วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสาน ใต้

เมชฌ สอดส่องกฤษ (2553) “ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสานใต้”
นำเสนอใน การประชุมวิชาการระดับชาติ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 6 ในวันที่ 15-16
พฤศจิกายน 2553.จัดโดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่ม
น้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสานใต้

ในเขตอีสานใต้ได้แก่พื้นที่ของจังหวัดอุบราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา มีกลุ่มคนที่พูดภาษาต่างกันนับได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มไท กลุ่มเขมร(ในที่นี้หมายถึงเขมรถิ่นไทย) กลุ่มกะตู(กูย, บรู,เยอ) และกลุ่มจีน(ส่วนใหญ่เป็นแต้จิ๋ว) กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดนี้บ้างอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนทวิภาษา บ้างเป็นชุมชนพหุภาษา ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ทางภาษากันตลอดเวลา ในที่นี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสานใต้ในสามประเด็นคือ ความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ในอดีต และคำที่น่าสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสานใต้

1.ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสานใต้ในปัจจุบัน
เนื่องจากชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจ ทำให้มีอิทธิพลต่อกลุ่มชนอื่นมาก ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานใต้นั้น หากมองในมุมมองของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนพหุภาษาในปัจจุบัน จะพบคำยืมภาษาจีนในภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้ไม่ยาก ส่วนใหญ่เป็นคำจำพวกอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ คำเรียกขาน และศาสนา โดยภาษาไทยในฐานะชนกลุ่มใหญ่ที่ติดต่อโดยตรงกับชาวจีนเป็นผู้ยืมคำจากภาษาจีนไปก่อน จากนั้นถ่ายเทสู่ภาษาอื่นๆ เป็นทอดๆ ตามลำดับของความใหญ่เล็กของชุมชน ลำดับของอำนาจหรือลำดับของความเข้มแข็งของกลุ่มภาษาชาติพันธุ์เป็นสองหรือสามทอด เช่น ลำดับที่หนึ่งไทยยืมจากจีน ลำดับที่สองเขมรยืมจากไทย ลำดับที่สามกูยยืมจากเขมร หรือลำดับที่หนึ่งไทยยืมจากจีน ลำดับที่สองและสามเขมรและกูย ยืมจากไทยไปพร้อมๆกัน ตัวอย่างเช่น
ภาษาจีน ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษากูย
ซีอิ๊ว ซีอิ๊วขาว,ซีอิ๊วดำ ซีอิวซอ ,ซีอิวขะเมา ซีอิวตะแวง,ซีอิวเบลีย
โจ๊ก โจ๊กหมู,โจ๊กไก่ โจ๊กจรูก,โจ๊กเมือน โจ๊กอะลีก,โจ๊กอันตรวย
ไชโป้ว ไชโป้วเค็ม,ไชโป้วหวาน ไชโปไปร,ไชโปปะแอม ไชโปอาไปร,ไชโปงาม
ปุ้งกี๋ ปุ้งกี๋หวาย,ปุ้งกี๋เหล็ก ปุงกีปะเดา,ปุงกีแดก ปุงกีอาไร,ปุงกีเล็ก(ยืมจีนไทย)
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าคำศัพท์ภาษาจีนเดิมเมื่อภาษาไทยยืมมาใช้ คำที่แสดงความหมายหลักจะยังคงเดิม แต่ส่วนขยายความจะมีการผสมภาษาไทยเข้าไป เมื่อภาษาเขมรและภาษากูยยืมไปจากภาษาไทย ในระดับของเสียงจะมีการแปรของเสียงไปตามระบบเสียงของภาษาทั้งสอง แต่ในระดับคำก็ยังคงคำหลักไว้ ส่วนคำขยายจะแปลเป็นภาษาของตนเอง หลักฐานนี้ชี้ให้ถึงลำดับของการถ่ายเททางภาษา
เนื่องจากคำในลักษณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ในชุมชนพหุภาษาที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน สามารถพบเห็นได้ทั่วไป มีหลักฐานชัดเจน และไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นไปได้ ทำให้เรื่องนี้ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของนักภาษาศาสตร์อีกต่อไปได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องที่หยิบยกมากล่าวถึงบ้างในบางโอกาสเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็หันมาสนใจสิ่งที่ท้าทายกว่านั้นก็คือ ความพยายามในการศึกษาเพื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์ของภาษาต่างๆในดินแดนอีสานใต้ในยุคประวัติศาสตร์ ในแง่มุมของภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์

2. ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสานใต้ในอดีต
ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาอีสาน ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษากูย และ ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาเขมร ดังนี้
2.1 ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาอีสาน
ประเด็นนี้เกิดขึ้นมาจากแนวคิดที่ว่า บรรพบุรุษของชาวอีสานที่แต่เดิมกระจายตัวอยู่ทาง
ตอนใต้ของจีน ได้ขยายเขตที่อยู่อาศัยลงมาถึงตอนเหนือของลาว แล้วเลยเข้าสู่ภาคอีสานของไทย แน่นอนว่าหลักฐานทางภาษามีความสำคัญมาก จากการสังเกตคำในภาษาอีสานพบว่า มีคำภาษาอีสานที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเรียกว่าเป็นคำที่ไม่ร่วมเผ่าพันธุ์กับภาษาตระกูลไท แต่กลับเหมือนกับคำในภาษาจีน ทั้งเสียงและความหมาย อย่างที่นักภาษาศาสตร์เรียกว่า “คำศัพท์ร่วมเชื้อสาย” ส่วนคำที่คล้ายกัน มีความคล้ายคลึงอย่างเป็นระบบ และสามารถอธิบายได้ด้วยเกณฑ์ทางสัทศาสตร์ เช่น มีการกร่อน สูญหาย กลาย แปร ปฏิภาค แจกพยางค์ เป็นต้น จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า มีคำประเภทนี้มากกว่า 500 คำ ซึ่งคำในภาษาอีสาน เป็นทั้งคำโดดและคำมากกว่าสองพยางค์ ดังนี้
2.1.1 ตัวอย่างคู่คำโดดภาษาอีสานกับภาษาจีน
2.1.1.1 คำที่เหมือนกัน ออกเสียงเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน
ส่วง ตรงกับภาษาจีนคำว่า 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง โล่งสบาย
ถั่ง ตรงกับภาษาจีนคำว่า 淌 tang3 น้ำ ไหลบ่า
เหิง ตรงกับภาษาจีนคำว่า 恒 heng2 ยาวนาน
จ่าน / ขยายออก แผ่ออก/ 展 zhan3 ขยายออก แผ่ออก
ล่าย / ปด หลอกลวง 赖 lai4 บิดพลิ้ว
ยง / ยาวนาน 永 yong3 ยาวนาน

2.1.1.2 คำที่คล้ายคลึงกัน แบ่งได้ดังนี้
(1) คำที่มีการแปรของเสียง เช่น การกร่อนและการสูญหายของเสียง เกิดจากเสียงบางเสียงเกิดการกร่อนหรือแปรไปเป็นเสียงที่มีฐานกรณ์ใกล้เคียงกัน หรือเสียงสระใดสระหนึ่งในสระประสมสูญหายไป หรือพยัญชนะท้ายเกิดการกลายเสียงหรือสูญหาย เช่น
ฮง /สุกใส แวววาวเป็นประกาย/ 晃 huang3 /แสงจ้าตา สว่างจ้าตา/
โส /คุยกัน สนทนากัน/ 说 shuo1 / พูด คุย/
ตู้ /ทู่ ไม่คม/ 钝 dun4 / ทู่ ไม่คม/
ซอง / คู่ 双 shuang1 / ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่
ฝุง / เย็บ ชุน 锋 feng2 เย็บ
เถียง / กระท่อมในนา 亭 ting2 ศาลา
(2) การเป็นเสียงปฏิภาค พบเสียงปฏิภาคหลายคู่ และหลายคำ
ตัวอย่างเช่น p- ph /, /p – f / , /th – t / , / d – t /

