วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

“Tian Lu ทางสวรรค์” บทเพลงแห่งสายใยรักจีนทิเบต



ภาพจาก  http://www.lasa.gov.cn/UploadFiles/lygg/2010/8/201008072331559628.jpg 

ดินแดนแห่งพุทธธรรม ทิเบต หรือ ธิเบต เป็นพื้นที่เขตปกครองตนเองของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน  ชนกลุ่มน้อยเผ่าทิเบตนับได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนกลุ่มหนึ่ง  มีถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่า ชิงจั้งเกาหยวน มีเชื้อสายมาจากชาวอินเดีย  ชาวทิเบตมีพระเป็นชนชั้นผู้นำมีอำนาจทั้งการปกครองและศาสนา  ที่เรียกว่าดินแดนแห่งพุทธธรรมเนื่องจากว่าชนชาวทิเบตเลื่อมใสศรัทธาในศาสนามายาวนาน ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน คล้ายกับประเทศภูฏานเป็นศาสนาที่ชนชาวทิเบตนับถือ พร้อมอุทิศชีวิตจิตวิญญาณเพื่อศาสนา ทิเบตตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยอันเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลกดังฉายาที่ชาวโลกรู้จักกันทั่วว่า ดินแดนหลังคาโลก เขตปกครองตนเองทิเบตมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่มีประชาชนอาศัยอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นเขตอากาศหนาวเย็น ดินแดนที่เรียกว่าทิเบตนี้ ทิศเหนือติดต่อกับ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์และมณฑลชิงไห่ (ประเทศจีน) ทิศใต้ติดต่อกับประเทศเนปาล ประเทศภูฏาน มณฑลยูนนาน (ประเทศจีน) รัฐกะฉิ่น (ประเทศพม่า) และรัฐอัสสัม รัฐนาคาแลนด์ (ประเทศอินเดีย) พื้นที่ติดต่อกับประเทศอินเดียนี้ ยังเป็นบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งทางอินเดียได้อ้างกรรมสิทธิ์เข้ามาปกครอง และเรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า อรุณาจัลประเทศ  ทิศตะวันออกติดต่อกับ มณฑลเสฉวน (ประเทศจีน) ทิศตะวันตกติดต่อกับ รัฐชัมมูและแคชเมียร์ (ประเทศอินเดีย) และประเทศปากีสถาน จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2,000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าทิเบต   มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,416,021  คน   ชาวทิเบตมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองคือภาษาทิเบต 
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 สภาพแบ่งแยกปั่นป่วนในภูมิภาคกลางของจีนที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน 300 กว่าปีได้สิ้นสุดลง ขณะเดียวกันวีรบุรุษซงจั้นกันปู้ของชนชาติทิเบตได้สถาปนาราชวงศ์ถู่ปัวอย่างเป็นทางการขึ้น และตั้งเมืองหลวงที่นครลาซา ในช่วงปกครองประเทศ กษัตริย์ซงจั้นกันปู้มีความสัมพันธ์ฉันมิตรในด้านต่างๆกับราชวงศ์ถังไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม นับตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 หลังจากทิเบตได้รวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเป็นต้นมา แม้ว่าจีนจะมีหลายราชวงศ์ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปกครองประเทศ และเปลี่ยนอำนาจรัฐหลายครั้ง แต่ทิเบตก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางมาโดยตลอดไม่ว่าราชวงศ์ใด
              แต่ปัจจุบันปัญหาในทิเบตที่เกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราช และข้อกล่าวหาจีนจากนานาชาติเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงมากขึ้น เป็นปัญหาที่ทางการจีนให้ความสำคัญมากที่สุดปัญหาหนึ่ง เกี่ยวกับกรณีนี้ งานวิจัยของ เขียน ธีรวิทย์ (2541)  ให้ทัศนะว่า  รัฐบาลจีนได้พยายามปกป้องการใช้อำนาจปกครองทิเบตของตน และโต้แย้งว่าจีนมิได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต แต่ส่งเสริมให้มีสิทธิมนุษยชนดีขึ้น ส่งเสริมให้ทุกคนมีสิทธิเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งก่อนการปฏิรูปการเมืองในทิเบต ปี 1959 อำนาจการปกครองและการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของพระซึ่งถือเป็นชนชั้นปกครองที่มีอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม แต่รัฐบาลจีนได้ปฏิรูปการเมืองให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำให้คนทิเบตมีโอกาสทางการศึกษาดีขึ้น ฯลฯ  
