วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

42. 水族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าสุ่ย










ชนกลุ่มน้อยเผ่าสุ่ยส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ที่เขตปกครองตนเองเผ่าสุ่ย มณฑลกุ้ยโจว และกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆของมณฑลกุ้ยโจวเช่น ลี่โป (荔波 Lìbō) ตู๋ซาน(独山 Dúshān) ตูหยวิน (都匀 Dūyún) หรงเจียง(榕江 Rónɡjiānɡ) ฉงเจียง (从江 Cónɡjiānɡ) และมีส่วนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ในตำบลต่างๆของมณฑลกว่างซี เช่น หรงอาน(融安 Rónɡ’ān) หนานตาน(南丹 Nándān) หวนเจียง(环江 Huánjiānɡ) เหอฉือ(河池 Héchí) เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าสุ่ยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 406,902 คน
ชาวสุ่ยพูดภาษาสุ่ย จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาต้ง-สุ่ย มีภาษาอักษรเป็นของตนเอง(ภาพต่อไป) แต่ปัจจุบันใช้อักษรจีน


จากเอกสารบันทึกในสมัยโบราณ รวมไปถึงตำนานบอกเล่า ตลอดจนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวสุ่ยสามารถวิเคราะห์และสืบประวัติชาวสุ่ยได้ว่า ชาวสุ่ยสืบเชื้อสายและแตกแขนงมาจากชนร้อยเผ่าโบราณที่ชื่อ “ป่ายเยว่” (百越 Bǎiyuè) ซึ่งมีอารยธรรมมาตั้งแต่สมัยฉินฮั่น ในสมัยถังและซ่งมีชื่อเรียกเป็นชื่อเดียวกันกับชนเผ่าที่พูดภาษากลุ่มจ้วงต้ง (壮侗 Zhuànɡ Dònɡ) ว่า “เหลียว” (僚Liáo) จนถึงสมัยหมิงและชิงจึงแยกตัวเองออกมา และเรียกตัวเองว่า “สุ่ย” (水shuǐ)

อารยธรรมของชาวสุ่ยเริ่มถือกำเนิดตั้งแต่สมัยเป่ยซ่ง โดยตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งอยู่บริเวณรอยต่อของต้นแม่น้ำหลง (龙江 Lónɡjiānɡ) และต้นแม่น้ำหลิ่ว ( 柳江 Liǔjiānɡ) โดยมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า “เขตฝูสุ่ย” (抚水州 Fǔshuǐzhōu) ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวคือเขตอำเภอปกครองตนเองเผ่าสุ่ยและรอยต่อของเมืองลี่โป(荔波 Lìbō) กับแม่น้ำหวน(环江 Huánjiānɡ) ในยุคนี้การเกษตรของชาวสุ่ยพัฒนามาก ชาวสุ่ยพื้นที่ราบรู้จักการทำนาปลูกข้าวแล้ว มีระบบการรักษาความปลอดภัย และตั้งป้อมปราการหมู่บ้านก่อเป็นรั้วไม้ไผ่ สังคมของชนชาวสุ่ยเริ่มมีการแบ่งชนชั้นเป็นชนชั้นสูงกับชนชั้นสามัญขึ้นอย่างชัดเจน มีตระกูลเหมิง (蒙Ménɡ) เป็นหัวหน้าเผ่า สามารถก่อตั้งกองกำลังที่มีความเข้มแข็ง และต่อกรกับราชสำนักซ่งอยู่เป็นประจำ
กระทั่งสมัยหยวนจนถึงปีที่ 20 ของราชสำนักหยวน ในปี 1283 มีการจัดการปกครองเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในเมืองกุ้ยโจวของมณฑลเสฉวน แล้วตั้งให้หัวหน้าเผ่าแต่ละเผ่าเป็นผู้จัดการดูแลเรื่องที่ดินทำกินในเผ่าของตน ต่อมาขุนนางที่ดูแลเมืองบริเวณฝั่งแม่น้ำหลิ่ว กำหนดให้แต่ละชนเผ่าต้องส่งบรรณาการจำพวก ทรายแดง แร่ธาตุสยง-หวง (雄黄xiónɡhuánɡ) ม้า และผ้าสักหลาดให้กับราชสำนัก ถึงสมัยหมิงมีการสถาปนาเขตการปกครองที่เป็นเมืองในสมัยหยวนให้เป็นจังหวัด ถึงสมัยชิงมีการก่อตั้งเขตซานเจี่ยว (三脚州Sānjiǎozhōu) จนปี 1914 เปลี่ยนเขตซานเจี่ยวเป็นอำเภอซานเหอ (三合县Sānhéxiàn) และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอซานตู (三都县Sāndūxiàn) ในเวลาต่อมา


