวดลายและแบบที่งดงามอ่อนช้อย ได้รับความนิยมไปทั่วทุกชนเผ่าเช่นกัน


ชนชาวเหมาหนานตั้งชุมชนอยู่รวมกันในบริเวณหุบเขา หมู่บ้านเล็กๆ ที่ประกอบด้วย 10 ครัวเรือนขึ้นไปของชาวเหมาหนานประกอบด้วยคนในชนเผ่าเดียวกัน หรือกลุ่มเครือญาติสายตระกูลเดียวกัน หมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีชาวเหมาหนานหลายๆสายตระกูลอยู่รวมกันก็มีจำนวนไม่เกินร้อยหลังคาเรือน ชาวเหมาหนานสร้างบ้านหลังคามุงกระเบื้อง ก่อกำแพงด้วยอิฐและปูน มีสองชั้น ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย มีชายคายื่นออกมาด้านหน้าของบ้าน ชั้นล่างเป็นที่เลี้ยงสัตว์และเก็บของ


การแต่งกายมีความคล้ายคลึงกับชนเผ่าจ้วง (壮族Zhuànɡ Zú) ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน ชายหญิงชาวเหมาหนานสวมเสื้อผ่าอกติดกระดุม นิยมสีขาวและน้ำเงิน เสื้อของผู้หญิงปักลายเฉียงด้านขวา สวมกางเกงหูรูด ขายาว นิยมไว้ผมยาว สวมเครื่องประดับเครื่องเงินต่างๆ เช่น จำพวกกำไล สร้อยคอ เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของชาวเหมาหนาน คือชอบสวมงอบทรงกรวยคว่ำที่สานจากไม้ไผ่
เรื่องอาหารการกิน ชาวเหมาหนานกินข้าวและข้าวโพดเป็นอาหารหลัก รองลงมามีข้าวเกาเหลียง มัน และฟักทอง ชอบกินอาหารเนื้อที่ผ่านการหมักดอง เช่น เนื้อหมัก หอยดอง รวมไปถึงผักดองประเภทต่างๆ ด้วย ชาวเหมาหนานมักใช้อาหารเหล่านี้เป็นอาหารพิเศษสำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน


การแต่งงาน ชาวเหมาหนานยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว ในอดีตการเลือกคู่ครองและการแต่งงานเป็นหน้าที่ของพ่อแม่จัดการให้ ธรรมเนียมการแต่งงาน หลังจากแต่งงานแล้วเจ้าสาวจะไม่ไปอยู่ที่บ้านสามี แม่หม้ายหากจะแต่งงานอีกครั้งมีกฎระเบียบและข้อจำกัดมากมาย แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเข้มงวดมากนัก


พิธีศพทำโดยการฝัง เชิญพระเต๋ามาสวดมนต์ส่งวิญญาณ


เทศกาลสำคัญมี “เทศกาลเฟินหลง” (分龙节Fēnlónɡ jié) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เทศกาลงานวัดเดือนห้า” (五月庙节Wǔyuè miào jié) จัดขึ้นก่อนถึงเดือน “เฟินหลง” สองวันตามปฏิทินสุริยคติ เนื่องจากชาวเหมาหนานเริ่มเพาะปลูกเร็วกว่าปกติ ทำให้ฤดูเก็บเกี่ยวมาถึงเร็วขึ้น พืชพันธุ์ธัญญาหารก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ราบรื่น ชาวเหมาหนานเชื่อว่าช่วงฤดูกาลนี้เป็นช่วงเวลาแรกของฤดูร้อน เป็นช่วงที่มังกรกับน้ำต้องแยกจากกัน คำว่า เฟินหลง(分龙Fēnlónɡ) หมายความว่า “แยกมังกร” จึงเป็นที่มาของชื่อเทศกาลดังกล่าวนี้เอง เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ ผู้คนทั้งหมู่บ้านใกล้ไกล ญาติสนิทมิตรสหายในละแวกเดียวกันล้วนมาร่วมเทศกาลรื่นเริงดังกล่าวด้วยความหน้าชื่นตาบาน


ด้านความเชื่อ ชาวเหมาหนานนับถือศาสนาเต๋า และบูชาเทพเจ้า นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมากมาย เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ วิญญาณ และภูตผีปีศาจ


[1] ชื่อเรียกชนเผ่าเดิมเขียนด้วยตัวอักษรจีนว่า 毛难族Máonán Zú เปลี่ยนมาเป็น 毛南族Máonán Zú ออกเสียงเหมือนกันว่า “เหมาหนาน” โดยเปลี่ยนอักษรที่อยู่ตรงกลางจาก 难nán ซึ่งแปลว่า ความทุกข์ยากลำบาก มาเป็นอักษร 南nán ซึ่งหมายถึง ทิศใต้
[2] คำว่า “三九sānjiǔ” หมายถึง “สาม เก้า” หมายความว่า ช่วงเวลาที่หลังจากฤดูหนาวมาถึงแล้วนับไป 3 ช่วง แต่ละช่วงแบ่งเป็นเก้าวัน ซึ่งก็ประมาณช่วงสัปดาห์ที่สามปลายๆของเดือนที่ฤดูหนาวมาถึงนั่นเอง ชาวจีนถือกันว่าเป็นช่วงที่หนาวที่สุดของฤดูหนาว ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ในช่วงฤดูหนาว เวลากลางวันสั้น กลางคืนยาว จึงเป็นช่วงเวลาที่พื้นดินดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันเมื่อถึงเวลากลางคืน พื้นดินก็จะระบายความร้อนออกมาตามปกติ ซึ่งมากกว่าความร้อนที่ดูดซับเข้าไปในตอนกลางวัน อุณหภูมิในพื้นดินจึงเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่พื้นดินปล่อยความร้อนออกมาสู่พื้นโลกเท่ากับหรือน้อยกว่าความร้อนที่ดูดซับเข้าไป จะทำให้โลกขาดความร้อนทั้งจากดวงอาทิตย์และจากพื้นโลก จึงเป็นช่วงเวลาที่หนาวเย็นมากที่สุด ช่วงเวลาดังกล่าวกินเวลาประมาณ “สามเก้า” จึงเป็นคำเรียกช่วงเวลาที่หนาวเหน็บมากที่สุดในฤดูหนาว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น