วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์เรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท - จีน

รายงานการวิจัยเรื่อง
การศึกษาทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์เรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท - จีน
ในภาษาไทยถิ่นอีสาน[1]

เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2554) การศึกษาทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์เรื่อง คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน ในภาษาไทยถิ่นอีสาน The Journal.Journal of the Faculty of Liberal Arts, Mahidol University. Vol.7No.2 (2010) p.125-149.

บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือ การศึกษาและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีนในฐานะภาษาร่วมตระกูลไท-จีน โดยมุ่งสำรวจคำที่มีความสัมพันธ์กัน แล้วนำมาวิเคราะห์และอธิบายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในระดับเสียง คำ และความหมาย วิธีการศึกษาวิจัยในครั้งนี้คือ การจับคู่คำศัพท์ที่สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กัน โดยดูจากรูปคำที่มีเสียงและความหมายในระดับที่เหมือนกัน สัมพันธ์กัน และเกี่ยวข้องกัน โดยการคัดเลือกคำศัพท์จากพจนานุกรมแล้วตรวจสอบกับผู้บอกภาษา ผลการศึกษาวิจัยพบว่า คำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสาน มีคำโดด 407 คำ และคำเสริมสร้อยสองพยางค์จำนวน 176 คำ มีความสัมพันธ์กับคำในภาษาจีน ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นร่องรอยความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน เป็นหลักฐานสนับสนุนได้ว่าคนไทยลาว หรือคนอีสาน เป็นกลุ่มชนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ดังข้อเท็จจริงที่ว่าบรรพบุรุษของชาวอีสานที่แต่เดิมกระจายตัวอยู่ทางตอนใต้ของจีน ได้ขยายเขตที่อยู่อาศัยลงมาถึงตอนเหนือของลาว แล้วเลยเข้าสู่ภาคอีสานของไทย
คำสำคัญ ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาตระกูลไท คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท – จีน

A research report titled
A Historical Linguistic Study of Tai-Chinese Cognates in the Thai Language of the Isaan Region

Abstract
The aim of this research is to study and analyze the relationship between the Thai language of the Isaan region and the Chinese language as being the Tai-Chinese cognate language, focusing on the analysis and demonstration of the relationship between the two languages in terms of sound, word, and definition. The methodology was paring words presumed to be associated by considering words with identical, similar, or associated sounds. The words were selected from the dictionary and then verified by informants. The results showed that there are 407 monosyllabic words and 176 elaborative words in the Thai language of the Isaan region that are related to the words in Chinese language. This result is another piece of evidence of the notion that the Lao Thai, or Isaan, people are the group closely related to the ethnic group speaking the Tai language in the south of China. This is in agreement with the fact that the ancestors of the Isaan people who were originally scattered in the south of China have expanded their dwelling area down to the north of Laos and then into the Isaan region of Thailand.
Keywords: Isaan Language, Tai Language Family, Tai-Chinese Cognates

หลักการและเหตุผล
ในอดีตที่ผ่านมา นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ได้พยายามศึกษาเพื่อสืบหาต้นตอของภาษาตระกูลไทว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่ใด และในปัจจุบันนักวิชาการไทยมุ่งความสนใจไปที่ตอนใต้ของประเทศจีน เนื่องจากพบว่ามีกลุ่มชนที่พูดภาษาคล้ายกับภาษาไทยหลายกลุ่ม เช่น เกอหล่าว จ้วง ต้ง ไต ปูยี มูลาม เหมาหนาน สุย เป็นต้น อันเป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า บรรพบุรุษของคนที่พูดภาษาตระกูลไท มีต้นกำเนิดบริเวณจีนตอนใต้
ภาษาไทยถิ่นอีสานเป็นภาษาถิ่น(dialect) หนึ่งของภาษาไทยมาตรฐาน (standard language) เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักภาษาศาสตร์และผู้รู้ภาษาไทยและภาษาไทยถิ่นอีสานว่า ความสัมพันธ์ของภาษาไทยกับภาษาไทยถิ่นอีสานต่างกันเพียงเป็นภาษามาตรฐานกับภาษาถิ่นเท่านั้น ซึ่งหมายถึงว่ามีความใกล้ชิดกันเป็นภาษาเดียวกัน อาจมีเพียงเสียงวรรณยุกต์ พยัญชนะ หรือสระในบางคำเท่านั้นที่ต่างกัน แต่เสียงที่ต่างกันนั้นมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น เสียง /h/ ในภาษาไทยถิ่นอีสาน เป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง /r/ ในภาษาไทยกลาง เช่น เฮือน – เรือน/ ฮ่าน–ร้าน / เฮือ– เรือ / ฮ่อง –ร้อง/ ฮ่อน– ร้อน / ฮัก – รัก เป็นต้น
แต่นอกเหนือจากคำที่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางกับภาษาตระกูลไทแล้ว ในภาษาไทยถิ่นอีสานยังมีคำที่ไม่มีในภาษาไทยอีกเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นคำที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางกับภาษาตระกูลไท คำเหล่านี้มีต้นตอมาจากที่ใด ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด แต่ในฐานะที่ภาษาไทยถิ่นอีสานเป็นภาษาที่สัมพันธ์กับภาษาไทยเป็นแบบภาษาพี่น้องกัน ในขณะที่ภาษาไทยมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนแบบภาษาร่วมตระกูล ดังนั้นจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า คำภาษาไทยถิ่นอีสานที่ไม่มีในภาษาไทยดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์กับภาษาจีน เนื่องจากสามารถหาคู่คำที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาษาไทยถิ่นอีสานคำว่า “ส่วง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 爽 (shuǎnɡ[2]) หมายถึง ปลอดโปร่ง โล่งสบาย คำภาษาไทยถิ่นอีสานว่า “เหิง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 恒 (hénɡ) หมายถึง ยาวนาน คำภาษาไทยถิ่นอีสานว่า “จ่าน” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 展 (zhǎn) หมายถึง แผ่ออก ขยายออก
คำบางกลุ่มอาจมีการเพี้ยนเสียงไปบ้าง แต่ยังเหลือเค้าความคล้ายคลึงให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นคำที่มีความสัมพันธ์กัน และที่สำคัญยังคงความหมายตรงกันด้วย เช่น ภาษาไทยถิ่นอีสานคำว่า “ซอง หรือ ซ่อง” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 双(shuānɡ) หมายถึง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ ภาษาไทยถิ่นอีสานคำว่า “ซะ” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 洒(sǎ) หมายถึง หว่าน โปรย กระจัดกระจาย
นอกจากนี้ยังมีคำที่มีเสียงใกล้เคียงคล้ายคลึงกัน มีความหมายสัมพันธ์กัน เช่น ภาษาไทยถิ่นอีสานคำว่า “ต้วง” หมายถึงกลิ่นเหม็นที่เข้มข้นและรุนแรงอย่างหนึ่งของปลาร้า ออกเสียงคล้ายกับภาษาจีนคำว่า 浓 (nónɡ) หมายถึง กลิ่นหรือรสชาดที่เข้มข้น ภาษาไทยถิ่นอีสานคำว่า “หมึน” หมายถึง โกรธ หรือฉุนเฉียว คับข้องใจ ออกเสียงคล้ายกับภาษาจีนคำว่า 闷 (mèn) หมายถึง อึดอัด คับข้องใจ เป็นต้น
จากคำศัพท์ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นจะเห็นว่า คำในภาษาไทยถิ่นอีสานมีร่องรอยความสัมพันธ์กับคำในภาษาจีน และจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ก็สามารถยืนยันได้ว่า ภาษาทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในฐานะภาษาร่วมตระกูลกันจริง เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ หรือกล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้
ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสนับสนุนการศึกษาด้านภาษาตระกูลไทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอน และการวิจัยด้านการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับนักเรียนในภาคอีสานต่อไป

ทฤษฎี สมมุติฐาน และกรอบแนวความคิดของโครงการวิจัย
นักวิชาการจีนเห็นว่า ภาษาตระกูลจีนทิเบต แบ่งเป็น สาขาภาษาฮั่น สาขาทิเบตพม่า สาขาภาษาเย้า สาขาภาษาจ้วงต้ง ในสาขาจ้วงต้ง แบ่งเป็นกลุ่มภาษาจ้วงไต กลุ่มภาษาต้งสุย กลุ่มภาษาหลี ในกลุ่มภาษาจ้วงไต มีสมาชิกคือ ภาษาไต ภาษาไทย และภาษาลาว ดังแผนภูมิต่อไปนี้

ฮั่น
ทิเบตพม่า ภาษาไต
จีน-ทิเบต เย้า จ้วงไต ภาษาไทย (กลาง เหนือ ใต้ อีสาน)
จ้วงต้ง ต้งสุย ภาษาลาว
หลี
สรุปจาก Li Fanggui (Li Fang Kuei :1977)

จากแผนภูมิจะเห็นว่า ภาษาไทยถิ่นอีสานมีความสัมพันธ์กับภาษาจีน และยังมีข้อสนับสนุนตามแนวคิดทางประวัติศาสตร์ที่ว่า บรรพบุรุษของชาวอีสานที่แต่เดิมกระจายตัวอยู่ทางตอนใต้ของจีน ได้ขยายเขตที่อยู่อาศัยลงมาถึงตอนเหนือของลาว แล้วเลยเข้าสู่ภาคอีสานของไทย แน่นอนว่าหลักฐานทางภาษามีความสำคัญมาก จากการสังเกตคำในภาษาไทยถิ่นอีสานพบว่า มีคำภาษาไทยถิ่นอีสานที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเรียกว่าเป็นคำที่ไม่ร่วมเผ่าพันธุ์กับภาษาตระกูลไท แต่กลับเหมือนกับคำในภาษาจีนทั้งเสียงและความหมาย อย่างที่นักภาษาศาสตร์เรียกว่า “คำศัพท์ร่วมเชื้อสาย” ส่วนคำที่คล้ายกัน มีความคล้ายคลึงอย่างเป็นระบบ และสามารถอธิบายได้ด้วยเกณฑ์ทางสัทศาสตร์ เช่น มีการกร่อน สูญหาย กลาย แปร ปฏิภาค เกิดพยางค์ใหม่ เป็นต้น จึงถือได้ว่า คำศัพท์เหล่านี้เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน ผลของการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนแนวคิดภาษาร่วมตระกูลไท-จีน