/ p- ph / เปิง /ห้องเปิดโล่ง/ 棚 peng2 /เพิงกลางแจ้ง
ปุ้ง /ใหญ่ พอง โต ขยาย 膨 peng2 / ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น
/p – f / ป่ง /ผลิออก งอก / 丰 feng1 / อุดมสมบูรณ์
ป่วง /บ้า/ 疯 feng1 / บ้า
/th – t / ท่าว / ล้ม/ 掉 diao4 / ล้ม
เท่า / ตลอด จนกระทั่ง/ 到 dao4 / ถึง
/ d – t / ดอน / เนินสูง / 墩 dun1 / เนินดิน
ดะ / ปะทะ กระทบ 打 da3 / ตี
(3) การเป็นเสียงปฏิภาคกับภาษาไทย แต่เป็นเสียงเดียวกันกับภาษาจีน หัวข้อนี้หมายความว่า เสียงที่ภาษาอีสานเป็นเสียงปฏิภาคกับภาษาไทย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาจีนแล้ว มีความใกล้ชิดมากกว่า หรือ ออกเสียงเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
- คู่เสียงพยัญชนะต้น /r/ - /h/ เป็นที่ทราบกันดีว่าคำที่มีเสียงพยัญชนะต้น ฮ ในภาษาอีสาน เป็นเสียงปฏิภาคกับเสียง ร ในภาษาไทยกลาง เช่น ฮ้าย-ร้าย / ฮง –รม / ฮ้าน – ร้าน / ฮุ้ง – รุ้ง/ ฮอง– รอง / เฮือง – เรือง แต่ในขณะที่เสียง ฮ ในภาษาอีสานในคำที่คู่กับเสียง ร ในภาษาไทยนี้ สามารถหาคู่คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง / h/ ในภาษาจีนได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น
ฮ้าย (ร้าย) 害 hai4 ร้าย
ฮง (รม ) 烘 hong1 รม,อบ
ฮ้าน (ร้าน) 閈 han4 กำแพงเตี้ย
ฮุ้ง (รุ้ง) 虹 hong2 รุ้ง
ฮ่วน (เรียก) 唤 huan4 เรียก
ฮอง (สว่างจ้าตา,รอง) 晃 huang3 เรืองรอง
- คู่เสียงสระ /uo/ คำที่ภาษาไทยออกเสียงสระ /uo/ ภาษาไทยออกเสียงสระ /ua หรือ / เช่น ดวก – ดอก / กั่ว – กว่า / สวง – สอง / ก้วง – กว้าง / ขวง – ขวาง/ เสียงสระนี้ของภาษาอีสาน ตรงกับเสียงของคำในภาษาจีน เช่น
ดวก (ดอก) 朵 duo3 ดอก
กั่ว (กว่า) 过 guo4 ผ่าน เลย กว่า
สวง (สอง) 双 shuang1 คู่
ก้วง , ขวง (กว้าง ,ขวาง) 广阔 guang3kuo4 กว้างขวาง
- คู่เสียงสระ /ia/ จากการเปรียบเทียบพบว่า คำที่ภาษาไทยออกเสียงสระ /a เอือ ภาษาอีสานออกเสียงสระ /ia/ เช่น มะเขีย – มะเขือ / เกีย – เกลือ / เสี่ย – เสื่อ / เพี่ยน – เพื่อน / เสียงสระนี้ของภาษาอีสาน ตรงกับภาษาจีน เช่น
มะเขีย – มะเขือ 茄 qie2 มะเขือ
เกีย – เกลือ 盐 yan2 เกลือ
เสี่ย – เสื่อ 席子 xi2 เสื่อ
เพี่ยน – เพื่อน 伴 ban2 เพื่อน
(4) คำที่มีการแปรทางความหมาย หากยึดภาษาจีนเป็นตัวตั้ง จากข้อมูลพบการแปรทางความหมายหลายประเภท ได้แก่ A.การแปรจากคำนามเป็นคำกริยา B.การใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น C. การแปรจากคำนามเป็นคำวิเศษณ์ D.การแปรจากคำกริยาไปเป็นคำบอกผลแห่งกริยา E.การแปรจากคำกริยาไปเป็นคำที่บอกเหตุแห่งกริยา ตัวอย่างเช่น
A. ขวย / คุ้ยดิน 凷 kuai1 / ก้อนดิน/
โคบ / ปล้น 冦 kou4 / โจรผู้ร้าย ผู้รุกราน/
B. พืน / แผ่ ขยายออก 喷 pen1 / พ่น กระเด็น/
มุ่ง / สุกใส รุ่งเรือง 明 ming2 / สว่าง/
C. วาก /ลักษณะการพูดเสียงดัง 话 hua4 / คำพูด/
มุ่น / ละเอียด แหลก 粉 fen3 /แป้ง ฝุ่น /
D. วาก / แหว่ง ขาด วิ่น 划 hua4 / กรีด/
ป้ง / โป่ง พอง 膨 peng2 / ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น/
E. ลั๊วะ / ลุทิ้ง ทำให้ไหลออก 流 liu2 /ไหล/
ป่ง / ผลิออก งอก/ 丰 feng1 / อุดมสมบูรณ์/
2.1.2 ตัวอย่างคู่คำเสริมสร้อยสองพยางค์ จากข้อมูลพบว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสาน สามารถหาคู่คำที่พ้องเสียงและความหมายกับคำในภาษาจีน จากการวิเคราะห์พบว่า คำพยางค์เดียวในภาษาจีน จะแตกเป็นคำสองพยางค์ในภาษาอีสาน โดยส่วนใหญ่พบว่า คำวิเศษณ์หรือคำกริยาพยางค์เดียว เมื่อแตกเป็นคำสองพยางค์ในภาษาอีสานแล้ว ยังคงมีความหมายอย่างเดิม แต่ใช้เป็นคำเสริมสร้อยวางไว้หลังคำวิเศษณ์หรือกริยา เพื่อบอกลักษณะอาการของคำวิเศษณ์หรือกริยาในความหมายเดิมนั่นเอง ความสัมพันธ์ของคำในลักษณะนี้ พบข้อมูลดังนี้
2.1.2.1 การเกิดหน่วยเสียงเพิ่ม
(1) หน่วยเติมหน้า คือการเติมหน่วยเสียงเข้ามาข้างหน้า ไม่ได้ทำหน้าที่
บอกความหมายใดๆ เป็นแต่เพียงการซ้อนเพื่อเสียงเท่านั้น เช่น การเติมคำว่า มะ หน้ารากคำเดิม ตัวอย่างเช่น
มะนึง ติดกันเป็นพืด ระโยงระยาง 凝 ning2 เกาะตัว แข็งตัว
มะล้อน อาการแกว่งของวัตถุ 抡 lun1 ใช้แรงกวัดแกว่ง
มะลัง เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง 缆 lan3 มัด พัน ฟั่นเป็นเกลียว
มะลาม ไม่เป็นระเบียบ สับสน ปนเป 乱 luan4ยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ
(2) หน่วยเติมกลาง คือการเติมหน่วยเสียงแทรกตรงกลางระหว่างคำ หน่วยเสียงที่แทรกมา พบว่ามักเป็นพยัญชนะสะกดของรากคำเดิม หรือฐานกรณ์ใกล้เคียงกับพยัญชนะต้นหรือพยัญชนะท้ายของคำเดิมนั่นเอง หรือเป็นเสียง /ย ร ล ว/ ตัวอย่างคำเช่น
จังงัง อาการตกตะลึง 惊 jing1 ตกตะลึง
ข้ายหย้าย อาการผละออกจากกลุ่มทันที 开 kai1 เคลื่อนที่ออกไป
ซ่างล่าง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ยาวสูงขึ้น 上 shang4 ขึ้น บน
ซื่อลื่อ ตรง ทื่อ เซ่อ ลักษณะนิ่ง เฉย 实 shi2 ซื่อ ตรง จริง
ป้องหง้อง อาการล้มของคนหรือสิ่งของ 崩 beng1 พังทลาย พัง แตก
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า มีการเติมหน่วยคำเติมกลางแทรกกลางระหว่างสระและพยัญชนะท้ายของรากศัพท์ หน่วยเติมกลางดังแสดงเป็นตัวอักษรทึบดังนี้ จังงัง ข้ายหย้าย ซ่างล่าง ซื่อลื่อ ป้องหง้อง เพ้อเว้อ
(3) หน่วยเติมท้าย เป็นการเติมหน่วยคำซ้อนต่อท้ายคำเดิม โดยที่เสียงพยัญชนะต้นของพยางค์ที่สองมักเป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก เสียงสระก็เป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก แต่ความสั้นยาวจะตรงกันข้ามกัน กล่าวคือถ้าพยางค์หน้าเป็นสระสั้นพยางค์หลังจะเป็นสระยาว แต่ถ้าพยางค์หน้าเป็นสระยาวพยางค์หลังจะเป็นสระสั้น นอกจากนี้ยังพบว่า คำสองพยางค์ในภาษาอีสานนี้ บางคำทั้งพยางค์หน้าและพยางค์หลังเป็นคำที่มาจากรากศัพท์คำภาษาจีนทั้งสองคำ ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง
แว่งแวะ บอกลักษณะลอยละล่อง วับๆ ลิบๆ 滃 weng3 เมฆลอยขึ้น
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด
พิก วิก ลักษณะของสิ่งเล็ก 薄 bo2 เล็กน้อย
微 wei1 นิดเดียว เบา น้อย
ก้วน ด้วน กุด ขด ด้วน 棍 gun4 ท่อน
断 duan4 ดุ้น
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า หน่วยเติมท้ายที่เติมเข้ามา พยัญชนะต้นพยางค์ที่สองซ้ำกับพยัญชนะต้นรากศัพท์เดิม โดยสลับความสั้นยาวของสระ แสดงเป็นอักษรทึบ ดังนี้ ก่งโก๊ะ แว่งแวะ แซ่งแซะ ซะซาย ส่วนคำที่สามารถหาคู่คำสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ทั้งสองคำ ได้แก่ พิก วิก และ ก้วนด้วน
2.1.2.2 กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย คือ รากศัพท์เดิมเพียงคำเดียว สามารถ
นำมาสร้างคำสองพยางค์ได้หลายคำ โดยวิธีการแปรเสียงสระที่แตกต่างกัน มีผลทำให้ความหมายแปรไป แต่ยังคงเค้าความหมายจากรากศัพท์เดิม ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก้ย อาการเดินหลังโกงเคลื่อนไปช้าๆ 弓 gong1 โค้ง โก่ง
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง
ก่งจ่ง อาการที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน 弓 gong1 โค้ง โก่ง
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิด
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิด
ง้องแง้ง อาการเคลื่อนไหวคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิด
เซกเลก ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน 脸 lian3 ใบหน้า
เซ่เล่ ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ 脸 lian3 ใบหน้า
เซ่มเล่ม หน้ากระดูกยาวไม่สวย 脸 lian3 ใบหน้า
2.1.2.3 การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น คือ การใช้เสียงพยัญชนะ
และสระในรากศัพท์เดิม แจกพยางค์ออกเป็นสองพยางค์ โดยที่เสียงอัฒสระ / u, i / แปรไปเป็นพยัญชนะต้น /ว, ย/ ของพยางค์ที่สอง (สระ /o/ เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับสระ / u/ ) ตัวอย่างคำเช่น


