วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การพรรณนาภาษามากและภาษาอายจาม


เกี่ยวกับชื่อเรียก “มาก” และ “อายจาม” มีเรื่องที่ต้องอธิบาย ดังนี้
หลี่ฟางกุ้ย (Lǐ Fāngguì, 1943)  บันทึกชื่อภาษานี้ว่า [Ɂai33 ma:k42]  นับเป็นครั้งแรกที่
โลกภาษาศาสตร์ได้รู้จักกับภาษาตระกูลไทที่ชื่อ “มาก” สี่สิบปีหลังจากนั้น ทางฝั่งนักภาษาศาสตร์จีนก็ได้มีรายงานการศึกษาภาษา “มาก” เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ หนีต้าป๋าย (Ní Dàbái, 1984) สือหลินและชุยเจี้ยนซิน (Shi Lin and Cui Jianxin, 1987) หยางทงอิ๋น (Yáng Tōngyín, 1996) และชุยเจี้ยนซิน (Cuī Jiànxīn, 1999) นักภาษาศาสตร์รุ่นหลังจากหลี่ฟางกุ้ย ได้ใช้เสียงวรรณยุกต์ที่วิเคราะห์แล้วเรียกชื่อคนกลุ่มนี้ว่า /ai3 ma:k8/ คำว่า /ai3/ ตรงกับ “อ้าย หรือ ไอ้” แปลว่า “คน”[1] ดังนั้นชื่อเฉพาะของคนกลุ่มนี้คือ /ma:k8/ ตัวเลข 8 เป็นเลขแทนเสียงวรรณยุกต์ระดับเสียง /31/ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากวรรณยุกต์ [42] ที่หลี่ฟางกุ้ยจดไว้มากนัก เมื่อถอดเสียงเป็นภาษาไทยแล้วก็จะอ่านออกเสียงได้ว่า  “มาก” (/31/  และ [42] เขียนตามเอกสารเดิมที่อ้างอิง)
นอกจากนี้ตอนที่หลี่ฟางกุ้ยเข้าไปเก็บข้อมูล  และเขียนรายงานภาษามากก็ได้กล่าวถึงชื่อภาษาอายจามด้วย (หลี่ได้รายงานในบทความของเขาโดยใช้ชื่อว่า Ai-Cham)  ขณะนั้นหลี่มีเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ จึงไม่ได้เข้าไปเก็บข้อมูลภาษานี้ด้วยตนเอง (แต่ก็ไม่ได้บอกว่าว่าได้ข้อมูลมาอย่างไร) แต่ก็ได้จัดให้ภาษามากและภาษาอายจามเป็นสมาชิกของสาขาต้ง-ไถ แขนงต้ง-สุ่ย[2]  เดิมทีนักภาษาศาสตร์เข้าใจกันว่ากลุ่มคนทั้งสองนี้พูดภาษาที่แตกต่างกันสองภาษา  คือกลุ่มคนที่พูดภาษามากเรียกว่า /ai3 ma:k8/ และกลุ่มคนที่พูดภาษาอายจามเรียกว่า /ai3 ȶa:m1/ ดังที่กล่าวข้างต้นว่า คำว่า /ai3/ ตรงกับ “อ้าย หรือ ไอ้” แปลว่า “คน” ดังนั้นชื่อเฉพาะของภาษานี้ก็คือ  /ȶa:m1/ ตรงกับที่นักภาษาตะวันตกใช้ชื่อ Cham ภาษาไทยว่า “จาม” นักภาษาศาสตร์จีนที่เข้าไปศึกษาต่อจากหลี่ฟางกุ้ย ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาภาษาจาม และได้นำมาเปรียบเทียบระบบเสียง วงคำศัพท์ และไวยากรณ์กับภาษามาก ก็ได้ข้อสรุปว่าภาษาทั้งสองเป็นภาษาเดียวกัน มีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย จัดได้ว่าเป็นภาษาถิ่นของกันและกันเท่านั้น  เพียงแต่ว่ากลุ่มคนที่พูดภาษามากมีจำนวนประชากรมากกว่า จึงใช้ชื่อ “มาก” เป็นตัวแทน  
 “มาก” เป็นชื่อที่นักภาษาศาสตร์ชาวไทย (สุริยา: 2548, 136) ยอมรับและรู้จัก ขณะที่นักภาษาศาสตร์จีนเห็นพ้องกันแล้วว่าภาษามากและภาษาจามเป็นภาษาเดียวกัน   ดังนั้นต่อจากนี้เมื่อใช้ชื่อ “มาก” จึงจะหมายรวมถึงภาษาโม่และภาษาจามเข้าด้วยกัน ข้อมูลที่หนีต้าป๋าย (1984) ให้ไว้ระบุว่า ชาวมากทั้งสองถิ่นมีจำนวนประชากรรวมราว 16,000 คน แบ่งเป็นสองสาย คือ ชาวมากสายสกุลโม่ กับ ชาวมากสายสกุลอู๋ มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่มณฑลกุ้ยโจว ดังนี้     
 