                  แต่ชาวทิเบตมีความเชื่อตามศาสนา มีความสุขและเชื่อว่าตนมีเสรีภาพ แม้ในสายตาของคนอื่นอาจจะดูว่าถูกกดขี่ก็ตาม แต่เพราะคนทิเบตถูกผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางศาสนาหล่อหลอมให้อยู่ในลัทธิศาสนาพุทธแบบทิเบตจนกลายเป็นประเพณีและวิถีชีวิต เชื่ออย่างมีความสุขในการถูกแบ่งชนชั้นเป็น 3 ชั้น 9 อันดับ โดยมีสิทธิหน้าที่ต่างกัน ทุกคนยอมรับมานานหลายชั่วอายุคน กลายเป็นความสุข กลายเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา กลายเป็นเสรีภาพในการที่จะอยู่อย่างไม่เท่าเทียมกัน ศาสนวิถีแบบนี้จีนย่อมมองว่าเป็นความไม่มีเสรีภาพ ไม่มีความเท่าเทียมกัน เป็นการกดขี่ประชาชนโดยใช้ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นข้ออ้าง
                ไม่ว่ากระแสตะวันตกจะเห็นว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต ทำให้มีการต่อต้านและประณามการใช้อำนาจของจีนต่อชนชาวทิเบตเพียงใด แต่รัฐบาลจีนเห็นว่าจีนได้ช่วยให้สิทธิมนุษยชนในทิเบตดีขึ้นกว่าเดิม จนหลุดพ้นจากการกดขี่ในระบบทาสที่พวกดาไลลามะและชนชั้นสูงของทิเบตใช้อำนาจปกครองมาแต่อดีต      หากว่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบตโดยฝ่ายจีนจริง ก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมิใช่ข้ออ้างในการขอแยกเป็นประเทศเอกราช เพราะทิเบตเป็นดินแดนของจีนที่มิใช่อาณานิคมที่จะมีสิทธิเรียกร้องอธิปไตยปกครองตนเองเป็นประเทศเอกราชได้ 
           แม้ว่าเรื่องราวของการเมือง สงคราม ความขัดแย้ง ดำเนินมาแต่อดีตและยังดำเนินต่อไป  มองไม่เห็นทางว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดและอย่างไร บั่นทอนความสัมพันธ์และชีวิตจิตใจผู้คนอย่างร้ายกาจ  แต่เรื่องราววัฒนธรรมการดนตรีของชนชาวทิเบตก็มิได้ถดถอย   ชาวทิเบตเชี่ยวชาญและรักการร้องรำทำเพลง ระบำเท้าเป็นระบำที่มีชื่อของชาวทิเบต ดนตรีเป็นดนตรีชั้นสูงที่ใช้ในราชสำนักมาแต่โบราณ มีจังหวะและท่วงทำนองที่ให้อารมณ์สูงส่ง โอ่อ่า และให้อรรถรสที่สนุกสนาน และสุขใจในที  ละครทิเบตเกิดขึ้นในสมัยหมิง  พัฒนามาจากการร้องและระบำพื้นเมือง  ไม่มีฉากหลัง นักแสดงเป็นชายล้วน มีการแต่งกายตามเอกลักษณ์ทิเบตและที่สำคัญละครทิเบตมีการสวมหน้ากากด้วย เรื่องที่นิยมแสดงได้แก่เรื่อง องค์หญิงเหวินเฉิง นับเป็นอุปรากรที่ได้รับความนิยมสูง และได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงชิ้นเอกของจีน
 ข้างต้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชาวทิเบตโดยสังเขป เพื่อทำความรู้จักกับชาวทิเบต อันเป็นมูลเหตุและชี้ให้เห็นความสำคัญว่าทำไมจึงยกเรื่อง เพลงทิเบตมาเขียนในบทความนี้
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยมากมายถึง 55 กลุ่ม ทางการจีนพยายามทุกวิถีทางที่จะปกครองชนกลุ่มน้อยให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  นโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้มีการปกครองตนเอง การให้สิทธิทางการเมือง การพัฒนานำความเจริญ การศึกษา สุขอนามัย เศรษฐกิจที่ดีไปสู่ชุมชนกลุ่มน้อยในแดนกันดาร และที่สำคัญที่สุดคือ เน้นการเคารพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เรื่องราวทางการเมืองในทิเบตที่เกิดขึ้นเป็นมูลเหตุของการกำเนิดนโยบาย กิจกรรม หรือสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทิเบตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงาน บุคคลในวงการต่างๆ พยายามทุกวิถีทางที่จะร่วมมือกันสร้างความสงบสุข สร้างขวัญและกำลังใจ สร้างความเชื่อมั่น สร้างความรู้สึกรักและความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน กอรปกับชนชาติทิเบตมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาในแผ่นดินจีนยาวนาน เป็นเหตุให้วัฒนธรรมของชาวทิเบตหลายอย่างเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างกว้างขวางในประเทศจีนและชาวจีน
