วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

“ระฆังราว” เครื่องดนตรีจีนโบราณที่หายสาบสูญไปนับพันปี


ภาพนี้คัดลอกมาจาก http://a4.att.hudong.com/76/23/01300001159526130986233418550.jpg

             ประวัติศาสตร์การดนตรีของจีนมีความเป็นมายาวนานมาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในแผ่นดินจีนสามารถยืนยันได้ว่า มีเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทถือกำเนิดขึ้นมานานก่อนที่จะเริ่มประวัติศาสตร์สมัยฉินแล้ว[1]  เช่น การขุดค้นทางโบราณคดีในยุคหินใหม่ที่ได้จากเมืองเหอหมู่ตู้  มณฑลเจ้อเจียง  พบเครื่องดนตรีลักษณะคล้ายนกหวีดชื่อ ซ่าว(哨)โบราณวัตถุหยางซ่าวที่ขุดได้จากบ้านป้านโป เมืองซีอาน  พบเครื่องดนตรีประเภทเป่าทำจากดินเผาชื่อ ซวิน () โบราณวัตถุที่อำเภออินซวี เมืองอันหยาง มณฑลเหอนาน พบเครื่องดนตรีประเภทตีที่ทำจากหินชื่อ ชิ่ง (石磬)และกลองไม้ที่ขึงด้วยหนังงูเหลือมชื่อ หม่างผีกู่ (蟒皮鼓)
การขุดค้นทางโบราณคดีที่สร้างความตกตะลึงให้กับนักวิชาการดนตรีรวมถึงนักโบราณคดีทั้งของจีนและของโลกคือ การขุดค้นทางโบราณคดีที่สุสานเจิงโห้วอี่ อำเภอสุย มณฑลหูเป่ย (ฝังเมื่อ 433 ปีก่อนคริสตกาล) พบเครื่องดนตรีหลายประเภท เช่น ระฆังราว ฉิ่งราว กลองแบบต่าง เครื่องเป่าจำพวกขลุ่ยชนิดต่างๆ เครื่องดีดชื่อเส้อเป็นต้น เครื่องดนตรีโบราณเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระฆังโลหะ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันชาญฉลาดในการการประดิษฐ์คิดค้นและการใช้เครื่องมือโลหะของบรรพบุรุษจีนที่มีมาอย่างยาวนาน
วิวัฒนาการของระฆังเริ่มมาจากเครื่องดนตรีขนาดเล็กชนิดหนึ่ง คือ กระดิ่ง ภาษาจีนเรียกชื่อว่า หลิง () ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโลหะมีลิ้นที่เก่าแก่ที่สุดของจีน(ลิ้นคือส่วนที่แขวนอยู่ในกระดิ่งใช้เคาะกระดิ่งให้เกิดเสียงดัง) การขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 1981 ที่อำเภอเอ้อร์หลี่โถว เมืองลั่วหยาง พบกระดิ่งโลหะ 4 ชิ้น หลอมจากทองสำริด  เป็นรูประฆังคว่ำ ขนาดเล็ก  ผิวบาง  ยอดแหลม ปากกว้าง ริมเรียบ มีหูกางออกสองข้าง  ยอดกระดิ่งมีห่วงสำหรับคล้อง ลิ้นกระดิ่งทำจากหยก บางครั้งประดับด้วยทองก็มี  ในสมัยโบราณใช้เป็นสิ่งของล้ำค่า
จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะถึงยุคกระดิ่งทองแดงที่ขุดพบที่  เอ้อร์ หลี่โถวนั้น  บริเวณเมืองเหอลั่วมีกระดิ่งดินเผาเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว  เช่น กระดิ่งดินเผาที่ขุดได้จากวัดส่านเซี่ยน เป็นกระดิ่งที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดชิ้นหนึ่ง กระดิ่งนี้ปั้นขึ้นด้วยมือ มีลักษณะกลม ด้านข้างทั้งสองข้างมีรูเจาะทะลุถึงกัน  บนยอดมีหูทรงกลม   ที่แหล่งอารยธรรมหยางเส้าก็พบกระดิ่งเช่นกัน เป็นกระดิ่งดินเผาที่ปั้นด้วยมือ รูปทรงกลม มีด้ามจับ ด้านข้างไม่มีรูเจาะถึงกัน   นอกจากนี้ยังมีกระดิ่งที่ขุดพบจากแหล่งอารยธรรมเหวินซาน มณฑลเหอหนาน  เป็นกระดิ่งดินเผาเช่นเดียวกัน ในเวลาเดียวกันนั้น ที่มณฑลซานซีก็ขุดพบกระดิ่งทองแดงที่เก่าแก่ที่สุดของจีน   รูปร่างของกระดิ่งเป็นรูประฆังคว่ำ  บนยอดกระดิ่งมีรูสำหรับร้อยลิ้น ความหนาบางของกระดิ่งไม่เท่ากัน  ผิวภายนอกมีรอยสลักลวดลายต่างๆ  จากหลักฐานทำให้เรารู้ว่า ก่อนที่จะเกิดมีอารยธรรม เซี่ยเหวินฮว่านั้น  กระดิ่งได้เริ่มมีพัฒนาการเกิดขึ้นแล้ว  และเป็นจุดกำเนิดสำคัญของเครื่องดนตรีโลหะในสมัยราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจวในเวลาต่อมา
การขุดค้นทางโบราณคดีจากสุสานสมัยซางและโจวหลายแห่งที่เมืองลั่วหยาง  พบกระดิ่งเป็นจำนวนมาก  ส่วนใหญ่เป็นสุสานในสมัยโจวตะวันตก  กระดิ่งที่พบมีรูปลักษณะเหมือนกัน  แต่ขนาดใหญ่เล็กต่างๆ กัน เป็นรูประฆังคว่ำ ด้านบนเล็ก ด้านล่างกว้าง  บนยอดมีหูครึ่งวงกลม  ใต้หูมีรูสำหรับร้อยลิ้น   ลิ้นแขวนห้อยอยู่ในกระดิ่ง   แต่เนื่องจากไม่ได้นำกระดิ่งที่พบทั้งหมดมาวัดระดับเสียง จึงไม่แน่ใจว่ากระดิ่งที่มีขนาดต่างกันนั้นเป็นกระดิ่งราวที่สามารถบรรเลงเป็นทำนองเพลงได้หรือไม่   กระดิ่งโบราณที่พบที่เมืองลั่วหยางแม้จะมีจำนวนมากและมีขนาดไม่เท่ากัน แต่รูปร่างไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่กระดิ่งทองแดงของสมัยเซี่ยที่ขุดพบที่    เอ้อร์หลี่โถวนั่นเอง            
                การกำเนิดของระฆัง  เท่าที่มีบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์ไม่ตรงกัน  เช่น คัมภีร์ซานไห่จิง[2] กล่าวว่า นัดดาแห่งเหยียนตี้ ผู้สร้างกลอง คือผู้ริเริ่มสร้างระฆังบันทึกกว่านจือ กล่าวว่า จักรพรรดิหวงตี้มีบัญชาให้สร้างระฆังห้าเสียง หนึ่งชื่อระฆังมรกตกังวาน สองชื่อระฆังแดงแก่นแท้ สามชื่อระฆังเหลืองเรืองประกาย สี่ชื่อระฆังพรายบังเงา ห้าชื่อระฆังดำเร้นความจริงนอกจากนี้ยังมีตำนานในสมัยเหยาซุ่นว่า ผู้สร้างระฆัง นามว่า ฉุย แต่นักวิชาการดนตรีทั่วไปเชื่อกันว่า ระฆังพัฒนามาจากกระดิ่ง
        ระฆังในยุคแรกๆ เป็นระฆังดินเผา จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่มณฑลเหอหนาน พบระฆังดินเผา เป็นเครื่องปั้นดินเผาในยุคใหม่  สูง 9 เซนติเมตร  เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร เป็นรูปทรงกลม ปากกว้าง ปลายแคบ มีด้ามสั้น
 殷中晩期  獣面文鐃(三点)
               
