วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน

คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าเป็น
คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท– จีน
บทคัดย่อ
ภาษาอีสานและภาษาไทยเกี่ยวข้องกับภาษาจีนในฐานะภาษาร่วมตระกูลไท-จีน ในภาษาอีสานมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นจำนวนมากที่ไม่มีในภาษาไทย แต่กลับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคำในภาษาจีน จึงคาดว่าน่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน คำดังกล่าวนี้ไม่เพียงพบเฉพาะคำโดดพยางค์เดียวเท่านั้น แต่ยังพบในคำสองพยางค์ด้วย โดยเฉพาะในคำเสริมสร้อยสองพยางค์ มีคำที่คาดว่ามาจากรากศัพท์เดิมพยางค์เดียวในภาษาจีน เกิดการแตกพยางค์ออกเป็นคำซ้อนสองพยางค์ในภาษาอีสาน ใช้วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกัน ทำหน้าที่ขยายความ บอกคุณลักษณะ จำนวน ปริมาณ เพื่อเน้นย้ำความหมายให้หนักแน่น ชัดเจนและเด่นชัดยิ่งขึ้น จากการศึกษาชี้ชัดว่าคำศัพท์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กันจริง จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นคำศัพท์ร่วมตระกูลไท– จีน
คำสำคัญ ภาษาตระกูลไท ภาษาอีสาน คำเสริมสร้อยภาษาอีสาน คำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท–จีน
Disyllabled Reduplicated Words in Isan Dialect Which Are Assumed to be Sino-Tai Cognate Words
Abstract
Isan dialect and Thai are related to Chinese as they are from the same family—Sino-Tai.There are many Isan words that are not endemic in Thai language, but tightly related to Chinese. Therefore, it is assumed that they are Sino-Tai cognate words. Those Sino-Tai cognate words are found as both monosyllable and multisyllable. In case of multisyllabled reduplicated words, their root words are thought to be Chinese monosyllable which, then, become disyllable reduplicated words in Isan dialect. Those words are usually placed after a word to describe quality and magnify quantity in order to make the meaning of that particular word stronger, clearer and more distinct. This study points out that some Chinese words and some disyllabled reduplicated words in Isan dialect are closely related. In conclusion, those disyllabled reduplicated words in Isan dialect are Sino-Tai cognate words.
Key words : Tai language, Isan dialect, Isan reduplicated words, Sino-Tai cognate words
บทนำ
ในหนังสือ ลักษณะและการใช้ภาษาไทยของบรรจบ พันธุมธา (บรรจบ:2537) ให้ความหมายของ คำซ้ำ ว่า คือคำคำเดียวกันนำมากล่าวสองครั้ง มีความหมายเน้นหนัก หรือบางทีต่างกันไปกับคำเดี่ยวเพียงคำเดียว จึงถือว่าเป็นคำสร้างใหม่ มีความหมายใหม่ทำนองเดียวกับคำซ้อน ต่างกันก็แต่เพียงคำซ้ำใช้คำคำเดียวกันซ้อนกันเท่านั้น ส่วน คำซ้อน คือ คำที่มีคำเดี่ยว 2 คำ อันมีความหมายคล้ายหรือใกล้เคียงกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ซ้อนเข้าคู่กัน เมื่อซ้อนแล้วจะมีความหมายใหม่เกิดขึ้น แม้ว่าบางคำความหมายจะไม่แปลกไปกว่าเดิมมากนัก แต่ก็ต้องมีความหมายและที่ใช้ต่างออกไปบ้าง คำซ้อนแบ่งออกเป็น คำซ้อนเพื่อความหมาย วิธีสร้างคำก็คือ นำคำเดี่ยวที่มีความหมายสมบูรณ์ที่มีใช้ในภาษามาซ้อนเข้าคู่กัน ซ้อนกันแล้วเกิดความหมายใหม่ คำซ้อนเพื่อเสียง มุ่งที่เสียงยิ่งกว่าความหมาย คำที่เข้ามาซ้อนกันจึงอาจจะไม่มีความหมายเลย หรือมีความหมายเพียงคำใดคำเดียว วิธีสร้างคำก็คือนำคำที่เสียงมีที่เกิดระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกันซ้อนกันเข้า ซ้อนกันแล้ว จะเกิดความหมายใหม่
ภาษาไทยถิ่นอีสานถือได้ว่าเป็นภาษาที่ร่ำรวยคำซ้อนเพื่อเสียงมากที่สุดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาถิ่นตระกูลไทย จากการนำคำศัพท์สองคำมาซ้อนกัน หรือจากคำศัพท์คำเดียว แล้วแตกคำเป็นสองพยางค์ด้วยสระที่สัมพันธ์กัน จากนั้นคำซ้อนสองพยางค์นี้ยังสามารถแตกตัวไปเป็นคำใหม่ได้อีกหลายคำด้วยวิธีการแปรเสียงสระ คำใหม่ที่เกิดจากเสียงสระต่างระดับกันนี้ มีผลต่อความหมายในการขยายออก หรือแคบเข้าที่ต่างระดับกัน ตัวอย่างคำเช่น เช่น จิ่งปิ่ง จ่องป่อง จึ่งปึ่ง โจ่งโป่ง คำทั้งสี่คำนี้บอกลักษณะของช่อง โพรง ที่สายตามองทะลุได้ มีลักษณะจากเล็กถึงใหญ่ 4 ระดับ และถ้าขนาดใหญ่มากอย่างไม่มีขอบเขต ยังสามารถแปรสระเพื่อขยายความหมายออกไปอีกเป็นคำที่ 5 ว่า จ่างป่าง คำเหล่านี้ใช้วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกันเพื่อเสริมคำ ทำหน้าที่บอกลักษณะหรือขยายความหมายของคำหน้า ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีคำซ้อนอีกจำนวนมากที่ซ้อนเข้ามาโดยไม่ได้บอกความหมายใดๆ แต่เป็นเพียงคำสร้อยให้คำไพเราะหรือสละสลวยเท่านั้น เช่นคำว่า ค้งน้ง เป็นคำบอกสิ่งของที่มีลักษณะรูปโค้งขนาดใหญ่ นิยมพูดเป็นสร้อยคำว่า ค้งน้งเค้งเน้ง โดยคำที่เพิ่มมาก็ยังคงหมายถึงลักษณะโค้งเหมือนเดิม มิได้บอกลักษณะอย่างอื่นที่แตกต่างกันแต่อย่างใด แต่หากต้องการบอกลักษณะโค้งแต่มีขนาดเล็กลงใช้คำว่า ค้องน้อง ซึ่งก็สามารถมีสร้อยคำ พูดเป็น ค้องน้องแค้ง แน้ง ก็ได้
จากลักษณะการสร้างคำและการใช้ของคำภาษาไทยถิ่นอีสานข้างต้นที่ใช้เพื่อเสริมความหมาย และใช้เป็นสร้อยคำนี้ ในที่นี้จึงจะเรียกคำประเภทนี้ว่า “คำเสริมสร้อย”
คำเสริมสร้อยในภาษาอีสานดังกล่าวข้าวต้นนี้มาจากไหน สมมติฐานของงานวิจัยนี้คือ เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายในตระกูลภาษาไท-จีน คำถามต่อไปก็คือ ภาษาอีสานเกี่ยวข้องกับภาษาจีนได้อย่างไร ในการจัดกลุ่มตระกูลภาษาไท จัดให้ภาษาอีสานมีความสัมพันธ์กับภาษาไทยในฐานะภาษาถิ่นกับภาษามาตรฐาน ในขณะที่ภาษาไทยเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นภาษาร่วมตระกูลกัน ภาษาอีสานจึงมีฐานะเป็นภาษาร่วมตระกูลกับภาษาจีนด้วยเช่นกัน กอรปกับหลักฐานการอพยพย้ายถิ่นที่มีข้อมูลชี้ชัดว่าชาวอีสานมีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน ทั้งภาษาและเชื้อชาติของชาวไทยและชาวอีสานจึงมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนอย่างใกล้ชิด ดังจะพบว่าในภาษาอีสานมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นจำนวนหนึ่งที่ไม่มีในภาษาไทย จากข้อมูลที่เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นดังที่กล่าวมาจึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า คำภาษาอีสานที่ไม่มีในภาษาไทยดังกล่าวนี้เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีน เนื่องจากสามารถหาคู่คำที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอีสานคำว่า “ส่วง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 爽 (shuang3) หมายถึง ปลอดโปร่ง โล่งสบาย คำภาษาอีสานว่า “เหิง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 恒 (heng2) หมายถึง ยาวนาน คำภาษาอีสานว่า “จ่าน” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 展 (zhan3) หมายถึง แผ่ออก ขยายออก กระจายออกไป ภาษาอีสานคำว่า “ซอง หรือ ซ่อง” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 双 (shuang1) หมายถึง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ ภาษาอีสานคำว่า “ซะ” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 撒 (sa3) หมายถึง หว่าน โปรย กระจัดกระจาย เป็นต้น
ข้างต้นเป็นคำพยางค์เดียวในภาษาอีสานที่สามารถหาคู่คำที่มีความสัมพันธ์กันกับภาษาจีน นำไปสู่การสันนิษฐานเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมตระกูลได้ นอกจากนี้ยังพบลักษณะคำศัพท์ร่วมเชื้อสายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ คำที่สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์เดิมพยางค์เดียวในภาษาจีน ที่เรียกว่าเป็นรากศัพท์เนื่องจากว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสานที่พบ คำพยางค์แรกหรือพยางค์ที่สองเป็นคำที่มีความสัมพันธ์กับภาษาจีน เกิดการแตกตัวเพิ่มพยางค์หน้าหรือหลังอย่างมีหลักเกณฑ์ใช้เป็นคำซ้อนเพื่อเสียง วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกัน ทำหน้าที่ขยายความ บอกจำนวนคุณลักษณะ ปริมาณ เพื่อเน้นย้ำความหมายให้หนักแน่น ชัดเจนและเด่นชัดยิ่งขึ้น ตัวอย่างคำเช่น
ซ่องล่อง / บอกลักษณะสิ่งของที่อยู่เป็นคู่/ 双 shuang1 /คู่/
จ่านพ่าน / บอกลักษณะของการแผ่ขยายออก/ 展 zhan3 /ขยาย/
ต้างหล้าง /ลักษณะที่เป็นหลุมโพรง/ 凼 dang1 /หลุม โพรง/
ก่งด่ง / บอกลักษณะของที่โค้ง/ 弓 gong1 / โก่ง โค้ง/
ซะซาย /บอกลักษณะสิ่งของที่กระจัดกระจาย/ 洒 sa3 / กระจัดกระจาย/
ตัวอย่างประโยค ไปนำกันเป็นคู่ซองลอง (ไปด้วยกันเป็นคู่....) แผ่จ่านพ่านอยู่ฮั่น(แผ่......อยู่ตรงนั้น) เป็นฮูต้างหล้าง(เป็นรู.......) ฮุ่งโค่งค้งน้ง (รุ้งโค้ง......) วางของเฮี่ยฮาดซะซาย (วางของเรี่ยราด.......) ใน / ....../ คือคำเสริมสร้อยที่ทำหน้าที่ขยายความ บอกลักษณะเน้นย้ำคำที่นำมาข้างหน้าให้เด่นชัดและเข้มข้นมากขึ้น ไม่มีคำแปลในภาษาไทย

