วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

มุกประกายบนสายธารา : มหาอุปรากรสถานแห่งชาติจีนยุคใหม่

ภาพนี้คัดลอกมาจาก http://www.williamlong.info/google/upload/498_2.jpg

 ภาษาจีนเรียกโรงละครแห่งชาตินี้ว่า “กว๋อ เจีย ต้า จวี้ ย่วน” (国家大剧院) หมายความว่า “โรงละครแห่งชาติ” ชื่อภาษาอังกฤษว่า National Centre for the Performing Arts ตั้งอยู่ ณ ใจกลางกรุงปักกิ่ง ด้านทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอานเหมิน (天安门) ฝั่งทิศใต้ของถนนฉางอานเจีย (长安街) อาคารส่วนที่เป็นโรงละครตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ ทางเข้าอาคารกลางของโรงละครทำเป็นทางเดินลอดใต้น้ำ ปูพื้นสระด้วยกระจกใสสามารถมองเห็นพื้นน้ำด้านบนได้ รอบบริเวณเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 11,890,000 ตารางเมตร ส่วนที่เป็นอาคารและสิ่งก่อสร้างมีพื้นที่รวม 16,500,000 ตารางเมตร อาคารกลางที่เป็นโรงละครมีพื้นที่ทั้งหมด 10,500,000 ตารางเมตร  ชั้นใต้ดินสร้างเป็นที่จอดรถมีพื้นที่รวม 600,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 3,100 ล้านหยวน (1 หยวน ประมาณ 5 บาท)
            แม้โรงละครแห่งชาติจีนจะเพิ่งก่อสร้างสำเร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี 2007 นี้ก็ตาม แต่ความเป็นมาของการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติมีมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อปี 50 แห่งศตวรรษที่ 20  รัฐบาลจีนโดย พณฯท่าน โจวเอินหลาย  ได้มีดำริที่จะให้สร้างโรงละครแห่งชาติขึ้น โดยได้เลือกบริเวณที่จะสร้างคือ “ด้านทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอานเหมิน” นี่เอง แต่ด้วยเหตุสภาวะทางเศรษฐกิจไม่อำนวย จึงไม่มีการก่อสร้างโรงละครดังกล่าวขึ้นในยุคนั้น
            ปี 1958 รัฐบาลกลางได้มีนโยบายก่อสร้าง “สิบสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง หนึ่งในสิบสถาปัตยกรรมนี้ รวมโรงละครแห่งชาติไว้ด้วย แต่ด้วยปัญหาจากการปฏิวัติวัฒนธรรม โรงละครแห่งชาติจีนก็เป็นอันล้มเลิกไป
            ปี 1990 กระทรวงวัฒนธรรมจีน ได้เริ่มแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างโรงละครแห่งชาติขึ้น เพื่อเตรียมการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
          ปี 1993 คณะทำงานได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างโรงละครแห่งชาติ โดยได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ 3 แนวทาง คือ
โรงละครขนาดพื้นที่ 120,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 3 หลัง และโรงละครขนาดเล็ก 1 หลัง โรงละครขนาดพื้นที่ 97,000 ตารางเมตร   ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 2 หลัง และโรงละครขนาดเล็ก 1 หลัง โรงละครขนาดพื้นที่ 105,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 3 หลัง ท้ายที่สุดคณะกรรมการมีมติให้ก่อสร้างโรงละครขนาดพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 3 หลัง และโรงละครขนาดเล็ก 1 หลัง
          ปี 1996 การประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยที่ 14 มีมติรับนโยบายการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
          เดือน กันยายน ปี 1997 คณะกรรมการกรมการปกครองกลางแห่งชาติ มีมติให้ก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
          เดือนธันวาคม ปี 1997 มีหน่วยงานด้านสถาปัตยกรรมระดับชาติ 5 แห่ง เสนอแบบสำหรับการก่อสร้างโรงละคร 7 แบบ
          เดือนเมษายน ปี 1998 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ และเปิดประกวดราคาก่อสร้าง โดยมีบริษัทเข้าร่วมประกวดราคาทั้งสิ้น  36 แห่ง เสนอแบบก่อสร้างทั้งหมด 44 แบบ การประกวดราคาครั้งที่ 1 มีบริษัทที่เข้ารอบ 5 บริษัท การประกวดราคาครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 1998 มี 5 บริษัทที่ได้รับประมูล 5 บริษัท ในจำนวนนี้ 3  บริษัทจีนและต่างชาติร่วมกันปรับแบบก่อสร้าง โดยเสนอแบบก่อสร้าง 3 แบบ ท้ายที่สุดคณะกรรมการมีมติเลือกใช้แบบของบริษัทเดียวกันกับบริษัทที่ออกแบบสนามบินกรุงปารีส โดยบริษัทแห่งนี้ร่วมมือกันปรับแบบกับมหาวิทยาลัยชิงหัว แห่งประเทศจีน
          ในระหว่างปรับแบบ คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าสถานที่ก่อสร้างอยู่ติดกับจัตุรัสเทียนอานเหมินและรัฐสภา จึงได้มีการขยายพื้นที่ถึงสองครั้ง จนกระทั่งขยายออกไปติดกับอีกด้านหนึ่งของถนนเลียบอาคารรัฐสภา ทำให้พื้นที่ก่อสร้างโรงละครแห่งชาติขยายออกไปทางทิศใต้อีก 70 เมตร
โครงสร้างของโรงละคร
โรงละครแห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2001 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2007  ผู้คุมงานก่อสร้างครั้งนี้คือ วิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ Mr.Paul Andreu ภายใต้การดำเนินการก่อสร้างของบริษัท ADPI designers & planners
โครงสร้างหลักของโรงละครสร้างด้วยเหล็กกล้าเป็นรูปทรงครึ่งวงรี ขอบด้านทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกเป็นด้านขวางของวงรี มีความยาว 212.20 เมตร ขอบด้านทิศเหนือจรดทิศใต้ยาว 143.64 เมตร จุดสูงสุดของอาคารมีความสูง 46.285 เมตร ซึ่งสูงน้อยกว่ารัฐสภาประชาชนจีนซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม 3.32 เมตร กรอบนอกบริเวณขอบวงรีของตัวอาคารมุงด้วยแผ่นไททาเนียม 18,000 แผ่น รวมพื้นที่ของกรอบนอกกว่า 30,000 ตารางเมตร ด้วยเหตุที่ตัวอาคารสร้างเป็นทรงครึ่งวงรี ในจำนวนแผ่นไททาเนียมที่ใช้มุงกรอบนอกอาคาร 18,000 แผ่นนี้ แต่ละแผ่นจะมีขนาดและรูปร่างไม่เท่ากัน มีเพียง 4 แผ่นเท่านั้นที่มีขนาดและรูปร่างเหมือนกัน แผ่นไททาเนียมที่นำมาใช้สำหรับการก่อสร้างโรงละครแห่งนี้จึงต้องได้รับการออกแบบและผลิตด้วยวิทยาการโดยเฉพาะ ภายนอกแผ่นไททาเนียมนี้ผลิตให้มีความมันวาวและใส  บริเวณที่เป็นส่วนยอดและด้านหน้าของอาคารลงไปจนจรดพื้นน้ำของอาคารวงรีมุงด้วยกระจกใสจำนวน 1200 แผ่น การมุงแผ่นไททาเนียมในแนวตั้งผสานกับสีของกระจกสะท้อนออกมาเป็นรูป อิ๋น-หยางอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมดุลของธรรมชาติตามปรัชญาจีน ตัวอาคารโรงละครตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่สระน้ำมีขนาดรวม 3.55 ตารางเมตร สระน้ำขนาดใหญ่นี้มีระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรักษาอุณภูมิน้ำ ฤดูร้อนไม่ขุ่นด้วยตะไคร่เขียว ฤดูหนาวไม่จับตัวเป็นน้ำแข็ง ทำให้น้ำในสระแห่งนี้ใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา การเข้าสู่ตัวอาคารทุกทาง ขุดเป็นทางใต้ดินลอดใต้พื้นสระน้ำเข้าไป ทางเดินเข้าสู่โรงละครก็ต้องเดินลอดใต้พื้นสระน้ำเข้าไปเช่นกัน ทางเดินนี้มีความยาวทั้งสิ้น 80 เมตร
ในยามที่ความมืดมิดแห่งราตรีกาลโอบคลุมกระจกใสของหลังคาโรงละคร มองจากภายในตัวโรงละครออกไปภายนอกก็จะเห็นสายน้ำฉ่ำเย็น คลื่นน้ำแผ่วเบาประกายระยิบล้อเล่นลมเย็นโชยเอื่อย แหงนมองขึ้นบนฟ้าก็จะเห็นดวงดาราส่องแสงระยิบระยับจับตาอยู่เต็มฟ้า ท่ามกลางเสียงขับขานของดนตรีคีตา และท่วงท่าร่ายรำสำอางของนางนาฏละครที่รายล้อมรำฟ้อน สร้างอรรถรสรมย์รื่นชื่นบานดั่งเสพสุขอยู่ในวิมาน   
รูปลักษณ์ที่ล้ำยุค วิทยาการก่อสร้างที่ทันสมัย มีลักษณะเฉพาะและโดดเด่น เป็นการผสมผสานความทันสมัยเข้ากับแนวคิดด้านอารยสถาปัตยกรรมจีนอย่างลงตัว รัฐบาลจีนถือว่าเป็นคุณูปการที่มอบให้แก่ศตวรรษใหม่ของชาติ เมื่อไข่มุกสีเงินได้เปล่งประกายอวดโฉมอยู่บนผืนน้ำใสระยิบระยับจับตา ชาวจีนจึงขนานนามโรงละครแห่งชาติแห่งนี้ว่า มุกประกายบนสายธารา
          โรงละครแห่งชาติแห่งนี้ นับเป็นผลงานจากนโยบายด้านวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของชาติ นับตั้งแต่การก่อสร้างแล้วเสร็จ โรงละครแห่งนี้ก็ได้รับการจัดให้เป็น สิบหกทัศน สถาปัตยกรรมแห่งกรุงปักกิ่งเป็นสัญลักษณ์ของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับศิลปะ และมนุษย์กับธรรมชาติ            