ในสมัยซ่ง ชุมชนชาวสุ่ยที่บริเวณเมืองลี่โปได้ก่อตั้งเป็นชุมชนลี่โปขึ้น จากนั้นมาก่อตั้งเป็นเขตลี่โป จัดการปกครองชุมชนแบบการมีหัวหน้าเผ่า ในสมัยหมิงมีการจัดระบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน และล้มล้างชนชั้นศักดินาของชนเผ่าสุ่ยที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินสามตระกูลคือ เหมิง (蒙Ménɡ ) เหลย (雷Léi) และ ผี (皮Pí) ต่อมาในสมัยชิงก่อตั้งตำบลลี่โป ชนชาวสุ่ยจึงขึ้นตรงต่อการปกครองของราชสำนักชิง ต่อมาชาวฮั่นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนชาวสุ่ยเป็นจำนวนมาก การติดต่อสัมพันธ์กันของทั้งสองชนเผ่าจึงลึกซึ้งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ระบบการเกษตร การชลประทาน และงานหัตถกรรมทอผ้าในครัวเรือนพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีตลาดสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ระบบศักดินาเริ่มเปลี่ยนไป ประชาชนมีสิทธิในการถือครองที่ดินเป็นของตนเองได้ จนถึงกลางสมัยชิงชาวสุ่ยสามารถครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองอย่างเห็นได้ชัด บางรายมีที่ดินในกรรมสิทธิ์หลายพันไร่เลยทีเดียว


นับแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ประเทศจักรวรรดินิยมเข้ารุกรานประเทศจีน รวมถึงชุมชนชาวสุ่ย ชาวสุ่ยเริ่มหันมาปลูกฝิ่น ในแต่ละปีฝิ่นที่ได้จากชุมชนชาวสุ่ยในบริเวณลุ่มน้ำหลิ่ว มีจำนวนนับหมื่นตำลึงส่งออกสู่ภายนอก ในขณะที่ระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมถูกทำลายลง งานหัตถกรรมพื้นบ้าน “ผ้าชาวสุ่ย” เริ่มถูกแทนที่ด้วยผ้าจากชาติตะวันตก แม้กระทั่งชาวสุ่ยเองก็หันมาทอผ้าแบบตะวันตก หลังปฏิวัติการปกครองการพัฒนาของชนกลุ่มน้อยเป็นไปอย่างช้าๆ เริ่มมีการก่อตั้งโรงงานตีเหล็ก โรงงานถลุงแร่หลายชนิด แต่ก็กลับถูกทำลายและชะงักลง จนในสมัยกว๋อหมินตั่ง ชนชั้นศักดินาเป็นผู้ถือครองที่ดิน ชนชั้นศักดินาจัดการเก็บค่าเช่าที่ดินทำกินและขูดรีดประชาชนครึ่งต่อครึ่งของปริมาณผลผลิตที่ได้ ชาวสุ่ยตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นอย่างแสนสาหัส


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบสังคมในชุมชนชาวสุ่ย โดยในปี 1957 ได้ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวสุ่ยที่อำเภอซานตู (三都水族自治县Sāndū shuǐ Zú zìzhìxiàn) จากนั้นมาสังคมและชุมชนชาวสุ่ยพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ที่ดินทำกิน การเพาะปลูกขยายอาณาเขตกว้างขวางขึ้น ปริมาณการผลิตโดยเฉพาะพืชอาหารเพิ่มมากขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทเช่น โรงงานเหมืองแร่ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โรงานผลิตข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนการผลิตกระแสไฟฟ้าเริ่มเข้ามาลงทุนและก่อตั้งขึ้นในชุมชนชาวสุ่ย ระบบการจราจรจากเดิมที่เคยถูกปิดและตัดขาดจากชุมชนภายนอก รัฐบาลเริ่มให้การสนับสนุนการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อเข้าไป แม่น้ำที่เคยกั้นขวางชาวสุ่ย รัฐบาลสร้างสะพานเชื่อมต่อความสัมพันธ์ และการขนส่ง ถนนหนทางที่เชื่อมถึงกันนี้ไม่เพียงแต่เชื่อมสัมพันธ์ชาวสุ่ยกับชุมชนอื่นๆ แต่ที่สำคัญเป็นการเชื่อมต่อชาวสุ่ยด้วยกันเองที่แต่เดิมอพยพแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายกันอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถรวมเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันได้ การพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขก็เริ่มเข้าถึง และพัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันชาวสุ่ยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสุขสบายยิ่งขึ้น


