วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การพรรณนาภาษาปู้ยังในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ชาวปู้ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีน มีถิ่นฐานหลักสองแห่ง คือ ชาวปู้ยังที่อำเภอน่าโพ (มณฑลกว่างซี) อำเภอฟู่หนิงและอำเภอกว่างหนาน(มณฑลยูนนาน) การสำรวจสำมะโนประชากรปี 1994 มีจำนวนประชากรประมาณ 2000 คน นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่า บรรพบุรุษของชาวปู้ยังคือชนเผ่าโบราณป่ายเยว่ที่อาศัยอยู่พื้นที่หลิ่งหนานแถบชายฝั่งทะเล ในด้านภาษาศาสตร์ นักวิชาการจีนจัดภาษาปู้ยังไว้ภายใต้ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาเกอ-ยัง (เป็นคู่ขนานระดับเดียวกันกับแขนงจ้วงไตและต้ง-สุ่ย) คำศัพท์ของภาษาปู้ยังนอกจากจะมีความสัมพันธ์กับภาษาตระกูลไทแล้ว ยังมีคำศัพท์ที่สอดคล้องกับภาษาจีนเก่า และบางส่วนคล้ายคลึงกับภาษาตระกูลมอญ-เขมร ปัจจุบันรัฐบาลจีนจัดชาวปู้ยังที่มณฑลยูนนานให้เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวจ้วง และจัดชาวปู้ยังที่มณฑลกว่างซีให้เป็นสมาชิกชนกลุ่มน้อยชาวเหยา  ด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวปู้ยังมีความเชื่อเรื่องผี เคารพบูชาวิญญาณบรรพบุรุษและเทพเจ้า  

            ประเด็นที่สำคัญที่สมควรจะหยิบยกมากล่าวในบทอภิปรายนี้ก็คือ ในระหว่างเรียบเรียงบทความเรื่องนี้ ผู้เขียนพบเห็นประเด็นที่น่าสนใจมาก  ซึ่งนับได้ว่าเป็นร่องรอยของภาษาไทยที่เก่าแก่อย่างหนึ่ง นำไปสู่ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคำควบกล้ำและคำสองพยางค์ในภาษาไทยได้ กล่าวคือ คำสองพยางค์ในภาษาปู้ยังบางกลุ่มตรงกับคำพยางค์เดียวในภาษาไทย  บางกลุ่มตรงกับคำสองพยางค์และคำควบกล้ำในภาษาไทย และบางกลุ่มตรงกับคำสองพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วย “กระ(กะ), มะ” นอกจากนี้ยังพบคำสองพยางค์ที่เป็นคำไทยโบราณ

         จากการเปรียบเทียบตัวอย่างคำศัพท์ภาษาปู้ยังกับภาษาไทยและภาษาถิ่นตระกูลไทย จะเห็นว่า คำว่า /ma:k11/ “หมาก” นอกจากจะเป็นคำเรียกชื่อผลไม้แล้ว ยังมีการแปรความหมายไปใช้กับคำนามอื่น เช่น ma0 la312ปลา”,  /ma0 ta54/  “ตา”, ma0 lɛN312แมลง”, /ma0 tɔ312/ “ประตู ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดจากการเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของ “หมาก” ว่ามีลักษณะกลม เล็ก เป็นก้อน เป็นตัว ทำให้ความหมายเดิมของ “หมาก” นอกจากจะแปลว่าผลไม้แล้ว ยังได้ขยายความหมายออกไปใช้กับคำนามอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย หากจะเทียบเคียงกับภาษาไทย เราจะพบลักษณะเช่นนี้ได้ชัดเจนในภาษาไทยถิ่นอีสานที่เรียกผลไม้ว่า “บัก” ซึ่งก็เป็นเสียงแปรของคำว่า “หมาก” เช่น ชื่อผลไม้ บักมี่(ขนุน) บักนัด (สับปะรด) บักเขียบ (น้อยหน่า) ขณะเดียวกันก็ขยายความหมายไปใช้เรียกคำนามอื่นได้ด้วย ได้แก่ ชื่อสิ่งของ เช่น บักกอลอ (ที่แขวนคอควาย) บักจก (จอบ) บักกะแหล่ง (เสื้อคอกระเช้า) ชื่อสัตว์ เช่น  บักหอย (หอย) บักขี้เกี้ยม (จิ้งจก) เรียกคน เช่น บักหล่า (ลูกชายคนเล็ก) บักเสี่ยว (เพื่อนเกลอ) เป็นต้น ข้อมูลดังที่กล่าวมานี้เป็นร่องรอยของภาษาไทยเก่าและวิวัฒนาการของภาษาไทยได้  

อ่านบทความนี้เพิ่มเติมใน  การพรรณนาภาษาปู้ยังในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 

