วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

18. 哈尼族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าฮานี







































ชนเผ่าฮานีอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน แถบหุบเขาอายหลาว ด้านตะวันตกของคลองหง ตอนปลายของแม่น้ำหลี่ รวมพื้นที่หลายตำบล เช่น ซินผิง(新平Xīnpínɡ) เจิ้นหยวน(镇源Zhènyuán) โม่เจียง(墨江Mòjiānɡ) หยวนเจียง(元江Yuán jiānɡ) หงเหอ(红河Hónɡhé) หยวนหยาง(元阳Yuányánɡ) ลวี่ชุน(绿春Lǜchūn)

จินผิง(金平Jīnpínɡ) เจียงเฉิง(江城Jiānɡchénɡ) เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าฮานีมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,439,673 คน พูดภาษาฮานี จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ไม่มีภาษาอักษร ในปี 1957 รัฐบาลจีนได้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอักษรขึ้นใช้ โดยใช้อักษรภาษาลาติน



จากหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของชาวฮานี น่าจะเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำต้าตู้(大渡河Dàdùhé) บริเวณเมือง “เหออี๋” (和夷Héyí) ซึ่งในสมัยโบราณเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเชียงที่อพยพลงมาจากเหนือ นับตั้งแต่คริสตศวรรษที่ 4 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 8 อพยพไปทางตะวันตกตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำหยวน (元江Yuánjiānɡ) ตลอดแนวยาวไปจนถึงลุ่มแม่น้ำหลานชาง (澜沧江Láncānɡjiānɡ) ในบันทึกชาวถังเรียกบรรพบุรุษของชาวฮานีว่า “เหอหมาน” (和蛮Hémán ) หลังการจัดตั้งเขตการปกครองน่านเจ้า (南诏Nánzhào) และต้าหลี่(大理Dàlǐ) แล้ว ส่วนการปกครองในระดับย่อยที่อยู่ภายใต้การปกครองของสองเมืองนี้ เช่น เขตกวานกุ้ยซือถัว (官桂思陀部 Guānɡuì sītuó bù) เขตซีชู่เตี้ยน(溪处甸部Xīchùdiàn bù) เขตป้านซีลั่วข่ง (伴溪落恐部Bànxīluòkǒnɡ bù) เขตเถี่ยหรงเตี้ยน (铁容甸部Tiě rónɡ diàn bù) เป็นต้น ล้วนครอบคลุมบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวฮานีแทบทั้งสิ้น และสืบทอดเผ่าพันธุ์อยู่ที่ชายฝั่งลุ่มแม่น้ำแดง(红河Hónɡhé)เรื่อยมา ถึงสมัยราชวงศ์หยวน ทางการได้รวบรวมเอาเมืองเหล่านี้ไว้ในการปกครองของมณฑลยูนนาน ทำให้เริ่มเห็นภาพของการควบคุมและปกครองชนเผ่าฮานีชัดเจนขึ้น ในสมัยหมิงมีนโยบายการควบคุมกรรมสิทธิ์ที่ดิน ล้มล้างระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินในชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ รวมทั้งฮานีด้วย



ชาวฮานีมีความพยายามบุกเบิกดินแดนป่าเขาลำเนาไพรในเขตชายแดนของจีนมาเป็นเวลานับร้อยนับพันปีมาแล้ว ทำไร่ไถนา เลี้ยงปลา ปลูกชา ปลูกข้าว จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหุบเขาเลยทีเดียว ใบชาที่มาจากอำเภอลวี่ชุน (绿春县Lǜchūnxiàn) ของชาวฮานีเป็นใบชาคุณภาพดี สีเขียวใส ส่งขายทั่วประเทศ หมู่บ้านชาวฮานีบนเขาหนานนั่ว (南糯山Nánnuòshān) นับเป็นแหล่งผลิตชาผูเอ่อร์(普洱茶Pǔ’ěrchá) แหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากปลูกชาแล้ว ชาวฮานียังปลูกพืชจำพวกฝ้าย งา ต้นครามที่ใช้ย้อมผ้า ซึ่งผ้าทอมือย้อมครามก็เป็นสินค้าพื้นเมืองที่สำคัญของชาวฮานีอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ตามพงศาวดารราชวงศ์ฮั่น มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาวฮานีรู้จักการใช้แร่ดีบุกมาตั้งแต่ 2000 ปีก่อนแล้ว



