วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

สถานภาพการศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของไทย
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นประเด็นหนึ่งที่นักวิชาการให้ความสนใจ เพราะสามารถสืบสาวถึงประวัติศาสตร์ได้หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และภาษา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และภาษาตระกูลไทในปัจจุบัน มุ่งประเด็นไปที่ชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน ดังปรากฏผลงานวิจัยที่ประจักษ์ แต่ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยของประเทศจีนที่สามารถอ้างอิงได้ นักวิชาการส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ภาษาจีน กระทำได้ทางเดียวคือพึ่งข้อมูลที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งบางครั้งข้อมูลผิดพลาด ส่งผลให้ผลการวิจัยคลาดเคลื่อน บทความนี้นำเสนอเกี่ยวกับการศึกษาประเด็นชนกลุ่มน้อยของจีนในประเทศไทยสามประการคือ ข้อมูลทั่วไปและนโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน เหตุผลที่วงวิชาการไทยสมควรเร่งพัฒนาฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน และสถานภาพการศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยของจีนประเทศไทย

泰国的中国少数民族研究状况

摘要:
湄公河流域国家的民族专题是学者的一个重点研究对象。因可以追述到其他相关的知识,尤其是民族历史及语言。相关的研究成果表明,目前泰国历史以及台语(Tai language)史研究对中国少数民族给以程度的重视关注,但泰国则仍然缺乏可参考的资料。泰国非汉语学者唯一可依靠英文专著的资料,而其专著确实有些不明之处,导致研究成果无法避免的残缺误解。本文讨论关于泰国对中国少数民族研究状况的三个问题:即中国少数民族及其相关概况、泰国学者应立即为中国少数民族资料建挡的缘故、泰国目前的中国少数民族研究状况。
关键词:少数民族 、中国少数民族、民族学、中国学研究

The status of studying Chinese ethnic minorities in Thailand.
Abstract

Investigating the ethnic minorities in Mekong river area countries has been interested by researchers because it can link to other notable issues, especially the issues of history of ethnic groups and languages. Historians studying history of the Tai ethnic minority and the Tai family languages usually explore the ethnic minorities in China. For Thai historians, there is still none of data base about Chinese ethnic minorities that can be firm reference. Most of the researchers who are unable to understand Chinese language usually count on English language data which, sometimes, contains errors, causing incorrect results in their study. This article presents three issues related to Chinese ethnic minorities which are largely examined in Thailand, namely 1) general information and policies about ethnic minorities in China, 2) the rationale for developing data base of Chinese ethnic minorities in Thai academic system and 3) the status of studying Chinese ethnic minorities in Thailand.
Key words: ethnic minorities, Chinese ethnic minorities, ethnic group, Chinese Study


บทนำ
ในบริเวณประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อันได้แก่จีน พม่า เวียดนาม ลาว ไทย และกัมพูชา มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอารยธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรมและภาษาแตกต่างกันเป็นจำนวนมาก นักปราชญ์ตะวันตก Gorge Condominas and Richard Pottier (1982) กล่าวว่า บริเวณเอเชียอาคเนย์ส่วนที่เป็นภาคพื้นดิน เป็นบริเวณที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นที่มีมนุษย์ต่างชาติพันธุ์และต่างภาษารวมกันอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดและปะปนกันอย่างซับซ้อนที่สุด (อ้างใน สุริยา :2531) กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ถือกำเนิด ตั้งรกราก อพยพย้ายถิ่นฐาน และอยู่อาศัยกระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณประเทศลุ่มน้ำโขงมาตั้งแต่ยังไม่มีการแบ่งอาณาเขตเป็นประเทศต่างๆอย่างในปัจจุบัน บางกลุ่มมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่าชนที่เป็นเจ้าของประเทศในปัจจุบันเสียอีก บางกลุ่มถูกกลืนกลายไปกับชนกลุ่มอื่นกระทั่งสูญหายไป บางกลุ่มอาศัยปะปนกับชนเผ่าต่างๆ เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์และหลอมรวมกันวิวัฒนาการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ขึ้น บางกลุ่มแบ่งแยกอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น จนต่อมามีอำนาจครอบครองและก่อตั้งอาณาเขตประเทศและรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน บางกลุ่มก็มีถิ่นกำเนิดและตั้งถิ่นฐานอาศัยติดแผ่นดินในบริเวณเดิมมาแต่อดีต ต่อมามีกำลังเข้มแข็ง มีอำนาจครอบครองชนเผ่าอื่นจนรวบรวมเข้าเป็นประเทศเป็นต้น นอกจากนี้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มิได้มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงและติดต่อสัมพันธ์กันมาโดยตลอด ทั้งที่อยู่ในฐานะผู้ถูกครอบครองและเป็นผู้ครอบครอง หรือมีความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระต่อกัน แต่มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับชนชาติใดใดในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องศึกษาต้นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอารยธรรมเกี่ยวเนื่องกันมาแต่โบราณอย่างขาดเสียมิได้

ข้อมูลทั่วไปและนโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล มีเนื้อที่ 9,596,960 ตารางกิโลเมตร หรือเปรียบเทียบอย่างคร่าวๆ คือมีอาณาเขตเท่ากับ 22 เท่าของประเทศไทยโดยประมาณ จากการสำรวจจำนวนประชากรเมื่อปี 2006 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,313,973,713 คน ด้วยอาณาบริเวณที่ครอบคลุมพื้นอันกว้างใหญ่นี้เอง ทำให้ประเทศจีนรวบรวมเอาประชากรที่ต่างชาติพันธุ์ไว้มากมายถึง 56 ชนเผ่าอยู่ด้วยกัน รัฐบาลจีนแบ่งกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆโดยใช้เกณฑ์เรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมา การสืบเชื้อสาย ประเพณีวัฒนธรรม ถิ่นที่อยู่ ศาสนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามความเห็นชอบของกลุ่มชาติพันธุ์เอง กำหนดกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศออกเป็น 56 กลุ่ม จากการสำรวจจำนวนประชากรจีนในปี 1996 พบว่าประเทศจีนมีชาวฮั่น 96.3% และ 4.7% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น (Zhang Tianlu:2004) รัฐบาลจีนจึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่นอกเหนือจากชาวฮั่นว่า “ชนกลุ่มน้อย”










ภาพจาก http://www.wenbao.net/html/whyichan/nation/images/china2.jpg

จากแผนที่จะเห็นว่า ชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนกระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วทั้งประเทศ บริเวณที่มีจุดแสดงคือที่ตั้งของชุมชนกลุ่มน้อย สามารถแบ่งตามภูมิภาคของประเทศจีนดังนี้
1. ทางตอนใต้และตะวันออกรวมเกาะไต้หวัน มีทั้งหมด 31 ชนเผ่า ได้แก่เผ่า (1) อาชัง (2) เผ่าไป๋ (3) เผ่าปลัง (4) เผ่าปูยี (5) เผ่าไต (6) เผ่าเต๋ออัง (7) เผ่าตรุง (8) เผ่าฮานี (9) เผ่าหุย (10)เผ่าจิ่งโป (11)เผ่าจีโน (12)เผ่าลาหู่ (13)เผ่าหม่าน (14) เผ่าแม้ว (15) เผ่ามนปา (16)เผ่าน่าซี (17)เผ่านู่ (18)เผ่าสุย (19)เผ่าเซอ (20)เผ่าว้า (21)เผ่าเย้า (22)เผ่าอี๋ (23)เผ่าจ้วง (24)เผ่าพูมี (25)เผ่าลี่ซู (26)เผ่าหลี (27) เผ่าจิง (28)เผ่าต้ง (29)เผ่าเหมาหนาน (30)ถู่เจีย (31)เผ่าเกาซาน (มีถิ่นที่อยู่ที่เกาะไต้หวันแห่งเดียว)
2. ทางตอนกลางทั้งหมด 7 เผ่าได้แก่ (32) เผ่าตงเซียง (33)เผ่าเป่าอัน (34)เผ่าเชียง (35) เผ่ายวี่กู่ (36) เผ่าโลห์ปา (37)เผ่ายีลาว (38) เผ่าถู่
3.ทางตอนเหนือของประเทศ ทั้งหมด 7 เผ่า ได้แก่ (39) เผ่าเฮอเจิน (34)เผ่าตะอูร์ (41)เผ่าโอโรเคว็น (42)เผ่าเฉาเสี่ยน (43) เผ่าเอเวนกิ (44)เผ่ามองโกล (45)เผ่าหม่าน
4. ทางตะวันตกของประเทศ ทั้งหมด 10 เผ่า ได้แก่ (46)เผ่าธิเบต (47)เผ่าซาลาร์ (48)เผ่าทาร์จิค (49)เผ่าซีโป๋ (50)เผ่าทาทาร์ (51)เผ่าคาซัค (52)เผ่าอุสเบค (53)เผ่ารัสเซีย (54)เผ่าเวยอูร์ (55)เผ่าคัลคัส

นอกเหนือจากชาวฮั่นแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนมีชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ 55 ชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยแต่ละชนเผ่ามีขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ การดำรงชีวิต การแต่งกายและที่สำคัญมีภาษาเป็นของตนเองแตกต่างกันไป ชนเผ่าบางกลุ่มกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศจีน แต่บางชนเผ่ารวมตัวกันอยู่บริเวณหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าที่มีเครือญาติตั้งถิ่นฐานอยู่ทั้งในประเทศจีนและไทยเป็นจำนวนไม่น้อย ชนเผ่าต่างๆ บ้างเป็นผู้คนที่อยู่ติดดินแดนมาช้านาน บ้างอพยพเข้ามาภายหลัง หรือเป็นชนเผ่าที่เป็นชาติพันธุ์ของประเทศใกล้เคียงอพยพถ่ายเทไปมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวนประชากรของแต่ละชนเผ่ามีมากน้อยแตกต่างกันไป ชนเผ่าบางเผ่าเคยมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์จีน กระทั่งเคยเรืองอำนาจครอบครองประเทศ ด้วยนโยบายชนกลุ่มน้อยที่ได้ผลของรัฐบาลจีน ชนกลุ่มน้อยทั้ง 55 เผ่า ดำรงและสืบทอดความเป็นชนเผ่าของตน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ในอดีตก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ปัญหาความวุ่นวาย ปัญหาการต่อต้านรัฐบาล ปัญหาการก่อความไม่สงบของชนกลุ่มน้อยในประเทศถือเป็นปัญหาใหญ่หลวงอย่างหนึ่ง ที่ไม่อาจละเลยหรือมองข้ามได้ เมื่อก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนสำเร็จ เพื่อความมั่นคงและเป็นปึกแผ่นของประเทศ ตลอดจนเพื่อควบคุมดูแลชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่มากมายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ประเทศจีนมีนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นให้ชนกลุ่มน้อยในประเทศรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศจีน นโยบายที่รัฐบาลจีนปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศได้แก่
1.สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาคของทุกชนเผ่า
2. กำหนดให้มีเขตการปกครองตนเองของแต่ละชนเผ่า
3. พัฒนาเศรษฐกิจ อาชีพ และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย
4.พัฒนาให้ชนกลุ่มน้อยมีส่วนร่วมทางการเมือง
5.พัฒนาให้ชนกลุ่มน้อยมีความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย
6. สนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีภาษาอักษรเป็นของตนเอง
7. ให้ความเคารพประเพณีวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย
8. ให้ความเคารพต่อศาสนา ความเชื่อและอิสรภาพของชนกลุ่มน้อย
จากการดำเนินนโยบายที่รัฐบาลจีนมีต่อชนกลุ่มน้อยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับดี ประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายชนเผ่าสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี และร่วมกันพัฒนาประเทศได้อย่างสันติสุข ชาติพันธุ์ทั้ง 56 กลุ่มของประเทศมีความเสมอภาค สามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ ที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความพัฒนาที่ยั่งยืน

เหตุใดวงวิชาการไทยจึงสมควรเร่งพัฒนาฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับขนกลุ่มน้อยในประเทศจีน
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มณฑลยูนนาน (Yunnan) ซึ่งเป็นบริเวณรอยต่อของประเทศจีนกับหลายประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การกำหนดสมาชิกประเทศลุ่มน้ำโขงในส่วนของประเทศจีนนั้น จึงมักจะนับเอาเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะในส่วนของมณฑลยูนนานเท่านั้น บริเวณนี้จึงนับได้ว่าเป็นต้นสายอารยธรรมสายน้ำโขง ชนกลุ่มน้อยในบริเวณดังกล่าวนี้มีมากถึง 25 ชนเผ่า ที่สำคัญชนกลุ่มน้อยเหล่านี้มีหลายกลุ่มเป็นชนเผ่าเดียวกันกับที่มีอยู่ในประเทศต่างๆในประเทศลุ่มน้ำโขง รวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่น เผ่าแม้ว เผ่าว้า เผ่าลาหู่ เผ่าตรุง เผ่าปลัง เผ่าลีซู เผ่าฮานีเป็นต้น ในช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ก่อนปี 1949) ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ถูกกดขี่ข่มเหง ทารุณกรรม และขูดรีดอย่างแสนสาหัสจากชนชั้นศักดินาที่เป็นชาวฮั่นและชนเผ่าที่มีอำนาจเหนือกว่า เป็นเหตุให้ส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นถอยร่นลงมาตั้งถิ่นฐานตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศลุ่มน้ำโขง และเนื่องจากชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามามีฐานะยากจน จึงตกเป็นเครื่องมือของนายทุน ในการเป็นแหล่งปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติด อันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศลุ่มน้ำโขงและทั่วโลก ส่งผลร้ายต่อความมั่นคงของประเทศอย่างหนัก อันเป็นที่ทราบกันดีในยุคอดีตที่ผ่านมา
เรื่องราวของการถอยร่นลงใต้ของชนกลุ่มน้อยในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้นั้น ด้วยเหตุที่คนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ยังคงมีชีวิตอยู่ จึงสามารถสืบสาวถึงต้นกำเนิดของชาติพันธุ์ได้ไม่ยาก แต่หากนับย้อนขึ้นไปในอดีตตั้งแต่สมัยบุพกาล ผู้คนเหล่านี้อพยพย้ายถิ่น อาศัยเร่ร่อน ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้างครอบคลุมดินแดนประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงทั่วบริเวณ เมื่อพบแหล่งทำเลที่เหมาะสมก็ตั้งหลักปักฐานขยายเผ่าพันธุ์ พัฒนาอาณาเขตของตนขึ้นมา จนปัจจุบันไม่มีหลักฐานที่จะสืบค้นได้เลยว่าต้นกำเนิดของตนมาจากที่ใด ยกตัวอย่างการสืบสาวถึงที่มาของต้นตระกูลไทยที่มีอย่างน้อย 3 ทฤษฎีที่เชื่อว่า บรรพบุรุษของคนไทยอพยพมาจากดินแดนที่เป็นประเทศจีนปัจจุบัน (นวลจันทร์:2537) คือ คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต (แต่ปัจจุบันไม่นิยมตามทฤษฎีนี้แล้วเนื่องจากบริเวณดังกล่าวอากาศหนาวเย็นมากไม่เหมาะกับการดำรงชีพ) คนไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อพยพมาจากบริเวณมณฑลซื่อชวน(เสฉวน) และคนไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อพยพมาจากบริเวณมณฑลกว่างซี นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ว่า มีชนเผ่าที่เป็นบรรพบุรุษของคนไทยมีต้นกำเนิดและปัจจุบันก็ยังอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศจีนในปัจจุบันอยู่ เช่น ชาวจ้วง (ปราณี:2535) ชาวไตในสิบสองปันนา (หลี่ฟังกุ้ย :1959) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสืบค้นต้นกำเนิดบรรพบุรุษไทยด้วยวิธีต่างๆ ที่สำคัญคือเรื่องการใช้ภาษาเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างงานรวบรวมศัพท์ไท 6 ภาษา ของ ปราณี กุลวนิชย์ (2535) ได้รวบรวมเปรียบเทียบคำไท ที่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยกับภาษาของชนกลุ่มน้อยในจีน 6 ภาษาได้แก่ ภาษาไทย ภาษาลื้อ ภาษาเต๋อหง (ชนกลุ่มน้อยเผ่าไต) ภาษาต้ง (ชนกลุ่มน้อยเผ่าต้ง) ภาษาสุย (ชนกลุ่มน้อยเผ่าสุย) และภาษาหลี (ชนกลุ่มน้อยเผ่าหลี) นี่เป็นข้อยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าในการศึกษาถึงต้นกำเนิดของชาติพันธุ์ในประเทศลุ่มน้ำโขงนั้น นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนมาก ผลของการวิจัยครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่ากลุ่มชนในประเทศลุ่มน้ำโขงรวมทั้งประเทศไทย ต่างมีความสัมพันธ์หรือกระทั่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศจีน อันเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่าเหตุใดประเทศไทยจึงควรมีการศึกษาเพื่อเติมเต็มคลังข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนที่สมบูรณ์เสียที

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากยังมีผู้รู้ภาษาจีนน้อย หนทางเดียวที่นักวิชาการชาวไทยส่วนใหญ่จะกระทำได้คือ การพึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาหรือการบันทึกของชาวตะวันตก แต่หลังจากที่มีการศึกษาค้นคว้าและมีผู้รู้ภาษาจีนมากขึ้น กลับพบว่าข้อมูลต่างๆที่ได้นั้น มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่น้อย นำไปสู่การสรุปผลการวิจัยที่ไม่ถูกต้อง จะเห็นว่าหลังจากประเทศจีนเปิดประเทศแล้ว นานาประเทศสนใจศึกษาขุมคลังความรู้ที่ซ่อนตัวอยู่ในม่านไม้ไผ่กันอย่างกว้างขวาง แต่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มหันมาสนใจศึกษา และให้ความสำคัญในการศึกษาองค์ความรู้ด้านจีนศึกษาในระยะ 5- 10 ปีมานี้เอง แต่ปัญหาใหญ่ของการศึกษาความรู้ด้านจีนศึกษาก็คือภาษาจีนนั่นเอง นักวิชาการไทยที่นอกเหนือจากนักวิชาการด้านภาษาจีนแล้ว มีไม่มากนักที่จะสามารถใช้ความรู้ภาษาจีนเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัยและสืบค้นข้อมูล ดังนั้นข้อความรู้ที่เกี่ยวกับจีนศึกษาไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปะ วรรณคดี ประเพณี วัฒนธรรม ปรัชญา ศาสนา เชื้อชาติเป็นต้น หรือแม้กระทั่งภาษาจีนเองก็ยังมีไม่มากเช่นกัน ในขณะที่ความต้องการศึกษามีมากขึ้นทุกขณะ นักวิชาการชาวไทยที่มีความรู้ภาษาจีน ต่างทุ่มเทความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนเป็นภาษาไทยเพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ด้านจีนศึกษาให้กับวงการศึกษาของไทยอย่างไม่ลดละ

สถานภาพการศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยของจีนประเทศไทย
คลังข้อมูลด้านชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน (รวมถึงชนกลุ่มน้อยในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศจีน) ทั้งจากผู้เขียนชาวไทยและชาวต่างประเทศมีความหลากหลาย ที่เขียนเป็นภาษา อังกฤษ เช่น Marilyn Gregerson (1980) Notes From Indochina on ethnic minority cultures เป็นการรวบรวมบทความในหัวข้อชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม Abadie, Maurice (2001) Minorities of the Sino-Vietnamese Borderland : with special reference to Thai Tribes บรรยายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในชายแดนจีน-เวียดนาม โดยเฉพาะชนเผ่าไท เสนอสรุปความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณนาของชนเผ่าที่อยู่ในทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามและในมณฑลยูนนานของจีน Dodd, W.C. (1996) The Tai Race: Elder Brother of the Chinese เป็นการสำรวจของผู้เขียนในจีนใต้ ลาว และเวียดนามเหนือ เป็นการสำรวจแบบชาติพันธุ์วิทยา ในหนังสือกล่าวเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ลักษณะนิสัย ประเพณี ทางภาษาของชนกลุ่มน้อยที่มีความหลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจในประวัติศาสตร์ของคนที่พูดภาษาไต Ma Yin (1989) China's Minority Nationalities เป็นข้อมูลกายภาพของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนซึ่งสำรวจโดยนักวิทยาศาสตร์สังคมของจีนพบว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยเป็นจำนวนมาก การสำรวจดังกล่าวได้มีการรวบรวมและจัดระบบเบื้องต้นเพื่อนำเสนอแก่ผู้อ่านในด้านประชากร การกระจายตัวของประชากร สายตระกูล ภูมิศาสตร์ ภาษา พิธีกรรมทางศาสนา ประเพณีในวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมของชนกลุ่มน้อย Schliesinger, Joachim .(1998) Hill Tribes of Vietnam ความเป็นมาของชาวเขาเผ่าต่างๆเกี่ยวข้องกับประเพณีและนิสัยของ ๕๐ ชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนภูเขาในเวียดนาม ในเล่มนี้จะอธิบายประวัติศาสตร์ เครื่องแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ ลักษณะของบ้านเรือนและหมู่บ้าน กิจกรรมด้านการเกษตรและเศรษฐกิจ สังคมและการปฏิบัติศาสนกิจของแต่ละชนเผ่า ประเพณีที่หลากหลายของชนเผ่าต่างๆ

ส่วนที่เขียนเป็นภาษาจีน เช่น Zhao Zhen and others (2006) เรื่องศิลปะ วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เทศกาลสำคัญของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน ทั้ง 55 กลุ่ม นอกจากนี้ข้อมูลในรูปแบบเว็ปไซต์ภาษาจีนเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนมีมากมาย ทั้งที่เป็นรวมกลุ่มทั้งประเทศ หรือแบ่งแยกเฉพาะพื้นที่ เฉพาะกลุ่ม ทำให้การสืบค้นข้อมูลสะดวกมาก นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยที่แยกเฉพาะกลุ่มอีกเป็นจำนวนมาก เช่น Weng Jialie หนังสือชื่อ เผ่าเกอลาว Feng Zutai การวิจัยเผ่าต้ง Chen Yunfang หนังสือชื่อ เผ่าซาลาร์ Han Junguang หนังสือชื่อ เผ่าเฉาเสี่ยน Hu Youming หนังสือชื่อ วัฒนธรรมไต้หวัน สำนักพิมพ์มณฑลยูนนาน หนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์ชนเผ่าไต Ma Shiwen หนังสือชื่อ ประวัติวัฒนธรรมมองโกล สำนักพิมพ์กานซู่ หนังสือชื่อ สังเขปประวัติเผ่ายวี่กู่ Sun Wenliang หนังสือชื่อ สารานุกรมชนเผ่าแมนจู เป็นต้น
ส่วนที่เขียนเป็นภาษาไทย ในปัจจุบันยังมีอยู่น้อยเหลือเกิน และไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านัก เรียกได้ว่ายังขาดแคลนขั้นวิกฤติก็ว่าได้ ข้อมูลที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนที่เขียนเป็นภาษาไทยเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันปรากฏในหลายรูปแบบ ดังนี้
(1) เกิดจากการรวบรวมและจดบันทึกอย่างคร่าวๆ ของนักสำรวจ เช่น ชูเกียรติ (2541) เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน ถิ่นที่อยู่และจำนวนประชากร แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดเลย วุฐิศานติ์ (2549) เรื่อง จากธิเบตถึงทะเลจีนใต้ 26 นักเขียนกับเรื่องเล่าถึงแม่น้ำโขง เป็นหนังสือที่มีการดำเนินเรื่องราวหลักอยู่ที่เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำโขง มีการกล่าวถึงเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยบ้าง แต่ไม่ละเอียดชัดเจนมากนัก
(2) เป็นข้อมูลข้างเคียงที่เกิดจากการวิจัยสาขาอื่น เช่น ปราณี(2535) เรื่องคำไท 6 ภาษา เป็นการเปรียบเทียบคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยกับภาษาลื้อ ภาษาเต๋อหง ภาษาสุย ภาษาต้ง และภาษาหลี ซึ่งภาษาดังกล่าวเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนทั้งสิ้น ศรีศักรและปราณี (2536) เรื่อง จ้วง : พี่น้องเผ่าไทยเก่าแก่ที่สุด เป็นการศึกษาค้นคว้าเรื่องชนชาติไทยโดยเสนอว่า จ้วง เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนที่พูดภาษาไทย นับเป็นพี่น้องเผ่าไทยกลุ่มใหญ่สุดที่อยู่นอกดินแดนประเทศไทยและเป็นผู้สืบสานอารยธรรมดึกดำบรรพ์มานานกว่า 2,000 ปี สุริยา (2537) เรื่อง นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ ภาคที่ 1 กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ รวมถึงภาษาของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนด้วย นภ (2549) เรื่อง วัฒนธรรมการบูชาโทเท็มของชนกลุ่มน้อยในจีน มีภาคผนวกที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับรายชื่อชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนเทียบภาษาจีน ภาษาโรมัน และภาษาไทย
(3) เป็นข้อมูลชนกลุ่มน้อยในจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย หรือการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่มีความเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน เช่น สมลักษณ์ (2537) เรื่อง ย่ำสิบสองปันนา...ตามหาญาติ เป็นเรื่องราวถิ่นกำเนิดของคนไทย โดยการเดินทางย้อนแม่น้ำโขงที่มีกระแสทวนที่เชี่ยวมากขึ้นสู่ “นครเชียงรุ้ง” ดินแดนแห่งอดีตน่านเจ้า เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นญาติเผ่าไทย สมใจและวีรพงศ์ (2514) เรื่อง สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทยลื้อ กล่าวถึงไทยลื้อซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของจีน มีวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับคนไทยทางภาคเหนือเป็นอย่างมาก สามารถสะท้อนถึงประวัติความเป็นมาและความเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยลื้ออย่างชัดเจน ณัฏฐวี และ วีระพงศ์(2540) เรื่อง สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : เมี่ยน (เย้า) ชาวเย้าหรือเหยาเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของจีน และมีบางส่วนอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ผู้เขียนได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนชาวเมี่ยน และได้ค้นคว้าทางเอกสารเกี่ยวกับชีวิตของชาวเมี่ยนเพื่อให้ข้อมูลสมบูรณ์สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เรารู้จัก และเข้าใจวิถีชีวิตและโลกทัศน์ของชาวเมี่ยน (เย้า) มากยิ่งขึ้น โสฬส(2539) เรื่องสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาฮู เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาวลาฮูซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยปกครองตนเองในการปกครองของจีน แต่เมื่อจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบจักรพรรดิ โครงสร้างการปกครองของลาฮูจึงเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดกบฏและถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จึงได้อพยพหาถิ่นทำกินแห่งใหม่ ส่งผลให้ชาวลาฮูต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในพม่าเรื่อยมาจนถึงไทย ลักขณา (2539) เรื่อง สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ลีซอ ชาวลีซอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนานและอพยพเรื่อยมาจนถึงทางตอนเหนือของไทย พูดภาษากลุ่มเดียวกันกับภาษามูเซอและอาข่านั่นคือภาษาจีน-ทิเบต กลุ่มพม่า-โลโล
(4) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนเพียงบางส่วน เช่น หลี่ ฟู่เชิน (2539) เรื่องชาวจ้วง เป็นหนังสือที่เกิดจากการศึกษาเรื่องชนชาติไท ชาวจ้วงเป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลกว่างซี ของประเทศจีนที่พูดภาษาดั้งเดิมคล้ายกับภาษาไทย โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับชนชาวจ้วงในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การตั้งถิ่นฐาน ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา เป็นต้น สุมิตร (2538) เรื่อง การศึกษาชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนตอนใต้ เป็นการศึกษาและให้รายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ประเพณี วัฒนธรรม การตั้งถิ่นฐาน ศาสนา การปกครองของชนกลุ่มน้อยที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีนตอนใต้

ข้างต้นจะเห็นว่า ข้อมูลด้านชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนที่เป็นภาษาไทยยังมีอยู่น้อยมาก ในขณะที่ความต้องการ และความจำเป็นของข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวมีมาก ในปัจจุบัน หากต้องการศึกษาเรื่องราวต่างๆที่มีความเกี่ยวเนื่องกับชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน รวมถึงชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยที่อพยพมาจากประเทศจีน เนื่องจากคลังข้อมูลเหล่านี้ในประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่ ส่วนทีมีอยู่ก็ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นนักวิจัยต้องเสียเวลาเริ่มศึกษากันตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานเรื่องชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนเลยทีเดียว แต่ก็คงทำได้เพียงศึกษาเฉพาะกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของตนเท่านั้น มิอาจศึกษาในภาพรวมได้ เราจึงมักพบข้อมูลด้านชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนในลักษณะเป็นเพียงข้อมูลข้างเคียงจากงานวิจัยอื่นเท่านั้น

ในกระแสความเข้มแข็งของจีนในเวทีโลก นานาประเทศต่างทุ่มเททุนทรัพย์และกำลังบุคคลเพื่อมุ่งศึกษา สร้าง และพัฒนาคลังข้อมูลด้านจีนศึกษาและถ่ายทอดเป็นภาษาของตนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้คนในชาติได้ทำความรู้จักและเข้าใจประเทศจีนมากขึ้น เป็นประโยชน์ในการสร้างปราการเพื่อรุกและรับต่ออำนาจความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน แต่นักวิชาการไทยกลับสวนกระแส มุ่งพัฒนาคลังความรู้ข้อมูลต่างๆเป็นภาษาอังกฤษด้วยเหตุผลของการมุ่งสู่ความเป็นสากล แต่เมื่อเทียบกับประชาชนชาวไทยแล้วกลับเป็นการถ่ายทอดความรู้ในวงแคบเท่านั้น คนไทยในภาพรวมควรจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยของคนไทยเองมากกว่านี้ นักวิชาการไทยควรสร้างสรรค์ผลงานภาษาไทยเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับคนในชาติมากว่านี้

เอกสารอ้างอิง
ชลธิรา สัตยาวัฒนา (2544)สืบสานประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ไป่เยว่. การศึกษาเชิง
มานุษยวิทยา .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ชูเกียรติ มุ่งมิตร(2546) ชนกลุ่มน้อยในจีน และถิ่นพำนัก.http://www.rta.mi.th/chukiat/story/people_chiness.html
เท่าคว่างแซ้งและอ้ายคำเรียบเรียง,เรณู วิชาศิลป์ ปริวรรต – แปล. (2544) เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบ
สองปัน นา. โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,กรุงเทพฯ.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.(2547) ไทยสิบสองปันนาเล่ม 1 .พิมพ์ครั้งที่ 3 .ศยาม,กรุงเทพฯ.
ปราณี กุละวณิชย์.(2535) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,กรุงเทพฯ.
ปราณี กุละวณิชย์และคณะ.(2527) ศัพท์ไท 6 ภาษา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,กรุงเทพฯ.
นภ อึ้งโพธิ์ (2548) “การบูชาโทเท็มของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน” วารสารจีนศึกษา.คณะ
มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ
นวลจันทร์ ตุลารักษ์.(2547) ประวัติศาสตร์:การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาชาติไทย. โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,
กรุงเทพฯ.
ณัฏฐวี ทศรฐ และ วีระพงศ์ มีสถาน (2540) สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : เมี่ยน (เย้า) .สถาบันวิจัย
ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
รัตนาพร เศรษฐกุล(2539) ชาวจ้วง.สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์,เชียงใหม่.
ลักขณา ดาวรัตนหงษ์ (2539)สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ลีซอ .สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อ
พัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล (2549)จากธิเบตถึงทะเลจีนใต้ 26 นักเขียนกับเรื่องเล่าถึงแม่น้ำโขง .ง่ายงาม.
วิจิตรวาทการ (2549)งานค้นคว้าเรื่อง ชนชาติไทย .สร้างสรรค์บุ๊คส์,กรุงเทพฯ.
วีระพงศ์ มีสถาน (2544)สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทยใหญ่ .สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม เพื่อ
พัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
สมใจ แซ่โง้ว และ วีระพงศ์ มีสถาน (2541)สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทยลื้อ .สถาบันวิจัยภาษา
และวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
สมลักษณ์ วงษ์รัตน์ (2537)ย่ำสิบสองปันนา...ตามหาญาติ .อมรินทร์,กรุงเทพฯ.
สุมิตร ปิติพัฒน์ (2541) การศึกษาชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนตอนใต้.สถาบันไทยคดีศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .
สุริยา รัตนกุล (2531) นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ .สหธรรมิก,กรุงเทพฯ.
สุวัฒน์ คงแป้น (2549)ชุมชนคนไท .สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน.
โสฬส ศิริไสย์ (2539)สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาฮู .สถาบันวิจัยภาษาและ วัฒนธรรมเพื่อพัฒนา
ชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
ศรีศักร วัลลิโภดม, และ ปราณี วงษ์เทศ.(2536)จ้วง : พี่น้องเผ่าไทยเก่าแก่ที่สุด.มหาวิทยาลัย
ศิลปากร,กรุงเทพฯ.
Abadie, Maurice(2001). Minorities of the Sino-Vietnamese Borderland : with special
reference to Thai Tribes . White Lotus.
Dodd, W.C. (1996) The Tai Race: Elder Brother of the Chinese . White Lotus.
Marilyn Gregerson (1980) Notes From Indochina on ethnic minority cultures . Sil Museum Of
Anthropology.
Ma Yin (1989) China's Minority Nationalities. Foreign Languages Press. China (Yunnan)
Schliesinger, Joachim .(1998) Hill Tribes of Vietnam : volume 2 - profiles of existing hill tribe
groups . White Lotus.
载庆厦 (1998) 《二十世纪的中国少数民族语言研究》. 书海出版社.
黄行 (2000) 《中国少数民族语言活力研究》.中央民族大学出版社.
葛公尚(2002) 《中国少数民族现状与发展调查研究丛书》.澜沧县拉祜族卷.民族出版社.
郝时远 (2002) 《中国少数民族地图集》.中国地图出版社.
罗开云(2003) 《中国少数民族革命史》 . 中国社会科学出版社.
戴庆夏(2003) 《现代语言学理论与中国少数民族语言学研究》(2003/1) 民族出版社.
张江华(2003) 《中国少数民族现状与发展调杳研究丛书》.堆龙德庆县藏族卷.民族出版社
普忠良(2004) 《彝族 - - 中国少数民族风情游丛书》 .中国水利水电出版社.

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

“หมา” ในภาษาและวัฒนธรรมจีน

เมชฌ สอดส่องกฤษ(2549) “หมาในภาษาและวัฒนธรรมจีน”, วารสารศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 .


“หมา” ในภาษาและวัฒนธรรมจีน
บทคัดย่อ
ภาษาเป็นเครื่องสะท้อนวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของเจ้าของภาษา ในชนชาติต่างๆให้ความสำคัญและมองคุณค่าของวัตถุ และสิ่งมีชิวิตต่างกัน สิ่งเดียวกันชนชาติหนึ่งถือเป็นเรื่องมงคล ดีงาม แต่อีกชนชาติหนึ่งกลับถือเป็นสิ่งอัปมงคลชั่วร้าย ซึ่งการตัดสินคุณค่าของสิ่งเหล่านี้มักสะท้อนเห็นชัดเจนในภาษา สัตว์โลกไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่ามีความใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์มาโดยตลอด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงซึ่งมีความผูกพันธ์กับสังคมมนุษย์อย่างใกล้ชิดและลึกซึ้ง “หมา” ดูจะมีบทบาทต่อสังคมมนุษย์มากเป็นพิเศษ ด้วยพฤติกรรมของหมาทั้งในด้านบวก และด้านลบ ทำให้คนในสังคมมีทัศนคติ และตัดสินคุณค่าของหมาต่างๆกันไป วัฒนธรรมจีนก็เช่นเดียวกัน เดิมทีหมาถือเป็นสัตว์มงคล แต่ด้วยเหตุของกาลเวลาที่เปลี่ยนไป การผกผันของสถานการณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ทำให้ชื่อเสียงของหมาเปลี่ยนไปในทางลบ บทความนี้บรรยายถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับหมา และ สุนัข ที่ปรากฏอยู่ในคำเรียกขาน คำผรุสวาส คำเปรียบเทียบ สุภาษิตคำพังเพยในภาษาจีน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนได้เป็นอย่างดี
“Dog” in Chinese language and culture
Abstract
Language is a medium reflective of culture, ideas, beliefs and attitudes of the native speakers. However, each culture attaches importance to and values materials and living creatures in different ways. Whilst a nation deems one thing as auspicious and decent, another nation instead considers it as ominous. The way people judge things as such is always manifested in the language. Animals, both pets and wild animals, have long been intimate with human being. The dog, a pet which possesses profound and affectionate relationship with human, is particularly regarded so. “Dogs” seem to bear great significance on human society. Nevertheless, their behavior of both positive and negative sides has made people to have various attitudes and judgment on dogs’ value. The case is the same in China. Formerly, the dog was deemed as an auspicious animal. Due to the change of times and cultural situations, its value has gradually turned negative. This article explains dog-related vocabularies which appear as addressing terms, impolite locution,comparative terms and idioms in Chinese. It would be useful for the education of Chinese language and culture.

“หมา” ในภาษาและวัฒนธรรมจีน

ในบทความวิชาการหรือหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรม นัก
วิชาการในสาขาดังกล่าวส่วนใหญ่มีความเห็นไม่แตกต่างกันมากนัก บ้างกล่าวว่าภาษา
เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม บ้างกล่าวว่าภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม บ้าง
กล่าวว่าภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติเป็นต้น เหล่านี้เป็นมุมมองจากนัก
วัฒนธรรมศึกษา หากมองในทางกลับกันในมุมมองของนักภาษาศาสตร์ จะพบว่าวัฒน
ธรรมของชนชาติหนึ่งๆ แอบแฝงหรือสะท้อนอยู่ในภาษาอย่างแยกกันไม่ออก ซึ่งใน
แต่ละภาษาต่างมีทัศนคติความเชื่อต่อวัตถุ สิ่งของและ สิ่งมีชีวิตรอบข้างต่างๆกัน คำที่
บ่งชี้ในสิ่งเดียวกันในชนชาติหนึ่ง หรือในภาษาหนึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งมงคล แต่ในอีกภาษา
หนึ่งกลับถือเป็นสิ่งอัปมงคลหรือหยาบคายพึงหลีกเลี่ยง คำในความหมายเดียวกันหรือ
บ่งชี้ถึงสิ่งเดียวกัน ในภาษาหนึ่งใช้บ่งหรือแฝงความหมายในด้านบวก แต่ไม่แน่ว่าใน
ภาษาอื่นๆจะมีทัศนคติในแบบเดียวกัน บางครั้งถึงกับตรงกันข้ามกันเลยก็มี นี่ก็เป็น
เหตุผลทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นได้ทั่วไปในความหมายทางภาษา
“หมา” ในภาษาไทยหากใช้ในภาษาเขียนหรือภาษาทางราชการถือเป็นคำไม่สุภาพ จึงมีคำว่า “สุนัข” ใช้บ่งชี้สิ่งมีชีวิตเดียวกันเป็นภาษาสุภาพ แต่ “สุนัข” ก็ไม่ได้ครอบคลุม
ความหมายทั้งหมดของ “หมา” เนื่องจากคนในสังคมมีทัศนคติและตัดสินคุณค่าของ “หมา” กับสุนัขต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะช่วงชีวิตความหมายของ หมา อยู่กับคน
ในสังคมมายาวนานกว่าช่วงชีวิตความหมายของสุนัข พฤติกรรมและชีวิตของหมาจึงถูก
นำมาเปรียบเทียบใช้ในภาษามากกว่าและมีวงความหมายกว้างกว่า เช่น หมาหมู่
หมาลอบกัด หมาหวงก้าง กัดกันยังกับหมา เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้ก็ไม่สามารถแทน
ด้วย สุนัขหมู่ สุนัขลอบกัด สุนัขหวงก้าง กัดกันยังกับสุนัขได้ คำผรุสวาสจำพวก ไอ้ลูก
หมา ชาติหมา หมาไม่แดก หากใช้แทนด้วย สุนัข ความรุนแรงของอารมณ์และความ
หมายกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ในทางกลับกัน การเลี้ยงสุนัข ร้านขายสุนัข สุนัขจรจัด สุนัขขี้เรื้อน หากใช้ หมา แทนที่ ความหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด เพียงแต่ปริมาณความสุภาพแตกต่างกันเท่านั้น หลังจากมีคำว่า สุนัข มาแทนที่คำว่า หมา เพื่อใช้เป็นภาษาสุภาพแล้ว ในระยะหลังจึงเกิดคำใหม่หลายๆคำที่ประกอบขึ้นจาก
คำว่าสุนัข เช่น สุนัขรับใช้ สุนัขแมนจู (พบใช้บ่อยในการแปลละครโทรทัศน์จีน) สุนัขเดินตาม แต่กระนั้นก็ตามคำว่าสุนัขก็ยังคงทัศนคติของคนที่มีต่อหมาที่แฝงความเหยียดหยามและเกลียดชัง อันเป็นผลกระทบมาจากความหมายแฝงของคำว่า“หมา” นั่นเอง
ในภาษาจีน มีคำเรียกสุนัขที่เป็นภาษาพูด และภาษาเขียนเช่นเดียวกันกับภาษา
ไทย คือ 狗 [gou3] ใช้ในภาษาพูด อาจเทียบได้กับคำว่า “หมา” และ犬 [quan3] ใช้ภาษาหนังสือและภาษาสุภาพ อาจเทียบได้กับคำว่า “สุนัข” ในภาษาไทย วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน “หมา” มิใช่ถือเป็นสัตว์อัปมงคลหรือถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างเช่นปัจจุบันแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับถือเป็นสัตว์มงคลด้วยซ้ำ เช่น จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานที่แสดงว่าในสมัยฮั่นใช้หมาเป็นสัตว์มงคลในพิธีศพเพื่อให้เป็นเพื่อนร่วมทางกับผู้ตายไปสู่สุขคติ ในแผนภูมิปากว้า หรือแผนภูมิแปดทิศ กล่าวว่า น้ำ ความราบรื่น ความสะดวก ศีลธรรม คือหมา คือความสุข คือความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ในที่นี้ใช้คำว่า “หมา” ในอรรถลักษณ์ความดี ความเป็นมงคล ในพงศาวดาร <ฟงสูทงอี้> ก็มีการบันทึกถึงหมาว่า เป็นสัตว์ที่คอยให้ความอารักขาแก่เจ้าของด้วยความซื่อสัตย์ ใน 12 ปีนักษัตรซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลของผู้เกิดในปีนั้นก็มีปีหมา ในการนับปฏิทินของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน มีเดือนหมา ซึ่งถือเป็นเดือนมงคล เหมือนกับเดือนที่มีสัตว์มงคลอื่นๆเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน ในบทเพลงพื้นเมืองโบราณของชนชาติแม้วซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในจีนก็มีกล่าวถึงหมาว่าเป็นสัตว์ที่มีมาพร้อมกับการกำเนิดโลก นอกจาก
นี้สัตว์ศักดิ์สิทธิ็์ในเทพนิยายจีนชื่อ ฉีหลิน หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ กิเลน ตามตำนานกล่าวว่า มีตัวเป็นสุนัข หางเหมือนโค หัวเป็นมังกร ตีนมีกีบเหมือนม้า ก็เ็ป็นข้อยืนยันได้ว่าในอดีตหมาไม่ได้เป็นสัตว์อัปมงคล หรือถูกดูหมิ่นดูแคลนอย่างปัจจุบันแต่อย่างใด แต่เนื่องจากระยะเวลา สถานการณ์สำคัญ อุปนิสัยส่วนตัวของสัตว์ วัฒนธรรมความคิดของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดจุดผกผันของความหมายในภาษา ดังเช่น ตำนานฉางเอ๋อ หรือ เทพธิดาพระจันทร์ก็เช่นกัน เดิมทีถือเป็นสัญลักษณ์ของความงดงาม ใช้เปรียบเทียบกับหญิงที่งามดุจเทพธิดา แต่ด้วยวัฒนธรรมที่เหยียดหยามสตรีเพศ และระยะเวลาที่เปลี่ยนไป เทพธิดาพระจันทร์ได้เปลี่ยนความหมายไปในทางลบ คือหมายถึงหญิงที่ออกหาคู่ในเวลากลางคืน ซึ่งหมายถึงหญิงโสเภณีนั่นเอง
ในยุคล่าอาณานิคมคุณค่าของ “หมา” ในภาษาจีน เปลี่ยนไปในทางลบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในยุคนั้นมีข้อกีดกันพวกนอกอาณานิคมว่า “คนจีนและหมาไม่ให้เข้าสู่อานานิคม” ความโกรธแค้นรุนแรงของคนจีนที่ถูกเปรียบเทียบกับหมา ส่งผลต่อทัศนคติที่เหยียดหยามหมา และผกผันความหมายของหมา มาใช้เรียกพวกคนจีนที่รับใช้พวกฝรั่งที่ล่าเมืองขึ้นนั้น อย่างดูถูกเหยียดหยาม เช่น หมาขายชาติ สุนัขเดินตาม สุนัขรับใช้ ต่อมาคำว่าหมาก็ปรากฎให้เห็นทั่วไปในคำเรียกขาน คำเปรียบเทียบ คำด่า สุภาษิต
คำพังเพย แม้บางคำในปัจจุบันไม่พบใช้แล้ว แต่จากเอกสารทางภาษา เช่น บันทึก
พงศาวดาร เพลง กลอน บทประพันธ์ ในอดีต สามารถชี้ร่องรอยทัศนคติของคนจีนที่มีต่อ
“หมา” ได้อย่างชัดเจนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้

狗 [gou3] “หมา” ใช้เปรียบเทียบหรือเรียกคนเลว เช่น กลอน <ซื่อห่าวเผิงจวี่> ของ เฉินอี้ ในสมัยฮั่น กล่าวว่า “ไม่มีงางอกออกมาจากปากหมา เหมือนหมาที่อาศัย
บารมีเจ้าของ” นอกจากนี้ ยังใช้เป็นคำด่าแสดงความดูถูกเหยียดหยาม เช่น บทประพันธ์ ของ เทียนเป่ากงเหริน เรื่อง <เนี่ยไห่ฮวา> ฉากที่สิบ ในสมัยชิง มีคำพูดตอนหนึ่งว่า “เรียกไอ้ทูตหมาตัวนั้นออกมาหน่อย นางมีอะไรจะถามมัน”
狗辈 [gou3 bei4] “ชาติหมา” ใช้เป็นคำด่าที่หยาบคายแสดงความดูถูกเหยียด
หยามเกลียดชังอย่างรุนแรง เช่น พงศาวสามก๊ก ตอน หยวนส่างจ้วน ตอนหนึ่งพูดว่า “ไอ้ชาติหมา พวกแกทำลายเมืองจี้โจวของข้า จะต้องฆ่าแกทิ้งให้ได้”
狗蹦子 [gou3 beng4 zi] “หมาเขย่ง” ใช้เปรียบเทียบคนที่ดื้อร้ั้น กลิ้งกลอก ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เช่น บทประพันธ์ <ฟงเป้าโจ้วยวี๋> ของ โจวลี่โป ตอนที่เก้า มีตอนหนึ่งว่า : “ไอ้หมาเขย่งตัวหนึ่งพูดขึ้นมาว่า เฮ้ย พวกเราใครกลัวเมียมั่ง? ”
狗才 หรือ 狗材 [gou3 cai2] “หมาฉลาด” ใช้เป็นคำด่าเปรียบเทียบคนที่เลว
ทรามต่ำช้า เช่น บทประพันธ์ <ตงถังหล่าว> ของ ฉินเจี่ยนฟู ในสมัยหยวน ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งพูดว่า “ท่านรออยู่ที่ถ้ำนี้ก่อน วันนี้ข้าจะไปตามหาไอ้หมาฉลาดตัวนั้น”
狗吃屎 [gou3 chi1 shi3] “หมากินขี้” พจนานุกรมจีนไทย (เธียรชัย:2537) อธิบายว่าหกคะเมน ใช้ในความหมายลักษณะเหยียดหยาม
狗党狐朋 [gou3 dang3 hu2 peng2] “พรรคหมาพวกจิ้งจอก” ใช้เปรียบเทียบ
กลุ่มคนอันธพาล เช่น บทประพันธ์ในสมัยหยวน ของเฉียวเจี๋ย เรื่อง <จินเฉียนจี้> ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “ถึงข้าจะเป็นนักอักษรกลอนสุรา ก็มีพิษสงร้ายหาแพ้
พวกพรรคหมาพวกจิ้งจอกนั่นไม่ ”
狗党狐群 [gou3 dang3 hu2 qun2] บ้างก็เรียกว่า狐群狗党 [hu2 qun2 gou3 dang3] “พรรคหมา จิ้งจอกหมู่ ” เช่น บทประพันธ์ของ เฉินอี้ เรื่อง<ตู้หวงเหอจั้วเกอ> ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ไอ้โจรขายชาติถูกตัดหัว ไอ้พวกพรรคหมา จิ้งจอกหมู่ก็ไร้ที่พึ่ง”
狗盗 [gou3 dao4] หรือ 狗窃 [gou3 qie4] หรือ 狗偷 [gou3 tou1] “หมาขโมย” คำนี้บางครั้งใช้ เปรียบเทียบคนที่ลักเล็กขโมยน้อยเหมือนกับหมาโขมย คล้ายกับในภาษาไทยใช้ว่าแมวขโมย เช่น บทประพันธ์ <ลุ่นเหิง.ลุ่นสื่อ> ของ หวังชง ในสมัยฮั่น ตอนหนึ่งกล่าวว่า“มีคนสวมขนหมาปลอมเป็นหมาโขมย ไม่มีใครรู้ หมาปลอม
สวมขนหมา ก็เลยไม่มีใครสงสัย ”
狗盗鼠窃 [gou3 dao4 shu3 qie4] “หมาลักหนูขโมย” เปรียบเทียบกับพวก
ลักเล็กขโมยน้อย และหมายรวมถึงพวกทรยศกบฎที่ทำการใหญ่โตอะไรไม่ได้ เช่น พงศาวดารฮั่น <ฮั่นจี้ . ฮุ่ยตี้จี้> ตอนหนึ่งกล่าวว่า “วันนี้และวันหน้้าบัญชาอยู่เบื้องบน บัญญัติใดๆ ก็ไร้ผล จะไม่ให้มีโจรได้อย่างไร มันก็เป็นได้เพียงหมาลักหนูโขมยเท่านั้น
เอง”
狗弟子孩儿 [gou3 di4 zi3 hai’ r2] ตั้งแต่สมัยซ่งเป็นต้นมา คนจีนใช้คำว่า 弟子[di4 zi3] ซึ่งความหมายเดิมหมายถึง “นักเรียน,ลูกศิษย์” มาใช้เรียกหญิงโสเภณี คำว่า [hai’ r2] หมายถึง ลูก 弟子孩儿 [di4 zi3 hai’ r2] ก็หมายถึงลูกหญิงโสเภณี เติมคำว่า [gou3] “หมา” เข้าไปยิ่งเพิ่มความดูถูกเหยียดหยาม ด่าทออย่างรุนแรง เช่น บทประพันธ์ <ฉีลู่เติง> ตอนที่36 มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “ไอ้คนพาลพะโลพวกนี้เป็นไอ้พวกหมาลูก
โสเภณี” คำนี้บางครั้งก็ใช้ว่า狗弟子 [gou3 di4 zi3]
狗东西 [gou3 dong1 xi] คำว่า 东西 [dong1 xi] หมายถึงสิ่งของ นอกจากนี้
ยังหมายถึงสัตว์ต่างๆก็ได้ แต่หากใช้คำว่า东西 [dong1 xi] กับคนจะแสดงอารมณ์
เกลียดชังเปรียบดังว่าไม่มีคุณค่าใดๆเลยแม้้สิ่งของก็ไม่ปาน เติม狗 [gou3] “หมา” เข้าไปก็ยิ่งเพิ่มความดูถูกเหยียดหยามมากขึ้นและใช้เป็นคำด่าทอ เช่นบทประพันธ์ของ หลิวฉี ชื่อ <ห่าวเหนียนเซิ่งจิ่ง> ตอนหนึ่งพูดว่า “เลวระยำหมาจริงๆ แค่เห็นหน้ามัน
ฉันก็เกลียดเข้ากระดูดดำแล้ว”
狗骨头 [gou3 gu3 tou2] “กระดูกหมา” ใช้เปรียบเทียบว่าต่ำต้อยราวกับกระดูกหมา เช่นบทประพันธ์ของ หยวนหมิงซื่อ ในสมัยหยวน ชื่อ <เจิงเป้าเอิน> ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “สันดานหมาหน้าไม่อาย แน่ใจว่านี่เป็นลูกชายลูกสาวแกเหรอ?”
狗刮头 [gou3 gua1 tou2] “หมาโกนหัว หรือ หมาหัวโล้น” ใช้เป็นคำด่า
มีความหมายเหมือนกับสองคำบน เช่น บทประพันธ์ของ หยวนมิงซื่อ ในสมัยหยวน ชื่อ<เสี่ยวเวยฉือ>ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งใช้คำนี้กล่าวว่า “ได้ยินว่าหลิวหลี่เจินไอ้หมา
หัวโล้นตัวนั้นจะส่งสารสงครามมา ข้าโกรธจนกินเนื้อกินเหล้าไม่ลง”
狗官 [gou3 guan1] “ข้าราชการหมา” เป็นคำเรียกข้าราชการชั่วช้าที่ทรยศกบฎ
ต่อบ้านเมือง เช่นบทประพันธ์ของ หงเซิน <จ้าวเยี่ยนหวาง> ฉากที่หก ใช้คำนี้ว่า “ไอ้ข้าราชการหมาฟังให้ดี ยุคนี้เป็นยุคหมินกว๋อ มีขื่อมีแป แกยังจะยังให้ร้ายปรักปรำ
ข้าอีกมั้ย? ”
狗急跳墙 [gou3 ji2 tiao4 qiang2] “หมาจนตรอกกระโดดกำแพง” คำนี้คล้ายกับ
ความหมายในภาษาไทยว่า หมาจนตรอกที่เมื่อถึงทางตันก็ต่อสู้สุดชีวิต
狗监 [gou3 jian4] “ขุนนางหมา” ในสมัยฮั่นใช้เรียกขุนนางที่รับผิดชอบดูแลหมา
ล่าสัตว์ของฮ่องเต้ ในพงศาวดารบันทึกประวัติศาสตร์ <สื่อจี้> มีตอนหนึ่งกล่าวถึงคำนี้ว่า “ชาวหมิ่นชื่อหยางเต๋ออี้เป็นขุนนางหมา รับใช้เบื้องบน” หยางเต๋ออี้เป็นคนชี้แนะให้ฮ่อง
เต้์รู้จักกับซือหม่า จากนั้นด้วยพฤติกรรมของหยางเต๋ออีี้ที่คอยกราบทูลชี้นำยุยงฮ่องเต้
นี้เองจึงนำมาใช้เปรียบเทียบกับคนที่ชอบชี้แนะ ยุยงส่งเสริมผู้อื่นในทางชั่วร้าย เช่น กลอนในสมัยถัง ของ หลิวยวี๋ซี <โฉวเซวียนโจวชุยไต้ฝูเจีนนฉี> บทหนึ่งว่า “เยือนหอมังกรเรียกฉีหลี่ ว่าตามที่ขุนนางหมาเคยชี้แนะ”
狗脚朕 [gou3 jiao3 zhen4] “กษัตริย์ขาหมา” บางครั้งก็เรียกว่า 狗脚 [gou3 jiao3] “ขาหมา” ในสมัยเป่ยเว่ย เกาเติ้งเคยด่าเสี้ยวจิ้งฮ่องเต้ว่า [gou3 jiao3 zhen4] จากนั้นมาจึงใช้คำนี้เรียกกษัติย์์ที่เป็นเพียงหุ่นเชิดของขุนนางที่มีอำนาจ
狗拿耗子 [gou3 na2 hao4 zi] “หมาจับหนู” ปกติหน้าที่จับหนูเป็นหน้าที่ของแมว ถ้าหมาจับหนูดูจะเป็นการทำงานนอกเหนือหน้าที่ของตน ใช้เป็นคำพังเพยเปรียบเทียบ
กับคนที่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น แส่ไม่เข้าเรื่อง
狗男女 [gou3 nan2 nv3] “หมาชายหญิง” คำด่าความหมายคล้ายกับ狗东西[gou3 dong1 xi1] หมายถึงว่าไม่ว่าจะเป็นอ้ายอีตัวไหน ก็เป็นเยี่ยงหมาทั้งนั้น เช่น
บทประพันธ์เรื่อง <ลวี่เหย่เซียนจง> ตอนที่26 มีตอนหนึ่งใช้คำนี้กล่าวว่า “องค์ชาย
อย่าเสียใจไปเลย รอข้าไปถึงก่อน ไอ้หมาชายหญิงพวกนั้นค่อยจัดการกับมัน”
狗娘养的 [gou3 niang2 yang3 de] “หมาติดแม่,หมาลูกแหง่” เป็นคำด่า ใช้กับคนขี้ขลาดตาขาว อ่อนแอ เช่น บทประพันธ์ <ฉีกงเฉวียนจ้วน> ตอนที่171 มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เราสามคนไปบ้านหวังเซิ่งเซียนด้วยกัน ลากคอไอ้หมาติดแม่มาฆ่า
ทิ้งซะแล้วชิงเอานางโจวมา”
狗尿苔 [gou3 niao4 tai2] “เห็ดเยี่ยวหมา” เห็ดชนิดนี้ตามผิวมีเมือกเหนียวและ
มีกลิ่นเหม็น ด้วยกลิ่นของเห็ดชนิดนี้จึงเรียกชื่อ เห็ดเยี่ยวหมา เหมือนกับที่ในภาษาไทย
เรียกพืชชนิดหนึ่งว่า “ใบตดหมา” เพราะกลิ่นเหม็นของมัน
狗奴 [gou3 nu2] “หมาทาส” คำนี้เป็นคำที่ทาสในสมัยก่อนใช้เรียกตัวเองเพื่อ
แสดงความต่ำต้อย และใช้เป็นคำด่าบ่งถึงความเหยียดหยามเสียยิ่งกว่าทาส เช่น บทประพันธ์ของ หลี่จื้อ ในสมัยหมิง ชื่อ <สื่อกังผิงเย่า.ซ่งจี้.เสินจง> ทาสพูดกับ
นายทาสว่า “หมาทาสควรตาย” นายทาสพูดถึงทาสด้วยอารมณ์โกรธแค้นว่า “ไอ้หมา
ทาสตัวนี้ ช่างโอหังนัก” คำว่า 奴 [nu2] และ 奴才[nu2 cai3] หมายถึงทาสหรือ
ข้ารับใช้ บางครั้งคำนี้ก็ใช้ว่า 狗奴才 [gou3 nu2 cai3] เช่น บทประพันธ์ของ เหมาตุ้น <จื่อเย่> ตอนที่สี่ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ไอ้หมาทาส แกก็ไม่ใช่คนดีมาแต่ไหน” ในบทละครโทรทัศน์จีนโบราณที่แปลเป็นภาษาไทยมักแปลคำนี้ว่า “ข้าน้อย” ในบท
ดั้งเดิมข้าราชบริพารเมื่อกระทำความผิดจะหมอบลงกับพื้นแล้วพูดว่า 奴才该死[nu2 cai3 gai1 si3] ซึ่่งก็คือคำว่า “ข้าทาสสมควรตาย” นั่นเอง
狗屁 [gou3 pi4] “ตดหมา” ใช้เปรียบเทียบกับคำพูดที่ไร้สาระเชื่อถือ เอาความ
อะไรไม่ได้ ในการสนทนาที่ตำหนิหรือด่าว่าฝ่ายตรงข้ามว่าพูดจาไร้สาระจะใช้ว่า 放屁 [fang4 pi4] “ปล่อยตด” เปรียบกับสิ่งที่พูดออกมาไม่มีประโยชน์อันใดเหมือนกับตด เติมคำว่า “หมา”เข้าไปยิ่งเสริมความหมายหนักแน่ว่าเป็นคำพูดที่ไร้สาระอย่างที่สุดเยี่ยง
ตดหมา
狗屎堆 [gou3 shi4 dui1] “กองขี้หมา” เปรียบกับคนที่ถูกทอดทิ้ง ทิ้งขว้าง ไร้คนเหลียวแล เช่น บทประพันธ์ของ เหมาเจ๋อตง ชื่อ <ระบอบการปกครองแบบประชา ธิปไตยใหม่> ตอนหนึ่งกล่าวว่า “พวกหัวอนุรักษ์นิยม ความจริงแล้วคือพวกอนุรักษ์แต่ไม่
นิยม อนุรักษ์จนกระทั่ง เปลี่ยนไปเป็นกองขี้หมาของประชาชน ”
狗鼠 [gou3 shu3] “หมา,หนู” เปรียบกับคนไม่มีคุณธรรม เลวทรามต่ำช้า เช่น พงศาวดารของ อิงเส้า ในสมัยฮั่น ชื่อ <เฟิงสูทง> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เปรียบดัง
คนตายไปแล้ว มีใครด่าว่าเป็นคนเลวไร้คุณธรรม(หมาหนู) ก็ไม่รู้ความ”
狗头 [gou3 tou2] “ไอ้หัวหมา” คำนี้มีสองความหมายคือ ความหมายในทางดี และ
ความหมายในทางร้าย ความหมายในทางดีก็คือผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กแสดงความน่ารักเอ็นดู
เช่น บทประพันธ์ ชื่อ <ฉีลู่เติง> ตอนหนึ่ง ใช้คำนี้เรียกเด็กคนหนึ่ง ความว่า : ฮุ่ยกวาน
หมิน มองด้วยความเอ็นดู พร้อมกับรอยยิ้ม แล้วถามว่า “ไอ้หมาน้อย ชื่ออะไรเหรอเราน่ะ” ส่วนความหมายในทางร้ายก็คือใช้เป็นคำด่าแสดงถึงการกดขี่ข่มเหงเหยียดหยามและ
เกลียดชังอย่างรุนแรง เช่นบทประพันธ์ของ หร่วนเฉิง ในสมัยหมิง ชื่อ <เยี่ยนจื่อเจียน. ฮงเป้า> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ฉันด่ามันแค่สองสามคำ ไอ้หัวหมานั่นก็รุมตีฉันซะน่วม
เลย”
狗头军师 [gou3 tou2 jun1 shi1] “กุนซือหัวหมา” ใช้เรียกคนที่คอยให้ท้าย ออกความคิดเห็นที่เลวร้ายให้กับคนอื่น เช่นบทประพันธ์ของ หงเซิน ชื่อ <เซียงเต้าหมี่> ฉากที่สาม มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “คนต่างชาติจะมาบ้านนอกร่วมมือกับเราด้วยตัวเอง
เลยเชียวหรือถ้าไม่ใช่เพราะไอ้พวกกุนซือหัวหมาคอยแนะนำยุแหย่อยู่เบื้องหลัง”
狗秃儿 [gou3 tu1 er2] “ไอ้หมาหัวทู่” ใช้เรียกคนหรือตำหนิอย่างดูถูก และระอา เช่น บทประพันธ์ <จินผิงเหมย> ตอนที่16 มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ถ้าแกไม่พูด ผ่านไปอีกร้อย
ปีก็ยังไม่บอกพ่อแก ข้าจะแต่งเมียแทนแกซะ ไอ้หมาหัวทู่”
狗腿 [gou3 tui3] หรือ狗腿子 [gou3 tui3 zi] “ขาหมา” หรือ 狗爪子 [gou3 zhua3 zi] “มือหมา,กรงเล็บหมา”คำนี้ภาพยนตร์โทรทัศน์จีนโบราณแปลเป็นภาษาไทย
ว่า “สุนัขรับใช้” ดังมักจะจะได้ยินบ่อยๆว่า “สุนัขรับใช้แมนจู” เป็นต้น เปรียบกับคนที่
ยอมก้มหัวเป็นทาสรับใช้คนเลว เปรียบเสมือนเป็นมือเป็นเท้าของหมา
狗腿差 [gou3 tui3 chai1] คำนี้ในสมัยโบราณใช้เรียกพวกนักการในศาลาว่าการ
ที่คอยทำตัวอวดเบ่งที่ประตูศาล ทำทีว่าตนมีอำนาจ แท้ที่จริงก็เป็นเพียงนักการ แต่ผู้คน
ก็ต้องทำทีเคารพนบนอบเพื่อจะได้เข้าไปในศาลได้สะดวก เช่นในบทประพันธ์ <หรูหลินหว้ายสื่อ> ตอนที่ห้าสิบ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เพื่อไปบรรณาการ ลากใคร
ต่อใครไปคารวะ มอบของกำนัล แต่ไอ้หมาหน้าศาล ก็ไม่ได้บอกข่าวคราวอะไรเลย”
狗屠 [gou3 tu2] “เพชฆาตฆ่าหมา” คำนี้เดิมใช้เรียกคนที่ฆ่าหมาขายเนื้อหมา และด้วยความโหดเหี้ยมอำมหิตนี้เอง จึงใช้คำนี้เรียกคนที่ประกอบอาชีพที่เลวทรามต่ำช้า เช่น บทบันทึก <จ้านกว๋อเช่อ.หันตี้เอ้อร์> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ข้ามีแม่ที่แก่เฒ่า บ้าน
เล่าก็ยากจนค่นแค้นแสนเข็ญ นักท่องยุทธภพต่างแดนคิดว่าข้าเป็น เพชฆาตฆ่าหมา
แต่รุ่งอรุณสนธยามีแต่ข้าต้องหาเลี้ยงครอบครัว”
狗油东西 [gou3 you2 dong1 xi] เป็นคำด่า เปรียบกับคนที่ทำตัวเป็นเพื่อนกิน แต่ไม่ทำ ประโยชน์อันใด เอ้อระเหยลอยชายไปวันๆ เช่นบทประพันธ์ของ เกาเหวินซิ่ว ในสมัยถัง ชื่อ <ยวี่ซ่างหวาง> ตอนที่หนึ่ง มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ไอ้เพื่อนตัวดีทั้งหลาย
ก็ล้วนแต่เป็นพวกสันดานหมา ไม่เอาไหนซักตัว”
狗尾草 [gou3 wei3 cao3] ชื่อหญ้าชนิดหนึ่งชื่อ “หญ้าหางหมา” ใช้ทำอาหารสัตว์
狗尾续貂 [gou3 wei3 xu4 diao1] “หางหมาแซมขนหมี” ในสมัยก่อนหมวกของ
พวกขุนนางจะประดับประดาด้วยขนหมีซึ่งถือเป็นขนสัตว์มีค่า ต่อมาขนหมีชนิดนี้หายาก
จึงใช้ขนหางหมามาแซมแทน ต่อมาจึงใช้เป็นคำพังเพยเปรียบกับการเอาของที่ไม่ดีมาแซมเข้ากับของดี ทำให้ยากที่จะตัดสินว่าของสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี
狗需喷头 [gou3 xue4 pen1 tou2] “หมาพ่นเลือด” คำพังเพยหมายถึงการด่า
อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ดุดัน ด่าอย่างถึงใจพระเดชพระคุณ
狗熊 [gou3 xiong2] “หมีหมา,หมีดำ” คำนี้ในปัจจุบันใช้เรียกชื่อหมีชนิดหนึ่ง แต่ในสมัยก่อนใช้เป็นคำล้อเลียนกับคำว่า 英雄 [ying1 xiong2] ซึ่งหมายถึงนักรบผู้ยิ่งใหญ่, ผู้พิชิต เพราะเสียงที่พ้องกันของคำว่า [xiong2] แต่คำนี้ตัวหนังสือเป็น
คนละตัวกัน ใช้ในความหมายว่าขี้ขลาดตาขาว เช่น บทประพันธ์ของ หลี่ฉุนเป่า ชื่อ <เกาซานเซี่ยเตอฮวาเปย> ตอนที่ห้า มีตอนหนึ่งใช้สองคำนี้ในทำนองล้อเลียนและ
เย้ยหยันว่า “ไม่ว่าจะเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ [ying1 xiong2] หรือจะเป็น หมีหมาขี้ขลาด [gou3 xiong2] ก็ไปเจอกันในยุทธภูมิ”
狗咬狗 [gou3 yao3 gou3] “หมากัดหมา” เปรียบกับคนเลวแตกคอกันทำร้าย
กันเอง
狗崽子[gou3 zai3 zi] “ไอ้ลูกหมา,ไอัสัตว์หมา” ใช้เป็นคำด่า เช่น บทประพันธ์ของ หลาวเส่อ <กู่ซูอี้เหริน> ตอนที่สิบแปด มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เขายิ่งคิดก็ยิ่งแค้น อกแทบระเบิดออกมา ไอ้ลูกหมานังโสเภณีเลี้ยงตัวนี้ ถ้าจับตัวมันได้ จะกระทืบให้ไส้
ทะลักเลยเชียว” นอกจากนี้ในช่วงปฎิวัติการปกครองใช้คำนี้เรียกลูกของพวกเจ้าของ
ที่ดิน พวกคนรำ่รวย พวกต่อต้านการปกครอง พวกพรรคฝ่ายขวา เช่นบทประพันธ์ของ จางเสียนเลิี่ยง <หนานเหรินเตอเฟิงเก๋อ> บทที่สิบสี่ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ฉันเป็นลูก
สัตว์หมา พ่อแม่ถูกฆ่าตายหมดแล้ว”
狗贼[gou3 zei2] “โจรหมา” ใช้เป็นคำเรียกข้าศึกศัตรูอย่างเกลียดชัง เช่น บทประพันธ์ของซือหม่ากวาง ในสมัยซ่ง ชื่อ <ซู่สุ่ยจี้เหวิน> ฉบับที่สิบเอ็ด มีตอนหนึ่ง หลี่ถังอิง พูดกับข้าศึกว่า “ไอ้โจรหมา เจ้าไม่สยบ ข้าจะยอมแพ้ได้อย่างไร?”
狗仗人势 [gou3 zhang4 ren2 shi4] “หมาอาศัยบารมีเจ้าของ” คำพังเพย
ใช้เปรียบกับคนที่อาศัยอำนาจบารมีเจ้านายผู้มีอิทธิพลข่มเหงรังแกผู้อื่น
狗子 [gou3 zi3] “ไอ้ลูกหมา” ใช้เป็นคำด่าหมายถึงคนเลว สมคบคิดกันกระทำ
ความชั่วเช่น บทประพันธ์ของ เฟิ๋งเมิ่งหลง ในสมัยหมิง ชื่อ <กู่จินถานก้าย.ฉูเหนียง> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “แก ไอ้ชาติหมา สันดานหมาจริงๆ” และอีกตอนหนึ่งว่า “ไอ้หมา
ขาวตัวนั้น เกิดมาเป็นชาติหมาจริงๆ”
疯狗 [feng1 gou3] “หมาบ้า” เปรียบกับคนพาลที่ทำร้าย ด่าว่าคนอื่นไปทั่ว
落水狗 [luo4 shui3 gou3] “หมาตกน้ำ” เปรียบกับคนเลวที่หมดสภาพ ไร้อำนาจ มักถูกผู้อื่นรุมทำร้าย รังแก หรือแก้แค้น

ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า “หมา” แทบไม่มีสถานภาพใดๆ ในสังคมเลย ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการยกย่อง แต่กลับถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม อย่างไร้ความดี เห็นจะมี
คำที่ใช้ในทางดีบ้างเพียงเล็กน้อย คือ คำว่า 狗头 [gou3 tou2] “ไอ้หัวหมา” ที่เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กเพื่อแสดงความน่ารักน่าเอ็นดู คล้ายกับในภาษาไทยที่ผู้ใหญ่
มักใช้เป็นคำเรียกเด็กว่า “ไอ้หมาน้อย หรือ ไอ้ลูกหมา” แต่กระนั้นก็ตามก็เป็นคำที่ผู้ใหญ่
ใช้ ซึ่งแฝงนัยของความมีอำนาจ เหนือกว่าผู้ฟังอยู่นั่นเอง
คำที่หมายถึง “หมา” ที่ใช้ในภาษาหนังสือ และใช้เป็นภาษาสุภาพในภาษาจีนคือ 犬 [quan3] อาจเทียบได้กับภาษาไทยคือคำว่า “สุนัข” ด้วยความที่ใช้เป็นภาษาสุภาพ จึงไม่ค่อยนำไปใช้เป็นคำด่า หรือคำเปรียบเทียบในความหมายเหยียดหยามรุนแรงเท่ากับคำว่าหมา แต่จะใช้ในความหมายเป็นกลางที่หมายถึงสุนัขทั่วไป เช่น 警犬[jing3 quan3] “สุนัขตำรวจ” 牧犬 [mu4 quan3] “สุนัขเลี้ยงสัตว์” 猎犬 [lie4 quan3] “สุนัขล่าสัตว์ ” 军犬 [jun1 quan3] “สุนัขทหาร” เป็นต้น แต่กระนั้นก็ตามคำว่า [quan3] “สุนัข” นี้ ก็ไม่ได้ละทิ้งความหมายแฝงของความเป็น “หมา” ไปอย่างสิ้นเชิง
เลยเสียทีเดียว
จากบันทึกพงศาวดารต่างๆก็พบคำว่า 犬 [quan3] “สุนัข” ในความหมายด้านลบอยู่ไม่น้อย ดังจะกล่าวต่อไปนี้

犬 [quan3] “สุนัข” สมัยก่อนใช้เป็นคำเรียกขานบุรุษที่สาม เรียกลูกของตน
เพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น 小犬 [xiao3 quan3] “เจ้าหมาน้อย” 犬子 [quan3 zi] “เจ้าลูกหมา”
犬儿 [quan3 er2] “ลูกสุนัข” สมัยก่อนเป็นคำที่ใช้เรียกทาส เช่น บทประพันธ์
ในสมัยหมิง ของหวางเหิง <ยวี่หลุนผาว> ตอนที่สี่ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้กล่าวถึงทาสว่า “ปัญญาชนที่ตำหนักองค์หญิงเก้า น้อมเป็นทาสที่จงรักภัคดีด้วยใจจริง”
犬吠之盗 [quan3 fei4 zhi1 dao4] “จอมโจรหมาหอน” ในบันทึกประวัติศาสตร์ <สื่อจี้> ใช้เรียกพวกโจรที่ออกปล้นตอนกลางคืนมักทำเสียงหมาเห่าหอนอำพรางตัวเอง ต่อมาจึงใช้เป็นคำเรียกพวกโจรที่ออกปล้นตอนกลางคืน
犬妇 [quan3 fu4] “สะใภ้สุนัข” เช่นบทประพันธ์ <หงโหลวม่ง> ใช้เป็นคำเรียก
ขานบุรุษที่สามเรียกสะใภ้ เพื่อแสดงความถ่อมตัว
犬马[quan3 ma3] “ม้าสุนัข” ในสมัยชิง ใช้เป็นคำเปรียบเทียบกับคนที่คอย
ขับไล่ไสส่งผู้อื่นให้หนีไป
犬戎 [quan3 rong2] ในสมัยถังใช้เป็นคำเรียกชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ยังใช้เป็นคำ
เรียกคนต่างชาติต่างเผ่าที่เข้ามารุกรานอย่างโกรธแค้นและเกลียดชัง
犬儒 [quan3 ru2] “ลัทธิสุนัข” ใช้เรียกกลุ่มลัทธิ นิกาย หรือสำนักที่มีความคิด
อิสระ ไม่สนใจใยดี ไม่ยี่หระต่อความคิดเห็นต่อกฎเกณฑ์หรือข่้อกำหนดทางวัฒนธรรม ประเพณีของสังคมและโลกภายนอก ต่อมาจึงนำมาเปรียบเทียบใช้เรียกบุคคลประเภทนี้
犬豕 [quan3 shi3] “สุนัขและหมู” ในวัฒนธรรมจีนสุนัขเป็นสัญลักษณ์ของ
ความเลวและต่ำทราม หมูเป็นสัญลักษณ์ของความโง่สกปรกและขี้เกียจ เช่นในสมัยถัง ใช้คำว่า “สุนัขและหมู” เป็นคำด่าว่าเลวทรามต่าช้ายิ่งกว่าสุนัขและหมูเสียอีก
犬羊 [quan3 yang2] “สุนัขและแกะ” ในสมัยฮั่นใช้เรียกศัตรูคู่อริอย่างเหยียด
หยาม
犬彘 [quan3 zhi4] “สุนัขและหมู” เช่นพงศาวดารสมัยถัง ใช้เป็นคำเปรียบเทียบเรียกคนเลวทราม ต่ำช้า
犬子 [quan3 zi3] “ลูกสุนัข” เช่นพงศาวดารในสมัยซ่ง ใช้เป็นคำเรียกลูกของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตน ตรงกันข้ามหากใช้เรียกลูกของคนอื่นกลับแสดงความดูถูกเหยียดหยาม

คำจำพวกสุภาษิต คำพังเพย คำล้อเลียน ประชดประชัน ที่ใช้หมาเป็นอรรถลักษณ์ความเลว หรือความเหยียดหยาม โดยใช้พฤติกรรมของหมามาเปรียบเทียบเพื่อแฝงหรือชี้ความหมายอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ปรากฎให้เห็นหลากหลายและใช้ทั่วไปในภาษาเช่น
เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น
“หมากัดกัน” บ่งความหมายหมายถึง “แย่งขี้กันกิน” ใช้เปรียบกับคนที่ทะเลาะแย่งชิงในสิ่งที่ไม่คุณค่าหรือประโยชน์อันใด
“หมาใส่หมวก” แฝงความหมายว่า “แกล้งทำเป็นคนดี” ใช้เปรียบกับคนเลวที่เสแสร้งแกล้งทำเป็นคนดีหลอกลงผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตน
“หมารอกระดูก” เลียนแบบพฤติกรรมของหมาที่ “รอคอยกระดูกด้วยความรีบร้อนกระวนกระวายและใจจดใจจ่อ” เปรียบเทียบกับคนที่รอคอยด้วยความร้อนอกร้อนใจ
“หมาเลียกระทะน้ำมันร้อน” เลียนแบบพฤติกรรมของหมาที่เลียกระทะน้ำมันร้อน “จะเลียก็กลัวร้อน จะไม่เลียก็เสียดายของดี” เปรียบเทียบกับคนที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความกลัว แต่ถ้าจะละทิ้งไปเสียก็กลัวจะเสียประโยชน์ ตัดใจไม่ลง
“หมากัดพระจันทร์” แฝงความหมายว่า “ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ” เปรียบเทียบกับคนที่กระทำสิ่งใดไม่รู้จักเคารพผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจมากกว่าตน ไม่รู้จักประมาณตน
“หมาเดินพันลี้ก็ยังกินขี้”หมายถึงพฤติกรรมของหมาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปรียบเทียบกับกมลสันดานของคนเลวที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไปไกลแค่ไหน สันดานเลวๆนั้นก็ไม่มีวันเปลี่ยนได้
“หมากัดช่างหิน” แฝงความหมายว่า “อยากโดนค้อนช่างหิน” เปรียบเทียบกับคนที่อยู่ดีไม่ว่าดี หาเรื่องกับคนที่มีอำนาจบารมีเหนือกว่าตน
“หนังหมาแขวนผนัง” แฝงความหมายว่า “ไม่เป็นภาพ” ในภาษาจีน คำว่า “ภาพ” กับคำว่า “ภาษา” เป็นคำพ้องเสียง ดังนั้นคำนี้จึงมีเสียงเหมือนกับคำว่า “ไม่เป็นภาษา” ซึ่งหมายความว่า “ไม่เข้าท่า ไม่ถูกต้อง ”
“หมาดีไม่ขวางทาง” ปกติหมาจะไม่ขวางทางเดินของคน เมื่อมีคนเดินผ่านมาก็มักจะหลีกทางหรือหลบไปทางอื่น แต่หมาเกเร หมาดุ หมาบ้า จะไม่หลบ กลับขวางทางทำให้คนต้องหลบไปทางอื่น จึงนำมาเปรียบเทียบกับคนว่า ถ้าเป็นคนดีก็จะไม่ขัดขวางความคิดหรือการกระทำที่ถูกต้องของผู้ีอื่น
“ซาลาเปาเนื้อหมา” แฝงความหมายว่า “ไม่่ขึ้นสำรับ” เปรียบเทียบกับคนหรือสิ่งของที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้คุณค่า ไม่สามารถไต่ต้าวขึ้นเป็นใหญ่เป็นโต หรือได้รับความนิยมยินดีได้
“น้ำค้างบนหางหมา” แฝงความหมายว่า “หางหมาอยู่ไม่นิ่งน้ำค้างยังไงก็ต้องถูกสบัดทิ้ง” ใช้เปรียบกับคนที่ไม่มีความแน่นอน หรือเรื่องราวที่ไม่มีความมั่นคง เปลี่ยน
แปลงได้ตลอดเวลา
“หมานั่งเกี้ยว” แฝงความหมายว่า “ไม่รู้ว่าใครเชิดใครชู” เปรียบกับคนที่ถูกคนอื่นยกย่องเชิดชู โดยไม่รู้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใคร
“หมามุดเตาไฟ” แฝงความหมายว่า “เถ้าดำติดจมูก” เหมือนกับหมาที่มุดเข้าไปในเตาไฟหวังจะหาอาหารกิน แต่สุดท้าย ไม่เพียงแต่ไม่มีอาหารอะไร แต่กลับเลอะเถ้าเขม่าไฟติดจมูกออกมา เปรียบกับคนที่มุ่้งกระทำการอันใด ไม่เพียงไม่ได้รับผลประโยชน์ ซ้ำร้ายกลับได้รับผลร้ายตอบแทน
“หมากัดเต่า” แฝงความหมายว่า “หาหัวไม่เจอ” เพราะเต่าจะหดหัวอยู่ในกระดอง หมาจะกัดก็กัดไม่ได้ จึงใช้เปรียบเทียบกับคนที่จะกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ทำอะไรไม่ถูก มะงุมมะงาหรา

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว “หมา” และ “สุนัข” ยังปรากฏในภาษาที่ใช้ในชีวิต
ประจำวันในลักษณะอื่นๆ อีก เช่น ที่เมืองเทียนจิน มีร้านขายซาลาเปาร้านหนึ่งตั้งชื่อร้านว่า 狗不理 [gou3 bu4 li2] หมายถึง “หมาไม่แล” หรืออาจเทียบได้กับภาษาไทยว่า “ร้านหมาไม่แดก” การตั้งชื่อเช่นนี้เป็นฉายานามของเจ้าของร้านที่หน้าตาอัปลักษณ์ แต่ขายซาลาเปาที่อร่อยมาก และตั้งชื่อร้านที่เป็นฉายาของตัวเอง ซึ่งเดิมเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจในเชิงการค้าเท่านั้น ภายหลังอาจเป็นเพราะสามารถสร้างความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างคนกับหมาได้ชัดเจน ทำให้เกิดความคิดในมุมกลับว่า “ใครไม่เข้าร้านนี้ก็เปรียบเหมือนหมา” เพราะเป็นของที่หมาไม่กิน แต่คนต้องกิน ซึ่งทำให้ร้านนี้ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จากนั้นคำว่า “หมาไม่แล” นี้ ก็กลายเป็นคำที่สามารถประกอบกับหน่วยคำอื่นขึ้นเป็นคำใหม่อีกมากมาย เช่น เวบไซต์หมาไม่แล ซาลาเปาหมาไม่แล จานด่วนหมาไม่แล ไอศครีมหมาไม่แล บริษัทหมาไม่แล เป็นต้น

ด้วยสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนในปัจจุบัน ประชากรมีจำนวนมาก แต่พื้นที่น้อย ชาวจีนในเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตึกสูงที่แบ่งเป็นแต่ละห้อง แต่ละครอบครัว ไม่สะดวกต่อการมีสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมว ทำให้ความสัมพันธ์ของคนกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้นับวันยิ่งห่างเหินกันไปทุกที แม้จะมีบางครอบครัวที่คุณภาพชีวิตค่อนข้างดีมีใจรักสุนัข เลี้ยงสุนัขไว้เป็นสัตว์เลี้ยง ดูแลอย่างดี ช่วงเช้าและเย็นก็คล้องโซ่นำออกมาวิ่งเล่นข้างนอก ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองจีนปัจจุบัน คุณภาพชีวิตของสุนัขดูเหมือนจะดีขึ้น หรือได้รับการยกระดับขึ้น แต่ความจริงกลับไม่เ็ป็นเช่นนั้น ทัศนคติของคนที่มีต่อสุนัขกลับไม่ได้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย สิ่งไม่ดีไม่งาม สิ่งเลวร้าย ความดูถูกเหยียดหยาม เกลียดชัง มักใช้สุนัขเป็นตัวแทน หรือเป็นตัวเปรียบเทียบอยู่ร่ำไป แต่คุณความดีของสุนัขที่ทุกสังคม ทุกชนชาติยกย่องและยอมรับก็คือความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภัคดีต่อเจ้าของ แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์ไม่ได้คำนึงถึงคุณงามความดีนี้เท่าใดนัก นี่ก็เป็นดังภาษิตจีนบทหนึ่งที่ว่า “หมาใจดี ช่วยเสือเกา ถูกเสือกิน”

เอกสารอ้างอิง
1. ก้อง กังฟู “เหนือฟ้าใต้บาดาล สัมผัสกิเลนโคมไฟ สัตว์ศักดิ็์สิทธิ์ลงสวรรค์ประทานพร” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546.
2. เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ พจนานุกรมไทย-จีน อักษรพิทยา : กรุงเทพฯ ,พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2541.
3. 常精宇《汉语词汇与文化》北京大学出版社,北京,1995年。
4. 郭锦桴 《汉语与中国传统文化》中国人民大学出版社,北京,1993年。
5. 吉常宏《汉语称谓语大词典》河北教育出版社,石家庄,2000年。
6. 李葆嘉《实用现代汉语规范词典》吉林大学出版社,长春,2001年。
7. 马清文 《俏皮话竞选500条》中华社会出版社,北京,1999年。
8. Brown, Roger and Gilman. Albert “The pronoun of power and solidarity” , In Fishman(ed.) Rearing in The Sociology of Language,1972.
9. http://www.people.com.cn/GB/guandian/30/20030306/937105.html
10. http://www.gblkc.com/

การศึกษาวิเคราะห์ระบบคำเรียกญาติในภาษาจีน

เมชฌ สอดส่องกฤษ (2552) “การศึกษาวิเคราะห์ระบบคำเครือญาติในภาษาจีน” วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม),หน้า41-66.

