วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศาสนสถานจีนในเขตจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทย




สิ่งที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยที่เด่นชัดอย่างหนึ่งคือ “ศาสนสถาน” เช่น ศาลเจ้าที่ ศาลเจ้า วัด สุสาน โรงเจ มูลนิธิ สมาคมเป็นต้น ย้อนไปในยุคแรกที่ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบรอนแรมเร่ร่อนไปไม่รู้ทิศหมายปลายทาง ตามแต่ลมจะพัดพาใบเรือนำไป เมื่อมาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทยก็ได้รับความเมตตาสงสารจากคนไทยให้ข้าวให้น้ำ ข้าวปลาอาหาร เพิงพักพิงหลบแดดหลบฝน พอซุกหัวนอน และประทังชีวิตด้วยการรับจ้างใช้แรงงาน เก็บหอมรอมริบ ต่อมาก็เริ่มทำการค้าขายเล็กๆน้อยๆ เช่น หาบเกลือแลกข้าวสาร น้ำตาลแลกไข่ ซื้อขายสินค้าเบ็ดเตล็ด อาหาร เสื้อผ้า ใบชา ยาจีน แล้วแต่จะหาได้ จนพอจะมีเงินทุนขึ้นมาบ้าง ก็เริ่มก่อร่างสร้างตัว เริ่มประกอบสัมมาอาชีพที่แน่นอน ด้วยความขยันขันแข็งและประหยัดอดออม ชาวจีนที่ไม่มีแม้ที่ซุกหัวนอนในสมัยนั้นกลายมาเป็นเศรษฐีมั่งมีร่ำรวยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่ชาวจีนโพ้นทะเล ไม่ว่าจะอพยพจากแห่งหนตำบลใด มุ่งไปสู่ฝั่งที่ใด จากบ้านเกิดเมืองนอนไปนานเพียงใด ไกลเพียงไหน แต่หัวใจจีนยังคงเต็มเปี่ยมด้วยเลือดจีน และยังคงระลึกถึงมาตุภูมิไม่เสื่อมคลาย ผู้เขียนประทับใจและซาบซึ้งกับเพลงจีนเพลงหนึ่งมาก เป็นเพลงที่ถ่ายทอดหัวใจของชาวจีนโพ้นทะเลได้ลึกซึ้งกินใจยิ่งนัก ชื่อเพลง 《绿叶对根的情意》Lǜyè duì ɡēn de qínɡyì ”รากใบใจผูกพัน” ผลงานการประพันธ์ของหวาง เจี้ยน (王健Wánɡ Jiàn) จึงขอยกมากล่าวและแปลไว้ ณ ที่นี้




不要问我到哪里去

búyào wèn wǒ dào nǎlǐqù อย่าถามฉัน มุ่งหน้า ไปหนใด

我的心依着你

wǒde xīn yī zhe nǐ ทั้งหัวใจ ยังคง ผูกพันมั่น

不要问我到哪里去

búyào wèn wǒ dào nǎlǐqù อย่าถามฉัน มุ่งไป แห่งใดกัน

我的情牵着你

wǒ deqínɡ qiān zhe nǐ ใจผูกพัน ยึดมั่น อยู่มิคลาย

我是你的一片绿叶

wǒshì nǐde yípiàn lǜyè เปรียบใบไม้ หนึ่งใบ นั่นคือฉัน

我的根在你的土地

wǒde ɡēn zài nǐde tǔdì รากคงมั่น หยั่งลงดิน ถิ่นเกิดไว้

春风中告别了你

chūn fēnɡzhōnɡ ɡào biéle nǐ ลมอุ่นพัด ฉันพราก จากไปไกล

今天这方明天哪里

jīntiān zhèfānɡ mínɡtiān nǎlǐ จากฝั่งนี้ เช้าวันใหม่ ฝั่งไหนกัน



ด้วยความโหยหาอาทรแผ่นดินแม่มิเสื่อมคลายนี้เอง ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลยังคงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเหนียวแน่นและมั่นคง เมื่อพลัดพรากมาอยู่บ้านอื่นเมืองไกลก็เห็นจะมีแต่สายเลือดเดียวกันที่จะพอเป็นที่พึ่งทางใจซึ่งกันและกันได้ การรวมตัวกันเป็นสมาคมชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ต่างๆของไทยเริ่มก่อเกิดและดำเนินไปอย่างสงบ ความต้องการที่พึ่งทางใจอันแรงกล้านี้เองเป็นแรงผลักดันนำไปสู่การก่อสร้างศาสนสถานเพื่อให้เป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” ของชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย

ศาสนสถานจีน ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวไทยเชื้อสายจีน หากแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจของชาวจีน สืบต่อสายใยส่งไปยังชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นแล้วรุ่นเล่า

กองส่งเสริมการวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล็งเห็นความสำคัญของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน จึงมอบหมายให้ผู้เขียนจัดทำ “สารานุกรมศาสนสถานจีนในเขตจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” นี้ขึ้น ทางหนึ่งก็เพื่อเป็นเครื่องจารึกอัตลักษณ์อันงดงามของชาวไทยเชื้อสายจีน อีกทางหนึ่งก็เพื่อให้ชาวไทยพื้นถิ่นได้ศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่างของพี่น้องร่วมชาติ

ขอขอบคุณมิตราจารย์ในหลักสูตรภาษาจีน ดร.ชิดหทัย ปุยะติ อาจารย์ณัฐพัชร์ เตชะรุ่งไพศาล อาจารย์ประภาพร แก้วอมตวงศ์ อาจารย์สุวภัทร จันทร์พวง อาจารย์ Zhang Yingchun (张迎春Zhānɡ Yínɡchūn) ที่ให้ความช่วยเหลือ และไขความกระจ่างในเรื่องที่ผู้เขียนไม่รู้

นักศึกษาสาขาภาษาจีน ในฐานะเจ้าบ้านของจังหวัดต่างๆ มีส่วนช่วยเหลืออย่างมากในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ได้แก่ ณัฐธิดา สัมพันธ์ และ ประภัสสร กลไกล เจ้าบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จันทร์ตะพร คำจันทร์ เจ้าบ้านจังหวัดศรีสะเกษ กนกวรรณ พริ้งเพราะ และ วราพงษ์ แซ่ตั้ง

เจ้าบ้านจังหวัดสุรินทร์ วิภาดา ทองธรรมสิริ เจ้าบ้านจังหวัดบุรีรัมย์และนครราชสีมา จึงขอจารึกนามไว้ ณ ที่นี้

คุณความดีอันเป็นผลจากการทำงานครั้งนี้ ขอยกเป็นเครื่องสักการะบูชาพระพุทธา ปรมาจารย์ เทพเจ้า เจ้าที่ บรรพบุรุษ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ในศาสนสถานจีนทุกองค์ ขอให้ปกปักรักษา ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายภัยพาล คุ้มครองป้องกัน อำนวยอวยชัย ให้แก่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยพื้นถิ่นให้มีชีวิตร่มเย็นเป็นสุข และเป็นญาติมิตรพี่น้อง ได้พึ่งพาอาศัย อยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างสงบสุข


เมชฌ สอดส่องกฤษ

พ.ศ.2556

เอกสารคำสอน สนทนาภาษาจีน


ผู้เขียนเริ่มสอนวิชา สนทนาภาษาจีน 1 มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 และได้เรียบเรียงบทสนทนาเพื่อใช้สอนในแต่ละสัปดาห์ ในช่วงเริ่มต้นได้แต่งจนครบ 15 บท เพื่อใช้สำหรับสอนใน 15 สัปดาห์ ต่อมาเห็นว่าเนื้อหาที่ใช้สอนน้อยเกินไป จึงได้แต่งเพิ่มเติมเป็นสองเท่า ใช้สอนสัปดาห์ละ 2 บท และได้ปรับปรุงเนื้อหาเรื่อยมา โดยเพิ่มความรู้ในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ หลักการใช้คำ สำนวนและไวยากรณ์ ความรู้ทางวัฒนธรรม เป็นต้น และเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ฝึกการสนทนาและพัฒนาทักษะการพูดให้ดียิ่งขึ้น จึงได้เพิ่มเติมแบบฝึกหัดเป็นคำถาม หรือคำสั่งให้ผู้เรียนฝึกสนทนาตามหัวข้อที่เรียนในแต่ละบท นอกจากนี้ ยังได้จัดทำสื่อซีดีบันทึกเสียงบทสนทนาเพื่อใช้เป็นสื่อการสอน และให้ผู้เรียนใช้ศึกษาด้วยตนเองอีกทางหนึ่งด้วย


