วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ครบเครื่องเรื่อง “กู่เจิง”



                          เครื่องดนตรีจีน “กู่เจิง” หรือที่คนไทยเรียกว่า “เจ้ง” นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ได้ทรงเอาพระทัยใส่ศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยพระปรีชาอันเป็นที่ประจักษ์ รัฐบาลจีนได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินในงานดนตรีสัมพันธ์ไทยจีน ณ เมือง เซี่ยงไฮ้  ปักกิ่ง และซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน   ในการนี้ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 ได้ทรงแสดงดนตรีกู่เจิงที่เมืองเชี่ยงไฮ้อีกด้วย  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูก เธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทำให้คนไทยได้รับรู้และสัมผัสอรรถรสอันไพเราะของ เครื่องดนตรีชนิดนี้ ดนตรีกู่เจิงจึงเผยแพร่และได้รับความนิยมในประเทศไทย ทำให้วงการดนตรี ของไทยตื่นตัวและสนใจศึกษาอย่างกว้างขวาง นักวิชาการดนตรีของไทยได้พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการความรู้เกี่ยวกับเรื่องกู่เจิงของผู้เรียนมาโดยตลอด เช่นบทความเรื่อง “กู่เจิง พิณจากแดนสวรรค์” ที่เขียนเกี่ยวกับกู่เจิงโดยตรง ของอาจารย์ชนก 
สาคริก นับเป็นคุณูปการแก่วงการดนตรีของไทยเป็นอย่างมาก แต่ด้วยเหตุที่กู่เจิงไม่ใช่ดนตรีของไทย กอรปกับข้อมูลที่เกี่ยวกับกู่เจิงล้วนเป็นภาษาจีนทั้งสิ้น ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีกู่เจิงในประเทศไทยที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอและไม่ถูกต้องสำหรับการศึกษาค้นคว้าด้านดนตรีศึกษานัก  
                          บทความนี้บรรยายและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดนตรีจีน “กู่เจิง” ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 7 หัวข้อ คือ 1.บทแนะนำ 2.ประวัติความเป็นมา 3.รูปร่างและส่วนประกอบ 5. วิธีการบรรเลง 6. สำนักวิชา  7. เพลง

บทแนะนำกู่เจิง
            กู่เจิง (ออกเสียงตามระบบสัทศาสตร์จีนว่า gu3 zheng1 หรือเรียกว่า เจิง คำเดียวก็ได้ [1])  เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด มีอายุนับตั้งแต่เริ่มมีบันทึกจนถึงปัจจุบันกว่า 2500 ปี ในประเทศจีน
เป็นดนตรีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วไปและพัฒนามากที่สุดชนิดหนึ่ง มีการเปิดสอนกัน
อย่างกว้างขวางตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา  มัธยมศึกษา กระทั่งเปิดสอนเป็นวิชาเอก
ในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา มีการกำหนดมาตรฐานโดยอาศัยระดับความยากง่าย
ของเพลงและการบรรเลงอย่างดนตรีตะวันตกโดยแบ่งเป็น 10 ระดับ ซึ่งจะมีการสอบวัดระดับ
มาตรฐานตามกำหนดเวลาอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้นักดนตรีจีนยังมีการแต่งเพลงขึ้นใหม่อยู่
เสมอๆ ทำให้มีพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง กู่เจิงนิยมใช้บรรเลงเดี่ยว จะพบการบรรเลงร่วมอยู่บ้าง
แต่พบเฉพาะบรรเลงเพลงบางเพลงเท่านั้นและบางเครื่องดนตรีเท่านั้นเช่น บรรเลงร่วมกับ ผีผา[2] ขลุ่ยผิว[3]  ซอ [4] หยางฉิน[5] เป็นต้น ระบบตัวโน้ตเป็นระบบ 5 เสียง (pentatonic scale) อย่างระบบเสียงดนตรีไทย โดยเริ่มต้นที่เสียง โด เร มี ซอล ลา ไม่มีเสียง ฟา กับเสียง ที ลักษณะการบรรเลงวางเครื่องดนตรีในแนวราบกับพื้นโดยมีชั้นวางผู้บรรเลงนั่งเก้าอี้มือขวาดีด
สายมือซ้ายกดสายเพื่อบังคับเสียงสูงต่ำของตัวโน้ต  ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของกู่เจิงที่มีสาย
เรียงต่อๆกันลดหลั่นจากเสียงต่ำไปสูงทำให้เหมาะกับการบรรเลงเพลงที่ให้อารมณ์เยือกเย็น จินตภาพของสายน้ำไหล แต่ก็สามารถบรรเลงเพลงที่รวดเร็วดุดันได้เช่นกัน กู่เจิงไม่เพียงแต่
บรรเลงเพลงจีนที่มีมาแต่โบราณเท่านั้นนักดนตรีจีนยังสามารถใช้บรรเลงเพลงร่วมสมัยเพลง
สมัยใหม่ร่วมกับดนตรีตะวันตกกระทั่งบรรเลงเดี่ยวเพลงของตะวันตกได้อย่างไพเราะน่าฟังอีก
ด้วย ด้วยเสียงของการบรรเลงที่เป็นเอกลักษณ์ถึงกับมีผู้กล่าวว่าเปียโนเป็นตัวแทนเสียงดนตรี
ตะวันตก กู่เจิงเป็นเสียงของดนตรีตะวันออกเลยทีเดียว ทำให้การพัฒนาของกู่เจิงในประเทศจีน
เป็นไปอย่างมีชีวิตปกติสม่ำเสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่ ทั้งยังเผยแพร่สู่นานาประเทศรวมทั้งประเทศ
ไทยด้วย ไม่เพียงแต่ประเทศจีนเท่านั้นที่ปรากฏพบกู่เจิง  ด้วยประวัติศาสตร์และพัฒนาการ
อันยาวนานของประเทศจีนและของกู่เจิงเอง การกระจายทางวัฒนธรรมมิได้จำกัดอยู่แต่ใน
แผ่นดินจีนเท่านั้น  ดังจะพบเครื่องดนตรีในลักษณะเดียวกันนี้ในหลายๆประเทศแต่มีชื่อเรียก
แตกต่างกันไป เช่น มองโกเลีย เรียกว่า /ya to ga/ ญี่ปุ่นเรียกว่า /go ta/ เกาหลีเรียกว่า / ka ya kim/ และเวียดนามเรียกว่า / dan jaeng /  แต่เนื่องจากแต่ละประเทศรับกู่เจิงไปแล้วต่าง
ท้องที่ต่างพัฒนารูปแบบการบรรเลง  รูปร่าง  จำนวนสายของกู่เจิงต่างกันไปเช่น ของเกาหลี
บรรเลงโดยวางไว้บนตักของญี่ปุ่นมี 13 สาย ของเวียดนามมี 25 สาย ของมองโกเลียมี 13 - 15 สายเป็นต้น หรืออาจไม่มีการพัฒนารูปแบบใหม่แต่อย่างใด  แต่สำเนียงเพลงและดนตรีย่อม
เป็นที่แน่นอนที่มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรมอยู่แล้ว

