วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

เปิดตำนานกลองจีน



     กลองเป็นเครื่องประกอบจังหวะที่มีอยู่ในทุกวงดนตรี ทุกชนชาติ เสียงตีทุ้มกังวานก้องน่าเกรงขาม  ลั่นเสียงรัวเร็วกระชั้นปลุกเร้าชวนให้ฮึกเหิม เสียงหนักแน่นสะกดจังหวะลีลาท่วงทำนองเพลง  เสียงนุ่มนวลแผ่วเบาสม่ำเสมอดั่งมนต์สะกดให้ตกอยู่ในภวังค์อันเยือกเย็นเป็นสมาธิ   เสียงยั่วเย้าหยอกล้อเคล้าคลอเล่นกัน ป๊ะ ตุ้ม ติง ทั่ง สร้างอรรถรสรมย์รื่นชื่นบานสนุกสนานในเทศกาลงานรื่นเริงมงคล  หลากหลายอารมณ์เหล่านี้ หาได้มีเครื่องดนตรีอื่นใดที่จะสามารถบรรเลงได้ลึกซึ้งเสมอเหมือนเท่ากับกลองอีกไม่ บทความนี้เล่าเรื่องราวตำนาน ประวัติความเป็นมาของกลองจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมดนตรีที่เก่าแก่ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการดนตรีของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งในเอเชียและโลก    นอกจากนี้ยังได้แนะนำกลองชนิดต่างๆ ของจีนอีกหลากปลายประเภท    


ประวัติความเป็นมาของกลอง
                กลอง ภาษาจีนออกเสียงว่า กู่มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล นับแต่สมัยฮั่นเป็นต้นมา รูปลักษณ์ของกลองมีมากมายหลากหลาย เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายทั่วไป
                กู่ หรือกลอง มีมาตั้งแต่สมัยบุพกาล เรียกชื่อว่า ถูกู่ (กลองดิน)  จึงสันนิษฐานได้ว่าลำตัวกลองในยุคแรกน่าจะทำจากดินเผา ตกทอดมาจากการที่หวงตี้ทำศึกกับชือโหยวที่เมืองจัวหลู  ปราชัย 9 สมรภูมิ ต่อมาได้รับการสอนจากสตรีชาวหยวนนางหนึ่งให้สร้าง กลองหนังวัว” 80 ใบ ลั่นหนึ่งไม้ดังไป 500 ลี้ ลั่นรัวดังไป 3000 ลี้ ใช้เสียงกลองลั่นพลังอำนาจทหารหาญราญศึก จนในที่สุดก็สามารถสังหารชือโหยวได้สำเร็จ          

     ถูกู่ หรือ กลองดิน土鼓                               กลองหนังจระเข้ 鼍鼓                     กลองโลหะ 铜鼓

                                สมัยโบราณภาษาจีนมีคำเรียกชื่อสัตว์ในตำนานอยู่สองคำ คือ ขุย และ ถัวเป็นคำที่ใช้เรียกได้ทั้งวัวและจระเข้  จากบันทึกกล่าวว่า ขุย รูปร่างเหมือนวัว ใหญ่เท่าสระน้ำ สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ฤดูฝนทุกปีจะคำรามเสียงอันน่าสะพรึงกลัว” 
กล่องข้อความ:            เสวียนกู  กลองแขวน 悬鼓