ด้านศิลปะ วัฒนธรรม ชาวสุ่ยมีศิลปวัฒนธรรมหลากหลาย เป็นเอกลักษณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติจีน งานฝีมือ ศิลปะการตัดกระดาษ การปักผ้า การย้อมสีและการแกะสลักก็งดงามโดดเด่น งานด้านวรรณกรรมมุขปาฐะที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษเช่น เพลง กลอน นิทาน ตำนาน สุภาษิตคำพังเพยล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนภาพชีวิต ความคิด ความใฝ่ฝัน และประวัติศาสตร์ของชาวสุ่ยได้อย่างชัดจน บทเพลงของชาวสุ่ยมีรูปแบบและท่วงทำนองหลากหลาย ปราชญ์ชาวสุ่ยเชี่ยวชาญการแต่งกลอนเพลงเพื่อถ่ายทอดความคิด อารมณ์ความรู้สึกของตนได้อย่างแยบยล นอกจากนี้ยังมีตำนาน นิทานทั้งที่แต่งเป็นบทร้อยแก้วและร้อยกรอง มีเนื้อหาพรรณนาเล่าเรื่องราวการกำเนิดและการดำรงชีวิตของชนเผ่าสุ่ย บทเพลงที่รำพันความรักของหนุ่มสาวชาวสุ่ยก็ลึกซึ้งกินใจ นอกจากนี้ยังมีเทพนิยายที่สะท้อนความเชื่อของชาวสุ่ยได้เป็นอย่างดี งานด้านวรรณกรรมเหล่านี้นับเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่ายิ่ง เพลงชาวสุ่ยมีสองประเภท คือ เพลงเอก(大歌Dàɡē) กับเพลงสุรา (酒歌Jiǔɡē) การขับร้องเพลงของชาวสุ่ยไม่ใช้เครื่องดนตรีประกอบ แต่จะใช้วิธีการขับร้องประสานเสียง เพลงใหญ่ใช้ร้องในการดำรงชีวิตทั่วไป เช่น การลงนา เกี่ยวข้าว เป็นต้น ส่วนเพลงสุราจะใช้ในพิธีแต่งงาน งานศพ และงานเลี้ยงฉลองต่างๆ


เครื่องดนตรีของชนเผ่าสุ่ยมีกลองโลหะ ซึ่งเป็นกลองที่สืบทอดมาแต่โบราณ ถือเป็นเครื่องดนตรีประจำเผ่าสุ่ย ใช้ตีประกอบการเต้นระบำ ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโหม่ง กลองหนัง ขลุ่ยน้ำเต้า ซอ ปี่ เป็นต้น


ด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี หญิงชายชาวสุ่ยชอบสวมเสื้อผ้าสีเขียวและน้ำเงิน ชายสวมเสื้อผ่าอกลำตัวยาว แขนสั้น พันรอบศีรษะด้วยผ้าสีน้ำเงิน หญิงสวมเสื้อผ่าอกไม่มีปก ลำตัวยาว บริเวณอกเสื้อปักลวดลายดอกไม้ สวมกางเกงสีน้ำเงินขากว้างและยาว ชายกางเกงปักลวดลายดอกไม้ ในงานเทศกาลสำคัญสวมกระโปรง และปล่อยสยายผมยาวลงมา สวมเครื่องประดับเงินแบบต่างๆ เช่น กำไล สร้อยคอ แหวน ตุ้มหูอย่างงดงาม


ด้านอาหารการกิน ชาวสุ่ยกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก รองลงมาได้แก่ พืชเมล็ดจำพวกข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และมัน ที่สำคัญชาวสุ่ยชอบกินข้าวเหนียว อาหารเนื้อชอบกินปลา รู้จักการทำเหล้าหมักจากข้าว และใช้เป็นเครื่องดื่มที่สำคัญในงานเลี้ยงฉลองสำคัญ ๆ
บ้านเรือนชาวสุ่ยสร้างด้วยไม้ ในสมัยก่อนสร้างสูงหลายชั้น แต่ปัจจุบันสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวติดพื้น


