วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา: กรณีศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน

เมชฌ สอดส่องกฤษ (2551) “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา” วารสารวิชาการรมยสาร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ปีที่ 6 ฉบับที่ 1.

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา: กรณีศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน

บทคัดย่อ
บทความนี้ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษาโดยเปรียบเทียบระหว่างภาษาไทยกับภาษาจีนผ่านกลุ่มคำเรียกขาน ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษาในทั้งสองภาษาได้แก่ ชนชาติ อารมณ์ความรู้สึก อายุ เพศ สถานภาพทางสังคม เจตนา ความสัมพันธ์ของคู่สนทนา และสภาพแวดล้อม
คำสำคัญ คำเรียกขาน ภาษาไทยและภาษาจีน ภาษาศาสตร์เชิงสังคม ภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ

Factors in Language Selection: A Comparative Study of Thai and Chinese Address Terms

Abstract
This article investigates and compares the factors in language selection in Thai and Chinese language through address terms. The result indicates that the factors that affect language selection in both languages are the speaker’s cultural background, emotion, age, gender, social status, purposes, relationship and context.
Keywords: Address Terms, Thai and Chinese, sociolinguistics, comparative linguistics

บทนำ
การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่การศึกษาวิจัยทางภาษาศาสตร์เชิงสังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้คำเรียกขาน เพราะเป็นกลุ่มคำที่มีปัจจัยการเลือกใช้ที่ซับซ้อน แต่ชัดเจน สามารถบ่งชี้เป็นรูปธรรมหรือแสดงผลการวิจัยที่เป็นสถิติได้ กระนั้นก็ตาม เหตุจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้ปัจจัยที่ควบคุมการเลือกใช้คำเรียกขานในแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน ยากที่จะตัดสินได้ชัดเจน การศึกษาเปรียบเทียบเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะศึกษาได้ว่าในการเลือกใช้ภาษามีปัจจัยใดบ้างที่มีอิทธิพลควบคุมอยู่ ในแต่ละสังคมภาษามีหรือไม่มีปัจจัยใดแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ผลของการศึกษาเปรียบเทียบจะสามารถชี้ชัดถึงปัจจัยการใช้ภาษาของทั้งสองภาษาได้ชัดเจน เป็นประโยชน์สำหรับผู้ศึกษาภาษาทั้งสอง

ทบทวนวรรณกรรม
การศึกษาเรื่องปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาต่างประเทศ งานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัจจัยการใช้ภาษาที่สำคัญคือ การศึกษาด้านภาษาศาสตร์สังคม ของ บราวน์ และ ฟอร์ด (Brown and Ford : 1964) ศึกษาการใช้คำเรียกขานของคนอเมริกัน โดยให้ความเห็นว่าการเลือกใช้คำเรียกขานพิจารณาสถานภาพของตนเองกับผู้ที่พูดด้วย และงานทางภาษาศาสตร์สังคมอีกชิ้นหนึ่งคือ An Analysis of the interaction of Language ของ ซูซาน เออร์วินทริป (Susan Ervin-Trip: 1972) ศึกษาวิจัยคำเรียกขานในภาษาอังกฤษและเสนอกฎภาษาศาสตร์เชิงสังคมคือ “กฎการเลือก” ซึ่งหมายถึงผู้คนในสังคมหนึ่งๆ เมื่อต้องการใช้คำเรียกขานแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของตนและคู่สนทนาเป็นปัจจัยในการเลือกใช้คำเรียกขาน งานวิจัยที่กล่าวถึงการเปรียบเทียบปัจจัยการเลือกใช้ภาษาโดยเฉพาะเรื่องคำเรียกขาน ที่สำคัญคือ งานของ คุก โจเซป โรบินสัน (Cooke Joseph Robinson:1968) ศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทย ภาษาพม่าและภาษาชนกลุ่มน้อยอื่นๆในเอเชียอาคเนย์พบว่า การใช้คำเรียกขานในภาษาเหล่านี้ต้องคำนึงถึงเพศ อายุ สถานภาพทางสังคมและสถานการณ์การใช้ภาษา
การศึกษาปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทย ผลงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทยที่สำคัญได้แก่ อังกาบ พลากรกุล (Palagornkul A.:1972) ศึกษาการใช้คำสรรพนามในภาษาไทยกรุงเทพ กัลยา ติงศภัทย์ และ อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint :1986) เรื่อง The Use of Address Terms in Thai during the Ratanakosin โดยจะเห็นว่าเป็นผลงานการศึกษาเรื่องคำเรียกขานที่มีนัยทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือก แต่การศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาภาษาในอดีต หรือศึกษาเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถอธิบายถึงวิธีการใช้ และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้คำเรียกขานในสังคมไทยได้
การศึกษาปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาจีน สำหรับในภาษาจีน การศึกษาปัจจัยการเลือกใช้ภาษายังไม่ชัดเจนมากนัก ส่วนใหญ่ปรากฏในการศึกษาเรื่องคำเรียกขาน ซึ่งมักออกมาในรูปแบบพจนานุกรม เช่น พจนานุกรมเอ๋อร์หย่า《尔雅》อธิบายถึงคำเรียกขานในภาษาจีน ความหมาย ตลอดจนวิธีการใช้คำเรียกขานอย่างละเอียด 《称谓录》เป็นพจนานุกรมที่บันทึกคำเรียกขานในสมัยราชวงศ์ชิง แม้แต่ในปัจจุบันนักวิชาการจีนก็ยังสนใจวิจัยคำเรียกขานเพื่อรวบรวมออกมาเป็นรูปแบบของ พจนานุกรม เช่นงานของ หยวนถิงต้ง (袁庭栋:1994) เรื่อง การวิจัยคำเรียกขานของคนโบราณ 《古人称谓漫谈》งานของ จี๋ฉางหง (吉常宏:2000) ชื่อ พจนานุกรมคำเรียกขานภาษาจีน《汉语称谓大辞典》ซึ่งเป็นการรวบรวมและอธิบายความหมายของคำเรียกขาน แต่ไม่ได้ศึกษาถึงการใช้และปัจจัยการใช้คำเรียกขานดังกล่าว ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทยและภาษาจีนโดยเฉพาะนั้นยังไม่มีผู้ศึกษา คงมีแต่การศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับคำเรียกขานภาษาจีนกับภาษาต่างประเทศ เช่น เถียนฮุ่ยกัง (田惠刚:1998) ศึกษา “เปรียบเทียบระบบคำเรียกขานในภาษาจีนกับภาษาตะวันตก” 《中西人际称谓系统》 จินเซวียนตุ้ย (金玄兑:2002) เรื่อง “คำเรียกขานเพื่อการสื่อสารและภาษาสุภาพ” 《交际称谓语
和委婉语》เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระบบคำเรียกขานภาษาจีนและภาษาเกาหลี และการศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ เช่น วิทยานิพนธ์ของจุฑารัตน์ โล่ห์ตระกูลวัฒน์ (2541)เรื่อง “การเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเศส” แต่งานที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมุ่งเน้นศึกษารวบรวมคำที่นำมาใช้เป็นคำเรียกขานเท่านั้น มิได้เน้นศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลในการใช้ภาษาโดยเฉพาะหรือปัจจัยในการเลือกใช้คำเรียกขานดังกล่าว

คำจำกัดความ
“คำเรียกขาน” หมายถึงคำที่นำมาใช้เพื่อเรียกคู่สนทนา คำเหล่านี้บ่งบอกความสัมพันธ์ของคู่
สนทนา และแฝงความหมายในเรื่องสถานภาพทางสังคม ในภาษาส่วนใหญ่คำที่นำมาใช้เป็นคำเรียกขาน
ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยาและคำอุทาน
“การใช้คำเรียกขาน” คือการเลือกคำเรียกขานมาใช้ตามข้อกำหนดของสังคมและ / หรือ
สถานการณ์ การใช้ภาษา ตลอดจนสภาพแวดล้อมและภูมิหลังทางวัฒนธรรม ซึ่งการใช้คำเรียกขานจะมีรูปแบบต่างๆกันไป อาจใช้คำเรียกขานเดี่ยว หรือประกอบกับคำเรียกขานอื่นหรือคำประเภทอื่นเกิดเป็นรูปแบบคำเรียกแบบใหม่ ใน 2 ภาษาอาจมีคำเรียกขานประเภทเดียวกัน แต่ไม่แน่ว่าจะมีวิธีและรูปแบบการใช้อย่างเดียวกัน ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดทางวัฒนธรรมและความคิดความเชื่อของแต่ละสังคม เช่น บางสังคมให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างทางเพศมากกว่าความแตกต่างด้านอายุ หรือบางสังคมให้ความสำคัญด้านสถานภาพทางสังคมมากกว่าปัจจัยเพศและอายุ เหล่านี้นี่เองทำให้การใช้คำเรียกขานที่แม้จะมีเหมือนกันในทุกๆภาษา แต่กลับมีวิธีการใช้แตกต่างกัน
“รูปแบบคำเรียกขาน” คำเรียกขานมีสองประเภท คือคำเรียกขานเดี่ยว และคำเรียกขานประสม คำเรียกขานเดี่ยวเกิดจากการนำคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำอุทานมาใช้เรียกโดยตรง โดยไม่มีการประกอบกับคำอื่น ส่วนคำเรียกขานประสมเป็นกลุ่มคำเรียกขานที่มีส่วนประกอบของคำสองคำขึ้นไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษาและวิธีการศึกษา
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาปัจจัยการเลือกใช้ภาษาโดยเลือกศึกษากลุ่มคำเรียกขานที่ปรากฏในเอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ตลอดจนการสังเกตการใช้ภาษาในสถานการณ์จริงอย่างมีส่วนร่วมทั้งในภาษาไทยและภาษาจีน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเลือกใช้ภาษาทั้งในภาษาไทยและภาษาจีนมี 8 อย่าง ดังจะได้อธิบายแต่ละหัวข้อดังนี้ 1.คำเรียกขานกับชนชาติ 2.คำเรียกขานกับอารมณ์ความรู้สึก 3.คำเรียกขานกับอายุ 4.คำเรียกขานกับเพศ 5.คำเรียกขานกับสถานภาพทางสังคม 6.คำเรียกขานกับเจตนา 7. คำเรียกขานกับความสัมพันธ์ของคู่สนทนา 8. คำเรียกขานกับสภาพแวดล้อม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา : กรณีศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน

1. คำเรียกขานกับชนชาติ
คำเรียกขานในแต่ละภาษาได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมของชนชาติของตนแตกต่างกันไป สามารถอธิบายได้ดังนี้
1.1 ระบบคำในภาษา คำเรียกขานได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษา ระบบคำที่แตกต่างกันในแต่ละภาษาทำให้คำเรียกขานแตกต่างกันไปด้วย เช่น ในภาษาไทยมีคำเรียก ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่ไม่แน่ว่าในภาษาอื่นๆ จะแบ่งเป็น 3 ระดับอย่างในภาษาไทย รวมทั้งความหมายของคำเรียกเหล่านี้ก็ไม่เหมือนกัน ในภาษาจีนมีคำเรียกตำแหน่งทางวิชาการนี้เพียง2 ระดับคือ 教授 “ศาสตราจารย์” และ副教授 “รองศาสตราจารย์” เท่านั้น ไม่มีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำเรียกขานที่แบ่งระดับตำแหน่งในภาษาจีนมีเพียง2 ตำแหน่งคือหัวหน้า และรอง เช่น 省长 “ผู้ว่าราชการจังหวัด” 副省长 “รองผู้ว่าราชการจังหวัด” 校长 “อธิการบดี” 副校长 “รองอธิการบดี” 厂长 “หัวหน้าโรงงาน” 副厂长 “รองหัวหน้าโรงงาน” 部长 “หัวหน้าฝ่าย” 副部长 “รองหัวหน้าฝ่าย” แต่ในภาษาไทยกลับแบ่งเป็น3 ระดับ คือตำแหน่งหัวหน้า ตำแหน่งรอง และตำแหน่งผู้ช่วย นอกจากนี้ จากตัวอย่างภาษาจีนข้างต้นจะเห็นว่าภาษาจีนใช้คำว่า 长 “หัวหน้า” และ 副 “รอง” ประกอบกับคำที่บ่งบอกหน่วยงานใช้เป็นคำเรียกหัวหน้าและรองหัวหน้าของหน่วยงานนั้นๆ แต่ในภาษาไทยกลับมีคำเรียกเฉพาะ เช่น หัวหน้าของจังหวัดเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าของมหาวิทยาลัยเรียกว่าอธิการบดี หัวหน้าของโรงพยาบาล โรงเรียนเรียกว่าผู้อำนวยการ เป็นต้น ไม่ได้ใช้คำว่า “หัวหน้า” และ “รองหัวหน้า” ประกอบกับคำบอกหน่วยงานเรียกเป็น หัวหน้าจังหวัด หัวหน้ามหาวิทยาลัย หรือหัวหน้าโรงพยาบาล เหมือนอย่างในภาษาจีน
ในกลุ่มคำเครือญาติ การแบ่งเครือญาติในภาษาจีนไทยก็มีความแตกต่างกัน ทำให้คำที่ใช้ต่างกันไปด้วย เช่นคำเรียกญาติในรุ่นเดียวกันกับตนเองในภาษาไทย มี 2 คำคือ “พี่” กับ “น้อง” โดยใช้อายุมากกว่า และน้อยกว่าเป็นเกณฑ์การแบ่ง แต่ในภาษาจีน นอกจากจะใช้เกณฑ์อายุมากกว่าน้อยกว่าแล้ว ยังแบ่งเพศอีกด้วย ทำให้คำเรียกญาติในรุ่นเดียวกันกับตนมี 4 คำ คือ 兄 “พี่เพศชาย” 姐 “พี่เพศหญิง” 弟 “น้องเพศชาย” 妹 “น้องเพศหญิง” ดังนั้นคำว่าพี่ในภาษาไทยรวมความหมาย兄และ姐 ในภาษาจีน และคำว่าน้องในภาษาไทยก็รวมความหมาย 弟และ妹 ในภาษาจีน จากคำเรียกญาติ 4 คำนี้ในภาษาจีนสามารถประกอบกับคำอื่นเป็นคำเรียกขานใหม่ได้มากมาย เช่น 的哥 “คนขับแท็กซี่เพศชาย” 的姐 “คนขับแท็กซี่เพศหญิง” 空姐 “แอร์โฮสเตส” 吧妹 “สาวบาร์”เป็นต้น แต่ด้วยข้อจำกัดที่ในภาษาไทยไม่มีคำเรียกประเภทนี้ เป็นผลให้ต้องยืมคำเรียกบุคคลเหล่านี้มาจากภาษาต่างประเทศ กล่าวคือ โชเฟอร์ แอร์โฮสเตส บาร์เทนดี้เป็นต้น
คำเครือญาติในภาษาจีนส่วนใหญ่เป็นคำซ้ำพยางค์ เช่น 爸爸 “พ่อ” 妈妈 “แม่” 爷爷 “ปู่” 奶奶 “ย่า” 哥哥 “พี่ชาย” 姐姐 “พี่สาว” 弟弟 “น้องชาย” 妹妹 “น้องสาว” การซ้ำคำเหล่านี้ไม่มีนัยทางไวยากรณ์ แต่ในภาษาไทยหากใช้ พ่อๆ แม่ๆ ปู่ๆ ย่าๆ พี่ๆ น้องๆ กลับมีความหมายเป็นพหูพจน์ ในทางกลับกันคำบางคำในภาษาจีนไม่สามารถซ้ำคำเพื่อบอกความหมายเป็นพหูพจน์ได้ แต่คำในความหมายเดียวกันนั้นภาษาไทยกลับซ้ำคำเพื่อบอกพหูพจน์ได้ เช่น เราเรา ท่านท่าน ภาษาจีนไม่พูดว่า 我我 ,你你แต่จะใช้ว่า 我们 “พวกเรา” 你们 “พวกท่าน”
1.2 ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ วัฒนธรรมทางศาสนาทิ้งร่องรอยไว้ในภาษามากมาย จีนและไทยล้วนได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและพราหมณ์มาตั้งแต่อดีตเช่นเดียวกัน ทำให้คำเรียกขานที่รับมาจากการเข้ามาของศาสนาพุทธในทั้งสองภาษามีเป็นจำนวนมาก เช่น 尼姑 “ภิกษุณี” 和尚 “พระ” 沙弥 “สามเณร” 僧人นักบวช 婆罗门僧สมณะชีพราหมณ์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการนับถือศาสนาพุทธในจีนไม่ได้พัฒนาแพร่หลายอย่างไทย ปัจจุบันศาสนาพุทธ พราหมณ์ หรือศาสนาใดๆ ในจีนดูจะมีบทบาทน้อยลง กระทั่งไม่เคยปรากฏในการใช้ภาษาปกติ หากแต่จะปรากฏในแวดวงศาสนาหรือแวดวงการศึกษาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เป็นเหตุให้คำที่เคยใช้ในศาสนาเลิกใช้และสูญหายไปจากภาษาโดยปริยาย แต่ในขณะที่ภาษาไทย คำเรียกขานที่มาจากศาสนาพุทธพราหมณ์เช่น นาค ลูกแก้ว ทิด ภิกษุ ภิกษุณี พระพรหม วิษณุ พิฆเนศวรเหล่านี้เป็นต้น ยังคงใช้อยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนไทยตามปกติ นอกจากนี้เป็นที่แน่นอนว่าคำเรียกขานจำพวกผีฟ้า ผีปอบ กระสือ กระหัง นางตานี ผีแม่หม้าย ที่เกิดจากความเชื่อและทัศนคติต่อสิ่งลี้ลับของคนไทยย่อมไม่มีคำที่สื่อความหมายที่ตรงกันอยู่ในภาษาจีน
วัฒนธรรมการใช้คำเรียกญาติเรียกบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติดูจะเป็นลักษณะเด่นของภาษาเอเชีย ภาษาไทยและภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน วิธีการเลือกใช้คำเรียกญาติเรียกบุคคลที่ไม่ใช่ญาติคือการเทียบเคียงอายุของผู้ถูกเรียกกับญาติตน แล้วจึงเลือกใช้คำนั้นเป็นคำเรียก ในภาษาไทยสามารถใช้คำเรียกญาติเรียกผู้อื่นได้โดยตรงตามข้อกำหนดการเลือกดังกล่าว เช่น ผู้ฟังอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพี่ ป้า น้า อา ตา ยาย ก็สามารถใช้คำเหล่านี้เรียกได้โดยตรง แต่สำหรับในภาษาจีนคำเรียกญาติเมื่อจะใช้เรียกบุคคลที่ไม่ใช่ญาติมักมีส่วนเติมเพื่อแยกแยะออกจากคำเรียกญาติแท้ เช่น 大妈 “แม่ใหญ่” 大爷 “ปู่ใหญ่” 大哥 “พี่ใหญ่ ” 大姐 “เจ๊ใหญ่” 小妹妹 “น้องสาวเล็ก” 小弟弟 “น้องชายเล็ก” 老爷爷 “ปู่แก่” ซึ่งการเติม คำว่า 大 “ใหญ่” 小 “เล็ก” 老 “แก่” เหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกอายุของผู้ถูกเรียก แต่เป็นคำที่ใช้บ่งบอกว่าคำเรียกญาติเหล่านี้ใช้เรียกบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ นอกจากนี้ในภาษาจีนยังใช้คำเรียกญาติประกอบกับคำเรียกอาชีพเพื่อหมายถึงคำเรียกบุคคลที่ประกอบอาชีพนั้นโดยรวม เช่น 警察叔叔 “คุณอาตำรวจ (หรือเหล่าคุณอาตำรวจทั้งหลาย)” 工人大哥 “คุณพี่คนงาน (หรือเหล่าคุณพี่คนงาน)” 解放军叔叔 “คุณอาทหาร (หรือเหล่าคุณอาทหาร)” แต่ในภาษาไทยหากใช้วิธีเดียวกันนี้เช่น ลุงจ่า อาหมอ แม่หมอ พ่อครู กลับบ่งบอกความสนิทสนมแน่นแฟ้นของคู่สนทนาและบ่งความหมายเป็นเอกพจน์
การใช้คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่งเรียกผู้ฟังเป็นการแสดงความเคารพอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งทั้งภาษาไทยและจีนมีการเรียกในลักษณะเดียวกันและแฝงความหมายอย่างเดียวกัน แต่ในภาษาจีนยังมีรูปแบบคำเรียกขานอีกรูปแบบหนึ่งที่มักประกอบกับคำเรียกอาชีพเพื่อแสดงความเคารพคือการเรียก “นามสกุล + คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง” หรือ “นามสกุล” แต่คำเรียกในลักษณะนี้ไม่มีในภาษาไทย เพราะภาษาไทยไม่ใช้นามสกุลเรียกขานกัน แต่จะเรียก “คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง + ชื่อ” แทน ซึ่งการใช้คำเรียกขานรูปแบบนี้นอกจากจะแฝงความเคารพแล้ว ยังสามารถแสดงความสนิทสนมกับผู้ฟังไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย แต่ในภาษาจีนการเรียกชื่อบ่งบอกถึงความสนิทสนม ไม่อาจใช้เรียกผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือสถานภาพสูงกว่าตนได้ มิฉะนั้นจะเป็นการไม่สุภาพและไม่เคารพผู้ฟัง
1.3 คำเรียกขานที่มีอยู่ในภาษาหนึ่งไม่จำเป็นว่าในอีกภาษาหนึ่งจะต้องมีเหมือนกัน ในแต่ละสังคมมีการเมืองการปกครอง มีบุคคลที่ประกอบอาชีพ ตลอดจนการบ่งชี้ถึงบุคคลต่างๆไม่เหมือนกัน คำเรียกขานที่มีอยู่ในภาษาหนึ่งบางครั้งไม่สามารถหาคำแปลที่มีความหมายเดียวกัน ใกล้เคียงกัน หรือคล้ายคลึงกันในอีกภาษาหนึ่งได้ เช่นจีนเป็นประเทศระบอบสาธารณรัฐ มี 主席 “ประธานาธิบดี” เป็นประธานสาธารณรัฐจีน มี 总理เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งคณะรัฐบาลจีน แม้ในภาษาไทยมีคำว่าประธานาธิบดี แต่คนไทยก็ไม่ได้เข้าใจในตำแหน่งหน้าที่และความหมายที่แท้จริงของคำเรียกขานนี้ ในขณะที่คนจีนก็ไม่เข้าใจบทบาทตำแหน่งอำนาจหน้าที่และพระบรมเดชานุภาพของ国王 “พระ มหากษัตริย์” และตำแหน่งอำนาจหน้าที่ของ 总理 “นายกรัฐมนตรี” ของไทยเช่นกัน
คำเรียกขานในภาษาต่างๆบางครั้งมีตรงกันสามารถแปลได้โดยตรง บ่งชี้ถึงบุคคลเดียวกัน แต่ความหมายที่แฝงอยู่ในคำเรียกขานย่อมแตกต่างกันตามพื้นฐานสังคม เช่น พจนานุกรมจีน-ไทย ไทย-จีน แปลคำว่า 知识分子ว่า “บัณฑิต” แต่ 知识分子 ใช้บ่งชี้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถสูง ใช้กำลังสมองในการทำงาน ในขณะที่ภาษาไทย “บัณฑิต” มีความหมายถึงผู้มีความรู้ความสามารถเช่นกัน แต่มักจะใช้ในความหมายที่บ่งชี้ถึงผู้จบหลักสูตรปริญญาตรีเท่านั้น โดยมีคำว่ามหาบัณฑิตสำหรับเรียกผู้จบปริญญาโทและดุษฎีบัณฑิตสำหรับเรียกผู้จบปริญญาเอก

