วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

33. 蒙古族ชนกลุ่มน้อยเผ่ามองโกล





















คัดลอกภาพจาก http://img.yiyuanyi.org/article_pic/2009-04-08/1239177738.jpg
http://www.hulunbeiertour.com/sszy/UploadFiles_2530/200801/2008118132640336.gif


ภาษาจีนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “เหมิงกู่” แต่ที่รู้จักกันทั่วไปเรียกชื่อว่า “มองโกล” ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกล และกลุ่มปกครองตนเองเผ่ามองโกล ในซินเจียง(新疆Xīnjiānɡ) ชิงห่าย(青海Qīnɡhǎi) กานซู่(甘肃Gānsù) เฮยหลงเจียง(黑龙江Hēilónɡjiānɡ) จี๋หลิน(吉林Jílín) เหลียวหนิง (辽宁Liáonínɡ) และยังมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆของมณฑลยูนนาน เหอเป่ย ซื่อชวน หนิงเซี่ย ปักกิ่ง เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่ามองโกล มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,813,947 คน


ภาษาของชาวมองโกล คือ ภาษามองโกล จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษามองโกล แบ่งออกเป็นสามสำเนียงภาษาคือ มองโกเลียใน, Oirat-Khalkha, Khulkha-Buryat ส่วนภาษาอักษรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นจากภาษาอุยกูร์ในต้นศตวรรษที่ 13 และพัฒนามาเรื่อยๆโดยนักภาษาศาสตร์ชาวมองโกล จนพัฒนาเป็นภาษามองโกลที่สมบูรณ์ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ศตวรรษที่ 17 ดาไลลามะได้ปรับปรุงอักษรมองโกลเพื่อใช้สำหรับภาษามองโกลสำเนียง Khulkha-Buryat อักษรนี้เรียกว่า ทัวเท่อ (托忒Tuōtè) ใช้สำหรับชาวมองโกลที่อาศัย
อยู่ที่มณฑลซินเจียง

บรรพบุรุษของชาวมองโกลมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณลุ่มน้ำวั่งเจี้ยน (望建河Wànɡjiàn hé) ปัจจุบันคือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเอ๋อเอ่อร์กู่น่า (额尔古纳河É’ěrɡǔnà hé) มีชื่อปรากฏครั้งแรกในบันทึกชื่อ จิ้วถังซู《旧唐书》Jiùtánɡshū “บันทึกเก่าสมัยราชวงศ์ถัง”คริสต์ศักราช 840 หลังจากที่ประเทศหุยกู่ฮั่น (回鹘汗国Huíɡǔ hànɡuó) ล่มสลาย กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวนี้อพยพไปอาศัยอยู่ทางทิศตะวันตก อยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่พูดภาษา เทอร์จิคในพื้นที่ราบลุ่มมองโกล ในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลทางภาษาจากชนกลุ่ม เทอร์จิค และพัฒนาอักษรภาษามองโกลขึ้น ด้านเศรษฐกิจและสังคมก็ได้รับอิทธิพลจากชนกลุ่ม เทอร์จิคมาตลอด ชาวมองโกลในยุคนั้นดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้ามองโกลอันกว้างใหญ่