 ภายในโรงละคร      
           ภารในอาคารมีโรงละคร 4 โรง  โรงมหรสพขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับจัดแสดงดนตรีและละครตั้งอยู่ตรงกลางอาคาร ฝั่งตะวันออกของอาคารเป็นโรงแสดงดนตรี ฝั่งทิศตะวันตกเป็นโรงละครและนาฏศิลป์    และฝั่งทิศใต้เป็นโรงละครขนาดเล็ก  โรงละครทั้งสี่ส่วนนี้ออกแบบให้สามารถเชื่อมถึงกันได้ และสามารถกั้นแยกเป็นโถงเฉพาะได้ด้วย
          1. โรงมหรสพ ตกแต่งภายในเป็นสีทองอร่าม ใช้สำหรับการแสดงคีตละคร นาฏละคร บัลเลย์ และการแสดงขนาดใหญ่ เวทีการแสดงสร้างเป็น 3 ส่วน เป็นรูป   คือ ตรงกลางยกสูงเป็นเวทีสำหรับการแสดง ด้านข้างทั้งสองด้านเป็นเวทีเล็กต่ำลงมาสำหรับดนตรีบรรเลงประกอบการแสดง มีพื้นที่ 120 ตารางเมตร สามารถจุนักดนตรีได้มากกว่า 90 คน    บนเวทีมีอุปกรสำหรับการแสดงเช่น ม่านชัก ฉากเลื่อน เวทีปรับระดับและหมุนได้ ระบบไฟ ระบบเสียงที่ครบครัน นับเป็นโรงมหรสพที่รวมวิทยาการเกี่ยวกับการแสดงไว้ครบครันที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
          ภายในโรงมหรสพใหญ่สร้างเป็นเป็นทรงสระน้ำ ชั้น 1 เป็นเวที และที่นั่งหน้าเวที มีที่นั่งรอบโรงมหรสพที่สูงขึ้นไปรวมทั้งหมด 3 ชั้น  สามารถจุผู้ชมได้ 2398 ที่นั่ง  
          2.โรงแสดงดนตรี  ตกแต่งภายในด้วยสีขาว ให้ความรู้สึกสงบ เยือกเย็น มีสมาธิ   วัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในห้องแสดงดนตรีนี้คำนึงคุณภาพของเสียงดนตรีเป็นหลัก เพื่อเอื้อต่อการฟังดนตรีโดยเฉพาะ ใช้สำหรับการแสดงดนตรีประเภทมหาดุริยางค์ ดนตรีประจำชาติ และพื้นเมือง ตลอดจนดนตรีระดับสากลต่างๆ  ขนาดของเวทีกว้าง 24 เมตร ลึก 15 เมตร สามารถจุนักดนตรีพร้อมเครื่องดนตรีได้ทั้งหมด 120 คน  ภายในโรงแสงดนตรี ที่นั่งของผู้ชมล้อมรอบเวทีทั้งสี่ทิศ มีที่นั่งชั้น 1 ด้านหน้าเวที และที่นั่งล้อมรอบเวทีอยู่ชั้นที่ 2 สามารถจุผู้ชมได้ 2019 ที่นั่ง 
  3. โรงละครและนาฏศิลป์ ตกแต่งภายในด้วยสีแดง บุผนังด้วยผ้าไหมจีนสีแดง ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมจีน  โรงละครและนาฏศิลป์นี้ใช้สำหรับการแสดงละครและนาฏศิลป์ เช่น งิ้วปักกิ่ง  อุปรากรพื้นเมืองต่างๆ  รวมทั้งการแสดงการขับเพลง และละครเพลงพื้นเมืองต่างๆด้วย  
              ภายในโรงละครมีที่นั่งชั้น 1 หน้าเวที และที่นั่งรอบเวที 3 ชั้น จุผู้ชมได้ทั้งหมด 1035 ที่นั่ง
            4. โรงละครเล็ก ตกแต่งภายในด้วยสีอ่อนธรรมชาติ ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย แต่หรูหราสูงส่ง ใช้สำหรับจัดแสงดนตรีขนาดเล็ก การบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรี ขับร้องเดี่ยว รวมทั้งการแสดงอุปรากร และนาฏศิลป์ขนาดเล็ก   
            ที่นั่งสำหรับผู้ชมมีทั้งหมด 19 แถว 556 ที่นั่ง  บุผนังด้วยวัสดุเก็บเสียงรอบด้าน ผนัง และยังมีคุณลักษณะพิเศษในการรักษาอุณหภูมิ ทำให้คุณภาพของการแสดงและเสียงดนตรีมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ความเป็นที่สุดของโรงละครแห่งชาติจีน
          นอกจากความโดดเด่นของรูปลักษณ์ภายนอกที่ล้ำสมัยแล้ว โรงละครแห่งชาติจีนแห่งนี้ยังรวมความเป็นที่สุดไว้หลายอย่าง ดังนี้
          เหล็กโครงหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหล็กที่ใช้เป็นโครงสร้างของโรงละครทั้งหมด 6475 ตัน เสาแกนโครงที่เป็นเส้นผ่านศูนย์กลางจากตะวันออกไปตะวันตกยาว 212.2 เมตร นับเป็น โครงหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
          สิ่งก่อสร้างที่ลึกที่สุดในโลก โรงละครมีความลึก 32.5 เมตร ซึ่งเป็นความลึกเท่ากับตึก 10 ชั้นลงไปใต้ดิน นับเป็นตึกใต้ดินที่ลึกที่สุดในประเทศจีน และในโลก
           มี Organ pipe   ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย   ตั้งอยู่ในโรงแสดงดนตรี มีทั้งหมด 6500 แกนเสียง ราคาก่อสร้าง 30,000,000 หยวน    
เวลาเข้าชม
          วันจันทร์เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ
          วันอังคาร วันอาทิตย์  โรงละครเปิดเวลา 9.00 17.00 (16.30 ปิดขายบัตรเข้าชมการแสดง และเริ่มตรวจบัตรเข้าชม)     
            ราคาบัตร : ซื้อบัตรทางอินเตอร์เน็ต 25 หยวน ซื้อบัตรหน้าโรงละคร 30 หยวน บัตรชุดครอบครัว 40 หยวน และ 60 หยวน  
การเดินทางไปสู่โรงละคร  
เดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสาย 1, 4, 5, 10 ,20 ,22,47,37,52,205,726,72
8, 802   ลงรถที่ป้าย  เทียนอานเหมินตะวันตก  (เทียน อาน เหมิน ซี จ้าน)
                เดินทางโดยรถไฟใต้ดิน สาย 1 ลงที่ป้าย เทียนอานเหมินตะวันตก (เทียน อาน เหมิน ซี จ้าน) แล้วออกประตู C
 