แต่ทว่าพัฒนาการด้านเศรษฐกิจสังคมของชนเผ่าฮานีตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ไม่สู้ราบรื่นนัก ชาวฮานีบริเวณโม่เจียง (墨江Mòjiānɡ) ซินผิง(新平Xīnpínɡ) เจิ้นหยวน (镇源 Zhèn yuán) ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นในได้รับผลกระทบจากการติดต่อสัมพันธ์กับชาวฮั่นมาตลอด จนถึงสมัยชิงเริ่มเข้าสู่สังคมแบบศักดินาการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปริมาณผลผลิตทัดเทียมกับชาวฮั่น มีการซื้อขายที่ดิน การเช่าที่ดินเกิดขึ้น แต่ชาวฮานีในสิบสองปันนา(西双版纳Xīshuānɡbǎnnà)และบริเวณแม่น้ำหลานชาง(澜沧江Láncānɡjiānɡ) กลับยังคงถูกควบคุมจากกลุ่มชนชั้นศักดินาอยู่ บางกลุ่มยังคงใช้วิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมอยู่ ด้วยระบบสังคมแบบศักดินาและกดขี่ขูดรีดของชนชั้นศักดินา ชาวฮานีตกอยู่ในสภาวะลำบากและยากจนอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคจักรวรรดินิยมเชื่อมต่อกับยุคกว๋อหมินตั่ง ชาวฮานีประสบกับความเดือดร้อน ยากเข็ญทั่วทุกหย่อมหญ้า



หลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการปกครองตนเอง ชุมชนเผ่าฮานีได้รับการยกฐานะเป็นเขตปกครองตนเองในหลายๆท้องที่ เช่น
- เขตปกครองตนเองเผ่าฮานีและเผ่าอี๋เมืองหงเหอ (红河哈尼族彝族自治州Hónɡhé
Hāní Zú Yí Zú zìzhìzhōu)
- อำเภอปกครองตนเองเผ่าฮานีเผ่าอี๋เผ่าไตเมืองหยวนเจียง (元江哈尼族彝族傣族自治县Yuánjiānɡ Hāní Zú Yí Zú Dǎi Zú zìzhìxiàn)
- อำเภอปกครองตนเองเผ่าฮานีโม่เจียง(墨江哈尼族自治县Mòjiānɡ Hāní Zú zì zhìxiàn)
- อำเภอปกครองตนเองเผ่าฮานีเผ่าอี๋เจียงเฉิง(江城哈尼族彝族自治县Jiānɡ chénɡ Hāní Zú Yí Zú zìzhìxiàn)



จากการพัฒนาประเทศในระยะ 40 ปีมานี้ เศรษฐกิจในเขตปกครองตนเองชาวฮานีในทุกพื้นที่ต่างพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการสร้างถนนหนทางไปทั่วทุกตำบลและหมู่บ้านน้อยใหญ่ ในหมู่บ้านของชาวฮานีมีการก่อตั้งโรงกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ต่อมาโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ การทอผ้า พลาสติก ยาสูบ และการแปรรูปอาหารเกิดขึ้นมากมาย อาชีพการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง เหมืองแร่ ก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน เมื่อเศรษฐกิจความเป็นอยู่ดีขึ้น ชาวฮานีจึงเริ่มพัฒนาและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมขึ้น โดยเริ่มจากการศึกษา มีการก่อสร้างโรงเรียนประถมมัธยมขึ้นมากมาย การสาธารณสุขและโรงพยาบาลพัฒนาขึ้น ชาวฮานีมีสิทธิทางการเมือง และมีสิทธิในการเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน ชาวฮานีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสงบสุข ในฐานะพลเมืองจีนด้วยดีมาตลอด



เมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น ชาวฮานีจึงมีพลังที่จะฟื้นฟูและสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะและ วัฒนธรรมของชนเผ่า ด้านวรรณกรรมชาวฮานีมีเทพนิยาย ตำนาน เพลง กลอน ภาษิตคำพังเพย เพลงพื้นเมือง ปริศนาคำทาย เทพนิยายหรือตำนานที่โดดเด่นของชาวฮานีเช่น เรื่อง《创世纪》Chuànɡ shìjì “ศตวรรษสร้างโลก” เรื่อง《洪水记》Hónɡshuǐ jì “บันทึกอุทกภัย” เรื่อง 《哈尼祖先过江来》Hāní zǔxiān ɡuò jiānɡ lái “บรรพบุรุษชาวฮานีข้ามแม่น้ำมา”



เพลงของชาวฮานีมีสองประเภทคือ เพลงชื่อ ลาปาเร่อ (拉八热Lābárè) เป็นการร้องเพลงประสานสียงใช้ในพิธีแต่งงาน งานศพ งานเทศกาลสำคัญต่างๆ ท่วงทำนองเป็นเพลงที่จริงจัง เคร่งขรึม เพลงอีกประเภทหนึ่งคือ เพลงชื่อ อาจีกู(阿基估 Ā jīɡū) เป็นเพลงภูเขาที่ใช้ร้องเกี้ยวพาราสีตอบโต้กันของหนุ่มสาว เครื่องดนตรีของชาวฮานีที่สำคัญได้แก่ พิณสามสาย พิณสี่สาย ขลุ่ยไม้ ขลุ่ยน้ำเต้า นอกจากนี้ชาวฮานีรักการเต้นรำเป็นชีวิตจิตใจ การเต้นรำที่เป็นที่นิยมเช่น ระบำปรบมือ ระบำพัด ระบำนกยูง ระบำขลุ่ยน้ำเต้า เป็นต้น ลักษณะของการเต้นรำมีจังหวะคล่องแคล่วให้บรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริงอย่างมาก



ชาวฮานีตั้งบ้านเรือนอยู่ตามป่าเขา บ้านสร้างจากวัสดุธรรมชาติ ฝาบ้านทำจากดิน หลังคามุงด้วยหญ้าแห้ง ใช้หินเป็นฐานราก แล้วใช้ไม้เป็นโครงบ้าน บ้านแบ่งเป็นสามชั้น ชั้นล่างเป็นคอกเลี้ยงสัตว์ ชั้นสองเป็นที่อยู่อาศัยและเก็บของ ชั้นบนหรือชั้นหลังคาเป็นที่เก็บเสบียงอาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้ ชาวฮานีที่เมืองโม่เจียงสร้างบ้านด้วยดินเป็นบ้านชั้นเดียว ส่วนที่สิบสองปันนาสร้างบ้านด้วยไม่ไผ่ มีชั้นลอยไว้เป็นที่เก็บเสบียง และตากอาหารจำพวกอาหารแห้ง



