วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

9. 德昂族ชนกลุ่มน้อยเผ่าเต๋ออ๋าง





















ชนเผ่าเต๋ออ๋างอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในมณฑลยูนนาน(云南Yúnnán) ในเขตปกครองตนเองเผ่าไต (傣族Dǎi Zú) เผ่าจิ่งโพ (景颇族Jǐnɡpō Zú) เมืองเต๋อหง(德宏Dé hónɡ) และในตำบลต่างๆหลายตำบลของเมืองเต๋อหง เช่น เจิ้นคัง (镇康Zhènkānɡ) เกิ๋งหม่า (耿马Gěnɡmǎ) หย่งเต๋อ (永德Yǒnɡdé) ป่าวซาน (保山Bǎoshān) หลานชาง (澜沧Lán cānɡ) รวมบริเวณที่อยู่อาศัยของชนเผ่านี้กระจายครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางกิโลเมตร นับเป็นชนเผ่าที่มีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายมาก การตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่มักอยู่ร่วมกับชนเผ่าจิ่งโพ (景颇Jǐnɡpō Zú) เผ่าว้า(佤Wǎ Zú) และชาวฮั่น(汉Hàn Zú) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเต๋ออ๋างมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 17,935 คน ภาษาที่เผ่าเต๋ออ๋างพูดจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค สาขามอญ-เขมร แขนงภาษาว้าเต๋อ แบ่งเป็น 3 สำเนียง คือ ปูเลย ลูมาย ลัวจิน ไม่มีภาษาอักษร


ในอดีตชนเผ่าเต๋ออ๋างเป็นเผ่าที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในบริเวณเมืองหย่งชาง (永昌 Yǒnɡchānɡ) ชาวเผ่าเต๋ออ๋างกระจายกันอยู่เป็นบริเวณกว้างมาก และในแต่ละท้องที่ก็มีชื่อเรียกตนเองแตกต่างกันไป เช่น หรู่อ๋าง (汝昂Rǔ’ánɡ) เลี่ยเปี๋ย (列别Lièbié) หรูหม่าย (汝买 Rǔmǎi) หรู่โป (汝波Rǔbō) ในอดีตตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น จิ้น มีบันทึกถึงชาวผูเหริน (濮人 Pú rén) และชาวหมางหมาน (茫蛮Mánɡmán) ชาวพูจื่อหมาน(扑子蛮Pūzǐmán) ชาววั่งจวีจื่อ หมาน (望苴子蛮Wànɡjūzǐmán) ชื่อชนเผ่าเหล่านี้ล้วนเป็นชนกลุ่มเดียวกันที่มีชื่อต่างๆ กัน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวเต๋ออ๋าง ว้า และชาวปลังในปัจจุบัน ชาวเต๋ออ๋างถูกรวมเข้าอยู่ในการปกครองของเมืองน่านเจ้า (南诏Nánzhào) ต้าหลี่ (大理Dàlǐ) ดำเนินมาตลอดช่วงระยะเวลาของสมัยราชวงศ์ฮั่น จิ้น และถัง จนถึงสมัยราชวงศ์หยวน ชาวเต๋ออ๋างตกเป็นประชาชนในอาณัติของชนเผ่าไต


ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวเต๋ออ๋างเป็นชนเผ่าในปกครองของชนเผ่าไต หัวหน้าเผ่าจะสืบช่วงต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หัวหน้าเผ่าปกครองชุมชนเต๋ออ๋างที่ทั้งในชุมชนของตนและบริเวณใกล้เคียง และในทุกๆหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแลภายใต้อำนาจสูงสุดของหัวหน้าเผ่าใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ชนชาวเต๋ออ๋างต้องส่งบรรณาการให้กับผู้ใหญ่บ้าน แล้วผู้ใหญ่บ้านส่งต่อให้กับหัวหน้าเผ่า ชาวเต๋ออ๋างอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นชุมชนในการปกครองของเผ่าจิ่งโพยังต้องส่งของบรรณาการ ส่งภาษี ให้กับหัวหน้าผู้ปกครองอีกด้วย นอกจากนี้ในยุคกว๋อหมินตั่งยังเก็บภาษีจากชนกลุ่มน้อยซ้ำอีก สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก


ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวเต๋ออ๋างยังคงรักษาขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับการสืบสายตระกูลสายตรงจากเพศชายและอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ในครอบครัวหนึ่งๆ มีญาติร่วมเชื้อสายอยู่รวมกันมากกว่าสามรุ่นเป็นอย่างน้อย ทุกคนในครอบครัวร่วมกันทำมาหากินและใช้ในครอบครัวใหญ่นั้น แต่หลังจากระบบสังคมที่ประชาชนมีสิทธิครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองเกิดขึ้น ระบบเศรษฐกิจภายนอกที่เจริญขึ้น สินค้าและค่าครองชีพต่างๆ สูงขึ้น ชาวเต๋ออ๋างเริ่มแยกครอบครัวออกจากครอบครัวใหญ่มาตั้งเป็นครอบครัวเดี่ยวของตัวเอง
ช่วงสมัยฮั่น การเกษตรของชาวเต๋ออ๋างรุ่งเรืองมาก บรรพบุรษของชาวเต๋ออ๋างบุกเบิกการทำไร่ไถนาในพื้นที่ราบของเมืองเต๋อหง ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือการเกษตรที่ทำด้วยเหล็กจำพวกจอบ เสียม คราด ไถ มาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว นับเป็นการใช้เครื่องมือการเกษตรที่ทำด้วยเหล็กยุคต้นๆของจีนเลยทีเดียว ต่อมาถูกรุกรานจากชนกลุ่มอื่นถอยร่นลงใต้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภูเขา ก็ยังยึดอาชีพเดิมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษคือการทำนา แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่แห่งใหม่นี้เป็นแบบภูเขาสูง ด้วยภูมิปัญญาของชาวเต๋ออ๋าง จึงได้ขุดภูเขาเป็นแบบขั้นบันไดเพื่อทำเป็นแปลงนา มีการใช้เครื่องมือการเกษตรที่ดีกว่า รู้จักการใช้ปุ๋ย นับเป็นชนเผ่าที่มีเทคนิคการทำนาที่ก้าวหน้ากว่าชนกลุ่มอื่นในบริเวณเดียวกัน นอกจากปลูกข้าวแล้ว ชาวเต๋อ- อ๋างยังมีความชำนาญในการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ใบชา ฝ้าย เป็นต้น นอกจากจะเป็นผู้ปลูกชาฝีมือดีแล้ว ยังมีวิธีการชงชาและดื่มชาที่พิเศษกว่าใคร จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเกษตรกรผู้ปลูกชาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอีกด้วย


ต่อมาในยุคแรกๆของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลได้เข้ามาดูแลและกระจายนโยบายชนกลุ่มน้อยในเผ่าเต๋ออ๋าง ได้ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร ในปี 1956 รัฐบาลควบคุมดูแลและเปลี่ยนแปลงระบบสังคม สภาพความเป็นอยู่ การปกครองในสังคมชาวเต๋ออ๋าง แต่ข้อพิเศษของชนเผ่าเต๋ออ๋างก็คือการตั้งชุมชนกระจัดกระจาย ไม่อยู่รวมกัน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนในแต่ละชุมชนจึงต้องใช้วิธีที่แตกต่างกัน เช่น ชาวเต๋ออ๋างที่เมืองป่าวซาน (保山Bǎoshān) หลินชาง(临沧Líncānɡ) เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับชนเผ่าไตมานาน ระบบสังคมเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้อำนาจของชาวไต ดังนั้นจึงใช้วิธีเดียวกันกับชาวไต สามารถตกลงกันได้ด้วยความสงบ ส่วนชาวเต๋ออ๋างที่เมืองเต๋อหง และตำบลหว่านติง(畹町Wǎn dīnɡ) อยู่ในการปกครองของชนเผ่าจิ่งโพ และชนเผ่าไต จึงใช้วิธีเปลี่ยนระบบสังคมตามรัฐบาลได้โดยตรง จากนั้นมาการพัฒนาด้านระบบสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชนชาวเต๋ออ๋างก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในบริเวณที่มีชาวเต๋ออ๋างอาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชน รัฐบาลได้ตั้งให้ชาวเต๋ออ๋างเป็นหัวหน้าปกครองดูแลตนเอง นอกจากนี้ยังส่งผู้ที่เป็นผู้นำชุมชนในระดับสูงไปเป็นสมาชิกสภาประชาชนด้วย ลูกหลานชาวเต๋อ- อ๋างก็ได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ มีการก่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลเพื่อให้ชนชาวเต๋ออ๋างได้มีความรู้ และสุขภาพอนามัยที่ดี


ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวเต๋ออ๋างมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะผ้าปักลวดลายงดงาม ไปจนถึงการแกะสลักภาพฝาผนังแบบนูนสูง นูนต่ำ การก่อสร้าง งานเครื่องปั้นดินเผา ในอดีตถือเป็นกลุ่มชนที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาแขนงนี้ที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างในบริเวณที่มีหรือเคยมีชาวเต๋ออ๋างอาศัยอยู่เช่น ภาพสลักที่วัดพุทธลู่ซี (潞西佛寺Lùxī fósì) ตำหนักราชินีเต๋ออ๋าง(德昂女王宫殿Dé’ánɡ nǚwánɡ ɡōnɡdiàn) ที่ตำบลหล่งชวน(陇川Lǒnɡchuān) สะพานโบราณ ถนนโบราณ เมืองโบราณเผ่าเต๋ออ๋าง เครื่องปั้นดินเผาที่มีเนื้อละเอียดมันวาวลวดลายชัดเจน ถือเป็นร่องรอยศิลปะอันงดงามของชาวเต๋ออ๋างที่มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไป นอกจากนี้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ปักร้อยภาพงดงามตามจินตนาการของชาวเต๋ออ๋าง เช่น ภาพนกคู่ มือคู่ เสือคู่ ดอกไม้ต่างๆ ก็เป็นภาพสะท้อนเอกลักษณ์อันงดงามของชาวเต๋ออ๋างที่สืบทอดต่อกันมานานหลายชั่วอายุคน
ด้านวรรณกรรม ชาวเต๋ออ๋างมีการสืบทอดศิลปะภาษาวรรณคดีของชนเผ่าแบบมุขปาฐะ ไม่ว่าจะเป็นนิทานพื้นบ้าน ตำนาน เพลง กลอน สุภาษิต คำพังเพย เช่น นิทานเรื่อง 《兔子制土司》Tùzi zhì tǔsī “กระต่ายตั้งหัวหน้า” เรื่อง《芦笙哀歌》Lúshēnɡ āiɡē “ครวญเพลงขลุ่ยน้ำเต้า” เรื่อง《彩虹》Cǎihónɡ “สายรุ้ง” นอกจากนี้ตำนานและนวนิยายที่สำคัญ ๆ ของชาวไตและชาวฮั่น เช่น เรื่อง《西游记》Xī yóu jì “จาริกตะวันตก(ไซอิ๋ว)” เรื่อง《三国演义》 Sānɡuó yǎnyì “สามก๊ก” ก็เป็นตำนานที่ชาวเต๋ออ๋างเล่าสืบทอดกันมาด้วยภาษาเต๋ออ๋างจนถึงปัจจุบัน ชาวเต๋ออ๋างมีเครื่องดนตรีที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ซึ่งบางอย่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากชาวฮั่น เช่น กลอง โหม่ง ขลุ่ยน้ำเต้า ปี่ พิณสามสาย เครื่องดนตรีเหล่านี้ใช้บรรเลงประกอบการเต้นรำในเทศกาลสนุกสนานรื่นเริงและงานพิธีสำคัญๆ ของชนเผ่า


เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวเต๋ออ๋างก็มีเอกลักษณ์โดดเด่น สะท้อนความงามในอุดมคติของชาวเต๋ออ๋างได้อย่างชัดเจน เอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นชุดของหญิงชาวเต๋ออ๋างก็คือ “เถาวัลย์พันเอว” มีตำนานเล่าว่า “หญิงสาวชาวเต๋ออ๋างในสมัยก่อนโบยบินอยู่เต็มท้องฟ้า เพื่อจะจับสาวเต๋ออ๋างมาเป็นคู่ครอง หนุ่มชาวเต๋ออ๋างใช้เถาวัลย์สานเป็นห่วงคล้องเอว” จากนั้นมาจึงกลายเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของสาวชาวเต๋ออ๋างในที่สุด หญิงชาวเต๋ออ๋างเมื่อโตเป็นสาวจะใช้เถาวัลย์พันรอบเอว 5 ถึง 6 รอบ บางรายพันเป็นสิบรอบก็มี ยิ่งมีเถาวัลย์พันมากเท่าใด เปรียบเสมือนเป็นสาวงามที่มีค่า เป็นที่ต้องตาต้องใจและเป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม เถาวัลย์ที่ใช้พันเอวนั้นบ้างเป็นสีตามธรรมชาติ บ้างย้อมเป็นสีแดง ดำ เหลือง เขียว บางครั้งยังมีการแกะสลักลวดลายลงบนเถาวัลย์ ประดับด้วยเงินและเครื่องประดับต่างๆ เพิ่มความงดงามเป็นเอกลักษณ์ และทรงคุณค่ามากขึ้นด้วย ผ้าถุงของหญิงชาวเต๋ออ๋างยาวตั้งแต่อกถึงตาตุ่ม ลวดลายผ้าถุงเป็นลายตามขวาง หลากหลายสีสัน หญิงสาวชาวเต๋ออ๋างไม่ไว้ผมยาว บางรายโกนหัว หรือพันด้วยผ้า แต่หลังจากแต่งงานแล้วจะไว้ผมยาวและพันหัวด้วยผ้าสีดำ ลักษณะเด่นอีกอย่างของชุดแต่งกายชาวเต๋ออ๋างคือการแขวนลูกบอลไหมพรมหรือขนสัตว์หลากสี เช่น แดง เขียว เหลือง ที่ชายเสื้อ ผ้าที่ใช้โพกหัว ตุ้มหู กระเป๋าสะพาย ทั้งชายและหญิงจะประดับประดาด้วยลูกบอลไหมพรมที่ว่านี้ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือหนุ่มๆ ชาวเต๋ออ๋างจะคล้องคอด้วยลูกบอลไหมพรมที่ร้อยเป็นพวงยาวสำหรับชุดที่เป็นงานสำคัญๆ อีกด้วย แต่ชุดของหญิงเต๋ออ๋างจะคล้องลูกบอลไหมพรมนี้ไว้รอบปกเสื้อ ใส่เครื่องประดับเงินจำพวกสร้อยคอ ตุ้มหู กำไล ชายชาวเต๋ออ๋าง นิยมสักลายบนร่างกาย ส่วนใหญ่สักไว้ที่ขา แขน และอก ลวดลายที่นิยม เช่น เสือ กวาง นก และลวดลายพืชพันธุ์ดอกไม้ต่างๆ


ชาวเต๋ออ๋างกินข้าวเป็นอาหารหลัก รวมถึงข้าวโพดและถั่วต่างๆ แต่ชาวเต๋ออ๋างในบางท้องที่ก็กินข้าวโพดเป็นอาหารหลัก ชอบดื่มชา ชาวเต๋ออ๋างใช้น้ำชาเป็นของรับแขกอันสูงส่งที่ขาดมิได้ และยังมีใบยาสูบพันธุ์ดีที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ นอกจากนี้การเคี้ยวหมากให้ฟันดำของชาวเต๋ออ๋างเป็นที่นิยมมาก เพราะเชื่อว่าฟันที่มีสีดำเป็นฟันที่สวยงามและแข็งแรง


