วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

36. 纳西族ชนกลุ่มน้อยเผ่าน่าซี































ชาวเผ่าน่าซีมีถิ่นที่อยู่ในหมู่บ้านหย่งหนิง (永宁 Yǒnɡnínɡ) เต๋อชิน (德钦 Déqīn) หย่งเซิ่ง (永胜 Yǒnɡshènɡ) เฮ่อชิ่ง (鹤庆 Hèqìnɡ) เจี้ยนชวน (剑川 Jiànchuān) หลานผิง (兰坪 Lánpínɡ) ในอำเภอเหวยซี (维西 Wéixī) จงเตี้ยน(中甸 Zhōnɡdiàn) ซึ่งเป็นอำเภอปกครองตนเองเผ่าน่าซี (纳西族自治县 Nàxī Zú zìzhìxiàn) ในเมืองลี่เจียง ของมณฑลยูนนาน นอกจากนี้ในอำเภอเหยียนหยวน(盐源 Yányuán) เหยียนเปียน(盐边 Yánbiān) มู่หลี่ (木里 Mùlǐ) ของมณฑลเสฉวนและในอำเภอหมางคัง (茫康 Mánɡ kānɡ ) ของทิเบตก็มีชาวเผ่าน่าซีอาศัยอยู่ จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าน่าซี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 308,839 คน

ภาษาของชาวน่าซี คือ ภาษาน่าซี จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ในอดีตชาวน่าซีมีอักษรภาพสื่อความหมายเรียกว่า “อักษรตงปา” (东巴文 Dōnɡbāwén) และมีอักษรแบบแทนเสียงเรียกว่า “เกอปา” (哥巴文 Gēbāwén) แต่ไม่ได้ใช้แพร่หลาย และสูญหายไปในที่สุด ปัจจุบันชาวน่าซีใช้ภาษาเขียนที่ประดิษฐ์ขึ้นจากอักษรลาตินในปี 1957

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของชาวน่าซีมีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์กับชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเรียกในสมัยฮั่นว่า “เหมาหนิวอี๋” (牦牛夷 Máoniúyí) ชื่อในสมัยจิ้นเรียกชื่อว่า “หมัวซาอี๋” (摩沙夷 Móshāyí) ในสมัยถังเรียกว่า“หมัวเซียหมาน” (磨些蛮 Móxiē mán) ชื่อที่แตกต่างกันนี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มชนที่ต่างกัน แต่เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนเดียวกันในยุคสมัยและสถานที่ที่แตกต่างกันเท่านั้น


ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3 หมู่บ้านเยว่หลวี (越膂 Yuèlǚ) ได้รับการยกระดับให้เป็นตำบล ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่เมืองเหยียนหยวน(盐源 Yányuán) ของมณฑลเสฉวน ซึ่งมีหลักฐานว่ามีชาว “หมัวซาอี๋” อาศัยอยู่แล้ว ในช่วงปลายศตวรรษที่ 8 ในบริเวณลุ่มน้ำจินซา (金沙Jīnshā) ของเมืองลี่เจียง(丽江 Lìjiānɡ) และบริเวณลุ่มน้ำหย่าหลง (雅砻 Yǎlónɡ) ของเมืองเยียนหยวน(盐源Yányuán) ก็มีชาว “หมัวเซียหมาน” ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วเช่นเดียวกัน ในระยะหลายร้อยปีนับจากยุคสามก๊กถึงต้นสมัยถัง ชาวน่าซีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำหย่าหลงอพยพไปทางตะวันตกและทางใต้ ส่วนชาวหมัวเซียหมานที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ลุ่มน้ำจินซาเริ่มพัฒนากระจายเผ่าพันธุ์ และตั้งรกรากเป็นหลักแหล่งแน่นอน เหตุจากการขยายเผ่าพันธุ์มากขึ้น พื้นที่ทำมาหากินและอาณาเขตของชนเผ่าก็ต้องการขยายให้กว้างใหญ่ออกไป ในสมัยถังนี้เองมีชาวหมัวเซียบางกลุ่มอพยพข้ามแม่น้ำจินซาลงไปทางตอนใต้ เข้าสู่บริเวณฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเอ๋อร์ห่าย (洱海 Ĕrhǎi) ก่อตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า “เยว่ซี่เจ้า” (越析诏 Yuèxī zhào) หรือเรียกอีกชื่อว่า “หมัวเซียเจ้า” (磨些诏 Móxiē zhào) มีสถานภาพเป็นหนึ่งในหกเมืองของเขตเอ๋อร์ห่าย ต่อมาชนชาติถู่ฟาน (吐蕃 Tǔfān) เรืองอำนาจ ขยายอาณาเขตออกไปทางตะวันออกและใต้ เพื่อป้องกันการรุกรานของถู่ฟาน ราชสำนักถังจึงยกฐานะเมืองเมิงเส่อ (蒙舍Ménɡshě) เป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจปกครองเมืองในเขตเอ๋อร์ห่ายทั้งหก และสถาปนาให้เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ชื่อว่า “อาณาจักรน่านเจ้า” (南诏 Nánzhào) และยิ่งใหญ่พอที่จะต่อต้านอำนาจและกำลังของถู่ฟานได้อย่างเข้มแข็ง บริเวณที่เป็นเมืองลี่เจียงและหย่งหนิงในปัจจุบัน เป็นดินแดนที่อาณาจักรน่านเจ้าและถู่ฟานแย่งชิงกันครอบครอง ซึ่งในอดีตบริเวณแห่งนี้เคยตกอยู่ในการปกครองของทั้งสองอาณาจักรสลับกันไปมา


