วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

51. 瑶族ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหยา



































http://www.htd2000.com/uploads/allimg/c101115/12YL115223540-54508.jpg

ชนเผ่าเหยา(หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า เย้า) มีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อ อ่านตามเสียงอักษรจีนที่บันทึกไว้มี เหมี่ยน (勉Miǎn) จินเหมิน(金门Jīnmén) ปู้หนู่ (布努Bùnǔ) ปิ่งตัวโยว(炳多优Bǐnɡduōyōu) เฮยโหยวเหมิง(黑尤蒙Hēiyóuménɡ) ลาเจีย(拉珈Lājiā) นอกจากนี้ด้วยเหตุที่ชาวเหยาในแต่ละท้องที่มีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และลักษณะที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน จึงมีชื่อเรียกตนเองแตกต่างกันไปด้วย เช่น ซานจื่อเหยา(山子瑶Shānzǐ Yáo) หมายถึงชาวเหยาภูเขา ป๋ายคู่เหยา (白裤瑶Báikù Yáo) หมายถึงชาวเหยากางเกงขาว หงเหยา (红瑶Hónɡ Yáo) หมายถึงชาวเหยาแดง หลานเตี้ยนเหยา(蓝靛瑶Lándiàn Yáo) หมายถึงชาวเหยาน้ำเงิน ผิงตี้เหยา(平地瑶Pínɡdì Yáo) หมายถึงชาวเหยาที่ราบ เอ้าเหยา (坳瑶Ào Yáo) หมายถึงชาวเหยาที่ราบเชิงเขา เป็นต้น หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน กำหนดเรียกชื่อชนเผ่านี้รวมกันว่า “เหยา” ชนเผ่าเหยาอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงในมณฑลกว่างซี และกระจายอยู่ตามมณฑลต่างๆเช่น

ยูนนาน กว่างซี กุ้ยโจว ลักษณะเด่นของการกระจายถิ่นฐานของชาวเหยาคืออาศัยอยู่กระจัดกระจายมาก และในแต่ละพื้นที่ก็มีจำนวนประชากรไม่มาก จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหยา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,637,421 คน พูดภาษาเหยา แต่การแบ่งสายตระกูลภาษาค่อนข้างซับซ้อน เพราะภาษาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก ถึงขั้นที่ภาษาเหยาในต่างพื้นที่กันไม่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ บางกลุ่มพูดภาษาจีนและภาษาจ้วงไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีน ปัจจุบันนักวิชาการจีนส่วนใหญ่มีแนวโน้มยอมรับการจัดกลุ่มภาษาเหยาว่า จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาเหมียว-เหยา (แม้ว-เย้า)
เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวเหยา มีความเชื่อหลากหลายทฤษฎี บ้างเชื่อว่ามีกำเนิดมาจากชาว “ซานเยว่” (山越Shānyuè คำนี้มีความหมายว่า “ชาวเขา”) บ้างเชื่อว่ามาจากชาว “อู่ซีหมาน” (五溪蛮Wǔxī Mán) บ้างเชื่อว่าชาวเหยาเกิดจากชนหลายกลุ่มรวมตัวกัน แต่ทฤษฎีที่เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับก็คือ ชาวเหยาในปัจจุบันมีความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ใกล้ชิดกับชนเผ่าโบราณชื่อ

“จิงหมาน” ( 荆蛮Jīnɡ Mán) และ “ฉางซาอู่หลิงหมาน” (长沙武陵蛮Chánɡshā Wǔlínɡ Mán)


