วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

44. 塔塔尔族ชนกลุ่มน้อยเผ่าทาทาร์























คัดลอกภาพจาก http://www.tnngo.com/Pics/clothes/TataerZu3.jpg




ชาวเผ่าทาทาร์ อาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองอุยกูร์ (维吾尔Wéiwú’ěr, Uyghur) ของมณฑลซินเจียง บริเวณที่รวมตัวกันอยู่ค่อนข้างมากคือเมือง อีหนิง (伊宁yīnínɡ) ถ่าเฉิง (塔城Tǎchénɡ) อูรุมชี (乌鲁木齐Wūlǔmùqí) นอกจากนี้ยังมีกระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ ที่เป็นเขตทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของมณฑลซินเจียงเช่น ฉีถาย(奇台Qítái) จีมู่ซาร์(吉木萨尔Jímùsà’ěr) อาเล่อไท่ (阿勒泰Ālètài) คำเรียกชนเผ่านี้เมื่อเขียนเป็นภาษาจีนอาจใช้อักษรพ้องเสียงต่างๆกัน เช่น 塔塔尔(Tǎtǎ’ěr),达怛(Dádá),达旦(Dádàn),达达(Dádá),达靼(Dádá),鞑靼(Dádá) ล้วนหมายถึงชนเผ่านี้ทั้งสิ้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าทาทาร์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,890 คน พูดภาษาทาทาร์ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษา เทอร์กิค(Turkic) แขนงภาษา Hsiung-Nu;Hun ชนเผ่าทาทาร์อาศัยปะปนอยู่กับชาวเผ่า Uyghur และเผ่าคาซัคมาช้านาน มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ชาวทาทาร์จึงสามารถพูดภาษาของทั้งสองชนเผ่าได้ รวมทั้งภาษาเขียนก็ใช้ภาษาของเผ่า Uyghur และเผ่าคาซัค


หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับชนชาวทาทาร์ปรากฏในศิลาจารึกภาษา เทอร์จิคชื่อ Turkic script ภาษาจีนเรียกว่า ศิลาจารึกเอ้อเอ่อร์หุนเย่หนีซาย (鄂尔浑叶尼塞碑文 È’ěrhún yènísāi bēiwén ) วรรณกรรม “ต๋าตั้น” (达旦Dádàn) ในสมัยถังเป็นหลักฐานสำคัญส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลการปกครองชาติ เทอร์จิค(突厥汗国Tūjuéhànɡuó) ต่อมาชาติ เทอร์จิคข่านล่มสลายลง ชนชาติต๋าต๋า (鞑靼Dádá) เริ่มมีกำลังแข็งแกร่งขึ้น แต่หลังจากชาติมองโกลสถาปนาขึ้น ชนชาติต๋าต๋าก็ถูกมองโกลตีแตกพ่าย ในช่วงที่ชนชาติมองโกลขยายอาณาเขตไปทางตะวันตกนั้น ชนทางตะวันตกเคยเรียกชาวมองโกลว่า ต๋าต๋า (鞑靼Dádá) ศตวรรษที่ 13 ชนชาติมองโกลที่อยู่ในดินแดนตะวันตกได้ก่อตั้งประเทศชินฉาข่านขึ้น (钦察汗国Qīncháhànɡuó ชื่อภาษาอังกฤษว่า Golden Horde) ประชาชนในประเทศคือชนกลุ่ม ป่าวเจียเอ่อร์ (保加尔人Bǎojiā’ěr rén) และกลุ่มคนที่พูดภาษา เทอร์จิคที่ชื่อว่าชนเผ่าจีบูชาค (奇卜察克人Qíbǔchákèrén) ซึ่งก็คือชนพื้นเมืองของประเทศชินฉาข่าน คือชาวชินฉาข่านนั่นเอง ต่อมาศตวรรษที่ 15 ประเทศชินฉาข่าน ล่มสลาย ประเทศคาซานข่าน (喀山汗国Kāshānhànɡuó)ได้ก่อตั้งขึ้นบริเวณลุ่มน้ำฟูร์เจีย (伏尔加河Fú’ěrjiāhé)และแม่น้ำ คามา (卡马河Kǎmǎhé) โดยมีชาวปูลีอาร์(不里阿耳人Bùlǐā’ěrrén) เป็นชนกลุ่มหลักประจำชาติ นอกจากนี้ยังมีชนอีกหลายกลุ่มรวมไปถึงชาวมองโกลที่พูดภาษาในกลุ่มภาษา เทอร์จิค ก็เป็นพลเมืองของประเทศคาซานข่านนี้ บรรพบุรุษเริ่มแรกของชาวทาทาร์ก็เริ่มก่อกำเนิดเป็นชุมชนที่ชัดเจนขึ้นในช่วงนี้นี่เอง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนชาวเคอลีมู (克里木Kèlǐmù )และไซบีเรีย(西伯利亚Xībólìyà) ที่พูดภาษา เทอร์จิค ก็นับเป็นบรรพบุรุษในยุคเริ่มแรกชนกลุ่มทาทาร์ด้วยเช่นกัน