คริสต์ศักราช 1253 มองโกลแย่งชิงและครอบครองเมืองต้าหลี่ได้สำเร็จ มีอาณาเขตรวมไปถึงเขตตะวันออกของเมืองลี่เจียง แคว้นมองโกลได้ส่งขุนนางชื่อ ม่ายเหลียง(麦良Màiliánɡ) มาปกครองดูแลดินแดนใหม่แห่งนี้ จนกระทั่งปี 1276 มีการสร้างถนนลี่เจียง และก่อตั้งกองกำลังทหารประจำจังหวัดลี่เจียง และสถาปนาลูกหลานของม่ายเหลียงเป็นข้าราชการปกครองดูแล จนถึงต้นราชวงศ์หมิง หัวหน้าเผ่าน่าซี ชื่อ มู่เต๋อ (木得Mùdé) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลเรื่องที่ดินทำกินของราษฎรในบริเวณจังหวัดลี่เจียงและบริเวณใกล้เคียง ในยุคนี้จังหวัดลี่เจียงเริ่มมีอาณาเขตที่แน่นอนและเป็นปึกแผ่น ต่อมาในปี 1723 ตรงกับสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิยงเจิ้งมีนโยบายรวบรวมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ระบบการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในจังหวัดลี่เจียงได้ปฏิรูปเป็นไปตามนโยบายของราชสำนัก


ด้านระบบสังคมและเศรษฐกิจ ในสมัยถัง ชาวน่าซีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองลี่เจียงมีการพัฒนาขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว การปศุสัตว์เป็นอาชีพหลักของชาวน่าซี ต่อมานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 13 ชาวน่าซีทำเริ่มทำการเกษตร ผลิตผลทางการเกษตรมีปริมาณนำหน้าการปศุสัตว์ที่เคยทำมาแต่ก่อนมาก งานด้านหัตถกรรมก็เริ่มมีการพัฒนาขึ้น ในสมัยหยวนยังมีบันทึกถึงบริเวณเมืองลี่เจียงว่า “ชาวนานับหมื่น ที่ดินดาษดื่นอุดม ราษฎรสมบูรณ์พูนสุข” ถึงกลางสมัยหมิง ระบบสังคมของชาวน่าซีเข้าสู่ระบบเจ้าศักดินา ปลายสมัยหมิงสังคมน่าซีได้รับอิทธิพลของระบบสังคมจากชุมชนรอบข้าง เกิดมีการซื้อขายที่ดิน เช่าที่ดินกันขึ้น สังคมชาวน่าซีจึงเปลี่ยนไปสู่ระบบการถือครองผูกขาดในกรรมสิทธิ์ที่ดิน ถึงศตวรรษที่ 20 ระบบเศรษฐกิจในสังคมน่าซีแม้จะเข้าสู่ระบบสังคมศักดินา แต่การพัฒนาของแต่ละท้องที่แตกต่างกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่บริเวณลี่เจียง(丽江 Lìjiānɡ) เมืองเหวยซีตอนใต้(维西 Wéixī) และหย่งเซิ่ง(永胜 Yǒnɡshènɡ) เข้าสู่ระบบเศรษกิจแบบทุนนิยม ส่วนตำบลจงสวิน (中旬 Zhōnɡxún) จินเจียง (金江 Jīn jiānɡ) ซานป้า(三坝 Sānbà) เหวยซีตอนเหนือ ตำบลหนิงล่าง (宁蒗 Nínɡlànɡ) หย่งหนิง (永宁 Yǒnɡnínɡ) เหยียนหยวน (盐源 Yányuán) ยังคงเป็นสังคมแบบเจ้าศักดินาอยู่