หลังจากที่จิ๋นซีฮ่องเต้รวมชนหลากหลายชาติพันธุ์เข้าเป็นประเทศ ได้ส่งขุนนางชาวฮั่นจากราชสำนักกลางเข้าสู่พื้นที่ที่มีชนกลุ่มน้อยต่างๆอาศัยอยู่ ซึ่งได้นำความเจริญ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้าไปเผยแพร่และถ่ายทอดให้กับชนกลุ่มน้อย ในช่วงนี้ชาวอู่หลิงหมานที่เมืองฉางซาก็ได้รับความเจริญและได้รับการพัฒนานี้ด้วยเช่นกัน จนถึงสมัยซีฮั่นชาวอู่หลิงหมานต้องส่งภาษีเข้าสู่ราชสำนัก ถึงสมัยโฮ่วฮั่น (后汉Hòu Hàn) ชาวหมานยังคงต้องส่งภาษีให้ราชสำนักอยู่ ในสมัยนั้นเรียกภาษีนี้ว่า “ภาษีเหยา” ถึงรัชสมัยพระเจ้าหย่งเหอ หยวน (ค.ศ.136) การเก็บภาษีจากชาวอู่หลิงหมานหนักหนาสาหัสมาก สร้างความไม่พอใจและความขัดแย้งเป็นอย่างมาก จนเกิดการลุกขึ้นต่อต้านอยู่หลายต่อหลายครั้ง


ในสมัยหนานเป่ย (南北朝Nánběicháo) บรรพบุรุษของชาวเหยาได้ขยายอาณาเขตตั้งถิ่นฐานกว้างใหญ่ออกไปกว่าเดิม ทิศตะวันออกจรดโซ่วชุน (寿春Shòuchūn ปัจจุบันคือเขตมณฑลอานฮุย安徽Ānhuī) ทิศตะวันตกจรดซ่างลั่ว (上洛Shànɡluò ปัจจุบันคือเขตมณฑลส่านซี 陕西Shǎnxī) ทางตอนเหนือจรดหรูอิ่ง (汝颍Rǔyǐnɡ ปัจจุบันคือเขตตะวันออกของมณฑลเหอหนาน(河南东部Hénán dōnɡbù) และตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลอานฮุย安徽西北部Ānhuī xīběibù) ในยุคนี้ชาวฮั่นและเหยาติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิด ในสมัยถังชาวเหยาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณมณฑลหูหนาน (湖南Húnán) และมณฑลกว่างตง (广东 Guǎnɡdōnɡ) เป็นหลัก ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวเหยาชื่อ “โม่เหยาหมาน” (莫徭蛮Mòyáomán) ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณมณฑลกว่างซี ชาวโม่เหยาดำรงชีพด้วยการทำการเกษตร สมัยซ่งราชสำนักได้ส่งขุนนางเข้าปกครอง ทำให้ชาวเหยาเริ่มเข้าสู่ระบบสังคมศักดินาในเวลาต่อมา


ในสมัยหยวน หมิง และชิง ชาวเหยาตั้งถิ่นฐานแผ่ขยายออกไปกว่าเดิมมาก ครอบคลุมพื้นที่ต่างฟของมณฑลกว่างตง กว่างซี หูหนาน ยูนนาน กุ้ยโจว ด้วยเหตุที่ตั้งชุมชนกระจัดกระจายกันมากนี้เอง เป็นเหตุให้ระบบเศรษฐกิจของชาวเหยาจึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาของถิ่นที่ตั้งนั้นๆ บางแห่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็วใกล้เคียงกับชาวฮั่น แต่บางแห่งก็ยังเป็นไปอย่างช้าๆ ยังคงทำการเกษตรเลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ กระทั่งบางแห่งยังคงดำรงชีวิตแบบสังคมบุพกาลอยู่ก็มี ผลจากการกดขี่ข่มเหงของสังคมศักดินา ชาวเหยาถูกไล่ล่าและถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนต้องถอยร่นหนีกระจัดกระจายอพยพไปอยู่บริเวณประเทศเวียดนาม ลาว และไทย กระทั่งศตวรรษที่ 20 มีชาวเหยาบางส่วนได้รับความช่วยเหลือและได้อพยพไปเป็นพลเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และแคนนาดา


