คัดลอกภาพจาก http://www.showchina.org/zgwhxl/zgssmzfs/200701/W020070124387870893874.jpg
http://www.xj.cninfo.net/culture/customs/minzu/images/wuzibieke02.jpg
http://www.xj.cninfo.net/culture/customs/minzu/images/wuzibieke02.jpg
ภาษาจีนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า อูจือเปี๋ยเค่อ (乌兹别克Wūzībiékè) แต่ชนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า อุสเบค (Ozbek) อาศัยอยู่ในอำเภอต่างๆของเขตปกครองตนเองอุยกูร์ มณฑลซินเจียง เช่น อีหนิง(伊宁Yīnínɡ) ถ่าเฉิง(塔城Tǎchénɡ) คาสือ(喀什Kāshí) อูรุมชี (乌鲁木齐Wūlǔmùqí) ซาเชอ(莎车Shāchē) เย่เฉิง(叶城Yèchénɡ) เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าอุสเบค มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 12,370 คน พูดภาษาอุสเบค จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาเทอร์จิค แขนงภาษา Hsiung-Nu;Hun ภาษาอักษรใช้ภาษาอุยกูร์
ช่วงต้นศตวรรษที่ 14 พื้นที่อยู่อาศัยของชาวอุสเบคเดิมเป็นประเทศชินฉาข่าน (钦察汗国Qīncháhànɡuó บ้างเรียกชื่อว่า “จินจ้างข่าน” 金帐汗国Jīnzhànɡhànɡuó,Golden Horde) อยู่ภายใต้การปกครองของมองโกล ในช่วง ค.ศ. 1312 – 1341 อุสเบคข่านของประเทศชินฉาข่าน ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้รวบรวมเมือง “ข่าน” ใหญ่น้อยที่อยู่กระจัดกระจายรายรอบเข้ามาเป็นอาณาเขต และตั้งชื่อประเทศใหม่ว่าประเทศอุสเบคข่าน (乌孜别克汗国Wūzībié kè hànɡuó) ส่วนประชาชนในประเทศนี้เรียกชื่อว่า “ชาวอุสเบค”(乌孜别克人Wūzībiékè rén) ในบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน《元史》Yuánshǐ เรียกชนกลุ่มนี้ด้วยอักษรจีนว่า “เยว่จี๋เปี๋ย” (月即别Yuèjíbié) หรือ เยว่จู่โป๋ (月祖伯Yuèzǔbó) จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกชนกลุ่มนี้มาจนปัจจุบัน
ศตวรรษที่ 15 ประเทศชินฉาข่านล่มสลาย รัฐที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศคือ รัฐป๋ายฉาข่าน (白察汗国Báicháhànɡuó,Batu Khan)เริ่มเรืองอำนาจ จึงสถาปนาขึ้นเป็นประเทศขยายอาณาเขตครอบครองดินแดนที่เป็นประเทศไซบีเรีย(西伯利亚Xībólìyà) และประเทศคาซัคสถาน (哈萨克斯坦Hāsàkèsītǎn) ในปัจจุบัน ประชากรของประเทศประกอบไปด้วยชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ทุ่งหญ้าชาว เทอร์จิค – มองโกล (突厥Tūjué – 蒙古Měnɡɡǔ) ชนเหล่านี้ถูกคนภายนอกเรียกรวมกันว่าเป็นชาว “อุสเบค” (乌孜别克人Wūzībiékè rén) ปลายศตวรรษที่ 15 ถึงต้นศตวรรษที่ 16 ชนชาวอุสเบคของประเทศป๋ายฉาข่านภายใต้การนำของซีปานหนีข่าน (昔班尼汗Xībānníhàn) อพยพลงใต้เข้าสู่พื้นที่การเกษตรบริเวณเอเชียกลาง และครอบครองเมืองปู้ฮาลา (布哈拉Bùhālā) ซามาร์ข่าน (撒马尔罕Sāmǎ’ěrhǎn) ซีหว่า (希瓦Xīwǎ) อูร์เกินฉี (乌尔根奇Wū’ěrɡēnqí) ทาซกัน(塔什干Tǎshíɡān) และล้มล้างราชวงศ์เทียมูเอ๋อร์ (帖木儿王朝Tiēmù’ér Wánɡcháo,Tamerlane) และกลืนกลายเป็นประชากรกลุ่มเดียวกันกับชนพื้นที่ที่พูดภาษากลุ่มเทอร์จิค ประกอบอาชีพการเกษตร เริ่มก่อตั้งเป็นกลุ่มชนเผ่าอุสเบคแห่งเอเชียกลางตั้งแต่นั้นมา
