วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

“หมา” ในภาษาและวัฒนธรรมจีน

เมชฌ สอดส่องกฤษ(2549) “หมาในภาษาและวัฒนธรรมจีน”, วารสารศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 .


“หมา” ในภาษาและวัฒนธรรมจีน
บทคัดย่อ
ภาษาเป็นเครื่องสะท้อนวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของเจ้าของภาษา ในชนชาติต่างๆให้ความสำคัญและมองคุณค่าของวัตถุ และสิ่งมีชิวิตต่างกัน สิ่งเดียวกันชนชาติหนึ่งถือเป็นเรื่องมงคล ดีงาม แต่อีกชนชาติหนึ่งกลับถือเป็นสิ่งอัปมงคลชั่วร้าย ซึ่งการตัดสินคุณค่าของสิ่งเหล่านี้มักสะท้อนเห็นชัดเจนในภาษา สัตว์โลกไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่ามีความใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์มาโดยตลอด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงซึ่งมีความผูกพันธ์กับสังคมมนุษย์อย่างใกล้ชิดและลึกซึ้ง “หมา” ดูจะมีบทบาทต่อสังคมมนุษย์มากเป็นพิเศษ ด้วยพฤติกรรมของหมาทั้งในด้านบวก และด้านลบ ทำให้คนในสังคมมีทัศนคติ และตัดสินคุณค่าของหมาต่างๆกันไป วัฒนธรรมจีนก็เช่นเดียวกัน เดิมทีหมาถือเป็นสัตว์มงคล แต่ด้วยเหตุของกาลเวลาที่เปลี่ยนไป การผกผันของสถานการณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ทำให้ชื่อเสียงของหมาเปลี่ยนไปในทางลบ บทความนี้บรรยายถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับหมา และ สุนัข ที่ปรากฏอยู่ในคำเรียกขาน คำผรุสวาส คำเปรียบเทียบ สุภาษิตคำพังเพยในภาษาจีน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนได้เป็นอย่างดี
“Dog” in Chinese language and culture
Abstract
Language is a medium reflective of culture, ideas, beliefs and attitudes of the native speakers. However, each culture attaches importance to and values materials and living creatures in different ways. Whilst a nation deems one thing as auspicious and decent, another nation instead considers it as ominous. The way people judge things as such is always manifested in the language. Animals, both pets and wild animals, have long been intimate with human being. The dog, a pet which possesses profound and affectionate relationship with human, is particularly regarded so. “Dogs” seem to bear great significance on human society. Nevertheless, their behavior of both positive and negative sides has made people to have various attitudes and judgment on dogs’ value. The case is the same in China. Formerly, the dog was deemed as an auspicious animal. Due to the change of times and cultural situations, its value has gradually turned negative. This article explains dog-related vocabularies which appear as addressing terms, impolite locution,comparative terms and idioms in Chinese. It would be useful for the education of Chinese language and culture.

“หมา” ในภาษาและวัฒนธรรมจีน

ในบทความวิชาการหรือหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรม นัก
วิชาการในสาขาดังกล่าวส่วนใหญ่มีความเห็นไม่แตกต่างกันมากนัก บ้างกล่าวว่าภาษา
เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม บ้างกล่าวว่าภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม บ้าง
กล่าวว่าภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติเป็นต้น เหล่านี้เป็นมุมมองจากนัก
วัฒนธรรมศึกษา หากมองในทางกลับกันในมุมมองของนักภาษาศาสตร์ จะพบว่าวัฒน
ธรรมของชนชาติหนึ่งๆ แอบแฝงหรือสะท้อนอยู่ในภาษาอย่างแยกกันไม่ออก ซึ่งใน
แต่ละภาษาต่างมีทัศนคติความเชื่อต่อวัตถุ สิ่งของและ สิ่งมีชีวิตรอบข้างต่างๆกัน คำที่
บ่งชี้ในสิ่งเดียวกันในชนชาติหนึ่ง หรือในภาษาหนึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งมงคล แต่ในอีกภาษา
หนึ่งกลับถือเป็นสิ่งอัปมงคลหรือหยาบคายพึงหลีกเลี่ยง คำในความหมายเดียวกันหรือ
บ่งชี้ถึงสิ่งเดียวกัน ในภาษาหนึ่งใช้บ่งหรือแฝงความหมายในด้านบวก แต่ไม่แน่ว่าใน
ภาษาอื่นๆจะมีทัศนคติในแบบเดียวกัน บางครั้งถึงกับตรงกันข้ามกันเลยก็มี นี่ก็เป็น
เหตุผลทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นได้ทั่วไปในความหมายทางภาษา
“หมา” ในภาษาไทยหากใช้ในภาษาเขียนหรือภาษาทางราชการถือเป็นคำไม่สุภาพ จึงมีคำว่า “สุนัข” ใช้บ่งชี้สิ่งมีชีวิตเดียวกันเป็นภาษาสุภาพ แต่ “สุนัข” ก็ไม่ได้ครอบคลุม