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
1 เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน ในฐานภาษาร่วม
ตระกูล
2 เพื่อสำรวจ รวบรวมและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคำศัพท์ในภาษาไทยถิ่นอีสานกับ
ภาษาจีน

ขอบเขตของโครงการวิจัย
1. ศึกษางานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลจีน-ทิเบต และภาษาตระกูลไท
ที่สัมพันธ์กับภาษาไทยถิ่นอีสาน
2. ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลคำศัพท์จากพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน
ข้อมูลจากผู้บอกภาษาที่พูดภาษาไทยถิ่นอีสาน และข้อมูลจากผู้บอกภาษาที่พูดภาษาจีน


วิธีการดำเนินการวิจัย
1. ขอบเขตเนื้อหา ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.1 การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาไทยกับ
ภาษาจีนเพื่อนำไปสู่การอธิบายความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน
1.2 การเทียบคู่คำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีนที่มีความสัมพันธ์กัน และ
การวิเคราะห์เพื่ออธิบายลักษณะความสัมพันธ์ต่างๆ
2. ขอบเขตประชากร
2.1 พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน 3 เล่ม
2.2 พจนานุกรมภาษาจีน 3 เล่ม
2.3 ผู้บอกภาษาไทยถิ่นอีสาน เพื่อให้ครอบคลุมสำเนียงภาษาไทยถิ่นอีสานเหนือ
และสำเนียงภาษาไทยถิ่นอีสานใต้ จึงแบ่งผู้บอกภาษาไทยถิ่นอีสานเป็น 2 คน คือ
2.3.1 เป็นตัวแทนชาวไทยถิ่นอีสานเหนือ 1 คน คัดเลือกผู้ที่เกิดและโตในพื้นที่
จังหวัดในภาคอีสานตอนบน บิดามารดาและตัวผู้บอกภาษาพูดภาษาไทยถิ่นอีสานมาตั้งแต่กำเนิด และไม่เคยอพยพไปอยู่ที่อื่นมาก่อน
2.3.2 เป็นตัวแทนชาวไทยถิ่นอีสานใต้ 1 คน คัดเลือกผู้ที่เกิดและโตในพื้นที่
จังหวัดในภาคอีสานตอนล่าง บิดามารดาและตัวผู้บอกภาษาพูดภาษาไทยถิ่นอีสานมาตั้งแต่กำเนิด และไม่เคยอพยพไปอยู่ที่อื่นมาก่อน
2.4 ผู้บอกภาษาจีน 1 คน ภาษาจีนแบ่งสำเนียงภาษาออกเป็น 7 สำเนียงภาษา
หลัก ในงานวิจัยนี้ เลือกผู้บอกภาษาที่พูดภาษาจีนสำเนียงภาษากวาน(官话ɡuānhuà[3]) เป็นภาษาแม่
3. ขนาดตัวอย่างและวิธีคัดเลือกตัวอย่าง
เก็บข้อมูลคำศัพท์ทุกคำที่มีในพจนานุกรม โดยการจับคู่คำที่มีความสัมพันธ์กัน ระบุระดับความสัมพันธ์ ความหมายของคำทั้งภาษาจีนและภาษาไทยถิ่นอีสาน จดบันทึกลงในบัตรคำ
4. การเก็บรวบรวมข้อมูล
4.1 เก็บข้อมูล โดยยึดตามพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน แต่ละคำจะเปรียบเทียบกับคำในภาษาจีนที่สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กัน โดยพิจารณาจาก เสียง และความหมาย
4.2 ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับผู้บอกภาษาที่เป็นเจ้าของภาษาทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
5. เครื่องมือที่ใช้
5.1 พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน และพจนานุกรมภาษาจีน
5.2 ผู้บอกภาษาที่เป็นเจ้าของภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาจีน
6. การวิเคราะห์ข้อมูล
ความสัมพันธ์ของเสียงและความหมายในภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน จะ
กำหนดความสัมพันธ์ 3 ระดับ คือ
เหมือนกัน เสียงเหมือนกัน ต้องมีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน ส่วนที่ต่างกัน
กำหนดให้ต่างกันได้เพียงเสียงวรรณยุกต์เท่านั้น ความแตกต่างของเสียงสระกำหนดให้เป็นสระหน้า หลัง สูง ต่ำ รูปปากที่ใกล้เคียงกัน จึงจะนับเป็นคำที่ออกเสียงเหมือนกัน ส่วนเรื่องของความหมาย กำหนดให้มีความหมายเหมือนกัน
มีความสัมพันธ์กัน เสียงที่สัมพันธ์กัน ต้องมีพยัญชนะต้นเหมือนกันหรือ
ใกล้เคียงกัน ส่วนความแตกต่าง กำหนดความแตกต่างให้เป็นเสียงที่สามารถอธิบายได้ตามหลักทางสรวิทยา เช่น ฐานกรณ์ใกล้เคียงกัน เป็นเสียงปฏิภาค เป็นการแปรของเสียง เกิดการกร่อน การสูญหายของเสียงใดเสียงหนึ่ง แต่ยังคงมีเค้าเสียงของคำเดิมอยู่ เป็นต้น ส่วนเรื่องของความหมายกำหนดให้เป็นความหมายที่สัมพันธ์กัน
เกี่ยวข้องกัน โดยดูจากรูปคำแล้วสามารถสันนิษฐานได้ด้วยหลักทางสรวิทยา เช่น
การแปรของเสียง การสูญหายของเสียง การแตกพยางค์ เป็นต้น ส่วนเรื่องของความหมาย กำหนดให้มีความหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หรือเป็นเหตุเป็นผลกัน

ผลการศึกษา
ต่อไปนี้จะนำเสนอเนื้อหาตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย 2 หัวข้อ คือ 1. ความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน และ 2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคำศัพท์ในภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน ตามลำดับดังต่อไปนี้

1. ความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน
จากการศึกษาทบทวนวรรณกรรม สามารถสรุปความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีนได้ในประเด็นต่อไปนี้
1.1 การศึกษาเกี่ยวกับภาษาตระกูลไท และการศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท – จีน
เกี่ยวกับการจัดแบ่งตระกูลภาษาของภาษาไทยนี้ นักภาษาศาสตร์มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปหลายทฤษฎี ความแตกต่างนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดแบ่งตระกูลภาษา หากแต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงชื่อเรียกภาษาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไทย ไท ไต ได ลาว สยาม กัมไท ในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน มีตัวอักษรที่เรียกชื่อภาษาไทหรือชาวไทอย่างน้อยสี่ตัวขึ้นไป คือ泰 (tài) 傣 (dǎi) 台 (tái ) 暹 (xiān) สำหรับชื่อเรียกภาษา มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมายแล้ว เช่น เรืองเดช (2531) ในหนังสือชื่อ “ภาษาถิ่นตระกูลไทย” จิตร(2519) ในหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” สุริยา (2548) ในหนังสือชื่อ “นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท” ผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ตามรายการที่ให้ในบรรณานุกรม
แต่สิ่งสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การจัดแบ่งตระกูลภาษาที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยและภาษาจีนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผู้เขียนจะเรียกตาม สุริยา (2548:1-14) ที่ว่าคำว่า “ไท” เป็นคำที่เป็นกลางมากที่สุด ในบทความนี้จึงจะเรียกตามว่า “ภาษาตระกูลไท” ยกเว้นการอ้างอิงข้อความคิดของนักวิชาการท่านอื่น จะคงคำเรียกตามที่อ้างมา ส่วนภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาไทยที่มี ย. บางตำราเรียกว่าภาษาไทยกรุงเทพฯ ในบทความนี้เรียกว่า ภาษาไทย
โดยทั่วไปถือว่าภาษาไทยเป็นตระกูลย่อยภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาใหญ่ จีน-ธิเบต ซึ่งภาษาตระกูลจีน – ธิเบตนี้ เป็นตระกูลภาษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาคือ (1)สาขาภาษาจีน (2)สาขาภาษาไทย (3) สาขาแม้วเย้า (4) สาขาธิเบตพม่า (เรืองเดช. 2531:2) อย่างไรก็ตามนักภาษาศาสตร์หลายท่านเรียกชื่อตระกูลภาษานี้แตกต่างกันไป อย่างเช่น เกรียสัน (Grierson.1903:28) เรียกรวมเป็นตระกูลเดียวกันกับภาษาจีนว่า ตระกูลภาษาไทยจีน (Siamese-Chinese family) เบเนดิก (Benedict. 1975:576-601) เรียกว่า ออสโตร – ไทย (Astro-Tai) เพราะเห็นว่าเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลออสโตรเนเชียน ต่อมามีการตั้งชื่อตระกูลภาษาไทอีกหลายชื่อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บ้างเรียกว่า ตระกูลภาษาไทย ตระกูลภาษาไต แยกออกมาเป็นตระกูลภาษาใหญ่ต่างหาก บ้างเรียกว่าตระกูลคำไต (KamTai family) และ ภาษาไดอิก (Daic) โดยรวมภาษาไทยถิ่นต่างๆที่พูดในประเทศต่างๆ 8 ประเทศเป็นตระกูลเดียวกันหมด เบเนดิก (Benedict. 1942:576-601) ได้ตั้งชื่อตระกูลภาษานี้ใหม่ว่า ตระกูลภาษาไทยกะได (Tai Kadai) เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาษาไทยถิ่นที่พูดอยู่ที่เกาะไหหลำ อ่าวตังเกี๋ย และภาษากลุ่มตระกูลภาษาไทยที่พูดอยู่ที่ประเทศจีน และเวียดนามทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภาษาตระกูลไทโดยยึดเกณฑ์ต่างๆกัน เช่น พระยาอนุมานราชธน( เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. 2531:61 อ้างอิงจาก พระยาอนุมานราชธน.2517) เป็นการจัดแบ่งโดยยึดหลักภูมิศาสตร์ ก็กล่าวถึงกลุ่มภาษาไทย-จีน คือภาษาไทยที่พูดอยู่เขตประเทศจีนบริเวณกวางสี ไกวเจา กวางตุ้ง เช่นภาษาไทยลาย ไทยลุง ไทยย้อย ไทยโท้ ไทยนุง ผลงานของนักวิชาการชาวจีน หลี่ฟางกุ้ย (Li Fanggui)[4](Li:1959) ที่ใช้หลักเกณฑ์ทางภาษา คือเกณฑ์ทางการกระจายคำศัพท์ ลักษณะทางเสียงและพัฒนาการทางเสียง ในการแบ่งกลุ่มภาษาไทยก็ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องของภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนกับภาษาไทยกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกหลายท่านที่ศึกษาภาษาตระกูลไท และจัดให้ภาษาที่พูดอยู่ในประเทศจีน หรือภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นสมาชิกในภาษาตระกูลไท เช่น เฮิร์ทแมน (John F. Hurtmann. 1986) จัดแบ่งภาษาไทยเฉพาะกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ของ Li Fanggui เป็นกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่างนี้ครอบคลุมไปถึงตอนใต้สุดของตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังมีนักภาษาศาสตร์ในยุคต่อจาก Li Fanggui อีกหลายท่าน เช่น บราวน์ เจดนี และ แชมเบอร์เลน (Brown.1965;Gedney.1972; Chamberlain.1972) ก็ได้ดำเนินรอยตาม Li Fanggui โดยในการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทล้วนมีความเกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลจีน หรือเป็นภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนทั้งสิ้น เรืองเดช (2531) นักวิชาการภาษาตระกูลไทยได้จัดแบ่งภาษาตระกูลไทยออกเป็น “กลุ่มไท” โดยรวมภาษากลุ่มไทสยามและลาวไว้ในกลุ่มเดียวกัน และ “กลุ่มไต” รวมภาษาไตยวน ไตหลวง ไตจีนไว้ด้วยกัน จากข้อมูลการศึกษาและการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทจะเห็นว่าภาษาไทยมีร่องรอยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภาษาจีนอยู่
ตามทรรศนะของนักวิชาการจีน จัดภาษาไทยอยู่ในภาษาตระกูลจีนธิเบต สาขาภาษาต้งไถ สาขาย่อยภาษาไต (梁敏,张均如:1996:7) และเพื่อยืนยันว่าภาษาไทยจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาเดียวกัน การศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนจึงเป็นความสนใจของนักภาษาศาสตร์และนักศึกษาภาษาไทย-จีนมาช้านาน
ผลงานที่สำคัญที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาจีน โดยวิธีการเปรียบเทียบคำศัพท์ เช่น คอนเรดี และ วัลฟ ( 龚群虎.2002:5,อ้างอิงจาก Conrady & Wulff) รวบรวมคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทย-จีนกว่า 200 คำ ประพิน (P.Manomaivibool:1975) รวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ ที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนถึง 600 คำ นักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (李方桂:1976) ได้รวบรวมคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาจีนกับภาษาในสาขาภาษาไท(ไต) ร้อยกว่าคำ และงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่สนับสนุนแนวคิดคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนคือ ผลงานของ กงฉวินหู่ (Gong Qunhu) (龚群虎:2002) ผลการวิจัยนี้เปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยกับภาษาจีน และชี้ให้เห็นวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของภาษาไทยและจีนในแต่ละยุค แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ (1) คำศัพท์ร่วมสายเลือดภาษาไทยจีน ซึ่งหมายถึงคำศัพท์ที่เคยเป็นภาษาเดียวกันมาตั้งแต่อดีต (2) คำศัพท์ที่มีการถ่ายเทซึ่งกันและกันในยุคสองพันปีลงมา (3) คำศัพท์ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาจีนในยุคที่ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในระยะร้อยสองร้อยปีมานี้ นับเป็นการเพิ่มเติมความรู้และวงคำศัพท์ให้กับวงการศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนเป็นอย่างมาก
1.2 การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาถิ่นตระกูลไทกับตระกูลภาษาใหญ่จีน - ทิเบต
หนังสือชื่อ นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท ของ สุริยา รัตนกุล (สุริยา : 2548) ในหนังสือเล่มนี้บทที่สี่เป็นเรื่องของภาษาตระกูลไทและภาษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลไทในประเทศจีน มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ภาษาตระกูลไทแท้ๆที่อยู่ในประเทศจีนมีภาษาตระกูลไททั้งสามสาขา โดยภาษาไทฉาน ไทเหนือและไทลื้อเป็นภาษาตระกูลไทสาขาตะวันตกเฉียงใต้ ภาษาไทโท้และไทนุงเป็นภาษาตระกูลไทสาขากลาง และภาษาไทย้อยกับภาษาไทจ้วงเป็นภาษาตระกูลไทสาขาเหนือ การที่ประเทศจีนมีตัวแทนของภาษาตระกูลไททั้งสามสาขาอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ดังนี้ ก็เพราะประเทศจีนเป็นถิ่นเดิมของผู้ที่พูดภาษาตระกูลไท นักภาษาศาสตร์เชื่อกันว่าถิ่นเดิมของผู้พูดภาษาตระกูลไทเมื่อหลายพันปีก่อนนั้น อยู่ที่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีนตอนที่ต่อกับประเทศเวียดนาม” นั่นก็หมายความว่าภาษาตระกูลไทในแผ่นดินจีนมีความสัมพันธ์กับภาษาฮั่น ซึ่งสืบทอดมาเป็นภาษาจีนในปัจจุบันมานานแล้ว หากไม่พูดถึงคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท – จีน ที่หมายความถึงคำที่นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นภาษาเดียวกันแล้วพัฒนาแตกสาขาไปเป็นภาษาอื่นๆ แม้หากไม่เชื่อว่าภาษาไทยและภาษาจีนเป็นภาษาร่วมสายตระกูลเดียวกัน อย่างน้อยๆ ในฐานะที่เป็นภาษาที่พูดอยู่ในดินแดนเดียวกัน ก็ย่อมมีการหลั่งไหลถ่ายเท ผสมปนเปกัน จนใช้ร่วมกันมานานหลายพันปี
หนังสือ พจนานุกรม และบทความของนักวิชาการสองท่าน คือ สมทรง บุรุษพัฒน์ และปราณี กุละวณิชย์ จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทกับภาษาตระกูลจีน-ทิเบต เช่น ภาษาและวัฒนธรรมของชนชาติกัม-ไท (จ้วง-ต้ง) (สมทรงและคณะ:2539) แนะนำชนชาติไท-กะได.(สมทรง บุรุษพัฒน์, เจอรี่ เอ เอ็ดมันสัน และมีแกน ซินนอท:2541) พจนานุกรมกัม-จีน-ไทย-อังกฤษ (สมทรง บุรุษพัฒน์, สุมิตรา สุรรัตน์เดชา และยังฉวน:2543) วรรณกรรมของชนชาติกัม-ไท (จ้วง-ต้ง) ในประเทศจีน (สมทรง บุรุษพัฒน์, โจวกั๋วเหยียน:2543)พจนานุกรมสุย-จีน-ไทย-อังกฤษ (สมทรง บุรุษพัฒน์, เวย เอ็ดมันสัน:2546) พจนานุกรมฮไล-จีน-ไทย-อังกฤษ.(สมทรง บุรุษพัฒน์, เวนมิงยิงและเวนยิง:2546) พจนานุกรมจ้วงเหนือ-จีน-ไทย-อังกฤษ (สมทรง บุรุษพัฒน์, ฉินเชียวหาง:2549) การเปรียบเทียบคำลักษณนามในภาษาตระกูลไท-กะได.(สมทรง บุรุษพัฒน์, โจว กั๋วเหยียน:2552) ผลงานเหล่านี้เป็นหลักฐานคลังคำศัพท์ที่ใช้ศึกษาเปรียบเทียบภาษาตระกูลไทได้อย่างวิเศษ แต่ยังไม่พบการศึกษาเปรียบเทียบภาษาถิ่นของไทยกับภาษาตระกูลจีน-ทิเบต โดยเฉพาะภาษาไทยถิ่นอีสาน
1.3 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไทและภาษาไทยถิ่นอีสาน
หนังสือชื่อ ภาษาถิ่นตระกูลไทย ของ เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์ (เรืองเดช:2531) ในหนังสือเล่มนี้จัดกลุ่มภาษาถิ่นตระกูลไทยในประเทศไทยเป็น 19 ภาษาถิ่นด้วยกัน ได้แก่ 1.ภาษาไทสยาม หรือ ภาษาไทยกลาง 2. ภาษาไทใต้หรือภาษาไทยถิ่นใต้ 3.ภาษาไทตากใบ 4.ภาษาไทลาว หรือภาษาไทยถิ่นอีสาน 5.ภาษาไทญ้อ 6.ภาษาไทโย้ย 7. ภาษาไทพวน 8.ภาษาผู้ไท 9. ภาษาไทกะเลิง 10 ภาษานครไท 11.ภาษาไทแสก 12. ภาษาไตยวน หรือ ภาษาคำเมือง 13. ภาษาไตใหญ่ 14. ภาษาไตหย่า 15.ภาษาไตขึน 16. ภาษาไตลื้อ 17. ภาษาไตยอง 18.ภาษาไตดำ 19.ภาษาไตแดง
ในหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายภาษาถิ่นตระกูลไทยข้างต้น หมายเลข 4. ภาษาไทลาว หรือภาษาไทยถิ่นอีสาน (Northeastern Thai Dialect) ว่า ภาษาไทยถิ่นอีสานได้แก่ ภาษาไทยลาวที่พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นนี้คนไทยในประเทศไทยนิยมเรียกภาษานี้ว่า ภาษาไทยถิ่นอีสานหรือ ภาษาลาว มีพูดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 16 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นอีสานมีภาษาถิ่นอยู่หลายถิ่นหลายสำเนียง คือ 1.สำเนียงหลวงพระบาง (Luangphrabang Dialect) 2.สำเนียงเวียงจันทน์ (Vientien Dialect) 3. สำเนียงอีสาน (Isan Dialect) ต่อจากนี้ไปจะใช้คำเรียกภาษาไทยถิ่นอีสานตาม เรืองเดช ว่า “ภาษาไทยถิ่นอีสาน”
ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เสนอต่อมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ของ พัชราภรณ์ เศวตสุวรรณ (พัชราภรณ์:2530) เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางกับภาษาตระกูลไท ปริญญานิพนธ์นี้รวบรวมคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลาง และเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางกับภาษาตระกูลไท โดยใช้วิธีเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานกับภาษาไทถิ่นต่างๆ ในภาษาตระกูลไทจำนวน 39 ภาษา สามารถรวบรวมคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางได้ถึง 1,447 คำ
งานด้านพจนานุกรมและสารานุกรมเกี่ยวกับภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เป็นข้อมูลการเปรียบเทียบคำศัพท์และข้อมูลคลังคำศัพท์ในขั้นเริ่มต้นที่สามารถนำมาใช้ศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้เป็นอย่างดี เช่น พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน:2530) พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน–กลาง(ขอนแก่น,มหาวิทยาลัย:2532) สารานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน-ไทย-อังกฤษ(ปรีชา:2532) พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน(เว่าอีสาน) (บุญเกิด:2545) พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน(คำพูน:2548) คำภาษาไทยถิ่นอีสานในบทความนี้ก็ได้ตรวจสอบจากพจนานุกรมดังกล่าวนี้เช่นกัน เป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่มีพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน-จีน เหมือนอย่างพจนานุกรมที่เปรียบเทียบภาษาตระกูลไทอื่นๆ กับภาษาจีนดังที่ปรากฏข้างต้น เพราะจะเป็นคลังคำศัพท์ที่สามารถนำมาศึกษาได้แบบสำเร็จรูป และจะเห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับภาษาไทยถิ่นอีสานนั้นยังคงศึกษาอยู่ในวงภาษาไทยถิ่นอีสานด้วยกันเองหรือภาษาไทกลุ่มอื่นๆในประเทศไทยเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาในตระกูลไท-จีน
หนังสือ พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (สุจิตต์ :2549) แม้จะไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาตระกูลไท–จีนโดยตรง แต่มีข้อมูลชี้ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเชื้อชาติของชาวอีสานกับกลุ่มชนในประเทศจีน จะขอตัดตอนข้อความสำคัญมาดังนี้
ชาวอีสาน หรือคนอีสาน มีบรรพชนอย่างน้อย 2 พวก คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ภายในสุวรรณภูมิเป็นกลุ่มชนที่มีชีวิตร่อนเร่อยู่ในดินแดนอีสานนานมากกว่า 5,000 ปีมาแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า คนอีสานพวกแรกเหล่านี้เป็นชนกลุ่มไหน เผ่าพันธุ์ใด กับอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มคนภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาภายหลังจากทิศทางต่างๆ มีร่องรอย และหลักฐานสรุปย่อๆ ได้เป็นสองกลุ่ม คือ (1) ราว 3,000 ปีมาแล้ว มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนพวกนี้มาจากทางตอนใต้ของจีนปัจจุบัน (แต่ครั้งนั้น 3,000 ปีมาแล้ว ยังไม่เป็นดินแดนของจีน) เช่น ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง เวียดนาม ฯลฯ สิ่งสำคัญที่คนภายนอกพวกนี้นำเข้ามาด้วยคือ ภาษา ที่ปัจจุบันเรียกตระกูลไทย-ลาว มีหลักฐานแน่นหนาว่า เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว คนพื้นเมืองในกวางสี-กวางตุ้ง พูดภาษาตระกูลไทย-ลาวแล้ว และ (2) ราว 2,000 ปีมาแล้ว มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 500 มีคนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้กลุ่มหนึ่ง จากชมพูทวีปและลังกาทวีป เดินทางผ่านชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และปากแม่น้ำโขง ขึ้นมาถึงบริเวณ 2 ฝั่งโขง ทำให้มีคนตะวันตกเฉียงใต้บางพวก เข้ามาตั้งหลักแหล่งทางอีสานด้วย
1.4 การศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน
สำหรับความสัมพันธ์ของภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีนนั้น หากคิดโดยผิวเผินดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ จึงยังไม่พบว่ามีการศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน จากข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาตระกูลไท–จีน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่าภาษาไทยเป็นภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีน ในขณะที่ภาษาไทยกับภาษาไทยถิ่นอีสาน มีความสัมพันธ์กันแบบสายเลือดที่มีความใกล้ชิดอย่างพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ภาษาไทยถิ่นอีสานจึงมีความสัมพันธ์แบบภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีนด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าในภาษาไทยถิ่นอีสานจะยังคงหลงเหลือคำศัพท์ (ที่ไม่มีในภาษาไทย) ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีนมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป

2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคำศัพท์ในภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีน
จากการศึกษาสามารถจับคู่คำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาจีนที่มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ เป็นคำโดด 407 คำ[5] และคำเสริมสร้อยสองพยางค์จำนวน 176 คำ ดังจะอธิบายทั้งสองหัวข้อต่อไปนี้
2.1 คำโดดที่มีความสัมพันธ์กัน ลักษณะเด่นที่พบในกลุ่มคำโดดมีระดับความสัมพันธ์กันดังนี้
2.1.1 คำโดดที่เหมือนกัน (ดูรายละเอียดข้อกำหนดระดับความสัมพันธ์ในหัวข้อการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น) เช่น[6]
จ่าน / ขยายออก แผ่ออก / 展 zhǎn / ขยายออก แผ่ออก/
ส่วง / โปร่ง โล่ง สบาย / 爽 shuǎnɡ / โปร่ง โล่ง สบาย/
เหิง / ยาวนาน / 恒 hénɡ / ยาวนาน
โข่ง / กลวง เปล่า/ 空kōnɡ / กลวง ว่างเปล่า
กง / เที่ยงธรรม ยุติธรรม /公 ɡōnɡ / ยุติธรรม เที่ยงธรรม

2.1.2 คำโดดที่สัมพันธ์กัน แบ่งได้ดังนี้
2.1.2.1 คำที่มีการแปรของเสียง เกิดจากการกร่อนและการสูญหายของ
เสียง การเป็นเสียงปฏิภาค การเป็นเสียงปฏิภาคกับภาษาไทยแต่เป็นเสียงเดียวกันกับภาษาจีน และการแตกพยางค์
(1) การกร่อนและการสูญหายของเสียง เกิดจากเสียงบางเสียงเกิดการกร่อนหรือแปรไปเป็นเสียงที่มีฐานกรณ์ใกล้เคียงกัน หรือเสียงสระใดสระหนึ่งในสระประสมสูญหายไป หรือพยัญชนะท้ายเกิดการกลายเสียงหรือสูญหาย เช่น
โส / คุยกัน สนทนากัน / 说 shuō / พูด คุย/
ตู้ / ทู่ ไม่คม/ 钝 dùn / ทู่ ไม่คม/
ฮง[7] / สุกใส แวววาวเป็นประกาย/ 晃huāng แสงจ้าตา สว่างจ้าตา/
แถน / เทวดา / 天tiān / ฟ้า เทวดา
ฝุง / ปะ เย็บ / 缝fénɡ / ปะ เย็บ
(2) การเป็นเสียงปฏิภาค พบเสียงปฏิภาคหลายคู่ และหลายคำ เช่น / p- ph /, /p – f / , /th – t /, / d – t / ดังตัวอย่างต่อไปนี้
/ p- ph / ตัวอย่างเช่น
เปิง / เพิง ชานที่เปิดโล่ง / 棚 pénɡ / เพิงกลางแจ้ง /
ปุ้ง /ใหญ่ พอง โต ขยาย/ 膨pénɡ / ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น /
/p – f / ตัวอย่างเช่น
ป่ง / ผลิออก งอก / 丰 fēnɡ / อุดมสมบูรณ์/
ป่วง / บ้า / 疯 fēnɡ / บ้า/
/th – t / ตัวอย่างเช่น
ท่าว / ล้ม / 掉 diào / ล้ม /
เท็ง / ยอด / 顶dǐnɡ / ยอดบนสุด
/ d – t / ตัวอย่างเช่น
ดอน / เนินสูง / 墩 dūn / เนินดิน/
ดะ / ปะทะ กระทบ/ 打 dǎ / ตี /
(3) เป็นเสียงปฏิภาคกับภาษาไทย แต่เป็นเสียงเดียวกันกับภาษาจีน หมายความว่า เสียงที่ภาษาไทยถิ่นอีสานเป็นเสียงปฏิภาคกับภาษาไทย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาจีนแล้ว มีความใกล้ชิดมากกว่า คือ เป็นเสียงเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
- คู่เสียงพยัญชนะต้น /r/ - /h/ [8] เป็นที่ทราบกันดีว่าคำที่มีเสียงพยัญชนะต้น ฮ ในภาษาไทยถิ่นอีสาน เป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง ร ในภาษาไทยกลาง เช่น ฮ้าย-ร้าย / ฮง –รม / ฮ่าน – ร้าน / ฮุ่ง – รุ้ง/ ฮอง– รอง / เฮือง – เรือง แต่ในขณะที่เสียง ฮ ในภาษาไทยถิ่นอีสานในคำที่คู่กับเสียง ร ในภาษาไทยนี้ สามารถหาคู่คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง / h/ ในภาษาจีนได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น
ฮ้าย / ร้าย/ 害hài / ร้าย
ฮง / รม /烘hōnɡ/รม,อบ
ฮ่าน / ร้าน / 閈hàn/กำแพงเตี้ย
ฮุ่ง / รุ้ง / 虹hónɡ / รุ้ง
ฮอง / (เรือง)รอง/晃huǎnɡ / เรืองรอง
- คู่เสียงสระ /uo/ คำที่ภาษาไทยถิ่นอีสานออกเสียงสระ /uo/ ภาษาไทยออกเสียงสระ /ua หรือ / เช่น ดวก – ดอก / กั่ว – กว่า / สวง – สอง / ก้วง – กว้าง / ขวง – ขวาง/ เสียงสระนี้ของภาษาไทยถิ่นอีสาน ตรงกับเสียงของคำในภาษาจีน ดังตัวอย่าง
ดวก /ดอก/朵 duǒ / ดอก
กั่ว / กว่า / 过ɡuò / ผ่าน เลย กว่า
สวง / สอง /双shuānɡ / คู่
ก้วง , ขวง / กว้าง ,ขวาง /广阔ɡuǎnɡ kuò / กว้างขวาง
- คู่เสียงสระ /ia/ จากการเปรียบเทียบพบว่า คำที่ภาษาไทยออกเสียงสระ /®a/ เอือ ภาษาไทยถิ่นอีสานออกเสียงสระ /ia/ เช่น มะเขีย – มะเขือ / เกีย – เกลือ / เสี่ย – เสื่อ / เพี่ยน – เพื่อน / เสียงสระนี้ของภาษาไทยถิ่นอีสาน ตรงกับเสียงสระ /ia/ หรือ /i/ หรือ /a/ ในภาษาจีน เช่น
มะเขีย / มะเขือ/茄qié/ มะเขือ
เกีย /เกลือ /盐yán / เกลือ
เสี่ย / เสื่อ / 席xí/ เสื่อ
เพี่ยน / เพื่อน/伴bàn/เพื่อน
(4) การแตกพยางค์ จากการศึกษาพบว่า หากยึดภาษาจีนเป็นหลัก คำที่สามารถจับคู่ความสัมพันธ์กับคำพยางค์เดียวในภาษาจีน จะแตกเป็นคำสองพยางค์ในภาษาไทยถิ่นอีสาน โดยส่วนใหญ่พบว่า คำวิเศษณ์หรือคำกริยาพยางค์เดียว เมื่อแตกเป็นคำสองพยางค์ในภาษาไทยถิ่นอีสานแล้ว ยังคงมีความหมายอย่างเดิม พยางค์ใหม่ไม่มีความหมายใดเพิ่มเติม แต่ใช้เป็นคำเสริมสร้อยวางไว้หลังคำวิเศษณ์หรือกริยา เพื่อบอกลักษณะอาการของคำวิเศษณ์หรือกริยาในความหมายเดิมนั่นเอง ตัวอย่างเช่น (ปรากฏการณ์นี้เกิดจากคำพยางค์เดียว เมื่อแตกเป็นคำสองพยางค์แล้ว ใช้เป็นคำเสริมสร้อย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งที่พบ จึงจะนำเสนอรายละเอียดเรื่องนี้ในหัวข้อคำเสริมสร้อยสองพยางค์ในหัวข้อ 2.2 ต่อไป)
ซ่องล่อง / บอกลักษณะสิ่งของที่อยู่เป็นคู่/ 双 shuānɡ /คู่/
จ่านพ่าน / บอกลักษณะของการแผ่ขยายออก/ 展zhǎn /ขยาย/
ต้างหล้าง /ลักษณะที่เป็นหลุมโพรง/ 凼dànɡ /หลุม โพรง/
ซะซาย /บอกลักษณะสิ่งของที่กระจัดกระจาย/ 洒sǎ / กระจัดกระจาย/
ค้งน้ง / บอกลักษณะของที่โค้ง/ 弓ɡōnɡ / โก่ง โค้ง/
ตัวอย่างประโยค ไปนำกันซองลอง (ไปด้วยกันเป็นคู่ ) นั่งหน้าจ่านพ่านอยู่ฮั่น(นั่งหน้าบานอยู่ตรงนั้น) เป็นฮูต้างหล้าง(เป็นรูโหว่) วางของซะซาย (วางของกระจัดกระจาย) ฮุ่งโค่งค้งน้ง (รุ้งโค้งเป็นวง)
2.1.2.2 คำที่มีการแปรทางความหมาย หากยึดภาษาจีนเป็นภาษาตั้งต้น
จากข้อมูลที่มีอยู่พบการแปรทางความหมายหลายประเภท ได้แก่ A. การแปรจากคำนามเป็นคำกริยา B.การใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น C. การแปรจากคำนามเป็นคำวิเศษณ์ D. การแปรจากคำกริยาไปเป็นคำบอกผลแห่งกริยา E.การแปรจากคำกริยาไปเป็นคำที่บอกเหตุแห่งกริยา ตัวอย่างเช่น
A. ขวย / คุ้ยดิน / 凷 kuài / ก้อนดิน/
โคบ / ปล้น/ 冦 kòu / โจรผู้ร้าย ผู้รุกราน/
B. พืน / แผ่ ขยายออก/ 喷 pēn / พ่น กระเด็น/
มุ่ง / สุกใส รุ่งเรือง/ 明 mínɡ / สว่าง/
C. วาก /ลักษณะการพูดเสียงดัง / 话 huà / คำพูด/
มุ่น / ละเอียด แหลก / 粉fěn /แป้ง ฝุ่น /
D. วาก / แหว่ง ขาด วิ่น/ 划 huá / กรีด/
ป้ง / โป่ง พอง/ 膨pénɡ / ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น/
E. ลั๊วะ / ลุทิ้ง ทำให้ไหลออก/ 流liú /ไหล/
ป่ง / ผลิออก งอก / 丰feng1 / อุดมสมบูรณ์/
2.1.3. คำเกี่ยวข้องกัน จัดเป็นคำที่สันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกัน หรือน่า
สงสัยว่าจะมีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างเช่น
โต้น / ลูกตุ้มชั่ง /斗dòu / ชื่อมาตราวัดของ เครื่องตวงข้าว
โทลา / ชิงช้า /拖 - 拉tuō – lā / ดัน – ดึง
โทเล / แกว่งไกวไปมา/ 拖 - 拉tuō – lā / ดัน – ดึง
มือฮือ / มะรืน /明后mínɡhòu / วันหลัง