 ชาวมากสายสกุลโม่ เรียกชื่อว่า “โม่” () เป็นเสียงอ่านของอักษรจีนที่นักวิชาการจีน
ใช้จดชื่อภาษามากที่มีถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านและตำบลต่างๆของเขตอำเภอลี่โป (荔波Lìbō) ได้แก่ ตำบลฟางชุน (方村Fāng cūn) ลาหลิ่ว(拉柳Lāliǔ) หยางเฟิ่ง (阳凤Yáng fèng) เจี่ยเหลียง (甲良Jiǎliáng) โปเหยา (播尧Bōyáo) เป็นต้น เนื่องจากคนที่นี่ล้วนมีแซ่ “โม่” ชาวฮั่นรวมถึงชนกลุ่มน้อยที่อยู่ใกล้เคียงเช่น ปู้อี สุ่ย จาม มักเรียกอีกชื่อว่า “โม่เจียฮว่า” (莫家话  Mò jiā huà) แปลว่า “ภาษาสกุลโม่”  ภาษานี้ก็คือภาษาที่หลี่ฟางกุ้ยเรียกว่า “Mak” จำนวนประชากรที่ยังพูดภาษานี้ได้ราว 10,000 คน (Ní Dàbái, 1984, 23-25) ต่อไปนี้เรียกว่า “ชาวโม่” และ “ภาษาโม่”       
ชาวมากสายสกุลอู๋ เรียกชื่อว่า “จิ่น” (Jǐn) เป็นเสียงอ่านของอักษรจีนที่นักวิชาการจีนใช้
จดชื่อภาษามากที่มีศูนย์กลางอยู่สองแห่ง คือ เขตไท่หยาง (太阳Tàiyáng / da1 van1/)  กับเขตโต้วชุน (豆村Dòu cūn / ȵa:u2 dau5/ ) ในหมู่บ้านต่างๆดังนี้ เกิ้งฟาง (更方Gèng fang /əu1 vuŋ1) น่งม่าย (弄迈Nòng mài / doŋ1 ma:i1)  เกิ้งเจิ้ง (更正Gēngzhèng / əu1 suŋ1) เกิ้งเล่ย (更类Gèng lèi / əu1 sun2/) ซีชุน (昔村Xī cūn / a:u3 sip7) เจี่ยเหลย (甲雷Jiǎ léi / kə3 lui2)  ป่าจา (把扎Bǎ zhā / pa3 za2 ) หยวีชุน (鱼村Yú cūn / a:u3  əi3) ตี้ม่าย (地脉Dìmài / ti1 ma:k8/) โต้วชุน เจี่ยซ่วน (甲算Jiǎ suàn / kə3 son5 /)   นักวิชาการจีนบางคนใช้อักษรจีนแบบที่เรียกว่า “ฝ่านเชี่ย”[3] จดชื่อภาษานี้ว่า เจี๋ยหมู่ (甲姆Jiǎmǔ) ซึ่งทั้ง “จิ่น” และ “เจี๋ยหมู่” คือวิธีที่นักภาษาศาสตร์จีนใช้อักษรจีนจดเสียงที่เจ้าของภาษาเรียกชื่อตัวเองว่า /ȶa:m1/ เนื่องจากคนที่พูดภาษานี้ล้วนมีแซ่ “อู๋” () ชาวฮั่นรวมถึงชนกลุ่มน้อยที่อยู่ใกล้เคียงเช่น ปู้อี สุ่ย โม่ มักเรียกอีกชื่อว่า “อู๋เจียฮว่า” (吴家话  Wú jiā huà) แปลว่า ภาษาสกุลอู๋  ภาษานี้ก็คือภาษาที่หลี่ฟางกุ้ยเรียกว่า “Ai-Cham” มีจำนวนประชากรที่ยังพูดภาษานี้ได้ราว 3,000 คน(Ní Dàbái, 1984, 23-25)  ข้อมูลล่าสุดที่หยางทงอิ๋น(Yáng Tōngyín, 1996, 3) เดินทางเข้าไปสำรวจและบันทึกไว้ มี 2,938 คน ต่อไปนี้เรียกว่า “ชาวจาม” และ “ภาษาจาม”
สรุปชื่อเรียกภาษามาก และ ชาวมาก  
ชื่อภาษาไทย
มาก
จาม
เจ้าของภาษาเรียกตัวเอง
/ai3 ma:k8/
/ai3 ȶa:m1/
ชื่อภาษาอังกฤษ
Ai Mak
Ai Cham
ชื่อภาษาจีน
“โม่”
Jǐn “จิ่น”   / 甲姆Jiǎmǔ “เจี๋ยหมู่” /金话Jīn huàจินฮว่า” / 唉查么Āi chá me “อายฉาเมอ”
ชื่ออื่นที่ภาษาจีนเรียก
โม่เจียฮว่า (莫家话  Mò jiā huà) แปลว่า “ภาษาสกุลโม่” 
อู๋เจียฮว่า (吴家话  Wú jiā huà) แปลว่า “ภาษาสกุลอู๋”
ชื่อที่เรียกในงานนี้
ชาวโม่ ภาษาโม่
ชาวจาม ภาษาจาม
         