ประวัติความเป็นมา
                   เมื่อกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกู่เจิง มีเอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีน
กล่าวถึงกู่เจิงไว้มากมาย แต่การบันทึกไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีประวัติหลายกระแส
พอจะแยกบรรยายได้ 3 เรื่อง คือ  1) ชื่อเรียก 2) ตำนานกู่เจิง 3)กำเนิดและวิวัฒนาการกู่เจิง
จะบรรยายเป็นข้อๆต่อไปนี้
1)    ชื่อเรียก กู่เจิง หรือไทยเรียก โกวเจ็ง เจ้ง กู่เจิ้ง หรือเรียกตามแบบไทยว่าพิณนั้น
ในภาษาจีนกลางเรียกว่า “เจิง” เพียงพยางค์เดียวเท่านั้น ที่มาของคำคำนี้น่าจะมาจากเสียง
บรรเลงของเจิงนั่นเอง เพราะหากดูจากชื่อของเครื่องดนตรีของจีนโดยส่วนใหญ่มีที่มาจากเสียง
ที่บรรเลงออกมาแล้วนำมาตั้งเป็นชื่อของเครื่องดนตรีนั้นๆ เช่น ชิ่ง (qing4)[6] ผีผา (pi2 pa2)
เครื่องดนตรีชนิดนี้เวลาดีดจะมีเสียงจะดัง “พี พา พี พา” เป็นต้น ในภาษาจีนมีคำเลียนเสียง
กู่เจิงว่า “เจิง เจิง ” จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า เจิง แต่ความเคยชินทางภาษา
ของคนจีนคำหนึ่งคำมักมีสองพยางค์  คำที่มี 1 พยางค์ก็จะหาคำมาเสริมเพื่อให้ครบเป็น 2
พยางค์ ดังนั้น “เจิง” ในปัจจุบันด้วยเหตุที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเพื่อให้ล้อกันกับ
เครื่องดนตรีประเภทดีดอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กู่ฉิน” [7] ซึ่งมีคำว่า “กู่” นำหน้าเช่นเดียวกัน
จึงใช้คำว่า “กู่” ซึ่งหมายถึงเก่าแก่ โบราณ มานำหน้าขยายบอกความเก่าแก่ของเจิงตามหลัก
ไวยากรณ์จีน ให้มีความหมายหมายถึง เครื่องดนตรีโบราณ หรือมีนักวิชาการดนตรีของไทย
บางท่านเรียกว่า “พิณจีนโบราณ”        
          จากเอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ นอกจากเรียกชื่อ “เจิง” หรือ “กู่เจิง” แล้ว ยังพบว่ามี
กู่เจิงในชื่อเรียกอื่นอีก  พอจะแยกอธิบายได้ดังนี้
(1)  เรียกชื่อตามชื่อสถานที่ที่ปรากฏพบเช่น จากพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับเก่า
(Jiutang shu ) มีบันทึกไว้ว่า “กู่เจิงคือเสียงของฉิน” ซึ่งหมายความว่า เจิง เป็นเครื่องดนตรี
ของแคว้นฉิน[8] จึงมีชื่อเรียกกู่เจิงตามชื่อแคว้นฉินว่า ฉินเจิง (qin2 zheng1) เช่นใน
พงศาวดารราชวงศ์ถัง[9]  และบทกลอนต่างๆในสมัยถังก็พบว่าเรียก ฉินเจิง เป็นส่วนมาก เนื่อง
จากมีคำเรียก ฉินเจิง นี่เอง จึงมีอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า กษัตริย์ในราชวงศ์ฉินเป็นผู้ตั้งชื่อเรียก
เครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า เจิง
                                    (2) เรียกชื่อตามวิธีการบรรเลง เช่นในพงศาวดารราชวงศ์์สุย[10] (Sui shu) ภาคดนตรี
จารึกเรียกว่าถันเจิง (tan2 zheng1) คำว่า “ถัน” หมายความว่า “ดีด” ถันเจิงในที่นี้จึงมีความหมาย
ว่า เจิงที่บรรเลงโดยวิธีการดีด  ในพงศาวดารราชวงศ์ฮั่น[11] (Han shu) ก็พบเรียก ถันเจิง เช่นกัน นอกจากนี้ในพงศาวดารราชวงศ์สุยยังมีเรียกชื่ออื่นอีกคือ เชียเจิง (qia1 zheng1) เชีย หมายถึงหนีบ คำนี้จึงหมายถึงเจิงที่เวลาบรรเลงใช้หนีบไว้ที่ช่วงแขนกับเอว
                                    (3) เรียกตามลักษณะรูปร่าง กลอนของหลิว หยวี่ ซี (Liu Yu Xi)ในสมัยถัง เรียกว่า ฉางหลี(Chang Li) ซึ่งหมายถึงเจิงมีขนาดยาวนั่นเอง
                                    (4) เรียกตามลักษณะเสียงที่บรรเลงออกมา เช่นในพงศาวดารราชวงศ์ถังเรียกกู่เจิง
ว่า หมิงเจิง (ming2 zheng1) หมิงในภาษาจีนหมายถึงเสียงร้องที่ดังออกมา ที่นี้หมายถึงเจิงที่
บรรเลงเสียงอันดังลั่นออกมา
                                    (5) เรียกตามวัสดุที่ใช้ทำหรือประดับ เช่นในพงศาวดารราชวงศ์ฮั่นเรียกว่า อิ๋นเจิง (yin2 zheng1) อิ๋น หมายถึงเงิน ในที่นี้หมายถึงเจิงที่ประดับตกแต่งด้วยเงิน  หรือในสมัยซานกว๋อ
(สามก๊ก) เรียกว่า  ยวี่เจิง (yu4 zheng1) ยวี่ หมายถึง หยก ในที่นี้จึงหมายถึง เจิงประดับหยก
                                    (6) นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์เจิงขึ้นในหลายๆรูปแบบ จึงมีชื่อเรียกต่าง
กันไปเช่นเรียกว่า หูเตี๋ยเจิง (hu2 die2) หูเตี๋ย หมายถึงผีเสื้อ เจิงชนิดนี้ชื่อว่า กู่เจิงรูปผีเสื้อ  เป็น
ผลงานประดิษฐ์ของวิทยาลัยดนตรีเมืองเซี่ยงไฮ้
                        จากเอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทราบว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้
นอกจากจะเรียกว่า “เจิง” แล้ว ยังมีปรากฎในชื่ออื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดไปว่าเป็นเครื่องดนตรี
ชนิดอื่น แท้ที่จริงแล้วคือเครื่องดนตรีชนิดที่เราเรียกว่าเจิง หรือ กู่เจิง นั่นเอง เพียงแต่มีชื่อเรียก
อย่างอื่นตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนชื่อเรียก เจ็ง โกวเจ็ง เจ้ง กู่เจิ้ง เป็นเพียงสำเนียงภาษาท้องถิ่น
ที่ต่างกันเท่านั้นมิได้สื่อถึงความหมายอื่นแต่อย่างใด
2)    ตำนานกู่เจิง  มีเอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกตำนานของ เจิง ที่เกี่่ยวกับการ
แย่งชิงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เส้อ (se4) หรือที่่ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า เส็ก โดยมีตำนานที่
กล่าวถึงการแย่งชิงเครื่องดนตรีในลักษณะเดียวกันนี้ เพียงแต่ว่าแต่ละตำนานมีความคลาดเคลื่อน
บ้าง กล่าวคือ  พี่สาวน้องสาวแย่งเจิง พ่อลูกแย่งเจิง และพี่ชายน้องชายแย่งเจิง เช่น
            บันทึกจดหมายเหตุอินฮว่าลู่ (Yin Hua Lu) ของ เจ้า หลิน (Zhao Lin) ในสมัยถัง บันทึกไว้ว่า เส้อ มี 50 สาย สองพี่น้องแย่งชิงกันจนแตกออกเป็น 2 ส่วน กลายเป็น เจิง ที่มี 25 สาย
จดหมายเหตุดนตรี จี๋ ยวิ่น (Ji Yun) ของ ติง ตู้ (Ding Du) ในสมัยซ่ง[12] มีบันทึกไว้ว่า พ่อกับลูก
แย่งชิง เส้อ 50 สาย แตกออกเป็น เจิง 25 สาย
            จดหมายเหตุดนตรี เยว่ เต้า เล่ย จี๋(Yue Dao Lei Ji) ของนักดนตรีราชสำนักญี่ปุ่นชื่อ กัง ชัง หมิง (Gang Chang Ming)ในศตวรรษที่ 17 ปี เก็นโลกุ (Gen Loku) ก็มีบันทึกในลักษณะเดียวกันว่า กษัตริย์ฉินพระราชทาน เส้อ 50 สาย ให้กับพี่น้องสองคน เกิดแย่งชิงกันขึ้น แตกออกเป็น 2 ส่วน
                        คำว่า “แย่งชิง” ในภาษาจีนออกเสียงว่า เจิง (zheng1) พ้องเสียงกับคำเรียก กู่เจิง
แต่ตัวหนังสือเขียนคนละแบบ ด้วยเหตุที่เสียงพ้องกันนี้เองทำให้เกิดตำนานนี้ขึ้น เพราะจากบันทึก
ทั้ง 3 เรื่อง ล้วนกล่าวว่า ด้วยเหตุแย่งชิงนี้ จึงกลายมาเป็นชื่อเรียก เจิง ในเวลาต่อมา แต่ความจริง
หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเอกสารที่พบว่ามีการบันทึกตำนานนี้เกิดขึ้นในสมัยถัง และซ่ง แต่การบันทึก
เรื่องราวเกี่ยวกับ เจิง มีการกล่าวไว้ในสมัยฉิน ฮั่น ซึ่งเป็นราชวงศ์ก่อนหน้า ถัง และ ซ่ง เสียอีก เช่น
            ฎีกาทัดทานโองการขับชนต่างแคว้นต่อกษัตริย์ฉิน เจียน จู้ เค่อ ซู (Jian Zhu Ke Shu)
ของ หลี่ซือ (Li Si) ในสมัยฉิน (237 ก่อนคริตกาล) กล่าวว่า “ เจิงคือเสียงของฉินโดยแท้ ”
            พงศาวดารราชวงศ์ฮั่น(Han Shu) ภาคดนตรี พิธี (Li Yue Zhi)กล่าวถึงเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง
ในสมัยฮั่นมี เจิง , ตี๋ (di2 ดูเชิงอรรถที่ 4) , ผีผา (pi2 pa2 ดูเชิงอรรถที่ 3) เป็นต้น
                        ดังนั้นสามารถยืนยันได้ว่า เจิง มีมาตั้งแต่สมัยฉินแล้ว ต่อมาในสมัยถัง และ ซ่ง เกิดมี
ตำนานแย่ง เส้อ 50 สาย แตกออกเป็น เจิง 25 สาย 2 เครื่อง เพราะคำเรียกชื่อของเครื่องดนตรี เจิง พ้องเสียงกับคำว่า เจิง ที่แปลว่า แย่งชิง  อาจเป็นเหตุให้เกิดเป็นตำนานนี้ขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่ง
คือพัฒนาการของเครื่องดนตรี หรือเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆมักจะเริ่มจากง่ายไปหายาก จากน้อย
ไปหามาก จากเล็กไปใหญ่ เป็นเหตุผลสนับสนุนที่ทำให้ตำนานแย่ง เส้อ 50 สาย แตกออกเป็น เจิง 25 สาย ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้พัฒนาการของเจิงก็เป็นไปตามธรรมชาติที่มีการเพิ่มจำนวนสาย
จากน้อยไปมาก จะเห็นได้จากบันทึกประวัติศาสตร์ของเจิงเริ่มต้นที่มี 5 สาย ในสมัยฮั่นเพิ่มเป็น 12 สาย ในสมัยสุยเพิ่มเป็น 13 สาย ในสมัยหมิงเพิ่มเป็น 14 และ 15 สาย  ต่อมาประวัติศาสตร์ยุคหลัง
เพิ่มเป็น 16 สาย  จนปัจจุบันมีทั้งหมด 21 สาย ถึง 25 สาย เป็นข้อยืนยันได้ว่า เจิง ไม่ใช่การแบ่ง
หรือการแตกออกของเครื่องดนตรีที่เรียกว่า เส้อ ตามที่ตำนานกล่าวแต่อย่างใด  แต่ก็ไม่ได้หมาย
ความว่าไม่มีเครื่องดนตรีที่เรียกว่า เส้อ อยู่ในประวัติศาสตร์ ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป
3)    กำเนิดและวิวัฒนาการกู่เจิง  เมื่อกล่าวถึงกำเนิดและวิวัฒนาการของ เจิง
จำเป็นต้องกล่าวถึงเครื่องดนตรีอีก 2 ชนิด คือ เส้อ และ จู้ (zhu4)
(1)  เส้อหรือภาษาแต้จิ๋วเรียก เส็ก เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายใช้บรรเลง
โดยการดีด รูปร่างทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำด้วยไม้เป็นกล่องกลวง  ดังที่กล่่าวในตำนานข้างต้น
ว่า เส้อ มี 50 สาย แต่ได้วิเคราะห์แล้วว่าตำนานดังกล่าวไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ มีข้อความ
ที่น่าเชื่อถือเป็นบันทึกจากเอกสารโบราณต่างๆ เช่น
ไป๋หู่ทง (Bai Hu Tong) บันทึกไว้ว่า “เส้อใหญ่ (da4 se4) ยาว 8 ฟุต 1 นิ้ว กว้่าง 1 ฟุต  8 นิ้ว  27 สาย ”
เอ๋อร์หย่า (Er Ya) บันทึกไว้ว่า “เส้อ มี 2 ชนิดคือ หย่าเส้อ (ya3 se4) ยาว 8 ฟุต 1 นิ้ว กว้่าง 2 ฟุต  8 นิ้ว  23 สาย  และอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ซ่งเส้อ (song4 se4) ยาว 7 ฟุต 2 นิ้ว กว้าง 1 ฟุต 8 นิ้ว มี 25 สาย ”
บทความเรื่อง การสืบค้น ฮั่นเส้อ และฉู่เส้อ ผู้แต่งชื่อ หลี่ฉุนอี (Li Chun Yi) ตีพิมพ์ใน
วารสารประวัติศาสตร์ชื่อ เขากู่ (Kao Gu)รายปักษ์ที่ 1 รายงานการขุดสุสานฮั่น พบเครื่องดนตรี
ที่เรียกว่า เส้อ ซึ่งเป็น เส้อ ในสมัยฮั่นตะวันตกตอนต้น (ดูเชิงอรรถที่12)ที่ขุดพบในสภาพที่
สมบูรณ์ที่สุด เรียกชื่อว่า ฮั่นเส้อ (han4 se4) ส่วนประกอบหลักคือ มีเดือยรัดสาย 4 เดือย
ภาษาจีนเรียกว่า ยรุ่ย (rui4)ปักอยู่ด้านบนที่ปลายด้านหัว มีหย่องยาวรองสายพาดตรงปลาย
ขอบอีกด้านหนึ่ง 3 ชุดเรียกว่า เยว่ (yue4หมายถึงขุนเขาสูง) ชุดที่หนึ่งรอง 9 สาย ชุดที่สอง
อยู่กลางรอง 7 สาย และชุดที่สามอยู่ด้านในด้านผู้ดีด 9 สาย รวมทั้งหมด 25 สาย  ตอนกลาง
บนแผ่นไม้ด้านบนของเครื่องดนตรีมีหย่องรองสายแต่ละสายทำหน้าที่ถ่ายเสียงลงไปสู่กล่อง
เสียงด้านล่างที่ทำเป็นกล่องไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นสุสานฉู่(chu3) ซึ่ง
เป็นสุสานในชุนชิว[13] พบเครื่องดนตรีที่เรียกว่า เส้อ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับ เส้อ ที่ขุดพบใน
สุสานฮั่น ต่อมาเรียกตามชื่อสุสานที่ขุดพบว่า ฉู่เส้อ (chu3 se4) ขนาดและจำนวนสายของ
เส้อ ที่ขุดพบในสุสานทั้งสองสมัยนี้ตรงกับข้อความทีมีในบันทึกเอกสารโบราณ จึงเชื่อได้ว่า
เส้อ มีอยู่จริงและมีมาตั้งแต่สมัยชุนชิวสืบทอดมาจนถึงฉิน ฮั่นและสมัยต่อๆมา จำนวนสาย
ก็ไม่ได้มีมากถึง 50 สายอย่างที่ตำนานในสมัยถัง และ ซ่ง กล่าวแต่อย่างใด
                    