เอกลักษณ์ด้านเพลงและดนตรีของชาวทิเบต คือ การร้องเพลงเสียงสูงและสั่นเครือ ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ได้รับการยกย่อง เป็นที่นิยมชมชอบอย่างกว้างขวางและเป็นที่รู้จักทั่วไปในประเทศจีน  เพลง จึงเป็นสิ่งที่ชาวจีนและชาวทิเบตใช้เป็นสื่อกลางส่งผ่านความรักความห่วงใย สื่อใจถึงใจ สื่อความรู้สึกถึงกันได้อย่างลึกซึ้งและน่าอัศจรรย์ เพลงที่สรรเสริญชนชาวทิเบตและดินแดนทิเบต เพลงที่ยกย่องรัฐบาล เพลงที่ปลุกใจให้รักชาติ เพลงที่บอกถึงความสมานฉันท์รักกันฉันพี่น้องของชาวจีนและทิเบต เกิดขึ้นมากมาย เพลงเหล่านี้มีทั้งที่แต่งโดยชาวทิเบตเองและแต่งโดยชาวจีน แต่ไม่ว่าชาวทิเบตหรือชาวจีนเป็นผู้แต่งเพลงก็ตาม สิ่งที่เด่นชัดที่สุดที่นักประพันธ์ไม่อาจละเลยได้ก็คือ ท่วงทำนองเพลง ดนตรีและการขับร้องที่เน้นให้เห็นถึงเอกลักษณ์ด้านดนตรีของชาวทิเบต สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่าเอกลักษณ์ด้านเพลงดนตรีของชาวทิเบตมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร และยากจะมีใครเสมอเหมือน
เพลงที่ชื่อว่า “Tian Lu  (天路) ทางสวรรค์ เป็นเพลงที่โดดเด่นและได้รับความนิยมมาก ความโดดเด่นของเพลงนี้อยู่ที่ความหมาย และเหตุการณ์ที่นับได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาลจีนต่อดินแดนทิเบตและชนชาวทิเบต นั่นก็คือ การสร้างทางรถไฟสาย ชิงไห่-ทิเบต ภาษาจีนเรียกว่า ชิงจั้งเถี่ยลู่ ทางรถไฟสายนี้นับเป็นเส้นทางรถไฟบนที่ราบสูงที่สูงที่สุดและยาวที่สุดของโลก มีความยาวตลอดทั้งสาย 1956 กิโลเมตร เริ่มต้นเดินทางจากเมืองซีหนิง เมืองเอกของมณฑลชิงไห่ ถึงปลายทางเมืองลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบต ใช้เวลาเดินทาง 26 ชั่วโมง 23 นาที บนเส้นทางนี้มีสถานีรถไฟสูงที่สุดในโลกคือ สถานีถังกู่ลา-ซาน จุดสูงสุดของทางรถไฟสายนี้ สูงจากระดับน้ำทะเล 5,072 เมตร ได้เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2001 การก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2005 กว่า 80% ของทางรถไฟสายนี้หรือกว่า 960 ก.ม. ทอดยาวไปบนพื้นที่ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 4,000 เมตร และราว 550 ก.ม. ต้องวางรางไปบนพื้นที่ซึ่งเป็นน้ำแข็งอยู่ตลอดปี จึงต้องใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้างพิเศษกว่าการวางรางรถไฟทั่วไป เส้นทางรถไฟต้องตัดผ่านหมู่หุบเขาที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวสลับซับซ้อน ต้องขุดอุโมงค์ยาวลอดหุบเขาหลายแห่ง นับเป็นมหัศจรรย์วิศวกรรมชิ้นเอกที่รัฐบาลจีนทุ่มเทอย่างมหาศาลเพื่อนำความเจริญและความผาสุกเข้าสู่ดินแดนหลังคาโลก
นักประพันธ์ชื่อ ชวีหยวน (Qu Yuan屈塬) เป็นผู้แต่งเนื้อเพลง และนักประพันธ์เพลง อิ้น ชิง (Yin Qing印青) เป็นผู้แต่งทำนองเพลง  ผู้ขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรกคือ นักร้องเพลงชาวทิเบต ชื่อ ปาซาง (Ba Sang巴桑)  ด้วยความไพเราะและความหมายที่ลึกซึ้งกินใจของเพลงนี้ ทำให้นักร้องทั้งชาวจีนและชาวทิเบตนิยมนำไปขับร้องกันอย่างกว้างขวาง   นักร้องยอดนิยมที่นำเพลงนี้มาร้องใหม่จนโด่งดังเป็นที่นิยมและรู้จักกันทั่วไปเช่น หันหง (Han Hong 韩红) นักร้องชาวทิเบตชื่อ สัวหล่าวั่งหมู่ (Suo Langwangmu 索朗旺姆) เป็นต้น ดังนั้นจึงมีผู้กล่าวว่า เพลงเทียนลู่ เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต
ผู้เขียนได้แปลเนื้อเพลงนี้แบบวรรคต่อวรรค โดยพยายามให้เนื้อความที่แปลมาคงความหมายและความไพเราะใกล้เคียงกับสำนวนเดิมให้มากที่สุดดังนี้

