ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา: กรณีศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและ
ภาษาจีน
บทคัดย่อ
บทความนี้ศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทยและภาษา จีน ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษาในทั้งสองภาษาได้แก่ ชนชาติ อารมณ์ความรู้สึก อายุ เพศ สถานภาพทางสังคม เจตนา ความสัมพันธ์ของคู่สนทนา และสภาพแวดล้อม
คำสำคัญ คำเรียกขาน ภาษาไทยและภาษาจีน ภาษาศาสตร์เชิงสังคม ภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ
Factors in Language Selection : A Comparative Study of Thai and Chinese Address Terms
Abstract
This article investigates and compares the factors in language selection in Thai and Chinese language. The result indicates that the factors that affect language selection in both languages are the speaker’s cultural background, emotion, age, gender, social status, purposes, relationship and context.
Keywords: Address Terms, Thai and Chinese, sociolinguistics, comparative linguistics
บทนำ
การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่การศึกษาวิจัยทางภาษาศาสตร์เชิงสังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้คำเรียกขาน เพราะเป็นกลุ่มคำที่มีปัจจัยการเลือกใช้ที่ซับซ้อน แต่ชัดเจน สามารถบ่งชี้เป็นรูปธรรมหรือแสดงผลการวิจัยที่เป็นสถิติได้ กระนั้นก็ตาม เหตุจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้ปัจจัยที่ควบคุมการเลือกใช้คำเรียกขานในแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน ยากที่จะตัดสินได้ชัดเจน การศึกษาเปรียบเทียบเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะศึกษาได้ว่าในการเลือกใช้ภาษามีปัจจัยใดบ้างที่มีอิทธิพลควบคุมอยู่ ในแต่ละสังคมภาษามีหรือไม่มีปัจจัยใดแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ในขณะเดียวกันจากผลของการศึกษาเปรียบเทียบจะสามารถชี้ชัดถึงปัจจัยการใช้ภาษาของทั้งสองภาษาได้อีกด้วย
ทบทวนวรรณกรรม
การศึกษาเรื่องปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาต่างประเทศ งานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัจจัยการใช้ภาษาที่สำคัญคือ การศึกษาด้านภาษาศาสตร์สังคม ของ บราวน์ และ ฟอร์ด (Brown and Ford : 1964) ศึกษาการใช้คำเรียกขานของคนอเมริกัน โดยให้ความเห็นว่าการเลือกใช้คำเรียกขานพิจารณาสถานภาพของตนเองกับผู้ที่พูดด้วย และงานทางภาษาศาสตร์สังคมอีกชิ้นหนึ่งคือ An Analysis of the interaction of Language ของ ซูซาน เออร์วินทริป (Susan Ervin-Trip: 1972) ศึกษาวิจัยคำเรียกขานในภาษาอังกฤษและเสนอกฎภาษาศาสตร์เชิงสังคมคือ “กฎการเลือก” ซึ่งหมายถึงผู้คนในสังคมหนึ่งๆ เมื่อต้องการใช้คำเรียกขานแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของตนและคู่สนทนาเป็นปัจจัยในการเลือกใช้คำเรียกขาน งานวิจัยที่กล่าวถึงการเปรียบเทียบปัจจัยการเลือกใช้ภาษาโดยเฉพาะเรื่องคำเรียกขาน ที่สำคัญคือ งานของ คุก โจเซป โรบินสัน (Cooke Joseph Robinson:1968) ศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทย พม่าและภาษาชนกลุ่มน้อยอื่นๆในเอเชียอาคเนย์พบว่า การใช้คำเรียกขานในภาษาเหล่านี้ต้องคำนึงถึงเพศ อายุ และสถานภาพทางสังคมและสถานการณ์การใช้ภาษา
การศึกษาปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทย ผลงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทยที่สำคัญได้แก่ อังกาบ พลากรกุล (Palagornkul A. :1972) ศึกษาการใช้คำสรรพนามในภาษาไทยกรุงเทพ กัลยา ติงศภัทย์ และ อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint :1986) เรื่อง The Use of Address Terms in Thai during the Ratanakosin โดยจะเห็นว่าเป็นผลงานการศึกษาเรื่องคำเรียกขานที่มีนัยทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือก แต่การศึกษาคำเรียกขานในภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาภาษาในอดีต หรือศึกษาเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถอธิบายถึงวิธีการใช้ และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้คำเรียกขานในสังคมไทยได้
การศึกษาปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาจีน สำหรับในภาษาจีน การศึกษาปัจจัยการเลือกใช้ภาษายังไม่ชัดเจนมากนัก ส่วนใหญ่ปรากฏในการศึกษาเรื่องคำเรียกขาน ซึ่งการศึกษาเรื่องคำเรียกขานในภาษาจีนมักออกมาในรูปแบบพจนานุกรม เช่น พจนานุกรมเอ๋อร์หย่า《尔雅》อธิบายถึงคำเรียกขานในภาษาจีน ความหมาย ตลอดจนวิธีการใช้คำเรียกขานอย่างละเอียด 《称谓录》เป็นพจนานุกรมที่บันทึกคำเรียกขานในสมัยราชวงศ์ชิง แม้แต่ในปัจจุบันนักวิชาการจีนก็ยังสนใจวิจัยคำเรียกขานเพื่อรวบรวมออกมาเป็นรูปแบบของ พจนานุกรม เช่นงานของ หยวนถิงต้ง (袁庭栋:1994) เรื่อง การวิจัยคำเรียกขานของคนโบราณ 《古人称谓漫谈》งานของ จี๋ฉางหง (吉常宏:2000) ชื่อ พจนานุกรมคำเรียกขานภาษาจีน《汉语称谓大辞典》ซึ่งเป็นการรวบรวมและอธิบายความหมายของคำเรียกขาน แต่ไม่ได้ศึกษาถึงการใช้และปัจจัยการใช้คำเรียกขานดังกล่าว
ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยการเลือกใช้ภาษาในภาษาไทยและภาษาจีนโดยเฉพาะนั้นยังไม่มีผู้ศึกษา คงมีแต่การศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับคำเรียกขานภาษาจีนกับภาษาต่างประเทศ เช่น เถียนฮุ่ยกัง (田惠刚:1998) ศึกษา “เปรียบเทียบระบบคำเรียกขานในภาษาจีนกับภาษาตะวันตก” 《中西人际称谓系统》 จินเซวียนตุ้ย (金玄兑:2002) เรื่อง “คำเรียกขานเพื่อการสื่อสารและภาษาสุภาพ” 《交际称谓语和委婉语》เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระบบคำเรียกขานภาษาจีนและภาษาเกาหลี และการศึกษาเปรียบเทียบคำเรียกขานภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ เช่น วิทยานิพนธ์ของจุฑารัตน์ โล่ห์ตระกูลวัฒน์ (2541) เรื่อง “การเปรียบเทียบคำเรียกขานในภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเศส” แต่งานที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมุ่งเน้นศึกษารวบรวมคำที่นำมาใช้เป็นคำเรียกขานเท่านั้น มิได้เน้นศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลในการใช้ภาษาโดยเฉพาะหรือปัจจัยในการเลือกใช้คำเรียกขานดังกล่าว
จุดมุ่งหมายของการวิจัย
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนมี 7 อย่าง ดังจะได้อธิบายแต่ละหัวข้อดังนี้ 1.คำเรียกขานกับชนชาติ 2.คำเรียกขานกับอารมณ์ความรู้สึก 3.คำเรียกขานกับอายุ 4.คำเรียกขานกับเพศ 5.คำเรียกขานกับสถานภาพทางสังคม 6.คำเรียกขานกับเจตนา 7. คำเรียกขานกับความสัมพันธ์ของคู่สนทนา 8. คำเรียกขานกับสภาพแวดล้อม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการการใช้คำเรียกขาน : กรณีศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน
1. คำเรียกขานกับชนชาติ
เป็นที่แน่นอนว่าคำเรียกขานในแต่ละภาษาได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมของชนชาติของตนแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1.1 ระบบคำในภาษา คำเรียกขานได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษา ระบบคำที่แตกต่างกันในแต่ละภาษาทำให้คำเรียกขานแตกต่างกันไปด้วย เช่น ในภาษาไทยมีคำเรียก ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่ไม่แน่ว่าในภาษาอื่นๆ จะแบ่งเป็น 3 ระดับอย่างในภาษาไทย รวมทั้งความหมายแฝงของคำเรียกเหล่านี้ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ในภาษาจีน มีคำเรียกตำแหน่งทางวิชาการนี้เพียง 2 ระดับคือ 教授 “ศาสตราจารย์” และ副教授 “รองศาสตราจารย์” เท่านั้นไม่มีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำเรียกขานที่แบ่งระดับตำแหน่งในภาษาจีนมีเพียง2 ตำแหน่งคือหัวหน้า และรอง เช่น 省长 “ผู้ว่าราชการจังหวัด” 副省长 “รองผู้ว่าราชการจังหวัด” 校长 “อธิการบดี” 副校长 “รองอธิการบดี” 厂长 “หัวหน้าโรงงาน” 副厂长 “รองหัวหน้าโรงงาน” 部长 “หัวหน้าฝ่าย” 副部长 “รองหัวหน้าฝ่าย” แต่ในภาษาไทยกลับแบ่งเป็น3 ระดับ คือตำแหน่งหัวหน้า ตำแน่งรอง และตำแหน่งผู้ช่วย นอกจากนี้ จากตัวอย่างภาษาจีนข้างต้นจะเห็นว่าภาษาจีนใช้คำว่า 长 “หัวหน้า” และ 副 “รอง” ประกอบกับคำที่บ่งบอกหน่วยงานใช้เป็นคำเรียกหัวหน้าและรองหัวหน้าของหน่วยงานนั้นๆ แต่ในภาษาไทยกลับมีคำเรียกเฉพาะ เช่น หัวหน้าของจังหวัดเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าของมหาวิทยาลัยเรียกว่าอธิการบดี หัวหน้าของโรงพยาบาล โรงเรียนเรียกว่าผู้อำนวยการ เป็นต้น ไม่ได้ใช้คำว่า “หัวหน้า” และ “รองหัวหน้า” ประกอบกับคำบอกหน่วยงานเรียกเป็น หัวหน้าจังหวัด หัวหน้ามหาวิทยาลัย หรือหัวหน้าโรงพยาบาล เหมือนอย่างในภาษาจีน
ในกลุ่มคำเครือญาติ การแบ่งเครือญาติในภาษาจีนไทยก็มีความแตกต่างกัน ทำให้คำที่ใช้ต่างกันไปด้วย เช่นคำเรียกญาติในรุ่นเดียวกันกับตนเองในภาษาไทย มี 2 คำคือ “พี่” กับ “น้อง” โดยใช้อายุมากกว่า และน้อยกว่าเป็นเกณฑ์การแบ่ง แต่ในภาษาจีน นอกจากจะใช้เกณฑ์อายุมากกว่าน้อยกว่าแล้ว ยังแบ่งเพศอีกด้วย ทำให้คำเรียกญาติในรุ่นเดียวกันกับตนมี 4 คำ คือ 兄 “พี่เพศชาย” 姐 “พี่เพศหญิง” 弟 “น้องเพศชาย” 妹 “น้องเพศหญิง” ดังนั้นคำว่าพี่ในภาษาไทยรวมความหมาย兄และ姐 ในภาษาจีน และคำว่าน้องในภาษาไทยก็รวมความหมาย 弟และ妹 ในภาษาจีน จากคำเรียกญาติ 4 คำนี้ในภาษาจีนสามารถประกอบกับคำอื่นเป็นคำเรียกขานใหม่ได้มากมาย เช่น 的哥 “คนขับแท็กซี่เพศชาย” 的姐 “คนขับแท็กซี่เพศหญิง” 空姐 “แอร์โฮสเตส” 吧妹 “สาวบาร์”เป็นต้น แต่ด้วยข้อจำกัดที่ในภาษาไทยไม่มีคำเรียกประเภทนี้ เป็นผลให้ต้องยืมคำเรียกบุคคลเหล่านี้มาจากภาษาต่างประเทศ กล่าวคือ โชเฟอร์ แอร์โฮสเตส บาร์เทนดี้เป็นต้น
คำเครือญาติในภาษาจีนส่วนใหญ่เป็นคำซ้ำพยางค์ เช่น 爸爸 “พ่อ” 妈妈 “แม่” 爷爷 “ปู่” 奶奶 “ย่า” 哥哥 “พี่ชาย” 姐姐 “พี่สาว” 弟弟 “น้องชาย” 妹妹 “น้องสาว” การซ้ำคำเหล่านี้ไม่มีนัยทางไวยากรณ์ แต่ในภาษาไทยหากใช้ พ่อๆ แม่ๆ ปู่ๆ ย่าๆ พี่ๆ น้องๆ กลับมีความหมายเป็นพหูพจน์ ในทางกลับกันคำบางคำในภาษาจีนไม่สามารถซ้ำคำเพื่อบอกความหมายเป็นพหูพจน์ได้ แต่คำในความหมายเดียวกันนั้นภาษาไทยกลับซ้ำคำเพื่อบอกพหูพจน์ได้ เช่น เราเรา ท่านท่าน ภาษาจีนไม่พูดว่า 我我 ,你你แต่จะใช้ว่า 我们 “พวกเรา” 你们 “พวกท่าน”
1.2 ศาสนาวัฒนธรรมความเชื่อ วัฒนธรรมทางศาสนาทิ้งร่องรอยไว้ในภาษาไม่น้อย จีนและไทยล้วนได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและพราหมณ์มาตั้งแต่อดีตเช่นเดียวกัน ทำให้คำเรียกขานที่รับมาจากการเข้ามาของศาสนาพุทธในทั้งสองภาษามีใช้อย่างฟุ่มเฟือยเหลือเฟือ เช่น 尼姑 “ภิกษุณี” 和尚 “พระ” 沙弥 “สามเณร” 僧人นักบวช 婆罗门僧สมณะชีพราหมณ์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการนับถือศาสนาพุทธในจีนไม่ได้พัฒนาแพร่หลายอย่างไทย ปัจจุบันศาสนาพุทธ พราหมณ์ หรือศาสนาใดๆ ในจีนดูจะมีบทบาทน้อยลง กระทั่งไม่เคยปรากฏในการใช้ภาษาปกติ เป็นเหตุให้คำที่เคยใช้ในศาสนาก็เลิกใช้และสูญหายไปจากภาษาโดยปริยาย แต่ในขณะที่ภาษาไทย คำเรียกขานที่มาจากศาสนาพุทธพราหมณ์เช่น นาค ลูกแก้ว ทิด ภิกษุ ภิกษุณี พระพรหม วิษณุ พิฆเนศวรเหล่านี้เป็นต้น ยังคงใช้อยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนไทยตามปกติ นอกจากนี้เป็นที่แน่นอนว่าคำเรียกขานจำพวกผีฟ้า ผีปอบ กระสือ กระหัง นางตานี ผีแม่หม้าย ที่เกิดจากความเชื่อและทัศนคติคนไทยย่อมไม่มีคำที่สื่อความหมายที่ตรงกันอยู่ในภาษาจีน
การใช้คำเรียกญาติเรียกบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติดูจะเป็นลักษณะเด่นของภาษาเอเซีย ภาษาไทยและภาษาจีนจีนก็เช่นเดียวกัน วิธีการเลือกใช้คำเรียกญาติเรียกบุคคลที่ไม่ใช่ญาติคือการเทียบเคียงอายุของผู้ถูกเรียกกับญาติตน แล้วจึงเลือกใช้คำนั้นเป็นคำเรียก ในภาษาไทยสามารถใช้คำเรียกญาติเรียกผู้อื่นได้โดยตรงตามข้อกำหนดการเลือกดังกล่าว เช่น ผู้ฟังอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพี่ ป้า น้า อา ตา ยาย ก็สามารถใช้คำเหล่านี้เรียกได้โดยตรง แต่สำหรับในภาษาจีนคำเรียกญาติเมื่อจะใช้เรียกบุคคลที่ไม่ใช่ญาติมักมีส่วนเติมเพื่อแยกแยะออกจากคำเรียกญาติแท้ เช่น 大妈 “แม่ใหญ่” 大爷 “ปู่ใหญ่” 大哥 “พี่ใหญ่ ” 大姐 “เจ๊ใหญ่” 小妹妹 “น้องสาวเล็ก” 小弟弟 “น้องชายเล็ก” 老爷爷 “ปู่แก่” แต่การเติม คำว่า 大 “ใหญ่” 小 “เล็ก” 老 “แก่” เหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกอายุของผู้ถูกเรียก แต่เป็นคำที่ใช้บ่งบอกว่าคำเรียกญาติเหล่านี้ใช้เรียกบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ นอกจากนี้ในภาษาจีนใช้คำเรียกญาติประกอบกับคำเรียกอาชีพเพื่อหมายถึงคำเรียกบุคคลที่ประกอบอาชีพนั้นโดยรวม เช่น 警察叔叔 “คุณอาตำรวจ (หรือเหล่าคุณอาตำรวจทั้งหลาย)” 工人大哥 “คุณพี่คนงาน (หรือเหล่าคุณพี่คนงาน)” 解放军叔叔 “คุณอาทหาร (หรือเหล่าคุณอาทหาร)” แต่ในภาษาไทยหากใช้วิธีเดียวกันนี้เช่น ลุงจ่า อาหมอ แม่หมอ พ่อครู กลับบ่งบอกความสนิทสนมแน่นแฟ้นของคู่สนทนาและบ่งความหมายเป็นเอกพจน์
การใช้คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่งเรียกผู้ฟังเป็นการแสดงความเคารพอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งทั้งภาษาไทยและจีนมีการเรียกในลักษณะเดียวกันและแฝงความหมายอย่างเดียวกัน แต่ในภาษาจีนยังมีรูปแบบคำเรียกขานอีกรูปแบบหนึ่งที่มักประกอบกับคำเรียกอาชีพเพื่อแสดงความเคารพคือการเรียก “นามสกุล + คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง” หรือ “นามสกุล” แต่คำเรียกในลักษณะนี้ไม่มีในภาษาไทย เพราะภาษาไทยไม่ใช้นามสกุลเรียกขานกัน แต่จะเรียก “คำบอกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง + ชื่อ” แทน ซึ่งการใช้คำเรียกขานรูปแบบนี้นอกจากจะแฝงความเคารพแล้ว ยังสามารถแสดงความสนิทสนมกับผู้ฟังไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย แต่ในภาษาจีนการเรียกชื่อบ่งบอกถึงความสนิทสนม ไม่อาจใช้เรียกผู้ที่มีอายุมากว่าหรือสถานภาพสูงกว่าตนได้ มิฉะนั้นจะเป็นการไม่สุภาพและไม่เคารพผู้ฟัง
1.3 คำเรียกขานที่มีอยู่ในภาษาหนึ่งไม่จำเป็นว่าในอีกภาษาหนึ่งจะต้องมีเหมือนกัน ในแต่ละสังคมมีการเมืองการปกครอง มีบุคคลที่ประกอบอาชีพ ตลอดจนการบ่งชี้ถึงบุคคลต่างๆไม่เหมือนกัน คำเรียกขานที่มีอยู่ในภาษาหนึ่งบางครั้งไม่สามารถหาคำแปลที่มีความหมายเดียวกัน ใกล้เคียงกัน หรือคล้ายคลึงกันในอีกภาษาหนึ่งได้ เช่นจีนเป็นประเทศระบอบสาธารณรัฐ มี 主席 “ประธานาธิบดี” เป็นประธานสาธารณรัฐจีน มี 总理เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งคณะรัฐบาลจีน แม้ในภาษาไทยมีคำว่าประธานาธิบดี แต่คนไทยก็ไม่ได้เข้าใจในตำแหน่งหน้าที่และความหมายที่แท้จริงของคำเรียกขานนี้ ในขณะที่คนจีนก็ไม่เข้าใจบทบาทตำแหน่งอำนาจหน้าที่และพระบรมเดชานุภาพของ国王 “พระ มหากษัตริย์” และตำแหน่งอำนาจหน้าที่ของ 总理 “นายยกรัฐมนตรี” ของไทยเช่นกัน
คำเรียกขานในภาษาต่างๆบางครั้งมีตรงกันสามารถแปลได้โดยตรง บ่งชี้ถึงบุคคลเดียวกัน แต่ความหมายที่แฝงอยู่ในคำเรียกขานย่อมแตกต่างกันตามพื้นฐานสังคม เช่น พจนานุกรมจีน-ไทย ไทย-จีน แปลคำว่า 知识分子ว่า “บัณฑิต” แต่ 知识分子 ใช้บ่งชี้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถสูงใช้พลังสมองในการทำงาน ในขณะที่ภาษาไทย “บัณฑิต” มีความหมายถึงผู้มีความรู้ความสามารถเช่นกัน แต่จะใช้ในความหมายที่บ่งชี้ถึงผู้จบหลักสูตรปริญญาตรีเท่านั้น โดยมีคำว่ามหาบัณฑิตสำหรับเรียกผู้จบปริญญาโทและดุษฎีบัณฑิตสำหรับเรียกผู้จบปริญญาเอก
2. คำเรียกขานกับอารมณ์ความรู้สึก
ด้วยเหตุที่สังคมหนึ่งๆประกอบด้วยผู้คนหลากหลายและแตกต่าง ประกอบกับปัจจัยด้านอายุ เพศ สถานภาพของบุคคล ส่งผลให้คำเรียกขานต้องสื่อหรือแฝงความหมายหลายๆด้าน การเรียกขานบุคคลต่างๆในสังคมจึงมีมากมายและสลับซับซ้อน เช่นในภาษาไทย คำเรียกผู้ให้กำเนิดเพศชายมีคำว่า “พ่อ” เป็นคำกลาง “บิดา” เป็นคำสุภาพ “พระชนก” เป็นคำราชาศัพท์ “ป๋า ป่าป๊า” เป็นคำยืมจากภาษาจีนใช้ในภาษาพูด คำเรียกผู้ให้กำเนิดเพศหญิงมีคำว่า “แม่” เป็นคำกลาง “มารดา”เป็นคำสุภาพ “พระชนนี” เป็นคำราชาศัพท์ “หม่าม้า” เป็นคำยืมจากภาษาจีนใช้ในภาษาพูด คำในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน คำที่เรียกผู้ให้กำเนิดเพศชาย เช่น 爸爸“พ่อ” เป็นคำกลางหมายถึงพ่อ 父亲คล้ายกับความหมายภาษาไทยในคำว่า “บิดา” ใช้เป็นคำสุภาพ (เรียกพ่อของผู้ฟัง) คำว่า家父 คล้ายกับความหมายภาษาไทยคำว่า “บิดา” ใช้เป็นคำสุภาพเรียกพ่อของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว คำว่า 爹ใช้เป็นภาษาพูด 爹地 “Daddy” เป็นภาษาเด็ก ส่วนคำเรียกผู้ให้กำเนิดเพศหญิง เช่น 妈妈เป็นคำกลางหมายถึงแม่ 母亲คล้ายกับความหมายภาษาไทยว่า “มารดา” ใช้เป็นคำสุภาพ(เรียกแม่ของผู้ฟัง) 家母มีความหมายคล้ายกับคำในภาษาไทยคำว่า “บิดา”ใช้เป็นคำสุภาพเรียกแม่ของตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว 娘ใช้เป็นภาษาพูด 妈咪 “หม่ามี้” เป็นภาษาเด็ก การใช้คำที่มีความแตกต่างและหลายหลายแต่ใช้เรียกบุคคลเดียวกันนี้เอง สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกรักใคร่ เกลียดชัง เคารพ ถ่อมตัว สรรเสริญ ดูหมิ่นได้อย่างชัดเจน เป็นที่มาของของคำเรียกขานประเภทแสดงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้
2.1 คำเรียกขานแสดงความเคารพและแสดงความถ่อมตัว ในสังคมหนึ่งๆประกอบด้วยสมาชิกต่างสถานภาพกัน อิทธิพลของสถานภาพทางสังคมสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนในภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำเรียกขาน เช่นในสังคมไทยชาวไทยที่มีความจงรักภักดีเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม คำเรียกขานที่ใช้กับพระราชวงศ์จึงเป็นคำราชาศัพท์ที่กำหนดแน่นอนไม่สามารถใช้ปะปนกับสามัญชนได้ เช่นคำราชาศัพท์สรรพนามบุรุษที่สอง ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใต้ฝ่าละอองพระบาท ใต้ฝ่าพระบาท ฝ่าบาท ใต้เท้า บ่งบอกถึงระดับชั้นของคำราชาศัพท์สรรพนามลดหลั่นจากสูงถึงต่ำอย่างชัดเจน และความหมายที่แฝงอยู่ในการแบ่งคำเรียกขานในแต่ละระดับชั้นนั้นก็คือการระดับความเคารพและความสุภาพนั่นเอง ในภาษาปกติใช้คำว่า “คุณ” นำหน้าคำเรียกขานอื่น เช่น ชื่อ คำเรียกญาติ คำบอกอาชีพ ยศตำแหน่ง ก็สามารถใช้เป็นคำเรียกขานแสดงความเคารพและสุภาพได้เช่นเดียวกัน ในขณะที่ใช้คำสรรพนามแสดงความสุภาพจำพวก “ผม กระผม หนู” หรือ ชื่อ เป็นคำเรียกตนเองเพื่อแสดงความถ่อมตัว
คำเรียกขานในภาษาจีนก็มีคำประเภทแสดงความเคารพและแสดงความถ่อมตัวโดยเฉพาะ เช่นกัน เช่น 陛下 “ฝ่าบาท” 尊夫人 “ฮูหยินที่เคารพ” 足下 “ใต้เท้า” 令郎 “บุตรของท่าน” เหล่านี้ใช้เป็นคำแสดงความเคารพ ส่วน小女 “หญิงผู้ต่ำต้อย” เป็นคำที่ผู้หญิงใช้เรียกตัวเอง 鄙人 “ข้าน้อยผู้ต่ำศักดิ์” 犬子 “ลูกหมา” เป็นคำที่ใช้เรียกลูกตัวเอง 小人 “ข้าน้อย” แต่คำเหล่านี้เป็นคำเรียกขานที่ใช้เพื่อเรียกแสดงความถ่อมตัวในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยใช้แล้ว แต่จะใช้คำเรียกขานเพื่อแสดงความเคารพรูปแบบอื่นแทน เช่น “คำเรียกญาติ” , “นามสกุล+老” , “นามสกุล + คำเรียกอาชีพ” เป็นต้น ส่วนคำเรียกตัวเองในปัจจุบันมีแนวโน้มใช้คำที่บอกความเป็นกลางมากกว่าคือคำว่า “我”
2.2 คำเรียกขานแบบสนิทสนมและรักใคร่ เมื่อพูดกับผู้ที่มีความสนิทสนมกันหรือต้องการแสดงความสนิทสนม หรือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีสถานภาพแตกต่างกัน ภาษาไทยและภาษาจีนจะใช้วิธีเดียวกันคือใช้คำเรียกญาติเป็นคำเรียกขานหรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของคำเรียกขาน คู่สนทนาที่เป็นรุ่นเดียวกันหรือผู้มีอายุมากกว่าเรียกผู้มีอายุน้อยกว่าภาษาไทยจะใช้คำเรียกญาติ ชื่อเล่น สมญานาม ในภาษาจีนการใช้รูปแบบคำเรียกขานประเภท “นามสกุล+ชื่อ” , “นามสกุล+先生” จะมีความเป็นทางการมากกว่าการเรียกชื่อเล่นหรือคำเรียกญาติ ในภาษาไทยก็เช่นเดียวกัน การเรียก “ชื่อจริง+นามสกุล” , “คำนำหน้า + ชื่อ + นามสกุล” ย่อมแสดงความเป็นทางการมากกว่าการเรียกด้วยชื่อเล่นและคำเรียกญาติ จะเห็นว่าทั้งภาษาไทยและภาษาจีนใช้ “คำเรียกญาติ” และ “ชื่อเล่น” เป็นคำเรียกขานที่แสดงความสนิทสนมเหมือนกัน
คำเรียกขานที่แสดงออกถึงความรักในภาษาไทยและภาษาจีนใช้วิธีอย่างเดียวกันคือ มักมีหรือใช้คำว่า “รัก” เป็นส่วนประกอบคำเรียกขาน เช่น 爱妻 “เมียรัก” 爱弟“น้องรัก” 爱人“คนรัก” 亲爱的 “ที่รัก” คำเรียกขานประเภทนี้ใช้เรียกผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันและอายุน้อยกว่า แต่มักไม่ใช้เรียกผู้มีอายุมากกว่า คำเรียกขานที่แสดงถึงความรักใคร่บางคำไม่จำเป็นต้องมีคำว่ารักเป็นส่วนประกอบก็ได้ อาจใช้คำอื่นประกอบกับคำเรียกขานเพื่อแสดงออกถึงความรัก ได้เช่นคำว่า “ดี” ในภาษาไทยและภาษาจีนก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เช่น 好孩子เด็กดี 好丈夫(สามีดี) คนดีของเมีย 好妻子(ภรรยาดี) คนดีของผัว นอกจากนี้ยังมีคำเรียกขานบางคำที่แสดงถึงความรักหรือสื่อถึงความรักโดยอุปมา เช่นภาษาจีน 心肝หัวใจและตับคล้ายกับความหมายในภาษาไทยว่า “แก้วตาดวงใจ” 宝贝ของล้ำค่า คล้ายกับความหมายในภาษาไทยว่า “หัวแก้วหัวแหวน” คำสองคำนี้เป็นคำที่พ่อแม่ใช้เรียกลูก แต่ก็มีนำมาใช้เรียกคนรักเพื่อแสดงความรักเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังใช้คำที่มีความหมายในทางตรงข้ามกันมาใช้เป็นคำเรียกขานแสดงความรักได้อีกด้วยเช่นในภาษาไทยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เรียกคนในครอบครัวที่อายุน้อยกว่าว่า “ไอ้ขี้หมา” “ไอ้หมาน้อย” ในภาษาจีนก็มีวิธีนี้เช่นกัน เช่น 小对头 “คู่แค้นคู่อาฆาต” 小冤家 “คู่เวรคู่กรรมหรือคู่รักคู่แค้น”
2.3 คำเรียกขานแบบยกย่องและล้อเลียน
