นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมา ด้วยดำริแรกเริ่มของ ดร.ชิดหทัย ปุยะติ ได้เสนอโครงการบริการวิชาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน เพื่อจัดโครงการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในอีสานใต้ ครั้งที่ 1 ต่อจากนั้น หลักสูตรภาษาจีนก็ได้รับสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการบริการวิชาการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในแต่ละปีจะกำหนดหัวข้อในการอบรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนในประเด็นที่แตกต่างกันไป
ปีงบประมาณ 2553 เรื่อง ปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีน
ปีงบประมาณ 2554 เรื่อง การสอนภาษาจีนด้วยข้อมูลท้องถิ่น
จากการจัดโครงการสองครั้งที่ผ่านมา มีผู้สนใจและเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก ทั้งที่เป็นครูผู้สอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษา ระดับอุดมศึกษา ครูผู้สอนภาษาจีนอิสระ นักเรียน นักศึกษาในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ได้ให้บริการวิชาการสู่บุคลภายนอกทั้งที่เข้ารับการอบรม และรับบริการจากสื่ออื่น มากกว่า 1,000 คนขึ้นไป ซึ่งผู้รับบริการวิชาการ สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอน เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในเขตอีสานใต้ได้เป็นอย่างดี
จากการตอบแบบสอบถามในการจัดโครงการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในเขตอีสานใต้ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ผู้เข้าอบรมกว่า 90% ชี้ว่า ปัญหาการจัดการเรียนการสอนในขณะนี้ คือ ขาดแคลนสื่อการสอนประเภทสื่อมัลติมีเดีย ผู้สอนพยายามค้นคว้าจากสื่ออินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีคู่มือประกอบบทบรรยาย และสื่อที่หาได้ไม่ครอบคลุมและไม่ครบถ้วน จึงได้เสนอขอให้การจัดโครงการในครั้งต่อไป เน้นการบริการวิชาการเรื่องการใช้สื่อการสอนจากสื่อมัลติมีเดีย ทั้งนี้นอกจากผู้สอนจะสามารถใช้ในการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง และการสร้างผลงานนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพได้อีกด้วย
หลักสูตรภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์จึงได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการบริการวิชาการ 2 ปี ต่อเนื่อง คือ
ปีงบประมาณ 2555 เรื่อง การผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนจากสื่อมัลติมีเดีย
ปีงบประมาณ 2556 คือปีนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้การใช้สื่อการเรียนการสอนจากสื่อมัลติมีเดียที่ได้ผลิตในปีงบประมาณ 2555
เนื้อหาของคู่มือการใช้สื่อเล่มนี้ประกอบด้วยบทบรรยาย คำอ่านพินอิน และคำแปลที่ถอดความมาจากบทบรรยายในสื่อต่างๆ มีเนื้อหาครอบคลุมหลายแง่มุม แบ่งเป็น 10 กลุ่มการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มเรียนรู้ที่ 1 ประวัติศาสตร์ กลุ่มเรียนรู้ที่ 2 วัฒนธรรม กลุ่มเรียนรู้ที่ 3 ศิลปหัตถกรรมงานฝีมือ กลุ่มเรียนรู้ที่ 4 เทศกาลสำคัญ กลุ่มการเรียนรู้ที่ 5 ภูมิศาสตร์ กลุ่มการเรียนรู้ที่ 6 สถานการณ์จีนปัจจุบัน กลุ่มการเรียนรู้ที่ 7 เหตุการณ์สำคัญ กลุ่มการเรียนรู้ที่ 8 เมืองสำคัญ กลุ่มการเรียนรู้ที่ 9บุคคลสำคัญ และ กลุ่มการเรียนรู้ที่ 10 โฆษณาสินค้าน่าสนใจ มีภาพยนตร์สั้นในแต่ละกลุ่มการเรียนรู้รวมทั้งสิ้น 80 เรื่อง
การทำงานในครั้งนี้ สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของคณาจารย์ในหลักสูตรภาษาจีนและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้สื่อดังกล่าวในวันที่ 17 พฤษภาคม 2556
หวังว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้ และสามารถนำสื่อการเรียนการสอนที่มอบให้นี้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนของท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