ภาพที่ 1 เส้อ ที่ขุดพบในสุสานฮั่น เรียกว่า ฮั่นเส้อ (han4 se4)

                             (2) จู้ (zhu4) เป็นเครื่องดนตรีโบราณที่ปัจจุบันไม่พบเป็นที่นิยมแล้วแต่มี
การบันทึกเกี่ยวกับ จู้ ในหนังสือประวัติศาสตร์และประวัติดนตรีพื้นเมืองจำนวนหนึ่ง เช่น
          นามาอธิบาย ซื่อหมิง(Shi Ming) ของ หลิวซี (LiuXi)ในสมัยฮั่นตะวันออก บันทึกไว้ว่า “จู้คล้ายเจิง ใช้ไม้ใผ่ดีด ลำตัวยาว 4 ฟุต 2 นิ้ว ”
          พจนานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ (Shuo Wen Jie Zi) ของ สวี๋ เจิน (Xu Zhen) ในสมัยฮั่น
ตะวันออก บันทึกไว้ว่า “จู้ เครื่องดนตรีไม้ใผ่ มี 5 สาย ”
          ฟง สู ทง (Feng Su Tong) ของ ตู้ โย่ว (Du You) ในสมัยถัง บันทึกว่า “เจิงมี 5 สาย
รูปร่างเหมือน จู้ ”
บันทึกดนตรี เยว่ ซู(Yue Shu)ของคีตปกรณ์ เฉินหยาง (ChenYang)ในสมัยราชวงศ์ซ่ง บันทึกไว้ว่า“จู้ รูปร่างเหมือน ซ่งฉิน (song4 qin2 ฉินหมายถึงเครื่องดนตรี ในที่นี้คงหมายถึง ซ่งเส้อ) มี 13 สาย วิธีการดีด ใช้มือขวาดีด มือซ้ายกด บังคับเสียง ”
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์พอเข้าใจได้ว่า จู้ เป็นเครื่องดนตรีทำด้วยไม้ มี 5 สาย
รูปร่างกระบอก หรือ สี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกับ เจิง
                   ที่ต้องกล่าวถึงเครื่องดนตรีทั้งสองชนิดนี้เพราะ เจิง จู้ และเส้อ เป็นที่ถกเถียงกันในวง
วิชาการดนตรีจีนว่ามีความสัมพันธ์กันในเรื่องพัฒนาการและที่มา บ้างเข้าใจว่าเริ่มแรกมีเครื่อง
ดนตรีที่ทำด้วยไม้ใผ่ขึงสายดีด แล้วเพิ่มจำนวนสายให้มากขึ้นกลายเป็น จู้ หลังจากนั้นเปลี่ยน
จากใช้ไม้ใผ่มาใช้ไม้แข็งประกอบขึ้นเป็นรูปร่างกล่องสี่เหลี่ยมเพื่อผลทางเสียง ในขณะที่มีเส้อ
อยู่ก่อนแล้ว จากนั้น จู้ ดูแบบจากเส้อแล้วปรับปรุงสายเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดเสียง “เจิง เจิง ” เวลาบรรเลงจึงเรียกว่า เจิง ดังนี้
เครื่องดนตรีไม้ใผ่ขึงสายดีด จู้ (ดูแบบจากเส้อ) เจิง
                   แต่มีเอกสารหลายฉบับที่สามารถยืนยันได้ว่า เจิง เส้อ และ จู้ มีใช้และดำรงอยู่ในเวลา
เดียวกัน มิใช่เกี่ยวข้องกันแบบเป็นพัฒนาการแต่อย่างใด เช่น
          พงศาวดารราชวงศ์ฮั่น (Han Shu) บันทึกว่า เครื่องดนตรีประเภทสาย มี ฉิน, เส้อ, คง (kong1) , โหว (hou2) ,เจิง , จู้  ,ผีผา
                   แม้แต่ในตำนานที่ปรากฎในบันทึกต่างๆ ในสมัยถัง และซ่ง ก็ยังเป็นเครื่องช่วยยืนยัน
ได้ว่า เส้อ และเจิง เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ไม่ได้มีเครื่องดนตรีใดพัฒนาไปเป็นเครื่องดนตรีอีก
ชนิดหนึ่งเลย
                   เป็นที่น่าสังเกตว่า เส้อ รูปร่างไม่ต่างไปจากเจิงเลย ดูเหมือนเป็นเครื่องดนตรีชนิด
เดียวกันด้วยซ้ำ ต่างกันตรงที่จำนวนสายเท่านั้น ที่ เส้อ มี 25 สาย แต่เจิงในสมัยที่มีเอกสาร
บันทึกถึง เส้อ มีจำนวนสายน้อยกว่า คือ มีตั้งแต่ 4 สายเพิ่มจำนวนสายเรื่อยๆมากที่สุดคือ 25
สายเท่ากับ เส้อ ข้อนี้ีสามารถอธิบายและไขความกระจ่างเรื่อง เส้อ และ เจิง ได้จากข้อมูลทาง
ประวัติศาสตร์ เช่น
เอ๋อร์หย่า (Er Ya) ที่อ้างแล้วแต่ต้นว่ามี หย่าเส้อ (ya3 se4) มีขนาดใหญ่ และซ่งเส้อ (song4 se4) มีขนาดเล็กกว่า
ไป๋หู่ทง (Bai Hu Tong) ก็เรียกว่า “เส้อใหญ่” ซึ่งอนุมานได้ว่า ต้องมี เส้อเล็ก พงศาวดารสามก๊ก [14] (San Guo Zhi)บันทึกไว้ว่า “เจิง คือ ซ่งเส้อ มี 4 สาย”
          พงศาวดารราชวงศ์ซ่ง (Song Shu)ภาคดนตรี บันทึกไว้ว่า “เจิง, คือเส้อเล็ก เดิมมี 12 สาย”
          จิงชวนไป่เปียน (Jing Chuan Bai Bian) ของ ถังจิงชวน(Tang Jing Chuan) ในสมัย
หมิง[15] บันทึกไว้ว่า “ ซ่งเส้อมี 13 สาย รูปร่างเหมือน เจิง ไม่ผิดเพี้ยน”   
ขณะนี้มีคำว่า หย่าเส้อ (เส้อใหญ่) ซ่งเส้อ (เส้อเล็ก) ซึ่งหมายถึงเจิงนั่นเอง เส้อทั้ง
สองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงต้องมี 2 แบบและ 2 ชื่อทั้งที่เป็นเครื่องดนตรี
ชนิดเดียวกันและเหตุใด เส้อเล็กจึงเรียกว่า เจิง
          ตั้งแต่ยุคแรกที่ เส้อ และ เจิง ยังแยกกันไม่ชัดเจนทำให้เกิดการเรียกชื่อ และความเข้าใจ
สับสน ดังจะเห็นได้จากบันทึกตั้งแต่สมัยฉิน เรื่อยลงมาถึงฮั่น กระทั่งถึงสมัยสามก๊กจึงมีการ
อธิบายและแยกชื่อเรียก เจิง และ เส้อ ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีการเรียกกันว่า เส้อ อยู่บ้าง
ตามความเคยชินเรื่อยมา จากพงศาวดารราชวงศ์ต่างๆในภาคพิธีและดนตรีพบว่า เส้อ จะใช้ใน
ราชสำนัก หรือในพิธีการของราชสำนัก ส่วน ซ่งเส้อ ใช้ในกลุ่มชนพื้นบ้านพื้นเมืองทั่วไป และด้วยเสียงของการบรรเลง “เจิง เจิง เจิง” นี่เองทำให้ชนพื้นเมืองเรียก ซ่งเส้อ ว่า เจิง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เจิงก็คือ เส้อ นั่งเอง ผิดกันตรงที่ชื่อเรียกและข้อกำหนดการใช้ต่างกัน
l  ซ่งเส้อ หรือ เส้อเล็ก ก็คือ เจิง ซึ่งใช้ในกลุ่มดนตรีพื้นเมืองและประชาชนทั่วไป
(ซ่งsong4 ในภาษาจีนหมายถึงยกย่อง สรรเสริญ ชมเชย)
l  หย่าเส้อ หรือ เส้อใหญ่ ใช้ในพิธีการและราชสำนัก (หย่าya3 ในภาษาจีนหมายถึง
มาตรฐาน สูงส่ง)