ชาวทาทาร์ที่อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียงของจีนปัจจุบัน คือกลุ่มชนที่อพยพมาจากพื้นที่เมืองคาซาน (喀山Kāshān) ซีมิลิชี (斜米列齐Xiémǐlièqí) และจายซาง (斋桑Zhāisānɡ) ในช่วงศตวรรษที่ 19 – 20 เจ้าศักดินาในรัสเซียออกปล้นสะดม ช่วงชิงและยึดที่ดินทำกินจากชาวนา ทำให้ชาวทาทาร์ส่วนใหญ่สูญเสียที่ดินทำกิน จึงอพยพหลบหนีเร่ร่อนไปทั่ว มีบางส่วนอพยพลงไปตามชายฝั่งแม่น้ำฟูร์เจีย (伏尔加河Fú’ěrjiāhé) บางส่วนหลบหนีไปทางไซบีเรียและคาซัคสถาน จนกระทั่งเข้ามาสู่พื้นที่มณฑลซินเจียงของประเทศจีนในปัจจุบัน ชาวทาทาร์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณปูร์จิน (布尔津Bù’ěrjīn) ฮาปาเหอ (哈巴河Hābā hé) ในปัจจุบันล้วนสืบเชื้อสายมาจากชนกลุ่มดังกล่าว ปลายศตวรรษที่ 19ถึงต้นศตวรรษที่ 20 รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ (沙皇Shā huánɡ) ดำเนินสนธิสัญญาเปิดประตูการค้าสู่มณฑลซินเจียงประเทศจีน ยุคนี้พ่อค้าชาวทาทาร์ที่สืบเชื้อสายมาจากชนกลุ่มคาซานเดิม ซึ่งอาศัยอยู่ในแม็คซิโกของรัสเซียและในมณฑลซินเจียงของจีนก็มีชีวิตชีวาขึ้นอย่างมาก มีพ่อค้าชาวทาทาร์จากรัสเซียบางส่วนที่มาทำการค้าที่ซินเจียงได้ตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ที่เขตมณฑลซินเจียงของจีน นอกจากพ่อค้าแล้วยังมีผู้คนที่ประกอบอาชีพต่างๆเช่น ครู หมอศาสนาก็อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ด้วยเช่นกัน ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็มีชาวทาทาร์อีกระลอกอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ซินเจียงอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย หัตถกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป


ด้านเศรษฐกิจสังคม ก่อนยุคปลดปล่อยชาวทาทาร์มีอาชีพหลักคือการค้าขาย ส่วนใหญ่เดินทางค้าขายไปมาระหว่างรัสเซียกับจีน บ้างทำการค้าแบบเร่ร่อน บ้างเปิดร้านเป็นหลักแหล่ง บ้างนำสินค้าจากในเมืองเข้าไปเร่ขายตามชนบท บ้างก่อตั้งธุรกิจน้อยใหญ่ตามเมืองต่างๆของทั้งจีนและรัสเซีย บ้างรับจ้างอยู่ในร้านค้า ธุรกิจค้าขาย และก็มีบางส่วนรับจ้างเป็นคนงานในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ด้วยเหตุเพราะชาวทาทาร์ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และไม่มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จึงมีฐานะยากจนความเป็นอยู่ลำบากยากแค้น มีชาวทาทาร์ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีทุ่งหญ้าสัตว์เลี้ยงและประกอบอาชีพปศุสัตว์เป็นของตนเอง ทำให้ชาวทาทาร์ส่วนใหญ่หันมายึดอาชีพค้าขายเป็นหลัก ดังจะเห็นว่าตามเมืองต่างๆแถบซินเจียงมีร้านค้าของชาวทาทาร์ให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น ปูร์จิน (布尔津Bù’ěrjīn) ฉีไถ (奇台Qítái) จี๋มู่ซาร์ (吉木萨尔Jímùsà’ěr) ชิงเหอ (青河Qīnɡhé) เหอปูคซายร์ (和布克赛尔Hébùkèsài’ěr) ฮาปาเหอ (哈巴河Hābāhé) อูรุมชี (乌鲁木齐Wūlǔmùqí) เป็นต้น


เจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยส่วนมากอาศัยอยู่แถบเมืองอีหนิง (伊宁Yīnínɡ) ถ่าเฉิง (塔城Tǎchénɡ) ชาวทาทาร์ที่เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปศุสัตว์มากกว่าทำหารเกษตร หากทำการเกษตรจะไม่ทำด้วยตนเอง แต่จะให้เช่าหรือจ้างแรงงานมาทำ นอกจากนี้มีชาวทาทาร์ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานหัตถกรรม ที่สำคัญได้แก่ การทำหนัง ปั่นด้าย ทอผ้า ปักผ้า ทำโม่ เทียนไข สบู่ และการปะชุนตัดเย็บเสื้อผ้า ตลอดจนการซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ


ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยภาวะบีบคั้นของประเทศจักรวรรดินิยม และระบบสังคมแบบศักดินา ชาวทาทาร์ถูกชนชั้นเจ้าขุนมูลนายกดขี่รังแกและเอารัดเอาเปรียบอย่างหนัก ไม่มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองแต่อย่างใด ระบบเศรษฐกิจตกต่ำ สภาพชีวิตยากลำบาก เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าว ชาวทาทาร์ร่วมมือกับชนกลุ่มอื่นๆในแถบซินเจียงต่อต้านการปกครองของรัฐมาตลอด จนกระทั่งปี 1917 คณะปฏิวัติวัฒนธรรมได้รับชัยชนะ ชนชั้นกรรมมาชีพชาวทาทาร์ที่เมืองอีหนิงและถ่าเฉิงร่วมมือกันกับชนเผ่าอื่น ๆ ก่อตั้งสมาคมกรรมมาชีพขึ้น เพื่อทานอำนาจการกดขี่ของนายทุน จากการประท้วงของชนชั้นกรรมาชนดังกล่าว ชาวทาทาร์และชนชั้นกรรมชนได้รับการผ่อนปรนให้มีวันหยุดได้ แต่สมาคมนี้กลับอยู่ได้ไม่นานก็ถูกทางการยกเลิกไปเพราะเห็นว่าจะเป็นการก่อตัวขึ้นของกลุ่มชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล แต่การกระทำของรัฐบาลครั้งนี้กลับทำให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกโหมขึ้นต่อต้านอย่างหนัก ซึ่งการรวมตัวกันของชาวทาทาร์ตั้งแต่ปี 1944 ถึง 1949 สร้างคุณประโยชน์ให้กับพื้นที่เมืองถ่าเฉิง อีหนิงและอาเล่อไท่อย่างมากมาย


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลจากการปฏิวัติประชาชน การปฏิวัติวัฒนธรรม และการปฏิวัติสังคม ทำให้ระบบการปกครอง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาวทาทาร์เปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุที่มีจำนวนประชากรไม่มากนัก และตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจาย ชาวทาทาร์จึงไม่ได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองขึ้น แต่ก็ได้รับสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายของรัฐบาลจีนทุกประการ ชาวทาทาร์จำนวนไม่น้อยได้รับตำแหน่งทางราชการ และสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมาย


ชาวทาทาร์มีพัฒนาการด้านศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษาและการอาชีพมานานแล้ว มีปราชญ์ บัณฑิตและผู้ทรงความรู้มากมาย ในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ผู้นำทางศาสนาของชาวทาทาร์มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอีหนิงและถ่าเฉิง ทำหน้าที่เป็นผู้สอนและสืบทอดศาสนา ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนคุณธรรมความรู้ด้านต่างๆให้กับชนชาวทาทาร์ด้วย ในปี 1941 รัฐบาลได้ก่อตั้งโรงเรียนประถมขึ้นในชุมชนชาวทาทาร์ นับเป็นโรงเรียนประถมโรงแรกๆ ในหมู่ชนกลุ่มน้อย มีชาวทาทาร์บางส่วนที่เดินทางเข้าไปตามชนบทเพื่อทำการค้าขาย ทำการปศุสัตว์ รวมตัวกันก่อตั้งและพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษาให้กับชุมชนนั้นๆ นับเป็นคุณูประการต่อการสร้างพื้นฐานการศึกษาของมณฑลซินเจียงอย่างใหญ่หลวง


นับจากศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ชาวทาทาร์ก่อตั้งคณะศิลปะละครของตนเองขึ้น ศิลปะการแสดงของชาวทาทาร์ได้รับความนิยมชมชอบจากชนเผ่าตนเองและเผ่าอื่นๆ อย่างมาก การดนตรีของชาวทาทาร์มีรูปแบบหลากหลาย ทั้งด้านการบรรเลงและเครื่องดนตรี ที่สำคัญได้แก่ “คู่เนี่ย” (库涅Kùniè คือเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเหมือนขลุ่ย มีรูเพียงสองรู ) “เคอปิซ” (科比斯Kēbǐsī คือหีบเพลงเป่า) นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีคล้ายไวโอลินแต่มีสองสาย ในการเต้นรำ ร้องเพลงก็ “ม่านถัวหลิน” (曼佗林Màntuólín หีบเพลงชัก) เป็นเครื่องดนตรีประกอบที่สำคัญ การเต้นรำของชาวทาทาร์สนุกสนานเร่าร้อน ดึงจุดเด่นของการเต้นรำของชนเผ่าอุยกูร์ รัสเซีย อุสเบค มาผสมผสานเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ในการเต้นรำ ฝ่ายชายเต้นในท่านั่งยองๆ เคลื่อนไหวไปมา ฝ่ายหญิงจะเต้นรำโดยโยกย้ายมือและเอวเป็นหลัก ในเทศกาลสำคัญของชนเผ่า ชาวทาทาร์จะเลือกบริเวณที่มีวิวทิวทัศน์งดงามจัดงานรื่นเริงขึ้น ในงานมีการร้องรำทำเพลง การเล่นกีฬาชักคะเย่อ การแข่งม้า มวยปล้ำ เป็นต้น


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ครอบครัวของชาวทาทาร์เป็นครอบครัวเล็กพ่อแม่ลูก การแต่งงานยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว โดยจะแต่งงานกับชนที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกันเท่านั้น พิธีแต่งงานจัดขึ้นที่บ้านฝ่ายหญิง และปฏิบัติตามพิธีของศาสนาอิสลาม หลังแต่งงานฝ่ายชายอยู่บ้านฝ่ายหญิงช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจจะอยู่จนมีลูกคนที่หนึ่งจึงจะย้ายกลับบ้านของตนได้ หลังจากเด็กเกิดแล้ว จะมีพิธีรับขวัญหลายๆรูปแบบตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม


เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะต้องอาบน้ำชำระร่ายกายศพให้สะอาด พันรอบกายด้วยผ้าขาว แล้วจึงประกอบพิธีฝัง


ด้านที่อยู่อาศัย ชาวทาทาร์ที่อาศัยอยู่ในเมืองสร้างบ้านชั้นเดียว หลังคาเรียบขนานพื้น สร้างด้วยปูน ผนังก่อด้วยอิฐและปูนหนา ภายในฉาบและทาสีเทา แขวนผ้าสักหลาดหรือพรมทอลวดลายสวยงาม ภายในบริเวณบ้านปลูกดอกไม้ต้นไม้ประดับรอบบ้าน ส่วนชาวทาทาร์ที่อาศัยอยู่นอกเมือง ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ หรือเป็นกรรมกรรับจ้างตามทุ่งหญ้าปศุสัตว์สร้างบ้านด้วยไม้มุงหลังคาด้วยหญ้าสานเป็นตับ สร้างเป็นลักษณะกระโจม