การศึกษาวิเคราะห์ระบบคำเรียกญาติในภาษาจีน

บทคัดย่อ

บทความนี้ศึกษาวิเคราะห์ระบบคำเรียกญาติในภาษาจีน โดยแยกเป็นประเด็นสำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่ คำเรียกญาติและการใช้คำเรียกญาติ โครงสร้างของคำเรียกญาติ ลักษณะการประกอบคำเรียกญาติ ลักษณะทางความหมายของคำเรียกญาติ หน้าที่ของคำเรียกญาติ และหลักเกณฑ์การใช้คำเรียกญาติ
คำสำคัญ ภาษาจีน คำเรียกญาติ คำเรียกขาน เครือญาติ วัฒนธรรมจีน

The analysis of Chinese kinship terms system
Abstract

This article aims to analyze Chinese kinship terms system, There are six important issues in the analysis of Chinese kinship terms system ; kin terms and its usage, structure of kinship terms, composition of kinship terms, kinship terms meaning, kin terms function and rules of kinship terms usage.
Key words : Chinese, kinship terms, address terms , kinship, Chinese culture


การศึกษาวิเคราะห์ระบบคำเรียกญาติในภาษาจีน
บทนำ

คำเรียกญาติในระบบเครือญาติที่เจ้าของภาษากำหนดและสร้างขึ้นใช้ในภาษา ถือเป็นกลุ่มคำเรียกขานกลุ่มหนึ่งที่มีความชัดเจนและเป็นระบบมากที่สุด เพราะการบ่งชี้ถึงบุคคลมีความแน่นอน โดยปกติคำเรียกญาติแบ่งเป็น2 กลุ่มใหญ่ๆ คือญาติที่มีความสัมพันธ์โดยสายเลือด และญาติที่มีความสัมพันธ์โดยการแต่งงาน แต่ทว่าในแต่ละภาษามีวิธีการหรือปัจจัยในการกำหนดความเป็นญาติและคำเรียกญาติแตกต่างกัน บางภาษาใช้อายุเป็นเกณฑ์ บางภาษาใช้เพศเป็นเกณฑ์ บางภาษาใช้การสืบเชื้อสายเป็นเกณฑ์ บางภาษาใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างไปพร้อมๆกัน ดังนั้นคำเรียกญาติหนึ่งคำ ไม่เพียงสื่อความหมายในเรื่องความเกี่ยวดองเป็นญาติกันเท่านั้น แต่ยังแฝงความหมายทางวัฒนธรรมและสังคมที่สำคัญอีกมาก เช่น รุ่น อายุ เพศ การสืบเชื้อสาย ความเคารพเป็นต้น
ผลงานการศึกษาเรื่องคำเรียกญาติในภาษาจีนกลางล้วนเป็นผลงานการศึกษาของนักวิชาการในประเทศจีนทั้งสิ้น มีทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่องระบบคำเรียกขาน (称谓语chēnɡ wèi yǔ) และการศึกษาเรื่องคำเรียกญาติ (亲属称谓语qīn shǔ chēnɡ wèi yǔ) โดยเฉพาะ โดยเป็นการศึกษาคำเรียกญาติในสมัยปัจจุบันและสมัยโบราณ หรือศึกษาคำเรียกญาติที่ปรากฏในแต่ละยุคสมัย หรือศึกษาคำเรียกญาติที่ปรากฏในวรรณกรรม หรือเป็นการจัดทำพจนานุกรมเกี่ยวกับคำเรียกญาติ อาทิ 胡士云 (2001)《汉语亲属称谓研究》冯汉骥(1989)《中国亲属称谓指南》吴茂萍(2002)《唐代称谓词研究》吉常宏(2000)《汉语称谓大词典》เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลง การเกิดใหม่ของคำเรียกขานและคำเรียกญาติในหลากหลายแง่มุม เช่น [韩]金炫兄(2002)《交际称谓语和委婉语》罗湘英(2002)《亲属称谓的词缀化现象》潘之欣,张迈曾(2001)《汉语亲属语扩展用法调查》潘攀(1998)《论亲属称谓语泛化》เป็นต้น หรือมีงานที่ให้ความสนใจศึกษาในหัวข้อการเปรียบเทียบกับภาษาอื่นๆ เช่น姜春霞(2002)《汉英称谓语对比与翻译》李红霞(2002)《称呼语的跨文化对比研究》เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย นักวิชาการมีความสนใจศึกษาคำเรียกญาติและคำเรียกขานในภาษาจีนหลายแง่มุม แต่ด้วยเหตุที่ภาษาจีนมีหลากหลายสำเนียง ประชาชนชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยก็มาจากหลายพื้นที่ที่พูดภาษาสำเนียงต่างๆกัน ชาวจีนที่พูดภาษาสำเนียงเดียวกันมักตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นชุมชนเดียวกัน ทำให้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคำเรียกญาติและคำเรียกขานภาษาจีนของไทยมุ่งไปที่ภาษาจีนของชาวจีนที่พูดสำเนียงใดสำเนียงหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น งานวิจัยของ ศุภมาส เอ่งฉ้วน (2526) เรื่อง คำเรียกญาติภาษาจีนฮกเกี้ยนในภาคใต้ของประเทศไทยและเกาะปีนัง เป็นการศึกษาวิเคราะห์คำเรียกญาติพื้นฐานและที่สัมพันธ์โดยการแต่งงานในภาษาจีนฮกเกี้ยน หรืองานวิจัยของ สุดา หัสสภาณุ (2545) เรื่อง วิเคราะห์รูปแบบของคำเรียกขานในภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งศึกษาวิเคราะห์รูปแบบของคำเรียกขานในภาษาจีนแต้จิ๋วที่ใช้โดยคนไทยเชื้อสายจีนในเยาวราช งานวิจัยของ ญาดาคุณัชญ์ หวังเสต(2545) เรื่อง การใช้คำเรียกขานของคนจีนแต้จิ๋วในกรุงเทพมหานคร เป็นการศึกษารูปแบบการใช้คำเรียกขานของคนแต้จิ๋วในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับวิทยานิพนธ์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยของ ชนากานต์ ฉ่างทองคำ (2551) เรื่องการศึกษาคำเรียกญาติภาษาจีนแคะ (ฮากกา) ในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ก็เป็นการศึกษาคำเรียกญาติในเชิงสังคมและวัฒนธรรมของภาษาจีนแคะในท้องที่เฉพาะดังกล่าว
ส่วนการศึกษาวิเคราะห์ระบบคำเรียกญาติในภาษาจีนกลางยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อาจเนื่องมา จากไม่มีชุมชนชาวจีนที่พูดภาษาจีนกลางอยู่ในประเทศไทย หรืออาจเนื่องด้วยภาษาจีนกลางเป็นสำเนียงภาษากลุ่มใหญ่ทำให้ผู้ศึกษาวิจัยคิดว่ามีผู้ศึกษาไว้แล้ว แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับระบบคำเรียกญาติในภาษาจีนกลาง ผู้เรียนภาษาจีนชาวไทยยังขาดข้อมูลความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับคำเรียกญาติในภาษาจีนที่เป็นระบบ จึงทำให้เกิดความสับสนและสร้างปัญหาความไม่เข้าใจในการใช้คำเรียกญาติภาษาจีนอยู่เป็นนิจ

วิธีการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลการใช้คำเรียกญาติจากการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง ข้อมูลเอกสาร แล้วนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างญาติ และระบบคำเรียกญาติ

ผลการศึกษา
บทความนี้วิเคราะห์ระบบคำเรียกญาติในภาษาจีน โดยแยกเป็นประเด็นต่างๆ 6 ประเด็น ได้แก่ 1.คำเรียกญาติและการใช้คำเรียกญาติ 2.โครงสร้างของคำเรียกญาติ 3.ลักษณะการประกอบคำเรียกญาติ 4.ลักษณะทางความหมายของคำเรียกญาติ 5.หน้าที่ของคำเรียกญาติ และ 6.หลักเกณฑ์การใช้คำเรียกญาติ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียนภาษาจีนชาวไทยในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมการใช้คำเรียกญาติในภาษาจีน และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

1. คำเรียกญาติและการใช้คำเรียกญาติ
คำเรียกญาติในภาษาจีนแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ 1.คำเรียกกลุ่มญาติสายตรง(นามสกุลเดียวกัน) 2.คำเรียกกลุ่มญาติข้างเคียง (นามสกุลเดียวกัน) 3. คำเรียกกลุ่มญาตินอกสายตระกูล (ต่างนามสกุล) 4. คำเรียกกลุ่มญาติโดยการแต่งงาน (ต่างนามสกุล) 5. คำเรียกระหว่างสามีภรรยา ส่วนการใช้คำเรียกญาติทั้ง 5 กลุ่มดังกล่าวมีลักษณะเด่นคือ คำที่เรียกญาติคนเดียวกันจะมีคำเรียกหลายๆ คำ หรือมีวิธีเรียกหลายๆแบบ ตามข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ คำเรียกต่อหน้า คำเรียกลับหลัง คำเรียกแบบเคารพ คำเรียกแบบถ่อมตัว ดังแสดงในตารางต่อไปนี้
ตาราง 1 กลุ่มญาติสายตรง (นามสกุลเดียวกัน)
规则
หลักเกณฑ์
กลุ่ม
ญาติเป้าหมาย
对象 คำเรียกญาติภาษาจีน
คำเรียกต่อหน้า คำเรียกลับหลัง คำเรียกแบบเคารพ คำเรียกแบบถ่อมตัว
พ่อของปู่
祖父
之父 老爷爷lǎoyéye 太爷爷tàiyéye老祖lǎozǔ 曾祖父
zēnɡ zǔfù
老祖
lǎozǔ 令曾祖
lìnɡ
zēnɡzǔ 家曾祖
jiāzēnɡzǔ
แม่ของปู่
祖父
之母 老奶奶
lǎonǎinɑi
太奶奶
tàinǎinɑi
老祖奶奶
lǎozǔnǎinɑi 曾祖母
zēnɡ
zúmǔ
老祖奶奶
lǎozǔ
nǎinɑi 令曾祖母
lìnɡzēnɡ
zúmǔ 家曾祖母
jiāzēnɡ zúmǔ

พ่อของพ่อ
父之父 爷爷 yéye
祖爷zǔyé
爷爷yéye
祖父zǔ fù 令祖
lìnɡzǔ 家祖
jiāzǔ
แม่ของพ่อ
父之母 奶奶 nǎinɑi
祖母 zúmǔ
奶奶 nǎinɑi 令祖母
lìnɡzúmǔ 家祖母
jiāzúmǔ
พ่อ
父亲 爸 bà
爸爸bàbɑ
爹爹diēdiē 父亲
fùqīn
爸爸bàbɑ 令尊
lìnɡzūn
尊公
zūnɡōnɡ 家父jiāfù
家严jiāyán
แม่
母亲 妈mā
妈妈māmɑ
娘niánɡ 母亲 mǔqīn
妈妈 māmɑ 令堂
lìnɡtánɡ
令慈
lìnɡcí 家母jiāmǔ
家慈jiā cí
พี่ชาย
父母所生育长于自己的男性 哥ɡē 哥哥ɡēɡe
(นับตามลำดับเรียก
二哥 èrɡē
三哥sānɡē) เหมือนคำเรียกต่อหน้า 令兄
lìnɡxiōnɡ 家兄jiāxiōnɡ
愚兄yúxiōnɡ
น้องชาย
父母所生育幼于自己的男性 เรียกชื่อ、弟弟dì di(นับตาม ลำดับ เรียก 老二lǎoèr
老三lǎo sān)

เหมือนคำเรียกต่อหน้า 令弟
lìnɡdì

舍弟shědì
愚弟yúdì

พี่สาว
父母所生育长于自己的女性 เรียกชื่อ
姐jiě
姐姐jiějie เหมือนคำเรียกต่อหน้า 令姐
lìnɡjiě 家姐
jiājiě
น้องสาว
父母所生育幼于自己的女性 เรียกชื่อ
妹妹mèimei เหมือนคำเรียกต่อหน้า 令妹
lìnɡmèi 舍妹shěmèi
ลูกชาย
儿子 เรียกชื่อ 儿子
érzi 孩子
hái zi 令郎
lìnɡlánɡ
令公子
lìnɡɡōnɡzǐ
贵公子
ɡuìɡōnɡzǐ 小儿xiǎoér
小子xiǎozi
ลูกสาว
女儿 เรียกชื่อ 女儿nǚér
孩子
hái zi 令爱
lìnɡ ài
贵千金
ɡuìqiān
jīn … 小女xiǎonǚ
ลูกชายของลูกชาย
子之子
เรียกชื่อ 孙子
sūnzi 令孙子
lìnɡsūnzi 小孙xiǎosūn
舍孙shěsūn
ลูกสาวของลูกชาย
子之女
เรียกชื่อ 孙女
sūnnǚér
令孙女儿
lìnɡsūn
nǚér 舍孙女儿
shěsūnnǚér
ลูกชายของหลาน
孙之子 เรียกชื่อ重孙子
chónɡsūnzi 曾孙
zēnɡsūn
重孙 chónɡ
sūn 令曾孙子
lìnɡzēnɡ
sūnzi -
ลูกสาวของหลาน
孙之女 เรียกชื่อ、重孙女儿
chónɡsūnnǚér
曾孙女
zēnɡsūn nǚ
重孙女
chónɡ
sūnnǚ 令曾孙女
lìnɡzēnɡ
sūnnǚ -






ตาราง 2 กลุ่มญาติข้างเคียง (นามสกุลเดียวกัน(
规则
หลักเกณฑ์
กลุ่มญาติ
เ เป้าหมาย
对象 คำเรียกญาติภาษาจีน
คำเรียก
ต่อหน้า คำเรียก
ลับหลัง คำเรียกแบบเคารพ คำเรียกแบบถ่อมตัว
พี่ชายของพ่อ
父之兄 大伯dàbó
伯伯bóbo
大爷dàyé(นับตามลำดับ เรียก
大爷 dàyé
二大爷
èrdàyé 伯父 bófù
大爷 dàyé
นับตาม ลำดับ เรียก
大爷dàyé
二大爷 èrdàyé 令伯(父)lìnɡ bó(fù) 家伯(父)jiā bó(fù)
น้องชายของพ่อ
父之弟 叔叔shū shu
叔父shū fù、叔叔shū shu 令叔(父)
lìnɡshū
(fù) 家叔(父)jiāshū
(fù)
พี่สาวน้องสาวของพ่อ
父之姐妹 姑姑ɡūɡu
姑妈ɡūmā 姑姑 ɡūɡu
姑妈 ɡūmā
姑母 ɡūmǔ 令姑(母)
lìnɡɡū
(mǔ) 家姑(母)jiāɡū(mǔ)
พี่ชายที่เป็นลูกของลุงหรืออา
伯父或叔父之子年长于自己者 哥哥ɡēɡe

堂兄tánɡxiōnɡ
堂哥tánɡɡē 令堂兄
lìnɡtánɡ xiōnɡ 家堂兄
jiātánɡ xiōnɡ
น้องชายที่เป็นลูกของลุงหรืออา
伯父或叔父之子年幼于自己者 เรียกชื่อจริง
ชื่อเล่น 堂弟
tánɡdì 令堂弟
lìnɡtánɡdì 家堂弟
jiātánɡdì
พี่สาวที่เป็นลูกของลุงหรืออา
伯父或叔父之女年长于自己者 姐姐 jiějie 堂姐
tánɡjiě

令堂姐
lìnɡ
tánɡ jiě 家堂姐
jiā
tánɡ
jiě
น้องสาวที่เป็นลูกของลุงหรืออา
伯父或叔父之女年幼于自己者 妹妹 mèimei
小妹 xiǎomèi 堂妹tánɡmèi 令堂妹
lìnɡ
tánɡmèi 家堂妹
jiā
tánɡmèi
ลูกชายของพี่ชายน้องชาย
兄弟之子 เรียกชื่อ
侄儿zhízi
侄子zhízi 令侄子
lìnɡzhízi 舍侄
shězhí
ลูกสาวของพี่ชายน้องชาย
兄弟之女 เรียกชื่อ
侄女儿
zhínǚér 侄女zhínǚ 令侄女
lìnɡzhínǚ 舍侄女
shězhínǚ
ลูกชายของ
หลานที่เป็นลูกของพี่ชายน้องชาย
侄子之子 เรียกชื่อ
侄孙子
zhísūnzi 侄孙 zhísūn
令侄孙lìnɡ
zhísūn 舍侄孙shě
zhísūn
ลูกสาวของ
หลานที่เป็นลูกของพี่ชายน้องชาย
侄子之女 เรียกชื่อ、侄孙女儿zhí sūn
nǚ ér 侄孙女zhísūnnǚ 令侄孙女
lìnɡ
zhísūnnǚ 舍侄孙女
shě
zhísūnnǚ

ตาราง 3 กลุ่มญาตินอกสายตระกูล (ต่างนามสกุล)
规则
หลักเกณฑ์
กลุ่มญาติ
เป้าหมาย
对象 คำเรียกญาติภาษาจีน
คำเรียกต่อหน้า คำเรียกลับหลัง คำเรียกแบบเคารพ คำเรียกแบบถ่อมตัว
พ่อของแม่
母之父 老爷lǎoyé
外公wàigōng
老爷lǎoyé,外公wàigōng,
外祖父
wàizǔfù 令外祖父
lìng
wàizǔfù
家外祖父
jiā
wàizǔfù

แม่ของแม่
母之母 姥姥lǎolɑo
外婆 wàipó
姥姥lǎolao
外婆 wàipó
外祖母
wàizǔmǔ 令外祖母
lìng
wàizǔmǔ 家外祖母
jiā
wàizǔmǔ

พี่ชายน้องชายของแม่
母之兄弟 舅舅
jiùjiu 舅父 jiùfù
舅舅 jiùjiu 令舅(父)
lìng jiùfù 家舅(父)
jiā iùfù
พี่สาวน้องสาวของแม่
母之姐妹 姨 yí
姨妈yímā 姨母yímǔ
姨妈yímā 令姨母
lìng yímǔ 家姨母
jiā yímǔ
ลูกชายของพี่ชายน้องชายแม่ที่อายุมากกว่าตน
母的兄弟姐妹之子年长于自己者 表哥biǎogē
哥哥gēge 表兄
biǎoxiōng
表哥biǎogē 令表兄
lìng
biǎoxiōng

家表兄
jiā
biǎoxiōng

ลูกชายของพี่ชายน้องชายแม่ที่อายุน้อยกว่าตน
母的兄弟姐妹之子年幼于自己者
表弟
biǎodì 表弟
biǎodì 令表弟
lìng
biǎodì 家表弟
jiā biǎodì
ลูกสาวของพี่ชายน้องชายแม่ที่อายุมากกว่าตน
母的兄弟姐妹之女年长于自己者 表姐biǎojiě 表姐 biǎojiě 令表姐
lìng
biǎojiě 家表姐
jiā
biǎojiě
ลูกสาวของพี่ชายน้องชายแม่ที่อายุน้อยกว่าตน
母的兄弟姐妹之女年幼于自己者 เรียกชื่อ
表妹biǎomèi 表妹biǎomèi 令表妹lìng
biǎomèi 家表妹
jiā biǎomèi
ลูกชายของพี่สาวน้องสาว
姊妹之子 เรียกชื่อǔ 外甥
wài shēng 令(外)甥
lìng wài shēng 舍(外)甥
shě wài
shēng
ลูกสาวของพี่สาวน้องสาว
姊妹之女 เรียกชื่อ 外甥女
wài shēng
nǚ 令(外)甥女
lìng wài shēng nǚ 舍(外)甥女
shě wài
shēng nǚ
ลูกชายของลูกสาว
女儿之子 เรียกชื่อ 外孙wài sūn 令外孙lìng wài sūn 舍外孙
shě wài sūn
ลูกสาวของลูกสาว
女儿之女 เรียกชื่อ 外孙女
wài sūn nǚ 令外孙女
lìng wài
sūn nǚ 舍外孙女
shě wài
sūn nǚ

ตาราง 4 กลุ่มญาติโดยการแต่งงาน (ต่างนามสกุล)
规则
หลักเกณฑ์
กลุ่มญาติ
เป้าหมาย
对象 คำเรียกญาติภาษาจีน
คำเรียกต่อหน้า คำเรียกลับหลัง คำเรียกแบบเคารพ คำเรียกแบบถ่อมตัว
ภรรยาของพี่ชายพ่อ
父之兄的配偶 大妈 dàmā
大娘 dàniáng 伯母 bómǔ 令伯母
lìng bómǔ 家伯母
jiā bómǔ
ภรรยาของน้องชายพ่อ
父之弟的配偶


婶子 shěnzi 婶母shěnmǔ 令婶 ling
shěnmǔ 家婶(母)
jiā shěnmǔ
สามีของพี่สาวน้องสาวพ่อ
父之姐妹的配偶 姑父(夫)
gūfù 姑父(夫)
gūfù 令姑父(夫)
lìng gūfù 家姑父(夫)
jiā gūfù
ภรรยาของพี่ชายน้องชายแม่
母之兄弟的配偶 舅妈jiùmā
妗子 jìnzi 舅母jiùmǔ
舅妈jiùmā
妗子 jìnzi 令舅母
lìng jiùmǔ 家舅母
jiā jiùmǔ
ภรรยาของพี่ชาย
兄的配偶 嫂子sǎozi
(นับตามลำดับ เรียก 大嫂(子)、二嫂(子)…) 嫂子
sǎozi
令嫂
lìng sǎo
家(愚)嫂子
jiā(yú) sǎozi

ภรรยาของน้องชาย
弟的配偶 弟妹 dìmèi 弟媳dìxí
弟妹dìmèi 令弟媳
lìngdìxí 家弟媳
jiā dìxí
สามีของพี่สาว
姐的配偶 姐夫 jiěfū 姐夫jiěfū 令姐夫
lìng jiěfū 家姐夫
jiā jiěfū
สามีของน้องสาว
妹的配偶 妹夫 mèifū 妹夫mèifū 令妹夫
lìng mèifū 家妹夫
jiā mèifū
พี่ชายสามี
夫之兄 哥哥gēge 大伯子
dàbózi 令大伯子
lìng dàbózi 家大伯子
jiā dàbózi
น้องชายสามี
夫之弟 弟弟 dìdi
เรียกชื่อ 小叔子
xiǎoshūzi 令小叔子lìng
xiǎoshūzi 家小叔子jiā
xiǎoshūzi
พี่ชายภรรยา
妻之兄 哥哥gēge 内兄
nèixiōng
大舅子
dàjiùzi 令内兄lìng
nèixiōng
大舅子
dàjiùzi 舍大舅子
shě dàjiùzi
น้องชายภรรยา
妻之弟 小弟 xiǎodì
เรียกชื่อ 内弟 nèidì
小舅子
xiǎojiùzi 令内弟
lìngnèidì
小舅子
xiǎojiùzi 舍小舅子
shě xiǎojiùzi
พี่สาวสามี
夫之姐 姐姐 jiějie 大姑子dàgūzi 令大姑子
lìngdàgūzi -
น้องสาวสามี
夫之妹 妹妹 mèimei
เรียกชื่อ 小姑子
xiǎogūzi 令大姑子
lìng
xiǎo gūzi -
พี่สาวภรรยา
妻之姐 姐姐jiějie 大姨子
dàyízi 令大姨子
lìng dàyízi
家大姨子
jiā dàyízi

น้องสาวภรรยา
妻之妹 小妹xiǎomèi
เรียกชื่อ 小姨子
xiǎoyízi 令小姨子
lìng
xiǎoyízi 家小姨子
jiā
xiǎoyízi
ภรรยาของลูกชาย
儿子的配偶 เรียกชื่อ 儿媳 érxí 令儿媳
lìng érxí 小媳xiǎoxí
สามีของลูกสาว
女儿的配偶 เรียกชื่อ 女婿 nǚxù 令女婿
lìng nǚxù 小(女)婿
xiǎo nǚxù
ภรรยาของหลานชาย(หลานอา)
侄子的配偶 เรียกชื่อ 侄媳 zhíxí 令侄媳
lìng zhíxí 舍侄媳
shě zhíxí
สามีของหลานสาว
(หลานอา)
侄女的配偶 เรียกชื่อ 侄婿zhíxù 令侄婿
lìng
zhíxù -
ภรรยาของหลานชาย
孙子的配偶 เรียกชื่อ 孙媳 sūnxí 令孙媳
lìngsūnxí 舍孙媳
shě sūnxí
สามีของหลานสาว
孙女的配偶 เรียกชื่อ 孙婿sūnxù 令孙婿
lìngsūnxù 舍孙婿
shě sūnxù
พ่อสามี
夫之父 爸爸 bàbɑ 公公
gōnggong - -
แม่สามี
夫之母 妈妈 māmɑ 婆婆 pópo - -
พ่อภรรยา
妻之父 爸爸bàbɑ 岳父 yuèfù - -
แม่ภรรยา
妻之母 妈妈māmɑ 岳母yuèmǔ - -

ตาราง 5 คำเรียกระหว่างสามีภรรยา
หลักเกณฑ์
กลุ่ม
ญาติเป้า
หมาย คำเรียกญาติภาษาจีน
คำเรียก
ต่อหน้า คำเรียก
ลับหลัง คำเรียกแบบเคารพ คำเรียกแบบถ่อมตัว
สามี

เรียกชื่อ 老+แซ่、คำเรียกแบบสนิทสนม(老头子
Lǎotóuzi “ตาแก่”亲爱的
qīn ài de “ที่รัก”)
คำเรียกหักเห (孩子他爸 háizi tā bà “พ่อไอ้หนู”)老公 lǎogōng “ผัว”老伴儿
lǎobànr “คู่ชีวิต” 爱人 ài rén “คนรัก”丈夫zhàngfu “สามี”
先生 xiān shēng “สามี” 孩子他爸 háizi tā bà “พ่อไอ้หนู”老公lǎo gōng “ผัว” 先生
xiānshēng “สามี” 拙夫 zhuōfū
“คำเรียกสามีตนแบบถ่อมตัว (ผัวเขลา)”

