คัดลอดภาพจาก
ชาวเผ่าเชียงมีถิ่นฐานอยู่ที่กลุ่มปกครองตนเองเผ่าเชียงอำเภอเม่าเวิ่น(茂汶Màowèn) เวิ่นชวน (汶川Wènchuān) หลี่ (理Lǐ) เฮยสุ่ย (黑水Hēishuǐ) ซงพาน (松潘Sōnɡpān) ในเขตปกครองตนเองทิเบต อำเภออาป้า (阿坝 Ābà) ของมณฑลเสฉวน ชาวเผ่าเชียงอาศัยรวมตัวกันมากที่สุดที่อำเภอเม่าเหวิน จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเชียง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 306,072 คน ใช้ภาษาเชียง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แบ่งเป็น 2 สำเนียงภาษาคือ กลุ่มที่อยู่ในอำเภอเม่าเหวิน อำเภอเฮยสุ่ย พูดภาษาเชียงสำเนียงเหนือ และกลุ่มที่อยู่ในอำเภออื่นๆ พูดภาษาเชียงสำเนียงใต้ ไม่มีภาษาเขียน ใช้อักษรจีนมาแต่ดั้งแต่อดีต
อารยธรรมของชาวเชียงนับย้อนขึ้นไปสู่อดีตนานกว่าสามพันปีที่แล้ว บรรพบุรุษของชาวเชียงตั้งรกรากและดำรงชีวิตอยู่ในยุคชุนชิวและจ้านกว๋อ(春秋战国Chūnqiū Zhànɡuó) ถิ่นฐานดั้งเดิมคือบริเวณที่เป็นเมืองกานซู่และชิงห่ายในปัจจุบัน ต่อมาอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำหมิน (岷江Mín jiānɡ) แล้วผสมกลมกลืนไปกับชนพื้นถิ่นบริเวณนั้น ก่อสร้างชุมชนจนเกิดเป็นสังคมของชาวเชียงเรื่อยมาจนปัจจุบัน ชุมชนชาวเชียงมีความสัมพันธ์กับราชสำนักจีนมาช้านาน ตั้งแต่สมัยฮั่นมีการก่อตั้งชุมชนขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำหมิน เรียกชื่อว่า เวิ่นซานจวิ้น (汶山郡Wènshānjùn) ในสมัยสุยและซ่งก่อตั้งให้เป็นเขตพันธมิตร ในสมัยหยวนและหมิงจัดการปกครองแบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในสมัยชิงรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง กรรมสิทธิ์ที่ดินกลับคืนสู่รัฐ โดยขุนนางมีอำนาจในการจัดการดูแลกรรมสิทธิ์ที่ดิน จนปลายศตวรรษที่ 19 ยุคที่ประเทศจักรวรรดินิยม อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษออกล่าอาณานิคมและรุกรานแผ่นดินจีนรวมไปถึงบริเวณชุมชนชาวเชียงด้วย ทำให้ชาวเชียงได้รับความยากลำบากและแร้นแค้นอย่างแสนสาหัส
ด้านเศรษฐกิจสังคม ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณการผลิตพืชเกษตรของชาวเชียงต่ำมาก อุปกรณ์การผลิตก็ล้าหลัง ในบางพื้นที่ยังคงหักร้างถางพงเผาป่าทำไร่นาอยู่ ระบบสังคมยังเป็นแบบระบบศักดินา ชาวเชียงถูกกดขี่รังแกและเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นศักดินาอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเช่าที่ดินทำกินในราคาสูง การแลกแรงงานกับเป็นค่าเช่าที่แต่ได้ค่าตอบแทนต่ำมาก การขายสินค้าในราคาที่สูง การกู้ยืมที่มีดอกเบี้ยสูงลิบลิ่ว ล้วนแล้วแต่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวเชียงอย่างมาก ในช่วงการปกครองของยุคกว๋อหมินตั่งยังมีนโยบายการเก็บภาษีจากประชาชนมากมายหลายอย่าง ซ้ำร้ายยังถูกกดขี่รังแกรีดไถจากขุนนาง ยิ่งซ้ำเติมความแร้นแค้นลำเค็ญให้กับชาวเชียงอย่างหนัก กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยังบีบบังคับให้ชาวเชียงปลูกฝิ่น ซึ่งในยุคปลูกฝิ่นนี้เองได้ทำลายระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมของชาวเชียงจนหมดสิ้น ทั้งยังทำลายชีวิตและสุขภาพของชาวเชียงอย่างโหดร้าย การเข้ามารุกรานของประเทศจักรวรรดินิยมแย่งชิงสิ่งล้ำค่า ยาสมุนไพรและผลผลิตสำคัญ ๆ ของชาวเชียงไปหมดสิ้น ชุมชนชาวเชียงตกอยู่ในสภาพยากจนแร้นแค้นที่สุด
