วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

การใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน:การศึกษาเปรียบเทียบ

เมชฌ สอดส่องกฤษ (2550) “การใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน : การศึกษาเปรียบเทียบ” วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,ปีที่ 3 ฉบับที่ 2.

การใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน:การศึกษาเปรียบเทียบ
The Use of address terms in modern Thai and Chinese language : A comparative study



[บทคัดย่อ] งานวิจัยเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบันนี้มีเนื้อหาหลักประกอบด้วย คำเรียกญาติ คำเรียกขานทางสังคม การวิเคราะห์คำที่ใช้เป็นคำเรียกขานและปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้คำเรียกขาน งานวิจัยครั้งนี้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ศึกษาภาษาไทยและภาษาจีน โดยเฉพาะผู้ทำงานเกี่ยวกับการแปลภาษาไทยและภาษาจีน เพราะการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งมิใช่เพียงแค่การแปลไปสู่คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันเท่านั้น แต่เบื้องหลังทางวัฒนธรรมตลอดจนความเป็นเชื้อชาติของแต่ละชนชาติมีผลอย่างมากในการเลือกใช้ภาษาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเรียกขานมีความสัมพันธ์กับคนในสังคมโดยตรง การเลือกใช้หรือการแปลคำเรียกขานจึงไม่เพียงแต่เป็นการเลือกใช้คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันเท่านั้น แต่จำเป็นต้องพิจารณาหรือคำนึงถึงปัจจัยต่างๆทางสังคม เช่น ภูมิหลังทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ความเชื่อ การเมืองการปกครอง ศาสนาเป็นต้น เพื่อจะสามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง ผลการวิจัยพบว่าการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนมีความคล้ายคลึงกับภาษาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ เช่น ภาษาเวียดนาม ภาษาลาว ภาษาเขมร ภาษาพม่า เป็นต้น กล่าวคือ คำที่ใช้เป็นคำเรียกขานที่สำคัญได้แก่ ชื่อ คำเรียกญาติและคำสรรพนาม ส่วนปัจจัยกำหนดการเลือกใช้คำเรียกขานที่สำคัญคือ เพศ อายุ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ฐานะ และสภานภาพทางสังคม
[คำสำคัญ] คำเรียกขาน ภาษาศาสตร์สังคม ภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ ภาษาไทยและภาษาจีน
Abstract: A comparative study of address terms in Chinese and Thai language systems consist of kinship terms ,social addressing terms along with the use of address terms, and the factors influencing the use of address terms. The outcome of this research will not only be useful for people who are interested in Thai-Chinese language studies but also for Chinese-Thai or Thai-Chinese translators who are in need of clear translation means against a general background of language, culture, belief, politics, and religion. In our conclusion, we found that sex, age and relationship are the three main factors that influence both Thai and Chinese addressing terms. Moreover, the address terms for groups of kinship, with their respective pronouns, share the same natural characteristics as other languages in Southeast Asia, for example Vietnamese Laos Cambodian Burmese.
Key Words: Address terms; Sociolinguistics; Comparative Linguistics; Thai and Chinese

บทนำ
ประเทศไทยและจีนติดต่อซึ่งกันและกันมากขึ้นทุกขณะ ความสนใจศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยและในทางกลับกันความสนใจศึกษาภาษาไทยในประเทศจีนก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน การศึกษาวิจัยเปรียบเทียบภาษาทั้งสองมีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจความเหมือนหรือความต่างซึ่งกันและกัน อีกทั้งแนวทางการศึกษาภาษาที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้มีความรู้ทางภาษาไทยและภาษาจีน เห็นว่าการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องการใช้คำเรียกขานนับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคำเรียกขานในทั้งสองภาษานอกจากจะมีจำนวนมากมาย การใช้คำกลุ่มดังกล่าวนี้ยังมีความซับซ้อนยากแก่การทำความเข้าใจสำหรับผู้ศึกษาทั้งสองภาษาด้วย ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงระบบ โครงสร้าง และการใช้คำเรียกขานในทั้งสองภาษา พร้อมนี้ก็จะทำการเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงและความแตกต่างของการเลือกใช้คำเรียกขาน ตลอดจนศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้คำเรียกขาน ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนนี้จะสะท้อนให้เห็นภาพของสังคม วัฒนธรรมของไทยและจีนได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ความสำคัญและที่มาของหัวข้อวิจัย
ภาษาไทยและภาษาจีนจัดเป็นภาษาตระกูลจีนธิเบต(汉藏语系) นักวิชาการจีนจัดภาษาไทยไว้ในตระกูลจีนธิเบต กลุ่มภาษาต้งไถ(侗台语族) สาขาภาษาไถ(台语支) มีภาษาที่ใกล้ชิดคือภาษาไต(傣) ภาษาลาว ภาษาจ้วง (壮) ภาษาบูเยย (布依) เป็นต้น จากลักษณะทางภาษาไทยและภาษาจีนรวมทั้งภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาเหล่านี้ คือเป็นกลุ่มภาษาคำโดดและมีวรรณยุกต์
ตามบันทึกพงศาวดารประวัติศาสตร์จีน ประเทศไทยและจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันเริ่มแรกในยุคสมัยซีฮั่น(西汉) ภาษาจีนเป็นภาษาใหญ่และเข้มแข็งที่มีอิทธิพลต่อภาษาในแถบเอเซียมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อหรือมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับจีน ได้รับอิทธิพลทางภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนอันมีร่องรอยปรากฏเห็นได้ชัดทั่วไปในหลายๆภาษา เช่น อักษรจีนในภาษาญี่ปุ่น คำศัพท์ภาษาจีนในภาษาเกาหลีเป็นต้น หากเชื่อประวัติศาสตร์ไทยข้อที่ว่าคนไทยปัจจุบันอพยพมาจากลุ่มน้ำฮวงโห หรืออีกข้อหนึ่งที่ว่าคนไทยอพยพมาจากดินแดนเดิมในแคว้นสิบสองปันนาของจีนลงมาทางใต้กระทั่งตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ภาษาดั้งเดิมคือภาษาต้งไถ (侗台语)แน่นอนว่าคลังคำศัพท์ในภาษาไทยย่อมได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีน พบว่ามีคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนกว่า 1000 คำ ในระยะหลายร้อยปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 200 ปีมานี้ ชาวจีนจากซัวเถา (汕头)ไหหลำ(海南)อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก คำศัพท์ภาษาถิ่นจีน เช่น ภาษาฮกเกี้ยน (闽方言)ได้หลั่งไหลทะลักเข้าสู่คลังคำศัพท์ภาษาไทยอีกระรอกใหญ่และใช้อยู่ในภาษาไทยปัจจุบันอย่างแพร่หลาย กระทั่งบางคำเสมือนเป็นภาษาไทยไปแล้วก็มี เช่น เกี๊ยว (饺)ขิม(琴)จับกัง(杂工)ซินแส(相士,先生)เป็นต้น
คำเรียกขานในภาษาไทยอาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือคำศัพท์ภาษาไทย และคำศัพท์ที่มาจากภาษาอื่นเช่น ภาษาเขมร บาลี สันสกฤตเป็นต้น และแน่นอนมีคำเรียกขานที่เป็นคำยืมจากภาษาจีน เช่น อาตี๋(阿弟)อาหมวย(阿妹)อั๊ว(我)ลื้อ(你、汝)อาแปะ(阿伯) เป็นต้น คำเหล่านี้คนไทยใช้เสมือนเป็นภาษาไทยโดยที่ไม่รู้ว่ามีที่มาจากคำว่าอะไรในภาษาเดิม แต่ใช้อยู่ในภาษาไทยอย่างเป็นปกติเสมือนเป็นภาษาไทยไปแล้ว
ภาษาไทยและภาษาจีนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกันยาวนาน ความคิดทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อมีความใกล้ชิดกัน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขาน เพียงแต่ว่าปัจจัยใดที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนมากน้อยเพียงใด หรือไม่ อย่างไร จำเป็นต้องศึกษาวิจัยอย่างถ่องแท้เนื่องจากในการสื่อสารของสังคมภาษาหนึ่งๆ คำเรียกขานเป็นคำที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง หากไม่รู้และไม่เข้าใจที่จะเรียกขานผู้อื่น อาจทำให้การสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผล การใช้คำเรียกขานที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางความคิดภายใต้อิทธิพลทางสังคมอย่างถูกต้องนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้มีความรู้ความสามารถสามารถทางภาษาและสามารถเลือกใช้ภาษาได้ตามกระบวนการความคิดที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคมนั่นเอง กระนั้นก็ตามในบางครั้งแม้แต่ผู้รู้ก็อาจเกิดปัญหาเลือกไม่ถูกว่าจะใช้คำเรียกขานแบบใดได้เช่นกัน แต่สำหรับผู้เรียนภาษาต่างประเทศหากรู้เพียงความหมายของคำเรียกขาน แต่ไม่รู้วิธี ข้อกำหนด และกฎเกณฑ์ทางสังคม ก็จะไม่สามารถใช้คำเรียกขานได้อย่างถูกต้อง จากข้อปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นประกอบกับความจำเป็นในการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน การศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในทั้งสองภาษาดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอันมากในเวทีโลก ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยกำลังพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนให้รุดหน้า การวิจัยเปรียบเทียบภาษาและการใช้ภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมจึงเป็นหัวข้อวิจัยที่ไม่ควรละเลย