รูปร่าง ส่วนประกอบและเจิงประเภทต่างๆ     
                        เจิงในอดีตเดิมเป็นรูปกล่องไม้สี่เหลี่ยมหน้าเรียบ หมุดร้อยสายอยู่ด้านบน การเรียง
ของหย่องประจำสายกระจายเป็นกลุ่มๆ หย่องใหญ่เป็นแนวตรง มีทั้งหมด 25 สาย สายเจิง
ทำด้วยเส้นไหม หรือเส้นหางม้า ดังที่อธิบายไปแล้วในเรื่อง เส้อ  แต่กูเจิงในปัจจุบันนี้
เปลี่ยนไปจากเดิมมาก กล่องเสียงทำเป็นทรงกระบอกผืนผ้ายาว แผ่นหน้าโค้งนูนขึ้น การเรียง
ตัวของหย่องประจำสายไล่เรียงเป็นรูปโค้ง หย่องใหญ่ทำเป็นรูปตัว S หมุดร้อยสายซ่อนอยู่
ด้านใน มีทั้งหมด 21 สาย ดูภาพที่ 2 ประกอบ   
                                                                     
ภาพกู่เจิงในปัจจุบัน
                

               1      2       3         4          5     6   7   
                                                        ยาว 163 เซนติมตร

จากภาพสามารถอธิบายส่วนประกอบของกู่เจิงที่สำคัญๆ ดังนี้
1.    หางเจิง เรียกว่า เจิงเหว่ย (zheng1 wei3) อยู่ทางตอนท้ายของเจิงภายใน
เป็นกล่องกลวง มีหมุดร้อยสาย 21 หมุดซ่อนอยู่ด้านใน ด้านใต้เป็นรูกลวงรูปตัว S ไว้ร้อยสาย
2.    หย่องใหญ่ท้าย เรียกว่า โฮ่ว เยว่ ซาน (hou4 yue4 shan1) ทำเป็นรูปตัว S
ทำหน้าที่รองสายที่ร้อยขึ้นมาจากด้านในของหางเจิง
3.    แผ่นหน้าหรือหน้าเจิง เรียกว่า เมี่ยนป่าน (mian4 ban3) ทำด้วยไม้ นิยมใช้ไม้
เนื้อแข็งขุดให้เป็นรูปโค้งนูนหรือบางแห่งก็ใช้ไม้แผ่นยาว3 แผ่นประกอบเป็นรูปทรงโค้งแล้วขัด
ให้เป็นรูปนูนเสมอกัน หนา 0.9 – 1.3 เซนติเมตร ทำหน้าที่รองหย่องประจำสาย บ้างก็ขัดให้เรียบ บ้างก็ไม่ขัดเพื่อเหตุผลทางคุณภาพของเสียง
4.    กล่องเสียงหรือตัวเจิง เรียกว่า เจิงถี่ (zheng1 ti3) ใช้ไม้ประกบกับแผ่นหน้าด้านข้าง
ทั้งสองด้านแล้วใช้ไม้แผ่นขนาดกว้างยาวเท่าแผ่นหน้าประกบเป็นแผ่นล่าง เรียกว่า ตีป่าน (di1 ban3) ที่แผ่นล่างนี้มีช่องระยายเสียง 2 ช่อง ช่องหนึ่งอยู่ตรงกลางเป็นช่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ยาวตามแนวตัวเจิงเรียกว่า จงอินข่ง (zhong1yin1kong3หมายถึงรูระบายเสียงด้านกลาง) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จงหลงฉือ(zhong1long2chi2หมายถึงสระมังกรกลาง) อีกที่หนึ่งเป็น
ช่องทรงครึ่งวงกลมอยู่ทางตอนหัวเจิงเรียกว่า เฉียนอินข่ง (qian2yin1kong2หมายถึงรูเสียง
ด้านหน้า) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หลงฉือ (long2chi2) บริเวณภายนอกนิยมประดับประดา
ให้สวยงามเป็นลวดลายต่างๆ ส่วนใหญ่ที่พบคือประดับหยก ประดับมุก วาดสี แกะสลัก หรือแบบเรียบที่ไม่มีการประดับอะไรเลยก็มี ขนาดความยาวของตัวเจิง 164 เซนติเมตร หัวเจิง (ดูข้อ 7) กว้าง 32.5 เซนติเมตรหางเจิงกว้าง 28.5 เซนติเมตร
                   5. หย่องประจำสาย เรียกว่า หม่า (ma3) หรือ เยี่ยนจู้ (yan4zhu4 เสาห่าน: ที่เรียกเช่นนี้เพราะว่าการเรียงตัวของหย่องนี้เรียงไล่หลั่นกันไปลักษณะคล้ายกับการบินของฝูงห่าน) มี 3 ขนาด ขนาดใหญ่สูง 5.7 เซนติเมตร  ขนาดกลางสูง 5.5 เซนติเมตร และขนาดเล็ก
สูง 5.3 เซนติเมตร ใช้รองสายเป็นตัวกลางนำเสียงจากสายผ่านแผ่นหน้าไปสู่กล่องเสียง การเรียงขนาดเล็กใช้รองสายที่อยู่ด้านในด้านผู้บรรเลงคือเสียงสูงที่สุด (เสียง โดสูง) ไล่ไปหา
เสียงต่ำสุดด้านนอก (เสียงโดต่ำ) ระบบเสียงของกู่เจิง มี 3 ช่วงเสียง คือ ช่วงเสียงสูงใช้หย่อง
ขนาดเล็ก ช่วงเสียงกลางใช้หย่องขนาดกลาง และช่วงเสียงต่ำใช้หย่องขนาดใหญ่ หย่องของ
กู่เจิงนี้สามารถเลื่อนเพื่อปรับเสียงได้ โดยไม่ต้องหมุนปรับที่หมุดปรับสาย
6.    หย่องใหญ่ด้านหัวเจิง เรียกว่า เฉียนเยว่ซาน (qian2 yue4 shan1) ทำด้วยไม้เนื้อ
แข็ง ทำหน้าที่รองสายที่ร้อยลงไปที่หมุดปรับสายที่ซ่อนอยู่ด้านในหัวเจิง
7.    หัวเจิง เรียกว่า เจิงโถว (zheng1 tou2) มีฝาเปิดปิดได้ ด้านในเป็นกล่องที่ฝัง
หมุดโลหะไว้ขึงและปรับสายมีทั้งหมด 21 หมุด
8.    สาย เรียกว่า เจิงเสียน (zheng1 xian2) เดิมใช้สายไหม เหมือนอย่างสายของซอ
ไทย ต่อมามีการทดลองนำสายลวดและโลหะมาใช้พบว่าให้คุณภาพเสียงที่ดังกังวานและ
ทนทานกว่าจึงนิยมใช้เรื่อยมา กู่เจิงมี 21 สาย ขึงพาดจากหมุดปรับสายขึ้นมาผ่านหย่องใหญ่
ด้านหัวไปถึงหย่องใหญ่ด้านหางร้อยติดไว้ที่หมุดร้อยสายด้านหางโดยตรงกลางมีหย่องเล็กประจำสายเรียงไล่หลั่นห่างออกไปตามลำดับ  ขนาดของสายมี 3 ขนาด ขนาดใหญ่ใช้กับช่วง
เสียงต่ำ ขนาดกลางใช้กับช่วงเสียงกลาง และขนาดเล็กใช้กับช่วงเสียงสูง
9.    เล็บปลอม เรียกว่า เจี๋ยเจี่ย (jia3 jia3)เดิมทำจากกระดูก งา หรือฟันของสัตว์
ต่อมาใช้แผ่นพลาสติก ที่พบใช้เป็นปกตินิยมคือทำจากกระ ของกระดองเต่า ใช้ติดไว้ที่นิ้วมือ
ขวาเวลาดีด ใช้หมดห้าทั้ง นิ้ว แต่ส่วนมากนิยมใช้เพียง 3 นิ้ว คือนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง เท่านั้น เดิมใช้หนังสัตว์จำพวกหนังงู หนังวัว หรือเชือกพันสาย ปัจจุบันใช้ผ้ากาวเพราะสะดวก
และติดแน่นกว่ามาก โดยติดไว้ที่ด้านในของนิ้วมือ
การบรรเลง
            มีนักวิชาการดนตรีของไทยเรียกกู่เจิงว่าจะเข้จีน ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องรูปร่าง ระบบ
เสียงดนตรี รวมทั้งวิธีการบรรเลง เพราะจะเข้ของไทย มี 3 สาย แต่ละสายสามารถบังคับเสียง
โดยมีนม11 นมเป็นตัวกำหนดเสียงแน่นอนทั้ง 3 สาย การบรรเลงใช้ไม้ดีดยาวพันที่นิ้้วชี้
นิ้วเดียว และมีเสียงครบทั้ง 7 เสียง หรืออาจกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนได้ว่าจะเข้มีระบบเสียง
ทางแนวนอนแต่กู่เจิงมีทั้งหมด 21 สายแต่ละสายมีเสียงเดียว (ไม่นับรวมการกดลงบนสาย
ให้สายตึงขึ้นเพื่อทำให้เกิดเสียงสูงขึ้น)ใช้ครบทั้งห้านิ้วติดเล็บปลอมขนาดเล็กดีดทีละเส้นเพื่อกำเนิดเสียง1 เสียง และระบบเสียงของกู่เจิง มีเพียง 5 เสียง หรืออาจกล่าวให้เห็นภาพชัดเจน
ได้ว่าเจิงมีระบบเสียงทางแนวตั้ง
          สำหรับวิธีการบรรเลงคงไม่สามารถกล่าวในที่นี้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะกู่เจิงรวมทั้ง
เครื่องดนตรีอื่นๆ มีวิธีการบรรเลงสลับซับซ้อน คงต้องกล่าวกันเป็นเล่มหนังสือเลยทีเดียว
ดังนั้นในที่นี้จึงจะขอกล่าวเรื่องการบรรเลงโดยคร่าวๆ พอเป็นแนวทางให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้
เท่านั้น
          การบรรเลงกู่เจิง (ต่อไปจะใช้คำว่า ดีด) ดังที่เห็นได้จากตัวกู่เจิงแบ่งออกเป็น 2 ด้านโดยมี
หย่องประจำสายเป็นตัวแบ่งคั่นกลาง ทำให้การดีดแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การดีดของมือขวา และการกดของมือซ้าย  ทำให้บางครั้งเรียกว่า วิธีการดีดของมือขวา และวิธีการดีดของมือซ้าย ดังนี้
          1.วิธีการดีดของมือขวา 
1.1         การดีดเสียงเดียว นิ้วทั้งห้าสามารถติดเล็บเพื่อใช้ดีดกูเจิงได้ แต่ที่นิยมและ
ใช้เป็นประจำคือนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง เพียงสามนิ้วเท่านั้น และสามารถดีดทั้งเข้า
และออกได้บนสายที่ต้องการดีด แต่ที่พบมากคือการดีดเข้าหาอุ้งมือ บริเวณที่ดีดคือครึ่งซ้าย
ของเจิงโดยมีหย่องประจำสายเป็นตัวแบ่งครึ่งชัดเจน  วิธีการดีดหลักๆมีดังนี้
-          ทัว            (tuo1)  นิ้วหัวแม่มือดีดเข้าใน
-          พี               (pi1)    นิ้วหัวแม่มือดีดออก
-          หมั่ว           (mo3)  นิ้วชี้ดีดเข้าใน
-          เทียว          (tiao1)  นิ้วชี้ดีดออก
-          โกว            (gou1)  นิ้วกลางดีดเข้าใน
-          ที               (ti1)              นิ้วกลางดีดออก
-          เหยา  (yao2หมายถึงเขย่า)   คือการรัวปกติจะใช้เล็บของนิ้วหัวแม่มือรัว
แต่ก็อาจใช้นิ้วอื่นๆรัวก็ได้ตามข้อกำหนดของเพลง
-          กวา (gua1 หมายถึงขูด รูด) ใช้นิ้วหัวแม่มือกรีดไล่จากเสียงสูงไปหาต่ำ
แล้วใช้นิ้วชี้กรีดไล่จากเสียงต่ำมาหาเสียงสูงความเร็ว รูปแบบและทิศทางเป็นไปตาม
ข้อกำหนดของเพลง เช่นการกรีดสายแบบไล่ไปเป็นระรอก แบบวนสลับขึ้นลง แบบขึ้น
อย่างเดียว หรือแบบลงอย่างเดียว เป็นต้น
                   1.2 การดีดควบเสียง การดีดควบเสียงมี 2 ลักษณะคือดีดควบเสียงโดยไช้มือเดียว
และการดีดควบเสียงโดยใช้สองมือเป็นการดีดแบบประสานเสียง ดังนี้
-          เสี่ยวชัว (xiao3cuo1 หมายถึงควบเล็ก) ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชิ้ดีดควบเสียง
โดยดีดสาย 2 สาย ที่เว้นสายตรงกลางไว้ 1 สาย จะเป็นเสียงคู่สี่
-          ต้าชัว (da4 cuo1หมายถึงควบใหญ่) ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางดีดควบ
เสียงโดยดีดสาย 2 สาย ที่เว้นสายตรงกลางไว้ 4 สาย จะเป็นเสียงคู่แปด นอกจากนี้ยังสามารถ
ดีดควบในคู่เสียงอื่นๆ โดยใช้ 3 – 4 นิ้ว ดีดควบตามความต้องการและตามข้อกำหนดของเพลง
-          การดีดแบบประสาน (he2yin1) คือการดีดโดยใช้ทั้งสองมือดีดบนสาย
ด้านครึ่งขวาของเจิง มือซ้ายดีดทำนอง มือขวาดีดเสียงประสาน หรือดีดสลับกันกับมือขวา
ในกรณีที่ต้องการความเร็วเป็นพิเศษ เป็นต้น เสียงที่ได้จะเป็นเสียงคล้ายกับการบรรเลงเปียโน
จึงเป็นที่มาของคำว่า เสียงเปียโนแห่งตะวันออก
-          ผาอิน (pa2yin1) คือการดีดไล่ทีละเสียงเรียงอย่างกระชั้นติดกันและเป็น
แบบแผนของเสียง มีทั้งแบบใช้มือเดียว และควบทั้งสองมือ เช่นไล่เสียงเป็นชุด โด มี ซอล โด หรือ โด มี ซอล โด มี ซอล โด เป็นต้น
          2. วิธีการดีดของมือซ้าย จะดีดเมื่อต้องการบรรเลงเสียงประสานเท่านั้น เพราะความ
จริงแล้วหน้าที่หลักของมือซ้ายไม่ใช่การดีด แต่เป็นการกด โดยกดลงที่สายที่ด้านครึ่งซ้าย
ของเจิง บางคนใช้สองนิ้วชี้กับนิ้วกลาง หรือบางคนใช้สามนิ้วนิ้วชี้นิ้วกลางและนิ้วนาง
                   2.1 การดีด ดีดเพื่อเป็นเสียงประสานในขณะที่มือขวาดำเนินทำนองดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ยังสามารถดีดเหมือนอย่างวิธีดีดของมือขวาได้ทุกประการ
                   2.2 การกด มีวิธีการกดหลายแบบตามความต้องการและข้อกำหนดของเพลง
-          โหรว (rou2 หมายถึงนุ่มนวล) คือการกดลงบนสายเดียวกันหลังจากที่มือ
ขวาดีด โดยกดลง ขึ้น ลง สลับกัน เสียงที่ได้จะเป็นลักษณะคลื่นสูง ต่ำ สูง ต่ำ สลับกันไป
-          ฮว๋า (hua2หมายถึงลื่น หรือไหล) คือลักษณะของการโหยเสียง มีสองแบบ
คือโหยจากเสียงต่ำไปสูง โดยมือขวาดีดก่อน มือซ้ายกดสายลงไปให้ถึงเสียงที่สูงขึ้นไปกว่า
เสียงที่ดีด 1 เสียง เช่นดีดที่เสียงโดแล้วกด ก็จะเป็นการโหยจากเสียง โด ไปหาเสียง เร เช่นนี้
เรียกว่า ซ่างฮว๋าอิน (shang4 hua2 yinหมายถึงเสียงต่ำโหยสูง) และอีกวิธีหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม
กันคือ มือซ้ายกดสายที่จะดีดลงไปให้ได้เสียงที่สูงกว่าเสียงประจำของสายนั้นๆเตรียมไว้ก่อน
หลังจากมือขวาดีดแล้วมือซ้ายค่อยๆปล่อย เช่นนี้จะได้เสียงโหยจากสูงมาต่ำ เช่น กดที่สาย
เสียง โด ให้เป็นเสียงเร แล้วปล่อย ก็จะได้เสียง เร โหยต่ำลงไปหาเสียง โด เช่นนี้เรียกว่า เซี่ย
หวาอิน (xia4 hua2 หมายถึงเสียงสูงโหยต่ำ)
-          ชั่น (chan4หมายถึง สั่น) วิธีการคล้ายกับการ โหรว แต่เร็วและแรงกว่า
-          อั้น (an4หมายถึง กด) ด้วยเหตุที่กู่เจิงไม่มีเสียง ฟา กับ ที ดังนั้นเมื่อต้อง
การเสียงทั้งสองนี้สามารถดีดได้จากเสียงอื่นโดยการกดสายทางด้านซ้ายให้ตึงจะทำให้ได้
เสียงที่สูงขึ้นเสียง ฟา กดที่เสียง มี น้ำหนักการกดไม่แน่นนอนผู้ดีดต้องฟังและหาเสียงให้ตรง
ด้วยตัวเอง  ส่วนเสียง ที ก็กระทำโดยวิธีเดียวกันนี้โดยกดที่เสียง ลา สายอื่นๆ ก็สามารถใช้
วิธีการกดให้ตึงเพื่อทำให้เสียงสูงขึ้นเป็นเสียงอื่นได้เช่นกัน