            ปัจจุบัน โรงละครแห่งชาติจีนได้จัดแสดงศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ทั้งระดับชาติ และระดับสากลมากมาย  ไม่ว่าจะเป็น อุปรากร มหาอุปรากร คีตละคร ละครพูด บัลเลย์  ออร์เคสตร้า  ดนตรีพื้นเมือง การขับร้องประสานเสียง ขับร้องเดี่ยว บรรเลงเดี่ยว เป็นต้น  เป็นที่ที่ศิลปินน้อยใหญ่ใฝ่ฝันที่จะได้เดินทางมาอวดฝีมือ  ในขณะเดียวกัน  คณะกรรมการจัดการโรงละครก็ได้สรรสร้างผลงานชิ้นเอกออกสู่สายตาประชาชนอย่างสม่ำเสมอ โรงละครแห่งชาติจึงเป็นอาศรมสถานด้านศิลปกรรมแห่งชาติโดยแท้
              นอกจากเป็นที่จัดแสดงผลงานด้านดนตรีนาฏศิลป์แล้ว โรงละครแห่งชาติจีนยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านศิลปกรรมแขนงต่างๆที่สำคัญของชาติอีกด้วย  รายการที่นำออกแสดงจึงมิใช่เพียงการแสดงดนตรีนาฏศิลป์เท่านั้น แต่ยังมีการเสวนาทางวิชาการด้านศิลปะแขนงต่างๆ เช่น รายการเสวนาวิชาการศิลปกรรม  รายการพบปะปรมาจารย์ศิลปินเอกเป็นต้น  ได้รับความสนใจและนิยมชมชอบจากประชาชนเป็นอย่างมาก 
         
 

ปาอิน : การแบ่งประเภทเครื่องดนตรีแบบ “แปดเสียง” ในสมัยโบราณของจีน



           ปัจจุบันการแบ่งประเภทเครื่องดนตรี เป็นที่เข้าใจตรงกันโดยสากลว่า ยึดตามวิธีการบรรเลง เป็น ดีด สี ตี เป่า แต่ในสมัยโบราณ เนื่องจากการประดิษฐ์เครื่องดนตรีทำจากวัสดุต่างๆกัน การบรรเลงก็ยังไม่ได้เป็นแบบแผนครบถ้วนเหมือนอย่างปัจจุบัน คนในสมัยโบราณจึงมีวิธีจัดกลุ่ม และประเภทของเครื่องดนตรีต่างๆ กันไป  ที่เห็นได้ชัดคือ การแบ่งตามวัสดุที่นำมาใช้ทำเครื่องดนตรี  เครื่องดนตรีหลายชนิดเดินทางข้ามผ่านยุคสมัยมานาน ทำให้บางอย่างตกหล่นหายไปตามกาลเวลา  สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถศึกษาได้ว่า คนในยุคก่อนใช้วัสดุใดบ้างทำเครื่องดนตรี  ก็มาจากการจัดแบ่งประเภทของเครื่องดนตรีที่มีบันทึกไว้นั่นเอง
            ประวัติการดนตรีของจีนในสมัยราชวงศ์โจว   มีการแบ่งเครื่องดนตรีตามวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์เครื่องดนตรี  เป็น 8 ชนิด ได้แก่ โลหะ หิน เส้นไหม  ไม้ไผ่   น้ำเต้า ดิน หนัง  และไม้  เรียกการแบ่งประเภทเครื่องดนตรีนี้ว่า ปาอิน (ปา หมายถึงแปด  อิน หมายถึงเสียง) และใช้วิธีการแบ่งประเภทเครื่องดนตรีนี้ยาวนานกว่า 3,000 ปี นับตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์โจวเรื่อยมาจนถึงต้นสมัยราชวงศ์ชิง  อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของการปกครองแบบกษัตริย์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันนับแต่ปี 1949 เป็นต้นมา

