วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

นามานุกรมธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนในเขตจังหวัดอุบลราชธานี




ชื่อหนังสือ
นามานุกรมธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน
ในจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่พิมพ์
 พ.ศ.2554   พิมพ์ครั้งที่  1  จำนวน 100 เล่ม
ผู้เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ  สอดส่องกฤษ
อาจารย์ธีวิทย์ กาปัญญา
ที่อยู่
   มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 34190
หน่วยงานที่สนับสนุน
คณะศิลปศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์  และ
งานส่งเสริมการวิจัยบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สถานที่พิมพ์
โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ออกแบบปก อรรถวุฒิ ศรีสุข
ข้อมูลบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ

      นามานุกรมธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุบลราชธานี  —
อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2553,
237 หน้า.
             1.ป้ายร้าน   2.ชื่อร้าน   3.ธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน




คำนำ
การศึกษาเรื่องภูมินามเป็นงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในภารกิจของการศึกษาทางภาษาศาสตร์ ผลที่ได้นอกจากการเก็บบันทึกข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นฐานข้อมูลที่สามารถเก็บรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไปเพื่อการศึกษาวิจัยต่อยอดในแขนงอื่นๆ ต่อไปแล้ว ยังสามารถศึกษาถึงวัฒนธรรม ปรัชญา ความคิดความเชื่อของชนกลุ่มหนึ่ง ในขณะช่วงเวลาหนึ่งหรือเชื่อมโยงกับทั้งช่วงเวลาและระหว่างวัฒนธรรมแวดล้อมอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 
ในจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากกลุ่มชนที่อยู่ติดแผ่นดินมาแต่โบราณอย่างกลุ่มไทยและลาวแล้ว ยังมีกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาภายหลังอีกหลายกลุ่ม ได้แก่ บรู กูย เวียดนาม แขกและจีน ในบรรดากลุ่มชนอพยพดังกล่าวข้างต้นนี้  กลุ่มจีนเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และตั้งถิ่นฐานครอบคลุมเมืองอุบลราชธานีมากที่สุด ทั้งยังเป็นกลุ่มที่ประกอบธุรกิจการค้า และเป็นกลุ่มชนที่กุมเศรษฐกิจในจังหวัดอุบลราชธานีมากที่สุดเช่นกัน แม้จะผสมกลมกลืนกับชาวไทยลาวพื้นถิ่นด้วยภาษาและศาสนา แต่ด้วยความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมดั้งเดิม อำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ทำให้ชาติพันธุ์จีนที่อพยพเข้ามายังคงดำรงรักษาวัฒนธรรมของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งไปกว่านั้นยังแทรกซึม เผยแพร่ และผสมผสาน แม้กระทั่งมีอำนาจเหนือวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่นไปเสียแล้ว
วัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุบลราชธานี เช่น วัดจีน สุสานจีน ศาลเจ้าจีน ร้านธุรกิจการค้า การละเล่น มหรสพ ชาวจีน โรงเรียนจีน และเทศกาลต่างๆ ของจีน มีให้เห็นทั่วไป ชนิดที่แทบจะดูเป็นเมืองๆหนึ่งของประเทศจีนไปแล้วก็ว่าได้ ประกอบกับนโยบายการกระจายอำนาจทางภาษา ที่รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้น ส่งเสริมเพื่อให้ภาษาจีนเป็นภาษาสากลที่ครอบคลุมไปทั่วโลกทำให้วัฒนธรรมทางภาษาของจีนยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้นทุกขณะอย่างที่ไม่มีทางจะหยุดยั้งได้
