หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณนาและข้อมูลทางภาษาศาสตร์ของภาษาตระกูลไทและภาษาที่เกี่ยวข้องในประเทศจีนจำนวน 12 ภาษา ซึ่งนักวิชาการจีนถือว่าเป็นภาษาพบใหม่ และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้มีสถานภาพเป็นชนกลุ่มน้อย ภาษาเหล่านี้มีความสำคัญต่อการศึกษาทางภาษาศาสตร์ตระกูลไทมาก
ภาษาหลินเกา ทฤษฎีการกำเนิดของวรรณยุกต์และการใช้คำลักษณนาม ชี้ให้เห็นว่าชาวหลินเกาอพยพจากแผ่นดินใหญ่ไปสู่เกาะห่ายหนาน ภายหลังจากชาวหลี
ภาษาอู่เส้อ มีความสำคัญในฐานะที่เป็นภาษาโบราณที่สามารถใช้สืบสร้างเสียงของภาษาไทยโบราณก่อนที่ภาษาต่างๆจะแยกออกจากกัน นอกจากนี้ภาษาอู่เส้อยังเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการศึกษาลักษณะของภาษาลูกผสมได้เป็นอย่างดี
ภาษาเปียว เป็นภาษาตัวออย่างที่ใช้ศึกษาเปรียบเทียบคำควบกล้ำในภาษาไทยที่สันนิษฐานว่าเป็นคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน
ภาษาฉาต้ง เป็นภาษาตัวอย่างในการศึกษาคำที่ภาษาไทยเกิดหน่วยคำเติมหน้าจำพวก “กระ มะ สะ ตะ”
ภาษาลักกะ หลักฐานการแปรของเสียงพยัญชนะควบกล้ำ /-l/ เป็น /-j/ ทำให้เห็นร่องรอยที่สามารถสันนิษฐานเสียงโบราณของภาษาสาขาจ้วง-ต้งได้
ภาษามากและอายจาม เป็นภาษาตัวอย่างในการศึกษาร่องรอยของเสียงพยัญชนะ /b, d/ ในภาษาตระกูลไท รวมทั้งการแปรจากเสียงพยัญชนะเหล่านี้ไปเป็นเสียง /p, t, m, l / ในภาษาแขนงต้ง-สุ่ย
ภาษาเท็น นักภาษาศาสตร์สนใจภาษาเท็นในฐานะที่ใช้เป็นภาษาต้นแบบสำหรับสืบสร้างระบบเสียงของสาขาภาษาจ้วง-ต้ง
ภาษาชุน มีความสำคัญของคือ เราสามารถใช้ภาษาชุนศึกษาคำศัพท์ภาษาจีนเก่าที่มีอยู่ในภาษาไทยได้ เนื่องจากพบคำศัพท์ภาษาจีนเก่าอยู่ในภาษาชุนมากถึง 28%
ภาษาปู้ยัง มีคำศัพท์ที่เป็นร่องรอยของภาษาไทยที่เก่าแก่ภาษาหนึ่ง นำไปสู่ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคำควบกล้ำและคำสองพยางค์ในภาษาไทยได้
ภาษาละติ สูญเสียพยัญชนะท้าย /p,t,k/ หมดแล้ว ทำให้คำที่เคยมีเสียงพยัญชนะท้ายเกิดเป็นคู่คำพ้องเสียงกับที่ไม่มีพยัญชนะท้ายจำนวนมาก คำเหล่านี้สอดคล้องกับภาษาจีนโบราณ อันเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับ “คำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน”
ภาษามู่หล่าวจัดได้ว่าเป็นภาษาที่สูญแล้ว แม้ว่าเราไม่อาจที่จะรู้ได้ว่าภาษามู่หล่าวที่แท้จริงเป็นเช่นไร แต่อย่างน้อยเราก็ยังสามารถจดบันทึกเอาไว้ว่าโลกเราเคยมีภาษาที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยนี้อยู่
ภาษาผู่เปียวกับภาษาไทยจะห่างไกลกันแบบลูกพี่ลูกน้องหรือเครือญาติสายที่ห่างกันออกไป แต่ร่องรอยความสัมพันธ์ก็ยังมีอยู่ สิ่งที่น่าสนใจชวนให้ขบคิดก็คือ คำพยางค์เดียวที่ภาษาไทยมี “ห” นำ เช่น หมัด หนอน ภาษาผู่เปียวออกเสียงเป็นสองพยางค์ โดยออกเสียง “h0” เป็นพยางค์หน้า