2.2 คำเสริมสร้อยสองพยางค์[9]
คำเสริมสร้อยในภาษาไทยถิ่นอีสานเกิดจากการนำคำศัพท์สองคำมาซ้อนกัน หรือ
จากคำศัพท์คำเดียวแล้วแตกคำเป็นสองพยางค์ด้วยสระหรือพยัญชนะที่สัมพันธ์หรือคล้องจองกัน จากนั้นคำซ้อนสองพยางค์นี้ยังสามารถแตกตัวไปเป็นคำใหม่ได้อีกหลายคำด้วยวิธีการแปรเสียงสระที่ต่างระดับกัน คำใหม่ที่เกิดจากเสียงสระต่างระดับกันนี้ มีผลต่อความหมายในการขยายออก หรือแคบเข้าที่ต่างระดับกัน เช่น จิ่งปิ่ง จ่องป่อง จึ่งปึ่ง โจ่งโป่ง คำทั้งสี่คำนี้บอกลักษณะของช่อง โพรง ที่สายตามองทะลุได้ มีลักษณะจากเล็กถึงใหญ่ 4 ระดับ และถ้าขนาดใหญ่มากอย่างไม่มีขอบเขต ยังสามารถแปรสระเพื่อขยายความหมายออกไปอีกเป็นคำที่ 5 ว่า จ่างป่าง คำเหล่านี้ใช้วางไว้หลังคำนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ที่มีความหมายเดียวกันเพื่อเสริมคำเป็นสร้อยคำ ทำหน้าที่บอกลักษณะหรือขยายความหมายของคำหน้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากการสร้างคำและการใช้ของคำภาษาไทยถิ่นอีสานข้างต้นที่ใช้เพื่อเสริมความหมายและใช้เป็นสร้อยคำนี้ จึงเรียกคำประเภทนี้ว่า “คำเสริมสร้อย”
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่ปรากฏในพจนานุกรมแทบทุกคำ สามารถหาคู่คำที่มีเสียงและความหมายสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ ไม่พยางค์หน้าก็พยางค์หลัง หรือไม่ก็ทั้งสองพยางค์ หากยึดภาษาจีนเป็นหลัก สามารถวิเคราะห์การสร้างคำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่มีรากคำมาจากคำพยางค์เดียวในภาษาจีน ได้ดังนี้ 2.2.1 การเติม affixation 2.2.1.1 หน่วยเติมหน้า คือการเกิดหน่วยเสียงเติมหน้า หน่วยเสียงที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ไม่ได้ทำหน้าที่บอกความหมายใดๆ เป็นแต่เพียงการซ้อนเพื่อเสียงเท่านั้น ตัวอย่างคำ เช่น มะนึง / ติดกันเป็นพืด /凝nínɡ / เกาะตัว แข็งตัว มะล้อน / อาการแกว่งของวัตถุ / 抡lūn / กวัดแกว่ง มะลัง / ยุ่งเหยิง /缆lǎn / เชือกหรือโช่ที่ฟั่นหลายเกลียว มะลาม / ไม่เป็นระเบียบ /乱luàn / ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า เกิดหน่วยเติมหน้า /มะ/ ขึ้นที่หน้ารากศัพท์ให้เป็นคำสองพยางค์ แต่คำที่บอกความหมายหลักอยู่ที่พยางค์ที่สอง หลังจากที่สร้างคำสองพยางค์แล้ว ยังสามารถใช้วิธีการคล้องจองสร้างคำสร้อยสองพยางค์เข้ามาเพิ่มต่อท้ายได้อีก แล้วพูดต่อกันเป็นคำสี่พยางค์ แต่ไม่ว่าจะขยายคำออกไปอย่างไร รากศัพท์ยังคงสื่อความหมายดังเดิม2.2.1.2 หน่วยเติมกลาง คือการเกิดหน่วยเสียงแทรกตรงกลางระหว่างคำ หน่วยเสียงที่แทรกมา พบว่ามักเป็นพยัญชนะสะกดของรากคำเดิม หรือฐานกรณ์ที่ใกล้เคียงกับพยัญชนะต้นหรือพยัญชนะท้ายของคำเดิมนั่นเอง หรือเป็นเสียง /ย ร ล ว/ และมักจับคู่แน่นอนกับพยัญชนะต้นคำเดิม เช่น /พ,ป คู่กับ ว/ / จ คู่กับ ก,พ/ /ค คู่กับ น/ /ซ คู่กับ ล/ เป็นต้น เมื่อแทรกแล้วจะกลายเป็นคำสองพยางค์ แต่รูปคำทั้งพยัญชนะต้น สระ และพยัญชนะสะกดยังคงเดิม หรือแปรไปเล็กน้อยเท่านั้น ตัวอย่างคำเช่น ข้ายหย้าย / ผละออกจากกลุ่มทันที /开kāi / เปิดออก เคลื่อนที่ออกไป จ่านพ่าน / กระจายเกลื่อนอยู่ / 展zhǎn / แผ่ขยายออกไป ค้งน้ง / โค้ง โก่งมาก /弓ɡōnɡ / โค้ง โก่ง ซื่อลื่อ / ตรง ทื่อ เซ่อ /实shí / ซื่อ ตรง ป้องหง้อง / ล้ม พังลงมา / 崩bēnɡ / พังทลาย พัง แตก จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า เกิดหน่วยคำเติมกลางแทรกกลางระหว่างสระและพยัญชนะท้ายของรากศัพท์ หน่วยเติมกลางดังแสดงเป็นตัวอักษรทึบดังนี้ ข้ายหย้าย จ่านพ่าน ค้งน้ง ซื่อลื่อ ป้องหง้อง 2.2.1.3 หน่วยเติมท้าย เป็นการเติมหน่วยคำซ้อนต่อท้ายคำเดิม โดยที่เสียงพยัญชนะต้นของพยางค์ที่สองมักเป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก เสียงสระก็เป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก แต่ความสั้นยาวจะตรงกันข้ามกัน กล่าวคือถ้าพยางค์หน้าเป็นสระสั้นพยางค์หลังจะเป็นสระยาว แต่ถ้าพยางค์หน้าเป็นสระยาวพยางค์หลังจะเป็นสระสั้น นอกจากนี้ยังพบว่า คำสองพยางค์บางคำทั้งพยางค์หน้าและพยางค์หลังเป็นคำมีความสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนทั้งสองคำ ตัวอย่างคำเช่น ก่งโก๊ะ / อาการยืนหรือเดินหลังโกง /弓ɡōnɡ / โค้ง โก่ง ซะซาย / กระจัดกระจาย เรี่ยราด /洒sǎ / กระจัดกระจาย เรี่ยราด แว่งแวะ / ลอยละล่อง /滃wěnɡ / เมฆลอยขึ้น ปิ่งสิ่ง / แก้มที่สวยงาม /庞pánɡ / ใบหน้า / 腮sāi / แก้ม ก้วนด้วน / สิ่งของเป็นท่อนสั้นๆ /棍 ɡùn/ท่อนไม้ / 断duàn / ท่อน ดุ้น จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า หน่วยเติมท้ายที่เติมเข้ามา พยัญชนะต้นพยางค์ที่สองซ้ำกับพยัญชนะต้นรากศัพท์เดิม โดยสลับความสั้นยาวของสระ แสดงเป็นอักษรทึบ ดังนี้ ก่งโก๊ะ ซะซาย แว่งแวะ ส่วนคำที่สามารถหาคู่คำสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ทั้งสองคำ ได้แก่ ปิ่งสิ่ง และ ก้วนด้วน 2.2.2 กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย คือ รากศัพท์เดิมเพียงคำเดียว สามารถนำมาสร้างคำสองพยางค์ได้หลายคำ โดยวิธีการแปรเสียงสระที่แตกต่างกัน มีผลทำให้ความหมายแปรไป แต่ยังคงเค้าความหมายจากรากศัพท์เดิม ตัวอย่างคำเช่น ก่งโก้ย / อาการเดินหลังโกง/弓ɡōnɡ / โค้ง โก่ง ก่งโก๊ะ / อาการยืนหรือเดินหลังโกง / 弓ɡōnɡ / โค้ง โก่ง ก่งจ่ง / ลักษณะที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน /弓ɡōnɡ / โค้ง โก่ง ง้วงเงี้ยง / เลื้อยคดไปคดมา /扭niǔ / หมุนหันบิด[10] งอกแงก / โยกไป คลอนมา /扭niǔ / หมุนหันบิด ง่อมเงาะ / งอ คด /扭niǔ / หมุนหันบิด เซกเลก / ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน / 脸liǎn / ใบหน้า เซ่เล่ / ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ / 脸liǎn / ใบหน้า เซ่มเล่ม / หน้ากระดูกยาวไม่สวย / 脸liǎn / ใบหน้าจากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำว่า弓 (ɡōnɡ) หมายถึง “โค้ง โก่ง” สามารถสร้างเป็นคำเสริมสร้อยในภาษาไทยถิ่นอีสานหลายคำได้แก่ ก่งโก้ย ก่งโก๊ะ ก่งจ่ง รากศัพท์คำว่า扭 (niǔ) หมายถึง“หมุนหันบิด” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาไทยถิ่นอีสานหลายคำได้แก่ ง้วงเงียง งอกแงก ง่อมเงาะ นอกจากนี้ยังมี ง้องแง้ง งักแง่น งุบเงิบ งูบงาบก็มีความหมายในลักษณะเดียวกัน รากศัพท์คำว่า脸 (liǎn) หมายถึง“ใบหน้า” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาไทยถิ่นอีสานหลายคำได้แก่ เซกเลก เซ่เล่ เซ่มเล่ม เป็นต้น 2.2.3 การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น คือ การใช้เสียงพยัญชนะและสระในรากศัพท์เดิม แจกพยางค์ออกเป็นสองพยางค์ โดยที่เสียงอัฒสระ /u,i/ แปรไปเป็นพยัญชนะต้น / ว , ย / ของพยางค์ที่สอง ( สระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ /u/ ) ตัวอย่างคำเช่น กากวาก / ลักษณะเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่/广ɡuǎnɡ / บริเวณกว้างใหญ่ เก่เหว่ / เหย เบ้ เบี้ยว/ 拐 ɡuǎi / เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ พู้วู้ / พูน นูนขึ้นมา/ 坡pō / เนิน พิญิ / ลักษณะบาดแผลเล็ก / 擗pǐ / แตก แยกออกจากของเดิม สอยวอย / สดชื่น งดงาม / 帅shuài / สะโอดสะอง งดงาม สวะสวาง / โล่งอก โล่งใจ / 爽shuǎnɡ / ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น ยีย่อง / นวลงาม ผุดผ่อง/ 艳yàn / งามหรูหรา งามฉูดฉาด ยียน / ใสงาม แวววาว /妍yán / สวยงาม จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า เสียงอัฒสระในรากศัพท์เดิม เมื่อแปรมาใช้เป็นคำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาไทยถิ่นอีสาน จะกลายเป็นเสียงพยัญชนะต้น เช่น 广ɡuǎnɡกากวาก 拐ɡuǎi เก่เหว่ 帅shuài สอยวอย 妍yán ยียน ในที่นี้ถือว่าสระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ / u / อย่างเช่นคำว่า坡po1 พู้วู้ นอกจากนี้ พบคำเสริมสร้อยสี่พยางค์ที่มีมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนและมีวิธีการสร้างคำแบบเดียวกันนี้หนึ่งคำคือ สวะสวาง มาจากคำว่า爽shuǎnɡ2.2.4 การสลับที่ จากข้อมูล พบคำเสริมสร้อยที่มาจากรากศัพท์เดิม สามารถสลับที่กันไปมาระหว่างพยางค์ที่หนึ่งและพยางค์ที่สองได้ โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างคำเช่น จ่างจ๊ะ = จ๊ะจ่าง / ถ่างออก เบ่งออก / 张zhānɡ / เปิดออก ถ่างออก ซะซาย = ซามซะ / กระจัดกระจาย เรี่ยราด / 洒sǎ / กระจัดกระจาย เรี่ยราด โซงโลง = ลองซอง / คู่กันอย่างเป็นระเบียบ / 双shuānɡ / คู่ ม้อต้อ = ต้อป้อ / อ้วน เตี้ย สั้น / 短duǎn / สั้น จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำเดิมมีการสร้างคำหลายวิธีดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 หลังจากที่สร้างคำแล้ว คำสองพยางค์สามารถพูดสลับกันได้ แต่ความหมายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังแสดงเป็นอักษรทึบดังนี้ 张 (zhānɡ) จ่างจ๊ะ - จ๊ะจ่าง 洒 (sǎ) ซะซาย – ซามซะ 双 (shuānɡ) โซงโลง – ลองซอง 短 (duǎn) ต้อป้อ – ม้อต้อ สรุปผลการวิจัย