สำนักวิชา
            เหตุที่ประเทศจีนมีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล หลังจากที่กู่เจิงกำเนิดขึ้นก็ได้กระจาย
ถ่ายทอดไปสู่แต่ละท้องที่ หลังจากนั้นในแต่ละท้องที่ก็มีการพัฒนาเอกลักษณ์ สำเนียงเพลง
รูปแบบ วิธีการบรรเลง เพลง ไปตามพื้นฐานทางวัฒนธรรมดนตรีของแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิด
สำนักวิชากู่เจิงขึ้น ปัจจุบันมีการแบ่งสำนักวิชากู่เจิงออกเป็น 9 สำนักวิชาดังนี้
          1.สำนักส่านซี (Shan Xi Zheng Pai ) จากเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกถึงกู่เจิงใน
ยุคเริ่มแรกที่สุดว่าเกิดในสมัยฉินซึ่งเป็นพื้นที่ของมณฑลส่านซีในปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าสำนัก
วิชาของส่านซีมีความเก่าแก่และดั้งเดิมมากที่สุด หลังจากที่กู่เจิงได้กระจายไปสู่ท้องที่ต่างๆ
แล้วก็ได้ปรับปรุง เทคนิค วิธีการบรรเลงแตกต่างกันไป สำนักส่านซีก็ได้รวบรวมวิธีของท้องที่
ต่างๆมาใช้ ทำให้บทเพลงของสำนักส่านซีมีความหลากหลายและมีกลเม็ดในการบรรเลง
ครบถ้วนอย่างที่ทุกสำนักมี ดังมีคำกล่าวว่า เพลงของสำนักส่านซีมีหลากอารมณ์ เพลงของ
สำนักนี้พัฒนามาจากเพลงร้องพื้นเมือง หลังจากนั้นก็ใช้บรรเลงประกอบการขับร้อง บรรเลง
ร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นจนกระทั่งพัฒนามาเป็นบรรเลงเดี่ยวในที่สุด เอกลักษณ์คือ ใช้นิ้วหัว
แม่มือซ้ายกดสาย ซึ่งปกติจะใช้นิ้วชี้และกลาง หรือ นิ้วชี้นิ้วกลาง และนิ้วนาง
          2. สำนักเหอหนาน(He Nan Zheng Pai) เพลงของสำนักเหอหนานพัฒนามาจากละครร้อง
เนื่องจากใช้บรรเลงประกอบละครร้องร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น ซันเสียน (san1xian2
หมายถึง สามสาย เป็นเครื่องดีดประเภทหนึ่ง) มีเสียงสูง กังวาน ใส จะบรรเลงเด่นออกมา
ในช่วงเสียงสูงของเพลงส่วนเจิงด้วยเอกลักษณ์ทางเสียงที่อ่อนหวานนุ่มนวล ก็จะบรรเลงเด่น
ขึ้นมาในช่วงเสียงกลางซึ่งเป็นทำนองส่วนใหญ่ของเพลง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กู่เจิง เป็นผู้ดำเนินทำนองหลัก ทำให้พัฒนาเป็นเพลงของเจิงในเวลาต่อมา เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง
คือ การดีดโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ ปกติการดีดเจิงจะใช้ทุกนิ้วดีดไปด้วยกัน แต่สำนักเหอหนาน
จะใช้นิ้วหัวแม่มือดีดเป็นส่วนใหญ่ มีคำกล่าวถึงสำนักนี้ว่า “ดีดสิบเสียงมีแปดเสียงใช้นิ้ว
หัวแม่มือ” เนื่องจากเพลงพัฒนามาจากบทละครร้อง ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลทางภาษามาด้วย ทำให้เพลงของเหอหนานมีสัมผัสคล้องจอง มีต่ำมีสูงเหมือนกับบทกลอน และภาษาพูด มีการ
ให้คำจำกัดความของสำนักนี้ว่า“ปราดเปรียว สนุกสนานร่าเริง” และที่สำคัญนิยมใช้เสียง ฟา และ ที ซึ่งไม่มีในระเสียงปกติของเจิง
          3. สำนักซานตง (Shan Dong Zheng Pai) เจิงของสำนักนี้ลักษณะเด่นคือการบรรเลง
รวมวง หรือร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น แต่กระนั้น กู่เจิง ก็ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีหลัก โดยมี
คำกล่าวถึง กู่เจิงของสำนักซานตงว่า  “ อู๋ เจิง ปู้ เฉิง เยว่ ซึ่งหมายถึง ไร้เจิง ไม่เป็นดนตรี”
เพลงของสำนักนี้ละม้ายคล้ายคลึงกับสำนักเหอหนาน มีการใช้นิ้วหัวแม่มือเป็นส่วนใหญ่เช่น
เดียวกัน แต่เน้นความหนักแน่น เข้มแข็ง มีพลัง
4.    สำนักเหมิงกู่ หรือมองโกล (Menggu Zheng Pai)มองโกลเป็นเขตปกครองตนเองทาง
ตอนเหนือสุดของจีน แม้ว่าจะเป็นลักษณะของเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันแต่มีวิธีการบรรเลง สำเนียงเพลง แตกต่างจากสำนักอื่นๆ กล่าวคือ เจิงของมองโกลมี 13 – 14 สาย เรียกว่า ยา ก่า เจิง (Ya To Ga) เวลาดีดจะวางพาดไว้บนตักในแนวเฉียง หางเจิงตั้งไว้ที่พื้นหรือที่รอง ต่างจากเจิงปกติที่วางไว้บนชั้นวางในแนวราบ ผู้ดีดนั่งเก้าอี้ดีด วิธีดีดมีข้อพิเศษต่างจากสำนัก
อื่นคือ ดีดควบ 2 นิ้วไปในทิศทางตรงกันข้ามกันเช่น ดีดทัว-ที ในการดีด เสียงชัว หรือดีด ต้าชัวโดยใช้วิธี พี - ที ซึ่งต่างจากวิธีปกติคือ ทัว - โหมวในดีด เสียวชัว และใช้ ทัว - โกว ในการดีดต้าชัว (ดูวิธีการดีดของมือขวาประกอบ) และไม่ติดแล็บเหมือนกับเจิงของชาวฮั่น แต่
จะใช้กระดูกของสัตว์ดีดเจิง นอกจากนี้ยังมีการใช้คู่เสียง คู่ห้า และคู่แปด ประสานเสียงกัน
อันเป็นสำเนียงดนตรีของมองโกล         
5.    สำนักกายาฉินเฉาเสี่ยน (Chaoxian Gaya Qin Pai) “เฉาเสี่ยน” นอกจากใช้เป็น
ชื่อเรียกเชื้อชาติเกาหลีแล้ว ยังมีกลุ่มชนเชื้อชาติเกาหลีที่อาศัยติดพื้นที่อยู่ในประเทศจีน
ซึ่ง ถือเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของจีนในจำนวนทั้งหมด 56 กลุ่ม มีภาษาและวัฒนธรรมอย่าง
กลุ่มชนในประเทศเกาหลี เจิง ของสำนักนี้เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า กา ยา คึม (Ga Ya Kim)
คึม ตรงกับภาษาจีนว่า ฉิน (qin2) ซึ่งหมายถึงเครื่องดนตรี [16]  เจิง ถือเป็นเครื่องดนตรีที่มี
ประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดในบรรดาเครื่องดนตรีของชนชาติเฉาเสี่ยน รับรูปแบบเครื่องดนตรี
ของฮั่นไป และปรับเปลี่ยนจนมีรูปร่างผิดไปจากเดิมมีลักษณะแบนราบ แต่ก็ยังคงเค้าของ
ความเป็น เจิง เดิมไว้ การบรรเลงนั่งกับพิ้นหรือบนเก้าอี้ พาดเจิงไว้บนตักเหมือนอย่างเจิง
ของมองโกล ลักษะทำนองและสำเนียงเพลงเริ่มจากช้า แล้วค่อยๆ เร่งเร็วขึ้นใช้กลองเป็น
เครื่องประกอบจังหวะในการบรรเลง สำหรับเรื่องประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรีชนิดนี้
ประวัติศาสตร์ดนตรีจีนเชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มและถ่ายทอดสู่เกาหลีและญี่ี่ปุ่น แต่ฝ่ายเกาหลีเอง
ก็เชื่อว่าบรรพบุรุษของเกาหลีซึ่งเป็นชนกลุ่มเฉาเสี่ยนเดิมที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนอบพยบมา
ตั้งถิ่นฐานในพิ้นที่เกาหลีปัจจุบันเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นแล้วเผยแพร่สู่จีนและญี่ปุ่น โดยมีหลักฐาน
ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ในพจนานุกรมเกาหลี-จีน ว่าผู้สร้างเฉาเสี่ยนเจิงคือ อู รุก (Wu Ruk ,
ถ่ายเสียงตามการออกเสียงภาษาเกาหลี) มีทั้งหมด 12 สาย
6.    สำนักเฉาโจว (Chaozhou Zheng Pai) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ แต้จิ๋ว เรียกเจิงว่า
ฉิงเจิง เพราะเหตุผลทางระบบเสียงในภาษาถิ่นของแต่จิ๋วทำให้เรียกผิดเพี้ยนกันไป เป็นเหตุให้
ใช้ตัวหนังสืออีกตัวหนึ่งคือตัวที่หมายความถึง ความรูุ้สึก ความรัก ความจริงแล้วก็คือเสียงเดิม
ของคำว่า ฉิน ที่เป็นชื่อแคว้นฉินอันเป็นที่กำเนิดของ ฉินเจิง นั่นเอง มีการใช้นิ้วหัวแม่มือกด
สองสายเป็นเสียงกดคู่แปด (ปกติเมื่อมือซ้ายดีดคู่แปดจะกดสายที่นิ้วหัวแม่มือดีดเพียงเส้น
เดียวเท่านั้น) ซึึ่งเป็นลักษณะเด่นของสำนักนี้ นิ้วที่ใช้ดีดจะใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือเป็นหลัก ไม่นิยมใช้ พี เย๋า เทียว หรือนิ้วอื่นๆ ดีด ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ เพลงที่บรรเลงไม่แยก
ว่าเป็นเพลงบรรเลงเดี่ยวหรือบรรเลงรวมวง ทุกเพลงสามารถบรรเลงรวมวงและบรรเลงเดี่ยว
ได้หมด และใช้ได้กับทุกเครื่องดนตรี หากได้ยินเพลงที่บรรเลงโดยกู่เจิงรวมวงกับเครื่องดนตรี
หลายๆชนิดก็คือเพลงจากสำนักเจิงของเฉาโจว หรือ แต้จิ๋วนั่นเอง
7.    สำนักเค่อเจีย หรือฮักกา หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อจีนแคะ (Kejia Zheng Pai) สำนัก
เหอหนานและสำนักซานตงมีอาณาบริเวณใกล้ชิดกันทำให้รูปแบบการบรรเลงและสำเนี่ยง
เพลงมีความคล้ายคลึงกัน สำนักเค่อเจียก็เช่นกัน ที่มีความใกล้ชิดกับสำนักเฉาโจว แต่เจิงของ
สำนักนี้เผยแพร่เข้ามาในสมัยซ่ง โดยการอพยบของผู้คนจากจงโจวสู่กว่างตงและกระจาย
ในพื้นที่ของ หมิ่นหนาน(Min Nan) ไต้หวัน กั้นหนาน(Gan Nan) และกระจายไปสู่ต่างประเทศ
ที่ติดต่อค้าขายกับกว่างตงในสมัยนั้นลักษณะเด่นของสำนักนี้คือเริ่มมีการใช้สายลวด ซึ่งผิดไป
จากสำนักอื่นที่ใช้สายลวดพันไนล่อน ทำให้เสียงดังกังวาน และคงความดังของเสียงได้
ยาวนานกว่ามาก
8.    สำนักฝูเจี้ยน(Fujian Zheng Pai) หรือที่คนไทยรู้จักว่า ฮกเกี้ยน กระจายอยู่ในบริเวณ
กลุ่มคนที่พูดภาษาสาขา หมิ่นหนาน และเค่อเจีย อาจกล่าวได้ว่า สำนักเฉาโจว เค่อเจีย และ
ฝูเจียน เดิมเป็นพื้นที่ที่มีอาณาบริเวณติดต่อกันต่างได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน ต่อมาต่างท้องที่
ต่างพัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนสามารถเห็นความแตกต่างชัดเจนจนแยกสำนักได้ เช่น เหลียนโกว(lian2gou1)ใช้โกวเพียงอย่างเดียวดีดต่อกัน  การหยุดเสียง คือดีดแล้วกดทับเพื่อ
หยุดเสียง วิธีม้าวิ่ง (pao3ma3fa3) ดีดโกวทัวด้วยความเร็ว เหล่านี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของ
เพลงจากสำนักฝูเจี้ยน
          9. สำนักเจ้อเจียง (Zhejiang Zheng Pai) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อวู่หลิน (Wulin) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองหังโจวสำนักนี้คือบริเวณของเมืองหังโจง เซี่ยงไฮ้ เป็นหลัก บทเพลง
ของสำนักนี้ส่วนใหญ่เป็นการนำเพลงของสำนักอื่นมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ลักษณะเด่นของ
เพลงคือ “การรัว” พัฒนาจากการรัวนิ้วเดียว เสียงเดียว มาเป็นรัวคู่ รัวสามสียง สี่เสียง ห้าเสียง
เจิง ของสำนักนี้เดิมมีเพียง 15 ถึง 16 สาย ต่อมามีการปรับปรุงเพิ่มสายขึ้นมาเรื่อยๆ และปรับ
ปรุงรูปร่าง โดยเปลี่ยนหย่องใหญ่ที่หางเจิงจากที่เป็นไม้ตามแนวตรงพาดขวางที่หางเจิง มา
เป็นรูปทรง S 21 สายจนได้รับความนิยมไปสู่สำนักอื่นๆ และเป็นต้นแบบของกู่เจิงแบบ
มาตรฐานในปัจจุบัน