ทบทวนวรรณกรรม
การศึกษาคำเรียกขานในภาษาต่างประเทศ
การศึกษาเรื่องคำเรียกขานในภาษาต่างประเทศแบ่งแยกได้จากหลายมุมมอง ได้แก่ (1) การศึกษาด้านภาษาศาสตร์เชิงประวัติ เช่นงานของ Brown and Gillman (1972) ศึกษาความสัมพันธ์ของคำเรียกขานในภาษาฝรั่งเศส อิตาเลี่ยน เยอรมัน โดยเน้นในเรื่องประวัติความเป็นมา และเสนอข้อสรุปว่า การใช้คำเรียกขานมีปัจจัยสำคัญสองประการควบคุมอยู่คือ พลังอำนาจ (Power) และ ความสนิทแน่นแฟ้น (solidarity) ปัจจัยทั้งสองประการนี้ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมการใช้คำเรียกขานของภาษากลุ่มตระกูลยุโรป (2) การศึกษาด้านภาษาศาสตร์สังคม เช่นงานของ Brown and Ford (1964) ศึกษาภาษาอังกฤษอเมริกันพบว่าการใช้คำเรียกขานของคนอเมริกันมี 3 ประเภทคือ นามสกุล ตำแหน่ง+ชื่อ และคำเรียกอาชีพ นอกจากนี้นักภาษาศาสตร์สังคมยังเห็นว่าการเลือกใช้คำเรียกขานที่พิจารณาสถานภาพของตนเองกับผู้ที่พูดด้วย ยังมีงานทางภาษาศาสตร์สังคมที่อีกชิ้นหนึ่งคือ An Analysis of the interaction of Language ของ Susan Ervin-Trip (1972) ศึกษาวิจัยคำเรียกขานในภาษาอังกฤษและเสนอกฎภาษาศาสตร์เชิงสังคมที่คือ “กฎการเลือก” ซึ่งหมายถึงผู้คนในสังคมหนึ่งๆ เมื่อต้องการใช้คำเรียกขานแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของตนและคู่สนทนาเป็นปัจจัยในการเลือกใช้คำเรียกขาน (3) ภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ มีงานของ Cook (1968) ศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทย พม่าและภาษาชนกลุ่มน้อยอื่นๆในเอเชียอาคเนย์พบว่า การใช้คำเรียกขานในภาษาเหล่านี้ต้องคำนึงถึงเพศ อายุ และสถานภาพทางสังคมและสถานการณ์การใช้ภาษา การศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทย
ผลงานการศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันหากเทียบกับการศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีนแล้ว ไม่เป็นที่ปรากฏชัดนัก ที่สำคัญได้แก่ Palakornkul (1972) ศึกษาการใช้คำสรรพนามในภาษาไทยกรุงเทพ , David (1973) ศึกษาการใช้คำสรรพนามในภาษาไทยเหนือ , Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint(1986) เรื่อง The Use of Address Terms in Thai during the Ratanakosin period ,Simpson R.C.(1996) บทความเรื่อง “The namy I’s of Thai : Gender Differences Self-reference ” , Wirote Aroonmanakun(1999) วิทยานิพนธ์เรื่อง “Extending Focusing for Zero Resolution in Thai” ผลงานเหล่านี้ล้วนพบว่าคำเรียกขานมีนัยทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือก ส่วนคำที่ใช้เป็นคำเรียกขานได้แก่ คำเรียกญาติ ชื่อ คำนำหน้าชื่อ อาชีพ ยศตำแหน่ง และคำสรรพนาม แต่การศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาภาษาในอดีต หรือศึกษาเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถอธิบายถึงวิธีการใช้ และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้คำเรียกขานในสังคมไทยได้
การศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีน
สำหรับในภาษาจีนมีการศึกษาคำเรียกขานมาตั้งแต่อดีต ตำราหรือหนังสือที่นับว่าบันทึกและอธิบายถึงคำเรียกขานในภาษาจีนเป็นเล่มแรกคือ เอ๋อร์หย่า《尔雅》 เรียบเรียงขึ้นในสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น อธิบายถึงคำเรียกขานในภาษาจีน ความหมาย ตลอดจนวีธีการใช้คำเรียกขานอย่างละเอียด ต่อมานักวิชาการในอดีตได้ใช้ตำรา เอ๋อร์หย่าเป็นพื้นฐานในการศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีน เช่น 《称谓录》พจนานุกรมบันทึกคำเรียกขานในสมัยราชวงศ์ชิง ของ เหลียงจางจวี้ (梁章矩:1987) ก็เป็นพจนานุกรมที่บันทึกและอธิบายคำเรียกขานภาษาจีนในอดีต
ปัจจุบันนักวิชาการจีนสนใจวิจัยคำเรียกขานภาษาจีนในอดีตเป็นส่วนใหญ่ เช่นงานของ หยวน ถิงต้ง (袁庭栋:1994)เรื่อง การวิจัยคำเรียกขานของคนโบราณ 《古人称谓漫谈》, งานของ หลิวกงเม่า (刘恭懋:2001)เรื่องการใช้ชื่อคนเป็นคำเรียกขานแบบสุภาพในสมัยโบราณ《古代称谓礼貌中的人名称呼》, งานของหนิวจื้อผิง (牛志平:1987) เรื่อง คำเรียกขานในสมัยถัง 《唐人称谓》งานวิจัยเหล่านี้ศึกษาวิจัยคำเรียกขานที่ใช้ในอดีต โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารบันทึกโบราณ ซึ่งมีข้อจำกัดคือมักจะศึกษาเฉพาะความหมายของคำแต่ไม่ได้ศึกษาถึงการใช้และปัจจัยการใช้คำเรียกขานดังกล่าว นอกจากนี้การศึกษาคำเรียกขานในภาษาจีนปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของการจัดทำพจนานุกรม เช่น ผลงานของ จี๋ฉางหง (吉常宏:2000) ชื่อ พจนานุกรมคำเรียกขานภาษาจีน《汉语称谓大辞典》,หันเสิ่งจือ (韩省之:1991)ได้จัดทำหนังสือชื่อ พจนานุกรมคำเรียกขาน 《称谓大词典》 หรือจางเซี่ยวจง(张孝忠:1988) กับผลงานชื่อพจนานุกรมคำเรียกขานอดีตปัจจุบัน《古今称谓词典》หรือหวางเสวียหยวน (王学元:1988)ชื่อพจนานุกรมคำเรียกขานภาษาจีน《汉语称谓词典》เป็นต้น ก็ล้วนเป็นการอธิบายคำศัพท์ที่ใช้เป็นคำเรียกขานเท่านั้น
การศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาจีนกับภาษาต่างประเทศ
ปัจจุบันยังไม่มีผู้วิจัยเกี่ยวกับการเปรียบเทียบ “การใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนปัจจุบัน” คงมีแต่การศึกษาเรื่อง “คำเรียกขาน” ในภาษาไทย และคำเรียกขานในภาษาจีนอย่างใดอย่างหนึ่งแยกออกจากกัน สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบภาษาจีนกับภาษาต่างประเทศอื่นๆนั้น ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบกับภาษาตะวันตกโดยเน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ด้วยเหตุที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล นักศึกษาไทยและจีนก็นิยมศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาที่เป็นสากล (หรือเป็นภาษาของประเทศที่ตนต้องติดต่อสัมพันธ์ด้วย) เพื่อประโยชน์การใช้ตามความจำเป็นของสังคมโลก เช่น เถียนฮุ่ยกัง (田惠刚:1998) ศึกษา “เปรียบเทียบระบบคำเรียกขานในภาษาจีนกับภาษาตะวันตก” 《中西人际称谓系统》 ผลการวิจัยพบว่าวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันมาก ส่งผลต่อการใช้ภาษาที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำเรียก มีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบและคำที่นำมาใช้เป็นคำเรียกขาน นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น จินเซวียนตุ้ย (金玄兑:2002) ศึกษา “คำเรียกขานเพื่อการสื่อสารและภาษาสุภาพ” 《交际称谓语和委婉语》ในภาคผนวกมีการศึกษาเปรียบเทียบระบบคำเรียกขานภาษาจีนและภาษาเกาหลี โดยแบ่งคำเรียกขานเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ คำเครือญาติ และ คำที่ใช้ในสังคม นอกจากนี้ยังศึกษาวิธีการทำภาษาให้เป็นภาษาสุภาพซึ่งรวมถึงคำเรียกขานแบบสุภาพทั้งในภาษาจีนและเกาหลีด้วย เจียงชุนเซี่ย (姜春夏: 2004) ศึกษา “เปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาจีนกับภาษาอังกฤษและการแปล” 《汉英称谓语对比与翻译》มีความเห็นว่า ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คำเรียกขานย่อมมีแตกต่างกันด้วย ผู้วิจัยอธิบายและเสนอแนวทางการแปลในทั้งสองภาษาว่าต้องมีความเข้าใจภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสังคมของทั้งสองภาษาอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถแปลคำเรียกขานได้อย่างถูกต้อง
การศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ
การศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศก็ล้วนมีแนวโน้มไปทางภาษาตะวันตกเช่นกัน เช่น จุฑารัตน์ โล่ห์ตระกูลวัฒน์ (2541) เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเศส” ศึกษาการใช้คำเรียกขานโดยเก็บข้อมูลจากเอกสาร นวนิยาย หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทย แล้วนำข้อมูลการใช้คำเรียกขานในทั้งสองภาษามาวิเคราะห์โดยคิดเป็นร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ของการใช้คำดังกล่าว จากการวิจัยพบว่าคำเรียกขานที่ใช้มากในภาษาฝรั่งเศสเช่น ชื่อ นามสกุล คำบอกอาชีพ ยศตำแหน่ง คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก และคำเรียกญาติ ส่วนในภาษาไทยใช้ ชื่อ คำเรียกญาติ คำนำหน้า ยศ ตำแหน่ง เป็นคำเรียกขาน
ในขณะนี้ยังไม่มีผลงานการศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน การศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยและภาษาจีนเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในเชิงภาษาโดยตรง เช่น การวิเคราะห์ระบบเสียง ระบบคำ และระบบไวยากรณ์ ซึ่งปราศจากมิติทางสังคมมาเกี่ยวข้อง แต่การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องคำเรียกขานในทั้งสองภาษาจะเกี่ยวเนื่องกับมิติทางสังคมซึ่งคนส่วนใหญ่มองข้าม และผู้ศึกษาวิจัยภาษาไม่ใคร่จะสนใจศึกษาเท่าใดนัก จากการสังเกตในเบื้องต้นพบว่าปัจจัยหลักๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพทางสังคม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านเจตนา อารมณ์ สถานการณ์ สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขาน แต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนว่าปัจจัยดังกล่าว (และหรือมีปัจจัยอื่นใดอีก) มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาทั้งสองหรือไม่ อย่างไร

เปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน
งานวิจัยนี้เปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนทั้งระบบ โดยได้สำรวจ เก็บข้อมูลการใช้คำเรียกขานจากการสนทนาในสถานการณ์จริง แล้ววิเคราะห์สรุปเป็นเกณฑ์การใช้คำเรียกขานในทั้งภาษาไทยและภาษาจีนอย่างละเอียด แน่นอนว่าการใช้คำเรียกขานในแต่ละภาษาย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน แต่จากการวิจัยพบว่าสามารถหาเกณฑ์สรุปร่วมกันระหว่างภาษาทั้งสองนี้ได้ ดังจะได้อธิบายใน 5 หัวข้อต่อไปนี้

1. ค่าความถี่ในการเลือกใช้คำเรียกขานประเภทต่างๆในภาษาไทยและภาษาจีน
ข้อมูลการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน ได้มาจากการเก็บข้อมูลการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน เอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อสารมวลชน แล้ววิเคราะห์ความถี่ในการเกิดของคำแต่ละประเภท แปรค่าความถี่เป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ พบว่าคำที่ใช้เป็นคำเรียกขานในทั้งสองภาษามีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ค่าเปอร์เซ็นต์ความถี่ในการใช้คำแต่ละชนิดในแต่ละภาษามีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นนัยที่ชี้ให้เห็นถึงการมีปัจจัยการใช้ที่แตกต่างกัน ค่าความถี่ดังกล่าวแสดงในตารางข้างล่างนี้