2. คำเรียกขานกับอารมณ์ความรู้สึก
ด้วยเหตุที่สังคมหนึ่งๆประกอบด้วยผู้คนหลากหลายและแตกต่าง ประกอบกับปัจจัยด้านอายุ เพศ สถานภาพของบุคคล ส่งผลให้คำเรียกขานต้องสื่อหรือแฝงความหมายหลายๆด้าน การเรียกขานบุคคลต่างๆในสังคมจึงมีมากมายและสลับซับซ้อน เช่นในภาษาไทย คำเรียกผู้ให้กำเนิดเพศชายมีคำว่า “พ่อ” เป็นคำกลาง “บิดา” เป็นคำสุภาพ “พระชนก” เป็นคำราชาศัพท์ “ป๋า ป่าป๊า” เป็นคำยืมจากภาษาจีนใช้ในภาษาพูด คำเรียกผู้ให้กำเนิดเพศหญิงมีคำว่า “แม่” เป็นคำกลาง “มารดา”เป็นคำสุภาพ “พระชนนี” เป็นคำราชาศัพท์ “หม่าม้า” เป็นคำยืมจากภาษาจีนใช้ในภาษาพูด คำในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน คำที่เรียกผู้ให้กำเนิดเพศชาย เช่น 爸爸“พ่อ” เป็นคำกลางหมายถึงพ่อ 父亲คล้ายกับความหมายภาษาไทยในคำว่า “บิดา” ใช้เป็นคำสุภาพ (เรียกพ่อของผู้ฟัง) คำว่า家父 คล้ายกับความหมายภาษาไทยคำว่า “บิดา” ใช้เป็นคำสุภาพเรียกพ่อของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว คำว่า 爹ใช้เป็นภาษาพูด 爹地 “Daddy” เป็นภาษาเด็ก ส่วนคำเรียกผู้ให้กำเนิดเพศหญิง เช่น 妈妈เป็นคำกลางหมายถึงแม่ 母亲คล้ายกับความหมายภาษาไทยว่า “มารดา” ใช้เป็นคำสุภาพ(เรียกแม่ของผู้ฟัง) 家母มีความหมายคล้ายกับคำในภาษาไทยคำว่า “มารดา” ใช้เป็นคำสุภาพเรียกแม่ของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว 娘ใช้เป็นภาษาพูด 妈咪 “หม่ามี้” เป็นภาษาเด็ก การใช้คำที่มีความแตกต่างและหลายหลายแต่ใช้เรียกบุคคลเดียวกันนี้เอง สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกรักใคร่ เกลียดชัง เคารพ ถ่อมตัว สรรเสริญ ดูหมิ่นได้อย่างชัดเจน เป็นที่มาของของคำเรียกขานประเภทแสดงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้
2.1 คำเรียกขานแสดงความเคารพและแสดงความถ่อมตัว ในสังคมหนึ่งๆประกอบด้วยสมาชิกต่างสถานภาพกัน อิทธิพลของสถานภาพทางสังคมสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนในภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำเรียกขาน เช่นในสังคมไทย ชาวไทยมีความจงรักภักดีเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม คำเรียกขานที่ใช้กับพระราชวงศ์จึงเป็นคำราชาศัพท์ที่กำหนดแน่นอนไม่สามารถใช้ปะปนกับสามัญชนได้ เช่นคำราชาศัพท์สรรพนามบุรุษที่สอง ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใต้ฝ่าละอองพระบาท ใต้ฝ่าพระบาท ฝ่าบาท ใต้เท้า บ่งบอกถึงระดับชั้นของคำราชาศัพท์สรรพนามลดหลั่นจากสูงถึงต่ำอย่างชัดเจน และความหมายที่แฝงอยู่ในการแบ่งคำเรียกขานในแต่ละระดับชั้นนั้นก็คือระดับความเคารพและความสุภาพนั่นเอง ในภาษาปกติใช้คำว่า “คุณ” นำหน้าคำเรียกขานอื่น เช่น ชื่อ คำเรียกญาติ คำบอกอาชีพ ยศตำแหน่ง ก็สามารถใช้เป็นคำเรียกขานแสดงความเคารพและสุภาพได้เช่นเดียวกัน ในขณะที่ใช้คำสรรพนามแสดงความสุภาพจำพวก “ผม กระผม หนู” หรือ ชื่อ เป็นคำเรียกตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว
คำเรียกขานในภาษาจีนก็มีคำประเภทแสดงความเคารพและแสดงความถ่อมตัวโดยเฉพาะ เช่นกัน เช่น 陛下 “ฝ่าบาท” 尊夫人 “ฮูหยินที่เคารพ” 足下 “ใต้เท้า” 令郎 “บุตรของท่าน” เหล่านี้ใช้เป็นคำแสดงความเคารพ ส่วน小女 “หญิงผู้ต่ำต้อย” เป็นคำที่ผู้หญิงใช้เรียกตัวเอง 鄙人 “ข้าน้อยผู้ต่ำศักดิ์” 犬子 “ลูกหมา” เป็นคำที่ใช้เรียกลูกตัวเอง 小人 “ข้าน้อย” แต่คำเหล่านี้เป็นคำเรียกขานที่ใช้เพื่อเรียกแสดงความถ่อมตัวในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยใช้แล้ว แต่จะใช้คำเรียกขานเพื่อแสดงความเคารพรูปแบบอื่นแทน เช่น “คำเรียกญาติ” , “นามสกุล+老” , “นามสกุล + คำเรียกอาชีพ” เป็นต้น ส่วนคำเรียกตัวเองในปัจจุบันมีแนวโน้มใช้คำที่บอกความเป็นกลางมากกว่าคือคำว่า “我”
2.2 คำเรียกขานแบบสนิทสนมและรักใคร่ เมื่อพูดกับผู้ที่มีความสนิทสนมกันหรือต้องการแสดงความสนิทสนม หรือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีสถานภาพแตกต่างกัน ภาษาไทยและภาษาจีนจะใช้วิธีเดียวกัน คือใช้คำเรียกญาติเป็นคำเรียกขานหรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของคำเรียกขาน คู่สนทนาที่เป็นรุ่นเดียวกันหรือผู้มีอายุมากกว่าเรียกผู้มีอายุน้อยกว่า ภาษาไทยจะใช้คำเรียกญาติ ชื่อเล่น สมญานาม ในภาษาจีนการใช้รูปแบบคำเรียกขานประเภท “นามสกุล+ชื่อ” , “นามสกุล+先生” จะมีความเป็นทางการมากกว่าการเรียกชื่อเล่นหรือคำเรียกญาติ ในภาษาไทยก็เช่นเดียวกัน การเรียก “ชื่อจริง+นามสกุล” , “คำนำหน้า + ชื่อ + นามสกุล” ย่อมแสดงความเป็นทางการมากกว่าการเรียกด้วยชื่อเล่นและคำเรียกญาติ จะเห็นว่าทั้งภาษาไทยและภาษาจีนใช้ “คำเรียกญาติ” และ “ชื่อเล่น” เป็นคำเรียกขานที่แสดงความสนิทสนมเหมือนกัน
คำเรียกขานที่แสดงออกถึงความรักในภาษาไทยและภาษาจีนใช้วิธีอย่างเดียวกันคือ มักมีหรือใช้คำว่า “รัก” เป็นส่วนประกอบคำเรียกขาน เช่น 爱妻 “เมียรัก” 爱弟“น้องรัก” 爱人“คนรัก” 亲爱的 “ที่รัก” คำเรียกขานประเภทนี้ใช้เรียกผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันและอายุน้อยกว่า แต่มักไม่ใช้เรียกผู้มีอายุมากกว่า คำเรียกขานที่แสดงถึงความรักใคร่บางคำไม่จำเป็นต้องมีคำว่ารักเป็นส่วนประกอบก็ได้ อาจใช้คำอื่นประกอบกับคำเรียกขานเพื่อแสดงออกถึงความรักได้เช่นคำว่า “ดี” ในภาษาไทย และภาษาจีนก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เช่น 好孩子เด็กดี 好丈夫(สามีดี) คนดีของเมีย 好妻子(ภรรยาดี) คนดีของผัว นอกจากนี้ยังมีคำเรียกขานบางคำที่แสดงถึงความรักหรือสื่อถึงความรักโดยอุปมา เช่นภาษาจีน 心肝หัวใจและตับ คล้ายกับความหมายในภาษาไทยว่า “แก้วตาดวงใจ” 宝贝ของล้ำค่า คล้ายกับความหมายในภาษาไทยว่า “หัวแก้วหัวแหวน” คำสองคำนี้เป็นคำที่พ่อแม่ใช้เรียกลูก แต่ก็มีการนำมาใช้เรียกคนรักเพื่อแสดงความรักเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังใช้คำที่มีความหมายในทางตรงข้ามกันมาใช้เป็นคำเรียกขานแสดงความรักได้อีกด้วย เช่นในภาษาไทย พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เรียกคนในครอบครัวที่อายุน้อยกว่าว่า “ไอ้ขี้หมา” “ไอ้หมาน้อย” ในภาษาจีนก็มีวิธีนี้เช่นกัน เช่น 小对头 “คู่แค้นคู่อาฆาต” 小冤家 “คู่เวรคู่กรรม หรือ คู่รักคู่แค้น”
2.3 คำเรียกขานแบบยกย่องและล้อเลียน
2.3.1 คำเรียกขานแบบยกย่อง การสื่อสารแต่ละครั้ง เมื่อผู้พูดปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย หรือมีเจตนาเพื่อต้องการยกย่อง จะเลือกใช้ภาษาที่แสดงถึงความสุภาพนอบน้อม แสดงความเคารพและยกย่องผู้ฟัง ในที่นี้คำเรียกขานเป็นคำที่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้พูดจะเปลี่ยนคำเรียกขานที่ใช้ตามปกตินั้นเป็น “คำเรียกขานแบบยกย่อง” เช่น ในภาษาไทยเรียกชาวนาว่า “กระดูกสันหลังของชาติ” เรียกตำรวจว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” เรียกพ่อครัวว่า “โภชนากร” เรียกดารานักแสดงว่า “ศิลปิน” เป็นต้น ในภาษาจีนก็มีคำเรียกขานในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น เรียกพ่อครัวว่า 饮食专家 “ผู้เชี่ยวชาญทางโภชนาการ” เรียกหมอว่า 白衣天使 “เทวดาชุดขาว” เรียกช่างตัดผมว่า 美容师 “ผู้เชี่ยวชาญความงาม” เรียกครูอาจารย์ว่า 园顶 ในสมัยโบราณใช้คำนี้เรียกศิลปินผู้เชี่ยวชาญในการจัดสวน การนำคำนี้มาเรียกอาชีพครูอาจารย์มีที่มาจากการเปรียบเทียบว่า 儿童是祖国的花朵,教师是辛勤的圆顶 “เด็กๆ คือดอกไม้ของชาติ ครูอาจารย์เป็นดั่งศิลปินผู้มุมานะจัดสวนดอกไม้” (吉常宏:2000)
2.3.2 คำเรียกขานแบบล้อเลียน เป็นคำเรียกที่แสดงถึงความสนิทสนม แสดงอารมณ์ขบขัน ล้อเลียน หยอกล้อ เช่น ภาษาไทยเรียก คนใส่แว่นว่า “ไอ้สี่ตา” เรียกคนที่ทั้งวันเอาแต่อ่านหนังสือว่า “หนอนหนังสือ” เรียกอาจารย์ว่า “เรือจ้าง” เรียกคนอ้วนว่า “ตือโป๊ยก่าย” เรียกตำรวจจราจรว่า “หัวปิงปอง” ในภาษาจีนเช่น เรียกคนที่ทั้งวันเอาแต่อ่านหนังสือว่า 书呆子 “หนอนหนังสือ” เรียกอาจารย์ว่า 孩子王 “เทวดาราชาของเด็กๆ” เรียกนักเล่นอินเทอร์เน็ตว่า 网虫“หนอนคอมพิวเตอร์” นอกจากนี้ในภาษาจีนยังมีวิธีการเรียกแบบล้อเลียนอีกอย่างคือ การใช้คำพ้องเสียง เช่น 教授 หมายถึง “ศาสตราจารย์” ไปพ้องเสียงกับคำว่า 会叫的野兽 “สัตว์ป่าที่ร้องได้” คำว่า 偶像 หมายถึง “ดาราคนโปรด หรือบุคคลที่จะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง” พ้องเสียงกับคำว่า 呕吐的对象 “คนที่เห็นแล้วอยากจะอ้วก” คำว่า 美女 หมายถึง “สาวงาม” พ้องเสียงกับคำว่า 没人要的女人 “หญิงที่ไม่มีใครเอา” หรือ 发霉的女人 “ผู้หญิงที่ขึ้นราแล้ว” เป็นต้น
2.4 คำเรียกขานแบบแสดงอำนาจและดูหมิ่น
2.4.1 คำเรียกขานแบบแสดงอำนาจ คำเรียกแบบนี้เป็นคำเรียกตัวเองที่แสดงถึงความเหนือกว่า ซึ่งก็คือทฤษฎี “อำนาจ” (Power) ที่ Brown & Gilman(1972) เสนอไว้ในเรื่องปัจจัยกำหนดคำเรียกขานนั่นเอง สิ่งที่กำหนด “อำนาจ”ในการสื่อสารระหว่างบุคคลแต่ละคนไม่เหมือนกัน บ้างเกิดจากตำแหน่งหน้าที่ บ้างเกิดจากฐานะทางเศรษฐกิจ บ้างเกิดจากอายุ บ้างเกิดจากเพศ ลักษณะเช่นนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนไม่แตกต่างกัน เช่น ครูอาจารย์เรียกตัวเองด้วยคำเรียกอาชีพ ซึ่งแสดงถึง “อำนาจ” แต่นักเรียนไม่เรียกตัวเองว่า “นักเรียน” แต่จะใช้คำสรรพนามแทน โดยเฉพาะในภาษาไทย จะใช้คำสรรพนามที่แสดงถึงความด้อยกว่า ต่ำกว่า และถ่อมตน การเรียกญาติผู้ใหญ่ใช้คำเรียกญาติเรียกได้โดยตรง ซึ่งแสดงถึงความเคารพ แต่เมื่อผู้น้อยเรียกตนเองกลับไม่นิยมใช้คำเรียกญาติ แต่จะใช้ชื่อหรือคำสรรพนามซึ่งแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ในภาษาไทยผู้มีสถานภาพสูงกว่าสามารถใช้คำว่า “กู” เรียกตนเองได้ และเรียกผู้มีสถานภาพต่ำกว่าว่า “มึง” ได้ แต่ผู้ฟังที่มีสถานภาพต่ำกว่า กลับไม่เลือกใช้คำในชุด “กู - มึง” แต่จะเลือกใช้คำที่ลดความมีอำนาจลงและแสดงความถ่อมตัว เช่น “ผม - ท่าน”
2.4.2 คำเรียกขานแบบดูหมิ่น คำเรียกแบบนี้เป็นคำเรียกที่ผู้มี “อำนาจ” เหนือกว่า หรือรู้สึกว่าตนมี “อำนาจ” เหนือกว่า หรือมีเจตนาที่จะดูหมิ่น เลือกใช้คำเรียกประเภทดูหมิ่น กดขี่ แสดงความรังเกียจผู้อื่น บางครั้งถึงขั้นใกล้เคียงกับคำด่า ภาษาไทยและภาษาจีนมีคำในลักษณะนี้เหมือนกัน เช่น 老不死 “ไอ้แก่หนังเหนียว” 赌棍 “ผีพนัน” 乡下佬 “บ้านนอก” 雅皮士 “จิ๊กโก๋” ในภาษาไทยมีลักษณะเด่นของคำเรียกที่แสดงความดูถูกดูหมิ่น คือการเติม คำว่า “ไอ้ อี นัง” นำหน้าคำเรียกขานอื่น ไม่ว่าคำเรียกขานนั้นจะแสดงระดับความเคารพมากเพียงใด แต่เมื่อเติมส่วนประกอบนี้เข้าไปจะกลายเป็นคำเรียกขานแบบดูหมิ่นทันที เช่น ไอ้คนขายชาติ ไอ้หมอใหญ่ ไอ้ผู้ว่า อีผู้จัดการ อีผู้อำนวยการ อีนังเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