ความหมายทั้งหมดของ “หมา” เนื่องจากคนในสังคมมีทัศนคติและตัดสินคุณค่าของ “หมา” กับสุนัขต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะช่วงชีวิตความหมายของ หมา อยู่กับคน
ในสังคมมายาวนานกว่าช่วงชีวิตความหมายของสุนัข พฤติกรรมและชีวิตของหมาจึงถูก
นำมาเปรียบเทียบใช้ในภาษามากกว่าและมีวงความหมายกว้างกว่า เช่น หมาหมู่
หมาลอบกัด หมาหวงก้าง กัดกันยังกับหมา เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้ก็ไม่สามารถแทน
ด้วย สุนัขหมู่ สุนัขลอบกัด สุนัขหวงก้าง กัดกันยังกับสุนัขได้ คำผรุสวาสจำพวก ไอ้ลูก
หมา ชาติหมา หมาไม่แดก หากใช้แทนด้วย สุนัข ความรุนแรงของอารมณ์และความ
หมายกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ในทางกลับกัน การเลี้ยงสุนัข ร้านขายสุนัข สุนัขจรจัด สุนัขขี้เรื้อน หากใช้ หมา แทนที่ ความหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด เพียงแต่ปริมาณความสุภาพแตกต่างกันเท่านั้น หลังจากมีคำว่า สุนัข มาแทนที่คำว่า หมา เพื่อใช้เป็นภาษาสุภาพแล้ว ในระยะหลังจึงเกิดคำใหม่หลายๆคำที่ประกอบขึ้นจาก
คำว่าสุนัข เช่น สุนัขรับใช้ สุนัขแมนจู (พบใช้บ่อยในการแปลละครโทรทัศน์จีน) สุนัขเดินตาม แต่กระนั้นก็ตามคำว่าสุนัขก็ยังคงทัศนคติของคนที่มีต่อหมาที่แฝงความเหยียดหยามและเกลียดชัง อันเป็นผลกระทบมาจากความหมายแฝงของคำว่า“หมา” นั่นเอง
ในภาษาจีน มีคำเรียกสุนัขที่เป็นภาษาพูด และภาษาเขียนเช่นเดียวกันกับภาษา
ไทย คือ 狗 [gou3] ใช้ในภาษาพูด อาจเทียบได้กับคำว่า “หมา” และ犬 [quan3] ใช้ภาษาหนังสือและภาษาสุภาพ อาจเทียบได้กับคำว่า “สุนัข” ในภาษาไทย วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน “หมา” มิใช่ถือเป็นสัตว์อัปมงคลหรือถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างเช่นปัจจุบันแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับถือเป็นสัตว์มงคลด้วยซ้ำ เช่น จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานที่แสดงว่าในสมัยฮั่นใช้หมาเป็นสัตว์มงคลในพิธีศพเพื่อให้เป็นเพื่อนร่วมทางกับผู้ตายไปสู่สุขคติ ในแผนภูมิปากว้า หรือแผนภูมิแปดทิศ กล่าวว่า น้ำ ความราบรื่น ความสะดวก ศีลธรรม คือหมา คือความสุข คือความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ในที่นี้ใช้คำว่า “หมา” ในอรรถลักษณ์ความดี ความเป็นมงคล ในพงศาวดาร <ฟงสูทงอี้> ก็มีการบันทึกถึงหมาว่า เป็นสัตว์ที่คอยให้ความอารักขาแก่เจ้าของด้วยความซื่อสัตย์ ใน 12 ปีนักษัตรซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลของผู้เกิดในปีนั้นก็มีปีหมา ในการนับปฏิทินของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน มีเดือนหมา ซึ่งถือเป็นเดือนมงคล เหมือนกับเดือนที่มีสัตว์มงคลอื่นๆเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน ในบทเพลงพื้นเมืองโบราณของชนชาติแม้วซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในจีนก็มีกล่าวถึงหมาว่าเป็นสัตว์ที่มีมาพร้อมกับการกำเนิดโลก นอกจาก
นี้สัตว์ศักดิ์สิทธิ็์ในเทพนิยายจีนชื่อ ฉีหลิน หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ กิเลน ตามตำนานกล่าวว่า มีตัวเป็นสุนัข หางเหมือนโค หัวเป็นมังกร ตีนมีกีบเหมือนม้า ก็เ็ป็นข้อยืนยันได้ว่าในอดีตหมาไม่ได้เป็นสัตว์อัปมงคล หรือถูกดูหมิ่นดูแคลนอย่างปัจจุบันแต่อย่างใด แต่เนื่องจากระยะเวลา สถานการณ์สำคัญ อุปนิสัยส่วนตัวของสัตว์ วัฒนธรรมความคิดของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดจุดผกผันของความหมายในภาษา ดังเช่น ตำนานฉางเอ๋อ หรือ เทพธิดาพระจันทร์ก็เช่นกัน เดิมทีถือเป็นสัญลักษณ์ของความงดงาม ใช้เปรียบเทียบกับหญิงที่งามดุจเทพธิดา แต่ด้วยวัฒนธรรมที่เหยียดหยามสตรีเพศ และระยะเวลาที่เปลี่ยนไป เทพธิดาพระจันทร์ได้เปลี่ยนความหมายไปในทางลบ คือหมายถึงหญิงที่ออกหาคู่ในเวลากลางคืน ซึ่งหมายถึงหญิงโสเภณีนั่นเอง
ในยุคล่าอาณานิคมคุณค่าของ “หมา” ในภาษาจีน เปลี่ยนไปในทางลบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในยุคนั้นมีข้อกีดกันพวกนอกอาณานิคมว่า “คนจีนและหมาไม่ให้เข้าสู่อานานิคม” ความโกรธแค้นรุนแรงของคนจีนที่ถูกเปรียบเทียบกับหมา ส่งผลต่อทัศนคติที่เหยียดหยามหมา และผกผันความหมายของหมา มาใช้เรียกพวกคนจีนที่รับใช้พวกฝรั่งที่ล่าเมืองขึ้นนั้น อย่างดูถูกเหยียดหยาม เช่น หมาขายชาติ สุนัขเดินตาม สุนัขรับใช้ ต่อมาคำว่าหมาก็ปรากฎให้เห็นทั่วไปในคำเรียกขาน คำเปรียบเทียบ คำด่า สุภาษิต