清晨我站在青青的牧场                看到神鹰披着那霞光                       
像一片祥云飞过蓝天                     为藏家儿女带来吉祥
那是一条神奇的天路哎             把祖国的温暖送到边疆
从此山不再高路不再漫长             各族儿女欢聚一堂

黄昏我站在高高的山冈                看那铁路修到我家乡               
一条条巨龙翻山越岭                        为雪域高原送来安康
那是一条神奇的天路哎            带我们走进人间天堂
青稞酒酥油茶会更加香甜             幸福的歌声传遍四方

ฉัน ยืนกลางทุ่งขจีแสงอรุณโอบ              เหยี่ยวฟ้าโฉบอาบแสงว่อนร่อนเวหา
เมฆมงคลลอยผ่านผืนนภา                            นำพรพาลูกหลานทิเบตพ้นเภทภัย
ฝ่าความหนาวฝากรถไฟสายสวรรค์              อ้อมอุ่นนั้นมาตุภูมิส่งมาให้
นับแต่นี้เขาไม่สูงทางไม่ไกล                          เผ่าพี่น้องรวมใจรักนิรันดร์
ยามสายัณห์บนยอดผาสูงตระหง่าน            ยืนมองทางรถไฟสายสวรรค์
ดุจมังกรร่อนเลื้อยเขาพัลวัน                           ส่งความรักความสุขสันต์มาบ้านเรา 
อัศจรรย์แสนวิเศษทางสายใหม่                    พาเราไปสวรรค์บนดินบนถิ่นเขา
กรุ่นกลิ่นนมเคล้ากลิ่นชาหอมกลิ่นเหล้า   เพลงสุขเคล้าก้องทั่วแคว้นทั่วแดนดิน
                                                                               
