วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

54. 藏族ชนกลุ่มน้อยเผ่าทิเบต







































คัดลอกภาพจาก







ชนกลุ่มน้อยเผ่าทิเบตนี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ชื่อ ที่ราบสูงชิงจั้ง (青藏高原Qīnɡ Zànɡ ɡāoyuán, Qinghai-Tibet Plateau) มีถิ่นที่อยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบต และในเขตปกครองตนเองทิเบตมองโกล มณฑลชิงห่ายหลายเมืองเช่น หายเป่ย(海北Hǎiběi) หวงหนาน(黄南Huánɡnán) ห่ายหนาน(海南Hǎinán) กว่อลั่ว(果洛Guǒluò) ยวี่ซู่(玉树Yùshù) มณฑลกานซู่มีอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตเมืองกานหนาน(甘南Gānnán) และเขตปกครองตนเองทิเบตเมืองเทียนจู้(天祝Tiānzhù) ในมณฑลเสฉวนมีอยู่ที่เขตปกครองตนเองทิเบตเมืองอาป้า (阿坝Ābà) เขตปกครองตนเองทิเบตเมืองกานจือ(甘孜Gānzī) เขตปกครองตนเองทิเบตอำเภอมู่หลี่ (木里Mùlǐ) ในมณฑลยูนนานที่เขตปกครองตนเองทิเบตเมืองตี๋ชิ่ง จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าทิเบต มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,416,021 คน


ชาวทิเบตมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองคือภาษาทิเบต จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาทิเบต มี 3 สำเนียงภาษาคือ สำเนียงเว่ยจั้ง (卫藏 Wèizànɡ) สำเนียงคัง(康Kānɡ) และสำเนียงอานตัว(安多Ānduō) อักษรทิเบตประดิษฐ์ขึ้นโดยดูแบบอย่างจากภาษาสันสกฤตในตอนต้นศตวรรษที่ 7 และมีการพัฒนาแก้ไขถึงสามครั้ง เป็นภาษาที่มีอักขระวิธีการประสมเสียงพยัญชนะสระ ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน

ชาวฮั่นเรียกชื่อชนเผ่านี้ว่า “จั้ง” (藏族Zànɡ Zú) แต่ชาวทิเบตเรียกตนเองว่า “ฟาน” (蕃Fān) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละถิ่นที่อยู่อีกหลายชื่อ เช่น ชาวทิเบตที่ชุมชนอาหลี่(阿里Ālǐ) เรียกตัวเองว่า “ตุ้ยปา” (兑巴Duìbā) ที่ชุมชนโห้วจั้งเรียกตัวเองว่า “จั้งปา” (藏巴Zànɡbā) ที่ชุมชนเฉียนจั้งเรียกตนเองว่า “เว่ยปา” (卫巴Wèibā) กลุ่มชนที่อาศัยในดินแดนทิเบตตะวันออกและทางตะวันตกของมณฑลเสฉวนเรียกตัวเองว่า“คังปา”(康巴Kānɡbā) กลุ่มที่อาศัยอยู่ดินแดนทิเบตเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวน บริเวณกานหนาน (甘南Gānnán) ชิงห่าย(青海Qīnɡhǎi) เรียกตนเองว่า “อานตัวหวฺา” (安多娃Ānduōwá) แต่ชาวทิเบตโดยรวมแล้วเรียกตัวเองว่า “ฝานปา” คำว่า “ปา” และ “หวฺา” ในภาษาทิเบตหมายถึง “คน”
ชาวจั้งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนทิเบตบริเวณตอนกลางของลุ่มน้ำหยาหลู่จั้งปู้ (雅鲁藏布江Yǎlǔzànɡbùjiānɡ) จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า กว่า 4000 ปีก่อนบรรพบุรุษของชาวจั้งก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำหยาหลู่จั้งปู้แล้ว จากบันทึกพงศาวดารภาษาฮั่นบันทึกไว้ว่าในสมัยฮั่นชาวจั้งเป็นชนแขนงหนึ่งของชนชาวเชียงตะวันตก(西羌人Xī qiānɡrén) ในขณะนั้นชาวเชียงตะวันตกที่อาศัยอยู่บริเวณกานชิง(甘青Gānqīnɡ) มีการติดต่อสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองการปกครองและการค้าขายกับราชสำนักฮั่นอย่างแน่นแฟ้นแล้ว ในขณะที่ชนในดินแดนฟาเชียง (发羌Fāqiānɡ) ถังเหมา(唐牦Tánɡmáo) ของทิเบตก็เริ่มติดต่อสัมพันธ์กับชนในดินแดนกานชิงแล้ว ในบันทึกภาษาทิเบตมีบันทึกว่าบรรพกษัตริย์ของราชวงศ์ถู่ฟาน (吐蕃王室Tǔfān Wánɡshì) เริ่มครองอำนาจและตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นครอบครองดินแดนลุ่มน้ำหย่าหลง (雅隆河 Yǎlónɡhé,Yanaon) และสืบทอดราชบัลลังก์ 20 กว่ารุ่น ในยุคเริ่มราชบัลลังก์เริ่มเข้าสู่ระบบสังคมแบบการสืบสายตระกูลสายพ่อ แต่ก่อนหน้านั้นมีการตั้งชื่อแบบลูกโซ่กับแม่ แสดงให้เห็นว่าก่อนเข้าสู่สังคมการสืบสายตระกูลพ่อ ชาวจั้งเคยมีระบบสังคมแบบการสืบสายตระกูลสายแม่มาก่อน ราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 หัวหน้ากลุ่มชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่า“ซีปู๋เหย่” (悉补野Xībǔyě) รวมเข้ากับแคว้นอื่น ๆ เป็นอาณาจักรใหญ่ ในขณะนั้นดินแดนทิเบตมีชนอาศัยอยู่หลายกลุ่ม เช่น หยางถง (羊同Yánɡtónɡ) เผิงโป (澎波Pénɡbō) ซูผี (苏毗Sūpí) เป็นต้น ในยุคนี้เริ่มเข้าสู่สังคมแบบทาสแล้ว