ปีที่ 50 ของศตวรรษที่ 18 ราชวงศ์ชิงครอบครองซินเจียง ชาวอุสเบคในเอเชียกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายเดินทางไปมาติดต่อกับประเทศจีนมากขึ้น ในขณะนั้นชาวจีนเรียกชื่อชนกลุ่มนี้หลายชื่อ เช่น “ชาวอานจี๋เหยียน” (安集延人Ānjíyán rén) ชาวเฮ่าห่าน (浩罕人Hàohǎnrén) ชาวปู้ฮาลา (布哈拉人Bùhālārén) ในช่วงแรกๆ ชาวอุสเบคดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณเมืองคาสการ์ (喀什噶尔Kāshíɡá’ěr) เยร์เชียง(叶尔羌Yè’ěrqiānɡ) อาคซู (阿克苏Ākèsū) ต่อมาเริ่มกระจายตัวไปตามเมืองต่างๆบริเวณชายแดนใต้ และเมืองอี่หนิงทางตอนเหนือ ในช่วงนั้นชาวอุสเบคบางส่วนตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเมืองต่างๆที่อพยพไปทำการค้าขายนั่นเอง ต่อมาในช่วงปี 60 – 70 ของศตวรรษที่ 19 อังกฤษสนับสนุนกลุ่มประเทศข่าน Khanate เพื่อต่อต้านกองกำลังทหารอากูป่าย (阿古柏Āɡǔbǎi) เข้ารุกรานซินเจียง ประกอบกับยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวอุสเบคอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในซินเจียงอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุที่ชุมชนที่ชาวอุสเบคตั้งอยู่นั้นเป็นเส้นทางผ่านของ “เส้นทางสายไหม” ดังนั้นนับแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ชาวอุสเบคส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก ในยุคแรก ๆ ชาวอุสเบคจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มคาราวานค้าขาย ต้อนอูฐ ลา ล่อ ม้าเป็นขบวนนับร้อยเดินทางไปมาทำการค้าระหว่างซินเจียงกับเอเชียกลาง หลังจากนั้นพัฒนาเป็นการตั้งหลักปักฐานเปิดร้านค้า ตั้งเป็นเครือข่ายขนส่งและจำหน่ายสินค้าทั้งในเมืองและในชนบท แต่ด้วยเหตุที่มีเงินลงทุนต่ำ การค้าประสบภาวะขาดทุน บางรายขายกิจการให้ชาวต่างชาติ หรือรับเป็นแหล่งแปรรูปสินค้าให้กับต่างประเทศ บางรายกิจการล้มเหลวต้องผันตัวเองไปประกอบอาชีพเกษตรกรและปศุสัตว์แทน
นอกจากอาชีพค้าขาย เกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวอุสเบคยังสามารถผลิตงานหัตถกรรมเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและส่งออกขาย งานหัตถกรรมของชาวอุสเบคที่อำเภอซาเชอ (莎车Shāchē) เป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรมชาวอุสเบคที่ครบถ้วน งานหัตถกรรมที่ชาวอุสเบคผลิตและส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้แก่ งานทอผ้า สินค้าที่ทำจากผลิตภัณฑ์ผ้าอื่นๆ เช่น หมอน ผ้าปูที่นอน ชายเสื้อสำเร็จรูปที่ปักลวดลายสวยงาม หมวกปักลาย เป็นต้น สินค้าที่มาจากชาวอุสเบคสวยสดงดงาม เป็นที่ถูกตาต้องใจของผู้บริโภคมาก