วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

37. 怒族 ชนกลุ่มน้อยเผ่านู่























คัดลอกภาพจาก http://idhan.com/images/56/nu.jpg
http://www.puer8.com/eWebEditor/uploadfile/2007122134112410.JPG

ชาวเผ่านู่ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ใน 3 อำเภอของมณฑลยูนนานได้แก่ ปี้เจียง (碧江Bìjiānɡ) ฝูก้ง(福贡Fúɡònɡ) ก้งซาน (贡山Gònɡshān) นอกจากนี้ยังมีส่วนน้อยกระจายอยู่ในอีก 2 อำเภอคือ หลานผิง(兰坪Lánpínɡ) และ เหวยซี(维西Wéixī)จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่านู่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 28,759 คน พูดภาษานู่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า ภาษานู่ในแต่ละท้องที่มีสำเนียงแตกต่างกันมาก ผู้คนที่อาศัยอยู่ต่างอำเภอกัน ไม่สามารถใช้ภาษานู่ที่ต่างสำเนียงกันสื่อสารกันเข้าใจได้ ไม่มีภาษาอักษร ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีน


ชาวนู่มีชื่อเรียกหลายชื่อแตกต่างไปตามสถานที่และผู้เรียก ชาวนู่ที่เมืองปี้เจียงเรียกตัวเองว่า นู่ซู (怒苏Nùsū) ชาวนู่ที่เมืองฝูก้งเรียกตัวเองว่าซื่ออานู่ (誓阿怒Shì’ānù) ส่วนที่เมืองก้งซานเรียกตัวเองว่าอาหลง (阿龙Ā lónɡ) เป็นชนเผ่าเก่าแก่ที่อาศัยติดแผ่นดินสองฝั่งแม่น้ำนู่และแม่น้ำหลานชางมาแต่โบราณกาล เป็นกลุ่มชนที่มีพัฒนาการมาจากชนเผ่าหลูลู่หมาน (庐鹿蛮Lúlùmán) ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในสมัยถังที่อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นเมืองฝูก้ง และเมืองก้งซานของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน แต่ชาวนู่ที่อาศัยอยู่ในต่างพื้นที่กัน ยังคงเรียกตัวเองเป็นภาษาชนเผ่าแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ชุมชนชาวนู่ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของอาณาจักรน่านเจ้าและต้าหลี่ ต่อมาในสมัยหยวนและหมิงตกอยู่ในการปกครองของเจ้าเมืองสกุลมู่แห่งเผ่าน่าซีของเมืองลี่เจียง นับจากศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมายังเคยตกเป็นชนเผ่าในการปกครองของชนเผ่าว้า เผ่าทิเบตและเผ่าป๋าย นอกจากนี้ชนเผ่าลี่ซูที่มีอำนาจแข็งแกร่งกว่าก็เคยรุกรานและครอบครองที่ดินทำกินของชาวนู่ รวมทั้งกวาดต้อนชาวนู่ไปเป็นทาสอีกด้วย หลังยุคปลดปล่อย ในปี 1913 มีการก่อตั้งศูนย์กลางชาวนู่ขึ้นที่ชุมชนอิ๋งผาน (营盘Yínɡpán) ตำบลหลานผิง(兰坪Lánpínɡ) ต่อมาก็ก่อได้ตั้งศาลาการปกครองขึ้นอีกสามแห่ง คือ ศาลาการปกครองชางผูถ่ง(菖蒲桶Chānɡpútǒnɡ คือเมืองก้งซานในปัจจุบัน) เมืองซ่างพ่า(上帕shànɡpà คือเมืองฝูก้งในปัจจุบัน) เมืองจือจื่อหลัว (知子罗zhīzǐluó คือเมืองปี้เจียงในปัจจุบัน) ต่อมาในปี 1933 รัฐบาลกว๋อหมินตั่งสถาปนาศาลาการปกครองทั้งสามขึ้นเป็นเมืองก้งซาน ฝูก้ง และเมืองปี้เจียงมาจนปัจจุบัน