เครื่องดนตรี ปาอินมีดังนี้
            1. เครื่องดนตรีประเภทโลหะ  เครื่องดนตรีโลหะที่สำคัญได้แก่ ระฆัง  ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในยุคสำริด    ในสมัยโบราณ ระฆังไม่เพียงทำหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องประดับเกียรติยศเพื่อแสดงฐานะและอำนาจของบุคคลในสมัยนั้นด้วย  เช่น พระราชพิธีออกท้องพระโรง พระราชพิธีบวงสรวงในราชสำนัก  การเสวยพระกระยาหารงานเลี้ยง  การทรงพระสำราญ ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ระฆังเป็นเครื่องดนตรีบรรเลงขับกล่อมทั้งสิ้น การเคาะระฆังบรรเลงเป็นเสียงดนตรีนั้นมีวิธีการบรรเลงสองแบบคือ การเคาะด้านข้าง กับการเคาะด้านหน้าทำให้เกิดเสียงสูงต่ำแตกต่างกันได้สามระดับ   นอกจากระฆังแล้ว ยังมีเครื่องดนตรีโลหะอีกหลายชิ้นเช่น ชิ่ง  ฉุนหวี  โกวเตี้ยว  เครื่องดนตรีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีวิวัฒนามาจากระฆังทั้งสิ้น
      ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เครื่องดนตรีโลหะเกิดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ ในสมัยราชวงศ์ซาง มีเครื่องตี ที่ทำจากโลหะถือกำเนิดขึ้น เรียกชื่อว่า เหนา รูปลักษณะเหมือนระฆัง แต่ไม่กลม เป็นลักษณะแบน แต่กลวง มีด้ามจับ เริ่มแรกมีเพียงอันเดียว ต่อมา เริ่มประดิษฐ์ให้มีขนาดต่างๆกัน ทำให้ได้เสียงสูงต่ำต่างกัน จึงมีการนำมาบรรเลงเป็นกลุ่ม 3 อันบ้าง 5 อันบ้าง  จนถึงสมัยราชวงศ์โจว ช่างตีเหล็ก ทำเหนาให้มีขนาดเล็ก ไปถึงใหญ่ต่างระดับกันขึ้น แล้วเอามาแขวนไว้บนราว ใช้ไม้เคาะ เกิดเป็นเครื่องตีที่เรียกว่า ระฆังราวขึ้น  จนถึงสมัยจ้านกว๋อ ระฆังราวพัฒนาถึงขีดสูงสุด จำนวนระฆังที่ใช้บรรเลงมีมากเป็น 10 ใบ และเริ่มใช้เป็นเครื่องประดับเกียรติยศในคราวนี้เอง แต่พอถึงสมัยราชวงศ์โจวถึงคราเสื่อมสลายของระฆังราว เนื่องจากวัสดุที่นำมาผลิตมีราคาแพงและหายาก ช่างทำเครื่องโลหะก็น้อยลง ระฆังราวขาดการสืบทอดและสูญหายไปในช่วงเวลานี้ 
     
