“ซีโป๋” เป็นชื่อที่ชนกลุ่มน้อยเผ่านี้เรียกตัวเอง แต่นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ภาษาจีนมีชื่อเรียกชนกลุ่มนี้โดยใช้อักษรจีนเขียนแทนเสียงหลายชื่อ เช่น ซีผี(犀毗Xīpí) ซือปี่ (师比Shībǐ) เซียนเปย(鲜卑Xiānbēi) สือปี่(矢比Shǐbǐ) สีป่าย (席百Xíbǎi) สีปี่(席比Xíbǐ) เป็นต้น ชาวซีโป๋มีถิ่นที่อยู่ที่เมืองเสิ่นหยาง (沈阳Shěnyánɡ) คายหยวน (开原Kāiyuán) อี้เซี่ยน (义县Yì xiàn) เป่ยเจิ้น (北镇Běizhèn) ซินหมิน (新民Xīnmín) เฟิ่งเฉิง (凤城Fènɡchénɡ) ของมณฑลเหลียวหนิง(辽宁Liáonínɡ) และในกลุ่มปกครองตนเองอุสเบค เขตปกครองตนเองอีหลีคาซัค เมืองชาปูชา มณฑลซินเจียง นอกจากนี้ยังมีส่วนน้อยกระจายอยู่ตามเขตปกครองตนเองชุมชนรัสเซีย และชุมชนมองโกลของมณฑลจี๋หลิน ที่เมืองหลวงปักกิ่งก็มีชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ประปราย จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าซีโป๋ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 188,824 คน ชาวซีโป๋ที่มีถิ่นฐานอาศัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้อักษรจีนและภาษามองโกล ชาวซีโป๋ที่มีถิ่นฐานอาศัยบริเวณมณฑลซินเจียงใช้ภาษาซีโป๋ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาหม่าน-ทังกุส (Man -Tungus) แขนงภาษาหม่าน
ชาวซีโป๋ในปัจจุบันมีความเกี่ยวพันกับชนเผ่าโบราณชื่อ “เซียนเปย”(鲜卑Xiānbēi) ดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนอยู่แถบชายเขาต้าซิง (大兴Dàxīnɡ) ในยุคสิบหกประเทศ(十六国Shíliùɡuó ค.ศ. 304 - 439) ชนแถบมู่หรง(慕容Mùrónɡ) อพยพลงใต้ไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่บริเวณลุ่มน้ำหวงเหอ(黄河Huánɡhé) และอยู่ร่วมผสมกลมกลืนกับชาวฮั่น แต่ก็ยังมีชาวเซียนเปยบางส่วนยังคงอาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเนิ่น (嫩江Nènjiānɡ) แม่น้ำชั่วเอ่อร์ (绰尔河Chāo’ěrhé) แม่น้ำซงฮวา(松花江Sōnɡhuājiānɡ) และยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและการดำรงชีวิตแบบเดิมอยู่ ชาวเซียนเปยกลุ่มนี้นี่เองคือบรรพบุรุษของชาวซีโป๋ในปัจจุบัน ก่อนสมัยราชวงศ์ชิงชาวเซียนเปยดำรงชีวิต ตั้งหลักปักฐาน และขยายเผ่าพันธุ์โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณที่เรียกว่า “โป๋ตูเน่อ” (伯都讷Bódūnè) ซึ่งก็คือบริเวณอำเภอฝูหยวี มณฑลจี๋หลินในปัจจุบัน เขตแดนการตั้งถิ่นฐานของชาวซีโป๋ในขณะนั้น ทิศตะวันตกจรดฮูหลุนเป้ยเอ่อร์ (呼伦贝尔Hūlún bèi’ěr) ทิศเหนือเริ่มต้นจากแม่น้ำนู่ (嫩江Nènjiānɡ) ทิศใต้จรดลุ่มแม่น้ำเหลียว (辽河Liáohé) ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และทำประมงสัตว์น้ำ อาหารที่ล่าหามาได้จะแบ่งให้สมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 17 ชาวซีโป๋ถูกโจมตีและปกครองโดยเมืองหม่านโจว (满洲Mǎnzhōu) จึงเข้าสมทบกับมองโกลแปดธง (八旗蒙古Bāqí Měnɡɡǔ) และเมืองหม่านโจวแปดธง(八旗满洲Bāqí Mǎnzhōu) ในช่วงระยะเวลาร้อยปี ชาวซีโป๋อพยพกระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญคือยูนนาน ซินเจียง และบริเวณสามมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ในช่วงปี 1764 มีชาวซีโป๋ถูกเกณฑ์เข้าสู่มณฑลซินเจียงร่วมพันคน