                ในยุคพระเจ้าหยวี แห่งราชวงศ์เซี่ย มีระฆังทองสำริดเกิดขึ้น  และในช่วง 16 ปี ถึง 11 ปี ก่อนคริสตกาล  ตรงกับยุคราชวงศ์ซาง  ประเทศจีนมีระฆังเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ดังหลักฐาน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบก็เป็นเครื่องยืนยันได้ ถึงการกำเนิดระฆังของจีน
                กระทั่งสมัยราชวงศ์โจว ระฆังพัฒนาขึ้นเป็นเครื่องดนตรีชนิดแรกในบรรดาเครื่องดนตรีแปดเสียงของจีน (สมัยโบราณเครื่องดนตรีจีนแบ่งตามวัตถุที่ผลิต 8 ชนิด ได้แก่ โลหะ หิน เส้นไหม ไม้ไผ่   น้ำเต้า ดิน หนัง  และไม้) ใช้เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงในวัด และดนตรีชั้นสูงสำหรับพระราชพิธีในราชสำนัก  แต่ขาดการสืบทอดและบรรเลง ปัจจุบันระฆังจึงมีฐานะเป็นเพียงวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
                 จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ และการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ระฆังราวมีมาตั้งแต่สมัยซีโจวแล้ว[3] ในยุคนั้นระฆังราวประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มเสียงสูงต่ำต่างกันด้วยระฆังสองถึงสามตัว  ต่อมาช่วงปลายสมัยชุนชิวจนถึงจ้านกว๋อเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีกลุ่ม 9 ตัว และ 13 ตัวเป็นต้น  ปี 1978 มีการขุดค้นโบราณวัตถุจากสุสานเจิงโห้วอี่ ที่มณฑลหูเป่ย พบระฆังราวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขุดพบมา  มีอายุอยู่ในช่วง 433 ปี ก่อนคริสตกาล  ระฆังราวนี้แขวนเรียงกันบนชั้นมีความใหญ่โตพอๆ กับเวทีการแสดงหนึ่งเวทีในปัจจุบัน   ประกอบด้วยหนิ่วจง (ระฆังหู)19 ตัว หย่งจง (ระฆังด้าม) 45 ตัว ด้านนอกมีระฆังใหญ่ที่พระเจ้าฉู่ฮุ่ยหวางพระราชทานให้อีก 65 ตัว  ระฆังราวเหล่านี้แบ่งเป็น 3 ชั้น 8 กลุ่ม แขวนอยู่บนราวระฆัง  ระฆังที่แขวนอยู่ชั้นบนสุดเรียกว่า หนิ่วจง  ส่วนระฆังที่ แขวนเอียงลงมาในชั้นล่างถัดลงมาเรียกว่าหย่งจง      ระฆังที่มีขนาดเล็กที่สุดคือระฆังหนิ่วจงสูง 20.4 เซนติเมตร หนัก 2.4 กิโลกรัม  ระฆังที่มีขนาดต่างกันให้เสียงสูงต่ำต่างกัน  ระฆังใบใหญ่สุดคือระฆังที่มีเสียงต่ำสุด สูง 153.4 เซนติเมตร หนัก 203.6 กิโลกรัม ระฆังทั้งชุดมีน้ำหนักรวมมากกว่า 2,500 กิโลกรัม ราวระฆังสร้างขึ้นจากไม้และโลหะเป็นรูปฉาก ความยาวทั้งหมด 10 เมตรขึ้นไป มีชั้นแขวนระฆังสามชั้น ความสูง 273 เซนติเมตร มีสลักเป็นตัวยึดราวเข้าด้วยกัน  ราวระฆังดูยิ่งใหญ่ โอ่อ่า สง่างามยิ่งนัก    