 ในคัมภีร์ซานไห่จิง (คัมภีร์ภูสมุทร) มีบันทึกไว้ว่า สระสายฟ้ามีเทพสถิต ท่อนบนเป็นมังกร หัวเป็นคน ตีกลางตัวจะเฟื่องฟู”  สัตว์ในเทพนิยายที่ชื่อ ขุยนี้คนโบราณนับถือว่าเป็นเทพอัศนีและเทพแห่งคีตดนตรี
                ความจริงแล้วสัตว์ที่มีชื่อว่า ถัวก็คือจระเข้นั่นเอง ถัวกู่ก็คือกลองที่ขึงหน้าด้วยหนังจระเข้  ในปี 1978 มีการขุดค้นทางโบราณวัตถุที่วัดเซียงเฝินถาว มณฑลซานซี พบกลองหนังจระเข้ที่มีอายุราวปลายยุคหินใหม่ มีอายุราว 4000 ปี  ตัวกลองทำจากไม้  ด้านนอกวาดลวดลายต่างๆ ขึงหน้าด้วยหนังจระเข้  สูงประมาณ 1 เมตรเศษ เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4 เมตร หน้าอีกด้าน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร ตอนที่ขุดออกมา หน้ากลองยุ่ยสลายแล้ว แต่ภายในลำตัวกลองยังคงพบเศษ และร่องรอยของหนังจระเข้หลงเหลืออยู่
  นับแต่สมัยซางเป็นต้นมา กลองมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ในปี 1977 การขุดค้นทางโบราณคดียุคราชวงศ์ซางตอนปลายถึงต้นราชวงศ์โจวตะวันตก ที่เมืองฉงหยาง มณฑลหูเป่ย พบกลองโลหะ  คาดว่าเลียนแบบมาจากกลองหนังจระเข้  รูปทรงคนโท  วาดลวดลายชัดเจน สวยงาม 
ปี 1960 และปี 1975 การขุดค้นทางโบราณคดี ที่เนินเสียงหยวิน และเขื่อนฉู่สีโหยง    มณฑลหยวิน หนาน พบโบราณวัตถุเป็นกลองโลหะยุคจ้านกว๋อ 16 รายการ นับเป็นกลองโลหะของชนกลุ่มน้อย
ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
                ต่อมากลองมีพัฒนาการมากขึ้น มีการสร้างชั้นวางกลอง ฐานกลองเป็นรูปทรงต่างๆ  การประดับประดาลำตัวกลองด้วยขนนก  การใช้หนังสัตว์อื่นๆ ขึงเป็นหน้ากลอง  เช่นกลองที่ทำฐานวางเป็นรูปเสือ รูปนกที่ขุดพบจากสุสานฉู่หมายเลข 1  นอกจากนี้ยังมีกลองแขวนที่ขุดได้จากสุสานเจิงโห้วอี่ เป็นต้น    
กลอง ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคบุพกาล นับตั้งแต่ยุคฮั่นเป็นต้นมา รูปร่างของกลองมีความหลากหลาย  และใช้อย่างกว้างขวางในหลาย ๆ รูปแบบ  เป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไป วงปี่กลองที่เกิดขึ้นในยุคฮั่น  ทำให้กลองมีบทบาทที่สำคัญขึ้นมาก  คริสต์ศตวรรษที่ 4  ปรากฏมีกลองชนิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น กลองเอว กลองหนีบ กลองเผ่าเจี๋ย  กลองต๋าปู่เป็นต้น
ในวงเครื่องเก้าของราชวงศ์สุย และวงเครื่องสิบของราชวงศ์ถังใช้กลองหลากหลายชนิดมาก เช่น กลองเจี๋ย กลองเหยียน หลองตูถาน กลองเหมาหยวน กลองต๋าซี  กลองจีโหลว  กลองเหลียนและกลองฝูเป็นต้น  ในยุคนี้จึงเกิดศิลปินนักลั่นกลองขึ้นมากมาย
ถึงสมัยซ่ง กลองมีบทบาทสำคัญที่ขาดเสียมิได้ในดนตรีทุกชนชั้น   ในยุคเดียวกันนี้เอง บริเวณทางตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏมีกลองของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมาก ชื่อ กลองชงกู่ หรือ เหนากู่  เป็นกลองที่เวลาบรรเลงต้องใช้โคลนแดงพอกที่หน้ากลองแล้วตี เป็นกลองประจำเผ่าของชนเผ่าเย้า นับจากสมัยหมิงและชิงเป็นต้นมา การดนตรีของชนเผ่าและดนตรีพื้นเมืองต่างๆรุ่งเรืองมาก เครื่องจังหวะอย่างกลองก็พัฒนาขึ้นตามไปด้วย
ในสมัยโบราณ กลองมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบรรเลงในพิธีบูชาอันศักดิ์สิทธิ์  หรือการบรรเลงเพื่อการรื่นเริง ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพลังอำนาจในการออกศึกสงคราม  ถือเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องบอกเวลา รวมถึงตั้งไว้หน้าศาลเพื่อให้ประชาชนตีกลองร้องทุกข์อีกด้วย  คนโบราณนิยมเสียงกลองว่าเป็นเสียงที่มีความเอิกเริก ยิ่งใหญ่  เมื่อสังคมพัฒนาเจริญมากขึ้น บทบาทหน้าที่ของกลองก็ใช้กว้างขวางมากขึ้น การดนตรี การละคร การละเล่น การแข่งขัน การเฉลิมฉลองล้วนต้องมีเสียงกลองเป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งสิ้น

กลองจีนประเภทต่างๆ
                กลองของจีนในปัจจุบันมีรูปแบบ ลักษณะและการใช้งานหลากหลายมาก ได้แก่ 腰鼓เยากู่ (กลองเอว)     狼涨 หลางจ่าง (กลองยาว) 渔鼓หยวีกู่  (กลองประมง) 羯鼓เจี๋ยกู่ (กลองเผ่าเจี๋ย)  点鼓เตี๋ยนกู่  (กลองเคาะ) 同鼓ถงกู  (กลองตุ้ม)      排鼓   ผายกู่ (กลองแถว) 战鼓     จ้านกู่ (กลองศึก) 花盆鼓ฮวาเผินกู่  (กลองกระถาง)大堂鼓ต้าถังกู่ (กลองท้องพระโรง)书鼓  ซูกู่  (กลองขับลำ) 板鼓  ป๋านกู่ (กลองกระดาน)琴鼓ฉินกู่ (กลองพิณ) ดังจะได้อธิบายรายละเอียดต่อไปนี้