ปลายสมัยสุยต้นสมัยถัง ซีปู๋เหย่รวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในดินแดนทิเบตเข้าเป็นอาณาจักร ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หลัวซัว (逻娑Luósuō ปัจจุบันคือเมืองลาซ่า拉萨Lāsà) ขุนนางและประชาชนยกย่องให้ ซงจ้านกานปู้ (松赞干布Sōnɡzànɡānbù) เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักร จากนั้นเริ่มสร้างอารยธรรมแห่งทิเบตขึ้น เช่น เริ่มประดิษฐ์อักษรทิเบต การนับปฏิทิน กฎหมาย มาตราวัด แบ่งขุนนางเป็นสองฝ่าย คือ ขุนนางฝ่ายศิลปะวิทยาและฝ่ายกำลังพล (文武Wén Wǔ,บุ๋นบู้) แบ่งการปกครองในอาณาจักรเป็นสี่เขต กำหนดชื่อเรียกตนเองว่า “ฟาน” (蕃Fān) ตรงกับที่บันทึกชาวฮั่นเรียกว่าราชสำนัก “ถู่ฟาน” (吐蕃Tǔfān) ในยุคที่ซงจ้านกานปู้พัฒนาด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมของอาณาจักรนั้น ก็ได้ติดต่อสัมพันธ์กับราชสำนักถัง รวมถึงประเทศต่างๆ เช่น เทียนจู๋ (天竺Tiānzhú ปัจจุบันคืออินเดีย) หนีโผหลัว (ปัจจุบันคือเนปาล泥婆罗Nípóluó) การติดต่อสัมพันธ์กับประเทศต่างๆนี้ทำให้สังคมทิเบตเริ่มรับเอารูปแบบสังคมศักดินาเข้ามา รวมถึงพุทธศาสนาก็เผยแผ่เข้าสู่ทิเบตในยุคนี้เอง


หลังจากการรวมอาณาจักรทิเบตแล้ว ทิเบตพัฒนาตนเองเข้มแข็งขึ้น คริสต์ศตวรรษที่ 8 ซงจ้านกานปู้ขออภิเษกกับองค์หญิงเหวินเฉิง(文成公主 Wénchénɡ ɡōnɡzhǔ) ธิดาของจักรพรรดิถังไท่จง (唐太宗Tánɡ Tàizōnɡ) กษัตริย์ทิเบตจึงมีศักดิ์เป็นราชบุตรเขยของราชวงศ์ถัง หลังจากพระเจ้าถังเกาจง(唐高宗Tánɡ Gāozōnɡ) ขึ้นครองราชย์ แผ่นดินราชวงศ์ถังและทิเบตมีฐานะเป็นเมืองอาและเมืองหลาน ซงจ้านกานปู้เรียกถังเกาจงว่า “โอรสสวรรค์” (天子Tiānzǐ)ค.ศ.710 องค์หญิงจินเฉิงแห่งราชสำนักถังได้อภิเษกกับจ้านผู่ชื่อเต๋อ(赞普赤德 Zànpǔ Chìdé) แห่งทิเบตยิ่งกระชับความสัมพันธ์ของแผ่นดินราชวงศ์ถังและทิเบตให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ปี ค.ศ.822 ราชสำนักถังและทิเบตรวมตัวเป็นอาณาจักรเดียวกัน ตั้งหลักศิลาแห่งอาณาจักรขึ้นที่หน้าวัดต้าเจา (大昭寺Dàzhāosì) เมืองลาซ่า (拉萨Lāsà) ทิเบตกับจีนจึงเป็นอาณาจักรญาติพี่น้องที่มิอาจแยกจากกันได้ และเป็นรากฐานของประเทศจีนที่มีหลายชนชาติรวมเป็นหนึ่งมาจนปัจจุบัน


ศตวรรษที่ 13 มองโกลเรืองอำนาจก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้น ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หยวนก่อตั้งเมืองหลวงที่ต้าตู (大都Dàdū ปัจจุบันคือปักกิ่ง) เป็นศูนย์กลางการปกครองขึ้น ดูแลควบคุมพุทธศาสนาในประเทศรวมไปถึงพุทธศาสนาในทิเบตด้วย โดยมีพระปาซือปา (八思巴Bāsībā ปี 1253 - 1280) เป็นสังฆราชผู้ปกครอง ราชสำนักหยวนก่อตั้งกองกำลังทหารขึ้นประจำการในดินแดนทิเบต และรวบเอาทิเบตเข้ามาอยู่ในอำนาจไว้ได้ ทิเบตจึงถือเป็นดินแดนหนึ่งของอาณาจักรจีนนับแต่นั้นมา


สมัยราชวงศ์หมิงและชิง ตลอดมาจนถึงสมัยหมินกว๋อทางการจีนพยายามรวมดินแดนทิเบตเข้ามาอยู่ในการปกครองโดยตลอด ในขณะที่ความสัมพันธ์ของชาวทิเบตกับชนกลุ่มอื่นๆ ในจีนก็มีความแน่นแฟ้นลึกซึ้งดุจญาติพี่น้อง การปกครองทิเบตก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและประสบความสำเร็จเรื่อยมา