ตารางที่ 1 แสดงค่าความถี่การใช้คำเรียกขาน
รูปแบบคำเรียกขาน
ภาษาไทยจีนและ
ค่าความถี่
รูปแบบคำเรียกขาน ภาษาจีน ภาษาไทย
รูปแบบคำเรียกขาน ค่าความถี่ รูปแบบคำเรียกขาน ค่าความถี่
1.感叹语 คำอุทาน 感叹语 คำอุทาน 1.53 感叹语 คำอุทาน 0.18
2.感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 1.06 感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 0.37
3.[姓 + 职称/职位/官衔] [นามสกุล+อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ] [姓 + 职称/职位/官衔]
[นามสกุล+อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ] 13.57 - -
4.姓名 นามสกุลและชื่อ [姓 + 名] นามสกุล+ ชื่อ 8.57 名 + 姓 ชื่อ +นามสกุล -
5.[表示年龄 + 姓]
[คำบอกอายุ + นามสกุล] [表示年龄 + 姓]
[คำบอกอายุ + นามสกุล] 2.4 - -
6.[ 姓名或姓或名+词尾] [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม] [ 姓名或姓或名+词尾]
[นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม] 1.14 - -
7.[姓名或姓或名+通称/身份] [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป/คำบอกสถานภาพ] [姓名或姓或名+通称/身份] [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป/คำบอกสถานภาพ] 8.69 身份 / 通称 + 名
คำบอกสถานภาพ/คำเรียกทั่วไป + ชื่อ 4.67
8.[姓+亲属称谓]
[นามสกุล + คำเรียกญาติ] [姓+亲属称谓]
[นามสกุล + คำเรียกญาติ] 3.37 - -
9.名 ชื่อ 名 ชื่อ 15.18 名 ชื่อ 28.85
10.[名 + 亲属称谓]
[ชื่อ+คำเรียกญาติ] [名 + 亲属称谓]
[ชื่อ+คำเรียกญาติ] 4.48 亲属称谓 + 名
คำเรียกญาติ + ชื่อ 9.98
11.绰号 สมญานาม 绰号 สมญานาม 0.59 绰号 สมญานาม 0.41
12.职称 / 职位/ 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 职称 / 职位 / 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 6.14 职称 / 职位 / 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 9.17
13.[职称 / 职位 / 官衔+ 亲属称谓] [อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ + คำเรียกญาติ] [职称 / 职位 / 官衔+ 亲属称谓] [อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ + คำเรียกญาติ] 0.61 [亲属称谓 + 职称 / 职位 / 官衔 ] [คำเรียกญาติ+อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ ] 0.06
14.通称 คำเรียกทั่วไป 通称 คำเรียกทั่วไป 14.19 通称 คำเรียกทั่วไป 14.47
15.[表示年龄 + 通称]
[คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] [表示年龄 + 通称]
[คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] 2.53 - -
16.亲属称谓 คำเรียกญาติ 亲属称谓 คำเรียกญาติ 5.94 亲属称谓 คำเรียกญาติ 2.82
17.拟亲属称谓
คำเรียกญาติปลอม [表示年龄 +/亲属称谓]
[คำบอกอายุ + คำเรียกญาติ] 10 拟亲属称谓 คำเรียกญาติ 19.21
18.[通称+亲属称谓]
[คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ] - - [通称+亲属称谓]
[คำเรียกทั่วไป+คำเรียกญาติ] 9.76
统计 รวม 99.99% 99.95%




ตารางที่ 2 ตัวอย่างคำเรียกขาน
รูปแบบคำเรียกขาน
ภาษาไทยจีนและ
รูปแบบคำเรียกขาน ค่าความถี่ ภาษาจีน ภาษาไทย
ตัวอย่างคำเรียกขาน ตัวอย่างคำเรียกขาน
1.感叹语 คำอุทาน 喂 诶 เอ้ย เฮ้ย
2.感情色彩 / 短语
คำและวลีแสดงอารมณ์ 亲爱的 宝贝 心肝 ที่รัก แก้วตาดวงใจ
3.[姓 + 职称/职位/官衔] [นามสกุล+อาชีพ/ยศ/ตำแหน่ง] 张主任 王医生 -
4.姓名ชื่อและนามสกุล 张建华 สมศรี มีสกุล
5.[表示年龄 + 姓]
[คำบอกอายุ + นามสกุล] 老张 小林 -
6.[ 姓名或姓或名+词尾 ] [นามสกุล / ชื่อ หรือนามสกุล หรือชื่อ+คำเสริม] 张儿 波儿 -
7.[姓名或姓或名+通称/身份] [คำเรียกทั่วไป/คำบอกสถานภาพ+ชื่อ หรือชื่อและนามสกุล] 张同志 林师傅 คุณสมศรี , มล.สมศรี
8.[姓+亲属称谓]
[นามสกุล + คำเรียกญาติ] 张哥 林姐 -
9.名 ชื่อ 建华 สมศรี
10.[名 + 亲属称谓]
[ชื่อ+คำเรียกญาติ] 东东哥 秀丽姐 พี่สมศรี
11.绰号 สมญานาม 四眼 猫脸 สี่ตา
12.职称 / 职位/ 官衔
อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ 大夫 老师 主任 อาจารย์สมศรี แพทย์หญิงสมศรี
พันตรีหญิงสมศรี
13.[职称 / 职位 / 官衔+ 亲属称谓] [อาชีพ/ตำแหน่ง/ยศ + คำเรียกญาติ] 警察叔叔 护士姐姐 อาจารย์แม่
14.通称 คำเรียกทั่วไป 师傅 同志 คุณ ท่าน
15.[表示年龄 + 通称]
[คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] 老师傅 老同志 -
16.亲属称谓 คำเรียกญาติ 爸爸 妈妈 爷爷 พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย
17.拟亲属称谓
คำเรียกญาติปลอม 老爷爷 大妈 小妹妹 ป้า น้า ลุง ตา พี่
18.[通称+亲属称谓]
[คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ] - คุณพี่ คุณน้า คุณลุง