การเกษตรเป็นอาชีพหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวน่าซีมาแต่อดีตจนปัจจุบัน พืชหลักที่ชาวน่าซีปลูกได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวโพด มันฝรั่ง ข้าวสาลี สำลี งา ถั่วต่างๆ ส่วนชาวน่าซีในบริเวณลุ่มน้ำจินซามีชื่อเสียงในด้านอาชีพการทำป่าไม้ ชาวน่าซีที่อาศัยอยู่บริเวณหุบเขามังกรหยก (玉龙山Yùlónɡshān ) ปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งพืชปลูกและพืชป่า จนได้รับขนานนามว่า “ดินแดนแห่งคลังพฤกษชาติ” ปริมาณการผลิตสูงเทียบเท่ากับชาวฮั่นและชาวป๋าย (白族Bái Zú) แต่การทำการเกษตรของชาวน่าซีมิใช่ทำในที่ดินของตน เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีเพียง 10 % เท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเช่าที่ดินทำกิน ค่าเช่าสูงลิบลิ่วเกินกว่า 50 – 80 % ของผลิตผลที่ได้ ชาวน่าซีถูกกดขี่จากเจ้าของที่ดินอย่างหนัก บางท้องที่ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเสียก่อนจึงจะได้รับการแบ่งสรรที่ดินทำกินให้เช่า การเช่าที่นาแม้จะเก็บค่าเช่าจากผลผลิตที่ได้ แต่ก่อนที่จะเช่าชาวนาต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่ากินเปล่าจำนวนสูง ชีวิตชาวน่าซีลำบากยากแค้นอย่างหนัก
หลังสงครามญี่ปุ่น ถนนหนทางระหว่างจีนกับพม่าถูกตัดขาด จีนจึงหันไปทำการค้ากับอินเดีย และทิเบต เมืองลี่เจียงจึงกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการค้าระหว่างอินเดีย ทิเบตและจีน เศรษฐกิจในเมืองลี่เจียงเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ มีการลงทุนทำการค้าขนาดใหญ่ในเมืองลี่เจียง ชาวน่าซีเองก็เริ่มหันมาทำการค้าด้วยเช่นกัน สินค้าหัตถกรรม เครื่องเงิน เครื่องโลหะ หนังสัตว์ ผ้าทอ ผ้าปัก กระดาษ ที่เกิดจากฝีมือของชาวน่าซีผลิตออกมารองรับตลาดกระจายออกไปทั้งในและต่างประเทศ