ด้านเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวเหยาในยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอและราบรื่นนัก ชาวเหยาในขณะนั้นดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรเพาะปลูกเป็นหลัก และทำป่าไม้เก็บของป่าเป็นอาชีพเสริม แต่ก็มีชาวเหยาบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาประกอบอาชีพป่าไม้ เก็บของป่าเป็นอาชีพหลัก แล้วทำการเกษตรเป็นอาชีพรองก็มี แต่ชาวเหยาจะประกอบอาชีพแบบพอกินพอใช้ในครอบครัวเท่านั้นไม่ได้ทำเพื่อจำหน่าย ถึงแม้ว่างานหัตถกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และการค้าได้มีการพัฒนาขึ้นมาบ้าง แต่ก็ทำเป็นเพียงอาชีพเสริมของครอบครัวเท่านั้น ระบบสังคมของชาวเหยาเริ่มพัฒนาเข้าสู่สังคมศักดินา เริ่มมีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว ในบริเวณที่มีชาวเหยา ชาวจ้วง ชาวฮั่นและชาวไตอาศัยอยู่ปะปนกัน ที่ดินทำกินล้วนตกอยู่ในกำมือของชนเผ่าอื่น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น และชนเผ่ามีความสลับซับซ้อนทวีความรุนแรงขึ้น อย่างเช่น ชาวเหยาที่ยูนนานตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวไตเป็นเวลานาน ชาวเหยาจึงมีชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยและรับจ้างเป็นเบี้ยล่างให้กับชนชั้นปกครองมาโดยตลอด
ชาวเหยาในบางพื้นที่โดยเพาะในพื้นที่ห่างไกล การทำการเกษตรยังใช้เครื่องไม้เครื่องมือแบบโบราณอยู่ ผลผลิตที่ได้ต่ำมาก ที่ดินทำกินก็เป็นกรรมสิทธิ์ของชนกลุ่มอื่นที่เข้มแข็งกว่าเช่น ชาวจ้วงและชาวฮั่น ชาวเหยาต้องรับจ้างหรือเช่าที่ดินจากชนสองกลุ่มนี้ ถูกกดขี่ข่มเหงและขูดรีดอย่างหนัก มีที่ดินส่วนเล็กน้อยที่เป็นที่ดินสาธารณะที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน เช่น ชุมชนชาวเหยาที่หมู่บ้านหนานตาน(南丹Nándān) มณฑลกว่างซี (广西Guǎnɡxī) เรียกชื่อที่ดินนี้ว่า “โหยวกัวตี้” (油锅地Yóuɡuōdì) หรือ “โหยวกัวเถียน” (油锅田Yóuɡuōtián) มีความหมายตามภาษาเหยาว่า “หม้อข้าวของสายตระกูลพ่อ”
ในทุกๆ สายตระกูลของชาวเหยาประกอบไปด้วยครอบครัวย่อยๆ นับสิบครอบครัว สมาชิกของ “โหยวกัวเถียน” มีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีหน้าที่รักษากฎข้อบังคับและขนบธรรมเนียมของกลุ่ม ในชุมชนชาวเหยามีธรรมเนียมการ “ยกย่องผู้อาวุโส” และธรรมเนียม “หลักศิลา” ซึ่งก็หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดของชนเผ่า มีหน้าที่รับผิดชอบการรักษากฎระเบียบ แบบแผนธรรมเนียมประเพณี จัดการเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากิน การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนตัดสินคดีความและข้อพิพาทต่างๆ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชน ชาวเหยาจะร่วมกันคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็น “หลักศิลา” โดยจะคัดเลือกผู้อาวุโสที่เป็นที่ยอมรับและเคารพนับถือของชุมชนส่วนใหญ่ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย


ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวเหยาที่ชุมชนจินซิ่ว (金秀Jīnxiù) มณฑลกว่างซี (广西Guǎnɡxī) จารึกกฎระเบียบและขนบธรรมเนียมข้อปฏิบัติของชนเผ่าโดยการแกะสลักลงบนแผ่นศิลาหรือแผ่นไม้ ใช้เป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน หากมีผู้กระทำความผิด ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “หลักศิลา” สามารถสืบสาวเอาความและลงโทษตามบทบังคับแห่งหลักศิลาได้ บทลงโทษมีตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงประหารชีวิต ต่อมาชนชั้นทางสังคมของชาวเหยาเริ่มแตกต่างและแบ่งแยกกันมากขึ้น ประกอบกับการปกครองของกว๋อหมินตั่ง มอบให้ “หลักศิลา” มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองชุมชน ในขณะที่หลักศิลาซึ่งนับได้ว่าเป็นชนชั้นสูงของชุมชนมิได้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมดังเดิม แต่กลับใช้อำนาจกดขี่รังแก ขูดรีดประชาชน เกิดการขัดแย้งและต่อต้านหลักศิลาขึ้น หลักศิลาไม่ได้เป็นผู้ที่สมาชิกชุมชนยอมรับนับถืออีกต่อไป ขนบปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายชนเผ่าที่มีมาแต่ดั้งเดิมจึงลดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปในที่สุด


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของสังคมชนกลุ่มน้อยต่างๆในประเทศ และด้วยเหตุที่ชาวเหยาตั้งชุมชนกระจัดกระจาย การปกครองแบบดั้งเดิมของชาวเหยาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบสังคมและการปกครองของชนเผ่าเหยาในแต่ละท้องที่ ล้มล้างระบบสังคมศักดินา ช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ เพิ่มพูนปริมาณการผลิต นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ปีที่ 60 เป็นต้นมา รัฐบาลก่อตั้งชุมชนที่มีชาวเหยาอาศัยอยู่ ทั้งที่อยู่รวมเป็นกลุ่มชนชาวเหยาเป็นหลัก และที่อยู่ปะปนกับชนกลุ่มอื่นก่อตั้งให้เป็นชุมชนปกครองตนเองขึ้นรวมทั้งสิ้น 12 แห่ง ได้แก่


มณฑลกว่างซี มี
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอตูอาน
(都安瑶族自治县Dū’ān Yáo Zú zìzhìxiàn)
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอจินซิ่ว
(金秀瑶族自治县Jīnxiù Yáo Zú zìzhìxiàn)
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอปาหม่า
(巴马瑶族自治县Bāmǎ Yáo Zú zìzhìxiàn)
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอฝูโจว
(富川瑶族自治县Fùchuān Yáo Zú zìzhìxiàn)

มณฑลกว่างตง มี
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอเหลียนหนาน
(连南瑶族自治县Liánnán Yáo Zú zìzhìxiàn)
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอหรู่หยวน
(乳源瑶族自治县Rǔyuán Yáo Zú zìzhìxiàn)

มณฑลหูหนาน มี
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอเจียงหัว
(江华瑶族自治县Jiānɡhuá Yáo Zú zìzhìxiàn)

มณฑลยูนนาน มี
เขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอเหอโข่ว
(河口瑶族自治县 Hékǒu Yáo Zú zìzhìxiàn)

มณฑลกว่างซี มี
เขตปกครองตนเองหลายเผ่าอำเภอหลงเซิ่ง อำเภอฝางเฉิง อำเภอหลงหลิน
(龙胜、防城、隆林各族自治县Lónɡshènɡ、Fánɡchénɡ、Lónɡlín ɡè
Zú zìzhìxiàn)

มณฑลกว่างตง มี
เขตปกครองตนเองชาวเหยาชาวจ้วงอำเภอเหลียนซาน
(连山壮族瑶族自治县Liánshān Zhuànɡ Zú Yáo Zú zìzhìxiàn)

นอกจากนี้หมู่บ้านชาวเหยาที่กระจัดกระจายในพื้นที่ต่างๆ ก็ได้ยกระดับให้เป็นหมู่บ้านชาวเหยาขึ้นด้วยเช่นกัน


ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยความช่วยเหลือและสนับสนุนของรัฐบาล ชุมชนชาวเหยาเริ่มพัฒนาที่ดินทำกิน สร้างระบบชลประทานเขื่อนและแหล่งน้ำ พัฒนาระบบไฟฟ้าพลังน้ำ ปลูกป่าพืชเศรษฐกิจ ตลอดจนระบบการจราจร ทำให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวเหยาพัฒนาดีขึ้นมาก ดังจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารและยาสูบที่มาจากเขตปกครองตนเองชาวเหยาอำเภอฝูโจวนับเป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่สำคัญของประเทศจีนเลยทีเดียว ในปี 1987 ปริมาณผลิตผลการเกษตรที่มาจากชุมชนชาวเหยาสูงถึงสองร้อยล้านหยวน ชาวเหยาที่อำเภอเหลียนหนาน หรู่หยวนของมณฑลกว่างตง พัฒนาเศรษฐกิจจนถึงขั้นส่งออกสินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนชาวเหยาที่อำเภอจินซิ่ว อำเภอเจียงหัว มีพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ สินค้าด้านวัสดุก่อสร้างที่ทำจากไม้ ยางพารา เมล็ดพันธุ์ เห็ดหอม เห็ดหูหนู ส่งออกจากชุมชนชาวเหยาในทั้งสองอำเภอเพื่องานก่อสร้างและอาหารภายในประเทศทั่วทุกหนทุกแห่ง สภาพชีวิตของชาวเหยาจากเดิมที่เคยลำบากยากจน ขัดสนรายได้ ดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าตามธรรมชาติเป็นอาหารประทังชีวิต ก่อไฟฟอนผิงกันหนาวกลับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในด้านการศึกษามีการก่อตั้งโรงเรียนประถม มัธยมหลายแห่ง ทั้งยังมีการจัดให้มีห้องเรียนสำหรับชาวเหยาโดยเฉพาะ วันคืนที่ “มีเพียงเสียงหมูหมากาไก่ร้องขัน ไร้สำเนียงทำนองอักษรจำนรรจ์” ถูกความมุ่งมั่นและภูมิปัญญาของชาวเหยาขจัดปัดเป่า ขับไสให้อันตรธานเลือนลางจางหายไปจากชุมชนชาวเหยาสิ้นหนทางหวนกลับ ปัจจุบันการคมนาคม ไปรษณีย์ การสื่อสาร สถานีวิทยุโทรทัศน์พัฒนาขึ้น ชาวเหยามุ่งมั่นพัฒนาตนเองเพื่อชุมชนของตน นับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศจีนที่ประมาณค่ามิได้