กลองหลางจ้าง狼涨  
                กลองหลางจ้าง  เรียกอีกชื่อว่า กลองหลางกู่ นิยมแพร่หลายแถบมณฑลฝูเจี้ยน  เดิมทีเป็นกลองในกลุ่มกลองเอวแคบ  รูปร่างเหมือนกับกลองยาวของเกาหลี  และกลองเฟิงกู่ของชนกลุ่มน้อยเผ่าจ้วง  ลำตัวกลองทำด้วยไม้  ความยาว 70 เซนติเมตรโดยประมาณ  ตรงกลางคอดเล็ก ปลายทั้งสองด้านเป็นส่วนของปากกลองบานกว้างออก ภายในกลวงทั้งลำตัว หน้ากลองทั้งสองด้านขึงด้วยหนังวัว  เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง 30 เซนติเมตร ใช้ห่วงโลหะเป็นตัวยึดหน้ากลอง  ใช้เชือกขึงรั้งหน้ากลองทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน  ใช้ไม้หรือมือตีกลอง  นิยมบรรเลงในวงดนตรีพื้นเมือง หลงชุยของมณฑลฝูเจี้ยน วงดนตรีฝูโจวสือฟาน และใช้ประกอบการแสดงอุปรากรพื้นเมืองฮกเกี้ยน

กลองเตี๋ยนกู่ 点鼓
          กลองเตี๋ยนกู่  เรียกอีกชื่อว่า หวายกู่ นิยมแพร่หลายแถบเมืองซูโจว หนานจิงในช่วงคริตศตวรรษที่ 16  รูปร่างกลมแบน  ขอบกลองทำจากไม้เซ่อมู่หรือไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ  ส่วนกลางป่องขึ้นเล็กน้อย ริมขอบกลองต่ำลง  เส้นผ่าศูนย์กลางกลอง 18 เซนติเมตร หน้ากลองขึงด้วยหนังวัวทั้งสองด้าน ใช้หมุดย้ำขอบหนังกับตัวกลองให้แน่น ไม้ตีทำเป็นด้ามยาว เรียว ทำจากไม้แดงหรือไม้ไผ่
                การบรรเลง ผู้ตีวางกลองในแนวตั้งไว้บนเข่าขวา  หันหน้ากลองไปด้านหน้า  ใช้อุ้งมือขวาประคองกลองด้านบนให้มั่น  ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางตีกระทบบริเวณริมกลอง  ส่วนมือซ้ายถือไม้ตีเป็นจังหวะ  ใช้ประกอบการบรรเลงกลองสิบหมู่  การขับเพลงคุนซาน  เวลาบรรเลงจะตีจังหวะละครั้งเพื่อเป็นการควบคุมจังหวะการขับลำ
               
กลองเอว腰鼓
                                กลองเอว ตำนานกล่าวว่ามีพัฒนาการมาจากกลองเผ่าเจี๋ย เริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายในคริสตศตวรรษที่ 4  ในสมัยถังใช้กลองเอวในกิจกรรมต่างๆ กัน จึงมีชื่อเรียกต่างกันไปด้วย ที่เรียกว่ากลองเอว เพราะเวลาตีจะแขวนไว้ที่เอว บ้างเรียกว่า เจิ้งกู่ (กลองตรง) หรือเรียกว่าเหอกู่ (กลองคู่)  ในสมัยหมิงและชิง การละเล่นพื้นเมืองหลายแห่งล้วนนิยมใช้กลองเอวประกอบ เช่น ฟ่งหยางฮวากู่ (กลองดอกไม้ฟ่งหยาง)  ฮวากู่เติง (โคมไฟกลองดอกไม้) ฮวากู่ซี่ (ละครกลองดอกไม้)  ล้วนใช้กลองเอวประกอบทั้งสิ้น และเริ่มพัฒนารูปร่างเป็นมาตรฐานอย่างในปัจจุบัน
                                รูปร่างกลองเอวเป็นรูปทรงกลมรี อ้วนกลาง ปลายทั้งสองด้านคอด  ปากทั้งสองข้างขึงด้วยหนัง ลำตัวกลองฝังห่วงสองวง เป็นที่สำหรับร้อยเชือกแขวนไว้ที่เอว มือสองข้างถือไม้ตีสลับกันเป็นจังหวะ มีเสียงดังกังวาน ใช้เป็นทั้งเครื่องให้จังหวะและเป็นอุปกรณ์ในการเต้นรำในคราวเดียวกัน สร้างบรรยากาศครึกครื้น สนุกสนานรื่นเริง

