วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

มุกประกายบนสายธารา : มหาอุปรากรสถานแห่งชาติจีนยุคใหม่

ภาพนี้คัดลอกมาจาก http://www.williamlong.info/google/upload/498_2.jpg

 ภาษาจีนเรียกโรงละครแห่งชาตินี้ว่า “กว๋อ เจีย ต้า จวี้ ย่วน” (国家大剧院) หมายความว่า “โรงละครแห่งชาติ” ชื่อภาษาอังกฤษว่า National Centre for the Performing Arts ตั้งอยู่ ณ ใจกลางกรุงปักกิ่ง ด้านทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอานเหมิน (天安门) ฝั่งทิศใต้ของถนนฉางอานเจีย (长安街) อาคารส่วนที่เป็นโรงละครตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ ทางเข้าอาคารกลางของโรงละครทำเป็นทางเดินลอดใต้น้ำ ปูพื้นสระด้วยกระจกใสสามารถมองเห็นพื้นน้ำด้านบนได้ รอบบริเวณเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 11,890,000 ตารางเมตร ส่วนที่เป็นอาคารและสิ่งก่อสร้างมีพื้นที่รวม 16,500,000 ตารางเมตร อาคารกลางที่เป็นโรงละครมีพื้นที่ทั้งหมด 10,500,000 ตารางเมตร  ชั้นใต้ดินสร้างเป็นที่จอดรถมีพื้นที่รวม 600,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 3,100 ล้านหยวน (1 หยวน ประมาณ 5 บาท)
            แม้โรงละครแห่งชาติจีนจะเพิ่งก่อสร้างสำเร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี 2007 นี้ก็ตาม แต่ความเป็นมาของการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติมีมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อปี 50 แห่งศตวรรษที่ 20  รัฐบาลจีนโดย พณฯท่าน โจวเอินหลาย  ได้มีดำริที่จะให้สร้างโรงละครแห่งชาติขึ้น โดยได้เลือกบริเวณที่จะสร้างคือ “ด้านทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอานเหมิน” นี่เอง แต่ด้วยเหตุสภาวะทางเศรษฐกิจไม่อำนวย จึงไม่มีการก่อสร้างโรงละครดังกล่าวขึ้นในยุคนั้น
            ปี 1958 รัฐบาลกลางได้มีนโยบายก่อสร้าง “สิบสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง หนึ่งในสิบสถาปัตยกรรมนี้ รวมโรงละครแห่งชาติไว้ด้วย แต่ด้วยปัญหาจากการปฏิวัติวัฒนธรรม โรงละครแห่งชาติจีนก็เป็นอันล้มเลิกไป
            ปี 1990 กระทรวงวัฒนธรรมจีน ได้เริ่มแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างโรงละครแห่งชาติขึ้น เพื่อเตรียมการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
          ปี 1993 คณะทำงานได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างโรงละครแห่งชาติ โดยได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ 3 แนวทาง คือ
โรงละครขนาดพื้นที่ 120,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 3 หลัง และโรงละครขนาดเล็ก 1 หลัง โรงละครขนาดพื้นที่ 97,000 ตารางเมตร   ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 2 หลัง และโรงละครขนาดเล็ก 1 หลัง โรงละครขนาดพื้นที่ 105,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 3 หลัง ท้ายที่สุดคณะกรรมการมีมติให้ก่อสร้างโรงละครขนาดพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยโรงละครขนาดใหญ่ 3 หลัง และโรงละครขนาดเล็ก 1 หลัง
          ปี 1996 การประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยที่ 14 มีมติรับนโยบายการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
          เดือน กันยายน ปี 1997 คณะกรรมการกรมการปกครองกลางแห่งชาติ มีมติให้ก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