จากตัวอย่างข้างต้นเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าคำในทั้งสองภาษานี้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่จะมีคำในลักษณะนี้มากน้อยเพียงใด เกี่ยวข้องกันอย่างไร ระดับใด จะได้กล่าวในบทความนี้ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

1. ความสัมพันธ์ของภาษาอีสาน ภาษาตระกูลไท และภาษาจีน
1.1 ภาษาตระกูลไท และการศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท – จีน
1.2 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไท ภาษาไทยถิ่นอีสาน ชนชาวไทและชาว
อีสาน
1.3 การศึกษาที่เกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน
2. คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท - จีน

1. ความสัมพันธ์ของภาษาอีสาน ภาษาตระกูลไท และภาษาจีน
ก่อนจะไปถึงข้อมูลกลุ่มคำศัพท์ดังกล่าว จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดแบ่งภาษาตระกูลไท การศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท–จีน การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไทยและภาษาไทยถิ่นอีสาน เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาจีน รวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องคำเสริมสร้อยในภาษาไทยถิ่นอีสานด้วย
1.1 ภาษาตระกูลไท และการศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท – จีน
เกี่ยวกับการจัดแบ่งตระกูลภาษาของภาษาไทยนี้นักภาษาศาสตร์มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปหลายทฤษฎี ความแตกต่างนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดแบ่งตระกูลภาษา หากแต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงชื่อเรียกภาษาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไทย ไท ไต ได ลาว สยาม กัมไท ในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน มีตัวอักษรที่เรียกชื่อภาษาไทหรือชาวไทอย่างน้อยสี่ตัวขึ้นไป คือ泰 (tai4) 傣 (dai3) 台 (tai) 暹 (xian1) แต่เราจะไม่ถกเรื่องชื่อเรียกภาษาไทในที่นี้ เพราะมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมายแล้ว เช่น เรืองเดช (2531) ในหนังสือชื่อ “ภาษาถิ่นตระกูลไทย” จิตร(2519) ในหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” สุริยา (2548) ในหนังสือชื่อ “นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท” ผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ตามรายการทีให้ในบรรณานุกรม
แต่สิ่งสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การจัดแบ่งตระกูลภาษาที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยและภาษาจีนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผู้เขียนจะเรียกตาม สุริยา (2548) ที่ว่าคำว่า “ไท” เป็นคำที่เป็นกลางมากที่สุด ในบทความนี้จึงจะเรียกตามว่า “ภาษาตระกูลไท” ยกเว้นการอ้างอิงข้อความคิดของนักวิชาการท่านอื่น จะคงคำเรียกตามที่อ้างมา
โดยทั่วไปถือว่าภาษาไทยเป็นตระกูลย่อยภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาใหญ่ จีน-ธิเบต ซึ่งภาษาตระกูลจีน – ธิเบตนี้ เป็นตระกูลภาษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาคือ (1)สาขาภาษาจีน (2)สาขาภาษาไทย (3) สาขาแม้วเย้า (4) สาขาธิเบตพม่า (เรืองเดช: 2531) อย่างไรก็ตามนักภาษาศาสตร์หลายท่านเรียกชื่อตระกูลภาษานี้แตกต่างกันไป อย่างเช่น Grierson (1903-28) เรียกรวมเป็นตระกูลเดียวกันกับภาษาจีนว่า ตระกูลภาษาไทยจีน (Siamese-Chinese family) Benedict (1975) เรียกว่า ออสโตร – ไทย (Astro-Tai) เพราะเห็นว่าเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลออสโตรเนเชียน ต่อมามีการตั้งชื่อตระกูลภาษาไทอีกหลายชื่อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บ้างเรียกว่า ตระกูลภาษาไทย ตระกูลภาษาไต แยกออกมาเป็นตระกูลภาษาใหญ่ต่างหาก บ้างเรียกว่าตระกูลคำไต (KamTai family) และ ภาษาไดอิก (Daic) โดยรวมภาษาไทยถิ่นต่างๆที่พูดในประเทศต่างๆ 8 ประเทศเป็นตระกูลเดียวกันหมด (เรืองเดช: 2531) Benedict (1942) ได้ตั้งชื่อตระกูลภาษานี้ใหม่ว่า ตระกูลภาษาไทยกะได (Tai Kadai) เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาษาไทยถิ่นที่พูดอยู่ที่เกาะไหหลำ อ่าวตัวเกี๋ย และภาษากลุ่มตระกูลภาษาไทยที่พูดอยู่ที่ประเทศจีน และเวียดนามทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภาษาตระกูลไทโดยยึดเกณฑ์ต่างๆกัน เช่น พระยาอนุมานราชธน(อ้างในเรืองเดช : 2531) เป็นการจัดแบ่งโดยยึดหลักภูมิศาสตร์ ก็กล่าวถึงกลุ่มภาษาไทย-จีน คือภาษาไทยที่พูดอยู่เขตประเทศจีนบริเวณกวางสี ไกวเจา กวางตุ้ง เช่นภาษาไทยลาย ไทยลุง ไทยย้อย ไทยโท้ ไทยนุง ผลงานของนักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (1959) ที่ใช้หลักเกณฑ์ทางภาษา คือเกณฑ์ทางการกระจายคำศัพท์ ลักษณะทางเสียงและพัฒนาการทางเสียง ในการแบ่งกลุ่มภาษาไทยก็ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องของภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนกับภาษาไทยกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกหลายท่านที่ศึกษาภาษาตระกูลไท และจัดให้ภาษาที่พูดอยู่ในประเทศจีน หรือภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นสมาชิกในภาษาตระกูลไท เช่น John F. Hurtmann (1986) จัดแบ่งภาษาไทยเฉพาะกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ของ Li Fanggui เป็นกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่างนี้ครอบคลุมไปถึงตอนใต้สุดของตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังมีนักภาษาศาสตร์ในยุคต่อจาก Li Fanggui อีกหลายท่าน เช่น Marwin Brown (1965), William J.Gedney(1972), James R.Chamberlain(1972) ก็ได้ดำเนินรอยตาม Li Fanggui โดยในการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทล้วนมีความเกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลจีน หรือเป็นภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนทั้งสิ้น เรืองเดช (2531) นักวิชาการภาษาตระกูลไทยได้จัดแบ่งภาษาตระกูลไทยออกเป็น “กลุ่มไท” โดยรวมภาษากลุ่มไทสยามและลาวไว้ในกลุ่มเดียวกัน และ “กลุ่มไต” รวมภาษาไตยวน ไตหลวง ไตจีนไว้ด้วยกัน จากข้อมูลการศึกษาและการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทจะเห็นว่าภาษาไทยมีร่องรอยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภาษาจีนอยู่
ตามทรรศนะของนักวิชาการจีน จัดภาษาไทยอยู่ในภาษาตระกูลจีนธิเบต สาขาภาษาต้งไถ สาขาย่อยภาษาไต (梁敏,张均如:1996) และเพื่อยืนยันว่าภาษาไทยจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาเดียวกัน การศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนจึงเป็นความสนใจของนักภาษาศาสตร์และนักศึกษาภาษาไทย-จีนมาช้านาน
ผลงานที่สำคัญที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาจีน โดยวิธีการเปรียบเทียบคำศัพท์ เช่น A.Conrady, K.Wulff (อ้างใน龚群虎:2002) รวบรวมคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทย-จีนกว่า 200 คำ ประพิน (P.Manomaivibool:1975) รวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ ที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนถึง 600 คำ นักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (李方桂:1976) ได้รวบรวมคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาจีนกับภาษาในสาขาภาษาไท (ไต) ร้อยกว่าคำ และงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่สนับสนุนแนวคิดคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนคือ ผลงานของ Gong Qunhu (龚群虎:2002) ผลการวิจัยนี้เปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยกับภาษาจีน และชี้ให้เห็นวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของภาษาไทยและจีนในแต่ละยุค แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ (1) คำศัพท์ร่วมสายเลือดภาษาไทยจีนซึ่งหมายถึงคำศัพท์ที่เคยเป็นภาษาเดียวกันมาตั้งแต่อดีต (2) คำศัพท์ที่มีการถ่ายเทซึ่งกันและกันในยุคสองพันปีลงมา (3) คำศัพท์ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาจีนในยุคที่ชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในระยะร้อยสองร้อยปีมานี้