กลองประมง渔鼓
                  กลองหยวีกู่  เรียกอีกชื่อว่า จู๋กู่(กลองไม้ไผ่) หรือ เต้าถ่ง  เครื่องดนตรีชนิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยซ่งใต้  กลองหยวีกู่ในปัจจุบันทำจากกระบอกไม้ไผ่ มีขนาดความยาว 65 100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร ปลายกระบอกคลุมด้วยหนังหมูหรือหนังวัว เวลาบรรเลงมือซ้ายถือกลอง มือขวาตี เป็นเครื่องดนตรีประกอบศิลปะ การแสดงพื้นเมืองหลายชนิดเช่น เต้าฉิง(เพลงเต๋า)  หยวีกู่ (เพลงหยวีกู่) และจู๋ฉิน(ระนาดไม้ไผ่)  

กลองเจี๋ยกู่羯鼓
  กลองเจี๋ยกู่  เดิมทีเป็นที่นิยมแถบภาคตะวันตกของจีน เผยแพร่เข้าสู่ตอนกลางของประเทศจีนในยุคหนานเป่ย  ในสมัยถังเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญมาก ลำตัวกลองวางไว้บนชั้นไม้ตามแนวขวางกับผู้ตี  ใช้ไม้ตีกลองทั้งสองหน้าให้เกิดเสียง  สามารถตีจังหวะรัวได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นเครื่องดนตรีหลักที่สำคัญที่สุดในวงดนตรีกุยจือ (กุยจือเป็นชื่อเมืองโบราณทางภาคตะวันตกของจีน  ปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองเวยอูร์  ภาษาบาลีเรียกชื่อเมืองนี้ว่า Kucina)  ในสมัยราชวงศ์ถัง พระเจ้าถังเสวียนจงเชี่ยวชาญการตีกลองเจี๋ยกู่มาก เวลาซ้อมแต่ละครั้ง ตีกลองแตกไปหลายใบ 
                               