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลยึดถือการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ของชาวเชียงเป็นเกณฑ์ในการจัดตั้งและแบ่งเขตชุมชนชาวเชียง โดยในปี 1958 ได้ดำเนินการก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวเชียงอำเภอเม่าเวิ่น(茂汶羌族自治县Màowèn Qiānɡ Zú zìzhìxiàn) ขึ้น การพัฒนาด้านต่างๆของชุมชนชาวเชียงจึงเริ่มขึ้นนับแต่นี้ การเกษตร เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในสังคมชนบทห่างไกลได้พัฒนาความเจริญและทันสมัยมากขึ้น ปริมาณการผลิตในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กิจการและงานอาชีพด้านต่างๆ ก็เริ่มพัฒนาก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โรงงานต่างๆ เกิดขึ้นใหม่มากมายในชุมชนชาวเชียง ทั้งที่เป็นของชาวเชียงเองและเป็นกิจการของชาวจีนไปดำเนินการ เช่น โรงงานผลิตกระดาษ แปรรูปไม้ ปูน ปุ๋ย เป็นต้น แต่เดิมชาวเชียงใช้คบเพลิงให้ความสว่างในยามกลางคืน ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบประปา ไฟฟ้าส่องสว่างไปทั่วทั้งชุมชนชาวเชียง มีการสร้างเมืองอุตสาหกรรมขึ้นใหม่หลายแห่งในชุมชนชาวเชียง เช่น เฟิ่งอี้ (凤仪Fènɡyì) เวยโจว(威州Wēizhōu) เสวียนโข่ว(漩口Xuánkǒu) การจราจรขนส่งในสมัยก่อนใช้แรงคนแรงสัตว์แบกหาม ปัจจุบันมีการตัดถนนหลายสายเชื่อมต่อกับถนนสายหลักเข้าสู่ชุมชนชาวเชียง เชื่อมสายใยสัมพันธ์ของชาวเชียงด้วยกันเองและกับชุมชนภายนอก แม่น้ำหมินที่เคยตัดขาดชาวเชียงจากชุมชนอื่น ปัจจุบันมีการสร้างสะพานขนาดใหญ่เชื่อมสายใยชนชาวเชียงถึงสองแห่ง นอกจากนี้ยังมีสะพานน้อยใหญ่อีก 36 แห่ง การศึกษา สาธารณสุข เทคโนโลยี พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบริเวณอำเภอปกครองตนเองชาวเชียงก่อตั้งโรงเรียนมัธยมหลายสิบแห่ง โรงเรียนประถมนับร้อยแห่ง ลูกหลานชาวเชียงมีโอกาสเรียนหนังสือ ลูกหลานชาวเชียงไม่น้อยที่จบการศึกษาสามารถนำความรู้มาพัฒนาชุมชน และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ศิลปวัฒนธรรมของชาวเชียงมีสีสันที่เป็นเอกสักษณ์เฉพาะตัว นิทานและเพลงพื้นบ้านใช้ภาษาไพเราะสละสลวย เพลงพื้นบ้านมี เพลงเศร้า เพลงแซ่ซ้อง เพลงรัก เพลงภูเขา เพลงสุรา เพลงเฉลิมฉลอง ตำนานพื้นบ้านที่มีชื่อ เช่น เรื่อง《开天辟地》Kāitiān pìdì “บุกฟ้าผ่าปฐพี” เป็นเทพนิยายที่เชื่อว่า พระเจ้าผานกู่ในยุคดึกดำบรรพ์เป็นผู้บุกเบิกฟ้าดิน สร้างโลกมนุษย์ขึ้นมา เรื่อง《日夜想红军》Rìyè xiǎnɡ hónɡjūn “คะนึงทหารแดงทุกวันคืน” เรื่อง《羌戈大战》Piānɡɡēdàzhàn “ศึกขวานเชียง” ล้วนเป็นวรรณกรรมที่ใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวเชียงได้เป็นอย่างดี ระบำซาหล่าง (跳沙朗Tiào shālǎnɡ) เป็นระบำที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ชาวเชียง การร้องเพลงของชาวเชียงมีดนตรีพื้นบ้านประกอบ ได้แก่ ขลุ่ย โหม่งเล็ก ระฆัง ปี่และกลองหนังแกะ ศิลปะด้านสถาปัตยกรรมของชาวเชียงก็ถือเป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรม อันได้แก่ ตึกรามบ้านช่องที่สร้างด้วยไม้ สะพาน บ่อน้ำและถนนโบราณ
