วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

เพลงจีนสำเนียงมองโกล : เพลงยอดเยี่ยมแห่ง Asia Pacific ขององค์การยูเนสโก


ภาพจาก

http://www.51ting.org/UploadFiles/2012/2/20121022153628975.jpg

ชาวมองโกลส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกล   และกลุ่มปกครองตนเองเผ่ามองโกล ในมณฑลซินเจียง ชิงไห่ กานซู่ เฮยหลงเจียง จี๋หลิน เหลียวหนิง และยังมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆของมณฑลหยวินหนาน เหอเป่ย  เสฉวน  หนิงเซี่ย  ปักกิ่งเป็นต้น บรรพบุรุษของชาวมองโกลมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณลุ่มน้ำวั่งเจี้ยน ปัจจุบันคือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเอ๋อเออร์กู่น่า มีชื่อปรากฏครั้งแรกในบันทึกสมัยถัง ตรงกับคริสต์ศักราช 840 หลังจากที่ประเทศหุยกู่ฮั่นล่มสลาย  กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวนี้อพยพไปอาศัยอยู่ทางทิศตะวันตก  อยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่พูดภาษาเทอร์จิคในพื้นที่ราบลุ่มมองโกล ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่   ชาวมองโกลจึงดำรงชีพอยู่ด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและการล่าสัตว์ป่า
ในปี 1206 เตมูจินรวบรวมชนเผ่ามองโกล และก่อตั้งเป็นชาติมองโกลขึ้นในบริเวณฝั่งแม่น้ำโว่หนาน ถือเป็นการก่อตั้งชาติมองโกลครั้งสำคัญ เพราะนับเป็นชนชาติยิ่งใหญ่มั่นคงและมีกำลังเข้มแข็งมากชนชาติหนึ่งในบริเวณภาคเหนือของจีน ทั้งยังขยายอาณาเขตความเจริญรุ่งเรืองออกไปไม่หยุดยั้ง อาณาเขตที่ชนชาติมองโกลปกครอง รวมเรียกว่าอาณาเขตมองโกล และรวมเรียกประชาชนในพื้นที่ปกครองว่าชนชาวมองโกลทั้งหมด
นับตั้งแต่ปี 1219 1260  ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน ชนชาติมองโกลทำศึกสงครามขยายอาณาเขตไปทางตะวันตกและก่อตั้งรัฐในปกครองแถบยูเรเซียขึ้นถึง 4 รัฐ ได้แก่ รัฐโว รัฐคั่วไถ รัฐฉาเหอไถ รัฐชินฉา และรัฐอีร์ ในขณะเดียวกันก็ได้บัญชาการการทำสงครามขยายอาณาเขตลงไปทางใต้ ตลอดระยะเวลาศึกสงคราม 70 กว่าปี  ชนชาติมองโกลได้ก่อตั้งประเทศจีนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินจีนมาจนปัจจุบัน
จากสาเหตุของการทำศึกสงครามเพื่อขยายดินแดนประเทศมองโกล ทำให้ชนชาวมองโกล กระจัดกระจายอยู่ไปทั่วดินแดนประเทศจีน  จนกระทั่งปี ค.ศ. 1368 ราชวงศ์หยวนล่มสลาย กองกำลังมองโกลน้อยใหญ่อพยพหลบหนีกลับไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบมองโกลตามเดิม ช่วงนี้มองโกลแบ่งออกเป็นสองส่วนคือภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ชาวมองโกลตะวันออกคือกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อนอยู่ในบริเวณที่ชื่อ โม่เป่ย และ โม่หนาน กลุ่มนี้เป็นชนชั้นศักดินาที่สืบเชื้อสายมาแต่ราชสำนักหยวนเดิม อีกกลุ่มหนึ่งคือชาวมองโกลที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อนอยู่ทางโม่ซี เรียกชื่อว่า มองโกลตะวันตก
ต่อมาในศตวรรษที่ 15   มองโกลใต้และเหนือถูกรวมอำนาจเข้าอยู่ในการปกครองของ ต๋า
เหยียนข่าน และได้จัดแบ่งการปกครองมองโกลตะวันออกเป็น 6 เขตคือ คาร์คา อูเหลียงฮา เออร์ตัวซือ ถู่โม่เท่อ ชาฮาร์ คาลาชิน จนถึงปลายราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิง ชนชาติมองโกลตกอยู่ในสภาพบ้านเมืองแตกแยก โดยมารแบ่งตัวกันตามเขตทะเลทรายเป็น 3 ภาคชัดเจน คือ มองโกลเหนือ มองโกลตะวันตก และมองโกลใต้ มองโกลใต้มีความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักหมิง เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการปกครอง วัฒนธรรม เศรษฐกิจของมองโกล ต่อมาราชสำนักหมิงใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษ และกองกำลังทหารจำนวนมหาศาลรวบรวมชนชาติมองโกลทั้งหมดเข้าอยู่ในการปกครองของประเทศจีนในที่สุด
            ข้างต้นเป็นข้อมูลโดยสังเขป เพื่อแนะนำให้รู้จักกับประวัติความเป็นมา ตัวตน และกลุ่มชนชาวมองโกล  แม้ว่าชนชาวมองโกลจะเป็นกลุ่มชนที่อยู่บนผืนแผ่นดินจีน มีความใกล้ชิดกับชาวฮั่น แต่ชาวมองโกลก็มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตัวเอง ซึ่งมีความแตกต่างกับชาวฮั่นที่เป็นชนส่วนใหญ่ของจีน โดยเฉพาะศิลปะด้านดนตรีและการขับร้องของมองโกล หากแบ่งแขนงดนตรีของจีนแล้ว ดนตรีมองโกลนับเป็นดนตรีที่มีเอกลักษณ์ มีความเป็นเอกเทศแขนงหนึ่งของวงการดนตรีจีน    