ภรรยา
妻 เรียกชื่อ 老+แซ่、คำเรียกแบบสนิทสนม(老婆子
lǎopózi “ยายแก่”亲爱的 qīn ài de “ที่รัก”)คำเรียกหักเห(孩子他妈 háizi tā mā “แม่ไอ้หนู”)老婆lǎo pó “เมีย”老伴儿
lǎobànr “คู่ชีวิต” 爱人 ài rén “คนรัก”太太 tàitai “ภรรยา”孩子他妈háizi tā mā “แม่ไอ้หนู” 尊夫人zūnfūrén “ศรีภรรยา”、嫂夫人 sǎo fūrén “ภรรยา” 、太太tàitai “ภรรยา”、贤妻 xiánqī “ภรรยา”贤内助xián nèi zhù “ภรรยา” 内子 nèizi 贱人jiànrén “คำเรียกภรรยาตนแบบถ่อมตัว(หญิงไร้ค่า)” 愚妻yúqī “คำเรียกภรรยาตนแบบถ่อมตัว
( เมียเขลา )”

2. โครงสร้างของคำเรียกญาติ
โดยทั่วไปคำเรียกญาติในแต่ละภาษาสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ คำเรียกญาติเฉพาะ และคำเรียกญาติแบบอธิบายญาติ กล่าวคือ คำเรียกญาติเฉพาะแฝงความหมายในเรื่องของรุ่นต่างๆ ของญาติ ไม่แสดงความหมายในเรื่องสายตระกูลจำพวก สายพ่อ สายแม่ สายตรง สายเกี่ยวดอง ตลอดจนการเรียงลำดับต่างๆ เช่น 爷爷yéye “ปู่” 奶奶 nǎinɑi “ย่า” 爸爸bàbɑ “พ่อ” 妈妈māmɑ “แม่” ส่วนคำเรียกญาติแบบอธิบายญาติจะแฝงความหมายในเรื่องสายตระกูล สายพ่อ สายแม่ สายเกี่ยวดอง ตลอดจนลำดับญาติในแต่ละรุ่นอย่างชัดเจน เช่น คำเรียกญาติที่มีคำว่า 堂 tánɡ “แสดงความเป็นญาติในสายตระกูล” 表 biǎo “แสดงความเป็นญาตินอกสายตระกูล” เป็นต้น
สำหรับคำเรียกญาติในภาษาจีนนั้นจัดเป็น “คำเรียกญาติแบบอธิบายญาติ” ชุดคำเรียกญาติในภาษาจีนเกิดขึ้นบนพื้นฐานทางสังคมเป็นสำคัญ สังคมดั้งเดิมของจีนถือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกเป็นปัจจัยสำคัญในการสืบสายตระกูล โครงสร้างลึกอันถือเป็นพื้นฐานหลักของโครงสร้างสังคมนี้เป็นความสัมพันธ์โดยการสืบสายเลือด มีผลต่อกฎหมายการสืบสกุลและการสืบสมบัติของวงศ์ตระกูล ซึ่งก็คือสายพ่อเพศชายนั่นเอง ดังนั้นระบบเครือญาติของสังคมจีนจะแบ่งญาติสายพ่อและญาติสายแม่ออกจากกันอย่างชัดเจน
ส่วนการเกี่ยวดองสัมพันธ์เป็นญาติเกิดจากการแต่งงานนั้น ญาติทั้งเพศหญิงและชายของคู่สามีภรรยาล้วนมีชุดคำเรียกญาติที่แสดงถึงความสัมพันธ์กันชัดเจน คำเรียกญาติเหล่านี้ถือเป็นคำเรียกญาติสายสามีภรรยา ภายในสายสกุลแต่ละชั้นยังแบ่งเพศชายหญิง อายุมากน้อย และรุ่นของญาติอีกด้วย เช่น รุ่นเดียวกันกับเรา มี 哥哥 ɡēɡe “พี่ชาย” 姐姐 jiějie “พี่สาว” 弟弟dìdi “น้องชาย” 妹妹 mèimei “น้องสาว”
ด้วยเหตุนี้ ระบบเครือญาติและคำเรียกญาติในภาษาจีนจึงเป็นระบบเครือญาติที่มีความสลับ ซับซ้อนและเคร่งครัด ดังนั้นการอธิบายระบบเครือญาติและคำเรียกญาติในภาษาจีนสามารถใช้ “สายตระกูล” ซึ่งแบ่งเป็น สายพ่อ สายแม่ และสายสามีภรรยาเป็นตัวตั้งในการอธิบาย ภายในสายตระกูลใช้เพศชายหญิง อายุมากน้อย และรุ่นของญาติเป็นข้อกำหนดในการแบ่งญาติอีกชั้นหนึ่ง ต่อไปจะได้อธิบายโครงสร้างระบบเครือญาติและคำเรียกญาติในภาษาจีนโดยใช้ “ตัวเอง”เป็นตัวตั้งแล้วนับญาติทั้งรุ่นก่อนและรุ่นหลัง 2 รุ่นดังนี้

แผนภูมิ 1 ญาติสายพ่อ


แผนภูมิที่ 2 ญาติสายแม่


แผนภูมิ 3 ญาติเกี่ยวดอง(โดยการแต่งงาน)
จากแผนภูมิโครงสร้างระบบเครือญาติ สามารถอธิบายได้ดังนี้
2.1 ญาติสายพ่อ สามารถแบ่งตามลำดับรุ่นได้ดังนี้
1) รุ่นสูงกว่าตัวเอง 2 รุ่น ได้แก่ 祖父zǔ fù “พ่อของพ่อ”, 祖母zǔ mǔ “แม่ของพ่อ”
2) สูงกว่าตน 1 รุ่น คือญาติรุ่นพ่อได้แก่ 父亲 fùqīn“พ่อ” 伯父 bófù “พี่ชายของพ่อ” 叔父 shūfù “น้องชายของพ่อ” 姑 ɡū “พี่สาวน้องสาวของพ่อ”
3) รุ่นเดียวกันกับตัวเอง ญาติสายพ่อรุ่นเดียวกันกับตัวเองที่เป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกันคือ 兄xiōnɡ “พี่ชาย” 姐jiě “พี่สาว” 弟 dì “น้องชาย ” 妹 mèi“น้องสาว” นอกจากนี้ยังมีพี่น้องที่เป็นลูกของพี่ชายพี่สาวและน้องชายน้องสาวของพ่ออีกด้วย คำเรียกพี่น้องเหล่านี้ใช้เหมือนกับพี่น้องของตนเองแต่มีคำว่า “堂” tánɡ วางไว้ข้างหน้าเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นญาติสายพ่อ นามสกุลเดียวกัน ได้แก่ 堂兄 tánɡ xiōnɡ 堂弟 tánɡ dì 堂姐 tánɡ jiě 堂妹 tánɡ mèiส่วนพี่น้องที่เป็นลูกของพี่สาว น้องสาวพ่อจะมีคำว่า “表” biǎo วางไว้ข้างหน้าเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นพี่น้องสายพ่อเพศหญิง (ต่างนามสกุล) ได้แก่ 表兄 biǎo xiōnɡ 表弟 biǎo dì 表姐 biáo jiě 表妹 biǎo mèi
4) รุ่นต่ำกว่าตัวเอง 1 รุ่น คือรุ่นลูกโดยแบ่งตามเพศ มี 2 คำเรียกได้แก่ 儿子 ér zi
“ลูกชาย” 女儿nǚ ér “ลูกสาว” 侄儿zhí ér “หลานชายที่เป็นลูกของพี่ชายน้องชาย”侄女zhínǚ “หลานสาวที่เป็นลูกของพี่ชายน้องชาย” 外甥wàishenɡ “หลานชายที่เป็นลูกของพี่สาวน้องสาว” 外甥女wài shenɡ nǚ “หลานสาวที่เป็นลูกของพี่สาวน้องสาว”
5) รุ่นต่ำกว่าตัวเอง 2 รุ่น คือรุ่นหลาน ได้แก่ 孙子sūn zi “หลานชายที่เป็นลูกของลูกชาย” 孙女sūn nǚ “หลานสาวที่เป็นลูกของลูกชาย” 外孙子 wài sūnzi “หลานชายที่เป็นลูกของลูกสาว” 外孙女 wài sūn nǚ “หลานสาวที่เป็นลูกของลูกสาว”
2. 2ญาติสายแม่ มี
1) ใช้เพศชายเป็นตัวตั้ง ได้แก่ 妻子qīzi “ภรรยา” 内兄弟nèi xiōnɡ di “พี่ชายน้องชายภรรยา” 大(小)姨子dà(xiǎo)yízi “พี่สาวน้องสาวภรรยา” 岳父母yuè fu mǔ “พ่อแม่ภรรยา” 嫂子sǎozi “ภรรยาของพี่ชาย” 弟媳dìxí“ภรรยาของน้องชาย” 姐夫jiěfu “สามีของพี่สาว” 妹夫mèifu “สามีของน้องสาว”
2) ใช้เพศหญิงเป็นตัวตั้ง ได้แก่ 丈夫 zhànɡfu “สามี” 公公 ɡōnɡɡonɡ “พ่อสามี” 大(小)姑子 dà(xiǎo)ɡūzi “พี่สาวน้องสาวสามี” 大伯子 dà bó zǐ“พี่ชายสามี” 小叔子 xiǎo shūzi “น้องชายสามี” 妯娌 zhóulǐ“ภรรยาของพี่ชายน้องชายสามี”儿媳 érxí “ลูกสะใภ้” 孙媳 sūnxí “หลานสะใภ้”

3. ลักษณะการประกอบคำเรียกญาติในภาษาจีน
คำเรียกญาติในภาษาจีนประกอบกันขึ้นด้วยหลากหลายปัจจัยรวมกัน แต่ละปัจจัยทำหน้าที่ชัดเจน ส่งผลให้การประกอบคำ การแบ่งคำชัดเจนและเป็นระบบมาก อันประกอบด้วย แบ่งเพศชายหญิง อายุมากน้อย และการสืบสายตระกูล นอกจากนี้หน้าที่ของคำศัพท์ก็มีการแบ่งที่ชัดเจนมากเช่นกัน กล่าวคือ มีการแบ่งคำที่ใช้เป็นคำเรียกบุรุษที่สองและคำเรียกบุรุษที่สามแยกออกจากกันอีกด้วย ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้
3.1 ความแตกต่างของเพศชายและเพศหญิง เพศไม่เพียงเป็นความแตกต่างทางกายภาพเท่านั้น หากแต่เป็นตัวกำหนดและสร้างเงื่อนไขต่างๆในสังคมที่สำคัญยิ่ง เพศมีบทบาทที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการประกอบและสร้างคำเรียกญาติในภาษาจีน เพราะความแตกต่างระหว่างเพศเป็นตัวกำหนดความแตกต่างในการแบ่งเครือญาติ การสืบสายตระกูลถือเอาเพศชาย จากปู่สู่พ่อ สู่ลูกชาย สู่หลานชายเป็นญาติสายตรงนามสกุลเดียวกัน ส่วนเพศหญิงเป็นจากยายสู่แม่ สู่ลูกสาว สู่หลานสาวเป็นญาตินอกสายตระกูลต่างนามสกุล การแบ่งสายตระกูลเช่นนี้เป็นผลมาจากการกำหนดความแตกต่างทางเพศของพ่อและแม่ ญาติสายพ่อที่เป็นเพศชายจะสืบต่อนามกุลเดียวกัน ส่วนญาติสายพ่อที่เป็นเพศหญิงจะใช้นามสกุลเดียวกัน แต่จะไม่สามารถสืบต่อนามสกุลได้ เนื่องจากลูกที่เกิดมาจะใช้นามสกุลฝ่ายพ่อของสายตระกูลเพศชายอีกสายตระกูลหนึ่ง

3.2 มีการเรียงลำดับตามความแตกต่างของรุ่น คำเรียกญาติในแต่ละรุ่น และคำเรียกญาติในรุ่นเดียวกันแต่ต่างอายุกันมีความแตกต่างและแบ่งแยกกันอย่างเคร่งครัด ดูเหมือนว่าเกณฑ์สำคัญในการแบ่งคำเรียกญาติในภาษาจีนจะใช้อายุเป็นหลัก อายุกับรุ่นดูจะสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วอายุอาจไม่ใช่ข้อกำหนดเด่นชัดในการกำหนดคำเรียกญาติเลย ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเช่น ก. เป็นลูกของปู่และย่า ที่เกิดหลังตนเอง มีอายุน้อยกว่าตนเอง หากเอาเกณฑ์อายุมาแบ่งต้องเรียก ก. ว่าน้อง แต่ ก มีศักดิ์เป็น อาของตนเอง เพราะใช้ “รุ่น” เป็นตัวแบ่งนั่นเอง ในภาษาจีนแบ่งคำเรียกญาติตามลำดับชั้นดังนี้
ชั้นที่หนึ่ง : 高祖 ɡāozǔ (สูงกว่า 4 รุ่น)
ชั้นที่สอง : 曾祖父 zēnɡzǔfù 曾祖母 zēnɡzúmǔ(สูงกว่า 3 รุ่น)
ชั้นที่สาม : 祖父zǔfù 祖母zúmǔ 外祖父wàizǔfù 外祖
母wài zúmǔ (สูงกว่า 2 รุ่น)
ชั้นที่สี่ : 父亲 fùqīn 母亲 mǔqīn 伯父 bófù 伯母
bómǔ 叔父 婶母 shénmǔ 姑父 ɡūfu 姑母 ɡūmǔ
舅父jiùfù 舅母 jiùmǔ 姨父 yífù 姨母 yímǔ
岳父 yuèfu 岳母 yuèmǔ (สูงกว่า 1 รุ่น)
ชั้นที่ห้า : (ตัวเอง)哥哥ɡēɡe嫂嫂sǎosǎo 姐姐jiějie 姐
夫jiěfu 弟弟dìdi 弟妹dìmèi 妹妹mèimei 妹夫
mèifu 堂兄tánɡxiōnɡ 堂嫂tánɡsǎo 表兄
biǎoxiōnɡ 表嫂 biǎosǎo 内兄nèi xiōnɡ 妻妹
qīmèi 襟兄 jīnxiōnɡ (รุ่นเดียวกันกับตนเอง)
ชั้นที่หก :儿子 érzi 女儿 nǚér 侄儿zhíér 外甥
wàishenɡ 内甥 nèishēnɡ 侄婿 zhíxù (ต่ำกว่า 1
รุ่น)
ชั้นที่เจ็ด :孙子sūnzi 孙女sūnnǚ 外孙 wàisūn 外孙女
wàisūnnǚ 侄孙 zhísūn 侄孙女 zhísūnnǚ 孙
媳 sūnxí 外孙媳 wàisūnxí (ต่ำกว่า 2 รุ่น)
ชั้นที่แปด :曾孙 zēnɡsūn 曾孙女 zēnɡsūnnǚ 曾外孙
zēnɡwàisūn 曾外孙女 zēnɡwàisūnnǚ (ต่ำกว่า3 รุ่น)
ชั้นที่เก้า :玄孙xuánsūn (ต่ำกว่า 4 รุ่น)

3.3 มีการแบ่งสายตระกูลชัดเจน การแบ่งสายตระกูลมีความสัมพันธ์กับการสืบนามสกุล ลูกของพี่ชายน้องชายพ่อ ใช้คำว่า “堂 ”tánɡ นำหน้าคำเรียกญาติ เพราะเป็นญาตินามสกุลเดียวกันและถือเป็นสายตระกูลเดียวกัน ส่วนลูกของพี่สาวน้องสาวพ่อกลับเติม “表” biǎo หน้าคำเรียกขานเพราะญาติเหล่านี้ถือเป็นญาตินอกสายตระกูลเหมือนกับลูกของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาวแม่ ญาติกลุ่มนี้ต่างนามสกุลกับตน
3.4 มีการแบ่งคำเรียกญาติต่อหน้าและคำเรียกญาติลับหลังอย่างชัดเจน ในที่นี้คือคำเรียกญาติที่ใช้เรียกบุรุษที่หนึ่ง และคำเรียกญาติที่ใช้เป็นบุรุษที่สามมีคำเรียกที่แบ่งแยกกันชัดเจน ดังนั้นคำเรียกญาติในภาษาจีนจะมีอยู่สองชุด ชุดหนึ่งคือคำที่ใช้เป็นบุรุษที่หนึ่ง และอีกชุดหนึ่งคือคำที่ใช้เป็นบุรุษที่สาม ซึ่งคำทั้งสองชุดนี้ยังสามารถทำหน้าที่อื่นได้อีก กล่าวคือ คำที่ใช้เป็นบุรุษที่หนึ่งสามารถใช้เป็นภาษาพูด และคำที่ใช้เป็นบุรุษที่สามใช้เป็นภาษาหนังสือ ตัวอย่างเช่น 爷爷--祖父yéye--zǔfù “ปู่” 奶奶--祖母nǎinɑi--zúmǔ “ย่า” 爸爸--父亲 bàbɑ-- fùqīn “พ่อ” 妈妈--母亲māmɑ--mǔqīn “แม่” 哥--兄 ɡē -- xiōnɡ “พี่ชาย” ส่วนคำที่มีการเติมคำเพื่อบ่งบอกสายตระกูล หรือคำเรียกญาติที่มีคำบ่งความเป็นญาติแต่งงานจะใช้เป็นคำเรียกบุรุษที่สามเท่านั้น แต่เมื่อจะเรียกญาติเหล่านี้เป็นบุรุษที่หนึ่ง จะใช้วิธีเทียบอายุ และรุ่นกับญาติสายตรงแล้วเลือกคำเรียกญาติ
3.5 มีการแบ่งคำเรียกญาติแบบสุภาพกับคำเรียกญาติทั่วไป ในมุมมองของความสุภาพ ภาษาจีนมีการแบ่งคำเรียกญาติแบบสุภาพกับคำเรียกญาติแบบทั่วไปอีกด้วย คำเรียกญาติแบบสุภาพใช้เรียกเป็นบุรุษที่สาม ในส่วนนี้ยังแบ่งออกเป็นสองชุด คือ คำเรียกญาติบุรุษที่สามเพื่อแสดงความเคารพ(เรียกญาติผู้ฟัง) กับคำเรียกญาติบุรุษที่สามเพื่อแสดงความถ่อมตัว(เรียกญาติตนเอง) คำที่ใช้แตกต่างจากคำที่ใช้เรียกบุรุษที่หนึ่งซึ่งถือเป็นคำเรียกญาติปกติ การเรียกแบบสุภาพนี้ใช้วิธีการเติมอุปสรรคหน้าคำเรียกญาติปกติ คือ “令” lìnɡ ใช้เป็นคำเรียกญาติบุรุษที่สามเพื่อแสดงความเคารพ(เรียกญาติผู้ฟัง) “家” jiā “舍” shě ใช้เป็นคำเรียกญาติบุรุษที่สามเพื่อแสดงความถ่อมตัว(เรียกญาติตนเอง) หรือบางคำอาจไม่ใช้วิธีเติมอุปสรรคเหล่านี้ แต่มีคำอื่นเพื่อใช้เรียกแบบสุภาพโดยเฉพาะแยกต่างหาก ตัวอย่างเช่น 母亲--令堂--家慈 mǔqīn--lìnɡtánɡ--jiācí “แม่” 祖父—祖爷--令祖 zǔfù--zǔyé--lìnɡzǔ “ปู่” 姐姐--令姐--家姐 jiějie--lìnɡjiě--jiājiě “พี่สาว” เป็นต้น
จะเห็นว่าถึงแม้คำเรียกญาติในภาษาจีนจะมีความซับซ้อน แต่ก็เป็นระบบระเบียบทั้งโครงสร้าง คำเรียกญาติในภาษาจีนมีปัจจัยควบคุมหลายอย่างที่ควบคุมทั้งระบบ อันได้แก่ เพศ รุ่น อายุ สายตระกูล คำเรียกต่อหน้าและลับหลัง คำเรียกแบบสุภาพและถ่อมตัว ทำให้คำเรียกญาติในภาษาจีนแต่ละคำแฝงความหมายที่ละเอียดหลากหลายมิติ

4. ลักษณะทางความหมายของคำเรียกญาติในภาษาจีน
จากการวิเคราะห์พบว่า คำเรียกญาติในภาษาจีนใช้ได้หลายลักษณะ เช่น คำเรียกต่อหน้า (บุรุษที่หนึ่ง) คำเรียกลับหลัง (บุรุษที่สอง) คำเรียกแบบถ่อมตัว(บุรุษที่หนึ่ง) คำเรียกแบบเคารพ (บุรุษที่สอง) ในภาษาจีนคำที่หมายถึงญาติคนเดียวกันแต่ใช้ในลักษณะและสถานการณ์ต่างกัน คำที่ใช้จะแตกต่างกันด้วย มีสองลักษณะคือ เป็นคำเรียกญาติเฉพาะและคำที่เป็นส่วนประกอบ อธิบายดังนี้
4.1 คำเรียกต่อหน้าและคำเรียกลับหลัง
“คำเรียกต่อหน้า” หมายถึงคำที่ใช้เรียกผู้พูดและผู้ฟังในขณะที่สนทนากันซึ่งก็คือบุรุษที่หนึ่งและบุรุษที่สอง ส่วน “คำเรียกลับหลัง” คือคำที่ใช้เรียกผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งก็คือบุรุษที่สาม ดังจะอธิบายลักษณะเด่นของคำเรียกต่อหน้าและคำเรียกลับหลังดังนี้
4.1.1 จำนวนของคำเรียกต่อหน้าและคำเรียกลับหลังไม่เท่ากัน ญาติคนหนึ่งส่วนใหญ่จะมีคำเรียกต่อหน้าเพียงคำเดียว (มีเพียงบางคำที่มีเกิน 1 คำ เช่น คำเรียกพ่อ มีคำว่า 爸bà 、爹diē ) แต่หากเรียกญาติคนเดียวกันนั้นลับหลังสามารถเรียกได้สองคำหรือมากกว่านั้น เช่น คำเรียกพ่อที่เป็นคำเรียกต่อหน้า เรียกว่า “爸爸” bàbɑ แต่เมื่อเรียกพ่อลับหลังสามารถเรียกว่า “爸爸” bàbɑ “父亲” fùqīn “爹” diē “令尊” lìnɡzūn “尊公” zūnɡōnɡ ดังนั้นคำเรียกญาติในภาษาจีนสามารถแบ่งได้เป็นสองชุด จะเห็นว่าชุดที่เป็นคำเรียกลับหลังมิได้มีเพียงคำเดียว แต่มีคำหลายคำที่บ่งชี้ถึงญาติคนเดียว ซึ่งการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมเป็นสำคัญ เหตุผลที่มีการแบ่งคำเรียกญาติเป็นคำเรียกลับหลังและคำเรียกต่อหน้าคือ
1) คำเรียกต่อหน้าเกี่ยวพันถึงบุคคลเพียงสองคน คือ ผู้เรียกและผู้ถูกเรียก (ผู้ฟัง) ในที่นี้ผู้ถูกเรียกกับผู้ฟังเป็นคนเดียวกัน ดังนั้นปัจจัยของการเกิดคำเรียกต่อหน้าก็คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังโดยตรง ดังนั้นความหมายของคำเรียกต่อหน้าก็คือคำที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ฉันญาติโดยตรงนั่นเอง
2) ส่วนคำเรียกลับหลังเกี่ยวพันถึงความสัมพันธ์ของบุคคลสามคน คือ ผู้เรียก
ผู้ฟัง และผู้ถูกเรียกที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ในที่นี้ผู้ถูกเรียกกับผู้ฟังไม่ใช่คนเดียวกัน ผู้พูดอาจมีหรือไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติกับผู้ฟัง หรือผู้ฟังอาจมีหรือไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติกับผู้ถูกเรียก บุคคลทั้งสามอาจมีหรือไม่มีความสัมพันธ์ฉันญาติกัน ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของบุคคลสามคนนี้เองทำให้เกิดคำเรียกที่หลากหลายขึ้น คำเรียกลับหลังจึงทำหน้าที่อีกอย่างที่นอกเหนือจากการบ่งบอกความเป็นญาติคือ “อธิบาย” ความสัมพันธ์ของผู้เรียก ผู้ฟัง และผู้ถูกเรียก เช่น น้องของผู้ฟังเรียกพ่อของตนเองว่า 爸bà “พ่อ” เพราะทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่างมีความสัมพันธ์เป็นพ่อ-ลูกกับผู้ถูกเรียก แต่เมื่อพูดกับเพื่อน หรือกับผู้อื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติกับผู้ถูกเรียก อาจเรียกผู้ถูกเรียกว่า 父亲fùqīn บิดา 爸爸bàbɑ พ่อ 我爸爸wǒbàbɑ พ่อของฉัน 你爹nǐdiē พ่อเธอ ก็ได้
4.1.2 รูปแบบของคำเรียกญาติต่อหน้าและคำเรียกญาติลับหลังมีบางส่วนแตกต่างกัน คำเรียกญาติต่อหน้าบางครั้งไม่ใช้คำเรียกญาติเรียกขานกัน เช่น ญาติที่อายุน้อยกว่า จะไม่เรียกว่า儿子 érzi女儿 nǚér 侄子 zhízi甥子shēnɡzǐ 孙子sūnzi การเรียกญาติที่อายุน้อยกว่าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อเป็นคำเรียกขานหลัก ญาติที่มีความสัมพันธ์โดยการแต่งงานเมื่อเรียกขานต่อหน้าจะไม่ใช้คำเรียกที่แสดงถึงความสัมพันธ์เป็นญาติ เช่นไม่เรียกว่า 岳父yuèfu “พ่อตา” 岳母yuèmǔ “แม่ยาย” 儿媳 érxí “ลูกสะใภ้” 女婿nǚxu “ลูกเขย” แต่จะใช้วิธีเรียกแบบคล้อยตาม ตามสามีหรือภรรยาตนเองเมื่อเรียกญาติที่อายุมากกว่า และเรียกชื่อสำหรับญาติที่อายุน้อยกว่า
แต่คำเรียกลับหลังต่างกัน เพราะว่าคำเรียกลับหลังทำหน้าที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างญาติ ดังนั้นหากเรียกกันด้วยชื่อ หรือเรียกตามสามีหรือภรรยาของตนจะไม่สามารถระบุความเป็นญาติได้ จุดนี้เองเป็นข้อกำหนดที่ทำให้คำเรียกญาติแบบต่อหน้าและคำเรียกญาติแบบลับหลังมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเมื่อผู้พูดเรียกบุคคลที่สามที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ฟังที่อยู่ในเหตุการณ์อาจไม่รู้จักชื่อของบุคคลที่สาม และไม่รู้ว่ามีความสัมพันธ์เป็นญาติอย่างไร จึงจำเป็นต้องเรียกบุคคลที่สามด้วยคำเรียกลับหลังที่ระบุถึงความสัมพันธ์เป็นญาติอย่างชัดเจน
4.2 คำเรียกญาติแบบแสดงความเคารพกับคำเรียกญาติแบบถ่อมตัว
ภาษาจีนมีการแบ่งคำเรียกญาติที่แสดงระดับความเคารพและความสุภาพ 3 แบบ คือ คำเรียกญาติปกติ( 一般称谓yì bān chēnɡ wèi) คำเรียกญาติแบบเคารพ (尊称zūn chēnɡ)คำเรียกญาติแบบถ่อมตัว (谦称qiān chēnɡ)
4.2.1 คำเรียกญาติปกติ เป็นคำเรียกญาติที่ไม่มีการแสดงอารมณ์ความรู้สึก หรือแฝงความหมายอื่นใดนอกเหนือไปจากความสัมพันธ์เป็นญาติ เช่น 爸爸bàbɑ 妈妈māmɑ 哥哥 ɡēɡe姐姐jiějie 弟弟dìdi เป็นต้น
4.2.2 คำเรียกญาติแบบเคารพ เป็นคำเรียกญาติที่แสดงความเคารพผู้ฟัง และผู้ถูกเรียก เช่น 令亲 lìnɡqīn令尊 lìnɡzūn令母 lìnɡmǔ 令兄 lìnɡxiōnɡ ส่วนประกอบที่แสดงให้เห็นว่าเป็นคำประเภทคำเรียกญาติแสดงความเคารพในภาษาจีน มีดังนี้
令lìnɡ: ใช้เรียกญาติของผู้ฟังที่อายุเท่ากันหรือมากกว่า เช่น 令亲lìnɡqīn令尊lìnɡ zūn令严lìnɡyán令翁lìnɡwēnɡ “พ่อของท่าน” 令妻 lìnɡqī 令室lìnɡ shì令春lìnɡchūn令正 lìnɡzhènɡ “ภรรยาของท่าน” 令兄lìnɡxiōnɡ “พี่ชายของท่าน” 令弟lìnɡdì“น้องชายของท่าน” 令子lìnɡzǐ “ลูกชายของท่าน” 令堂lìnɡtánɡ “แม่ของท่าน” 令祖母lìnɡzúmǔ “ย่าของท่าน” 令曾祖母lìnɡzēnɡzúmǔ “ย่าทวดของท่าน” 令叔lìnɡshū “อาของท่าน” เป็นต้น
尊 zūn : ใช้เรียกญาติของผู้ฟังที่มีอายุมากกว่า แต่ก็สามารถใช้เรียกญาติของผู้ฟังผู้ที่มีอายุเท่ากันได้ ความถี่การใช้น้อยกว่า เช่น “令” lìnɡ เช่น 尊兄 zūnxiōnɡ “พี่ชาย” 尊姊 zūnzǐ “พี่สาว” 尊慈 zūncí “แม่” 尊翁 zūnwēnɡ 尊父 zūnfù “พ่อ” 尊夫 zūnfū “สามี” 尊伯 zūnbó “ลุง” 尊婶 zūnshěn “ป้า” 尊丈 zūnzhànɡ “พ่อตา” เป็นต้น
贵 ɡuì : ใช้เรียกญาติของผู้ฟังหรือผู้ถูกเรียกที่อายุเท่ากันหรือน้อยกว่า เช่น 贵子ɡuìzǐ “ลูก” 贵子女 ɡuìzínǚ “ลูกชายลูกสาว” 贵兄 ɡuìxiōnɡ “พี่ชาย” เป็นต้น
贤 xián : ใช้เรียกผู้ฟังหรือผู้ถูกเรียกที่อายุเท่ากันหรือน้อยกว่า คนที่อายุน้อยกว่าเรียกคนที่อายุมากกว่าจะไม่ใช้รูปแบบเคารพนี้ เช่น 贤弟xiándì “น้องชาย” 贤妹 xiánmèi “น้องสาว” 贤妻 xiánqī “ภรรยา” 贤婿 xiánxù “ลูกเขย” 贤甥 xiánshēnɡ “หลาน” ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวหรือน้องสาว เป็นต้น
高 ɡāo : คำเรียกที่แสดงความเคารพทั่วไป เช่น 高堂 ɡāotánɡ 高亲 ɡāo qīn “พ่อแม่” 高堂母ɡāotánɡmǔ 高堂 老母 ɡāotánɡlǎomǔ “แม่” เป็นต้น
仁rén : คำเรียกที่แสดงความเคารพทั่วไป เช่น 仁兄rénxiōnɡ “พี่ชาย” 仁弟 rén dì “น้องชาย” เป็นต้น
严yán : คำเติมหน้าใช้เรียกเฉพาะ “พ่อ” เพื่อแสดงความเคารพ
เช่น 严父yán fù 严君yánjūn严闱yánwéi严亲yánqīn “พ่อ”
慈 cí : คำเติมหน้าใช้เรียกเฉพาะ “แม่” เพื่อแสดงความเคารพ เช่น 慈母címǔ 慈闱 cíwéi 慈亲 cíqīn 慈颜 cíyán “แม่” เป็นต้น
世 shì : คำเรียกที่แสดงความเคารพทั่วไป เช่น 世兄shìxiōnɡ “พี่ชาย” 世伯shìbó “ท่านลุง” 世叔 shìshū “ท่านอา” 世侄 shìzhí “หลาน” เป็นต้น
4.2.3 คำเรียกญาติแบบถ่อมตัว เป็นคำเรียกญาติของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว ในกรณีที่ผู้พูดอาจมีสถานภาพต่ำกว่าผู้ฟัง ใช้คำเรียกประเภทนี้เพื่อแสดงความถ่อมตัว ในขณะเดียวกันก็แสดงความเคารพผู้ฟังไปในคราวเดียวกัน คำเรียกญาติแบบถ่อมตัวนี้จะมีส่วนประกอบที่แสดงถึงความถ่อมตัวเติมหน้าคำเรียกญาติปกติ ดังนี้
家jiā :ใช้เติมหน้าคำเรียกญาติของตนเอง ใช้กับการเรียกญาติที่เป็นรุ่นที่สูงกว่าตนหรืออายุมากกว่า เช่น 家父jiāfù 家严 jiāyán 家君jiājūn “พ่อของข้าพเจ้า” 家母jiāmǔ 家慈 jiācí “แม่ของข้าพเจ้า” 家兄jiāxiōnɡ “พี่ชายของข้าพเจ้า” 家姐 jiājiě “พี่สาวของข้าพเจ้า” 家嫂jiāsǎo “พี่สะใภ้ของข้าพเจ้า” 家伯父jiābófù “ลุงของข้าพเจ้า” 家伯母 jiābómǔ “ป้าของข้าพเจ้า” 家外祖父 “ตาของข้าพเจ้า” เป็นต้น
舍 shě : ใช้เติมหน้าคำเรียกญาติของตนเอง ใช้กับการเรียกญาติที่เป็นรุ่นที่ต่ำกว่าตนหรืออายุน้อยกว่า เช่น 舍弟shědì “น้องชาย” 舍妹shěmèi “น้องสาว” 舍甥shě shēnɡ “หลาน” (ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวหรือน้องสาว) 舍甥女 shěshēnɡnǚ “หลานสาว” 舍孙媳 shěsūnxí “หลานเขย” (ของปู่ย่าตายาย) เป็นต้น
小 xiǎo : ใช้เติมหน้าคำเรียกญาติที่หมายถึงตนเอง เพื่อแสดงความถ่อมตัว เช่น 小弟 xiǎodì “น้องชาย” 小妹 xiǎomèi “น้องสาว” 小子 xiǎozǐ “ลูกชาย” 小侄xiǎo zhí “หลาน” 小女 xiǎonǚ “ลูกสาว” เป็นต้น
愚 yú : ใช้เติมหน้าคำเรียกญาติของตนเอง ใช้กับการเรียกญาติที่เป็นรุ่นที่เท่ากันกับตนขึ้นไป แสดงความถ่อมตัวเปรียบว่าเป็นญาติที่โง่เขลาของตน เช่น 愚兄yúxiōnɡ “พี่ชายผู้โง่เขลาของข้าน้อย” 愚姊 yúzǐ “พี่สาวผู้โง่เขลาของข้าน้อย” 愚夫 yúfū “สามีผู้โง่เขลาของข้าน้อย” 愚妻 yúqī “ภรรยาผู้โง่เขลาของข้าน้อย” เป็นต้น