ถึงสมัยตงฮั่น (ฮั่นตะวันออก) ศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีน ระฆังก็กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพราะ ระฆัง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องดนตรีในพิธีกรรมของพุทธศาสนา  และดำรงอยู่เช่นนั้นมาเป็นเวลายาวนาน  นับเป็นคุณูปการของศาสนาพุทธที่มีต่อการสืบทอดและดำรงอยู่ของระฆังสืบมาให้ได้เห็นจนปัจจุบัน
       2. เครื่องดนตรีประเภทหิน  วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีจำพวก ชิ่ง  ส่วนใหญ่ใช้หินปูนที่มีความแข็งแกร่ง ที่นิยมมากคือ หิน หรือ หยกจากเมืองต้าหลี่ รองลงมานิยมใช้หินเขียว  ลักษณะของชิ่งคือ รูปร่างด้านบนโค้งนูน ด้านล่างเว้า ขนาดและความหนาแตกต่างกันไป  กระจังของชิ่งประกอบขึ้นจากเครื่องโลหะทองแดง แขวนชิ่งไว้ตรงกลาง ลักษณะคล้ายกระจังโหม่งของไทย ขาทั้งสองข้างของกระจังทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หัวมังกร  คอนกกระสา  ตัวนก ขาตะพาบเป็นต้น ฝีมือการประดิษฐ์ประณีตงดงาม และมั่งคงแข็งแรง  ในกระจังแขวนชิ่งสองชั้น  แต่ละชั้นแบ่งเป็นสองกลุ่มตามกลุ่มเสียงที่แตกต่างกัน    กลุ่มหนึ่งมี 6 ชิ้น โดยเรียงลำดับคู่เสียงเป็นคู่สี่และคู่ห้า อีกกลุ่มหนึ่งมี 14 ชิ้น เรียงลำดับเสียงเป็นคู่สอง คู่สาม และคู่สี่  ชิ่ง เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ซาง  และพัฒนาถึงขีดสุด โดยใช้หยกทำเป็นเครื่องดนตรี แต่เนื่องจากหยก มีความเปราะ และแตกร้าวง่าย จึงนิยมใช้ชิ่ง ที่ทำจาก หิน มากกว่า
            3. เครื่องดนตรีประเภทเส้นไหม ในสมัยโบราณ สายของเครื่องดนตรีทำมาจากเส้นไหม  ในยุคก่อนราชวงศ์ซาง เครื่องดนตรีประเภทเส้นไหม มีสองชนิดเท่านั้น คือ ฉิน (กู่ฉิน พิณเจ็ดสาย) และ เส้อ (พิณห้าสิบสาย) แต่ต่อมา หลังจากสมัยฉิน และฮั่น เริ่มปรากฏมีเครื่องดนตรีเส้นไหมเกิดขึ้นหลายชนิด เช่น เจิง (กู่เจิง)  คงโหว (เครื่องดีดแนวตั้ง วางไว้ในอก ใช้มือทั้งสองดีดด้านซ้ายและขวา) หร่วน (พิณทรงกลมสี่สาย ด้ามยาว) ซานเสียน (เครื่องดีด สามสาย ด้ามยาว เผยแพร่สู่ ญี่ปุ่น เรียกชื่อว่า ซามิเซ็ง) ผีพา (พิณสี่สาย มาจากอินเดีย เข้ามาตามเส้นทางสายไหม) หูฉิน (เครื่องสีจำพวกซอทั้งหมด)
4. เครื่องดนตรีประเภทไม้ไผ่  ได้แก่เครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ บรรเลงโดยการเป่า เช่น ตี๋ (ขลุ่ยผิวเป่าในแนวขวาง ) เซียว (ขลุ่ยเป่าในแนวตั้ง)  ฉือ(เครื่องเป่าแนวขวางเหมือน ตี๋ แต่มีขนาดใหญ่เล็กต่างๆกัน ขนาดที่ต่างกันนี้ เสียงโน้ต สูง ต่ำ ต่างกัน)  ผายเซียว (เครื่องเป่าคล้ายโหวด เป่าจากด้านบน ความสั้นยาวของเลาแต่ละเลาเป็นตัวกำหนดเสียงสูงต่ำ)  กว่านจือ (เครื่องเป่าแบบมีลิ้นโลหะ ให้เสียงดังกังวาน) เป็นต้น
5. เครื่องดนตรีประเภทน้ำเต้า  เครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นจากน้ำเต้าในสมัยโบราณ ที่สำคัญคือ เซิง(ปี่น้ำเต้า) เป็นเครื่องเป่าประสานเสียง ที่ได้จากเลาไม้ไผ่ หรือต้นอ้อ  หยวี (แคนน้ำเต้า) รูปร่างใหญ่กว่า มีจำนวนเลามากกว่า  ส่วน หูลูซือ (ขลุ่ยน้ำเต้า) เป็นเครื่องเป่าเลาเดียว เหมือนขลุ่ย แต่ใช้น้ำเต้าเป็นที่เก็บลม ใช้ไม้ไผ่ หรือต้นอ้อ เป็นเลาที่ใช้ควบคุมปิดเปิดลม เครื่องดนตรีที่ทำด้วยน้ำเต้านี้  มีอายุนับพันปีมาแล้ว
    6.  เครื่องดนตรีประเภทดิน คือเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์จากดิน  ในบรรดาดนตรี ปาอิน แบบโบราณ เครื่องดนตรีที่ทำจากดินมี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ  ซวิน และ โฝ่ว   เครื่องเป่าดินเผาที่เรียกว่า ซวิน นั้น เป็นเครื่องเป่าทรงรูปไข่ ใหญ่ขนาดอุ้งมือ เป่าลมจากด้านบน รอบลำตัวมีรูให้กดปิดเปิดเพื่อบังคับลม ทำให้เสียงสูงต่ำ เดิมทีมีรูเดียว ต่อมาพัฒนาขึ้นจนถึง 10 รู สามารถบรรเลงเสียงตัวโน้ตได้ครบ  นับถึงปัจจุบัน ซวิน มีอายุกว่า 7,000 ปีมาแล้ว  ส่วนเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อ โฝ่ว นั้น เดิมทีเป็นเครื่องดินเผา ลักษณะเป็นรูปโอ่งแจกัน มีไว้หมักเหล้า เมื่อตีด้านบน เกิดเป็นเสียงสะท้อน จึงนำมาทำเป็นเครื่องดนตรี  แต่ก็ไม่ได้พัฒนาให้มีเสียงสูงต่ำเหมือนอย่างเครื่องดนตรีชนิดอื่น คงใช้เป็นเครื่องดนตรีที่ตีประกอบเป็นจังหวะให้ครึกครื้นเท่านั้น
    7. เครื่องดนตรีประเภทหนัง คือเครื่องดนตรีที่ประกอบขึ้นจากหนังสัตว์ ที่สำคัญได้แก่เครื่องประกอบจังหวะจำพวกกลอง มี กลองแขวน และกลองตั้ง  กลอง นับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีของจีน กลองสามารถใช้ในวิถีชีวิตชาวจีนโบราณจนถึงปัจจุบันได้มากมาย เช่น ใช้บอกเวลา ใช้เป็นสัญญาณการรบ ใช้ตีเป็นจังหวะการเต้นรำทำเพลง เป็นต้น
        8. เครื่องดนตรีประเภทไม้  ปัจจุบันพบน้อยมาก ในยุคแรกเริ่ม ได้แก่ จำพวกมู่กู่ (กลองไม้)  กรับไม้ ต๊อก หยวี่  จู้ ที่เป็นพิเศษ และเป็นเครื่องดนตรีโบราณที่ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว คือ  เครื่องดนตรีที่ชื่อ หยวี่เป็นเครื่องตีโบราณ รูปร่างคล้ายเสือ หลังเสือมีแผ่นไม้ลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย ใช้ไม้ตีที่ผ่าปลายเป็นก้านๆ ครูดไปมาบนหลังเสือ เกิดเป็นเสียงขึ้น ใช้บรรเลงเป็นสัญญาณการจบเพลง  ใช้ประกอบในการบรรเลงดนตรีชั้นสูงของราชสำนัก ส่วนเครื่องดนตรีชื่อ จู้   เป็นเครื่องตีโบราณ  รูปร่างเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ด้านบนกลวง กว้างแล้วสอบลงด้านล่าง ใช้ท่อนไม้ตีผนังด้านในให้เกิดเป็นเสียงใช้บรรเลงเพื่อแสดงการขึ้นต้นเพลงในการบรรเลงดนตรีราชสำนักและพิธีกรรมบูชาต่างๆ    
                                               
คำอธิบายภาพ
รูปภาพ 1  ฉุนหวี  เครื่องดนตรีโลหะบรรเลงโดยการใช้ไม้เคาะ ขนาดที่เล็กใหญ่ต่างๆ กันมีเสียงสูงต่ำต่างกัน
รูปภาพ 2  โกวเตี้ยว เครื่องดนตรีโลหะบรรเลงโดยการใช้ไม้เคาะ
รูปภาพ 3  รูปร่างลักษณะของ ชิ่งโลหะ ใช้ตี
รูปภาพ 4   ชิ่ง เครื่องดนตรีโบราณที่ทำด้วยหิน ใช้ตี
รูปภาพ 5   ชิ่งราว  ทำจากหิน เครื่องดนตรีโบราณที่ขุดพบ มีอายุราว 2,400 ปี
รูปภาพ 6   เครื่องสาย ชื่อ ฉิน บรรเลงโดยการดีด
รูปภาพ 7   เครื่องสายจีนโบราณชื่อ เส้อ มี 50 สาย ใช้ดีด  พัฒนาการมาเป็น กู่เจิงในปัจจุบัน
รูปภาพ  8 เครื่องสายดีดที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ชื่อ จู้ เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของกู่ฉิน เส้อ และกู่เจิง
รูปภาพ 9  เครื่องสายชื่อ ผีพา  บรรเลงโดยการดีด
รูปภาพ 10  เครื่องสายชื่อ หูฉิน หรือซอจีน  บรรเลงโดยการสี
รูปภาพ 11  คงโหว เครื่องดนตรีจีนโบราณ  สายทำด้วยเส้นไหม  ความสั้นยาว และตึงหย่อนของสายทำให้เกิดระดับเสียงต่างๆ กัน
รูปภาพ 12  ตี๋ เครื่องดนตรีทำจากไม้ใผ่ บรรเลงโดยการเป่าตามแนวขวาง
รูปภาพ 13   กว่านจือ เครื่องเป่า มีลิ้น แบบปี่
รูปภาพ 14 เซียว  เครื่องเป่า ทำจากไม้ไผ่    บรรเลงโดยการเป่าตามแนวตั้ง
รูปภาพ 15   ฉือ เครื่องเป่าที่ทำจากไม้ใผ่ เป่าในแนวตั้ง
รูปภาพ 16  ผายเซียว  (ขลุ่ยแผง) เครื่องเป่าที่ทำจากไม้ไผ่ ความสั้นยาวให้เสียงที่สูงต่ำต่างกัน
รูปภาพ 17  เซิง  เครื่องเป่าที่ทำจากน้ำเต้า   มีน้ำเต้าเป็นกล่องขยายเสียง และมีไม้ไผ่เป็นตัวควบคุมเสียง
รูปภาพ 18   หูหลูซือ เครื่องเป่าที่ทำจากน้ำเต้า
รูปภาพ 19  ซวิน เครื่องเป่าทำจากดินเผา
รูปภาพ 20  ถาวตี๋ หรือขลุ่ยดินเผา
รูปภาพ 21   โฝ่ว เป็นโอ่งใส่เหล้า ขึงด้วยผ้าหรือหนัง มีทั้งที่ทำด้วยโลหะและดินเผา ลักษณะมีทั้งแบบเหลี่ยม และทรงกระบอก
รูปภาพ 22  กลองแขวน ขึงหน้าด้วยหนัง แขวนอยู่บนร้านกลอง
รูปภาพ 23   กลองตั้งสูงขึ้นจากพื้น ขึงหน้า ด้วยหนัง
รูปภาพ 24  เครื่องตีโบราณ ชื่อ จู้
รูปภาพ 25    มู่กู่ หรือกลองไม้
รูปภาพ 26  เครื่องตีโบราณชื่อ หยวี่