บ้านเรือนของชาวเต๋ออ๋างสร้างด้วยไม้ไผ่ใต้ถุนสูง ในบริเวณบ้านมีรั้วรอบเป็นหนึ่งหลังคาเรือน ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ทำอาหารและเก็บข้าวของเครื่องใช้และเก็บตุนเสบียงอาหารชั้นล่างเป็นคอกสัตว์ ข้างบ้านสร้างกระท่อมเล็กไว้เก็บฟืน และเป็นครกกระเดื่องตำข้าว ชาวเต๋ออ๋างที่เมืองเจิ้นคัง (镇康Zhènkānɡ) สร้างบ้านหลังใหญ่มีครอบครัวเล็กๆ อาศัยอยู่ร่วมกันสองถึงสามครอบครัว มีทางเดินเป็นระเบียงเชื่อมต่อกันระหว่างเรือนเล็กแต่ละเรือน บ้านเรือนของชาวเต๋อ- อ๋างในปัจจุบันสร้างเป็นตึกสูงและอาศัยอยู่รวมกันหนึ่งครอบครัวต่อหนึ่งห้องเหมือนอย่างชาวฮั่น


ระบบครอบครัวของชาวเต๋ออ๋างคือยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว ไม่แต่งงานกับคนนามสกุลเดียวกัน และไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกเผ่า หนุ่มสาวสามารถพบรักกันได้อย่างอิสระ สาวชาวเต๋ออ๋างมีสิทธิ์ในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง แต่ท้ายที่สุดต้องได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่ในการอนุญาตให้หรือไม่ให้แต่งงานกับใคร เมื่อตกลงแต่งงาน ฝ่ายชายต้องมอบสินสอดให้กับฝ่ายหญิง หากสามีภรรยาอยู่กินกันไปแล้วเกิดการหย่าร้าง ฝ่ายชายเป็นผู้ขอหย่า เพียงแค่มอบข้าวสารไม่กี่กิโลกรัม เงินเล็กน้อย เชิญหัวหน้าเผ่ามาทำพิธีขอขมาต่อผีบรรพบุรุษและเทพที่เคารพ ก็เป็นสัญญาณบอกฝ่ายหญิงว่าให้ออกจากบ้าน กลับไปบ้านเดิมได้ หากฝ่ายหญิงเป็นผู้ขอหย่า จะต้องชดใช้ค่าสินสอดที่ฝ่ายชายมอบให้ในวันแต่งงาน แต่หลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ธรรมเนียมการหย่าของชาวเต๋ออ๋างก็ไม่เคร่งครัดเหมือนแต่ก่อนแล้ว


พิธีศพของชาวเต๋ออ๋างใช้วิธีฝังศพ ในแต่ละหมู่บ้านมีสุสานประจำเผ่า แต่ผู้ที่เสียชีวิตด้วยอาการเจ็บป่วยเรื้อรังยาวนานและหญิงที่เสียชีวิตจากการคลอดบุตรจะประกอบพิธีศพด้วยการเผา


เกี่ยวกับความเชื่อและการนับถือศาสนา ในอดีตชาวเต๋ออ๋างนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยาน ในแต่ละชุมชนมีวัดพุทธประดิษฐานพระพุทธรูป และมีพระภิกษุประจำวัด พระภิกษุทุกรูปเรียนรู้ภาษาไตเพื่ออ่านคัมภีร์และบทสวด พิธีสำคัญๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ชาวเต๋อ- อ๋างจะหมุนเวียนกันนำข้าวปลาอาหารไปถวายพระ แต่ความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาของชาวเต๋ออ๋างในแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อาจเป็นพุทธแต่ต่างนิกายกัน บางที่สามารถเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เพื่อฆ่าเป็นอาหาร แต่บางที่ซึ่งนับถือต่างนิกายกลับห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ห้ามล่าสัตว์ป่า แม้แต่ในงานพิธีสำคัญๆ ก็ไม่อนุญาตให้ฆ่าสัตว์ นอกจากนับถือศาสนาพุทธแล้วนี้ชาวเต๋ออ๋างยังนับถือผีและวิญญาณตามที่บรรพบุรุษนับถือมาแต่เดิม


เทศกาลสำคัญของชาวเต๋ออ๋างคือเทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งเทศกาลต่างๆ ล้วนสะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือศาสนาอย่างชัดเจน

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ มากๆครับผม

    ตอบลบ