การเรียนภาษาที่ดีที่สุดคือการเรียนกับเจ้าของภาษา และการได้ใช้ภาษาในประเทศเจ้าของภาษาในสถานการณ์จริง แต่นั่นก็หมายความว่าผู้เรียนต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศจีนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะนานพอสมควร เป็นครึ่งปี เป็นปี หรือสองปี สามปี หรือนานกว่านั้น จึงจะมีความสามารถในระดับที่ใช้งานได้คล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติ นักวิชาการด้านการสอนภาษาจึงใช้วิธีการเรียนในสถานการณ์จริงนี้มาจำลองการสอนแบบสถานการณ์สมมติ โดยการสร้างแบบเรียน สร้างบทสนทนา สร้างการใช้ภาษาให้ผู้เรียนรู้สึกว่าได้ใช้ภาษาในสถานการณ์จริง การเรียนการสอนแบบนี้ใช้ได้ผลดีมาก ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนมาก และเป็นที่นิยมใช้ในการเรียนการสอนภาษามากเช่นเดียวกัน

เอกสารคำสอนฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาของบทสนทนาเป็นสถานการณ์สมมติ 30 สถานการณ์ ผู้เขียนแต่งขึ้นจากประสบการณ์การใช้ภาษา และการใช้ชีวิตในสถานการณ์จริงที่ได้สัมผัสเมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่ประเทศจีน คำพูด สำนวน และประโยคเป็นภาษาพูดที่ใช้จริง ครั้งแรกที่สอนวิชาสนทนาภาษาจีน 1 นี้ ผู้เขียนได้ใช้วิธีการสอนแบบการสนทนาในสถานการณ์จริง ในแต่ละสถานการณ์แบ่งการสอนเป็นสองช่วง ช่วงแรกเรียนรู้ตัวอย่างบทสนทนาในสถานการณ์ที่กำหนด ช่วงที่สอง ให้นักศึกษาเตรียมวงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มาให้มากที่สุด แล้วให้จับกลุ่ม ปล่อยให้สนทนากันอย่างอิสระโดยมีอาจารย์ชาวไทยและชาวจีนร่วมสนทนาด้วย ไม่มีคะแนนเป็นเกณฑ์กำหนดใดๆ ในระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา นักศึกษาสามารถจดจำคำศัพท์ได้มากขึ้นทั้งคำศัพท์ในบทเรียนและนอกเหนือจากบทเรียน นักศึกษากล้าที่จะพูดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถใช้ภาษาพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ขณะที่เรียบเรียงและใช้เป็นเอกสารคำสอนในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมานี้ นักศึกษาสาขาภาษาจีนอย่างน้อย 7 รุ่น ได้ช่วยเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์หลายประการ ซึ่งผู้เขียนก็ได้นำมาปรับปรุงและเพิ่มเติมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนให้มากที่สุด อันเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เอกสารคำสอนฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

เอกสารคำสอนฉบับนี้ ในส่วนที่เป็นภาษาจีน ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องทางภาษาจากอาจารย์เจ้าของภาษาชาวจีน คือ อาจารย์ Zi Wenli (子文礼) อาจารย์ Wang Wei (王薇) อาจารย์Wang Jiaxin (王家欣) และอาจารย์ Zhang Yingchun(张迎春) และยังได้รับความกรุณาจากมิตราจารย์ในหลักสูตรภาษาจีนช่วยพิสูจน์อักษร ทั้งยังช่วยเสนอแนะประเด็นต่างๆที่เป็นประโยขน์ ทำให้เอกสารคำสอนนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

เมชฌ สอดส่องกฤษ