ส่วนชาวอุสเบคจากเมืองอื่นๆ ประกอบอาชีพแตกต่างกันไป ผลผลิตที่ส่งออกมาจำหน่ายเป็นผลผลิตที่ได้จากการประกอบอาชีพประจำท้องถิ่น อย่างเมืองทางตอนเหนือของซินเจียงเช่น มู่เหล่ย (木垒Mùlěi) ฉีไถ(奇台Qítái) ซินหยวน(新源Xīnyuán) หนีเล่อเค่อ(尼勒克Nílèkè) เท่อเค่อซือ(特克斯Tèkèsī) ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ทุ่งหญ้า ที่เมืองถ่าเฉิง(塔城Tǎchénɡ) อีหนิง(伊宁Yīnínɡ) ทำฟาร์มปศุสัตว์ ที่เมืองคาสือ(喀什Kāshí) ซาเชอ(莎车Shāchē) ปาฉู่ (巴楚Bāchǔ) อาคซู(阿克苏Ākèsū) ทำการเกษตรเพาะปลูกผลไม้และผักเป็นหลัก
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวอุสเบคได้รับสิทธิเท่าเทียมเฉกเช่น ประชาชนชาวจีน ด้วยความที่ชาวอุสเบคมีจำนวนประชากรไม่มาก และอาศัยอยู่กระจัดกระจาย การรวมตัวกันไม่ชัดเจนนัก จึงไม่มีการก่อตั้งเขตปกครองตนเองของชนเผ่าอุสเบคขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ได้รับสิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายเหมือนอย่างชนเผ่ากลุ่มอื่นๆ ชาวอุสเบคเป็นกลุ่มชนที่มีความรู้ความสามารถสูง และมีการศึกษาดี ทำให้สามารถยกระดับฐานะทางสังคมของตนให้อยู่ในระดับที่สูงมากขึ้น และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีชาวอุสเบคจำนวนไม่น้อยประกอบอาชีพด้านการให้การศึกษา และเข้าร่วมเป็นตัวแทนสภาผู้แทนของจีนด้วย เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวอุสเบคเป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่สร้างสรรค์วรรณกรรมพื้นบ้านของตนมากมาย มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมชนเผ่าที่เข้มข้นลึกซึ้ง อันได้แก่ กลอนตำนาน กลอนเรื่อง เพลงพื้นเมือง นิทาน สุภาษิตคำพังเพย ปริศนาคำทาย เป็นต้น วรรณกรรมที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักดีคือ วรรณกรรมภาษาอุสเบค เรื่อง อาเล่อพ่าหมี่ซี《阿勒帕米西》Ālè Pàmǐxī เป็นวรรณกรรมที่กล่าวถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ เป็นที่นิยมชมชอบของบุคคลทั่วไป และได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีนิทานกลอนที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น เรื่อง เฝินมู่ จง ชูเซิง เตอะ หายจึ่อ《坟墓中出生的孩子》Fénmù zhōnɡ chūshēnɡ de háizi “เด็กน้อยผู้ถือกำเนิดกลางหลุมศพ” เป็นเรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ลึกซึ้งกินใจ ภาษาสละสวย นับเป็นนิทานกลอนที่ชาวอุสเบคชื่นชอบและภาคภูมิใจเรื่องหนึ่ง