          เดือนธันวาคม ปี 1997 มีหน่วยงานด้านสถาปัตยกรรมระดับชาติ 5 แห่ง เสนอแบบสำหรับการก่อสร้างโรงละคร 7 แบบ
          เดือนเมษายน ปี 1998 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ และเปิดประกวดราคาก่อสร้าง โดยมีบริษัทเข้าร่วมประกวดราคาทั้งสิ้น  36 แห่ง เสนอแบบก่อสร้างทั้งหมด 44 แบบ การประกวดราคาครั้งที่ 1 มีบริษัทที่เข้ารอบ 5 บริษัท การประกวดราคาครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 1998 มี 5 บริษัทที่ได้รับประมูล 5 บริษัท ในจำนวนนี้ 3  บริษัทจีนและต่างชาติร่วมกันปรับแบบก่อสร้าง โดยเสนอแบบก่อสร้าง 3 แบบ ท้ายที่สุดคณะกรรมการมีมติเลือกใช้แบบของบริษัทเดียวกันกับบริษัทที่ออกแบบสนามบินกรุงปารีส โดยบริษัทแห่งนี้ร่วมมือกันปรับแบบกับมหาวิทยาลัยชิงหัว แห่งประเทศจีน
          ในระหว่างปรับแบบ คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าสถานที่ก่อสร้างอยู่ติดกับจัตุรัสเทียนอานเหมินและรัฐสภา จึงได้มีการขยายพื้นที่ถึงสองครั้ง จนกระทั่งขยายออกไปติดกับอีกด้านหนึ่งของถนนเลียบอาคารรัฐสภา ทำให้พื้นที่ก่อสร้างโรงละครแห่งชาติขยายออกไปทางทิศใต้อีก 70 เมตร
โครงสร้างของโรงละคร
โรงละครแห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2001 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2007  ผู้คุมงานก่อสร้างครั้งนี้คือ วิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ Mr.Paul Andreu ภายใต้การดำเนินการก่อสร้างของบริษัท ADPI designers & planners
โครงสร้างหลักของโรงละครสร้างด้วยเหล็กกล้าเป็นรูปทรงครึ่งวงรี ขอบด้านทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกเป็นด้านขวางของวงรี มีความยาว 212.20 เมตร ขอบด้านทิศเหนือจรดทิศใต้ยาว 143.64 เมตร จุดสูงสุดของอาคารมีความสูง 46.285 เมตร ซึ่งสูงน้อยกว่ารัฐสภาประชาชนจีนซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม 3.32 เมตร กรอบนอกบริเวณขอบวงรีของตัวอาคารมุงด้วยแผ่นไททาเนียม 18,000 แผ่น รวมพื้นที่ของกรอบนอกกว่า 30,000 ตารางเมตร ด้วยเหตุที่ตัวอาคารสร้างเป็นทรงครึ่งวงรี ในจำนวนแผ่นไททาเนียมที่ใช้มุงกรอบนอกอาคาร 18,000 แผ่นนี้ แต่ละแผ่นจะมีขนาดและรูปร่างไม่เท่ากัน มีเพียง 4 แผ่นเท่านั้นที่มีขนาดและรูปร่างเหมือนกัน แผ่นไททาเนียมที่นำมาใช้สำหรับการก่อสร้างโรงละครแห่งนี้จึงต้องได้รับการออกแบบและผลิตด้วยวิทยาการโดยเฉพาะ ภายนอกแผ่นไททาเนียมนี้ผลิตให้มีความมันวาวและใส  บริเวณที่เป็นส่วนยอดและด้านหน้าของอาคารลงไปจนจรดพื้นน้ำของอาคารวงรีมุงด้วยกระจกใสจำนวน 1200 แผ่น การมุงแผ่นไททาเนียมในแนวตั้งผสานกับสีของกระจกสะท้อนออกมาเป็นรูป อิ๋น-หยางอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมดุลของธรรมชาติตามปรัชญาจีน ตัวอาคารโรงละครตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่สระน้ำมีขนาดรวม 3.55 ตารางเมตร สระน้ำขนาดใหญ่นี้มีระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรักษาอุณภูมิน้ำ ฤดูร้อนไม่ขุ่นด้วยตะไคร่เขียว ฤดูหนาวไม่จับตัวเป็นน้ำแข็ง ทำให้น้ำในสระแห่งนี้ใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา การเข้าสู่ตัวอาคารทุกทาง ขุดเป็นทางใต้ดินลอดใต้พื้นสระน้ำเข้าไป ทางเดินเข้าสู่โรงละครก็ต้องเดินลอดใต้พื้นสระน้ำเข้าไปเช่นกัน ทางเดินนี้มีความยาวทั้งสิ้น 80 เมตร