กลองถงกู่ 同鼓
                กลองถงกู่  เป็นกลองขนาดใหญ่ที่นิยมใช้แพร่หลายทั่วไป  จัดเป็นหนึ่งในกลองถังกู่ (กลองท้องพระโรง)  นิยมแถบเมืองซูโจว หนานจิง  กลองถงกู่รูปทรงกระบอกป่องกลางรอบเอว สูง 60 เซนติเมตร  นิยมทำจากไม้ชุนมู่ (ไม้ต้นสวรรค์จีน) ไม้เซ่อ  ไม้ฮว่า หรือไม้หยาง ขึงหน้าด้วยหนังวัวทั้งสองข้าง เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลองยาว 50 เซนติเมตร กลางลำตัวกลองฝังห่วง 3 ห่วง  ใช้ร้อยสายยึดกับชั้นวาง หรือใช้แขวน
                การบรรเลง จะวางกลองไว้บนชั้นไม้สามขา  ใช้ไม้ตีสองด้าม ทำจากไม้แดงหรือไม้เนื้อแข็งชนิดอื่น ๆ  ใช้บรรเลงประกอบดนตรี การแสดง การละเล่นพื้นเมือง รวมไปถึงเทศกาลรื่นเริงต่างๆ  บรรเลงร่วมกับโหม่งและกลองอื่นๆ เพื่อสร้างบรรยากาศครึกครื้น ในการบรรเลงประกอบวงกลองโหม่งสามารถใช้วิธีแขวนกับตัวผู้บรรเลง  การตีมีวิธีการและจังหวะที่หลากหลาย เช่น ตีเดี่ยว ตีคู่ ตีรัว ตีกด ตีกลางหน้ากลอง ตีริม ตีขอบ ตีไล่รัวจากใจกลางกลองขยายออกริมเป็นต้น เทคนิควิธีการตีที่แตกต่างกันนี้สามารถให้เสียงที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันมากมาย
                ในวงกลองประสมสิบหมู่ ชื่อภาษาจีนเรียกวา สือฟานกู่หรือเรียกอีกชื่อว่า สือฟานหลัวกู่ (วงกลองโหม่งสิบหมู่) กลองถงกู่และกลองป่านกู่ใช้ผู้บรรเลงคนเดียวตีกลองสองใบ  วิธีการตีล้ำลึกยิ่งนัก จังหวะหนักหน่วง แผ่วเบา รัวกระชั้น จนเป็นจังหวะที่เป็นแบบแผนของการตีกลองที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 กลองผายกู่  排鼓
กลองผายกู่  หรือกลองชุด เป็นกลองที่สร้างขึ้นใหม่ที่สุดของจีน  นับจากหลังจากยุคปลดปล่อยเป็นต้นมา ช่างผลิตเครื่องดนตรีของจีนได้ศึกษาวิจัยเครื่องดนตรีทั้งในและต่างประเทศมากมาย  และสร้างกลองชุดขึ้นมาโดยได้รูปแบบมาจากกลองต้าถังและกลองเอว รูปร่างสวยงาม เสียงที่ได้ไพเราะหลากหลาย  แต่ยังคงเอกลักษณ์เสียงดนตรีของจีนไว้ เป็นที่นิยมชมชอบในวงการดนตรีจีนทั่วไป ใช้ประกอบการบรรเลงเครื่องดนตรีอื่นๆ ใช้ประกอบการละเล่นพื้นเมือง การเต้นรำ ตลอดจนในสถานบันเทิงสมัยใหม่ก็นิยมใช้บรรเลงดนตรีปัจจุบันด้วย
กลองชุดปกติแล้วประกอบด้วยกลองขนาดเล็กใหญ่ที่มีเสียงสูงต่ำต่างกันจำนวน 5 ใบ  เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลองบนล่างเท่ากันทั้งสองหน้า ตรงกลางลำตัวอ้วน กลองแต่ละใบมีเสียง 2 เสียงต่างกัน กลอง 5 ใบสามารถตีเสียงที่แตกต่างกันได้ถึง 10 เสียง   ที่หน้ากลองแต่ละหน้ามีชุดปรับเสียง ซึ่งสามารถปรับได้สี่ถึงห้าเสียง และยังสามารถปรับเสียงตามความต้องการใช้งานได้อีกด้วย  ตัวกลองวางไว้บนชั้นที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ ด้านบนเป็นแอ่งวางกลอง ด้านล่างทำเป็นขาสามแฉก สามารถยกสูง หดต่ำได้  ในการบรรเลงจะวางกลองเรียงเป็นหน้าเดียว  หรือเป็นรูป    บ้างตั้งเป็นรูปครึ่งวงกลม  หน้ากลองเอียง 15 45 องศาหา ผู้ตีสามารถยืนตี นั่งตี  ตีข้าง ตีเอียง  สามารถตีรัว ตีสลับกลองแต่ละตัวได้
เสียงกลองชุดให้ความรู้สึกร้อนแรงฮึกเหิม หนักแน่น  เสียงต่ำและกลางฟังดูยิ่งใหญ่มีพลัง อันเป็นเอกลักษณ์ของเสียงกลองต้าถัง ซึ่งกลองชุดยังคงรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี  แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงนุ่มนวล ฟังสบาย  ด้วยเหตุที่มีเสียงที่หลากหลาย จึงเหมาะอย่างยิ่งในการนำไปใช้ในวงดนตรีพื้นเมืองขนาดใหญ่  เหมาะสำหรับการบรรเลงเพื่อสร้างบรรยากาศที่ครึกครื้น โอ่อ่า ยิ่งใหญ่และเร่าร้อน

กลองจ้านกู่ 战鼓
กลองจ้านกู่  รูปร่างภายนอกเหมือนกับกลองใหญ่  แต่ลำตัวกลองเตี้ยและสั้นกว่า จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า กลองแบนภาษาจีนออกเสียงว่า เปี๋ยนกู่  มีเสียงต่ำกว่ากลองถังกู่ แต่ก้องกังวานกว่า ในอดีตใช้เป็นเครื่องดนตรีในศาสนา  ปี ค.ศ. 1723 คือช่วงที่สร้างพระราชวังยงเหอ  ได้เก็บรักษากลองแบนไว้ 1 ลูก หน้ากลองขนาดกว้าง 1 มตร ลำตัวสูงเพียง 20 เซนติเมตร  ปัจจุบันใช้ประกอบการดนตรี การละเล่น เต้นรำพื้นเมือง รอบกองไฟ  กายกรรม และวงโหม่งกลอง 