1.2 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไท ภาษาไทยถิ่นอีสาน ชนชาวไทและชาวอีสาน
หนังสือชื่อ ภาษาถิ่นตระกูลไทย (เรืองเดช:2531) ได้จัดกลุ่มภาษาถิ่นตระกูลไทยในประเทศไทยเป็น 19 ภาษาถิ่นด้วยกัน ในจำนวนนี้มีภาษาไทลาว หรือภาษาไทยถิ่นอีสาน (Northeastern Thai Dialect) เป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่ง และได้อธิบายว่า ภาษาไทยถิ่นอีสานได้แก่ ภาษาไทยลาวที่พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นนี้คนไทยในประเทศไทยนิยมเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอีสานหรือ ภาษาลาว มีพูดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 16 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นอีสานมีภาษาถิ่นอยู่หลายถิ่นหลายสำเนียง คือ 1.สำเนียงหลวงพระบาง (Luangphrabang Dialect) 2.สำเนียงเวียงจันทน์ (Vientien Dialect) 3. สำเนียงอีสาน (Isan Dialect) ต่อจากนี้ไปจะใช้คำเรียกภาษาไทยถิ่นอีสานตาม เรืองเดช ว่า “ภาษาอีสาน”
ปริญญานิพนธ์สองฉบับที่ศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาอื่นในกลุ่มภาษาตระกูลไท ได้แก่ ปริญญานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางกับภาษาตระกูลไท (พัชราภรณ์:2530) และปริญญานิพนธ์ เรื่อง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคำร่วมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลาง และภาษาถิ่นอีสาน (มะณีรัตน์ :2538) ทั้งสองเป็นการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับคำในภาษาอีสานกับคำร่วมเผ่าพันธุ์ในภาษาถิ่นตระกูลไทย
งานด้านพจนานุกรมและสารานุกรมภาษาอีสาน ทั้งที่แปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีอยู่หลากหลายผลงาน เป็นข้อมูลการเปรียบเทียบคำศัพท์ และข้อมูลคลังคำศัพท์ที่สามารถนำมาใช้ศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้เป็นอย่างดี รายชื่อหนังสือได้ให้ไว้ในเอกสารอ้างอิงแล้ว ซึ่งคำภาษาอีสานในบทความนี้ก็ได้ตรวจสอบจากพจนานุกรมดังกล่าวนี้เช่นกัน จากผลงานที่สำรวจได้ ยังไม่พบพจนานุกรมเปรียบเทียบภาษาอีสาน-จีน และจะเห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับภาษาอีสานนั้นยังคงศึกษาอยู่ในวงภาษาอีสานด้วยกันเองหรือเปรียบเทียบกับภาษาไทกลุ่มอื่นๆในประเทศไทยเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาอื่น ๆ ในตระกูลไท-จีนนอกประเทศไทย
หนังสือ พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน (สุจิตต์ :2549) แม้จะมิใช่หนังสือที่เกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาตระกูลไท–จีนโดยตรง แต่มีข้อมูลชี้ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติของชาวอีสานกับกลุ่มชนในประเทศจีนข้อหนึ่งที่ว่า บรรพบุรุษของชาวอีสานกลุ่มหนึ่ง ราว 3,000 ปีมาแล้ว มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนพวกนี้มาจากทางตอนใต้ของจีนปัจจุบัน (แต่ครั้งนั้น 3,000 ปีมาแล้ว ยังไม่เป็นดินแดนของจีน) เช่น ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง เวียดนาม ฯลฯ สิ่งสำคัญที่คนภายนอกพวกนี้นำเข้ามาด้วยคือ ภาษา ที่ปัจจุบันเรียกตระกูลไทย-ลาว มีหลักฐานแน่นหนาว่า เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว คนพื้นเมืองในกวางสี-กวางตุ้ง พูดภาษาตระกูลไทย-ลาวแล้ว
ในงานวิจัยเรื่อง การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ (สมพงศ์:2550) ได้อ้างถึง การจัดกลุ่มภาษาที่เป็นสายสัมพันธ์ภาษาไท และภาษาอื่นที่ใกล้เคียงในฐานะที่เป็นภาษาครอบครัวเดียวกัน และมีกำเนิดร่วมกันภายใต้ร่มใหญ่ของตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เรียกกลุ่มภาษานี้ว่า ภาษา “จ้วง-ต้ง” ซึ่งเป็นภาษาที่มีผู้พูดเป็นจำนวนมากและเชื่อว่าอาจเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นภาษาต้นกำนิดของภาษาไทก็ได้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษา “กำ - ไท” ในงานวิจัยนี้ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดและการย้ายถิ่นของชาติพันธุ์ไทไว้ด้วยว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนชาติไทอาจอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง จากนั้นเกิดการอพยพเคลื่อนย้ายและการก่อตั้งอาณาจักรไทตามที่ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มที่อพยพลงสู่ทางใต้เข้าสู่ตอนเหนือของเวียดนามและลาว ก่อตั้งเป็นอาณาจักรสิบสองเจ้า(จุ)ไท อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ส่วนหนึ่งได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งรกรากแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำยม-วัง-น่าน และก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพลงสู่เวียงจันทร์เข้าสู่ภาคอีสานและสู่อยุธยาและก่อตั้งเป็นอาณาจักรอยุธยา
จากข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาตระกูลไท–จีน และการศึกษาเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชนชาติไท เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่าภาษาไทยเป็นภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีน ในขณะที่ภาษาไทยกับภาษาอีสาน มีความสัมพันธ์กันแบบสายเลือดที่มีความใกล้ชิดอย่างพี่น้องร่วมท้องเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ภาษาอีสานจึงมีความสัมพันธ์แบบภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีนด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าในภาษาอีสานจะยังคงหลงเหลือคำศัพท์ (ที่ไม่มีในภาษาไทย) ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีนมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
1.3 การศึกษาที่เกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน
การศึกษาเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน มีการศึกษาในชื่อต่างๆกัน หมายความว่า นักวิชาการแต่ละท่านเรียกชื่อคำที่บทความนี้เรียกว่า คำเสริมสร้อย แตกต่างกันไป ผลงานการศึกษามีทั้งในรูปแบบบทความทางวิชาการ และวิทยานิพนธ์ ดังนี้
บทความเรื่อง Iconicity of vowel qualities in Northeastern Thai reduplicated words (ธีรพันธ์:1979) และบทความเรื่อง ศึกษาคำซ้ำที่ใช้เป็นคำวิเศษณ์ และเสียงสระในคำขยายบางคำในภาษาอีสาน(ประคอง:2519) พบว่า คำขยายที่เป็นคำกริยาวิเศษณ์นอกจากให้ภาพและความรู้สึกแล้ว เมื่อเปลี่ยนเสียงสระยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับความแตกต่างของขนาด รูปร่างสัณฐาน และพจน์ของสิ่งที่คำกริยาวิเศษณ์ประกอบด้วย
นอกจากบทความข้างต้นแล้ว ยังมีวิทยานิพนธ์และปริญญานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตที่ศึกษาเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานจำนวนไม่น้อย เช่น วิทยานิพนธ์เรื่อง คำอุทานของภาษาอีสาน (พวงพยอม:2521) วิทยานิพนธ์เรื่อง คำวิเศษณ์สองพยางค์ในภาษาอีสาน (อุดม:2523) วิทยานิพนธ์เรื่องลักษณะคำซ้ำของภาษาลาวในภาษาถิ่นภูเวียง (วาสนา:2530) วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะคำซ้ำภาษาถิ่นนครไทยกับภาษาไทยถิ่นอีสานภูเวียง (เรณู:2534) วิทยานิพนธ์เรื่อง คำวิเศษณ์บอกลักษณะในภาษาถิ่นอีสาน (สอนศรี :2534) ปริญญานิพนธ์เรื่อง คำซ้อนในภาษาถิ่นอีสาน (สุวารี:2537) เป็นต้น
จากงานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจ และลักษณะพิเศษของคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน จึงทำให้มีการศึกษามาโดยตลอด แต่ในตอนต้นของบทความนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสานว่า คำพยางค์แรกมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีนมากทั้งเสียงและความหมาย ถึงขั้นที่ว่าคำบางคำเป็นคำเดียวกันก็ว่าได้ และได้สันนิษฐานว่าคำดังกล่าวเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน แต่จากการสำรวจงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีการศึกษาหรือสังเกตเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้

2. คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท - จีน
ต่อไปนี้จะนำเสนอข้อมูลคำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสาน เปรียบเทียบกับคำภาษาจีนที่คาดว่าน่าจะเป็นรากศัพท์คำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน ข้อมูลคำศัพท์ได้จากแหล่งข้อมูลสามที่คือ (1) พจนานุกรมภาษาอีสาน–ไทย (2) รายการคำเสริมสร้อยภาษาอีสานที่ได้จากภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง (3) ผู้บอกภาษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ โดยแบ่งระดับความเข้มข้นของข้อมูลดังนี้
ระดับเหมือนกัน สัญลักษณ์ A ต้องมีเสียงพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะท้ายเหมือนกัน อาจมีเสียงวรรณยุกต์ได้ และต้องทีความหมายเหมือนกัน
ระดับมีความสัมพันธ์กัน สัญลักษณ์ B ต้องมีพยัญชนะต้น สระและพยัญชนะท้ายเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกัน สามารถอธิบายได้ตามหลักทางสรวิทยา เช่น ฐานกรณ์ใกล้เคียงกัน เป็นเสียงปฏิภาค เป็นการแปรของเสียง เกิดการกร่อน การสูญหายของเสียงใดเสียงหนึ่ง แต่ยังคงมีเค้าเสียงของคำเดิมอยู่ เป็นต้น และมีความหมายที่เกี่ยวข้องกัน
ระดับน่าจะเกี่ยวข้องกัน สัญลักษณ์ C โดยดูจากรูปคำแล้วสามารถคาดเดาได้ด้วยหลักทางสรวิทยา
เช่น การแปรของเสียง การสูญหายของเสียง การแตกพยางค์เป็นต้น มีความหมายในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หรือเป็นเหตุเป็นผลกัน
ในช่องระดับความสัมพันธ์ หัวข้อเสียง จะมีตัวเลข 1 และ 2 กำกับหน้าอักษร A B C เพื่อบอกว่าเป็นพยางค์ที่หนึ่ง และพยางค์ที่สองตามลำดับ ส่วนคำที่เหมือนกันทั้งคำไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นพยางค์ใด จะใช้เลข 12 กำกับ



ภาษาอีสาน ภาษาจีน ระดับความ
สัมพันธ์
คำเสริมสร้อย ความหมาย อักษรจีน เสียง
อ่าน ความหมาย เสียง ความ
หมาย

ก่งโก้ย อาการเดินหลังโกงเคลื่อนไปช้าๆ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งจ่ง อาการที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งด่ง อาการชี้ชันขึ้นแต่ปลายโค้งลงเช่นหางวัว 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก้วนด้วน กุด ขด ด้วน 棍 gun4 ท่อนไม้ 1A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
ก่วมส่วม อาการกิริยาไม่สำรวม เดินกรายหัว 甩 shuai3 สะบัด สลัด 2B B
กอกซอก ลักษณะอาการหม่นหมอง ซอมซ่อ 槁 gao3 เหี่ยวแห้ง แห้ง เหี่ยว 1B C
กอกวอก ซูบผอม ขนาดใหญ่ขึ้นใช้ โกกโวก 槁 gao3 เหี่ยวแห้ง แห้ง เหี่ยว 1B B
ก่องเก๊าะ อาการยืนก้มศีรษะเอามือจับเข่า 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
ก่องจ่อง อาการที่หลังขด หรืองอ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่อจ่อ อาการนั่ง นอนงอตัว ขนาดใหญ่ขึ้นเรียกโก่โจ่ 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
坐 zuo4 นั่ง 2A B
ก่อซ่อ อาการนั่งซอมซ่อ จับเจ่า 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
缩 suo1 หด 2A C
ก่อมเก๊าะ ลักษณะงอ หรือ คด ค่อม 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 1B A
ก่อมก้อย อาการเดินของคนเตี้ย 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 1B B
กากวาก ลักษณะที่มีรอยเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่ 广 guang3 บริเวณกว้างใหญ่ 12A A
ก่างจ่าง อาการที่ยืนถ่างขา 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
ก้าวหง้าว แหวอะหวะ แหว่งเว้า 凹 ao4 เว้า 2B A
กิ่งดิ่ง ชันมาก 顶 ding3 ส่วนที่อยู่บนสุด ยอด 2B C
径 jing4 ทางเดิน山径=ทางเดินขึ้นเขา 1C C
กิ่นติ่น อาการวิ่งเล่นอย่างเด็ก ขนาดใหญ่เรียกว่าโก่นโต่น 滚 gun3 กลิ้ง 1B C
กึ่งดึ่ง แข็งแกร่ง แข็งท่อ แข็งโด่ 刚 gang1 แข็ง 1A A
กื่อซื่อ ลักษณะทอดอาลัย 失 shi1 สูญเสีย 2A B
กุ๊ดดุ๊ด ลักษณะที่ถูกตัดเหลือไว้นิดหน่อย 断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A C
กุ้นดุ้น สั้นมากแต่ขนาดใหญ่ 棍 gun4 ท่อนไม้ 12A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
กุ่ยตุ่ย อาการวิ่งอย่างหมู 猪 zhu1 หมู สำเนียงแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า ตือ 2C B
กู้จู่ ลักษณะของใหญ่สั้นคุดคู้อยู่กับที่ 固 gu4 แข็ง แน่น มั่นคง 1A C
กูดจูด โด่ง เช่น นอนก้นโด่ง ว่า นอนกูดจูด 鼓 gu3 นูนขึ้น พองขึ้น 1B A
เกกเวก อาการวางหน้าไม่สนิท 怪 guai4 แปลก ประหลาด 12B C
แกกแซก ลักษณะต้นไม้ที่แห้งตายซาก 干 gan1 แห้ง 1B A
เก่เหว่ เหย เบ้ เบี้ยว 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 12A A
เกิ่งเดิ่ง ลักษณะสิ่งของที่ไม่สม่ำเสมอกัน 埂 geng3 คันนา เนิน 1A C
เกิ่งเดิ่ง ลักษณะชี้ขึ้นกระดกขึ้น 梗 geng3 ก้าน กิ่งไม้ , ยืดให้ตรง 1A C
โก่นโต่น เปลือย ล่อนจ้อน 光 guang1 เปลือย 1B A

ข้องหย้อง ติดและพันอยู่อย่างดิ้นไม่หลุด ขึ้งยึง ขุ้งยุงก็ว่า 捆 kun3 มัด พัน 1B C
ข้อหล้อ ลักษณะของที่เป็นก้อนๆ 块 kuai ก้อน ชิ้น 1B A
ขอยวอย ละลิ่ว ลิบๆ 吹 chui1 เป่า พัด 1C C
ข้อยล้อย ลักษณะสิ่งของเล็กๆที่หลวมและหลุดออกมา 落 luo4 ตก ร่วง หล่น 2B B
ข้ายหย้าย อาการผละออกจากกลุ่มทันที 开 kai1 เปิดออก เคลื่อนที่ออกไป 离开=จากไป 12A B
ขุมฟุม เฟื้ม ลักษณะยาวรุงรังของหนวด 胡 hu2 หนวด เครา สำเนียงฮกเกี้ยนออกเสียงว่า ฝู 2B A
แข้นแหล้น อาการบานออก หรือเปิดเลื่อนออก 开 kai1 เปิดออก 1B B
โขบโข้ ลักษณะใบตองแห้งติดกัน 枯 ku1 (พืช) เหี่ยว เฉา แห้งเหี่ยว 1B B
โข้โม มีหน้าตาสะพรึงกลัว 恐 kong3 น่ากลัว 1B B

ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก
(เล็กลงตามลำดับเรียก ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
คะยะ อาการกระโดดถ่างขา 跨 kua4 ก้าว ข้าม 1B C
跃 yue4 กระโดด 2B A
ค้าวน้าว ลักษณะของที่ยืดหรือขึงอยู่ 控 kong4 แขวน หรือห้อย 1C B
คุมนุม กักขัง กักเก็บ ผูกไว้ 困 kun4 ปิดล้อม โอบล้อมเอาไว้ 12B B
เคาะเยอะ อาการเต้นของกบเขียดตัวเล็ก ๆ 跃 yue4 กระโดด 2C B
โค่นโล่น ลักษณะของที่กลมเกลี้ยง พหู.โค่นโล่นเค่นเล่น 轮 lun2 ล้อ หมุน 2A C

จ่งโจ๊ะ อาการยืนหลังค่อมถ่างขา 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1B B
จ๊ดป๊ด ห้วน สั้น 紧 jin3 ตึง แน่น ชิด 1C C
จ๊ดทด ลักษณะของตอไม้ต้นไม้ที่เรียงกันเป็นแถว 条 tiao2 แถว 2C B
จ่วงล่วง ลักษณะน้ำที่ใส 亮 liang4 ใส สว่าง 2B B
โจ้โก้ ลักษณะที่แน่นเป็นกองเล็กและสูง
(เล็กลงตามลำดับเรียก จ้อก้อ แจ้แก้) 巨 ju4 ขนาดใหญ่ 1B C
จ่อข่อ อาการนั่งจับเจ่า 坐 zuo4 นั่ง 1A A
จ่อล่อ อาการรู้สึกมีของติดค้างในคอ 卡 qia3 คาอยู่ระหว่างกลาง 1C B
จ่อว่อ เป็นรูพรุน หวอ ปากหวอ 窝 wo1 รัง , ส่วนที่เว้าเข้าไป 2A C
จ๊ะก๊ะ อาการนั่งยองๆหรือยื่นถ่างขา จั่งก๊ะ ก็ว่า 坐 zuo4 นั่ง 1C B
张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1C B
จ๊ะจ่าง อาการถ่างออก เบ่งออก จ่างจ๊ะ ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
จังงัง อาการตกตะลึง 惊 jing1 ตกตะลึง 1B A
จันลัน สนิท มิด 粘 zhan1 เหนียวติด เกาะติด 12A C
จั๊บมับ สนิท แนบสนิท 紧 jin3 ชิด สนิท 1C A
จ่างป่าง สว่าง โล่ง 彰 zhang1 ชัดแจ้ง เด่นชัด 12A B
จ่านพ่าน กระจายเกลื่อนอยู่ 展 zhan3 แผ่ขยายออกไป 1A B
จำจี่ กระชั้นชิด ใกล้ชิด 紧 jin3 ชิด สนิท 2B A
จิงพิง ลักษณะคนหรือวัตถุขนาดเล็กที่มองเห็นได้ชัดเจน 晶 jing1 สว่าง แวววาว 12A B
จินจิ๊ก ลักษณะคนผมหยิกหน้ากร้อ คอสั้น 卷 juan3 ม้วน ขด งอ หยิก 1C B
จีดลีด ลักษณะใบหน้าที่เคร่งเครียด 紧 jin3 สภาพจิตใจเคร่งเครียด ไม่ปกติ 1B B
จี่ลี่ บอกลักษณะความเงียบว่า เงียบกริบ 静 jing4 เงียบ 12B A
เจ้งเพ้ง มาก กองใหญ่เป็นพะเนิน 涨 zhang4 ขยายใหญ่ 1B B
彭 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ 1B B
เจื่องเฮือง เหลืองอร่าม 黄 huang2 สีเหลือง 2B A

ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ง้องแง้ง อาการเคลื่อนไหวคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
ง่อมเงาะ งอ คด 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งักแง่น อาการสั่นไปสั่นมา ชักดิ้นชักงอ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C B
งุบเงิง อาการของสิ่งกลม/โค้งกระดกเปิดอ้าแล้วยุบลง 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
งูบงาบ ลักษณะการเดินช้าๆของคนหรือสัตว์ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C

ซ้อยม้อย เหนื่อยมาก อ่อนเพลีย 酸 suan1 เหนื่อย ล้า เพลีย 1C A
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
ซ่างล่าง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ยาวสูงขึ้น 上 shang4 ขึ้น บน 1A C
双 shuang1 คู่ 1B B
ซิกงิก ทำหน้างอ อาการแสดงความไม่พอใจ 气 qi4 โกรธ 1C B
ซื่อลื่อ ตรง ทื่อ เซ่อ ลักษณะนิ่ง เฉย 实 shi2 ซื่อ ตรง จริง 1A A
ซูซี เซ้าซี้ ดึงดัน 絮 xu4 พูดจู้จี้ พูดร่ำไร 2A A
เซกเลก ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่เล่ ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่มเล่ม หน้ากระดูกยาวไม่สวย 脸 lian3 ใบหน้า 2B C
เซ่อเล่อ เผอเรอ หลงลืม 落 la4 หลงลืม 2B A
แซ่งแซะ ลักษณะของคนที่เดินเรื่องเปื่อยไม่มีจุดหมาย 散 san4 ไม่จำกัด กระจัดกระจาย 1B B
แซะและ อาการเลียบๆเคียงๆก้อล้อก้อติก กะลิ้มกะเหลี่ย 色 se4 อารมณ์โลกีย์ กามารมณ์ 1B B
โซงโลง ส่งของที่อยู่เป็นคู่อย่างเป็นระเบียบซองลองก็ว่า 双 shuang1 คู่ 1A A

ตงยง งาม ระหง 优 you1 ดีงาม ล้ำเลิศ 2B B
ตวกต้วย หย่อนยาน 掉 diao4 ตก หล่น ล้ม 1B C
ต้องหล้อง มีลักษณะที่เป็นหลุมหรือบ่อเล็กๆ 洞 dong4 หลุม โพรง อุโมง 1A B
ต้างหล้าง ลักษณะที่เป็นหลุมโพรงขนาดใหญ่ ขนาดเล็กเรียกแต้งแหล้ง 凼 dang1 บ่อ หลุม 1A A
ตอดปอด ลักษณะสิ่งของที่อยู่ติดกับสิ่งอื่น พูดเป็นสร้อยว่า ตอดปอดแตดแปด 贴 tie1 ติด ปิด แปะ 1C B
ต้อป้อ เตี้ย สั้น 短 duan3 สั้น 1B A
ตอยอ ยู่ ย่น หงิกงอ 绕 rao4 ขด วน ล้อม 2C C
揉 rou2 ขยำ ขยี้ 2C C
เต๊ะเซะ ลักษณะสิ่งของที่ห้องหย่อนลงมา 掉 diao4 ตก หล่น ล้ม 1B C
เตี้ยงเหลี้ยง บริสุทธิ งาม สะอาด น้ำใส 亮 liang4 ใส สะอาด สวย 2A A
แต่งแย่ง มีลักษณะเหมาะสม 当 dang4 เหมาะสม 1B A

ถ่องแถว มีลักษณะเรียงกันเป็นระเบียบ 条 tiao2 แถว 2A B

ทกทื้น กระตุก กระชาก ดึง รั้ง 拖 tuo1 ดึง ลาก 1B A
ท้อล้อ อาการเหนื่อย หรือป่วยหนัก พูดเป็นสร้อยว่า ท้อล้อแท้แล้ 累 lei4 เหนื่อย 2B A
เท้อเล้อ ลักษณะสิ่งของหรือคนที่ใหญ่สูงยืนอยู่โดดเด่น 特 te4 พิเศษ เฉพาะ เหนือกว่า 1A B
โทนโท้ ลักษณะที่มองเห็นได้เด่นชัด 突 tu1 เด่นชัด 1C A

น่วนนี /น่ำนี ลักษณะที่ตีซ้ำๆ / ทะเลาะ ผิดใจกัน 虐 nue4 ทารุณ ทำร้าย 1B B

ปอนลอน ลักษณะใบหน้าที่เกลี้ยงเกลา 漂 piao4 漂亮 = สวย งาม เด่น 1C C
脸 lian3 ใบหน้า 2C C
ป้อจ้อ ปรากฏเป็นดอกดวงหรือเป็นวงอยู่ 破 po4 แตก ฉีก ขาด 1B C
ป้องหง้อง อาการล้มของคนหรือสิ่งของ ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เรียก ปุ้งหงุ้ง / ป้างหง้าง 崩 beng1 พังทลาย พัง แตก 1A B
ปางซาง ลักษณะของใหญ่ยาว แบนออก กางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B A
ปิ่งสิ่ง แช่มช้อย ผุดผ่องและสวยงามของแก้ม 庞 pang2 ใบหน้า 1B B
腮 sai1 แก้มทั้งสองข้าง 2B C
ปิ๊ดลิด ลักษณะของที่เล็กแหลม 秕 bi3 ไม่อิ่ม ไม่แน่น ลีบ 1B C
ปิ่นวิ่น งดงาม จิ้มลิ้ม พริ้มเพรา 漂 piao4 สวย งาม เด่น 1C B
ปิ่นหลิ่น หมดเกลี้ยง 完 wan2 แล้วเสร็จ หมด ไม่เหลือ 1B B
ปือลือ โกรธจัด 愤 fen4 ไม่พอใจ โกรธเคือง เคียดแค้น 1B A
ปู้ลู้ ลักษณะของสิ่งของที่เต็มจุก หรืออุดอยู่ 补 bu3 ปะ เสริม เพิ่ม เติม 1A C
เปิงเซิง บานเต็มที่ สวยงาม งามเด่น 菶 beng3 เป็นพุ่มพฤกษ์ เขียวชอุ่ม 1A B
膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B B
แป้แจ้ ลักษณะของสิ่งที่เล็กแบนติดอยู่ 扁 bian3 แบน 1B B
แปแค ลักษณะสิ่งของบางเล็ก 扁 bian3 แบน 1B A

ผีดหลีด เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ใหญ่ขึ้นเรียกว่าผูดหลูด 奔 ben1 ตะบึง วิ่ง 1B B

พอมผ่อ เห็นลิบๆ เห็นเล็กนิดเดียว 碰 peng4 พบ ประสบ เห็น 1C B
พ้อว้อ ลักษณะของสิ่งเล็กที่โผล่ ยื่นออกมา 坡 po1 เนิน 12A C
พานลาน ลักษณะแตก ปริ ขนาดใหญ่เรียก พินลิน 绷 beng4 แตก ปริออกเป็นรอย 1C A
พำวำ ลักษณะเดินดุ่ม มองเห็นไกล 望 wang4 มองไปไกลโพ้น 2B B
พิญิ เริ่มแตกช่อ ใบอ่อน ลักษณะบาดแผลเล็ก 擗 pi3 แตก แยกออกจากของเดิม 12A B
พิกวิก ลักษณะของสิ่งเล็ก 薄 bo2 เล็กน้อย 1C A
微 wei1 นิดเดียว เบา น้อย 2C A
พิ้งวิ้ง ลักษณะของสิ่งเล็กที่ยื่นออกหรือกางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B B
พีนลีน ลักษณะของตาที่ปลิ้นออกมา 翻 fan1 พลิก กลับ 1B B
พู้วู้ พูน นูนขึ้นมา 坡 po1 เนิน 12A A
阜 fu4 เนินดิน ภูเขาเล็กๆ 1B A
เพ้อเว้อ ลักษณะสิ่งของที่ปากบานใหญ่ 盆 pen2 กระถาง กาละมัง อ่าง 1B B