ด้านเศรษฐกิจและสังคม ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สังคมทิเบตเป็นแบบสังคมศักดินาที่รวมเอาเรื่องการเมืองและศาสนาเข้าเป็นหนึ่งเดียว ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคมในทิเบตเริ่มเปลี่ยนแปลงตามลำดับ คือ เริ่มจากจากระบบเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินการเกษตร มาเป็นขุนนางมีอำนาจจัดการที่ดิน เปลี่ยนมาเป็นการจัดให้มีหัวหน้าผู้ปกครองพื้นที่เลี้ยงสัตว์เป็นร้อยและพันครัวเรือน ต่อมามีการก่อตั้งขุนนางและส่วนการปกครองที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องที่ดินทำกินโดยเฉพาะ ผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นี้คือผู้ที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส ซึ่งได้แก่ เจ้าอาวาสวัด พระและนักบวชในชุมชนต่างๆ นั่นเอง ผู้นำเหล่านี้มีอำนาจในการเก็บภาษีราษฎร ก่อตั้งวัด มอบอำนาจให้ผู้อื่นเก็บภาษีแทน เป็นต้น


ก่อนการก่อตั้งประเทศ (建国Jiànɡuó) สังคมทิเบตเป็นสังคมศักดินาและการครอบครองทาส ชนชั้นสูงได้แก่ ชนชั้นพระ นักบวชมีอำนาจปกครอง มีอำนาจก่อตั้งและควบคุมกองกำลังทหาร มีอำนาจทางกฎหมายตุลาการ และการลงโทษ ตลอดจนอำนาจในการครอบครองทาสและมีสิทธิ์ในการครอบครองที่เป็นของตนเอง ทาสในสังคมทิเบตมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก ถูกชนชั้นเจ้าศักดินากดขี่ใช้แรงงานอย่างหนัก ทาสต้องทำนารับใช้เจ้าทาส เครื่องไม้เครื่องมือการเกษตรต้องหาเอง ต้องดูแลเรื่องอาหารการกินด้วยตัวเอง ผลผลิตที่ได้ยังต้องส่งเป็นภาษีให้กับเจ้าทาส นอกฤดูทำนาทาสยังต้องรับใช้เจ้าทาสทุกอย่าง ทาสไม่มีสิทธิครอบครองสมบัติใดๆ ทุกอย่างที่ทาสมีถือเป็นสมบัติของเจ้าทาสทั้งหมด เจ้าทาสมีสิทธิ์ในตัวทาสทุกประการสามารถซื้อขายกันได้ สามารถมอบเป็นทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่นได้ สามารถเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลานได้ ลูกทาสที่เกิดมาก็ถือเป็นสมบัติของเจ้าทาส เจ้าทาสมีอำนาจลงโทษทาสในปกครองจนถึงขั้นประหารชีวิตได้


ด้วยเหตุที่การปกครองของทิเบตขึ้นอยู่กับศาสนา ชนชั้นปกครองกดขี่แรงงาน การทำการเกษตรไม่มีการพัฒนา ผลผลิตที่ได้จึงต่ำมาก พืชหลักที่ปลูกได้แก่ จำพวกข้าวต่างๆ มีการใช้เครื่องมือที่ทำด้วยไม้และเหล็กแล้ว ใช้แรงงานวัวในการลากไถ การทำนาใช้วิธีหว่านแล้วปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ส่วนบริเวณที่เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ยิ่งล้าหลังกว่าพื้นที่การเกษตร ชาวทิเบตเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ แพะภูเขา วัว จามรี ม้า ลา ล่อเป็นต้น แต่การเลี้ยงสัตว์ไม่มีวิทยาการด้านปศุสัตว์ใดๆ


งานหัตถกรรมของชาวทิเบตได้แก่ การถัก ทอ ปั่นด้าย การทำเครื่องไม้ เครื่องหนัง โลหะ กระเบื้อง และหิน แต่เครื่องมือการผลิตยังคงล้าหลัง มีการใช้เครื่องมือที่ทำด้วยโลหะน้อยมาก โดยมากยังเป็นเครื่องมือไม้ที่ทำขึ้นเองอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ยังทำจากวัสดุตามธรรมชาติเช่น เชือกที่ฟั่นจากขนวัวจามรี กระเป๋าที่เย็บด้วยหนังวัว ถังนมที่ทำจากไม้ การตัดขนสัตว์ การนวดหนังสัตว์เป็นแผ่นยังคงใช้มือทำ ไม่มีเครื่องมือใดๆ งานที่ผลิตได้เพียงสำหรับใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ยังไม่พัฒนาถึงขั้นผลิตเพื่อการค้า เริ่มมีการใช้เหรียญเงินในการซื้อขายสินค้า แต่ส่วนมากยังคงใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันอยู่ นอกจากอาชีพการเกษตร เลี้ยงสัตว์และงานหัตถกรรมแล้ว ชาวทิเบตยังประกอบอาชีพเก็บของป่าจำพวกพืชสมุนไพร อาหารป่านำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้า อื่นๆ ด้วย


