วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

53. 裕固族ชนกลุ่มน้อยเผ่ายวี่กูร์


















คัดลอกภาพจาก




ชาวยวี่กูร์กว่า 90% รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เขตปกครองตนเองเผ่ายวี่กูร์ เมืองซู่หนาน (肃南Sùnán)มณฑลกานซู่ อำเภอที่มีชาวยวี่กูร์อาศัยอยู่มากคือ คังเล่อ(康乐Kānɡlè) ต้าเหอ(大河Dàhé) หมิงฮวา(明花Mínɡhuā) หวงเฉิง(皇城Huánɡchénɡ) หม่าถี(马蹄Mǎtí) นอกจากนี้ยังมีส่วนน้อยอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านชาวยวี่กูร์ บ้านหวงหนีป่าว (黄泥堡Huánɡníbǎo) เมืองจิ่วเฉวียน(酒泉Jiǔquán) ชาวยวี่กูร์เรียกตัวเองว่า “เหยาฮูร์”( 尧呼尔Yáohū’ěr) สมัยราชวงศ์หยวนและหมิงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ซาหลี่เว่ยอู” (撒里畏兀Sālǐwèiwū) หรือ “เช่อหลี่เว่ยอูเอ๋อร์” (撤里畏兀儿Chèlǐwèiwū’ér) ปัจจุบันยังมีชื่อเรียกของชนกลุ่มนี้แตกต่างออกไปอีก เช่น ซีลาเวยกูเอ๋อร์ (锡喇伟古尔Xīlāwěiɡǔ’ěr) ซีลากู่เอ๋อร์หวงฟาน (西喇古儿黄番 Xīlā ɡǔ’ér huánɡfān) ในช่วงต้นของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนเรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า “ซาหลี่เวยอูเอ๋อร์”( 撒里维吾尔Sālǐ Wéiwú’ěr) ในปี 1953 รัฐบาลและตัวแทนชนเผ่าหารือเพื่อตกลงชื่อที่ถูกต้อง และตกลงเรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า“เหยาฮูเอ๋อร์”( 尧呼尔Yáohū’ěr) ใช้อักษรจีนแทนเสียงคือ ยวี่กู้ (裕固yùɡù) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่ายวี่กูร์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 13,719 คน


ชาวยวี่กูร์ไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่ใช้อักษรภาษาจีน แต่มีภาษาพูดแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย 3 ภาษาได้แก่
1. ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณทิศตะวันตกของเขตปกครองตนเองเผ่ายวี่กูร์ เมืองซู่หนาน
มณฑลกานซู่ พูดภาษายวี่กูร์ตะวันตก จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขา เทอร์จิค
2. ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณตะวันออกเขตปกครองตนเองเผ่ายวี่กูร์เมืองซู่หนาน พูดภาษายวี่กูร์
ตะวันออก จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขามองโกล
3. กลุ่มที่นอกเหนือจากสองกลุ่มข้างต้น ใช้ภาษาจีน


บรรพบุรุษของชาวยวี่กูร์สามารถสืบสาวขึ้นไปถึงราว 3 – 4 ร้อยปีก่อนคริสตกาล ในยุคนั้นคือกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนติงหลิง (丁零Dīnɡlínɡ) เถี่ยเล่อ (铁勒Tiělè) และบริเวณลุ่มน้ำเส้อหลัวเก๋อ (色椤格河Sèluóɡéhé) และลุ่มแม่น้ำเอ้อร์ฮุน (鄂尔浑河 È ’ěr hún hé) ชนกลุ่มนี้มีชื่อว่าหุยเหอ (回纥Huíhé) นับเป็นหนึ่งในหกของกลุ่มชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ต่อมาชุมชนทางตะวันออกได้แก่ เถี่ยเล่อ (铁勒Tiělè) เริ่มตั้งตนต่อต้านการปกครองของกลุ่มประเทศเทอร์จิคข่าน โดยได้ก่อตั้งเป็นชุมชนหลักเรียกชื่อว่า “ชาวเถี่ยเล่อเก้าแซ่” หรือเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า “เก้าแซ่” ช่วงกลางศตวรรษที่ 8 ชนกลุ่มหุยเหอพ่ายสงครามและตกอยู่ในอาณัติของประเทศเทอร์จิคข่าน ต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นประเทศข่าน(汗国Hànɡuó) ถึงกลางศตวรรษที่ 9 ประเทศหุยเหอข่าน (回纥汗国Huíhé hànɡuó) ถูกประเทศเคอร์กิส (黠戛斯Xiájiásī, Kiryiz) รุกราน ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นอพยพกระจัดกระจายออกไปรอบทิศทาง ในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งอพยพไปทางตะวันตกตลอดริมแนวแม่น้ำเหอซี อาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวหุยเหอที่อพยพมาก่อนหน้านั้น และได้ก่อร่างสร้างเมืองขยายเผ่าพันธุ์เป็นบรรพบุรุษของชาวยวี่กูร์ในปัจจุบัน