เพลง
            หากกล่าวถึงจำนวนเพลงของกู่เจิงทั้งที่เป็นเพลงเก่าที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เพลงที่
แต่งขึ้นใหม่ และเพลงจากแต่ละสำนักวิชา มีจำนวนนับไม่ถ้วน แต่มีเพลงที่ทุกๆสำนักวิชา
นิยมและใช้บรรเลงกันทั่วไป จะขอยกมากล่าวในที่นี้สักเล็กน้อยพอเป็นตัวอย่าง
          1. เกา ซาน หลิว สุ่ย (Gao Shan Liu Sui)     เขาสูงน้ำไหล เป็นเพลงเอกของสำนัก
เจ้อเจียง เดิมเป็นเพลงของ ตี๋จือ (ดูเชิงอรรถที่ 3) แล้วเจิงได้เอามาบรรเลง แต่ยังคงทำนอง
ดั้งเดิมและทางของเครื่องดนตรีเดิมไว้ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแต่งเติมทำนองมากเท่าใดนัก เพียงแต่
ใส่ลูกเล่นอย่างวิธีบรรเลงของเจิงเท่านั้น ทำนองเพลงให้อารมณ์ของเสียงน้ำตกที่ไหลลงมา
จากขุนเขาสูง และให้ความรู้สึกวิจิตร อลังการ อุดมคติทางทัศนียภาพชาวจีนคิดว่า น้ำตกที่ไหล
ลงมาจากยอดเขาในอ้อมกอดของป่าไม้และหุบเขาสูงชันเป็นทัศนียภาพที่งดงาม ดังจะเห็นได้
จากภาพวาดทิวทัศน์ของจีน มักหนีไม่พ้นขุนเขา ป่าไม้ และน้ำตก จะขอยกตัวอย่างโน้ตเพลง
สักเล็กน้อย เพื่อให้ผู้อ่านที่มีความรู้ทางดนตรีได้สัมผัสความวิจิตรของนำตกที่ไหลลงมาจาก
ยอดเขาสูง ถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงดนตรี [17]
 