ด้านศิลปวัฒนธรรม รอยทางแห่งอารยธรรมที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ชาวเหยาได้สั่งสมงานด้านศิลปะวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมชนเผ่าที่ทั้งงดงามทั้งทรงคุณค่ามากมาย ชาวเหยามีตำนานเกี่ยวกับเทพผู้ให้กำเนิดจักรวาลมาแต่ครั้งบรรพกาล ตำนานตั้งแต่ก่อนยุคราชวงศ์ฉิน (秦Qín) ชื่อ《山海经》Shān hǎi jīnɡ “คัมภีร์ซานห่ายจิง” เป็นตำนานโบราณของชนเผ่าเหยาที่กล่าวถึงเทพผู้สร้างโลก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและสังคมของชาวเหยาที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนสมัยฉิน นอกจากนี้ชาวเหยายังมีตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดโลกและเทพผู้ให้กำเนิดมนุษย์อีกมากมาย ที่สำคัญได้แก่ เรื่อง《盘古开天地》Pánɡǔ kāi tiāndì “ผานกู่ผู้เบิกพิภพ” เรื่อง《伏羲子妹造人民》Fúxī zǐmèi zào rénmín “ฝูซีผู้ปั้นมนุษย์” เป็นต้น
“เพลง” มีความสำคัญสำหรับชาวเหยามาก มีการสั่งสม สืบสานและสืบทอดต่อกันมายาวนาน มีรูปแบบที่ล้ำลึกซับซ้อน มีเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น บทเพลงพรรณนาการกำเนิดของชาวเหยาและสรรพสิ่งบนโลก บทเพลงบันทึกตำนานเผ่าเหยา บทเพลงเกี่ยวกับการดำรงชีวิต เพลงล่าสัตว์ เพลงเพาะปลูก ตลอดจนเพลงที่เกี่ยวกับกิจกรรมและขนบธรรมเนียมต่างๆ รวมไปถึงเพลงรัก เพลงบูชา และเพลงออกศึก เป็นต้น บ้างก็บรรยายความยากลำบาก การทำมาหากิน การต่อต้านข้าศึกรุกราน บทเพลงสำคัญที่ได้รับยกย่องให้เป็นอัญมณีแห่งวรรณศิลป์ของชนเผ่าได้แก่ 《盘王歌》Pánwánɡ ɡē “เพลงพระเจ้าผานหวาง” บทเพลงนี้มีความยาวถึง 3,000 บรรทัด นอกจากนี้สมบัติด้านวรรณศิลป์ของชนชาวเหยายังมีอีกมาก เช่น นิทาน สุภาษิตคำพังเพย เรื่องเล่าขบขัน กลอนกระทู้ ปริศนาคำทาย เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้นอกจากจะเป็นบทบันทึกเรื่องราวชนเผ่าได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นเครื่องสะท้อนภูมิปัญญา ความคิด ทัศนคติและจริยธรรมของชนชาวเหยาที่มีต่อโลกและสรรพสิ่ง เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ทั้งยังเป็นศิลปะด้านวรรณคดีที่เป็นแบบอย่างและทรงคุณค่าต่อวงการอักษรศาสตร์จีนอเนกอนันต์


ดนตรีนาฏศิลป์ของชาวเหยามีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นหนึ่ง การร่ายรำระบำฟ้อนมีที่มาจากการทำงานเพาะปลูก ล่าสัตว์ และจากศาสนา ระบำที่มีชื่อเสียงเช่น ระบำกลองยาว ระบำกลองเหล็ก ระบำบูชาพระเจ้าผาน นอกจากนี้ยังมีระบำพื้นบ้านที่มีความหลากหลายไปตามแต่ละชุมชน เช่น ระบำสิงโต ระบำมังกรยอดหญ้า ระบำดอกไม้ ระบำจุดธูป ระบำไหว้ครู ระบำบรรพบุรุษ เป็นต้น เพลงของชาวเหยาก็มีท่วงทำนอง ลีลา และเนื้อหาที่ล้ำลึก หลากหลาย เช่น เพลงเศร้าโศก เพลงทุกข์ยาก มีท่วงทำนองเศร้าสร้อย กดดัน บาดลึกจิตใจผู้ได้ยินได้ฟัง ส่วนเพลงรักใคร่มีท่วงทำนองสนุกสนาน เร่าร้อน สดใส ชื่นใจ ชวนให้หลงใหลยิ่งนัก ปัจจุบันทั้งเพลงเหยาและระบำเหยาได้รับความนิยมถึงขีดสุด ดนตรีนาฏศิลป์จีนปัจจุบันก็ได้ใช้ระบำและเพลงของชาวเหยาเป็นแบบอย่างในการแสดงไม่น้อย ในขณะเดียวกันเพลงและระบำชาวเหยาไม่ได้เป็นศิลปะการแสดงประจำเผ่าที่ละเล่นกันในหมู่บ้านห่างไกลอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ขึ้นสู่เวทีใหญ่ระดับชาติและนานาชาติ ได้รับความนิยมชมชอบของมวลชนทั่วไป ตัวอย่างเพลงมีที่มาจากดนตรีของชนเผ่าเหยาก็คือ เพลงชื่อ 《瑶族舞曲》Yáo Zú wúqǔ “เพลงระบำเผ่าเหยา” ถือเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมชมชอบและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของวงการดนตรีจีนเลยทีเดียว
งานหัตถกรรมของชาวเหยา เช่น ผ้าพิมพ์ ผ้าย้อม ผ้าปัก ผ้าทอมือ งานจักสานไม้ไผ่ งานแกะสลัก วาดภาพ งานปั้นก็มีรูปแบบหลากหลายและงดงามไม่แพ้ใคร


