วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสียงปฏิภาค /r/,/k/, /kh/ และเสียงปฏิภาคอื่นๆ : หลักฐานความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาไทยในฐานะภาษาร่วมตระกูล

เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2552) “เสียงปฏิภาค /r/,/k/,/kh/ และเสียงปฏิภาคอื่นๆ:หลักฐานความสัมพันธ์ของ
ภาษาจีนกับภาษาไทยในฐานะภาษาร่วมตระกูล วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์.
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ปีที่ 31 ประจำภาคเรียนที่ 2 การศึกษา 2552.


บทคัดย่อ
หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของภาษาร่วมตระกูลคือ การเปรียบเทียบลักษณะปฏิภาคระหว่างภาษา บทความนี้นำเสนอการเปรียบเทียบเสียงปฏิภาคระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทยเสียง / r / แปรเป็น /k/ หรือ /kh/ และเสียงปฏิภาคอื่นๆ ที่เป็นหลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาไทย รวมถึงความสัมพันธ์กับภาษาอื่นๆในภาษาตระกูลไท อันเป็นหลักฐานที่นำไปสู่การสนับสนุนแนวคิดเรื่อง สาขาภาษาจีน–ไทย ในตระกูลภาษาใหญ่จีน– ธิเบตที่แน่นหนายิ่งขึ้น
คำสำคัญ ภาษาตระกูลจีนธิเบต ภาษาตระกูลไท เสียงปฏิภาค คำศัพท์ร่วมเชื้อสาย ภาษาไทย

The correspondence /r/ , /k/ , /kh/ and other sounds: Evidence of the relationship between Chinese and Thai languages as a kinship
Abstract

The important evidence that indicates the relationship of cognate words is comparing the correspondence between languages. This article represents the comparison of the correspondence of /r/ into /k/ or /kh/ and other sounds in Chinese and Thai languages. The evidence confirms the relationship between Chinese and Thai language including others in Tai language family. This has led to the support of Chinese – Thai branch concept in Sino-Tibetan language family even more.
Keywords: Sino- Tibetan language family, Tai language family, correspondence sounds, cognate words , Thai language.

การศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายและการจัดแบ่งตระกูลภาษา
ในการศึกษาเกี่ยวกับการจัดแบ่งตระกูลภาษา จำเป็นจะต้องพิจารณาและทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของคำศัพท์หลายคำ ที่สำคัญได้แก่ ตระกูลภาษา คำศัพท์พื้นฐาน คำศัพท์ร่วมเชื้อสาย และลักษณะปฏิภาค ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ก็หมายถึงกระบวนการและวิธีการในการพิจารณาความสัมพันธ์ของภาษานั่นเอง ในงานวิจัย เรื่อง การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบตระกูลภาษา(สมพงศ์:2550) ได้อธิบายความสัมพันธ์ของคำดังกล่าวข้างต้นไว้อย่างชัดเจนและสอดคล้องแล้วว่า ตระกูลภาษา หมายถึง กลุ่มของภาษาที่มีความสัมพันธ์กันทางเชื้อสาย เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าภาษาทั้งสองภาษามีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกันหรือไม่ โดยพิจารณาดูว่าภาษาทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันอย่างเป็นระบบหรือไม่ วิธีการที่นักภาษาศาสตร์ใช้พิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว ได้แก่การเปรียบเทียบคำศัพท์พื้นฐานในหมวดต่าง ๆ เช่น ศัพท์อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ศัพท์เกี่ยวกับเครือญาติ ศัพท์เกี่ยวกับธรรมชาติรอบ ๆ ตัวมนุษย์ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ พระอาทิตย์ เป็นต้น และศัพท์เกี่ยวกับกริยาพื้นฐาน เช่น กิน เดิน นอน นั่ง ยืน พูด ฟัง มอง เป็นต้น คำศัพท์ในหมวดดังกล่าวในภาษาทั้งสองที่เรานำมาเปรียบเทียบ จะต้องมีความหมายคล้ายกัน และออกเสียงคล้ายกัน คำศัพท์ดังกล่าวนี้ นักภาษาศาสตร์เชิงประวัติเรียกว่า “คำร่วมเชื้อสาย” คำที่ออกเสียงไม่เหมือนกันเลย หรือมีความหมายต่างกันมาก เราไม่นำมาเปรียบเทียบ ในการเปรียบเทียบดังกล่าว นักภาษาศาสตร์มองหาลักษณะปฏิภาคของเสียง เช่น เสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ว่าในทั้งสองภาษามีความคล้ายคลึงของเสียงเหล่านั้น เป็นการคล้ายคลึงกันอย่างเป็นระบบหรือไม่ ถ้าพบลักษณะปฏิภาคมากพอที่จะเชื่อถือได้ เราก็สามารถสรุปได้ว่าภาษาทั้งสองนั้นเป็นสมาชิกของตระกูลภาษาเดียวกัน หรือในสเกลที่เล็กลงมาคือเป็นสมาชิกของภาษาเดียวกัน(ภาษาย่อย) ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ความคิดพื้นฐานของข้อสรุปนี้คือ ภาษาทั้งสองนั้นมีเชื้อสายร่วม หรือสืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันนั่นเอง

ความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาจีน
เกี่ยวกับการจัดแบ่งตระกูลภาษาของภาษาไทยนี้ นักภาษาศาสตร์มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปหลายทฤษฎี ความแตกต่างนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดแบ่งตระกูลภาษา หากแต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงชื่อเรียกภาษาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไทย ไท ไต ได ลาว สยาม กัมไท ในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน มีตัวอักษรที่เรียกชื่อภาษาไทหรือชาวไทอย่างน้อยสี่ตัวขึ้นไป คือ泰 (tai4) 傣 (dai3) 台 (tai) 暹 (xian1) สำหรับชื่อเรียกภาษา มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมายแล้ว เช่น เรืองเดช (2531) ในหนังสือชื่อ “ภาษาถิ่นตระกูลไทย” จิตร(2519) ในหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” สุริยา (2548) ในหนังสือชื่อ “นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท” ผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ตามรายการที่ให้ในบรรณานุกรม
แต่สิ่งสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การจัดแบ่งตระกูลภาษาที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยและภาษาจีนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผู้เขียนจะเรียกตาม สุริยา (2548) ที่ว่าคำว่า “ไท” เป็นคำที่เป็นกลางมากที่สุด ในบทความนี้จึงจะเรียกตามว่า “ภาษาตระกูลไท” ยกเว้นการอ้างอิงข้อความคิดของนักวิชาการท่านอื่น จะคงคำเรียกตามที่อ้างมา ส่วนภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาไทยที่มี ย. บางตำราเรียกว่าภาษาไทยกรุงเทพ ในบทความนี้เรียกว่า ภาษาไทย
โดยทั่วไปถือว่าภาษาไทยเป็นตระกูลย่อยภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาใหญ่ จีน-ธิเบต ซึ่งภาษาตระกูลจีน – ธิเบตนี้ เป็นตระกูลภาษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาคือ (1)สาขาภาษาจีน (2)สาขาภาษาไทย (3) สาขาแม้วเย้า (4) สาขาธิเบตพม่า (เรืองเดช: 2531) อย่างไรก็ตามนักภาษาศาสตร์หลายท่านเรียกชื่อตระกูลภาษานี้แตกต่างกันไป อย่างเช่น Grierson (1903-28) เรียกรวมเป็นตระกูลเดียวกันกับภาษาจีนว่า ตระกูลภาษาไทยจีน (Siamese-Chinese family) Benedict (1975) เรียกว่า ออสโตร – ไทย (Astro-Tai) เพราะเห็นว่าเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลออสโตรเนเชียน ต่อมามีการตั้งชื่อตระกูลภาษาไทอีกหลายชื่อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บ้างเรียกว่า ตระกูลภาษาไทย ตระกูลภาษาไต แยกออกมาเป็นตระกูลภาษาใหญ่ต่างหาก บ้างเรียกว่าตระกูลคำไต (KamTai family) และ ภาษาไดอิก (Daic) โดยรวมภาษาไทยถิ่นต่างๆที่พูดในประเทศต่างๆ 8 ประเทศเป็นตระกูลเดียวกันหมด (เรืองเดช: 2531) Benedict (1942) ได้ตั้งชื่อตระกูลภาษานี้ใหม่ว่า ตระกูลภาษาไทยกะได (Tai Kadai) เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาษาไทยถิ่นที่พูดอยู่ที่เกาะไหหลำ อ่าวตังเกี๋ย และภาษากลุ่มตระกูลภาษาไทยที่พูดอยู่ที่ประเทศจีน และเวียดนามทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภาษาตระกูลไทโดยยึดเกณฑ์ต่างๆกัน เช่น พระยาอนุมานราชธน(อ้างในเรืองเดช : 2531) เป็นการจัดแบ่งโดยยึดหลักภูมิศาสตร์ ก็กล่าวถึงกลุ่มภาษาไทย-จีน คือภาษาไทยที่พูดอยู่เขตประเทศจีนบริเวณกวางสี ไกวเจา กวางตุ้ง เช่นภาษาไทยลาย ไทยลุง ไทยย้อย ไทยโท้ ไทยนุง ผลงานของนักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (1959) ที่ใช้หลักเกณฑ์ทางภาษา คือเกณฑ์ทางการกระจายคำศัพท์ ลักษณะทางเสียงและพัฒนาการทางเสียง ในการแบ่งกลุ่มภาษาไทยก็ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องของภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนกับภาษาไทยกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกหลายท่านที่ศึกษาภาษาตระกูลไท และจัดให้ภาษาที่พูดอยู่ในประเทศจีน หรือภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นสมาชิกในภาษาตระกูลไท เช่น John F. Hurtmann (1986) จัดแบ่งภาษาไทยเฉพาะกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ของ Li Fanggui เป็นกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่างนี้ครอบคลุมไปถึงตอนใต้สุดของตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังมีนักภาษาศาสตร์ในยุคต่อจาก Li Fanggui อีกหลายท่าน เช่น Marwin Brown (1965), William J.Gedney(1972), James R.Chamberlain(1972) ก็ได้ดำเนินรอยตาม Li Fanggui โดยในการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทล้วนมีความเกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลจีน หรือเป็นภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนทั้งสิ้น เรืองเดช (2531) นักวิชาการภาษาตระกูลไทยได้จัดแบ่งภาษาตระกูลไทยออกเป็น “กลุ่มไท” โดยรวมภาษากลุ่มไทสยามและลาวไว้ในกลุ่มเดียวกัน และ “กลุ่มไต” รวมภาษาไตยวน ไตหลวง ไตจีนไว้ด้วยกัน จากข้อมูลการศึกษาและการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทจะเห็นว่าภาษาไทยมีร่องรอยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภาษาจีนอยู่
ตามทรรศนะของนักวิชาการจีน จัดภาษาไทยอยู่ในภาษาตระกูลจีนธิเบต สาขาภาษาต้งไถ สาขาย่อยภาษาไต (梁敏,张均如:1996) และเพื่อยืนยันว่าภาษาไทยจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาเดียวกัน การศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนจึงเป็นความสนใจของนักภาษาศาสตร์และนักศึกษาภาษาไทย-จีนมาช้านาน
ผลงานที่สำคัญที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาจีน โดยวิธีการเปรียบเทียบคำศัพท์ เช่น A.Conrady, K.Wulff (อ้างใน龚群虎:2002) รวบรวมคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทย-จีนกว่า 200 คำ ประพิน (P.Manomaivibool:1975) รวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ ที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนถึง 600 คำ นักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (李方桂:1976) ได้รวบรวมคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาจีนกับภาษาในสาขาภาษาไท(ไต) ร้อยกว่าคำ และงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่สนับสนุนแนวคิดคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนคือ ผลงานของ Gong Qunhu (龚群虎:2002) ผลการวิจัยนี้เปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยกับภาษาจีน และชี้ให้เห็นวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของภาษาไทยและจีนในแต่ละยุค แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ (1) คำศัพท์ร่วมสายเลือดภาษาไทยจีนซึ่งหมายถึงคำศัพท์ที่เคยเป็นภาษาเดียวกันมาตั้งแต่อดีต (2) คำศัพท์ที่มีการถ่ายเทซึ่งกันและกันในยุคสองพันปีลงมา (3) คำศัพท์ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาจีนในยุคที่ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในระยะร้อยสองร้อยปีมานี้

การศึกษาเกี่ยวกับเสียงปฏิภาคในภาษาตระกูลไท
ในหนังสือชื่อ ภาษาไทยถิ่น (วิไลศักดิ์:2551) กล่าวถึงลักษณะเด่นของภาษาถิ่นตระกูลไทหลายประการ เช่น ไม่มีคำที่เริ่มต้นด้วยเสียงสระ มีคำศัพท์ใช้ร่วมเชื้อสาย (Cognate words) พยัญชนะควบกล้ำไม่เกิดท้ายพยางค์ โครงสร้างพยางค์ประกอบด้วย หน่วยเสียงพยัญชนะ หน่วยเสียงสระ และหน่วยเสียงวรรณยุกต์ โครงสร้างของประโยคประกอบด้วย ประธาน+ กริยา + กรรม เป็นคำศัพท์โดด ๆ สำเร็จรูปภายในตัวเอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูป มีการใช้ลักษณะนาม ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง คือ มีเสียงปฏิภาค ( Correspondence ) ของระบบเสียงต่างกันอย่างมีกฎเกณฑ์
ลักษณะปฏิภาค ที่นักภาษาศาสตร์ใช้อธิบายลักษณะทางรูปภาษาที่เหมือนกันของภาษาที่มีความสัมพันธ์กัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า correspondence ซึ่งในพจนานุกรม A Dictionary of Linguistics And Phonetics (David :1997) ให้ความหมายของคำว่า correspondence ว่า “A term used in linguistics to refer to any similarity of form between words or structure in related language.