ด้านเศรษฐกิจสังคม ชาวนู่ดำรงชีพด้วยการเกษตรมาแต่โบราณ จนถึงสมัยชิงชาวนู่เริ่มเรียนรู้การเพาะปลูก และเริ่มปลูกพืชจำพวกข้าวและผักต่างๆ แต่อาหารจำพวกเนื้อยังคงได้มาจากการล่าสัตว์ป่า งานหัตถกรรมพัฒนาขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ในยุคนั้นชาวนู่นำของป่าที่ได้จากการล่าและเก็บจากป่าโดยเฉพาะว่านหวงเหลียน (黄连Huánɡlián) มาแลกเปลี่ยนสินค้าจำพวกเกลือ และอาหารอื่นๆ กับต่างชนเผ่า หลังปี 1929 ทางการเมืองปี้เจียง และเมืองฝูก้งเริ่มกำหนดช่วงเวลาการเปิดตลาด เริ่มใช้เงินตราที่ทำจากโลหะและกระดาษ ชาวนู่จึงเริ่มหันมาเปิดแผงทำการค้าขายสินค้าตามฤดูกาล ในยุคนี้สิ่งของเครื่องใช้ชาวนู่ยังเป็นแบบที่ใช้มาแต่โบราณ เช่น ขวานหิน มีดหิน แสดงให้เห็นว่าชาวนู่มีพัฒนาการมาตั้งแต่มนุษย์ยุคหิน นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือการเกษตรที่ทำจากไม้อีกมากมาย เช่น จอบไม้ เสียมไม้ จนถึงศตวรรษที่ 16 – 17 เริ่มมีการใช้เครื่องมือที่ทำจากเหล็กบ้างแล้ว แต่บางส่วนยังคงใช้เครื่องไม้เครื่องมือแบบเดิมอยู่ เครื่องมือเหล็กที่เริ่มมีใช้นั้นได้รับอิทธิพลมาจากชาวน่าซีและชาวทิเบต


การเกษตรกรรมของชาวนู่ที่เมืองปี้เจียงยังล้าหลังจากชาวนู่ที่เมืองฝูก้งและก้งซานมาก ชาวนู่ในสมัยก่อนยังคงทำนาแบบเผาไร่เลื่อนลอย ทำให้ผลผลิตที่ได้มีจำนวนน้อยมาก แต่ที่เมืองก้งซานและฝูก้งมีดินอุดมสมบูรณ์กว่าเมืองปี้เจียง การคมนาคมก็ดีกว่า ดังนั้นการทำการเกษตรจึงพัฒนาไปมากกว่าเมืองปี้เจียง จากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกันนี้เอง ส่งผลให้ชาวนู่ในทั้งสามเมืองมีระบบสังคมแตกต่างกัน ชาวนู่ที่เมืองฝูก้งมีเศรษฐกิจดีกว่าเมืองอื่นๆ ราษฎรยังคงมีที่ดินทำกินสาธารณะร่วมกันอยู่ ส่วนชาวนู่ที่เมืองก้งซานได้รับอิทธิพลและความเจริญจากชาวน่าซีและทิเบต ระบบเศรษฐกิจสังคมจึงพัฒนารุดหน้าไปมากกว่า ที่ดินในบริเวณที่เป็นป่าเป็นสมบัติสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิในการใช้ที่ดินร่วมกัน ส่วนที่ดินที่ประชาชนหักร้างถางพงเพื่อทำมาหากินด้วยตนเองถือเป็นสมบัติของครอบครัวนั้น ๆ สามารถสืบทอดต่อกันได้ ผลผลิตที่มีมากพอและเหลือจากการบริโภคในครอบครัว ชาวนู่เริ่มก็จะนำมาเป็นสินค้าเพื่อการมาแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก เกิดการพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าขึ้น ในขณะนั้นมีการจ้างแรงงานเกิดขึ้น ค่าจ้างมีทั้งเป็นสิ่งของและเงิน ในขณะเดียวกันเริ่มมีระบบการจำนองที่ดิน การมัดจำ และการใช้ทาสเกิดขึ้น


ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวนู่ที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองหลานผิง (兰坪Lán pínɡ) ทู่เอ๋อ (菟峨Tú’é) และส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ตำบลเหวยซี มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่และปริมาณการผลิตเทียบเท่ากับชนเผ่าในบริเวณเดียวกัน ได้แก่ ชาวฮั่น ชาวป๋าย และชาวน่าซี และเริ่มเข้าสู่ระบบสังคมแบบศักดินา


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวนู่ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส และหลุดพ้นจากความยากลำบาก รัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้ชนเผ่ากลุ่มน้อยมีสิทธิและอำนาจในการปกครองตนเอง โดยในเดือนสิงหาคม ปี 1954 รัฐบาลได้ก่อตั้งบริเวณปกครองตนเองชาวลี่ซูที่แม่น้ำนู่ มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองปี้เจียง ฝูก้งและก้งซาน ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวนู่ ต่อมาในปี 1957 ได้รับการยกระดับเป็นเขตปกครองตนเอง ก่อนหน้านั้นในปี 1956 รัฐบาลได้ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองเผ่านู่และเผ่าตรุงขึ้นที่เมืองก้งซาน(贡山独龙族怒族自治县Gònɡ shān Dúlónɡ Zú Nù Zú zìzhìxiàn) รัฐบาลกลางสนับสนุนการพัฒนาในชุมชนชาวนู่ และนำพาประเทศเข้าสู่ระบบการปกครองแบบสังคมนิยม ระยะเวลากว่า 50 ปีมานี้ชุมชนชาวนู่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นเป็นลำดับเรื่อยมา ในสมัยก่อนชาวนู่ไม่รู้จักแม้การทำตะปูเหล็กเล็กๆเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ แต่ปัจจุบันพัฒนาไปถึงการก่อตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์การเกษตร เฉพาะบริเวณลุ่มน้ำนู่มีการก่อตั้งโรงงานเหมืองแร่ขึ้นกว่าสิบแห่ง มีการพัฒนาระบบชลประทานและการทำนาแบบขั้นบันได ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาล พื้นที่อาศัยชาวนู่อยู่ในหุบเขาห่างไกล หนทางถูกปิดกั้นจากโลกภายนอก รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างถนนหนทางและทางหลวงเส้นหลักเชื่อมต่อเข้าไปถึงในชุมชน แม่น้ำที่เคยเป็นเขตแดนกั้นขวางก็มีการสร้างสะพานแขวนเพื่อเชื่อมต่อชีวิตและการไปมาหาสู่ของผู้คนทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้ระบบการศึกษาและสาธารณสุขก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน รัฐบาลได้ก่อตั้งโรงเรียนประถมขึ้นในทุกหมู่บ้านชุมชนชาวนู่ ในทุกๆตำบลมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในสมัยก่อนชาวนู่ต้องทนทุกข์ทรมานและเสียชีวิตด้วยโรคระบาดที่ไม่มีหนทางรักษา แต่ปัจจุบันการสาธารณสุขขยายความเจริญเข้าถึงชุมชน ชาวนู่มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และมีความเป็นอยู่อย่างผาสุขอย่างถ้วนหน้า


จากการสืบทอดชาติพันธุ์ของตนมาเป็นเวลานาน ปัญญาชนชาวนู่ได้รังสรรค์วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและงดงามมากมาย ในปี 1957 พบภาพเขียนสีบนฝาผนังถ้ำและหน้าผา ภาพเขียนสีผนังถ้ำพบที่ถ้ำในเมืองปี้เจียง 7 ภาพ ภาพที่พบมีความสมบูรณ์สามารถแยกแยะความหมายได้อย่างชัดเจน มี ภาพพระอาทิตย์ ปลา นก วัว และม้า เป็นต้น สีที่ใช้เป็นสีแดงที่ได้จากเปลือกไม้ธรรมชาติ ลักษณะลายเส้นเป็นภาพง่ายๆ ไม่ซับซ้อน จากการวิเคราะห์ของนักโบราณคดีลงความเห็นว่า ภาพเขียนสีกลุ่มนี้เป็นศิลปะการวาดภาพเขียนสีฝาผนังตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นับเป็นสมบัติอันล้ำค่าทางโบราณคดีที่สำคัญของจีนชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง


บทเพลงและกลอนของชาวนู่เป็นลักษณะเพลงด้นสด สามารถถ่ายทอดจินตนาการ และสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชนเผ่าได้อย่างเด่นชัด บทเพลงมีการกำหนดรูปแบบและท่วงทำนองที่แน่นอนชัดเจน เนื้อหากว้างแต่ลึกซึ้ง ขับร้องประกอบดนตรีที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีหลายชนิด ได้แก่ ผีพา ขลุ่ย พิณปากและขลุ่ยน้ำเต้า บทเพลงที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ เพลงชื่อ 《祭猎神调》Jì lièshén diào “เพลงบูชาเทพแห่งพราน” เพลงชื่อ《瘟神歌》Wēn shén ɡē “เพลงบูชาเทพเจ้ากาฬโรค” เป็นเพลงที่สะท้อนวิถีการดำรงชีวิตและความเชื่อของชาวนู่ นอกจากนี้ยังมีเพลงที่สะท้อนถึงพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมของชนเผ่า เช่น เพลงชื่อ《婚礼歌》Hūnlǐ ɡē “เพลงแต่งงาน” ตำนานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาก็สะท้อนถึงความคิดและจินตนาการของชาวนู่ได้เป็นอย่างดี เช่น ตำนานเรื่อง《大力士阿洪》Dàlìshì ā hónɡ “อาหงวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่” นิทานพื้นบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวนู่ที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ เช่น นิทานเรื่อง 《瞎子求医》Xiāzi qiúyī “คนตาบอดหาหมอ” นิทานเรื่อง《神仙草》Shén xiān cǎo “หญ้าเทวดา” เป็นต้น งานด้านวรรณกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความงดงามทางจิตใจ ความรักความผูกพัน และความเคารพในธรรมชาติของชาวนู่ เหตุเพราะชาวนู่มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติมาโดยตลอดนั่นเอง
คีตกวีพื้นบ้านสร้างสรรค์บทเพลงที่แสดงออกถึงความบริสุทธิ์ของผู้คนแห่งขุนเขา เสียง ดนตรีที่ไพเราะและจังหวะที่กระชั้นกระชับ เชื้อเชิญผู้คนให้ออกมาเต้นรำ เริงระบำกันอย่างสนุกสนานรื่นเริง ท่าทางการร่ายรำและระบำของชาวนู่ล้วนผูกพันกับธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก เช่น ระบำวานร ระบำไก่ ระบำวิหคเหิร ระบำพญานก ล้วนเป็นระบำที่เลียนแบบกิริยาท่าทางของสัตว์ที่ชาวนู่พบเห็นในธรรมชาติที่รายรอบนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีระบำที่มีที่มาจากวิถีการดำรงชีพ เช่น ระบำกระทะ ระบำซักผ้า ระบำเก็บเกี่ยว ระบำเกี่ยวข้าว เป็นต้น ในงานรื่นเริงหรืองานพิธีสำคัญต่างๆ ชาวนู่จะร้องรำทำเพลง เต้นระบำรำฟ้อนเพื่อแสดงออกถึงความรื่นรมย์ยินดี และการเฉลิมฉลองอวยพร บทเพลงที่ขับร้องและการเริงระบำ แสดงออกถึงช่วงชีวิตและขั้นตอนการดำเนินชีวิตของผู้คนได้อย่างชัดเจนและน่าทึ่ง ตัวอย่างเช่น เพลงที่ร้องในพิธีแต่งงาน จะประกอบด้วย เพลง《创世》Chuànɡshì “สร้างโลก” เพลง《谈情》Tánqínɡ “พลอดรัก” เพลง《牧羊》Mùyánɡ “เลี้ยงแกะ” เพลง《剪毛》Jiǎnmáo “ตัดขน” และเพลง《迎亲》 Yínɡqīn “รับเจ้าสาว”