ชาวเหยาเรียนรู้ภาษาฮั่นเพื่อจดบันทึกเรื่องราวและสร้างสรรค์งานด้านวรรณกรรมของชนเผ่ามาตั้งแต่สมัยถังและซ่งแล้ว เอกสารโบราณ วรรรณคดี ตำนาน ศาสนา คำสอน กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นล้วนได้รับการบันทึกเป็นภาษาฮั่น นับเป็นหลักฐานการศึกษาอารยธรรมของแผ่นดินจีนที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่ง


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี เครื่องแต่งกายของชาวเหยาทั้งชายและหญิงนิยมแต่งกายด้วยผ้าสีคราม และเขียว ชายนิยมสวมเสื้อผ่าอกแขนสั้น ไม่มีปก สวมกางเกงขายาว หรือขาสามส่วน ชายชาวเหยาที่อำเภอหนานตาน(南丹Nándān) มณฑลกว่างซี (广西Guǎnɡxī) นิยมสวมกางเกงสีขาว ปักลวดลายที่ชายกางเกง ส่วนชายชาวเหยาที่อำเภอเหลียนหนาน มณฑลกว่างตงนิยมไว้ผมมวย แล้วปักด้วยขนไก่ฟ้า หรือพันศีรษะด้วยผ้าสีแดง หญิงชาวเหยานิยมสวมเสื้อผ่าอก ไม่มีปก บ้างสวมกางเกงขายาว บ้างสวมกระโปรงสั้น หรือกระโปรงจีบรอบ ตามกระดุม ชายแขนเสื้อ ชายกระโปรง คอเสื้อนิยมปักลวดลายดอกไม้ด้วยสีสด เครื่องประดับศีรษะของชาวเหยามีความหลากหลายมาก แตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่โดยมากนิยมประดับด้วยเครื่องประดับเงิน เช่น ปิ่นปักผม แผ่นเงินรูปทรงต่างๆ หรือไม่ก็สร้อยลูกปัดเงิน และมีสร้อยไข่มุกพันรอบศีรษะ เป็นต้น


อาหารหลักของชาวเหยาได้แก่ ข้าวโพด ข้าวเจ้าและมัน อาหารประเภทพืชผักมีถั่วเหลือง ฟักทอง พริก อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้แก่ เป็ดไก่และหมูที่เลี้ยงเอง อาหารพิเศษที่ชาวเหยาในกวางตุ้งใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนคือ “นกจานเด็ด” ส่วนอาหารจานพิเศษของชาวเหยาที่อำเภอกุ้ยเป่ย (桂北Guìběi) คือ “ซุบชาทอด” ชาวเหยาจะใช้น้ำมันร้อนทอดใบชาให้กรอบ แล้วเอาไปต้มเป็นซุบใส่ขิงสดพริกสด เกลือปรุงรส เลิศรสยิ่งนักเมื่อกินกับข้าวทอด ข้าวโพดคั่ว โชยกรุ่นกลิ่นชาทอด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวเหยาอย่างแท้จริง


บ้านเรือนชาวเหยาบ้างสร้างเป็นกระท่อมไม้ไผ่ บ้างสร้างเป็นกระท่อมไม้ หลังคามุงหญ้า บางท้องที่สร้างบ้านด้วยปูน หลังคากระเบื้อง ชาวเหยาสร้างบ้านแบ่งเป็นสามห้อง ตรงกลางเป็นห้องโถง ส่วนห้องริมทั้งสองห้อง ด้านหน้าก่อเป็นเตาไฟ ด้านในเป็นห้องนอน ด้านข้างด้านหนึ่งสร้างเป็นเพิงสำหรับเป็นที่อาบน้ำและห้องน้ำ อีกด้านหนึ่งสร้างเป็นเพิงสำหรับคอกสัตว์เลี้ยง