         

          2. หยวี โจว ช่าง หว่าน (Yu Zhou Chang Wan) ประมงขับสายัณห์ ชื่อเพลงนี้มาจาก
บทกลอนในสมัยถังของหวัง โป๋ (Wang Bo) ที่ชื่อเผิง หวัง เก๋อ ซวี่ Peng Wang Ge Xuทำนองเพลงนี้บรรยายถึงคนตกปลาในเแม่น้ำเจียงหนาน(Jiang Nan) สายน้ำใสที่สะท้อนเงา
ของพระจันทร์ และโคมไฟที่ประดับสองริมฝั่งน่ำทำให้คนตกปลาเกิดสุนทรียภาพร้องทำนอง
เพลงนี้ขึ้นมา บ้างก็ว่าแต่งขึ้นโดยนักเล่นกูเจิงในสมัยหมิงและชิงโดยดัดแปลงมาจากเพลงชื่อ
กุย ชวี่ หลายGui Qu Laiบ้างก็ว่าปรับปรุงมาจากทำนองเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมชื่อ ซวงป่าน
Shuang Banของสำนักซานตง ทำนองเพลงแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นทำนองช้า
บรรยายทัศนียภาพอันงดงามของสายน้ำยามค่ำคืน ท่อน 2 และ 3 ทำนองกระชั้นขึ้นเร็วขึ้น
บรรยายคลื่นที่โหมกระทบกระทั่งลูกแล้วลูกเล่า ท้ายที่สุดค่อยๆช้าลงจนจบเพลงบรรยายภาพ
ของคลื่นที่สงบลง ดังตัวอย่างส่วนหนึ่งของเพลง


3               3           5              6                      3
3 5 62 2  3 533 2 1 16  5 - *6156 1 1  6 *6535 66 5 66  1 2 3
---ม ---ซ -ลดํรฺ ---รฺ ---ม -ซลม -มรด -ด-ร -ล-ซ ---- ----ล ดชลด -ด-ล -ลซม ---ซ -ลลซ
-ลลด ---ร ---ม (โหรว กดที่เสียง มี ซ้ำๆแบบสะท้อนเป็นเสียงระลอกคลื่นซัด)                  




 
 







3.ชู สุ่ย เหลียน (Chu Shui Lian) โกมลพ้นน้ำ เป็นเพลงเอกของสำนักเค่อเจีย
ใช้เจิงสายลวด 16 สายแบบดั้งเดิมบรรเลง ทำให้ได้เสียงที่ดังกังวานใส ประกอบกับ ทำนอง ที่ไม่ช้าและไม่เร็วนัก ใช้เสียง ฟา และ ที ซึ่งไม่ใช่เสียงประจำของเจิง ทำให้เกิดความพิเศษ บ่งบอกและบรรยายถึงความงดงามของดอกบัวแรกแย้มสดใส บริสุทธิ์ และสูงส่ง ดังตัวอย่าง




                                      2                                  2
16 5 5 4. 5 5456 5 5 4  22 5 45 12 2 16 5 5 4. 5 5456 5 5 4  22 5 45 12  2
--รดลซ  -ซ-ฟ  -ซ-ฟซฟลซ  --ลซ  ซ-ฟร  --ซฟ  ซด-ร  ---ร (ซ้ำ)                                                                       























   


 
 




4.    หัน ยา ซี่ สุ่ย (Han Ya Xi Shui) เป็ดหนาวเริงธาร เป็นเพลงเอกของสำนัก
เฉาโจว ทำนองเพลงรวดเร็วกระชั้น แสดงถึงภาพฝูงเป็ดที่ลงเล่นน้ำด้วยความสนุกสนาน ร่าเริง
เบิกบาน ต้อนรับต้นฤดูหนาวที่เพิ่งมาถึง หลังจากที่ผ่านฤดูร้อนอันแสนอบอ้าวและทรมาณมา
หลายเดือน







5.    เหลียง จู้ (Liang Zhu) เพลงนี้เป็นเพลงที่แต่งใหม่ในระยะที่กู่เจิงเริ่มมีการบรรเลง
แบบสองมือ ทำนองเพลงได้มาจากตำนานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งของจีน ชื่อ เหลียงจู้ เนื้อเรื่องมีอยู่
ว่า จู้อิงไถ เป็นลูกเศรษฐีคนนึง พ่อแม่อยากให้เรียนหนังสือ แต่ในสมัยนั้นผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธิ์
เรียนหนังสือ นางจึงปลอมตัวเป็นผู้ชายไปเรียน และเกิดหลงรักเหลียงซานโป๋ ซึ่งเป็นเพื่อน
ร่วมชั้นเรียนและร่วมห้องพักเดียวกัน เมื่อเรียนจบฝ่ายพ่อแม่ของจู้อิงไถนำตัวกลับบ้าน ต่อมา
เหลียงซานโป๋ ได้มาทาบทามสู่ขอจู้อิงไถ แต่พ่อแม่ของจู้อิงไถรังเกียจเพราะเหลียงซานโป๋มี
ฐานะยากจนกว่า จึงพยายามขัดขวาง กระทั่งสั่งให้คนไปทำร้ายเหลียงซานโป๋ ต่อมาพ่อแม่ของ
จู้อิงไถได้ยกลูกสาวให้แต่งงานกับเศรษฐีคนหนึ่ง เหลียงซานโป๋ รู้ข่าวจึงเสียใจมาก ไม่ยอม
เยียวยารักษาตนเองกระทั่งเสียชีวิต วันแต่งงานในระหว่างทางที่ขบวนเจ้าสาวไปบ้านเจ้าบ่าว
นั้นได้ผ่านหลุมฝังศพของเหลียงซานโป๋ ทันใดนั้นก็เกิดอาเพศ พายุพัดเอาขบวนและผู้คนที่
มาพร้อมขบวนกระจัดกระจายกันไปหมด จู้อิงไถวิ่งไปที่หลุมศพของเหลียงซานโป๋ และเกิด
ปาฎิหาริย์แผ่นดินแยกหลุมศพเปิดออก จู้อิงไถจึงกระโดดลงไปในหลุมศพนั้น เมื่อพายุสงบลง
ปรากฏเป็นผีเสื้อสองตัวบินหยอกล้อเล่นกันออกมาจากหลุมศพ ทำนองเพลงมี 3 ท่อน ท่อนแรกทำนองช้าแฝงด้วยความสุขบรรยายถึงความงดงามความสดชื่นของความรักของคนทั้ง
สอง ท่อนสองทำนองกระชั้น เร่งเร้า เกรี้ยวกราด บรรยายถึงจู้อิงไถต่อต้านและหลบหนีการ
แต่งงาน กระทั่งเกิดปาฎิหาริย์พายุพัด แผ่นดินแยก หลุมศพเปิด จู้อิงไถกระโดดลงไปใน
หลุมศพ ทำนองเพลงในท่อนนี้ก็หยุดชะงัก ท่อนที่สามเริ่มต้นด้วยทำนองช้า แสดงถึงความงาม ความรักและความสุขของผีเสื้อสองตัวที่บินหยอกล้อเล่นกัน
 





                บทความนี้เรียบเรียงและปรับปรุงเนื้อหาใหม่จากบทความเดิมของผู้เขียนเองที่เคยตีพิมพ์ในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2548 ด้วยประสงค์ให้เรื่องราวของ “กู่เจิง” ได้เผยแพร่สู่วงการผู้ศึกษาดนตรีอย่างแท้จริง



เอกสารอ้างอิง
1.     (宋)李 昉等 撰《太平御览》第三册 第五七六卷 乐部 一四 ,中华书局出版,北京,1960年。
2.     哀静芳《民族乐器》。人民音乐出版社,北京,1987年。
3.     张弓 《古筝弹奏指南》。江苏文艺出版社。南京,1989年。
4.     郭雪君《青少年学古筝》上海音乐出版社。上海。1995年。
5.     王天一《古筝教学法上,下卷》。当代中国出版社,北京,1996年。
6.     周望《筝延甲筝曲选》。人民音乐出版社,北京,1999
7.     谢晓滨 姚品文 陈结《古筝艺术与名曲》百花洲文艺出版社。江西。2000
8.     高雁《中国古筝基础教程》长江文艺出版社。武汉。2001年。
9.     郁茜茜 从古筝协奏曲《临安遗恨》的创作成功谈筝乐发展 。南京师范大学。硕士学位论文2002
10.  徐子方(主编)《东南大学学报》曹月 古筝的主要流派与风格特征20027 月,第4卷,第4期。                   
11.  เมชฌ  สอดส่องกฤษ (2548)  ดนตรีจีน กู่เจิง, วารสารศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 .
แหล่งข้อมูลทางอินเทอร์เนต