ผลงานการศึกษาภาษาตระกูลไทโดยใช้เกณฑ์เสียงปฏิภาคในประเทศไทย มีที่เป็นวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต เป็นการศึกษาภาษาถิ่นตระกูลไทที่พูดอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ วิทยานิพนธ์เรื่อง ภูมิศาสตร์ภาษาจังหวัดลพบุรี : การศึกษาคำศัพท์และเสียงปฏิภาค ชุด ช-จ-ซ (ลัดดาวัลย์:2538) เป็นการศึกษาคำศัพท์และเสียงปฏิภาคชุด ช-จ-ซ ศึกษาการกระจายของภาษาไทยถิ่นกลาง ภาษาไทยถิ่นเหนือและภาษาไทยถิ่นอีสานในจังหวัดลพบุรี วิทยานิพนธ์เรื่อง A Comparative study of the phonology of six Tai dialects spoken in Amphoe Tha Tako, Changwat Nakhon Sawan (Wilailuck:1987) เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระบบเสียงของภาษาไท 6 ภาษา คือ ภาษาลาวใต้ ลาวเวียง ลาวครั่ง ลาวแง้ว ลาวพวน และลาวโซ่ง ในอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ โดยศึกษาเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนและต่างของเสียงในภาษาไททั้ง 6 ภาษาดังกล่าว
ผลงานการศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทที่พูดอยู่ในและนอกประเทศไทยโดยใช้เกณฑ์เสียงปฏิภาค มี วิทยานิพนธ์เรื่อง Further classification of Southwestern Tai "P" group languages (Robinson:1994) เป็นการศึกษาการแบ่งกลุ่มย่อยของภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่ม "ป" โดยอาศัยเกณฑ์การปฏิภาคของเสียงบางประการในการจำแนกภาษาต่าง ๆ เหล่านี้ การศึกษาในครั้งนี้ครอบคลุมภาษาไทยที่ Li (1960) จัดไว้ในกลุ่มภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ และ Chamberlain (1972, 1975) จัดไว้ในกลุ่ม “ป” ได้แก่ ภาษาไทเมา ภาษาไทเหนือ ภาษาไทยคำตี่ ภาษาไทยลื้อ ภาษาไทใหญ่ ภาษาไทขืน ภาษาไทยวน ภาษาไทขาว ภาษาไทดำ และภาษาไทแดง และบทความอีกหนึ่งเรื่อง ชื่อ เสียงปฏิภาคระหว่างภาษาไตเมา ไตคำตี่และลานนา (สุวัฒนา:2528) ก็เป็นการเปรียบเทียบภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทยโดยใช้เกณฑ์เสียงปฏิภาคเช่นกัน
ส่วนการเปรียบเทียบภาษาไทยกับภาษาในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เกณฑ์เสียงปฏิภาคระหว่างภาษาไทยกับภาษาจีนยังสำรวจไม่พบ แต่มีหนังสือ พจนานุกรม และบทความของนักวิชาการที่สำคัญสองท่าน คือ สมทรง บุรุษพัฒน์ และปราณี กุละวณิชย์ หลากหลายผลงานที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทกับภาษาตระกูลจีน-ทิเบต เช่น ภาษาและวัฒนธรรมกัม-ไท (สมทรง:2543) พจนานุกรมภาษากัม-จีน-ไทย-อังกฤษ (สมทรง: 2543) พจนานุกรมปูยี-จีน-ไทย-อังกฤษ (สมทรง: 2544) พจนานุกรมฮไล-จีน-ไทย-อังกฤษ (สมทรง: 2546) พจนานุกรมสุ่ย-จีน-ไทย-อังกฤษ(สมทรง: 2546) Northern Zhuang Chinese English Dictionary (Somsong:2006) การเปรียบเทียบคำลักษณะนามในภาษาไท-กะได(สมทรง: 2549) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย (ปราณี:2535) ศัพท์ไท 6 ภาษา (ปราณี:2537) ผลงานเหล่านี้เป็นหลักฐานคลังคำศัพท์ที่ใช้ศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของภาษาตระกูลไทได้อย่างวิเศษ

