วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

28. 傈僳族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าลี่ซู



















ชาวเผ่าลี่ซูเป็นชนกลุ่มน้อยที่เก่าแก่มากที่สุดกลุ่มหนึ่งของจีน อาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองนู่เจียงเผ่าลี่ซู ของมณฑลยูนนาน(云南怒江傈僳自治州Yúnnán Nùjiānɡ Lìsù zìzhìzhōu) และยังมีกระจัดกระจายอยู่ในตำบลและอำเภอต่างๆของมณฑลยูนนาน เช่น ลี่เจียง(丽江Lìjiānɡ) ตี๋ชิ่ง(迪庆Díqìnɡ) ต้าหลี่(大理Dàlǐ) ป่าวซาน(保山Bǎoshān) เต๋อหง(德宏Déhónɡ) ฉู่สยง(楚雄Chǔxiónɡ) หลินชาง(临沧Líncānɡ) เป็นต้น ในมณฑลเสฉวน(四川Sìchuān) ก็มีชาวลี่ซูอาศัยอยู่ประปราย เช่น เมืองเหยียนหยวน(盐源Yányuán) เหยียนเปียน (盐边Yánbiān) มู่หลี่(木里Mùlǐ) เต๋อชาง(德昌Déchānɡ) เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าลี่ซูมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 634,912 คน พูดภาษาลี่ซู จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋


คำเรียกชื่อ “ลี่ซู” (傈僳Lìsù) ปรากฏในเอกสารครั้งแรกสุดคือในงานเขียนของบัณฑิตในสมัยถังชื่อ ฝานชาว (樊绰Fán Chāo) ในบันทึกหมานซู 《蛮书》Mán shū โดยเรียกชื่อว่า ลี่ซู่ (栗粟Lìsù) เชื่อกันว่าเป็นชนกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของชาวอูหมาน (乌蛮Wūmán) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางสายเลือดกับชนเผ่าอี๋ (彝族Yí Zú) และเผ่าน่าซี (纳西族Nàxī Zú) จากบันทึกทางประวัติศาสตร์และตำนานประจำเผ่าระบุว่า ในศตวรรษที่ 8 บรรพบุรุษของชาวลี่ซูตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำจินซา (金沙江Jīnshā jiānɡ) เคยตกอยู่ในการปกครองของสองชนเผ่าที่มีอำนาจรุ่งเรืองในสมัยนั้นคือ อู้เติ้ง (勿邓Wùdènɡ) และเหลี่ยงหลิน (两林Liǎnɡlín) ต่อมาหลังจากศตวรรษที่ 12 เมืองทั้งสองนี้เป็นเมืองในการปกครองของราชวงศ์หยวนและหมิง ชาวลี่ซูจึงตกอยู่ในการปกครองของราชสำนักทั้งสองด้วย กลางศตวรรษที่ 16 ภัยจากภาวะสงครามและการกดขี่ทารุณจากระบบนายทุน ชาวลี่ซูจึงได้อพยพหลบหนีลงไปทางใต้ข้ามแม่น้ำหลานชาง(澜沧江Láncānɡ jiānɡ) ข้ามเขาหิมะปี้หลัว(碧罗雪山Bìluó xuěshān) เข้าสู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำนู่ (怒江Nù jiānɡ) จากนั้นชาวลี่ซูได้อพยพเป็นสองสายไปทางทิศตะวันตกและตะวันออก เข้าสู่บริเวณเมืองเต๋อหง (德宏Déhónɡ) หลินชาง (临沧Líncānɡ) และเกิ๋งหม่า(耿马Gěnɡmǎ) อีกกลุ่มหนึ่งอพยพลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำจินซาจนตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลู่เชวี่ยน (禄劝Lùquàn) และต้าเหยา (大姚Dàyáo) มาจนปัจจุบัน


ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวลี่ซูไม่สู้จะราบรื่นนัก สังคมของชาวลี่ซูในบริเวณมณฑลยูนนาน ได้แก่ เมืองลี่เจียง(丽江Lìjiānɡ) เหวยซี (维西 Wéixī) หย่งเซิ่ง(永胜Yǒnɡshènɡ) หยวินหลง(云龙Yúnlónɡ) หลานผิง(兰坪Lánpínɡ) ป่าวซาน(保山Bǎoshān) รวมไปถึงมณฑลเสฉวนเริ่มเข้าสู่ระบบสังคมศักดินา มีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ชาวลี่ซูที่อยู่รอบบริเวณภูเขาประกอบอาชีพทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิม บางพื้นที่ยังดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า ผลผลิตที่ได้มีปริมาณน้อย การรวมตัวกันและการแบ่งหน้าที่ทางสังคมยังไม่ชัดเจน การซื้อขายสินค้ายังคงเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากันอยู่ ที่เด่นชัดคือ ระบบเศรษฐกิจของชาวลี่ซูในบริเวณเมืองปี้เจียง(碧江Bìjiānɡ) ฝูก้ง(福贡Fúɡònɡ) ยังเพิ่งเริ่มเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของการซื้อขายสินค้าโดยการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ในขณะที่ระบบสังคมแบบการเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวลี่ซูในเขตลุ่มน้ำนู่(怒江Nù jiānɡ) เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว ชุมชนเริ่มมีความแตกต่างของระดับชนชั้นแล้ว แต่ระบบสังคมโบราณแบบทาสในเรือนเบี้ยยังคงหลงเหลืออยู่ เจ้าของทาสมีกรรมสิทธิ์ที่ดินและในตัวทาสเป็นของตนเอง เป็นผู้มีหน้าที่จัดการดูแลที่ดินและชีวิตความเป็นอยู่ของทาส ระบบนี้ภาษาลี่ซูเรียกว่า “ฮาหมี่เป้ยหลายเหอ” (哈米贝来合Hā mǐ bèi lái hé)


ศตวรรษที่ 16 – 20 ระบบทาสในเรือนเบี้ยในบริเวณนู่เจียงยังคงหลงเหลืออยู่ ทาสเป็นสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งที่เจ้าของบ้านเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดู แต่ทาสถือเป็นสมบัติของเจ้าของที่มีสิทธิ์ในการใช้แรงงานและซื้อขาย ทาสไม่มีสถานภาพใดๆในสังคม แต่ทาสสามารถไถ่ถอนตัวเองเป็นไทได้ จนกระทั่งปี 1949 ระบบทาสในสังคมชาวลี่ซูค่อยๆ สูญสลายและหมดสิ้นไป


ศตวรรษที่ 20 สังคมชาวลี่ซูยังคงรักษาระบบสายตระกูลเป็นระบบพื้นฐานของสังคมอยู่ คนที่อยู่ในสายตระกูลเดียวกันสืบเชื้อสายสู่รุ่นต่อไปด้วยคำเรียกประจำตระกูลที่ได้มาจาก “โทเทม” (图腾túténɡ) ประจำตระกูล ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนกับการใช้ “แซ่” ประจำตระกูลนั่นเอง ชื่อเรียกประจำตระกูลของชาวลี่ซูเรียกว่า “ชูเอ๋อ” (初俄Chū’é) มี เสือ(虎Hǔ) หมี(熊Xiónɡ) ลิง (猴Hóu) งู(蛇Shé) แกะ(羊Yánɡ) ไก่(鸟Jī) นก(鸡Niǎo) ปลา(鱼Yú) หนู(鼠Shǔ) ผึ้ง(蜂Fēnɡ) ข้าวสาลี (荞Qiáo) ไผ่ (竹Zhú) ผัก(菜Cài) ปอ(麻Má) ต้นสัก(柚木Yóumù) ต้นหลี (犁Lí) และน้ำค้าง(霜Shuānɡ)


แต่ละสายตระกูลสืบเชื้อสายโดยตรงจากพ่อ และจะมีการนับสายตระกูลกัน 2–4 รุ่น สมาชิกในสายตระกูลเรียกว่า “ถี่เอ๋อ” (体俄tǐ’é) หมายความว่า “สายตระกูล” การรวมตัวกันของสองสายตระกูลขึ้นไปเรียกว่า “คั่ง” (亢kànɡ) การรวมตัวกันของ “คั่ง” เกิดจากการรวมตัวกันแบบตระกูลใกล้ชิด หรือผู้อาวุโสของสายตระกูลนำสายตระกูลมารวมตัวกัน การรวมตัวกันนี้เรียกว่า “ชัวอู๋” (搓吾cuō wú) หัวหน้าของ “ชัวอู๋” เป็นข้าราชการที่ทางการส่งมา และไม่มีการสืบทอดอำนาจต่อกัน หน้าที่ของหัวหน้าชัวอู๋คือดูแลการทำมาหากิน ตัดสินปัญหาข้อพิพาท จัดการเกี่ยวกับการบูชา เป็นผู้นำเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการแก้แค้นกับ “คั่ง” อื่นๆ ตลอดจนมีหน้าที่ลงนามในสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆ


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายพัฒนาชุมชนลี่ซูหลายแบบ แตกต่างไปตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาวลี่ซูในแต่ละชุมชน รัฐประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินในชุมชนลี่ซูในเมืองลี่เจียง(丽江 Lìjiānɡ) หย่งผิง(永平 Yǒnɡpínɡ) หย่งเซิ่ง(永胜 Yǒnɡshènɡ) หยวินหลง(云龙 Yúnlónɡ) ระบบเศรษฐกิจแบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินพัฒนาไปมาก ชาวลี่ซูสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของตนเองให้ทัดเทียมกับชาวฮั่น จนสามารถล้มล้างการขูดรีดทารุณของระบบศักดินาลงได้ ในบริเวณที่มีชนหลายเผ่าอาศัยอยู่รวมกันได้แก่ ชนเผ่าไต ทิเบต อี๋ ในเมืองหนิงล่าง (宁蒗 Nínɡlànɡ) ลู่ซี (潞西 Lùxī) ป่าวซาน (保山 Bǎoshān) ของมณฑลยูนนาน และเมืองเหยียนเปียน (盐边Yánbiān) ซีชาง (西昌 Xīchānɡ) ของมณฑลเสฉวน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอย่างสันติวิธีเพื่อการปฏิรูปที่ดินทำกิน ส่วนชุมชนชาวลี่ซูที่เมืองเต๋อหงและนู่เจียง รัฐบาลกับชาวลี่ซูก็ได้ร่วมมือกันก่อสร้างระบบคมนาคม มีการสร้างสะพานซึ่งนำมาซึ่งการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคมของชุมชน ให้ก้าว สังคมชาวลี่ซูจึงเข้าสู่ระบบสังคมนิยมอย่างเต็มรูปแบบ
ในปี 1954 มีการก่อตั้งบริเวณปกครองตนเองชนเผ่าลี่ซูขึ้นที่นู่เจียง (怒江傈僳族自治区Nùjiānɡ Lìsù Zú zìzhìqū) โดยมีอาณาเขตครอบคลุมหลายอำเภอได้แก่ หลูสุ่ย (泸水 Lúshuǐ) ปี้เจียง(碧江Bìjiānɡ) ฝูก้ง(福贡Fúɡònɡ) และก้งซาน(贡山Gònɡshān) ต่อมาในปี 1957 ก็ได้รวมชาวลี่ซูที่อำเภอหลานผิงเข้ามา และยกระดับให้เป็นเขตปกครองตนเองชาวลี่ซูนู่เจียง (怒江傈僳族自治州Nùjiānɡ Lìsù Zú zìzhìzhōu) ได้สำเร็จ ชาวลี่ซูมีสิทธิในการปกครองตนเอง ตลอดระยะเวลา 50 ปี ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและพลังความร่วมมือของชาวลี่ซู ได้เกิดการสร้างระบบพื้นฐานทางการเกษตรขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆเกิดขึ้นอย่างมากมายในชุมชนลี่ซู เช่น โรงกำเนิดไฟฟ้า โรงงานซ่อมรถยนต์ โรงผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร โรงงานโลหะ โรงงานผลิตน้ำตาล เกลือ กระดาษ ยา โรงพิมพ์ โรงกลั่นเหล้า โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตกระเบื้อง วัสดุก่อสร้างเป็นต้น ที่สำคัญคือ รัฐบาลได้สนับสนุนการศึกษาให้ชาวลี่ซูมีความรู้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในพัฒนาด้านอุตสาหกรรม มีการพัฒนาและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงารพัฒนาด้านการคมนาคม การสาธารณสุข การสื่อสาร เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาชุมชนชาวลี่ซูโดยรวม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลี่ซูในปัจจุบันดีขึ้นมาก ทัดเทียมกับประชาชนชาวจีนเผ่าอื่นๆ ทั่วไป


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวลี่ซูรักความสนุกสนานรื่นเริง ชอบการร้องรำทำเพลง เมื่อมีพิธีสำคัญๆ อย่างพิธีแต่งงาน สร้างบ้านใหม่ ขึ้นบ้านใหม่หรือเทศกาลสำคัญๆ ชาวลี่ซูจะแสดงออกถึงความสุขนั้นด้วยการเต้นรำและร้องเพลง บทเพลงและการเต้นรำของชาวลี่ซูผูกพันใกล้ชิดและสะท้อนภาพของการดำรงชีวิตอย่างแยกกันไม่ออก เนื้อหาและทำนองเพลงแบ่งเป็นหลักๆ ได้ 4 แบบคือ เพลงลงนา เพลงสร้างบ้าน เพลงเก็บเกี่ยว และเพลงแต่งงาน บทกลอนของชาวลี่ซูมีฉันทลักษณ์ชัดเจน แต่ละวรรคของกลอนมี 7 คำ และมีบังคับสัมผัสคล้องจองที่เคร่งครัด ทำนองเพลงที่นิยมเช่น โม่กวา (莫瓜Mòɡuā) โหยวเหย่ (由野Yóuyě) และปายสื่อ(掰史Bāishǐ) ทำนองเพลงบางเพลงสำเนียงเสียงสูงเร่งจังหวะเร่าร้อนเสนุกสนานรื่นเริง แต่ก็มีบางเพลงที่มีเสียงต่ำเชื่องช้าฟังดูเยือกเย็นอ้อยสร้อย การขับร้องเพลงของชาวลี่ซูมักร้องประกอบกับเครื่องดนตรีผีผา (琵琶Pípá) พิณสี่สาย (四弦Sìxián) และพิณเป่า(口弦Kǒuxián) การเต้นรำของชาวลี่ซูสนุกสนานรื่นเริง ท่วงทำนองกระฉับกระเฉง กระชับฉับไว