2.3.1 คำเรียกขานแบบยกย่อง การสื่อสารแต่ละครั้ง เมื่อผู้พูดปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย หรือมีเจตนาเพื่อต้องการยกย่อง จะเลือกใช้ภาษาที่แสดงถึงความสุภาพนอบน้อม แสดงความเคารพและยกย่องผู้ฟัง ในที่นี้คำเรียกขานเป็นคำที่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้พูดจะเปลี่ยนคำเรียกขานที่ใช้ตามปกตินั้นเป็น “คำเรียกขานแบบยกย่อง” เช่น ในภาษาไทยเรียกชาวนาว่า “กระดูกสันหลังของชาติ” เรียกตำรวจว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” เรียกพ่อครัวว่า “โภชนากร” เรียกดารานักแสดงว่า “ศิลปิน” เป็นต้น ในภาษาจีนก็มีคำเรียกขานในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น เรียกพ่อครัวว่า 饮食专家 “ผู้เชี่ยวชาญทางโภชนาการ” เรียกหมอว่า 白衣天使 “เทวดาชุดขาว” เรียกช่างตัดผมว่า 美容师 “ผู้เชี่ยวชาญความงาม” เรียกครูอาจารย์ว่า 园顶 ในสมัยโบราณใช้คำนี้เรียกศิลปินผู้เชี่ยวชาญในการจัดสวน การนำคำนี้มาเรียกอาชีพครูอาจารย์มีที่มาจากการเปรียบเทียบว่า 儿童是祖国的花朵,教师是辛勤的圆顶 “เด็กๆ คือดอกไม้ของชาติ ครูอาจารย์เป็นดั่งศิลปินผู้มุมานะจัดสวนดอกไม้” (吉常宏:2000)
2.3.2 คำเรียกแบบล้อเลียน เป็นคำเรียกที่แสดงถึงความสนิทสนม แสดงอารมณ์ขบขัน ล้อเลียน หยอกล้อ เช่น ภาษาไทยเรียก คนใส่แว่นว่า “ไอ้สี่ตา” เรียกคนที่ทั้งวันเอาแต่อ่านหนังสือว่า “หนอนหนังสือ” เรียกอาจารย์ว่า “เรือจ้าง” เรียกคนอ้วนว่า “ตือโป๊ยก่าย” เรียกตำรวจจราจรว่า “หัวปิงปอง” ในภาษาจีนเช่น เรียกคนที่ทั้งวันเอาแต่อ่านหนังสือว่า 书呆子 “หนอนหนังสือ” เรียกอาจารย์ว่า 孩子王 “เทวดาราชาของเด็กๆ” เรียกนักเล่นอินเตอร์เนตว่า 网虫“หนอนคอมพิวเตอร์” นอกจากนี้ในภาษาจีนยังมีวิธีการเรียกแบบล้อเลียนอีกอย่างคือ การใช้คำพ้องเสียง เช่น 教授 หมายถึง “ศาสตราจารย์” ไปพ้องเสียงกับคำว่า 会叫的野兽 “สัตว์ป่าที่ร้องได้” คำว่า 偶像 หมายถึง “ดาราคนโปรด หรือบุคคลที่จะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง” พ้องเสียงกับคำว่า 呕吐的对象 “คนที่เห็นแล้วอยากจะอ้วก” คำว่า 美女 หมายถึง “สาวงาม” พ้องเสียงกับคำว่า 没人要的女人 “หญิงที่ไม่มีใครเอา” หรือ 发霉的女人 “ผู้หญิงที่ขึ้นราแล้ว” เป็นต้น
2.4 คำเรียกขานแบบแสดงอำนาจและดูหมิ่น
2.4.1 คำเรียกขานแบบแสดงอำนาจ คำเรียกแบบนี้เป็นคำเรียกตัวเองที่แสดงถึงความเหนือกว่า ซึ่งก็คือทฤษฎี “อำนาจ” (Power) ที่ Brown & Gilman(1972) เสนอไว้ในเรื่องปัจจัยกำหนดคำเรียกขานนั่นเอง สิ่งที่กำหนด “อำนาจ”ในการสื่อสารระหว่างบุคคลแต่ละคนไม่เหมือนกัน บ้างเกิดจากตำแหน่งหน้าที่ บ้างเกิดจากฐานะทางเศรษฐกิจ บ้างเกิดจากอายุ บ้างเกิดจากเพศ ลักษณะเช่นนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนไม่แตกต่างกัน เช่น ครูอาจารย์เรียกตัวเองด้วยคำเรียกอาชีพ ซึ่งแสดงถึง “อำนาจ” แต่นักเรียนไม่เรียกตัวเองว่า “นักเรียน” แต่จะใช้คำสรรพนามแทน โดยเฉพาะในภาษาไทย จะใช้คำสรรพนามที่แสดงถึงความด้อยกว่า ต่ำกว่า และถ่อมตน การเรียกญาติผู้ใหญ่ใช้คำเรียกญาติเรียกได้โดยตรง ซึ่งแสดงถึงความเคารพ แต่เมื่อผู้น้อยเรียกตนเองกลับไม่นิยมใช้คำเรียกญาติ แต่จะใช้ชื่อหรือคำสรรพนามซึ่งแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ในภาษาไทยผู้มีสถานภาพสูงกว่าสามารถใช้คำว่า “กู” เรียกตนเองได้ และเรียกผู้มีสถานภาพต่ำกว่าว่า “มึง” ได้ แต่ผู้ฟังที่มีสถานภาพต่ำกว่า กลับไม่เลือกใช้คำในชุด “กู - มึง” แต่จะเลือกใช้คำที่ลดความมีอำนาจลงและแสดงความถ่อมตัว เช่น “ผม - ท่าน”
2.4.2 คำเรียกขานแบบดูหมิ่น คำเรียกแบบนี้เป็นคำเรียกที่ผู้มี “อำนาจ” เหนือกว่า หรือรู้สึกว่าตนมี “อำนาจ” เหนือกว่า หรือมีเจตนาที่จะดูหมิ่น เลือกใช้คำเรียกประเภทดูหมิ่น กดขี่ แสดงความรังเกียจผู้อื่น บางครั้งถึงขั้นใกล้เคียงกับคำด่า ภาษาไทยและภาษาจีนมีคำในลักษณะนี้เหมือนกัน เช่น 老不死 “ไอ้แก่หนังเหนียว” 赌棍 “ผีพนัน” 乡下佬 “บ้านนอก” 雅皮士 “จิ๊กโก๋” ในภาษาไทยมีลักษณะเด่นของคำเรียกที่แสดงความดูถูกดูหมิ่น คือการเติม คำว่า “ไอ้ อี นัง” นำหน้าคำเรียกขานอื่น ไม่ว่าคำเรียกขานนั้นจะแสดงระดับความเคารพมากเพียงใด แต่เมื่อเติมส่วนประกอบนี้เข้าไปจะกลายเป็นคำเรียกขานแบบดูหมิ่นทันที เช่น ไอ้คนขายชาติ ไอ้หมอใหญ่ ไอ้ผู้ว่า อีผู้จัดการ อีผู้อำนวยการ อีนังเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
3 . อายุกับคำเรียกขาน
เรามักพบความแตกต่างในภาษาที่มีผลมาจากความแตกต่างของอายุมากมาย เช่น ภาษาเด็ก ชิ้งฉ่อง แมวเหมียว ไก่กุ๊กกุ๊ก ลูกเจี๊ยบ ๆ ในภาษาจีนเช่น 猫咪 “แมว” 狗狗 “หมา” 咪咪 “นม(หน้าอกของผู้หญิง)” 宝宝 “ลูก” ลักษณะเช่นนี้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะหายไป กลับมาใช้คำที่เป็นปกติ ปรากฏการณ์ภาษาเด็กเกิดกับคำเรียกขานมากมาย คำเรียกขานที่ใช้โดยคนต่างอายุกันมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ป้อ อาแหมะ ป่าป๊า หม่าม้า ในภาษาจีนเช่น 妈咪 มามี้ 爹地 เตี่ยตี๊ 哥哥 เก่อเก๊อ 弟弟 ตี่ตี๊ หรือการเรียกชื่อเล่นเด็กเล็ก ในภาษาจีนมักใช้วิธีซ้ำชื่ออักษรตัวตัวหนึ่ง เช่น 咚咚 沙沙 溶溶 冉冉 คำเรียกขานในลักษณะนี้ใช้กับเด็กหรือใช้โดยเด็ก และใช้เรียกคนสนิทสนมกันหรือในหมู่เครือญาติเท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นปกติในการสื่อสารกับสังคมภายนอกแต่อย่างใด คำเรียกขานของคู่สามีภรรยาในปัจจุบันเรียกกันด้วยคำว่า 亲爱的 “ที่รัก” 爱人 “คนรัก” แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว ก็ไม่คุ้นเคยหรือรู้สึกกระดากอายที่จะเรียกกันว่า “ที่รัก” แต่กลับใช้คำว่า 老伴 “คู่ครอง คู่ชีวิต” ในขณะที่คู่สามีภรรยาวัยรุ่นก็ไม่นิยมใช้คำนี้เช่นเดียวกัน
ในเรื่องของการกำหนดคำเรียกขานที่ใช้อายุเป็นเกณฑ์ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดได้แก่ “คำเรียกญาติ” ที่มีการกำหนดให้มีความแตกต่างกันของรุ่น ในแต่ละรุ่นมีอายุมากน้อย ในอายุมากน้อยมีลำดับก่อนหลัง โดยทั้งหมดนี้กำหนดโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ เช่น 爷爷 “ปู่” 大伯 “ลุงใหญ่” 二伯 “ลุงรอง” 爸爸 “พ่อ” 大叔 “อาใหญ่” 二叔 “อารอง” 小叔 “อาเล็ก”
คำเรียกขานที่เรียกผู้ที่ไม่ใช่ญาติก็มีการใช้เกณฑ์อายุเป็นปัจจัยกำหนด เช่นในภาษาจีนใช้รูปแบบ [คำบอกอายุ + นามสกุล] หรือ [นามสกุล + คำบอกอายุ] เช่น 小王 大李 老姜 张老หรือ [คำบอกอายุ + คำเรียกทั่วไป] เช่น 老师傅 老先生 小师傅 小朋友 小师傅 师傅 ในภาษาไทยแม้จะไม่มีการใช้คำบอกอายุประกอบกับชื่อหรือนามสกุลเช่นเดียวกับรูปแบบคำเรียกขานในภาษาจีนก็ตาม แต่ภาษาไทยก็มีคำนำหน้าที่ใช้อายุเป็นเกณฑ์ในการแบ่งคำเรียกขานเช่นกัน ได้แก่ เด็กชาย นาย เด็กหญิง นางสาว
การใช้คำสรรพนามในภาษาไทยบางคำก็เป็นผลมาจากปัจจัยอายุ เช่น ผู้ใหญ่เรียกเด็กๆ ว่า “หนู” เด็กก็เรียกตัวเองด้วยสรรพนามคำเดียวกัน แต่เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ หรืออายุวัยกลางคนขึ้นไปก็จะเปลี่ยนไปใช้สรรพนามอื่น เช่น “คุณ” “ท่าน” ในภาษาจีนไม่มีลักษณะเช่นนี้เพราะสรรพนามในภาษาจีนเป็นสรรพนามกลาง ไม่มีการการแบ่งอายุ เพศ สถานภาพทางสังคม คือ 我 “สรรพนามบุรุษที่ 1” และ 你 “สรรพนามบุรุษที่ 2”
4. เพศกับคำเรียกขาน
คำเรียกขานที่เกิดจากปัจจัยความแตกต่างทางเพศพบเด่นชัดในคำเรียกญาติ ดังจะเห็นว่าคำเรียกญาติภาษาไทยและภาษาจีนที่หมายถึงบุคคลในตำแหน่งเดียวกันส่วนใหญ่จะมีคำเรียก 2 คำ โดยแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างเพศชัดเจน เช่น 父 - 母 “พ่อ - แม่” 爷 - 奶 “ปู่ - ย่า” 公 - 婆 “ตา - ยาย” 子 - 女 “ลูกชาย - ลูกสาว” 伯 - 姑 “ลุง - ป้า” 叔 - 姨 “อา - น้า” อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คำเรียกญาติทุกตำแหน่งจะมีคำคู่ที่แบ่งความแตกต่างระหว่างเพศ มีบางส่วนที่ไม่แบ่งแยกเพศ เช่น เช่นภาษาไทยญาติรุ่นเดียวกับตนไม่แบ่งแยกเพศ คือ “พี่” เรียกญาติรุ่นเดียวกันอายุมากกว่า และ “น้อง” เรียกญาติรุ่นเดียวกันอายุน้อยกว่า นั่นเป็นผลมากจากการที่มีปัจจัยอื่นควบคุมอยู่เหนือกว่าอีกชั้นหนึ่งก็คือ “อายุ” แต่กระนั้นความแตกต่างทางเพศก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขกำหนดคำเรียกขานที่สำคัญอย่างหนึ่ง
คำสรรพนามในภาษาไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการอธิบายในหัวข้อนี้ สรรพนามในภาษาไทยมีคำว่า “ผม กระผม” ใช้เฉพาะเพศชาย และ “ดิฉัน” ใช้เฉพาะเพศหญิง ส่วนที่ถือเป็นส่วนประกอบของคำเรียกขานอีกอย่างหนึ่งคือ “คำลงท้าย” เป็นส่วนที่ไม่บังคับปรากฏ ในคำเรียกขาน คำลงท้ายนี้ในภาษาไทยแบ่งแยกเพศของผู้พูดชัดเจนคือ “ครับ” สำหรับเพศชาย และ “ค่ะ” สำหรับเพศหญิง ภาษาจีนไม่มีคำเรียกขานลักษณะเช่นนี้
คำเรียกทั่วไป (คำนำหน้าในภาษาไทย) ก็ใช้เกณฑ์ความแตกต่างของเพศแบ่งคำเรียกขาน ได้แก่ เพศชายใช้ นาย เพศหญิงใช้ นางสาว นาง ภาษาจีนคือ 先生 ใช้เรียกเพศชาย ส่วน小姐 太太 ใช้เรียกเพศหญิง นอกจากนี้ภาษาไทยยังมีคำนำหน้าที่แบ่งเพศเด็กอีกคือ เด็กชายและ เด็กหญิง คำนำหน้าที่แสดงความดูหมิ่น หยาบคายก็มีการแบ่งโดยใช้เพศเป็นตัวกำหนดเช่นกัน ภาษาไทยคือ “ไอ้” ใช้กับเพศชาย “อี นัง” ใช้กับเพศหญิง
ชื่อคนทั้งภาษาไทยและภาษาจีนบ่งบอกเพศได้อย่างชัดเจน มีการกำหนดชุดคำว่าคำใดใช้เป็นชื่อเพศชาย คำใดใช้เป็นชื่อเพศหญิง เช่น ปฐพี บดินทร์ อาทิตย์ ตรีเทพ ภูมินทร์ อิทธิพล คเชนทร์ พลพล เป็นชื่อเพศชาย แต่ ขนิษฐา ผกามาศ เบญจมาศ น้ำผึ้ง รุ้งลาวัลย์ วรรณิศา รุ่งมณี แพรพรรณ เป็นชื่อเพศหญิง ในภาษาจีนอักษรที่หมายถึงความยิ่งใหญ่ แข็งแรง กล้าหาญ อำนาจ กตัญญูจะใช้เป็นชื่อเพศชายเช่น胜 伟 高 军 马 康 力 强 勇 宾 孝ส่วนคำที่หมายถึงดอกไม้ ความงดงาม ฉลาด อ่อนหวาน น่ารักจะใช้เป็นชื่อเพศหญิง เช่น 丽 美 恩 燕 芳 秀 琼 玉 梅 艳 慧爱 เป็นต้น
คำเรียกขานหลายคำเป็นคำที่ประกอบด้วยคำระบุเพศ แบ่งแยกเพศชัดเจน ในภาษาไทยมักมีคำว่า ชาย นาย หนุ่ม พ่อ พระประกอบเพื่อหมายถึงเพศชาย มีคำว่า หญิง นาง สาว แม่เป็นส่วนประกอบเพื่อหมายถึงเพศหญิง เช่น พระเอก นางเอก หญิงบริการ นางรำ นางโจร สาวโรงงาน พ่อครัว พ่อค้า แม่ค้า หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ สาวบาร์ หนุ่มธนาคาร ส่วนในภาษาจีนมักมีคำว่า 男 仔 汉 郎 哥 爷 เป็นส่วนประกอบเพื่อหมายถึงเพศชาย และมีคำว่า 女 婆 娘 姐 妹 嫂 เป็นส่วนประกอบเพื่อหมายถึงเพศหญิง เช่น 的哥 “คนขับแท็กซี่เพศชาย” 的姐 “คนขับแท็กซี่เพศหญิง” 打工仔 “หนุ่มรับจ้าง” 打工妹 “สาวรับจ้าง” 新郎 “เจ้าบ่าว” 新娘 “เจ้าสาว” 富翁 “อาเสี่ย” 富婆 “เศรษฐีนี” เป็นต้น
วัฒนธรรมของสังคมที่กดขี่สตรีเพศ ยึดถือผู้ชายเป็นใหญ่เป็นปัจจัยควบคุมคำเรียกขานที่สำคัญอย่างหนึ่ง คำเรียกขานประสมที่มีคำที่หมายถึงเพศชายและเพศหญิงเป็นส่วนประกอบ คำเรียกขานที่หมายถึงเพศชายมักจะมาก่อน แล้วจึงตามด้วยคำเรียกขานที่หมายถึงเพศหญิง เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผัวเมีย สามีภรรยา ซึ่งหากเรียกว่า แม่พ่อ ยายตา ย่าปู่ เมียผัว ภรรยาสามีก็ไม่ผิด แต่จะรู้สึกขัดกับความเคยชินทางภาษา ซึ่งความเคยชินทางภาษานี้เกิดขึ้นมาจากปัจจัยแอบแฝงของความแตกต่างทางเพศนี้นี่เอง ในภาษาจีนยิ่งเด่นชัดกว่าภาษาไทย เพราะวัฒนธรรมการกดขี่สตรีเพศ ยึดถือเพศชายเป็นใหญ่มีมาช้านานและเป็นความคิดที่แกร่งกร้าว ฝังลึกในความคิดของคนจีนอย่างรุนแรง เช่น 父母 “พ่อแม่” 夫妻 “สามีภรรยา” 兄弟姐妹 “พี่ชายน้องชายพี่สาวน้องสาว” 公婆 “ตายาย” 爷爷奶奶 “ปู่ย่า” เป็นต้น
แต่ในระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน กระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของเพศชายหญิงมีมากขึ้น ทำให้มีการสร้างคำเรียกขานที่มีความเป็นกลาง ไม่บ่งชี้เพศมากขึ้น ส่วนมากใช้คำว่า 人 “คน” 匠“ช่าง” 者 “นัก” 员 “พนักงาน” 民“ชาว” เช่น 工人 “คนงาน” 记者 “นักข่าว” 售货员 “พนักงานขาย” 渔民 “ชาวประมง” 木匠 “ช่างไม้” เป็นต้น
ความแตกต่างทางเพศเป็นความแตกต่างทางธรรมชาติ ธรรมชาติของเพศชายมีความเข้มแข็ง แข็งแกร่งกว่าเพศหญิง เป็นจุดกำเนิดของการยกตนเป็นใหญ่ ยกตนว่ามีอำนาจเหนือกว่า ความคิดเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนความคิดของคนในสังคมตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ซึ่งแสดงให้เห็นในวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิดและกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดของมนุษย์ จึงได้รับผลของความคิดเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
5. สถานภาพของบุคคลกับคำเรียกขาน
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีระบบศักดินามาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ ดังนั้นศักดินาก่อให้เกิดความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด ชนชั้นศาสนาได้รับการยกย่องนับถือสูงสุด รองลงมาเป็นชนชั้นกษัตริย์ ข้าราชการ พ่อค้าวานิช ผู้มีการศึกษา และชาวนา คนงานและ ชาวบ้านในชนบทที่ไม่มีการศึกษาถูกมองว่าเป็นชนชั้นต่ำต้อยที่สุดของสังคม สังคมจีนแม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบกษัตริย์ล่มสลาย นโยบายใหม่คือทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้นทางสังคม แต่ความร่ำรวย ความมีการศึกษา คนเมืองกับคนชนบท ตำแหน่งหน้าที่ ยังคงเป็นปัจจัยกำหนดชนชั้นทางสังคมอยู่ เพียงแต่ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยแอบแฝง ไม่ชัดเจนและไม่มีผลรุนแรงเหมือนอย่างสังคมไทยเท่านั้น คำเรียกขานที่ใช้โดยผู้มีสถานภาพทางสังคมต่างกันมองได้สองมิติคือ คำเรียกขานที่ใช้โดยคนในแต่ละระดับชั้น และคำเรียกขานที่ใช้ระหว่างคนต่างชนชั้น
คนที่จัดอยู่ในชนชั้นต่ำ มีการศึกษาและความรู้น้อย เป็นคนชนบท ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและมีฐานะตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่างกันมากเหมือนอย่างคนเมือง จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีคำเรียกขานมากมาย ผู้คนรู้จักกัน ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นส่วนใหญ่ คำที่เรียกขานกันจึงใช้คำที่แสดงถึงความสนิทสนมจำพวก [คำเรียกญาติ] เป็นหลัก ต่างจากคนเมืองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ความสัมพันธ์ของผู้คนมีความแตกต่างซับซ้อนมากมาย มีฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน การศึกษาแตกต่างกันร้อยแปดพันประการ ผู้คนไม่รู้จักกัน ไม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน คำเรียกจึงมีความสลับซับซ้อนไปตามความซับซ้อนของผู้คนในสังคมด้วย คำเรียกขานที่ใช้ระหว่างคนเมืองจึงไม่สามารถจำกัดเพียงไม่กี่ประเภทเหมือนอย่างคนชนบทได้ ในชนบทเรียกกันด้วยคำว่า พี่ ป้า น้า อา ในภาษาจีนเรียก大哥,大妈, 阿姨,大叔หากคนชนบทจะเรียกกันด้วย คุณ ท่าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หรือในภาษาจีนเรียก 同志,师傅,先生,上尉,教授 อาจจะดูแปลกประหลาด ผิดวิสัยความเคยชินของสังคม หรืออาจจะไม่มีบุคคลเหล่านั้นให้เรียกเลยก็เป็นได้ ในขณะที่ในสังคมเมืองจะเรียกคนแปลกหน้าในสถานการณ์ที่เป็นทางการว่า ป้า ลุง ยาย ตา ก็ดูจะไม่เหมาะสมนัก
ผู้มีความรู้สูง ผู้คนในสังคมชั้นสูง จะมีความสามารถในการใช้ภาษา สามารถเลือกใช้คำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าผู้มีความรู้ต่ำและคนในสังคมชั้นต่ำ การเขียนเรียงความโดยผู้มีความรู้ มีความสามารถในการใช้ศัพท์ที่แสดงถึงความสูงส่งอย่าง พระชนก พระชนนี พระบิดร พระคุณเจ้า เสด็จ ศาสตราจารย์ คุณหมอได้ แต่ในขณะที่คนที่ไม่มีความรู้ มีการศึกษาน้อย คนที่จัดอยู่ในสังคมชั้นต่ำ อาจไม่มีโอกาส หรือไม่รู้จักคำและบุคคลเหล่านี้เลยก็เป็นได้ มองในมิติความหมายของคำ คำว่า เสด็จ พระองค์ หม่อม ใช้เป็นคำราชาศัพท์ในชนชั้นราชวงศ์ แต่คุณ ท่าน นาย นางสาว ใช้ในระดับชนชั้นกลางปกติ ส่วนอี ไอ้ มึง กู ใช้ในกลุ่มคนชั้นต่ำ
การใช้คำเรียกขานบุคคลที่อยู่ต่างชนชั้นกัน คนชนชั้นต่ำเมื่อเรียกคนชนชั้นสูงกว่า จะใช้คำที่แสดงความถ่อมตัวเรียกตนเอง และใช้คำที่แสดงความเคารพเรียกผู้ฟัง เช่นเรียกตัวเองว่า “หนู” เรียกผู้ฟังว่า “ท่าน” ในขณะที่คนในชนชั้นสูงกว่าเรียกคนชนชั้นต่ำ ใช้คำที่แสดงถึงอำนาจเรียกตนเอง และใช้คำที่แสดงความดูถูก เรียกผู้ฟัง เช่น เรียกตัวเองว่า “ฉัน” เรียกผู้ฟังว่า “แก”
คำเรียกขานประกอบที่มีความแตกต่างกันของชนชั้น คำเรียกขานที่หมายถึงชนชั้นสูงกว่า จะวางไว้หน้า และคำเรียกขานที่หมายถึงชนชั้นต่ำกว่าจะวางไว้หลัง เช่น แม่ทัพนายกอง นายบ่าว ครูศิษย์ พ่อแม่ลูก ในภาษาจีน เช่น 师生 “ครูศิษย์” 官宾 “แม่ทัพทหาร” 上下级 “หัวหน้าลูกน้อง” ก็เรียงคำที่หมายถึงคนในชนชั้นที่สูงกว่าไว้ข้างหน้าคำที่หมายถึงคนในชนชั้นต่ำกว่าเช่นเดียวกัน
การเรียงลำดับในการพูดในสถานการณ์ที่เป็นทางการ การแสดงความเคารพต่อผู้มาร่วมในพิธี ก็ล้วนแล้วแต่เรียกโดยเรียงจากบุคคลชนชั้นที่สูงกว่าไปสู่ต่ำกว่าเสมอ เช่น “เรียนท่านคณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชาที่เคารพ และสวัสดีนักเรียนที่รักทุกคน” ในภาษาจีน เช่น 尊敬的校长先生,院长,系主任 ,各位学生们你们下午好! “ท่านอธิการบดี ท่านคณบดี และหัวหน้าภาควิชาที่เคารพทุกท่าน และสวัสดีนักศึกษาทุกคน” ก็เรียงลำดับจากผู้มีสถานภาพสูงไปสู่ผู้มีสถานภาพต่ำกว่าเช่นเดียวกัน
ในกรณีที่ไม่ทราบสถานภาพของบุคคลที่พูดด้วย การเลือกใช้คำเรียกขานก็ใช้ปัจจัยอย่างอื่นมาตัดสิน เช่น เพศ อายุ การแต่งกาย แวดวง เจตนาเป็นต้น ในสถานการณ์เช่นนี้สถานภาพสูงต่ำทางสังคมไม่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานมากนัก หรืออาจไม่มีเลย ทั้งสองฝ่ายต่างใช้คำที่แสดงความสุภาพต่อกันตามมารยาททางสังคมเท่านั้น
6. เจตนากับคำเรียกขาน
ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลการใช้คำเรียกขานในสถานการณ์จริงพบสถานการณ์หนึ่งที่สามารถตัดสินได้ว่า ปัจจัยอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด อาจไม่มีความสำคัญใดๆ เลย หากผู้พูดมีเจตนาที่จะใช้เป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แม่ค้าขายสินค้าตลาดนัดเรียกลูกค้าซื้อของ “น้องจ๋า, เชิญชมก่อนได้จ้า...ร้านพี่มีของเยอะแยะมากมาย” ผู้ซื้อเลือกอยู่นานสุดท้ายก็ไม่ซื้อ เดินจากไป ทิ้งกองเสื้อผ้าที่เลือกไว้ให้เจ้าของร้านพับ ด้วยความโมโห เจ้าของร้านด่าไล่หลัง “แม่ง...ไม่ซื้อแล้วมึงลองทำไมวะเยอะแยะ” สถานการณ์การใช้คำเรียกขาน หรือระดับภาษาที่เกิดจากเจตนาเช่นนี้พบเห็นได้บ่อยๆ เมื่อผู้พูดต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ จะพยายามใช้คำเรียกขานหรือระดับภาษาที่แสดงความสุภาพ ยกย่องผู้ฟัง หรือแสดงความสนิทสนมใกล้ชิด แต่เมื่อรู้ว่าไม่จำเป็น หรือไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายนั้นได้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ความเคารพ ยกย่องผู้ฟังอีกต่อไป
แม้ว่าเจตนาจะไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถกำหนดชัดได้อย่างเพศและอายุ แต่ในบางครั้งอาจส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานมากกว่าปัจจัยอื่นๆ เสียอีก ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากมนุษย์สร้างภาษาขึ้นก็เพื่อตอบสนองเจตนาของตน อย่างน้อยก็มีเจตนาเพื่อการสื่อสารระหว่างกัน เจตนาการใช้คำเรียกขาน สามารถแบ่งได้ดังนี้
6.1 เพื่อการสื่อสารตามปกติ ในสถานการณ์ปกติที่ผู้พูดและผู้ฟังมีสถานภาพเท่าเทียมกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการความช่วยเหลือ หรือไม่ได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในเหตุการณ์แบบนี้ทั้งสองฝ่ายเลือกใช้คำเรียกขานตามข้อกำหนดทางสังคมตามปกติ เช่น คนรู้จักกันเรียกกันด้วยชื่อ การเรียกกันด้วยชื่อในหมู่เครือญาติรุ่นเดียวกัน การใช้คำเรียกทั่วไปเรียกคนแปลกหน้า คำเรียกขานในลักษณะเช่นนี้ใช้เพื่อการสื่อสารปกติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมเท่านั้น ไม่ได้แฝงเจตนาหรืออารมณ์ความรู้สึกอื่นใด
6.2 เพื่อแสดงความเคารพและสุภาพ สมรรถนะของคำเรียกขานในภาษาจีนนอกจากจะใช้เรียกขานกันแล้ว ยังใช้เป็นคำทักทายได้อีกด้วย คนจีนเมื่อพบญาติผู้ใหญ่พ่อแม่จะให้ลูก “เรียก” ญาติผู้ใหญ่นั้นด้วย “คำเรียกญาติ” ซึ่งการเรียกญาติผู้ใหญ่ด้วยคำเรียกญาตินี้ไม่ใช่เพื่อเรียกขาน แต่เพื่อทักทาย ดังนั้นการทักทายญาติผู้ใหญ่ด้วยการเรียกคำเรียกญาตินี้แสดงเจตนาเพื่อการสื่อสาร แน่นอนว่าด้วยความหมายประจำของคำเรียกญาติผู้ใหญ่แต่ละคำ สามารถแฝงความสุภาพและเคารพไปในคราวเดียวกัน คำเรียกขานในภาษาไทยไม่มีความสมรรถนะในด้านนี้ คำเรียกขานในภาษาไทยใช้เพื่อเรียกขานเท่านั้น เพราะการทักทายกันภาษาไทยใช้ “สวัสดี” แต่คำเรียกขานในภาษาไทยมีส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบที่ไม่บังคับปรากฏ นั่นก็คือคำลงท้าย “ครับ,ค่ะ” และ “ พะยะค่ะ,พระพุทธเจ้าข้า,เพคะ” คำลงท้ายสองกลุ่มนี้กลุ่มแรกใช้ในสามัญชนทั่วไป ชุดหลังเป็นคำราชาศัพท์ ในการเรียกขานแต่ละครั้งสามารถเติมคำลงท้ายเหล่านี้เพื่อแสดงความเคารพและความสุภาพ ทั้งยังสามารถที่จะไม่เติมก็ได้ ไม่กระทบต่อความหมาย ไม่กระทบต่อการเรียกขาน แต่ปริมาณความสุภาพ และความเคารพต่อผู้ฟังลดน้อยลง ภาษาจีนไม่มีส่วนประกอบคำเรียกขานประเภทนี้
คำสรรพนามที่ต่างกันก็มีการแสดงออกถึงความเคารพและสุภาพเช่นกัน โดยเฉพาะในภาษาไทยแบ่งความแตกต่างของคำสรรพนามอย่างซับซ้อนมากมาย โดยแบ่งตามเพศ อายุ สถานภาพทางสังคม สถานการณ์การใช้ภาษา ที่สำคัญคือความสุภาพและความเคารพก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการแบ่งคำสรรพนามดังกล่าว การเลือกใช้คำสรรพนาม ท่าน คุณ เธอ เอ็ง แก มึง แสดงเจตนาเพื่อเคารพและสุภาพลดลงมาตามลำดับ ส่วนคำสรรพนามในภาษาจีนแม้ไม่ซับซ้อนมากเหมือนในภาษาไทยเพราะใช้สรรพนามรวม มีความแตกต่างของสรรพนามบุรุษที่สองเพียงสองคำ ซึ่งการแบ่งคำสองคำนี้เอง แสดงให้เห็นเจตนาเพื่อแสดงความเคารพและสุภาพ ได้แก่ 你 “ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สองทั่วไป” และ 您 “ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สองเพื่อแสดงความเคารพผู้ฟัง”
การเลือกใช้คำเรียกขานที่มีผลมาจากเจตนาเพื่อแสดงความเคารพและสุภาพนี้ บางครั้งมีความสำคัญมากกว่าอายุและเพศเสียอีก ในสถานการณ์ปกติคนไทยและคนจีนจะเลือกใช้คำเรียกขานที่แสดงออกถึงความเคารพผู้ใหญ่เป็นหลัก แต่ผู้ใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คำเรียกขานที่แสดงความเคารพหรือสุภาพต่อผู้น้อย แต่ในกรณีที่ผู้ฟังมีอายุน้อยกว่าแต่มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่า ผู้พูดจำต้องใช้คำเรียกขานที่แสดงความสุภาพต่อผู้ฟัง เช่น ประธานบริษัทที่มีอายุน้อยกับคนงานที่มีอายุมากกว่า เจ้านายที่อายุน้อยกับคนใช้ที่อายุมากกว่า เป็นต้น