คำพังเพย แม้บางคำในปัจจุบันไม่พบใช้แล้ว แต่จากเอกสารทางภาษา เช่น บันทึก
พงศาวดาร เพลง กลอน บทประพันธ์ ในอดีต สามารถชี้ร่องรอยทัศนคติของคนจีนที่มีต่อ
“หมา” ได้อย่างชัดเจนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้

狗 [gou3] “หมา” ใช้เปรียบเทียบหรือเรียกคนเลว เช่น กลอน <ซื่อห่าวเผิงจวี่> ของ เฉินอี้ ในสมัยฮั่น กล่าวว่า “ไม่มีงางอกออกมาจากปากหมา เหมือนหมาที่อาศัย
บารมีเจ้าของ” นอกจากนี้ ยังใช้เป็นคำด่าแสดงความดูถูกเหยียดหยาม เช่น บทประพันธ์ ของ เทียนเป่ากงเหริน เรื่อง <เนี่ยไห่ฮวา> ฉากที่สิบ ในสมัยชิง มีคำพูดตอนหนึ่งว่า “เรียกไอ้ทูตหมาตัวนั้นออกมาหน่อย นางมีอะไรจะถามมัน”
狗辈 [gou3 bei4] “ชาติหมา” ใช้เป็นคำด่าที่หยาบคายแสดงความดูถูกเหยียด
หยามเกลียดชังอย่างรุนแรง เช่น พงศาวสามก๊ก ตอน หยวนส่างจ้วน ตอนหนึ่งพูดว่า “ไอ้ชาติหมา พวกแกทำลายเมืองจี้โจวของข้า จะต้องฆ่าแกทิ้งให้ได้”
狗蹦子 [gou3 beng4 zi] “หมาเขย่ง” ใช้เปรียบเทียบคนที่ดื้อร้ั้น กลิ้งกลอก ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เช่น บทประพันธ์ <ฟงเป้าโจ้วยวี๋> ของ โจวลี่โป ตอนที่เก้า มีตอนหนึ่งว่า : “ไอ้หมาเขย่งตัวหนึ่งพูดขึ้นมาว่า เฮ้ย พวกเราใครกลัวเมียมั่ง? ”
狗才 หรือ 狗材 [gou3 cai2] “หมาฉลาด” ใช้เป็นคำด่าเปรียบเทียบคนที่เลว
ทรามต่ำช้า เช่น บทประพันธ์ <ตงถังหล่าว> ของ ฉินเจี่ยนฟู ในสมัยหยวน ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งพูดว่า “ท่านรออยู่ที่ถ้ำนี้ก่อน วันนี้ข้าจะไปตามหาไอ้หมาฉลาดตัวนั้น”
狗吃屎 [gou3 chi1 shi3] “หมากินขี้” พจนานุกรมจีนไทย (เธียรชัย:2537) อธิบายว่าหกคะเมน ใช้ในความหมายลักษณะเหยียดหยาม
狗党狐朋 [gou3 dang3 hu2 peng2] “พรรคหมาพวกจิ้งจอก” ใช้เปรียบเทียบ
กลุ่มคนอันธพาล เช่น บทประพันธ์ในสมัยหยวน ของเฉียวเจี๋ย เรื่อง <จินเฉียนจี้> ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “ถึงข้าจะเป็นนักอักษรกลอนสุรา ก็มีพิษสงร้ายหาแพ้
พวกพรรคหมาพวกจิ้งจอกนั่นไม่ ”
狗党狐群 [gou3 dang3 hu2 qun2] บ้างก็เรียกว่า狐群狗党 [hu2 qun2 gou3 dang3] “พรรคหมา จิ้งจอกหมู่ ” เช่น บทประพันธ์ของ เฉินอี้ เรื่อง<ตู้หวงเหอจั้วเกอ> ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ไอ้โจรขายชาติถูกตัดหัว ไอ้พวกพรรคหมา จิ้งจอกหมู่ก็ไร้ที่พึ่ง”
狗盗 [gou3 dao4] หรือ 狗窃 [gou3 qie4] หรือ 狗偷 [gou3 tou1] “หมาขโมย” คำนี้บางครั้งใช้ เปรียบเทียบคนที่ลักเล็กขโมยน้อยเหมือนกับหมาโขมย คล้ายกับในภาษาไทยใช้ว่าแมวขโมย เช่น บทประพันธ์ <ลุ่นเหิง.ลุ่นสื่อ> ของ หวังชง ในสมัยฮั่น ตอนหนึ่งกล่าวว่า“มีคนสวมขนหมาปลอมเป็นหมาโขมย ไม่มีใครรู้ หมาปลอม
สวมขนหมา ก็เลยไม่มีใครสงสัย ”
狗盗鼠窃 [gou3 dao4 shu3 qie4] “หมาลักหนูขโมย” เปรียบเทียบกับพวก
ลักเล็กขโมยน้อย และหมายรวมถึงพวกทรยศกบฎที่ทำการใหญ่โตอะไรไม่ได้ เช่น พงศาวดารฮั่น <ฮั่นจี้ . ฮุ่ยตี้จี้> ตอนหนึ่งกล่าวว่า “วันนี้และวันหน้้าบัญชาอยู่เบื้องบน บัญญัติใดๆ ก็ไร้ผล จะไม่ให้มีโจรได้อย่างไร มันก็เป็นได้เพียงหมาลักหนูโขมยเท่านั้น
เอง”
狗弟子孩儿 [gou3 di4 zi3 hai’ r2] ตั้งแต่สมัยซ่งเป็นต้นมา คนจีนใช้คำว่า 弟子[di4 zi3] ซึ่งความหมายเดิมหมายถึง “นักเรียน,ลูกศิษย์” มาใช้เรียกหญิงโสเภณี คำว่า [hai’ r2] หมายถึง ลูก 弟子孩儿 [di4 zi3 hai’ r2] ก็หมายถึงลูกหญิงโสเภณี เติมคำว่า [gou3] “หมา” เข้าไปยิ่งเพิ่มความดูถูกเหยียดหยาม ด่าทออย่างรุนแรง เช่น บทประพันธ์ <ฉีลู่เติง> ตอนที่36 มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “ไอ้คนพาลพะโลพวกนี้เป็นไอ้พวกหมาลูก
โสเภณี” คำนี้บางครั้งก็ใช้ว่า狗弟子 [gou3 di4 zi3]
狗东西 [gou3 dong1 xi] คำว่า 东西 [dong1 xi] หมายถึงสิ่งของ นอกจากนี้
ยังหมายถึงสัตว์ต่างๆก็ได้ แต่หากใช้คำว่า东西 [dong1 xi] กับคนจะแสดงอารมณ์
เกลียดชังเปรียบดังว่าไม่มีคุณค่าใดๆเลยแม้้สิ่งของก็ไม่ปาน เติม狗 [gou3] “หมา” เข้าไปก็ยิ่งเพิ่มความดูถูกเหยียดหยามมากขึ้นและใช้เป็นคำด่าทอ เช่นบทประพันธ์ของ หลิวฉี ชื่อ <ห่าวเหนียนเซิ่งจิ่ง> ตอนหนึ่งพูดว่า “เลวระยำหมาจริงๆ แค่เห็นหน้ามัน
ฉันก็เกลียดเข้ากระดูดดำแล้ว”
狗骨头 [gou3 gu3 tou2] “กระดูกหมา” ใช้เปรียบเทียบว่าต่ำต้อยราวกับกระดูกหมา เช่นบทประพันธ์ของ หยวนหมิงซื่อ ในสมัยหยวน ชื่อ <เจิงเป้าเอิน> ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “สันดานหมาหน้าไม่อาย แน่ใจว่านี่เป็นลูกชายลูกสาวแกเหรอ?”