ด้านวรรณกรรม ชาวลี่ซูมีวรรณกรรมมุขปาฐะที่สืบทอดต่อกันมามากมาย ได้แก่ เทพนิยาย นิทานพื้นบ้าน ตำนานน้ำท่วมโลก การกำเนิดมนุษย์ การกำเนิดต้นไม้ ป่าไม้ และสัตว์โลก เช่น เรื่อง《天神捏地球的传说》Tiānshén niē dìqiú de chuánshuō “ตำนานเทพเจ้าปั้นโลก” เรื่อง《洪水滔天.兄妹成家》Hónɡshuǐ tāotiān .xiōnɡmèi chénɡjiā “คลื่นยักษ์ท่วมโลก – พี่น้องออกเรือน” เรื่อง《天狗吃月亮》Tiānɡǒu chī yuèliɑnɡ “สุนัขสวรรค์กินจันทรา” และยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหง เช่น เรื่อง《阿普和阿邓的故事》Āpǔ hé Ādènɡ de ɡùshi “ตำนานอาผู่กับอาเติ้ง” เรื่อง《绿斑鸠的故事》Lǜbānjiū de ɡùshi “นิทานนกเขาเขียวลาย” เรื่อง《姐妹俩》Jiěmèi liǎnɡ “พี่น้องสองสาว” เป็นต้น


ด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม การแต่งกายของชาวลี่ซูสวมเสื้อผ้าทอเองจากใยป่าน ชายสวมเสื้อเชิ้ตลำตัวสั้น กางเกงขายาว บ้างโพกศีรษะด้วยผ้าสีฟ้า คล้องมีดที่เอวด้านซ้าย แขวนธนูที่เอวด้านขวา หญิงสวมเสื้อตัดเฉียงขวาลำตัวสั้น สวมกระโปรงยาว โพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือฟ้า คล้องสร้อยไข่มุกหลากสีระดับอก ชาวลี่ซูต่างท้องที่กันสวมเสื้อผ้าสีต่างกัน จึงมีชื่อเรียกตามสีของเสื้อผ้า ได้แก่ ลี่ซูขาว (白傈僳Bái Lìsù) สวมเสื้อผ้าสีสะอาด สีฟ้า หรือสีขาว ลี่ซูดำ(黑傈僳Hēi Lìsù) สวมเสื้อผ้าสีดำ ดูสูงส่ง สง่างาม และลี่ซูลาย(花傈僳Huā Lìsù) สวมเสื้อผ้าสีสันหลากสี ฉูดฉาด สดใส


อาหารการกิน ชาวลี่ซูกินข้าวโพดและข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก ในสมัยโบราณดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ อาหารเนื้อของชาวลี่ซูจึงมีความหลากหลายมาก ที่สำคัญคือชายหญิงชาวลี่ซูชื่นชอบการดื่มสุราเป็นการสังสรรค์ในทุกเทศกาลรื่นเริง หรือการต้อนรับแขกผู้มาเยือน
บ้านเรือนชาวลี่ซูมีสองแบบ คือ สร้างด้วยไม้ ฝาบ้านทั้งสี่ด้านใช้ไม้กระดานยาวตีเป็นฝาบ้าน มุงหลังคาด้วยไม้กระดาน อีกแบบหนึ่งคือบ้านไม้ไผ่ ใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นเสาบ้าน ใช้ไม้ไผ่สานเป็นฝาบ้าน หลังคามุงจาก ภายในบ้านสร้างเตาไฟขนาดใหญ่ไว้ตรงกลาง เป็นลักษณะบ้านชาวลี่ซูที่นู่เจียงโดยเฉพาะ