จากตารางที่ 1 คำเรียกขานแต่ละรูปแบบที่ปรากฏในตารางไม่ใช่คำเรียกขานทุกรูปแบบที่ปรากฏมีใช้ในภาษา เนื่องจากคำเรียกขานบางคำหรือบางรูปแบบมีความถี่ในการใช้น้อยมาก ไม่ถึง 0.01% จึงไม่นำมาแสดงในตาราง เพราะถือว่าเป็นคำเรียกขานที่ปรากฏเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ดังนั้นคำเรียกขานที่ปรากฏในตารางมี 2 ประเภทคือ ประเภทที่หนึ่งคำเรียกขานเดี่ยวทุกรูปแบบ อันได้แก่ [นามสกุล], [ชื่อ] , [อาชีพ / ยศ / ตำแหน่ง] , [คำเรียกญาติ] , [คำเรียกญาติปลอม] , [คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก] , [คำเรียกทั่วไป] ประเภทที่สองคือคำเรียกขานประสม ได้แก่ [นามสกุล +อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ] , [นามสกุล+ชื่อ] , [คำบอกอายุ+นามสกุล] , [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม] , [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป / สถานภาพ] , [นามสกุล+คำเรียกญาติ] , [ชื่อ+คำเรียกญาติ] , [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ+คำเรียกญาติ] , [คำบอกอายุ+คำเรียกทั่วไป] , [คำเรียกทั่วไป+คำเรียกญาติ] คำเรียกขานประสมที่มีความถี่น้อยกว่า 0.5% ไม่นำมาวิเคราะห์ รวมทั้งคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ ใช้เฉพาะกลุ่มคน เช่น คำเรียกที่พบในภาพยนตร์ฮ่องกง จำพวก [madam] [啊SIR] ถือเป็นคำเรียกภาษาต่างประเทศเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ใช้ทั่วไปก็ไม่นำมาวิเคราะห์เช่นกัน
เนื่องจากการหลักเกณฑ์ทางไวยากรณ์ทำให้รูปแบบคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนบางรูปแบบดูแตกต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นรูปแบบเดียวกัน เช่น ภาษาไทยเรียก [ชื่อ + นามสกุล] แต่ภาษาจีนเรียก [นามสกุล + ชื่อ], ภาษาไทยเรียก [คำเรียกญาติ + ชื่อ] แต่ภาษาจีนเรียก [ชื่อ+คำเรียกญาติ] เป็นต้น รูปแบบคำเรียกขานเหล่านี้ในการเปรียบเทียบจะถือว่าเป็นคำเรียกขานรูปแบบเดียวกัน
จากตารางจะเห็นว่า ในภาษาไทย คำที่มีความถี่ในการใช้สูงที่สุดคือ [ชื่อ] อัตราความถี่ 28.85%,รองลงมาคือ [คำเรียกญาติปลอม] ,[คำเรียกทั่วไป],[คำเรียกญาติ + ชื่อ],[คำเรียกทั่วไป +คำเรียกญาติ],[อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ],[สถานภาพ+คำเรียกทั่วไป+ชื่อ], [คำเรียกญาติ],[สมญานาม],[คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก],[คำอุทาน] และคำเรียกที่มีความถี่การใช้น้อยที่สุดคือ [คำเรียกญาติ + อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ] อัตราความถี่ 0.06%
ส่วนในภาษาจีนคำที่มีความถี่ในการใช้สูงที่สุดคือ [ชื่อ] อัตราความถี่ 15.18 %รองลงมาคือ[คำเรียกทั่วไป], [นามสกุล+อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ], [คำเรียกญาติปลอม], [นามสกุลหรือชื่อหรือนามสกุล+คำเรียกทั่วไป / คำบอกสถานภาพ], [นามสกุล+ชื่อ], [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ], [คำเรียกญาติ], [ชื่อ+คำเรียกญาติ], [นามสกุล+คำเรียกญาติ], [คำบอกอายุ+คำเรียกทั่วไป], [คำบอกอายุ + นามสกุล], [คำอุทาน], [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเสริม], [คำหรือวลีแสดงอารมณ์ความรู้สึก],[อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ+ คำเรียกญาติ] และคำเรียกที่มีความถี่การใช้น้อยที่สุดคือ [สมญานาม] ความถี่ 0.59%
เปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่าทั้งภาษาไทยและภาษาจีนมีคำเรียกขานที่เป็นรูปแบบร่วมคือ [คำอุทาน] เช่น ภาษาไทยเช่น เอ้ย เฮ้ย ภาษาจีนเช่น 诶![คำหรือวลีแสดงอารมณ์ความรู้สึก] ภาษาไทยเช่นที่รัก ภาษาจีนเช่น 亲爱的,宝贝 [นามสกุล+ชื่อ] ภาษาไทยเช่น สมศรี มีสกุล ภาษาจีนเช่น 张建华 [นามสกุลชื่อหรือนามสกุลหรือชื่อ+คำเรียกทั่วไป / คำบอกสถานภาพ] ภาษาไทยเช่นคุณสมศรี ภาษาจีนเช่น 张同志 [ชื่อ] ภาษาไทยเช่นสมศรี [ชื่อ+คำเรียกญาติ] ภาษาไทยเช่นพี่สมศรี ภาษาจีนเช่น张哥 [สมญานาม] ภาษาไทยเช่นไอ้แว่น ภาษาจีนเช่น 四眼 [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ] ภาษาไทยเช่น อาจารย์ ภาษาจีนเช่น 老师 [อาชีพ / ตำแหน่ง / ยศ+คำเรียกญาติ] ภาษาไทยเช่น อาจารย์แม่ อาจารย์น้อง ภาษาจีนเช่น 警察叔叔护士姐姐 [คำเรียกทั่วไป] ภาษาไทยเช่น คุณ ท่าน ภาษาจีนเช่น 同志 师傅 [คำเรียกญาติ] ภาษาไทยเช่น ป้า น้า ภาษาจีนเช่น 阿姨 爷爷 [คำเรียกญาติปลอม] ภาษาไทยเช่น ลุง ป้า น้า อา ภาษาจีนเช่น 大爷 大妈 老妈
คำที่ภาษาจีนมีแต่ภาษาไทยไม่มี ได้แก่ [นามสกุล], [นามสกุล + ชื่อ], [นามสกุล + อาชีพ / ยศ / ตำแหน่ง], [คำบอกอายุ+นามสกุล], [นามสกุลและชื่อหรือชื่อหรือนามสกุล+คำเสริม], [นามสกุล+คำเรียกญาติ], [คำบอกอายุ+คำเรียกทั่วไป], [คำบอกอายุ + คำเรียกญาติ]
ที่น่าสนใจและเป็นข้อแตกต่างของภาษาไทยและภาษาจีนที่เด่นชัดก็คือ คนไทยไม่เรียกกันด้วยนามสกุล หรือไม่ใช้นามสกุลเป็นส่วนประกอบของคำเรียกขาน จะปรากฏตามหลังชื่อเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าวัฒนธรรมการใช้นามสกุลในภาษาไทยมีประวัติศาสตร์ที่สั้นมาก และนามสกุลของคนไทยมีหลายพยางค์ บางนามสกุลยาวถึง 10 พยางค์ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นคำเรียกขาน และมีคำเรียกขานที่มีใช้ในภาษาไทยแต่ในภาษาจีนไม่มีคือ [คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ]
คำเรียกขานที่ใช้เป็นหลัก และมีความถี่การใช้มากที่สุดทั้งในภาษาไทยและภาษาจีนตรงกันคือ [ชื่อ] ในภาษาไทยมีความถี่ในการเลือกใช้ 28.85% ในภาษาจีนมีความถี่ในการเลือกใช้ 15.18%