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองน้อยใหญ่ต่างๆในดินแดนทิเบตได้รับการปลดปล่อย หลังจากที่เมืองชางตู (昌都Chānɡdū) ได้รับการปลดปล่อยแล้ว ทางการทิเบตได้เจรจากับรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการปลดปล่อยดินแดนทิเบต และในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1951 ได้ข้อตกลง 17 ข้อ โดยมีดาไลลามะ (达赖喇嘛Dálàilǎmɑ) และพระเอ๋อร์เต๋อหนี(额尔德尼É’ěr Déní) เป็นผู้สนับสนุนและดูแลข้อตกลงทั้ง 17 ข้อดังกล่าว นับแต่นั้นมาชาวทิเบตเริ่มประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยข้อตกลง 17 ข้อนั้นเอง รัฐบาลกลางกระจายอำนาจเข้าสู่ทิเบตที่เมืองลาซ่า ทหารปลดแอกเข้าสู่ดินแดนทิเบตทางเสฉวน ยูนนาน ชิงห่ายและซินเจียง ด้วยนโยบายของรัฐบาลกลางที่ได้ผลจึงสามารถรวมทิเบตเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจีนได้ นโยบายดังกล่าวคือ การให้อิสระเสรีในการนับถือศาสนา ให้สิทธิทางการเมือง ให้ประชาชนเป็นหนึ่งเดียว ส่งเสริมความรักชาติ สร้างสังคมที่สงบสุข พัฒนาการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจของชาวทิเบต พัฒนาด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม โดยรัฐบาลได้ก่อตั้งโรงเรียนประถมมัธยมขึ้นจนแทบจะครบทุกหมู่บ้านและตำบล มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นหลายแห่ง วัดวาอารามอันเป็นสถานที่ศึกษาศาสนาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวทิเบต รัฐบาลก็ได้สนับสนุนให้ชาวทิเบตนับถือศาสนาและประกอบศาสนกิจได้อย่างอิสระเสรี ด้านการสาธารณสุข มีการก่อตั้งสถานีอนามัยขึ้นในทุกหมู่บ้านและตำบล และก่อตั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งเพื่อทำหน้าที่ดูแลสุขภาพที่ดีของประชาชน มีการก่อสร้างระบบการจราจร คมนาคมและการสื่อสาร ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน ส่งผลให้พื้นที่ต่างๆของทิเบตมีการก่อตั้งโรงงานนับพันแห่ง เช่น โรงกำเนิดไฟฟ้า โรงงานถลุงแร่ โรงงานผลิตน้ำมัน เครื่องจักรกล แร่ธาตุ วัสดุก่อสร้าง ไม้ ด้าย ผ้า หนัง กระดาษ การพิมพ์และอาหารสำเร็จรูป งานด้านหัตถกรรมก็พัฒนาขึ้นไปกว่าเดิมมาก มีการผลิตเพื่อการส่งออกทั่วทั้งประเทศในปริมาณสูงมาก นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนการสร้างระบบการจราจรขนส่ง มีการก่อสร้างทางหลวง ทางรถไฟ สนามบินเข้าสู่ชุมชนชาวทิเบตทุกหย่อมหญ้า ทัศนียภาพอันงดงามของดินแดนทิเบตดังที่รู้จักกันในนาม “ดินแดนหลังคาโลก” เพราะเป็นดินแดนที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดในโลกนี้เอง ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเยือนและสัมผัสชุมชนของชาวทิเบต อันเป็นการนำความเจริญและการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาสู่ดินแดนทิเบตอย่างมหาศาล


นับตั้งแต่ปี 1950 ถึงปี 1965 รัฐบาลสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการปกครองตนเอง ชาวทิเบตก็เช่นเดียวกัน จึงได้มีการก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวทิเบตขึ้นหลายแห่ง ได้แก่
มณฑลกานซู่ มี
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตเมืองกานหนาน (甘南藏族自治州 Gānnán Zànɡ Zú zìzhìzhōu )
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตอำเภอเทียนจู้ (天祝藏族自治县Tiānzhù Zànɡ Zúzìzhìxiàn)
มณฑลชิงห่าย มี
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตหายเป่ย (海北藏族自治州Hǎiběi Zànɡ Zú zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตหวงหนาน (黄南藏族自治州Huánɡnán Zànɡ Zú zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบต ห่ายหนาน (海南藏族自治州Hǎinán Zànɡ Zú
zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบต กว่อลั่ว (果洛藏族自治州Guǒluò Zànɡ Zú
zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตยวี่ซู่ (玉树藏族自治州Yùshù Zànɡ Zú
zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตชาวมองโกลห่ายซี (海西蒙古族藏族自治州Hǎixī Měnɡɡǔ Zú Zànɡ Zú zìzhìzhōu)

มณฑลเสฉวน มี
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตกานจือ (甘孜藏族自治州Gānzī Zànɡ Zú
zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตอาป้า (阿坝藏族自治州 Ābà Zànɡ Zú
zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตอำเภอมู่หลี่ (木里藏族自治县Mùlǐ Zànɡ Zú zìzhìxiàn)
มณฑลยูนนาน มี
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบตตี๋ชิ่ง (迪庆藏族自治州Díqìnɡ Zànɡ Zú
zìzhìzhōu)
- เขตปกครองตนเองชาวทิเบต (西藏自治区XīZànɡ Zìzhìqū)

เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ทำให้การตั้งถิ่นฐานของชาวทิเบตมีอาณาเขตเป็นบริเวณกว้างใหญ่ การพัฒนาอาชีพ การดำรงชีพ และระบบเศรษฐกิจสังคมจึงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่สม่ำเสมอ แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบายต่างๆ เพื่อพัฒนาพื้นที่แต่ละแห่ง นับตั้งแต่ปี 1955 ถึง 1957 รัฐบาลได้ดำเนินการปลดแอกประชาชนในพื้นที่กานซู่ ชิงห่าย เสฉวน ยูนนาน บริเวณที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม รัฐบาลได้ซื้อที่ดินจากเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อล้มล้างอำนาจการขูดรีดประชาชน บริเวณที่เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ก็ได้ดำเนินการรวมดินแดนเข้าเป็นผืนเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการแย่งชิง ไม่แบ่งชนชั้นศักดินาและทาส แน่นอนว่าต้องถูกกีดกันและต่อต้านจากผู้กุมอำนาจอย่างชนชั้นเจ้าศักดินาอย่างหนัก ในปี 1959 ชนชั้นสูงที่กุมอำนาจชาวทิเบตก่อการต่อต้านและสร้างความวุ่นวายอย่างหนัก แต่รัฐบาลก็พยายามปราบปรามด้วยสันติวิธี รัฐบาลใช้วิธีการต่อต้านการก่อความวุ่นวาย ต่อต้านชนชั้นสูง ต่อต้านกรรมสิทธิ์ในการครอบครองทาส ยกเลิกการเช่าที่ดิน ล้มล้างการกดขี่ประชาชนของชนชั้นศักดินาในอารามทิเบตตามแบบการปกครองเดิม ยกเลิกหนี้สินของทาส ริบสมบัติที่ดินทำกิน ริบฝูงสัตว์และเครื่องมือการประกอบอาชีพเพื่อนำมาแบ่งปันแจกจ่ายให้กับทาสที่ไม่ฝักใฝ่กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อให้ใช้เป็นกรรมสิทธิ์ของตน ตลอดจนดำเนินนโยบาย “ใครปลูกใครได้” ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แบ่งให้กับทาสที่รับจ้างเลี้ยงสัตว์อยู่ในพื้นที่เดิมนั้นเป็นเจ้าของ ผลผลิตที่ได้รัฐบาลเป็นผู้รับซื้อ


ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งอาณาจักรที่รุ่งเรืองในอดีต ชนชาติ ทิเบตได้สรรค์สร้างอารยธรรมอันรุ่งโรจน์มาจนปัจจุบัน และนับเป็นอารยธรรมที่ทรงคุณค่ามหาศาลแก่ประเทศจีนในปัจจุบันเช่นกัน ชาวทิเบตเริ่มมีตัวอักษรใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 แล้ว ในยุคเริ่มการจดบันทึกตัวอักษรใช้วิธีจารลงบนแผ่นไม้ แผ่นทองและแผ่นหนัง เมื่อเริ่มมีการประดิษฐ์กระดาษขึ้นใช้จึงจดบันทึกลงบนกระดาษ ราชสำนักถู่ฟาน(ทิเบต) นับถือศาสนาพุทธ เอกสารบันทึกต่างๆล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาเช่น พระไตรปิฎก บทสวดมนต์ เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เป็นต้น นอกจากนี้ศิลปะแขนงอื่นๆ ก็หาได้ยิ่งหย่อนไม่ เอกสารบันทึกตั้งแต่สมัยโบราณจนปัจจุบันของชาวทิเบต นับเป็นคลังความรู้มหาศาลที่สำคัญยิ่งของชนชาติทิเบตและประเทศจีนโดยรวม เช่น ปรัชญา อักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแพทย์ การนับปฏิทิน ประวัติศาสตร์ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ วรรณคดี นวนิยาย เพลงกลอน อุปรากร ศิลปะ นาฏศิลป์ ตลอดจนสารานุกรมที่รวบรวมเรื่องราวสำคัญต่างๆเป็นจำนวนมาก


เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชนชาติทิเบต เช่น บันทึกตำนานต่างๆ พุทธประวัติ ประวัติการเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนทิเบต บันทึกลำดับวงศ์ตระกูลชั้นสูงและราชวงศ์ อาณาจักร และอาราม เป็นต้น เรื่องที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เช่น
เรื่อง《松赞干布全集》Sōnɡzànɡānbù quánjí “ประมวลซงจ้านกานปู้”
เรื่อง《医方四续》Yīfānɡ sì xù “ตำราแพทย์จตุรบท”
เรื่อง《红史》Hónɡ shǐ “บทประวัติศาสตร์หงสื่อ”
เรื่อง《西藏王统记》Xīzànɡ wánɡtǒnɡ jì “บันทึกลำดับกษัตริย์ทิเบต”
เรื่อง《世界广述》Shìjiè ɡuǎnɡshù “บทพรรณนาโลก”
เรื่อง《文成公主》Wénchénɡ ɡōnɡzhǔ “องค์หญิงเหวินเฉิง”
เรื่อง《格萨尔王传》Gésà’ěr Wánɡ zhàun “พระราชประวัติพระเจ้าเก๋อซ่าร์”
เรื่อง《颇罗鼐传》Pōluónài zhàun “ประวัติโพหลัวไน่”
เรื่อง《萨迦格言》Sàjiāɡé yán “อรรถบท ซ่าเจียเก๋อ”
เรื่อง《地方志》Dìfɑnɡ zhì “บันทึกภูมิศาสตร์อาณาจักร”


อักษรวิทยาการของชาวทิเบตที่เจริญรุ่งเรืองนี้ ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนทั่วไปจนได้รับการแปลไปเป็นภาษาต่างประเทศอื่นเป็นจำนวนมาก ในประเทศจีนเองก็ได้แปลไปเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน อักษรทิเบตมีโครงสร้างสมบูรณ์ ลวดลายอักขระเป็นระเบียบงดงามดุจศิลปะชั้นสูง แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ภาษาตะวันออกอย่างโดดเด่น