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนเข้าสู่การปกครองแบบสังคมนิยม และสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการปกครองตนเอง ในปี 1961 รัฐบาลได้ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองเผ่าน่าซีขึ้นที่เมืองลี่เจียง (丽江纳西族自治县Lìjiānɡ Nàxī Zú zìzhìxiàn) ระยะเวลากว่า 40 ปี ชาวน่าซีได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางปฏิรูปสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชาวน่าซีมีสิทธิดำรงตำแหน่งสำคัญทางราชการเหมือนอย่างชาวจีนทั่วไป ปัจจุบันข้าราชการในอำเภอปกครองตนเองเผ่าน่าซีที่เมืองลี่เจียงกว่า 80% เป็นชาวน่าซี มีการพัฒนาระบบชลประทาน ส่งน้ำสู่ทุกหย่อมหญ้า ชาวน่าซีเริ่มทำการเกษตรแผนใหม่ ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรมีการพัฒนาและเพิ่มปริมาณสูงขึ้นมาก อุตสาหกรรมป่าไม้ อาชีพเสริมต่างๆ พัฒนาขึ้นตามมาเป็นลำดับ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานเหมืองแร่ถ่านหิน โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปุ๋ยเคมี โรงงานกระดาษ ปูน ทอผ้า เคมีภัณฑ์ การผลิตยาเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเช่น การเย็บรองเท้าหนังสัตว์ เครื่องหนัง เครื่องเงิน เครื่องไม้ การกลั่นเหล้า ก็เป็นงานที่สร้างรายได้อย่างงามให้กับชุมชนชาวน่าซี ในสมัยก่อนการจราจรไม่สะดวก ชาวน่าซีใช้ม้า ลา เป็นพาหนะในการส่งสินค้า แต่ปัจจุบันตำบลและอำเภอใหญ่น้อยในเมืองลี่เจียงกว่า 70% มีทางหลวงสร้างไปถึง ตามหมู่บ้านทุกพื้นที่มีการตัดถนนเส้นใหม่เชื่อมกับทางหลวง นำความเจริญเข้าสู่ชุมชนชาวน่าซีอย่างทั่วถึง การพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องที่ชาวน่าซีให้สำคัญ มีการก่อตั้งโรงเรียนประถม มัธยมขึ้นหลายแห่ง เฉพาะที่เมืองลี่เจียงมีโรงเรียนมัธยมกว่า 40 แห่ง ด้านสุขภาพอนามัยก็มีการสร้างโรงพยาบาล สถานีอนามัยเพื่อดูแลรักษาด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย ในสมัยก่อนชาวน่าซีเสียชีวิตด้วยโรคระบาดเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ปัจจุบันโรคระบาดต่างๆ หมดไป สุขภาพและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวน่าซีอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า


ด้านศิลปะ วัฒนธรรม ชาวน่าซีมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน บรรพบุรุษของชาวน่าซีสั่งสมอารยธรรมหลากหลาย งดงามและมีเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นคืออักษรภาพของชาวน่าซี ซึ่งเป็นอักษรที่เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว ในยุคเริ่มแรก อักษรภาพของชาวน่าซีสร้างขึ้นเพื่อใช้บันทึกคัมภีร์ของศาสนาตงปา (东巴教Dōnɡbājiào) ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวน่าซีนับถือ จึงเรียกอักษรภาพนี้ว่าอักษรตงปา (东巴文Dōnɡbāwén) ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 13 ชาวน่าซีประดิษฐ์อักษรขึ้นใหม่เป็นอักษรแทนเสียงเรียกว่าอักษรเกอปา (哥巴文 Gēbāwén) ดังนั้น คัมภีร์ที่ชื่อ คัมภีร์ตงปา 《东巴经》Dōnɡbājīnɡ จึงถือได้ว่าเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้สืบค้นและศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ของชาวน่าซีได้เป็นอย่างดี


ในสมัยหมิง ขุนนางสกุลมู่ (木氏Mùshì) ซึ่งเป็นชาวน่าซี พยายามศึกษาและเผยแพร่วัฒนธรรมที่ทันสมัยของชาวฮั่นให้กับชาวน่าซี ขุนนางสกุลมู่ได้ประพันธ์กลอนขึ้นมากมาย เช่น กลอนชื่อ《雪山始音》Xuěshān shǐyīn “ปฐมสำเนียงแห่งภูเขาหิมะ” ของมู่กง(木公 Mù Gōnɡ) กลอนชื่อ《玉水清音》Yùshuǐqīnɡyīn “ธารหยกสำเนียงริน” ของมู่ชิง (木青 Mù Qīnɡ) กลอนชื่อ《云过淡墨》Yúnɡuòdànmò “เมฆผ่านหมึกจาง” ของมู่เจิง(木增 Mù Zēnɡ) ได้รับการยอมรับว่าเป็นบทกวีชิ้นเอกในสมัยหมิง ต่อมาในสมัยชิง มีบทกวีที่สำคัญ เช่น บทกวีชื่อ《雪楼诗钞》Xuělóu shīchāo “ใบโคลงในหอหิมะ” ของ หม่าจือหลง ( 马之龙 Mǎ Zhīlónɡ) บทกวีชื่อ《铁砚堂诗集》Tiěyàntánɡ shījí “ชุมนุมกลอนโถงถาดหมึก” ของซางอิ้งโต้ว (桑映斗 Sānɡ Yìnɡdòu) นับเป็นบทกวีที่สะท้อนวัฒนธรรมฮั่นที่แทรกซึมและแพร่กระจายเข้าสู่วัฒนธรรมน่าซีที่เด่นชัด