เนื่องจากจำนวนประชากรชาวมากมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งประวัติความเป็นมา  วัฒนธรรม  และความมีอัตลักษณ์ ยังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์การรับรองให้เป็นชนกลุ่มน้อย ชาวมากจึงจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีน เพื่อความสะดวกในการปกครองรัฐบาลจีนจึงจัดกลุ่มคนพวกนี้เข้าไว้เป็นสมาชิกชนกลุ่มน้อยชาวปู้อี  แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันและพูดภาษาเดียวกันแต่อย่างใด โดยที่ชาวมากมีคำเรียกชาวปู้อีว่า /ai3 ja:i3/ ขณะที่ชาวปู้อีเรียกชาวมากเหมือนกับที่ชาวมากเรียกตัวเองว่า /ai3 ma:k8/


[1]เกี่ยวกับชื่อเรียกนี้มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ภาษาต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสาขาจ้วง-ต้งในประเทศจีนตอนใต้ มีชื่อเรียกตนเองที่มีลักษณะที่สอดคล้องกัน คือ มักเป็นคำสองพยางค์ พยางค์แรกเป็นคำที่มีความหมายว่า “คน” แบ่งเป็นสองพวก คือ พวกที่ใช้คำว่า “อ้าย/ไอ้” กับพวกที่ใช้คำว่า “ผู้” และพยางค์หลังเป็นชื่อเฉพาะ แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้คำอื่น หรือไม่มีคำนำหน้า ดังนี้  (สัทอักษรที่ปรากฏนี้อ้างอิงมาจากหนังสือพรรณนาภาษาต่างๆหลายเล่ม และจากผู้เขียนหลายคน ทำให้ระบบที่ใช้ไม่เป็นแบบเดียวกัน โปรดดูหัวข้อระบบคำ)