กากวาก ลักษณะที่มีรอยเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่ 广 guang3 บริเวณกว้างใหญ่
เกกเวก อาการวางหน้าไม่สนิท แปลกๆ 怪 guai4 แปลก ประหลาด
เก่เหว่ เหย เบ้ เบี้ยว 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋
พู้วู้ พูน นูนขึ้นมา 坡 po1 เนิน
พิญิ เริ่มแตกช่อ ใบอ่อน ลักษณะบาดแผลเล็ก 擗 pi3 แตก แยกออกจากของเดิม
สอยวอย แฉล้มแช่มช้อย สอดชื่น งดงาม 帅 shuai4 สะโอดสะอง งดงาม
สวะสวาง โล่งอก โล่งใจ สบายขึ้น 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น
ยีย่อง นวลงาม ผุดผ่อง 艳 yan4 งามหรูหรา งามฉูดฉาด
ยียน ใสงาม แวววาว 妍 yan2 สวยงาม สวยเพริศพริ้ง
2.1.2.4 การสลับที่ จากข้อมูล พบคำเสริมสร้อยที่มาจากรากศัพท์เดิม สามารถสลับที่กันไปมาระหว่างพยางค์ที่หนึ่ง และพยางค์ที่สองได้ โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างคำเช่น
จ๊ะจ่าง อาการถ่างออก เบ่งออก 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก
จ่างจ๊ะ อาการถ่างออก เบ่งออก 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด
ซายซะ รุ่มร่าม รุงรัง รุ่งริ่ง 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด
ซองลอง ส่งของที่อยู่เป็นคู่อย่างเป็นระเบียบ 双 shuang1 คู่
ลองซอง เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ 双 shuang1 คู่
คำที่ยกตัวอย่างมา ไม่เพียงตรงกับภาษาอีสานเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาไทกลุ่มอื่นๆ (เหนือ กลาง) ก็พบว่าตรงกัน หรือบางคำไม่มีในภาษาไทยกลาง แต่มีในภาษาอีสานและเหนือ เช่น
จีน อีสาน เหนือ กลาง ความหมาย
实(shi2) สื่อ ซื่อ ซื่อ ตรง
弓(gong1) ก่ง โก้ง โค้ง โก่ง โค้ง
伴(ban4) เพี่อน(หมู่) เปื้อน เพื่อน เพื่อน
明(ming2) มุ่ง, มง มึ้ง - แจ้ง สว่าง
地 (di4) ไต (แผ่นดิน) ตี้ ที่ ที่
窗(chuang1) ส้วง (ช่อง) จ้อง ช่อง ช่อง หน้าต่าง
倒 (dao3) ท่าว ต้าว - ล้ม
双 (shuang1) สวง สอง สอง สอง
城(cheng2 ) เชียง เจียง เชียง เมือง เช่น เชียงใหม่
2.2 ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษากูย(และภาษากลุ่มกะตู)
หลักฐานทางภาษาที่สำคัญที่สุดที่จะนำมายกตัวอย่างในที่นี้ คือคำว่า “ช้าง” เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวกูยเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ผูกพันกับช้างมาแต่โบราณ ภาษากูยจัดอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก แต่คำเรียกช้างในภาษากูยเรียกว่า “อาเจียง เจียง หรือ อาจืง จืง หรือ อาจีง จีง” กลับเรียกเหมือนภาษาตระกูลไท (นักภาษาศาสตร์จัดภาษาตระกูลไทอยู่ในตระกูลภาษาใหญ่จีน-ทิเบต) ที่เรียกว่า “ช้าง จ๊าง ซ้าง เจี๊ยง” และเหมือนกับภาษาจีนคือ “象xiang4” ดังข้อมูลต่อไปนี้
ตารางเปรียบเทียบคำเรียกช้างภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกกับภาษาตระกูลไท
ตระกูลภาษา กลุ่มภาษา ชื่อภาษา คำเรียกช้างภาษาปัจจุบัน คำเรียกช้างที่เป็นภาษาเก่า หรือ Prto ภาษา
ออสโตรเอเซียติก เขมร เขมร domri tǝmri, tǝmṛ, tǝmre, tǝmrja
Viet – Muong เวียดนาม voi Proto-Ruc : *ca:ŋ, ʔ-