ตำนานการสร้างโลก ชื่อ《创世纪》Chuànɡ shìjì เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาของชาวน่าซี สะท้อนถึงการเบิกฟ้าฝ่าดิน และชัยชนะของชาวน่าซี ยังสะท้อนถึงความจงรักภักดีของหนุ่มสาวชาวน่าซีที่มีต่อกัน และมีต่อชนเผ่า ชาวน่าซีชำนาญด้านการร้องรำทำเพลง ไม่ว่าจะเป็นในการทำงาน งานเทศกาลรื่นเริง เสียงเพลงไม่เคยขาดหายไปจากชุมชนน่าซีเลย เพลงที่ร้องติดปากและเป็นเอกลักษณ์ของชาวน่าซีได้แก่ เพลง เว่ยม่ายต๋า (喂麦达Wèimàidá) โอ้เร่อเร่อ (哦热热 Ò rèrè) อาลี่ลี่ (阿丽丽 Ā lìlì) เป็นเพลงประจำเผ่าที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ การร้องเพลงจะร้องประกอบเครื่องดนตรี ได้แก่ ขลุ่ย พิณเป่า ขลุ่ยน้ำเต้า ท่วงทำนองเพลงก็แช่มช้อย งดงาม เพลงที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ เพลงชื่อ《白沙细乐》Báishā xìlè “เพลงพรายทรายขาว” และ เพลงชื่อ《丽江古乐》Lìjiānɡ ɡǔyuè “เพลงเก่าลี่เจียง”


สถาปัตยกรรมของชาวน่าซีปรากฏให้เห็นในรูปของสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นคือ วังต้าป่าวจี (大宝积宫Dàbǎo jīɡōnɡ “วังผลึกมณี”) ตำหนักหลิวหลี (琉璃殿Liúlídiàn “ตำหนักกระเบื้อง” ) ตำหนักต้าติ้ง (大定阁Dàdìnɡɡé “ตำหนักมหาพำนัก”) หออู่เฟิ่ง (五凤楼Wǔfènɡlóu “หอเบญจพญาหงส์”) สถาปัตยกรรมล้ำค่าเหล่านี้อยู่ที่เมืองป๋ายซา(白沙Báishā) จังหวัดลี่เจียง นอกจากนี้ยังมีวังต้าเจวี๋ย (大觉宫 Dàjuéɡōnɡ “วังมหาอุรารมณ์”) ที่เมืองซู่เหอ(束河Shùhé) ล้วนเป็นสถาปัตกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยหมิง เป็นสถาปัตยกรรมที่รวมเอกลักษณ์ของสามชนเผ่า คือ ฮั่น ทิเบต และน่าซี เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ภาพวาดฝาผนังศิลปะน่าซีสะท้อนถึงการรับวัฒนธรรมจากชาวฮั่นและทิเบต โดยใช้ภูมิปัญญาอันชาญฉลาดผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างลงตัว