ศิลปะการวาดภาพก็เป็นงานฝีมือเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหนึ่งของชาวทิเบตอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่ภาพวาดบนฝาผนังในวัดวาอารามแสดงถึงพุทธประวัติได้อย่างโอ่อ่า สง่างาม สีสันสดใสลวดลายละเอียดลึกซึ้ง งานแกะสลักก็เป็นศิลปะชั้นสูงอีกอย่างหนึ่งที่ชาวทิเบตชำนาญ มีเทคนิควิธีการแกะสลักลวดลายที่วิจิตรบรรจง งานแกะสลักประดับประดาสิ่งปลูกสร้างที่สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ อย่างเช่น พระราชวังโปตาลาแห่งเมืองลาซ่า(拉萨布达拉宫Lāsà Bùdá lāɡōnɡภาพต่อไป) ที่มีชื่อเสียงระบือไกลทั่วโลก ก็เป็นศูนย์รวมด้านศิลปะวิทยาการและงานด้านศิลปกรรมของช่างฝีมือชาวทิเบตอย่างครบครัน

วิทยาการทางการแพทย์แผนทิเบตเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต มีวิธีการรักษาที่มีแบบแผนเป็นขั้นตอนชัดเจน คือ เริ่มจากการดู ถาม ฝังเข็ม นวดและผ่าตัด การใช้ยาได้มาจากพืชสมุนไพร แร่ธาตุธรรมชาติและจากสัตว์


วิทยาการด้านการนับปฏิทินแบบทิเบตใช้วิธีการนับวันขึ้นและวันแรม นับสิบสองราศี สี่ฤดูเป็นหนึ่งปี ทุกหกสิบปีนับเป็นหนึ่งรอบ หนึ่งปีมีสิบสองเดือน มีเดือนเล็กเดือนใหญ่ มีวิทยาการด้านการพยากรณ์ทางธรรมชาติและดาราศาสตร์


ชาวทิเบตเชี่ยวชาญการร้องรำทำเพลง ระบำเท้าเป็นระบำที่มีชื่อของชาวทิเบต ดนตรีทิเบตเป็นดนตรีชั้นสูงที่ใช้ในราชสำนักมาแต่โบราณ มีจังหวะและท่วงทำนองที่ให้อารมณ์สูงส่ง โอ่อ่า ขณะเดียวกันก็ให้อรรถรสที่รื่นรมย์และอิ่มเอิบใจอยู่ในที ละครทิเบตเกิดขึ้นในสมัยหมิง พัฒนามาจากการร้องและระบำพื้นเมือง ไม่มีฉากหลัง นักแสดงเป็นชายล้วน มีการแต่งกายตามเอกลักษณ์ทิเบตและที่สำคัญละครทิเบตมีการสวมหน้ากากด้วย การร้องเพลงเสียงสูงและสั่นเครือถือเป็นเอกลักษณ์การขับร้องของชาวทิเบตที่ยากจะมีชนชาติใดเสมอเหมือน เรื่องที่นิยมแสดงได้แก่ เรื่ององค์หญิงเหวินเฉิง 《文成公主》Wénchénɡ Gōnɡzhǔ นับเป็นอุปรากรที่ได้รับความนิยมสูง และได้รับยกย่อยให้เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงชิ้นเอกของจีน


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวทิเบตนิยมเรียกกันด้วยชื่อ ไม่เรียกนามสกุล การตั้งชื่อมีแบ่งแยกชื่อผู้หญิงผู้ชายชัดเจน ภาษาที่ใช้ตั้งชื่อมาจากภาษาที่ใช้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา


ด้านการแต่งกายเพศชายเกล้าผมไว้กลางกระหม่อม ส่วนหญิงหวีแบ่งเป็นสองข้างปล่อยลงคลุมบ่า แล้วคลุมด้วยเครื่องประดับลูกปัดร้อยเป็นเส้นหลายเส้น ทั้งชายหญิงสวมหมวกบางคลุมบนศีรษะ สวมเสื้อลำตัวสั้นแขนยาวไว้ด้านใน ชายสวมกางเกงขายาว หญิงสวมกระโปรงยาวคลุมถึงตาตุ่ม สวมเสื้อคลุมคอกลม ลำตัวยาวทับด้านนอก ผ่าอกเฉียงไปทางขวาเรียกชุดนี้ว่า “กี่เพ้าทิเบต” ในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง สตรีชาวทิเบตสวมชุดกี่เพ้าทิเบตแขนกุด มีผ้าสักหลาดคลุมกระโปรงด้านหน้าตั้งแต่เอวลงมา บนเสื้อผ้าปักลวดลายตามชายเสื้อชายกระโปรงและปกเสื้อ เป็นต้น ส่วนชายสวมชุดคลุมเช่นกันแต่มีผ้าคาดเอว สวมรองเท้าบู้ทสูงสวมทับแข้ง ชาวทิเบตที่เป็นกลุ่มชนเลี้ยงสัตว์สวมชุดกี่เพ้าทิเบตที่ทำจากหนังแกะ ผ่าข้างตั้งแต่เอวลงไป ส่วนพระนักบวชห่มจีวรสีแดงเลือดหมู