6.3 เพื่อการขอร้อง ในสถานการณ์ขอร้อง เมื่อผู้พูดต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ ต้องการได้รับการตอบรับ ยอมรับ ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ผู้พูดจะตั้งใจเลือกใช้คำเรียกขานที่แสดงความสุภาพและเคารพเป็นพิเศษกว่าสถานการณ์ปกติทั่วไป เพื่อทำให้ผู้ฟังพอใจ ดีใจและให้การยอมรับ ช่วยเหลือต่อการขอร้องนั้น ในเหตุการณ์ปกติเมื่อพูดกับคนแปลกหน้าตามถนนหนทางสามารถเรียกว่า พี่ ป้า น้า อา คุณ เธอได้ แต่เมื่อต้องการความช่วยเหลือ เช่นถามทาง ขอเงิน ขอบริจาค ขอความช่วยเหลือใดๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนคำเรียกขานเป็น คุณพี่ คุณป้า คุณน้า คุณอา คุณครับ เธอจ๊ะ ในภาษาจีนหากต้องการถามทางจากคนแปลหน้าแล้วถามว่า 诶!北京大学怎么走啊? “เฮ่ย !มหาวิทยาลัยปักกิ่งไปไงอ่ะ” ก็อาจจะไม่ได้รับคำตอบที่ดี หรือไม่มีใครยอมบอกทางเลยก็ได้ แต่หากถามว่า 师傅(先生,叔叔,同志),请问一下,北京大学怎么走? “ คุณครับ (คุณผู้ชาย, คุณอา, ท่านครับ ) ขอถามหน่อยครับ, มหาวิทยาลัยปักกิ่งไปไงครับ ” ไม่เพียงแต่จะได้รับการช่วยเหลือที่ดีแล้ว ยังได้รับความเอ็นดู ความเต็มใจที่จะช่วยเหลือจากผู้ฟังอีกด้วย
วิธีการเลือกใช้คำเรียกขานเพื่อให้บรรลุการขอร้อง หรือขอความช่วยเหลือ มีอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญและใช้มาก นั่นก็คือ ดึงความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้ฟังให้กระชับแน่นแฟ้นขึ้น ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นคนกันเอง ไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน คือการใช้ “คำเรียกญาติ” เมื่อเราได้ยินผู้อื่นเรียกเราว่า น้อง พี่ คุณลุง คุณน้า คุณพ่อ คุณแม่ หรือในภาษาจีนเรียกว่า 小妹妹 大姐 阿姨 冬冬他爸 冬冬他妈 เราจะรู้สึกได้ถึงความใกล้ชิดสนิทสนมและเป็นกันเองมากกว่าคำว่า คุณ ท่าน ท่านคณบดี ท่านผู้นี้ หรือในภาษาจีนว่า 师傅 同志 院张先生 这位先生 และกลับมีความรู้สึกที่เต็มใจให้ความช่วยเหลือมากกว่าอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในการขอร้อง หากใช้คำเรียกขานที่ตั้งใจแสดงความเคารพ หรือสุภาพเกินไป ไม่สมเหตุสมผล เช่น ขอความช่วยเหลือกับชาวนาว่า 尊敬的农民先生 “ท่านชาวนาที่เคารพ”, ขอร้องให้คนงานช่วยยกของว่า 亲爱的工人 “คนงานที่รัก” หรือ 最高崇拜的校长先生 “ท่านอธิการบดีที่เคารพและศรัทธาอย่างสูงยิ่ง” อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความไม่จริงใจ เสแสร้ง ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือก็เป็นได้
6.4 เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก การใช้คำเรียกขานที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก ในภาษาไทยเช่น ที่รัก แก้วตาดวงใจ มือซ้ายมือขวา มารศาสนา ขยะสังคม ภาษาจีนเช่น 心肝 宝贝 老不死 死丫头คำเรียกเหล่านี้ผู้พูดไม่ได้มีเจตนาแสดงความเคารพ ไม่ได้ขอร้อง หรือบางครั้งไม่ได้เรียกเพื่อต้องการสื่อสาร แต่เพื่อแสดงความรู้สึกรัก เกลียดชัง สงสารที่มีต่อผู้ฟังเท่านั้น แต่ด้วยด้วยนิสัยและความคิดของคนไทยและคนจีนที่ไม่แสดงความรู้สึกของตนออกมาให้ผู้อื่นรู้ได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรก็เก็บไว้ในใจ ทำให้คำประเภทนี้มีไม่มากนัก
7. ความสัมพันธ์ของบุคคลกับคำเรียกขาน
คนแต่ละคนมีบทบาทในสังคมแตกต่างกัน เพราะแต่ละคนไม่ได้แสดงเพียงบทบาทเดียว เป็นเหตุให้คนมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไป ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่แตกต่างกันนี้เองส่งผลต่อการใช้คำเรียกขาน คำเรียกขานที่ใช้โดยคนที่มีความสัมพันธ์ต่างๆกัน แปรเปลี่ยนมากมายและซับซ้อน ในกลุ่มเครือญาติ ตายายเรียก “ฉัน” ด้วย 小名 “ชื่อเล่น” หรือ 孙女 “หลานสาว” พ่อแม่เรียกว่า 儿子 “ลูก” สามีเรียกว่า 妻子 “ ภรรยา” ในกลุ่มคนรู้จัก เพื่อนที่ทำงานเรียกว่า 经理 “ผู้จัดการ” ประธานบริษัทเรียกว่า 姓名 “ชื่อนามสกุล” เพื่อนร่วมงานเรียกว่า 名 “ชื่อ” ในกลุ่มคนแปลกหน้าผู้มีอายุมากกว่าเรียกว่า 小姐 “คุณ” ผู้มีอายุน้อยกว่าเรียกว่า 阿姨 “คุณน้า”
ในการสนทนากันครั้งหนึ่งๆ ไม่ว่าคู่สนทนาจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมหรือห่างเหินแปลกหน้า เป็นญาติหรือไม่ใช่ญาติ ระดับชั้นทางสังคมสูงหรือต่ำ เพศชายหรือหญิง อายุมากหรือน้อย แต่โดยสรุปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานสามารถแบ่งได้ 2 แบบคือ ความสัมพันธ์แบบสมดุล กับความสัมพันธ์แบบไม่สมดุล
7.1 ความสัมพันธ์แบบสมดุล ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดจากคู่สนทนาทั้งสองมีระดับชั้นทางสังคมเท่าเทียมกัน ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ความเท่าเทียมนี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ไม่มีความแตกต่างทางเพศและอายุ ไม่มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมเป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากมีความเท่าเทียมหรือเป็นในสิ่งเดียวกัน ผู้คนจะมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน คำเรียกขานที่เกิดจากความเท่าเทียมกันนี้ทั้งสองฝ่ายจะใช้คำในลักษณะเดียวกัน หรือกระทั่งใช้คำเดียวกันเรียกกัน เช่น ภาษาจีนเพื่อนร่วมงาน เรียกกันและกันด้วย 姓+ 老师 ภาษาไทยใช้ “อาจารย์ + ชื่อ” เพื่อนนักเรียนเรียกกันด้วยชื่อ และต่างคนต่างแทนตัวเองว่า 我 “ฉัน” คนแปลกหน้าเรียกกันด้วย 同志,师傅 “ท่าน คุณ” คำเรียกที่เรียกบุคคลโดยรวม เช่น 亲爱的兄弟姐妹们 “พี่น้องที่รักทั้งหลาย” 农民兄弟 “พี่น้องเกษตรกรทุกท่าน” ก็ให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นกัน หากเรากำหนดให้ A เป็นผู้ส่งสารเรียก B ด้วยคำเรียกขานใดๆ เมื่อ B เป็นผู้ส่งสารก็ใช้คำเรียกขานอย่างเดียวกันเรียก A ดังแผนภูมิต่อไปนี้
7.2 ความสัมพันธ์แบบไม่สมดุล ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดจากฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น พละกำลัง สถานภาพทางสังคม เพศ อายุ ความสามารถในการเอื้อประโยชน์ การศึกษาสูงกว่าเป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบไม่สมดุลขึ้น ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถใช้คำเรียกขานที่แสดงออกถึงอำนาจ ความเหนือกว่า ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องใช้คำที่แสดงความถ่อมตัว แสดงความเคารพ แสดงการขอร้องอ้อนวอน หรือใช้คำที่จะทำผู้ฟังพึงพอใจ คำเรียกขานที่แสดงถึงความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียม ผู้มีสถานภาพต่ำกว่าเรียกผู้มีสถานภาพสูงกว่าด้วยคำจำพวก [คำเรียกอาชีพ ยศ ตำแหน่ง] [คำเรียกญาติ] [ คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ] แล้วเรียกตัวเองด้วยชื่อ หรือสรรพนามแสดงความเคารพและสุภาพ ในขณะที่ผู้มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าเรียกผู้มีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าด้วย [ชื่อ] หรือคำ [อุทาน] หากเรากำหนดให้ A เป็นผู้ส่งสารเรียกตัวเองและเรียก B ด้วยคำเรียกขานที่แสดงถึงอำนาจที่เหนือกว่า เมื่อ B มาเป็นผู้ส่งสารบ้างกลับเรียกตัวเองด้วยคำเรียกขานที่แสดงอำนาจน้อยกว่า และเรียก A ด้วยคำที่แสดงความเคารพ สามารถสรุปเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
จากการวิจัยสำรวจความถี่ในการใช้คำเรียกขาน เปรียบเทียบกับความสมดุล และความไม่สมดุลของคู่สนทนาแล้วพบว่าระดับคำเรียกขานแต่ละประเภทมีระดับความสุภาพ ความเคารพและความสนิทสนมต่างกัน ซึ่งปริมาณของความสุภาพและความเคารพจะมีทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางของความสนิทสนม นั่นก็หมายความว่าคำที่มีปริมาณความสนิทสนมมาก จะมีความสุภาพน้อย คำที่มีความสุภาพมากก็จะมีความสนิทสนมน้อย ดังแสดงให้เห็นในแผนภูมิต่อไปนี้
ตาราง เปรียบเทียบระดับความเคารพ ความสุภาพและความสนิทสนมของคำเรียกขานในภาษาไทย
ระดับ -
ความ
สุภาพ
และ
ความ
เคารพ
ของ
คำ
เรียก
ขาน + ชื่อ +
ระดับ
ความ
สนิท
สนม
ของ
คำ
เรียก
ขาน
-
คำเรียกญาติ + ชื่อ
คำเรียกญาติ
คำเรียกทั่วไป + คำเรียกญาติ
คำเรียกทั่วไป + ชื่อ
คำเรียกทั่วไป
อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง+ชื่อ
อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง
คำราชาศัพท์
ตาราง เปรียบเทียบระดับความเคารพ ความสุภาพและความสนิทสนมของคำเรียกขานในภาษาจีน
ระดับ -
ความ
สุภาพ
และ
ความ
เคารพ
ของ
คำ
เรียก
ขาน
+ ชื่อ +
ระดับ
ความ
สนิท
สนม
ของ
คำ
เรียก
ขาน
-
นามสกุลและชื่อ
ชื่อ + คำเรียกญาติ
คำบอกอายุ + คำเรียกญาติ
นามสกุล ชื่อ+คำเรียกญาติ
คำเรียกญาติ / คำเรียกญาติปลอม
นามสกุล + คำเรียกทั่วไป
นามสกุล + อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง
นามสกุล ชื่อ+คำเรียกทั่วไป
นามสกุล ชื่อ+อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง
จากตารางทั้งสองอธิบายได้ดังนี้
เครื่องหมาย “ + ” หมายถึงมีระดับและปริมาณสูง เครื่องหมาย “ - ” หมายถึงมีระดับและปริมาณต่ำ ช่องซ้ายมือหมายถึงระดับความเคารพและความสุภาพจากต่ำไปสูง ช่องขวามือหมายถึงระดับความสนิทสนมสูงไปต่ำ ช่องกลางหมายถึงคำเรียกขานที่ใช้ในแต่ละภาษา
จากแผนภูมิจะเห็นว่า นอกจากคำราชาศัพท์ในภาษาไทยแล้ว [อาชีพ /ยศ/ ตำแหน่ง] คือคำที่มีระดับความเคารพและสุภาพมากทั้งในภาษาไทยและภาษาจีน ส่วนชื่อก็เป็นคำที่มีระดับความสนิทสนมมากทั้งในภาษาไทยและภาษาจีนเช่นเดียวกัน
ความสัมพันธ์แบบสมดุลและไม่สมดุลนี้ตรงกันกับทฤษฎีของ Brown &Gilman (1972) ที่ได้ศึกษาภาษาอินโดยุโรเปี้ยนในปี1960 แล้วสรุปปัจจัยที่มีผลต่อการใช้คำเรียกขานว่ามีสองประการได้แก่ Power คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อันได้แก่ พละกำลัง ฐานะ อายุ เพศ สถานะในครอบครัว บทบาททางสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมขึ้น ส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานแบบไม่สมดุล และปัจจัยอีกอย่างคือ Solidarity คือความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้น ได้แก่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สถานภาพทางสังคม อายุ เพศ ศาสนา เชื้อชาติ ถิ่นฐาน อาชีพที่เท่าเทียมกันหรือเป็นอย่างเดียวกัน ปัจจุยเหล่านี้ทำให้เกิดให้เกิดความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ส่งผลต่อการใช้คำเรียกขานแบบสมดุล
8. สภาพแวดล้อมกับคำเรียกขาน
บุคคลดำเนินชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มีประสบการณ์ต่างกัน ประสบการณ์ที่แตกต่างเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ภาษา สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้คำเรียกขานมีดังนี้
8.1 สถานการณ์ในการใช้ภาษา การใช้ภาษาในศาล การประชุม พิธีการ ใช้ภาษาที่เป็นทางการ ส่วนภาษาพูดทั่วไป การสนทนาพาทีกันในครอบครัว กลุ่มเพื่อน การซื้อขานสินค้าในตลาด การพูดคุยสังสรรค์ ในสถานการณ์แบบนี้ใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ คำเรียกขานที่ใช้เป็นภาษาหนังสือกับภาษาพูดแตกต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นคำต่างชุดกันเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์กันแบบใด มีความสนิทสนมกันมากเพียงใด แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เป็นทางการก็ไม่สามารถใช้คำเรียกขานที่แสดงความสนิทสนมนั้นได้ เช่น เราไม่สามารถเรียกเพื่อนสนิทที่เป็นผู้พิพากษาในขณะพิจารณาคดีว่า “มึง” ได้ และแน่นอนว่าก็ไม่สามารถเรียกตัวเองว่า “กู” ได้เช่นกัน หรือในการสนทนาพาทีทั่วไป ไม่ได้มีพิธีการอะไรแล้วเรียกเพื่อนที่สนิทกันว่า “ท่าน” แล้วเรียกตัวเองว่า “กระผม” ก็ดูจะไม่ใช่ปกติวิสัย ในละครโทรทัศน์จีนเรื่อง《别了,温哥华》 “จากกันที่แวนคูเวอร์” มีตอนหนึ่งที่นางเอกขึ้นศาล มีคนใช้เป็นพยาน พยานพูดว่า 我看见叔叔打阿姨,哦!不对,是被告打原告。 “ฉันเห็นคุณอาตีคุณน้า, เอ่อ..ไม่ใช่ค่ะ, เห็นจำเลยตีโจทย์” เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้พูดเปลี่ยนคำเรียกขานไปตามสถานการณ์การใช้ภาษา
จากการวิจัยพบว่าคำที่นิยมใช้ในสถานการณ์ที่เป็นทางการในภาษาไทยได้แก่ [คำเรียกทั่วไป +ชื่อ+นามสกุล], [อาชีพ/ยศ/ตำแหน่ง + ชื่อ + นามสกุล] ในภาษาจีนได้แก่ [คำเรียกทั่วไป], [อาชีพ/ยศ/ตำแหน่ง], [นามสกุลและชื่อ+คำเรียกทั่วไป] ส่วนคำที่ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการในภาษาไทยและภาษาจีนมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ ใช้รูปแบบ [ชื่อและนามสกุล], [ชื่อเล่น], [คำเรียกญาติ], [คำเรียกญาติ+ชื่อ]
8.2 แวดวงในการใช้ภาษา หมายถึงภาษาที่ใช้ในวงการอาชีพ หรือผู้มีลักษณะความรู้ ประสบการณ์ร่วมกันหรืออย่างเดียวกัน เช่น เราจะได้ยินคำเรียกขานจำพวก 上校 “พันเอก” 中尉 “ร้อยโท” 下士“สิบตรี” ในแวดวงทหารตำรวจ แต่เราจะได้ยินคำเรียกจำพวก 教授 “ศาสตราจารย์” 校长 “อธิการบดี” 系主任 “หัวหน้าภาควิชา” ในแวดวงมหาวิทยาลัย ในขณะที่เรามักไม่ค่อยได้ยินคำว่า 室内设计师 “มัณฑนากร” 工程师 “วิศวกร” ในแวดวงการแพทย์เพราะเป็นคำเรียกขานในแวดวงวิศวกรรม และแน่นอนว่าเราก็มักจะไม่ค่อยได้ยินคำเรียก 护士 “พยาบาล” 脑科医生“แพทย์ระบบประสาท” 内科医生 “แพทย์ภายใน” ในแวดวงวิศวกรรมเช่นเดียวกัน เพราะเป็นคำเรียกขานในแวดวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตามคำเรียกขานบางอย่างไม่จำกัดใช้เฉพาะในแวดวงใดแวดวงหนึ่ง เมื่อออกจากแวดวงหนึ่งไปสู่อีกแวดวงหนึ่ง คำเรียกขานที่บอก อาชีพ ยศ ตำแหน่งอาจติดตัวไปด้วย เช่น เมื่ออาจารย์ไปที่โรงพยาบาลผู้อื่นก็ยังคงเรียกว่าอาจารย์ คนเป็นหมอเมื่อไปที่แวดวงอื่นที่มีคนรู้จักก็ยังเรียกว่าหมอ และบางคนเป็นทั้งสองอาชีพสามารถเรียกทั้งสองอาชีพได้ เช่น “อาจารย์หมอ” เพราะเป็นทั้งหมอและเป็นทั้งอาจารย์ที่สอนหมอด้วย
8.3 ถิ่นฐานในการใช้ภาษา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างกันมีภาษาถิ่นแตกต่างกัน ทำให้การใช้คำเรียกขานแตกต่างกันตามแต่ละท้องที่ เช่น ในภาษาจีนที่เมือง 成都 เฉิงตู ( 郭锦桴 : 1993) คำว่า祖父 “ปู่” มีความหมายรวมญาติฝ่ายพ่อสองบุคคลคือ 曾祖父 “ปู่ทวด” และ 曾祖母 “ย่าทวด” คำว่า 俺 俺们 俺家 俺咱เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ในภาษาถิ่นซานตง ในแวดวงตำรวจภาษาถิ่นฮ่องกง มักใช้คำเรียกจำพวก阿SIR เป็นคำเรียกผู้บังคับบัญชาชาย และใช้คำว่า madam เรียกผู้บังคับบัญชาหญิง ภาษาชนกลุ่มน้อยแมนจูก็ทิ้งร่องรอยไว้ในภาษาจีนไม่น้อย เช่น 阿玛鹜 “พ่อ” 格格 “องค์หญิง” (吉常宏: 2000) ตัวอย่างในภาษาไทยเช่น ภาษาอีสานเรียกพ่อแม่ว่า อีพ่อ อีแม่ บักเสี่ยว (เพื่อน) บักหล่า (คำเรียกเด็กผู้ชาย) ภาษาถิ่นใต้ เช่น นุ้ย “ใช้เรียกเด็กผู้หญิง” ไข่ “ใช้เรียกเด็กผู้ชาย” หลวง “เหมือนคำว่าทิดในภาษาไทย” ภาษาถิ่นเหนือเรียก เปิ้น ป้อ ป้อจาย ก็ไม่มีใช้ในภาษากลางเช่นเดียวกัน
8.4 ยุคสมัยในการใช้คำเรียกขาน ภาษามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คำในยุคสมัยหนึ่งใช้เรียกหรือมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่แน่ว่าจะใช้ในความหมายเดิมหรือไม่ อาจเกิดการแปรความหมาย หลงเหลือความหมายเพียงบางส่วน สูญเสียความหมายเดิมไปหรือกระทั่งสูญหายไปจากระบบภาษาเลยก็มี คำเรียกขานก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นคำเรียกบรรดาศักดิ์ขุนนางในราชสำนักไทยในสมัยโบราณจำพวก กรมหมื่น ขุน พระยา ปัจจุบันคงได้ยินเพียงในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช้ในชิวิตประจำวัน คำว่า “กู” ในสมัยสุโขทัยใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่หนึ่งทั่วไปตั้งแต่ชนชั้นกษัตริย์จนถึงสามัญชน แต่ปัจจุบันกลับเป็นคำสรรพนามที่มีความหมายหยาบคาย
ในภาษาจีนคำว่า 同志 ในยุคแรกๆ ใช้เป็นคำเรียกขานทั่วไปที่แสดงถึงความเท่าเทียม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ปัจจุบัน ความหมายของคำว่า 同志 มีแนวโน้มเปลี่ยนไป คือใช้เรียก “บุคคลรักร่วมเพศ” คำว่า 师傅 เดิมใช้เรียกครู อาจารย์ หรือผู้ชำนาญงานฝีมือ แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้เป็นคำเรียกทั่วไปแทนที่ 同志 ใช้เรียกคนทั่วไปเพื่อแสดงความเคารพและสุภาพ คำว่า 小姐 ในภาษาจีนเดิมใช้เรียกหญิงผู้สูงศักดิ์ หรือลูกสาวคหบดี อย่างที่ภาษาไทยแปลบทภาพยนตร์จีนคำนี้ว่า “คุณหนู” แต่ปัจจุบันความหมายของคำนี้เปลี่ยนไป คือใช้เรียก “หญิงบริการ” คำว่า 嫦娥 “จันทรเทวี” แต่ปัจจุบันความหมายเปลี่ยนไป หมายถึงหญิงสาวที่ออกร่อนเร่ในยามวิกาลเพื่อหาคู่นอน ในอดีตประเทศจีนปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ มีคำเรียกชนชั้นกษัตริย์มากมาย เช่น 皇帝 “กษัตริย์” 皇后 “มเหสี” 公主“องค์หญิง” 王子 “องค์ชาย” ปัจจุบันคำเหล่านี้ไม่มีใช้ในเหตุการณ์ปกติ หรือในชีวิตประจำวันอีกแล้ว
ในทางกลับกันคำเรียกขานที่ไม่มีในอดีตเกิดขึ้นใหม่มากมาย คำเรียกขานที่เกิดขึ้นใหม่มักสร้างขึ้นจากงานที่ทำบวกกับคำที่หมายถึงตัวบุคคล เช่น คนเก็บขยะ คนส่งเอกสาร พนักงานหน้าร้าน และใช้วิธีการยืมคำมาจากภาษาต่างประเทศ เช่น โปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ ดี.เจ. ดีลเลอร์ เป็นต้น ในภาษาจีนก็มีวิธีการสร้างคำเรียกขานใหม่ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น 服务员“พนักงานบริการ” 播音员“ผู้ประกาศ” 设计师“พนักงานออกแบบ” นอกจากนี้ยังใช้คำยืมจากภาษาต่าง ประเทศเช่น 的哥 “คนขับแท็กซี่เพศชาย” 吧女 “สาวบาร์” 麦当劳小姐 “พนักงานบริการในร้านแมคโดนัล” เป็นต้น
8.5 วัฒนธรรมความเชื่อในการใช้ภาษา วัฒนธรรมความเชื่อ ศาสนามีผลต่อการใช้คำเรียกขานมาก บางสังคมมีความคิดและให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างทางเพศ ก็จะมีคำเรียกขานที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางเพศมาก บางสังคมให้ความสำคัญกับความแตกต่างของอายุ ก็จะมีคำเรียกขานที่สะท้อนถึงความแตกต่างของอายุมาก ในบางสังคมมีความเชื่อ นับถือศาสนาและสิ่งลี้ลับ ก็ย่อมมีคำเรียกเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นจำนวนมาก ในขณะที่อีกสังคมหนึ่งที่ไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีคำเรียกขานเหล่านี้ ในภาษาจีนให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางเพศมาก ญาติที่เป็นฝ่ายชายหรือญาติฝ่ายพ่อ จะเป็นญาติในวงศ์ตระกูล มีคำว่า 堂 ระบุไว้หน้าคำเรียกขาน แต่ในขณะที่ญาติฝ่ายหญิงหรือญาติฝ่ายแม่ ถือเป็นญาตินอกตระกูล มีคำว่า 表 ระบุไว้ แต่ในภาษาไทยไม่มีคำเรียกขานที่แบ่งญาติฝ่ายพ่อฝ่ายแม่ชัดเจน มีคำจำนวนมากที่ใช้เรียกได้ทั้งญาติฝ่ายพ่อและญาติฝ่ายแม่
คนไทยนับถือศาสนา และนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีคำเรียกขานที่เกี่ยวกับศาสนามาก เช่น พระอินทร์ พระพรหม นาค พระฤๅษี ทิด แม่ชี พราหมณ์ ภิกษุ เณร เจ้าแม่ตะเคียนทอง แม่ย่านาง ผีนางตานี ผีปอบ ปอบหยิบ กระสือ ในขณะที่ภาษาจีนไม่เชื่อเรื่องงมงาย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ คำเรียกประเภทนี้จึงมีอยู่น้อยมาก หรือไม่มีเลย แม้ประเทศจีนจะนับถือศาสนาพุทธเป็นประจำชาติ มีคำเรียก 和尚 “พระ” 尼姑 “แม่ชี” 沙弥 “สามเณร” 观音婆萨 “โพธิสัตว์กวนอิม” 四面佛 “พุทธสี่หน้า” หรือความเชื่อเรื่องเทพเจ้าที่มีมาแต่ดั้งเดิม มีคำเรียก 土地神 “เทพพื้นดิน” 门神 “เทพประตู” 雨神 “เทพวิรุน” 雷神 “เทพอัคนี” แต่ก็เป็นความเชื่อที่หลงเหลืออยู่ในคนกลุ่มน้อยเท่านั้น คนจีนปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อเหล่านี้แล้ว
บทสรุป
จากการศึกษาวิจัยสามารถสรุปปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนได้สองหัวข้อสำคัญคือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้
1. ปัจจัยภายใน คือปัจจัยที่อยู่ในตัวผู้สนทนา ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพทางสังคม
เจตนา อารมณ์ความรู้สึก ชนชาติ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้คำเรียกขานโดยตรง ในบรรดาปัจจัยภายในเหล่านี้ ปัจจัยที่คงที่คือเพศและอายุของคู่สนทนา ซึ่งในขณะเรียกขานกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใด ช่วงเวลาใด สถานที่ใดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นปัจจัยทั้งสองอย่างนี้จึงมีความสำคัญในการควบคุมการเลือกใช้คำเรียกขานอย่างมั่นคง และชัดเจน จากการศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีนก็พบว่าปัจจัยทั้งสองเป็นปัจจัยที่มีความ สำคัญอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าในภาษาใดจะถือเอาปัจจัยใดเป็นสำคัญเป็นอันดับหนึ่งหรือสอง ซึ่งในการศึกษาก็พบแล้วว่าในภาษาไทยให้ความสำคัญกับปัจจัยอายุเป็นอันดับแรกรองลงมาคือปัจจัยเพศ ซึ่งกลับกันกับภาษาจีนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยเพศเป็นอันดับแรกและรองลงมาคือปัจจัยอายุ
2. ปัจจัยภายนอก คือปัจจัยที่อยู่นอกตัวผู้เรียกและผู้ถูกเรียก สังคมวัฒนธรรม สถานภาพ
ทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนา สภาพแวดล้อมทางภาษา ยุคสมัยและระบบภาษา ในปัจจัยเหล่านี้ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้คำเรียกขานที่เด่นชัดที่สุดคือ “ความสัมพันธ์ของคู่สนทนา”
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อผู้สนทนาจะเลือกใช้ภาษาในแต่ละครั้ง มักจะมีปัจจัยหลายๆอย่างควบคุมการเลือกใช้ไปพร้อมๆกัน บางครั้งก็สามารถชี้ได้ชัดเจนว่าเป็นปัจจัยใดบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ในการเลือกใช้ภาษาครั้งหนึ่งๆที่มีปัจจัยมากกว่าหนึ่งปัจจัยควบคุมอยู่นั้น ปัจจัยใดมีอิทธิพลมาก ปัจจัยใดมีอิทธิพลน้อย สิ่งสำคัญที่สุดคือความเคยชินของเจ้าของภาษา ซึ่งเกิดจากการสะสม บ่มเพาะ และถ่ายทอดทางวัฒนธรรมภาษาในแต่ละสังคมภาษานั่นเอง
บรรณานุกรม
[1] 吉常宏(2000)《汉语称谓大词典》,河北教育出版社,石家庄。(2000)
[2] 韩]金炫兄(2002)《交际称谓语和委婉语》,台海出版社,北京。
[3] 田惠刚. (1998)《中西人际称谓系统》,外语教学与研究出版社,北京。
[4] 袁庭栋(1994)《古人称谓漫谈》,中华书局,北京。
[5] Brown Roger & Gilman Albert (1972),The pronoun of power and solidarity , In Fishman
(ed.)Rearing in The Sociology of Language.