กลองฮวาเผินกู่花盆鼓
                กลองฮวาเผินกู่  ด้วยรูปร่างที่มีหน้ากลองกว้าง ปลายกลองแคบลักษณะคล้ายกับกระถางดอกไม้ จึงตั้งชื่อกลองนี้ว่า กลองกระถางดอกไม้  (คำว่าฮวาเผินในภาษาจีนหมายถึงกระถางดอกไม้) บ้างก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หนานถังกู่นอกจากนี้ยังมีบางแห่งที่รูปร่างเหมือนอ่างจึงเรียกชื่อว่า กลองอ่างก็มี (ภาษาจีนออกเสียงว่า กังกู่) ปัจจุบันนิยมใช้ประกอบการแสดงงิ้วปักกิ่ง การระบำ ละเล่นพื้นเมืองทั่วไป และใช้ประกอบการบรรเลงเครื่องดนตรีต่างๆ
                ลำตัวกลองสูง 60 เซนติเมตร หน้ากลองด้านบนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 57 เซนติเมตร  ส่วนหน้ากลองด้านล่างเล็กลงครึ่งหนึ่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 28.5 เซนติเมตร รอบลำตัวกลองวาดรูปศิลปะพื้นบ้านด้วยสีทอง กลองวางไว้บนชั้นทำด้วยไม้ที่มีรูปร่างเหมือนกับลำตัวกลอง นิยมทำจากไม้ชุนมู่ (ไม้ต้นสวรรค์จีน)  ไม้หยางมู่ และไม้หลิว  หน้ากลองขึงด้วยหนังควาย  แต่ที่นิยมใช้เป็นหนังกลองด้านบนคือหนังบริเวณหลังควาย การบรรเลงกลองกระถางดอกไม้นี้ใช้ไม้ตีลงที่หน้ากลองด้านบน เสียงกลองทุ้มลึก หนักแน่น  แต่นุ่มนวลกว่ากลองถังกู่  และยังสามารถตีให้เกิดเสียงสูงต่ำต่างกันได้อีกด้วย      
กลองต้าถัง大堂鼓
               กลองต้าถัง  เป็นกลองในกลุ่มขนาดกลางที่ใหญ่ที่สุด ลำตัวกลองนิยมทำจากไม้ชุนมู่ ไม้เซ่อมู่ ไม้ฮวามู่ และไม้หยางมู่  เนื่องจากหน้ากลองมีความกว้างมาก นิยมใช้หนังวัวหรือหนังควายขึงหน้ากลองทั้งสองหน้า  หน้ากลองทั้งสองด้านมีขนาดเท่ากัน การบรรเลงวางกลองไว้บนขาตั้งที่ทำด้วยไม้ ใช้ไม้กลองที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งตีให้เกิดเสียง เสียงกลองโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ ทุ้มลึก ใช้บรรเลงวงดนตรีต่างๆ การเต้นรำ และการแสดงพื้นบ้านทั่วไป และที่สำคัญใช้เป็นกลองหลักชิ้นหนึ่งในวงโหม่งกลอง
ในสมัยโบราณ กลองที่มีขนาดใหญ่มีไว้สำหรับตีบอกเวลา ใช้ในการบูชา พิธีกรรมและการทหาร กลองที่ใช้ตีบอกเวลาเรียกชื่อว่า เจี้ยเฉินกู่ (กลองเฝ้าอรุณ) มักตั้งไว้บนหอกลองสูง  ดังเช่นกลองที่อยู่บนหอกลองที่ปักกิ่งสร้างในสมัยราชวงศ์ชิง ใช้เพื่อตีบอกเวลามาตรฐาน เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง 1.5 เมตร ด้วยขนาดของกลองที่มีขนาดใหญ่นี่เอง จึงได้รับขนานนามว่า ราชาแห่งกลอง  การบอกเวลาในทุก ๆ ชั่วยามในเวลากลางคืน เสียงกลองบนหอกลองรัวดังกระหึ่ม  เสียงต่ำทุ้มและหนักแน่นของกลองดังกึกก้องไปทั่วทั้งเมือง จนกระทั่งปี 1915 เกิดมีนาฬิกาขึ้นใช้บอกเวลา  หอกลองและกลองจึงกลายเป็นเพียงตำนานและพิพิธภัณฑ์ที่รอคอยการมาเยือนของผู้คนเท่านั้น ที่แท่นฟ้าเทียนถาน ณ กรุงปักกิ่ง  ก็มีกลองใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงเก็บรักษาไว้  ขนาดกลองมีหน้ากว้าง 1.5 เมตร สูง 2 เมตร  ใช้ตีในพระราชพิธีบวงสรวงของฮ่องเต้เท่านั้น
ไม้กลองทำจากไม้เนื้อแข็งด้ามใหญ่  การบรรเลงใช้ไม้ตีลงบนหน้ากลอง ตีลงกลางหน้ากลองให้เสียงต่ำและหนัก  หากตีเข้าขอบไปเรื่อยๆ เสียงจะค่อยๆ แหลมขึ้นแต่แข็งแกร่งและหนักแน่น  ด้วยเหตุนี้การบรรเลงกลองใหญ่ชนิดนี้จึงใช้วิธีการตีหลายๆ จุดเพื่อสร้างเสียงที่หลากหลาย วิธีการตีก็มีหลายรูปแบบ เช่น ตีเดี่ยว ตีคู่ ตีรัว ตีเก็บ ตีกด ตีอุด ตีเขย่าเป็นต้น หน้ากลองที่มีขนาดใหญ่สามารถตีเสียงตั้งแต่เบาจนถึงหนักได้อย่างชัดเจน แสดงออกถึงพลังอันมหาศาล สร้างบรรยากาศและประกาศศักดาก้องกังวานไกล เสียงกลองกลมกลืนกับเครื่องดนตรีและวงดนตรีอื่นๆ ได้อย่างดี ใช้เติมเต็มเป็นเครื่องดนตรีกลุ่มเสียงต่ำในวงดนตรีขนาดใหญ่ สามารถใช้ลั่นบรรเลงเดี่ยวก็ได้ และในการแสดงละครยังใช้เป็นเสียงสัญลักษณ์แทนเสียงฟ้าผ่า และพลุไฟด้วย