เชิงอรรถ



[1] ลักษณะการประกอบคำในภาษาจีน คำขยายจะวางไว้หน้าคำที่ถูกขยาย ในกรณีของคำว่ากู่เจิง คำว่า กู่ ซึ่ง
หมายถึงเก่าแก่ โบราณ ขยายคำว่า เจิง ซึ่งเป็นชื่อเรียกเครื่องดนตรี และเมื่อมีคำอื่นที่วางไว้หน้าคำว่า เจิง ทำหน้าที่อย่างเดียวกันกับคำว่า กู่ สามารถตัดคำว่า กู่ ออกแล้วใช้คำที่ต้องการขยายนั้นแทนที่ได้ เช่น หัวเจิง หางเจิง ซึ่งจะพบในบทความนี้ เป็นเหตุผลว่าเหตุใดบางครั้งเรียก กู่เจิง บางครั้งเรียก เจิง คำเดียว
[2] ออกเสียงตามระบบสัทศาสตร์จีนว่า pi2 pa2 เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด คล้ายพิณ ส่วนล่างเป็นรูปทรงรี ส่วนบนมีด้ามติดหย่องเพื่อกำหนดระดับเสียงดนตรี ปลายด้ามงอ  ใช้มือขวาดีดมือซ้ายจับที่ด้ามในลักษณะ
แนวตั้งแนบกับลำตัวด้านซ้ายเวลาบรรเลง
[3] ขลุ่ยผิว เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า บรรเลงโดยวิธีการผิวลม ลักษณะท่าการบรรเลงเป็นแนวขวางกับลำตัว
ต่างกับขลุ่ยไทยที่ใช้วิธีการเป่าลม และลักษณะการบรรเลงเป่าในแนวตั้ง เรียกว่า ตี๋จือ (di2 zi)
[4] ลักษณะคล้ายซอด้วงของไทยแต่ใช้สายลวดเสียงทุ้มกว่าไม่เล็กแหลมเหมือนซอด้วงไทย เรียกว่า เอ้อร์หู (er4 hu2)
[5] หยางฉิน หนังสือประวัติศาสตร์เครื่องสายจีน ของ หลี่ ชุน หลิน (Li Chun Lin)กล่าวว่า หยางฉิน เดิมคำว่า หยาง เขียนด้วยตัวหนังสือที่แปลว่า “ต่างชาติ” เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่รับมาจากต่างประเทศ เครื่องดนตรีชนิดนี้ใน
ศตวรรษที่ 14 นิยมเล่นกันในแถบเปอร์เซีย อิรัก และเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนประเทศจีนเมื่อสมัยหมิงจากนั้นจึงเป็น
ที่นิยมทั่วไปในประเทศจีน ปัจจุบันหยางฉินมีหลายขนาด ตั้งแต่ ขนาดหย่อง 3แถว (อย่างขิมไทย) ขนาด 4 แถว และ 5 แถว ทำด้วยไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดใหญ่กว่าขิมไทย
[6] เครื่องดนตรีทำจากหินบรรเลงโดยการเคาะให้เกิดเป็นเสียง
[7] กู่ฉิน ออกเสียงตามระบบสัทศาสตร์ของจีนว่า gu3 qin2 มี 5 – 7 สาย ไม่มีหย่อง วิธีการบรรเลง วางในแนวราบ
กับพื้นขนานกับลำตัว มือขวาดีด มือซ้ายกดสายลงบนแผ่นไม้เลื่อนไปมาเพื่อบังคับโหยเสียงจากสูงด่ำไปต่ำ จากต่ำ
ไปสูง ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของการโหยเสียง กู่ฉิน จึงมักใช้บรรเลงเพลงในอารมณ์ เชื่องช้า วังเวง สูงส่ง
[8] ชื่อรัฐหนึ่งในสมัยราชวงศ์โจว ปัจจุบันอยู่ตอนกลางในมณฑลส่านซี และตอนภาคตะวันออกของมณฑลกันซู
221 ปีก่อนคริตกาล ได้รวมผืนแผ่นดินแล้วสถาปนาราชวงศ์ฉิน (Qin2) ขึ้น
[9] ราชวงศ์ถัง หลีเยียน (Li Yan)และบุตร หลีซื่อหมิน (Li Shi Min) ได้สถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 618 – 907 ที่นครฉางอาน (Chang An) ปัจจุบันคือเมืองซีอาน (Xi An) ในมณฑลส่านซี
[10] ราชวงศ์สุย หยางเจียน ( Yang Jian ) ได้สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 581 – 618
[11] ราชวงศ์ฮั่นมีสองสมัยคือราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (Qian Han)หรือ ซีฮั่น(Xi Han) ได้สถาปนาขึ้น 206ก่อน คริตกาล ถึง ค.ศ. 25 มีหลิวปัง (Liu Bang) เป็นปฐมกษัตริย์ตั้งเมืองหลวงที่เมืองฉางอัน (Chang An) ปัจจุบันคือเมืองซีอัน(Xi An) ของ มณฑลส่านซี (Shan Xi) และราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (Hou Han)หรือ ตงฮั่น(Dong Han)สถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ.25 ถึง 220
[12] ราชวงศ์ซ่ง มี 2 ช่วง คือ ซ่งเหนือ (Bei Song) สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 690-1127 ตั้งเมืองหลวงที่เมืองเปี้ยนจิน
(Bian Jin) ปัจจุบันคือเมืองไคฟง(Kai Feng) ของมณฑลเหอหนาน(He Nan)  และ ซ่งใต้ (Nan Song) สถานาขึ้นในปี ค.ศ. 1127 – 1279 ตั้งเมืองหลวงที่เมือง หลินอัน(Lin An) ปัจจุบันคือเมืองหังโจว (Hang Zhou)
ของมณฑลเจ้อเจียง (Zhe Jiang)
[13] เป็นยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนชื่อ ชุนชิว (Chun Qiu) เป็นยุค 722 – 481 ก่อนคริตกาล ยุุคประวัติศาสตร์นี้ได้ถูก
บันทึกเรียบเรียงไว้ในพงศาวดารชุนชิว
[14] สมัยซานกว๋อ หรือสามก๊ก เป็นสมัยที่สามรัฐสถาปนาขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันคือ รัฐ เว่ย (Wei) ค.ศ.220 – 265 รัฐสู่ (Shu) ค.ศ.221 – 263 และรัฐอู๋ (Wu) ค.ศ. 222 - 280
[15] ราชวงศ์หมิง(Ming) เป็นชื่อราชวงศ์ของ จูหยวนจาง(Zhu Yuan Zhang) สถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ.1368 – 1644 ตั้งเมืองหลวงที่เมืองหนานจิง (Nanjing) ต่อมาในรัชสมัย หยงเล่อ (Yong Le) ได้ย้ายไปตั้งเมืองหลวงที่ปักกิ่ง
[16] ในภาษาไทยใช้คำว่า ขิม ซึ่งเดิมทีในภาษาจีนหมายถึง เครื่องดนตรีและอีกความหมายหนึ่งใช้เรียกเครื่อง
ดนตรีประเภทดีดชนิดหนึ่ง คือ กู่ฉิน (ดูเชิงอรรถที่ 7) แต่ในภาษาไทยใช้เรียกเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่ใช้ตี
ว่า ขิม เครื่องดนตรีชนิดนี้ในภาษาจีนเรียกว่า  หยางฉิน จึงทำให้เกิดความสับสนในกลุ่มนักดนตรีไทย ในเรื่องของ
ชื่อเรียก เกิดความสับสนต่อเนื่องในการตีความเรื่อง กู่เจิง กู่ฉิน หยางฉิน และ ขิม เช่น บทร้องเพลงไทยที่นำมาจาก
เรื่องสามก๊กตอนหนึ่งว่า “ขึ้นนั่งยังกำแพงแสร้งตีขิม พยักยิ้มให้ข้าศึกนึกฉงน” มีผู้ตีความว่าไม่น่าจะเป็นตี “ขิม”โดย
ให้เหตุผลว่า ผู้แต่งบทกลอนนี้คงได้ยินคำว่า ตีขิม เพี้ยนมาจากคำว่า คิ้ม ที่หมายถึงเครื่องสายทุกชนิดของจีน
ความจริงแล้วในบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนที่กล่าวถึง เจิง ใช้คำว่า กู่ (gu3)หรือ จี (ji1)  ซึ่งหมายถึงตีก็ได้ และหมายถึงดีดก็ได้ คำว่า ฉิน(ในภาษาจีนกลาง) ขิม(ในภาษาไทย) คิ้ม(ในภาษาแต้จิ๋ว) คิม(ในภาษาเกาหลี) มีที่มาจากรากความหมายเดิมหมายถึง เครื่องดนตรี และอีกประการหนึ่ง  ขิม หรือ หยางฉินที่เป็นเครื่องสายใช้ตีนั้น
เผยแพร่จากเปอร์เซียสู่จีนในสมัยหมิงซึ่งช้ากว่าสมัยสามก๊กถึง 9 ราชวงศ์ จะเห็นได้ว่าในสมัยสามก๊กยังไม่มี หยางฉิน หรือ ที่ภาษาไทยเรียกว่าขิมเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นคำว่า “นั่งยังกำแพงแสร้งตีขิม” จึงควรหมายถึง “ดีดฉิน” นั่นเอง ไม่จำเป็นต้องตีความว่า “ตีขิม” แต่อย่างใด เพราะเมื่อตีความว่า “ตีขิม” ทำให้เกิดการตีความที่หลงทางไป
พ้องกับ ขิม ของไทย และพ้องไปถึง หยางฉิน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย  เพียงแต่ไม่เป็นที่แน่นอนว่า ดีดเจิง หรือดีดเครื่องดนตรีอย่างอื่นเพราะ มีเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า กู่ฉิน ซึ่งเดิมเรียกว่า ว่า ฉิน คำเดียว
ก็ได้้  ในนวนิยายเรื่องสามก๊ก ตอนที่บงเบ้งนั่ง “ตีขิม” (ดีดฉิน) บนกำแพงลวงสุมาอี้นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า กู่ฉิน ดังนั้น ในที่นี้จึงเป็นที่แน่นอนว่าเครื่องดนตรีดังกล่าวคือ กู่ฉิน นั่นเอง และหากดูจากขนาด กู่ฉิน มีขนาดเล็ก ถ้าหากเป็น
กู่เจิง (ขนาดของเส้อในสมัยนั้น) มีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถวางดีดบนตักได้                                                               
[17] เครื่องหมาย หมายถึง เสียงโหยสูงขึ้น ที่เรียกว่า ซ่างฮว๋าอิน ,เครื่องหมาย หมายถึงโหยเสียงจากสูงมาต่ำ
เรียกว่า เซี่ยฮว๋าอิน และเครื่องหมาย * หมายถึง กวา คือ การกรีดไล่เสียงจากสูงไปต่ำหรือจากต่ำไปสูงจนถึงเสียงที่ต้องการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น