5. หน้าที่ของคำเรียกญาติ
คำเรียกญาติในภาษาจีน แฝงความหมายดังนี้
5.1 แฝงความหมายในเรื่องการแบ่งรุ่นของญาติ ระบบเครือญาติในภาษาจีนใช้การสืบสายเลือดเป็นหลัก จากนั้นแบ่งรุ่นสูงกว่า ต่ำกว่าต่างๆกันไปเป็นลำดับขั้นเป็นชั้นๆ ซึ่งหมายถึงการแบ่งญาติเป็นรุ่นๆ เช่น 祖父 zǔfù 父亲 fùqīn 伯伯 bóbo 叔叔 shūshu เป็นคำเรียกญาติรุ่นสูงกว่า 哥 ɡē 姐 jiě 弟 dì 妹 mèi เป็นคำเรียกญาติรุ่นเดียวกัน 子 zǐ 孙 sūn เป็นคำเรียกญาติรุ่นที่ต่ำกว่า
5.2 แฝงความหมายในการแบ่งสายสกุล คำเรียกญาติในภาษาจีนมีการสืบสกุลสายตรง และสายสกุลข้างเคียง แบ่งเป็น สกุลสายตรง (นามสกุลเดียวกัน) และสายข้างเคียง(ต่างนามสกุล) เช่น ในรุ่นเดียวกันกับตัวเรา ลูกของลุงและอา (ชาย) เพศชายหญิงที่อายุมากกว่าตน และลูกของลุงและอา (ชาย) เพศชายหญิงที่อายุน้อยกว่าตนถือเป็นสายสกุลสายตรง นามสกุลเดียวกัน เรียกว่า “堂” tánɡ ส่วนลูกของป้าและอา (หญิง) หรือลูกของลุง ป้า น้าฝ่ายแม่ เพศชายหญิงที่อายุมากกว่าตน และลูกของป้าและอา (หญิง) หรือลูกของลุง ป้า น้าฝ่ายแม่ เพศชายหญิงที่อายุน้อยกว่าตนถือเป็นสายสกุลข้างเคียง ต่างนามสกุลกัน เรียกว่า “表”

5.3 มีความสมดุลทางความหมายและคำ การสร้างคำโดยใช้วิธีคู่สมดุลมีอยู่ในทุกๆภาษา คำเรียกญาติในภาษาจีนก็ใช้วิธีนี้เช่นเดียวกัน ปัจจัยกำหนดการสร้างคำคู่สมดุลเกิดจากข้อกำหนดของปัจจัยในการแบ่งญาติ ในภาษาจีนมี คำคู่โดยใช้เพศเป็นเกณฑ์ เช่น 爷爷 – 奶奶yéye - nǎinɑi “ปู่ - ย่า” , 哥哥 - 姐姐ɡēɡe - jiějie “พี่ชาย – พี่สาว” , 弟弟–妹妹dìdi-mèimei “น้องชาย – น้องสาว” หรือใช้อายุเป็นเกณฑ์ เช่น 伯伯–叔叔 bóbo-shūshu “ลุง – อา” ,哥哥 – 弟弟 ɡēɡe - dìdi “พี่ชาย – น้องชาย”, 姐姐 – 妹妹 “พี่สาว – น้องสาว” หรือใช้การแต่งงานเป็นเกณฑ์เช่น 伯父–伯母bófù-bómǔ “ลุง – ป้าสะใภ้” , 姨夫-姨母yífù - yímǔ “น้าเขย – น้า” ใช้ปัจจัยหลายอย่างเป็นเกณฑ์ เช่น 爸爸-妈妈bàbɑ-māmɑ “พ่อ - แม่”, 丈夫 - 妻子zhànɡfu-qīzi “สามี - ภรรยา” นอกจากนี้ในระดับภาษาที่ต่างกันก็มีคู่คำที่ใช้ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นเกณฑ์เช่นกัน เช่น爸爸 - 妈妈bàbɑ-māmɑ “พ่อ - แม่” ใช้ในภาษาปกติทั่วไป 父亲- 母亲fùqīn - mǔqīn “บิดา - มารดา” ใช้เป็นภาษาสุภาพและภาษาหนังสือ 爹地 – 妈咪diēdì - māmī “มามี้” ใช้ในภาษาพูด จะเห็นว่าคำทั้งสามคู่นี้ล้วนบ่งชี้ถึงบุคคลเดียวกัน แต่ระดับภาษาแตกต่างกัน
5.4 แฝงความหมายในเรื่องการแบ่งเพศ ภาษาแทบทุกภาษาใช้เพศเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินความแตกต่างทางสังคม ดังนั้นย่อมส่งผลโดยตรงต่อการแบ่งคำเรียกญาติ ในภาษาจีนเพศถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง ดังนั้นคำเรียกญาติในภาษาจีนจึงแฝงความหมายในเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศอย่างชัดเจน เช่น 爷爷 yéye “ปู่” 外公 wàiɡōnɡ “ตา” 爸爸 bàbɑ “พ่อ” 伯伯bóbo “ลุง” 叔叔 shūshu “อา”哥哥ɡēɡe “พี่ชาย” เป็นคำเรียกญาติเพศชาย ส่วน 奶奶 nǎinɑi “ย่า” 外婆 wàipó “ยาย” 姨 yí “น้า” 姐姐 jiějie “พี่สาว” 妹妹 mèimei “น้องสาว” เป็นคำเรียกญาติเพศหญิงเป็นต้น
5.5 แฝงความหมายในเรื่องญาติโดยสายเลือดกับญาติโดยการแต่งงาน ในภาษาจีนคำเรียกญาติที่แสดงให้เห็นว่าเป็นญาติโดยการแต่งงาน แบ่งแยกจากญาติโดยสายเลือดอย่างชัดเจน โดยใช้วิธีแฝงความหมายไว้ในคำนั้นๆ มิใช่การใช้คำใดคำหนึ่งเพื่อการบ่งชี้ เช่น 嫂子sǎozi “พี่สะใภ้” 儿媳妇 érxífù “ลูกสะใภ้” 孙媳妇 sūnxífù “หลานสะใภ้” 公公ɡōnɡɡonɡ “พ่อปู่” 婆婆 pópo “แม่ย่า” แต่บางคำก็มีคำเรียกญาติปรากฏบ้าง เช่น 岳父 yuèfu “พ่อตา” 岳母 yuèmǔ “แม่ยาย”
5.6 ใช้เรียกคนที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติได้ คำเรียกญาติสามารถใช้เรียกคนที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติได้ ในภาษาจีนเมื่อจะใช้เรียกคนที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติส่วนใหญ่จะแปรรูปก่อน เพื่อแยกว่าเป็นญาติโดยสายเลือดหรือผู้ที่ไม่ใช่ญาติ เช่น 爷爷yéye เป็นคำเรียกญาติสายเลือดใช้เรียก “พ่อของพ่อ” เมื่อจะใช้เรียกผู้ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ “ปู่” ของตนจะแปรรูปเป็น 大爷 dàyé คำว่า 叔叔 shūshu เป็นคำเรียกญาติสายเลือดใช้เรียก “น้องชายของพ่อ”เมื่อจะใช้เรียกผู้ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ “อา” ของตนจะแปรรูปเป็น 大叔dàshū เป็นต้น
นอกจากนี้ เหตุที่คนในสมัยโบราณเชื่อถือ เคารพในธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ เบื้องบนมีเทพเวหา ใต้หล้ามีเทพพิภพ พลังแห่งจักรวาล อาทิตย์ จันทร์ ดารา วายุ วิรุณ ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เคารพบูชา คำเรียกสิ่งเหล่านี้ล้วนแฝง หรือเติมคำเรียกญาติไว้ด้วย เพื่อแสดงความสนิทสนม เคารพฉันญาติ และหวังที่จะได้รับความเมตตาจากสิ่งเหล่านั้นเหมือนกับที่ได้รับจากญาติผู้ใหญ่ของตน เช่น 土地爷 tǔdìyé “ท่านปู่ปฐพี” 土地奶奶 tǔdìnǎinɑi “ท่านย่าปฐพี” 太阳公公 tàiyánɡ ɡōnɡɡonɡ “ท่านตาอาทิตย์” 月母 yuèmǔ “ท่านแม่จันทร์” 风伯 fēnɡbó “ท่านลุงลม” 雪公 xuěɡōnɡ “ท่านตาหิมะ” 老爷 lǎoye คำนี้ใช้คำเรียกญาติที่หมายถึง “คุณปู่” มาใช้เรียกพระอาทิตย์โดยตรง

6. หลักเกณฑ์ใช้คำเรียกญาติในภาษาจีน
คำเรียกญาติในภาษาจีน สามารถสรุปหลักเกณฑ์การใช้ได้ดังนี้
6.1 การใช้อายุเป็นเกณฑ์ การเรียกญาติรุ่นสูงกว่าตนหรือญาติที่มีอายุมากกว่าตนใช้คำเรียกญาติเรียกขานกัน นอกจากนี้ญาติรุ่นเดียวกันที่อายุมากกว่าตนสามารถเรียกขานกันด้วยรูปแบบ [ชื่อ + คำเรียกญาติ] แต่เมื่อเรียกผู้ที่อายุน้อยกว่าตนจะเรียกขานกันด้วย “ชื่อ” ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะไม่เรียกญาติอายุมากกว่าด้วยชื่อ ตัวอย่างเช่น ลูกเรียกพ่อแม่ด้วยคำเรียกญาติ ว่า “พ่อ แม่” ขณะที่พ่อแม่เรียกลูกด้วย “ชื่อ” ไม่เรียกด้วยคำเรียกญาติ
6.2 การใช้ลำดับเป็นเกณฑ์ หากญาติระดับเดียวกันมีมากกว่า1 คน จะใช้ คำว่า “ใหญ่” เรียกญาติที่อายุมากที่สุด จากนั้นใช้ตัวเลข สอง สาม เรียกญาติที่อายุลำดับรองลงมา จนถึงอายุน้อยที่สุดจะเรียกว่า “เล็ก” เช่น มีน้องของพ่อหลายคน น้องของพ่อคนที่ 1 เรียกว่า 大叔 dàshū “อาใหญ่” รองลงมาเรียกว่า 二叔 èrshū “อาที่สอง” 三叔 sānshū “อาที่สาม” 四叔 sìshū “อาที่สี่” 小叔 xiǎo shū “อาเล็ก”
6.3 การเรียกญาติแบบคล้อยตาม คำเรียกญาติแต่งงานต่อหน้าไม่เรียกกันด้วยคำเรียกญาติแต่งงาน แต่จะเรียกตามสามีหรือภรรยาของตัวเอง เช่น เรียกพ่อแม่ของสามีว่า 爸 bà “พ่อ” 妈 mā “แม่” ไม่เรียกว่า 公公 ɡōnɡɡonɡ “พ่อปู่” 婆婆 pópó “แม่ย่า” เรียกพี่ชายของภรรยาว่า 哥 ɡē “พี่ชาย” ไม่เรียกว่า 大舅子 dàjiùzǐ “พี่เขย”
6.4. การใช้คำบ่งชี้ญาติสายตระกูล คำเรียกญาติมีการเติมส่วนประกอบบ่งชี้ความเป็นสายตระกูล จำพวก 堂tánɡ, 表biǎo เมื่อเรียกญาติเหล่านี้ต่อหน้าจะใช้คำเรียกญาติตามปกติแบบไม่เติมคำบ่งชี้เหล่านี้ เช่น เรียกพี่ที่เป็นลูกชายของลุงว่า 哥ɡē “พี่ชาย” ไม่เรียกว่า 堂哥tánɡɡē เรียกพี่ที่เป็นลูกสาวของพี่สาวแม่ว่า 姐 jiě “พี่สาว” ไม่เรียกว่า 表姐 biáojiě
6.5 การเรียกญาติด้วยชื่อ ญาติที่รุ่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งต่างรุ่นกันที่มีอายุเท่าเทียมกันจะเรียกกันด้วยชื่อ มากกว่าเรียกด้วยคำเรียกญาติ
6.6 คำเรียกระหว่างสามีภรรยา ความสัมพันธ์ของสามีภรรยามีความเท่าเทียมกัน ไม่ได้รับอิทธิพลจากความแตกต่างของรุ่น อายุ ในการกำหนดการใช้คำเรียกขาน ดังนั้นคำเรียกขานระหว่างสามีภรรยาจึงมีความพิเศษ มีอิสระ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยที่สามารถเรียกกันด้วยชื่อ แซ่ หรือคำแสดงความเป็นสามีภรรยา เช่น 老头子 lǎotóuzi老公 lǎoɡōnɡ เรียก “สามี” 老婆子 lǎopozǐ 老婆lǎopo เรียก “ภรรยา” หรือสามารถเรียกตามชื่อลูกได้ เช่น [ชื่อลูก + 他爸tābà], [ชื่อลูก + 他妈tāmā]หรือสามารถเรียกกันเพื่อแสดงความเคารพแบบ [老+姓lǎo + xìnɡ] อย่างไรก็ตามยังมีการเรียกแบบล้อเลียนหรือเหยียดหยาม คำประเภทนี้เกิดจากวัฒนธรรมการกดขี่สตรีเพศ เช่น 屋里的wūlǐde “คนในห้อง” 做饭的zuòfànde “คนทำกับข้าว” เป็นต้น
6.7 คำเรียกแบบไม่สมดุล ญาติอายุมากกว่าเรียกตัวเองด้วยคำเรียกญาติ เรียกญาติอายุน้อยกว่าด้วยชื่อ แต่ญาติอายุน้อยกว่าจะเรียกตัวเองด้วยชื่อหรือสรรพนาม แต่เรียกญาติอายุมากกว่าด้วยคำเรียกญาติ

การอภิปรายผล
งานวิจัยนี้กล่าวถึงประเด็นสำคัญของคำเรียกญาติและการใช้คำเรียกญาติในภาษาจีน พบว่า ระบบคำเรียกญาติภาษาจีนแบ่งเป็นกลุ่มโครงสร้างหลัก ๆ 5 กลุ่มคือ 1.คำเรียกกลุ่มญาติสายตรง(นามสกุลเดียวกัน) 2.คำเรียกกลุ่มญาติข้างเคียง (นามสกุลเดียวกัน) 3. คำเรียกกลุ่มญาตินอกสายตระกูล (ต่างนามสกุล) 4. คำเรียกกลุ่มญาติโดยการแต่งงาน (ต่างนามสกุล) และ 5. คำเรียกระหว่างสามีภรรยา
คำเรียกญาติในภาษาจีนจัดเป็นคำเรียกญาติแบบ “อธิบายญาติ” ระบบเครือญาติและคำเรียกญาติเป็นตัวกำหนด “สายตระกูล” ที่ชัดเจน ซึ่งแบ่งเป็น สายพ่อ สายแม่ และสายสามีภรรยาเป็นตัวตั้ง ภายในสายตระกูลใช้เพศชายหญิง อายุมากน้อย และรุ่นของญาติเป็นข้อกำหนดในการแบ่งญาติอีกชั้นหนึ่ง จีนถือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกเป็นสายใยสำคัญในการสืบสายตระกูล มีผลต่อกฎหมายการสืบสกุลและการสืบสมบัติของวงศ์ตระกูล ซึ่งก็คือสายพ่อเพศชายนั่นเอง

ลักษณะการประกอบคำเรียกญาติ ใช้เกณฑ์การแบ่งเพศชายหญิง อายุมากน้อย การสืบสายเลือด และการสืบสายตระกูล นอกจากนี้สมรรถนะของคำศัพท์ก็มีการแบ่งที่ชัดเจนมากเช่นกัน กล่าวคือ มีการแบ่งคำที่ใช้เป็นคำเรียกบุรุษที่สองและคำเรียกบุรุษที่สามแยกออกจากกันอีกด้วย
ลักษณะทางความหมายของคำเรียกญาติ คำเรียกญาติในภาษาจีนใช้ได้หลายลักษณะ เช่น คำเรียกต่อหน้า (บุรุษที่หนึ่ง) คำเรียกลับหลัง (บุรุษที่สอง) คำเรียกแบบถ่อมตัว(บุรุษที่หนึ่ง) คำเรียกแบบเคารพ (บุรุษที่สอง) ในภาษาจีนคำที่หมายถึงญาติคนเดียวกันแต่ใช้ในลักษณะต่างกัน คำที่ใช้จะแตกต่างกันด้วย มีสองลักษณะคือ เป็นคำที่มีความหมายเบ็ดเสร็จในตัวเองและเป็นคำที่เติมส่วนประกอบบ่งชี้
สมรรถนะของคำเรียกญาติ คำเรียกญาติ 1 คำ มีสมรรถนะมากกว่าเป็นคำเรียกเท่านั้น หากแต่แฝงความหมายล้ำลึก มากมาย กล่าวคือ คำเรียกญาติปกติ เป็นคำเรียกญาติที่ไม่มีการแสดงอารมณ์ความรู้สึก หรือแฝงความหมายอื่นใดนอกเหนือไปจากความสัมพันธ์เป็นญาติ คำเรียกญาติแบบเคารพ เป็นคำเรียกญาติที่แสดงความเคารพผู้ฟัง และผู้ถูกเรียก คำเรียกญาติแบบถ่อมตัว เป็นคำเรียกญาติของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว ในกรณีที่ผู้พูดอาจมีสถานภาพต่ำกว่าผู้ฟัง ใช้คำเรียกประเภทนี้เพื่อแสดงความถ่อมตัว ในขณะเดียวกันก็แสดงความเคารพผู้ฟังไปในคราวเดียวกัน

บทสรุป
สามารถสรุปกฎการใช้คำเรียกญาติในภาษาจีนได้ดังแผนภูมิต่อไปนี้

แผนภูมิ 6 แสดงหลักเกณฑ์การเลือกใช้คำเรียกญาติในภาษาจีน
เชิงอรรถ
ภาษาจีนแบ่งสำเนียงภาษาเป็น 8 สำเนียงได้แก่ 1. สำเนียงภาษาผู่ทงฮว่า (官话) 2.สำเนียงภาษาอู๋ (吴语) 3.สำเนียงภาษาเค่อเจีย (客家话) 4.สำเนียงภาษาหมิ่น (闽语) 5.สำเนียงภาษาเยว่ (粤语) 6. สำเนียงภาษาเซียง (湘语) 7.สำเนียงภาษากั้น (赣语)
2 คำเรียกต่อหน้า(面称)คือ คำที่ใช้เป็นบุรุษที่หนึ่ง คำเรียกลับหลัง(背称)คือคำที่ใช้เป็นบุรุษที่สาม คำเรียกแบบเคารพจะเป็นคำที่ใช้เรียกเป็นบุรุษที่สอง ส่วนคำเรียกแบบถ่อมตัวจะเป็นคำที่ใช้เรียกเป็นบุรุษที่หนึ่ง และบุรุษที่สาม
3 คำเรียกหักเห หมายถึง การเรียกบุรุษที่สามโดยผ่านบุคคลอื่น เพื่อบ่งชี้ไปถึงบุคคลที่ต้องการเรียก
4 ภาพแผนผังเครือญาติคัดลอกจาก 马宏基,长庆丰《称谓语》清华出版社,1998年。第83页。
5 การเรียกแบบคล้อยตาม คือ การเรียกบุรุษที่สามตามที่บุรุษที่สองเรียก หรือเรียกตามที่คนที่เราพูดด้วยเรียกบุรุษที่สาม
6 การใช้คำบ่งชี้ญาติแต่งงาน ตัวอย่างในภาษาไทยมีคำว่า เขย สะใภ้
7 รูปแบบคำเรียกญาติ ในบทความนี้หมายถึงคำเรียกญาติที่ประกอบกับคำเรียกขานประเภทอื่น เช่น ชื่อ คำบ่งชี้ คำเรียกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง จะใช้เครื่องหมาย [ ]
8 คัดลอกจาก 马宏基、长庆丰《称谓语》清华出版社,1998年。第83页。

เอกสารอ้างอิง
ชนากานต์ ฉ่างทองคำ. (2551)การศึกษาคำเรียกญาติภาษาจีนแคะ(ฮากกา)ในอำเภอท่ามะกา จังหวัด
กาญจนบุรี ในเชิงสังคมและวัฒนธรรม.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต.กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ญาดาคุณัชญ์ หวังเสต.(2545)การใช้คำเรียกขานของคนจีนแต้จิ๋วในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลป
ศาสตรมหาบัณฑิต.นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.
ศุภมาส เอ่งฉ้วน. (2526) คำเรียกญาติภาษาจีนฮกเกี้ยนในภาคใต้ของประเทศไทยและเกาะปีนัง.
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (อ.ม.) กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุดา หัสสภาณุ. (2545) วิเคราะห์รูปแบบของคำเรียกขานในภาษาจีนแต้จิ๋ว. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหา
บัณฑิต (อ.ม.)กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
蔡希芹《中国称谓辞典》北京语言学院出版, 1994年,北京。
冯汉骥《中国亲属称谓指南》上海文艺出版社,1989年,上海。
胡士云《汉语亲属称谓研究》博士学位论文,暨南大学,2001年。
吉常宏《汉语称谓大词典》河北教育出版社,2000年,石家庄。
姜春霞《汉英称谓语对比与翻译》 广西大学硕士学位论文,2002年
[韩]金炫兄《交际称谓语和委婉语》台海出版社,2002年,北京。
李红霞《称呼语的跨文化对比研究》硕士毕业论文,西北师范大学硕士学位论文,2002年。
罗湘英《亲属称谓的词缀化现象》,《汉语学习》2002年,第4期。
马宏基,长庆丰《称谓语》清华出版社,1998年。
潘之欣,张迈曾《汉语亲属语扩展用法调查》,《语言教学与研究》, 2001年第2期。
潘 攀《论亲属称谓语泛化》,《语言文字应用》,1998年 第2期。
吴茂萍《唐代称谓词研究》四川大学硕士学位论文,2002年,四川。

การใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน:การศึกษาเปรียบเทียบ

เมชฌ สอดส่องกฤษ (2550) “การใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน : การศึกษาเปรียบเทียบ” วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,ปีที่ 3 ฉบับที่ 2.

การใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน:การศึกษาเปรียบเทียบ
The Use of address terms in modern Thai and Chinese language : A comparative study



[บทคัดย่อ] งานวิจัยเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบันนี้มีเนื้อหาหลักประกอบด้วย คำเรียกญาติ คำเรียกขานทางสังคม การวิเคราะห์คำที่ใช้เป็นคำเรียกขานและปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้คำเรียกขาน งานวิจัยครั้งนี้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ศึกษาภาษาไทยและภาษาจีน โดยเฉพาะผู้ทำงานเกี่ยวกับการแปลภาษาไทยและภาษาจีน เพราะการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งมิใช่เพียงแค่การแปลไปสู่คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันเท่านั้น แต่เบื้องหลังทางวัฒนธรรมตลอดจนความเป็นเชื้อชาติของแต่ละชนชาติมีผลอย่างมากในการเลือกใช้ภาษาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเรียกขานมีความสัมพันธ์กับคนในสังคมโดยตรง การเลือกใช้หรือการแปลคำเรียกขานจึงไม่เพียงแต่เป็นการเลือกใช้คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันเท่านั้น แต่จำเป็นต้องพิจารณาหรือคำนึงถึงปัจจัยต่างๆทางสังคม เช่น ภูมิหลังทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ความเชื่อ การเมืองการปกครอง ศาสนาเป็นต้น เพื่อจะสามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง ผลการวิจัยพบว่าการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนมีความคล้ายคลึงกับภาษาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ เช่น ภาษาเวียดนาม ภาษาลาว ภาษาเขมร ภาษาพม่า เป็นต้น กล่าวคือ คำที่ใช้เป็นคำเรียกขานที่สำคัญได้แก่ ชื่อ คำเรียกญาติและคำสรรพนาม ส่วนปัจจัยกำหนดการเลือกใช้คำเรียกขานที่สำคัญคือ เพศ อายุ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ฐานะ และสภานภาพทางสังคม
[คำสำคัญ] คำเรียกขาน ภาษาศาสตร์สังคม ภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ ภาษาไทยและภาษาจีน
Abstract: A comparative study of address terms in Chinese and Thai language systems consist of kinship terms ,social addressing terms along with the use of address terms, and the factors influencing the use of address terms. The outcome of this research will not only be useful for people who are interested in Thai-Chinese language studies but also for Chinese-Thai or Thai-Chinese translators who are in need of clear translation means against a general background of language, culture, belief, politics, and religion. In our conclusion, we found that sex, age and relationship are the three main factors that influence both Thai and Chinese addressing terms. Moreover, the address terms for groups of kinship, with their respective pronouns, share the same natural characteristics as other languages in Southeast Asia, for example Vietnamese Laos Cambodian Burmese.
Key Words: Address terms; Sociolinguistics; Comparative Linguistics; Thai and Chinese

บทนำ
ประเทศไทยและจีนติดต่อซึ่งกันและกันมากขึ้นทุกขณะ ความสนใจศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยและในทางกลับกันความสนใจศึกษาภาษาไทยในประเทศจีนก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน การศึกษาวิจัยเปรียบเทียบภาษาทั้งสองมีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจความเหมือนหรือความต่างซึ่งกันและกัน อีกทั้งแนวทางการศึกษาภาษาที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้มีความรู้ทางภาษาไทยและภาษาจีน เห็นว่าการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องการใช้คำเรียกขานนับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคำเรียกขานในทั้งสองภาษานอกจากจะมีจำนวนมากมาย การใช้คำกลุ่มดังกล่าวนี้ยังมีความซับซ้อนยากแก่การทำความเข้าใจสำหรับผู้ศึกษาทั้งสองภาษาด้วย ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงระบบ โครงสร้าง และการใช้คำเรียกขานในทั้งสองภาษา พร้อมนี้ก็จะทำการเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงและความแตกต่างของการเลือกใช้คำเรียกขาน ตลอดจนศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้คำเรียกขาน ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนนี้จะสะท้อนให้เห็นภาพของสังคม วัฒนธรรมของไทยและจีนได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ความสำคัญและที่มาของหัวข้อวิจัย
ภาษาไทยและภาษาจีนจัดเป็นภาษาตระกูลจีนธิเบต(汉藏语系) นักวิชาการจีนจัดภาษาไทยไว้ในตระกูลจีนธิเบต กลุ่มภาษาต้งไถ(侗台语族) สาขาภาษาไถ(台语支) มีภาษาที่ใกล้ชิดคือภาษาไต(傣) ภาษาลาว ภาษาจ้วง (壮) ภาษาบูเยย (布依) เป็นต้น จากลักษณะทางภาษาไทยและภาษาจีนรวมทั้งภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาเหล่านี้ คือเป็นกลุ่มภาษาคำโดดและมีวรรณยุกต์
ตามบันทึกพงศาวดารประวัติศาสตร์จีน ประเทศไทยและจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันเริ่มแรกในยุคสมัยซีฮั่น(西汉) ภาษาจีนเป็นภาษาใหญ่และเข้มแข็งที่มีอิทธิพลต่อภาษาในแถบเอเซียมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อหรือมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับจีน ได้รับอิทธิพลทางภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนอันมีร่องรอยปรากฏเห็นได้ชัดทั่วไปในหลายๆภาษา เช่น อักษรจีนในภาษาญี่ปุ่น คำศัพท์ภาษาจีนในภาษาเกาหลีเป็นต้น หากเชื่อประวัติศาสตร์ไทยข้อที่ว่าคนไทยปัจจุบันอพยพมาจากลุ่มน้ำฮวงโห หรืออีกข้อหนึ่งที่ว่าคนไทยอพยพมาจากดินแดนเดิมในแคว้นสิบสองปันนาของจีนลงมาทางใต้กระทั่งตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ภาษาดั้งเดิมคือภาษาต้งไถ (侗台语)แน่นอนว่าคลังคำศัพท์ในภาษาไทยย่อมได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีน พบว่ามีคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนกว่า 1000 คำ ในระยะหลายร้อยปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 200 ปีมานี้ ชาวจีนจากซัวเถา (汕头)ไหหลำ(海南)อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก คำศัพท์ภาษาถิ่นจีน เช่น ภาษาฮกเกี้ยน (闽方言)ได้หลั่งไหลทะลักเข้าสู่คลังคำศัพท์ภาษาไทยอีกระรอกใหญ่และใช้อยู่ในภาษาไทยปัจจุบันอย่างแพร่หลาย กระทั่งบางคำเสมือนเป็นภาษาไทยไปแล้วก็มี เช่น เกี๊ยว (饺)ขิม(琴)จับกัง(杂工)ซินแส(相士,先生)เป็นต้น
คำเรียกขานในภาษาไทยอาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือคำศัพท์ภาษาไทย และคำศัพท์ที่มาจากภาษาอื่นเช่น ภาษาเขมร บาลี สันสกฤตเป็นต้น และแน่นอนมีคำเรียกขานที่เป็นคำยืมจากภาษาจีน เช่น อาตี๋(阿弟)อาหมวย(阿妹)อั๊ว(我)ลื้อ(你、汝)อาแปะ(阿伯) เป็นต้น คำเหล่านี้คนไทยใช้เสมือนเป็นภาษาไทยโดยที่ไม่รู้ว่ามีที่มาจากคำว่าอะไรในภาษาเดิม แต่ใช้อยู่ในภาษาไทยอย่างเป็นปกติเสมือนเป็นภาษาไทยไปแล้ว
ภาษาไทยและภาษาจีนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกันยาวนาน ความคิดทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อมีความใกล้ชิดกัน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขาน เพียงแต่ว่าปัจจัยใดที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนมากน้อยเพียงใด หรือไม่ อย่างไร จำเป็นต้องศึกษาวิจัยอย่างถ่องแท้เนื่องจากในการสื่อสารของสังคมภาษาหนึ่งๆ คำเรียกขานเป็นคำที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง หากไม่รู้และไม่เข้าใจที่จะเรียกขานผู้อื่น อาจทำให้การสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผล การใช้คำเรียกขานที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางความคิดภายใต้อิทธิพลทางสังคมอย่างถูกต้องนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้มีความรู้ความสามารถสามารถทางภาษาและสามารถเลือกใช้ภาษาได้ตามกระบวนการความคิดที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคมนั่นเอง กระนั้นก็ตามในบางครั้งแม้แต่ผู้รู้ก็อาจเกิดปัญหาเลือกไม่ถูกว่าจะใช้คำเรียกขานแบบใดได้เช่นกัน แต่สำหรับผู้เรียนภาษาต่างประเทศหากรู้เพียงความหมายของคำเรียกขาน แต่ไม่รู้วิธี ข้อกำหนด และกฎเกณฑ์ทางสังคม ก็จะไม่สามารถใช้คำเรียกขานได้อย่างถูกต้อง จากข้อปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นประกอบกับความจำเป็นในการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน การศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในทั้งสองภาษาดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอันมากในเวทีโลก ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยกำลังพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนให้รุดหน้า การวิจัยเปรียบเทียบภาษาและการใช้ภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมจึงเป็นหัวข้อวิจัยที่ไม่ควรละเลย

ทบทวนวรรณกรรม
การศึกษาคำเรียกขานในภาษาต่างประเทศ
การศึกษาเรื่องคำเรียกขานในภาษาต่างประเทศแบ่งแยกได้จากหลายมุมมอง ได้แก่ (1) การศึกษาด้านภาษาศาสตร์เชิงประวัติ เช่นงานของ Brown and Gillman (1972) ศึกษาความสัมพันธ์ของคำเรียกขานในภาษาฝรั่งเศส อิตาเลี่ยน เยอรมัน โดยเน้นในเรื่องประวัติความเป็นมา และเสนอข้อสรุปว่า การใช้คำเรียกขานมีปัจจัยสำคัญสองประการควบคุมอยู่คือ พลังอำนาจ (Power) และ ความสนิทแน่นแฟ้น (solidarity) ปัจจัยทั้งสองประการนี้ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมการใช้คำเรียกขานของภาษากลุ่มตระกูลยุโรป (2) การศึกษาด้านภาษาศาสตร์สังคม เช่นงานของ Brown and Ford (1964) ศึกษาภาษาอังกฤษอเมริกันพบว่าการใช้คำเรียกขานของคนอเมริกันมี 3 ประเภทคือ นามสกุล ตำแหน่ง+ชื่อ และคำเรียกอาชีพ นอกจากนี้นักภาษาศาสตร์สังคมยังเห็นว่าการเลือกใช้คำเรียกขานที่พิจารณาสถานภาพของตนเองกับผู้ที่พูดด้วย ยังมีงานทางภาษาศาสตร์สังคมที่อีกชิ้นหนึ่งคือ An Analysis of the interaction of Language ของ Susan Ervin-Trip (1972) ศึกษาวิจัยคำเรียกขานในภาษาอังกฤษและเสนอกฎภาษาศาสตร์เชิงสังคมที่คือ “กฎการเลือก” ซึ่งหมายถึงผู้คนในสังคมหนึ่งๆ เมื่อต้องการใช้คำเรียกขานแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของตนและคู่สนทนาเป็นปัจจัยในการเลือกใช้คำเรียกขาน (3) ภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ มีงานของ Cook (1968) ศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทย พม่าและภาษาชนกลุ่มน้อยอื่นๆในเอเชียอาคเนย์พบว่า การใช้คำเรียกขานในภาษาเหล่านี้ต้องคำนึงถึงเพศ อายุ และสถานภาพทางสังคมและสถานการณ์การใช้ภาษา การศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทย
ผลงานการศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันหากเทียบกับการศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีนแล้ว ไม่เป็นที่ปรากฏชัดนัก ที่สำคัญได้แก่ Palakornkul (1972) ศึกษาการใช้คำสรรพนามในภาษาไทยกรุงเทพ , David (1973) ศึกษาการใช้คำสรรพนามในภาษาไทยเหนือ , Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint(1986) เรื่อง The Use of Address Terms in Thai during the Ratanakosin period ,Simpson R.C.(1996) บทความเรื่อง “The namy I’s of Thai : Gender Differences Self-reference ” , Wirote Aroonmanakun(1999) วิทยานิพนธ์เรื่อง “Extending Focusing for Zero Resolution in Thai” ผลงานเหล่านี้ล้วนพบว่าคำเรียกขานมีนัยทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือก ส่วนคำที่ใช้เป็นคำเรียกขานได้แก่ คำเรียกญาติ ชื่อ คำนำหน้าชื่อ อาชีพ ยศตำแหน่ง และคำสรรพนาม แต่การศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาภาษาในอดีต หรือศึกษาเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถอธิบายถึงวิธีการใช้ และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้คำเรียกขานในสังคมไทยได้
การศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีน
สำหรับในภาษาจีนมีการศึกษาคำเรียกขานมาตั้งแต่อดีต ตำราหรือหนังสือที่นับว่าบันทึกและอธิบายถึงคำเรียกขานในภาษาจีนเป็นเล่มแรกคือ เอ๋อร์หย่า《尔雅》 เรียบเรียงขึ้นในสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น อธิบายถึงคำเรียกขานในภาษาจีน ความหมาย ตลอดจนวีธีการใช้คำเรียกขานอย่างละเอียด ต่อมานักวิชาการในอดีตได้ใช้ตำรา เอ๋อร์หย่าเป็นพื้นฐานในการศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีน เช่น 《称谓录》พจนานุกรมบันทึกคำเรียกขานในสมัยราชวงศ์ชิง ของ เหลียงจางจวี้ (梁章矩:1987) ก็เป็นพจนานุกรมที่บันทึกและอธิบายคำเรียกขานภาษาจีนในอดีต
ปัจจุบันนักวิชาการจีนสนใจวิจัยคำเรียกขานภาษาจีนในอดีตเป็นส่วนใหญ่ เช่นงานของ หยวน ถิงต้ง (袁庭栋:1994)เรื่อง การวิจัยคำเรียกขานของคนโบราณ 《古人称谓漫谈》, งานของ หลิวกงเม่า (刘恭懋:2001)เรื่องการใช้ชื่อคนเป็นคำเรียกขานแบบสุภาพในสมัยโบราณ《古代称谓礼貌中的人名称呼》, งานของหนิวจื้อผิง (牛志平:1987) เรื่อง คำเรียกขานในสมัยถัง 《唐人称谓》งานวิจัยเหล่านี้ศึกษาวิจัยคำเรียกขานที่ใช้ในอดีต โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารบันทึกโบราณ ซึ่งมีข้อจำกัดคือมักจะศึกษาเฉพาะความหมายของคำแต่ไม่ได้ศึกษาถึงการใช้และปัจจัยการใช้คำเรียกขานดังกล่าว นอกจากนี้การศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีนปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของการจัดทำพจนานุกรม เช่น ผลงานของ จี๋ฉางหง (吉常宏:2000) ชื่อ พจนานุกรมคำเรียกขานภาษาจีน《汉语称谓大辞典》,หันเสิ่งจือ (韩省之:1991)ได้จัดทำหนังสือชื่อ พจนานุกรมคำเรียกขาน 《称谓大词典》 หรือจางเซี่ยวจง(张孝忠:1988) กับผลงานชื่อพจนานุกรมคำเรียกขานอดีตปัจจุบัน《古今称谓词典》หรือหวางเสวียหยวน (王学元:1988)ชื่อพจนานุกรมคำเรียกขานภาษาจีน《汉语称谓词典》เป็นต้น ก็ล้วนเป็นการอธิบายคำศัพท์ที่ใช้เป็นคำเรียกขานเท่านั้น
การศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาจีนกับภาษาต่างประเทศ
ปัจจุบันยังไม่มีผู้วิจัยเกี่ยวกับการเปรียบเทียบ “การใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนปัจจุบัน” คงมีแต่การศึกษาเรื่อง “คำเรียกขาน” ในภาษาไทย และคำเรียกขานในภาษาจีนอย่างใดอย่างหนึ่งแยกออกจากกัน สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบภาษาจีนกับภาษาต่างประเทศอื่นๆนั้น ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบกับภาษาตะวันตกโดยเน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ด้วยเหตุที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล นักศึกษาไทยและจีนก็นิยมศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาที่เป็นสากล (หรือเป็นภาษาของประเทศที่ตนต้องติดต่อสัมพันธ์ด้วย) เพื่อประโยชน์การใช้ตามความจำเป็นของสังคมโลก เช่น เถียนฮุ่ยกัง (田惠刚:1998) ศึกษา “เปรียบเทียบระบบคำเรียกขานในภาษาจีนกับภาษาตะวันตก” 《中西人际称谓系统》 ผลการวิจัยพบว่าวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันมาก ส่งผลต่อการใช้ภาษาที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำเรียก มีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบและคำที่นำมาใช้เป็นคำเรียกขาน นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น จินเซวียนตุ้ย (金玄兑:2002) ศึกษา “คำเรียกขานเพื่อการสื่อสารและภาษาสุภาพ” 《交际称谓语和委婉语》ในภาคผนวกมีการศึกษาเปรียบเทียบระบบคำเรียกขานภาษาจีนและภาษาเกาหลี โดยแบ่งคำเรียกขานเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ คำเครือญาติ และ คำที่ใช้ในสังคม นอกจากนี้ยังศึกษาวิธีการทำภาษาให้เป็นภาษาสุภาพซึ่งรวมถึงคำเรียกขานแบบสุภาพทั้งในภาษาจีนและเกาหลีด้วย เจียงชุนเซี่ย (姜春夏: 2004) ศึกษา “เปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาจีนกับภาษาอังกฤษและการแปล” 《汉英称谓语对比与翻译》มีความเห็นว่า ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คำเรียกขานย่อมมีแตกต่างกันด้วย ผู้วิจัยอธิบายและเสนอแนวทางการแปลในทั้งสองภาษาว่าต้องมีความเข้าใจภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสังคมของทั้งสองภาษาอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถแปลคำเรียกขานได้อย่างถูกต้อง
การศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ
การศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศก็ล้วนมีแนวโน้มไปทางภาษาตะวันตกเช่นกัน เช่น จุฑารัตน์ โล่ห์ตระกูลวัฒน์ (2541) เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเศส” ศึกษาการใช้คำเรียกขานโดยเก็บข้อมูลจากเอกสาร นวนิยาย หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทย แล้วนำข้อมูลการใช้คำเรียกขานในทั้งสองภาษามาวิเคราะห์โดยคิดเป็นร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ของการใช้คำดังกล่าว จากการวิจัยพบว่าคำเรียกขานที่ใช้มากในภาษาฝรั่งเศสเช่น ชื่อ นามสกุล คำบอกอาชีพ ยศตำแหน่ง คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก และคำเรียกญาติ ส่วนในภาษาไทยใช้ ชื่อ คำเรียกญาติ คำนำหน้า ยศ ตำแหน่ง เป็นคำเรียกขาน
ในขณะนี้ยังไม่มีผลงานการศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน การศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยและภาษาจีนเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในเชิงภาษาโดยตรง เช่น การวิเคราะห์ระบบเสียง ระบบคำ และระบบไวยากรณ์ ซึ่งปราศจากมิติทางสังคมมาเกี่ยวข้อง แต่การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องคำเรียกขานในทั้งสองภาษาจะเกี่ยวเนื่องกับมิติทางสังคมซึ่งคนส่วนใหญ่มองข้าม และผู้ศึกษาวิจัยภาษาไม่ใคร่จะสนใจศึกษาเท่าใดนัก จากการสังเกตในเบื้องต้นพบว่าปัจจัยหลักๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพทางสังคม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านเจตนา อารมณ์ สถานการณ์ สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขาน แต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนว่าปัจจัยดังกล่าว (และหรือมีปัจจัยอื่นใดอีก) มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาทั้งสองหรือไม่ อย่างไร

เปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน
งานวิจัยนี้เปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนทั้งระบบ โดยได้สำรวจ เก็บข้อมูลการใช้คำเรียกขานจากการสนทนาในสถานการณ์จริง แล้ววิเคราะห์สรุปเป็นเกณฑ์การใช้คำเรียกขานในทั้งภาษาไทยและภาษาจีนอย่างละเอียด แน่นอนว่าการใช้คำเรียกขานในแต่ละภาษาย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน แต่จากการวิจัยพบว่าสามารถหาเกณฑ์สรุปร่วมกันระหว่างภาษาทั้งสองนี้ได้ ดังจะได้อธิบายใน 5 หัวข้อต่อไปนี้

1. ค่าความถี่ในการเลือกใช้คำเรียกขานประเภทต่างๆในภาษาไทยและภาษาจีน
ข้อมูลการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน ได้มาจากการเก็บข้อมูลการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน เอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อสารมวลชน แล้ววิเคราะห์ความถี่ในการเกิดของคำแต่ละประเภท แปรค่าความถี่เป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ พบว่าคำที่ใช้เป็นคำเรียกขานในทั้งสองภาษามีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ค่าเปอร์เซ็นต์ความถี่ในการใช้คำแต่ละชนิดในแต่ละภาษามีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นนัยที่ชี้ให้เห็นถึงการมีปัจจัยการใช้ที่แตกต่างกัน ค่าความถี่ดังกล่าวแสดงในตารางข้างล่างนี้


ตารางที่ 1 แสดงค่าความถี่การใช้คำเรียกขาน
รูปแบบคำเรียกขาน
ภาษาไทยจีนและ
ค่าความถี่
รูปแบบคำเรียกขาน ภาษาจีน ภาษาไทย
รูปแบบคำเรียกขาน ค่าความถี่ รูปแบบคำเรียกขาน ค่าความถี่
1.感叹语 คำอุทาน 感叹语 คำอุทาน 1.53 感叹语 คำอุทาน 0.18
2.感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 1.06 感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 0.37
3.[姓 + 职称/职位/官衔] [นามสกุล+อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ] [姓 + 职称/职位/官衔]
[นามสกุล+อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ] 13.57 - -
4.姓名 นามสกุลและชื่อ [姓 + 名] นามสกุล+ ชื่อ 8.57 名 + 姓 ชื่อ +นามสกุล -
5.[表示年龄 + 姓]
[คำบอกอายุ + นามสกุล] [表示年龄 + 姓]
[คำบอกอายุ + นามสกุล] 2.4 - -
6.[ 姓名或姓或名+词尾] [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม] [ 姓名或姓或名+词尾]
[นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม] 1.14 - -
7.[姓名或姓或名+通称/身份] [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป/คำบอกสถานภาพ] [姓名或姓或名+通称/身份] [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป/คำบอกสถานภาพ] 8.69 身份 / 通称 + 名
คำบอกสถานภาพ/คำเรียกทั่วไป + ชื่อ 4.67
8.[姓+亲属称谓]
[นามสกุล + คำเรียกญาติ] [姓+亲属称谓]
[นามสกุล + คำเรียกญาติ] 3.37 - -
9.名 ชื่อ 名 ชื่อ 15.18 名 ชื่อ 28.85
10.[名 + 亲属称谓]
[ชื่อ+คำเรียกญาติ] [名 + 亲属称谓]
[ชื่อ+คำเรียกญาติ] 4.48 亲属称谓 + 名
คำเรียกญาติ + ชื่อ 9.98
11.绰号 สมญานาม 绰号 สมญานาม 0.59 绰号 สมญานาม 0.41
12.职称 / 职位/ 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 职称 / 职位 / 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 6.14 职称 / 职位 / 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 9.17
13.[职称 / 职位 / 官衔+ 亲属称谓] [อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ + คำเรียกญาติ] [职称 / 职位 / 官衔+ 亲属称谓] [อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ + คำเรียกญาติ] 0.61 [亲属称谓 + 职称 / 职位 / 官衔 ] [คำเรียกญาติ+อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ ] 0.06
14.通称 คำเรียกทั่วไป 通称 คำเรียกทั่วไป 14.19 通称 คำเรียกทั่วไป 14.47
15.[表示年龄 + 通称]
[คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] [表示年龄 + 通称]
[คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] 2.53 - -
16.亲属称谓 คำเรียกญาติ 亲属称谓 คำเรียกญาติ 5.94 亲属称谓 คำเรียกญาติ 2.82
17.拟亲属称谓
คำเรียกญาติปลอม [表示年龄 +/亲属称谓]
[คำบอกอายุ + คำเรียกญาติ] 10 拟亲属称谓 คำเรียกญาติ 19.21
18.[通称+亲属称谓]
[คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ] - - [通称+亲属称谓]
[คำเรียกทั่วไป+คำเรียกญาติ] 9.76
统计 รวม 99.99% 99.95%




ตารางที่ 2 ตัวอย่างคำเรียกขาน
รูปแบบคำเรียกขาน
ภาษาไทยจีนและ
รูปแบบคำเรียกขาน ค่าความถี่ ภาษาจีน ภาษาไทย
ตัวอย่างคำเรียกขาน ตัวอย่างคำเรียกขาน
1.感叹语 คำอุทาน 喂 诶 เอ้ย เฮ้ย
2.感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 亲爱的 宝贝 心肝 ที่รัก แก้วตาดวงใจ
3.[姓 + 职称/职位/官衔] [นามสกุล+อาชีพ/ยศ/ตำแหน่ง] 张主任 王医生 -
4.姓名ชื่อและนามสกุล 张建华 สมศรี มีสกุล
5.[表示年龄 + 姓]
[คำบอกอายุ + นามสกุล] 老张 小林 -
6.[ 姓名或姓或名+词尾 ] [นามสกุล / ชื่อ หรือนามสกุล หรือชื่อ+คำเสริม] 张儿 波儿 -
7.[姓名或姓或名+通称/身份] [คำเรียกทั่วไป/คำบอกสถานภาพ+ชื่อ หรือชื่อและนามสกุล] 张同志 林师傅 คุณสมศรี , มล.สมศรี
8.[姓+亲属称谓]
[นามสกุล + คำเรียกญาติ] 张哥 林姐 -
9.名 ชื่อ 建华 สมศรี
10.[名 + 亲属称谓]
[ชื่อ+คำเรียกญาติ] 东东哥 秀丽姐 พี่สมศรี
11.绰号 สมญานาม 四眼 猫脸 สี่ตา
12.职称 / 职位/ 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 大夫 老师 主任 อาจารย์สมศรี แพทย์หญิงสมศรี
พันตรีหญิงสมศรี
13.[职称 / 职位 / 官衔+ 亲属称谓] [อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ + คำเรียกญาติ] 警察叔叔 护士姐姐 อาจารย์แม่
14.通称 คำเรียกทั่วไป 师傅 同志 คุณ ท่าน
15.[表示年龄 + 通称]
[คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] 老师傅 老同志 -
16.亲属称谓 คำเรียกญาติ 爸爸 妈妈 爷爷 พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย
17.拟亲属称谓
คำเรียกญาติปลอม 老爷爷 大妈 小妹妹 ป้า น้า ลุง ตา พี่
18.[通称+亲属称谓]
[คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ] - คุณพี่ คุณน้า คุณลุง