Arem ʔacìǝŋ
Ruc ʔacǝaŋ
ภาษา Austro-Asiatic
ที่พบในประเทศไทย ชอง na:j na:j
ปะหล่อง sa:  *sa(:)ŋ

ขมุ s.aa *ca: ŋ
ลัวะ sa
มอญ มอญ ciŋ ci: ŋ, ciŋ / *ci: ŋ

Nyakur ci:ŋ
ภาษากลุ่มกะตู กูย ʔǝci:ń Proto-Katuic : *ciaŋ Presyllable : -
Notes: LOAN
ข้อมูลจาก StarLing database server ระบุว่า คำว่า ช้าง ในภาษากลุ่มกะตู เป็นคำยืม แต่ไม่ได้บอกว่ายืมมาจากภาษาอะไร
บรู ʔǝciaŋ
โส้ ʔaciaŋ
เยอ ciǝŋ
Pakoh ʔǝciaŋ
Ngeq ciaŋ
Chatong ciǝŋ
Triw ʔaciǝŋ
ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับกูย
(เพียร์) เปือร์ na:j
สำเร kana:j
ชอง na:j
Song kǝna:j
เสตียง ruǝjh Proto-South Bahnaric: *ruǝjh
จีน - ทิเบต จีน ฮั่น xiang4 zi
จ้วงต้ง จ้วง จ๊าง / เจี๊ยง zjáŋ
ไท ไทย ช้าง *jaa / *ja
ไทยเหนือ จ๊าง
ไทยอีสาน ซ่าง
ไทอาหม chang
ไทใหญ่ จ้าง(ช่าง)
ไทดำ จ้าง
Longzhou ca:ŋ.4
Bouyei (Po-ai) ša:ŋ.4
Hlai (Li) ke:ŋ55
ดราวิเดียน Gondi-Kui *jēn- Proto-South Dravidian
*jān Proto-Gondi-Kui : *jēn- (*-ō-)

จากการวิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์พบว่า กลุ่มชนที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติกที่ใกล้ชิดกับคนที่พูดภาษาตระกูลไท เช่น กลุ่มชนที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติกในประเทศไทย (ชอง ปะหล่อง ขมุ ลัวะ) กลุ่มชนที่สัมผัสภาษากับกลุ่มไท (มอญ Nyakur) และที่สำคัญคือ กลุ่มกะตู (กูย เยอ โส้ บรู) เรียกช้างเหมือนภาษาตระกูลไททั้งสิ้น แต่ในขณะที่คนที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก(ตระกูลเดียวกับกะตู) กลุ่มอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนไท หรือมีวัฒนธรรมภาษาที่เข้มแข็ง อย่างภาษาเขมรและภาษาเวียดนามที่ใช้เป็นภาษาประจำชาติ และเป็นภาษาใหญ่ในกลุ่มมอญเขมร หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาและมีความใกล้ชิดกับกูย (กลุ่มชนที่พูดภาษา Pearic และ Bahnaric ในกัมพูชา) ก็ไม่ได้เรียกช้างเหมือนภาษาตระกูลไทแต่อย่างใด นำไปสู่ข้อสรุปได้สองประเด็น คือ
1.ภาษากูยรับคำว่าช้างไปจากภาษากลุ่มไท สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นได้สองกรณี คือ หากทฤษฎีที่ว่าชาวกูย อพยพมาจากอินเดีย สามารถหาหลักฐานที่สนับสนุนได้ในอนาคต และเชื่อได้ว่าชาวกูย อพยพมาจากอัสสัมจริง ก็หมายความว่าชาวกูยยืมคำว่าช้างไปจากชาวไทอาหม ก่อนที่จะถูกรุกรานแล้วอพยพลงมาตามลำน้ำโขง กรณีที่สองคือ ระหว่างที่เร่ร่อนอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง พวกคนไทอพยพลงมา ชาวกูยมีปฏิสัมพันธ์กับคนไท เรียนรู้วิธีการจับช้าง การเลี้ยงช้างจากคนไท และยืมคำว่าช้างไปจากภาษาตระกูลไทในช่วงเวลานี้
2.คำเรียกช้างเป็นภาษาของชาวกูยดั้งเดิม มีหลักฐานจากข้อมูล Proto Dravidian ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ได้ว่า หากมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าชาวกูยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในอัสสัมจริง ก็อาจสรุปได้ว่าชาวกูยและกลุ่มชนที่พูดภาษา Dravidian อยู่ร่วมวัฒนธรรมกันและมีการสัมผัสภาษากัน จากนั้นชาวกูยอพยพมาอยู่ที่ลุ่มน้ำโขง เป็นต้นกำเนิดของคำเรียกช้างกระจายไปสู่กลุ่มชนใกล้เคียงทั้งที่เป็นกลุ่มมอญ-เขมร กลุ่มไทเลยขึ้นไปถึงกลุ่มจีน
2.3 ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาเขมร
เป็นความจริงที่ว่าในภาษาไทยมีคำที่เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรจำนวนมาก คำศัพท์ที่ภาษาไทยมีความคล้ายคลึงกับภาษาเขมรส่วนใหญ่จึงถูกตัดสินว่าเป็น “คำยืม” แต่ในภาษาไทยมีคำศัพท์อีกเป็นจำนวนมากที่หากมองในมิติของคำศัพท์ร่วมเชื้อสายแล้วกลับพบว่า คำหลายคำที่เข้าใจกันว่าเป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร แท้ที่จริงแล้วเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยกับภาษาจีน ไม่ใช่คำที่ยืมมาจากภาษาเขมรแต่อย่างใด และหากศึกษาลึกลงไปอีก จะพบว่าคำที่เข้าใจกันว่าภาษาไทยยืมมาจากภาษาเขมรนั้น แท้ที่จริงเป็นคำศัพท์ที่ทั้งภาษาไทยและภาษาเขมรต่างได้รับอิทธิพลมาจากภาษาจีน
ตัวอย่างในประเด็นนี้ คือ คำว่า “นาง” ตรงกับคำในภาษาจีนว่า 娘 คำนี้ภาษาจีนตั้งแต่ยุคกลางประวัติศาสตร์ลงมา(ภาษาจีนสมัยโจว周朝 1046 ถึง 256 ปีก่อนคริสตกาล)ออกเสียงว่า /nia/ (郭锡良: 1986) แต่ภาษาจีนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ออกเสียงว่า /na/ (龚群虎:2002) ซึ่งเป็นเสียงเดียวกันกับคำว่า “นาง” ในภาษาไทย คำนี้ในภาษาอื่นๆที่อยู่ในตระกูลภาษาไทล้วนออกเสียงว่า /na/ และมีความหมายว่า “ผู้หญิง” เหมือนกันทั้งหมด
ในทางกลับกัน คำว่า “นาง” ที่คิดว่ายืมมาจากคำว่า “nag” (อ่านว่า เนียง มีความหมายเกี่ยวกับผู้หญิง) ในภาษาเขมรนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับคำที่มีความหมายเดียวกัน ในภาษาตระกูลเดียวกันกับภาษาเขมร กลับเป็นคำอื่น นอกจากนี้ เมื่อแปลจากคำว่า “นาง” กลับไปเป็นภาษาเขมร กลับตรงกับคำอื่น ที่ไม่ใช่คำว่า “nag” เช่น นางฟ้า TiBVnarI (ทิพนารี) นางสาว kjØa (กัญญา) นางอัปสร ®sIeTBGbSra (หญิงอัปสรา) นางพญาผึ้ง emXMuµú (แม่ผึ้ง) นางงาม kjØaÉk หรือ bvrkjØa (กัญญาเอกหรือบวรกัญญา) นางโลม®sIpáamas (หญิงดอกทอง)
ข้อมูลหลักฐานทางภาษาศาสตร์ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ช่วงเวลา จีน เขมร ไทย
ภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ 1046ปี ถึง256ปี ก่อนคริสตกาล /na/ ก่อนฟูนันจนถึงเริ่มต้นเจนละ /nān/ *เขียนแบบถ่ายถอดรูปอักษรอย่าง Long Sieam:2000 /na/
ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์
ค.ศ. 420 - 907 /niá/ เจนละ /ni/ /na/
ปัจจุบัน /niá/ เขมร /ni/ /na/