 
               
                การบรรเลงระฆังราวใช้ผู้บรรเลง 3 คนขึ้นไป ใช้ไม้ตีรูปค้อนตีระฆังเสียงสูงและเสียงกลาง ส่วนแถวล่างเสียงต่ำใช้ไม้ตีรูปกระบอง จากการวิจัยของนักดนตรีจีนปัจจุบันพบว่า ระฆังแต่ละตัวสามารถตีเป็นเสียงได้สองเสียง แต่ต้องตีให้ถูกจุดที่กำหนดแน่นอน ระฆัง 1 ราว สามารถตีเป็นเสียงทุกเสียงที่อยู่บนแป้นเปียโนได้ นั่นก็หมายความว่า เสียงระฆังราว สามารถบรรเลงเสียงเปียโนในปัจจุบันได้ทุกเสียง  ความถี่ของเสียงระฆังคือ 256.4 เฮิร์ซ  ซึ่งเป็นระดับเสียงเดียวกันกับเสียงเปียโน  แม้จะถูกฝังอยู่นานกว่า 2,000 ปี แต่จากการทดลองบรรเลงของนักดนตรีปัจจุบันพบว่า เสียงของระฆังยังคงมีคุณภาพเสียงชัดเจนและแม่นยำ  มีช่วงเสียง 5 ช่วงคู่แปด  สามารถบรรเลงเพลงโบราณและเพลงปัจจุบันได้ครบทุกเสียง  และบรรเลงเพลงกลุ่มเสียงต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์
                วัสดุที่ประกอบเป็นระฆังราวของสุสานเจิงโห้วอี่ได้แก่ทองสำริด ดีบุก อลูมิเนียม  ประกอบเป็นราว ประดับประดาด้วยรูปหล่อโลหะต่างๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ มังกร สลักเสลาเป็นตัวอักษรและลวดลายงดงาม มีการสลักตัวอักษรบนระฆังเพื่อบอกเสียงตัวโน้ตประจำระฆังแต่ละตัว  แสดงให้เห็นว่า เมื่อ 2,400 ปีก่อน การดนตรีของจีนมีพัฒนาการเจริญถึงขั้นสูงแล้ว  ซึ่งนับว่ามีความเก่าแก่กว่าการกำเนิดดนตรี 12  เสียงมาตรฐานของยุโรปเกือบ 2,000 ปี  
                ระฆังราวในสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องดนตรีในราชสำนักเพื่อบรรเลงในการออกศึก พระราชพิธีบวงสรวง  การออกท้องพระโรงเท่านั้น  แต่ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปเนื่องจากมีขนาดใหญ่ และต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาลในการสร้าง จึงเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงของชนชั้นศักดินา ใช้เป็นเครื่องแสดงฐานันดร ศักดิ์ศรีและเกียรติยศของผู้เป็นเจ้าของ  ในสมัยใกล้ปัจจุบัน พบระฆังราวที่ขุดได้จากสุสานขุนนางต่างๆ ในบริเวณมณฑลหยวินหนาน ซานซี และหูเป่ย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ระฆังราวจากสุสานเจิงโห้วอี่  ซึ่งเป็นระฆังราวขนาดใหญ่ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ดนตรีจีนอย่างมาก จนได้รับขนานนามว่าสิ่งมหัศจรรย์แห่งสมบัติทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ
                จากการศึกษาวิจัยของนักดนตรีจีนปัจจุบัน มีการทดลองศึกษาตัวโน้ตที่สลักไว้บนระฆัง และโน้ตเพลงจากเอกสารโบราณ  แล้วใช้ระฆังที่ขุดได้จากสุสานเจิงโห้วอี่ บรรเลงเพลงชื่อ เพลงฉู่ซาง ซึ่งเป็นบทเพลงที่บรรยายถึงอารมณ์โกรธแค้นและเศร้าโศกของคีตกวีจีนโบราณ ชวีหยวน ซึ่งถูกเนรเทศออกนอกเมืองเพราะกระทำความผิด ท่วงทำนองเพลงบรรยายอารมณ์ได้ลึกซึ้งจับใจยิ่งนัก[4]
                ยังมีอีกหลายเพลงที่เกิดจากผลการศึกษาวิจัยทางดนตรีจีนโบราณ และใช้ระฆังราวบรรเลง เช่น เพลงจู๋จือฉือ(เพลงกิ่งไผ่) เพลงชุนเจียงฮวาเยว่เย่ (คืนจันทราธาราบุปผาบาน) เพลงฉู่ซาง (ราชวงศ์ฉู่และซาง)  เพลงโยวหลาน (กล้วยไม้โยวหลาน)  เพลง กว๋อซาง (ชาติสลาย) 
        ปัจจุบันระฆังราวโบราณที่ขุดได้จากสุสานเจิงโห้อี่ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่ง มณฑลหูเป่ย  ถนนชังตงหู เมืองอู่ฮั่น ถือเป็นมรดกอันล้ำค่าที่บรรพชนชาวจีนทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแห่งผืนแผ่นดินจีนและมวลมนุษยชาติ     
บรรณานุกรม
李纯一《先秦音乐史》北京:人民音乐出版社,1994
孙继南,周柱铨《中国音乐通史简编》济南:山东教育出版社,1993
吴钊,刘东升《中国音乐史略》北京:人民音乐出版社,1985
    《中国古代音乐史简编》上海:上海音乐出版社,1989
杨荫浏《中国古代音乐史稿》(上、下册)北京:人民音乐出版社,1981





[1] สมัยฉินเป็นราชวงศ์เริ่มต้นของประวัติศาสตร์จีนที่รวบรวมประเทศจีนเข้าเป็นปึกแผ่น  มีอายุ 221 206 ปี ก่อนคริสตกาล
[2] คัมภีร์ซานไห่จิงเป็นเอกสารโบราณฉบับหนึ่งของจีน  แต่งขึ้นก่อนสมัยราชวงศ์ฉิน เนื้อหาว่าด้วยเทพเจ้า ภูมิศาสตร์ สิ่งของเครื่องใช้  วิทยายุทธ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์
[3] ราชวงศ์โจวแบ่งเป็นสองช่วงคือราชวงศ์โจวตะวันตกเป็นราชวงศ์โจวยุคแรก และราชวงศ์โจวตะวันออกเป็นราชวงศ์โจวยุคหลัง
[4] สามารถรับฟังเพลง ฉู่ซาง ซึ่งบรรเลงโดยคณะนักวิจัยดนตรีจีนโบราณ บรรเลงโดยระฆังราวที่ขุดพบที่สุสานเจิงโห้วอี่ได้ที่เวบไซต์นี้  http://www.1ting.com/player/98/player_202351.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น