จากตารางที่ 1 คำเรียกขานแต่ละรูปแบบที่ปรากฏในตารางไม่ใช่คำเรียกขานทุกรูปแบบที่ปรากฏมีใช้ในภาษา เนื่องจากคำเรียกขานบางคำหรือบางรูปแบบมีความถี่ในการใช้น้อยมาก ไม่ถึง 0.01% จึงไม่นำมาแสดงในตาราง เพราะถือว่าเป็นคำเรียกขานที่ปรากฏเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ดังนั้นคำเรียกขานที่ปรากฏในตารางมี 2 ประเภทคือ ประเภทที่หนึ่งคำเรียกขานเดี่ยวทุกรูปแบบ อันได้แก่ [นามสกุล], [ชื่อ] , [อาชีพ / ยศ / ตำแหน่ง] , [คำเรียกญาติ] , [คำเรียกญาติปลอม] , [คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก] , [คำเรียกทั่วไป] ประเภทที่สองคือคำเรียกขานประสม ได้แก่ [นามสกุล +อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ] , [นามสกุล+ชื่อ] , [คำบอกอายุ+นามสกุล] , [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม] , [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป / สถานภาพ] , [นามสกุล+คำเรียกญาติ] , [ชื่อ+คำเรียกญาติ] , [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ+คำเรียกญาติ] , [คำบอกอายุ+คำเรียกทั่วไป] , [คำเรียกทั่วไป+คำเรียกญาติ] คำเรียกขานประสมที่มีความถี่น้อยกว่า 0.5% ไม่นำมาวิเคราะห์ รวมทั้งคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ ใช้เฉพาะกลุ่มคน เช่น คำเรียกที่พบในภาพยนตร์ฮ่องกง จำพวก [madam] [啊SIR] ถือเป็นคำเรียกภาษาต่างประเทศเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ใช้ทั่วไปก็ไม่นำมาวิเคราะห์เช่นกัน
เนื่องจากการหลักเกณฑ์ทางไวยากรณ์ทำให้รูปแบบคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนบางรูปแบบดูแตกต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นรูปแบบเดียวกัน เช่น ภาษาไทยเรียก [ชื่อ + นามสกุล] แต่ภาษาจีนเรียก [นามสกุล + ชื่อ], ภาษาไทยเรียก [คำเรียกญาติ + ชื่อ] แต่ภาษาจีนเรียก [ชื่อ+คำเรียกญาติ] เป็นต้น รูปแบบคำเรียกขานเหล่านี้ในการเปรียบเทียบจะถือว่าเป็นคำเรียกขานรูปแบบเดียวกัน
จากตารางจะเห็นว่า ในภาษาไทย คำที่มีความถี่ในการใช้สูงที่สุดคือ [ชื่อ] อัตราความถี่ 28.85%,รองลงมาคือ [คำเรียกญาติปลอม] ,[คำเรียกทั่วไป],[คำเรียกญาติ + ชื่อ],[คำเรียกทั่วไป +คำเรียกญาติ],[อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ],[สถานภาพ+คำเรียกทั่วไป+ชื่อ], [คำเรียกญาติ],[สมญานาม],[คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก],[คำอุทาน] และคำเรียกที่มีความถี่การใช้น้อยที่สุดคือ [คำเรียกญาติ + อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ] อัตราความถี่ 0.06%
ส่วนในภาษาจีนคำที่มีความถี่ในการใช้สูงที่สุดคือ [ชื่อ] อัตราความถี่ 15.18 %รองลงมาคือ[คำเรียกทั่วไป], [นามสกุล+อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ], [คำเรียกญาติปลอม], [นามสกุลหรือชื่อหรือนามสกุล+คำเรียกทั่วไป / คำบอกสถานภาพ], [นามสกุล+ชื่อ], [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ], [คำเรียกญาติ], [ชื่อ+คำเรียกญาติ], [นามสกุล+คำเรียกญาติ], [คำบอกอายุ+คำเรียกทั่วไป], [คำบอกอายุ + นามสกุล], [คำอุทาน], [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม], [คำหรือวลีแสดงอารมณ์ความรู้สึก],[อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ+ คำเรียกญาติ] และคำเรียกที่มีความถี่การใช้น้อยที่สุดคือ [สมญานาม] ความถี่ 0.59%
เปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่าทั้งภาษาไทยและภาษาจีนมีคำเรียกขานที่เป็นรูปแบบร่วมคือ [คำอุทาน] เช่น ภาษาไทยเช่น เอ้ย เฮ้ย ภาษาจีนเช่น 诶![คำหรือวลีแสดงอารมณ์ความรู้สึก] ภาษาไทยเช่นที่รัก ภาษาจีนเช่น 亲爱的,宝贝 [นามสกุล+ชื่อ] ภาษาไทยเช่น สมศรี มีสกุล ภาษาจีนเช่น 张建华 [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป / คำบอกสถานภาพ] ภาษาไทยเช่นคุณสมศรี ภาษาจีนเช่น 张同志 [ชื่อ] ภาษาไทยเช่นสมศรี [ชื่อ+คำเรียกญาติ] ภาษาไทยเช่นพี่สมศรี ภาษาจีนเช่น张哥 [สมญานาม] ภาษาไทยเช่นไอ้แว่น ภาษาจีนเช่น 四眼 [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ] ภาษาไทยเช่น อาจารย์ ภาษาจีนเช่น 老师 [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ+คำเรียกญาติ] ภาษาไทยเช่น อาจารย์แม่ อาจารย์น้อง ภาษาจีนเช่น 警察叔叔护士姐姐 [คำเรียกทั่วไป] ภาษาไทยเช่น คุณ ท่าน ภาษาจีนเช่น 同志 师傅 [คำเรียกญาติ] ภาษาไทยเช่น ป้า น้า ภาษาจีนเช่น 阿姨 爷爷 [คำเรียกญาติปลอม] ภาษาไทยเช่น ลุง ป้า น้า อา ภาษาจีนเช่น 大爷 大妈 老妈
คำที่ภาษาจีนมีแต่ภาษาไทยไม่มี ได้แก่ [นามสกุล], [นามสกุล + ชื่อ], [นามสกุล + อาชีพ / ยศ / ตำแหน่ง], [คำบอกอายุ+นามสกุล], [นามสกุลและชื่อหรือชื่อหรือนามสกุล+คำเสริม], [นามสกุล+คำเรียกญาติ], [คำบอกอายุ+คำเรียกทั่วไป], [คำบอกอายุ + คำเรียกญาติ]
ที่น่าสนใจและเป็นข้อแตกต่างของภาษาไทยและภาษาจีนที่เด่นชัดก็คือ คนไทยไม่เรียกกันด้วยนามสกุล หรือไม่ใช้นามสกุลเป็นส่วนประกอบของคำเรียกขาน จะปรากฏตามหลังชื่อเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าวัฒนธรรมการใช้นามสกุลในภาษาไทยมีประวัติศาสตร์ที่สั้นมาก และนามสกุลของคนไทยมีหลายพยางค์ บางนามสกุลยาวถึง 10 พยางค์ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นคำเรียกขาน และมีคำเรียกขานที่มีใช้ในภาษาไทยแต่ในภาษาจีนไม่มีคือ [คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ]
คำเรียกขานที่ใช้เป็นหลัก และมีความถี่การใช้มากที่สุดทั้งในภาษาไทยและภาษาจีนตรงกันคือ [ชื่อ] ในภาษาไทยมีความถี่ในการเลือกใช้ 28.85% ในภาษาจีนมีความถี่ในการเลือกใช้ 15.18%

2.โครงสร้างของคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน
คำเรียกขานแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นคำเรียกขานหลัก และส่วนที่เป็นคำเรียกขานประกอบ คำเรียกขานต่างๆ สามารถใช้เป็นคำเรียกขานได้โดยลำพัง ในขณะเดียวกันก็สามารถประกอบเป็นคำเรียกขานประสมได้อีกด้วย คำเรียกขานประสมสร้างขึ้นมาจากส่วนประกอบอื่นๆ มากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไป ส่วนประกอบบางชนิดมีความสามารถในการประกอบเป็นคำเรียกขานสูง และสามารถประกอบเป็นคำเรียกขานหลากหลายรูปแบบ แต่คำเรียกขานบางชนิดใช้โดยลำพังเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถประกอบกับคำอื่นได้ หรือมีข้อจำกัดในการประกอบเป็นคำเรียกขาน นอกจากนี้คำเรียกขานยังได้รับอิทธิพลของระบบไวยากรณ์ในภาษาด้วย ดังนั้นการเรียงลำดับก่อนหลังของส่วนประกอบคำเรียกขานแต่ละส่วนมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และแน่นอน เพื่อสรุปหาสูตรของรูปแบบคำเรียกขาน จะใช้ตัวเลขแทนส่วนประกอบต่างๆ ของคำเรียกขานที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกๆรูปแบบ แล้วสรุปเป็นสูตรดังนี้
ส่วนประกอบของคำเรียกขานในภาษาไทย ได้แก่ 1. ชื่อ 2. คำเรียกทั่วไป 3. คำเรียกญาติ 4. นามสกุล 5. อาชีพ ตำแหน่ง 6. คำอุทาน 7. คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก 8. สมญานาม 9 คำบอกอายุ 10. คำบอกสถานภาพส่วนบุคคล 11. คำบอกเพศ 12. วุฒิการศึกษา 13. ยศ
ส่วนประกอบทั้ง 13 ชนิดสามารถประกอบเป็นคำเรียกขานได้หลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบต่างๆ นั้นสามารถสรุปได้เป็นสูตรคำเรียกขานหลัก โดยที่ ส่วนประกอบแต่ละส่วนไม่จำเป็นต้องเกิดในคำเรียกขานทุกครั้ง หรือทุกรูปแบบ แต่จะมีการเรียงลำดับตามสูตรดังกล่าว เครื่องหมายที่ใช้ในสูตร มี “±” หมายถึง ส่วนประกอบเดียวกันสามารถเกิดได้สองตำแหน่ง ส่วนใหญ่ไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเกิดพร้อมกันได้ ดังสูตรต่อไปนี้





ส่วนประกอบของคำเรียกขานในภาษาจีน ได้แก่ 1.ชื่อ 2.คำเรียกทั่วไป 3.คำเรียกญาติ 4.นามสกุล 5.อาชีพ / ยศ / ตำแหน่ง 6.คำอุทาน 7.คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก 8.สมญานาม 9.คำบอกอายุ 10.คำเสริมท้าย 11.คำบอกลำดับ 12.คำบอกเพศ 13.ส่วนเติมหน้า
ส่วนประกอบทั้ง 13 ชนิดสามารถประกอบเป็นคำเรียกขานได้หลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบต่างๆ นั้นสามารถสรุปได้เป็นสูตรคำเรียกขานหลัก โดยที่ส่วนประกอบแต่ละส่วนไม่จำเป็นต้องเกิดในคำเรียกขานทุกครั้ง หรือทุกรูปแบบ แต่จะมีการเรียงลำดับตามสูตรดังกล่าว เครื่องหมายที่ใช้ในสูตร มี { } ส่วนประกอบที่อยู่ในเครื่องหมายนี้หมายถึงส่วนประกอบที่เกิดในตำแหน่งเดียวกัน เครื่องหมาย “±” หมายถึง ส่วนประกอบเดียวกันสามารถเกิดได้สองตำแหน่ง แต่จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ดังสูตรต่อไปนี้






3.ลักษณะการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน
แม้ว่าการเลือกใช้คำเรียกขานจะแปรไปตามเพศ อายุ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สถานภาพทางสังคม เป็นต้น แต่จากการวิจัยพบว่า คำที่ใช้เป็นคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนมีคำหลักๆ อยู่ไม่มาก จากค่าความถี่แสดงให้เห็นว่า “ชื่อ” เป็นคำที่ใช้เป็นคำเรียกขานมากที่สุดในทั้งสองภาษา การเลือกใช้ชื่อเป็นคำเรียกขานมากที่สุดในทั้งสองภาษาอาจเนื่องมาจากสองเหตุผลคือ 1) “ชื่อ” เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือผู้มีสถานภาพสูงกว่าใช้เรียกผู้มีสถานภาพต่ำกว่าเพื่อแสดงถึงอำนาจ ในทางกลับกันผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่มีสถานภาพต่ำกว่าจะไม่ใช้ชื่อเรียกผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือมีสถานภาพสูงกว่าตน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ชื่อ” แฝงไว้ซึ่งความหมายแห่ง “อำนาจ” 2) การใช้ชื่อเรียกผู้ที่มีสถานภาพและอายุเท่าเทียมกันเป็นการแสดงถึงความสนิทสนมแน่นแฟ้น และความเสมอภาค ดังนั้น เมื่อ “ชื่อ” แฝงความหมายถึง “อำนาจ” และ “ความสนิทสนม” อันเป็นกรอบที่ควบคุมการใช้คำเรียกขานทั้งระบบเช่นนี้ ทำให้ค่าความถี่ในการเลือกใช้ “ชื่อ”ในทั้งภาษาไทยและภาษาจีนมีค่าความถี่สูงที่สุด
การใช้คำเรียกญาติแฝงความหมายถึงการแสดงความเคารพผู้ฟัง ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าการใช้ชื่อเรียกผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือผู้มีสถานภาพสูงกว่าเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพผู้ฟัง แต่หากเรียกผู้ฟังด้วยคำเรียกญาติ + ชื่อ(รูปแบบในภาษาไทย) หรือ ชื่อ + คำเรียกญาติ (รูปแบบในภาษาจีน) กลับแสดงถึงความเคารพได้ และในขณะที่ “ชื่อ” แฝงความหมายของความสนิทสนม การใช้คำเรียกขานประสมในรูปแบบนี้สามารถแสดงถึงความเคารพและความสนิทสนมแน่นแฟ้นไปในเวลาเดียวกัน
จากค่าความถี่จะเห็นว่า นอกจาก “ชื่อ” แล้ว ยังมีคำเรียกทั่วไปในสังคม คำเรียกญาติ คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง ถือเป็นคำเรียกขานชนิดที่มีค่าความถี่การใช้มากเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกันในทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
ที่น่าสังเกตคือ การใช้นามสกุลเป็นคำเรียกขานในภาษาไทยไม่สามารถใช้ได้อย่างอิสระ ต้องใช้ร่วมกับชื่อ เท่านั้น ดังนั้นคำเรียกขานประสมที่ประกอบด้วยนามสกุลจึงปรากฏการใช้ในภาษาไทยเพียงรูปแบบเดียวคือ [ชื่อ+ นามสกุล] อาจจะเป็นเพราะว่าในภาษาไทยมีประวัติศาสตร์การใช้นามสกุลไม่นานนัก ซึ่งแตกต่างจากในภาษาจีนอย่างสิ้นเชิง ภาษาจีนมีประวัติศาสตร์การใช้นามสกุลมาช้านาน เท่าๆกับประวัติศาสตร์ชาติจีนเลยทีเดียว การเรียกกันด้วยนามสกุล หรือคำเรียกขานที่มีนามสกุลเป็นส่วนประกอบเป็นคำเรียกขานที่พบเห็นได้เป็นปกติวิสัยทั่วไป กล่าวคือ นอกจากจะใช้ประกอบกับชื่อแล้ว ยังสามารถใช้ร่วมกับคำเรียกญาติ คำบอกอายุ อาชีพ ยศ ตำแหน่ง และคำเรียกทั่วไปในสังคมได้อีกด้วย แต่ในภาษาไทยกลับไม่มีรูปแบบคำเรียกขานประเภทนี้
การเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยคำนึงถึงสถานภาพสูงต่ำของบุคคลมากกว่าในภาษาจีน เป็นเพราะว่าสภาพสังคมและการปกครองต่างกัน สังคมไทยบูชาพระพุทธศาสนาและเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด รองลงมาเป็นระดับเจ้าขุนมูลนาย ระบบสังคมเช่นนี้ทำให้มีความสูงต่ำทางสังคมเกิดขึ้น จะเห็นว่า พระ กษัตริย์ เจ้านายชั้นสูง ข้าราชการ นักศึกษา ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง คือผู้มีสถานภาพสูงในสังคมไทยที่ได้รับความเคารพยกย่อง แต่ชาวนา กรรมกร คนยากจนถือเป็นผู้มีสถานภาพทางสังคมที่ด้อยกว่า คำเรียกขานที่ใช้กับบุคคลสองกลุ่มนี้ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้ว่าในสังคมไทยผู้ที่ยิ่งมีสถานภาพทางสังคมสูงเท่าใด คำเรียกขานก็ยิ่งมีความยาวมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากบุคคลผู้หนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีเชื้อพระวงศ์ มียศตำแหน่งทางวิชาการ มีวุฒิปริญญาเอก เป็นต้น คำที่บ่งบอกสถานภาพเหล่านี้ต้องปรากฏอยู่ในคำเรียกขานเพื่อแสดงถึงสถานภาพทางสังคมอันสูงส่งและแสดงถึงการยกย่องของบุคคลผู้นั้น เช่น “ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ท่าน ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ หม่อมราชวงศ์คฑาวุฒ มาลากุล ณ อยุธยา” แต่ในสังคมจีน โดยเฉพาะหลังปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นต้นมา ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานภาพทางสังคมมากเท่ากับสังคมไทย ดังนั้นการใช้คำเรียกขานในลักษณะนี้จึงไม่ค่อยพบว่ามีใช้ในสังคมจีนปัจจุบัน
คำเรียกขานในภาษาจีนคำนึงถึงปัจจัยทางเพศมากกว่าสังคมไทย จะเห็นได้จากระบบคำเครือญาติในภาษาจีน นอกจากการแยกความแตกต่างตามอายุที่ระบบคำเครือญาติมีอยู่แล้วนั้น ภาษาจีนยังมีการแยกตามความแตกต่างตามเพศอย่างชัดเจน เช่นคำเรียกญาติในรุ่นเดียวกันที่มีอายุมากกว่าตนเองในภาษาไทยมีคำว่า “พี่” เพียงคำเดียว แต่ภาษาจีนมีคำเรียกพี่เพศชายและหญิงแยกออกจากกันชัดเจนคือ 哥哥 “พี่ชาย”และ 姐姐” พี่สาว” เช่นเดียวกันกับคำเรียกญาติในรุ่นเดียวกัน แต่อายุน้อยกว่าตนเองในภาษาไทยมีคำว่า “น้อง” เพียงคำเดียว แต่ภาษาจีนมีคำเรียกพี่เพศชายและหญิงแยกอกจากกันชัดเจนคือ 弟弟 “น้องชาย” และ 妹妹”น้องสาว” ซึ่งระบบคำเครือญาติในภาษาจีนมีการแบ่งแยกเพศเช่นนี้ทั้งระบบ ยิ่งไปกว่านั้น สังคมจีนก็ให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากความคิดที่ว่าผู้ชายเป็นผู้สืบตระกูลของครอบครัว ดังนั้นคำเรียกญาติทางฝ่ายพ่อจะมีแบ่งเป็น 伯伯“ลุง” กับ叔叔 “อา” แต่คำเรียกญาติลักษณะเดียวกันฝ่ายแม่จะใช้คำคำเดียวกัน คือ 舅舅 “ลุง หรือ น้า”
คำเรียกขานในภาษาไทยคำนึงถึงปัจจัยทางอายุมากกว่าสังคมจีน ดังจะเห็นได้จากระบบคำเครือญาติในภาษาไทยที่แบ่งตามอายุมากน้อยก่อน แล้วจึงแบ่งตามเพศ เช่น คำเรียกญาติรุ่นพ่อในภาษาไทย สำหรับผู้ที่อายุมากกว่าพ่อ(หรือแม่) มีคำว่า “ลุง”และ “ป้า” ส่วนผู้ที่อายุน้อยกว่าพ่อจะเรียก “อา” จึงเห็นได้ว่าภาษาไทยแบ่งตามอายุมากน้อยก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยแบ่งว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย ยิ่งไปกว่านั้นด้วยเหตุที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับญาติที่มีอายุมากมากกว่าญาติที่มีอายุน้อย ดังนั้นในกลุ่มญาติที่มีอายุมากจะมีการแบ่งออกเป็นเพศชายและเพศหญิง แต่ในกลุ่มญาติอายุน้อยกลับใช้คำเดียวกันไม่ว่าหญิงหรือชาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าในภาษาไทยให้ความสำคัญกับอายุเป็นอันดับแรก รองลงมาคือความแตกต่างระหว่างเพศ
การใช้คำเรียกญาติเรียกผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติดูจะเป็นลักษณะเด่น และเป็นลักษณะร่วมของสังคมชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไม่เพียงแต่ในภาษาไทยและภาษาจีนเท่านั้นที่มีการใช้คำเรียกญาติเรียกผู้ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติ จากการวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าในภาษาพม่า ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ภาษาลาวรวมถึงภาษาชนกลุ่มน้อยในเอเชียอาคเนย์ ล้วนมีการใช้คำเรียกญาติกับผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติทั้งสิ้น แม้แต่ในสังคมเอเชียตะวันออกไกลเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีก็มีการใช้คำเรียกญาติในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งแตกต่างจากสังคมภาษาทางแถบยุโรปที่ในเหตุการณ์ปกติ จะไม่คุ้นชินกับการเรียกผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติว่า brother, sister, grandma, uncle หรือหากมีการใช้บ้าง ก็ไม่ได้ใช้อย่างเป็นปกติทั่วไปอย่างสังคมภาษาเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ความคิดความเชื่อในเรื่องความเคารพต่อผู้ใหญ่ หรือเรื่องคนทุกคนเปรียบเสมือนญาติพี่น้องกัน” ฝังรากในจิตใจของชาวเอเชียอย่างลึกซึ้ง

4. ปัจจัยกำหนดการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนนั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ
1. ปัจจัยภายใน คือปัจจัยที่อยู่ในตัวผู้เรียก และตัวผู้ถูกเรียก ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพส่วนตัว
เจตนา อารมณ์ความรู้สึก ชนชาติ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานโดยตรง ในบรรดาปัจจัยภายในเหล่านี้ ปัจจัยที่คงที่คือเพศและอายุของคู่สนทนา เนื่องจากในขณะเรียกขานกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใด ช่วงเวลาใด สถานที่ใดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นปัจจัยทั้งสองอย่างนี้จึงมีความสำคัญต่อการเลือกใช้คำเรียกขาน จากการศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนก็พบว่าปัจจัยทั้งสองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญว่าในภาษาใดจะถือเอาปัจจัยใดเป็นอันดับหนึ่งหรือสอง ซึ่งเราพบว่าในภาษาไทยให้ความสำคัญกับปัจจัยอายุเป็นอันดับแรกรองลงมาคือปัจจัยเพศ ในทางกลับกันภาษาจีนให้ความสำคัญกับปัจจัยเพศเป็นอันดับแรกและรองลงมาคือปัจจัยอายุ
2. ปัจจัยภายนอก คือปัจจัยที่อยู่นอกตัวผู้เรียกขานและผู้ถูกเรียก สังคมวัฒนธรรม สถานภาพทาง
สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนา สภาพแวดล้อมทางภาษา ยุคสมัยและระบบภาษา ในบรรดาปัจจัยภายนอกเหล่านี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานที่เด่นชัดที่สุดคือ “ความสัมพันธ์ของคู่สนทนา”
ความสัมพันธ์ของคู่สนทนาแบ่งเป็น ความสัมพันธ์ฉันท์ญาติ และความสัมพันธ์แบบไม่ใช่ญาติแบ่งย่อยได้เป็น คนแปลกหน้า คนรู้จัก คนสนิท ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนาที่กล่าวมานี้อยู่ภายใต้การควบคุมของปัจจัยหลักที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือ “อำนาจ” และ “ความสนิทสนม” ซึ่งค่อนข้างคล้ายคลึงกับทฤษฎีของ Brown and Gillian (1972) ที่กล่าวไว้ว่าสิ่งที่ควบคุมการใช้คำเรียกขานของคนในสังคมมีสองประการคือ พลังอำนาจ (Power) อันเป็นผลมาจากพลังทางร่างกาย ความแตกต่างทางเพศ ฐานะทางครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม เป็นต้น และความสนิทสนมแน่นแฟ้น (Solidarity) อันเป็นผลมาจาก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแง่ของ อาชีพ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ที่อยู่อาศัย ประเทศชาติ ฯลฯ

5 บทสรุป
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อผู้สนทนาจะเลือกใช้คำเรียกขานในแต่ละครั้ง มักจะมีปัจจัยหลายๆอย่างควบคุมการเลือกใช้คำเรียกขานไปพร้อมๆ กัน บางครั้งก็อาจสามารถชี้ได้ชัดเจนว่าเป็นปัจจัยใดบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ในการเลือกใช้คำเรียกขานครั้งหนึ่งๆที่มีปัจจัยมากกว่าหนึ่งปัจจัยควบคุมอยู่นั้น ปัจจัยใดมีอิทธิพลมาก ปัจจัยใดมีอิทธิพลน้อย คงทำได้เพียงการสรุปในภาพรวมเท่านั้น และสามารถสรุปเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
ภาษาจีน ภาษาไทย

เพศ อายุ
ปัจจัย อายุ เพศ ปัจจัย
ภาย สถานภาพส่วนตัว สถานภาพส่วนตัว ภาย
ใน เจตนา เจตนา ใน
อารมณ์ อารมณ์



สถานภาพทางสังคม สถานภาพทางสังคม
ปัจจัย วัฒนธรรมความเชื่อ วัฒนธรรมความเชื่อ ปัจจัย
ภาย สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อม ภาย
นอก ยุคสมัย ยุคสมัย นอก
ระบบภาษา ระบบภาษา
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

บรรณานุกรม[1]龚群虎《汉太关系词的时间层次》,复旦大学出版社,2002,上海。
[2]韩省之《称谓大辞典》,新世界出版社,1991年,北京。
[3]吉常宏《汉语称谓大词典》,河北教育出版社,2000年,石家庄。
[4]姜春霞《汉英称谓语对比与翻译》,广西大学硕士学位论文,2002年,广西。
[5] [韩]金炫兄《交际称谓语和委婉语》,台海出版社,2002年,北京。
[6]梁敏、张均如《侗台语族概论》,社会科学出版社,1996年,北京。
[7](清)梁章钜《称谓录》,天津市故箱书店,1987年,天津。
[8]刘恭懋《古代称谓礼貌语中的人名称呼》,《贵州教育学院学报》,2001年06期。
[9]马宏基,常庆丰《称谓语》,新华出版社,1998年,北京。
[10]牛志平,姚兆女《唐人称谓》,三秦出版社,1987年,西安。
[11]田惠刚.《中西人际称谓系统》,外语教学与研究出版社,1998,北京。
[12]王火、王学元《汉语称谓词典》, 辽宁大学出版社 ,1988年,辽宁。
[13]袁庭栋《古人称谓漫谈》,中华书局,1994年,北京。
[14]张孝忠《古今称谓辞典》, 中国国际广播出版社 ,1988年,北京
[15]Aroonmanakun, Wirote(1999) Extending Focusing for Zero Pronoun Resolution in Thai ,PhD.Dissertation,
Georgetown University,
[16]Brown Roger & Gilman Albert (1972),The pronoun of power and solidarity , In Fishman(ed.)Rearing in The
Sociology of Language.
[17]Cooke Joseph Robinson(1966),Pronomial Reference in Thai,Burmese,and Vietnamese,(Dissertation
Abstracts International, Ann Arbor, 1966, Vol.26.
[18]Ervin-Trip Susan M.( 1972) An Analysis of the interaction of Language, Topic and Listener,In Fishman(ed.)
Reading in The Sociology of Language .
[19]Filbeck David (1973),Pronouns in Northern Thai, Anthropological Linguistics. 15, 345-61. Bloomington, IN ,
[20]Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint(1986),The Use of Address Terms in Thai during the Ratanakosin
period ,Julalongkorn University : Bangkok Thailand.
[21]Lohtrakullwat Chutharat, A comparative study of Addressing terms in France and Thai ,M.A.Thesis in linguistics,
Chulalongorn University Thailand,1998.
[22]Manomaivibool,Prapin (1975), A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence,Ph.D. Dissertation,University of
Washington,
[23]Palakornkul A.(1975), A Sociolinguistics study of pronominal usage in spoken Bangkok Thai ,International
Journal of the Sociology of Language, 5, pp. 11-41.
[24]Simpson R. C.(1996)The many I’s of Thai: Gender Differences in self-reference ,Presented at Annual
meeting of New Ways of Analyzing Variation conference, October,. 11,199.