รายการคำศัพท์ภาษาตระกูลไทพบใหม่ในประเทศจีน


โครงการการศึกษาของคณะกรรมการชนกลุ่มน้อยแห่งชาติจีนในปี ค.ศ.1980 ซึ่งมีที่มาจากในขณะที่ลงพื้นที่สำรวจเพื่อจัดทำหนังสือ “ปริทรรศน์ภาษาของชนกลุ่มน้อย” ในโครงการที่หนึ่งเมื่อปี1953 คณะนักวิจัยได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลให้มีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อย และยังพบอีกว่าภาษาที่กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้พูดเป็นภาษาที่ค้นพบใหม่อีกมากกว่า 30 ภาษา บางภาษามีจำนวนคนพูดน้อยมากไม่ถึงพันคน บางภาษาอยู่ในภาวะใกล้สูญหรือสูญไปแล้วก็มี นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา คณะนักวิจัยจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยต่อเนื่องจากโครงการเดิม โดยใช้ชื่อว่า 中国新发现语言研究丛书 Zhōngguó xīn fāxiàn yǔyán yánjiū cóngshū “สรรนิพนธ์รวมชุดการศึกษาวิจัยภาษาพบใหม่ในประเทศจีน” ภาษาพบใหม่ตระกูลไทในโครงการนี้มีทั้งหมด 12 ภาษา ได้แก่ ภาษาหลินเกา(เบ) ภาษาอู่เส้อ(เอ๊) ภาษาเปียว
ภาษาฉาต้ง ภาษาลักกะ ภาษามาก(อายจาม) ภาษาหยางหวง(เท็น) ภาษาชุน ภาษาปู้ยัง ภาษาละติ ภาษามู่หล่าว
และภาษาผู่เปียว
ผู้เขียนขอแสดงความรำลึกถึงความทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังปัญญาของรัฐบาลจีนและนักวิชาการจีน ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานในโครงการอันมีคุณค่าต่อวงการภาษาศาสตร์ไทย-ไถเช่นนี้ นับได้ว่านักวิชาการไทยเป็นหนี้บุญคุณของท่านอย่างเหลือล้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราอาศัยผลงานการศึกษาของนักวิชาการตะวันตกมาตลอด อาจเคยมีโอกาสได้ศึกษาข้อมูลความรู้จากนักวิชาการเจ้าของพื้นที่บ้างแต่นับว่าน้อยมาก ข้าพเจ้าหวังว่าผลงานการแปลคำศัพท์ภาษาไทย-ไถในครั้งนี้นอกจากนักวิชาการไทยจะได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือเบิกทางสู่การศึกษาที่ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว ทางฝ่ายจีนเองก็จะได้รับประโยชน์ในการศึกษาภาษาไถทั้งในประเทศจีนและประเทศไทยด้วยเช่นกัน
笔者在此忠诚地对中国政府和中国学者所提供的资金、知识和体力为台语语言学界奉献如此伟大的项目,使泰国学者感到债台高筑 。因为过去我们唯一一直依靠西方学者的研究成果,或者只字片言从中国学者获得的信息。我希望这项翻译工作,除了对泰国学者开卷有益,对中方也同样为台语研究更深入丰富了文化宝库。使中泰两国的台语研究互相受益。
ข้อมูลนี้จัดทำและเผยแพร่เพื่อการศึกษาวิจัยโดยไม่คิดมูลค่าสามารถ   

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ศัพทานุกรมไทย-จีน ฉบับท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี





ศัพทานุกรมไทย-จีน ฉบับท่องเที่ยวชุมชน  
จังหวัดอุบลราชธานี

乌汶旅游词汇









โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ประจำปี 2560





เมชฌ สอดส่องกฤษ จัดทำ

ชิดหทัย ปุยะติ หัวหน้าโครงการ


คำนำ
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่อินโดจีนและอาเซียน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ  นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ โดยข้ามพรมแดนที่จังหวัดอุบลราชธานีได้เช่นกัน ดังนั้นผู้คนจากทั้งในประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงจึงให้ความสนใจกับจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันจังหวัดอุบลราชธานีก็เปิดตัวเองในฐานะประตูสู่ดินโดจีนและอาเซียนด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าในแต่ละปี หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆในจังหวัดอุบลราชธานีทั้งภาครัฐและเอกชน ได้จัดงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงอยู่เป็นนิจ เช่น  งานเทศกาลอาหารอินโดจีน งานเทศกาลสินค้าอินโดจีน  งานแสดงศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง  งานนิทรรศการกาลภาษาและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง การจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับประเทศลุ่มน้ำโขง การจัดการประชุมนักธุรกิจลุ่มน้ำโขงเป็นต้น  สร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของประตูสู่อินโดจีนและอาเซียน ให้กับให้กับจังหวัดอุบลราชธานีมาตลอด
ดังกล่าวข้างต้นดูเหมือนว่าจังหวัดอุบลราชธานีประสบความสำเร็จมากในการพัฒนาความเป็นประตูสู่อินโดจีน และประตูอาเซียน แต่เนื่องจากประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษา ปัญหาอย่างหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลคือภาษา ความพยายามในการจัดงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลายครั้งที่ผ่านมา กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประชาชนจากประเทศลุ่มน้ำโขงที่เข้ามาร่วมงานมีจำนวนน้อยมาก  ปัญหาที่สำคัญมิใช่เรื่องภาษาเพียงอย่างเดียว แต่การเข้าถึงข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลของจังหวัดอุบลราชธานียังไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง และอาเซียนมากนัก ข้อมูลที่หลายหน่วยงาน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พยายามแปลเป็นภาษาอังกฤษกลับใช้ไม่ได้ผล และได้มีความพยายามแปลเอกสารการท่องเที่ยวเป็นภาษาต่างๆ  เพื่อประชาสัมพันธ์ไปตามสถานเอกอัครราชทูต ประจำประเทศลุ่มน้ำโขงต่างๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงแผ่นพับ ใบปลิวเล็กๆ ที่ไม่มีคุณค่าใดๆ สูญเสียงบประมาณจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์
จากการจัดงานเทศกาลประจำปีของจังหวัดอุบลราชธานีพบว่า มีชาวต่างชาติที่มาจากประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียนไม่มากนัก ในการนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผู้สนใจศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อเสียงระบือไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง มีนักท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อสูง และสนใจเดินทางมาท่องเที่ยว  หรือทำธุรกิจมากมายโดยเฉพาะประชาชนที่ใช้ภาษาจีน แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดอุบลราชธานีที่ให้ข้อมูลเป็นภาษาจีนเพื่อประกอบการตัดสินใจดังกล่าว  ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ การท่องเที่ยว และความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขง และอาซียนอย่างน่าเสียดาย
แม้ว่าภาษาอังกฤษจะรับรองให้เป็นภาษากลางของภูมิภาคอาเซียน แต่ขณะเดียวกันภาษาจีนก็เป็นภาษาหลักอีกภาษาหนึ่ง ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันแพร่หลายและกว้างขวางมาก  ไม่เพียงในฐานะภาษาของประชาชนส่วนใหญ่ของประชาคมอาเซียน  แต่ยังเป็นภาษาสำคัญของประชาคมโลกด้วย  ดังจะเห็นว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ เปิดสอนภาษาจีน หน่วยงานต่างๆเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการสื่อสารภาษาจีน แหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบการ และบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการล้วนให้ความสำคัญกับภาษาจีนเป็นอันดับต้น เนื่องจากพลังของชาติจีน นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของประเทศ  ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ภาษาจีนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ไม่อาจละเลย
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียนที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญทางภาษาโดยเฉพาะภาษาจีน  จึงเห็นควรตอบสนองพันธกิจของมหาวิทยาลัย และของชาติที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาค้นคว้า และเผยแพร่ในสาขา วิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาของท้องถิ่น ให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและพร้อมที่จะสืบสานและสร้างเสริม ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น จึงเห็นควรเสนอโครงการเพื่อจัดทำ       ศัพทานุกรมไทย-จีน จีน-ไทย ฉบับท่องเที่ยวชุมชน  จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี  ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงยั่งยืนและเป็นสากล  สถาบันการศึกษาได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ อันเป็นการพัฒนาศักยภาพของคน ตอบสนองยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของชาติอย่างเป็นรูปธรรม

หลักการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรภาษาจีนและการสื่อสารของคณะของศิลปศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง และได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องก็คือ การให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลในท้องถิ่น การทำงานครั้งนี้จึงได้บูรณาการเข้ากับวิชาวัฒนธรรมจีน   โดยการเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการลงพื้นที่สำรวจ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ผลสำเร็จของการบูรณาการครั้งนี้ นอกจากจะทำให้นักศึกษารู้จักสถานที่ท่องเที่ยว และการบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในด้านต่างๆแล้ว ยังสามารถช่วยให้นักศึกษาจดจำคำศัพท์  มีความรู้และสามารถแนะนำเกี่ยวกับการบริการการท่องเที่ยวเป็นภาษาจีนได้  ผลงานนี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงผลสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

หนังสือรวมคำศัพท์การท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานีนี้ นอกจากจะจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นรูปเล่มหนังสือแล้ว ยังเผยแพร่บนเว็บไซด์ของคณะศิลปศาสตร์เพื่อให้การสืบค้นได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ทาง www.la.ubu.ac.th เลือก ทำนุบำรุงฯ เลือก ผลงาน   
 ผู้จัดทำขอฝากคำขวัญประจำจังหวัดอุบลราชธานีเป็นภาษาจีนทิ้งท้ายไว้ ณ ที่นี้

秀荷之城 奇河双色    Xiù hé zhī chéng  qí hé shuāngsè
佳鱼繁多   金沙石滩  jiā yú fánduō     jīnshā shí tān
智士辈出   佛渡终生  zhìshì bèichū     fó dù zhōngshēng
夏之蜡烛   史前红岩  xià zhī làzhú      shǐqián hóng yán


                                                เมชฌ สอดส่องกฤษ


สารบัญ



คำนำ

A
การจราจร

1
อาหาร

26
ความเชื่อและสถานที่ทางศาสนา

49
การรักษาพยาบาล

59
สินค้าระลึกและห้างสรรพสินค้า

73
ที่พักและการบริการท่องเที่ยว

91