ศตวรรษที่ 12 ชาวมองโกลขยายเผ่าพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวาง กระจายอาณาเขตและตั้งถิ่นฐานแผ่ขยายออกไปทางแถบลุ่มน้ำเค่อหลู่หลุน (克鲁伦河Kèlǔlún hé) ลุ่มน้ำเอ้อเนิ่น (鄂嫩河 È’nèn hé) และลุ่มน้ำถู่ลา(土拉河Tǔlā hé) ไปจนจรดแถบเขาเขิ่นเท่อ (肯特山 Kěntè shān) ก่อตั้งเป็นกลุ่มชุมชนและหมู่บ้านน้อยใหญ่ เช่น ฉี่เหยียน (乞颜Qǐyán) จ๋าต๋า-หลาน (札答兰Zhádálán) ไท่ชื่ออู (泰赤乌Tàichìwū) หงจี๋หลา (弘吉剌Hónɡjílá) อูเหลียงเหอ (兀良合Wūliánɡhé) เป็นต้น กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในทุ่งหญ้ามองโกลมีกลุ่มชนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนกลุ่มทาทาร์ (塔塔儿Tǎtǎ’ér) อาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบเป้ยเจียเอ่อร์ (贝加尔湖Bèijiā’ěr hú) กลุ่มชนเมี่ยร์ฉี (蔑儿乞Miè’érqǐ) อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเป้ยเจียเอ่อร์และที่ราบลุ่มแม่น้ำเซ่อเหลิงเก๋อ (色楞格河Sèlénɡɡé hé) และกลุ่มโวอี้หลา (斡亦剌Wòyìlá) อาศัยอยู่บริเวณทิศตะวันตกของทะเลสาบเป้ยเจียเอ่อร์และบริเวณลุ่มน้ำเย่หนีซาย (叶尼塞河Yènísāi hé,Yenisei) ชนทั้งสามกลุ่มนี้ล้วนพูดภาษามองโกล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนที่ถูกปกครองโดยชาว เทอร์จิค (突厥Tūjué) กลุ่มชนกลุ่มนี้นับถือศาสนาจิ่ง (景教Jǐnɡ jiào) และเริ่มพัฒนาเป็นกลุ่มเดียวกันกับพวกมองโกล ได้แก่ กลุ่มเค่อเลี่ย(克烈部Kèliè bù) ไหน่หมาน(乃蛮部Nǎimán bù) และวังกู่(汪古部Wānɡɡǔ bù)


กลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้ามองโกลดำรงชีพอยู่ด้วยอาชีพสองอย่าง คือการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน และการล่าสัตว์ป่า กลุ่มแรกที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนคือพวกกลุ่ม เทอร์จิคที่อาศัยติดแผ่นดินมาแต่เดิม รวมถึงกลุ่มที่อพยพเข้ามาภายหลังแล้วได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม เทอร์จิค และกลุ่มมองโกล ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าลึก ดำรงชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์ป่า ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้พื้นที่ทำมาหากิน จากอาชีพเลี้ยงสัตว์ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สภาพสังคมของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งมองโกลนี้เกิดมีระบบชนชั้นขึ้น ชนชั้นคนรวยแบ่งแยกตัวออกจากชนส่วนใหญ่เกิดเป็นกลุ่มชนเลี้ยงสัตว์ชั้นสูงเรียกว่า “น่าเหยียน” (那颜Nàyán) ชนกลุ่มนี้มีอำนาจในอาณาเขตเลี้ยงสัตว์และมีสัตว์เลี้ยงในครอบครองจำนวนมาก เมื่อมีอำนาจมากขึ้นก็ได้ก่อตั้งกองกำลังเฉพาะตัวขึ้นเรียกว่า “น่าเข่อร์” (那可儿Nàkě’ér) ส่วนประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ฮาลาชู” (哈剌出Hāláchū) คือกลุ่มชนชั้นธรรมดาที่เดิมมีสิทธิเท่าเทียมกัน กลายมาเป็นชนชั้นต่ำกว่าที่ต้องรับจ้างเป็นทาสและพึ่งพาอาศัยชนชั้นสูง ระบบสังคมในยุคนั้นจึงเป็นไปในลักษณะสังคมศักดินาแบบทาสคนงานเลี้ยงสัตว์ และมีแนวโน้มใกล้เคียงกับระบบทาสแบบสมบูรณ์


ในปี 1206 เตมูจินรวบรวมชนเผ่ามองโกลและก่อตั้งเป็นชาติมองโกลขึ้นในบริเวณฝั่งแม่น้ำโว่หนาน (斡难河Wònán hé) ถือเป็นการก่อตั้งชาติมองโกลครั้งสำคัญ เพราะนับเป็นชนชาติมีความยิ่งใหญ่มั่นคงและมีกำลังเข้มแข็งมากชนชาติหนึ่งในบริเวณภาคเหนือของจีน ทั้งยังขยายอาณาเขตความเจริญรุ่งเรืองออกไปไม่หยุดยั้ง อาณาเขตที่ชนชาติมองโกลปกครอง รวมเรียกว่าอาณาเขตมองโกล และรวมเรียกประชาชนในพื้นที่ปกครองว่าชนชาวมองโกลทั้งหมด