ในยามที่ความมืดมิดแห่งราตรีกาลโอบคลุมกระจกใสของหลังคาโรงละคร มองจากภายในตัวโรงละครออกไปภายนอกก็จะเห็นสายน้ำฉ่ำเย็น คลื่นน้ำแผ่วเบาประกายระยิบล้อเล่นลมเย็นโชยเอื่อย แหงนมองขึ้นบนฟ้าก็จะเห็นดวงดาราส่องแสงระยิบระยับจับตาอยู่เต็มฟ้า ท่ามกลางเสียงขับขานของดนตรีคีตา และท่วงท่าร่ายรำสำอางของนางนาฏละครที่รายล้อมรำฟ้อน สร้างอรรถรสรมย์รื่นชื่นบานดั่งเสพสุขอยู่ในวิมาน   
รูปลักษณ์ที่ล้ำยุค วิทยาการก่อสร้างที่ทันสมัย มีลักษณะเฉพาะและโดดเด่น เป็นการผสมผสานความทันสมัยเข้ากับแนวคิดด้านอารยสถาปัตยกรรมจีนอย่างลงตัว รัฐบาลจีนถือว่าเป็นคุณูปการที่มอบให้แก่ศตวรรษใหม่ของชาติ เมื่อไข่มุกสีเงินได้เปล่งประกายอวดโฉมอยู่บนผืนน้ำใสระยิบระยับจับตา ชาวจีนจึงขนานนามโรงละครแห่งชาติแห่งนี้ว่า มุกประกายบนสายธารา
          โรงละครแห่งชาติแห่งนี้ นับเป็นผลงานจากนโยบายด้านวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของชาติ นับตั้งแต่การก่อสร้างแล้วเสร็จ โรงละครแห่งนี้ก็ได้รับการจัดให้เป็น สิบหกทัศน สถาปัตยกรรมแห่งกรุงปักกิ่งเป็นสัญลักษณ์ของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับศิลปะ และมนุษย์กับธรรมชาติ            

 ภายในโรงละคร      
           ภารในอาคารมีโรงละคร 4 โรง  โรงมหรสพขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับจัดแสดงดนตรีและละครตั้งอยู่ตรงกลางอาคาร ฝั่งตะวันออกของอาคารเป็นโรงแสดงดนตรี ฝั่งทิศตะวันตกเป็นโรงละครและนาฏศิลป์    และฝั่งทิศใต้เป็นโรงละครขนาดเล็ก  โรงละครทั้งสี่ส่วนนี้ออกแบบให้สามารถเชื่อมถึงกันได้ และสามารถกั้นแยกเป็นโถงเฉพาะได้ด้วย
          1. โรงมหรสพ ตกแต่งภายในเป็นสีทองอร่าม ใช้สำหรับการแสดงคีตละคร นาฏละคร บัลเลย์ และการแสดงขนาดใหญ่ เวทีการแสดงสร้างเป็น 3 ส่วน เป็นรูป   คือ ตรงกลางยกสูงเป็นเวทีสำหรับการแสดง ด้านข้างทั้งสองด้านเป็นเวทีเล็กต่ำลงมาสำหรับดนตรีบรรเลงประกอบการแสดง มีพื้นที่ 120 ตารางเมตร สามารถจุนักดนตรีได้มากกว่า 90 คน    บนเวทีมีอุปกรสำหรับการแสดงเช่น ม่านชัก ฉากเลื่อน เวทีปรับระดับและหมุนได้ ระบบไฟ ระบบเสียงที่ครบครัน นับเป็นโรงมหรสพที่รวมวิทยาการเกี่ยวกับการแสดงไว้ครบครันที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
          ภายในโรงมหรสพใหญ่สร้างเป็นเป็นทรงสระน้ำ ชั้น 1 เป็นเวที และที่นั่งหน้าเวที มีที่นั่งรอบโรงมหรสพที่สูงขึ้นไปรวมทั้งหมด 3 ชั้น  สามารถจุผู้ชมได้ 2398 ที่นั่ง  
          2.โรงแสดงดนตรี  ตกแต่งภายในด้วยสีขาว ให้ความรู้สึกสงบ เยือกเย็น มีสมาธิ   วัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในห้องแสดงดนตรีนี้คำนึงคุณภาพของเสียงดนตรีเป็นหลัก เพื่อเอื้อต่อการฟังดนตรีโดยเฉพาะ ใช้สำหรับการแสดงดนตรีประเภทมหาดุริยางค์ ดนตรีประจำชาติ และพื้นเมือง ตลอดจนดนตรีระดับสากลต่างๆ  ขนาดของเวทีกว้าง 24 เมตร ลึก 15 เมตร สามารถจุนักดนตรีพร้อมเครื่องดนตรีได้ทั้งหมด 120 คน  ภายในโรงแสงดนตรี ที่นั่งของผู้ชมล้อมรอบเวทีทั้งสี่ทิศ มีที่นั่งชั้น 1 ด้านหน้าเวที และที่นั่งล้อมรอบเวทีอยู่ชั้นที่ 2 สามารถจุผู้ชมได้ 2019 ที่นั่ง 
  3. โรงละครและนาฏศิลป์ ตกแต่งภายในด้วยสีแดง บุผนังด้วยผ้าไหมจีนสีแดง ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมจีน  โรงละครและนาฏศิลป์นี้ใช้สำหรับการแสดงละครและนาฏศิลป์ เช่น งิ้วปักกิ่ง  อุปรากรพื้นเมืองต่างๆ  รวมทั้งการแสดงการขับเพลง และละครเพลงพื้นเมืองต่างๆด้วย  