ชาวสุ่ยเป็นมิตรและมีน้ำใจ เมื่อมีแขกมาบ้านจะต้องรีบออกมาต้อนรับ และหาน้ำหาท่าให้แขกดื่ม ในวันเทศกาลสำคัญเมื่อมีแขกมาเยือน ไม่ว่าจะรู้จักสนิทสนม หรือคนแปลกหน้า ชาวสุ่ยจะต้อนรับด้วยเหล้าและข้าวปลาอาหารเป็นอย่างดี แต่หากเป็นแขกสำคัญจะฆ่าหมูและปลาเลี้ยงต้อนรับ หัวหมูและหัวไก่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่มอบให้กับแขกหรือผู้เคารพนับถือ ในพิธีบวงสรวงบูชา ชาวสุ่ยจะใช้หัวหมูเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ขาดมิได้


ระบบครอบครัวของชาวสุ่ยเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ยึดถือธรรมเนียมการมีสามีภรรยาเดียว การสืบสายตระกูลยึดถือสายพ่อ สองสามร้อยปีก่อนหนุ่มสาวชาวสุ่ยมีอิสระในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง แต่พอเข้าสู่ยุคสังคมศักดินา การแต่งงานของชาวสุ่ยต้องยึดถือชนชั้นของคู่บ่าวสาวเป็นสำคัญ ดังนั้นการเลือกคู่ครองของชาวสุ่ย พ่อแม่และผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้จัดการให้ ในวันแต่งงานเจ้าบ่าวจะไม่ต้อนรับญาติด้วยตัวเอง แต่จะจัดให้มีหนุ่มสาวที่ยังเป็นโสดเป็นตัวแทนมาต้อนรับ ส่วนเจ้าสาวเดินกางร่มมาที่บ้านเจ้าบ่าว ไม่มีการจัดพิธีแต่งงานใดๆ เมื่อเจ้าสาวถึงบ้านเจ้าบ่าวแล้ว มีการเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เมื่อเสร็จงานเจ้าสาวกลับบ้านของตัวเอง จนกว่าจะครบครึ่งปี จึงจะย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านสามี


พิธีศพของชาวสุ่ยมีพิธีกรรมมากมาย และซับซ้อน โดยมากมี 6 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่แจ้งงานศพ บรรจุโลง เลือกวันดี ฝังศพ ตั้งป้ายบูชา และถอดเครื่องไว้ทุกข์


เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ชาวสุ่ยนับถือเทพเจ้ามากมาย เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีเทพเจ้า แต่มีเทพหลักอยู่สององค์คือ จ้าวพ่อลิ่วอี้ (六一公Liùyìɡōnɡ) และจ้าวพ่อลิ่วเจี่ย (六甲公 Liùjiǎɡōnɡ) ตามตำนานเชื่อว่าเป็นเทพผู้สร้างชาวสุ่ย เมื่อมีการเกิด เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตต้องเชิญหมอผีมาทำพิธีฆ่าสัตว์เพื่อบูชาต่อเทพเจ้า สัตว์ที่ใช้ในพิธีบูชาคือ “ปลา” การทำพิธีใช้ใข่ไก่เป็นเครื่องทำนายการแก้เคราะห์ หรือทำนายวิธีการรักษาโรค ในสมัยโบราณชาวสุ่ยฝังศพในสุสานหิน สุสานหินแกะสลักเป็นลวดลายรั้วรอบ บนโลงศพแกะสลักรูปกลองโลหะและดอกไม้ต่างๆ ปลายสมัยชิงเคยมีหมอสอนศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแผ่ศาสนา แต่มีชาวสุ่ยไม่มากที่หันมานับถือ ส่วนใหญ่ยังคงยึดถือความเชื่อแบบเดิม


ชาวสุ่ยมีการนับปฏิทินของตนเอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับปฏิทินจันทรคติของจีน แตกต่างกันตรงที่ ชาวสุ่ยนับเอาเดือนแปดเป็นเดือนสุดท้าย และเดือนเก้าเป็นเดือนเริ่มต้น นับจากวันสุดท้ายของเดือนเก้าถึงวันแรกของเดือนสิบถือเป็นช่วงต่อของปีเรียกชื่อว่า “เจี้ยตวนเจี๋ย” (借端节Jièduānjié) ซึ่งก็คือวันขึ้นปีใหม่ของชาวสุ่ยนั่นเอง ในงานเทศกาลชาวสุ่ยจัดให้มีกิจกรรมรื่นเริงมากมาย เช่น การแข่งม้า เต้นรำกลองโลหะ ระบำขลุ่ยน้ำเต้า ตกเย็นมีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่นหลายอย่าง เช่น เทศกาลเชงเม้ง เทศกาลเดือนหก เทศกาลเดือนเจ็ด เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น