狗刮头 [gou3 gua1 tou2] “หมาโกนหัว หรือ หมาหัวโล้น” ใช้เป็นคำด่า
มีความหมายเหมือนกับสองคำบน เช่น บทประพันธ์ของ หยวนมิงซื่อ ในสมัยหยวน ชื่อ<เสี่ยวเวยฉือ>ตอนที่สาม มีตอนหนึ่งใช้คำนี้กล่าวว่า “ได้ยินว่าหลิวหลี่เจินไอ้หมา
หัวโล้นตัวนั้นจะส่งสารสงครามมา ข้าโกรธจนกินเนื้อกินเหล้าไม่ลง”
狗官 [gou3 guan1] “ข้าราชการหมา” เป็นคำเรียกข้าราชการชั่วช้าที่ทรยศกบฎ
ต่อบ้านเมือง เช่นบทประพันธ์ของ หงเซิน <จ้าวเยี่ยนหวาง> ฉากที่หก ใช้คำนี้ว่า “ไอ้ข้าราชการหมาฟังให้ดี ยุคนี้เป็นยุคหมินกว๋อ มีขื่อมีแป แกยังจะยังให้ร้ายปรักปรำ
ข้าอีกมั้ย? ”
狗急跳墙 [gou3 ji2 tiao4 qiang2] “หมาจนตรอกกระโดดกำแพง” คำนี้คล้ายกับ
ความหมายในภาษาไทยว่า หมาจนตรอกที่เมื่อถึงทางตันก็ต่อสู้สุดชีวิต
狗监 [gou3 jian4] “ขุนนางหมา” ในสมัยฮั่นใช้เรียกขุนนางที่รับผิดชอบดูแลหมา
ล่าสัตว์ของฮ่องเต้ ในพงศาวดารบันทึกประวัติศาสตร์ <สื่อจี้> มีตอนหนึ่งกล่าวถึงคำนี้ว่า “ชาวหมิ่นชื่อหยางเต๋ออี้เป็นขุนนางหมา รับใช้เบื้องบน” หยางเต๋ออี้เป็นคนชี้แนะให้ฮ่อง
เต้์รู้จักกับซือหม่า จากนั้นด้วยพฤติกรรมของหยางเต๋ออีี้ที่คอยกราบทูลชี้นำยุยงฮ่องเต้
นี้เองจึงนำมาใช้เปรียบเทียบกับคนที่ชอบชี้แนะ ยุยงส่งเสริมผู้อื่นในทางชั่วร้าย เช่น กลอนในสมัยถัง ของ หลิวยวี๋ซี <โฉวเซวียนโจวชุยไต้ฝูเจีนนฉี> บทหนึ่งว่า “เยือนหอมังกรเรียกฉีหลี่ ว่าตามที่ขุนนางหมาเคยชี้แนะ”
狗脚朕 [gou3 jiao3 zhen4] “กษัตริย์ขาหมา” บางครั้งก็เรียกว่า 狗脚 [gou3 jiao3] “ขาหมา” ในสมัยเป่ยเว่ย เกาเติ้งเคยด่าเสี้ยวจิ้งฮ่องเต้ว่า [gou3 jiao3 zhen4] จากนั้นมาจึงใช้คำนี้เรียกกษัติย์์ที่เป็นเพียงหุ่นเชิดของขุนนางที่มีอำนาจ
狗拿耗子 [gou3 na2 hao4 zi] “หมาจับหนู” ปกติหน้าที่จับหนูเป็นหน้าที่ของแมว ถ้าหมาจับหนูดูจะเป็นการทำงานนอกเหนือหน้าที่ของตน ใช้เป็นคำพังเพยเปรียบเทียบ
กับคนที่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น แส่ไม่เข้าเรื่อง
狗男女 [gou3 nan2 nv3] “หมาชายหญิง” คำด่าความหมายคล้ายกับ狗东西[gou3 dong1 xi1] หมายถึงว่าไม่ว่าจะเป็นอ้ายอีตัวไหน ก็เป็นเยี่ยงหมาทั้งนั้น เช่น
บทประพันธ์เรื่อง <ลวี่เหย่เซียนจง> ตอนที่26 มีตอนหนึ่งใช้คำนี้กล่าวว่า “องค์ชาย
อย่าเสียใจไปเลย รอข้าไปถึงก่อน ไอ้หมาชายหญิงพวกนั้นค่อยจัดการกับมัน”
狗娘养的 [gou3 niang2 yang3 de] “หมาติดแม่,หมาลูกแหง่” เป็นคำด่า ใช้กับคนขี้ขลาดตาขาว อ่อนแอ เช่น บทประพันธ์ <ฉีกงเฉวียนจ้วน> ตอนที่171 มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เราสามคนไปบ้านหวังเซิ่งเซียนด้วยกัน ลากคอไอ้หมาติดแม่มาฆ่า
ทิ้งซะแล้วชิงเอานางโจวมา”
狗尿苔 [gou3 niao4 tai2] “เห็ดเยี่ยวหมา” เห็ดชนิดนี้ตามผิวมีเมือกเหนียวและ
มีกลิ่นเหม็น ด้วยกลิ่นของเห็ดชนิดนี้จึงเรียกชื่อ เห็ดเยี่ยวหมา เหมือนกับที่ในภาษาไทย
เรียกพืชชนิดหนึ่งว่า “ใบตดหมา” เพราะกลิ่นเหม็นของมัน
狗奴 [gou3 nu2] “หมาทาส” คำนี้เป็นคำที่ทาสในสมัยก่อนใช้เรียกตัวเองเพื่อ
แสดงความต่ำต้อย และใช้เป็นคำด่าบ่งถึงความเหยียดหยามเสียยิ่งกว่าทาส เช่น บทประพันธ์ของ หลี่จื้อ ในสมัยหมิง ชื่อ <สื่อกังผิงเย่า.ซ่งจี้.เสินจง> ทาสพูดกับ
นายทาสว่า “หมาทาสควรตาย” นายทาสพูดถึงทาสด้วยอารมณ์โกรธแค้นว่า “ไอ้หมา
ทาสตัวนี้ ช่างโอหังนัก” คำว่า 奴 [nu2] และ 奴才[nu2 cai3] หมายถึงทาสหรือ
ข้ารับใช้ บางครั้งคำนี้ก็ใช้ว่า 狗奴才 [gou3 nu2 cai3] เช่น บทประพันธ์ของ เหมาตุ้น <จื่อเย่> ตอนที่สี่ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ไอ้หมาทาส แกก็ไม่ใช่คนดีมาแต่ไหน” ในบทละครโทรทัศน์จีนโบราณที่แปลเป็นภาษาไทยมักแปลคำนี้ว่า “ข้าน้อย” ในบท
ดั้งเดิมข้าราชบริพารเมื่อกระทำความผิดจะหมอบลงกับพื้นแล้วพูดว่า 奴才该死[nu2 cai3 gai1 si3] ซึ่่งก็คือคำว่า “ข้าทาสสมควรตาย” นั่นเอง
狗屁 [gou3 pi4] “ตดหมา” ใช้เปรียบเทียบกับคำพูดที่ไร้สาระเชื่อถือ เอาความ
อะไรไม่ได้ ในการสนทนาที่ตำหนิหรือด่าว่าฝ่ายตรงข้ามว่าพูดจาไร้สาระจะใช้ว่า 放屁 [fang4 pi4] “ปล่อยตด” เปรียบกับสิ่งที่พูดออกมาไม่มีประโยชน์อันใดเหมือนกับตด เติมคำว่า “หมา”เข้าไปยิ่งเสริมความหมายหนักแน่ว่าเป็นคำพูดที่ไร้สาระอย่างที่สุดเยี่ยง
ตดหมา