《美丽的草原我的家》เพลง เหม่ยลี่ เตอะ ฉ่าวหยวน หว่อ เตอะ เจีย แปลเป็นภาษาไทยว่า ทุ่งหญ้าแสนงาม บ้านของฉัน  ประพันธ์คำร้องโดยนักประพันธ์ชื่อ หั่ว หัว(火华) ประพันธ์ทำนองโดยคีตกวีชาวมองโกล  A La Teng Ao Le (阿拉腾奥勒) เป็นเพลงจีนสำเนียงมองโกลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเพลงหนึ่ง เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1977 ผู้ขับร้องคนแรกคือ นักร้องหญิงชาวมองโกลชื่อดัง  ชื่อ เต๋อ เต๋อ หม่า (德德玛)  ภาพของทุ่งหญ้ามองโกลอันกว้างใหญ่ ลมระเรื่อยโลมไล้ยอดหญ้าไหวเอน ฝูงแกะขนสีขาวพราวระยิบหยอกล้อแสงอาทิตย์อยู่เต็มท้องทุ่ง กระโจมที่พักคือบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมองโกล เป็นความงดงามที่อานุภาพแห่งภาษาและพลังแห่งทำนองเพลงดึงดูดผู้ฟังเข้าสู่จินตภาพของดินแดนมองโกล ท่วงทำนองเรื่อยเรื่อยเอื่อยระริน ราวกับลมรำเพยพัดแผ่ว ยอดหญ้าเขียวขจีทั้งท้องทุ่งไล่ล้อเล่นลม และปุยเมฆขาวที่คลอเคลียโลมไล้ท้องทุ่ง ด้วยเนื้อเพลงที่บรรยายความงามชัดเจน ท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงมองโกล เป็นประหนึ่งน้ำจันฑ์ชั้นดีที่จะมอมเมาผู้ฟังให้จับจิตจับใจ เพลินพะวงหลงใหล จนไม่อาจจะละจากดินแดนงดงามแห่งนี้ไปไหนได้อีกเลย ในปี ค.ศ.1980 เพลงนี้ได้รับคัดเลือกจาก United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO ให้เป็นเพลงยอดเยี่ยมและบันทึกไว้เป็นเพลงสำหรับการศึกษาใน รวมเพลงยอดเยี่ยมแห่ง Asia Pacific ต่อมาในปี ค.ศ. 2000 ได้รับคัดเลือกให้เป็น เพลงสากลยอดเยี่ยมอันดับหนึ่ง   
            การสร้างสรรค์บทเพลงขึ้นสักหนึ่งเพลง อาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคีตกรและนักประพันธ์ แต่เพลงที่ดีและมีคุณค่าต่อชีวิตและจิตใจของผู้คน ย่อมเกิดจากผู้มีความรัก ความผูกพันและเข้าใจชีวิตจิตใจของผู้คนร่วมสายเลือดอย่างลึกซึ้ง  ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่เพลงนี้ออกเผยแพร่สู่ประชาชน ได้รับความนิยมและบันทึกอยู่ในหัวใจชาวจีนอย่างไม่มีวันลบเลือน เป็นสิ่งยืนยันว่า บทเพลงอันทรงคุณค่านี้ เกิดขึ้นจากน้ำมือ และกลั่นกรองออกมาจากจิตวิญญาณของผู้มีหัวใจดวงเดียวกันกับประชาชนชาวจีนโดยแท้