ด้านอาหารการกิน ชาวทิเบตมีอาหารหลักเรียกว่า “จานบา” (糌粑Zānbā) คือเส้นหมี่ที่โม่จากข้าวสาลีที่คั่วสุกแล้ว และนิยมดื่มชาเนย(เรียกว่า ซูโหยวฉา酥油茶Sūyóuchá) ชนเลี้ยงสัตว์นิยมบริโภคเนื้อวัว และเนื้อแกะเป็นอาหารหลัก พระนักบวชกินเนื้อสัตว์ได้
ด้านที่พักอาศัย ชาวทิเบตอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง มักหาทำเลใกล้กับแหล่งน้ำตั้งบ้านเรือน ใช้ก้อนหินก่อเป็นกำแพงบ้านโดยใช้โคลนเป็นตัวเชื่อม สร้างบ้านสูงสองถึงสามชั้น หลังคมเรียบ มีหน้าต่างหลายบาน สร้างรั้วรอบมีพื้นที่ในบริเวณบ้าน ปูพื้นบ้านด้วยไม้แผ่น ชนเลี้ยงสัตว์อาศัยอยู่ในกระจมที่คลุมด้วยผ้าทอจากขนจามรี และเนื่องจากการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง การจราจรและรถราเข้าถึงไม่สะดวกนัก ทำให้การคมนาคมต้องอาศัยแรงงานสัตว์จามรี เพราะเป็นสัตว์ที่มีความอดทนต่อสภาพภูมิประเทศที่สูงและเหน็บหนาวได้ดี จามรีจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของทิเบตอีกอย่างหนึ่ง จนได้รับขนานนามว่าเป็นยานแห่งที่สูง “高原之舟 Gāoyuán zhīzhōu” การคมนาคมทางน้ำใช้เรือไม้ขุดหรือเรือหนังวัว เรือหนังวัวนี้เป็นยานพาหนะทางน้ำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวทิเบตที่ไม่พบที่ใดในโลก
ครอบครัวของชาวทิเบตในยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยึดถือเพศชายเป็นศูนย์กลาง และแบ่งชนชั้นของสังคมอย่างชัดเจน ชนชั้นทางสังคมนี้เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดกิจกรรมต่างๆของชนชาวทิเบตอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการยึดถือการแต่งงานในชนชั้นเดียวกัน การเลือกคู่แต่งงานในแต่ละพื้นที่มีข้อกำหนดแตกต่างกัน บ้างยึดถือการไม่แต่งงานในสายตระกูลพ่อหรือสายตระกูลแม่เดียวกัน แต่บางพื้นที่สามารถแต่งงานกันในสายตระกูลเดียวกันที่ห่างกันสองสามรุ่นได้ บ้างไม่ห้ามการแต่งงานกับเครือญาติในสายตระกูลแม่ ชาวทิเบตยึดถือธรรมเนียมการแต่งงานแบบมีสามีภรรยาคนเดียว หนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ครอง หลังการแต่งงาน เพศหญิงถือเป็นคนของสายตระกูลเพศชาย เพศชายมีสิทธิ์เป็นใหญ่ในครอบครัว รวมถึงการครอบครองมรดกด้วย ครอบครัวแบบหนึ่งสามีหลายภรรยาก็อนุญาตให้มีได้สำหรับครอบครัวที่มีฐานะดี การหย่าร้าง การแต่งงานใหม่ การมีลูกนอกสมรสไม่เป็นการผิดศีลธรรม ไม่ถูกตำหนิจากสังคมแต่อย่างใด แต่การแต่งงานของบุตรของบุคคลเหล่านี้จะต้องแต่งงานกับคนชนชั้นเดียวกันเท่านั้น พระนักบวชที่นอกเหนือจากนิกายหมวกเหลืองแล้ว (นิกายหมวกเหลือง คือนิกายที่ชื่อ เก๋อหลู่ ภาษาจีนเรียกว่า “格鲁派Gélǔpài”) สามารถแต่งงานได้ พิธีแต่งงานของนักบวชจะต้องจัดในวัดและหลังจากแต่งงานแล้วต้องอาศัยอยู่ในวัด


ชาวทิเบตประกอบพิธีศพที่เรียกว่า เทียนจั้ง (天葬tiān zànɡ) คือการทิ้งศพไว้บนยอดเขาสูงให้นกแร้งมาจิกเนื้อศพแล้วบินขึ้นฟ้า เพราะเชื่อว่าวิญญาณผู้ตายจะได้ขึ้นสวรรค์ ศพใดที่นกกินเนื้อหมดเร็วจะถือว่าเป็นผู้มีบุญได้ขึ้นสวรรค์เร็ว แต่ก็มีนักบวชทิเบตบางนิกายและชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในหุบเขาห่างไกลบางแห่งประกอบพิธีศพโดยการเผาศพ แต่มีข้อกำหนดห้ามเผาศพในฤดูเก็บเกี่ยว การประกอบพิธีศพโดยการฝังและลอยน้ำถือว่าไม่เป็นมงคล จึงไม่เป็นที่นิยม หญิงคลอดลูกจะต้องออกจากบ้านไปพักอยู่ที่อื่น หรือเมืองอื่นเสียก่อน


การต้อนรับแขกผู้มาเยือนชาวทิเบตจะมอบผ้าคล้องคอเรียกว่า “ห่าต๋า” (哈达Hǎdá) เป็นการแสดงถึงความเคารพสูงสุด