[6] Cooke Joseph Robinson(1966),Pronomial Reference in Thai, Burmese, and Vietnamese,
Dissertation Abstracts International, Ann Arbor, 1966, Vol.26.
[7] Ervin-Trip Susan M.( 1972) An Analysis of the interaction of Language, Topic and
Listener,In Fishman(ed.) Reading in The Sociology of Language.
[8] Kalaya Tingsabadh & Amara Prasitrathsint(1986),The Use of Address Terms in Thai during the Ratanakosin period , Chulalongkorn University : Bangkok Thailand.
[10] Lohtrakullwat Chutharat (1998) A comparative study of Addressing terms in France and
Thai , M.A. Thesis in linguistics, Chulalongorn University Thailand.
[11] Palakornkul A.(1975), A Sociolinguistics study of pronominal usage in spoken Bangkok
Thai ,International Journal of the Sociology of Language, 5, pp. 11-41.
วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน
คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าเป็น
คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท– จีน
บทคัดย่อ
ภาษาอีสานและภาษาไทยเกี่ยวข้องกับภาษาจีนในฐานะภาษาร่วมตระกูลไท-จีน ในภาษาอีสานมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นจำนวนมากที่ไม่มีในภาษาไทย แต่กลับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคำในภาษาจีน จึงคาดว่าน่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน คำดังกล่าวนี้ไม่เพียงพบเฉพาะคำโดดพยางค์เดียวเท่านั้น แต่ยังพบในคำสองพยางค์ด้วย โดยเฉพาะในคำเสริมสร้อยสองพยางค์ มีคำที่คาดว่ามาจากรากศัพท์เดิมพยางค์เดียวในภาษาจีน เกิดการแตกพยางค์ออกเป็นคำซ้อนสองพยางค์ในภาษาอีสาน ใช้วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกัน ทำหน้าที่ขยายความ บอกคุณลักษณะ จำนวน ปริมาณ เพื่อเน้นย้ำความหมายให้หนักแน่น ชัดเจนและเด่นชัดยิ่งขึ้น จากการศึกษาชี้ชัดว่าคำศัพท์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กันจริง จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นคำศัพท์ร่วมตระกูลไท– จีน
คำสำคัญ ภาษาตระกูลไท ภาษาอีสาน คำเสริมสร้อยภาษาอีสาน คำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท–จีน
Disyllabled Reduplicated Words in Isan Dialect Which Are Assumed to be Sino-Tai Cognate Words
Abstract
Isan dialect and Thai are related to Chinese as they are from the same family—Sino-Tai.There are many Isan words that are not endemic in Thai language, but tightly related to Chinese. Therefore, it is assumed that they are Sino-Tai cognate words. Those Sino-Tai cognate words are found as both monosyllable and multisyllable. In case of multisyllabled reduplicated words, their root words are thought to be Chinese monosyllable which, then, become disyllable reduplicated words in Isan dialect. Those words are usually placed after a word to describe quality and magnify quantity in order to make the meaning of that particular word stronger, clearer and more distinct. This study points out that some Chinese words and some disyllabled reduplicated words in Isan dialect are closely related. In conclusion, those disyllabled reduplicated words in Isan dialect are Sino-Tai cognate words.
Key words : Tai language, Isan dialect, Isan reduplicated words, Sino-Tai cognate words
บทนำ
ในหนังสือ ลักษณะและการใช้ภาษาไทยของบรรจบ พันธุมธา (บรรจบ:2537) ให้ความหมายของ คำซ้ำ ว่า คือคำคำเดียวกันนำมากล่าวสองครั้ง มีความหมายเน้นหนัก หรือบางทีต่างกันไปกับคำเดี่ยวเพียงคำเดียว จึงถือว่าเป็นคำสร้างใหม่ มีความหมายใหม่ทำนองเดียวกับคำซ้อน ต่างกันก็แต่เพียงคำซ้ำใช้คำคำเดียวกันซ้อนกันเท่านั้น ส่วน คำซ้อน คือ คำที่มีคำเดี่ยว 2 คำ อันมีความหมายคล้ายหรือใกล้เคียงกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ซ้อนเข้าคู่กัน เมื่อซ้อนแล้วจะมีความหมายใหม่เกิดขึ้น แม้ว่าบางคำความหมายจะไม่แปลกไปกว่าเดิมมากนัก แต่ก็ต้องมีความหมายและที่ใช้ต่างออกไปบ้าง คำซ้อนแบ่งออกเป็น คำซ้อนเพื่อความหมาย วิธีสร้างคำก็คือ นำคำเดี่ยวที่มีความหมายสมบูรณ์ที่มีใช้ในภาษามาซ้อนเข้าคู่กัน ซ้อนกันแล้วเกิดความหมายใหม่ คำซ้อนเพื่อเสียง มุ่งที่เสียงยิ่งกว่าความหมาย คำที่เข้ามาซ้อนกันจึงอาจจะไม่มีความหมายเลย หรือมีความหมายเพียงคำใดคำเดียว วิธีสร้างคำก็คือนำคำที่เสียงมีที่เกิดระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกันซ้อนกันเข้า ซ้อนกันแล้ว จะเกิดความหมายใหม่
ภาษาไทยถิ่นอีสานถือได้ว่าเป็นภาษาที่ร่ำรวยคำซ้อนเพื่อเสียงมากที่สุดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาถิ่นตระกูลไทย จากการนำคำศัพท์สองคำมาซ้อนกัน หรือจากคำศัพท์คำเดียว แล้วแตกคำเป็นสองพยางค์ด้วยสระที่สัมพันธ์กัน จากนั้นคำซ้อนสองพยางค์นี้ยังสามารถแตกตัวไปเป็นคำใหม่ได้อีกหลายคำด้วยวิธีการแปรเสียงสระ คำใหม่ที่เกิดจากเสียงสระต่างระดับกันนี้ มีผลต่อความหมายในการขยายออก หรือแคบเข้าที่ต่างระดับกัน ตัวอย่างคำเช่น เช่น จิ่งปิ่ง จ่องป่อง จึ่งปึ่ง โจ่งโป่ง คำทั้งสี่คำนี้บอกลักษณะของช่อง โพรง ที่สายตามองทะลุได้ มีลักษณะจากเล็กถึงใหญ่ 4 ระดับ และถ้าขนาดใหญ่มากอย่างไม่มีขอบเขต ยังสามารถแปรสระเพื่อขยายความหมายออกไปอีกเป็นคำที่ 5 ว่า จ่างป่าง คำเหล่านี้ใช้วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกันเพื่อเสริมคำ ทำหน้าที่บอกลักษณะหรือขยายความหมายของคำหน้า ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีคำซ้อนอีกจำนวนมากที่ซ้อนเข้ามาโดยไม่ได้บอกความหมายใดๆ แต่เป็นเพียงคำสร้อยให้คำไพเราะหรือสละสลวยเท่านั้น เช่นคำว่า ค้งน้ง เป็นคำบอกสิ่งของที่มีลักษณะรูปโค้งขนาดใหญ่ นิยมพูดเป็นสร้อยคำว่า ค้งน้งเค้งเน้ง โดยคำที่เพิ่มมาก็ยังคงหมายถึงลักษณะโค้งเหมือนเดิม มิได้บอกลักษณะอย่างอื่นที่แตกต่างกันแต่อย่างใด แต่หากต้องการบอกลักษณะโค้งแต่มีขนาดเล็กลงใช้คำว่า ค้องน้อง ซึ่งก็สามารถมีสร้อยคำ พูดเป็น ค้องน้องแค้ง แน้ง ก็ได้
จากลักษณะการสร้างคำและการใช้ของคำภาษาไทยถิ่นอีสานข้างต้นที่ใช้เพื่อเสริมความหมาย และใช้เป็นสร้อยคำนี้ ในที่นี้จึงจะเรียกคำประเภทนี้ว่า “คำเสริมสร้อย”
คำเสริมสร้อยในภาษาอีสานดังกล่าวข้าวต้นนี้มาจากไหน สมมติฐานของงานวิจัยนี้คือ เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายในตระกูลภาษาไท-จีน คำถามต่อไปก็คือ ภาษาอีสานเกี่ยวข้องกับภาษาจีนได้อย่างไร ในการจัดกลุ่มตระกูลภาษาไท จัดให้ภาษาอีสานมีความสัมพันธ์กับภาษาไทยในฐานะภาษาถิ่นกับภาษามาตรฐาน ในขณะที่ภาษาไทยเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นภาษาร่วมตระกูลกัน ภาษาอีสานจึงมีฐานะเป็นภาษาร่วมตระกูลกับภาษาจีนด้วยเช่นกัน กอรปกับหลักฐานการอพยพย้ายถิ่นที่มีข้อมูลชี้ชัดว่าชาวอีสานมีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน ทั้งภาษาและเชื้อชาติของชาวไทยและชาวอีสานจึงมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนอย่างใกล้ชิด ดังจะพบว่าในภาษาอีสานมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นจำนวนหนึ่งที่ไม่มีในภาษาไทย จากข้อมูลที่เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นดังที่กล่าวมาจึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า คำภาษาอีสานที่ไม่มีในภาษาไทยดังกล่าวนี้เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีน เนื่องจากสามารถหาคู่คำที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอีสานคำว่า “ส่วง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 爽 (shuang3) หมายถึง ปลอดโปร่ง โล่งสบาย คำภาษาอีสานว่า “เหิง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 恒 (heng2) หมายถึง ยาวนาน คำภาษาอีสานว่า “จ่าน” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 展 (zhan3) หมายถึง แผ่ออก ขยายออก กระจายออกไป ภาษาอีสานคำว่า “ซอง หรือ ซ่อง” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 双 (shuang1) หมายถึง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ ภาษาอีสานคำว่า “ซะ” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 撒 (sa3) หมายถึง หว่าน โปรย กระจัดกระจาย เป็นต้น
ข้างต้นเป็นคำพยางค์เดียวในภาษาอีสานที่สามารถหาคู่คำที่มีความสัมพันธ์กันกับภาษาจีน นำไปสู่การสันนิษฐานเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมตระกูลได้ นอกจากนี้ยังพบลักษณะคำศัพท์ร่วมเชื้อสายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ คำที่สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์เดิมพยางค์เดียวในภาษาจีน ที่เรียกว่าเป็นรากศัพท์เนื่องจากว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสานที่พบ คำพยางค์แรกหรือพยางค์ที่สองเป็นคำที่มีความสัมพันธ์กับภาษาจีน เกิดการแตกตัวเพิ่มพยางค์หน้าหรือหลังอย่างมีหลักเกณฑ์ใช้เป็นคำซ้อนเพื่อเสียง วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกัน ทำหน้าที่ขยายความ บอกจำนวนคุณลักษณะ ปริมาณ เพื่อเน้นย้ำความหมายให้หนักแน่น ชัดเจนและเด่นชัดยิ่งขึ้น ตัวอย่างคำเช่น
ซ่องล่อง / บอกลักษณะสิ่งของที่อยู่เป็นคู่/ 双 shuang1 /คู่/
จ่านพ่าน / บอกลักษณะของการแผ่ขยายออก/ 展 zhan3 /ขยาย/
ต้างหล้าง /ลักษณะที่เป็นหลุมโพรง/ 凼 dang1 /หลุม โพรง/
ก่งด่ง / บอกลักษณะของที่โค้ง/ 弓 gong1 / โก่ง โค้ง/
ซะซาย /บอกลักษณะสิ่งของที่กระจัดกระจาย/ 洒 sa3 / กระจัดกระจาย/
ตัวอย่างประโยค ไปนำกันเป็นคู่ซองลอง (ไปด้วยกันเป็นคู่....) แผ่จ่านพ่านอยู่ฮั่น(แผ่......อยู่ตรงนั้น) เป็นฮูต้างหล้าง(เป็นรู.......) ฮุ่งโค่งค้งน้ง (รุ้งโค้ง......) วางของเฮี่ยฮาดซะซาย (วางของเรี่ยราด.......) ใน / ....../ คือคำเสริมสร้อยที่ทำหน้าที่ขยายความ บอกลักษณะเน้นย้ำคำที่นำมาข้างหน้าให้เด่นชัดและเข้มข้นมากขึ้น ไม่มีคำแปลในภาษาไทย
จากตัวอย่างข้างต้นเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าคำในทั้งสองภาษานี้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่จะมีคำในลักษณะนี้มากน้อยเพียงใด เกี่ยวข้องกันอย่างไร ระดับใด จะได้กล่าวในบทความนี้ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1. ความสัมพันธ์ของภาษาอีสาน ภาษาตระกูลไท และภาษาจีน
1.1 ภาษาตระกูลไท และการศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท – จีน
1.2 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไท ภาษาไทยถิ่นอีสาน ชนชาวไทและชาว
อีสาน
1.3 การศึกษาที่เกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน
2. คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท - จีน
1. ความสัมพันธ์ของภาษาอีสาน ภาษาตระกูลไท และภาษาจีน
ก่อนจะไปถึงข้อมูลกลุ่มคำศัพท์ดังกล่าว จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดแบ่งภาษาตระกูลไท การศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท–จีน การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไทยและภาษาไทยถิ่นอีสาน เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาจีน รวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องคำเสริมสร้อยในภาษาไทยถิ่นอีสานด้วย
1.1 ภาษาตระกูลไท และการศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท – จีน
เกี่ยวกับการจัดแบ่งตระกูลภาษาของภาษาไทยนี้นักภาษาศาสตร์มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปหลายทฤษฎี ความแตกต่างนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดแบ่งตระกูลภาษา หากแต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงชื่อเรียกภาษาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไทย ไท ไต ได ลาว สยาม กัมไท ในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน มีตัวอักษรที่เรียกชื่อภาษาไทหรือชาวไทอย่างน้อยสี่ตัวขึ้นไป คือ泰 (tai4) 傣 (dai3) 台 (tai) 暹 (xian1) แต่เราจะไม่ถกเรื่องชื่อเรียกภาษาไทในที่นี้ เพราะมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมายแล้ว เช่น เรืองเดช (2531) ในหนังสือชื่อ “ภาษาถิ่นตระกูลไทย” จิตร(2519) ในหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” สุริยา (2548) ในหนังสือชื่อ “นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท” ผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ตามรายการทีให้ในบรรณานุกรม
แต่สิ่งสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การจัดแบ่งตระกูลภาษาที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยและภาษาจีนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผู้เขียนจะเรียกตาม สุริยา (2548) ที่ว่าคำว่า “ไท” เป็นคำที่เป็นกลางมากที่สุด ในบทความนี้จึงจะเรียกตามว่า “ภาษาตระกูลไท” ยกเว้นการอ้างอิงข้อความคิดของนักวิชาการท่านอื่น จะคงคำเรียกตามที่อ้างมา
โดยทั่วไปถือว่าภาษาไทยเป็นตระกูลย่อยภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาใหญ่ จีน-ธิเบต ซึ่งภาษาตระกูลจีน – ธิเบตนี้ เป็นตระกูลภาษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาคือ (1)สาขาภาษาจีน (2)สาขาภาษาไทย (3) สาขาแม้วเย้า (4) สาขาธิเบตพม่า (เรืองเดช: 2531) อย่างไรก็ตามนักภาษาศาสตร์หลายท่านเรียกชื่อตระกูลภาษานี้แตกต่างกันไป อย่างเช่น Grierson (1903-28) เรียกรวมเป็นตระกูลเดียวกันกับภาษาจีนว่า ตระกูลภาษาไทยจีน (Siamese-Chinese family) Benedict (1975) เรียกว่า ออสโตร – ไทย (Astro-Tai) เพราะเห็นว่าเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลออสโตรเนเชียน ต่อมามีการตั้งชื่อตระกูลภาษาไทอีกหลายชื่อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บ้างเรียกว่า ตระกูลภาษาไทย ตระกูลภาษาไต แยกออกมาเป็นตระกูลภาษาใหญ่ต่างหาก บ้างเรียกว่าตระกูลคำไต (KamTai family) และ ภาษาไดอิก (Daic) โดยรวมภาษาไทยถิ่นต่างๆที่พูดในประเทศต่างๆ 8 ประเทศเป็นตระกูลเดียวกันหมด (เรืองเดช: 2531) Benedict (1942) ได้ตั้งชื่อตระกูลภาษานี้ใหม่ว่า ตระกูลภาษาไทยกะได (Tai Kadai) เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาษาไทยถิ่นที่พูดอยู่ที่เกาะไหหลำ อ่าวตัวเกี๋ย และภาษากลุ่มตระกูลภาษาไทยที่พูดอยู่ที่ประเทศจีน และเวียดนามทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภาษาตระกูลไทโดยยึดเกณฑ์ต่างๆกัน เช่น พระยาอนุมานราชธน(อ้างในเรืองเดช : 2531) เป็นการจัดแบ่งโดยยึดหลักภูมิศาสตร์ ก็กล่าวถึงกลุ่มภาษาไทย-จีน คือภาษาไทยที่พูดอยู่เขตประเทศจีนบริเวณกวางสี ไกวเจา กวางตุ้ง เช่นภาษาไทยลาย ไทยลุง ไทยย้อย ไทยโท้ ไทยนุง ผลงานของนักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (1959) ที่ใช้หลักเกณฑ์ทางภาษา คือเกณฑ์ทางการกระจายคำศัพท์ ลักษณะทางเสียงและพัฒนาการทางเสียง ในการแบ่งกลุ่มภาษาไทยก็ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องของภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนกับภาษาไทยกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกหลายท่านที่ศึกษาภาษาตระกูลไท และจัดให้ภาษาที่พูดอยู่ในประเทศจีน หรือภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นสมาชิกในภาษาตระกูลไท เช่น John F. Hurtmann (1986) จัดแบ่งภาษาไทยเฉพาะกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ของ Li Fanggui เป็นกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่างนี้ครอบคลุมไปถึงตอนใต้สุดของตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังมีนักภาษาศาสตร์ในยุคต่อจาก Li Fanggui อีกหลายท่าน เช่น Marwin Brown (1965), William J.Gedney(1972), James R.Chamberlain(1972) ก็ได้ดำเนินรอยตาม Li Fanggui โดยในการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทล้วนมีความเกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลจีน หรือเป็นภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนทั้งสิ้น เรืองเดช (2531) นักวิชาการภาษาตระกูลไทยได้จัดแบ่งภาษาตระกูลไทยออกเป็น “กลุ่มไท” โดยรวมภาษากลุ่มไทสยามและลาวไว้ในกลุ่มเดียวกัน และ “กลุ่มไต” รวมภาษาไตยวน ไตหลวง ไตจีนไว้ด้วยกัน จากข้อมูลการศึกษาและการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทจะเห็นว่าภาษาไทยมีร่องรอยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภาษาจีนอยู่
ตามทรรศนะของนักวิชาการจีน จัดภาษาไทยอยู่ในภาษาตระกูลจีนธิเบต สาขาภาษาต้งไถ สาขาย่อยภาษาไต (梁敏,张均如:1996) และเพื่อยืนยันว่าภาษาไทยจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาเดียวกัน การศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนจึงเป็นความสนใจของนักภาษาศาสตร์และนักศึกษาภาษาไทย-จีนมาช้านาน
ผลงานที่สำคัญที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาจีน โดยวิธีการเปรียบเทียบคำศัพท์ เช่น A.Conrady, K.Wulff (อ้างใน龚群虎:2002) รวบรวมคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทย-จีนกว่า 200 คำ ประพิน (P.Manomaivibool:1975) รวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ ที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนถึง 600 คำ นักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (李方桂:1976) ได้รวบรวมคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาจีนกับภาษาในสาขาภาษาไท (ไต) ร้อยกว่าคำ และงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่สนับสนุนแนวคิดคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนคือ ผลงานของ Gong Qunhu (龚群虎:2002) ผลการวิจัยนี้เปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยกับภาษาจีน และชี้ให้เห็นวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของภาษาไทยและจีนในแต่ละยุค แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ (1) คำศัพท์ร่วมสายเลือดภาษาไทยจีนซึ่งหมายถึงคำศัพท์ที่เคยเป็นภาษาเดียวกันมาตั้งแต่อดีต (2) คำศัพท์ที่มีการถ่ายเทซึ่งกันและกันในยุคสองพันปีลงมา (3) คำศัพท์ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาจีนในยุคที่ชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในระยะร้อยสองร้อยปีมานี้
1.2 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไท ภาษาไทยถิ่นอีสาน ชนชาวไทและชาวอีสาน
หนังสือชื่อ ภาษาถิ่นตระกูลไทย (เรืองเดช:2531) ได้จัดกลุ่มภาษาถิ่นตระกูลไทยในประเทศไทยเป็น 19 ภาษาถิ่นด้วยกัน ในจำนวนนี้มีภาษาไทลาว หรือภาษาไทยถิ่นอีสาน (Northeastern Thai Dialect) เป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่ง และได้อธิบายว่า ภาษาไทยถิ่นอีสานได้แก่ ภาษาไทยลาวที่พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นนี้คนไทยในประเทศไทยนิยมเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอีสานหรือ ภาษาลาว มีพูดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 16 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นอีสานมีภาษาถิ่นอยู่หลายถิ่นหลายสำเนียง คือ 1.สำเนียงหลวงพระบาง (Luangphrabang Dialect) 2.สำเนียงเวียงจันทน์ (Vientien Dialect) 3. สำเนียงอีสาน (Isan Dialect) ต่อจากนี้ไปจะใช้คำเรียกภาษาไทยถิ่นอีสานตาม เรืองเดช ว่า “ภาษาอีสาน”
ปริญญานิพนธ์สองฉบับที่ศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาอื่นในกลุ่มภาษาตระกูลไท ได้แก่ ปริญญานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางกับภาษาตระกูลไท (พัชราภรณ์:2530) และปริญญานิพนธ์ เรื่อง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคำร่วมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลาง และภาษาถิ่นอีสาน (มะณีรัตน์ :2538) ทั้งสองเป็นการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับคำในภาษาอีสานกับคำร่วมเผ่าพันธุ์ในภาษาถิ่นตระกูลไทย
งานด้านพจนานุกรมและสารานุกรมภาษาอีสาน ทั้งที่แปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีอยู่หลากหลายผลงาน เป็นข้อมูลการเปรียบเทียบคำศัพท์ และข้อมูลคลังคำศัพท์ที่สามารถนำมาใช้ศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้เป็นอย่างดี รายชื่อหนังสือได้ให้ไว้ในเอกสารอ้างอิงแล้ว ซึ่งคำภาษาอีสานในบทความนี้ก็ได้ตรวจสอบจากพจนานุกรมดังกล่าวนี้เช่นกัน จากผลงานที่สำรวจได้ ยังไม่พบพจนานุกรมเปรียบเทียบภาษาอีสาน-จีน และจะเห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับภาษาอีสานนั้นยังคงศึกษาอยู่ในวงภาษาอีสานด้วยกันเองหรือเปรียบเทียบกับภาษาไทกลุ่มอื่นๆในประเทศไทยเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาอื่น ๆ ในตระกูลไท-จีนนอกประเทศไทย
หนังสือ พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน (สุจิตต์ :2549) แม้จะมิใช่หนังสือที่เกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาตระกูลไท–จีนโดยตรง แต่มีข้อมูลชี้ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติของชาวอีสานกับกลุ่มชนในประเทศจีนข้อหนึ่งที่ว่า บรรพบุรุษของชาวอีสานกลุ่มหนึ่ง ราว 3,000 ปีมาแล้ว มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนพวกนี้มาจากทางตอนใต้ของจีนปัจจุบัน (แต่ครั้งนั้น 3,000 ปีมาแล้ว ยังไม่เป็นดินแดนของจีน) เช่น ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง เวียดนาม ฯลฯ สิ่งสำคัญที่คนภายนอกพวกนี้นำเข้ามาด้วยคือ ภาษา ที่ปัจจุบันเรียกตระกูลไทย-ลาว มีหลักฐานแน่นหนาว่า เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว คนพื้นเมืองในกวางสี-กวางตุ้ง พูดภาษาตระกูลไทย-ลาวแล้ว
ในงานวิจัยเรื่อง การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ (สมพงศ์:2550) ได้อ้างถึง การจัดกลุ่มภาษาที่เป็นสายสัมพันธ์ภาษาไท และภาษาอื่นที่ใกล้เคียงในฐานะที่เป็นภาษาครอบครัวเดียวกัน และมีกำเนิดร่วมกันภายใต้ร่มใหญ่ของตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เรียกกลุ่มภาษานี้ว่า ภาษา “จ้วง-ต้ง” ซึ่งเป็นภาษาที่มีผู้พูดเป็นจำนวนมากและเชื่อว่าอาจเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นภาษาต้นกำนิดของภาษาไทก็ได้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษา “กำ - ไท” ในงานวิจัยนี้ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดและการย้ายถิ่นของชาติพันธุ์ไทไว้ด้วยว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนชาติไทอาจอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง จากนั้นเกิดการอพยพเคลื่อนย้ายและการก่อตั้งอาณาจักรไทตามที่ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มที่อพยพลงสู่ทางใต้เข้าสู่ตอนเหนือของเวียดนามและลาว ก่อตั้งเป็นอาณาจักรสิบสองเจ้า(จุ)ไท อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ส่วนหนึ่งได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งรกรากแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำยม-วัง-น่าน และก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพลงสู่เวียงจันทร์เข้าสู่ภาคอีสานและสู่อยุธยาและก่อตั้งเป็นอาณาจักรอยุธยา
จากข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาตระกูลไท–จีน และการศึกษาเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชนชาติไท เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่าภาษาไทยเป็นภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีน ในขณะที่ภาษาไทยกับภาษาอีสาน มีความสัมพันธ์กันแบบสายเลือดที่มีความใกล้ชิดอย่างพี่น้องร่วมท้องเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ภาษาอีสานจึงมีความสัมพันธ์แบบภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีนด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าในภาษาอีสานจะยังคงหลงเหลือคำศัพท์ (ที่ไม่มีในภาษาไทย) ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีนมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
1.3 การศึกษาที่เกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน
การศึกษาเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน มีการศึกษาในชื่อต่างๆกัน หมายความว่า นักวิชาการแต่ละท่านเรียกชื่อคำที่บทความนี้เรียกว่า คำเสริมสร้อย แตกต่างกันไป ผลงานการศึกษามีทั้งในรูปแบบบทความทางวิชาการ และวิทยานิพนธ์ ดังนี้
บทความเรื่อง Iconicity of vowel qualities in Northeastern Thai reduplicated words (ธีรพันธ์:1979) และบทความเรื่อง ศึกษาคำซ้ำที่ใช้เป็นคำวิเศษณ์ และเสียงสระในคำขยายบางคำในภาษาอีสาน(ประคอง:2519) พบว่า คำขยายที่เป็นคำกริยาวิเศษณ์นอกจากให้ภาพและความรู้สึกแล้ว เมื่อเปลี่ยนเสียงสระยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับความแตกต่างของขนาด รูปร่างสัณฐาน และพจน์ของสิ่งที่คำกริยาวิเศษณ์ประกอบด้วย
นอกจากบทความข้างต้นแล้ว ยังมีวิทยานิพนธ์และปริญญานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตที่ศึกษาเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานจำนวนไม่น้อย เช่น วิทยานิพนธ์เรื่อง คำอุทานของภาษาอีสาน (พวงพยอม:2521) วิทยานิพนธ์เรื่อง คำวิเศษณ์สองพยางค์ในภาษาอีสาน (อุดม:2523) วิทยานิพนธ์เรื่องลักษณะคำซ้ำของภาษาลาวในภาษาถิ่นภูเวียง (วาสนา:2530) วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะคำซ้ำภาษาถิ่นนครไทยกับภาษาไทยถิ่นอีสานภูเวียง (เรณู:2534) วิทยานิพนธ์เรื่อง คำวิเศษณ์บอกลักษณะในภาษาถิ่นอีสาน (สอนศรี :2534) ปริญญานิพนธ์เรื่อง คำซ้อนในภาษาถิ่นอีสาน (สุวารี:2537) เป็นต้น
จากงานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจ และลักษณะพิเศษของคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน จึงทำให้มีการศึกษามาโดยตลอด แต่ในตอนต้นของบทความนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสานว่า คำพยางค์แรกมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีนมากทั้งเสียงและความหมาย ถึงขั้นที่ว่าคำบางคำเป็นคำเดียวกันก็ว่าได้ และได้สันนิษฐานว่าคำดังกล่าวเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน แต่จากการสำรวจงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีการศึกษาหรือสังเกตเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้
2. คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท - จีน
ต่อไปนี้จะนำเสนอข้อมูลคำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสาน เปรียบเทียบกับคำภาษาจีนที่คาดว่าน่าจะเป็นรากศัพท์คำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน ข้อมูลคำศัพท์ได้จากแหล่งข้อมูลสามที่คือ (1) พจนานุกรมภาษาอีสาน–ไทย (2) รายการคำเสริมสร้อยภาษาอีสานที่ได้จากภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง (3) ผู้บอกภาษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ โดยแบ่งระดับความเข้มข้นของข้อมูลดังนี้
ระดับเหมือนกัน สัญลักษณ์ A ต้องมีเสียงพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะท้ายเหมือนกัน อาจมีเสียงวรรณยุกต์ได้ และต้องทีความหมายเหมือนกัน
ระดับมีความสัมพันธ์กัน สัญลักษณ์ B ต้องมีพยัญชนะต้น สระและพยัญชนะท้ายเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกัน สามารถอธิบายได้ตามหลักทางสรวิทยา เช่น ฐานกรณ์ใกล้เคียงกัน เป็นเสียงปฏิภาค เป็นการแปรของเสียง เกิดการกร่อน การสูญหายของเสียงใดเสียงหนึ่ง แต่ยังคงมีเค้าเสียงของคำเดิมอยู่ เป็นต้น และมีความหมายที่เกี่ยวข้องกัน
ระดับน่าจะเกี่ยวข้องกัน สัญลักษณ์ C โดยดูจากรูปคำแล้วสามารถคาดเดาได้ด้วยหลักทางสรวิทยา
เช่น การแปรของเสียง การสูญหายของเสียง การแตกพยางค์เป็นต้น มีความหมายในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หรือเป็นเหตุเป็นผลกัน
ในช่องระดับความสัมพันธ์ หัวข้อเสียง จะมีตัวเลข 1 และ 2 กำกับหน้าอักษร A B C เพื่อบอกว่าเป็นพยางค์ที่หนึ่ง และพยางค์ที่สองตามลำดับ ส่วนคำที่เหมือนกันทั้งคำไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นพยางค์ใด จะใช้เลข 12 กำกับ