ชาวฮานีรู้จักการทอผ้าและย้อมสี เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตัดเย็บขึ้นใช้เอง ชายสวมเสื้อผ่าอก และกางเกงขายาว ใช้ผ้าสีดำหรือขาวโพกหัว ใช้เครื่องประดับเงิน หญิงสวมเสื้อแขนยาวผ่าอกไม่มีปก สวมกางเกงขายาว ส่วนหญิงชาวฮานีที่สิบสองปันนาสวมกระโปรงสั้น และใช้ผ้าดำพันขาสูงถึงเข่า สวมหมวกคลุมศีรษะทรงกลมที่ประดับประดาด้วยเครื่องเงิน หญิงชาวฮานีที่เมืองโม่เจียงสวมผ้าถุงยาว รัดเข็มขัด การแต่งกายของหญิงที่แต่งงานแล้วกับยังไม่แต่งงานมีความแตกต่างกัน บางท้องที่ หญิงที่ยังไม่แต่งงานใช้การถักเปีย แต่หญิงที่แต่งงานแล้วจะเกล้าผม บางที่หญิงที่ยังไม่แต่งงานคาดเข็มขัดคนละสีกับหญิงที่แต่งงานแล้ว เป็นต้น



ครอบครัวของชาวฮานีเป็นครอบครัวเล็ก การแต่งงานเป็นแบบมีสามีภรรยาคนเดียว โดยเฉพาะชาวฮานีที่สิบสองปันนาเคร่งครัดมาก หากชายมีภรรยาหลายคนถือเป็นการผิดขนบธรรมเนียม แต่หากแต่งงานกันมานานยังไม่มีลูกชายจะอนุญาตให้ชายมีภรรยาอีกคนได้ หนุ่มสาวสามารถเลือกคู่ครองได้ด้วยตนเอง แต่การจัดการแต่งงานพ่อแม่เป็นผู้เห็นชอบและจัดการให้ แต่ก็มีบางที่ที่ใช้วิธีคลุมถุงชน ชาวฮานีที่เมืองโม่เจียงมีวิธีการเลือกคู่ครองที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดกันมา คือธรรมเนียมการแต่งงานแบบ “เหยียบถนน” คือเมื่อหนุ่มสาวตกลงรักใคร่ชอบพอกัน ผู้อาวุโสของทั้งสองฝ่ายร่วมเดินไปบนถนนสายเดียวกัน ช่วงที่เดินไปบนถนนหากไม่พบกับสัตว์ป่า ก็ถือว่าสามารถแต่งงานกันได้



พิธีศพของชาวฮานีกระทำโดยการเผา



ยังมีธรรมเนียมการตั้งชื่อของชาวฮานีน่าสนใจมาก คือการสืบทอดสายตระกูลจากพ่อสู่ลูก โดยการใช้คำสุดท้ายของชื่อพ่อมาเป็นคำแรกในการตั้งชื่อลูก และเมื่อตนเองมีลูกก็จะใช้คำสุดท้ายของชื่อตนมาตั้งเป็นคำแรกของชื่อลูกเช่นกัน เช่นนี้ ก็จะเป็นเหมือนห่วงโซ่คล้องต่อๆกันไปจากรุ่นสู่รุ่น



ความเชื่อของชาวฮานีส่วนใหญ่นับถือบูชาเทพเจ้า และบรรพบุรุษ การบูชามีหมอผีเป็นผู้กระทำพิธี และมีการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคแบบหมอผี ในต้นศตวรรษที่ 20 ศาสนาคริสต์เผยแพร่เข้าสู่ชนเผ่าฮานี นอกจากนี้ศาสนาพุทธก็เผยแพร่เข้ามาสู่เผ่าฮานีบางท้องที่เช่นกัน แต่ชาวฮานีเชื่อและนับถือศาสนาที่เพิ่งเผยแพร่เข้ามาใหม่นี้ไม่มากนัก หลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนการนับถือศาสนาของชาวฮานียิ่งลดน้อยลง



เทศกาลสำคัญของชาวฮานีมี เทศกาลเดือนหก และเทศกาลเดือนสิบ ชาวฮานีนับเดือนสิบเป็นเดือนแรกของปี เพราะฉะนั้นชาวฮานีจะฉลองวันขึ้นปีใหม่ในเดือนสิบนี้ ระยะเวลาเฉลิมฉลอง 5 – 6 วัน หรือยาวนานถึงครึ่งเดือน ส่วนเทศกาลเดือนหกเรียกว่า “ขู่จาจา” จัดในวันที่ 24 เดือนหก นอกจากนี้ยังรับเอาเทศกาลต่างๆของชาวฮั่น เช่น เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้ขนมบะจ่าง และตรุษจีนเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองประจำเผ่าด้วย