狗屎堆 [gou3 shi4 dui1] “กองขี้หมา” เปรียบกับคนที่ถูกทอดทิ้ง ทิ้งขว้าง ไร้คนเหลียวแล เช่น บทประพันธ์ของ เหมาเจ๋อตง ชื่อ <ระบอบการปกครองแบบประชา ธิปไตยใหม่> ตอนหนึ่งกล่าวว่า “พวกหัวอนุรักษ์นิยม ความจริงแล้วคือพวกอนุรักษ์แต่ไม่
นิยม อนุรักษ์จนกระทั่ง เปลี่ยนไปเป็นกองขี้หมาของประชาชน ”
狗鼠 [gou3 shu3] “หมา,หนู” เปรียบกับคนไม่มีคุณธรรม เลวทรามต่ำช้า เช่น พงศาวดารของ อิงเส้า ในสมัยฮั่น ชื่อ <เฟิงสูทง> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เปรียบดัง
คนตายไปแล้ว มีใครด่าว่าเป็นคนเลวไร้คุณธรรม(หมาหนู) ก็ไม่รู้ความ”
狗头 [gou3 tou2] “ไอ้หัวหมา” คำนี้มีสองความหมายคือ ความหมายในทางดี และ
ความหมายในทางร้าย ความหมายในทางดีก็คือผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กแสดงความน่ารักเอ็นดู
เช่น บทประพันธ์ ชื่อ <ฉีลู่เติง> ตอนหนึ่ง ใช้คำนี้เรียกเด็กคนหนึ่ง ความว่า : ฮุ่ยกวาน
หมิน มองด้วยความเอ็นดู พร้อมกับรอยยิ้ม แล้วถามว่า “ไอ้หมาน้อย ชื่ออะไรเหรอเราน่ะ” ส่วนความหมายในทางร้ายก็คือใช้เป็นคำด่าแสดงถึงการกดขี่ข่มเหงเหยียดหยามและ
เกลียดชังอย่างรุนแรง เช่นบทประพันธ์ของ หร่วนเฉิง ในสมัยหมิง ชื่อ <เยี่ยนจื่อเจียน. ฮงเป้า> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ฉันด่ามันแค่สองสามคำ ไอ้หัวหมานั่นก็รุมตีฉันซะน่วม
เลย”
狗头军师 [gou3 tou2 jun1 shi1] “กุนซือหัวหมา” ใช้เรียกคนที่คอยให้ท้าย ออกความคิดเห็นที่เลวร้ายให้กับคนอื่น เช่นบทประพันธ์ของ หงเซิน ชื่อ <เซียงเต้าหมี่> ฉากที่สาม มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “คนต่างชาติจะมาบ้านนอกร่วมมือกับเราด้วยตัวเอง
เลยเชียวหรือถ้าไม่ใช่เพราะไอ้พวกกุนซือหัวหมาคอยแนะนำยุแหย่อยู่เบื้องหลัง”
狗秃儿 [gou3 tu1 er2] “ไอ้หมาหัวทู่” ใช้เรียกคนหรือตำหนิอย่างดูถูก และระอา เช่น บทประพันธ์ <จินผิงเหมย> ตอนที่16 มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ถ้าแกไม่พูด ผ่านไปอีกร้อย
ปีก็ยังไม่บอกพ่อแก ข้าจะแต่งเมียแทนแกซะ ไอ้หมาหัวทู่”
狗腿 [gou3 tui3] หรือ狗腿子 [gou3 tui3 zi] “ขาหมา” หรือ 狗爪子 [gou3 zhua3 zi] “มือหมา,กรงเล็บหมา”คำนี้ภาพยนตร์โทรทัศน์จีนโบราณแปลเป็นภาษาไทย
ว่า “สุนัขรับใช้” ดังมักจะจะได้ยินบ่อยๆว่า “สุนัขรับใช้แมนจู” เป็นต้น เปรียบกับคนที่
ยอมก้มหัวเป็นทาสรับใช้คนเลว เปรียบเสมือนเป็นมือเป็นเท้าของหมา
狗腿差 [gou3 tui3 chai1] คำนี้ในสมัยโบราณใช้เรียกพวกนักการในศาลาว่าการ
ที่คอยทำตัวอวดเบ่งที่ประตูศาล ทำทีว่าตนมีอำนาจ แท้ที่จริงก็เป็นเพียงนักการ แต่ผู้คน
ก็ต้องทำทีเคารพนบนอบเพื่อจะได้เข้าไปในศาลได้สะดวก เช่นในบทประพันธ์ <หรูหลินหว้ายสื่อ> ตอนที่ห้าสิบ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เพื่อไปบรรณาการ ลากใคร
ต่อใครไปคารวะ มอบของกำนัล แต่ไอ้หมาหน้าศาล ก็ไม่ได้บอกข่าวคราวอะไรเลย”
狗屠 [gou3 tu2] “เพชฆาตฆ่าหมา” คำนี้เดิมใช้เรียกคนที่ฆ่าหมาขายเนื้อหมา และด้วยความโหดเหี้ยมอำมหิตนี้เอง จึงใช้คำนี้เรียกคนที่ประกอบอาชีพที่เลวทรามต่ำช้า เช่น บทบันทึก <จ้านกว๋อเช่อ.หันตี้เอ้อร์> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ข้ามีแม่ที่แก่เฒ่า บ้าน
เล่าก็ยากจนค่นแค้นแสนเข็ญ นักท่องยุทธภพต่างแดนคิดว่าข้าเป็น เพชฆาตฆ่าหมา
แต่รุ่งอรุณสนธยามีแต่ข้าต้องหาเลี้ยงครอบครัว”
狗油东西 [gou3 you2 dong1 xi] เป็นคำด่า เปรียบกับคนที่ทำตัวเป็นเพื่อนกิน แต่ไม่ทำ ประโยชน์อันใด เอ้อระเหยลอยชายไปวันๆ เช่นบทประพันธ์ของ เกาเหวินซิ่ว ในสมัยถัง ชื่อ <ยวี่ซ่างหวาง> ตอนที่หนึ่ง มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ไอ้เพื่อนตัวดีทั้งหลาย
ก็ล้วนแต่เป็นพวกสันดานหมา ไม่เอาไหนซักตัว”
狗尾草 [gou3 wei3 cao3] ชื่อหญ้าชนิดหนึ่งชื่อ “หญ้าหางหมา” ใช้ทำอาหารสัตว์
狗尾续貂 [gou3 wei3 xu4 diao1] “หางหมาแซมขนหมี” ในสมัยก่อนหมวกของ
พวกขุนนางจะประดับประดาด้วยขนหมีซึ่งถือเป็นขนสัตว์มีค่า ต่อมาขนหมีชนิดนี้หายาก
จึงใช้ขนหางหมามาแซมแทน ต่อมาจึงใช้เป็นคำพังเพยเปรียบกับการเอาของที่ไม่ดีมาแซมเข้ากับของดี ทำให้ยากที่จะตัดสินว่าของสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี
狗需喷头 [gou3 xue4 pen1 tou2] “หมาพ่นเลือด” คำพังเพยหมายถึงการด่า
อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ดุดัน ด่าอย่างถึงใจพระเดชพระคุณ