ภาษาอีสาน ภาษาจีน ระดับความ
สัมพันธ์
คำเสริมสร้อย ความหมาย อักษรจีน เสียง
อ่าน ความหมาย เสียง ความ
หมาย
ก
ก่งโก้ย อาการเดินหลังโกงเคลื่อนไปช้าๆ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งจ่ง อาการที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งด่ง อาการชี้ชันขึ้นแต่ปลายโค้งลงเช่นหางวัว 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก้วนด้วน กุด ขด ด้วน 棍 gun4 ท่อนไม้ 1A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
ก่วมส่วม อาการกิริยาไม่สำรวม เดินกรายหัว 甩 shuai3 สะบัด สลัด 2B B
กอกซอก ลักษณะอาการหม่นหมอง ซอมซ่อ 槁 gao3 เหี่ยวแห้ง แห้ง เหี่ยว 1B C
กอกวอก ซูบผอม ขนาดใหญ่ขึ้นใช้ โกกโวก 槁 gao3 เหี่ยวแห้ง แห้ง เหี่ยว 1B B
ก่องเก๊าะ อาการยืนก้มศีรษะเอามือจับเข่า 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
ก่องจ่อง อาการที่หลังขด หรืองอ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่อจ่อ อาการนั่ง นอนงอตัว ขนาดใหญ่ขึ้นเรียกโก่โจ่ 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
坐 zuo4 นั่ง 2A B
ก่อซ่อ อาการนั่งซอมซ่อ จับเจ่า 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
缩 suo1 หด 2A C
ก่อมเก๊าะ ลักษณะงอ หรือ คด ค่อม 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 1B A
ก่อมก้อย อาการเดินของคนเตี้ย 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 1B B
กากวาก ลักษณะที่มีรอยเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่ 广 guang3 บริเวณกว้างใหญ่ 12A A
ก่างจ่าง อาการที่ยืนถ่างขา 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
ก้าวหง้าว แหวอะหวะ แหว่งเว้า 凹 ao4 เว้า 2B A
กิ่งดิ่ง ชันมาก 顶 ding3 ส่วนที่อยู่บนสุด ยอด 2B C
径 jing4 ทางเดิน山径=ทางเดินขึ้นเขา 1C C
กิ่นติ่น อาการวิ่งเล่นอย่างเด็ก ขนาดใหญ่เรียกว่าโก่นโต่น 滚 gun3 กลิ้ง 1B C
กึ่งดึ่ง แข็งแกร่ง แข็งท่อ แข็งโด่ 刚 gang1 แข็ง 1A A
กื่อซื่อ ลักษณะทอดอาลัย 失 shi1 สูญเสีย 2A B
กุ๊ดดุ๊ด ลักษณะที่ถูกตัดเหลือไว้นิดหน่อย 断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A C
กุ้นดุ้น สั้นมากแต่ขนาดใหญ่ 棍 gun4 ท่อนไม้ 12A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
กุ่ยตุ่ย อาการวิ่งอย่างหมู 猪 zhu1 หมู สำเนียงแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า ตือ 2C B
กู้จู่ ลักษณะของใหญ่สั้นคุดคู้อยู่กับที่ 固 gu4 แข็ง แน่น มั่นคง 1A C
กูดจูด โด่ง เช่น นอนก้นโด่ง ว่า นอนกูดจูด 鼓 gu3 นูนขึ้น พองขึ้น 1B A
เกกเวก อาการวางหน้าไม่สนิท 怪 guai4 แปลก ประหลาด 12B C
แกกแซก ลักษณะต้นไม้ที่แห้งตายซาก 干 gan1 แห้ง 1B A
เก่เหว่ เหย เบ้ เบี้ยว 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 12A A
เกิ่งเดิ่ง ลักษณะสิ่งของที่ไม่สม่ำเสมอกัน 埂 geng3 คันนา เนิน 1A C
เกิ่งเดิ่ง ลักษณะชี้ขึ้นกระดกขึ้น 梗 geng3 ก้าน กิ่งไม้ , ยืดให้ตรง 1A C
โก่นโต่น เปลือย ล่อนจ้อน 光 guang1 เปลือย 1B A
ข
ข้องหย้อง ติดและพันอยู่อย่างดิ้นไม่หลุด ขึ้งยึง ขุ้งยุงก็ว่า 捆 kun3 มัด พัน 1B C
ข้อหล้อ ลักษณะของที่เป็นก้อนๆ 块 kuai ก้อน ชิ้น 1B A
ขอยวอย ละลิ่ว ลิบๆ 吹 chui1 เป่า พัด 1C C
ข้อยล้อย ลักษณะสิ่งของเล็กๆที่หลวมและหลุดออกมา 落 luo4 ตก ร่วง หล่น 2B B
ข้ายหย้าย อาการผละออกจากกลุ่มทันที 开 kai1 เปิดออก เคลื่อนที่ออกไป 离开=จากไป 12A B
ขุมฟุม เฟื้ม ลักษณะยาวรุงรังของหนวด 胡 hu2 หนวด เครา สำเนียงฮกเกี้ยนออกเสียงว่า ฝู 2B A
แข้นแหล้น อาการบานออก หรือเปิดเลื่อนออก 开 kai1 เปิดออก 1B B
โขบโข้ ลักษณะใบตองแห้งติดกัน 枯 ku1 (พืช) เหี่ยว เฉา แห้งเหี่ยว 1B B
โข้โม มีหน้าตาสะพรึงกลัว 恐 kong3 น่ากลัว 1B B
ค
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก
(เล็กลงตามลำดับเรียก ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
คะยะ อาการกระโดดถ่างขา 跨 kua4 ก้าว ข้าม 1B C
跃 yue4 กระโดด 2B A
ค้าวน้าว ลักษณะของที่ยืดหรือขึงอยู่ 控 kong4 แขวน หรือห้อย 1C B
คุมนุม กักขัง กักเก็บ ผูกไว้ 困 kun4 ปิดล้อม โอบล้อมเอาไว้ 12B B
เคาะเยอะ อาการเต้นของกบเขียดตัวเล็ก ๆ 跃 yue4 กระโดด 2C B
โค่นโล่น ลักษณะของที่กลมเกลี้ยง พหู.โค่นโล่นเค่นเล่น 轮 lun2 ล้อ หมุน 2A C
จ
จ่งโจ๊ะ อาการยืนหลังค่อมถ่างขา 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1B B
จ๊ดป๊ด ห้วน สั้น 紧 jin3 ตึง แน่น ชิด 1C C
จ๊ดทด ลักษณะของตอไม้ต้นไม้ที่เรียงกันเป็นแถว 条 tiao2 แถว 2C B
จ่วงล่วง ลักษณะน้ำที่ใส 亮 liang4 ใส สว่าง 2B B
โจ้โก้ ลักษณะที่แน่นเป็นกองเล็กและสูง
(เล็กลงตามลำดับเรียก จ้อก้อ แจ้แก้) 巨 ju4 ขนาดใหญ่ 1B C
จ่อข่อ อาการนั่งจับเจ่า 坐 zuo4 นั่ง 1A A
จ่อล่อ อาการรู้สึกมีของติดค้างในคอ 卡 qia3 คาอยู่ระหว่างกลาง 1C B
จ่อว่อ เป็นรูพรุน หวอ ปากหวอ 窝 wo1 รัง , ส่วนที่เว้าเข้าไป 2A C
จ๊ะก๊ะ อาการนั่งยองๆหรือยื่นถ่างขา จั่งก๊ะ ก็ว่า 坐 zuo4 นั่ง 1C B
张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1C B
จ๊ะจ่าง อาการถ่างออก เบ่งออก จ่างจ๊ะ ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
จังงัง อาการตกตะลึง 惊 jing1 ตกตะลึง 1B A
จันลัน สนิท มิด 粘 zhan1 เหนียวติด เกาะติด 12A C
จั๊บมับ สนิท แนบสนิท 紧 jin3 ชิด สนิท 1C A
จ่างป่าง สว่าง โล่ง 彰 zhang1 ชัดแจ้ง เด่นชัด 12A B
จ่านพ่าน กระจายเกลื่อนอยู่ 展 zhan3 แผ่ขยายออกไป 1A B
จำจี่ กระชั้นชิด ใกล้ชิด 紧 jin3 ชิด สนิท 2B A
จิงพิง ลักษณะคนหรือวัตถุขนาดเล็กที่มองเห็นได้ชัดเจน 晶 jing1 สว่าง แวววาว 12A B
จินจิ๊ก ลักษณะคนผมหยิกหน้ากร้อ คอสั้น 卷 juan3 ม้วน ขด งอ หยิก 1C B
จีดลีด ลักษณะใบหน้าที่เคร่งเครียด 紧 jin3 สภาพจิตใจเคร่งเครียด ไม่ปกติ 1B B
จี่ลี่ บอกลักษณะความเงียบว่า เงียบกริบ 静 jing4 เงียบ 12B A
เจ้งเพ้ง มาก กองใหญ่เป็นพะเนิน 涨 zhang4 ขยายใหญ่ 1B B
彭 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ 1B B
เจื่องเฮือง เหลืองอร่าม 黄 huang2 สีเหลือง 2B A
ง
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ง้องแง้ง อาการเคลื่อนไหวคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
ง่อมเงาะ งอ คด 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งักแง่น อาการสั่นไปสั่นมา ชักดิ้นชักงอ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C B
งุบเงิง อาการของสิ่งกลม/โค้งกระดกเปิดอ้าแล้วยุบลง 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
งูบงาบ ลักษณะการเดินช้าๆของคนหรือสัตว์ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ซ
ซ้อยม้อย เหนื่อยมาก อ่อนเพลีย 酸 suan1 เหนื่อย ล้า เพลีย 1C A
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
ซ่างล่าง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ยาวสูงขึ้น 上 shang4 ขึ้น บน 1A C
双 shuang1 คู่ 1B B
ซิกงิก ทำหน้างอ อาการแสดงความไม่พอใจ 气 qi4 โกรธ 1C B
ซื่อลื่อ ตรง ทื่อ เซ่อ ลักษณะนิ่ง เฉย 实 shi2 ซื่อ ตรง จริง 1A A
ซูซี เซ้าซี้ ดึงดัน 絮 xu4 พูดจู้จี้ พูดร่ำไร 2A A
เซกเลก ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่เล่ ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่มเล่ม หน้ากระดูกยาวไม่สวย 脸 lian3 ใบหน้า 2B C
เซ่อเล่อ เผอเรอ หลงลืม 落 la4 หลงลืม 2B A
แซ่งแซะ ลักษณะของคนที่เดินเรื่องเปื่อยไม่มีจุดหมาย 散 san4 ไม่จำกัด กระจัดกระจาย 1B B
แซะและ อาการเลียบๆเคียงๆก้อล้อก้อติก กะลิ้มกะเหลี่ย 色 se4 อารมณ์โลกีย์ กามารมณ์ 1B B
โซงโลง ส่งของที่อยู่เป็นคู่อย่างเป็นระเบียบซองลองก็ว่า 双 shuang1 คู่ 1A A
ต
ตงยง งาม ระหง 优 you1 ดีงาม ล้ำเลิศ 2B B
ตวกต้วย หย่อนยาน 掉 diao4 ตก หล่น ล้ม 1B C
ต้องหล้อง มีลักษณะที่เป็นหลุมหรือบ่อเล็กๆ 洞 dong4 หลุม โพรง อุโมง 1A B
ต้างหล้าง ลักษณะที่เป็นหลุมโพรงขนาดใหญ่ ขนาดเล็กเรียกแต้งแหล้ง 凼 dang1 บ่อ หลุม 1A A
ตอดปอด ลักษณะสิ่งของที่อยู่ติดกับสิ่งอื่น พูดเป็นสร้อยว่า ตอดปอดแตดแปด 贴 tie1 ติด ปิด แปะ 1C B
ต้อป้อ เตี้ย สั้น 短 duan3 สั้น 1B A
ตอยอ ยู่ ย่น หงิกงอ 绕 rao4 ขด วน ล้อม 2C C
揉 rou2 ขยำ ขยี้ 2C C
เต๊ะเซะ ลักษณะสิ่งของที่ห้องหย่อนลงมา 掉 diao4 ตก หล่น ล้ม 1B C
เตี้ยงเหลี้ยง บริสุทธิ งาม สะอาด น้ำใส 亮 liang4 ใส สะอาด สวย 2A A
แต่งแย่ง มีลักษณะเหมาะสม 当 dang4 เหมาะสม 1B A
ถ
ถ่องแถว มีลักษณะเรียงกันเป็นระเบียบ 条 tiao2 แถว 2A B
ท
ทกทื้น กระตุก กระชาก ดึง รั้ง 拖 tuo1 ดึง ลาก 1B A
ท้อล้อ อาการเหนื่อย หรือป่วยหนัก พูดเป็นสร้อยว่า ท้อล้อแท้แล้ 累 lei4 เหนื่อย 2B A
เท้อเล้อ ลักษณะสิ่งของหรือคนที่ใหญ่สูงยืนอยู่โดดเด่น 特 te4 พิเศษ เฉพาะ เหนือกว่า 1A B
โทนโท้ ลักษณะที่มองเห็นได้เด่นชัด 突 tu1 เด่นชัด 1C A
น
น่วนนี /น่ำนี ลักษณะที่ตีซ้ำๆ / ทะเลาะ ผิดใจกัน 虐 nue4 ทารุณ ทำร้าย 1B B
ป
ปอนลอน ลักษณะใบหน้าที่เกลี้ยงเกลา 漂 piao4 漂亮 = สวย งาม เด่น 1C C
脸 lian3 ใบหน้า 2C C
ป้อจ้อ ปรากฏเป็นดอกดวงหรือเป็นวงอยู่ 破 po4 แตก ฉีก ขาด 1B C
ป้องหง้อง อาการล้มของคนหรือสิ่งของ ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เรียก ปุ้งหงุ้ง / ป้างหง้าง 崩 beng1 พังทลาย พัง แตก 1A B
ปางซาง ลักษณะของใหญ่ยาว แบนออก กางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B A
ปิ่งสิ่ง แช่มช้อย ผุดผ่องและสวยงามของแก้ม 庞 pang2 ใบหน้า 1B B
腮 sai1 แก้มทั้งสองข้าง 2B C
ปิ๊ดลิด ลักษณะของที่เล็กแหลม 秕 bi3 ไม่อิ่ม ไม่แน่น ลีบ 1B C
ปิ่นวิ่น งดงาม จิ้มลิ้ม พริ้มเพรา 漂 piao4 สวย งาม เด่น 1C B
ปิ่นหลิ่น หมดเกลี้ยง 完 wan2 แล้วเสร็จ หมด ไม่เหลือ 1B B
ปือลือ โกรธจัด 愤 fen4 ไม่พอใจ โกรธเคือง เคียดแค้น 1B A
ปู้ลู้ ลักษณะของสิ่งของที่เต็มจุก หรืออุดอยู่ 补 bu3 ปะ เสริม เพิ่ม เติม 1A C
เปิงเซิง บานเต็มที่ สวยงาม งามเด่น 菶 beng3 เป็นพุ่มพฤกษ์ เขียวชอุ่ม 1A B
膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B B
แป้แจ้ ลักษณะของสิ่งที่เล็กแบนติดอยู่ 扁 bian3 แบน 1B B
แปแค ลักษณะสิ่งของบางเล็ก 扁 bian3 แบน 1B A
ผ
ผีดหลีด เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ใหญ่ขึ้นเรียกว่าผูดหลูด 奔 ben1 ตะบึง วิ่ง 1B B
พ
พอมผ่อ เห็นลิบๆ เห็นเล็กนิดเดียว 碰 peng4 พบ ประสบ เห็น 1C B
พ้อว้อ ลักษณะของสิ่งเล็กที่โผล่ ยื่นออกมา 坡 po1 เนิน 12A C
พานลาน ลักษณะแตก ปริ ขนาดใหญ่เรียก พินลิน 绷 beng4 แตก ปริออกเป็นรอย 1C A
พำวำ ลักษณะเดินดุ่ม มองเห็นไกล 望 wang4 มองไปไกลโพ้น 2B B
พิญิ เริ่มแตกช่อ ใบอ่อน ลักษณะบาดแผลเล็ก 擗 pi3 แตก แยกออกจากของเดิม 12A B
พิกวิก ลักษณะของสิ่งเล็ก 薄 bo2 เล็กน้อย 1C A
微 wei1 นิดเดียว เบา น้อย 2C A
พิ้งวิ้ง ลักษณะของสิ่งเล็กที่ยื่นออกหรือกางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B B
พีนลีน ลักษณะของตาที่ปลิ้นออกมา 翻 fan1 พลิก กลับ 1B B
พู้วู้ พูน นูนขึ้นมา 坡 po1 เนิน 12A A
阜 fu4 เนินดิน ภูเขาเล็กๆ 1B A
เพ้อเว้อ ลักษณะสิ่งของที่ปากบานใหญ่ 盆 pen2 กระถาง กาละมัง อ่าง 1B B
ฟ
ฟืดฟาด อาการโกรธ โมโห 愤 fen4 โกรธ โมโห 1B A
ม
มอดญอด เปียกปอน 沐 mu4 沐浴 mu4yu4 = อาบน้ำ 1B B
ม้อต้อ อ้วน เตี้ย 短 duan3 สั้น 2C B
มะงอ คดๆ งอๆ พูดเป็นสร้อยว่า มะงอมะง้อง 扭 niu3 บิด หัก 2C A
มะนึง ติดกันเป็นพืด ระโยงระยาง พูดเป็นสร้อยว่า
มะนึงพึงพืด 凝 ning2 เกาะตัว แข็งตัว 2B A
มะลอง ขี้ริ้ว เศร้าหมอง ไม่น่าภูมิใจ พูดเป็นสร้อยว่า
มะลองจองจอย 陋 lou4 น่าเกลียด อัปลักษณ์ ไม่น่าดู 2C A
มะล้อน อาการแกว่งของวัตถุ พูดเป็นสร้อยว่า มะล้อนต้อนแต้น 抡 lun1 ใช้แรงกวัดแกว่ง 2A A
มะลัง เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง พูดเป็นสร้อยว่า
มะลังจังเจียว 缆 lan3 เชือก โช่ที่ฟั่นหลายเกลียว 2B B
มะลาม ไม่เป็นระเบียบ สับสน ปนเป 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 2B B
มูดยูด หน้าตาบูดบึ้ง 绷 beng4 ตีหน้าบึ้ง 1C A
เมาะแมะ อาการนั่งสงบเสงี่ยม มักพูดซ้ำกันว่า เมาะๆแมะๆ 寞 mo4 เงียบสงบ เงียบเชียบ 1B B
ย
ยามย่าง ของที่อยู่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ระเกะระกะ 延 yan2 ยื่นขยายออกไปลามออกไปเรื่อย 1B C
ยีย่อง นวลงาม ผุดผ่อง 艳 yan4 งามหรูหรา งามฉูดฉาด 1B B
ยียน ใสงาม แวววาว 妍 yan2 สวยงาม สวยเพริศพริ้ง 12A A
ยียั่ง แวววาว วะวับ 滢 ying2 ใสแจ๋วใสสะอาด 12A A
ยียับ งามสดใส ขจี วาววับ พูดว่า เขียวดียียับ 瑛 ying1 แสงวาววับของหยก 12B B
ยียาบ วะวับ วาววับ ระยิบระยับ 焱 yan4 ประกายไฟ 12B B
ยีเยือก สยอง ซู่ พูดว่า ขนหัวพองยีเยือก 殃 yang1 ภัยพิบัติ ความพินาศ 12B C
ยึ่งยั่ง อาการแย่งชิงกัน 抢 qiang3 แย่ง ชิง 12C A
ล
ลวนควน อาการขดเป็นวงอย่างงูใหญ่ขด 挛 luan2 ขด หดตัว 1A A
ลองซอง เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ 双 shuang1 คู่ 2B A
ลีเลื่อ กระเสือกกระสนไป 跞 li4 ขยับ เดิน 1A B
เล็มเล่ ลักษณะที่น้ำมูกไหลย้อยออกมา 沥 li4 หยดลงเป็นหยด ๆ 2A B
เลอะเซอะ ระเกะระกะ เรี่ยราด 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 1C A
เลิบเซิบ ซึมเซา เศร้าซึม คิดไม่ตด 儽 lei3 ลักษณะท่าทางหน้าม่อย คอตก ซีดเซียว 1B A
ว
วีว่อน เสียงดังมาจากที่ไกล เสียงแว่ววังเวงโหยหวน 豗 hui1 เสียงดังอึกทึกครึกโครม 1B B
แว่งแวะ บอกลักษณะลอยละล่อง วับๆ ลิบๆ 滃 weng3 เมฆลอยขึ้น 1B C
ส
สวะสวาง โล่งอก โล่งใจ สบายขึ้น 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น 12A A
ส้องแส้ง อาการเดินโซเซไปมาอย่างคนเมา 摔 shuai1 เสียการทรงตัวจนล้มลงไป 1B B
สอยลอย คล้อยตามเขา 随 sui2 ตาม ติดตาม คล้อยตาม 12A A
ส่อแส่ เริ่มปรากฏขึ้น 显 xian3 ปรากฏเด่นชั้น 1C B
สอยวอย แฉล้มแช่มช้อย สอดชื่น งดงาม 帅 shuai4 สะโอดสะอง งดงาม 12A B
สึงหลึง อาการนิ่งนึกอย่างตรึกตรอง 想 xiang3 คิด ครุ่นคิด ไตร่ตรอง 1B A
เสี่ยงเงี่ยง เอียง 斜 xie2 เอียง 1B A
ห
หย่องแหย่ง ลักษณะกระโดดเบาๆ 踊 yong3 กระโดด 1A A
หลุหลั่ง ทะลุไหลพรั่งพรูออกมา พูดเป็นสร้อยว่า หลุหลั่งถั่งเท 漏 lou4 รั่ว 1A A
流 liu2 ไหล 1A B
หมุดหมัด อาการรำคาญ ไม่ปลอดโปร่ง อึดอัด 闷 men4 ไม่สบายใจ หดหู่ กลัดกลุ้ม 1B B
อ
อ่งต่ง อิ่มเอิบ เปล่งปลั่ง 滃 weng3 บรรยายว่ามีน้ำมาก 1B B
อวกลวก ลักษณะของสิ่งใหญ่ที่มัวไม่สดใส เพราะเปรอะเปื้อนสิ่งอื่น 污 wu1 สกปรก คราบสกปรก 1B B
อ่อมอ้อย ลักษณะการเดินอย่างนกเดิน 鹀 wu2 นกชนิดหนึ่ง 1B B
อ้อมล้อม ลักษณะอาการขอด หรือกอดรวมกันแน่น 卧 wo4 นอน(สัตว์) นอนคว่ำ คู้ตัวลงนอน 1B B
อ้อย้อ ลักษณะห่อสิ่งของขนาดเล็ก 窝 wo1 รังของสัตว์หรือแมลง 1B C
อ้างม้าง ลักษณะอาการของสิ่งที่บุ๋มลึกลงไป 凹 ao เว้า แหว่ง 1B B
อึ่งตึ่ง แน่นหนา เต็ม บริบูรณ์ 蓊 weng3 เขียวชะอุ่มเป็นพุ่ม 1B A
อุ้งปุ้ง ลักษณะสิ่งของที่โป่ง พองขึ้น ใหญ่ขึ้นเรียกว่า อ้งป้ง อ่องป่อง 膨 peng2 พอง โป่ง 2B A
อู้คู้ ลักษณะการนอนของคนสัตว์ที่นอนขดอยู่ 卧 wo4 นอน(สัตว์) นอนคว่ำ คู้ตัวลงนอน 1A B
แอะแอ่น ลักษณะแอ่นไปแอ่นมาของการฟ้อนรำ 舞 wu3 เต้น รำ 1C C
แอ่มแค่ม มีแสงแดดอ่อนๆไม่แน่นหนา 晻 an3 มืดครึ้ม สลัว รุบหรู่ 1B B
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่ปรากฏในพจนานุกรม และภาคผนวกรายการคำเสริมสร้อยในวิทยานิพนธ์เรื่องที่เกี่ยวข้องแทบทุกคำ สามารถหาคู่คำที่มีเสียงและความหมายสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ ไม่พยางค์หน้าก็พยางค์หลัง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ลักษณะของคำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่มีรากคำเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีนพยางค์เดียว ได้ดังนี้
1. การเติมวิภัติปัจจัย (affixation)
1.1 หน่วยเติมหน้า คือการเติมหน่วยเสียงเข้ามาข้างหน้า ไม่ได้ทำหน้าที่บอกความหมาย
ใดๆ เป็นแต่เพียงการซ้อนเพื่อเสียงเท่านั้น ตัวอย่างคำ เช่น
มะนึง ติดกันเป็นพืด ระโยงระยาง พูดเป็นสร้อยว่า
มะนึงพึงพืด 凝 ning2 เกาะตัว แข็งตัว 2B A
มะลอง ขี้ริ้ว เศร้าหมอง ไม่น่าภูมิใจ พูดเป็นสร้อยว่า
มะลองจองจอย 陋 lou4 น่าเกลียด อัปลักษณ์ ไม่น่าดู 2C A
มะล้อน อาการแกว่งของวัตถุ พูดเป็นสร้อยว่า มะล้อนต้อนแต้น 抡 lun1 ใช้แรงกวัดแกว่ง 2A A
มะลัง เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง พูดเป็นสร้อยว่า
มะลังจังเจียว 缆 lan3 เชือก โช่ที่ฟั่นหลายเกลียว 2B B
มะลาม ไม่เป็นระเบียบ สับสน ปนเป 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 2B B
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า มีการเติมหน่วยเติมหน้า /มะ/ ที่หน้ารากศัพท์ให้เป็นคำสองพยางค์ แต่คำที่บอกความหมายหลักอยู่ที่พยางค์ที่สอง หลังจากที่สร้างคำสองพยางค์แล้ว ยังสามารถใช้วิธีการคล้องจองสร้างคำสร้อยสองพยางค์เข้ามาเพิ่มต่อท้ายได้อีก แล้วพูดต่อกันเป็นคำสี่พยางค์ แต่ไม่ว่าจะขยายคำออกไปอย่างไร รากศัพท์ยังคงสื่อความหมายดังเดิม
1.2 หน่วยเติมกลาง คือการเติมหน่วยเสียงแทรกตรงกลางระหว่างคำ หน่วยเสียงที่แทรกมา
พบว่ามักเป็นพยัญชนะสะกดของรากคำเดิม หรือฐานกรณ์ใกล้เคียงกับพยัญชนะต้นหรือพยัญชนะท้ายของคำเดิมนั่นเอง หรือเป็นเสียง /ย ร ล ว/ และมักจับคู่แน่นอนกับพยัญชนะต้นคำเดิม เช่น /พ,ป คู่กับ ว/ / จ คู่กับ ก,พ/ /ค คู่กับ น/ /ซ คู่กับ ล/ เป็นต้น เมื่อแทรกแล้วจะกลายเป็นคำสองพยางค์ แต่รูปคำเดิม ทั้งพยัญชนะต้น สระ และพยัญชนะสะกดยังคงเดิม หรือแปรไปเล็กน้อยเท่านั้น ตัวอย่างคำเช่น
จังงัง อาการตกตะลึง 惊 jing1 ตกตะลึง 1B A
ข้ายหย้าย อาการผละออกจากกลุ่มทันที 开 kai1 เปิดออก เคลื่อนที่ออกไป 离开=จากไป 1A B
จ่านพ่าน กระจายเกลื่อนอยู่ 展 zhan3 แผ่ขยายออกไป 1A B
จิงพิง ลักษณะคนหรือวัตถุขนาดเล็กที่มองเห็นได้ชัดเจน 晶 jing1 สว่าง แวววาว 1A B
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก (เล็กลง ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
ค้าวน้าว ลักษณะของที่ยืดหรือขึงอยู่ 控 kong4 แขวน หรือห้อย 1C B
ซ่างล่าง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ยาวสูงขึ้น 上 shang4 ขึ้น บน 1A C
ซื่อลื่อ ตรง ทื่อ เซ่อ ลักษณะนิ่ง เฉย 实 shi2 ซื่อ ตรง จริง 1A A
ป้องหง้อง อาการล้มของคนหรือสิ่งของ ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เรียก ปุ้งหงุ้ง / ป้างหง้าง 崩 beng1 พังทลาย พัง แตก 1A B
เพ้อเว้อ ลักษณะสิ่งของที่ปากบานใหญ่ 盆 pen2 กระถาง กาละมัง อ่าง 1B B
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า มีการเติมหน่วยคำเติมกลางแทรกกลางระหว่างสระและพยัญชนะท้ายของรากศัพท์ หน่วยเติมกลางดังแสดงเป็นตัวอักษรทึบดังนี้ จังงัง ข้ายหย้าย จ่านพ่าน จิงพิง ค้งน้ง ค้าวน้าว ซ่างล่าง ซื่อลื่อ ป้องหง้อง เพ้อเว้อ
1.3 หน่วยเติมท้าย เป็นการเติมหน่วยคำซ้อนต่อท้ายคำเดิม โดยที่เสียงพยัญชนะต้นของ
พยางค์ที่สองมักเป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก เสียงสระก็เป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก แต่ความสั้นยาวจะตรงกันข้ามกัน กล่าวคือถ้าพยางค์หน้าเป็นสระสั้นพยางค์หลังจะเป็นสระยาว แต่ถ้าพยางค์หน้าเป็นสระยาวพยางค์หลังจะเป็นสระสั้น นอกจากนี้ยังพบว่า คำสองพยางค์บางคำทั้งพยางค์หน้าและพยางค์หลังเป็นคำที่มาจากรากศัพท์คำร่วมเชื้อสายไท-จีนทั้งสองคำ ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
แว่งแวะ บอกลักษณะลอยละล่อง วับๆ ลิบๆ 滃 weng3 เมฆลอยขึ้น 1B C
แซ่งแซะ ลักษณะของคนที่เดินเรื่องเปื่อยไม่มีจุดหมาย 散 san4 ไม่จำกัด กระจัดกระจาย 1B B
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
พิกวิก ลักษณะของสิ่งเล็ก 薄 bo2 เล็กน้อย 1C A
微 wei1 นิดเดียว เบา น้อย 2C A
ปิ่งสิ่ง แช่มช้อย ผุดผ่องและสวยงามของแก้ม 庞 pang2 ใบหน้า 1B B
腮 sai1 แก้มทั้งสองข้าง 2B C
ก้วนด้วน กุด ขด ด้วน 棍 gun4 ท่อนไม้ 1A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
จากตัวอย่างคำข่างต้นจะเห็นว่า หน่วยเติมท้ายที่เติมเข้ามา พยัญชนะต้นพยางค์ที่สองซ้ำกับพยัญชนะต้นรากศัพท์เดิม โดยสลับความสั้นยาวของสระ แสดงเป็นอักษรทึบ ดังนี้ ก่งโก๊ะ แว่งแวะ แซ่งแซะ ซะซาย ส่วนคำที่สามารถหาคู่คำสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ทั้งสองคำ ได้แก่ ปิ่งสิ่ง และ ก้วนด้วน
2. กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย คือ รากศัพท์เดิมเพียงคำเดียว สามารถนำมาสร้างคำสองพยางค์
ได้หลายคำ โดยวิธีการแปรเสียงสระที่แตกต่างกัน มีผลทำให้ความหมายแปรไป แต่ยังคงเค้าความหมายจากรากศัพท์เดิม ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก้ย อาการเดินหลังโกงเคลื่อนไปช้าๆ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งจ่ง อาการที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งด่ง อาการชี้ชันขึ้นแต่ปลายโค้งลงเช่นหางวัว 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ง้องแง้ง อาการเคลื่อนไหวคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
ง่อมเงาะ งอ คด 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งักแง่น อาการสั่นไปสั่นมา ชักดิ้นชักงอ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C B
งุบเงิง อาการของสิ่งกลม/โค้งกระดกเปิดอ้าแล้วยุบลง 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
งูบงาบ ลักษณะการเดินช้าๆของคนหรือสัตว์ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
เซกเลก ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่เล่ ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่มเล่ม หน้ากระดูกยาวไม่สวย 脸 lian3 ใบหน้า 2B C
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำว่า弓 (gong3) หมายถึง “โค้ง โก่ง” นำมาสร้างคำ
เสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ ก่งโก้ย ก่งโก๊ะ ก่งจ่ง ก่งด่ง รากศัพท์คำว่า扭 (niu3) หมายถึง“หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ ง้วงเงียง งอกแงก ง้องแง้ง ง่อมเงาะ งักแง่น งุบเงิบ งูบงาบ รากศัพท์คำว่า脸 (lian3) หมายถึง“ใบหน้า” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ เซกเลก เซ่เล่ เซ่มเล่ม เป็นต้น
3. การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น คือ การใช้เสียงพยัญชนะและสระในรากศัพท์
เดิม แจกพยางค์ออกเป็นสองพยางค์ โดยที่เสียงอัฒสระ / u, i / แปรไปเป็นพยัญชนะต้น / ว , ย / ของพยางค์ที่สอง ( สระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ / u/ ) ตัวอย่างคำเช่น
กากวาก ลักษณะที่มีรอยเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่ 广 guang3 บริเวณกว้างใหญ่ 12A A
เกกเวก อาการวางหน้าไม่สนิท 怪 guai4 แปลก ประหลาด 12B C
เก่เหว่ เหย เบ้ เบี้ยว 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 12A A
พู้วู้ พูน นูนขึ้นมา 坡 po1 เนิน 12A A
พิญิ เริ่มแตกช่อ ใบอ่อน ลักษณะบาดแผลเล็ก 擗 pi3 แตก แยกออกจากของเดิม 12A B
สอยวอย แฉล้มแช่มช้อย สอดชื่น งดงาม 帅 shuai4 สะโอดสะอง งดงาม 12A B
สวะสวาง โล่งอก โล่งใจ สบายขึ้น 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น 12A A
ยีย่อง นวลงาม ผุดผ่อง 艳 yan4 งามหรูหรา งามฉูดฉาด 1B B
ยียน ใสงาม แวววาว 妍 yan2 สวยงาม สวยเพริศพริ้ง 12A A
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า เสียงอัฒสระในรากศัพท์เดิม เมื่อแปรมาใช้เป็นคำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสาน จะกลายเป็นเสียงพยัญชนะต้น เช่น 广guang3 กากวาก 拐guai3 เก่เหว่ 帅shuai4สอยวอย 妍 yan2 ยียน ในที่นี้ถือว่าสระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ / u/ อย่างเช่นคำว่า坡po1 พู้วู้ นอกจากนี้ พบคำเสริมสร้อยสี่พยางค์ที่มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาจีนและมีวิธีการสร้างคำแบบเดียวกันนี้หนึ่งคำคือ สวะสวาง มาจากคำว่า爽shuang3
4. การสลับที่ จากข้อมูล พบคำเสริมสร้อยที่มาจากรากศัพท์เดิม สามารถสลับที่กันไปมาระหว่าง
พยางค์ที่หนึ่ง และพยางค์ที่สองได้ โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างคำเช่น
จ๊ะจ่าง อาการถ่างออก เบ่งออก ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
จ่างจ๊ะ อาการถ่างออก เบ่งออก ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1A A
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
ซามซะ รุ่มร่าม รุงรัง รุ่งริ่ง ซ่างซะ ก็ว่า 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 2A A
โซงโลง ส่งของที่อยู่เป็นคู่อย่างเป็นระเบียบซองลองก็ว่า 双 shuang1 คู่ 1A A
ลองซอง เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ 双 shuang1 คู่ 2B A
ม้อต้อ อ้วน เตี้ย 短 duan3 สั้น 2B B
ต้อป้อ สั้น เตี้ย 短 duan3 สั้น 1B A
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำเดิมมีการสร้างคำหลายวิธีดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 หลังจากที่สร้างคำแล้ว คำสองพยางค์สามารถพูดสลับกันได้ แต่ความหมายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังแสดงเป็นอักษรทึบดังนี้ 张 (zhang1) จ่างจ๊ะ - จ๊ะจ่าง 洒 (sa3) ซะซาย – ซามซะ 双 (shuang1) โซงโลง – ลองซอง 短 (duan3) ต้อป้อ – ม้อต้อ
5.เสียงปฏิภาค จากข้อมูลคำศัพท์ที่รวบรวมได้พบว่า มีคู่คำศัพท์ระหว่างภาษาจีนกับภาษาอีสานที่เป็นเสียงปฏิภาคหลายคู่เสียง เช่น /k - kh/ /n - ng/ /p – ph,f / ตัวอย่างคำเช่น
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก
(เล็กลงตามลำดับเรียก ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ปางซาง ลักษณะของใหญ่ยาว แบนออก กางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B A
ปือลือ โกรธจัด 愤 fen4 ไม่พอใจ โกรธเคือง เคียดแค้น 1B A
จากตัวอย่างคำจะเห็นว่ามีคำที่เป็นเสียงปฏิภาคคือ ค้งน้ง -弓 (gong1) ง่วงเงี้ยง -扭 (niu3) ปางซาง -膨(peng2) ปือลือ -愤 (fen4)
บทสรุป
ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า สมมติฐานของการศึกษาในครั้งนี้คือ รากศัพท์ดั้งเดิมของคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีน บทความนี้จึงได้ดำเนินกรอบการอภิปรายเป็นประเด็นต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นข้อสนับสนุนของสมมติฐานนี้เป็นลำดับขั้นตอน นับตั้งแต่ข้อมูลคำโดดในภาษาอีสานจับคู่เปรียบเทียบกับคำภาษาจีนที่คาดว่ามีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีน การให้คำนิยามความหมายของคำซ้ำ คำซ้อนและคำเสริมสร้อย ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องชนชาติไท ภาษาตระกูลไท การศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีน และการศึกษาเกี่ยวกับภาษาอีสาน จากนั้นได้ให้ข้อมูลคำเสริมสร้อยภาษาอีสานเปรียบเทียบกับคำศัพท์ภาษาจีนที่คาดว่ามีความสัมพันธ์กันซึ่งรวบรวมจากพจนานุกรม รายการคำเสริมสร้อยภาษาอีสานที่ปรากฏในภาคผนวกของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบกับผู้บอกภาษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ โดยตารางคำศัพท์มีรายละเอียดเรื่องเสียง ความหมาย และระดับความสัมพันธ์ของคำในภาษาทั้งสอง สุดท้ายได้วิเคราะห์ลักษณะคำเสริมสร้อยที่มีคำที่มีความสัมพันธ์กับคำในภาษาจีน พร้อมทั้งยกตัวอย่างอธิบาย พบว่าคำภาษาอีสานที่มีที่มาจากรากศัพท์คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน มีวิธีการสร้างคำคือ การเติมวิภัติปัจจัย กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น การสลับที่ และเสียงปฏิภาค จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวอีสานและชาวไท หลักฐานเกี่ยวกับภาษา รวมถึงหลักฐานคำศัพท์ที่ปรากฏในบทความนี้ เชื่อได้ว่า คำเสริมสร้อยในภาษาอีสานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาจีน ถือเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีนจริง
เอกสารอ้างอิง
ขอนแก่น,มหาวิทยาลัย. (2532) พจนานุกรมภาษาอีสาน-กลาง. ขอนแก่น:สหวิทยาลัยอีสาน.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน.(2530) พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
กรุงเทพฯ:อรุณการพิมพ์.