อ้างอิง
简裝本《中华乐器大典》北京:民族出版社,2002
民族音乐研究所《中国历代乐器说明》(附图片)北京:中央音乐学院,1956
    《中国古代音乐史简编》上海:上海音乐出版社,1989
杨荫浏《中国古代音乐史稿》(上、下册)北京:人民音乐出版社,1981
Lee Yuan-Yuan and Shen, Sinyan. Chinese Musical Instruments (Chinese
Music Monograph Series). Chinese Music Society of North America
Press.1999.
Shen, Sinyan. Chinese Music in the 20th Century (Chinese Music
Monograph Series) Chinese Music Society of North America Press.
2001.

“ระฆังราว” เครื่องดนตรีจีนโบราณที่หายสาบสูญไปนับพันปี


ภาพนี้คัดลอกมาจาก http://a4.att.hudong.com/76/23/01300001159526130986233418550.jpg

             ประวัติศาสตร์การดนตรีของจีนมีความเป็นมายาวนานมาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในแผ่นดินจีนสามารถยืนยันได้ว่า มีเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทถือกำเนิดขึ้นมานานก่อนที่จะเริ่มประวัติศาสตร์สมัยฉินแล้ว[1]  เช่น การขุดค้นทางโบราณคดีในยุคหินใหม่ที่ได้จากเมืองเหอหมู่ตู้  มณฑลเจ้อเจียง  พบเครื่องดนตรีลักษณะคล้ายนกหวีดชื่อ ซ่าว(哨)โบราณวัตถุหยางซ่าวที่ขุดได้จากบ้านป้านโป เมืองซีอาน  พบเครื่องดนตรีประเภทเป่าทำจากดินเผาชื่อ ซวิน () โบราณวัตถุที่อำเภออินซวี เมืองอันหยาง มณฑลเหอนาน พบเครื่องดนตรีประเภทตีที่ทำจากหินชื่อ ชิ่ง (石磬)และกลองไม้ที่ขึงด้วยหนังงูเหลือมชื่อ หม่างผีกู่ (蟒皮鼓)
การขุดค้นทางโบราณคดีที่สร้างความตกตะลึงให้กับนักวิชาการดนตรีรวมถึงนักโบราณคดีทั้งของจีนและของโลกคือ การขุดค้นทางโบราณคดีที่สุสานเจิงโห้วอี่ อำเภอสุย มณฑลหูเป่ย (ฝังเมื่อ 433 ปีก่อนคริสตกาล) พบเครื่องดนตรีหลายประเภท เช่น ระฆังราว ฉิ่งราว กลองแบบต่าง เครื่องเป่าจำพวกขลุ่ยชนิดต่างๆ เครื่องดีดชื่อเส้อเป็นต้น เครื่องดนตรีโบราณเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระฆังโลหะ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันชาญฉลาดในการการประดิษฐ์คิดค้นและการใช้เครื่องมือโลหะของบรรพบุรุษจีนที่มีมาอย่างยาวนาน
วิวัฒนาการของระฆังเริ่มมาจากเครื่องดนตรีขนาดเล็กชนิดหนึ่ง คือ กระดิ่ง ภาษาจีนเรียกชื่อว่า หลิง () ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโลหะมีลิ้นที่เก่าแก่ที่สุดของจีน(ลิ้นคือส่วนที่แขวนอยู่ในกระดิ่งใช้เคาะกระดิ่งให้เกิดเสียงดัง) การขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 1981 ที่อำเภอเอ้อร์หลี่โถว เมืองลั่วหยาง พบกระดิ่งโลหะ 4 ชิ้น หลอมจากทองสำริด  เป็นรูประฆังคว่ำ ขนาดเล็ก  ผิวบาง  ยอดแหลม ปากกว้าง ริมเรียบ มีหูกางออกสองข้าง  ยอดกระดิ่งมีห่วงสำหรับคล้อง ลิ้นกระดิ่งทำจากหยก บางครั้งประดับด้วยทองก็มี  ในสมัยโบราณใช้เป็นสิ่งของล้ำค่า
จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะถึงยุคกระดิ่งทองแดงที่ขุดพบที่  เอ้อร์ หลี่โถวนั้น  บริเวณเมืองเหอลั่วมีกระดิ่งดินเผาเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว  เช่น กระดิ่งดินเผาที่ขุดได้จากวัดส่านเซี่ยน เป็นกระดิ่งที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดชิ้นหนึ่ง กระดิ่งนี้ปั้นขึ้นด้วยมือ มีลักษณะกลม ด้านข้างทั้งสองข้างมีรูเจาะทะลุถึงกัน  บนยอดมีหูทรงกลม   ที่แหล่งอารยธรรมหยางเส้าก็พบกระดิ่งเช่นกัน เป็นกระดิ่งดินเผาที่ปั้นด้วยมือ รูปทรงกลม มีด้ามจับ ด้านข้างไม่มีรูเจาะถึงกัน   นอกจากนี้ยังมีกระดิ่งที่ขุดพบจากแหล่งอารยธรรมเหวินซาน มณฑลเหอหนาน  เป็นกระดิ่งดินเผาเช่นเดียวกัน ในเวลาเดียวกันนั้น ที่มณฑลซานซีก็ขุดพบกระดิ่งทองแดงที่เก่าแก่ที่สุดของจีน   รูปร่างของกระดิ่งเป็นรูประฆังคว่ำ  บนยอดกระดิ่งมีรูสำหรับร้อยลิ้น ความหนาบางของกระดิ่งไม่เท่ากัน  ผิวภายนอกมีรอยสลักลวดลายต่างๆ  จากหลักฐานทำให้เรารู้ว่า ก่อนที่จะเกิดมีอารยธรรม เซี่ยเหวินฮว่านั้น  กระดิ่งได้เริ่มมีพัฒนาการเกิดขึ้นแล้ว  และเป็นจุดกำเนิดสำคัญของเครื่องดนตรีโลหะในสมัยราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจวในเวลาต่อมา
การขุดค้นทางโบราณคดีจากสุสานสมัยซางและโจวหลายแห่งที่เมืองลั่วหยาง  พบกระดิ่งเป็นจำนวนมาก  ส่วนใหญ่เป็นสุสานในสมัยโจวตะวันตก  กระดิ่งที่พบมีรูปลักษณะเหมือนกัน  แต่ขนาดใหญ่เล็กต่างๆ กัน เป็นรูประฆังคว่ำ ด้านบนเล็ก ด้านล่างกว้าง  บนยอดมีหูครึ่งวงกลม  ใต้หูมีรูสำหรับร้อยลิ้น   ลิ้นแขวนห้อยอยู่ในกระดิ่ง   แต่เนื่องจากไม่ได้นำกระดิ่งที่พบทั้งหมดมาวัดระดับเสียง จึงไม่แน่ใจว่ากระดิ่งที่มีขนาดต่างกันนั้นเป็นกระดิ่งราวที่สามารถบรรเลงเป็นทำนองเพลงได้หรือไม่   กระดิ่งโบราณที่พบที่เมืองลั่วหยางแม้จะมีจำนวนมากและมีขนาดไม่เท่ากัน แต่รูปร่างไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่กระดิ่งทองแดงของสมัยเซี่ยที่ขุดพบที่    เอ้อร์หลี่โถวนั่นเอง            
                การกำเนิดของระฆัง  เท่าที่มีบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์ไม่ตรงกัน  เช่น คัมภีร์ซานไห่จิง[2] กล่าวว่า นัดดาแห่งเหยียนตี้ ผู้สร้างกลอง คือผู้ริเริ่มสร้างระฆังบันทึกกว่านจือ กล่าวว่า จักรพรรดิหวงตี้มีบัญชาให้สร้างระฆังห้าเสียง หนึ่งชื่อระฆังมรกตกังวาน สองชื่อระฆังแดงแก่นแท้ สามชื่อระฆังเหลืองเรืองประกาย สี่ชื่อระฆังพรายบังเงา ห้าชื่อระฆังดำเร้นความจริงนอกจากนี้ยังมีตำนานในสมัยเหยาซุ่นว่า ผู้สร้างระฆัง นามว่า ฉุย แต่นักวิชาการดนตรีทั่วไปเชื่อกันว่า ระฆังพัฒนามาจากกระดิ่ง
        ระฆังในยุคแรกๆ เป็นระฆังดินเผา จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่มณฑลเหอหนาน พบระฆังดินเผา เป็นเครื่องปั้นดินเผาในยุคใหม่  สูง 9 เซนติเมตร  เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร เป็นรูปทรงกลม ปากกว้าง ปลายแคบ มีด้ามสั้น
 殷中晩期  獣面文鐃(三点)
               