ชาวลี่ซูเคารพผู้อาวุโสกว่า เวลารับประทานอาหาร ข้าวที่ตักถ้วยแรกจะใช้มือทั้งสองประคองแล้วยื่นให้ผู้อาวุโสที่สุดในวงข้าว ถ้ามีไก่ตับไก่และหัวไก่จะต้องให้ผู้ที่อาวุโสกว่า ถ้าฆ่าหมู ถ้ามีผู้อาวุโสหลายคน จะหั่นตับหมูแบ่งให้ผู้อาวุโสเหล่านั้นเท่าๆกัน ปีใหม่ฆ่าหมูจะต้องเก็บหัวหมูไว้เป็นของขวัญให้พ่อแม่ ถ้าฆ่าเพียงตัวเดียวจะแบ่งครึ่งให้พ่อแม่ฝ่ายชายครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง ในพิธีมงคล ต้องฆ่าหมูฆ่าวัว และต้องมอบหัวที่ใหญ่ที่สุดให้เป็นของขวัญกับพ่อแม่ภรรยา


ชาวลี่ซูแต่งงานแบบมีสามีภรรยาคนเดียว แต่ในอดีตคนระดับหัวหน้าเผ่าหรือผู้มีฐานะดี ผู้ชายสามารถมีภรรยาหลายคนได้ ฝ่ายชายเมื่อแต่งงานแล้วจะแยกครอบครัวจากพ่อแม่ สร้างครอบครัวใหม่ของตน หนุ่มสาวเลือกคู่ครองได้อย่างอิสระ แต่การแต่งงานพ่อแม่จะเป็นฝ่ายจัดการให้ มีธรรมเนียมการแต่งงานกันในเครือญาติ


พิธีศพทำโดยการฝัง มีการสร้างสุสานสำหรับฝังศพ และมีสุสานประจำตระกูล


ความเชื่อและเทศกาลสำคัญของชาวลี่ซู ในอดีตชาวลี่ซูนับถือและบูชาธรรมชาติ เชื่อว่าสรรพสิ่งมีวิญญาณ มีหมอผีเป็นผู้ทำพิธีกรรม จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ศาสนาคริตส์เผยแผ่เข้าสู่ประเทศจีน ชาวลี่ซูบริเวณเต๋อหง นู่เจียงยอมรับนับถือศาสนาคริตส์นิกายโรมันคาทอลิก
ก่อนปี 1950 ชาวลี่ซูนับปฏิทินแบบธรรมชาติ โดยสังเกตการบานของดอกไม้ ไก่ขัน แบ่งช่วงเวลาในแต่ละปีออกเป็นเดือนดอกไม้บาน เดือนไก่ขัน เดือนไฟป่า เดือนอดอยาก เดือนเก็บผักป่า เดือนเก็บเกี่ยว เดือนต้มเหล้า เดือนล่าสัตว์ เดือนข้ามปี เดือนสร้างบ้าน รวมทั้งสิ้น 10 เดือน เทศกาลสำคัญมี เทศกาลอาบน้ำ เทศกาลเก็บเกี่ยว และเทศกาลปีใหม่


เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ของชาวลี่ซูที่เมืองเต๋อหงคือ “เทศกาลด้ามมีด” (刀杆节Dāoɡǎn jié) จัดขึ้นทุกวันที่ 17 เดือน 2 ของทุกปี เทศกาลนี้จัดเป็นสองวัน วันแรกคือกิจกรรม “ลุยทะเลเพลิง” (下火海Xià huóhǎi) โดยจะก่อไฟกองใหญ่ และมีผู้แสดงห้าคนกระโดดเข้าออกกองไฟ แล้วคลุกไฟ ล้างหน้าด้วยไฟ ใช้เหล็กเผาไฟให้ร้อนแล้วส่งต่อกันไปด้วยมือเปล่าเรียกว่า “ดึงสร้อยไฟ” เมื่อการแสดงสิ้นสุดลงทุกคนร่วมกันเต้นรำรอบกองไฟ วันที่สองเป็นการ “ปีนเขากระบี่” (上刀山Shànɡ dāoshān) ลับมืด 32 เล่มให้คมกริบ แล้วเสียบเข้ากับราวบันไดสูง บนยอดมีธงแดงและประทัด ผู้แสดงจะปีนขึ้นสู่ยอดบันไดเพื่อเอาธงลงมาท่ามกลางเสียงปะทัดและเสียงโห่ร้องด้วยความสนุกสนานยินดี


1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับความเป็นของต้นตระกูลและชนเผ่า
    ผมก็เป็นชนเผ่าลี่ซูที่เกิดและเติบโตในประเทศไทยคน1ครับขอบคุณสำหรับความเป็นมาของชนเผ่า

    ตอบลบ