ฟืดฟาด อาการโกรธ โมโห 愤 fen4 โกรธ โมโห 1B A

มอดญอด เปียกปอน 沐 mu4 沐浴 mu4yu4 = อาบน้ำ 1B B
ม้อต้อ อ้วน เตี้ย 短 duan3 สั้น 2C B
มะงอ คดๆ งอๆ พูดเป็นสร้อยว่า มะงอมะง้อง 扭 niu3 บิด หัก 2C A
มะนึง ติดกันเป็นพืด ระโยงระยาง พูดเป็นสร้อยว่า
มะนึงพึงพืด 凝 ning2 เกาะตัว แข็งตัว 2B A
มะลอง ขี้ริ้ว เศร้าหมอง ไม่น่าภูมิใจ พูดเป็นสร้อยว่า
มะลองจองจอย 陋 lou4 น่าเกลียด อัปลักษณ์ ไม่น่าดู 2C A
มะล้อน อาการแกว่งของวัตถุ พูดเป็นสร้อยว่า มะล้อนต้อนแต้น 抡 lun1 ใช้แรงกวัดแกว่ง 2A A
มะลัง เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง พูดเป็นสร้อยว่า
มะลังจังเจียว 缆 lan3 เชือก โช่ที่ฟั่นหลายเกลียว 2B B
มะลาม ไม่เป็นระเบียบ สับสน ปนเป 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 2B B
มูดยูด หน้าตาบูดบึ้ง 绷 beng4 ตีหน้าบึ้ง 1C A
เมาะแมะ อาการนั่งสงบเสงี่ยม มักพูดซ้ำกันว่า เมาะๆแมะๆ 寞 mo4 เงียบสงบ เงียบเชียบ 1B B

ยามย่าง ของที่อยู่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ระเกะระกะ 延 yan2 ยื่นขยายออกไปลามออกไปเรื่อย 1B C
ยีย่อง นวลงาม ผุดผ่อง 艳 yan4 งามหรูหรา งามฉูดฉาด 1B B
ยียน ใสงาม แวววาว 妍 yan2 สวยงาม สวยเพริศพริ้ง 12A A
ยียั่ง แวววาว วะวับ 滢 ying2 ใสแจ๋วใสสะอาด 12A A
ยียับ งามสดใส ขจี วาววับ พูดว่า เขียวดียียับ 瑛 ying1 แสงวาววับของหยก 12B B
ยียาบ วะวับ วาววับ ระยิบระยับ 焱 yan4 ประกายไฟ 12B B
ยีเยือก สยอง ซู่ พูดว่า ขนหัวพองยีเยือก 殃 yang1 ภัยพิบัติ ความพินาศ 12B C
ยึ่งยั่ง อาการแย่งชิงกัน 抢 qiang3 แย่ง ชิง 12C A

ลวนควน อาการขดเป็นวงอย่างงูใหญ่ขด 挛 luan2 ขด หดตัว 1A A
ลองซอง เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ 双 shuang1 คู่ 2B A
ลีเลื่อ กระเสือกกระสนไป 跞 li4 ขยับ เดิน 1A B
เล็มเล่ ลักษณะที่น้ำมูกไหลย้อยออกมา 沥 li4 หยดลงเป็นหยด ๆ 2A B
เลอะเซอะ ระเกะระกะ เรี่ยราด 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 1C A
เลิบเซิบ ซึมเซา เศร้าซึม คิดไม่ตด 儽 lei3 ลักษณะท่าทางหน้าม่อย คอตก ซีดเซียว 1B A

วีว่อน เสียงดังมาจากที่ไกล เสียงแว่ววังเวงโหยหวน 豗 hui1 เสียงดังอึกทึกครึกโครม 1B B
แว่งแวะ บอกลักษณะลอยละล่อง วับๆ ลิบๆ 滃 weng3 เมฆลอยขึ้น 1B C

สวะสวาง โล่งอก โล่งใจ สบายขึ้น 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น 12A A
ส้องแส้ง อาการเดินโซเซไปมาอย่างคนเมา 摔 shuai1 เสียการทรงตัวจนล้มลงไป 1B B
สอยลอย คล้อยตามเขา 随 sui2 ตาม ติดตาม คล้อยตาม 12A A
ส่อแส่ เริ่มปรากฏขึ้น 显 xian3 ปรากฏเด่นชั้น 1C B
สอยวอย แฉล้มแช่มช้อย สอดชื่น งดงาม 帅 shuai4 สะโอดสะอง งดงาม 12A B
สึงหลึง อาการนิ่งนึกอย่างตรึกตรอง 想 xiang3 คิด ครุ่นคิด ไตร่ตรอง 1B A
เสี่ยงเงี่ยง เอียง 斜 xie2 เอียง 1B A

หย่องแหย่ง ลักษณะกระโดดเบาๆ 踊 yong3 กระโดด 1A A
หลุหลั่ง ทะลุไหลพรั่งพรูออกมา พูดเป็นสร้อยว่า หลุหลั่งถั่งเท 漏 lou4 รั่ว 1A A
流 liu2 ไหล 1A B
หมุดหมัด อาการรำคาญ ไม่ปลอดโปร่ง อึดอัด 闷 men4 ไม่สบายใจ หดหู่ กลัดกลุ้ม 1B B

อ่งต่ง อิ่มเอิบ เปล่งปลั่ง 滃 weng3 บรรยายว่ามีน้ำมาก 1B B
อวกลวก ลักษณะของสิ่งใหญ่ที่มัวไม่สดใส เพราะเปรอะเปื้อนสิ่งอื่น 污 wu1 สกปรก คราบสกปรก 1B B
อ่อมอ้อย ลักษณะการเดินอย่างนกเดิน 鹀 wu2 นกชนิดหนึ่ง 1B B
อ้อมล้อม ลักษณะอาการขอด หรือกอดรวมกันแน่น 卧 wo4 นอน(สัตว์) นอนคว่ำ คู้ตัวลงนอน 1B B
อ้อย้อ ลักษณะห่อสิ่งของขนาดเล็ก 窝 wo1 รังของสัตว์หรือแมลง 1B C
อ้างม้าง ลักษณะอาการของสิ่งที่บุ๋มลึกลงไป 凹 ao เว้า แหว่ง 1B B
อึ่งตึ่ง แน่นหนา เต็ม บริบูรณ์ 蓊 weng3 เขียวชะอุ่มเป็นพุ่ม 1B A
อุ้งปุ้ง ลักษณะสิ่งของที่โป่ง พองขึ้น ใหญ่ขึ้นเรียกว่า อ้งป้ง อ่องป่อง 膨 peng2 พอง โป่ง 2B A
อู้คู้ ลักษณะการนอนของคนสัตว์ที่นอนขดอยู่ 卧 wo4 นอน(สัตว์) นอนคว่ำ คู้ตัวลงนอน 1A B
แอะแอ่น ลักษณะแอ่นไปแอ่นมาของการฟ้อนรำ 舞 wu3 เต้น รำ 1C C
แอ่มแค่ม มีแสงแดดอ่อนๆไม่แน่นหนา 晻 an3 มืดครึ้ม สลัว รุบหรู่ 1B B