รวมทั้งครอบครัวอีกกว่าสองพันคน นับแต่นั้นมาก็เริ่มมีชาวซีโป๋ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั้งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ชายฉกรรจ์ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ผู้หญิงและเด็กอยู่บ้านเพาะปลูกทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัว การปกครองแบบทูตแปดธง (八旗制度 Bāqí zhìdù) ทำให้ชาวซีโป๋ตกอยู่ในการปกครองของราชสำนักชิงโดยตรง ระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก ชาวซีโป๋จากที่เคยประกอบอาชีพประมงจับสัตว์น้ำเร่ร่อน ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำการเกษตรเพาะปลูกเป็นหลักแหล่ง
ระบบเศรษฐกิจและสังคม ชาวซีโป๋ในยุคที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ชายเขาต้าซิง (大兴Dàxīnɡ) และทุ่งหญ้าฮูหลุนเป้ยเอ่อร์ต่อมาอพยพสู่ดินแดนลุ่มน้ำนู่ (嫩江Nènjiānɡ) และลุ่มน้ำซงฮวา (松花江Sōnɡhuājiānɡ) ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำประมง ในช่วงต้นราชวงศ์ชิงเป็นช่วงที่ชาวซีโป๋เข้าสมทบกับพวกปาฉี (กลุ่มแปดธง八旗Bāqí) และพัฒนาระบบสังคมแบบศักดินาขึ้น การแบ่งที่ดินของแต่ละธงถือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แบ่งปริมาณการถือครองตามลำดับชั้นศักดินา รัฐมีการจ่ายเงินเดือนที่เรียกว่า “เฟิ่งลู่”( 俸禄Fènɡlù) และ “จวินเสี่ยง” (军饷Jūnxiǎnɡ) ให้กับชนชั้นขุนนาง จนถึงปีที่สามสิบแห่งกษัตริย์เฉียนหลง (ค.ศ.767) ชาวซีโป๋ที่ซินเจียงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มธงหนิวลู่ (牛录旗Niúlùqí) ตั้งถิ่นฐานและรักษาดินแดนบริเวณลุ่มน้ำอีหลี(伊犁河Yīlíhé) รัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่งปีที่เจ็ด (ค.ศ. 1802) ภายใต้การสนับสนุนของผู้นำถูเอ่อร์เกิน (图尔根Tú’ěrɡēn) ได้สร้างระบบคลองส่งน้ำจากเขาฉาปู้ฉาร์(察布查尔山Chábùchá’ěr shān) เข้าสู่ชุมชนซีโป๋ จึงตั้งชื่อคลองนี้ว่า “คลองฉาปู้ฉาร์” (察布查尔渠Chábùchá’ěr qú) ซึ่งหมายถึง “คลังเสบียง” ชาวซีโป๋เริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลองทั้งเหนือและใต้ จากนั้นก็ร่วมมือกันกับกลุ่มธงอื่นๆ ขยายการขุด คลองไปตามเมืองต่างๆ เช่น อีหลี (伊犁Yīlí) โปร์ตาลา (博尔塔拉Bó’ěr tǎlā) ถ่าเฉิง (塔城Tǎchénɡ) เป็นต้น ส่งน้ำเข้าสู่ไร่นากว่าแสนไร่ และยังถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรให้ชนเผ่าต่างๆในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
ปีที่ 80 ของศตวรรษที่ 19 การปกครองแบบแปดธงเริ่มล่มสลาย พื้นที่ทำกินเริ่มตกเป็นกรรมสิทธิ์ในครอบครองกลุ่มอิทธิพล ชาวซีโป๋เริ่มประสบความยากลำบาก ต้องรับจ้างเป็นคนงานทำนาให้กับเจ้าศักดินาที่เป็นเจ้าของที่ดิน ตัวอย่างชุมชนชาวซีโป๋ที่ฉาปู้ฉาร์ มีเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินเพียง 5 % ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินทั้งหมด ที่เหลือเป็นคนยากจนชาวซีโป๋ที่ต้องรับจ้างเจ้าของที่ดิน ไม่มีฝูงสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ชาวซีโป๋รุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น และพยายามหาทางให้หลุดพ้นจากระบบสังคมเช่นนี้ จนกระทั่งถึงยุคการรวมที่ดินของราชสำนักชิง หลังการรวบกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของราชสำนักแล้ว ทางการชิงแบ่งที่ดินทำกินให้ราษฎร ทำให้ราษฎรมีสิทธิ์ใช้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน
หลังยุคปลดปล่อยชาวซีโป๋ได้รับเสรีภาพ และได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง โดยในปี 1954 รัฐบาลก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองซีโป๋ขึ้นที่อำเภอฉาปู้ฉาร์ (察布查尔锡伯族自治县Chábùchá’ěr Xībó Zú zìzhìxiàn) เมื่อเข้าสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐของรัฐบาลจีน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเกษตรและการผลิตด้านอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง ชาวซีโป๋เริ่มใช้เทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือการเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มปริมาณการผลิตให้สูงขึ้นมาก มีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นหลายแห่ง นำความอยู่ดีกินดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสู่ชุมชนชาวซีโป๋
ด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมของชาวซีโป๋หลากหลายลึกซึ้ง มีวรรณกรรมพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เพลงภัตตาหาร เพลงบูชาเทพ รวมทั้งสุภาษิตคำพังเพยต่างๆ กลอนเรื่องที่เป็นที่ได้รับความนิยมมากได้แก่ 《率乡曲》Lǜxiānɡqǔ “เพลงคะนึงถิ่น” เพลง《喀什喀尔之歌》Kāshí kā’ěr zhī ɡē “บทเพลงแห่งคาสือคาร์” เพลง《三国之歌》Sānɡuó zhī ɡē “เพลงสามปฐพี” เพลงกลอนเหล่านี้สะท้อนชีวิตการต่อต้านการครอบงำของสังคมศักดินา บรรยายถึงจินตนาการและความปรารถนาแห่งความสุขของชาวซีโป๋ ศิลปะการเต้นรำของชาวซีโป๋ก็ไม่เป็นสองรองใคร ท่วงทำนองและจังหวะการร่ายรำเร่งเร้า โอ่อ่า สง่างาม การเต้นรำที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากคือ ระบำเป้ยหลุน (贝伦Bèilún) เครื่องดนตรีของชาวซีโป๋มีหลายชนิด ที่หลัก ๆ ได้แก่ กลองตงปู้ลา(东布拉Dōnɡbùlā) ขลุ่ยเหว่ยตี๋(苇笛Wěidí) และขลุ่ยโม่เค่อเน่อ (墨克讷Mòkènè) ด้านงานหัตถกรรมฝีมือ หญิงชาวซีโป๋มีความสามารถในการปักผ้าได้สวยงามมาก ในงานเทศกาลรื่นเริงชาวซีโป๋มีกิจกรรมการละเล่นพื้นเมืองที่สนุกสนานมากมาย เช่น กีฬา ยิงธนู แข่งม้า และมวยปล้ำ เป็นต้น
หลังยุคปลดปล่อย ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ศิลปวัฒนธรรมและการอาชีพของชาวซีโป๋ได้ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ มีการปลูกฝังและสนับสนุนให้บุตรหลานได้มีการศึกษาที่ดี ทั้งยังพัฒนาผู้มีความรู้ความสามารถออกสู่ระดับประเทศและโลกด้วย อย่างเช่น ฉางฉีหม่า นักกีฬายิงธนูทีมชาติจีน ที่ครองเหรียญชัยมากมายก็เป็นชนเผ่าซีโป๋นี่เอง ด้านการสาธารณสุขก็พัฒนาไปมาก เห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ด้านขนบธรรมเนียม บ้านเรือนของชาวซีโป๋สร้างเป็นปราการรอบชุมชน บ้านแต่ละครัวเรือนสร้างอยู่ภายในปราการประมาณ 100 - 200 หลังคาเรือน บ้านแต่ละหลังยังมีกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากในสมัยการปกครองแบบแปดธง แต่ละธงก็คือแต่ละชุมชน และแต่ละชุมชนต้องป้องกันตนเองจากข้าศึกศัตรู ตัวบ้านสร้างด้วยดินโคลน ภายในบ้านมีสามห้อง ห้องนอน มีห้องครัวและห้องโถง ภายในบริเวณบ้านเป็นที่ปลูกพืชผักผลไม้ และเป็นคอกสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร เช่น หมู ไก่ เป็ด เป็นต้น
ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ครอบครัวของชาวซีโป๋ยึดถือความอาวุโสเป็นหลักในการจัดการเรื่องต่างๆ ภายในครอบครัวแต่ละครอบครัวจะมีชนชั้นระดับผู้อาวุโสมีอำนาจสูงสุด ผู้อาวุโสน้อยต้องเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสมากกว่า ไม่แต่งงานกับคนแซ่เดียวกัน แต่มีธรรมเนียมการแต่งงานระหว่างลูกของป้า อาหญิง(ที่เป็นพี่สาวน้องสาวพ่อ) กับ ลุง น้าชาย(ที่เป็นพี่ชายน้องชายแม่) นอกจากนี้ยังสามารถแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์กับเผ่าอื่นๆก็ได้ ผู้สูงอายุยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแต่งกายแบบปลายสมัยชิง คือการสวมชุดกี่เพ้ายาว กางเกงรัดข้อ
ด้านอาหารการกินนิยมบริโภคข้าวเจ้าและข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก และนิยมอาหารแป้งแผ่นอบในเตาถ่านที่เรียกว่า “หนาง” มีข้อห้ามรับประทานเนื้อสุนัข ไม่สวมเสื้อผ้าหรือใช้สิ่งของที่ทำมาจากหนังสุนัข หนังหมาป่า ห้ามผิวปากในบ้าน หากในบ้านมีคนป่วย หรือมีการคลอดบุตร จะแขวนผ้าริ้วสีแดงไว้ที่ประตูหน้าบ้าน หรือแขวนหญ้าหนึ่งกำไว้ เพื่อเป็นการบอกห้ามผู้อื่นเข้ามาในบ้าน
การประกอบพิธีศพกระทำโดยการฝัง ทุกตระกูลจะมีสุสานประจำตระกูลของตนเอง ไม่ฝังรวมกับสุสานตระกูลอื่น
ด้านศาสนาความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ด้วยเหตุที่ชาวซีโป๋อพยพโยกย้ายถิ่นฐานอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงซึมซับรับเอาวัฒนธรรมความเชื่อมาจากชุมชนต่างๆมากมาย โดยมากนับถือศาสนาซ่าหม่าน (萨满教Sàmǎn jiào) ศาสนาลามะ (喇嘛教Lǎmɑ jiào) ต่อมาได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่น จึงมีการนับถือเทพเจ้าต่างๆอย่างชาวฮั่นด้วย ที่น่าสนใจก็คือจากการที่ได้รับอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆมากมาย การนับถือศาสนาและเทพเจ้าของชาวซีโป๋จึงรวมเอาความเชื่อของแต่ละศาสนาเข้าด้วยกัน ดังเช่น วัดไท่ผิง ซึ่งเป็นวัดที่สร้างโดยชาวซีโป๋ เดิมเป็นวัดลามะ แต่นอกจากจะประดิษฐานพระอรหันตร์ 18 ปาง และพระพุทธรูป 3 ปางแล้ว ยังประดิษฐานเทพกวานกง(关公Guānɡōnɡ) เทพโจวฝู (周孚Zhōufú) ซึ่งเป็นเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาอื่น นอกจากนี้ในบ้านของชาวซีโป๋ยังมีแท่นบูชาบรรพบุรุษอีกด้วย
เทศกาลของชาวซีโป๋ไม่แตกต่างเทศกาลของชาวฮั่นและชาวหม่านเท่าใดนัก เช่น เทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง ตวนอู่ แต่วิธีการเฉลิมฉลองในแต่ละเทศกาลอาจมีข้อแตกต่างกันบ้าง เช่น เทศกาลตวนอู่ ชาวซีโป๋มีการสาดน้ำกัน ปล่อยแกะ แข่งม้า เป็นต้น นอกจากนี้มีเทศกาลเฉพาะของเผ่าคือวันที่ 18 เดือนสี่เป็นวันที่ระลึกที่บรรพบุรุษชาวซีโป๋อพยพมาจากตะวันออกและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ซินเจียง ทุกๆปีจะจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น