“อ้าย/ไอ้”
“ผู้”
คำอื่น (คำหน้าแปลว่า “คน”)
ไม่มีคำนำหน้า

ai3 ma:k8  มาก
pu4 ʔjui4     ปู้อี
lak8 kja3 ลักกะ
tai2   ไต

ai3 ȶa:m1  จาม
pou4 ɕu:ŋ6  จ้วง
ʔɑŋ33 ɓe33  เบ
kam1 ต้ง

ai1 na:n6  เหมาหนาน
mu6 lam1    มูลัม

ɬai1   ฮไล

ai˩ tʰən˧   เท็น
pɯ55 lau55 เกอลาว


ai3 sui3    สุ่ย
pu biao       พูเปียว


puo˩ ʔja:ŋ˦   ปูยัง

li pu lio        ละติ

[2] นักภาษาศาสตร์จีนปัจจุบันตั้งชื่อสาขาต้ง-ไถนี้ใหม่ว่า สาขาจ้วง-ต้ง แขนงต้ง-สุ่ย
[3] 反切fǎnqiè คือวิธีการจดเสียงอ่านอักษรจีนในสมัยโบราณ เนื่องจากอักษรจีนเป็นลักษณะของอักษรภาพ ไม่มีเสียงอ่าน หากไม่เคยเรียนมาก่อนก็จะไม่สามารถอ่านอักษรตัวนั้นได้ จึงมีการคิดวิธีจดเสียงอ่านขึ้น เรียกชื่อว่า反切fǎnqiè สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในยุคที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาในประเทศจีน    คือยุคเว่ยจิ้น หนานเป่ย (魏晋南北朝Wèi Jìn Nán Běi cháo) เพื่อจดคำอ่านอักษรธรรม อีกกระแสหนึ่งเชื่อว่า เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคตงฮั่น (东汉末年Dōnghàn mò nián) โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤต มีการใช้反切fǎnqiè ปรากฏในหนังสือภาษาศาสตร์จีนโบราณชื่อ เสียงและความหมายเอ๋อร์หย่า《尔雅音义Ěr yǎ yīnyì ผู้เขียนชื่อ 孙炎Sūn Yán เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเสียงและความหมายของภาษาจีน นักภาษาศาสตร์จีนถือว่านักอักษรศาสตร์จีนโบราณท่านนี้เป็นผู้ประดิษฐ์และริเริ่ม反切fǎnqiè วิธีการจดเสียงอ่านแบบ反切fǎnqiè นี้ทำโดยเลือกอักษรจีนสองตัวเขียนต่อกัน ตัวแรกแทนเสียงพยัญชนะต้น และตัวที่สองแทนเสียงสระและวรรณยุกต์ เช่นคำว่า เสียงอ่านปัจจุบัน Qīng เสียงอ่าน反切fǎnqiè คือ 仓经Cāng jīng qiè  ดังนั้นเสียงอ่านโบราณคำนี้คือ /cing/  เอกสารการจดเสียงคำอ่านอักษรจีน反切fǎnqiè นี้นี่เองที่นักภาษาศาสตร์ปัจจุบันใช้เป็นหลักฐานในการสืบสาวเสียงโบราณของภาษาจีน    



จากการสืบสาวตำนานและสายตระกูลแซ่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้เกี่ยวกับที่มาของชาวจาม  แล้วเราจะหาข้อสรุปเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวจามได้อย่างไร หยางทงอิ๋น(Yang Tongyin: 1996, 9) เสนอแนวคิดว่า เราอาจนำชื่อของชนกลุ่มน้อยที่ใกล้ชิดกันมาเปรียบเทียบเพื่อหาความสัมพันธ์ คงพอจะสืบสาวที่มาของชาวจามได้ เมื่อเปรียบเทียบชื่อเรียกก็จะพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเรียกใกล้เคียงกับชาวมากมากที่สุดก็คือชาวต้ง เรียกตัวเองว่า /kam1, ȶəm1, ȶam1/ บรรพบุรุษของชาวต้ง-สุ่ยมีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำจูเจียงและเจียงซี  อพยพทวนกระแสน้ำขึ้นไปตามเส้นทางเขตเมืองหลิ่วโจว    (柳州 Liǔzhōu) ชาวต้ง[1]และชาวมูลัมแตกแขนงไปตามแม่น้ำหรงเจียง(融江 Róng jiāng) ไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองหลัวเฉิง หลิ่วเฉิง และเขตรอยต่อของสามมณฑล คือ หูหนาน กุ้ยโจว และกว่างซี  ส่วนชาวสุ่ย เหมาหนาน โม่ และจาม แตกแขนงไปทางแม่น้ำหลงเจียง(龙江 Lóng jiāng)ขึ้นไปด้านบน ไปตั้งถิ่นฐานที่หวนเจียง ลี่โป และซานตู เมื่อวิเคราะห์เช่นนี้แล้วก็จะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีภาษาที่ใกล้ชิดกันกันสองกลุ่ม คือ  ภาษาลักกะที่ตำบลจินซิ่วเหมือนกับภาษาต้งและภาษามูลัม ขณะที่ภาษาสุ่ย ภาษาเหมาหนาน ภาษาโม่และภาษาจามก็เป็นภาษาที่ใกล้ชิดกันมากอีกกลุ่มหนึ่ง          