เสียงปฏิภาค / r / – / k /, / kh / และเสียงอื่นๆ ระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย
ประเด็นหลักที่จะนำเสนอในบทความนี้คือ เสียงปฏิภาค / r / – / k /, / kh / ระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย เนื่องจากสังเกตเห็นว่า คำภาษาจีนที่ขึ้นต้นด้วยเสียง / r / ที่ปรากฏในพจนานุกรมไทย – จีน (เธียรชัย: 2541) มากกว่าครึ่งของรายการคำทั้งหมด สามารถหาคำในภาษาไทยที่มีความหมายเดียวกันหรือสัมพันธ์กัน มีพยัญชนะต้นเป็นเสียง / k / หรือไม่ก็เสียง /kh/ ดังข้อมูลต่อไปนี้
ตารางที่ 1 : คู่คำศัพท์ภาษาจีนและภาษาไทยที่
คาดว่ามีความสัมพันธ์กันแบบปฏิภาค / r / – / k /, / kh /
คำจีน คำไทย
อักษรจีน เสียงอ่าน kh k
髯 ran2 เครา
冉 ran3 ขน (อ่อนลู่ลง)
嚷 rang3 ครึก (โครม)
禳 rang2 ขจัด
瓤 rang2 หมายถึงสิ่งของที่ห่อหุ้มด้วยเปลือกนอก = คลุม
穰 rang2 (ต้น) ข้าว
壤 rang3 เขต
攘 rang3 ขับ (ไล่)
让 rang4 ขอ
瀼 rang4 ใช้เป็นชื่อแม่น้ำ = คู คลอง
扰 rao3 กวน
娆 rao3 กวน
绕 rao4 ขด
惹 re3 ก่อ
唱喏 re3 คารวะ
热 re4 คุ (ร้อน)
人 ren2 คน
壬 ren2 เก้า (ตำแหน่งอันดับเก้าในสิบจักรราศีสวรรค์)
任 ren2 การุณย์
忍 ren3 กลั้น
荏 ren3 ค่อย
稔 ren3 คุ้น
刃 ren4 คม
任 ren4 ขึ้น
牣 ren4 คลาคล่ำ (เต็มไปด้วย)
饪 ren4 (ทำกับ) ข้าว
妊 ren4 ครรภ์
纫 ren4 สน (เข็ม)
扔 reng1 ขว้าง
仍 reng2 (ยัง) คง
日 ri4 กลางวัน
戎 rong2 กำลัง (ทหาร) , กอง
荣 rong2 เขียว
茸 rong2 ขน (ขนอ่อน) เขา (กวาง)
容 rong2 (อด) กลั้น
绒 rong2 ขน (ขนอ่อน ขนปุย)
溶 rong2 ละลาย (คลาย)
熔 rong2 หลอม (เคล้า)
融 rong2 เคล้า
冗 rong3 เกิน
氄 rong3 ขน (เส้นเล็กแต่อ่อนนุ่ม)
揉 rou2 คลึง
糅 rou2 คลุก
輮 rou2 ขอบ (วงล้อเกวียน)
如 ru2 คล้อย คล้าย
茹 ru2 กิน
儒 ru2 ขงจื้อ
蠕 ru2 ขยุกขยิก
汝 ru3 คุณ (สรรพนาม)
乳钵 ru3 bo1 โกร่ง(บดยา)
辱 ru3 ข่ม
鄏 ru3 ชื่อภูเขาในสมัยโบราณ = เขา
入 ru4 เข้า
沮洳 ru4 เลนที่เกิดจากการหมักของพืชที่เน่าเปื่อย = ครำ
坐蓐 ru4 คลอดลูก
緌 rui2 ขน (พู่ที่ประดับหมวก)
蕤 rui2 เขียว
蕊 rui3 เกสร
蘂 rui3 คล้อย (ลู่ลง)
汭 rui4 คุ้ง
枘 rui4 เข้า (กันไม่ได้)
瑞 rui4 (มง) คล
锐 ru4 คม
挼 rua2 (ใกล้) ขาด
润 run4 ค่า (ค่าใช้จ่าย) เกลี้ยง เกลา
挼 ruo2 คลึง ขยี้
若 ruo4 คล้าย
若 ruo4 คุณ (สรรพนาม)
弱 ruo4 ขาด
ในพจนานุกรมจีน – ไทยเล่มดังกล่าวนี้ คำ (อักษร) ที่
ออกเสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง /r/ มีทั้งหมด 133 คำ(อักษร) ในจำนวนนี้ ตรงกับคำภาษาไทยที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียง /kh/ 56 คำ และเสียง /k/ 14 คำ รวมทั้งสิ้น 70 คำ
หากใช้เกณฑ์เสียงปฏิภาคเป็นข้อยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย ไม่เพียงพบเฉพาะเสียง / r / – / k /, / kh / เท่านั้น ยังมีคำที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะปฏิภาคระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทยเสียงอื่น ๆ อีกมาก และคาดว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายด้วย ซึ่งต้องศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป ในที่นี้จะให้ข้อมูลพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
ตารางที่ 2 : ตัวอย่างคู่คำภาษาจีนกับภาษาไทยที่คาดว่ามีความสัมพันธ์กันแบบปฏิภาค
คู่เสียงปฏิภาคระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย
(Pinyin - Thai) ภาษาจีน ภาษาไทย
อักษร เสียงอ่าน
/ a – k / 碍 ai4 กีด
谙 an1 เก่ง
按 an4 กด
熬 ao1 แกง
螯 ao2 ก้าม
/ b – ph / 摆 bai3 แผ่
败 bai4 พ่าย
板 ban3 แผ่น
伴 ban4 เพื่อน
布 bu4 ผ้า
/ c, ch – r / 参 can1 ร่วม
槽 cao2 ราง
缠 chan2 รัด
昌 chang1 รุ่ง
匆 cong1 เร่ง
/ d – th / 呆 dai1 ทื่อ
代 dai4 แทน
待 dai4 (คอย) ท่า
第,地 di4 ที่
豆 dou4 ถั่ว
/ f - p / 防 fang2 ป้อง
放 fang4 ปล่อย
肺 fei4 ปอด
分 fen1 ปัน
封 feng2 ปิด
/ f – ph / 发 fa4 ผม
翻 fan1 พลิก
凡 fan2 พื้น
焚 fen2 เผา
父 fu4 พ่อ
/ f – b / 房 fang2 บ้าน
飞 fei1 บิน
分 fen1 แบ่ง
疯 feng1 บ้า
负 fu4 แบก
/ g – h / 干 gan1 แห้ง
蛤 ge2 หอย
给 gei3 ให้
罛 gu1 แห
菇 gu1 เห็ด
/ h – n / 寒 han2 หนาว
罕 han2 น้อย
沆 hang4 น้ำ
号 hao4 นาม
鹤 he4 นก
/ j – k / 几 ji3 กี่
甲 jia3 กระ
胶 jiao1 กาว
九 jiu3 เก้า
旧 jiu4 เก่า
/ l – n / 累 lei4 เหนื่อย
冷 leng3 หนาว
酪 lao4 นม
塄 leng2 เนิน
馏 liu4 นึ่ง
/ p - p(ป) / 牌 pai2 ป้าย
攀 pan1 ปีน
剽 piao1 ปล้น
飘 piao1 ปลิว
铺 pu1 ปู
/ p – f / 泡 pao4 ฟอง
毰 pei2 ฟู
霈 pei2 ฝน
漂 piao3 ฟอกขาว
洴 ping2 ฟอกไหม
/ p – b / 泡 pao1 บึง
劈 pi3 แบ่ง
僄 piao4 เบา
屏 ping2 บัง
迫 po4 บีบ
/ q – kh / 骑 qi2 ขี่
拤 qia3 เค้น
浅 qian3 (ตื้น) เขิน
强 qiang2 แข็ง
求 qiu2 ขอ
/ s,sh – kh / 杀 sha1 ฆ่า
山 shan1 เขา
上 shang4 ขึ้น
秫 shu2 ข้าว
搜 sou1 ค้น
/ t – d / 弹 tan2 ดีด
彤 tong2 แดง
徒 tu2 เดิน
土 tu3 ดิน
推 tui1 ดัน
/ w – ph / 洼 wa1 พื้น
危 wei1 ภัย
为 wei4 เพื่อ
惟 wei4 เพียง
维 wei2 ผูก
/ x – d / 显 xian3 เด่น
星 xing1 ดาว
行 xing2 เดิน
凶 xiong1 ดุ
玄 xuan2 ดำ
/ z,zh – k / 拶 zan3 กด
张 zhang1 กาง
枝 zhi1 กิ่ง
中 zhong กลาง
杼 zhu4 กี่ (ทอผ้า)
/ z,zh – kh / 仄 ze4 แคบ
斩 zhan3 โค่น
栈 zhan4 คอก
针 zhen1 เข็ม
抓 zhua1 คว้า
/ z. zh – ch / 早 zao3 เช้า
朝 zhao1 เช้า
争 zheng1 ชิง
助 zhu4 ช่วย
字 zi1 ชื่อ
ข้อมูลคำศัพท์ทั้งตารางที่ 1. และตารางที่ 2. คัดเลือกมาจากพจนานุกรมจีน-ไทย (เธียรชัย: 2541) พจนานุกรมฉบับนี้ เรียบเรียงมาจากพจนานุกรมจีนปัจจุบัน《现代汉语词典》 ตลอดทั้งเล่มโดยไม่มีการตัดตอนแม้แต่ประโยคเดียว พจนานุกรมจีนปัจจุบันนี้ ได้รับมติคณะรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้จัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานฝ่ายวิชาการภาษาระดับประเทศเป็นคณะกรรมการชำระและเรียบเรียงพจนานุกรม และใช้เป็นหนังสืออ้างอิงที่เป็นแบบฉบับภาษาจีนของประเทศ ฉบับที่ตีพิมพ์ล่าสุดคือฉบับปี 2005 รวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนในศตวรรษที่ 20 ไว้ครบถ้วนที่สุด โดยตลอดทั้งพจนานุกรม รวบรวมคำศัพท์ทั้งหมด 65,000 ตัว
จากข้อมูลคู่เสียงปฏิภาค / r / – / k /, / kh / ในตารางที่ 1. และข้อมูลตัวอย่างเสียงปฏิภาคในตารางที่ 2. สามารถอธิบายลักษณะคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงปฏิภาค ในตารางที่ 3
การอธิบายในตาราง ต้องเข้าใจตรงกันในอันดับแรกก่อนว่า หลักสำคัญที่คำนึงถึงของคำที่เลือกคือมีความหมายเหมือนกัน ส่วนความเหมือนหรือต่างที่จะอธิบายในตาราง จะใช้เครื่องหมายอธิบายความเหมือนและความแตกต่างของส่วนประกอบของคำ ได้แก่ เสียงสระ เสียงพยัญชนะท้าย และเสียงวรรณยุกต์ ดังนี้ +เหมือนกัน ± คล้ายกัน – ต่างกัน ความคล้ายกันตัดสินจาก เสียงสระที่มีความสูงต่ำ หน้าหลัง และรูปปากใกล้เคียงกัน พยัญชนะท้ายที่สามารถคาดเดาได้ว่าเกิดการกร่อนเสียงหรือสูญหาย วรรณยุกต์ที่มีระดับและการหักเหใกล้เคียงกัน โดยแต่ละความสัมพันธ์ที่เหมือนกัน คล้ายกัน และต่างกันนั้นกำหนดเป็นค่าคะแนน 3 2 และ 1 คะแนนตามลำดับ ผลคะแนนจะชี้ให้เห็นระดับความสัมพันธ์ของคำแต่ละกลุ่ม