ด้านขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม การแต่งกายของชาวนู่ ทั้งหญิงและชายสวมเสื้อผ้าป่าน หญิงชาวนู่สวมเสื้อผ่าอก ยาวคลุมลงไปถึงข้อเท้า สาวๆ ชาวนู่นิยมพันผ้าถุงรอบเอวไว้ชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง ชายผ้าถุงปักลายดอกไม้หลากสีสัน ชายสวมเสื้อผ่าอก คลุมยาวไปถึงเข่า คาดเอวด้วยผ้าหรือเชือกถัก แล้วดึงเสื้อให้ย้อยออกมาคลุมทับเข็มขัด ที่เข็มขัดประดับด้วยมีดพร้า สะพายธนูและย่ามใส่ลูกธนู เครื่องประดับมีเครื่องประดับศีรษะ สร้อยและตุ้มหูที่ทำจากหินสี ผลึกหินแก้ว มุก เปลือกหอย เครื่องเงิน ชายชาวนู่นิยมไว้ผมยาวแล้วโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือน้ำเงิน


ด้านอาหารการกิน ชาวนู่กินข้าวโพดและพืชเมล็ดจำพวกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ตเป็นอาหารหลัก ชาวนู่ที่ก้งซานเรียนรู้วิธีการปลูกพืชจากชาวทิเบต รู้จักการปลูกผลไม้และข้าวโอ๊ตเป็นอาหาร อาการเนื้อได้แก่ จำพวกไก่ ปลา หมู แกะ วัวและยังล่าสัตว์ป่าอื่นๆ เป็นอาหารด้วย ชาวนู่ชอบกินอาหารที่ต้มจนเปื่อย มักต้มข้าวรวมกับเนื้อเคี่ยวจนเปื่อยเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังนิยมดื่มเหล้าทั้งชายและหญิง


ที่อยู่อาศัยของชาวนู่สร้างด้วยไม้แผ่นและไม้ไผ่ โครงบ้านทำด้วยไม้ไผ่ หลังคาและฝามุงด้วยไม้แผ่น ตัวบ้านแบ่งเป็นสองห้องคือส่วนที่พักอาศัยกับส่วนที่ใช้ต้อนรับแขก ส่วนที่เป็นครัวใช้เตาแบบหินสามมุม ส่วนภายในบ้านแบ่งเป็นส่วนที่เป็นที่นอน และส่วนที่ไว้เก็บของ ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า


ชาวนู่แต่งงานแบบมีสามีภรรยาเดียว แต่ก็มีส่วนน้อยหรือครอบครัวที่ร่ำรวย ฝ่ายชายสามารถมีภรรยาหลายคนได้ หลังแต่งงานแล้วคู่สามีภรรยาใหม่จะสร้างบ้านหลังใหม่ใกล้กับบ้านพ่อแม่ฝ่ายชาย และจะได้รับการแบ่งมรดกจากพ่อแม่ด้วย แต่การทำมาหากินยังคงทำกินในที่ดินของพ่อแม่ ผลผลิตที่ได้เป็นส่วนรวมของครอบครัวใหญ่ ลูกชายคนสุดท้องต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ หลังพ่อแม่เสียชีวิต สมบัติทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน ทรัพย์สินต่างๆ มอบให้ลูกชายคนเล็กเป็นผู้สืบทอดมรดก การสืบสายตระกูลนับตามสายตรงเพศชาย ชาวนู่ที่ปี้เจียงใช้คำในชื่อพ่อเป็นส่วนหนึ่งของชื่อลูกคล้องกันเป็นลูกโซ่ เพื่อแสดงถึงการสืบเชื้อสาย


การประกอบพิธีศพเดิมกระทำโดยการเผา ปัจจุบันใช้วิธีฝัง โดยมีสุสานฝังศพประจำชนเผ่า


ด้านความเชื่อ ชาวนู่ยังคงนับถือลัทธิดั้งเดิมคือ การนับถือเทพเจ้าและวิญญาณในทุกสรรพสิ่ง บูชาธรรมชาติ เชื่อในสิ่งลี้ลับและเคารพบูชาพ่อมดหมอผี นอกจากนี้ มีชาวนู่บางส่วนหันมานับถือศาสนาลามะ ศาสนาคริสต์ และพระเยซู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น