คำพูน บุญทวี(2548) พจนานุกรมภาษาอีสานฉบับคำพูน บุญทวี.พิมพ์ครั้งที่ 1,กรุงเทพฯ:โป๊ยเซียน.
จิตร ภูมิศักดิ์.(2519) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อ
ชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:โครงการตำราสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ไทย-ลาว,สมาคม.(2546)ปทานุกรมคำพ้องไทย-ลาว.กรุงเทพฯ:มติชน.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ.(2541) พจนานุกรมจีน-ไทย.กรุงเทพฯ:รวมสาส์น.
บรรจบ พันธุเมธา. (2526) กาเลหม่านไตในรัฐชานและคำตี่เมืองขาง.คณะอนุกรรมการเผยแพร่
เอกลักษณ์ของไทยในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
———— (2537) ลักษณะและการใช้ภาษาไทย. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บรรพต เปรมชู . (2522) คำวิเศษณ์และสำนวนพูดภาษาอีสาน .กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการ
วัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล.(2545) พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน(เว่าอีสาน).พิมพ์ครั้งแรก.ขอนแก่น:คลังธนา
ธรรม.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.(2547) ไทยสิบสองปันนาเล่ม 1 .พิมพ์ครั้งที่ 3 ,กรุงเทพฯ:ศยาม.
ประคอง นิมมานเหมินทร์.(2519) “เสียงสระในคำขยายบางคำในภาษาอีสาน,” วารสารอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 16 (2519) : 56-65.
ปราณี กุละวณิชย์.(2535) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปราณี กุละวณิชย์และคณะ.(2527) ศัพท์ไท 6 ภาษา. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรีชา พิณทอง.(2532) สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ.พิมพ์ครั้งที่ 1,อุบลราชธานี:โรงพิมพ์ศิริธรรม.
พวงพยอม ศรีหาบัติ (2521)คำอุทานของภาษาอีสาน.มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
มหาสารคาม.
พัชราภรณ์ เศวตสุวรรณ.(2530) การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์
ภาษาไทยกลาง กับภาษาตระกูลไท. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัย
มหาสารคาม.
ราชบัณฑิตยสถาน.(2546) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2542.กรุงเทพฯ:นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531)ภาษาถิ่นตระกูลไทย. (พิมพ์ครั้งที่2) กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราช
วิทยาลัย.
มะณีรัตน์ รักเพื่อน.(2538)ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคำร่วมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางและภาษา
ถิ่นอีสาน. ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม. ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ. (2550) การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ. ภาควิชาภาษาไทย คณะ
มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สอนศรี พิลาไชย (2534) คำวิเศษณ์บอกลักษณะในภาษาถิ่นอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม . วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2549) พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน. กรุงเทพฯ:มติชน.
สุริยา รัตนกุล.(2548) นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท.กรุงเทพฯ:สหธรรมิก.
สุวารี เจียนโพธิ์. (2537) คำซ้อนในภาษาถิ่นอีสาน. ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม. ภาษาไทย) มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
อุดม พรประเสริฐ. (2523) คำวิเศษณ์สองพยางค์ในภาษาอีสาน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Asger Mollerup.(2001) Thai – Lao Phrase Book. Bangkok:White Lotus G.P.O.
Benedict Paul K.(1942)Thai, Kadai and Indonesian: A new alignment in Southeastern Asia,
American Anthropologist 44:576-601.
-----------------. (1975) Austro-Thai: Language and culture. New Haven: HRAF Press.
Brown, J. Marvin (1965) From Ancient Thai to Modern Dialects. In From Ancient Thai to Modern
Dialects, and Other Writings on Historical Thai Linguistics, Bangkok : White Lotus.
Chamberlain,James R. (1972) ‘The Origin of The Southwestern Tai’ in Bullentin des Amis du
Royaume Laos,7-8:233 – 44 Vientiane
Diffloth, Gérard.( 1974) Austro-Asiatic Languages. Encyclopaedia Britannica. 480-484.
Dodd,William C.(1923) The Tai Race-Elder Brother of Chinese.Cedar Rapids,Iowa,The Torch
Press.
Edmondson, J.A. and D.B. Solnit eds. (1997) Comparative Kadai: the Tai branch. Dallas:
Summer Institute of Linguistics and the University of Texas at Arlington.
Frank M.Lebar. (1964) Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven,Conn:
HumanRelations Area Files.
Gedney,William J. (1972) ‘A checklist for determining tones in Tai dialects’ , in Studies in
Linguistics in honor of Georg L. Trager. The Haug.Mouton.
Grierson,G.A. (1903 - 28) Linguistics survey of India,11vols.Culcutta,Office of the
Superementendent of Government Printing.
Hartman, John F. (1986) ‘Style, Scope, and Rigor in Comparative Tai Research’ in Bickner,
Robert J., Thomas J. hudak and Pacharin Peyasantiwong (eds.)
Li Fangkuei.(1959)“Classification by vocabular : Tai Dialects” in Anthropological
Linguistics,1.2,15-21.
-----------------.(1976) Sino-Tai, Genetics Relationship Diffusion and typological similarities on East
and Southeast Asian Languages ,Paper for the 1st Japan –US Joint Seminar on East
and Southeast Asian Linguistics, Tokyo.
L-Thongkum, Theraphan. (1979) Iconicity of vowel qualities in Northeastern Thai reduplicated words. In Studies in Tai and Mon-Khmer Phonetics and Phonology in Honour of Eugenie J.A. Henderson, 247-260, edited by Pranee Kullavanijaya et al. Bangkok: Chulalongkorn Printing House.
Manomaivibool Prapin.(1975) A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence , PhD Dissertation,
University Of Washington.
Somsong Burusphat.(2006) Northern Zhuang Chinese Thai English Dictionary. Bangkok :
Ekphimthai Ltd.
龚群虎。(2002) 《汉泰关系词的时间层次》上海:复旦大学出版社。
郭锡良。(1986) 《汉字古音手册》北京:北京大学出版社。
梁敏,张均如。(1996) 《侗台语族概论》北京:社会科学出版社。
ผู้บอกภาษา
ณัฐพัชร์ เตชะรุ่งไพศาล : อายุ 37 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดอุบลราชธานี พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่,
อาจารย์สอนภาษาจีน ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี,
Computing Editors of Somsong Burusphat.(2006) Northern Zhuang Chinese Thai English
Dictionary. Bangkok: Ekphimthai Ltd.
นิภาดา พานะรมย์ : อายุ 22 ปี ภูมิลำเนา จังหวัดศรีสะเกษ พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่, นักศึกษา
ระดับปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์จีน Nanjing Normal University,China.
คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท– จีน
บทคัดย่อ
ภาษาอีสานและภาษาไทยเกี่ยวข้องกับภาษาจีนในฐานะภาษาร่วมตระกูลไท-จีน ในภาษาอีสานมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นจำนวนมากที่ไม่มีในภาษาไทย แต่กลับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคำในภาษาจีน จึงคาดว่าน่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน คำดังกล่าวนี้ไม่เพียงพบเฉพาะคำโดดพยางค์เดียวเท่านั้น แต่ยังพบในคำสองพยางค์ด้วย โดยเฉพาะในคำเสริมสร้อยสองพยางค์ มีคำที่คาดว่ามาจากรากศัพท์เดิมพยางค์เดียวในภาษาจีน เกิดการแตกพยางค์ออกเป็นคำซ้อนสองพยางค์ในภาษาอีสาน ใช้วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกัน ทำหน้าที่ขยายความ บอกคุณลักษณะ จำนวน ปริมาณ เพื่อเน้นย้ำความหมายให้หนักแน่น ชัดเจนและเด่นชัดยิ่งขึ้น จากการศึกษาชี้ชัดว่าคำศัพท์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กันจริง จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นคำศัพท์ร่วมตระกูลไท– จีน
คำสำคัญ ภาษาตระกูลไท ภาษาอีสาน คำเสริมสร้อยภาษาอีสาน คำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท–จีน
Disyllabled Reduplicated Words in Isan Dialect Which Are Assumed to be Sino-Tai Cognate Words
Abstract
Isan dialect and Thai are related to Chinese as they are from the same family—Sino-Tai.There are many Isan words that are not endemic in Thai language, but tightly related to Chinese. Therefore, it is assumed that they are Sino-Tai cognate words. Those Sino-Tai cognate words are found as both monosyllable and multisyllable. In case of multisyllabled reduplicated words, their root words are thought to be Chinese monosyllable which, then, become disyllable reduplicated words in Isan dialect. Those words are usually placed after a word to describe quality and magnify quantity in order to make the meaning of that particular word stronger, clearer and more distinct. This study points out that some Chinese words and some disyllabled reduplicated words in Isan dialect are closely related. In conclusion, those disyllabled reduplicated words in Isan dialect are Sino-Tai cognate words.
Key words : Tai language, Isan dialect, Isan reduplicated words, Sino-Tai cognate words
บทนำ
ในหนังสือ ลักษณะและการใช้ภาษาไทยของบรรจบ พันธุมธา (บรรจบ:2537) ให้ความหมายของ คำซ้ำ ว่า คือคำคำเดียวกันนำมากล่าวสองครั้ง มีความหมายเน้นหนัก หรือบางทีต่างกันไปกับคำเดี่ยวเพียงคำเดียว จึงถือว่าเป็นคำสร้างใหม่ มีความหมายใหม่ทำนองเดียวกับคำซ้อน ต่างกันก็แต่เพียงคำซ้ำใช้คำคำเดียวกันซ้อนกันเท่านั้น ส่วน คำซ้อน คือ คำที่มีคำเดี่ยว 2 คำ อันมีความหมายคล้ายหรือใกล้เคียงกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ซ้อนเข้าคู่กัน เมื่อซ้อนแล้วจะมีความหมายใหม่เกิดขึ้น แม้ว่าบางคำความหมายจะไม่แปลกไปกว่าเดิมมากนัก แต่ก็ต้องมีความหมายและที่ใช้ต่างออกไปบ้าง คำซ้อนแบ่งออกเป็น คำซ้อนเพื่อความหมาย วิธีสร้างคำก็คือ นำคำเดี่ยวที่มีความหมายสมบูรณ์ที่มีใช้ในภาษามาซ้อนเข้าคู่กัน ซ้อนกันแล้วเกิดความหมายใหม่ คำซ้อนเพื่อเสียง มุ่งที่เสียงยิ่งกว่าความหมาย คำที่เข้ามาซ้อนกันจึงอาจจะไม่มีความหมายเลย หรือมีความหมายเพียงคำใดคำเดียว วิธีสร้างคำก็คือนำคำที่เสียงมีที่เกิดระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกันซ้อนกันเข้า ซ้อนกันแล้ว จะเกิดความหมายใหม่
ภาษาไทยถิ่นอีสานถือได้ว่าเป็นภาษาที่ร่ำรวยคำซ้อนเพื่อเสียงมากที่สุดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาถิ่นตระกูลไทย จากการนำคำศัพท์สองคำมาซ้อนกัน หรือจากคำศัพท์คำเดียว แล้วแตกคำเป็นสองพยางค์ด้วยสระที่สัมพันธ์กัน จากนั้นคำซ้อนสองพยางค์นี้ยังสามารถแตกตัวไปเป็นคำใหม่ได้อีกหลายคำด้วยวิธีการแปรเสียงสระ คำใหม่ที่เกิดจากเสียงสระต่างระดับกันนี้ มีผลต่อความหมายในการขยายออก หรือแคบเข้าที่ต่างระดับกัน ตัวอย่างคำเช่น เช่น จิ่งปิ่ง จ่องป่อง จึ่งปึ่ง โจ่งโป่ง คำทั้งสี่คำนี้บอกลักษณะของช่อง โพรง ที่สายตามองทะลุได้ มีลักษณะจากเล็กถึงใหญ่ 4 ระดับ และถ้าขนาดใหญ่มากอย่างไม่มีขอบเขต ยังสามารถแปรสระเพื่อขยายความหมายออกไปอีกเป็นคำที่ 5 ว่า จ่างป่าง คำเหล่านี้ใช้วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกันเพื่อเสริมคำ ทำหน้าที่บอกลักษณะหรือขยายความหมายของคำหน้า ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีคำซ้อนอีกจำนวนมากที่ซ้อนเข้ามาโดยไม่ได้บอกความหมายใดๆ แต่เป็นเพียงคำสร้อยให้คำไพเราะหรือสละสลวยเท่านั้น เช่นคำว่า ค้งน้ง เป็นคำบอกสิ่งของที่มีลักษณะรูปโค้งขนาดใหญ่ นิยมพูดเป็นสร้อยคำว่า ค้งน้งเค้งเน้ง โดยคำที่เพิ่มมาก็ยังคงหมายถึงลักษณะโค้งเหมือนเดิม มิได้บอกลักษณะอย่างอื่นที่แตกต่างกันแต่อย่างใด แต่หากต้องการบอกลักษณะโค้งแต่มีขนาดเล็กลงใช้คำว่า ค้องน้อง ซึ่งก็สามารถมีสร้อยคำ พูดเป็น ค้องน้องแค้ง แน้ง ก็ได้
จากลักษณะการสร้างคำและการใช้ของคำภาษาไทยถิ่นอีสานข้างต้นที่ใช้เพื่อเสริมความหมาย และใช้เป็นสร้อยคำนี้ ในที่นี้จึงจะเรียกคำประเภทนี้ว่า “คำเสริมสร้อย”
คำเสริมสร้อยในภาษาอีสานดังกล่าวข้าวต้นนี้มาจากไหน สมมติฐานของงานวิจัยนี้คือ เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายในตระกูลภาษาไท-จีน คำถามต่อไปก็คือ ภาษาอีสานเกี่ยวข้องกับภาษาจีนได้อย่างไร ในการจัดกลุ่มตระกูลภาษาไท จัดให้ภาษาอีสานมีความสัมพันธ์กับภาษาไทยในฐานะภาษาถิ่นกับภาษามาตรฐาน ในขณะที่ภาษาไทยเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นภาษาร่วมตระกูลกัน ภาษาอีสานจึงมีฐานะเป็นภาษาร่วมตระกูลกับภาษาจีนด้วยเช่นกัน กอรปกับหลักฐานการอพยพย้ายถิ่นที่มีข้อมูลชี้ชัดว่าชาวอีสานมีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน ทั้งภาษาและเชื้อชาติของชาวไทยและชาวอีสานจึงมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนอย่างใกล้ชิด ดังจะพบว่าในภาษาอีสานมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นจำนวนหนึ่งที่ไม่มีในภาษาไทย จากข้อมูลที่เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นดังที่กล่าวมาจึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า คำภาษาอีสานที่ไม่มีในภาษาไทยดังกล่าวนี้เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีน เนื่องจากสามารถหาคู่คำที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอีสานคำว่า “ส่วง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 爽 (shuang3) หมายถึง ปลอดโปร่ง โล่งสบาย คำภาษาอีสานว่า “เหิง” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 恒 (heng2) หมายถึง ยาวนาน คำภาษาอีสานว่า “จ่าน” ตรงกับภาษาจีนคำว่า 展 (zhan3) หมายถึง แผ่ออก ขยายออก กระจายออกไป ภาษาอีสานคำว่า “ซอง หรือ ซ่อง” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 双 (shuang1) หมายถึง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ ภาษาอีสานคำว่า “ซะ” คล้ายกับภาษาจีนคำว่า 撒 (sa3) หมายถึง หว่าน โปรย กระจัดกระจาย เป็นต้น
ข้างต้นเป็นคำพยางค์เดียวในภาษาอีสานที่สามารถหาคู่คำที่มีความสัมพันธ์กันกับภาษาจีน นำไปสู่การสันนิษฐานเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมตระกูลได้ นอกจากนี้ยังพบลักษณะคำศัพท์ร่วมเชื้อสายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ คำที่สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์เดิมพยางค์เดียวในภาษาจีน ที่เรียกว่าเป็นรากศัพท์เนื่องจากว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสานที่พบ คำพยางค์แรกหรือพยางค์ที่สองเป็นคำที่มีความสัมพันธ์กับภาษาจีน เกิดการแตกตัวเพิ่มพยางค์หน้าหรือหลังอย่างมีหลักเกณฑ์ใช้เป็นคำซ้อนเพื่อเสียง วางไว้หลังคำที่มีความหมายเดียวกัน ทำหน้าที่ขยายความ บอกจำนวนคุณลักษณะ ปริมาณ เพื่อเน้นย้ำความหมายให้หนักแน่น ชัดเจนและเด่นชัดยิ่งขึ้น ตัวอย่างคำเช่น
ซ่องล่อง / บอกลักษณะสิ่งของที่อยู่เป็นคู่/ 双 shuang1 /คู่/
จ่านพ่าน / บอกลักษณะของการแผ่ขยายออก/ 展 zhan3 /ขยาย/
ต้างหล้าง /ลักษณะที่เป็นหลุมโพรง/ 凼 dang1 /หลุม โพรง/
ก่งด่ง / บอกลักษณะของที่โค้ง/ 弓 gong1 / โก่ง โค้ง/
ซะซาย /บอกลักษณะสิ่งของที่กระจัดกระจาย/ 洒 sa3 / กระจัดกระจาย/
ตัวอย่างประโยค ไปนำกันเป็นคู่ซองลอง (ไปด้วยกันเป็นคู่....) แผ่จ่านพ่านอยู่ฮั่น(แผ่......อยู่ตรงนั้น) เป็นฮูต้างหล้าง(เป็นรู.......) ฮุ่งโค่งค้งน้ง (รุ้งโค้ง......) วางของเฮี่ยฮาดซะซาย (วางของเรี่ยราด.......) ใน / ....../ คือคำเสริมสร้อยที่ทำหน้าที่ขยายความ บอกลักษณะเน้นย้ำคำที่นำมาข้างหน้าให้เด่นชัดและเข้มข้นมากขึ้น ไม่มีคำแปลในภาษาไทย
จากตัวอย่างข้างต้นเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าคำในทั้งสองภาษานี้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่จะมีคำในลักษณะนี้มากน้อยเพียงใด เกี่ยวข้องกันอย่างไร ระดับใด จะได้กล่าวในบทความนี้ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1. ความสัมพันธ์ของภาษาอีสาน ภาษาตระกูลไท และภาษาจีน
1.1 ภาษาตระกูลไท และการศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท – จีน
1.2 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไท ภาษาไทยถิ่นอีสาน ชนชาวไทและชาว
อีสาน
1.3 การศึกษาที่เกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน
2. คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท - จีน
1. ความสัมพันธ์ของภาษาอีสาน ภาษาตระกูลไท และภาษาจีน
ก่อนจะไปถึงข้อมูลกลุ่มคำศัพท์ดังกล่าว จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดแบ่งภาษาตระกูลไท การศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท–จีน การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไทยและภาษาไทยถิ่นอีสาน เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาจีน รวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องคำเสริมสร้อยในภาษาไทยถิ่นอีสานด้วย
1.1 ภาษาตระกูลไท และการศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท – จีน
เกี่ยวกับการจัดแบ่งตระกูลภาษาของภาษาไทยนี้นักภาษาศาสตร์มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปหลายทฤษฎี ความแตกต่างนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดแบ่งตระกูลภาษา หากแต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงชื่อเรียกภาษาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไทย ไท ไต ได ลาว สยาม กัมไท ในภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน มีตัวอักษรที่เรียกชื่อภาษาไทหรือชาวไทอย่างน้อยสี่ตัวขึ้นไป คือ泰 (tai4) 傣 (dai3) 台 (tai) 暹 (xian1) แต่เราจะไม่ถกเรื่องชื่อเรียกภาษาไทในที่นี้ เพราะมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมายแล้ว เช่น เรืองเดช (2531) ในหนังสือชื่อ “ภาษาถิ่นตระกูลไทย” จิตร(2519) ในหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” สุริยา (2548) ในหนังสือชื่อ “นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท” ผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ตามรายการทีให้ในบรรณานุกรม
แต่สิ่งสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การจัดแบ่งตระกูลภาษาที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยและภาษาจีนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผู้เขียนจะเรียกตาม สุริยา (2548) ที่ว่าคำว่า “ไท” เป็นคำที่เป็นกลางมากที่สุด ในบทความนี้จึงจะเรียกตามว่า “ภาษาตระกูลไท” ยกเว้นการอ้างอิงข้อความคิดของนักวิชาการท่านอื่น จะคงคำเรียกตามที่อ้างมา
โดยทั่วไปถือว่าภาษาไทยเป็นตระกูลย่อยภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาใหญ่ จีน-ธิเบต ซึ่งภาษาตระกูลจีน – ธิเบตนี้ เป็นตระกูลภาษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาคือ (1)สาขาภาษาจีน (2)สาขาภาษาไทย (3) สาขาแม้วเย้า (4) สาขาธิเบตพม่า (เรืองเดช: 2531) อย่างไรก็ตามนักภาษาศาสตร์หลายท่านเรียกชื่อตระกูลภาษานี้แตกต่างกันไป อย่างเช่น Grierson (1903-28) เรียกรวมเป็นตระกูลเดียวกันกับภาษาจีนว่า ตระกูลภาษาไทยจีน (Siamese-Chinese family) Benedict (1975) เรียกว่า ออสโตร – ไทย (Astro-Tai) เพราะเห็นว่าเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลออสโตรเนเชียน ต่อมามีการตั้งชื่อตระกูลภาษาไทอีกหลายชื่อด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บ้างเรียกว่า ตระกูลภาษาไทย ตระกูลภาษาไต แยกออกมาเป็นตระกูลภาษาใหญ่ต่างหาก บ้างเรียกว่าตระกูลคำไต (KamTai family) และ ภาษาไดอิก (Daic) โดยรวมภาษาไทยถิ่นต่างๆที่พูดในประเทศต่างๆ 8 ประเทศเป็นตระกูลเดียวกันหมด (เรืองเดช: 2531) Benedict (1942) ได้ตั้งชื่อตระกูลภาษานี้ใหม่ว่า ตระกูลภาษาไทยกะได (Tai Kadai) เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาษาไทยถิ่นที่พูดอยู่ที่เกาะไหหลำ อ่าวตัวเกี๋ย และภาษากลุ่มตระกูลภาษาไทยที่พูดอยู่ที่ประเทศจีน และเวียดนามทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภาษาตระกูลไทโดยยึดเกณฑ์ต่างๆกัน เช่น พระยาอนุมานราชธน(อ้างในเรืองเดช : 2531) เป็นการจัดแบ่งโดยยึดหลักภูมิศาสตร์ ก็กล่าวถึงกลุ่มภาษาไทย-จีน คือภาษาไทยที่พูดอยู่เขตประเทศจีนบริเวณกวางสี ไกวเจา กวางตุ้ง เช่นภาษาไทยลาย ไทยลุง ไทยย้อย ไทยโท้ ไทยนุง ผลงานของนักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (1959) ที่ใช้หลักเกณฑ์ทางภาษา คือเกณฑ์ทางการกระจายคำศัพท์ ลักษณะทางเสียงและพัฒนาการทางเสียง ในการแบ่งกลุ่มภาษาไทยก็ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องของภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนกับภาษาไทยกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกหลายท่านที่ศึกษาภาษาตระกูลไท และจัดให้ภาษาที่พูดอยู่ในประเทศจีน หรือภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีนเป็นสมาชิกในภาษาตระกูลไท เช่น John F. Hurtmann (1986) จัดแบ่งภาษาไทยเฉพาะกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ของ Li Fanggui เป็นกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่างนี้ครอบคลุมไปถึงตอนใต้สุดของตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังมีนักภาษาศาสตร์ในยุคต่อจาก Li Fanggui อีกหลายท่าน เช่น Marwin Brown (1965), William J.Gedney(1972), James R.Chamberlain(1972) ก็ได้ดำเนินรอยตาม Li Fanggui โดยในการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทล้วนมีความเกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลจีน หรือเป็นภาษาไทที่พูดอยู่ในประเทศจีนทั้งสิ้น เรืองเดช (2531) นักวิชาการภาษาตระกูลไทยได้จัดแบ่งภาษาตระกูลไทยออกเป็น “กลุ่มไท” โดยรวมภาษากลุ่มไทสยามและลาวไว้ในกลุ่มเดียวกัน และ “กลุ่มไต” รวมภาษาไตยวน ไตหลวง ไตจีนไว้ด้วยกัน จากข้อมูลการศึกษาและการจัดแบ่งภาษาตระกูลไทจะเห็นว่าภาษาไทยมีร่องรอยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภาษาจีนอยู่
ตามทรรศนะของนักวิชาการจีน จัดภาษาไทยอยู่ในภาษาตระกูลจีนธิเบต สาขาภาษาต้งไถ สาขาย่อยภาษาไต (梁敏,张均如:1996) และเพื่อยืนยันว่าภาษาไทยจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาเดียวกัน การศึกษาเรื่องคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทยจีนจึงเป็นความสนใจของนักภาษาศาสตร์และนักศึกษาภาษาไทย-จีนมาช้านาน