2.โครงสร้างของคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน
คำเรียกขานแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นคำเรียกขานหลัก และส่วนที่เป็นคำเรียกขานประกอบ คำเรียกขานต่างๆ สามารถใช้เป็นคำเรียกขานได้โดยลำพัง ในขณะเดียวกันก็สามารถประกอบเป็นคำเรียกขานประสมได้อีกด้วย คำเรียกขานประสมสร้างขึ้นมาจากส่วนประกอบอื่นๆ มากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไป ส่วนประกอบบางชนิดมีความสามารถในการประกอบเป็นคำเรียกขานสูง และสามารถประกอบเป็นคำเรียกขานหลากหลายรูปแบบ แต่คำเรียกขานบางชนิดใช้โดยลำพังเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถประกอบกับคำอื่นได้ หรือมีข้อจำกัดในการประกอบเป็นคำเรียกขาน นอกจากนี้คำเรียกขานยังได้รับอิทธิพลของระบบไวยากรณ์ในภาษาด้วย ดังนั้นการเรียงลำดับก่อนหลังของส่วนประกอบคำเรียกขานแต่ละส่วนมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และแน่นอน เพื่อสรุปหาสูตรของรูปแบบคำเรียกขาน จะใช้ตัวเลขแทนส่วนประกอบต่างๆ ของคำเรียกขานที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกๆรูปแบบ แล้วสรุปเป็นสูตรดังนี้
ส่วนประกอบของคำเรียกขานในภาษาไทย ได้แก่ 1. ชื่อ 2. คำเรียกทั่วไป 3. คำเรียกญาติ 4. นามสกุล 5. อาชีพ ตำแหน่ง 6. คำอุทาน 7. คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก 8. สมญานาม 9 คำบอกอายุ 10. คำบอกสถานภาพส่วนบุคคล 11. คำบอกเพศ 12. วุฒิการศึกษา 13. ยศ
ส่วนประกอบทั้ง 13 ชนิดสามารถประกอบเป็นคำเรียกขานได้หลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบต่างๆ นั้นสามารถสรุปได้เป็นสูตรคำเรียกขานหลัก โดยที่ ส่วนประกอบแต่ละส่วนไม่จำเป็นต้องเกิดในคำเรียกขานทุกครั้ง หรือทุกรูปแบบ แต่จะมีการเรียงลำดับตามสูตรดังกล่าว เครื่องหมายที่ใช้ในสูตร มี “±” หมายถึง ส่วนประกอบเดียวกันสามารถเกิดได้สองตำแหน่ง ส่วนใหญ่ไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเกิดพร้อมกันได้ ดังสูตรต่อไปนี้





ส่วนประกอบของคำเรียกขานในภาษาจีน ได้แก่ 1.ชื่อ 2.คำเรียกทั่วไป 3.คำเรียกญาติ 4.นามสกุล 5.อาชีพ / ยศ / ตำแหน่ง 6.คำอุทาน 7.คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก 8.สมญานาม 9.คำบอกอายุ 10.คำเสริมท้าย 11.คำบอกลำดับ 12.คำบอกเพศ 13.ส่วนเติมหน้า
ส่วนประกอบทั้ง 13 ชนิดสามารถประกอบเป็นคำเรียกขานได้หลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบต่างๆ นั้นสามารถสรุปได้เป็นสูตรคำเรียกขานหลัก โดยที่ส่วนประกอบแต่ละส่วนไม่จำเป็นต้องเกิดในคำเรียกขานทุกครั้ง หรือทุกรูปแบบ แต่จะมีการเรียงลำดับตามสูตรดังกล่าว เครื่องหมายที่ใช้ในสูตร มี { } ส่วนประกอบที่อยู่ในเครื่องหมายนี้หมายถึงส่วนประกอบที่เกิดในตำแหน่งเดียวกัน เครื่องหมาย “±” หมายถึง ส่วนประกอบเดียวกันสามารถเกิดได้สองตำแหน่ง แต่จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ดังสูตรต่อไปนี้