งานหัตถกรรมที่มีชื่อได้แก่ การเย็บปักถักร้อย การทอพรม อารยธรรมการปักผ้าของชาวเชียงเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่สมัยหมิงและชิง มีลวดลายสวยงามมากมาย ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ได้มาจากธรรมชาติ นอกจากนี้เนื้อหาในลายผ้า จะเน้นสัญลักษณ์หรือมีเนื้อหาเกี่ยวกับการอวยพรให้สมความมุ่งมาดปรารถนา
เสื้อผ้าของชายหญิงชาวเชียงตัดเย็บจากผ้าป่านและผ้าฝ้ายที่ทอขึ้นเอง เสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงคือชุดเสื้อผ่าอกคลุมเข่า ที่ปักลายดอกเหมย คาดเข็มขัดที่เอวคล้องด้วยมีดและกระเป๋าหนัง ด้านบนสวมเสื้อกั๊กหนังแกะไว้ด้านนอก โพกศีรษะด้วยผ้า สวมรองเท้าที่สานด้วยฟาง หรือรองเท้าผ้าปักลาย สวมเครื่องประดับตามร่างกาย เช่น ต่างหู กำไล สร้อยคอ
ชาวเชียงกินข้าวเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ยังมีจำพวกข้าวโอ๊ตและมันฝรั่ง ชาวเชียงรู้วิธีการทำเหล้าและกลั่นเหล้าดื่มเอง ชอบสูบบุหรี่ที่ทำจากดอกบัว อาหารที่ชอบและกินเป็นประจำคือโจ๊กข้าวโพด กินกับเนื้อและผัก
บ้านเรือนของชาวเชียงเป็นทรงสี่เหลี่ยมสร้างเป็นสามชั้น หลังคาสร้างด้วยหิน และปูนทำเป็นทรงเรียบ ชั้นล่างเป็นคอกสัตว์ ชั้นสองเป็นห้องนอน ห้องครัว และแท่นบูชาเทพเจ้า ชั้นบนเป็นที่เก็บข้าวของอาหารแห้งและข้าวเปลือก
ในสมัยโบราณชาวเชียงยึดถือการแต่งงานแบบมีสามีภรรยาเดียว และอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว สามีเป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในครอบครัว การแต่งงานมีทั้งการคลุมถุงชน ไปจนถึงการซื้อขาย การเลือกคู่แต่งงานยึดถือเรื่องความทัดเทียมของระดับชั้นทางสังคมของคู่บ่าวสาวอย่างเคร่งครัด มีการแต่งงานในกลุ่มเครือญาติ เช่น พี่สาวน้องสาวพ่อแต่งงานกับพี่ชายน้องชายแม่ หลังแต่งงานแล้วหากสามีเสียชีวิต ภรรยาม่ายต้องแต่งงานกับพี่ชายหรือน้องชายสามี ในขณะเดียวกันถ้าภรรยาเสียชีวิต สามีม่ายต้องแต่งงานกับพี่สาวหรือน้องสาวของภรรยา หลังแต่งงานฝ่ายหญิงยังคงอยู่ที่บ้านแม่เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นจึงย้ายเข้าบ้านสามี ปัจจุบันในชนบทห่างไกลยังคงยึดถือธรรมเนียมการแต่งงานแบบนี้อยู่ หลังยุคปลดปล่อย ขนบธรรมเนียมการแต่งงานแบบโบราณค่อยๆ ยกเลิกไป
พิธีศพของชาวเชียงกระทำโดยการเผา การฝัง และการลอยน้ำ แต่การเผาเป็นพิธีศพที่ชาวเชียงส่วนใหญ่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ
ด้านศาสนาความเชื่อ ชาวเชียงส่วนใหญ่นับถือผีและเทพเจ้า เชื่อว่าสรรพสิ่งมีเทพสิงสถิตอยู่ บนยอดของหลังคาบ้านจะตั้งหินสีขาวไว้ เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า นอกจากนี้ชุมชนชาวเชียงที่มีพื้นที่ติดกับชุมชนทิเบตนับถือศาสนาลามะตามอย่างชาวทิเบต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น