5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2 มกราคม 2555 เวลา 06:36

    ความรู้แน่นกว่าที่เคยอ่านศึกษามา ชอบครับเรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์
    ผมก็เป็นชนเผ่าฮานี(อาข่า)ครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ

    ถ้ามีเรื่องราวเกี่ยวกับชาวอาข่ามาเล่าให้เพื่อนได้อ่านในที่นี้ ก็จะดีมากครับ เพราะไม่มีใครสามารถเขียนเรื่องราวของชาวอาข่าได้ดีเท่ากับชาวอาข่าเองนะครับ ถือว่าเป็นวิทยาทานกับตัวผมเอง และผู้ที่เข้ามาอ่าน

    เมชฌ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตอนเด็กๆ ปู่เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อน คนที่จะออกไปรบ จะใช้ ข้าวปุ๊ก (ข้าวเหนียวตำ) ปั้นเป็นเสื้อเกราะ พอมันแห้งแล้ว ก็จะแข็งมีดจะฟันไม่เข้า อีกทั้งใช้เป็นเสบียงได้ด้วย

      ลบ
  3. ดูรากศัพท์ pi-n-yi-n ชาว อายหนี่Ai-Ni อ้ายหนี่หรือ หนู่Nu ฮานีHa-Ni หลอหล่อส์Lo Los โลโล่ อาข่า ภาษาอวี่ หยี หยี่ ยี่
    แตกมาจากทะสาปแคสเปียน พวกเตริก หรือ ตาต้า ตาด มาเอเชียกลาง ทุ่งหญ้าสเตปปส์ เผ่า มองโกลลอยด์ เช่น เผ่า เยวี่ย หรื เย่ว์ไซYUEZHI แตก JI JUE JUI JUIH YI YUE YUE-HYUI
    1ทางเหนือ จีน Bei di
    2ทาง ตะวันออก จีนDong yi
    3ทางทิศใต้ Zhi
    4ทางทิศตะวันตกจีน XI RONG
    สรุป 1.มาจากเผ่า ทางเหนือ เซียนหนู่ หนี่เจินส์ ตั้งชื่อ Ai- ni
    2.ทาง ตอ.พวก ตงยี่ มีภาษา yi
    3.แต่ละราชวงศ์จีน ตั้งชื่อ เผ่า ตามกาลเวลา อาจเป็นเผ่า เชียงJi-an-g เผ่า เจี๋ยji-a
    4.A-k-ha A-ka ต้องดูว่า จีนพินอิน มี เหนือ ใต้ หมิ่น หม่าน แมนดาริน หรือ ภาษาอังกฤษ เมื่อ ออกเสียง ระหว่าง เจ้าภาษา มักออกสำเนียงตัวเอง เพียงยืมอักษร โรมัน Ro-Ma-n-ce โรแมน โรม่าน มาใช้
    5.น่าจะมีการปกครอง คือ กษัตริย์แห่ง รัฐ เย่ว์ ชื่อ ฮาว (เลา เหล่า เหลียว) อ้ายหลาว Hao Ai-Lao เทียบเคียงรากศัพท์ น่าจะเหมือน Ji yi qi gi gim

    ตอบลบ
  4. ขออนุญาตของถามครับ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ ชนเผ่าฮานีกับชนเผ่าอาข่า คือชนเผ่าเดียวกันหรือเปล่าครับ

    อาจารย์พอจะมีข้อมูลที่ดึกกว่านี้เกี่ยวกับ เอกลักษณ์การแต่งกายหรือลวดลายของเสื้อผ้ามั้ยครับ

    ตอบลบ