จากข้อมูลคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานที่พบในงานวิจัยนี้ พบว่าคำศัพท์ที่เลือกมามีความสัมพันธ์กับภาษาจีนอย่างใกล้ชิดและมีกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำในภาษาไทยถิ่นอีสานจำนวนมากที่ไม่มีในภาษาไทย แต่สามารถหาคู่คำสัมพันธ์ในภาษาจีนได้ทั้งที่เป็นคำที่มีเสียงและความหมายเหมือนกัน สัมพันธ์กัน หรือเกี่ยวข้องกัน ประกอบกับหลักฐานของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศจีนตอนใต้ยังมีกลุ่มชนที่พูดภาษาที่มีความใกล้ชิดกับภาษาตระกูลไทเป็นจำนวนมาก เช่น ภาษาเบ (Be) ภาษาลักเกีย (Lakkia) ภาษาตระกูลกัม-สุย (Kam-Sui) ภาษาฮลาย(Hlai) ภาษาลักกะ (Laqua) ภาษาเก้อหล่าว (Gelao) เป็นต้น เป็นที่ทราบกันดีว่าภาษาไทยถิ่นอีสานใกล้ชิดเป็นภาษาเดียวกันกับภาษาของคนในประเทศลาว ข้อมูลคำศัพท์และความสัมพันธ์ในงานวิจัยนี้จึงสามารถสนับสนุนแนวคิดที่ว่า คนไทยลาวหรือคนอีสานนั้นเป็นกลุ่มชนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนอย่างใกล้ชิด จะด้วยเหตุผลที่อยู่ในความแวดล้อมของภาษาจีน หรือใกล้ชิดกับกลุ่มชนที่พูดภาษาจีน หรือเป็นภาษาเดียวกันกับภาษาจีนมาก่อนก็ตาม แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ภาษาไทยถิ่นอีสานมีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีนแน่นอน สนับสนุนแนวคิดที่ว่าบรรพบุรุษของชาวอีสานที่แต่เดิมกระจายตัวอยู่ทางตอนใต้ของจีน ได้ขยายเขตที่อยู่อาศัยลงมาถึงตอนเหนือของลาว แล้วเลยเข้าสู่ภาคอีสานของไทย ข้อเสนอแนะ ในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ มีผู้คน 4 กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ได้แก่ ไทย ไทยลาว เขมร ส่วย และกลุ่มจีนซึ่งอพยพเข้ามาภายหลัง ในระหว่างศึกษาวิจัย ผู้วิจัยสังเกตเห็นคำศัพท์หลายคำที่มีความสัมพันธ์กันในทั้ง 4 ภาษา ในขณะที่คำดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับคำในภาษาจีน เช่น
จีน
ไทย
เขมร
ส่วย
片piàn
แผ่น
แพน
พอล
匠 jiànɡ
ช่าง
เจียง
เจียง
万 wàn
หมื่น
เมิน
มืน
献xiàn
เซ่น
แซน
เซน
晕yūn
วิง เวียน
วิล
เวล
退tuì
ถอย
ทอย
ทอย
骑qí
ขี่
จิ๊ฮ
ฉิ
样yànɡ
อย่าง
ยาง
ยาง
针zhēn
เข็ม
จุล
เจือล
要yào
เอา
ยัว
แอ
哪nǎ
ไหน
นา
นา สันนิษฐานว่า คำเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นคำยืมจากชาวจีนแต้จิ๋วที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ในช่วงร้อยถึงสองร้อยปีนี้ แต่น่าจะเป็นคำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กันมาแต่อดีตหรือเคยมีการสัมผัสภาษามาแต่อดีตในยุคสองพันปีลงมา(อ้างอิงการแบ่งระยะความสัมพันธ์ของภาษาไทยกับภาษาจีนจากงานวิจัยของ กงฉวินหู่,龚群虎:2002) เพราะหากเป็นคำยืมในยุคหลัง ก็ควรจะเป็นสำเนียงแต้จิ๋วที่ยืมผ่านภาษาไทยอย่างเช่น แปะก๊วย ตือฮวน อาแปะ ตั่วเจ๊ ซ่วยตี๋ หมวย อั๊ว ลื้อ กี่เพ้า เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานใต้กับภาษาจีน เป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษาต่อไป บรรณานุกรม
กาญจนี ละอองศรี.(2525) “การค้นคว้าศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทย” เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา
ของสมาคมประวัติศาสตร์ เรื่อง “เวทีความรู้ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน” ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย วันที่ 30 – 31 มกราคม 2525.
ขอนแก่น,มหาวิทยาลัย. (2532) พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน-กลาง. สหวิทยาลัยอีสาน: ขอนแก่น.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน.(2530) พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.อรุณ
การพิมพ์,กรุงเทพฯ.
คำพูน บุญทวี.(2548) พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสานฉบับคำพูน บุญทวี.พิมพ์ครั้งที่ 1,โป๊ยเซียน: กรุงเทพฯ.
จิตร ภูมิศักดิ์.(2519) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ.
พิมพ์ครั้งที่ 1. โครงการตำราสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ.
ถนอม อานามวัฒน์และคณะ.(2543)ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย. วัฒนาพานิช,
กรุงเทพฯ.
ไทย-ลาว,สมาคม.(2546) ปทานุกรมคำพ้องไทย-ลาว.มติชน,กรุงเทพฯ.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ.(2541) พจนานุกรมจีน-ไทย.รวมสาส์น,กรุงเทพฯ.
เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2552) "รายการคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-
จีน" วารสารเอเซียตะวันออกศึกษา.สถาบันเอเซียตะวันออกศึกษา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.ปีที่
14 ฉบับที่ 2 ,หน้า 124 - 162.
เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2552) “เสียงปฏิภาค /r/,/k/,/kh/ และเสียงปฏิภาคอื่นๆ:หลักฐาน ความสัมพันธ์ของ
ภาษาจีนกับภาษาไทยในฐานะภาษาร่วมตระกูล” วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. คณะ
มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ปีที่ 31 ประจำภาคเรียนที่ 2 การศึกษา 2552.
เมชฌ สอดส่องกฤษ.(2553) “การศึกษาวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ของภาษาตระกูลไท-จีน
เรื่อง ความสัมพันธ์ของเสียง / h / ในภาษาไทยถิ่นอีสานกับเสียง / h /ในภาษาจีน”.วารสารศิลป
ศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ,เล่มที่ 3 ฉบับที่ 2.
เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2553) "คำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาไทยถิ่นอีสานที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วม
เชื้อสายภาษาไท-จีน" เอกสารประกอบการสัมมนาเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง.จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. หน้า 20-40.
นวลจันทร์ ตุลารักษ์.(2547) ประวัติศาสตร์:การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาชาติไทย.โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,กรุงเทพฯ.
บรรจบ พันธุเมธา. (2526) กาเลหม่านไตในรัฐชานและคำตี่เมืองขาง.คณะอนุกรรมการเผยแพร่เอกลักษณ์ของ
ไทย ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล.(2545) พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน(เว่าอีสาน).พิมพ์ครั้งแรก.คลังธนาธรรม: ขอนแก่น.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.(2547) ไทยสิบสองปันนาเล่ม 1 .พิมพ์ครั้งที่ 3 ,ศยาม,กรุงเทพฯ.
ปราณี กุละวณิชย์.(2535) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปราณี กุละวณิชย์และคณะ.(2527) ศัพท์ไท 6 ภาษา. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรีชา พิณทอง.(2532) สารานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน-ไทย-อังกฤษ.พิมพ์ครั้งที่ 1,โรงพิมพ์ศิริธรรม:อุบลราชธานี
พัชราภรณ์ เศวตสุวรรณ.(2530) การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลาง
กับภาษาตระกูลไท. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
เพ่ยฉี.(2553)พจนานุกรมจีน-ไทย. ภูมิปัญญา:กรุงเทพฯ.
ภัททิยา ยิมเรวัต.(2544) ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท.ธีระการพิมพ์,กรุงเทพฯ.
ราชบัณฑิตยสถาน.(2546) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2542.นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น,กรุงเทพฯ.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531)ภาษาถิ่นตระกูลไทย. (พิมพ์ครั้งที่2) โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราช วิทยาลัย,
กรุงเทพฯ.
วิจิตรวาทการ,พลตรี หลวง.(2549) งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย.สร้างสรรค์บุ๊คส์,กรุงเทพฯ.
วิไลเลขา บุรณศิริและสิริรัตน์ เรืองวงศ์วาร.(มปป.)ประวัติศาสตร์อาเซียอาคเนย์. บทที่1 – บทที่ 12.
มหาวิทยาลัยรามคำแหง,กรุงเทพฯ.
วิไลศักดิ์ กิ่งคำ.(2551) ภาษาไทยถิ่น.พิมพ์ครั้งที่ 3,กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สมทรง บุรุษพัฒน์ , และคณะ. (2539).ภาษาและวัฒนธรรมของชนชาติกัม-ไท (จ้วง-ต้ง): รายการคำศัพท์. กรุงเทพฯ: บริษัทสหธรรมิกจำกัด.
สมทรง บุรุษพัฒน์, เจอรี่ เอ เอ็ดมันสัน และมีแกน ซินนอท . (2541).แนะนำชนชาติไท-กะได. กรุงเทพฯ: โรง พิมพ์ สหธรรมิก.
สมทรง บุรุษพัฒน์, สุมิตรา สุรรัตน์เดชา และยัง ฉวน. (2543).พจนานุกรมกัม-จีน-ไทย-อังกฤษ. กรุงเทพฯ: บริษัทเอกพิมพ์.
สมทรง บุรุษพัฒน์, โจว กั๋วเหยียน. (2543).วรรณกรรมของชนชาติกัม-ไท (จ้วง-ต้ง) ในประเทศจีน. เอี่ยม ทอง ดี ( บรรณาธิการ).ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท( หน้า 239-266). กรุงเทพฯ: บริษัทสหธรรมิก.
สมทรง บุรุษพัฒน์, เวย เอ็ดมันสัน. (2546).พจนานุกรมสุย-จีน-ไทย-อังกฤษ. กรุงเทพฯ: บริษัทเอกพิมพ์ไท.
สมทรง บุรุษพัฒน์, เวน มิงยิงและเวน ยิง. (2546).พจนานุกรมฮไล-จีน-ไทย-อังกฤษ. กรุงเทพฯ: บริษัทเอกพิมพ์ ไท.
สมทรง บุรุษพัฒน์, ฉิน เชียวหาง. (2549).พจนานุกรมจ้วงเหนือ-จีน-ไทย-อังกฤษ. กรุงเทพฯ: เอกพิมพ์ไท.
สมทรง บุรุษพัฒน์, โจว กั๋วเหยียน. (2552).การเปรียบเทียบคำลักษณนามในภาษาตระกูลไท-กะได. กรุงเทพฯ: บริษัทสามลดาจำกัด.
สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ. (2550). การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ. เชียงใหม่: ภาควิชา
ภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2549) พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน. มติชน : กรุงเทพฯ.
สุริยา รัตนกุล.(2548) นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท.สหธรรมิก.กรุงเทพฯ.
สุวรรณา สนเที่ยง.(2548) พจนานุกรม จีน-ไทย ฉบับนักเรียน นักศึกษา.พิมพ์ครั้งที่ 1.เคล็ดไทย:กรุงเทพฯ.
ศุภรัตน์ เลิศพานิชกุล. (2540) “ความเป็นมาของชุมชนไทย” เอกสารการสอนชุดวิชาไทยศึกษาหน่วยที่ 1 – 7. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,นนทบุรี.