[1] มีข้อสนับสนุนแนวคิดที่ว่าชาวต้งมีถิ่นกำเนิดจากจูเจียงก็คือ ชาวต้งเชื่อว่าบรรพบุรุษข้ามแม่น้ำสวนกระแสขึ้นมา ประเพณีศพของชาวต้งจึงต้องนำเถ้ากระดูกของบรรพบุรุษไปลอยอังคารเพื่อให้ไหลตามน้ำกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนเดิม โดยเล่าว่าให้ไหลไปที่ “แม่น้ำสองสีครึ่งขุ่นครึ่งใส” จุดที่ว่านี้ชาวต้งเองก็ไม่ได้บอกว่าคือที่ใด แต่หากดูตามกระแสน้ำแล้วก็จะพบว่าช่วงต้นสายของแม่น้ำ หงสุ่ย (红水河Hóng shuǐ hé) อยู่ที่เจียงซี ต้นสายน้ำนี้ไหลผ่านดินแดง น้ำจึงมีสีแดงขุ่น เมื่อไหลไปบรรจบกับช่วงกลางซึ่งเป็นต้นสายของแม่น้ำหลิ่วเจียง (柳江Liǔjiāng) ซึ่งเป็นน้ำใส จึงนับว่าเป็นจุดที่เรียกว่า “แม่น้ำสองสีครึ่งขุ่นครึ่งใส”      
 จากที่ได้พรรณนาลักษณะของภาษามาก เราทราบว่าภาษามากแบ่งเป็นสองถิ่นย่อยคือโม่และจาม ทั้งสองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่รัฐบาลจัดเข้ารวมไว้กับชนกลุ่มน้อยชาวปู้อี นักวิชาการจีนจัดไว้เป็นสมาชิกในสาขาจ้วง-ต้ง แขนงต้ง-สุ่ย มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่อำเภอลี่โป อำเภอตู๋ซาน เขตปกครองตนเองชาวปู้อีและชาวเหมียวเฉียนหนาน  มณฑลกุ้ยโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พิจารณาจากพื้นที่อยู่อาศัยจะเห็นว่าชาวโม่ใกล้ชิดกับชาวปู้อี ทำให้มีคำศัพท์ภาษาปู้อีใช้ในภาษาโม่เป็นจำนวนมาก
เมื่อพิจารณาจากระบบเสียงแล้วจะพบว่าภาษามาก(โดยเฉพาะภาษาโม่) ใกล้ชิดกับภาษาเหมาหนานและภาษาสุ่ย มากกว่าภาษาปู้อี เนื่องจากลักษณะสำคัญที่พบในภาษาโม่ก็คือ ยังคงรักษาระบบพยัญชนะต้นเสียงก้อง /b, d/  และการออกเสียงแบบมีเสียงก้องนำ / ˀb, ˀd / ทั้งยังมีร่องรอยของการออกเสียงแบบมีเสียงนาสิกนำ /mb, nd/ เหมือนกับที่ยังมีอยู่ในภาษาเหมาหนานและภาษาสุ่ย ขณะเดียวกันก็มีบางคำที่สูญเสียเสียงดังกล่าวไปแล้วเหมือนกับที่เกิดขึ้นในสมาชิกภาษาสาขาต้ง-สุ่ย และสมาชิกจ้วง-ไต ก็คือ การแปรไปเป็นเสียง /p, t, m, l / แล้ว เช่น

ปี
แพง
วัน
ดิน
กระดูก
ตา
ตำ(ทอผ้า)
จาม
be1
biŋ1
mən1
da:i5
da:k9
da1
tam3
โม่
be1
biŋ1
Ɂbən1
da:i5
Ɂdok9
da1
tam3
เหมาหนาน
mbɛ1
mbiŋ1
bə n2
ndai5
da:k8
nda1
tam3
สุ่ย
mbe1
mbiŋ1
Ɂbən1
nda:i3
la:k7
nda1
tam3
มูลัม
mɛ1
miŋ1
mən1
hɣa:i5
hɣa:k7
la1
tam3
ต้ง
ȵin2(จีน)
ȶui5(จีน)
mən1
ti6
la:k9
ta1
tam3
ปู้อี
pi1
pe: ŋ2
bɯn1
zi6
do6
ta1
tam3
จ้วง
pi1
pe: ŋ2
bɯn1
ɣai6
do:k9
ɣa1
tam3
ไต
pi1
pɛŋ2
van2
hai6
duk9
ta1
tam5
หยางทงอิ๋น (Yáng Tōngyín, 1996,188) ได้เปรียบเทียบคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษามากกับสมาชิกในสาขาจ้วง-ต้ง สรุปได้ว่าภาษามากใกล้ชิดกับภาษาเหมาหนานมากที่สุด และใกล้ชิดกับภาษาไตน้อยที่สุด รายละเอียดเรียงลำดับใกล้-ห่าง ดังนี้ มาก – เหมาหนาน (69.11%) – สุ่ย (67.53%) – มูลัม(63.82%) –ต้ง (60.30%) – ปู้อี (52.22%) – จ้วง (50.92%) – ไต (49%)   


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.la.ubu.ac.th/2010/project/tathai2_1.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น