3 . อายุกับคำเรียกขาน
เรามักพบความแตกต่างในภาษาที่มีผลมาจากความแตกต่างของอายุมากมาย เช่น ภาษาเด็ก ชิ้งฉ่อง แมวเหมียว ไก่กุ๊กกุ๊ก ลูกเจี๊ยบ ๆ ในภาษาจีนเช่น 猫咪 “แมว” 狗狗 “หมา” 咪咪 “นม(หน้าอกของผู้หญิง)” 宝宝 “ลูก” ลักษณะเช่นนี้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะหายไป กลับมาใช้คำที่เป็นปกติ ปรากฏการณ์ภาษาเด็กเกิดกับคำเรียกขานมากมาย คำเรียกขานที่ใช้โดยคนต่างอายุกันมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ป้อ อาแหมะ ป่าป๊า หม่าม้า ในภาษาจีนเช่น 妈咪 มามี้ 爹地 เตี่ยตี๊ 哥哥 เก่อเก๊อ 弟弟 ตี่ตี๊ หรือการเรียกชื่อเล่นเด็กเล็ก ในภาษาจีนมักใช้วิธีซ้ำชื่ออักษรตัวตัวหนึ่ง เช่น 咚咚 沙沙 溶溶 冉冉 คำเรียกขานในลักษณะนี้ใช้กับเด็กหรือใช้โดยเด็ก และใช้เรียกคนสนิทสนมกันหรือในหมู่เครือญาติเท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นปกติในการสื่อสารกับสังคมภายนอกแต่อย่างใด คำเรียกขานของคู่สามีภรรยาในปัจจุบันเรียกกันด้วยคำว่า 亲爱的 “ที่รัก” 爱人 “คนรัก” แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว ก็ไม่คุ้นเคยหรือรู้สึกกระดากอายที่จะเรียกกันว่า “ที่รัก” แต่กลับใช้คำว่า 老伴 “คู่ครอง คู่ชีวิต” ในขณะที่คู่สามีภรรยาวัยรุ่นก็ไม่นิยมใช้คำนี้เช่นเดียวกัน
ในเรื่องของการกำหนดคำเรียกขานที่ใช้อายุเป็นเกณฑ์ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดได้แก่ “คำเรียกญาติ” ที่มีการกำหนดให้มีความแตกต่างกันของรุ่น ในแต่ละรุ่นมีอายุมากน้อย ในอายุมากน้อยมีลำดับก่อนหลัง โดยทั้งหมดนี้กำหนดโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ เช่น 爷爷 “ปู่” 大伯 “ลุงใหญ่” 二伯 “ลุงรอง” 爸爸 “พ่อ” 大叔 “อาใหญ่” 二叔 “อารอง” 小叔 “อาเล็ก”
คำเรียกขานที่เรียกผู้ที่ไม่ใช่ญาติก็มีการใช้เกณฑ์อายุเป็นปัจจัยกำหนด เช่นในภาษาจีนใช้รูปแบบ [คำบอกอายุ + นามสกุล] หรือ [นามสกุล + คำบอกอายุ] เช่น 小王 大李 老姜 张老หรือ [คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] เช่น 老师傅 老先生 小师傅 小朋友 小师傅 师傅 ในภาษาไทยแม้จะไม่มีการใช้คำบอกอายุประกอบกับชื่อหรือนามสกุลเช่นเดียวกับรูปแบบคำเรียกขานในภาษาจีนก็ตาม แต่ภาษาไทยก็มีคำนำหน้าที่ใช้อายุเป็นเกณฑ์ในการแบ่งคำเรียกขานเช่นกัน ได้แก่ เด็กชาย นาย เด็กหญิง นางสาว
การใช้คำสรรพนามในภาษาไทยบางคำก็เป็นผลมาจากปัจจัยอายุ เช่น ผู้ใหญ่เรียกเด็กๆ ว่า “หนู” เด็กก็เรียกตัวเองด้วยสรรพนามคำเดียวกัน แต่เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ หรืออายุวัยกลางคนขึ้นไปก็จะเปลี่ยนไปใช้สรรพนามอื่น เช่น “คุณ” “ท่าน” ในภาษาจีนไม่มีลักษณะเช่นนี้เพราะสรรพนามในภาษาจีนเป็นสรรพนามกลาง ไม่มีการการแบ่งอายุ เพศ สถานภาพทางสังคม คือ 我 “สรรพนามบุรุษที่ 1” และ 你 “สรรพนามบุรุษที่ 2”

4. เพศกับคำเรียกขาน
ความแตกต่างทางเพศเป็นความแตกต่างทางธรรมชาติ ธรรมชาติของเพศชายมีความเข้มแข็ง แข็งแกร่งกว่าเพศหญิง เป็นจุดกำเนิดของการยกตนเป็นใหญ่ ยกตนว่ามีอำนาจเหนือกว่า ความคิดเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนความคิดของคนในสังคมตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ซึ่งแสดงให้เห็นในวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิดและกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดของมนุษย์ จึงได้รับผลของความคิดเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำเรียกขานที่เกิดจากปัจจัยความแตกต่างทางเพศพบเด่นชัดในคำเรียกญาติ ดังจะเห็นว่าคำเรียกญาติภาษาไทยและภาษาจีนที่หมายถึงบุคคลในตำแหน่งเดียวกันส่วนใหญ่จะมีคำเรียก 2 คำ โดยแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างเพศชัดเจน เช่น 父 - 母 “พ่อ - แม่” 爷 - 奶 “ปู่ - ย่า” 公 - 婆 “ตา - ยาย” 子 - 女 “ลูกชาย - ลูกสาว” 伯 - 姑 “ลุง - ป้า” 叔 - 姨 “อา - น้า” อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คำเรียกญาติทุกตำแหน่งจะมีคำคู่ที่แบ่งความแตกต่างระหว่างเพศ มีบางส่วนที่ไม่แบ่งแยกเพศ เช่นภาษาไทยญาติรุ่นเดียวกับตนไม่แบ่งแยกเพศ คือ “พี่” เรียกญาติรุ่นเดียวกันอายุมากกว่า และ “น้อง” เรียกญาติรุ่นเดียวกันอายุน้อยกว่า นั่นเป็นผลมากจากการที่มีปัจจัยอื่นควบคุมอยู่เหนือกว่าอีกชั้นหนึ่งก็คือ “อายุ” แต่กระนั้นความแตกต่างทางเพศก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขกำหนดคำเรียกขานที่สำคัญอย่างหนึ่ง
คำสรรพนามในภาษาไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการอธิบายในหัวข้อนี้ สรรพนามในภาษาไทยมีคำว่า “ผม กระผม” ใช้เฉพาะเพศชาย และ “ดิฉัน” ใช้เฉพาะเพศหญิง ส่วนที่ถือเป็นส่วนประกอบของคำเรียกขานอีกอย่างหนึ่งคือ “คำลงท้าย” เป็นส่วนที่ไม่บังคับปรากฏ ในคำเรียกขาน คำลงท้ายนี้ในภาษาไทยแบ่งแยกเพศของผู้พูดชัดเจนคือ “ครับ” สำหรับเพศชาย และ “ค่ะ” สำหรับเพศหญิง ภาษาจีนไม่มีคำเรียกขานลักษณะเช่นนี้
คำเรียกทั่วไป (คำนำหน้าในภาษาไทย) ก็ใช้เกณฑ์ความแตกต่างของเพศแบ่งคำเรียกขาน ได้แก่ เพศชายใช้ นาย เพศหญิงใช้ นางสาว นาง ภาษาจีนคือ 先生 ใช้เรียกเพศชาย ส่วน小姐 太太 ใช้เรียกเพศหญิง นอกจากนี้ภาษาไทยยังมีคำนำหน้าที่แบ่งเพศเด็กอีกคือ เด็กชายและเด็กหญิง คำนำหน้าที่แสดงความดูหมิ่น หยาบคาย (หรือใช้ในกลุ่มคนที่มีความสนิทสนมกัน) ก็มีการแบ่งโดยใช้เพศเป็นตัวกำหนดเช่นกัน ภาษาไทยคือ “ไอ้” ใช้กับเพศชาย “อี นัง” ใช้กับเพศหญิง
“ชื่อ” ถือเป็นคำนามอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้เป็นคำเรียกขาน ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนบ่งบอกเพศได้อย่างชัดเจน มีการกำหนดชุดคำว่าคำใดใช้เป็นชื่อเพศชาย คำใดใช้เป็นชื่อเพศหญิง เช่น ปฐพี บดินทร์ อาทิตย์ ตรีเทพ ภูมินทร์ อิทธิพล คเชนทร์ พลพล เป็นชื่อเพศชาย แต่ ขนิษฐา ผกามาศ เบญจมาศ น้ำผึ้ง รุ้งลาวัลย์ วรรณิศา รุ่งมณี แพรพรรณ เป็นชื่อเพศหญิง ในภาษาจีนอักษรที่หมายถึงความยิ่งใหญ่ แข็งแรง กล้าหาญ อำนาจ กตัญญูจะใช้เป็นชื่อเพศชายเช่น胜 伟 高 军 马 康 力 强 勇 宾 孝ส่วนคำที่หมายถึงดอกไม้ ความงดงาม ฉลาด อ่อนหวาน น่ารักจะใช้เป็นชื่อเพศหญิง เช่น 丽 美 恩 燕 芳 秀 琼 玉 梅 艳 慧爱 เป็นต้น
คำเรียกขานหลายคำประกอบด้วยคำระบุเพศ แบ่งแยกเพศชัดเจน ในภาษาไทยมักมีคำว่า ชาย นาย หนุ่ม พ่อ พระ ประกอบเพื่อหมายถึงเพศชาย มีคำว่า หญิง นาง สาว แม่ เป็นส่วนประกอบเพื่อหมายถึงเพศหญิง เช่น พระเอก นางเอก หญิงบริการ นางรำ นางโจร สาวโรงงาน พ่อครัว พ่อค้า แม่ค้า หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ สาวบาร์ หนุ่มธนาคาร ส่วนในภาษาจีนมักมีคำว่า 男 仔 汉 郎 哥 爷 เป็นส่วนประกอบเพื่อหมายถึงเพศชาย และมีคำว่า 女 婆 娘 姐 妹 嫂 เป็นส่วนประกอบเพื่อหมายถึงเพศหญิง เช่น 的哥 “คนขับแท็กซี่เพศชาย” 的姐 “คนขับแท็กซี่เพศหญิง” 打工仔 “หนุ่มรับจ้าง” 打工妹 “สาวรับจ้าง” 新郎 “เจ้าบ่าว” 新娘 “เจ้าสาว” 富翁 “อาเสี่ย” 富婆 “เศรษฐีนี” เป็นต้น
วัฒนธรรมของสังคมที่กดขี่สตรีเพศ ยึดถือผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นปัจจัยควบคุมคำเรียกขานที่สำคัญอย่างหนึ่ง คำเรียกขานประสมที่มีคำที่หมายถึงเพศชายและเพศหญิงเป็นส่วนประกอบ คำเรียกขานที่หมายถึงเพศชายมักจะมาก่อน แล้วจึงตามด้วยคำเรียกขานที่หมายถึงเพศหญิง เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผัวเมีย สามีภรรยา ซึ่งหากเรียกว่า แม่พ่อ ยายตา ย่าปู่ เมียผัว ภรรยาสามีก็ไม่ผิด แต่จะรู้สึกขัดกับความเคยชินทางภาษา ซึ่งความเคยชินทางภาษานี้เกิดขึ้นมาจากปัจจัยแอบแฝงของความแตกต่างทางเพศนี้นี่เอง ในภาษาจีนยิ่งเด่นชัดกว่าภาษาไทย เพราะวัฒนธรรมการกดขี่สตรีเพศ ยึดถือเพศชายเป็นใหญ่มีมาช้านานและเป็นความคิดที่แกร่งกร้าว ฝังลึกในความคิดของคนจีนอย่างรุนแรง เช่น 父母 “พ่อแม่” 夫妻 “สามีภรรยา” 兄弟姐妹 “พี่ชายน้องชายพี่สาวน้องสาว” 公婆 “ตายาย” 爷爷奶奶 “ปู่ย่า” เป็นต้น
แต่ในระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน กระแสความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันของเพศชายหญิงมีมากขึ้น ทำให้มีการสร้างคำเรียกขานที่มีความเป็นกลาง ไม่บ่งชี้เพศมากขึ้น ส่วนมากใช้คำว่า 人 “คน” 匠“ช่าง” 者 “นัก” 员 “พนักงาน” 民“ชาว” เช่น 工人 “คนงาน” 记者 “นักข่าว” 售货员 “พนักงานขาย” 渔民 “ชาวประมง” 木匠 “ช่างไม้” เป็นต้น