狗熊 [gou3 xiong2] “หมีหมา,หมีดำ” คำนี้ในปัจจุบันใช้เรียกชื่อหมีชนิดหนึ่ง แต่ในสมัยก่อนใช้เป็นคำล้อเลียนกับคำว่า 英雄 [ying1 xiong2] ซึ่งหมายถึงนักรบผู้ยิ่งใหญ่, ผู้พิชิต เพราะเสียงที่พ้องกันของคำว่า [xiong2] แต่คำนี้ตัวหนังสือเป็น
คนละตัวกัน ใช้ในความหมายว่าขี้ขลาดตาขาว เช่น บทประพันธ์ของ หลี่ฉุนเป่า ชื่อ <เกาซานเซี่ยเตอฮวาเปย> ตอนที่ห้า มีตอนหนึ่งใช้สองคำนี้ในทำนองล้อเลียนและ
เย้ยหยันว่า “ไม่ว่าจะเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ [ying1 xiong2] หรือจะเป็น หมีหมาขี้ขลาด [gou3 xiong2] ก็ไปเจอกันในยุทธภูมิ”
狗咬狗 [gou3 yao3 gou3] “หมากัดหมา” เปรียบกับคนเลวแตกคอกันทำร้าย
กันเอง
狗崽子[gou3 zai3 zi] “ไอ้ลูกหมา,ไอัสัตว์หมา” ใช้เป็นคำด่า เช่น บทประพันธ์ของ หลาวเส่อ <กู่ซูอี้เหริน> ตอนที่สิบแปด มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “เขายิ่งคิดก็ยิ่งแค้น อกแทบระเบิดออกมา ไอ้ลูกหมานังโสเภณีเลี้ยงตัวนี้ ถ้าจับตัวมันได้ จะกระทืบให้ไส้
ทะลักเลยเชียว” นอกจากนี้ในช่วงปฎิวัติการปกครองใช้คำนี้เรียกลูกของพวกเจ้าของ
ที่ดิน พวกคนรำ่รวย พวกต่อต้านการปกครอง พวกพรรคฝ่ายขวา เช่นบทประพันธ์ของ จางเสียนเลิี่ยง <หนานเหรินเตอเฟิงเก๋อ> บทที่สิบสี่ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “ฉันเป็นลูก
สัตว์หมา พ่อแม่ถูกฆ่าตายหมดแล้ว”
狗贼[gou3 zei2] “โจรหมา” ใช้เป็นคำเรียกข้าศึกศัตรูอย่างเกลียดชัง เช่น บทประพันธ์ของซือหม่ากวาง ในสมัยซ่ง ชื่อ <ซู่สุ่ยจี้เหวิน> ฉบับที่สิบเอ็ด มีตอนหนึ่ง หลี่ถังอิง พูดกับข้าศึกว่า “ไอ้โจรหมา เจ้าไม่สยบ ข้าจะยอมแพ้ได้อย่างไร?”
狗仗人势 [gou3 zhang4 ren2 shi4] “หมาอาศัยบารมีเจ้าของ” คำพังเพย
ใช้เปรียบกับคนที่อาศัยอำนาจบารมีเจ้านายผู้มีอิทธิพลข่มเหงรังแกผู้อื่น
狗子 [gou3 zi3] “ไอ้ลูกหมา” ใช้เป็นคำด่าหมายถึงคนเลว สมคบคิดกันกระทำ
ความชั่วเช่น บทประพันธ์ของ เฟิ๋งเมิ่งหลง ในสมัยหมิง ชื่อ <กู่จินถานก้าย.ฉูเหนียง> มีตอนหนึ่งใช้คำนี้ว่า “แก ไอ้ชาติหมา สันดานหมาจริงๆ” และอีกตอนหนึ่งว่า “ไอ้หมา
ขาวตัวนั้น เกิดมาเป็นชาติหมาจริงๆ”
疯狗 [feng1 gou3] “หมาบ้า” เปรียบกับคนพาลที่ทำร้าย ด่าว่าคนอื่นไปทั่ว
落水狗 [luo4 shui3 gou3] “หมาตกน้ำ” เปรียบกับคนเลวที่หมดสภาพ ไร้อำนาจ มักถูกผู้อื่นรุมทำร้าย รังแก หรือแก้แค้น

ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า “หมา” แทบไม่มีสถานภาพใดๆ ในสังคมเลย ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการยกย่อง แต่กลับถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม อย่างไร้ความดี เห็นจะมี
คำที่ใช้ในทางดีบ้างเพียงเล็กน้อย คือ คำว่า 狗头 [gou3 tou2] “ไอ้หัวหมา” ที่เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กเพื่อแสดงความน่ารักน่าเอ็นดู คล้ายกับในภาษาไทยที่ผู้ใหญ่
มักใช้เป็นคำเรียกเด็กว่า “ไอ้หมาน้อย หรือ ไอ้ลูกหมา” แต่กระนั้นก็ตามก็เป็นคำที่ผู้ใหญ่
ใช้ ซึ่งแฝงนัยของความมีอำนาจ เหนือกว่าผู้ฟังอยู่นั่นเอง
คำที่หมายถึง “หมา” ที่ใช้ในภาษาหนังสือ และใช้เป็นภาษาสุภาพในภาษาจีนคือ 犬 [quan3] อาจเทียบได้กับภาษาไทยคือคำว่า “สุนัข” ด้วยความที่ใช้เป็นภาษาสุภาพ จึงไม่ค่อยนำไปใช้เป็นคำด่า หรือคำเปรียบเทียบในความหมายเหยียดหยามรุนแรงเท่ากับคำว่าหมา แต่จะใช้ในความหมายเป็นกลางที่หมายถึงสุนัขทั่วไป เช่น 警犬[jing3 quan3] “สุนัขตำรวจ” 牧犬 [mu4 quan3] “สุนัขเลี้ยงสัตว์” 猎犬 [lie4 quan3] “สุนัขล่าสัตว์ ” 军犬 [jun1 quan3] “สุนัขทหาร” เป็นต้น แต่กระนั้นก็ตามคำว่า [quan3] “สุนัข” นี้ ก็ไม่ได้ละทิ้งความหมายแฝงของความเป็น “หมา” ไปอย่างสิ้นเชิง
เลยเสียทีเดียว
จากบันทึกพงศาวดารต่างๆก็พบคำว่า 犬 [quan3] “สุนัข” ในความหมายด้านลบอยู่ไม่น้อย ดังจะกล่าวต่อไปนี้

犬 [quan3] “สุนัข” สมัยก่อนใช้เป็นคำเรียกขานบุรุษที่สาม เรียกลูกของตน
เพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น 小犬 [xiao3 quan3] “เจ้าหมาน้อย” 犬子 [quan3 zi] “เจ้าลูกหมา”
犬儿 [quan3 er2] “ลูกสุนัข” สมัยก่อนเป็นคำที่ใช้เรียกทาส เช่น บทประพันธ์
ในสมัยหมิง ของหวางเหิง <ยวี่หลุนผาว> ตอนที่สี่ มีตอนหนึ่งใช้คำนี้กล่าวถึงทาสว่า “ปัญญาชนที่ตำหนักองค์หญิงเก้า น้อมเป็นทาสที่จงรักภัคดีด้วยใจจริง”