การแต่งกาย ชายนิยมสวมเสื้อผ้าปักลวดลายดอกไม้ แล้วสวมทับด้วยเสื้อกั๊กสีดำ หรือเสื้อคลุมยาวผ่าอกสีดำ สวมกางเกงสีดำ สวมหมวกทรงกลมใบเล็กสีดำ หรือสีขาวปักลวดลายงดงาม ส่วนฝ่ายหญิงสวมหมวกปักลวดลายดอกไม้ ทิ้งชายไปด้านหลัง สวมเสื้อผ่าอกติดกระดุม ลำตัวยาวสีเหลือง ม่วง แดง สวมกระโปรงยาว สวมเครื่องประดับจำพวกกำไล ตุ้มหู สร้อยไข่มุกและลูกปัดสีแดง


ด้านอาหารการกิน หญิงชาวทาทาร์เก่งในด้านการทำอาหารประเภทแป้งนึ่ง อาหารที่นิยมได้แก่ อาหารที่ทำจากแป้งคลุกกับไข่ไก่แล้วนึ่งสุก นอกจากนี้ในเทศกาลสำคัญก็จะทำอาหารหลายอย่าง เช่น เค้กที่ทำจากเนย ถั่ว ข้าว ฟักทอง เนื้อ คลุกให้เข้ากันแล้วนำไปย่างหรืออบ เครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวทาทาร์คือเหล้าที่ทำมาจากน้ำผึ้ง และยังมีเหล้าองุ่นป่าเรียกชื่อว่า “เค่อซ่ายเล่อ” (克塞了Kèsāile) เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ชาวทาทาร์


ชาวทาทาร์พิถีพิถันและมีพิธีรีตองในเรื่องการคบหาสมาคมมาก เมื่อพบกันจะต้องจับมือกันถามไถ่ทุกข์สุข ผู้หญิงเจอกันจะจับมือกันทั้งสองข้าง ให้ความเคารพกับผู้ใหญ่และผู้อาวุโสกว่า และต้อนรับแขกด้วยความยินดียิ่ง ชอบช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น มีข้อห้ามอาบน้ำและซักผ้าในหรือบริเวณใกล้แม่น้ำ หรือแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ห้ามถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ห้ามเทน้ำสกปรก ห้ามถ่มเสมหะภายในบ้าน ตลอดจนบริเวณใกล้กับวัด ใกล้แหล่งน้ำและใกล้บ้านเรือน ห้ามพูดจาหยอกล้อกับเพศหญิง


ความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ชาวทาทาร์นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นด้านการดำเนินชีวิตและขนบธรรมเนียมต่างๆ ล้วนเป็นไปตามข้อปฏิบัติของศาสนาอิสลาม อิสลามิกชนต้องปฏิบัติศาสนกิจตามข้อกำหนดของศาสนาอย่างเคร่งครัด ทุกวันต้องทำละหมาดห้าครั้ง ทุกวันศุกร์ต้องไปสวดมนต์ที่สุเหร่า ในยุคสังคมศักดินา ศาสนามีอิทธิพลต่อประชาชนที่มากกว่าการทำหน้าที่สอนศาสนามากมาย เช่น ใช้เป็นศาลตัดสินคดีความ เก็บภาษี การใช้แรงงาน


หลังยุคปลดปล่อย ประชาชนมีสิทธิโดยอิสระในการนับถือศาสนา เทศกาลที่สำคัญได้แก่ เทศกาลศีลอด เทศกาลกุรปัง เทศกาลซาปัง โดยเฉพาะเทศกาลซาปังจัดยิ่งใหญ่มาก จัดในทุกวันที่ 20ของเดือนมิถุนายน จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยว งานนี้จัดขึ้นในชนบทตามท้องทุ่งกว้างใหญ่ ในวันงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น การเต้นระบำรื่นเริง การแข่งกีฬาเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลอย่างสนุกสนานครื้นเครง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น