ด้านเศรษฐกิจและสังคม ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนชาวยวี่กูร์ที่ซู่หนานดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน มีฝูงสัตว์เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ส่วนชาวยวี่กูร์ที่ด่านหวงหนี (黄泥Huánɡní) ดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบพึ่งตนเอง งานหัตถกรรมผลิตเพื่อใช้สำหรับตนเองภายในครอบครัวเท่านั้น แม้ว่าคาราวานสินค้าของกลุ่มชนชาวหุยเหอจะเริ่มเข้ามาทำการค้าขายในชุมชนชาวยวี่กูร์ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง และเหลียวแล้วก็ตาม แต่นับถึงยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบบเศรษฐกิจของชาวยวี่กูร์ยังคงเป็นไปอย่างล้าหลัง การแลกเปลี่ยนสินค้ากันยังน้อยมาก ผู้ครอบครองที่ดินและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ยังคงมีจำนวนไม่มาก หัวหน้าชุมชนถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนประชาชนทั่วไปรับจ้างทำงานให้เจ้าของฝูงสัตว์และเจ้าของที่ดิน หรือไม่ก็เช่าที่ดินทำกิน ชนชั้นคนรวยเก็บค่าเช่าและดอกเบี้ยในอัตราสูงมาก ประชาชนทั่วไปถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนัก ซ้ำร้ายพรรคกว๋อหมินตั่งก็เก็บภาษีและใช้แรงงานประชาชนอย่างหนักด้วยเช่นกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ ระบบสังคมของชาวยวี่กูร์ที่ซู่หนานเป็นแบบสังคมศักดินา หัวหน้าชุมชนมีอำนาจสูงสุดในการปกครองดูแลชุมชน ส่วนชาวยวี่กูร์ที่ด่านหวงหนีถูกปกครองโดยพรรคกว๋อหมินตั่งโดยตรง


หลังยุคปลดปล่อย สาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น ชาวยวี่กูร์ได้รับสิทธิในการปกครองดูแลตนเอง ปี 1954 ได้ก่อตั้งชุมชนปกครองตนเองชาวยวี่กูร์ขึ้นที่อำเภอซู่หนานและด่านหวงหนี ตั้งแต่ปี 1956 ถึง 1958 ก็เข้าสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเต็มตัว ตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือของรัฐบาล ทำให้ชุมชนและคุณภาพชีวิตประชาชนชาวยวี่กูร์พัฒนาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นับแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ชาวยวี่กูร์เริ่มหันมาทำการปศุสัตว์และการเกษตรตามแบบวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้ผลผลิตจากการปศุสัตว์และการเกษตรมีปริมาณสูงขึ้นมากกว่า 60 ล้านหยวนต่อปี นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมน้อยใหญ่เกิดขึ้นหลายๆด้าน การศึกษา สาธารณสุขก็ได้รับการพัฒนาขึ้น นำความอยู่ดีมีสุขมาสู่ชุมชนชาวยวี่กูร์ถ้วนหน้า