犬吠之盗 [quan3 fei4 zhi1 dao4] “จอมโจรหมาหอน” ในบันทึกประวัติศาสตร์ <สื่อจี้> ใช้เรียกพวกโจรที่ออกปล้นตอนกลางคืนมักทำเสียงหมาเห่าหอนอำพรางตัวเอง ต่อมาจึงใช้เป็นคำเรียกพวกโจรที่ออกปล้นตอนกลางคืน
犬妇 [quan3 fu4] “สะใภ้สุนัข” เช่นบทประพันธ์ <หงโหลวม่ง> ใช้เป็นคำเรียก
ขานบุรุษที่สามเรียกสะใภ้ เพื่อแสดงความถ่อมตัว
犬马[quan3 ma3] “ม้าสุนัข” ในสมัยชิง ใช้เป็นคำเปรียบเทียบกับคนที่คอย
ขับไล่ไสส่งผู้อื่นให้หนีไป
犬戎 [quan3 rong2] ในสมัยถังใช้เป็นคำเรียกชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ยังใช้เป็นคำ
เรียกคนต่างชาติต่างเผ่าที่เข้ามารุกรานอย่างโกรธแค้นและเกลียดชัง
犬儒 [quan3 ru2] “ลัทธิสุนัข” ใช้เรียกกลุ่มลัทธิ นิกาย หรือสำนักที่มีความคิด
อิสระ ไม่สนใจใยดี ไม่ยี่หระต่อความคิดเห็นต่อกฎเกณฑ์หรือข่้อกำหนดทางวัฒนธรรม ประเพณีของสังคมและโลกภายนอก ต่อมาจึงนำมาเปรียบเทียบใช้เรียกบุคคลประเภทนี้
犬豕 [quan3 shi3] “สุนัขและหมู” ในวัฒนธรรมจีนสุนัขเป็นสัญลักษณ์ของ
ความเลวและต่ำทราม หมูเป็นสัญลักษณ์ของความโง่สกปรกและขี้เกียจ เช่นในสมัยถัง ใช้คำว่า “สุนัขและหมู” เป็นคำด่าว่าเลวทรามต่าช้ายิ่งกว่าสุนัขและหมูเสียอีก
犬羊 [quan3 yang2] “สุนัขและแกะ” ในสมัยฮั่นใช้เรียกศัตรูคู่อริอย่างเหยียด
หยาม
犬彘 [quan3 zhi4] “สุนัขและหมู” เช่นพงศาวดารสมัยถัง ใช้เป็นคำเปรียบเทียบเรียกคนเลวทราม ต่ำช้า
犬子 [quan3 zi3] “ลูกสุนัข” เช่นพงศาวดารในสมัยซ่ง ใช้เป็นคำเรียกลูกของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตน ตรงกันข้ามหากใช้เรียกลูกของคนอื่นกลับแสดงความดูถูกเหยียดหยาม

คำจำพวกสุภาษิต คำพังเพย คำล้อเลียน ประชดประชัน ที่ใช้หมาเป็นอรรถลักษณ์ความเลว หรือความเหยียดหยาม โดยใช้พฤติกรรมของหมามาเปรียบเทียบเพื่อแฝงหรือชี้ความหมายอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ปรากฎให้เห็นหลากหลายและใช้ทั่วไปในภาษาเช่น
เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น
“หมากัดกัน” บ่งความหมายหมายถึง “แย่งขี้กันกิน” ใช้เปรียบกับคนที่ทะเลาะแย่งชิงในสิ่งที่ไม่คุณค่าหรือประโยชน์อันใด
“หมาใส่หมวก” แฝงความหมายว่า “แกล้งทำเป็นคนดี” ใช้เปรียบกับคนเลวที่เสแสร้งแกล้งทำเป็นคนดีหลอกลงผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตน
“หมารอกระดูก” เลียนแบบพฤติกรรมของหมาที่ “รอคอยกระดูกด้วยความรีบร้อนกระวนกระวายและใจจดใจจ่อ” เปรียบเทียบกับคนที่รอคอยด้วยความร้อนอกร้อนใจ
“หมาเลียกระทะน้ำมันร้อน” เลียนแบบพฤติกรรมของหมาที่เลียกระทะน้ำมันร้อน “จะเลียก็กลัวร้อน จะไม่เลียก็เสียดายของดี” เปรียบเทียบกับคนที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความกลัว แต่ถ้าจะละทิ้งไปเสียก็กลัวจะเสียประโยชน์ ตัดใจไม่ลง
“หมากัดพระจันทร์” แฝงความหมายว่า “ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ” เปรียบเทียบกับคนที่กระทำสิ่งใดไม่รู้จักเคารพผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจมากกว่าตน ไม่รู้จักประมาณตน
“หมาเดินพันลี้ก็ยังกินขี้”หมายถึงพฤติกรรมของหมาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปรียบเทียบกับกมลสันดานของคนเลวที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไปไกลแค่ไหน สันดานเลวๆนั้นก็ไม่มีวันเปลี่ยนได้
“หมากัดช่างหิน” แฝงความหมายว่า “อยากโดนค้อนช่างหิน” เปรียบเทียบกับคนที่อยู่ดีไม่ว่าดี หาเรื่องกับคนที่มีอำนาจบารมีเหนือกว่าตน
“หนังหมาแขวนผนัง” แฝงความหมายว่า “ไม่เป็นภาพ” ในภาษาจีน คำว่า “ภาพ” กับคำว่า “ภาษา” เป็นคำพ้องเสียง ดังนั้นคำนี้จึงมีเสียงเหมือนกับคำว่า “ไม่เป็นภาษา” ซึ่งหมายความว่า “ไม่เข้าท่า ไม่ถูกต้อง ”
“หมาดีไม่ขวางทาง” ปกติหมาจะไม่ขวางทางเดินของคน เมื่อมีคนเดินผ่านมาก็มักจะหลีกทางหรือหลบไปทางอื่น แต่หมาเกเร หมาดุ หมาบ้า จะไม่หลบ กลับขวางทางทำให้คนต้องหลบไปทางอื่น จึงนำมาเปรียบเทียบกับคนว่า ถ้าเป็นคนดีก็จะไม่ขัดขวางความคิดหรือการกระทำที่ถูกต้องของผู้ีอื่น
“ซาลาเปาเนื้อหมา” แฝงความหมายว่า “ไม่่ขึ้นสำรับ” เปรียบเทียบกับคนหรือสิ่งของที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้คุณค่า ไม่สามารถไต่ต้าวขึ้นเป็นใหญ่เป็นโต หรือได้รับความนิยมยินดีได้
“น้ำค้างบนหางหมา” แฝงความหมายว่า “หางหมาอยู่ไม่นิ่งน้ำค้างยังไงก็ต้องถูกสบัดทิ้ง” ใช้เปรียบกับคนที่ไม่มีความแน่นอน หรือเรื่องราวที่ไม่มีความมั่นคง เปลี่ยน