ผลงานที่สำคัญที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของภาษาไทยและภาษาจีน โดยวิธีการเปรียบเทียบคำศัพท์ เช่น A.Conrady, K.Wulff (อ้างใน龚群虎:2002) รวบรวมคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาไทย-จีนกว่า 200 คำ ประพิน (P.Manomaivibool:1975) รวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนยุคกลางประวัติศาสตร์ ที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนถึง 600 คำ นักวิชาการชาวจีน Li Fanggui (李方桂:1976) ได้รวบรวมคำศัพท์ร่วมเชื้อสายระหว่างภาษาจีนกับภาษาในสาขาภาษาไท (ไต) ร้อยกว่าคำ และงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่สนับสนุนแนวคิดคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไทยจีนคือ ผลงานของ Gong Qunhu (龚群虎:2002) ผลการวิจัยนี้เปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยกับภาษาจีน และชี้ให้เห็นวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของภาษาไทยและจีนในแต่ละยุค แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ (1) คำศัพท์ร่วมสายเลือดภาษาไทยจีนซึ่งหมายถึงคำศัพท์ที่เคยเป็นภาษาเดียวกันมาตั้งแต่อดีต (2) คำศัพท์ที่มีการถ่ายเทซึ่งกันและกันในยุคสองพันปีลงมา (3) คำศัพท์ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาจีนในยุคที่ชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในระยะร้อยสองร้อยปีมานี้
1.2 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่นตระกูลไท ภาษาไทยถิ่นอีสาน ชนชาวไทและชาวอีสาน
หนังสือชื่อ ภาษาถิ่นตระกูลไทย (เรืองเดช:2531) ได้จัดกลุ่มภาษาถิ่นตระกูลไทยในประเทศไทยเป็น 19 ภาษาถิ่นด้วยกัน ในจำนวนนี้มีภาษาไทลาว หรือภาษาไทยถิ่นอีสาน (Northeastern Thai Dialect) เป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่ง และได้อธิบายว่า ภาษาไทยถิ่นอีสานได้แก่ ภาษาไทยลาวที่พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นนี้คนไทยในประเทศไทยนิยมเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอีสานหรือ ภาษาลาว มีพูดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 16 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นอีสานมีภาษาถิ่นอยู่หลายถิ่นหลายสำเนียง คือ 1.สำเนียงหลวงพระบาง (Luangphrabang Dialect) 2.สำเนียงเวียงจันทน์ (Vientien Dialect) 3. สำเนียงอีสาน (Isan Dialect) ต่อจากนี้ไปจะใช้คำเรียกภาษาไทยถิ่นอีสานตาม เรืองเดช ว่า “ภาษาอีสาน”
ปริญญานิพนธ์สองฉบับที่ศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาอื่นในกลุ่มภาษาตระกูลไท ได้แก่ ปริญญานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางกับภาษาตระกูลไท (พัชราภรณ์:2530) และปริญญานิพนธ์ เรื่อง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคำร่วมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลาง และภาษาถิ่นอีสาน (มะณีรัตน์ :2538) ทั้งสองเป็นการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับคำในภาษาอีสานกับคำร่วมเผ่าพันธุ์ในภาษาถิ่นตระกูลไทย
งานด้านพจนานุกรมและสารานุกรมภาษาอีสาน ทั้งที่แปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีอยู่หลากหลายผลงาน เป็นข้อมูลการเปรียบเทียบคำศัพท์ และข้อมูลคลังคำศัพท์ที่สามารถนำมาใช้ศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์ร่วมเชื้อสายได้เป็นอย่างดี รายชื่อหนังสือได้ให้ไว้ในเอกสารอ้างอิงแล้ว ซึ่งคำภาษาอีสานในบทความนี้ก็ได้ตรวจสอบจากพจนานุกรมดังกล่าวนี้เช่นกัน จากผลงานที่สำรวจได้ ยังไม่พบพจนานุกรมเปรียบเทียบภาษาอีสาน-จีน และจะเห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับภาษาอีสานนั้นยังคงศึกษาอยู่ในวงภาษาอีสานด้วยกันเองหรือเปรียบเทียบกับภาษาไทกลุ่มอื่นๆในประเทศไทยเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาอื่น ๆ ในตระกูลไท-จีนนอกประเทศไทย
หนังสือ พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน (สุจิตต์ :2549) แม้จะมิใช่หนังสือที่เกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาอีสานกับภาษาตระกูลไท–จีนโดยตรง แต่มีข้อมูลชี้ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติของชาวอีสานกับกลุ่มชนในประเทศจีนข้อหนึ่งที่ว่า บรรพบุรุษของชาวอีสานกลุ่มหนึ่ง ราว 3,000 ปีมาแล้ว มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนพวกนี้มาจากทางตอนใต้ของจีนปัจจุบัน (แต่ครั้งนั้น 3,000 ปีมาแล้ว ยังไม่เป็นดินแดนของจีน) เช่น ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง เวียดนาม ฯลฯ สิ่งสำคัญที่คนภายนอกพวกนี้นำเข้ามาด้วยคือ ภาษา ที่ปัจจุบันเรียกตระกูลไทย-ลาว มีหลักฐานแน่นหนาว่า เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว คนพื้นเมืองในกวางสี-กวางตุ้ง พูดภาษาตระกูลไทย-ลาวแล้ว
ในงานวิจัยเรื่อง การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ (สมพงศ์:2550) ได้อ้างถึง การจัดกลุ่มภาษาที่เป็นสายสัมพันธ์ภาษาไท และภาษาอื่นที่ใกล้เคียงในฐานะที่เป็นภาษาครอบครัวเดียวกัน และมีกำเนิดร่วมกันภายใต้ร่มใหญ่ของตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เรียกกลุ่มภาษานี้ว่า ภาษา “จ้วง-ต้ง” ซึ่งเป็นภาษาที่มีผู้พูดเป็นจำนวนมากและเชื่อว่าอาจเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นภาษาต้นกำนิดของภาษาไทก็ได้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษา “กำ - ไท” ในงานวิจัยนี้ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดและการย้ายถิ่นของชาติพันธุ์ไทไว้ด้วยว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนชาติไทอาจอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง จากนั้นเกิดการอพยพเคลื่อนย้ายและการก่อตั้งอาณาจักรไทตามที่ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มที่อพยพลงสู่ทางใต้เข้าสู่ตอนเหนือของเวียดนามและลาว ก่อตั้งเป็นอาณาจักรสิบสองเจ้า(จุ)ไท อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ส่วนหนึ่งได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งรกรากแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำยม-วัง-น่าน และก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพลงสู่เวียงจันทร์เข้าสู่ภาคอีสานและสู่อยุธยาและก่อตั้งเป็นอาณาจักรอยุธยา
จากข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษาตระกูลไท–จีน และการศึกษาเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชนชาติไท เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่าภาษาไทยเป็นภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีน ในขณะที่ภาษาไทยกับภาษาอีสาน มีความสัมพันธ์กันแบบสายเลือดที่มีความใกล้ชิดอย่างพี่น้องร่วมท้องเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ภาษาอีสานจึงมีความสัมพันธ์แบบภาษาร่วมสายตระกูลกับภาษาจีนด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าในภาษาอีสานจะยังคงหลงเหลือคำศัพท์ (ที่ไม่มีในภาษาไทย) ร่วมเชื้อสายกับภาษาจีนมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
1.3 การศึกษาที่เกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน
การศึกษาเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน มีการศึกษาในชื่อต่างๆกัน หมายความว่า นักวิชาการแต่ละท่านเรียกชื่อคำที่บทความนี้เรียกว่า คำเสริมสร้อย แตกต่างกันไป ผลงานการศึกษามีทั้งในรูปแบบบทความทางวิชาการ และวิทยานิพนธ์ ดังนี้
บทความเรื่อง Iconicity of vowel qualities in Northeastern Thai reduplicated words (ธีรพันธ์:1979) และบทความเรื่อง ศึกษาคำซ้ำที่ใช้เป็นคำวิเศษณ์ และเสียงสระในคำขยายบางคำในภาษาอีสาน(ประคอง:2519) พบว่า คำขยายที่เป็นคำกริยาวิเศษณ์นอกจากให้ภาพและความรู้สึกแล้ว เมื่อเปลี่ยนเสียงสระยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับความแตกต่างของขนาด รูปร่างสัณฐาน และพจน์ของสิ่งที่คำกริยาวิเศษณ์ประกอบด้วย
นอกจากบทความข้างต้นแล้ว ยังมีวิทยานิพนธ์และปริญญานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตที่ศึกษาเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานจำนวนไม่น้อย เช่น วิทยานิพนธ์เรื่อง คำอุทานของภาษาอีสาน (พวงพยอม:2521) วิทยานิพนธ์เรื่อง คำวิเศษณ์สองพยางค์ในภาษาอีสาน (อุดม:2523) วิทยานิพนธ์เรื่องลักษณะคำซ้ำของภาษาลาวในภาษาถิ่นภูเวียง (วาสนา:2530) วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะคำซ้ำภาษาถิ่นนครไทยกับภาษาไทยถิ่นอีสานภูเวียง (เรณู:2534) วิทยานิพนธ์เรื่อง คำวิเศษณ์บอกลักษณะในภาษาถิ่นอีสาน (สอนศรี :2534) ปริญญานิพนธ์เรื่อง คำซ้อนในภาษาถิ่นอีสาน (สุวารี:2537) เป็นต้น
จากงานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจ และลักษณะพิเศษของคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน จึงทำให้มีการศึกษามาโดยตลอด แต่ในตอนต้นของบทความนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสานว่า คำพยางค์แรกมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีนมากทั้งเสียงและความหมาย ถึงขั้นที่ว่าคำบางคำเป็นคำเดียวกันก็ว่าได้ และได้สันนิษฐานว่าคำดังกล่าวเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน แต่จากการสำรวจงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีการศึกษาหรือสังเกตเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้
2. คำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสานที่คาดว่าจะเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท - จีน
ต่อไปนี้จะนำเสนอข้อมูลคำเสริมสร้อยสองพยางค์ในภาษาอีสาน เปรียบเทียบกับคำภาษาจีนที่คาดว่าน่าจะเป็นรากศัพท์คำศัพท์ร่วมเชื้อสายตระกูลไท-จีน ข้อมูลคำศัพท์ได้จากแหล่งข้อมูลสามที่คือ (1) พจนานุกรมภาษาอีสาน–ไทย (2) รายการคำเสริมสร้อยภาษาอีสานที่ได้จากภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง (3) ผู้บอกภาษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ โดยแบ่งระดับความเข้มข้นของข้อมูลดังนี้
ระดับเหมือนกัน สัญลักษณ์ A ต้องมีเสียงพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะท้ายเหมือนกัน อาจมีเสียงวรรณยุกต์ได้ และต้องทีความหมายเหมือนกัน
ระดับมีความสัมพันธ์กัน สัญลักษณ์ B ต้องมีพยัญชนะต้น สระและพยัญชนะท้ายเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกัน สามารถอธิบายได้ตามหลักทางสรวิทยา เช่น ฐานกรณ์ใกล้เคียงกัน เป็นเสียงปฏิภาค เป็นการแปรของเสียง เกิดการกร่อน การสูญหายของเสียงใดเสียงหนึ่ง แต่ยังคงมีเค้าเสียงของคำเดิมอยู่ เป็นต้น และมีความหมายที่เกี่ยวข้องกัน
ระดับน่าจะเกี่ยวข้องกัน สัญลักษณ์ C โดยดูจากรูปคำแล้วสามารถคาดเดาได้ด้วยหลักทางสรวิทยา
เช่น การแปรของเสียง การสูญหายของเสียง การแตกพยางค์เป็นต้น มีความหมายในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หรือเป็นเหตุเป็นผลกัน
ในช่องระดับความสัมพันธ์ หัวข้อเสียง จะมีตัวเลข 1 และ 2 กำกับหน้าอักษร A B C เพื่อบอกว่าเป็นพยางค์ที่หนึ่ง และพยางค์ที่สองตามลำดับ ส่วนคำที่เหมือนกันทั้งคำไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นพยางค์ใด จะใช้เลข 12 กำกับ
ภาษาอีสาน ภาษาจีน ระดับความ
สัมพันธ์
คำเสริมสร้อย ความหมาย อักษรจีน เสียง
อ่าน ความหมาย เสียง ความ
หมาย
ก
ก่งโก้ย อาการเดินหลังโกงเคลื่อนไปช้าๆ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งจ่ง อาการที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งด่ง อาการชี้ชันขึ้นแต่ปลายโค้งลงเช่นหางวัว 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก้วนด้วน กุด ขด ด้วน 棍 gun4 ท่อนไม้ 1A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
ก่วมส่วม อาการกิริยาไม่สำรวม เดินกรายหัว 甩 shuai3 สะบัด สลัด 2B B
กอกซอก ลักษณะอาการหม่นหมอง ซอมซ่อ 槁 gao3 เหี่ยวแห้ง แห้ง เหี่ยว 1B C
กอกวอก ซูบผอม ขนาดใหญ่ขึ้นใช้ โกกโวก 槁 gao3 เหี่ยวแห้ง แห้ง เหี่ยว 1B B
ก่องเก๊าะ อาการยืนก้มศีรษะเอามือจับเข่า 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
ก่องจ่อง อาการที่หลังขด หรืองอ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่อจ่อ อาการนั่ง นอนงอตัว ขนาดใหญ่ขึ้นเรียกโก่โจ่ 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
坐 zuo4 นั่ง 2A B
ก่อซ่อ อาการนั่งซอมซ่อ จับเจ่า 跪 gui4 คุกเข่าลง 1B B
缩 suo1 หด 2A C
ก่อมเก๊าะ ลักษณะงอ หรือ คด ค่อม 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 1B A
ก่อมก้อย อาการเดินของคนเตี้ย 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 1B B
กากวาก ลักษณะที่มีรอยเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่ 广 guang3 บริเวณกว้างใหญ่ 12A A
ก่างจ่าง อาการที่ยืนถ่างขา 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
ก้าวหง้าว แหวอะหวะ แหว่งเว้า 凹 ao4 เว้า 2B A
กิ่งดิ่ง ชันมาก 顶 ding3 ส่วนที่อยู่บนสุด ยอด 2B C
径 jing4 ทางเดิน山径=ทางเดินขึ้นเขา 1C C
กิ่นติ่น อาการวิ่งเล่นอย่างเด็ก ขนาดใหญ่เรียกว่าโก่นโต่น 滚 gun3 กลิ้ง 1B C
กึ่งดึ่ง แข็งแกร่ง แข็งท่อ แข็งโด่ 刚 gang1 แข็ง 1A A
กื่อซื่อ ลักษณะทอดอาลัย 失 shi1 สูญเสีย 2A B
กุ๊ดดุ๊ด ลักษณะที่ถูกตัดเหลือไว้นิดหน่อย 断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A C
กุ้นดุ้น สั้นมากแต่ขนาดใหญ่ 棍 gun4 ท่อนไม้ 12A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
กุ่ยตุ่ย อาการวิ่งอย่างหมู 猪 zhu1 หมู สำเนียงแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า ตือ 2C B
กู้จู่ ลักษณะของใหญ่สั้นคุดคู้อยู่กับที่ 固 gu4 แข็ง แน่น มั่นคง 1A C
กูดจูด โด่ง เช่น นอนก้นโด่ง ว่า นอนกูดจูด 鼓 gu3 นูนขึ้น พองขึ้น 1B A
เกกเวก อาการวางหน้าไม่สนิท 怪 guai4 แปลก ประหลาด 12B C
แกกแซก ลักษณะต้นไม้ที่แห้งตายซาก 干 gan1 แห้ง 1B A
เก่เหว่ เหย เบ้ เบี้ยว 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 12A A
เกิ่งเดิ่ง ลักษณะสิ่งของที่ไม่สม่ำเสมอกัน 埂 geng3 คันนา เนิน 1A C
เกิ่งเดิ่ง ลักษณะชี้ขึ้นกระดกขึ้น 梗 geng3 ก้าน กิ่งไม้ , ยืดให้ตรง 1A C
โก่นโต่น เปลือย ล่อนจ้อน 光 guang1 เปลือย 1B A
ข
ข้องหย้อง ติดและพันอยู่อย่างดิ้นไม่หลุด ขึ้งยึง ขุ้งยุงก็ว่า 捆 kun3 มัด พัน 1B C
ข้อหล้อ ลักษณะของที่เป็นก้อนๆ 块 kuai ก้อน ชิ้น 1B A
ขอยวอย ละลิ่ว ลิบๆ 吹 chui1 เป่า พัด 1C C
ข้อยล้อย ลักษณะสิ่งของเล็กๆที่หลวมและหลุดออกมา 落 luo4 ตก ร่วง หล่น 2B B
ข้ายหย้าย อาการผละออกจากกลุ่มทันที 开 kai1 เปิดออก เคลื่อนที่ออกไป 离开=จากไป 12A B
ขุมฟุม เฟื้ม ลักษณะยาวรุงรังของหนวด 胡 hu2 หนวด เครา สำเนียงฮกเกี้ยนออกเสียงว่า ฝู 2B A
แข้นแหล้น อาการบานออก หรือเปิดเลื่อนออก 开 kai1 เปิดออก 1B B
โขบโข้ ลักษณะใบตองแห้งติดกัน 枯 ku1 (พืช) เหี่ยว เฉา แห้งเหี่ยว 1B B
โข้โม มีหน้าตาสะพรึงกลัว 恐 kong3 น่ากลัว 1B B
ค
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก
(เล็กลงตามลำดับเรียก ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
คะยะ อาการกระโดดถ่างขา 跨 kua4 ก้าว ข้าม 1B C
跃 yue4 กระโดด 2B A
ค้าวน้าว ลักษณะของที่ยืดหรือขึงอยู่ 控 kong4 แขวน หรือห้อย 1C B
คุมนุม กักขัง กักเก็บ ผูกไว้ 困 kun4 ปิดล้อม โอบล้อมเอาไว้ 12B B
เคาะเยอะ อาการเต้นของกบเขียดตัวเล็ก ๆ 跃 yue4 กระโดด 2C B
โค่นโล่น ลักษณะของที่กลมเกลี้ยง พหู.โค่นโล่นเค่นเล่น 轮 lun2 ล้อ หมุน 2A C
จ
จ่งโจ๊ะ อาการยืนหลังค่อมถ่างขา 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1B B
จ๊ดป๊ด ห้วน สั้น 紧 jin3 ตึง แน่น ชิด 1C C
จ๊ดทด ลักษณะของตอไม้ต้นไม้ที่เรียงกันเป็นแถว 条 tiao2 แถว 2C B
จ่วงล่วง ลักษณะน้ำที่ใส 亮 liang4 ใส สว่าง 2B B
โจ้โก้ ลักษณะที่แน่นเป็นกองเล็กและสูง
(เล็กลงตามลำดับเรียก จ้อก้อ แจ้แก้) 巨 ju4 ขนาดใหญ่ 1B C
จ่อข่อ อาการนั่งจับเจ่า 坐 zuo4 นั่ง 1A A
จ่อล่อ อาการรู้สึกมีของติดค้างในคอ 卡 qia3 คาอยู่ระหว่างกลาง 1C B
จ่อว่อ เป็นรูพรุน หวอ ปากหวอ 窝 wo1 รัง , ส่วนที่เว้าเข้าไป 2A C
จ๊ะก๊ะ อาการนั่งยองๆหรือยื่นถ่างขา จั่งก๊ะ ก็ว่า 坐 zuo4 นั่ง 1C B
张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1C B
จ๊ะจ่าง อาการถ่างออก เบ่งออก จ่างจ๊ะ ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
จังงัง อาการตกตะลึง 惊 jing1 ตกตะลึง 1B A
จันลัน สนิท มิด 粘 zhan1 เหนียวติด เกาะติด 12A C
จั๊บมับ สนิท แนบสนิท 紧 jin3 ชิด สนิท 1C A
จ่างป่าง สว่าง โล่ง 彰 zhang1 ชัดแจ้ง เด่นชัด 12A B
จ่านพ่าน กระจายเกลื่อนอยู่ 展 zhan3 แผ่ขยายออกไป 1A B
จำจี่ กระชั้นชิด ใกล้ชิด 紧 jin3 ชิด สนิท 2B A
จิงพิง ลักษณะคนหรือวัตถุขนาดเล็กที่มองเห็นได้ชัดเจน 晶 jing1 สว่าง แวววาว 12A B
จินจิ๊ก ลักษณะคนผมหยิกหน้ากร้อ คอสั้น 卷 juan3 ม้วน ขด งอ หยิก 1C B
จีดลีด ลักษณะใบหน้าที่เคร่งเครียด 紧 jin3 สภาพจิตใจเคร่งเครียด ไม่ปกติ 1B B
จี่ลี่ บอกลักษณะความเงียบว่า เงียบกริบ 静 jing4 เงียบ 12B A
เจ้งเพ้ง มาก กองใหญ่เป็นพะเนิน 涨 zhang4 ขยายใหญ่ 1B B
彭 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ 1B B
เจื่องเฮือง เหลืองอร่าม 黄 huang2 สีเหลือง 2B A
ง
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ง้องแง้ง อาการเคลื่อนไหวคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
ง่อมเงาะ งอ คด 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งักแง่น อาการสั่นไปสั่นมา ชักดิ้นชักงอ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C B
งุบเงิง อาการของสิ่งกลม/โค้งกระดกเปิดอ้าแล้วยุบลง 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
งูบงาบ ลักษณะการเดินช้าๆของคนหรือสัตว์ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ซ
ซ้อยม้อย เหนื่อยมาก อ่อนเพลีย 酸 suan1 เหนื่อย ล้า เพลีย 1C A
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
ซ่างล่าง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ยาวสูงขึ้น 上 shang4 ขึ้น บน 1A C
双 shuang1 คู่ 1B B
ซิกงิก ทำหน้างอ อาการแสดงความไม่พอใจ 气 qi4 โกรธ 1C B
ซื่อลื่อ ตรง ทื่อ เซ่อ ลักษณะนิ่ง เฉย 实 shi2 ซื่อ ตรง จริง 1A A
ซูซี เซ้าซี้ ดึงดัน 絮 xu4 พูดจู้จี้ พูดร่ำไร 2A A
เซกเลก ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่เล่ ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่มเล่ม หน้ากระดูกยาวไม่สวย 脸 lian3 ใบหน้า 2B C
เซ่อเล่อ เผอเรอ หลงลืม 落 la4 หลงลืม 2B A
แซ่งแซะ ลักษณะของคนที่เดินเรื่องเปื่อยไม่มีจุดหมาย 散 san4 ไม่จำกัด กระจัดกระจาย 1B B
แซะและ อาการเลียบๆเคียงๆก้อล้อก้อติก กะลิ้มกะเหลี่ย 色 se4 อารมณ์โลกีย์ กามารมณ์ 1B B
โซงโลง ส่งของที่อยู่เป็นคู่อย่างเป็นระเบียบซองลองก็ว่า 双 shuang1 คู่ 1A A
ต
ตงยง งาม ระหง 优 you1 ดีงาม ล้ำเลิศ 2B B
ตวกต้วย หย่อนยาน 掉 diao4 ตก หล่น ล้ม 1B C
ต้องหล้อง มีลักษณะที่เป็นหลุมหรือบ่อเล็กๆ 洞 dong4 หลุม โพรง อุโมง 1A B
ต้างหล้าง ลักษณะที่เป็นหลุมโพรงขนาดใหญ่ ขนาดเล็กเรียกแต้งแหล้ง 凼 dang1 บ่อ หลุม 1A A
ตอดปอด ลักษณะสิ่งของที่อยู่ติดกับสิ่งอื่น พูดเป็นสร้อยว่า ตอดปอดแตดแปด 贴 tie1 ติด ปิด แปะ 1C B
ต้อป้อ เตี้ย สั้น 短 duan3 สั้น 1B A
ตอยอ ยู่ ย่น หงิกงอ 绕 rao4 ขด วน ล้อม 2C C
揉 rou2 ขยำ ขยี้ 2C C
เต๊ะเซะ ลักษณะสิ่งของที่ห้องหย่อนลงมา 掉 diao4 ตก หล่น ล้ม 1B C
เตี้ยงเหลี้ยง บริสุทธิ งาม สะอาด น้ำใส 亮 liang4 ใส สะอาด สวย 2A A
แต่งแย่ง มีลักษณะเหมาะสม 当 dang4 เหมาะสม 1B A
ถ
ถ่องแถว มีลักษณะเรียงกันเป็นระเบียบ 条 tiao2 แถว 2A B
ท
ทกทื้น กระตุก กระชาก ดึง รั้ง 拖 tuo1 ดึง ลาก 1B A
ท้อล้อ อาการเหนื่อย หรือป่วยหนัก พูดเป็นสร้อยว่า ท้อล้อแท้แล้ 累 lei4 เหนื่อย 2B A
เท้อเล้อ ลักษณะสิ่งของหรือคนที่ใหญ่สูงยืนอยู่โดดเด่น 特 te4 พิเศษ เฉพาะ เหนือกว่า 1A B
โทนโท้ ลักษณะที่มองเห็นได้เด่นชัด 突 tu1 เด่นชัด 1C A
น
น่วนนี /น่ำนี ลักษณะที่ตีซ้ำๆ / ทะเลาะ ผิดใจกัน 虐 nue4 ทารุณ ทำร้าย 1B B
ป
ปอนลอน ลักษณะใบหน้าที่เกลี้ยงเกลา 漂 piao4 漂亮 = สวย งาม เด่น 1C C
脸 lian3 ใบหน้า 2C C
ป้อจ้อ ปรากฏเป็นดอกดวงหรือเป็นวงอยู่ 破 po4 แตก ฉีก ขาด 1B C
ป้องหง้อง อาการล้มของคนหรือสิ่งของ ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เรียก ปุ้งหงุ้ง / ป้างหง้าง 崩 beng1 พังทลาย พัง แตก 1A B
ปางซาง ลักษณะของใหญ่ยาว แบนออก กางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B A
ปิ่งสิ่ง แช่มช้อย ผุดผ่องและสวยงามของแก้ม 庞 pang2 ใบหน้า 1B B
腮 sai1 แก้มทั้งสองข้าง 2B C
ปิ๊ดลิด ลักษณะของที่เล็กแหลม 秕 bi3 ไม่อิ่ม ไม่แน่น ลีบ 1B C
ปิ่นวิ่น งดงาม จิ้มลิ้ม พริ้มเพรา 漂 piao4 สวย งาม เด่น 1C B
ปิ่นหลิ่น หมดเกลี้ยง 完 wan2 แล้วเสร็จ หมด ไม่เหลือ 1B B
ปือลือ โกรธจัด 愤 fen4 ไม่พอใจ โกรธเคือง เคียดแค้น 1B A
ปู้ลู้ ลักษณะของสิ่งของที่เต็มจุก หรืออุดอยู่ 补 bu3 ปะ เสริม เพิ่ม เติม 1A C
เปิงเซิง บานเต็มที่ สวยงาม งามเด่น 菶 beng3 เป็นพุ่มพฤกษ์ เขียวชอุ่ม 1A B
膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B B
แป้แจ้ ลักษณะของสิ่งที่เล็กแบนติดอยู่ 扁 bian3 แบน 1B B
แปแค ลักษณะสิ่งของบางเล็ก 扁 bian3 แบน 1B A
ผ
ผีดหลีด เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ใหญ่ขึ้นเรียกว่าผูดหลูด 奔 ben1 ตะบึง วิ่ง 1B B
พ
พอมผ่อ เห็นลิบๆ เห็นเล็กนิดเดียว 碰 peng4 พบ ประสบ เห็น 1C B
พ้อว้อ ลักษณะของสิ่งเล็กที่โผล่ ยื่นออกมา 坡 po1 เนิน 12A C
พานลาน ลักษณะแตก ปริ ขนาดใหญ่เรียก พินลิน 绷 beng4 แตก ปริออกเป็นรอย 1C A
พำวำ ลักษณะเดินดุ่ม มองเห็นไกล 望 wang4 มองไปไกลโพ้น 2B B
พิญิ เริ่มแตกช่อ ใบอ่อน ลักษณะบาดแผลเล็ก 擗 pi3 แตก แยกออกจากของเดิม 12A B
พิกวิก ลักษณะของสิ่งเล็ก 薄 bo2 เล็กน้อย 1C A
微 wei1 นิดเดียว เบา น้อย 2C A
พิ้งวิ้ง ลักษณะของสิ่งเล็กที่ยื่นออกหรือกางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B B
พีนลีน ลักษณะของตาที่ปลิ้นออกมา 翻 fan1 พลิก กลับ 1B B
พู้วู้ พูน นูนขึ้นมา 坡 po1 เนิน 12A A
阜 fu4 เนินดิน ภูเขาเล็กๆ 1B A
เพ้อเว้อ ลักษณะสิ่งของที่ปากบานใหญ่ 盆 pen2 กระถาง กาละมัง อ่าง 1B B
ฟ
ฟืดฟาด อาการโกรธ โมโห 愤 fen4 โกรธ โมโห 1B A
ม
มอดญอด เปียกปอน 沐 mu4 沐浴 mu4yu4 = อาบน้ำ 1B B
ม้อต้อ อ้วน เตี้ย 短 duan3 สั้น 2C B
มะงอ คดๆ งอๆ พูดเป็นสร้อยว่า มะงอมะง้อง 扭 niu3 บิด หัก 2C A
มะนึง ติดกันเป็นพืด ระโยงระยาง พูดเป็นสร้อยว่า
มะนึงพึงพืด 凝 ning2 เกาะตัว แข็งตัว 2B A
มะลอง ขี้ริ้ว เศร้าหมอง ไม่น่าภูมิใจ พูดเป็นสร้อยว่า
มะลองจองจอย 陋 lou4 น่าเกลียด อัปลักษณ์ ไม่น่าดู 2C A
มะล้อน อาการแกว่งของวัตถุ พูดเป็นสร้อยว่า มะล้อนต้อนแต้น 抡 lun1 ใช้แรงกวัดแกว่ง 2A A
มะลัง เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง พูดเป็นสร้อยว่า
มะลังจังเจียว 缆 lan3 เชือก โช่ที่ฟั่นหลายเกลียว 2B B
มะลาม ไม่เป็นระเบียบ สับสน ปนเป 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 2B B
มูดยูด หน้าตาบูดบึ้ง 绷 beng4 ตีหน้าบึ้ง 1C A
เมาะแมะ อาการนั่งสงบเสงี่ยม มักพูดซ้ำกันว่า เมาะๆแมะๆ 寞 mo4 เงียบสงบ เงียบเชียบ 1B B
ย
ยามย่าง ของที่อยู่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ระเกะระกะ 延 yan2 ยื่นขยายออกไปลามออกไปเรื่อย 1B C
ยีย่อง นวลงาม ผุดผ่อง 艳 yan4 งามหรูหรา งามฉูดฉาด 1B B
ยียน ใสงาม แวววาว 妍 yan2 สวยงาม สวยเพริศพริ้ง 12A A