ด้านสังคมชาวน่าซี สามีเป็นหัวหน้าครอบครัว สถานภาพของผู้หญิงในสังคมน่าซีต่ำต้อยจนแทบจะไม่มีสิทธิใดๆในสังคมเลย หน้าที่หลักของชายชาวน่าซีคือ สืบทอดอารยธรรมของชนเผ่า อันได้แก่ ดนตรี หมากรุก วาดภาพ และอักษรเท่านั้น วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวน่าซีนับเพศหญิงเป็นศูนย์กลางของครอบครัว การนับญาติและลำดับญาตินับจากฝ่ายหญิงเป็นหลัก ลูกที่เกิดมาอาศัยอยู่กับแม่ ภาระหน้าที่ทุกอย่างทั้งการหาเลี้ยงครอบครัว การปกครองดูแลคนในครอบครัว การจัดการเรื่องการบ้านการเรือน เป็นภาระของฝ่ายหญิงทั้งหมด หลังแต่งงานฝ่ายหญิงไม่ย้ายเข้าบ้านฝ่ายชาย สามีภรรยาหลังแต่งงานยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อแม่ตามปกติ ตกกลางคืนฝ่ายชายจะไปนอนที่บ้านฝ่ายหญิง พอรุ่งเช้าก็กลับบ้านเดิมของตน เมื่อมีลูกก็ถือว่าเป็นลูกของฝ่ายหญิง ซึ่งฝ่ายหญิงมีภาระที่ต้องเลี้ยงดู ฝ่ายชายไม่มีหน้าที่และไม่จำเป็นต้องเลี้ยงดู อาจถึงขั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆก็ได้ เมื่อลูกโตขึ้นจึงจะตามหาพ่อของตนด้วยตัวเอง ความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาหากไม่พอใจสามารถเลิกรากันไปได้โดยไม่มีภาระผูกพัน แต่หากดำเนินความสัมพันธ์กันจนถึงวัยกลางคน ก็จะถือว่าเป็นสามีภรรยากันอย่างแท้จริงไม่เปลี่ยนแปลง และสามารถออกมาก่อตั้งครอบครัวของตน หรือไม่ฝ่ายชายก็จะย้ายเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง หรือฝ่ายหญิงย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายชาย หากฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายลูกที่เกิดมาจะนับญาติกับสายตระกูลฝ่ายชาย หากฝ่ายชายเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงลูกที่เกิดมาก็จะนับญาติกับสายตระกูลฝ่ายหญิง นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมการแต่งงานแบบพี่สาวน้องสาวมีสามีคนเดียวกัน หรือพี่ชายน้องชายมีภรรยาคนเดียวกัน เมื่อสังคมภายนอกเปลี่ยนไป ความเจริญของวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้าถึง วัฒนธรรมการแต่งงานของชาวน่าซีเปลี่ยนไป รับเอาตามแบบสังคมสมัยใหม่ที่เป็นแบบสามีภรรยาเดียว


พิธีศพของชาวน่าซีสมัยก่อนกระทำโดยการเผา หลังจากสมัยชิงเป็นต้นมาเริ่มทำโดยการฝัง


การแต่งกายของชาวน่าซีโดยรวมแล้วคล้ายคลึงกับชาวฮั่น หญิงชาวน่าซีสวมเสื้อแบบจีน เอวกว้าง แขนใหญ่ และสวมเสื้อกั๊กทับด้านนอก สวมกางเกงขายาวไว้ด้านใน แล้วคลุมทับด้านนอกด้วยกระโปรงจีบรอบ คลุมไหล่ด้วยหนังแกะผืนใหญ่ ปักลายเจ็ดดาว พระอาทิตย์และพระจันทร์ แสดงถึงความมุมานะอดทน


ด้านศาสนาความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ชาวน่าซีนับถือศาสนาตงปามาแต่โบราณ ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้ามากมาย ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติล้วนเป็นเทพที่ชาวน่าซีเคารพนับถือ ไม่ว่าจะเป็น ดิน ฟ้า ลม ฝน เขา น้ำ ไฟ ไม้ เป็นต้น นักบวชที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเรียกว่า “ตงปา” ในทุกๆ กิจกรรมหรือเทศกาลสำคัญ เช่น แต่งงาน งานศพ เทศกาลสำคัญ การรักษาโรค ล้วนต้องเชิญนักบวชตงปามาสวดมนต์ จนถึงสมัยหมิง ศาสนาลามะเผยแผ่เข้าสู่ลี่เจียง ชาวน่าซีบางส่วนหันมานับถือศาสนาลามะ หลังจากนั้นศาสนาเต๋า และศาสนาคริสต์ก็เผยแผ่เข้ามา แต่ชาวน่าซีนับถือไม่มากเท่าใดนัก


เทศกาลสำคัญมี เทศกาลเฉลิมฉลองการเกษตร จัดในเดือนขึ้นปีใหม่ เทศกาลวัดหลงหวาง (龙王庙Lónɡwánɡ miào “วัดพญามังกร”) เป็นเทศกาลการนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน จัดในเดือนสามของทุกปี เทศกาลชุมนุมม้าลา จัดในเดือนเจ็ด และเทศกาลคบเพลิงไฟ นอกจากนี้ยังมีเทศกาลที่รับวัฒนธรรมมาจากชาวฮั่น เช่น เทศกาลตวนอู่ เทศกาลเชงเม้ง เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น