นับตั้งแต่ปี 1219 – 1260 ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน (成吉思汗Chénɡjísīhán) ชนชาติมองโกลทำศึกสงครามขยายอาณาเขตไปทางตะวันตก และก่อตั้งรัฐในปกครองแถบยูเรเซีย ขึ้นถึง 4 รัฐ ได้แก่ รัฐโวคั่วไถ (窝阔台Wōkuòtái) รัฐฉาเหอไถ(察合台Cháhétái) รัฐชินฉา (钦察Qīnchá) รัฐอีร์ (伊儿Yī’ér) ในขณะเดียวกันก็ได้บัญชาการการทำสงครามขยายอาณาเขตลงไปทางใต้ ตลอดระยะเวลาศึกสงคราม 70 กว่าปี ก็ได้ก่อตั้งประเทศจีนที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยการก่อตั้งราชวงศ์หยวนได้เป็นผลสำเร็จ ดินแดนประเทศจีนในสมัยหยวนนี้ทิศเหนือจรดไซบีเรีย (西伯利亚Xībólìyà) ทิศใต้จรดทะเลจีนใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดแม่น้ำอูซูหลี่ (乌苏里江Wūsūlǐ jiānɡ,Ussuri River) ด้านตะวันออกและใต้รวมดินแดนไปถึงหวินหนาน นอกจากนี้ในสมัยหยวนยังขยายอาณาเขตครอบครองไปถึงดินแดนทางทิเบตเป็นครั้งแรก นับเป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินจีนมาจนปัจจุบัน


มูลเหตุของการทำศึกสงครามเพื่อขยายดินแดนประเทศมองโกล ทำให้ชนชาวมองโกล กระจัดกระจายอยู่ไปทั่วดินแดนประเทศจีน จนกระทั่งปี 1368 ราชวงศ์หยวนล่มสลาย กองกำลังมองโกลน้อยใหญ่อพยพหลบหนีกลับไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบมองโกลตามเดิม ในช่วงนี้ดินแดนมองโกลแบ่งออกเป็นส่วนคือภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ชาวมองโกลตะวันออก(东蒙古 Dōnɡ Měnɡɡǔ) คือกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อนอยู่ในบริเวณโม่เป่ย (漠北Mòběi)และโม่หนาน (漠南Mònán) เป็นชนชั้นศักดินาที่สืบเชื้อสายมาแต่ราชสำนักหยวนเดิม อีกกลุ่มหนึ่งคือชาวมองโกลที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อนอยู่ทางโม่ซี (漠西Mòxī) เรียกชื่อว่า มองโกลตะวันตก (西蒙古Xī Měnɡɡǔ) ชาวมองโกลกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับชาวมองโกลตะวันออกแบบญาติแต่งงาน


ต่อมาในศตวรรษที่ 15 มองโกลใต้และเหนือถูกรวมอำนาจเข้าอยู่ในการปกครองของ ต๋าเหยียนข่าน (达延汗Dáyánhàn) และได้จัดการปกครองมองโกลตะวันออกเป็น 6 เขตคือ คาร์คา(喀尔喀Kā’ěrkā) อูเหลียงฮา(兀良哈Wūliánɡhā) เอ๋อเอ่อร์ตุส(鄂尔多斯È’ěrduō sī) ถู่โม่เท่อ (土默特Tǔmòtè) ชาฮาร์ (察哈尔Cháhā’ěr) คาหลาชิ่น (喀剌沁Kāláqìn) จนถึงช่วงปลายราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิง ชนชาติมองโกลตกอยู่ในสภาพบ้านเมืองแตกแยก โดยแต่ละภาคแบ่งตัวกันตามเขตทะเลทรายเป็น 3 ภาคชัดเจน คือ มองโกลเหนือ มองโกลตะวันตก และมองโกลใต้ มองโกลใต้มีความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักหมิง เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการปกครอง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของมองโกล ต่อมาราชสำนักหมิงใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษ และกองกำลังทหารจำนวนมหาศาลรวบรวมชนชาติมองโกลทั้งหมดเข้าอยู่ในการปกครองของประเทศจีนในที่สุด