จากข้อมูล สามารถวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ 3 ประเด็น คือ
1. “นาง” ในภาษาไทย มีความสัมพันธ์กับภาษาจีนตั้งแต่ภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีหลักฐานทางเสียงที่เหมือนกันคือ/na/ หมายถึง“เพศหญิง” เหมือนกันเป็นข้อสนับสนุน นอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่าคนไทยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศจีนปัจจุบัน ก่อนที่จะอพยพลงใต้นั้นก็เป็นเวลาเดียวกันกับช่วงระยะเวลาของภาษาจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย รวมทั้งร่องรอยภาษาในกลุ่มชนที่เชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของคนไทที่อยู่ในประเทศจีน ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
2. “nang” ในภาษาเขมรมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ “娘 niang2” ในภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ (สมัยหนานเป่ย 南北朝ถึงสมัยถัง唐朝 คือปี ค.ศ.420 ถึง ค.ศ.907) มีหลักฐานทางเสียงที่เหมือนกันคือ /ni/ และความสัมพันธ์เกี่ยวกับการส่งเครื่องราชบรรณาการ การยอมรับเจ้าเมืองที่ส่งมาปกครองจากจีนของอาณาจักรฟูนัน ทำให้อาณาจักรฟูนันรับอิทธิพลต่างๆมาจากจีน เป็นข้อสนับสนุน
3. เมื่อชาวเซียน (จีนเรียกเสียน เขมรเรียกซีม) อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณปัจจุบัน ด้วยความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ จึงมีการติดต่อสัมพันธ์กับเขมร เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายเทภาษาและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ความหมายด้านอื่นๆ ของคำว่า “นาง” และ “nang” จึงเกิดการถ่ายเทสัมพันธ์กันในคราวนี้

