วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การพรรณนาภาษาปู้ยังในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ชาวปู้ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีน มีถิ่นฐานหลักสองแห่ง คือ ชาวปู้ยังที่อำเภอน่าโพ (มณฑลกว่างซี) อำเภอฟู่หนิงและอำเภอกว่างหนาน(มณฑลยูนนาน) การสำรวจสำมะโนประชากรปี 1994 มีจำนวนประชากรประมาณ 2000 คน นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่า บรรพบุรุษของชาวปู้ยังคือชนเผ่าโบราณป่ายเยว่ที่อาศัยอยู่พื้นที่หลิ่งหนานแถบชายฝั่งทะเล ในด้านภาษาศาสตร์ นักวิชาการจีนจัดภาษาปู้ยังไว้ภายใต้ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาเกอ-ยัง (เป็นคู่ขนานระดับเดียวกันกับแขนงจ้วงไตและต้ง-สุ่ย) คำศัพท์ของภาษาปู้ยังนอกจากจะมีความสัมพันธ์กับภาษาตระกูลไทแล้ว ยังมีคำศัพท์ที่สอดคล้องกับภาษาจีนเก่า และบางส่วนคล้ายคลึงกับภาษาตระกูลมอญ-เขมร ปัจจุบันรัฐบาลจีนจัดชาวปู้ยังที่มณฑลยูนนานให้เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวจ้วง และจัดชาวปู้ยังที่มณฑลกว่างซีให้เป็นสมาชิกชนกลุ่มน้อยชาวเหยา  ด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวปู้ยังมีความเชื่อเรื่องผี เคารพบูชาวิญญาณบรรพบุรุษและเทพเจ้า  

            ประเด็นที่สำคัญที่สมควรจะหยิบยกมากล่าวในบทอภิปรายนี้ก็คือ ในระหว่างเรียบเรียงบทความเรื่องนี้ ผู้เขียนพบเห็นประเด็นที่น่าสนใจมาก  ซึ่งนับได้ว่าเป็นร่องรอยของภาษาไทยที่เก่าแก่อย่างหนึ่ง นำไปสู่ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคำควบกล้ำและคำสองพยางค์ในภาษาไทยได้ กล่าวคือ คำสองพยางค์ในภาษาปู้ยังบางกลุ่มตรงกับคำพยางค์เดียวในภาษาไทย  บางกลุ่มตรงกับคำสองพยางค์และคำควบกล้ำในภาษาไทย และบางกลุ่มตรงกับคำสองพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วย “กระ(กะ), มะ” นอกจากนี้ยังพบคำสองพยางค์ที่เป็นคำไทยโบราณ

         จากการเปรียบเทียบตัวอย่างคำศัพท์ภาษาปู้ยังกับภาษาไทยและภาษาถิ่นตระกูลไทย จะเห็นว่า คำว่า /ma:k11/ “หมาก” นอกจากจะเป็นคำเรียกชื่อผลไม้แล้ว ยังมีการแปรความหมายไปใช้กับคำนามอื่น เช่น ma0 la312ปลา”,  /ma0 ta54/  “ตา”, ma0 lɛN312แมลง”, /ma0 tɔ312/ “ประตู ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดจากการเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของ “หมาก” ว่ามีลักษณะกลม เล็ก เป็นก้อน เป็นตัว ทำให้ความหมายเดิมของ “หมาก” นอกจากจะแปลว่าผลไม้แล้ว ยังได้ขยายความหมายออกไปใช้กับคำนามอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย หากจะเทียบเคียงกับภาษาไทย เราจะพบลักษณะเช่นนี้ได้ชัดเจนในภาษาไทยถิ่นอีสานที่เรียกผลไม้ว่า “บัก” ซึ่งก็เป็นเสียงแปรของคำว่า “หมาก” เช่น ชื่อผลไม้ บักมี่(ขนุน) บักนัด (สับปะรด) บักเขียบ (น้อยหน่า) ขณะเดียวกันก็ขยายความหมายไปใช้เรียกคำนามอื่นได้ด้วย ได้แก่ ชื่อสิ่งของ เช่น บักกอลอ (ที่แขวนคอควาย) บักจก (จอบ) บักกะแหล่ง (เสื้อคอกระเช้า) ชื่อสัตว์ เช่น  บักหอย (หอย) บักขี้เกี้ยม (จิ้งจก) เรียกคน เช่น บักหล่า (ลูกชายคนเล็ก) บักเสี่ยว (เพื่อนเกลอ) เป็นต้น ข้อมูลดังที่กล่าวมานี้เป็นร่องรอยของภาษาไทยเก่าและวิวัฒนาการของภาษาไทยได้  

อ่านบทความนี้เพิ่มเติมใน  การพรรณนาภาษาปู้ยังในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น