ชาวอุสเบคเชี่ยวชาญการขับร้อง ดนตรี คีตศิลป์ บทเพลงของชาวอุสเบคมีเพลงพื้นเมือง เพลงลงงาน เพลงธรรมประเพณี เพลงรัก เป็นต้น กวีชาวอุสเบคที่มีชื่อเสียงเริ่มปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 แล้ว เช่น อาถ่าอี (阿塔依Ātǎyī) ซาข่าเค่อ (萨卡克Sàkǎkè) ลั่วเท่อเฟย (洛特菲Luòtèfēi) ไอลี่ซีร์ (艾利希尔 Àilìxī’ěr) เป็นต้น ล้วนเป็นกวีที่มีชื่อเสียงระบือไกลระดับโลก ผลงานของกวีเหล่านี้ทรงคุณค่าและเป็นแบบอย่างของกวีนิพนธ์ชาวเอเชียกลางในยุคต่อมานับจนปัจจุบัน ในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็เกิดกวีนิพนธ์เกี่ยวกับการต่อต้านการปกครองของรัฐบาลจีน อันเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าต่อประวัติศาสตร์จีน สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติและสภาพชีวิตของชาวอุสเบคได้เป็นอย่างดี
บทเพลงของชาวอุสเบคมีท่วงทำนองไพเราะ จังหวะกระชับฉับไว การขับร้องมีแบบร้องเดี่ยว ร้องประสานเสียง ร้องโต้ตอบ คีตกวีคนสำคัญของชนชาวอุสเบคชื่อ “พ่าเล่อห่ายถี” (帕勒海提Pàlèhǎití) เป็นคีตกวีที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
ดนตรีของชาวอุสเบคมีมากมายหลากหลายชนิด เครื่องดนตรีจำพวกเครื่องดีด เช่น พิณเสียเก๋อหน่าย(斜格乃琴Xiéɡé nǎiqín) พิณตู๋ทาร์ (独他尔Dútā’ěr) พิณเร่อหวาฝู่ (热瓦甫Rèwǎfǔ) พิณถั่นปูร์ (坦布尔Tǎnbù’ěr) นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีจำพวกเครื่องตี เช่น กลองมือ (手鼓Shǒuɡǔ) ซาพ่าอี (撒帕依Sāpàyī) เป็นต้น ด้านการเต้นรำของชาวอุสเบคมีความคล้ายคลึงกับการเต้นรำของชาวอุยกูร์ มีรูปแบบหลากหลายและซับซ้อน ท่าทางการร่ายรำอ่อนช้อย เอวอ่อน ตัวอ่อน สองแขนแผ่กว้าง และมีจังหวะที่สนุกสนานเร้าใจ
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ครอบครัวของชาวอุสเบคจะอาศัยอยู่รวมกันโดยยึดถือพ่อลูก พี่ชายน้องชายเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีปู่และหลานชายก็มี การแต่งงานในสายเลือดเดียวกันไม่มีข้อบังคับที่เคร่งครัดใดๆ สามารถแต่งงานกับชนเผ่าอื่น เช่น ชนเผ่าอุยกูร์(维吾尔族Wéiwú’ěr Zú) ชนเผ่าทาทาร์ (塔塔尔族Tǎtǎ’ěr Zú) การแต่งงานพ่อแม่เป็นผู้จัดการให้ มีการมอบสินสอดของหมั้นในการแต่งงาน การแต่งงานต้องเรียงลำดับอาวุโส พี่แต่งก่อน น้องแต่งหลัง ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับผู้ที่อยู่นอกศาสนาอิสลาม พิธีแต่งงานตามขนบธรรมเนียมชาวอุสเบค คืนวันแต่งงานจัดขึ้นที่บ้านฝ่ายหญิง การแต่งงานมีอิหม่ามเป็นผู้ทำพิธี ก่อนยุคปลดปล่อยเนื่องจากการแต่งงานพ่อแม่จะเป็นผู้จัดการให้ คู่สามีภรรยาเกิดปัญหาการหย่าร้างมาก แต่หลังยุคปลดปล่อยหนุ่มสาวมีสิทธิในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง การหย่าร้างน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
พิธีการคลอดของชาวอุสเบคจะอนุญาตให้คนทำคลอด แม่และยายเท่านั้นที่จะเข้าไปในห้องได้ ไม่อนุญาตให้สามีเข้า หลังให้กำเนิดลูกแล้ว แม่ลูกอ่อนห้ามออกจากห้องคลอดเป็นเวลา 7 วัน ทารกมีอายุครบ 3 วันต้องทำพิธีตั้งชื่อ อายุครบ 15 วันทำพิธีขึ้นอู่ อายุครบ 40 วันทำพิธีชำระร่างกาย หลังจากนั้นแม่ผู้ให้กำเนิดจึงจะสามารถออกจากบ้านใช้ชีวิตตามปกติได้