เป็นที่ทราบกันดีว่าทิเบตตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงที่สุดของโลก ธรรมชาติ ณ ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นประดุจดินแดนสรวงสวรรค์ที่คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบไม่มีโอกาสได้เห็น จินตภาพความงามดังกล่าวดั่งถ้อยจำนรรจ์พรรณนาออกมาในบทเพลงตอนต้นที่ว่า

                   ฉัน  ยืนกลางทุ่งขจีแสงอรุณโอบ              เหยี่ยวฟ้าโฉบอาบแสงว่อนร่อนเวหา
เมฆมงคลลอยผ่านผืนนภา                            นำพรพาลูกหลานทิเบตพ้นเภทภัย

เนื้อเพลงข้างต้นพรรณนาจินตภาพธรรมชาติยามอรุณรุ่ง ณ ดินแดนทิเบต ผู้ประพันธ์ถ่ายทอดภาพ จากมุมสูง ฉันยืนอยู่กลางท้องทุ่งที่อุดมสมบูรณ์ แสงอาทิตย์ยามเช้าสาดประกายแสงส่องลอดผ่านกลุ่มกลีบเมฆให้ไออุ่นโอบกอดคลายความหนาวเหน็บของราตรีอันยาวนาน ฝูงเหยี่ยวบินโฉบเฉี่ยวบนท้องฟ้า ปีกกระพือถูกฉาบอาบด้วยแสงทองอร่ามตา มวลหมู่เมฆขาวบริสุทธิ์ที่มนุษย์เอื้อมมือสัมผัสได้ดุจพรจากสวรรค์ที่บันดาลความมงคลแก่ชนชาวทิเบต  
เหยี่ยวฟ้า(神鹰)  ที่กล่าวถึงในเพลงสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับพิธีกรรมและความเชื่อของชาวทิเบตเกี่ยวกับทูตสวรรค์  การประกอบพิธีศพของชาวทิเบตกระทำโดยนำศพไปไว้บนภูเขา แล้วให้เหยี่ยวซึ่งเชื่อว่าเป็นทูตสวรรค์มาจิกกินเนื้อ ด้วยเชื่อว่าวิญญาณจะได้ติดตามเหยี่ยวขึ้นสู่สรวงสวรรค์  
เนื้อเพลงท่อนต่อมาคือภาพที่ ฉันมองจากมุมสูงเห็นทางรถไฟที่กำลังสร้างทอดทางยาวคดเคี้ยว
ตามแนวเขา รถไฟสายสวรรค์สายนี้เป็นเส้นทางที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของชาวจีนและทิเบต  ที่แม้ว่าสองดินแดนและสองชนชาติถูกแบ่งแยกด้วยการเมืองการปกครองที่มีมาแต่อดีต แต่โดยสายสัมพันธ์ฉันพี่น้องแล้ว ชาวทิเบตยังรู้สึกผูกพันกับแผ่นดินจีนในฐานะมาตุภูมิ  ดังเนื้อเพลงพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกว่า 

ฝ่าความหนาวฝากรถไฟสายสวรรค์               อ้อมอุ่นนั้นมาตุภูมิส่งมาให้
นับแต่นี้เขาไม่สูงทางไม่ไกล                             เผ่าพี่น้องรวมใจรักนิรันดร์