5. สถานภาพของบุคคลกับคำเรียกขาน
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีระบบศักดินามาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ ดังนั้นศักดินาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด ชนชั้นศาสนาได้รับการยกย่องนับถือสูงสุด รองลงมาเป็นชนชั้นกษัตริย์ ข้าราชการ พ่อค้าวานิช ผู้มีการศึกษา และชาวนา คนงานและ ชาวบ้านในชนบทที่ไม่มีการศึกษาถูกมองว่าเป็นชนชั้นต่ำต้อยที่สุดของสังคม สังคมจีนแม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบกษัตริย์ล่มสลาย นโยบายใหม่คือทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้นทางสังคม แต่ความร่ำรวย ความมีการศึกษา คนเมืองกับคนชนบท ตำแหน่งหน้าที่ ยังคงเป็นปัจจัยกำหนดชนชั้นทางสังคมอยู่ เพียงแต่ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยแอบแฝง ไม่ชัดเจนและไม่มีผลรุนแรงเหมือนอย่างสังคมไทย คำเรียกขานที่ใช้โดยผู้มีสถานภาพทางสังคมต่างกันมองได้สองมิติคือ คำเรียกขานที่ใช้โดยคนในแต่ละระดับชั้น และคำเรียกขานที่ใช้ระหว่างคนต่างชนชั้น
คนที่จัดอยู่ในชนชั้นต่ำ มีการศึกษาและความรู้น้อย เป็นคนชนบท ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและมีฐานะตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่างกันมากเหมือนอย่างคนเมือง จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีคำเรียกขานมากมาย ผู้คนรู้จักกัน ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นส่วนใหญ่ คำที่เรียกขานกันจึงใช้คำที่แสดงถึงความสนิทสนมจำพวก คำเรียกญาติ เป็นหลัก ต่างจากคนเมืองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ความสัมพันธ์ของผู้คนมีความแตกต่างซับซ้อนมากมาย มีฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน การศึกษาแตกต่างกันร้อยแปดพันประการ ผู้คนไม่รู้จักกัน ไม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน คำเรียกจึงมีความสลับซับซ้อนไปตามความซับซ้อนของผู้คนในสังคมด้วย คำเรียกขานที่ใช้ระหว่างคนเมืองจึงไม่สามารถจำกัดเพียงไม่กี่ประเภทเหมือนคนชนบทได้ ในชนบทเรียกกันด้วยคำว่า พี่ ป้า น้า อา ในภาษาจีนเรียก大哥,大妈, 阿姨,大叔หากคนในสังคมชนบทจะเรียกกันด้วย คุณ ท่าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หรือในภาษาจีนเรียก 同志,师傅,先生,上尉,教授 อาจจะดูแปลกประหลาด ผิดวิสัยความเคยชินของสังคม หรืออาจจะไม่มีบุคคลเหล่านั้นให้เรียกเลยก็เป็นได้ ในขณะที่ในสังคมเมืองจะเรียกคนแปลกหน้าในสถานการณ์ที่เป็นทางการว่า ป้า ลุง ยาย ตา ก็ดูจะไม่เหมาะสมนัก
ผู้มีความรู้สูง ผู้คนในสังคมชั้นสูง จะมีความสามารถในการใช้ภาษา สามารถเลือกใช้คำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าผู้มีความรู้ต่ำและคนในสังคมชั้นต่ำ การเขียนเรียงความโดยผู้มีความรู้ มีความสามารถในการใช้ศัพท์ที่แสดงถึงความสูงส่งอย่าง พระชนก พระชนนี พระบิดร พระคุณเจ้า เสด็จ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ได้ แต่ในขณะที่คนที่ไม่มีความรู้ มีการศึกษาน้อย คนที่จัดอยู่ในสังคมชั้นต่ำ อาจไม่มีโอกาส หรือไม่รู้จักคำและบุคคลเหล่านี้เลยก็เป็นได้ มองในมิติความหมายของคำ จะพบระดับชั้นของสังคมแฝงอยู่ในคำเรียกขาน เช่น คำว่า เสด็จ พระองค์ หม่อม ใช้เป็นคำราชาศัพท์ในชนชั้นราชวงศ์ แต่คุณ ท่าน นาย นางสาว ใช้ในระดับชนชั้นกลางปกติ ส่วนอี ไอ้ มึง กู ใช้ในกลุ่มคนชั้นต่ำ
การใช้คำเรียกขานบุคคลที่อยู่ต่างชนชั้นกัน คนชนชั้นต่ำเมื่อเรียกคนชนชั้นสูงกว่า จะใช้คำที่แสดงความถ่อมตัวเรียกตนเอง และใช้คำที่แสดงความเคารพเรียกผู้ฟัง เช่นเรียกตัวเองว่า “หนู” เรียกผู้ฟังว่า “ท่าน” ในขณะที่คนในชนชั้นสูงกว่าเรียกคนชนชั้นต่ำ ใช้คำที่แสดงถึงอำนาจเรียกตนเอง และใช้คำที่แสดงความดูถูก เรียกผู้ฟัง เช่น เรียกตัวเองว่า “ฉัน” เรียกผู้ฟังว่า “แก”
ในการใช้คำเรียกขานประกอบที่มีความแตกต่างกันของชนชั้นนั้น คำเรียกขานที่หมายถึงชนชั้นสูงกว่า จะวางไว้หน้า และคำเรียกขานที่หมายถึงชนชั้นต่ำกว่าจะวางไว้หลัง เช่น แม่ทัพนายกอง นายบ่าว ครูศิษย์ พ่อแม่ลูก ในภาษาจีน เช่น 师生 “ครูศิษย์” 官宾 “แม่ทัพทหาร” 上下级 “หัวหน้าลูกน้อง” ก็เรียงคำที่หมายถึงคนในชนชั้นที่สูงกว่าไว้ข้างหน้าคำที่หมายถึงคนในชนชั้นต่ำกว่าเช่นเดียวกัน
การเรียงลำดับในการพูดในสถานการณ์ที่เป็นทางการ การแสดงความเคารพต่อผู้มาร่วมในพิธี ก็ล้วนแล้วแต่เรียกโดยเรียงจากบุคคลชนชั้นที่สูงกว่าไปสู่ต่ำกว่าเสมอ เช่น “เรียนท่านคณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชาที่เคารพ และสวัสดีนักเรียนที่รักทุกคน” ในภาษาจีน เช่น 尊敬的校长先生,院长,系主任 ,各位学生们你们下午好! “ท่านอธิการบดี ท่านคณบดี และหัวหน้าภาควิชาที่เคารพทุกท่าน และสวัสดีนักศึกษาทุกคน” ก็เรียงลำดับจากผู้มีสถานภาพสูงไปสู่ผู้มีสถานภาพต่ำกว่าเช่นเดียวกัน
ในกรณีที่ไม่ทราบสถานภาพของบุคคลที่พูดด้วย การเลือกใช้คำเรียกขานก็ใช้ปัจจัยอย่างอื่นมาตัดสิน เช่น เพศ อายุ การแต่งกาย แวดวง เจตนาเป็นต้น ในสถานการณ์เช่นนี้สถานภาพสูงต่ำทางสังคมไม่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานมากนัก หรืออาจไม่มีเลย ทั้งสองฝ่ายต่างใช้คำที่แสดงความสุภาพต่อกันตามมารยาททางสังคมเท่านั้น