ตารางที่ 3 ลักษณะคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงปฏิภาคระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย
ตัวอย่างคำที่พยัญชนะต้นเป็นเสียง
ปฏิภาค ระดับ
ความสัมพันธ์ สระ พยัญชนะท้าย วรรณยุกต์ ค่าความ สัมพันธ์
+ - ± + - ± + - ±
张 zhang1 “กาง” / 铺 pu1 “ปู” / 几 ji3 “กี่” √ √ √ 9
板ban3 “แผ่น”/分fen1“ปัน”/ 胶jiao1“กาว” √ √ √ 8
强qiang2“แข็ง”/中zhong1“กลาง”/任ren4 “ขึ้น” √ √ √ 8
上 shang4 “ขึ้น”/荣 rong2 “เขียว”/ 馏liu4“นึ่ง” √ √ √ 8
氄 rong3 “ขน”/塄 leng2“เนิน”/房 fang2“บ้าน” √ √ √ 8
早 zao3 “เช้า”/ 抓 zhua1 “คว้า” / 骑 qi2 “ขี่” √ √ √ 7
稔ren4 “คุ้น”/ 仍 reng2 “คง” / 浅 qian3 “เขิน” √ √ √ 7
仄 ze4 “แคบ”/ 求 qiu2 “ขอ”/荣 rong2 “เขียว” √ √ √ 6
匆cong1“เร่ง”/昌chang1“รุ่ง”/彤 tong2 “แดง” √ √ √ 5
惹re3 “ก่อ”/ 焚fen2 “เผา” / 霈pei2 “ฝน” √ √ √ 5
忍ren3 “กลั้น”/ 妊ren4 “ครรภ์”/屏 ping2 “บัง” √ √ √ 5
干 gan1 “แห้ง”/行 xing2 “เดิน” 针 zhen1“เข็ม” √ √ √ 5
穰rang2 “ข้าว”/螯ao2 “ก้าม” / 缠 chan2 “รัด” √ √ √ 5
如 ru2 “คล้าย”/碍ai4 “กีด”/ 枝zhi1 “กิ่ง” √ √ √ 3