ชาวเหยาจะไม่แต่งงานกับชนเผ่าอื่น ประเพณีการแต่งงานของชาวเหยาคือการแต่งลูกเขยเข้าบ้าน หนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ครอง โดยในเทศกาลสำคัญหนุ่มๆจากต่างหมู่บ้านจะเดินทางมาเยือน รวมตัวกันในลานรื่นเริง ร้องเพลงโต้ตอบและเลือกคู่ หากถูกตาต้องใจกันก็มอบของขวัญให้กัน แล้วจึงขอความเห็นชอบจากพ่อแม่ เชิญแม่สื่อให้เป็นผู้สู่ขอทาบทามและแต่งงานกัน


ประเพณีงานศพของชาวเหยามีความแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละพื้นที่และตามแต่ละสาย ชาวเหยาเหมี่ยน (勉支Miǎnzhī) ประกอบพิธีศพโดยการฝัง ชาวเหยาปู้นู่ (布努支Bùnǔzhī) เดิมทิ้งศพไว้ตามหน้าผาให้สลายไปเอง ปัจจุบันก็ใช้วิธีฝัง ชาวเหยาลาเจีย (拉珈支Lājiāzhī) ศพของคนอายุหนุ่มสาวขึ้นไปใช้วิธีเผา แต่ศพเด็กทารกใช้วิธีแขวนไว้ให้แห้ง ชาวเหยาที่อำเภอเหลียนหนานมัดศพไว้กับเก้าอี้ แล้วหามเป็นเกี้ยวไปประกอบพิธีฝัง โดยบรรจุโลงก่อนแล้วฝัง


เทศกาลของชาวเหยามีมากมาย แบ่งเป็นเทศกาลใหญ่และเทศกาลเล็ก เทศกาลใหญ่ได้แก่ เทศกาลบูชาพระเจ้าผานหวาง (盘王节Pánwánɡjié) เทศกาลตรุษจีน เทศกาลต๋านู่(达努节Dánǔjié) เทศกาลจงหยวน(中元节Zhōnɡyuánjié) เทศกาลเชงเม้ง(清明节 Qīnɡmínɡjié) เป็นต้น เทศกาลเล็กมีแทบทุกเดือน เทศกาลต๋านู่ที่อำเภอตูอาน มณฑลกว่างซีจัดอย่างยิ่งใหญ่ เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินของชาวเหยาในอดีต ส่วนเทศกาลบูชาพระเจ้าผานจัดสามปีหรือห้าปีครั้ง ช่วงเวลาจัดงานคือวันที่ 16 เดือนสิบ เทศกาลนี้จะเชิญหมอผีประจำเผ่าทำพิธีบูชาบวงสรวง มีการระบำกลองยาว ระบำกลองเหล็กเพื่อบูชา เพื่อเป็นการขอพรจากพระเจ้าผานให้ปกปักรักษาชาวเหยาให้อยู่เย็นเป็นสุข


การนับถือศาสนาของชาวเหยาค่อนข้างกระจัดระจายไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บางท้องที่เชื่อและนับถือผีที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งตามธรรมชาติ บ้างนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ และบ้างก็นับถือโทเทมประจำเผ่า บางท้องที่มีหมอผีประจำเผ่า แต่ชาวเหยาส่วนใหญ่นับถือลัทธิเต๋ามากกว่า พิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพ การบูชาบวงสรวงล้วนประกอบพิธีตามข้อกำหนดของเต๋าทั้งสิ้น

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับที่เผยแพร่ข้อมูลผมเองเป็นชาวเมี่ยนที่อยู่ในประทศไทยก็อยากศึกษาเกี่ยวกับชาวเมี่ยนที่อยู่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดของบรรพบุรุษชาวเมี่ยนทั่วโลก

    ตอบลบ