6. เจตนากับคำเรียกขาน
ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลการใช้คำเรียกขานในสถานการณ์จริงพบสถานการณ์หนึ่งที่สามารถตัดสินได้ว่า ปัจจัยอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด อาจไม่มีความสำคัญใดๆ เลย หากผู้พูดมีเจตนาที่จะใช้เป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แม่ค้าขายสินค้าตลาดนัดเรียกลูกค้าซื้อของ “น้องจ๋า, เชิญชมก่อนได้จ้า...ร้านพี่มีของเยอะแยะมากมาย” ผู้ซื้อเลือกอยู่นานสุดท้ายก็ไม่ซื้อ เดินจากไป ทิ้งกองเสื้อผ้าที่เลือกไว้ให้เจ้าของร้านพับ ด้วยความโมโห เจ้าของร้านด่าไล่หลัง “แม่ง...ไม่ซื้อแล้วมึงลองทำไมวะเยอะแยะ” สถานการณ์การใช้คำเรียกขาน หรือระดับภาษาที่เกิดจากเจตนาเช่นนี้พบเห็นได้บ่อยๆ เมื่อผู้พูดต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ จะพยายามใช้คำเรียกขานหรือระดับภาษาที่แสดงความสุภาพ ยกย่องผู้ฟัง หรือแสดงความสนิทสนมใกล้ชิด แต่เมื่อรู้ว่าไม่จำเป็น หรือไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายนั้นได้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ความเคารพ ยกย่องผู้ฟังอีกต่อไป
แม้ว่าเจตนาจะไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถกำหนดชัดได้อย่างเพศและอายุ แต่ในบางครั้งอาจส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานมากกว่าปัจจัยอื่นๆ เสียอีก ที่เป็นดังนี้เนื่องจากมนุษย์สร้างภาษาขึ้นก็เพื่อตอบสนองเจตนาของตน อย่างน้อยก็มีเจตนาเพื่อการสื่อสารระหว่างกัน เจตนาการใช้คำเรียกขาน สามารถแบ่งได้ดังนี้
6.1 เพื่อการสื่อสารตามปกติ ในสถานการณ์ปกติที่ผู้พูดและผู้ฟังมีสถานภาพเท่าเทียมกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการความช่วยเหลือ หรือไม่ได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในเหตุการณ์แบบนี้ทั้งสองฝ่ายเลือกใช้คำเรียกขานตามข้อกำหนดทางสังคมตามปกติ เช่น คนรู้จักกันเรียกกันด้วยชื่อ การเรียกกันด้วยชื่อในหมู่เครือญาติรุ่นเดียวกัน การใช้คำเรียกทั่วไปเรียกคนแปลกหน้า คำเรียกขานในลักษณะเช่นนี้ใช้เพื่อการสื่อสารปกติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมเท่านั้น ไม่ได้แฝงเจตนาหรืออารมณ์ความรู้สึกอื่นใด
6.2 เพื่อแสดงความเคารพและสุภาพ สมรรถนะของคำเรียกขานในภาษาจีนนอกจากจะใช้เรียกขานกันแล้ว ยังใช้เป็นคำทักทายได้อีกด้วย คนจีนเมื่อพบญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่จะให้ลูก “เรียก” ญาติผู้ใหญ่นั้นด้วย “คำเรียกญาติ” ซึ่งการเรียกญาติผู้ใหญ่ด้วยคำเรียกญาตินี้ไม่ใช่เพื่อเรียกขาน แต่เพื่อทักทาย ดังนั้นการทักทายญาติผู้ใหญ่ด้วย “การเรียก” คำเรียกญาตินี้แสดงเจตนาเพื่อการสื่อสาร แน่นอนว่าด้วยความหมายประจำของคำเรียกญาติผู้ใหญ่แต่ละคำ สามารถแฝงความสุภาพและเคารพไปในคราวเดียวกัน คำเรียกขานในภาษาไทยไม่มีสมรรถนะในด้านนี้ คำเรียกขานในภาษาไทยใช้เพื่อเรียกขานเท่านั้น เพราะการทักทายกันภาษาไทยใช้ “สวัสดี” แต่คำเรียกขานในภาษาไทยมีส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบที่ไม่บังคับปรากฏ นั่นก็คือคำลงท้าย “ครับ,ค่ะ” และ “ พะยะค่ะ,พระพุทธเจ้าข้า,เพคะ” คำลงท้ายสองกลุ่มนี้กลุ่มแรกใช้ในสามัญชนทั่วไป ชุดหลังเป็นคำราชาศัพท์ ในการเรียกขานแต่ละครั้งสามารถเติมคำลงท้ายเหล่านี้เพื่อแสดงความเคารพและความสุภาพ ทั้งยังสามารถที่จะไม่เติมก็ได้ ไม่กระทบต่อความหมาย ไม่กระทบต่อการเรียกขาน แต่ปริมาณความสุภาพ และความเคารพต่อผู้ฟังลดน้อยลง ภาษาจีนไม่มีส่วนประกอบคำเรียกขานประเภทนี้
คำสรรพนามที่ต่างกันก็มีการแสดงออกถึงความเคารพและสุภาพเช่นกัน โดยเฉพาะในภาษาไทยแบ่งความแตกต่างของคำสรรพนามอย่างซับซ้อนมากมาย โดยแบ่งตามเพศ อายุ สถานภาพทางสังคม สถานการณ์การใช้ภาษา ที่สำคัญคือความสุภาพและความเคารพก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการแบ่งคำสรรพนามดังกล่าว การเลือกใช้คำสรรพนาม ท่าน คุณ เธอ เอ็ง แก มึง แสดงเจตนาเพื่อเคารพและสุภาพลดลงมาตามลำดับ ส่วนคำสรรพนามในภาษาจีนแม้ไม่ซับซ้อนมากเหมือนในภาษาไทยเพราะใช้สรรพนามรวม มีความแตกต่างของสรรพนามบุรุษที่สองเพียงสองคำ แต่คำสองคำนี้ก็แสดงให้เห็นเจตนาเพื่อแสดงความเคารพและสุภาพ ได้แก่ 你 “ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สองทั่วไป” และ 您 “ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สองเพื่อแสดงความเคารพผู้ฟัง”
การเลือกใช้คำเรียกขานที่มีผลมาจากเจตนาเพื่อแสดงความเคารพและสุภาพนี้ บางครั้งมีความสำคัญมากกว่าอายุและเพศเสียอีก ในสถานการณ์ปกติคนไทยและคนจีนจะเลือกใช้คำเรียกขานที่แสดงออกถึงความเคารพผู้ใหญ่เป็นหลัก แต่ผู้ใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คำเรียกขานที่แสดงความเคารพหรือสุภาพต่อผู้น้อย แต่ในกรณีที่ผู้ฟังมีอายุน้อยกว่าแต่มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่า ผู้พูดจำต้องใช้คำเรียกขานที่แสดงความสุภาพต่อผู้ฟัง เช่น ประธานบริษัทที่มีอายุน้อยกับคนงานที่มีอายุมากกว่า เจ้านายที่อายุน้อยกับคนใช้ที่อายุมากกว่า เป็นต้น
6.3 เพื่อการขอร้อง ในสถานการณ์ขอร้อง เมื่อผู้พูดต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ ต้องการได้รับการตอบรับ ยอมรับ ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ผู้พูดจะตั้งใจเลือกใช้คำเรียกขานที่แสดงความสุภาพและเคารพเป็นพิเศษกว่าสถานการณ์ปกติทั่วไป เพื่อทำให้ผู้ฟังพอใจ ดีใจและให้การยอมรับ ช่วยเหลือต่อการขอร้องนั้น ในเหตุการณ์ปกติเมื่อพูดกับคนแปลกหน้าตามถนนหนทางสามารถเรียกว่า พี่ ป้า น้า อา คุณ เธอได้ แต่เมื่อต้องการความช่วยเหลือ เช่นถามทาง ขอเงิน ขอบริจาค ขอความช่วยเหลือใดๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนคำเรียกขานเป็น คุณพี่ คุณป้า คุณน้า คุณอา คุณครับ เธอจ๊ะ ในภาษาจีนหากต้องการถามทางจากคนแปลกหน้าแล้วถามว่า 诶!北京大学怎么走啊? “เฮ่ย !มหาวิทยาลัยปักกิ่งไปไงอ่ะ” ก็อาจจะไม่ได้รับคำตอบที่ดี หรือไม่มีใครยอมบอกทางเลยก็ได้ แต่หากถามว่า 师傅(先生,叔叔,同志),请问一下,北京大学怎么走? “ คุณครับ (คุณผู้ชาย, คุณอา, ท่านครับ ) ขอถามหน่อยครับ, มหาวิทยาลัยปักกิ่งไปยังไงครับ ” ไม่เพียงแต่จะได้รับการช่วยเหลือที่ดีแล้ว ยังได้รับความเอ็นดู ความเต็มใจที่จะช่วยเหลือจากผู้ฟังอีกด้วย
วิธีการเลือกใช้คำเรียกขานเพื่อให้บรรลุการขอร้อง หรือขอความช่วยเหลือ มีอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญและใช้มาก นั่นก็คือ ดึงความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้ฟังให้กระชับแน่นแฟ้นขึ้น ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นคนกันเอง ไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน คือการใช้ “คำเรียกญาติ” เมื่อเราได้ยินผู้อื่นเรียกเราว่า น้อง พี่ คุณลุง คุณน้า คุณพ่อ คุณแม่ หรือในภาษาจีนเรียกว่า 小妹妹 大姐 阿姨 冬冬他爸 冬冬他妈 เราจะรู้สึกได้ถึงความใกล้ชิดสนิทสนมและเป็นกันเองมากกว่าคำว่า คุณ ท่าน ท่านคณบดี ท่านผู้นี้ หรือในภาษาจีนว่า 师傅 同志 院张先生 这位先生 และกลับมีความรู้สึกที่เต็มใจให้ความช่วยเหลือมากกว่าอีกด้วย การใช้คำเรียกขานเพื่อแสดงความขอร้องพบว่า ภาษาไทยและภาษาจีนมีลักษณะการใช้เหมือนกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ในการขอร้อง หากใช้คำเรียกขานที่ตั้งใจแสดงความเคารพ หรือสุภาพเกินไป ไม่สมเหตุสมผล เช่น ขอความช่วยเหลือกับชาวนาว่า 尊敬的农民先生 “ท่านชาวนาที่เคารพ”, ขอร้องให้คนงานช่วยยกของว่า 亲爱的工人 “คนงานที่รัก” หรือ 最高崇拜的校长先生 “ท่านอธิการบดีที่เคารพและศรัทธาอย่างสูงยิ่ง” อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความไม่จริงใจ เสแสร้ง ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือก็เป็นได้ ในภาษาไทยและภาษาจีน การใช้คำเรียกขานแบบนี้จะพบในงานเขียนวรรณกรรม ละครโทรทัศน์ ละครเวที หรือการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ชุมชน แต่มักไม่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน
6.4 เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก การใช้คำเรียกขานที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก ในภาษาไทยเช่น ที่รัก แก้วตาดวงใจ มือซ้ายมือขวา มารศาสนา ขยะสังคม ภาษาจีนเช่น 心肝 宝贝 老不死 死丫头คำเรียกเหล่านี้ผู้พูดไม่ได้มีเจตนาแสดงความเคารพ ไม่ได้ขอร้อง หรือบางครั้งไม่ได้เรียกเพื่อต้องการสื่อสาร แต่เพื่อแสดงความรู้สึกรัก เกลียดชัง สงสารที่มีต่อผู้ฟังเท่านั้น แต่ด้วยด้วยนิสัยและความคิดของคนไทยและคนจีนที่ไม่แสดงความรู้สึกของตนออกมาให้ผู้อื่นรู้ได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรก็เก็บไว้ในใจ ทำให้คำประเภทนี้มีไม่มากนัก

7. ความสัมพันธ์ของบุคคลกับคำเรียกขาน
คนแต่ละคนมีบทบาทในสังคมแตกต่างกัน เพราะแต่ละคนไม่ได้แสดงเพียงบทบาทเดียว เป็นเหตุให้คนมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไป ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่แตกต่างกันนี้เองส่งผลต่อการใช้คำเรียกขาน คำเรียกขานที่ใช้โดยคนที่มีความสัมพันธ์ต่างๆกัน แปรเปลี่ยนมากมายและซับซ้อน “ฉัน” (ในที่นี้หมายถึงเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง) ในกลุ่มเครือญาติ ตายายเรียก ด้วย 小名 “ชื่อเล่น” หรือ 孙女 “หลานสาว” พ่อแม่เรียกว่า 儿子 “ลูก” สามีเรียกว่า 妻子 “ ภรรยา” ในกลุ่มคนรู้จัก เพื่อนที่ทำงานเรียกว่า 经理 “ผู้จัดการ” ประธานบริษัทเรียกว่า 姓名 “ชื่อนามสกุล” เพื่อนร่วมงานเรียกว่า 名 “ชื่อ” ในกลุ่มคนแปลกหน้าผู้มีอายุมากกว่าเรียกว่า 小姐 “คุณ” ผู้มีอายุน้อยกว่าเรียกว่า 阿姨 “คุณน้า”
ในการสนทนากันครั้งหนึ่งๆ ไม่ว่าคู่สนทนาจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมหรือห่างเหินแปลกหน้า เป็นญาติหรือไม่ใช่ญาติ ระดับชั้นทางสังคมสูงหรือต่ำ เพศชายหรือหญิง อายุมากหรือน้อย แต่โดยสรุปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานสามารถแบ่งได้ 2 แบบคือ ความสัมพันธ์แบบสมดุล กับความสัมพันธ์แบบไม่สมดุล
7.1 ความสัมพันธ์แบบสมดุล ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดจากคู่สนทนาทั้งสองมีระดับชั้นทางสังคมเท่าเทียมกัน ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ความเท่าเทียมนี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ไม่มีความแตกต่างทางเพศและอายุ ไม่มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมเป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากมีความเท่าเทียมหรือเป็นในสิ่งเดียวกัน คู่สนทนาจะมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน คำเรียกขานที่เกิดจากความเท่าเทียมกันนี้ทั้งสองฝ่ายจะใช้คำในลักษณะเดียวกัน หรือกระทั่งใช้คำเดียวกันเรียกกัน เช่น ภาษาจีนเพื่อนร่วมงาน เรียกกันและกันด้วย 姓+ 老师 ภาษาไทยใช้ “อาจารย์ + ชื่อ” เพื่อนนักเรียนเรียกกันด้วยชื่อ และต่างคนต่างแทนตัวเองว่า 我 “ฉัน” คนแปลกหน้าเรียกกันด้วย 同志,师傅 “ท่าน คุณ” คำเรียกที่เรียกบุคคลโดยรวม เช่น 亲爱的兄弟姐妹们 “พี่น้องที่รักทั้งหลาย” 农民兄弟 “พี่น้องเกษตรกรทุกท่าน” ก็ให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นกัน หากเรากำหนดให้ A เป็นผู้ส่งสารเรียก B ด้วยคำเรียกขานใดๆ เมื่อ B เป็นผู้ส่งสารก็ใช้คำเรียกขานอย่างเดียวกันเรียก A ดังแผนภูมิต่อไปนี้




7.2 ความสัมพันธ์แบบไม่สมดุล ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดจากฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น พละกำลัง สถานภาพทางสังคม เพศ อายุ ความสามารถในการเอื้อประโยชน์ การศึกษาสูงกว่าเป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบไม่สมดุลขึ้น ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถใช้คำเรียกขานที่แสดงออกถึงอำนาจ ความเหนือกว่า ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องใช้คำที่แสดงความถ่อมตัว แสดงความเคารพ แสดงการขอร้องอ้อนวอน หรือใช้คำที่จะทำผู้ฟังพึงพอใจ คำเรียกขานที่แสดงถึงความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียม ผู้มีสถานภาพต่ำกว่าเรียกผู้มีสถานภาพสูงกว่าด้วยคำจำพวก คำเรียกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง คำเรียกญาติ คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ แล้วเรียกตัวเองด้วยชื่อ หรือสรรพนามแสดงความเคารพและสุภาพ ในขณะที่ผู้มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าเรียกผู้มีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าด้วย ชื่อ หรือคำอุทาน หากเรากำหนดให้ A เป็นผู้ส่งสารเรียกตัวเองและเรียก B ด้วยคำเรียกขานที่แสดงถึงอำนาจที่เหนือกว่า เมื่อ B มาเป็นผู้ส่งสารบ้างกลับเรียกตัวเองด้วยคำเรียกขานที่แสดงอำนาจน้อยกว่า และเรียก A ด้วยคำที่แสดงความเคารพ ดังแผนภูมิต่อไปนี้




จากการวิจัยสำรวจความถี่ในการใช้คำเรียกขาน เปรียบเทียบกับความสมดุล และความไม่สมดุลของคู่สนทนาแล้วพบว่าระดับคำเรียกขานแต่ละประเภทมีระดับความสุภาพ ความเคารพและความสนิทสนมต่างกัน ซึ่งปริมาณของความสุภาพและความเคารพจะมีทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางของความสนิทสนม นั่นก็หมายความว่าคำที่มีปริมาณความสนิทสนมมาก จะมีความสุภาพน้อย คำที่มีความสุภาพมากก็จะมีความสนิทสนมน้อย ดังแสดงให้เห็นในแผนภูมิต่อไปนี้

ตาราง เปรียบเทียบระดับความเคารพ ความสุภาพและความสนิทสนมของคำเรียกขานในภาษาไทย
ระดับ -
ความ
สุภาพ
และ
ความ
เคารพ
ของ
คำ
เรียก
ขาน + ชื่อ +
ระดับ
ความ
สนิท
สนม
ของ
คำ
เรียก
ขาน
-
คำเรียกญาติ + ชื่อ
คำเรียกญาติ
คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ
คำเรียกทั่วไป + ชื่อ
คำเรียกทั่วไป
อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง+ชื่อ
อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง
คำราชาศัพท์


ตาราง เปรียบเทียบระดับความเคารพ ความสุภาพและความสนิทสนมของคำเรียกขานในภาษาจีน
ระดับ -
ความ
สุภาพ
และ
ความ
เคารพ
ของ
คำ
เรียก
ขาน
+ ชื่อ +
ระดับ
ความ
สนิท
สนม
ของ
คำ
เรียก
ขาน

-
นามสกุลและชื่อ
ชื่อ + คำเรียกญาติ
คำบอกอายุ + คำเรียกญาติ
นามสกุล ชื่อ+คำเรียกญาติ
คำเรียกญาติ / คำเรียกญาติปลอม
นามสกุล + คำเรียกทั่วไป
นามสกุล + อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง
นามสกุล ชื่อ+คำเรียกทั่วไป
นามสกุล ชื่อ+อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง

จากตารางทั้งสองอธิบายได้ดังนี้
เครื่องหมาย “ + ” หมายถึงมีระดับและปริมาณสูง เครื่องหมาย “ - ” หมายถึงมีระดับและปริมาณต่ำ ช่องซ้ายมือหมายถึงระดับความเคารพและความสุภาพจากต่ำไปสูง ช่องขวามือหมายถึงระดับความสนิทสนมสูงไปต่ำ ช่องกลางหมายถึงคำเรียกขานที่ใช้ในแต่ละภาษา
จะเห็นว่า นอกจากคำราชาศัพท์ในภาษาไทยแล้ว [อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง] คือคำที่มีระดับความเคารพและสุภาพมากทั้งในภาษาไทยและภาษาจีน ส่วนชื่อก็เป็นคำที่มีระดับความสนิทสนมมากทั้งในภาษาไทยและภาษาจีนเช่นเดียวกัน
ความสัมพันธ์แบบสมดุลและไม่สมดุลนี้ตรงกันกับทฤษฎีของ Brown & Gilman (1972) ที่ได้ศึกษาภาษาอินโดยุโรเปี้ยนในปี1960 แล้วสรุปปัจจัยที่มีผลต่อการใช้คำเรียกขานว่ามีสองประการได้แก่ Power คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อันได้แก่ พละกำลัง ฐานะ อายุ เพศ สถานะในครอบครัว บทบาททางสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมขึ้น ส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานแบบไม่สมดุล และปัจจัยอีกอย่างคือ Solidarity คือความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้น ได้แก่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สถานภาพทางสังคม อายุ เพศ ศาสนา เชื้อชาติ ถิ่นฐาน อาชีพที่เท่าเทียมกันหรือเป็นอย่างเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดให้เกิดความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานแบบสมดุล

8. สภาพแวดล้อมกับคำเรียกขาน
บุคคลดำเนินชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มีประสบการณ์ต่างกัน ประสบการณ์ที่แตกต่างเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ภาษา สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้คำเรียกขานมีดังนี้
8.1 สถานการณ์ในการใช้ภาษา การใช้ภาษาในศาล การประชุม พิธีการ ใช้ภาษาที่เป็นทางการ ส่วนภาษาพูดทั่วไป การสนทนาพาทีกันในครอบครัว กลุ่มเพื่อน การซื้อขายสินค้าในตลาด การพูดคุยสังสรรค์ ในสถานการณ์แบบนี้ใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ คำเรียกขานที่ใช้เป็นภาษาหนังสือกับภาษาพูดแตกต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นคำต่างชุดกันเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์กันแบบใด มีความสนิทสนมกันมากเพียงใด แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เป็นทางการก็ไม่สามารถใช้คำเรียกขานที่แสดงความสนิทสนมนั้นได้ เช่น เราไม่สามารถเรียกเพื่อนสนิทที่เป็นผู้พิพากษาในขณะพิจารณาคดีว่า “มึง” ได้ และแน่นอนว่าก็ไม่สามารถเรียกตัวเองว่า “กู” ได้เช่นกัน หรือในการสนทนาพาทีทั่วไป ไม่ได้มีพิธีการอะไรแล้วเรียกเพื่อนที่สนิทกันว่า “ท่าน” แล้วเรียกตัวเองว่า “กระผม” ก็ดูจะไม่ใช่ปกติวิสัย มีตัวอย่างการใช้ภาษาจากละครโทรทัศน์จีนเรื่อง《别了,温哥华》 “จากกันที่แวนคูเวอร์” มีตอนหนึ่งที่นางเอกขึ้นศาล มีคนใช้เป็นพยาน พยานพูดว่า 我看见叔叔打阿姨,哦!不对,是被告打原告。 “ฉันเห็นคุณอาตีคุณน้า, เอ่อ..ไม่ใช่ค่ะ, เห็นจำเลยตีโจทย์” เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้พูดเปลี่ยนคำเรียกขานไปตามสถานการณ์การใช้ภาษา
จากการวิจัยพบว่าคำที่นิยมใช้ในสถานการณ์ที่เป็นทางการในภาษาไทยได้แก่ [คำเรียกทั่วไป +ชื่อ+นามสกุล], [อาชีพ/ยศ/ตำแหน่ง + ชื่อ + นามสกุล] ในภาษาจีนได้แก่ [คำเรียกทั่วไป], [อาชีพ/ยศ/ตำแหน่ง], [นามสกุลและชื่อ+คำเรียกทั่วไป] ส่วนคำที่ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการในภาษาไทยและภาษาจีนมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ ใช้รูปแบบ [ชื่อและนามสกุล], [ชื่อเล่น], [คำเรียกญาติ], [คำเรียกญาติ+ชื่อ]
8.2 แวดวงในการใช้ภาษา หมายถึงภาษาที่ใช้ในวงการอาชีพ หรือผู้มีลักษณะความรู้ ประสบการณ์ร่วมกันหรืออย่างเดียวกัน เช่น เราจะได้ยินคำเรียกขานจำพวก 上校 “พันเอก” 中尉 “ร้อยโท” 下士“สิบตรี” ในแวดวงทหารตำรวจ แต่เราจะได้ยินคำเรียกจำพวก 教授 “ศาสตราจารย์” 校长 “อธิการบดี” 系主任 “หัวหน้าภาควิชา” ในแวดวงมหาวิทยาลัย ในขณะที่เรามักไม่ค่อยได้ยินคำว่า 室内设计师 “มัณฑนากร” 工程师 “วิศวกร” ในแวดวงการแพทย์เพราะเป็นคำเรียกขานในแวดวงวิศวกรรม และแน่นอนว่าเราก็มักจะไม่ค่อยได้ยินคำเรียก 护士 “พยาบาล” 脑科医生“แพทย์ระบบประสาท” 内科医生 “แพทย์ภายใน” ในแวดวงวิศวกรรมเช่นเดียวกัน เพราะเป็นคำเรียกขานในแวดวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตามคำเรียกขานบางอย่างไม่จำกัดใช้เฉพาะในแวดวงใดแวดวงหนึ่ง เมื่อออกจากแวดวงหนึ่งไปสู่อีกแวดวงหนึ่ง คำเรียกขานที่บอก อาชีพ ยศ ตำแหน่งอาจติดตัวไปด้วย เช่น เมื่ออาจารย์ไปที่โรงพยาบาลผู้อื่นก็ยังคงเรียกว่าอาจารย์ คนเป็นหมอเมื่อไปที่แวดวงอื่นที่มีคนรู้จักก็ยังเรียกว่าหมอ และบางคนเป็นทั้งสองอาชีพสามารถเรียกทั้งสองอาชีพได้ เช่น “อาจารย์หมอ” เพราะเป็นทั้งหมอและเป็นทั้งอาจารย์ที่สอนหมอด้วย การใช้คำเรียกขานในลักษณะนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนมีวิธีการใช้เหมือนกัน
8.3 ถิ่นฐานในการใช้ภาษา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างกันมีภาษาถิ่นแตกต่างกัน ทำให้การใช้คำเรียกขานแตกต่างกันตามแต่ละท้องที่ เช่น ในภาษาจีนที่เมือง 成都 เฉิงตู ( 郭锦桴 : 1993) คำว่า祖父 “ปู่” มีความหมายรวมญาติฝ่ายพ่อสองบุคคลคือ 曾祖父 “ปู่ทวด” และ 曾祖母 “ย่าทวด” คำว่า 俺 俺们 俺家 俺咱เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ในภาษาถิ่นซานตง ในแวดวงตำรวจภาษาถิ่นฮ่องกง มักใช้คำเรียกจำพวก阿SIR เป็นคำเรียกผู้บังคับบัญชาชาย และใช้คำว่า madam เรียกผู้บังคับบัญชาหญิง ภาษาชนกลุ่มน้อยแมนจูก็ทิ้งร่องรอยไว้ในภาษาจีนไม่น้อย เช่น 阿玛鹜 “พ่อ” 格格 “องค์หญิง” (吉常宏: 2000) ตัวอย่างในภาษาไทยเช่น ภาษาอีสานเรียกพ่อแม่ว่า อีพ่อ อีแม่ บักเสี่ยว (เพื่อน) บักหล่า (คำเรียกเด็กผู้ชาย) ภาษาถิ่นใต้ เช่น นุ้ย “ใช้เรียกเด็กผู้หญิง” ไข่ “ใช้เรียกเด็กผู้ชาย” หลวง “เหมือนคำว่าทิดในภาษาไทย” ภาษาถิ่นเหนือเรียก เปิ้น ป้อ ป้อจาย ก็ไม่มีใช้ในภาษากลางเช่นเดียวกัน
8.4 ยุคสมัยในการใช้ภาษา ภาษามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คำในยุคสมัยหนึ่งใช้เรียกหรือมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่แน่ว่าจะใช้ในความหมายเดิมหรือไม่ อาจเกิดการแปรความหมาย หลงเหลือความหมายเพียงบางส่วน สูญเสียความหมายเดิมไปหรือกระทั่งสูญหายไปจากระบบภาษาเลยก็มี คำเรียกขานก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นคำเรียกบรรดาศักดิ์ขุนนางในราชสำนักไทยในสมัยโบราณจำพวก กรมหมื่น ขุน พระยา ปัจจุบันคงได้ยินเพียงในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช้ในชิวิตประจำวัน คำว่า “กู” ในสมัยสุโขทัยใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่หนึ่งทั่วไปตั้งแต่ชนชั้นกษัตริย์จนถึงสามัญชน แต่ปัจจุบันกลับเป็นคำสรรพนามที่มีความหมายหยาบคาย
ในภาษาจีนคำว่า 同志 ในยุคแรกๆ ใช้เป็นคำเรียกขานทั่วไปที่แสดงถึงความเท่าเทียม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ปัจจุบัน ความหมายของคำว่า同志มีแนวโน้มเปลี่ยนไป คือใช้เรียก “บุคคลรักร่วมเพศ” คำว่า 师傅 เดิมใช้เรียกครู อาจารย์ หรือผู้ชำนาญงานฝีมือ แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้เป็นคำเรียกทั่วไปแทนที่ 同同志ใช้เรียกคนทั่วไปเพื่อแสดงความเคารพและสุภาพ คำว่า 小姐 ในภาษาจีนเดิมใช้เรียกหญิงผู้สูงศักดิ์ หรือลูกสาวคหบดี อย่างที่ภาษาไทยแปลบทภาพยนตร์จีนคำนี้ว่า “คุณหนู” แต่ปัจจุบันความหมายของคำนี้เปลี่ยนไป คือใช้เรียก “หญิงบริการ” คำว่า 嫦娥 “จันทรเทวี” แต่ปัจจุบันความหมายเปลี่ยนไป หมายถึงหญิงสาวที่ออกร่อนเร่ในยามวิกาลเพื่อหาคู่นอน ในอดีตประเทศจีนปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ มีคำเรียกบุคคลในชนชั้นกษัตริย์มากมาย เช่น 皇帝 “กษัตริย์” 皇后 “มเหสี” 公主“องค์หญิง” 王子 “องค์ชาย” ปัจจุบันคำเหล่านี้ไม่มีใช้ในเหตุการณ์ปกติ หรือในชีวิตประจำวันอีกแล้ว
ในทางกลับกันคำเรียกขานที่ไม่มีในอดีตเกิดขึ้นใหม่มากมาย คำเรียกขานที่เกิดขึ้นใหม่มักสร้างขึ้นจากงานที่ทำบวกกับคำที่หมายถึงตัวบุคคล เช่น คนเก็บขยะ คนส่งเอกสาร พนักงานหน้าร้าน หรือใช้วิธีการยืมคำมาจากภาษาต่างประเทศ เช่น โปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ ดี.เจ. ดีลเลอร์ เป็นต้น ในภาษาจีนก็มีวิธีการสร้างคำเรียกขานใหม่ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น 服务员“พนักงานบริการ” 播音员“ผู้ประกาศ” 设计师“พนักงานออกแบบ” นอกจากนี้ยังใช้คำยืมจากภาษาต่าง ประเทศเช่น 的哥 “คนขับแท็กซี่เพศชาย” 吧女 “สาวบาร์” 麦当劳小姐 “พนักงานบริการในร้านแมคโดนัล” เป็นต้น
8.5 วัฒนธรรมความเชื่อในการใช้ภาษา วัฒนธรรมความเชื่อ ศาสนามีผลต่อการใช้คำเรียกขานมาก บางสังคมมีความคิดและให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างทางเพศ ก็จะมีคำเรียกขานที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางเพศมาก บางสังคมให้ความสำคัญกับความแตกต่างของอายุ ก็จะมีคำเรียกขานที่สะท้อนถึงความแตกต่างของอายุมาก ในบางสังคมมีความเชื่อ นับถือศาสนาและสิ่งลี้ลับ ก็ย่อมมีคำเรียกเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นจำนวนมาก ในขณะที่อีกสังคมหนึ่งที่ไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีคำเรียกขานเหล่านี้ วัฒนธรรมการยกย่องเพศชายในสังคมจีนมีผลอย่างมากต่อการกำหนด และการใช้คำเรียกขาน เช่น ญาติที่เป็นฝ่ายชายหรือญาติฝ่ายพ่อ จะเป็นญาติในวงศ์ตระกูล มีคำว่า 堂 ระบุไว้หน้าคำเรียกขาน แต่ในขณะที่ญาติฝ่ายหญิงหรือญาติฝ่ายแม่ ถือเป็นญาตินอกตระกูล มีคำว่า 表 ระบุไว้ แต่ในภาษาไทยไม่มีคำเรียกขานที่แบ่งญาติฝ่ายพ่อฝ่ายแม่ชัดเจน มีคำจำนวนมากที่ใช้เรียกได้ทั้งญาติฝ่ายพ่อและญาติฝ่ายแม่
คนไทยนับถือศาสนา และนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีคำเรียกขานที่เกี่ยวกับศาสนามาก เช่น พระอินทร์ พระพรหม นาค พระฤๅษี ทิด แม่ชี พราหมณ์ ภิกษุ เณร เจ้าแม่ตะเคียนทอง แม่ย่านาง ผีนางตานี ผีปอบ ปอบหยิบ กระสือ ในขณะที่ภาษาจีนไม่เชื่อเรื่องงมงาย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ คำเรียกประเภทนี้จึงมีอยู่น้อยมากหรือไม่มีเลย แม้ประเทศจีนจะนับถือศาสนาพุทธเป็นประจำชาติ มีคำเรียก 和尚 “พระ” 尼姑 “ภิกษุณี” 沙弥 “สามเณร” 观音婆萨 “โพธิสัตว์กวนอิม” 四面佛 “พุทธสี่หน้า” หรือความเชื่อเรื่องเทพเจ้าที่มีมาแต่ดั้งเดิม มีคำเรียก 土地神 “เทพพื้นดิน” 门神 “เทพประตู” 雨神 “เทพวิรุน” 雷神 “เทพอัคนี” แต่ก็เป็นความเชื่อที่หลงเหลืออยู่ในคนกลุ่มน้อยเท่านั้น ชาวจีนปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้แล้ว ทำให้คำเหล่านี้ไม่ปรากฏใช้ในวงคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันแต่อย่างใด

บทสรุป
จากการศึกษาวิจัยสามารถสรุปปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทยและภาษาจีนได้สองหัวข้อสำคัญคือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้
1. ปัจจัยภายใน คือปัจจัยที่อยู่ในตัวผู้สนทนา ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพทางสังคม เจตนา
อารมณ์ความรู้สึก ชนชาติ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ภาษาโดยตรง ในบรรดาปัจจัยภายในเหล่านี้ ปัจจัยที่คงที่คือเพศและอายุของคู่สนทนา ซึ่งในขณะเรียกขานกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใด ช่วงเวลาใด สถานที่ใดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นปัจจัยทั้งสองอย่างนี้จึงมีความสำคัญในการควบคุมการเลือกใช้ภาษาอย่างมั่นคงและชัดเจน จากการศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนก็พบว่าปัจจัยทั้งสองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าในภาษาใดจะถือเอาปัจจัยใดเป็นสำคัญเป็นอันดับหนึ่งหรือสอง ซึ่งในการศึกษาก็พบแล้วว่าในภาษาไทยให้ความสำคัญกับปัจจัยอายุเป็นอันดับแรกรองลงมาคือปัจจัยเพศ ซึ่งกลับกันกับภาษาจีนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยเพศเป็นอันดับแรกและรองลงมาคือปัจจัยอายุ
2. ปัจจัยภายนอก คือปัจจัยที่อยู่นอกตัวผู้เรียกและผู้ถูกเรียก สังคมวัฒนธรรม สถานภาพทาง
สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนา สภาพแวดล้อมทางภาษา ยุคสมัยและระบบภาษา ในปัจจัยเหล่านี้ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้ภาษาที่เด่นชัดที่สุดคือ “ความสัมพันธ์ของคู่สนทนา”
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อผู้สนทนาจะเลือกใช้ภาษาในแต่ละครั้ง มักจะมีปัจจัยหลายๆอย่างควบคุมการเลือกใช้ไปพร้อมๆกัน บางครั้งก็สามารถชี้ได้ชัดเจนว่าเป็นปัจจัยใดบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ในการเลือกใช้ภาษาครั้งหนึ่งๆที่มีปัจจัยมากกว่าหนึ่งปัจจัยควบคุมอยู่นั้น ปัจจัยใดมีอิทธิพลมาก ปัจจัยใดมีอิทธิพลน้อย สิ่งสำคัญที่สุดคือความเคยชินของเจ้าของภาษา ซึ่งเกิดจากการสะสม บ่มเพาะ และถ่ายทอดทางวัฒนธรรมภาษาในแต่ละสังคมภาษานั่นเอง

บรรณานุกรม郭锦桴(1993)《汉语与中国传统文化》中国人民大学出版社,北京。
吉常宏 (2000)《汉语称谓大词典》河北教育出版社,石家庄。
金炫兄 (2002)《交际称谓语和委婉语》台海出版社,北京。
田惠刚 (1998)《中西人际称谓系统》外语教学与研究出版社,北京。
袁庭栋 (1994)《古人称谓漫谈》中华书局,北京。
Brown Roger & Gilman Albert (1972),The pronoun of power and solidarity , In Fishman(ed.)
Rearing in The Sociology of Language.
Cooke Joseph Robinson(1966),Pronomial Reference in Thai, Burmese, and Vietnamese,
Dissertation Abstracts International, Ann Arbor, 1966, Vol.26.
Ervin-Trip Susan M.( 1972) An Analysis of the interaction of Language, Topic and Listener,In
Fishman(ed.) Reading in The Sociology of Language.
Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint(1986),The Use of Address Terms in Thai during the
Ratanakosin period , Chulalongkorn University : Bangkok Thailand.
Lohtrakullwat Chutharat (1998) A comparative study of Addressing terms in France and Thai , M.A.
Thesis in linguistics, Chulalongorn University Thailand.
Palakornkul A.(1975), A Sociolinguistics study of pronominal usage in spoken Bangkok Thai ,
International Journal of the Sociology of Language, 5, pp. 11-41.

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 เมษายน 2553 เวลา 18:09

    เข้ามาอ่าน ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติม ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะ ที่นำความรู้มาให้ ได้ความรู้เพิ่มเติมเยอะแยะ และนำไปประยุกต์ในงานวิจัย สาบานว่าจะอ้างอิงชื่อนี้แน่นอนค่ะ

    ตอบลบ