              ภายในโรงละครมีที่นั่งชั้น 1 หน้าเวที และที่นั่งรอบเวที 3 ชั้น จุผู้ชมได้ทั้งหมด 1035 ที่นั่ง
            4. โรงละครเล็ก ตกแต่งภายในด้วยสีอ่อนธรรมชาติ ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย แต่หรูหราสูงส่ง ใช้สำหรับจัดแสงดนตรีขนาดเล็ก การบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรี ขับร้องเดี่ยว รวมทั้งการแสดงอุปรากร และนาฏศิลป์ขนาดเล็ก   
            ที่นั่งสำหรับผู้ชมมีทั้งหมด 19 แถว 556 ที่นั่ง  บุผนังด้วยวัสดุเก็บเสียงรอบด้าน ผนัง และยังมีคุณลักษณะพิเศษในการรักษาอุณหภูมิ ทำให้คุณภาพของการแสดงและเสียงดนตรีมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ความเป็นที่สุดของโรงละครแห่งชาติจีน
          นอกจากความโดดเด่นของรูปลักษณ์ภายนอกที่ล้ำสมัยแล้ว โรงละครแห่งชาติจีนแห่งนี้ยังรวมความเป็นที่สุดไว้หลายอย่าง ดังนี้
          เหล็กโครงหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหล็กที่ใช้เป็นโครงสร้างของโรงละครทั้งหมด 6475 ตัน เสาแกนโครงที่เป็นเส้นผ่านศูนย์กลางจากตะวันออกไปตะวันตกยาว 212.2 เมตร นับเป็น โครงหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
          สิ่งก่อสร้างที่ลึกที่สุดในโลก โรงละครมีความลึก 32.5 เมตร ซึ่งเป็นความลึกเท่ากับตึก 10 ชั้นลงไปใต้ดิน นับเป็นตึกใต้ดินที่ลึกที่สุดในประเทศจีน และในโลก
           มี Organ pipe   ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย   ตั้งอยู่ในโรงแสดงดนตรี มีทั้งหมด 6500 แกนเสียง ราคาก่อสร้าง 30,000,000 หยวน    
เวลาเข้าชม
          วันจันทร์เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ
          วันอังคาร วันอาทิตย์  โรงละครเปิดเวลา 9.00 17.00 (16.30 ปิดขายบัตรเข้าชมการแสดง และเริ่มตรวจบัตรเข้าชม)     
            ราคาบัตร : ซื้อบัตรทางอินเตอร์เน็ต 25 หยวน ซื้อบัตรหน้าโรงละคร 30 หยวน บัตรชุดครอบครัว 40 หยวน และ 60 หยวน  
การเดินทางไปสู่โรงละคร  
เดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสาย 1, 4, 5, 10 ,20 ,22,47,37,52,205,726,72
8, 802   ลงรถที่ป้าย  เทียนอานเหมินตะวันตก  (เทียน อาน เหมิน ซี จ้าน)
                เดินทางโดยรถไฟใต้ดิน สาย 1 ลงที่ป้าย เทียนอานเหมินตะวันตก (เทียน อาน เหมิน ซี จ้าน) แล้วออกประตู C
 

            ปัจจุบัน โรงละครแห่งชาติจีนได้จัดแสดงศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ทั้งระดับชาติ และระดับสากลมากมาย  ไม่ว่าจะเป็น อุปรากร มหาอุปรากร คีตละคร ละครพูด บัลเลย์  ออร์เคสตร้า  ดนตรีพื้นเมือง การขับร้องประสานเสียง ขับร้องเดี่ยว บรรเลงเดี่ยว เป็นต้น  เป็นที่ที่ศิลปินน้อยใหญ่ใฝ่ฝันที่จะได้เดินทางมาอวดฝีมือ  ในขณะเดียวกัน  คณะกรรมการจัดการโรงละครก็ได้สรรสร้างผลงานชิ้นเอกออกสู่สายตาประชาชนอย่างสม่ำเสมอ โรงละครแห่งชาติจึงเป็นอาศรมสถานด้านศิลปกรรมแห่งชาติโดยแท้
              นอกจากเป็นที่จัดแสดงผลงานด้านดนตรีนาฏศิลป์แล้ว โรงละครแห่งชาติจีนยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านศิลปกรรมแขนงต่างๆที่สำคัญของชาติอีกด้วย  รายการที่นำออกแสดงจึงมิใช่เพียงการแสดงดนตรีนาฏศิลป์เท่านั้น แต่ยังมีการเสวนาทางวิชาการด้านศิลปะแขนงต่างๆ เช่น รายการเสวนาวิชาการศิลปกรรม  รายการพบปะปรมาจารย์ศิลปินเอกเป็นต้น  ได้รับความสนใจและนิยมชมชอบจากประชาชนเป็นอย่างมาก 
         
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น