เทศกาลสำคัญของชาวทิเบตคือวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับเดือนหนึ่งของทุกปี ชาวทิเบตสวมเสื้อผ้าชุดประจำเผ่าชุดใหม่ไปไหว้เพื่อนบ้าน ญาติมิตรที่เคารพนับถือ วันที่ 15 เดือน4 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และตรงกับวันที่องค์หญิงเหวินเฉิงแต่งงานเข้ามาสู่ราชวงศ์ทิเบต ชาวทิเบตจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อรำลึกถึงทั้งสองพระองค์ กลางเดือนเจ็ดใกล้ฤดูการเก็บเกี่ยวมีเทศกาลเฉลิมฉลองโดยการออกไปท่องเที่ยวนอกบ้านเพื่อความหวังใหม่อันสดใสงดงาม วันที่ 25 เดือน 10 เป็นวันที่ศาสดานิกายหมวกเหลืองนิพาน พระนักบวชในนิกายหมวกเหลืองมีพิธีสวดมนต์เพื่อรำลึกถึงพระศาสดา นอกจากนี้การคัดเลือกพระดาไลลามะแต่ละรุ่น มีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก เมื่อองค์ดาไลลามะเสียชีวิตลง จะต้องตั้งองค์ใหม่ขึ้นโดยมีคำทำนายถึงลักษณะ ถิ่นที่อยู่ ชาติกำเนิด เป็นต้น จนสามารถตามหาเด็กทารกตามคำทำนายนั้นเจอ จากนั้นก็ประกอบพิธีแต่งตั้งให้เป็นดาไลลามะองค์ใหม่


ด้านศาสนาความเชื่อ เดิมทีชาวทิเบตนับถือศาสนาที่ชื่อ เปิ่นเจี้ยว (本教Běnjiào) หรือเรียกว่าศาสนาดำ (黑教hēijiào) ศาสนาเปิ่นเจี้ยวนี้มีพัฒนาการสามขั้น คือ
ขั้นที่หนึ่ง คือ ตู๋เปิ่น (笃本Dǔběn) คือ การภักดี
ขั้นที่สอง คือ เชี่ยเปิ่น (恰本qiàběn) คือ การเผยแพร่
ขั้นที่สาม คือ เจี้ยวเปิ่น (觉本Jiàoběn) คือการนับถือ


นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมาพระเจ้าซงจ้านกานปู้นับถือศาสนาดังกล่าวนี้ ถึงขั้นกำหนดให้เป็นศาสนาประจำชาติ แต่เกิดการแย้งกันกับข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนา ในที่สุดประชาชนเชื่อและนับถือพุทธศาสนามากกว่า ซึ่งก็ได้นับถือกันมาจนปัจจุบัน
ชาวทิเบตเรียกศาสนาพุทธว่า “หนางปาฉวี่” (囊巴曲Nánɡbāqǔ) เป็นศาสนาพุทธแขนงแรกที่เข้าสู่ประเทศจีน เรียกทั่วไปว่า “ศาสนาลามะ” (喇嘛教Lǎmɑjiāo) เริ่มเผยแผ่เข้าสู่ทิเบต (ประเทศถู่ฟานในยุคนั้น) เมื่อศตวรรษที่ห้า หลังจาก ค.ศ.978 ศาสนาพุทธในทิเบตแบ่งแยกออกเป็นหลายนิกาย นิกายสำคัญๆ เช่น


- นิกายหนิงหม่า (宁玛Nínɡmǎ) หมายถึงนิกายดั้งเดิม เรียกทั่วไปว่า ศาสนาแดง (红教 Hónɡ jiào)
- นิกายซ่าเจีย (萨迦派Dàjiāpài) หมายถึงนิกายเทา เรียกทั่วไปว่า ศาสนาดอกไม้ (花教 Huājiào)
- นิกายก๋าจวี่ (噶举派Gájǔpài) หมายถึงนิกายเผยแผ่ศาสนา เรียกทั่วไปว่าศาสนาขาว (白教Báijiào)
- นิกายก๋าตัง (噶当派 Gádānɡpài) หมายถึงนิกายเทศนา


ภายใต้การสนับสนุนของราชวงศ์หยวน พระลามะชั้นสูงนิกายซ่าเจียเป็นผู้ครอบครองอำนาจสูงสุด เริ่มดำเนินการปกครองในดินแดนทิเบตแบบรวมศาสนากับการปกครองเข้าเป็นหนึ่งเดียว


ค.ศ. 1409 พระจงคาปา(宗喀巴Zōnɡkābā) ได้ก่อตั้งนิกาย “เก๋อลู่” (格鲁Gélǔ) ขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานของนิกายก๋าตัง (嘎当Gādānɡ) คำว่า “เก่อลู่” มีความหมายว่า “กฎแห่งความปรานี” และด้วยเหตุที่พระนิกายนี้สวมหมวกสีเหลือง จึงเรียกนิกายนี้ว่า “นิกายหมวกเหลือง หรือ ศาสนาเหลือง” (黄帽派或黄教Huánɡmàopài huò Huánɡjiào) ศาสนาเก่อหลู่มีธรรมวินัยเข้มงวด พระไม่สามารถแต่งงานได้ ต้องผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ห้าฉบับ ทุกปีจัดมหกรรมสนทนาธรรมและชำระพระธรรม จะต้องสอบเพื่อให้ได้รับเปรียญธรรมที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ลัทธิเก๋อหลู่พัฒนาขึ้นในดินแดนทิเบตอย่างรวดเร็ว และยังเผยแผ่เข้าสู่ชนเผ่ามองโกล เผ่าถู่ และเผ่ายวี่กูร์ นอกจากนี้เผยแผ่ไปยังประเทศห่างไกลอื่น ๆ เช่น ภูฏาน(不丹Bùdān ) สิขิม(锡金Xījīn) เนปาล (尼泊尔Níbó’ěr) และมองโกเลีย (蒙古Měnɡɡǔ) อีกด้วย อันเป็นรากฐานให้พุทธศาสนานิกายเก๋อหลู่มีความเข้มแข็งสืบทอดมาจนปัจจุบัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น