ด้านศิลปวัฒนธรรม บรรพบุรุษของชาวยวี่กูร์เคยมีอักษรเป็นของตนเอง แต่ขาดการสืบทอดและเลิกใช้ไปในที่สุด แต่ชาวยวี่กูร์ยังคงสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่งดงามและทรงคุณค่ามาอย่างไม่ขาดสาย วรรณกรรมพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ เช่น ตำนาน สุภาษิต คำพังเพย เพลงพื้นเมือง นิทานกลอน เป็นต้น บทเพลงของชาวยวี่กูร์มีเอกลักษณ์โดดเด่น เนื้อหาหลากหลายทั้งเรื่องกิจการงาน การดำรงชีวิต ความรัก ความคิดจินตนาการ กล่าวได้ว่าชาวยวี่กูร์ทุกคนมีพรสวรรค์ในเรื่องการร้องเพลงมาก นับแต่ครั้งอดีตจนปัจจุบัน ในจำนวนนักร้องจีนที่มีชื่อเสียงเลื่องลือก็มีนักร้องชาวยวี่กูร์จำนวนไม่น้อย เพลงเอกภาษายวี่กูร์ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ เพลงชื่อ หวงไต้เฉิง《黄黛成》Huánɡdàichénɡ และเพลงชื่อ ซ่าน่าหมาเข่อ《萨娜玛可》Sànàmǎkě ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยบทเพลงและการร้องเพลงของชาวยวี่กูร์อย่างกว้างขวาง และพบว่าเพลงพื้นเมืองของชาวยวี่กูร์มีอายุกว่าสองพันปี บทเพลงเหล่านี้เดิมทีเป็นของกลุ่มชนซยงหนู (匈奴人Xiōnɡnúrén) ถ่ายทอดสู่ชนกลุ่มหุยเหอ จากนั้นชาวหุยเหอสืบทอดต่อให้ชาวยวี่กูร์และได้ร้องต่อกันมาจนปัจจุบัน ด้านงานฝีมือ ชาวยวี่กูร์เป็นนักออกแบบที่เก่งและมีจินตนาการสูงส่ง งานเย็บปักถักร้อยมีลวดลายวิจิตรงดงามไม่แพ้ใคร


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวยวี่กูร์สร้างที่อยู่อาศัยเป็นกระโจมทรงสี่เหลี่ยม ใช้เสาไม้ค้ำ 6 ถึง 9 ต้น คลุมด้วยผ้าสักหลาดรอบด้าน การแต่งกาย ชายสวมเสื้อกี่เพ้ายาวผ่าอกคอตั้ง คาดเอวด้วยผ้าสีแดงหรือน้ำเงินไว้คล้องมีด กระเป๋าเล็กๆและกล่องยานัตถุ์ สวมหมวกสักหลาดทรงกระบอกเตี้ย สวมรองเท้าบู้ทหนัง สวมตุ้มหูด้านซ้าย หญิงสวมชุดกี่เพ้าคอตั้ง ลำตัวยาว สวมเสื้อกั๊กทับด้านนอก คาดเอวด้วยผ้าสีแดง ม่วงหรือเขียว สวมหมวกรูปแตรคว่ำ บนหมวกพันสร้อยลูกปัดรอบหมวก สวมรองเท้าบู้ท หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานถักเปีย 5 – 7 เส้นเป็นสัญลักษณ์ ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้ว บนแผ่นอกของเสื้อคลุมจะใช้ลูกปัดหลากสีปักเป็นรูปหน้าคนเป็นสัญลักษณ์
ด้านอาหารการกินของชาวยวี่กูร์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอาชีพปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยปกติแล้วชาวยวี่กูร์จะดื่มชานม 3 มื้อ และกินข้าว 1 มื้อ อาหารหลักคือข้าว บะหมี่ และอาหารจำพวกผัก ไม่กินเนื้อสัตว์จำพวกนก ปลา และไม่กินเนื้อสัตว์ที่ปากทรงแหลม กีบเท้ากลม เช่น ม้า ลา ล่อ สุนัขและไก่ เป็นต้น


การแต่งงานของชาวยวี่กูร์ยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว ไม่แต่งงานกับคนนามสกุลเดียวกัน และสายตระกูลเดียวกัน ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงยึดถือธรรมเนียมการแต่งงานแบบคลุมถุงชนอยู่ หลังจากนั้นเริ่มมีอิสระในการเลือกคู่ครอง
ชาวยวี่กูร์มีประเพณีการประกอบพิธีศพ 3 อย่าง คือ การฝัง การเผา และการทิ้งไว้บนเขาสูงให้นกเหยี่ยวกิน


เดิมทีชาวยวี่กูร์นับถือศาสนาลามะนิกายเก๋อหลู่ (喇嘛教格鲁派Lǎmɑjiào Gélǔpài) หรือเรียกว่า ศาสนาเหลือง (黄教huánɡjiāo) นอกจากนี้ชาวยวี่กูร์ในชุมชนหลายๆแห่งยังนับถือและบูชาเทพต่างๆตามธรรมชาติ เกรงกลัวฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เชื่อว่าเป็นลางร้าย เชื่อในเวทมนตร์ของพ่อมดหมอผีว่าสามารถเรียกลมเรียกฝนได้ แต่เมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่เข้ามา ชาวยวี่กูร์ก็เริ่มหันมานับถือศาสนาพุทธกันเป็นส่วนใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น