Asger Mollerup.(2001) Thai – Lao Phrase Book.White Lotus G.P.O, Bangkok.
Benedict, Paul K. (1942). Thai, Kadai and Indonesian: A New Alignment in Southeastern Asia.
American Anthropologist. (Vol.44): 576-601.
-----------------. (1975) Austro-Thai: Language and culture. New Haven: HRAF Press.
Brown, J. Marvin. (1965). From Ancient Thai to Modern Dialects. In From Ancient Thai to
Modern Dialects, and Other Writings on Historical Thai Linguistics. Bangkok: White Lotus.
Chamberlain, James R. (1972). The Origin of The Southwestern Tai. In Bullentin des Amis Du
Royaume Laos. Vientiane. Vol.7-8 pp. 233 – 44.
Edmondson, J.A. and D.B. Solnit eds. (1997) Comparative Kadai: the Tai branch. Dallas:
Summer Institute of Linguistics and the University of Texas at Arlington.
Frank M.Lebar. (1964) Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven,Conn: HumanRelations Area Files.
Gedney, William J. (1972) "A Checklist for Determining Tones in Tai Dialects" Studies in
Linguistics in honor of George L. Trager. ed. by M. Estelle Smith, pp423-37, The
Hague: Mouton.
Gurdon, Philip Richard Thornhagh. (1985)"On the Khamtis." Journal of the Royal Asiatic Society.
(1895): 157-64.
Grierson,G.A. (1903 - 28) Linguistics survey of India,11vols.Culcutta,Office of the Superementendent
of Government Printing.
Hartmann, John F. 1986. "Style, Scope, and Rigor in Comparative Tai Research," In Bickner et al,
(eds.), 1986.
Li, Fang-Kuei. (1957a), “The Jui dialect of Po-ai and the northern Tai”, Academia Sinica/Bulletin
of the Institute of History and Philology, Taipei, volume 29.1: pp.315-22.
----------------------. (1957b), “The Jui dialect of Po-ai: phonology”, Academia Sinica/Bulletin of
the Institute of History and Philology, Taipei, volume 28.2: pp.551-6.
----------------------. (1959), “Classification by vocabulary: Tai dialects” Anthropological
Linguistics, volume 1.2: pp.15-21.
----------------------. (1960), “A tentative classification of Tai dialects”, in Stanley Diamond (editor),
Culture in history: essays in honor of Paul Radin, New York, Columbia U. Press: pp.951-8.
----------------------. (1965), “The Tai and Kam-Sui languages”, in Indo-Pacific linguistic studies
(Lingua 14-15), vol I,: pp.148-79.
----------------------. (1976), “Sino-Tai” in Computational Analyses of Asian & African
Languages, No.3, Mantaro J. Hashimoto (editor), March: pp.39-48.
----------------------. (1977), A handbook of comparative Tai (Oceanic Linguistics special
publication no.15), Honolulu, University Press of Hawaii, xxii, p.389.
Manomaivibool Prapin.(1975) A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence, PhD Dissertation,
University Of Washington.
Robinson, Edward Raymond III.(1994) Further classification of Southwestern Tai "P"
group languages. Thesis (M.A.) Chulalongkorn University.
Somsong Burusphat . (2006) Northern Zhuang Chinese Thai English Dictionary. Bangkok :Ekphimthai
Ltd.
Wilailuck Daecha. (1986) A Comparative study of the phonology of six Tai dialects
spoken in Amphoe Tha Tako, Changwat Nakhon Sawan. Thesis (M.A.)
Chulalongkorn University.
龚群虎.(2002) 《汉泰关系词的时间层次》上海:复旦大学出版社。
郭锡良.(1986) 《汉字古音手册》北京:北京大学出版社。
李方桂.(2008) 《文字图书:李方桂全集:李方桂先生口述史》清华大学出版社,北京。
梁敏,张均如.(1996) 《侗台语族概论》北京:社会科学出版社。