ด้านวัฒนธรรมประเพณีของชาวมองโกลมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างใกล้ชิด ในยุคอานต๋าข่าน (俺答汗 Āndáhàn ) ศาสนาลามะ (喇嘛教 Lǎmɑ jiào) ลัทธิเก๋อหลู่ (格鲁派 Gélǔ pài) เริ่มเผยแผ่เข้าสู่ดินแดนมองโกล นับแต่นั้นมาศาสนาลามะฝังรากลึกในชีวิตและสังคมของชาวมองโกล ระยะเวลาร้อยกว่าปี ศาสนาลามะมีอิทธิพลต่อการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชาวมองโกลอย่างมาก อานต๋าข่านศรัทธาศาสนาลามะยิ่ง ประชาชนทั่วไปก็นับถือศาสนาลามะถ้วนทั่ว จึงมีการก่อสร้างวัดลามะขึ้นมากมาย ทำให้วัดลามะมีกรรมสิทธิ์เต็มที่ในการครอบครองที่ดิน


ศาสนาลามะ ได้นำเอาวัฒนธรรมทิเบตเข้ามาเผยแพร่และถาโถมเข้าสู่วัฒนธรรมมองโกล อย่างหนัก วัฒนธรรมความคิดความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องบาปบุญคุณโทษ เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธเจ้าสร้างโลก สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในงานวรรณกรรม และบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวมองโกล ที่เด่นชัดสำคัญ ได้แก่ เรื่อง 《大黄金史》Dàhuánɡjīnshǐ “ประวัติศาสตร์ต้าหวงจิน” ของ หลัวปู่จ้างตานจิน (罗卜藏丹津Luóbǔ Zànɡdānjīn) เรื่อง《黄金史纲》Huánɡjīnshǐ ɡānɡ “สังเขปประวัติหวงจิน” ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่วรรณกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมของชาวมองโกลอย่างแท้จริง เป็นจำพวกวรรณกรรมมุขปาฐะที่ถ่ายทอดกันมาแต่สมัยราชวงศ์หยวน มีความชัดเจน ตรงไปตรงมา เรียบง่าย ซื่อตรง ที่สำคัญเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาพชีวิตจิตใจของชาวมองโกลได้อย่างลึกซึ้ง เช่น นิทานเรื่อง《乌巴什洪台吉的故事》Wūbāshí hónɡtáijí de ɡùshi “เรื่องราวของอูปาสือ หงถายจี๋” นิทานเรื่อง《心鉴》Xīn jiàn “ซินเจี้ยน” และยังมีเอกสารประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการตกผลึกของกาลเวลาอีกจำนวนหนึ่ง เช่น เรื่อง《蒙古秘史》Měnɡɡǔ mìshǐ “ประวัติลับมองโกล” นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมภาษาอั่นที่แปลมาจากต้นฉบับภาษามองโกลอีกมาก เช่น เรื่อง《秘史》Mì shǐ “ประวัติลับ” ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปจากวรรณกรรมมุขปาฐะของชาวมองโกลเสียแล้ว ปลายสมัยหมิง ชาฮาร์หลินตานข่าน (察哈尔林丹汗Cháhā’ěr líndānhàn) จัดให้แปลคัมภีร์ชื่อ กานจูเอ๋อร์《甘珠尔经》Gānzhū’ěr jīnɡ ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ฉบับนี้ล้วนเป็นภาษาทิเบต การแปลครั้งนี้นับเป็นการรับคำศัพท์ทิเบตเข้าสู่วงคำศัพท์มองโกลครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง


ด้านเศรษฐกิจวัฒนธรรม ชาวมองโกลในอดีตดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน จนปัจจุบันกิจกรรมที่สืบทอดมาจากการดำรงชีพยังคงปรากฏชัด เห็นได้จากชาวมองโกลเชี่ยวชาญการขี่ม้า และยิงธนู แต่เดิมที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อนพัฒนามาเป็นการเลี้ยงสัตว์ทุ่งหญ้า และตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง แต่ยังคงมีการอพยพย้ายฝูงสัตว์ตามฤดูกาล คือ ฤดูหนาวและฤดูร้อน การดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเลี้ยงสัตว์เพียงแต่เดิม พัฒนามาเป็นการทำการเกษตรควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 17 ตรงกับยุคอาลาถ่านข่าน (阿拉坦汗 Ā lātǎnhàn) ได้เชื่อมสัมพันธ์กับราชสำนักหมิง โดยมีการเปิดพรมแดนการค้าระหว่างกัน ผลจากการเปิดพรมแดนการค้านี้ทำให้กิจการด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ของชาวมองโกลพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มองโกลได้สร้างเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งปัจจุบันคือเมืองฮูเหอเฮ่าเท่อ (呼和浩特Hūhéhàotè)