                ในยุคพระเจ้าหยวี แห่งราชวงศ์เซี่ย มีระฆังทองสำริดเกิดขึ้น  และในช่วง 16 ปี ถึง 11 ปี ก่อนคริสตกาล  ตรงกับยุคราชวงศ์ซาง  ประเทศจีนมีระฆังเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ดังหลักฐาน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบก็เป็นเครื่องยืนยันได้ ถึงการกำเนิดระฆังของจีน
                กระทั่งสมัยราชวงศ์โจว ระฆังพัฒนาขึ้นเป็นเครื่องดนตรีชนิดแรกในบรรดาเครื่องดนตรีแปดเสียงของจีน (สมัยโบราณเครื่องดนตรีจีนแบ่งตามวัตถุที่ผลิต 8 ชนิด ได้แก่ โลหะ หิน เส้นไหม ไม้ไผ่   น้ำเต้า ดิน หนัง  และไม้) ใช้เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงในวัด และดนตรีชั้นสูงสำหรับพระราชพิธีในราชสำนัก  แต่ขาดการสืบทอดและบรรเลง ปัจจุบันระฆังจึงมีฐานะเป็นเพียงวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
                 จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ และการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ระฆังราวมีมาตั้งแต่สมัยซีโจวแล้ว[3] ในยุคนั้นระฆังราวประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มเสียงสูงต่ำต่างกันด้วยระฆังสองถึงสามตัว  ต่อมาช่วงปลายสมัยชุนชิวจนถึงจ้านกว๋อเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีกลุ่ม 9 ตัว และ 13 ตัวเป็นต้น  ปี 1978 มีการขุดค้นโบราณวัตถุจากสุสานเจิงโห้วอี่ ที่มณฑลหูเป่ย พบระฆังราวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขุดพบมา  มีอายุอยู่ในช่วง 433 ปี ก่อนคริสตกาล  ระฆังราวนี้แขวนเรียงกันบนชั้นมีความใหญ่โตพอๆ กับเวทีการแสดงหนึ่งเวทีในปัจจุบัน   ประกอบด้วยหนิ่วจง (ระฆังหู)19 ตัว หย่งจง (ระฆังด้าม) 45 ตัว ด้านนอกมีระฆังใหญ่ที่พระเจ้าฉู่ฮุ่ยหวางพระราชทานให้อีก 65 ตัว  ระฆังราวเหล่านี้แบ่งเป็น 3 ชั้น 8 กลุ่ม แขวนอยู่บนราวระฆัง  ระฆังที่แขวนอยู่ชั้นบนสุดเรียกว่า หนิ่วจง  ส่วนระฆังที่ แขวนเอียงลงมาในชั้นล่างถัดลงมาเรียกว่าหย่งจง      ระฆังที่มีขนาดเล็กที่สุดคือระฆังหนิ่วจงสูง 20.4 เซนติเมตร หนัก 2.4 กิโลกรัม  ระฆังที่มีขนาดต่างกันให้เสียงสูงต่ำต่างกัน  ระฆังใบใหญ่สุดคือระฆังที่มีเสียงต่ำสุด สูง 153.4 เซนติเมตร หนัก 203.6 กิโลกรัม ระฆังทั้งชุดมีน้ำหนักรวมมากกว่า 2,500 กิโลกรัม ราวระฆังสร้างขึ้นจากไม้และโลหะเป็นรูปฉาก ความยาวทั้งหมด 10 เมตรขึ้นไป มีชั้นแขวนระฆังสามชั้น ความสูง 273 เซนติเมตร มีสลักเป็นตัวยึดราวเข้าด้วยกัน  ราวระฆังดูยิ่งใหญ่ โอ่อ่า สง่างามยิ่งนัก    