จากตารางสามารถจัดกลุ่มคำเพื่ออธิบายลักษณะของคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงปฏิภาคได้ 6 แบบ ดังนี้ (ลักษณะความสัมพันธ์ในแต่ละกลุ่มนี้จะใช้อธิบายในตารางที่ 4 ด้วย)
แบบที่ 1 ค่าความสัมพันธ์ 9 คะแนน เหมือนกันทั้ง 3 ส่วน
แบบที่ 2 ค่าความสัมพันธ์ 8 คะแนน มีลักษณะเหมือน 2 คล้าย 1
แบบที่ 3 ค่าความสัมพันธ์ 7 คะแนน มีลักษณะความสัมพันธ์ 2 แบบ คือ เหมือน2 ต่าง 1 และ เหมือน 1 คล้าย 2
แบบที่ 4 ค่าความสัมพันธ์ 6 คะแนน มีลักษณะความสัมพันธ์คือ เหมือน 1 คล้าย 1 ต่าง 1
แบบที่ 5 ค่าความสัมพันธ์ 5 คะแนน มีลักษณะความสัมพันธ์ 2 แบบ คือ เหมือน 1 ต่าง 2 และคล้าย 2 ต่าง 1
แบบที่ 6 ค่าความสัมพันธ์ 3 – 4 คะแนน มีลักษณะความสัมพันธ์คือ คล้าย 1 ต่าง 2 หรือ ต่างกันทั้ง 3 ส่วน มีเพียงเสียงพยัญชนะต้นที่เป็นเสียงปฏิภาคกัน มีความหมายเหมือนกัน
ในภาษาตระกูลไทมีลักษณะเสียงปฏิภาค / r / – /k/ - / kh / หรือไม่ และมีลักษณะอย่างไร?
ข้อมูลจากพจนานุกรมและรายการคำศัพท์ของภาษาไทหลายๆภาษาเท่าที่หาได้ ก็พบคู่คำหรือคู่เสียงที่มีความสัมพันธ์กันแบบ
เสียงปฏิภาค / r / – /k/ - / kh / เช่นกัน รวมถึงเสียง / h / ด้วย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเสียงทั้งสามนี้ ก็เป็นเสียงที่อยู่ในฐานกรณ์เดียวกันหรือใกล้เคียงกันนั่นเอง เป็นการแปรแบบปฏิภาคที่พบเห็นได้ทั่วไปในภาษาที่มีความใกล้ชิดกันในตระกูลภาษาเดียวกัน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคู่คำที่มีความสัมพันธ์แบบปฏิภาคระหว่างภาษาต่างๆในภาษาตระกูลไท
ภาษาจ้วง กับภาษาไทย (หลี่ ฟู่เซิน:2539) ข้อมูลรายการคำศัพท์ภาษาจ้วงจากหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถจับคู่คำที่มีความสัมพันธ์กันแบบเสียงปฏิภาคได้ไม่ยาก โดยในพจนานุกรมฉบับนี้เปรียบเทียบภาษาจ้วง 2 กลุ่มคือ จ้วงเหนือ คือชาวจ้วงที่ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ภาคเหนือของมณฑลหูหนานและกุ้ยโจว และภาคเหนือของมณฑลกวางสี มีประชากรชาวจ้วง 70% ใช้ภาษาสำเนียงอู๋หมิงเป็นหลัก จากข้อมูลในรายการคำศัพท์ภาษาจ้วงเหนือ พบว่า เสียง r ในภาษาอู๋หมิง เป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง h ของคำในภาษาไทย ดังตัวอย่างคำต่อไปนี้
คำภาษาอู๋หมิง (r) ร่าว หรื่อ ริว ร้าบ หราม ร้อน หรา
คำภาษาไทย (h) หัว หู หิ้ว หาบ หาม หั่น หา
ภาษาจ้วงใต้กับภาษาไทย (ปราณี:2535) จ้วงใต้ คือชาวจ้วงที่อาศัยกระจายอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน มีประชากรประมาณ 30% ของชาวจ้วงทั้งหมด ใช้ภาษาเต๋อป่าว เป็นหลัก จากข้อมูลในพจนานุกรม พบว่า เสียง r ในภาษาเต๋อป่าว เป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง kh ของคำในภาษาไทย ดังตัวอย่างคำต่อไปนี้
คำภาษาเต๋อป่าว (r) raeux raix rawj reg ryaek ryaengz ryewjgoi
คำภาษาไทย (kh) ควัน ขาด คล้าย คว้าน แคะ ขาน เขย่ง
ภาษาไทอาหม กับภาษาไทย(บรรจบ:2526) คำที่ภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงเป็น ห. ไทอาหมออกเสียงเป็น ร. ตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาไทอาหม (ร) ริ้น ร้าย รุก หราบ หร่า หร่อ รอก
คำภาษาไทย (ห) หิน หาย หก หาบ ห่า ห่อ หอก
ภาษาถิ่นตระกูลไทย (เรียกตามเรืองเดช,2531) h แทนด้วย r ในภาษาไทยถิ่นอีสาน - ภาษาไทย ตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาไทย (ร) รัก ร้อน เรือน รุ้ง เรียน
คำภาษาไทยถิ่นอีสาน (ฮ) ฮัก ฮ้อน เฮือน ฮุ้ง เฮียน
คำภาษาไทยถิ่นเหนือ (ฮ) ฮัก ฮ้อน เฮือน ฮุ้ง(ลุ่ง) เฮียน
เสียงปฏิภาคคู่อื่นๆ ในภาษาตระกูลไท มีลักษณะอย่างไร ในที่นี้จะยกตัวอย่างเสียงปฏิภาคคู่อื่นๆ ที่พบระหว่างภาษาต่างๆ ในภาษาตระกูลไท เช่น
ภาษาถิ่นตระกูลไทย
c แทนด้วย ch ในภาษาไทยถิ่นเหนือ - ภาษาไทย / ca: / - / cha: / “ช้าง”
h แทนด้วย  ในภาษาไทยถิ่นใต้ - ภาษาไทย / ha:n / - / a:n / “งาน”
ภาษาไทพ่าเก กับภาษาไทย (บรรจบ:2526) ไทพ่าเกออกเสียง ฝ. และ ฟ. เป็นเสียง พ. /f – ph/ เช่น เรียกไม้ไผ่ว่า พ่าก และ
ออกเสียง บ. เป็น ม. /b – m/ เช่นเรียกต้นบอนว่า ม่อน ส่วนเสียง ด. ก็ออกเสียง เป็น น. /d – n/
ภาษาไทคำตี่ กับภาษาไทอาหม (Gurdon:1985,อ้างในสุริยา :2548) เกอร์ดอนเล่าว่า ภาษาไทคำตี่ใกล้เคียงกับภาษาไทอาหมมาก ในจำนวนคำภาษาไทอาหมและภาษาไทคำตี่ 32 คำที่เกอร์ดอนนำมาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าเหมือนกันถึง 18 คำ ที่ต่างก็ต่างปะนอย่างเป็นปฏิภาค (correspondence) ทำให้ตั้งกฎเกณฑ์ได้ เช่น ถ้าออกเสียงพยัญชนะต้น บ. ในภาษาไทอาหม จะกลายเป็นเสียงพยัญชนะต้น ม. ในภาษาไทคำตี่ เช่นในคำว่า “บ้าน (หมู่บ้าน)”
ภาษาไทยกับภาษาไทอาหม(บรรจบ:2526) คำที่ภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงเป็น ว. ไทอาหมออกเสียงเป็น บ. ตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาไทย (ว) หวี แหวน หวาย
คำภาษาไทอาหม (บ) บี แบน บาย
ภาษาไทยกับภาษาไทเมา (บรรจบ:2526) คนที่นี่ออกเสียง น. เป็น ล.ทุกคำ เมื่อฟังเขาพูดถึงต้องถ่ายทอดจากเสียง ล.เป็น น. ถึงพอจะเข้าใจได้
คำภาษาไทย (น) เนื้อ น้ำ นิ่ง นั่ง นอน
คำภาษาไทเมา (ล) เล่อ ล่ำ เล่ง ลั่ง ล้อน
ภาษาไทยกับภาษาไทเขิน (บรรจบ:2526) มีเสียงปฏิภาคในกลุ่มเสียงพ่นลม กับเสียงไม่พ่นลม เช่น ดังตัวอย่างคำ
คำภาษาไทย (ท,ป) ทาง ประโยชน์ ประการ
คำภาษาไทเขิน (ต,ผ) ต้าง ผะโหยด ผการ
ภาษามูลัม กับภาษาไทย (สุริยา:2548) คำที่ในภาษาตระกูลไทออกเสียงว่า “ตา” และ “ตาย” นั้น ภาษามูลัมออกเสียงเป็น ma และ pai ตัวอย่างคำเดียวกันนี้ ข้อมูลจาก Liang Min and Zhang Junru (梁敏,张均如:1996) เสียงพยัญชนะต้น ต ในภาษาไทยเป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง /mt/ ในภาษามลาย คือ “ตา” mata กับ “ตาย” matay

ภาษาจ้วงใต้กับภาษาไทย (หลี่ฟู่เซิน:2539)
คำภาษาเต๋อป๋าว (ต) ตอง ตำ ต๋ง ตุ๋ง ต๋าง
คำภาษาไทย (ท) ทุ่ง ทอ ถัง ท้อง ถึง
ภาษาฉาน กับภาษาไทย ภาษาฉานออกเสียง ร เป็น ล ส่วนพยัญชนะต้นเสียง /d/ ในภาษาไทยเป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง / l / ในภาษาฉาน ตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาฉาน (ล) ลุ้ง ลั้ง หลี เหลิน
คำภาษาไทย (ร,ด) รุ้ง รัง ดี เดือน
ภาษาต้ง กับภาษาไทย เสียง /l,j/ ในภาษาต้ง เป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง /d,b/ ในภาษาไทยตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาต้ง (l,j) lai55 jan22
คำภาษาไทย (d,b) ดี บ้าน
ภาษาสุ่ย กับภาษาไทย เสียง /t,p,h,j/ในภาษาสุ่ย เป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง /th,ph,s,k/ ในภาษาไทยตามลำดับ ตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาสุ่ย (t,p,h,j) ta24 pu53 ha:m24 ju31
คำภาษาไทย (th,ph,s,k) ถึง พ่อ สาม กู
ภาษาหลี กับภาษาไทย เสียง/f,v/ ในภาษาหลีเป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง /s/ ในภาษาไทย ตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาหลี (f,v) fu11 fu:t55 va:u53 ve:g’11
คำภาษาไทย (s) สาม สิบ สุด เสื้อ
ภาษาลาเจีย กับภาษาไทย (梁敏,张均如:1996) คำที่ภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงเป็น ภาษาไทยออกเสียงเป็น ต ไทอาหมออกเสียงเป็น ปล ตัวอย่างคำเช่น
คำภาษาลาเจีย (ปล) pla plei plak pluk
คำภาษาไทย (ต) ตา ตาย ตั๊ก(แตน) ตูก

จากการวิเคราะห์ลักษณะการปฏิภาคท้ายตารางที่ 3 ตัวอย่างคำที่มีความสัมพันธ์แบบปฏิภาคในภาษาตระกูลไทต่างๆ มีลักษณะการปฏิภาคแสดงในตารางที่ 4 ต่อไปนี้