ชาวอุสเบคประกอบพิธีศพตามความเชื่อของศาสนาอิสลามด้วยการฝัง หลังการประกอบพิธีศพ เจ้าภาพต้องทำข้าวอบ หรือที่ภาษาจีนเรียกชื่อว่า “จวาฟ่าน” (抓饭Zhuāfàn) เลี้ยงแขกทุก ๆ วันศุกร์ (เรียกว่าวันจู่หมา 主麻日Zhǔmárì) จนครบ 1 ปี เป็นการอวยพรและส่งวิญญาณผู้ตายให้ลอยสู่สรวงสวรรค์
บ้านเรือนของชาวอุสเบคมีหลากหลายรูปแบบ มีแบบที่หลังคาเป็นกระโจมเรียกชื่อว่า “อาหว่า” (阿瓦 Āwǎ) แต่แบบที่นิยมคือตึกชั้นเดียวทรงสี่เหลี่ยมหลังคาเรียบขนานพื้น ก่อฝาบ้านหนาเพื่อป้องกันความหนาวเย็น มีการสลักลวดลายตามฝาบ้าน เสาบ้านก็มีการสลักเป็นลวดลายแบบต่างๆ ในฤดูหนาวอาศัยความอบอุ่นจากเตาผิงที่ก่อไว้ในบ้าน บ้างก็ขุดเป็นหลุมลึกลงไปเป็นเตาเผาก็มี การแต่งกายของทั้งชายและหญิงชาวอุสเบคมีหมวกเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ ชายสวมชุดคลุมยาว คาดเอวด้วยเข็มขัดผ้าปักลายทรงสามเหลี่ยม หญิงสวมชุดกระโปรงยาวและกว้าง จีบรอบ ไม่คาดเอว สวมรองเท้าบู๊ท พันด้วยเชือกรอบแข้ง ปัจจุบันแม้ชาวอุสเบคจะเริ่มสวมเสื้อผ้าแบบสมัยใหม่แต่ก็ไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ดั้งเดิม ยังคงผสมผสานกับชุดประจำเผ่าแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์และความเป็นชนเผ่าได้อย่างชัดเจนและสวยงามยิ่งนัก
ด้านอาหารการกิน ชาวอุสเบคมีวัฒนธรรมการกินคล้ายคลึงกับชนที่นับถือศาสนาอิสลามทั่วไป ห้ามดื่มเหล้า ห้ามกินเนื้อหมู เนื้อหมา ลา อาหารเนื้อที่นิยมได้แก่ เนื้อแกะ เนื้อวัว เนื้อม้า และอาหารจำพวกนมและเนย ชาวอุสเบคกินอาหารวันละสามมื้อ อาหารหลักคือแป้งแผ่นอบที่เรียกว่า “หนาง” (馕nánɡ) และนมสด อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ได้แก่ ถั่วตุ๋นเนื้อ น้ำผึ้ง และนมถั่วเหลือง ธรรมเนียมการกินอาหารคือในขณะกินอาหารห้ามถอดหมวก ห้ามสวมกางเกงขาสั้น และห้ามสวมเสื้อกล้ามไปบ้านผู้อื่น
เทศกาลสำคัญและความเชื่อ นับแต่อดีตชาวอุสเบคเคยนับถือศาสนาเซียน (祆教Xiān jiào,Zoroastrianism) และศาสนาพุทธ เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งประเทศชินฉาข่านเป็นต้นมา ชาวอุสเบคเริ่มหันมานับถือศาสนาอิสลาม ประวัติศาสตร์ด้านอารยะธรรม ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจและ สังคมของชาวอุสเบคได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามอย่างมาก นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ชาวอุสเบคสร้างศาสนสถานอิสลามอย่างยิ่งใหญ่มโหฬารขึ้นที่เมืองคาสือ (喀什Kāshí) ซาเชอ (莎车Shāchē) อีหลี(伊犁Yīlí) ฉีไถ (奇台Qítái) เทศกาลของชาวอุสเบคก็ล้วนเป็นเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามทั้งสิ้น ที่สำคัญได้แก่ เทศกาลถือศีลอด(开斋节Kāizhāi jié) และเทศกาลกุรปัง(古尔邦节Gǔ’ěrbānɡjié)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น