ยียั่ง แวววาว วะวับ 滢 ying2 ใสแจ๋วใสสะอาด 12A A
ยียับ งามสดใส ขจี วาววับ พูดว่า เขียวดียียับ 瑛 ying1 แสงวาววับของหยก 12B B
ยียาบ วะวับ วาววับ ระยิบระยับ 焱 yan4 ประกายไฟ 12B B
ยีเยือก สยอง ซู่ พูดว่า ขนหัวพองยีเยือก 殃 yang1 ภัยพิบัติ ความพินาศ 12B C
ยึ่งยั่ง อาการแย่งชิงกัน 抢 qiang3 แย่ง ชิง 12C A
ล
ลวนควน อาการขดเป็นวงอย่างงูใหญ่ขด 挛 luan2 ขด หดตัว 1A A
ลองซอง เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ 双 shuang1 คู่ 2B A
ลีเลื่อ กระเสือกกระสนไป 跞 li4 ขยับ เดิน 1A B
เล็มเล่ ลักษณะที่น้ำมูกไหลย้อยออกมา 沥 li4 หยดลงเป็นหยด ๆ 2A B
เลอะเซอะ ระเกะระกะ เรี่ยราด 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 1C A
เลิบเซิบ ซึมเซา เศร้าซึม คิดไม่ตด 儽 lei3 ลักษณะท่าทางหน้าม่อย คอตก ซีดเซียว 1B A
ว
วีว่อน เสียงดังมาจากที่ไกล เสียงแว่ววังเวงโหยหวน 豗 hui1 เสียงดังอึกทึกครึกโครม 1B B
แว่งแวะ บอกลักษณะลอยละล่อง วับๆ ลิบๆ 滃 weng3 เมฆลอยขึ้น 1B C
ส
สวะสวาง โล่งอก โล่งใจ สบายขึ้น 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น 12A A
ส้องแส้ง อาการเดินโซเซไปมาอย่างคนเมา 摔 shuai1 เสียการทรงตัวจนล้มลงไป 1B B
สอยลอย คล้อยตามเขา 随 sui2 ตาม ติดตาม คล้อยตาม 12A A
ส่อแส่ เริ่มปรากฏขึ้น 显 xian3 ปรากฏเด่นชั้น 1C B
สอยวอย แฉล้มแช่มช้อย สอดชื่น งดงาม 帅 shuai4 สะโอดสะอง งดงาม 12A B
สึงหลึง อาการนิ่งนึกอย่างตรึกตรอง 想 xiang3 คิด ครุ่นคิด ไตร่ตรอง 1B A
เสี่ยงเงี่ยง เอียง 斜 xie2 เอียง 1B A
ห
หย่องแหย่ง ลักษณะกระโดดเบาๆ 踊 yong3 กระโดด 1A A
หลุหลั่ง ทะลุไหลพรั่งพรูออกมา พูดเป็นสร้อยว่า หลุหลั่งถั่งเท 漏 lou4 รั่ว 1A A
流 liu2 ไหล 1A B
หมุดหมัด อาการรำคาญ ไม่ปลอดโปร่ง อึดอัด 闷 men4 ไม่สบายใจ หดหู่ กลัดกลุ้ม 1B B
อ
อ่งต่ง อิ่มเอิบ เปล่งปลั่ง 滃 weng3 บรรยายว่ามีน้ำมาก 1B B
อวกลวก ลักษณะของสิ่งใหญ่ที่มัวไม่สดใส เพราะเปรอะเปื้อนสิ่งอื่น 污 wu1 สกปรก คราบสกปรก 1B B
อ่อมอ้อย ลักษณะการเดินอย่างนกเดิน 鹀 wu2 นกชนิดหนึ่ง 1B B
อ้อมล้อม ลักษณะอาการขอด หรือกอดรวมกันแน่น 卧 wo4 นอน(สัตว์) นอนคว่ำ คู้ตัวลงนอน 1B B
อ้อย้อ ลักษณะห่อสิ่งของขนาดเล็ก 窝 wo1 รังของสัตว์หรือแมลง 1B C
อ้างม้าง ลักษณะอาการของสิ่งที่บุ๋มลึกลงไป 凹 ao เว้า แหว่ง 1B B
อึ่งตึ่ง แน่นหนา เต็ม บริบูรณ์ 蓊 weng3 เขียวชะอุ่มเป็นพุ่ม 1B A
อุ้งปุ้ง ลักษณะสิ่งของที่โป่ง พองขึ้น ใหญ่ขึ้นเรียกว่า อ้งป้ง อ่องป่อง 膨 peng2 พอง โป่ง 2B A
อู้คู้ ลักษณะการนอนของคนสัตว์ที่นอนขดอยู่ 卧 wo4 นอน(สัตว์) นอนคว่ำ คู้ตัวลงนอน 1A B
แอะแอ่น ลักษณะแอ่นไปแอ่นมาของการฟ้อนรำ 舞 wu3 เต้น รำ 1C C
แอ่มแค่ม มีแสงแดดอ่อนๆไม่แน่นหนา 晻 an3 มืดครึ้ม สลัว รุบหรู่ 1B B
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า คำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่ปรากฏในพจนานุกรม และภาคผนวกรายการคำเสริมสร้อยในวิทยานิพนธ์เรื่องที่เกี่ยวข้องแทบทุกคำ สามารถหาคู่คำที่มีเสียงและความหมายสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ ไม่พยางค์หน้าก็พยางค์หลัง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ลักษณะของคำเสริมสร้อยสองพยางค์ที่มีรากคำเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีนพยางค์เดียว ได้ดังนี้
1. การเติมวิภัติปัจจัย (affixation)
1.1 หน่วยเติมหน้า คือการเติมหน่วยเสียงเข้ามาข้างหน้า ไม่ได้ทำหน้าที่บอกความหมาย
ใดๆ เป็นแต่เพียงการซ้อนเพื่อเสียงเท่านั้น ตัวอย่างคำ เช่น
มะนึง ติดกันเป็นพืด ระโยงระยาง พูดเป็นสร้อยว่า
มะนึงพึงพืด 凝 ning2 เกาะตัว แข็งตัว 2B A
มะลอง ขี้ริ้ว เศร้าหมอง ไม่น่าภูมิใจ พูดเป็นสร้อยว่า
มะลองจองจอย 陋 lou4 น่าเกลียด อัปลักษณ์ ไม่น่าดู 2C A
มะล้อน อาการแกว่งของวัตถุ พูดเป็นสร้อยว่า มะล้อนต้อนแต้น 抡 lun1 ใช้แรงกวัดแกว่ง 2A A
มะลัง เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง พูดเป็นสร้อยว่า
มะลังจังเจียว 缆 lan3 เชือก โช่ที่ฟั่นหลายเกลียว 2B B
มะลาม ไม่เป็นระเบียบ สับสน ปนเป 乱 luan4 ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ 2B B
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า มีการเติมหน่วยเติมหน้า /มะ/ ที่หน้ารากศัพท์ให้เป็นคำสองพยางค์ แต่คำที่บอกความหมายหลักอยู่ที่พยางค์ที่สอง หลังจากที่สร้างคำสองพยางค์แล้ว ยังสามารถใช้วิธีการคล้องจองสร้างคำสร้อยสองพยางค์เข้ามาเพิ่มต่อท้ายได้อีก แล้วพูดต่อกันเป็นคำสี่พยางค์ แต่ไม่ว่าจะขยายคำออกไปอย่างไร รากศัพท์ยังคงสื่อความหมายดังเดิม
1.2 หน่วยเติมกลาง คือการเติมหน่วยเสียงแทรกตรงกลางระหว่างคำ หน่วยเสียงที่แทรกมา
พบว่ามักเป็นพยัญชนะสะกดของรากคำเดิม หรือฐานกรณ์ใกล้เคียงกับพยัญชนะต้นหรือพยัญชนะท้ายของคำเดิมนั่นเอง หรือเป็นเสียง /ย ร ล ว/ และมักจับคู่แน่นอนกับพยัญชนะต้นคำเดิม เช่น /พ,ป คู่กับ ว/ / จ คู่กับ ก,พ/ /ค คู่กับ น/ /ซ คู่กับ ล/ เป็นต้น เมื่อแทรกแล้วจะกลายเป็นคำสองพยางค์ แต่รูปคำเดิม ทั้งพยัญชนะต้น สระ และพยัญชนะสะกดยังคงเดิม หรือแปรไปเล็กน้อยเท่านั้น ตัวอย่างคำเช่น
จังงัง อาการตกตะลึง 惊 jing1 ตกตะลึง 1B A
ข้ายหย้าย อาการผละออกจากกลุ่มทันที 开 kai1 เปิดออก เคลื่อนที่ออกไป 离开=จากไป 1A B
จ่านพ่าน กระจายเกลื่อนอยู่ 展 zhan3 แผ่ขยายออกไป 1A B
จิงพิง ลักษณะคนหรือวัตถุขนาดเล็กที่มองเห็นได้ชัดเจน 晶 jing1 สว่าง แวววาว 1A B
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก (เล็กลง ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
ค้าวน้าว ลักษณะของที่ยืดหรือขึงอยู่ 控 kong4 แขวน หรือห้อย 1C B
ซ่างล่าง ลักษณะสิ่งของที่เป็นคู่ยาวสูงขึ้น 上 shang4 ขึ้น บน 1A C
ซื่อลื่อ ตรง ทื่อ เซ่อ ลักษณะนิ่ง เฉย 实 shi2 ซื่อ ตรง จริง 1A A
ป้องหง้อง อาการล้มของคนหรือสิ่งของ ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เรียก ปุ้งหงุ้ง / ป้างหง้าง 崩 beng1 พังทลาย พัง แตก 1A B
เพ้อเว้อ ลักษณะสิ่งของที่ปากบานใหญ่ 盆 pen2 กระถาง กาละมัง อ่าง 1B B
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า มีการเติมหน่วยคำเติมกลางแทรกกลางระหว่างสระและพยัญชนะท้ายของรากศัพท์ หน่วยเติมกลางดังแสดงเป็นตัวอักษรทึบดังนี้ จังงัง ข้ายหย้าย จ่านพ่าน จิงพิง ค้งน้ง ค้าวน้าว ซ่างล่าง ซื่อลื่อ ป้องหง้อง เพ้อเว้อ
1.3 หน่วยเติมท้าย เป็นการเติมหน่วยคำซ้อนต่อท้ายคำเดิม โดยที่เสียงพยัญชนะต้นของ
พยางค์ที่สองมักเป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก เสียงสระก็เป็นเสียงเดียวกันกับพยางค์แรก แต่ความสั้นยาวจะตรงกันข้ามกัน กล่าวคือถ้าพยางค์หน้าเป็นสระสั้นพยางค์หลังจะเป็นสระยาว แต่ถ้าพยางค์หน้าเป็นสระยาวพยางค์หลังจะเป็นสระสั้น นอกจากนี้ยังพบว่า คำสองพยางค์บางคำทั้งพยางค์หน้าและพยางค์หลังเป็นคำที่มาจากรากศัพท์คำร่วมเชื้อสายไท-จีนทั้งสองคำ ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
แว่งแวะ บอกลักษณะลอยละล่อง วับๆ ลิบๆ 滃 weng3 เมฆลอยขึ้น 1B C
แซ่งแซะ ลักษณะของคนที่เดินเรื่องเปื่อยไม่มีจุดหมาย 散 san4 ไม่จำกัด กระจัดกระจาย 1B B
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
พิกวิก ลักษณะของสิ่งเล็ก 薄 bo2 เล็กน้อย 1C A
微 wei1 นิดเดียว เบา น้อย 2C A
ปิ่งสิ่ง แช่มช้อย ผุดผ่องและสวยงามของแก้ม 庞 pang2 ใบหน้า 1B B
腮 sai1 แก้มทั้งสองข้าง 2B C
ก้วนด้วน กุด ขด ด้วน 棍 gun4 ท่อนไม้ 1A A
断 duan4 ท่อน ดุ้น 2A A
จากตัวอย่างคำข่างต้นจะเห็นว่า หน่วยเติมท้ายที่เติมเข้ามา พยัญชนะต้นพยางค์ที่สองซ้ำกับพยัญชนะต้นรากศัพท์เดิม โดยสลับความสั้นยาวของสระ แสดงเป็นอักษรทึบ ดังนี้ ก่งโก๊ะ แว่งแวะ แซ่งแซะ ซะซาย ส่วนคำที่สามารถหาคู่คำสัมพันธ์กับคำในภาษาจีนได้ทั้งสองคำ ได้แก่ ปิ่งสิ่ง และ ก้วนด้วน
2. กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย คือ รากศัพท์เดิมเพียงคำเดียว สามารถนำมาสร้างคำสองพยางค์
ได้หลายคำ โดยวิธีการแปรเสียงสระที่แตกต่างกัน มีผลทำให้ความหมายแปรไป แต่ยังคงเค้าความหมายจากรากศัพท์เดิม ตัวอย่างคำเช่น
ก่งโก้ย อาการเดินหลังโกงเคลื่อนไปช้าๆ 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งโก๊ะ อาการยืนหรือเดินหลังโกง 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งจ่ง อาการที่โค้งงอของไม้หรือหลังคน 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ก่งด่ง อาการชี้ชันขึ้นแต่ปลายโค้งลงเช่นหางวัว 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1A A
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ง้องแง้ง อาการเคลื่อนไหวคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
ง่อมเงาะ งอ คด 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งักแง่น อาการสั่นไปสั่นมา ชักดิ้นชักงอ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C B
งุบเงิง อาการของสิ่งกลม/โค้งกระดกเปิดอ้าแล้วยุบลง 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
งูบงาบ ลักษณะการเดินช้าๆของคนหรือสัตว์ 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
เซกเลก ลักษณะใบหน้ายาวผิดส่วน 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่เล่ ลักษณะสีหน้ามีพิรุธ 脸 lian3 ใบหน้า 2C C
เซ่มเล่ม หน้ากระดูกยาวไม่สวย 脸 lian3 ใบหน้า 2B C
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำว่า弓 (gong3) หมายถึง “โค้ง โก่ง” นำมาสร้างคำ
เสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ ก่งโก้ย ก่งโก๊ะ ก่งจ่ง ก่งด่ง รากศัพท์คำว่า扭 (niu3) หมายถึง“หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ ง้วงเงียง งอกแงก ง้องแง้ง ง่อมเงาะ งักแง่น งุบเงิบ งูบงาบ รากศัพท์คำว่า脸 (lian3) หมายถึง“ใบหน้า” นำมาสร้างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานหลายคำได้แก่ เซกเลก เซ่เล่ เซ่มเล่ม เป็นต้น
3. การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น คือ การใช้เสียงพยัญชนะและสระในรากศัพท์
เดิม แจกพยางค์ออกเป็นสองพยางค์ โดยที่เสียงอัฒสระ / u, i / แปรไปเป็นพยัญชนะต้น / ว , ย / ของพยางค์ที่สอง ( สระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ / u/ ) ตัวอย่างคำเช่น
กากวาก ลักษณะที่มีรอยเว้าแหว่งขนาดกว้างใหญ่ 广 guang3 บริเวณกว้างใหญ่ 12A A
เกกเวก อาการวางหน้าไม่สนิท 怪 guai4 แปลก ประหลาด 12B C
เก่เหว่ เหย เบ้ เบี้ยว 拐 guai3 เลี้ยว โค้ง มุม เป๋ 12A A
พู้วู้ พูน นูนขึ้นมา 坡 po1 เนิน 12A A
พิญิ เริ่มแตกช่อ ใบอ่อน ลักษณะบาดแผลเล็ก 擗 pi3 แตก แยกออกจากของเดิม 12A B
สอยวอย แฉล้มแช่มช้อย สอดชื่น งดงาม 帅 shuai4 สะโอดสะอง งดงาม 12A B
สวะสวาง โล่งอก โล่งใจ สบายขึ้น 爽 shuang3 ปลอดโปร่ง สว่างสดใส สดชื่น 12A A
ยีย่อง นวลงาม ผุดผ่อง 艳 yan4 งามหรูหรา งามฉูดฉาด 1B B
ยียน ใสงาม แวววาว 妍 yan2 สวยงาม สวยเพริศพริ้ง 12A A
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า เสียงอัฒสระในรากศัพท์เดิม เมื่อแปรมาใช้เป็นคำเสริมสร้อยสองพยางค์ภาษาอีสาน จะกลายเป็นเสียงพยัญชนะต้น เช่น 广guang3 กากวาก 拐guai3 เก่เหว่ 帅shuai4สอยวอย 妍 yan2 ยียน ในที่นี้ถือว่าสระ / o / เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับ สระ / u/ อย่างเช่นคำว่า坡po1 พู้วู้ นอกจากนี้ พบคำเสริมสร้อยสี่พยางค์ที่มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาจีนและมีวิธีการสร้างคำแบบเดียวกันนี้หนึ่งคำคือ สวะสวาง มาจากคำว่า爽shuang3
4. การสลับที่ จากข้อมูล พบคำเสริมสร้อยที่มาจากรากศัพท์เดิม สามารถสลับที่กันไปมาระหว่าง
พยางค์ที่หนึ่ง และพยางค์ที่สองได้ โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างคำเช่น
จ๊ะจ่าง อาการถ่างออก เบ่งออก ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 2A A
จ่างจ๊ะ อาการถ่างออก เบ่งออก ก็ว่า 张 zhang1 เปิดออก ถ่างออก 1A A
ซะซาย กระจัดกระจาย เรี่ยราด 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 1A A
ซามซะ รุ่มร่าม รุงรัง รุ่งริ่ง ซ่างซะ ก็ว่า 洒 sa3 กระจัดกระจาย เรี่ยราด 2A A
โซงโลง ส่งของที่อยู่เป็นคู่อย่างเป็นระเบียบซองลองก็ว่า 双 shuang1 คู่ 1A A
ลองซอง เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ 双 shuang1 คู่ 2B A
ม้อต้อ อ้วน เตี้ย 短 duan3 สั้น 2B B
ต้อป้อ สั้น เตี้ย 短 duan3 สั้น 1B A
จากตัวอย่างคำข้างต้นจะเห็นว่า รากศัพท์คำเดิมมีการสร้างคำหลายวิธีดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 หลังจากที่สร้างคำแล้ว คำสองพยางค์สามารถพูดสลับกันได้ แต่ความหมายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังแสดงเป็นอักษรทึบดังนี้ 张 (zhang1) จ่างจ๊ะ - จ๊ะจ่าง 洒 (sa3) ซะซาย – ซามซะ 双 (shuang1) โซงโลง – ลองซอง 短 (duan3) ต้อป้อ – ม้อต้อ
5.เสียงปฏิภาค จากข้อมูลคำศัพท์ที่รวบรวมได้พบว่า มีคู่คำศัพท์ระหว่างภาษาจีนกับภาษาอีสานที่เป็นเสียงปฏิภาคหลายคู่เสียง เช่น /k - kh/ /n - ng/ /p – ph,f / ตัวอย่างคำเช่น
ค้งน้ง โค้ง โก่งมาก
(เล็กลงตามลำดับเรียก ค้องน้องแค้งแน้ง) 弓 gong1 โค้ง โก่ง 1B A
ง้วงเงี้ยง อาการเลื้อยคดไปคดมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C A
งอกแงก โยกไป คลอนมา 扭 niu3 หมุนหันบิดเดินระตุ้งกระติ้ง 1C C
ปางซาง ลักษณะของใหญ่ยาว แบนออก กางออก 膨 peng2 ขยายใหญ่ พองใหญ่ขึ้น 1B A
ปือลือ โกรธจัด 愤 fen4 ไม่พอใจ โกรธเคือง เคียดแค้น 1B A
จากตัวอย่างคำจะเห็นว่ามีคำที่เป็นเสียงปฏิภาคคือ ค้งน้ง -弓 (gong1) ง่วงเงี้ยง -扭 (niu3) ปางซาง -膨(peng2) ปือลือ -愤 (fen4)
บทสรุป
ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า สมมติฐานของการศึกษาในครั้งนี้คือ รากศัพท์ดั้งเดิมของคำเสริมสร้อยในภาษาอีสาน เป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีน บทความนี้จึงได้ดำเนินกรอบการอภิปรายเป็นประเด็นต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นข้อสนับสนุนของสมมติฐานนี้เป็นลำดับขั้นตอน นับตั้งแต่ข้อมูลคำโดดในภาษาอีสานจับคู่เปรียบเทียบกับคำภาษาจีนที่คาดว่ามีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างคำเสริมสร้อยในภาษาอีสานที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาษาจีน การให้คำนิยามความหมายของคำซ้ำ คำซ้อนและคำเสริมสร้อย ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องชนชาติไท ภาษาตระกูลไท การศึกษาคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีน และการศึกษาเกี่ยวกับภาษาอีสาน จากนั้นได้ให้ข้อมูลคำเสริมสร้อยภาษาอีสานเปรียบเทียบกับคำศัพท์ภาษาจีนที่คาดว่ามีความสัมพันธ์กันซึ่งรวบรวมจากพจนานุกรม รายการคำเสริมสร้อยภาษาอีสานที่ปรากฏในภาคผนวกของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบกับผู้บอกภาษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ โดยตารางคำศัพท์มีรายละเอียดเรื่องเสียง ความหมาย และระดับความสัมพันธ์ของคำในภาษาทั้งสอง สุดท้ายได้วิเคราะห์ลักษณะคำเสริมสร้อยที่มีคำที่มีความสัมพันธ์กับคำในภาษาจีน พร้อมทั้งยกตัวอย่างอธิบาย พบว่าคำภาษาอีสานที่มีที่มาจากรากศัพท์คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน มีวิธีการสร้างคำคือ การเติมวิภัติปัจจัย กลุ่มเสียงกลุ่มความหมาย การแปรเสียงอัฒสระเป็นเสียงพยัญชนะต้น การสลับที่ และเสียงปฏิภาค จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวอีสานและชาวไท หลักฐานเกี่ยวกับภาษา รวมถึงหลักฐานคำศัพท์ที่ปรากฏในบทความนี้ เชื่อได้ว่า คำเสริมสร้อยในภาษาอีสานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาจีน ถือเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลไท-จีนจริง
เอกสารอ้างอิง
ขอนแก่น,มหาวิทยาลัย. (2532) พจนานุกรมภาษาอีสาน-กลาง. ขอนแก่น:สหวิทยาลัยอีสาน.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน.(2530) พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
กรุงเทพฯ:อรุณการพิมพ์.
คำพูน บุญทวี(2548) พจนานุกรมภาษาอีสานฉบับคำพูน บุญทวี.พิมพ์ครั้งที่ 1,กรุงเทพฯ:โป๊ยเซียน.
จิตร ภูมิศักดิ์.(2519) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อ
ชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:โครงการตำราสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ไทย-ลาว,สมาคม.(2546)ปทานุกรมคำพ้องไทย-ลาว.กรุงเทพฯ:มติชน.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ.(2541) พจนานุกรมจีน-ไทย.กรุงเทพฯ:รวมสาส์น.
บรรจบ พันธุเมธา. (2526) กาเลหม่านไตในรัฐชานและคำตี่เมืองขาง.คณะอนุกรรมการเผยแพร่
เอกลักษณ์ของไทยในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
———— (2537) ลักษณะและการใช้ภาษาไทย. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บรรพต เปรมชู . (2522) คำวิเศษณ์และสำนวนพูดภาษาอีสาน .กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการ
วัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล.(2545) พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน(เว่าอีสาน).พิมพ์ครั้งแรก.ขอนแก่น:คลังธนา
ธรรม.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.(2547) ไทยสิบสองปันนาเล่ม 1 .พิมพ์ครั้งที่ 3 ,กรุงเทพฯ:ศยาม.
ประคอง นิมมานเหมินทร์.(2519) “เสียงสระในคำขยายบางคำในภาษาอีสาน,” วารสารอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 16 (2519) : 56-65.
ปราณี กุละวณิชย์.(2535) พจนานุกรมจ้วงใต้ – ไทย.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปราณี กุละวณิชย์และคณะ.(2527) ศัพท์ไท 6 ภาษา. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรีชา พิณทอง.(2532) สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ.พิมพ์ครั้งที่ 1,อุบลราชธานี:โรงพิมพ์ศิริธรรม.
พวงพยอม ศรีหาบัติ (2521)คำอุทานของภาษาอีสาน.มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
มหาสารคาม.
พัชราภรณ์ เศวตสุวรรณ.(2530) การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานที่ไม่รวมเผ่าพันธุ์
ภาษาไทยกลาง กับภาษาตระกูลไท. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัย
มหาสารคาม.
ราชบัณฑิตยสถาน.(2546) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2542.กรุงเทพฯ:นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531)ภาษาถิ่นตระกูลไทย. (พิมพ์ครั้งที่2) กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราช
วิทยาลัย.
มะณีรัตน์ รักเพื่อน.(2538)ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคำร่วมเผ่าพันธุ์ภาษาไทยกลางและภาษา
ถิ่นอีสาน. ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม. ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ. (2550) การศึกษาภาษาไทและภาษาไทเปรียบเทียบ. ภาควิชาภาษาไทย คณะ
มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สอนศรี พิลาไชย (2534) คำวิเศษณ์บอกลักษณะในภาษาถิ่นอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม . วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2549) พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน. กรุงเทพฯ:มติชน.
สุริยา รัตนกุล.(2548) นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ : ภาษาตระกูลไท.กรุงเทพฯ:สหธรรมิก.
สุวารี เจียนโพธิ์. (2537) คำซ้อนในภาษาถิ่นอีสาน. ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม. ภาษาไทย) มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
อุดม พรประเสริฐ. (2523) คำวิเศษณ์สองพยางค์ในภาษาอีสาน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Asger Mollerup.(2001) Thai – Lao Phrase Book. Bangkok:White Lotus G.P.O.
Benedict Paul K.(1942)Thai, Kadai and Indonesian: A new alignment in Southeastern Asia,
American Anthropologist 44:576-601.
-----------------. (1975) Austro-Thai: Language and culture. New Haven: HRAF Press.
Brown, J. Marvin (1965) From Ancient Thai to Modern Dialects. In From Ancient Thai to Modern
Dialects, and Other Writings on Historical Thai Linguistics, Bangkok : White Lotus.
Chamberlain,James R. (1972) ‘The Origin of The Southwestern Tai’ in Bullentin des Amis du
Royaume Laos,7-8:233 – 44 Vientiane
Diffloth, Gérard.( 1974) Austro-Asiatic Languages. Encyclopaedia Britannica. 480-484.
Dodd,William C.(1923) The Tai Race-Elder Brother of Chinese.Cedar Rapids,Iowa,The Torch
Press.
Edmondson, J.A. and D.B. Solnit eds. (1997) Comparative Kadai: the Tai branch. Dallas:
Summer Institute of Linguistics and the University of Texas at Arlington.
Frank M.Lebar. (1964) Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven,Conn:
HumanRelations Area Files.
Gedney,William J. (1972) ‘A checklist for determining tones in Tai dialects’ , in Studies in
Linguistics in honor of Georg L. Trager. The Haug.Mouton.
Grierson,G.A. (1903 - 28) Linguistics survey of India,11vols.Culcutta,Office of the
Superementendent of Government Printing.
Hartman, John F. (1986) ‘Style, Scope, and Rigor in Comparative Tai Research’ in Bickner,
Robert J., Thomas J. hudak and Pacharin Peyasantiwong (eds.)
Li Fangkuei.(1959)“Classification by vocabular : Tai Dialects” in Anthropological
Linguistics,1.2,15-21.
-----------------.(1976) Sino-Tai, Genetics Relationship Diffusion and typological similarities on East
and Southeast Asian Languages ,Paper for the 1st Japan –US Joint Seminar on East
and Southeast Asian Linguistics, Tokyo.
L-Thongkum, Theraphan. (1979) Iconicity of vowel qualities in Northeastern Thai reduplicated words. In Studies in Tai and Mon-Khmer Phonetics and Phonology in Honour of Eugenie J.A. Henderson, 247-260, edited by Pranee Kullavanijaya et al. Bangkok: Chulalongkorn Printing House.
Manomaivibool Prapin.(1975) A Study of Sino-Thai Lexical Correspondence , PhD Dissertation,
University Of Washington.
Somsong Burusphat.(2006) Northern Zhuang Chinese Thai English Dictionary. Bangkok :
Ekphimthai Ltd.
龚群虎。(2002) 《汉泰关系词的时间层次》上海:复旦大学出版社。
郭锡良。(1986) 《汉字古音手册》北京:北京大学出版社。
梁敏,张均如。(1996) 《侗台语族概论》北京:社会科学出版社。
ผู้บอกภาษา
ณัฐพัชร์ เตชะรุ่งไพศาล : อายุ 37 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดอุบลราชธานี พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่,
อาจารย์สอนภาษาจีน ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี,
Computing Editors of Somsong Burusphat.(2006) Northern Zhuang Chinese Thai English
Dictionary. Bangkok: Ekphimthai Ltd.
นิภาดา พานะรมย์ : อายุ 22 ปี ภูมิลำเนา จังหวัดศรีสะเกษ พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่, นักศึกษา
ระดับปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์จีน Nanjing Normal University,China.
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)