มุมมองของชาวทิเบตที่สะท้อนผ่านบทเพลงข้างต้น มิใช่ความยินดีต่อความเจริญทางการคมนาคมที่เข้ามาสู่ดินแดนทิเบตเท่านั้น หากแต่เส้นทางรถไฟสายนี้ได้ทะลายกำแพงภูผาอันสูงตระหง่านและหนทางกันดารห่างไกลที่กั้นโอกาสในการติดต่อระหว่างพี่น้องที่ดูเหมือนถูกตัดขาดออกเป็นสองแผ่นดินมายาวนาน ได้สานสายใยเป็นแผ่นดินเดียว ความรู้สึกลึกๆในจิตใจของชาวทิเบตที่ก่อนหน้านั้นมีความน้อยเนื้อต่ำใจว่าถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลจีนมานาน  แต่ในบทเพลงนี้ได้สะท้อนถึงความอิ่มเอิบใจที่ชาวทิเบตได้รับความห่วงใยใส่ใจจากรัฐบาลจีน ความรู้สึกดังกล่าวสื่อผ่านการใช้คำว่า อ้อมอุ่น  มาตุภูมิ  เผ่าพี่น้อง  รวมใจ  รักนิรันดร์ 
ทางรถไฟที่ลัดเลาะทอดข้ามหุบเขามาสู่ดินแดนทิเบต ฉันคือตัวแทนของชาวทิเบตที่ยืนมองทางรถไฟสายนี้ และรอคอยการมาถึงของรถไฟแห่งความหวังอย่างใจจดใจจ่อ มังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติพันธุ์จีน จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับทางรถไฟที่ทอดยาวไต่เขาเลี้ยวลดไปมาดุจพญามังกรที่ร่อนลอยผงาดประกาศศักดา นำพาความรัก ความสุข ความห่วงหาอาทรจากดินแดนแม่มาสู่ลูกหลานชาวทิเบตดังเนื้อเพลงที่ว่า
 ยามสายัณห์บนยอดผาสูงตระหง่าน           ยืนมองทางรถไฟสายสวรรค์
       ดุจมังกรร่อนเลื้อยเขาพัลวัน                            ส่งความรักความสุขสันต์มาบ้านเรา   

ในขณะเดียวกัน ชาวทิเบตเองก็มีความภูมิใจในแผ่นดินของตนมาก พร้อมกันนั้นก็ได้เชิญชวนผู้คนให้ไปเยือนดินแดนหลังคาโลก และวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวทิเบต ดังท่อนสุดท้ายของเพลงที่ว่า

                        อัศจรรย์แสนวิเศษทางสายใหม่                    พาเราไปสวรรค์บนดินบนถิ่นเขา
กรุ่นกลิ่นนมเคล้ากลิ่นชาหอมกลิ่นเหล้า   เพลงสุขเคล้าก้องทั่วแคว้นทั่วแดนดิน
http://pu.guqu.net/UploadFiles/200803/2008031116443935.gif 
    ชานม และการร้องเพลงเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงชาวทิเบตที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ความโดดเด่นของวัฒนธรรมดังกล่าวได้สะท้อนผ่านบทสุดท้ายของเพลงอันเป็นเสมือนคำเชิญชวนจากเจ้าบ้านให้ผู้ที่ไม่เคยได้ไปเยือนดินแดนแห่งนี้ ได้สัมผัสมหัศจรรย์ของสวรรค์บนดิน กรุ่นกลิ่นนมเคล้ากลิ่นชาหอมกลิ่นเหล้า   เพลงสุขเคล้าก้องทั่วแคว้นทั่วแดนดิน  
บทเพลง เทียนลู่ จึงมิใช่บทเพลงที่บันทึกเหตุการณ์ความสำคัญของการสร้างทางรถไฟสายชิงไห่ - ทิเบต
เท่านั้น หากแต่เป็นบทเพลงที่ประสานมิตรภาพของคนสองเชื้อชาติบนแผ่นดินเดียวกันที่ทั่วโลกขนานนามว่า แผ่นดินมังกร   ให้เป็นหนึ่งเดียว

                 สามารถฟังบทเพลงเทียนลู่และชมความมหัศจรรย์ของเส้นทางสายสวรรค์ได้ที่เว็บไซต์นี้  
 

               
 
  
民族人物——藏族预览图 点击看大图


เอกสารอ้างอิง
เขียน ธีระวิทย์ (2541) นโยบายต่างประเทศจีน. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (2550)  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2550 ปีที่
                31 ฉบับที่ 11019. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น