            ณ วันหนึ่งของเดือน สิงหาคม ปี ค.ศ. 1975  นักประพันธ์ หั่ว หัว (火华)  ผู้ประพันธ์เพลงนี้ นั่งรถไปยังดินแดนแห่งทุ่งหญ้ามองโกลกว้างใหญ่เป็นครั้งแรก   ภาพที่มองเห็นจากหน้าต่างรถออกไป ทุ่งหญ้าช่างกว้างใหญ่ไพศาล สุดที่สายตาจะมองเห็น  งดงามวิจิตรสุดที่จินตนาการของมนุษย์จะไปถึงได้ ความมหัศจรรย์ของประติมากรรมชิ้นเอกที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือของศิลปกรเอกของโลกที่ชื่อธรรมชาตินี้ สร้างความตื่นตาตื่นใจ ก่อเกิดจินตนาการกว้างไกลฉุดกระชากหัวใจของคีตกวีเล็กๆ ที่โลดแล่นอยู่ในท่ามกลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่แห่งนั้น ให้ทะยานราวกับละอองปุยสำลีบางเบาล่องลอยสู่ฟ้า ในท่ามกลางความงดงาม ที่มอมเมาอารมณ์ให้หลงใหลถึงเพียงนี้ ไม่มีกวีคนใดอดใจได้ที่จะไม่บรรเลงเพลงอักษร ถ่ายทอดออกมาเป็นกลอนอันไพเราะ นักประพันธ์เพลงท่านนี้ก็เช่นเดียวกัน  หั่ว หัว ตัดสินใจที่จะพำนักอยู่ในท่ามกลางทุ่งหญ้าแห่งนี้สักระยะหนึ่ง เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คน และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง ณ เวลานั้น ได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ วิถีวัฒนธรรมของชาวมองโกลด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง ทุกเช้าเข้าโรงม้าไปพร้อมกับชาวบ้านรีดนมม้า กินเนื้อแพะ เรียนภาษามองโกล อยู่มาวันหนึ่ง หั่ว หัว ได้ต้อนแกะไปหากินในทุ่งหญ้าพร้อมกับชาวบ้าน ภาพเบื้องหน้าที่ไม่ว่าจะเดินออกไปไกลเท่าใด เส้นขอบท้องหญ้าขจีจรดกับขอบฟ้าครามก็ยิ่งไกลออกไปทุกที นกคีรีบูนบินเหิรร่อนส่งเสียงร้องเพลงราวกับจะปลุกเร้ากระตุ้นวิญญาณศิลปิน ให้เกิดแรงบันดาลใจจรดปากกาบรรยายความรู้สึกที่อัดแน่นเต็มหัวใจออกมาเป็นกลอนเพลง เสียงร้องเพลงของสาวชาวบ้านแว่วกังวานอบอวนอยู่ในท้องทุ่งกว้างแห่งนั้น แต่นักประพันธ์ท่านนี้กลับเหมือนกับถูกพันธนาการจากความงามทั้งมวลนั้นให้ลุ่มหลงจนถอนตัวไม่ขึ้น ประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งหญ้ามองโกลติดตาตรึงใจนักประพันธ์ท่านนี้อย่างไม่มีวันลืมเลือน
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1977  หั่ว หัว ได้ย้ายไปประจำการที่กองดุริยางค์มองโกเลียใน  เมื่อคอนเสริตกองดุริยางค์ทหารประจำปี 1997 มีกำหนดจัดขึ้นที่กองทหารมองโกเลียใน หั่ว หัว หวนรำลึกถึงภาพทุ่งหญ้ามองโกล ภาพอันงดงามที่ติดตา ความสุขที่ตรึงใจผุดขึ้นมาดั่งภาพ ภาพแล้วภาพเล่า ไออุ่นของทุ่งหญ้า เสียงฝูงแพะที่ถูกไล่ต้อน