[1] งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ 2554
[2] สัทอักษรที่ใช้อ่านภาษาจีนปัจจุบันในบทความนี้เป็นระบบสัทอักษรจีนที่เรียกว่า Pinyin (拼音) เป็นระบบสัทอักษรที่พัฒนาขึ้นในปี 1954 โดยคณะกรรมการปฏิรูปอักษรจีน ถือว่าเป็นระบบการถ่ายถอดเสียงที่เหมาะสมสำหรับภาษาจีนกลาง โดยในปี ค.ศ. 1977 องค์การมาตรฐานนานาชาติ (ISO) ได้รับเอาระบบอักษรพินอินเป็นระบบมาตรฐาน (ISO 7098) ในการถ่ายถอดเสียงภาษาจีนปัจจุบันด้วยอักษรโรมัน (The Standard Romanization For Modern Chinese)

[3] กลุ่มสำเนียงภาษากวาน (官话ɡuānhuà) คือสำเนียงที่พูดอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณเมืองหูเป่ย ซื่อชวน(เสฉวน) ฉงชิ่ง หยุนหนาน กุ้ยโจว หูหนาน เจียงซี อันฮุย และเจียงซู กลุ่มสำเนียงภาษากวานนี้เป็นสำเนียงพื้นฐานของภาษาจีนกลางปัจจุบัน ที่เรียกว่า ผู่ทงฮว่า ( 普通话pǔtōnɡhuà) กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 70% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด คำว่า “ภาษาจีน” ในงานวิจัยนี้ หมายถึง ภาษากวาน นอกจากนั้นคือ 2. กลุ่มสำเนียงภาษาอู๋( 吴语wúyǔ ) สำเนียงภาษานี้คิดเป็น 9.1% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 3.กลุ่มสำเนียงภาษาเค่อเจีย (หรือที่เรียกว่าแคะ 客家kèjiā) กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 4% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 4. กลุ่มสำเนียงภาษาหมิ่น (闽语mǐnyǔ) กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 4.5% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 5. กลุ่มสำเนียงภาษาเยว่ (粤语yuèyǔ) กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 5% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 6.กลุ่มสำเนียงภาษาเซี่ยง (湘语xiānɡyǔ) กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 5% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 7. กลุ่มสำเนียงภาษากั้น (赣语ɡànyǔ) สำเนียงภาษานี้คิดเป็น 2.4% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด

[4] Li Fanggui เป็นนักภาษาศาสตร์ชาวจีนที่ได้ไปเรียนวิชาภาษาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา และต่อมาก็ได้สอนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ชื่อของนักภาษาศาสตร์ท่านนี้เขียนเป็นภาษาจีนว่า 李方桂 อ่านว่า หลี่ ฟัง กุ้ย ใช้ระบบสัทอักษรจีนเขียนว่า Li Fanggui ผลงานของนักภาษาศาสตร์ท่านนี้มีทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ผลงานภาษาอังกฤษจะใช้ชื่อว่า Li Fang Kuei หรือ Fang Kuei Li นักภาษาศาสตร์ไทยเรียกชื่อนักภาษาศาสตร์ท่านนี้หลายชื่อ เช่น หลี่ฟังกุ้ย หลี่ฟางเกว้ย ฟังเกว้ยลี ฟางเกว้ยหลี่ ฟังกุ้ยหลี่ เป็นต้น ซึ่งก็คือนักภาษาศาสตร์คนเดียวกันนี้ ในบทความนี้อ้างอิงผลงานของ Li Fanggui ทั้งฉบับภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ดังนั้น เพื่อไม่ให้สับสน ในบทความนี้ จะเรียกชื่อตามระบบสัทอักษรจีนว่า Li Fanggui
[5] อ่านรายละเอียดรายการคำทั้งหมดได้ในบทความเรื่อง “รายการคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานที่คาดว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลภาษาไทย-จีน” ได้ใน เมชฌ,2552: 124 - 162
[6] ต่อไปนี้จะแสดงข้อมูลเรียงลำดับดังนี้ คำภาษาไทยถิ่นอีสาน /ความหมายของคำภาษาไทยถิ่นอีสาน / อักษรจีน คำอ่านสัทอักษรจีนพินอิน /ความหมายภาษาจีน/

[7] ภาษาจีนสำเนียงคุนหมิง ซึ่งเป็นสมาชิกของภาษากวาน ออกเสียงพยัญชนะท้าย /N / เป็น /m/
[8] อ่านรายละเอียดประเด็นนี้ได้ในบทความเรื่อง “เสียงปฏิภาค /r/, /k/, /kh/ และเสียงปฏิภาคอื่นๆ : หลักฐานความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาไทยในฐานะภาษาร่วมตระกูล” ในเมชฌ,2552 : 5 – 28 และ บทความเรื่อง “การวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์เรื่อง ความสัมพันธ์ของเสียง /h/ ในภาษาไทยถิ่นอีสานกับเสียง /h/ ในภาษาจีน” ใน เมชฌ,2553:68-90
[9] อ่านรายละเอียดประเด็นนี้ได้ในบทความเรื่อง “คำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาไทยถิ่นอีสานที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไท-จีน ใน เมชฌ,2553: 20-40.

[10] ภาษาจีนสำเนียงกวานฮว่าทางตอนใต้ ออกเสียงพยัญชนะต้น /n/ เป็น / N/