กลองซูกู่书鼓
                กลองซูกู่  ในภาษาจีนคำว่า ซู แปลว่าหนังสือ กู่ แปลว่ากลอง ชื่อกลองชนิดนี้ได้มาจากการใช้งานของกลองนั่นเอง คือใช้ตีประกอบการขับลำ ซูกู่จึงหมายถึงกลองขับลำ รูปร่างของกลองมีรูปทรงกลมแบน ขึงหนังสองหน้า หน้ากว้าง 22 เซนติเมตร สูง 8.5 เซนติเมตร เสียงต่ำกว่ากลองถังกู่ แต่ดังกังวานกว่า  ใช้บรรเลงประกอบการขับลำ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงภาคเหนือโดยเฉพาะ และยังนิยมใช้บรรเลงประกอบการแสดงพื้นเมืองในหลายๆ ท้องที่อีกด้วย   ใช้ไม้ตีด้ามยาวอันเดียว ตีลงบนหน้ากลองให้เกิดเสียงดัง กลองซูกู่วางไว้บนชั้นไม้ที่ทำเป็นขาสูง มักใช้ร่วมกับแผ่นฮวาหลี(เครื่องประกอบจังหวะลักษณะเป็นแผ่นใช้ตีกระทบกันให้เกิดเสียง)  ผู้แสดงขับลำมือซ้ายถือฮวาหลี มือขวาถือไม้ตีกลอง
                               
กลองป๋านกู่板鼓
กลองป๋านกู่  นิยมใช้บรรเลงร่วมกับพายป่าน (กรับ) โดยใช้ผู้บรรเลงคนเดียวกัน มือหนึ่งตีกลอง มือหนึ่งเขย่ากรับ จึงเรียกกลองนี้ว่า ป๋านกู่ ตามชื่อพายป่าน  นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นอีก เช่น ตันผี หมายถึง หน้าเดียว เนื่องจากเป็นกลองที่ขึงหนังหน้าเดียว  หรือชื่อ ปานกู่ เพราะแต่เดิมใช้ในละครที่เรียกชื่อว่า ซี่ปาน ใช้เป็นกลองหลักนำในวงดนตรีประกอบการแสดงของจีน เริ่มมีใช้ในสมัยราชวงศ์ถัง ในวงดนตรีชิงเยว่ ในขณะนั้นเรียกชื่อว่า เจี๋ยกู่(กลองจังหวะ)
รูปร่างกลองป๋านกู่มีลักษณะเด่นพิเศษ มีเสียงดังกังวานพัฒนาขึ้นพร้อมๆกับศิลปะการ แสดงในสมัยหมิงและชิง  สืบทอดมาจนปัจจุบัน  นิยมใช้ทั่วไปในวงดนตรีประกอบการแสดงพื้นเมืองต่างๆ เช่น การขับลำเพลงคุนซาน (คุนฉวี่)  อุปรากรปักกิ่ง  อุปรากรผิงจวี้  อุปรากรกวางตุ้ง อุปรากรฮั่นจวี้  เพลงขับลำเหอเป่ย  เพลงขับลำซานตง  เพลงขับลำส่านซี  ทั้งยังสามารใช้บรรเลงเดี่ยว เช่น วงดนตรีเครื่องเป่า เครื่องตีของเมืองซูโจว หนานจิง  หน้าที่ในวงดนตรีของกลองชนิดนี้คือเป็นตัวนำหรือเคาะจังหวะหลักของเพลง  ใช้ในการแสดงงิ้วปักกิ่ง เมื่อตัวแสดงออกเวที การขับร้อง  การเปลี่ยนฉาก นอกจากจะประโคมด้วยเครื่องดนตรีอื่นๆแล้ว จำเป็นต้องใช้กลองป๋านกู่ เคาะบรรเลงร่วมกับพายป่าน(กรับ) เป็นจังหวะล้อไปกับกลอง โหม่ง สร้างบรรยากาศและใช้เป็นสัญลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัว
ป๋านกู่เป็นกลองหน้าเดียวที่มีขนาดเล็ก สั้น ลำตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เซ่อมู่  ไม้ฮวามู่ ไม้หวายมู่ ไม่ซังมู่ ไม้โย่วมู่  โดยใช้ไม้แผ่น 5 แผ่นประกบกันเป็นตัวกลอง  เส้นผ่าศูนย์ กลางหน้ากลอง 25 เซนติเมตร ส่วนที่ตีแล้วเกิดเสียงกลองคือบริเวณ 5 10 เซนติเมตรจากศูนย์ กลาง  อกกลองเป็นรูป   ขอบกลองสูง 3.5 เซนติเมตร ขึงหน้ากลองด้วยหนังวัว คลุมทั้งหน้ากลองมาจนถึงขอบด้านล่างของกลอง  ส่วนอกกลองที่ขึงหนังเป็นบริเวณที่ตีให้เกิดเสียง  เสียงสูงหรือต่ำของกลองป๋านกู่ขึ้นอยู่กับขนาดของกลอง  และความตึงหรือหย่อนในการขึงหน้ากลอง  เพื่อรักษาความตึงของหนัง จึงใช้หมุดยึดหนังจำนวนมาก  ด้านล่างของกลองยังมีเหล็กม้วนยึดอีกชั้นหนึ่ง
การบรรเลงกลองป๋านกู่ แขวนกลองไว้บนชั้น หน้ากลองอยู่ในแนวขนานราบกับพื้น  ใช้ไม้ตีทรงเรียวที่ทำด้วยหวายหรือไม้ไผ่  บริเวณกลางกลอง ขอบกลองให้เสียงแตกต่างกัน ไม้ที่ใช้ก็มีส่วนทำให้เสียงกลองที่ได้มีความแตกต่างกันด้วย    