 
               
                การบรรเลงระฆังราวใช้ผู้บรรเลง 3 คนขึ้นไป ใช้ไม้ตีรูปค้อนตีระฆังเสียงสูงและเสียงกลาง ส่วนแถวล่างเสียงต่ำใช้ไม้ตีรูปกระบอง จากการวิจัยของนักดนตรีจีนปัจจุบันพบว่า ระฆังแต่ละตัวสามารถตีเป็นเสียงได้สองเสียง แต่ต้องตีให้ถูกจุดที่กำหนดแน่นอน ระฆัง 1 ราว สามารถตีเป็นเสียงทุกเสียงที่อยู่บนแป้นเปียโนได้ นั่นก็หมายความว่า เสียงระฆังราว สามารถบรรเลงเสียงเปียโนในปัจจุบันได้ทุกเสียง  ความถี่ของเสียงระฆังคือ 256.4 เฮิร์ซ  ซึ่งเป็นระดับเสียงเดียวกันกับเสียงเปียโน  แม้จะถูกฝังอยู่นานกว่า 2,000 ปี แต่จากการทดลองบรรเลงของนักดนตรีปัจจุบันพบว่า เสียงของระฆังยังคงมีคุณภาพเสียงชัดเจนและแม่นยำ  มีช่วงเสียง 5 ช่วงคู่แปด  สามารถบรรเลงเพลงโบราณและเพลงปัจจุบันได้ครบทุกเสียง  และบรรเลงเพลงกลุ่มเสียงต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์
                วัสดุที่ประกอบเป็นระฆังราวของสุสานเจิงโห้วอี่ได้แก่ทองสำริด ดีบุก อลูมิเนียม  ประกอบเป็นราว ประดับประดาด้วยรูปหล่อโลหะต่างๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ มังกร สลักเสลาเป็นตัวอักษรและลวดลายงดงาม มีการสลักตัวอักษรบนระฆังเพื่อบอกเสียงตัวโน้ตประจำระฆังแต่ละตัว  แสดงให้เห็นว่า เมื่อ 2,400 ปีก่อน การดนตรีของจีนมีพัฒนาการเจริญถึงขั้นสูงแล้ว  ซึ่งนับว่ามีความเก่าแก่กว่าการกำเนิดดนตรี 12  เสียงมาตรฐานของยุโรปเกือบ 2,000 ปี  
                ระฆังราวในสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องดนตรีในราชสำนักเพื่อบรรเลงในการออกศึก พระราชพิธีบวงสรวง  การออกท้องพระโรงเท่านั้น  แต่ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปเนื่องจากมีขนาดใหญ่ และต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาลในการสร้าง จึงเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงของชนชั้นศักดินา ใช้เป็นเครื่องแสดงฐานันดร ศักดิ์ศรีและเกียรติยศของผู้เป็นเจ้าของ  ในสมัยใกล้ปัจจุบัน พบระฆังราวที่ขุดได้จากสุสานขุนนางต่างๆ ในบริเวณมณฑลหยวินหนาน ซานซี และหูเป่ย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ระฆังราวจากสุสานเจิงโห้วอี่  ซึ่งเป็นระฆังราวขนาดใหญ่ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ดนตรีจีนอย่างมาก จนได้รับขนานนามว่าสิ่งมหัศจรรย์แห่งสมบัติทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ
                จากการศึกษาวิจัยของนักดนตรีจีนปัจจุบัน มีการทดลองศึกษาตัวโน้ตที่สลักไว้บนระฆัง และโน้ตเพลงจากเอกสารโบราณ  แล้วใช้ระฆังที่ขุดได้จากสุสานเจิงโห้วอี่ บรรเลงเพลงชื่อ เพลงฉู่ซาง ซึ่งเป็นบทเพลงที่บรรยายถึงอารมณ์โกรธแค้นและเศร้าโศกของคีตกวีจีนโบราณ ชวีหยวน ซึ่งถูกเนรเทศออกนอกเมืองเพราะกระทำความผิด ท่วงทำนองเพลงบรรยายอารมณ์ได้ลึกซึ้งจับใจยิ่งนัก[4]
                ยังมีอีกหลายเพลงที่เกิดจากผลการศึกษาวิจัยทางดนตรีจีนโบราณ และใช้ระฆังราวบรรเลง เช่น เพลงจู๋จือฉือ(เพลงกิ่งไผ่) เพลงชุนเจียงฮวาเยว่เย่ (คืนจันทราธาราบุปผาบาน) เพลงฉู่ซาง (ราชวงศ์ฉู่และซาง)  เพลงโยวหลาน (กล้วยไม้โยวหลาน)  เพลง กว๋อซาง (ชาติสลาย) 
        ปัจจุบันระฆังราวโบราณที่ขุดได้จากสุสานเจิงโห้อี่ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่ง มณฑลหูเป่ย  ถนนชังตงหู เมืองอู่ฮั่น ถือเป็นมรดกอันล้ำค่าที่บรรพชนชาวจีนทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแห่งผืนแผ่นดินจีนและมวลมนุษยชาติ     
บรรณานุกรม
李纯一《先秦音乐史》北京:人民音乐出版社,1994
孙继南,周柱铨《中国音乐通史简编》济南:山东教育出版社,1993
吴钊,刘东升《中国音乐史略》北京:人民音乐出版社,1985
    《中国古代音乐史简编》上海:上海音乐出版社,1989
杨荫浏《中国古代音乐史稿》(上、下册)北京:人民音乐出版社,1981





[1] สมัยฉินเป็นราชวงศ์เริ่มต้นของประวัติศาสตร์จีนที่รวบรวมประเทศจีนเข้าเป็นปึกแผ่น  มีอายุ 221 206 ปี ก่อนคริสตกาล
[2] คัมภีร์ซานไห่จิงเป็นเอกสารโบราณฉบับหนึ่งของจีน  แต่งขึ้นก่อนสมัยราชวงศ์ฉิน เนื้อหาว่าด้วยเทพเจ้า ภูมิศาสตร์ สิ่งของเครื่องใช้  วิทยายุทธ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์
[3] ราชวงศ์โจวแบ่งเป็นสองช่วงคือราชวงศ์โจวตะวันตกเป็นราชวงศ์โจวยุคแรก และราชวงศ์โจวตะวันออกเป็นราชวงศ์โจวยุคหลัง
[4] สามารถรับฟังเพลง ฉู่ซาง ซึ่งบรรเลงโดยคณะนักวิจัยดนตรีจีนโบราณ บรรเลงโดยระฆังราวที่ขุดพบที่สุสานเจิงโห้วอี่ได้ที่เวบไซต์นี้  http://www.1ting.com/player/98/player_202351.html