หลังการปลดปล่อย บริเวณต่างๆ ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มีการพัฒนาด้านการเลี้ยงสัตว์ การเกษตร ป่าไม้ โรงงานอุตสาหกรรม และบุกเบิกพื้นที่ใหม่ขึ้นอย่างรุดหน้าและกว้างขวาง มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์อย่างทันสมัย เช่น การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ การป้องกันและรักษาโรคสัตว์ การสร้างคอกสัตว์ สนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์เป็นหลักแหล่งแน่นอน รวมไปถึงการควบคุมผลผลิตจากสัตว์เช่น การควบคุมคุณภาพการผลิตเนื้อสัตว์ การตัดขนสัตว์ ตลอดจนการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์และการเกษตรอย่างครบวงจร ผลิตผลการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ที่ได้จากชาวมองโกลมีปริมาณมาก สร้างรายได้มหาศาลแก่ชุมชนและประเทศจีนโดยรวม
ผลจากการพัฒนาประเทศ และความร่วมมือของชนชาวมองโกล ปัจจุบันเศรษฐกิจในชุมชนมองโกลพัฒนาไปมาก รัฐบาลสนับสนุนการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากมาย เช่น โรงงานเหมืองแร่ โรงงานโลหะหนัก โรงกำเนิดไฟฟ้า โรงงานเคมีภัณฑ์ โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง โรงงานทอผ้า โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โรงงานน้ำตาล โรงงานยาง โรงงานกระดาษ โรงงานผลิตยา เป็นต้น ส่งผลให้มองโกลเลียในเป็นเมืองอุตสาหกรรมครบวงจรที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด ชุมชนมองโกลในพื้นที่อื่นๆ ก็กำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลสนับสนุนให้มีการสร้างโรงงานผลิตข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนมองโกลเอง และตอบสนองต่อความต้องการของชนในประเทศอีกด้วย


ด้านวิทยาการทางการแพทย์แผนโบราณของชาวมองโกลก็มีความพิเศษและโดดเด่น อันเป็นภูมิปัญญาที่ก่อกำเนิดขึ้นจากการตกผลึกทางความรู้ที่ได้มาจากการต่อสู้กับโรคภัยธรรมชาติ และการซึมซับรับเอาวิทยาการทางการแพทย์จากชาวฮั่นและทิเบตผนวดเข้าด้วยกัน ในอดีตก่อนการก่อตั้งชาติมองโกล ชาวมองโกลก็มีการสืบทอดวิธีการรักษาและตำหรับยาอยู่แล้ว เช่น การดื่มนมม้าเพื่อรักษาโรค การใช้เหล็กเผาไฟรักษาบาดแผล เป็นต้น การแพทย์แผนมองโกลพัฒนาขึ้นเป็นรูปร่างชัดเจน ถึงขั้นมีการก่อตั้งโรงพยาบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการรักษาพยาบาลขึ้นมาตั้งแต่สมัยหยวนแล้ว และพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ในสมัยหมิงและชิง มีการเขียนตำราการแพทย์ และตำรายาตามหลักการแพทย์แผนมองโกลขึ้น เช่น เรื่อง《蒙药正典》 Ménɡ yào zhènɡdiǎn “ตำหรับยามองโกล” เรื่อง《饮膳正要》Yǐnshàn zhènɡyào “อาหารการกิน” เรื่อง《蒙医药选编》Ménɡ yī yào xuǎnbiān “ตำราแพทย์และยามองโกล” การแพทย์แผนมองโกลไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับตำหรับยาและวิธีการรักษา แต่ให้คำนึงถึงอาหาร การบำรุงและการป้องกันโรคด้วย นับเป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่วงการสาธารณสุขของประเทศจีนจวบจนปัจจุบัน


ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองมองโกลได้พัฒนาวิทยาการด้านต่างๆอย่างทันสมัยและรุดหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษา โดยในปัจจุบันมีการก่อตั้งโรงเรียนประถมกว่า 2 หมื่นแห่ง โรงเรียนมัธยม 5 พันกว่าแห่ง วิทยาลัยการอาชีพกว่า 80 แห่ง และมหาวิทยาลัย 15 แห่ง มีการสร้างสถานีวิทยุโทรทัศน์เผยแพร่ข่าวสารความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมองโกล มีการก่อตั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ เพื่อการศึกษาวิจัยด้านภาษามองโกลอันถือเป็นงานหลักที่ชาวมองโกลให้ความสำคัญ ในอันที่จะเป็นรากฐานในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ด้วย
ด้านขนบธรรมเนียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การดำรงชีวิต อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย การแต่งงาน การแต่งกาย พิธีการต่างๆ ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การแต่งกายของชาวมองโกล ชายหญิงสวมชุดคลุมยาว แขนยาวและกว้าง รัดด้วยสายรัดเอว สวมรองเท้าบู้ทที่เย็บจากหนังสัตว์ ชายสวมหมวกสีน้ำเงิน ดำ น้ำตาล หรือโพกศีรษะด้วยผ้าสีแดงหรือเหลือง หญิงสวมหมวกครอบศีรษะ มีพู่ระย้า หมวกที่คลุมเป็นสีแดงและน้ำเงิน ด้านอาหารการกิน ชาวมองโกลที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์บริโภคเนื้อและนมที่ได้จากแกะและวัวเป็นหลัก ส่วนชาวมองโกลที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เกษตรบริโภคเนื้อ นมสัตว์และผักเป็นอาหารหลัก ด้านที่พักอาศัย ชาวมองโกลพักอาศัยอยู่ในกระโจมทรงกลม มีฝาบ้านล้อมรอบซึ่งก่อขึ้นอย่างง่าย ๆ เพื่อสะดวกต่อการอพยพโยกย้าย อันเป็นผลพวงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการดำรงชีวิตเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนมาแต่อดีตนั่นเอง ภายนอกคลุมด้วยผ้าสักหลาด ปัจจุบันชาวมองโกลดำรงชีวิตเป็นหลักแหล่ง สร้างบ้านเรือนด้วยอิฐและไม้ แต่ยังคงรักษารูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ อีกอย่างหนึ่งที่ชาวมองโกลยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้คือ การขี่ม้า ไม่ว่าเดินทางใกล้ไกล ชาวมองโกลจะใช้ม้าเป็นพาหนะคู่กายเสมอ


ครอบครัวชาวมองโกลอาศัยอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกที่ยังไม่แต่งงาน ลูกที่แต่งงานแล้วจะแยกไปตั้งครอบครัวใหม่ของตนเอง พ่อแม่จะสืบทอดมรดกให้กับลูกคนเล็ก ในอดีตการแต่งงานเป็นแบบสามีภรรยาเดียว ไม่แต่งงานกับคนในสายตระกูลเดียวกัน การแต่งงานพ่อแม่เป็นผู้จัดการให้ แต่บางพื้นที่มีการแต่งงานแบบพี่ชายน้องชายมีภรรยาคนเดียวกัน สถานภาพทางสังคมของผู้หญิงถูกกดขี่ ปัจจุบันหนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ครอง และเข้มงวดกับการแต่งงานแบบสามีภรรยาเดียว สถานภาพชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน


พิธีศพของชาวมองโกลมีการฝัง การเผา และการทิ้งไว้บนหุบเขาห่างไกลให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ


นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา ชาวมองโกลดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขด้วยวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ และมีสุขภาพดีด้วยภูมิปัญญาการแพทย์ของตน ผสมผสานกับความเจริญในยุคปัจจุบัน ทำให้ชาวมองโกลมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุข ชาวมองโกลเป็นมิตรต่อแขกผู้มาเยือน จริงใจและซื่อสัตย์ จนได้รับขนานนามว่าเป็นชนเผ่าพี่เผ่าน้อง วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนา ค่อยๆ สูญหายไป และรับเอาวัฒนธรรมอันดีของชุมชนรอบข้างผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนได้อย่างกลมกลืน เช่น พิธีบูชาเทพเจ้าที่จัดขึ้นยิ่งใหญ่ในเดือนกรกฎาคม ปรับเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว มีกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ มากมาย เช่น การแข่งม้า ยิงธนู มวยปล้ำ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น