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่ปรากฏในพจนานุกรม และภาคผนวกรายการคำเสริมสร้อยในวิทยานิพนธ์เรื่องที่เกี่ยวข้องแทบทุกคำ สามารถหาคู่คำที่มีเสียงและความหมายสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ ไม่พยางค์หน้าก็พยางค์หลัง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ลักษณะของคำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่มีรากคำเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีนพยางค์เดียว ได้ดังนี้
1. การเติมวิภัติปัจจัย (affixation)
1.1 หน่วยเติมหน้า คือการเติมหน่วยเสียงเข้ามาข้างหน้า ไม่ได้ทำหน้าที่บอกความหมาย
ใดๆ เป็นแต่เพียงการซ้อนเพื่อเสียงเท่านั้น ตัวอย่างคำ เช่น
มะนึง ติดกันเป็นพืด ระโยงระยาง พูดเป็นสร้อยว่า
มะนึงพึงพืด 凝 ning2 เกาะตัว แข็งตัว 2B A
มะลอง ขี้ริ้ว เศร้าหมอง ไม่น่าภูมิใจ พูดเป็นสร้อยว่า
มะลองจองจอย 陋 lou4 น่าเกลียด อัปลักษณ์ ไม่น่าดู 2C A
มะล้อน อาการแกว่งของวัตถุ พูดเป็นสร้อยว่า มะล้อนต้อนแต้น 抡 lun1 ใช้แรงกวัดแกว่ง 2A A
มะลัง เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง พูดเป็นสร้อยว่า
มะลังจังเจียว 缆 lan3 เชือก โช่ที่ฟั่นหลายเกลียว 2B B
มะลาม ไม่เป็นระเบียบ สับสน ปนเป 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 2B B
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า มีการเติมหน่วยเติมหน้า /มะ/ ที่หน้ารากศัพท์ให้เป็นคำสองพยางค์ แต่คำที่บอกความหมายหลักอยู่ที่พยางค์ที่สอง หลังจากที่สร้างคำสองพยางค์แล้ว ยังสามารถใช้วิธีการคล้องจองสร้างคำสร้อยสองพยางค์เข้ามาเพิ่มต่อท้ายได้อีก แล้วพูดต่อกันเป็นคำสี่พยางค์ แต่ไม่ว่าจะขยายคำออกไปอย่างไร รากศัพท์ยังคงสื่อความหมายดังเดิม
1.2 หน่วยเติมกลาง คือการเติมหน่วยเสียงแทรกตรงกลางระหว่างคำ หน่วยเสียงที่แทรกมา
พบว่ามักเป็นพยัญชนะสะกดของรากคำเดิม หรือฐานกรณ์ใกล้เคียงกับพยัญชนะต้นหรือพยัญชนะท้ายของคำเดิมนั่นเอง หรือเป็นเสียง /ย ร ล ว/ และมักจับคู่แน่นอนกับพยัญชนะต้นคำเดิม เช่น /พ,ป คู่กับ ว/ / จ คู่กับ ก,พ/ /ค คู่กับ น/ /ซ คู่กับ ล/ เป็นต้น เมื่อแทรกแล้วจะกลายเป็นคำสองพยางค์ แต่รูปคำเดิม ทั้งพยัญชนะต้น สระ และพยัญชนะสะกดยังคงเดิม หรือแปรไปเล็กน้อยเท่านั้น ตัวอย่างคำเช่น
จังงัง อาการตกตะลึง 惊 jing1 ตกตะลึง 1B A
ข้ายหย้าย อาการผละออกจากกลุ่มทันที 开 kai1 เปิดออก เคลื่อนที่ออกไป 离开=จากไป 1A B
จ่านพ่าน กระจายเกลื่อนอยู่ 展 zhan3 แผ่ขยายออกไป 1A B
จิงพิง ลักษณะคนหรือวัตถุขนาดเล็กที่มองเห็นได้ชัดเจน 晶 jing1 สว่าง แวววาว 1A B
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก (เล็กลง ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
ค้าวน้าว ลักษณะของที่ยืดหรือขึงอยู่ 控 kong4 แขวน หรือห้อย 1C B
ซ่างล่าง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ยาวสูงขึ้น 上 shang4 ขึ้น บน 1A C
ซื่อลื่อ ตรง ทื่อ เซ่อ ลักษณะนิ่ง เฉย 实 shi2 ซื่อ ตรง จริง 1A A
ป้องหง้อง อาการล้มของคนหรือสิ่งของ ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เรียก ปุ้งหงุ้ง / ป้างหง้าง 崩 beng1 พังทลาย พัง แตก 1A B
เพ้อเว้อ ลักษณะสิ่งของที่ปากบานใหญ่ 盆 pen2 กระถาง กาละมัง อ่าง 1B B
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า มีการเติมหน่วยคำเติมกลางแทรกกลางระหว่างสระและพยัญชนะท้ายของรากศัพท์ หน่วยเติมกลางดังแสดงเป็นตัวอักษรทึบดังนี้ จังงัง ข้ายหย้าย จ่านพ่าน จิงพิง ค้งน้ง ค้าวน้าว ซ่างล่าง ซื่อลื่อ ป้องหง้อง เพ้อเว้อ
1.3 หน่วยเติมท้าย เป็นการเติมหน่วยคำซ้อนต่อท้ายคำเดิม โดยที่เสียงพยัญชนะต้นของ
พยางค์ที่สองมักเป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก เสียงสระก็เป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก แต่ความสั้นยาวจะตรงกันข้ามกัน กล่าวคือถ้าพยางค์หน้าเป็นสระสั้นพยางค์หลังจะเป็นสระยาว แต่ถ้าพยางค์หน้าเป็นสระยาวพยางค์หลังจะเป็นสระสั้น นอกจากนี้ยังพบว่า คำสองพยางค์บางคำทั้งพยางค์หน้าและพยางค์หลังเป็นคำที่มาจากรากศัพท์คำร่วมเชื้อสายไท-จีนทั้งสองคำ ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
แว่งแวะ บอกลักษณะลอยละล่อง วับๆ ลิบๆ 滃 weng3 เมฆลอยขึ้น 1B C
แซ่งแซะ ลักษณะของคนที่เดินเรื่องเปื่อยไม่มีจุดหมาย 散 san4 ไม่จำกัด กระจัดกระจาย 1B B
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
พิกวิก ลักษณะของสิ่งเล็ก 薄 bo2 เล็กน้อย 1C A
微 wei1 นิดเดียว เบา น้อย 2C A
ปิ่งสิ่ง แช่มช้อย ผุดผ่องและสวยงามของแก้ม 庞 pang2 ใบหน้า 1B B
腮 sai1 แก้มทั้งสองข้าง 2B C
ก้วนด้วน กุด ขด ด้วน 棍 gun4 ท่อนไม้ 1A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
จากตัวอย่างคำข่างต้นจะเห็นว่า หน่วยเติมท้ายที่เติมเข้ามา พยัญชนะต้นพยางค์ที่สองซ้ำกับพยัญชนะต้นรากศัพท์เดิม โดยสลับความสั้นยาวของสระ แสดงเป็นอักษรทึบ ดังนี้ ก่งโก๊ะ แว่งแวะ แซ่งแซะ ซะซาย ส่วนคำที่สามารถหาคู่คำสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ทั้งสองคำ ได้แก่ ปิ่งสิ่ง และ ก้วนด้วน
2. กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย คือ รากศัพท์เดิมเพียงคำเดียว สามารถนำมาสร้างคำสองพยางค์
ได้หลายคำ โดยวิธีการแปรเสียงสระที่แตกต่างกัน มีผลทำให้ความหมายแปรไป แต่ยังคงเค้าความหมายจากรากศัพท์เดิม ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก้ย อาการเดินหลังโกงเคลื่อนไปช้าๆ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งจ่ง อาการที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งด่ง อาการชี้ชันขึ้นแต่ปลายโค้งลงเช่นหางวัว 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ง้องแง้ง อาการเคลื่อนไหวคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
ง่อมเงาะ งอ คด 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งักแง่น อาการสั่นไปสั่นมา ชักดิ้นชักงอ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C B
งุบเงิง อาการของสิ่งกลม/โค้งกระดกเปิดอ้าแล้วยุบลง 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
งูบงาบ ลักษณะการเดินช้าๆของคนหรือสัตว์ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
เซกเลก ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่เล่ ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่มเล่ม หน้ากระดูกยาวไม่สวย 脸 lian3 ใบหน้า 2B C
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำว่า弓 (gong3) หมายถึง “โค้ง โก่ง” นำมาสร้างคำ
เสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ ก่งโก้ย ก่งโก๊ะ ก่งจ่ง ก่งด่ง รากศัพท์คำว่า扭 (niu3) หมายถึง“หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ ง้วงเงียง งอกแงก ง้องแง้ง ง่อมเงาะ งักแง่น งุบเงิบ งูบงาบ รากศัพท์คำว่า脸 (lian3) หมายถึง“ใบหน้า” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ เซกเลก เซ่เล่ เซ่มเล่ม เป็นต้น
3. การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น คือ การใช้เสียงพยัญชนะและสระในรากศัพท์
เดิม แจกพยางค์ออกเป็นสองพยางค์ โดยที่เสียงอัฒสระ / u, i / แปรไปเป็นพยัญชนะต้น / ว , ย / ของพยางค์ที่สอง ( สระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ / u/ ) ตัวอย่างคำเช่น
กากวาก ลักษณะที่มีรอยเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่ 广 guang3 บริเวณกว้างใหญ่ 12A A
เกกเวก อาการวางหน้าไม่สนิท 怪 guai4 แปลก ประหลาด 12B C
เก่เหว่ เหย เบ้ เบี้ยว 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 12A A
พู้วู้ พูน นูนขึ้นมา 坡 po1 เนิน 12A A
พิญิ เริ่มแตกช่อ ใบอ่อน ลักษณะบาดแผลเล็ก 擗 pi3 แตก แยกออกจากของเดิม 12A B
สอยวอย แฉล้มแช่มช้อย สอดชื่น งดงาม 帅 shuai4 สะโอดสะอง งดงาม 12A B
สวะสวาง โล่งอก โล่งใจ สบายขึ้น 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น 12A A
ยีย่อง นวลงาม ผุดผ่อง 艳 yan4 งามหรูหรา งามฉูดฉาด 1B B
ยียน ใสงาม แวววาว 妍 yan2 สวยงาม สวยเพริศพริ้ง 12A A
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า เสียงอัฒสระในรากศัพท์เดิม เมื่อแปรมาใช้เป็นคำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสาน จะกลายเป็นเสียงพยัญชนะต้น เช่น 广guang3 กากวาก 拐guai3 เก่เหว่ 帅shuai4สอยวอย 妍 yan2 ยียน ในที่นี้ถือว่าสระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ / u/ อย่างเช่นคำว่า坡po1 พู้วู้ นอกจากนี้ พบคำเสริมสร้อยสี่พยางค์ที่มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาจีนและมีวิธีการสร้างคำแบบเดียวกันนี้หนึ่งคำคือ สวะสวาง มาจากคำว่า爽shuang3
4. การสลับที่ จากข้อมูล พบคำเสริมสร้อยที่มาจากรากศัพท์เดิม สามารถสลับที่กันไปมาระหว่าง
พยางค์ที่หนึ่ง และพยางค์ที่สองได้ โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างคำเช่น
จ๊ะจ่าง อาการถ่างออก เบ่งออก ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
จ่างจ๊ะ อาการถ่างออก เบ่งออก ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1A A
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
ซามซะ รุ่มร่าม รุงรัง รุ่งริ่ง ซ่างซะ ก็ว่า 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 2A A
โซงโลง ส่งของที่อยู่เป็นคู่อย่างเป็นระเบียบซองลองก็ว่า 双 shuang1 คู่ 1A A
ลองซอง เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ 双 shuang1 คู่ 2B A
ม้อต้อ อ้วน เตี้ย 短 duan3 สั้น 2B B
ต้อป้อ สั้น เตี้ย 短 duan3 สั้น 1B A
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำเดิมมีการสร้างคำหลายวิธีดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 หลังจากที่สร้างคำแล้ว คำสองพยางค์สามารถพูดสลับกันได้ แต่ความหมายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังแสดงเป็นอักษรทึบดังนี้ 张 (zhang1) จ่างจ๊ะ - จ๊ะจ่าง 洒 (sa3) ซะซาย – ซามซะ 双 (shuang1) โซงโลง – ลองซอง 短 (duan3) ต้อป้อ – ม้อต้อ
5.เสียงปฏิภาค จากข้อมูลคำศัพท์ที่รวบรวมได้พบว่า มีคู่คำศัพท์ระหว่างภาษาจีนกับภาษาอีสานที่เป็นเสียงปฏิภาคหลายคู่เสียง เช่น /k - kh/ /n - ng/ /p – ph,f / ตัวอย่างคำเช่น
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก
(เล็กลงตามลำดับเรียก ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ปางซาง ลักษณะของใหญ่ยาว แบนออก กางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B A
ปือลือ โกรธจัด 愤 fen4 ไม่พอใจ โกรธเคือง เคียดแค้น 1B A
จากตัวอย่างคำจะเห็นว่ามีคำที่เป็นเสียงปฏิภาคคือ ค้งน้ง -弓 (gong1) ง่วงเงี้ยง -扭 (niu3) ปางซาง -膨(peng2) ปือลือ -愤 (fen4)