ตารางที่ 4 ตัวอย่างลักษณะคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงปฏิภาคในภาษาตระกูลไท
การเปรียบเทียบภาษา ตัวอย่างคำในภาษาตระกูลไทที่พยัญชนะ
ต้นเป็นเสียงปฏิภาค ลักษณะการปฏิภาค
1 2 3 4 5 6
อู๋หมิง - ไทย ร่าว หรื่อ ริว ร้าบ หราม ร้อน หรา
หัว หู หิ้ว หาบ หาม หั่น หา √ √ √ √ √
เต๋อป๋าว - ไทย ตอง ตำ ต๋ง ตุ๋ง ต๋าง
ทุ่ง ทอ ถัง ท้อง ถึง √ √ √ √
อาหม - ไทย ริ้น ร้าย รุก หราบ หร่า หร่อ รอก
หิน หาย หก หาบ ห่า ห่อ หอก √ √ √ √
อีสาน - ไทย ฮัก ฮ้อน เฮือน ฮุ้ง เฮียน
รัก ร้อน เรือน รุ้ง เรียน √
ไทเมา - ไทย เล่อ ล่ำ เล่ง ลั่ง ล้อน
เนื้อ น้ำ นิ่ง นั่ง นอน √ √ √ √
ไทเขิน - ไทย ทาง ประโยชน์ ประการ
ต้าง ผะโหยด ผการ √ √
มู่หล่าว - ไทย ma pai / mata matay
ตา ตาย / ตา ตาย √
คำตี่ - ไทย ฟ้า ม่าน
พ้า บ้าน √
ฉาน - ไทย ลุ้ง ลั้ง หลี เหลิน
รุ้ง รัง ดี เดือน √ √
ต้ง - ไทย lai55 jan22
ดี บ้าน √ √
สุ่ย - ไทย ta24 pu53 ha:m24 ju31 ja:u33
ถึง พ่อ สาม กู เอว √ √ √
หลี - ไทย ba:n53 fu11 fu:t55 va:u53 ve:g’11
เหมือน สาม สิบ สุด เสื้อ √ √ √
ลาเจีย - ไทย pla plei plak pluk
ตา ตาย ตั๊ก(แตน) ตูก √ √

จากการวิเคราะห์ลักษณะปฏิภาคของคำในตัวอย่างภาษาตระกูลไทต่างๆข้างต้นจะเห็นว่า ลักษณะการปฏิภาคที่ทุกภาษามีคือ อย่างน้อยมีการปฏิภาคลักษณะที่ 1 และ 2 ซึ่งหมายถึง มีส่วนที่เหมือนกันทั้งคำและใกล้เคียงกันทั้งคำ มีบางภาษาเท่านั้นที่ไม่มี อาจเป็นเพราะข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ไม่เพียงพอก็เป็นได้ หากมีข้อมูลรายการคำศัพท์มากกว่านี้ อาจตัดสินได้เสียเลยว่า ต้องมีลักษณะการปฏิภาคแท้แบบที่ 1 แต่อย่างไรก็ตาม ในภาษาที่ไม่มีข้อมูลลักษณะปฏิภาคแท้ ก็ยังมีลักษณะปฏิภาคแบบอื่นๆ อันเป็นหลักฐานที่สามารถระบุความสัมพันธ์ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เป็นคำศัพท์ที่มีต้นกำเนิดมาจากพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเดียวกัน เป็นหลักฐานที่นำไปสู่การสรุปว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายเดียวกันได้

บทสรุป
จากข้อมูลการเปรียบเทียบตัวอย่างคำภาษาจ้วงทั้งจ้วงเหนือและจ้วงใต้กับภาษาไทย การเปรียบเทียบภาษาไทยกับภาษาไทอาหม การเปรียบเทียบภาษาไทยกับภาษาไทยถิ่นอีสานและถิ่นเหนือข้างต้นจะสังเกตเห็นว่า เสียงปฏิภาคที่ปรากฏเด่นชัดคือการปฏิภาคระหว่างเสียง /r/ – /h/ – /k/ – /kh/ ซึ่งลักษณะการปฏิภาคแบบนี้ก็พบในภาษาจีนกับภาษาไทยด้วยเช่นกัน
และจากข้อมูลเสียงปฏิภาคอื่นๆ ระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย และภาษาต่างๆในภาษาตระกูลไท พบว่า คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงปฏิภาค มีลักษณะการปฏิภาคเป็นไปในรูปแบบและลักษณะเดียวกัน ที่สำคัญคือ ทุกภาษามีลักษณะการปฏิภาคแท้ คือต่างกันเพียงเสียงพยัญชนะต้นเท่านั้น ส่วนเสียงสระ พยัญชนะท้าย และวรรณยุกต์เหมือนกันทุกประการ
สำหรับความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาจ้วงนั้น หลี่ ฟางกุ้ย (1997) จัดว่า “ภาษาจ้วงเป็นภาษาที่อยู่ในแขนงภาษาจ้วง-ไต สาขาภาษาจ้วงต้ง ตระกูล ภาษาจีน-ธิเบต” โดยที่ในตระกูลภาษาจีนธิเบต แบ่งเป็น 4 สาขาคือ สาขาภาษาจีน สาขาภาษาธิเบตพม่า สาขาภาษาเย้า และสาขาภาษาจ้วงต้ง ในสาขาภาษาจ้วงต้งแบ่งเป็น 3 แขนงคือ แขนงภาษาจ้วงไต (ประกอบด้วยภาษาจ้วง ภาษาปู้อี ภาษาไต ภาษาไทย ภาษาลาวเป็นต้น) แขนงภาษาต้งสุ่ย (ประกอบด้วยภาษาต้ง ภาษาสุ่ย ภาษามูหล่าว ภาษาเหมาหนาน ภาษาลาเจีย ภาษาหยางกวาง ภาษาโม่วเป็นต้น) และแขนงภาษาหลี (ประกอบด้วยภาษาหลี)
สามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไทยกับภาษาจีนดังแผนภูมิต่อไปนี้

แผนภูมิภาษาตระกูลจีนธิเบต : ดัดแปลงจาก LiFanggui (1997)

สาขาภาษาจีน (สาขาภาษาจีน - ไทย)
ภาษาตระกูลจีนธิเบต สาขาภาษาธิเบตพม่า ภาษาไต
สาขาภาษาเย้า แขนงภาษาจ้วงไต ภาษาไทย
สาขาภาษาจ้วงต้ง แขนงภาษาต้งสุ่ย ภาษาลาว
แขนงภาษาหลี

หากนับตามความสัมพันธ์ฉันญาติ นั่นก็หมายความว่า ภาษาไทยเป็นลูกของภาษาจ้วงเป็นหลานของภาษาจีน ทำให้พบคำศัพท์ร่วมเชื้อสายหลงเหลือให้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้
และข้อมูลความสัมพันธ์แบบเสียงปฏิภาคระหว่างภาษาไทยกับภาษาจีน ทั้งเสียง /r/ – /h/ – /k/ – /kh/ และเสียงอื่น ๆ อีกหลายคู่ เป็นจุดน่าสงสัยว่า ภาษาไทยน่าจะมีความใกล้ชิดกับภาษาจีนเหมือนอย่างที่ภาษาจ้วงใกล้ชิดกับภาษาจีน นั่นคือ เป็นลูกของจีน – ทิเบต ร่วมท้องเดียวกันกับภาษาจ้วง นำไปสู่การสนับสนุนแนวคิด “สาขาภาษาจีน – ไทย” (ข้อความที่แรเงาในแผนภูมิภาษาข้างต้น) ที่แน่นหนายิ่งขึ้น