วัฒนธรรมทางภาษา ประกอบกับอุปนิสัยที่รักการประกอบธุรกิจการค้าของชาวจีนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การตั้งชื่อร้านเป็นภาษาจีน จากการสังเกตในเบื้องต้นพบว่า ป้ายชื่อร้านของชาวไทยเชื้อสายจีนจะประกอบด้วยสองส่วนคือ ชื่อร้านที่เขียนด้วยอักษรจีน และชื่อร้านที่เขียนด้วยภาษาไทย ป้ายชื่อร้านเป็นสิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะชาวจีน เนื่องจากชื่อร้าน เป็นสิ่งหลอมรวมปรัชญาความคิดของชาวจีนมากมาย เช่น การสืบทอดเชื้อสายของวงศ์ตระกูล ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ความสัมพันธ์กับเชื้อสายและเผ่าวงศ์พงศ์พันธุ์  นอกจากนี้ ยังต้องสื่อความหมายเกี่ยวกับธุรกิจ  การดึงดูดใจ  การบรรยายสินค้า  การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ซื้อ  และยังต้องคำนึงถึงความเป็นมงคล การอวยพรให้การค้าขายเจริญรุ่งเรื่อง ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในแผ่นป้ายหน้าร้านด้วยตัวหนังสือจีนไม่กี่คำเท่านั้น สิ่งนี้เรียกว่า นามาธุรกิจดังนั้นการศึกษารหัสทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในนามาธุรกิจของชาวไทยเชื้อสายจีน จึงเป็นการศึกษาทางภาษา วัฒนธรรม มานุษยวิทยาที่จะละเลยมิได้    
คณะศิลปศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรภาษาจีนนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 เป็นต้นมา การดำเนินการของหลักสูตรมีคามพัฒนาก้าวหน้ามาก ทั้งการสอน การศึกษาวิจัย การบริการวิชาการ ความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน และสถาบันการศึกษาวิจัยด้านจีนศึกษาในระดับสากล เช่น สถาบันการศึกษาของประเทศลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น การดำเนินงานทางวิชาการที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาเป็นประจำ มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ การร่วมแต่งตำรา และการร่วมวิจัย ทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในวงการจีนศึกษาอย่างกว้างขวาง
สำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานีนั้น เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มชนพื้นเมือง แต่เป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ไม่ตกอยู่ในสภาวะที่วัฒนธรรมใกล้สูญหาย ตรงกันข้ามกลับรุ่งเรือง และเฟื่องฟูขึ้นทุกขณะ  เหตุนี้ทำให้งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่จะศึกษาวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนถูกจำกัดด้วยคำว่า ทำนุบำรุงซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้ศึกษาวิจัยเลือกที่จะทำวิจัยในเรื่องที่มีข้อมูลที่เพียงพอ ไม่เลือกศึกษากลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งมีข้อมูลที่มีการศึกษา และการบันทึกไว้ไม่มากนัก ทำให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งของสังคมอุบลราชธานียังไม่ได้รับการเจียระไนขึ้นเสียที
ขั้นตอนการจัดทำ นามานุกรมธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุบลราชธานี ฉบับสองภาษา ไทย จีน”  ในครั้งนี้  ดำเนินการโดยเก็บข้อมูล ชื่อร้านภาษาจีนในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี และ อำเภอวารินชำราบทั้งหมด ซึ่งบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจที่ชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด และมีกิจการที่หลากหลายมากที่สุด การศึกษาในครั้งนี้ สามารถรวบรวมชื่อร้านภาษาจีนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากสถานที่จริง ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลปฐมภูมิจากคำบอกเล่าของเจ้าของกิจการ ส่วนข้อมูลที่ไม่ปรากฏเป็นส่วนที่เจ้าของข้อมูลไม่สะดวกที่จะเปิดเผยหรือไม่ทราบ จึงละไว้ เมื่อเก็บข้อมูลได้แล้วก็นำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยและภาษาจีนโดยเรียงลำดับตามแบบพจนานุกรม กำกับเสียงอ่านด้วยระบบสัทอักษรจีน ให้ความหมาย ที่มา และรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับชื่อร้าน ที่อยู่ และกิจการเป็นภาษาจีนและภาษาไทยอย่างครบถ้วน ส่วนข้อมูลทางธุรกิจ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมเรียบเรียงด้วย
นามานุกรมฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเผยเพื่อเผยแพร่ให้เป็นฐานข้อมูลในการเรียนการสอน การศึกษาค้นคว้า และการวิจัยทางด้านจีนศึกษา และการบริหารธุรกิจที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี


 เมชฌ สอดส่องกฤษ
ธีรวิทย์  กาปัญญา  
พ.ศ.2554



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น