3.ลักษณะการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน
แม้ว่าการเลือกใช้คำเรียกขานจะแปรไปตามเพศ อายุ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สถานภาพทางสังคม เป็นต้น แต่จากการวิจัยพบว่า คำที่ใช้เป็นคำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนมีคำหลักๆ อยู่ไม่มาก จากค่าความถี่แสดงให้เห็นว่า “ชื่อ” เป็นคำที่ใช้เป็นคำเรียกขานมากที่สุดในทั้งสองภาษา การเลือกใช้ชื่อเป็นคำเรียกขานมากที่สุดในทั้งสองภาษาอาจเนื่องมาจากสองเหตุผลคือ 1) “ชื่อ” เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือผู้มีสถานภาพสูงกว่าใช้เรียกผู้มีสถานภาพต่ำกว่าเพื่อแสดงถึงอำนาจ ในทางกลับกันผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่มีสถานภาพต่ำกว่าจะไม่ใช้ชื่อเรียกผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือมีสถานภาพสูงกว่าตน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ชื่อ” แฝงไว้ซึ่งความหมายแห่ง “อำนาจ” 2) การใช้ชื่อเรียกผู้ที่มีสถานภาพและอายุเท่าเทียมกันเป็นการแสดงถึงความสนิทสนมแน่นแฟ้น และความเสมอภาค ดังนั้น เมื่อ “ชื่อ” แฝงความหมายถึง “อำนาจ” และ “ความสนิทสนม” อันเป็นกรอบที่ควบคุมการใช้คำเรียกขานทั้งระบบเช่นนี้ ทำให้ค่าความถี่ในการเลือกใช้ “ชื่อ”ในทั้งภาษาไทยและภาษาจีนมีค่าความถี่สูงที่สุด
การใช้คำเรียกญาติแฝงความหมายถึงการแสดงความเคารพผู้ฟัง ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าการใช้ชื่อเรียกผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือผู้มีสถานภาพสูงกว่าเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพผู้ฟัง แต่หากเรียกผู้ฟังด้วยคำเรียกญาติ + ชื่อ(รูปแบบในภาษาไทย) หรือ ชื่อ + คำเรียกญาติ (รูปแบบในภาษาจีน) กลับแสดงถึงความเคารพได้ และในขณะที่ “ชื่อ” แฝงความหมายของความสนิทสนม การใช้คำเรียกขานประสมในรูปแบบนี้สามารถแสดงถึงความเคารพและความสนิทสนมแน่นแฟ้นไปในเวลาเดียวกัน
จากค่าความถี่จะเห็นว่า นอกจาก “ชื่อ” แล้ว ยังมีคำเรียกทั่วไปในสังคม คำเรียกญาติ คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง ถือเป็นคำเรียกขานชนิดที่มีค่าความถี่การใช้มากเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกันในทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
ที่น่าสังเกตคือ การใช้นามสกุลเป็นคำเรียกขานในภาษาไทยไม่สามารถใช้ได้อย่างอิสระ ต้องใช้ร่วมกับชื่อ เท่านั้น ดังนั้นคำเรียกขานประสมที่ประกอบด้วยนามสกุลจึงปรากฏการใช้ในภาษาไทยเพียงรูปแบบเดียวคือ [ชื่อ+ นามสกุล] อาจจะเป็นเพราะว่าในภาษาไทยมีประวัติศาสตร์การใช้นามสกุลไม่นานนัก ซึ่งแตกต่างจากในภาษาจีนอย่างสิ้นเชิง ภาษาจีนมีประวัติศาสตร์การใช้นามสกุลมาช้านาน เท่าๆกับประวัติศาสตร์ชาติจีนเลยทีเดียว การเรียกกันด้วยนามสกุล หรือคำเรียกขานที่มีนามสกุลเป็นส่วนประกอบเป็นคำเรียกขานที่พบเห็นได้เป็นปกติวิสัยทั่วไป กล่าวคือ นอกจากจะใช้ประกอบกับชื่อแล้ว ยังสามารถใช้ร่วมกับคำเรียกญาติ คำบอกอายุ อาชีพ ยศ ตำแหน่ง และคำเรียกทั่วไปในสังคมได้อีกด้วย แต่ในภาษาไทยกลับไม่มีรูปแบบคำเรียกขานประเภทนี้
การเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยคำนึงถึงสถานภาพสูงต่ำของบุคคลมากกว่าในภาษาจีน เป็นเพราะว่าสภาพสังคมและการปกครองต่างกัน สังคมไทยบูชาพระพุทธศาสนาและเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด รองลงมาเป็นระดับเจ้าขุนมูลนาย ระบบสังคมเช่นนี้ทำให้มีความสูงต่ำทางสังคมเกิดขึ้น จะเห็นว่า พระ กษัตริย์ เจ้านายชั้นสูง ข้าราชการ นักศึกษา ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง คือผู้มีสถานภาพสูงในสังคมไทยที่ได้รับความเคารพยกย่อง แต่ชาวนา กรรมกร คนยากจนถือเป็นผู้มีสถานภาพทางสังคมที่ด้อยกว่า คำเรียกขานที่ใช้กับบุคคลสองกลุ่มนี้ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้ว่าในสังคมไทยผู้ที่ยิ่งมีสถานภาพทางสังคมสูงเท่าใด คำเรียกขานก็ยิ่งมีความยาวมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากบุคคลผู้หนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีเชื้อพระวงศ์ มียศตำแหน่งทางวิชาการ มีวุฒิปริญญาเอก เป็นต้น คำที่บ่งบอกสถานภาพเหล่านี้ต้องปรากฏอยู่ในคำเรียกขานเพื่อแสดงถึงสถานภาพทางสังคมอันสูงส่งและแสดงถึงการยกย่องของบุคคลผู้นั้น เช่น “ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ท่าน ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ หม่อมราชวงศ์คฑาวุฒ มาลากุล ณ อยุธยา” แต่ในสังคมจีน โดยเฉพาะหลังปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นต้นมา ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานภาพทางสังคมมากเท่ากับสังคมไทย ดังนั้นการใช้คำเรียกขานในลักษณะนี้จึงไม่ค่อยพบว่ามีใช้ในสังคมจีนปัจจุบัน
คำเรียกขานในภาษาจีนคำนึงถึงปัจจัยทางเพศมากกว่าสังคมไทย จะเห็นได้จากระบบคำเครือญาติในภาษาจีน นอกจากการแยกความแตกต่างตามอายุที่ระบบคำเครือญาติมีอยู่แล้วนั้น ภาษาจีนยังมีการแยกตามความแตกต่างตามเพศอย่างชัดเจน เช่นคำเรียกญาติในรุ่นเดียวกันที่มีอายุมากกว่าตนเองในภาษาไทยมีคำว่า “พี่” เพียงคำเดียว แต่ภาษาจีนมีคำเรียกพี่เพศชายและหญิงแยกออกจากกันชัดเจนคือ 哥哥 “พี่ชาย”และ 姐姐” พี่สาว” เช่นเดียวกันกับคำเรียกญาติในรุ่นเดียวกัน แต่อายุน้อยกว่าตนเองในภาษาไทยมีคำว่า “น้อง” เพียงคำเดียว แต่ภาษาจีนมีคำเรียกพี่เพศชายและหญิงแยกอกจากกันชัดเจนคือ 弟弟 “น้องชาย” และ 妹妹”น้องสาว” ซึ่งระบบคำเครือญาติในภาษาจีนมีการแบ่งแยกเพศเช่นนี้ทั้งระบบ ยิ่งไปกว่านั้น สังคมจีนก็ให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากความคิดที่ว่าผู้ชายเป็นผู้สืบตระกูลของครอบครัว ดังนั้นคำเรียกญาติทางฝ่ายพ่อจะมีแบ่งเป็น 伯伯“ลุง” กับ叔叔 “อา” แต่คำเรียกญาติลักษณะเดียวกันฝ่ายแม่จะใช้คำคำเดียวกัน คือ 舅舅 “ลุง หรือ น้า”
คำเรียกขานในภาษาไทยคำนึงถึงปัจจัยทางอายุมากกว่าสังคมจีน ดังจะเห็นได้จากระบบคำเครือญาติในภาษาไทยที่แบ่งตามอายุมากน้อยก่อน แล้วจึงแบ่งตามเพศ เช่น คำเรียกญาติรุ่นพ่อในภาษาไทย สำหรับผู้ที่อายุมากกว่าพ่อ(หรือแม่) มีคำว่า “ลุง”และ “ป้า” ส่วนผู้ที่อายุน้อยกว่าพ่อจะเรียก “อา” จึงเห็นได้ว่าภาษาไทยแบ่งตามอายุมากน้อยก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยแบ่งว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย ยิ่งไปกว่านั้นด้วยเหตุที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับญาติที่มีอายุมากมากกว่าญาติที่มีอายุน้อย ดังนั้นในกลุ่มญาติที่มีอายุมากจะมีการแบ่งออกเป็นเพศชายและเพศหญิง แต่ในกลุ่มญาติอายุน้อยกลับใช้คำเดียวกันไม่ว่าหญิงหรือชาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าในภาษาไทยให้ความสำคัญกับอายุเป็นอันดับแรก รองลงมาคือความแตกต่างระหว่างเพศ
การใช้คำเรียกญาติเรียกผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติดูจะเป็นลักษณะเด่น และเป็นลักษณะร่วมของสังคมชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไม่เพียงแต่ในภาษาไทยและภาษาจีนเท่านั้นที่มีการใช้คำเรียกญาติเรียกผู้ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติ จากการวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าในภาษาพม่า ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ภาษาลาวรวมถึงภาษาชนกลุ่มน้อยในเอเชียอาคเนย์ ล้วนมีการใช้คำเรียกญาติกับผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติทั้งสิ้น แม้แต่ในสังคมเอเชียตะวันออกไกลเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีก็มีการใช้คำเรียกญาติในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งแตกต่างจากสังคมภาษาทางแถบยุโรปที่ในเหตุการณ์ปกติ จะไม่คุ้นชินกับการเรียกผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติว่า brother, sister, grandma, uncle หรือหากมีการใช้บ้าง ก็ไม่ได้ใช้อย่างเป็นปกติทั่วไปอย่างสังคมภาษาเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ความคิดความเชื่อในเรื่องความเคารพต่อผู้ใหญ่ หรือเรื่องคนทุกคนเปรียบเสมือนญาติพี่น้องกัน” ฝังรากในจิตใจของชาวเอเชียอย่างลึกซึ้ง

4. ปัจจัยกำหนดการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนนั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ
1. ปัจจัยภายใน คือปัจจัยที่อยู่ในตัวผู้เรียก และตัวผู้ถูกเรียก ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพส่วนตัว
เจตนา อารมณ์ความรู้สึก ชนชาติ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานโดยตรง ในบรรดาปัจจัยภายในเหล่านี้ ปัจจัยที่คงที่คือเพศและอายุของคู่สนทนา เนื่องจากในขณะเรียกขานกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใด ช่วงเวลาใด สถานที่ใดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นปัจจัยทั้งสองอย่างนี้จึงมีความสำคัญต่อการเลือกใช้คำเรียกขาน จากการศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนก็พบว่าปัจจัยทั้งสองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญว่าในภาษาใดจะถือเอาปัจจัยใดเป็นอันดับหนึ่งหรือสอง ซึ่งเราพบว่าในภาษาไทยให้ความสำคัญกับปัจจัยอายุเป็นอันดับแรกรองลงมาคือปัจจัยเพศ ในทางกลับกันภาษาจีนให้ความสำคัญกับปัจจัยเพศเป็นอันดับแรกและรองลงมาคือปัจจัยอายุ
2. ปัจจัยภายนอก คือปัจจัยที่อยู่นอกตัวผู้เรียกขานและผู้ถูกเรียก สังคมวัฒนธรรม สถานภาพทาง
สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนา สภาพแวดล้อมทางภาษา ยุคสมัยและระบบภาษา ในบรรดาปัจจัยภายนอกเหล่านี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานที่เด่นชัดที่สุดคือ “ความสัมพันธ์ของคู่สนทนา”
ความสัมพันธ์ของคู่สนทนาแบ่งเป็น ความสัมพันธ์ฉันท์ญาติ และความสัมพันธ์แบบไม่ใช่ญาติแบ่งย่อยได้เป็น คนแปลกหน้า คนรู้จัก คนสนิท ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนาที่กล่าวมานี้อยู่ภายใต้การควบคุมของปัจจัยหลักที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือ “อำนาจ” และ “ความสนิทสนม” ซึ่งค่อนข้างคล้ายคลึงกับทฤษฎีของ Brown and Gillian (1972) ที่กล่าวไว้ว่าสิ่งที่ควบคุมการใช้คำเรียกขานของคนในสังคมมีสองประการคือ พลังอำนาจ (Power) อันเป็นผลมาจากพลังทางร่างกาย ความแตกต่างทางเพศ ฐานะทางครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม เป็นต้น และความสนิทสนมแน่นแฟ้น (Solidarity) อันเป็นผลมาจาก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแง่ของ อาชีพ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ที่อยู่อาศัย ประเทศชาติ ฯลฯ

5 บทสรุป
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อผู้สนทนาจะเลือกใช้คำเรียกขานในแต่ละครั้ง มักจะมีปัจจัยหลายๆอย่างควบคุมการเลือกใช้คำเรียกขานไปพร้อมๆ กัน บางครั้งก็อาจสามารถชี้ได้ชัดเจนว่าเป็นปัจจัยใดบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ในการเลือกใช้คำเรียกขานครั้งหนึ่งๆที่มีปัจจัยมากกว่าหนึ่งปัจจัยควบคุมอยู่นั้น ปัจจัยใดมีอิทธิพลมาก ปัจจัยใดมีอิทธิพลน้อย คงทำได้เพียงการสรุปในภาพรวมเท่านั้น และสามารถสรุปเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
ภาษาจีน ภาษาไทย

เพศ อายุ
ปัจจัย อายุ เพศ ปัจจัย
ภาย สถานภาพส่วนตัว สถานภาพส่วนตัว ภาย
ใน เจตนา เจตนา ใน
อารมณ์ อารมณ์



สถานภาพทางสังคม สถานภาพทางสังคม
ปัจจัย วัฒนธรรมความเชื่อ วัฒนธรรมความเชื่อ ปัจจัย
ภาย สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อม ภาย
นอก ยุคสมัย ยุคสมัย นอก
ระบบภาษา ระบบภาษา
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

บรรณานุกรม[1]龚群虎《汉太关系词的时间层次》,复旦大学出版社,2002,上海。
[2]韩省之《称谓大辞典》,新世界出版社,1991年,北京。
[3]吉常宏《汉语称谓大词典》,河北教育出版社,2000年,石家庄。
[4]姜春霞《汉英称谓语对比与翻译》,广西大学硕士学位论文,2002年,广西。
[5] [韩]金炫兄《交际称谓语和委婉语》,台海出版社,2002年,北京。
[6]梁敏、张均如《侗台语族概论》,社会科学出版社,1996年,北京。
[7](清)梁章钜《称谓录》,天津市故箱书店,1987年,天津。
[8]刘恭懋《古代称谓礼貌语中的人名称呼》,《贵州教育学院学报》,2001年06期。
[9]马宏基,常庆丰《称谓语》,新华出版社,1998年,北京。
[10]牛志平,姚兆女《唐人称谓》,三秦出版社,1987年,西安。
[11]田惠刚.《中西人际称谓系统》,外语教学与研究出版社,1998,北京。
[12]王火、王学元《汉语称谓词典》, 辽宁大学出版社 ,1988年,辽宁。
[13]袁庭栋《古人称谓漫谈》,中华书局,1994年,北京。
[14]张孝忠《古今称谓辞典》, 中国国际广播出版社 ,1988年,北京
[15]Aroonmanakun, Wirote(1999) Extending Focusing for Zero Pronoun Resolution in Thai ,PhD.Dissertation,
Georgetown University,
[16]Brown Roger & Gilman Albert (1972),The pronoun of power and solidarity , In Fishman(ed.)Rearing in The
Sociology of Language.
[17]Cooke Joseph Robinson(1966),Pronomial Reference in Thai,Burmese,and Vietnamese,(Dissertation
Abstracts International, Ann Arbor, 1966, Vol.26.
[18]Ervin-Trip Susan M.( 1972) An Analysis of the interaction of Language, Topic and Listener,In Fishman(ed.)
Reading in The Sociology of Language .
[19]Filbeck David (1973),Pronouns in Northern Thai, Anthropological Linguistics. 15, 345-61. Bloomington, IN ,
[20]Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint(1986),The Use of Address Terms in Thai during the Ratanakosin
period ,Julalongkorn University : Bangkok Thailand.
[21]Lohtrakullwat Chutharat, A comparative study of Addressing terms in France and Thai ,M.A.Thesis in linguistics,
Chulalongorn University Thailand,1998.
[22]Manomaivibool,Prapin (1975), A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence,Ph.D. Dissertation,University of
Washington,
[23]Palakornkul A.(1975), A Sociolinguistics study of pronominal usage in spoken Bangkok Thai ,International
Journal of the Sociology of Language, 5, pp. 11-41.
[24]Simpson R. C.(1996)The many I’s of Thai: Gender Differences in self-reference ,Presented at Annual
meeting of New Ways of Analyzing Variation conference, October,. 11,199.

3 ความคิดเห็น:

  1. อยากหาหนังสือที่ดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาอังกฤษอ่านไม่รู้เรื่อง หาไม่เจอ

    ตอบลบ
  2. คุณผึ้งน้อยครับ

    บทความนี้เป็นภาษาไทยครับ สามารถหาอ่านได้ตามรายการบรรณานุกรมนี้นะครับ

    เมชฌ สอดส่องกฤษ (2550) “การใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน : การศึกษาเปรียบเทียบ” วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,ปีที่ 3 ฉบับที่ 2.

    นอกจากนี้ มีหนังสือที่เกี่ยวข้อง ผมได้ส่งไปเผยแพร่ยังห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถหาอ่านตามรายการนี้ครับ


    เมชฌ สอดส่องกฤษ (2553) วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยและภาษาจีน : ระบบคำเรียกขาน.อุบลราชธานี :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

    ตอบลบ
  3. เรียน อ.เมชฌ หนูได้อ้างอิงบทความ "การใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนในสมัยปัจจุบัน" ของ อ. ค่ะ และพยายามหาไฟล์เล่มจริงเพื่อดูหมายเลขหน้า แต่ไม่พบค่ะ จึงขอความอนุเคราะห์ อ.ช่วยแนะนำให้ด้วยค่ะ
    ด้วยความเคารพ
    ถนอมพรรณ

    ตอบลบ