แปลงได้ตลอดเวลา
“หมานั่งเกี้ยว” แฝงความหมายว่า “ไม่รู้ว่าใครเชิดใครชู” เปรียบกับคนที่ถูกคนอื่นยกย่องเชิดชู โดยไม่รู้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใคร
“หมามุดเตาไฟ” แฝงความหมายว่า “เถ้าดำติดจมูก” เหมือนกับหมาที่มุดเข้าไปในเตาไฟหวังจะหาอาหารกิน แต่สุดท้าย ไม่เพียงแต่ไม่มีอาหารอะไร แต่กลับเลอะเถ้าเขม่าไฟติดจมูกออกมา เปรียบกับคนที่มุ่้งกระทำการอันใด ไม่เพียงไม่ได้รับผลประโยชน์ ซ้ำร้ายกลับได้รับผลร้ายตอบแทน
“หมากัดเต่า” แฝงความหมายว่า “หาหัวไม่เจอ” เพราะเต่าจะหดหัวอยู่ในกระดอง หมาจะกัดก็กัดไม่ได้ จึงใช้เปรียบเทียบกับคนที่จะกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ทำอะไรไม่ถูก มะงุมมะงาหรา

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว “หมา” และ “สุนัข” ยังปรากฏในภาษาที่ใช้ในชีวิต
ประจำวันในลักษณะอื่นๆ อีก เช่น ที่เมืองเทียนจิน มีร้านขายซาลาเปาร้านหนึ่งตั้งชื่อร้านว่า 狗不理 [gou3 bu4 li2] หมายถึง “หมาไม่แล” หรืออาจเทียบได้กับภาษาไทยว่า “ร้านหมาไม่แดก” การตั้งชื่อเช่นนี้เป็นฉายานามของเจ้าของร้านที่หน้าตาอัปลักษณ์ แต่ขายซาลาเปาที่อร่อยมาก และตั้งชื่อร้านที่เป็นฉายาของตัวเอง ซึ่งเดิมเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจในเชิงการค้าเท่านั้น ภายหลังอาจเป็นเพราะสามารถสร้างความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างคนกับหมาได้ชัดเจน ทำให้เกิดความคิดในมุมกลับว่า “ใครไม่เข้าร้านนี้ก็เปรียบเหมือนหมา” เพราะเป็นของที่หมาไม่กิน แต่คนต้องกิน ซึ่งทำให้ร้านนี้ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จากนั้นคำว่า “หมาไม่แล” นี้ ก็กลายเป็นคำที่สามารถประกอบกับหน่วยคำอื่นขึ้นเป็นคำใหม่อีกมากมาย เช่น เวบไซต์หมาไม่แล ซาลาเปาหมาไม่แล จานด่วนหมาไม่แล ไอศครีมหมาไม่แล บริษัทหมาไม่แล เป็นต้น

ด้วยสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนในปัจจุบัน ประชากรมีจำนวนมาก แต่พื้นที่น้อย ชาวจีนในเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตึกสูงที่แบ่งเป็นแต่ละห้อง แต่ละครอบครัว ไม่สะดวกต่อการมีสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมว ทำให้ความสัมพันธ์ของคนกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้นับวันยิ่งห่างเหินกันไปทุกที แม้จะมีบางครอบครัวที่คุณภาพชีวิตค่อนข้างดีมีใจรักสุนัข เลี้ยงสุนัขไว้เป็นสัตว์เลี้ยง ดูแลอย่างดี ช่วงเช้าและเย็นก็คล้องโซ่นำออกมาวิ่งเล่นข้างนอก ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองจีนปัจจุบัน คุณภาพชีวิตของสุนัขดูเหมือนจะดีขึ้น หรือได้รับการยกระดับขึ้น แต่ความจริงกลับไม่เ็ป็นเช่นนั้น ทัศนคติของคนที่มีต่อสุนัขกลับไม่ได้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย สิ่งไม่ดีไม่งาม สิ่งเลวร้าย ความดูถูกเหยียดหยาม เกลียดชัง มักใช้สุนัขเป็นตัวแทน หรือเป็นตัวเปรียบเทียบอยู่ร่ำไป แต่คุณความดีของสุนัขที่ทุกสังคม ทุกชนชาติยกย่องและยอมรับก็คือความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภัคดีต่อเจ้าของ แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์ไม่ได้คำนึงถึงคุณงามความดีนี้เท่าใดนัก นี่ก็เป็นดังภาษิตจีนบทหนึ่งที่ว่า “หมาใจดี ช่วยเสือเกา ถูกเสือกิน”

เอกสารอ้างอิง
1. ก้อง กังฟู “เหนือฟ้าใต้บาดาล สัมผัสกิเลนโคมไฟ สัตว์ศักดิ็์สิทธิ์ลงสวรรค์ประทานพร” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546.
2. เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ พจนานุกรมไทย-จีน อักษรพิทยา : กรุงเทพฯ ,พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2541.
3. 常精宇《汉语词汇与文化》北京大学出版社,北京,1995年。
4. 郭锦桴 《汉语与中国传统文化》中国人民大学出版社,北京,1993年。
5. 吉常宏《汉语称谓语大词典》河北教育出版社,石家庄,2000年。
6. 李葆嘉《实用现代汉语规范词典》吉林大学出版社,长春,2001年。
7. 马清文 《俏皮话竞选500条》中华社会出版社,北京,1999年。
8. Brown, Roger and Gilman. Albert “The pronoun of power and solidarity” , In Fishman(ed.) Rearing in The Sociology of Language,1972.
9. http://www.people.com.cn/GB/guandian/30/20030306/937105.html
10. http://www.gblkc.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น