บทสรุป
ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า สมมติฐานของการศึกษาในครั้งนี้คือ รากศัพท์ดั้งเดิมของคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีน บทความนี้จึงได้ดำเนินกรอบการอภิปรายเป็นประเด็นต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นข้อสนับสนุนของสมมติฐานนี้เป็นลำดับขั้นตอน นับตั้งแต่ข้อมูลคำโดดในภาษาอีสานจับคู่เปรียบเทียบกับคำภาษาจีนที่คาดว่ามีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีน การให้คำนิยามความหมายของคำซ้ำ คำซ้อนและคำเสริมสร้อย ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องชนชาติไท ภาษาตระกูลไท การศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีน และการศึกษาเกี่ยวกับภาษาอีสาน จากนั้นได้ให้ข้อมูลคำเสริมสร้อยภาษาอีสานเปรียบเทียบกับคำศัพท์ภาษาจีนที่คาดว่ามีความสัมพันธ์กันซึ่งรวบรวมจากพจนานุกรม รายการคำเสริมสร้อยภาษาอีสานที่ปรากฏในภาคผนวกของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบกับผู้บอกภาษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ โดยตารางคำศัพท์มีรายละเอียดเรื่องเสียง ความหมาย และระดับความสัมพันธ์ของคำในภาษาทั้งสอง สุดท้ายได้วิเคราะห์ลักษณะคำเสริมสร้อยที่มีคำที่มีความสัมพันธ์กับคำในภาษาจีน พร้อมทั้งยกตัวอย่างอธิบาย พบว่าคำภาษาอีสานที่มีที่มาจากรากศัพท์คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน มีวิธีการสร้างคำคือ การเติมวิภัติปัจจัย กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น การสลับที่ และเสียงปฏิภาค จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวอีสานและชาวไท หลักฐานเกี่ยวกับภาษา รวมถึงหลักฐานคำศัพท์ที่ปรากฏในบทความนี้ เชื่อได้ว่า คำเสริมสร้อยในภาษาอีสานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาจีน ถือเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีนจริง
เอกสารอ้างอิง
ขอนแก่น,มหาวิทยาลัย. (2532) พจนานุกรมภาษาอีสาน-กลาง. ขอนแก่น:สหวิทยาลัยอีสาน.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน.(2530) พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
กรุงเทพฯ:อรุณการพิมพ์.
คำพูน บุญทวี(2548) พจนานุกรมภาษาอีสานฉบับคำพูน บุญทวี.พิมพ์ครั้งที่ 1,กรุงเทพฯ:โป๊ยเซียน.
จิตร ภูมิศักดิ์.(2519) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อ
ชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:โครงการตำราสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ไทย-ลาว,สมาคม.(2546)ปทานุกรมคำพ้องไทย-ลาว.กรุงเทพฯ:มติชน.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ.(2541) พจนานุกรมจีน-ไทย.กรุงเทพฯ:รวมสาส์น.
บรรจบ พันธุเมธา. (2526) กาเลหม่านไตในรัฐชานและคำตี่เมืองขาง.คณะอนุกรรมการเผยแพร่
เอกลักษณ์ของไทยในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
———— (2537) ลักษณะและการใช้ภาษาไทย. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บรรพต เปรมชู . (2522) คำวิเศษณ์และสำนวนพูดภาษาอีสาน .กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการ
วัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล.(2545) พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน(เว่าอีสาน).พิมพ์ครั้งแรก.ขอนแก่น:คลังธนา
ธรรม.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.(2547) ไทยสิบสองปันนาเล่ม 1 .พิมพ์ครั้งที่ 3 ,กรุงเทพฯ:ศยาม.
ประคอง นิมมานเหมินทร์.(2519) “เสียงสระในคำขยายบางคำในภาษาอีสาน,” วารสารอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 16 (2519) : 56-65.
ปราณี กุละวณิชย์.(2535) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปราณี กุละวณิชย์และคณะ.(2527) ศัพท์ไท 6 ภาษา. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรีชา พิณทอง.(2532) สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ.พิมพ์ครั้งที่ 1,อุบลราชธานี:โรงพิมพ์ศิริธรรม.
พวงพยอม ศรีหาบัติ (2521)คำอุทานของภาษาอีสาน.มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
มหาสารคาม.
พัชราภรณ์ เศวตสุวรรณ.(2530) การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์
ภาษาไทยกลาง กับภาษาตระกูลไท. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัย
มหาสารคาม.
ราชบัณฑิตยสถาน.(2546) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2542.กรุงเทพฯ:นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531)ภาษาถิ่นตระกูลไทย. (พิมพ์ครั้งที่2) กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราช
วิทยาลัย.
มะณีรัตน์ รักเพื่อน.(2538)ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคำร่วมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางและภาษา
ถิ่นอีสาน. ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม. ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ. (2550) การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ. ภาควิชาภาษาไทย คณะ
มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สอนศรี พิลาไชย (2534) คำวิเศษณ์บอกลักษณะในภาษาถิ่นอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม . วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2549) พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน. กรุงเทพฯ:มติชน.
สุริยา รัตนกุล.(2548) นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท.กรุงเทพฯ:สหธรรมิก.
สุวารี เจียนโพธิ์. (2537) คำซ้อนในภาษาถิ่นอีสาน. ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม. ภาษาไทย) มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
อุดม พรประเสริฐ. (2523) คำวิเศษณ์สองพยางค์ในภาษาอีสาน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Asger Mollerup.(2001) Thai – Lao Phrase Book. Bangkok:White Lotus G.P.O.
Benedict Paul K.(1942)Thai, Kadai and Indonesian: A new alignment in Southeastern Asia,
American Anthropologist 44:576-601.
-----------------. (1975) Austro-Thai: Language and culture. New Haven: HRAF Press.
Brown, J. Marvin (1965) From Ancient Thai to Modern Dialects. In From Ancient Thai to Modern
Dialects, and Other Writings on Historical Thai Linguistics, Bangkok : White Lotus.
Chamberlain,James R. (1972) ‘The Origin of The Southwestern Tai’ in Bullentin des Amis du
Royaume Laos,7-8:233 – 44 Vientiane
Diffloth, Gérard.( 1974) Austro-Asiatic Languages. Encyclopaedia Britannica. 480-484.
Dodd,William C.(1923) The Tai Race-Elder Brother of Chinese.Cedar Rapids,Iowa,The Torch
Press.
Edmondson, J.A. and D.B. Solnit eds. (1997) Comparative Kadai: the Tai branch. Dallas:
Summer Institute of Linguistics and the University of Texas at Arlington.
Frank M.Lebar. (1964) Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven,Conn:
HumanRelations Area Files.
Gedney,William J. (1972) ‘A checklist for determining tones in Tai dialects’ , in Studies in
Linguistics in honor of Georg L. Trager. The Haug.Mouton.
Grierson,G.A. (1903 - 28) Linguistics survey of India,11vols.Culcutta,Office of the
Superementendent of Government Printing.
Hartman, John F. (1986) ‘Style, Scope, and Rigor in Comparative Tai Research’ in Bickner,
Robert J., Thomas J. hudak and Pacharin Peyasantiwong (eds.)
Li Fangkuei.(1959)“Classification by vocabular : Tai Dialects” in Anthropological
Linguistics,1.2,15-21.
-----------------.(1976) Sino-Tai, Genetics Relationship Diffusion and typological similarities on East
and Southeast Asian Languages ,Paper for the 1st Japan –US Joint Seminar on East
and Southeast Asian Linguistics, Tokyo.
L-Thongkum, Theraphan. (1979) Iconicity of vowel qualities in Northeastern Thai reduplicated words. In Studies in Tai and Mon-Khmer Phonetics and Phonology in Honour of Eugenie J.A. Henderson, 247-260, edited by Pranee Kullavanijaya et al. Bangkok: Chulalongkorn Printing House.
Manomaivibool Prapin.(1975) A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence , PhD Dissertation,
University Of Washington.
Somsong Burusphat.(2006) Northern Zhuang Chinese Thai English Dictionary. Bangkok :
Ekphimthai Ltd.
龚群虎。(2002) 《汉泰关系词的时间层次》上海:复旦大学出版社。
郭锡良。(1986) 《汉字古音手册》北京:北京大学出版社。
梁敏,张均如。(1996) 《侗台语族概论》北京:社会科学出版社。
ผู้บอกภาษา
ณัฐพัชร์ เตชะรุ่งไพศาล : อายุ 37 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดอุบลราชธานี พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่,
อาจารย์สอนภาษาจีน ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี,
Computing Editors of Somsong Burusphat.(2006) Northern Zhuang Chinese Thai English
Dictionary. Bangkok: Ekphimthai Ltd.
นิภาดา พานะรมย์ : อายุ 22 ปี ภูมิลำเนา จังหวัดศรีสะเกษ พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่, นักศึกษา
ระดับปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์จีน Nanjing Normal University,China.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น