เชิงอรรถ

บรรณานุกรม
จิตร ภูมิศักดิ์.(2519) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1,
กรุงเทพฯ:โครงการตำราสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ.(2541) พจนานุกรมจีน-ไทย.กรุงเทพฯ:รวมสาส์น.
บรรจบ พันธุเมธา.(2526) กาเลหม่านไตในรัฐชานและคำตี่เมืองขาง. คณะอนุกรรมการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทยในคณะกรรมการ
เอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.(2547) ไทยสิบสองปันนาเล่ม 1 .พิมพ์ครั้งที่ 3 ,กรุงเทพฯ:ศยาม.
ปราณี กุละวณิชย์.(2535) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปราณี กุละวณิชย์และคณะ.(2527) ศัพท์ไท 6 ภาษา. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เมชฌ สอดส่องกฤษ (2550) ชนกลุ่มน้อยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน. อุบลราชธานี : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย
อุบลราชธานี, เอกสารอัดสำเนาเย็บเล่ม.
ลัดดาวัลย์ ชัยสกุลสุรินทร์(2538) ภูมิศาสตร์ภาษาจังหวัดลพบุรี : การศึกษาคำศัพท์และเสียงปฏิภาค ชุด ช-จ-ซ. วิทยานิพนธ์
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาภาษาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531)ภาษาถิ่นตระกูลไทย. พิมพ์ครั้งที่2, กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
วิไลศักดิ์ กิ่งคำ.(2551) ภาษาไทยถิ่น.พิมพ์ครั้งที่ 3,กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
หลี่ฟู่เซินและคณะ เขียน,เหลียงหยวนหลิง แปล (2539)ชาวจ้วง.กรุงเทพฯ:สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์.
สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ. (2550) การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ. เชียงใหม่ :งานวิจัยภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุริยา รัตนกุล.(2548) นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท. กรุงเทพฯ:สหธรรมิก.
สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ.(2528) เสียงปฏิภาคระหว่างภาษาไตเมา ไตคำตี่และลานนา. วารสารภาษาและวัฒนธรรม 5, 2 (กรกฎาคม –
ธันวาคม) : 27-49.
Benedict Paul K.(1942)Thai, Kadai and Indonesian: A new alignment in Southeastern Asia, American Anthropologist 44:576-
601.
-----------------. (1975) Austro-Thai: Language and culture. New Haven: HRAF Press.
Brown, J. Marvin (1965) From Ancient Thai to Modern Dialects. In From Ancient Thai to Modern Dialects, and Other Writings
on Historical Thai Linguistics, Bangkok : White Lotus.
Chamberlain,James R. (1972) ‘The Origin of The Southwestern Tai’ in Bullentin des Amis du Royaume Laos,7-8:233 – 44
Vientiane
David Crytal. (1997) A Dictionary of Linguistics And Phonetics. Malden: Blackwell, p. 96.
Diffloth, Gérard.( 1974) Austro-Asiatic Languages. Encyclopaedia Britannica. 480-484.
Dodd,William C.(1923) The Tai Race-Elder Brother of Chinese.Cedar Rapids,Iowa,The Torch Press.
Edmondson, J.A. and D.B. Solnit eds. (1997) Comparative Kadai: the Tai branch. Dallas: Summer Institute of Linguistics and
the University of Texas at Arlington.
Frank M.Lebar. (1964) Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven,Conn: HumanRelations Area Files.
Gedney,William J. (1972) ‘A checklist for determining tones in Tai dialects’ , in Studies in Linguistics in honor of Georg L.
Trager. The Haug.Mouton.
Gurdon, Philip Richard Thornhagh, (1895), “On the Khamtis”, Journal of the Royal Asiatic Society, London, pp.157-64.
Grierson,G.A. (1903 - 28) Linguistics survey of India,11vols.Culcutta,Office of the Superementendent of Government
Printing.
Hartman, John F. (1986) ‘Style, Scope, and Rigor in Comparative Tai Research’ in Bickner, Robert J, Thomas J. hudak
and Pacharin Peyasantiwong (eds.)
Li, Fang-Kuei, (1957a), “The Jui dialect of Po-ai and the northern Tai”, Academia Sinica/Bulletin of the Institute of History
and Philology, Taipei, volume 29.1: pp.315-22.
----------------------, (1957b), “The Jui dialect of Po-ai: phonology”, Academia Sinica/Bulletin of the Institute of History and
Philology, Taipei, volume 28.2: pp.551-6.
----------------------, (1959), “Classification by vocabulary: Tai dialects” Anthropological Linguistics, volume 1.2: pp.15-21.
----------------------, (1960), “A tentative classification of Tai dialects”, in Stanley Diamond (editor), Culture in history: essays in
honor of Paul Radin, New York, Columbia U. Press: pp.951-8.
----------------------, (1965), “The Tai and Kam-Sui languages”, in Indo-Pacific linguistic studies (Lingua 14-15), vol.i,: pp.148-79.
----------------------, (1976), “Sino-Tai” in Computational Analyses of Asian & African Languages, No.3, Mantaro J. Hashimoto
(editor), March: pp.39-48.
----------------------, (1977), A handbook of comparative Tai (Oceanic Linguistics special publication no.15), Honolulu, University
Press of Hawaii, xxii, p.389.
Manomaivibool Prapin.(1975) A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence, PhD Dissertation, University Of Washington.
Robinson, Edward Raymond III.(1994) Further classification of Southwestern Tai "P" group languages. Thesis (M.A.)
Chulalongkorn University.
Somsong Burusphat.(2006) Northern Zhuang Chinese Thai English Dictionary. Bangkok :Ekphimthai Ltd.
Wilailuck Daecha. (1986) A Comparative study of the phonology of six Tai dialects spoken in Amphoe Tha Tako,
Changwat Nakhon Sawan. Thesis (M.A.) Chulalongkorn University.
龚群虎.(2002) 《汉泰关系词的时间层次》上海:复旦大学出版社。
郭锡良.(1986) 《汉字古音手册》北京:北京大学出版社。
梁敏,张均如.(1996) 《侗台语族概论》北京:社会科学出版社。

สื่อสารสนเทศ
Dong Language 侗语 ในเว็ปไซต์ Baidu Baike http://baike.baidu.com/view/928668.htm (เมื่อ 22 กันยายน 2552)
Sui Language 水语ในเว็ปไซต์ Baidu Baike http://baike.baidu.com/view/533858.htm (เมื่อ 22 กันยายน2552)
Li Language 黎语ในเว็ปไซต์ Baidu Baike http://baike.baidu.com/view/533862.htm (เมื่อ 22 กันยายน2552)

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณบทความมีประโยชน์แบบนี้ของอาจารย์มากค่ะ หนูกำลังเรียนป.โท ภาษาศาสตร์ที่ ม.เกษตรพอดี และหนูก็เคยเรียนภาษาจีนเมื่อตอน ป.ตรีมา เลยสนใจด้านนี้เป็นพิเศษ บทความของอาจารย์ช่วยเสริมความรู้หนูได้มากเลยค่ะ :)

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ ขอให้มีความสุขกับการเรียนและการทำงานทางภาษาศาสตร์นะครับ

    ตอบลบ