3. คำที่น่าสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอีสานใต้
จากการสังเกตอย่างคร่าวๆ โดยคัดเลือกคำจากภาษาจีน ภาษากลุ่มไท ภาษากลุ่มเขมร ภาษากลุ่มกะตูมาเปรียบเทียบกัน(ภาษาทั้งสี่กลุ่มไม่ใช่ภาษาในตระกูลเดียวกัน) พบคำที่ออกเสียงเหมือนหรือคล้ายกัน และมีความหมายอย่างเดียวกันในทุกภาษาจำนวนหนึ่ง คำเหล่านี้อาจจะเหมือนกันโดยบังเอิญ หรืออาจจะมีความสัมพันธ์กันก็อาจเป็นได้ จึงจะตั้งเป็นข้อสังเกตทิ้งท้ายไว้ในบทความนี้ ดังนี้
จีน ไท เขมร กะตู(ส่วย)
片pian4 แผ่น แพน พอล
匠 jiang4 ช่าง เจียง เจียง
万 wan4 หมื่น เมิน มืน
献xian4 เซ่น แซน เซน
晕yun1 วิง เวียน วิล เวล
退tui4 ถอย ทอย ทอย
哪na3 ไหน นา นา
骑qi2 ขี่ จิ๊ฮ ฉิ
样yang4 อย่าง ยาง ยาง
针zhen1 เข็ม จุล เจือล
十 shi2 สิบ เส็อบ เจ็อด
要 yao4 เอา ยัว แอ
包 bao1 กระเป๋า เบา กะเบา
การศึกษาทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ศึกษาจากหลักฐานที่เจ้าของวัฒนธรรมทิ้งเอาไว้ เช่น ศิลาจารึก ภาพเขียนสี ข้าวของเครื่องใช้ โครงกระดูก สิ่งปลูกสร้าง แต่สิ่งเหล่านั้น บอกข้อเท็จจริงได้โดยการตีความของคนในยุคปัจจุบันจากหลักฐานที่ปรากฏ ซึ่งบางครั้ง ก็อาจถูกหลอกจากหลักฐานของคนโบราณก็เป็นได้ เพราะสิ่งที่คนในประวัติศาสตร์สร้างขึ้น ประดิษฐ์ขึ้น อาจไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็ได้ เช่น เครื่องดนตรีมีสามสาย แต่คนวาดภาพวาดสองสาย หรือวงดนตรีมีคนเล่น 5 คน แต่คนวาดวาดสี่คน สามคน เพราะไม่มีความรู้เรื่องดนตรี หรือพบสิ่งของใดๆในโลงศพโบราณก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นของของคนในพื้นที่ดังกล่าว แน่นอนว่าต้องอาศัยหลักฐานอื่นๆประกอบกัน งานทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ได้ และเป็นหลักฐานเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ คำในภาษาสองภาษา หรือมากกว่านั้น ที่อยู่ต่างพื้นที่กัน แต่พูดเหมือนกัน และมีความหมายเหมือนกัน แม้ว่า บางครั้งยังไม่อาจสรุปได้ว่า เป็น “คำศัพท์ร่วมเชื้อสาย” หรือเป็น “คำยืม” แต่อย่างน้อย ก็สามารถยืนยันได้ว่า ชาติพันธุ์ทั้งสอง หรือมากกว่านั้น เคยมีปฏิสัมพันธ์กัน เคยรู้จักกัน หรือเคยอยู่ร่วมกันมาก่อน

รายการอ้างอิง
เมชฌ สอดส่องกฤษ (2550) “นางคำยืมจากภาษาเขมรหรือคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีน”,
วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง,ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์ลุ่มน้ำโขง, คณะมนุษยศาสตร์และสังคม
ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ปีที่ 3 ฉบับที่ 1,หน้า 139 – 178.
เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2552) “เสียงปฏิภาค /r/,/k/,/kh/ และเสียงปฏิภาคอื่นๆ:หลักฐาน
ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาไทยในฐานะภาษาร่วมตระกูล” วารสาร
มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ปีที่ 31
ประจำภาคเรียนที่ 2 การศึกษา 2552.
เมชฌ สอดส่องกฤษ.(2553) “การศึกษาวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ของภาษา
ตระกูลไท-จีนเรื่อง ความสัมพันธ์ของเสียง / h / ในภาษาไทยถิ่นอีสานกับเสียง / h /ใน
ภาษาจีน”.วารสารศิลปศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยา
เขตหาดใหญ่ ,เล่มที่ 3 ฉบับที่ 2.
เมชฌ สอดส่องกฤษ (2553) " รายการคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อ
สาย ตระกูลไท-จีน" วารสารเอเซียตะวันออกศึกษา.สถาบันเอเซียตะวันออกศึกษา,
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 ,หน้า 124 - 162.
เมชฌ สอดส่องกฤษ (2553) " คำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสานที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์
ร่วมเชื้อสายภาษาไท-จีน" เอกสารประกอบการสัมมนาเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
ภาษาจีนในภาคตะวันอกเฉียงเหนือตอนล่าง.จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย
อุบลราชธานี.เอกสารอัดสำเนา.
เมชฌ สอดส่องกฤษ (2553) “ การวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ เรื่อง คำเรียกช้าง
ในภาษากูย”, วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง,ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์ลุ่มน้ำโขง,คณะ
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นปีที่ 6 ฉบับที่ 2.

http://metchs.blogspot.com/

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 มกราคม 2555 เวลา 13:36

    น่าสนใจค่ะ.....

    ตอบลบ
  2. บทความน่าสนใจมากเลยค่ะ แค่ตัวอักษรที่เป็นสี่เหลี่ยม อยากทราบอ่ะค่ะว่าเป็นตัวอักษรอะไร เป็นตัว phonetic หรือเปล่าคะ ปรับตัวอักษรให้แสดงได้ ได้ไหมคะ

    ตอบลบ
  3. เป็นตัว phonetics ครับ ผู้อ่านต้อง DL ฟอนท์ที่เครื่องนะครับ บทความจึงจะแสดงอักษรพิเศษได้ครับ

    ตอบลบ