เสียงฝีเท้าควบม้าทะยานโลดแล่นอิสรเสรีไปบนท้องทุ่ง กลอนแห่งความทรงจำพรั่งพรูดั่งสายฝนโปรยปราย สร้างความชุ่มฉ่ำให้ทุ่งหญ้า สร้างอรรถรถแห่งภาษาในเวลาไม่ถึงชั่วพริบตา ทุกกระบวนคำ ทุกตัวอักษรกลั่นกรองเรียงร้อยออกมาจากมโนภาพแห่งธรรมชาติ ปะทุออกจากก้นบึ้งของหัวใจ ไหลเป็นน้ำหมึกบรรเลงออกมาเป็นเพลงอักษร เพลงนี้จึงนับเป็นเพลงเอกที่นักประพันธ์ท่านนี้ภูมิใจยิ่งนัก ที่สำคัญ ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวมองโกลก็ชื่นชอบ หลงใหลเพลงนี้เป็นอันมาก ราวกับเป็นเพลงตัวแทนของชาวมองโกล ที่อยากจะประกาศความงามของบ้านเกิดเมืองนอนให้ผู้คนภายนอกได้รับรู้ 
ลักษณะเด่นประการหนึ่งที่ทำให้เพลงนี้ได้รับการยอมรับอย่างสูงก็คือ ทำนองเพลงนี้ ไม่ได้นำเอาทำนองเพลงเก่ามาจากเพลงพื้นเมืองเดิมของมองโกล มาปรับปรุงเติมแต่งแต่อย่างใด แต่เป็นการแต่งทำนองขึ้นใหม่บนพื้นฐานเอกลักษณ์ทำนองเพลงพื้นเมืองมองโกล ทำให้เพลงที่เป็นเพลงสมัยใหม่ เป็นเพลงร่วมสมัยนี้ มีกลิ่นไอของความเป็นพื้นเมืองอย่างเข้มข้น นับเป็นการหลอมรวมดนตรียุคใหม่กับดนตรีพื้นเมือง ให้ผสานผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างลงตัว การสร้างทำนองเพลงในลักษณะนี้เป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีของจีนอย่างมาก เป็นต้นแบบของการสร้างเพลงประเภทเพลงลำนำสดุดีท้องถิ่น ชาติพันธุ์ ชุมชน และสังคมของชาติในเวลาต่อมา
ผ้าสักหลาด (ภาษาจีนเขียนว่า อ่านว่า จัน) ที่กล่าวถึงในเพลง เป็นงานหัตถกรรมเลื่องชื่อของชาวมองโกล นับตั้งแต่ก่อนยุคที่เจงกีสข่าน รวบรวมมองโกลเป็นปึกแผ่น งานหัตถกรรมของชาวมองโกลก็มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นมากแล้ว จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง วิวัฒนาการด้านหัตถกรรมการผลิตสักหลาดมองโกลเจริญก้าวหน้าอย่างมาก สักหลาดของมองโกลมีลักษณะพิเศษสองประการ คือ แบบที่หนึ่งทอเสร็จแล้วปักลาย อีกแบบหนึ่งคือใช้ขนต่างสีกันทอให้เกิดเป็นลวดลาย  ลวดลายสักหลาดมองโกลมีสีสันฉูดฉาดสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์ ได้รับความนิยมไปทั่วแผ่นดินจีน และต่างประเทศ
เนื้อเพลง   เหม่ยลี่ เตอะ ฉ่าวหยวน หว่อ เตอะ เจีย แปลเป็นภาษาไทยว่า ทุ่งหญ้าแสนงาม บ้านของฉัน 
美丽的草原我的家    风吹绿草遍地花
彩蝶纷飞白鸟儿唱    一弯碧水映晚霞
骏马好似草一朵      牛羊好似珍珠洒,啊...
牧羊姑娘放声唱      愉快的歌声满天涯

美丽的草原我的家    水清草美我爱它
草原就象绿色的海    毡包就象白莲花
牧民描绘幸福景      春光万里美如画,啊... 
牧羊姑娘放声唱      愉快的歌声满天涯


ผู้เขียนได้แปลความหมายของเนื้อเพลงวรรคต่อวรรค โดยพยายามให้คงความหมายเดิมให้มากที่สุด ดังนี้

ทุ่งหญ้ากว้างสุดสายตาบ้านของฉัน        เต็มทุ่งบานลมรำเพยเชยดอกหญ้า
ผีเสื้อบินชดช้อยนกน้อยแว่วเพลงมา        ธารธาราสีมรกตสะท้อนแสงสายัณห์
อาชางามทะยานละลานดั่งยอดหญ้า       แกะพราวตาขาวสะพรั่งดั่งมุกหว่าน อา......
เสียงสาวน้อยต้อนแกะขับเพลงสำราญ     เสียงขับขานกังวานก้องสุดฟ้าไกล

ทุ่งหญ้ากว้างสุดสายตาบ้านของฉัน        ฉันรักมั่นทุ่งขจีธารน้ำใส
ผืนหญ้าเขียวเหมือนท้องทะเลพราย        สักหลาดขาวประกายดั่งบัวบาน
ชนเลี้ยงแกะรจนาภาพภิรมย์รื่น              วาดแสงทองกลมกลืนดั่งภาพฝัน อา......
เสียงสาวน้อยต้อนแกะขับเพลงสำราญ     เสียงขับขานกังวานก้องสุดฟ้าไกล

ข้างท้ายนี้เป็นโน้ตเพลง  เพลงนี้ใช้จังหวะ 2/4   เลข 1 = เสียง F  ขึ้นต้นเพลงด้วยเสียง mezzo forte (เสียงค่อนข้างดัง)  สื่อถึงการประกาศก้องแว่วดังมาจากทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ช่วงกลางใช้เสียง mezzo piano (เสียงปานกลาง) เพื่อสื่อถึงการสดุดียกย่องความงามของทุ่งหญ้ามองโกล ท้ายเพลงแผ่วพลิ้ว แว่วหวาน จังหวะค่อยๆช้าลง และกระซิบเบาลง เบาลง จนหมดเสียง เพื่อสื่อความหมายถึงคำร้องท่อนสุดท้ายที่ว่า  เสียงขับขานกังวานก้องสุดฟ้าไกล  
ผู้อ่านสามารถฟังเพลงนี้ได้ทางเว็บไซต์แห่งนี้ http://www.youtube.com/watch?v=6YqyuasRRhI

โน้ตเพลง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น