กลองพิณ琴鼓
กลองพิณ คือกลองไม้ไผ่ที่สามารถบรรเลงทำนองเพลงได้   เป็นเครื่องดนตรีที่ได้แบบอย่างมาจากพิณไม้ไผ่ที่เป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นของคณะดนตรีพื้นเมืองเสฉวน  ประกอบขึ้นด้วยกระบอกไม้ไผ่ 16 ท่อน (บางที่ใช้ท่อพลาสติกก็มี)  บนกระบอกไม้ไผ่แต่ละท่อนคลุมด้วยหนังวัวหรือหนังแกะ มัดไว้ที่ปากกระบอกไม้ไผ่   กระบอกไม้ไผ่แบ่งเป็น 2 ชุดแขวนไว้บนชั้น 2 แถว การบรรเลง ผู้บรรเลงถือไม้ตีทรงเรียวสั้นตีลงบนหนัง มีเสียง เร ฟา1   รวมทั้งหมด 16 เสียง เสียงที่ได้นุ่มนวล ชัดเจน  สามารถใช้เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงทำนอง  และใช้เป็นเครื่องจังหวะก็ได้   
                กลองนับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่มีวิวัฒนาการมาแต่ดึกดำบรรพ์ และยังคงดำรงอยู่คู่กับวัฒนธรรมของชนทุกชาติทุกภาษามาจนปัจจุบันมิสูญหาย มีพัฒนาการก้าวหน้าเรื่อยมาทั้งวัสดุที่ใช้  การประกอบ รูปร่าง การบรรเลง  แม้ไม่ใช่เครื่องดนตรีที่ดำเนินทำนอง ไม่ได้เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอก แต่ความสำคัญของกลองก็มิได้ลดน้อยด้อยไปกว่าเครื่องดนตรีอื่นใดเลย ทั้งมีบทบาทสำคัญดุจลมหายใจของวัฒนธรรมดนตรีแห่งมวลมนุษยชาติ
บรรณานุกรม
高厚永《民族器乐概论》台北:丹青图书有限公司,1986
简裝本《中华乐器大典》北京:民族出版社,2002
民族音乐研究所《中国历代乐器说明》(附图片)北京:中央音乐学院,1956
    《中国古代音乐史简编》上海:上海音乐出版社,1989
杨荫浏《中国古代音乐史稿》(上、下册)北京:人民音乐出版社,1981
Lee Yuan-Yuan and Shen, Sinyan. Chinese Musical Instruments (Chinese Music Monograph
               Series). Chinese Music Society of North America Press. 1999.
Shen, Sinyan. Chinese Music in the 20th Century (Chinese Music Monograph Series). Chinese
                Music Society of North America Press. 2001. 

1 ความคิดเห็น: