วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

วีดิทัศน์นำเสนอผลงาน ประกอบการเสนอชื่อเพื่อรับการเชิดชูกียรติให้เป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี พ.ศ.2565

วีดิทัศน์นำเสนอผลงานวีดิทัศน์นำเสนอผลงาน click here


พัฒนาการของหลักสูตรด้านภาษาจีนระดับอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทย

 



พัฒนาการของหลักสูตรด้านภาษาจีนระดับอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทย

 

เมชฌ เมธจิรนนท์
Keynote Speech ใน การประชุมเสวนาสุดยอด "บุคลากรขั้นสูงภาษาจีน-ไทย +" ในความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การศึกษาและการวิจัย ครั้งที่ 1 จัดโดยสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

 

ประเด็นบรรยาย

1.       บุคลากรด้านภาษาจีนของไทยในอดีต

2.       อิทธิพลของประเทศจีนต่อการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนของไทย

a.       บทบาททางเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้ไทยต้องพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน

b.      บทบาททางการศึกษาของจีนส่งผลให้บุคลากรด้านภาษาจีนของไทยพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น

3.       การพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทย

a.       หลักสูตรภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของไทยในอดีต

b.      การปรับปรุงหลักสูตรภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการการพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทย

c.       การพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ

4.       บทสรุปการพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทยอดีต ปัจจุบัน อนาคต

 

 


 

1. บุคลากรด้านภาษาจีนของไทยในอดีต

 

การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยในอดีตมีสถานะเป็นภาษารอง  และไม่มีความสำคัญเท่า

ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษ แต่เดิมเป็นเพียงการเรียนการสอนในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนด้วยกันเอง สอนภาษาแบบสืบทอดจากรุ่นพ่อแม่ชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยสู่รุ่นลูกหลานเท่านั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาสำคัญที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ จนกระทั่งปัญหาทางการเมืองทำให้การเรียนภาษาจีนเดินทางไปสู่จุดตกต่ำ ดังปรากฏในงานวิจัยของ พิชัย  รัตนพล (พิชัย, 2512) นำเสนอบทวิเคราะห์ว่า สืบเนื่องจากการเรียนการสอนภาษาจีนในยุคนี้กลุ่มเป้าหมายคือชาวไทยเชื้อสายจีนสัญชาติไทยจึงถูกเรียกว่า “ภาษาจีนเพื่อจีนโดยวัฒนธรรม” และในช่วงที่กำลังเฟื่องฟูก็ต้องเผชิญกลับการควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล รัฐบาลไทยในขณะนั้นออกมาตรการควบคุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความมั่นคงของชาติซึ่งมาจากการที่โรงเรียนเรียนจีนได้ถูกชาวจีนกลุ่มหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิความคิดทางการเมืองซึ่งเป็นภัยร้ายแรงแต่ชาติ รวมถึงการดำเนินนโยบายชาตินิยมอย่างเข้มข้นของรัฐบาลในขณะนั้น ทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยจึงตกต่ำอย่างสุดขีด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในช่วงระยะเวลาต่อมา” ประกอบกับผลงานของ เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์ (เพ็ญพิสุทธิ์, 2550, บทคัดย่อ) ก็ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมโรงเรียนจีนในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยวิเคราะห์ว่า ชาวจีนพยามยามปลูกฝังความเป็น “คนจีน” และ  “ชาตินิยมจีน” ฝ่ายรัฐบาลไทยเล็งเห็นปัญหาที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของชาติ จึงได้ออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรงเรียนจีนและการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างเคร่งครัด”  

          ผู้มีความรู้ภาษาจีนในยุคก่อนไม่ได้มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของไทยมากนัก  แต่ภายหลังจากการอพยพรุ่นสอง รุ่นสาม หรือชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นถัดมาที่ได้สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ทั้งยังกระจัดกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้าในพื้นที่ของประเทศไทย จนมีบทบาททางเศรษฐกิจและการพัฒนาความเจริญให้กับชุมชนของประเทศไทย ชาวไทยเชื้อสายจีนและภาษาจีนจึงเริ่มเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ภายหลังที่ประเทศไทยและประเทศจีนได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างเป็นทางการ (พ.ศ.2518) การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยก็กลับมามีบทบาทได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง  

          เมื่อภาษาจีนเป็นที่ยอมรับ ประกอบกับก้าวย่างความเติบโตของประเทศจีน ทำให้ไทยเริ่มเห็นความสำคัญของการเรียนภาษาจีน แต่เงื่อนไขในอดีตทำให้บุคลากรผู้ที่มีความรู้ภาษาจีนมีน้อย ซึ่งส่วนมากก็คือชาวจีนที่อพยพมา หรือเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่สองที่สามที่ยังพอมีความรู้ภาษาจีนบ้างจากการเรียนในครัวเรือน หรือในโรงเรียนจีนที่เคยแอบเรียนแอบสอนกันมานั่นเอง ในยุคเริ่มต้นชาวไทยได้เริ่มเรียนภาษาจีนจากกลุ่มคนเหล่านี้ แต่เนื่องจากประเทศจีนเองก็ยังอยู่ในช่วงกำลังเติบโต การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนก็ยังเป็นเพียงภาษารองที่เรียนเพื่อให้มีความรู้ แต่ไม่ได้เรียนเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานทางใดทางหนึ่งได้  ยิ่งไปกว่านั้นการเรียนการสอนในเชิงวิชาการแทบไม่สามารถทำได้หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้ 

          ในยุคที่ประเทศจีนอยู่ในช่วงกำลังเติบโต ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนการสอนภาษาจีนในเชิงวิชาการ แต่ขาดบุคลากรที่จะทำงานด้านนี้อย่างแท้จริง สถาบันอุดมศึกษาไทยในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในด้านการเรียนการสอนทางวิชาการ จึงเริ่มนับก้าวแรกในการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน แต่ประเทศจีนยังไม่เปิดประเทศ การพัฒนาบุคลากรทางวิชาการภาษาจีนของไทย จึงไม่มีทางเลือกและจำเป็นต้องไปศึกษาหลักสูตรภาษาจีนในประเทศที่มีการเรียนการสอนภาษาจีนเช่น สหรัฐอเมริกา ใต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น ผู้ที่ไปศึกษาก็เป็นลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีความรู้ภาษาจีนมาก่อนแล้วนั่นเอง ไม่ใช่คนไทยพื้นถิ่นอย่างทุกวันนี้ และเมื่อสำเร็จกลับมาก็ทำหน้าที่สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนทางวิชาการให้กับสถาบันอุดมศึกษาของไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน ในยุคนี้ผู้ที่สนใจเรียนภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาก็ยังคงเป็นลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เช่นเดิม ยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวไทยพื้นถิ่นมากนัก โดยเริ่มเปิดสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในขณะที่มีการเปิดสอนภาษาจีนเป็นวิชาเลือกเสรีที่แรกคือที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          การเรียนการสอนภาษาจีนในยุคนี้ ยังได้รับความสนใจในวงของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นหลักเหมือนเดิม ดูเหมือนว่าเป็นไปในทิศทางที่เรียนเพื่อให้มีความรู้ เรียนเพราะมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน แต่ไม่ได้เรียนเพราะมีจุดมุ่งหมายนำไปใช้งานใดๆอย่างเด่นชัด ดังจะเห็นได้จากผู้ที่จบการศึกษาภาษาจีนในชั้นนี้ ก็ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนภาษาจีนซึ่ง ยังคงจำกัดอยู่ในวงการสอนภาษาเท่านั้น หรืออาจมีส่วนหนึ่งที่ทำงานด้านการแปลหนังสือจำพวกนวนิยาย วรรณกรรม พจนานุกรม แต่ก็มีจำนวนไม่มาก การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนเป็นไปอย่างช้าๆ หลักสูตรภาษาจีนยังไม่ถึงขั้นมุ่งผลิตผู้จบการศึกษาเพื่อให้รองรับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเมือง การค้าการลงทุน การติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศแต่อย่างใด    

          ผลงานทางวิชาการจากนักวิชาการที่เกิดขึ้นในยุคนี้ โดยมากเป็นการใช้ความรู้ภาษาจีนในการเรียบเรียง ถ่ายทอด หรือแปลเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาจีน เช่น วรรณกรรม วัฒนธรรม อารยธรรม ปรัชญา ศาสนา ยังไม่ได้มุ่งพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างเป็นรูปธรรม 

 

2. อิทธิพลของประเทศจีนต่อการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนของไทย

 

2.1  บทบาททางเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้ไทยต้องพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน

เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ การพัฒนาของประเทศจีนที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการในการ

พัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนที่แต่เดิมเป็นไปอย่างช้าๆ ได้เร่งกำลังมากขึ้น ในช่วงแรกมหาวิทยาลัยซึ่งรับผิดชอบด้านวิชาการ เปิดสอนหลักสูตรภาษาจีนในระดับปริญญาตรีกันมาก แต่เนื่องจากขาดแคลนคนสอน หลายๆแห่งเปิดเป็นวิชาเลือก แล้วเชิญชาวไทยเชื้อสายจีนในท้องถิ่นมาสอน แต่การเรียนการสอนก็เป็นไปในลักษณะที่ไม่มีทิศทาง บ้างสอนพูด เขียน อ่าน บ้างสอนศิลปะ บ้างสอนความรู้ทั่วไป ภาษาจีนที่สอนบ้างเป็นภาษาจีนถิ่นที่ผู้สอนอพยพมา ไม่ใช่ภาษาจีนกลาง การเรียนการสอนเป็นไปในรูปแบบเรียนเพื่อให้พอรู้บ้าง เรียนเพื่อให้มีชื่อวิชาภาษาจีนอยู่ในใบรายงานคะแนนเพื่อใช้ในการสมัครงานแล้วดูว่าได้เรียนภาษาจีนมา แต่ผู้เรียนส่วนใหญ่กลับไม่ได้มีความรู้ภาษาจีนในระดับที่ใช้งานได้เลย หรือเรียนแล้วสูญเปล่าเป็นส่วนมาก  

          มหาวิทยาลัยที่พอมีกำลัง ก็จัดส่งอาจารย์ในสังกัดไปศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้กลับมาพัฒนาและเปิดสอนหลักสูตรภาษาจีน แต่นั่นก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 5 ปีหลังจากนั้น ทำให้การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ไม่ทันต่อการพัฒนาและความเติบโตของจีน

          ทบวงมหาวิทยาลัยในฐานะที่ดูแลกำกับสถาบันอุดมศึกษา จัดสรรทุนการศึกษาสำหรับบุคลากรในระดับอุดมศึกษา หรือผู้ที่ต้องการรับทุนเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ก็ไม่เฉพาะให้ไปศึกษาภาษาจีน โดยรวมอยู่กับจำนวนสาขาวิชาอื่นๆ และประเทศอื่นด้วย

          นับย้อนไปราว 20 ปี (ข้อมูลเก่าที่สุดที่ ก.พ.จัดทำ) สถิตินักเรียนและข้าราชการในความดูแลของ ก.พ. ที่กำลังศึกษาและฝึกกอบรมในต่างประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2548   มีจำนวนทั้งสิ้น 6,257 คน ในจำนวนนี้มีจำนวนผู้ศึกษาต่อในประเทศจีนเพียง 26 คน ขณะที่ USA 553 คน และ UK 136 คน (ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศกลุ่มการศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศ,ออนไลน์) 

          ถัดมาอีก 10 ปี สถิตินักเรียนและข้าราชการในความดูแลของ ก.พ. ที่กำลังศึกษาและฝึกกอบรมในต่างประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2558 *  มีจำนวนทั้งสิ้น 4,813 คน ในจำนวนนี้มีจำนวนผู้ศึกษาต่อในประเทศจีน 43 คน USA 82 คน และ UK 106 คน (ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศกลุ่มการศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศ,ออนไลน์) 

          ข้อมูลปี พ.ศ.2563 (ก่อนการแพร่ระบาดโควิด) สถิตินักเรียนและข้าราชการในความดูแลของ ก.พ. ที่กำลังศึกษาและฝึกกอบรมในต่างประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2563  มีจำนวนทั้งสิ้น 2,734 คน ในจำนวนนี้มีจำนวนผู้ศึกษาต่อในประเทศจีน 30 คน USA 17 คน และ UK 79 คน (ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศกลุ่มการศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศ,ออนไลน์)   

           จากข้อมูลจะเห็นว่าการพัฒนาบุคลากรในระดับอุดมศึกษาไทยสาขาภาษาจีนเมื่อ 20 ปีก่อน มีจำนวนน้อยมาก คือ 20 คน แล้วถัดมาอีก 10 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คือ 43 คน แสดงให้เห็นว่าแวดวงการศึกษาของไทยมีความตื่นตัว และพยายามสร้างบุคลากรเพื่อให้ทันต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยอย่างมาก

          ส่วนข้อมูลปี 2563 (ก่อนโควิด) จะเห็นว่ามีแนวโน้มลดลง และลดลงในทุกประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่อ่อนแอ ทำให้มีงบประมาณในการผลิตบุคลาการทางการศึกษาลดน้อยลง ขณะเดียวกันรัฐบาลต่างประเทศก็มีทุนให้ ทำให้นักเรียนไทยหันไปแสวงหาทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาถัดจากนี้อาจไม่ใช่เพียงการพัฒนาที่มาจากรัฐ แต่เป็นความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้สอนภาษาจีนเอง เพราะมองเห็นภาพความเติบโตของจีน เล็งเห็นความสำคัญของภาษาจีนในปัจจุบันและอนาคต  

 

2.2  บทบาททางการศึกษาของจีนส่งผลให้บุคลากรด้านภาษาจีนของไทยพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น

เมื่อประเทศจีนเริ่มดำเนินนโยบายการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรม  โดยการให้ทุนการศึกษาภาษาและ

วัฒนธรรมจีนในระดับปริญญา เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ในยุคเริ่มต้นเป็นทุนที่ให้ผ่านรัฐบาลต่อรัฐบาล ฝ่ายไทยจึงจัดสรรให้กับกรมวิเทศสหการและทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาผู้ที่จะกลับมารับผิดชอบด้านวิชาการและการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน ผู้ได้รับทุนส่วนใหญ่ก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผลผลิตจากการผลิตบุคลากรด้านภาษาจีนในยุคก่อนหน้านี้ เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกสาขาภาษาจีน  

          ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลทุนของสำนักงาน ก.พ. ดังจะเห็นว่าจำนวนผู้ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนมีจำนวนลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่า จำนวนผู้ไปศึกษาต่อในประเทศจีนน้อยลง แต่ผู้ที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีนตามนโยบายการขยายอำนาจทางภาษาของจีนนี้นี่เอง

จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการของจีน[1] ในปีพ.ศ. 2561 มีนักศึกษาไทย มาเรียนที่จีนจำนวน 28,608 คน สูงเป็นอันดับสอง รองจากเกาหลีใต้ที่มีจำนวนประมาณ 50,000 คน และข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการในปี พ.ศ. 2562 มีนักศึกษาคนไทยมาเรียนที่จีน จำนวน 31,800 คน

ในปี พ.ศ. 2561 มีคนไทยได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อที่จีน จำนวน 1,932 คน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นทุนรัฐบาลจีน อีกครึ่งหนึ่งเป็นทุนของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ของจีน ทั้งนี้นักเรียนไทยได้รับทุนรัฐบาลจีนมากที่สุดในประเทศอาเซียน รองลงมาคือ อินโดนีเซียและเวียดนาม

จากการสืบค้นข้อมูลในฐานข้อมูลงานวิจัยของจีน โดย ดร. พิมพร วัฒนากมลกุล เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พบว่า ในปี 2012 (2556) มีผลงานวิจัยด้านภาษาจีนที่เกี่ยวกับประเทศไทยจำนวน 204 เรื่อง สะท้อนให้เห็นว่า มีจำนวนนักเรียนไทยเข้าไปศึกษาต่อในประเทศจีน โดยเฉพาะด้านภาษาจีนหลักร้อยคน และในปี พ.ศ. 2564 พบว่า มีจำนวนผลงานวิจัยกลุ่มภาษาศาสตร์จีนที่เกี่ยวกับประเทศไทยจำนวนมากถึง 2,440 เรื่อง ก็พออนุมานได้ว่ามีนักศึกษาไทยไปศึกษาระดับปริญญาที่ประเทศจีนไม่น้อยกว่าหลักพันคน    

จากข้อมูลทั้งสองส่วนข้างต้นจะเห็นว่า การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน อาจไม่ใช่เพียงความต้องการการพัฒนามาจากรัฐบาลไทยเท่านั้น หากแต่เป็นความต้องการการพัฒนาตนเองของบุคลากรเอง จากปัจจัยความเจริญรุดหน้าของประเทศจีน เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทำให้ทุกภาคส่วนและชาวไทยเห็นความสำคัญของการเรียนภาษาจีน และพัฒนาตนเองให้มีความรู้ภาษาจีนมากขึ้น   

ฝ่ายจีนนอกจากให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยเพื่อไปศึกษาต่อในประเทศจีนในยุคแรก เน้นการให้ทุนไปศึกษาสาขาภาษา เพื่อให้บุคคลเหล่านี้กลับมาพัฒนาการเรียนการสอนและเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนภาษาจีนในลักษณะดาวกระจาย และเมื่อบุคลากรด้านการเรียนการสอนเริ่มมีมากเพียงพอแล้ว ก็เริ่มมีการให้ทุนในสาขาอื่นๆ ความต้องการไปศึกษาต่อประเทศจีนของนักเรียนไทย จึงไม่เพียงเพื่อต้องการเรียนภาษา แต่เป็นความต้องการเรียนวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศจีน เช่น เทคโนโลยี การแพทย์ การเกษตร ธุรกิจ บัญชี การท่องเที่ยว เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย การเมืองการปกครอง การขนส่ง จนถึงการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และอวกาศ 

ไม่เพียงการช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาที่ให้ไปศึกษาต่อในประเทศจีนทั้งด้านภาษาวัฒนธรรมและวิทยาการทุก ๆ ด้าน ความสนพระทัยศึกษาภาษาจีนของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ยิ่งทวีความสนใจให้ชาวไทยต้องการเรียนภาษาจีนมากขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านได้สร้างสายสัมพันธ์ไทยจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รัฐบาลจีนส่งความช่วยเหลือด้านการศึกษาภาษาจีนด้วยมิตรไมตรีใหญ่หลวงหลั่งไหลสู่ประเทศไทยไม่ขาดสาย ทั้งการส่งตำราสื่อการเรียนการสอน ครูผู้สอน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ความร่วมมือทางการศึกษาการวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการ จนกระทั่งการจัดตั้งสถาบันขงจื่อในทุกภูมิภาคของประเทศไทย การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนของประเทศไทยเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูทัดเทียมและโดดเด่นควบคู่และกำลังนำหน้าภาษาสากลอื่นๆ  บุคลากรด้านภาษาจีนของไทยเพิ่มขึ้นด้วยคุณภาพและปริมาณ ดูเหมือนว่าการพัฒนาด้านการเรียนการสอนภาษาจีนของไทยจะทะยานไปอย่างไม่ลดละ และมุ่งสู่จุดหมายของการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนในขั้นสูงในระเวลาอันใกล้

ในช่วงระยะเวลานี้ ได้เกิดนโยบาย ยุทธศาสตร์ โครงการ แผนงาน กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นมากมาย เช่น

ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้น เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสังคมเศรษฐกิจ – ความรู้ มีมาตรการดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 รณรงค์สร้างความตระหนักและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนอย่างกว้างขวาง 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 จัดทำมาตรฐานหลักสูตรและทางการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในแต่ละระดับประเภทของการศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมและพัฒนาสื่อสารการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 วางระบบพัฒนาครูสอนภาษาจีนในระยะสั้นและระยะยาวให้ได้มาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย

(อุทัยวรรณ เฉลิมชัย. ออนไลน์) 

  ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน เมื่อ วันที่ 14 มกราคม 2557 กำหนดมาตรการ 6 เรื่อง ได้แก่

1.       การจัดการเรียนการสอนภาษาจีนเริ่มตั้งแต่ระดับชั้น ป.4

2.       การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน

3.        การพัฒนาสื่อการสอนภาษาจีน

4.       การวัดและประเมินผล ด้วยเครื่องมือระดับสากล

5.       การพัฒนาครูผู้สอนภาษาจีน

6.       การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการสอนภาษาจีน

(กระทรวงศึกษาธิการ,กระทรวง. ออนไลน์.)  

แต่.... เนื่องจากเป็นยุคที่เปลี่ยนผ่านจากภาษาที่ไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง การดำเนินการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของไทยเริ่มนับก้าวเดินที่หนึ่ง จากจุดที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีพื้นฐานใด ๆ ทำให้การพัฒนาการเรียนการสอน และการพัฒนาบุคลากรขั้นสูงด้านภาษาจีนของไทยยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงปัญหาการพัฒนาภายในแวดวงการเรียนการสอนภาษาจีนเอง ทำให้บางช่วงจำเป็นต้องหยุดอยู่กับที่เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาภายในที่ยังหาทางออกไม่ได้  

 

โดยเฉพาะ งานวิจัยของ นริศ  วศินานนท์ (นริศ: 2559, 13-25) เสนอสภาพและปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาของไทยไว้ 6 ด้าน ได้แก่

(1) นโยบายและการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอุดมศึกษา แม้ว่าได้กหนดยุทธศาสตร์

ส่งเสริมหลายแผนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังไม่ได้ดาเนินการเป็นที่ประจักษ์และครอบคลุมแผนที่วางไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกหนดทิศทางของการเรียนการสอนภาษาจีนในอนาคตและยังม่มีหน่วยงานเฉพาะ

ที่ มาช่วยดูแล ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนโดยตรง

(2) ด้านหลักสูตร ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรการสอนภาษาจีนมีจนวนเพิ่มขึ้นน้อยมาก และใกล้ถึงจุดอิ่มตัว หลักสูตรที่เปิดสอนเดิมได้พัฒนาหลักสูตรเป็นวิชาเอก โทและเลือกเสรี ส่วนชื่อของหลักสูตร แม้ว่าใช้ชื่อว่าหลักสูตรภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่มีแนวโน้มเป็นหลักสูตรด้านสายวิชาชีพมากขึ้น 

(3) ด้านตราหรือหนังสือแบบเรียน ส่วนใหญ่ยังใช้หนังสือของประเทศจีน แม้ว่าสถาบันอุดมศึกษา หลายแห่งได้เรียบเรียงเขียนขึ้นแต่ยังขาดความเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นระบบทั้งหลักสูตร 

(4) ด้านผู้สอน แม้ว่าจะมีจนวนเพิ่มขึ้นทั้งด้านคุณวุฒิ และตแหน่งวิชาการ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของ จำนวนที่เพิ่มขึ้นของอาจารย์วุฒิการศึกษาปริญญาเอกและปริญญาโทยังไม่ได้สัดส่วน และตแหน่งวิชาการ ศาสตราจารย์[2]และรองศาสตราจารย์มีจนวนน้อยมาก

(5) ด้านผู้เรียน ส่วนใหญ่มีพื้นฐานภาษาจีนจากระดับมัธยมศึกษามาแล้ว 3 ปี แต่การจัดการเรียนการสอน ส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นการเรียนต่อยอด เรียนส่วนใหญ่ต้องเริ่มเรียนใหม่และไม่ได้เชื่อมโยงองค์ความรู้ต่อจากระดับ มัธยมศึกษา ทให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา 

(6) ด้านความร่วมมือ สถาบันอุดมศึกษามีการร่วมมือกับ สถาบันอุดมศึกษาในประเทศจีนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในด้านหลักสูตรและการให้ทุนการศึกษาระดับรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการมีความ ร่วมมือกับรัฐบาลของจีนแต่ยังไม่ได้แสดงศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอน ภาษาจีนอย่างแท้จริง

 

มูลเหตุจากปัจจัยปัญหาต่างๆ สะท้อนว่าการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงพัฒนาบุคลากรขั้นพื้นฐานอยู่ ยังไม่ถึงขั้นที่มุ่งไปสู่บุคลากรขั้นสูงหรือการสร้างผู้มีความสามารถในระดับสูง หลายฝ่ายพยายามศึกษาสภาพและปัญหาเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น รายงานการวิจัยของ วิภาวรรณ สุนทรจามร เรื่อง “ภาพรวมของการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศ” ของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  (วิภาวรรณ, 2559, ออนไลน์.) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของไทย ปัญหา และข้อเสนอเชิงนโยบาย มีข้อมูลดังนี้

(1) สถานภาพการจัดเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ปัจจุบันจำนวนสถานศึกษาของประเทศไทยในระดับต่างๆ ที่ดำเนินหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนมีดังนี้  คือระดับประถมศึกษาจำนวน 769 แห่ง มัธยมศึกษาจำนวน 707แห่ง อาชีวศึกษาจำนวน 173 แห่ง อุดมศึกษาจำนวน 82 แห่ง และการศึกษานอกระบบจำนวน 152 แห่ง

(2) ภาพรวมของสภาพปัญหาปัจจุบันของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยในทุกระดับ การศึกษา มีปัจจัยหลักสำคัญ 6 ประการ คือ ปัจจัยด้านการบริหารและการจัดการหลักสูตร สื่อการสอน ผู้สอน ผู้เรียนและความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

(3) ข้อเสนอเชิงนโยบาย งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์สภาพและปัญหาของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยในภาพรวม แล้วนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายหลายด้าน ดังนี้

(3.1) เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการของไทยจัดตั้งหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกระดับชั้น

(3.2) จัดทำแผนและยุทธศาสตร์แผนแม่แบบการเรียนการสอนภาษาจีนของประเทศไทย

(3.3) เสนอให้มีการจัดทำหลักสูตรภาษาจีนแกนกลางที่จะสามารถนำไปใช้ร่วมกันทั้งประเทศได้ เพื่อแก้ปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่มีความต่อเนื่องและขาดความเชื่อมโยงของแต่ละระดับ

(3.4) เสนอให้ภาครัฐจัดหางบประมาณสนับสนุนการสร้างห้องปฏิบัติการทางภาษาในสถานศึกษาที่เปิดการสอนภาษาจีน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ฝึกทักษะทั้งการฟังและการพูดได้อย่างเต็มที่

(3.5) เห็นควรให้มีการเร่งรัดผลิตบุคลากรการสอนภาษาจีนชาวไทยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ควรเน้นให้ครูผู้สอนมีบทบาทในการสร้างเสริมให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาจีน โดยการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ

(3.6) เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งหน่วยงานที่จะเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แหล่ง ทุนการศึกษาทางด้านภาษาจีน และโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในแวดวงการเรียนการสอน ภาษาจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

3. การพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทย

 

การพัฒนาสาขาวิชาใดๆ จุดเริ่มต้นคือการพัฒนาการเรียนการสอน กุญแจสำคัญของการพัฒนาจึงเริ่มจาก

บุคลากรผู้ทำหน้าที่ด้านการจัดเรียนการสอน ในมิติของอุดมศึกษา หัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวัง จึงเกิดจากการพัฒนาหลักสูตรและผู้สอน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการพัฒนาดังนี้       

 

3.1  หลักสูตรภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของไทยในอดีต

หลักสูตรภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาเมื่อเริ่มแรกใช้ชื่อว่า “หลักสูตรภาษาจีน” เนื้อหาของหลักสูตรสร้างขึ้น

ตามความเชี่ยวชาญของผู้สอน ความรู้ที่นำมาสร้างหลักสูตรได้มาจากการไปศึกษาระดับปริญญามาจากประเทศจีน โดยจุดมุ่งหมายหลักของหลักสูตรคือ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน  โครงสร้างของหลักสูตรจึงมีเนื้อหาหลักประกอบด้วย

          (1) กลุ่มทักษะภาษา ฟัง พูด อ่าน เขียน ชื่อวิชาเช่น การออกเสียงภาษาจีน ภาษาจีนเบื้องต้น ภาษาจีนระดับกลาง ภาษาจีนระดับสูง การสนทนาภาษาจีน การอ่านภาษาจีน การเขียนภาษาจีน 

          (2) กลุ่มหลักภาษา ชื่อวิชาเช่น หลักภาษาจีน ไวยากรณ์จีน ศัพท์วิทยาภาษาจีน โครงสร้างภาษาจีน ภาษาศาสตร์จีน

          (3) กลุ่มภาษาและวรรณคดี ชื่อวิชาเช่น วรรณคดีจีน ประวัติวรรณคดีจีน ภาษาจีนโบราณ วรรณกรรมจีนสมัยใหม่      

          (4) กลุ่มประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม  ชื่อวิชาเช่น ประวัติศาสตร์จีน สถานการณ์จีนปัจจุบัน สังคมจีนสมัยใหม่ วัฒนธรรมจีน

          จากโครงสร้างวิชาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนในยุคเริ่มต้น มุ่งพัฒนาเพื่อให้มีความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน เพื่อสร้างและผลิตผู้สอนไปเติมเต็มให้กับวงการศึกษาเป็นหลักสำคัญ ผู้จบการศึกษาในช่วงแรกนี้ก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สอนภาษาจีนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ความรู้ที่ได้จากหลักสูตรระดับปริญญาตรีนี้ เพียงพอต่อการถ่ายทอดและการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมและมัธยม ส่วนระดับอุดมศึกษา มีผู้จบการศึกษาบางส่วนที่มีความสามารถสูงเข้าไปเติมเต็มบ้าง แต่ก็ต้องพัฒนาตนเองในระดับที่สูงขึ้นโดยการหาทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนหรือต่างประเทศ จึงสามารถนำความรู้ในระดับที่สูงขึ้นนั้นกลับมาพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษาได้เต็มกำลังและเต็มที่มากขึ้น

          นับจนถึงปัจจุบันนี้ มีหลักสูตรในประเทศไทยที่ใช้ชื่อว่า “หลักสูตรภาษาจีน” ในระดับปริญญาตรี 42 มหาวิทยาลัย ซึ่งในแต่ละปีแต่ละมหาวิทยาลัยยังคงผลิตบัณฑิตในหลักสูตรนี้ไม่น้อยกว่าหลักสูตรละ 30 – 50 คนเป็นอย่างน้อย นั่นก็หมายความว่า ในวงการศึกษาของไทยยังคงมีความต้องการบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ด้านการเรียนการสอนอยู่            

 

3.2 การปรับปรุงหลักสูตรภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการการพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทย

3.2.1 การสร้างหลักสูตรด้านการสอน หลักสูตรภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของไทย ได้สร้างบุคลากรเพื่อ

เติมเต็มให้กับวงการศึกษามาระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นระยะเวลา 5-10 ปี นับจากที่เริ่มเปิดสอน ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปิดสอนภาษาจีนในทุกระดับชั้นตามนโยบายของกระทรวมศึกษาธิการ  ในขณะที่หลักสูตรในช่วงแรกเป็นหลักสูตรที่สร้างให้ผู้เรียนมีความรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน แต่เมื่อความต้องการบุคลากรเน้นไปในด้านการเรียนการสอน หลักสูตรในช่วงต่อมาจึงปรากฏหลักสูตรด้าน “การสอนภาษาจีน” เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลักสูตรของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ หลักสูตรดังกล่าวนี้มีเนื้อหาสามด้านคือ

                   (1)  กลุ่มภาษาจีน ซึ่งประกอบไปด้วยวิชาของหลักสูตรในหัวข้อ 3.1 แต่ลดจำนวนรายวิชา และความเข้มข้นของเนื้อหาลงกึ่งหนึ่ง เพราะอีกกึ่งหนึ่งต้องเรียนเนื้อหาด้านการสอนและวิชาชีพครู

                   (2)  กลุ่มการสอนภาษาจีน เช่น การสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ การจัดทำสื่อการสอนภาษาจีน การวิจัยการสอนภาษาจีน 

                   (3)  กลุ่มวิชาชีพครู คือ เนื้อหาที่กำหนดโดยคุรุสภา ผู้เรียนต้องเรียนและฝึกฝนเพื่อเป็นครู ประกอบกับความรู้ในข้อข้างต้นเพื่อไปเป็นครูสอนภาษา วิชาที่ต้องเรียน เช่น การพัฒนาหลักสูตร การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ จิตวิทยาความเป็นครู กฎหมายการศึกษาและประกันคุณภาพ เทคโนโลยีการสอน และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

          จากโครงสร้างวิชาสะท้อนว่า หลักสูตรมุ่งผลิตผู้ที่มีความรู้ภาษาจีนระดับกลาง ประกอบกับสร้างบุคลากรด้านการศึกษาเพื่อให้ทำหน้าที่เป็น “ครูสอนภาษา” อย่างถูกหลักความเป็นครู  หากประเมินจากโครงสร้างหลักสูตรและจำนวนวิชาที่ต้องเรียน วิเคราะห์ได้ว่าผู้ที่จบจากหลักสูตรนี้จะมีความรู้ภาษาจีนน้อยกว่าผู้ที่จบหลักสูตรภาษาจีนโดยตรง แต่จะมีความรู้ ความสามารถและสิทธิในการสอบบรรจุเป็นครูเหนือกว่าหลักสูตรภาษาจีน ผู้ที่จบหลักสูตรนี้สามารถสอบบรรจุเป็นครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้โดยตรง ในขณะที่ผู้ที่จบหลักสูตรภาษาจีน หากต้องการเข้าสู่งานด้านการสอนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องไปเรียนวิชาชีพครูเพิ่มเติม จึงจะเข้าบรรจุได้ การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนในช่วงนี้จึงมีความชัดเจนว่า ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพครู จะเลือกเรียนหลักสูตรการสอนภาษาจีน แต่ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพด้านอื่นจะเลือกหลักสูตรภาษาจีน หรือหลักสูตรที่เปิดใหม่ที่ตอบสนองด้านวิชาชีพ    

          3.2.3 การสร้างหลักสูตรด้านวิชาชีพอื่น สืบเนื่องจากความต้องการบุคลากรด้านวิชาชีพอื่นที่นอกเหนือ จากการเรียนการสอน การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว การค้า การลงทุน อุตสาหกรรมที่มาจากจีน ส่งสัญญาณให้ผู้รับผิดชอบหลักสูตรระดับอุดมศึกษาได้ทราบว่า ตลาดแรงงานเริ่มมีความต้องการบุคลากรด้านภาษาจีนเพื่อใช้ในแวดวงวิชาชีพอื่นที่นอกเหนือจากการศึกษาแล้ว แรกเริ่มที่หลักสูตรภาษาจีนเปิดสอนเพื่อให้มีความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน มาสู่หลักสูตรที่เปิดสอนเพื่อสร้างคนเป็นครูผู้สอนภาษาจีน และเข้าสู่หลักสูตรด้านวิชาชีพ จึงเกิดหลักสูตรด้านวิชาชีพขึ้น เช่น ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร ภาษาจีนธุรกิจ ภาษาจีนเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ  นิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายธุรกิจและการสื่อสารด้วยภาษาจีน การแพทย์แผนจีน เป็นต้น    และยังเกิดหลักสูตรที่ใช้ภาษาจีนเป็นเครื่องมือเปิดทางไปสู่ข้อมูลความรู้ด้านต่างๆของจีนอย่างหลักสูตร “จีนศึกษา” อีกด้วย  เนื้อหาของหลักสูตรดังกล่าวนี้มีเนื้อหาประกอบด้วย

                   (1) กลุ่มทักษะภาษาและวัฒนธรรม ที่เป็นเนื้อหาของหลักสูตรในข้อ 3.1

                   (2) กลุ่มภาษาจีนเพื่อการใช้งานในสายงานต่างๆ ชื่อวิชาเช่น ภาษาจีนเพื่อธุรกิจ ภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยว ภาษาจีนเพื่องานอุตสาหกรรม ภาษาจีนเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ภาษาจีนเพื่อการโรงแรม ภาษาจีนในสำนักงาน ภาษาจีนสำหรับเลขานุการ ภาษาจีนเพื่อธุรกิจการบิน ภาษาจีนในสื่อบันเทิง ภาษาจีนสำหรับงานสื่อสารมวลชน ภาษาจีนเพื่อการขนส่ง ภาษาจีนในธุรกิจบริการ ภาษาจีนสำหรับสื่อออนไลน์ ภาษาจีนสำหรับการแพทย์ คอมพิวเตอร์ภาษาจีน เป็นต้น

                   (3) กลุ่มจีนศึกษา ชื่อวิชาเช่น หลักปรัชญาและวิถีแห่งจีน อารยธรรมและสังคมจีน คําสอนของขงจื๊อและปรัชญาจีน ความสัมพันธ์ไทย-จีน นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน สังคมเศรษฐกิจการเมืองจีน ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจจีน การค้าการลงทุนของจีนในต่างประเทศ การค้าและการลงทุนในประเทศจีน ปัญหาและวิกฤตการณ์สังคมจีนร่วมสมัย  จีนกับเศรษฐกิจการเมืองโลก กฎหมายจีน เป็นต้น

          จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักสูตรภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของไทย กลุ่มวิชาทักษะ ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน นับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มีรายวิชาเพื่อพัฒนาทักษะทั้งสี่ครบถ้วน ทั้งนี้ทักษะขั้นสูงที่จำเป็นอีกทักษะหนึ่งคือ “ทักษะการแปล” ก็ได้มีการบรรจุไว้ในหลักสูตรเช่นเดียวกัน บ้างเป็นการแปลทางเดียวไทยเป็นจีน หรือจีนเป็นไทย บ้างเป็นการแปลสองทางจีน-ไทย ไทย-จีน บ้างเป็นการแปลเอกสาร บ้างเป็นการแปลพูด[3]  แต่ทักษะการแปล เป็นทักษะขั้นสูงที่จะเกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่ผู้เรียนมีความรู้ทักษะทั้งสี่ (รวมถึงความรู้ทางไวยากรณ์) แตกฉานแล้ว รายวิชาการแปลจึงจัดให้เป็นวิชาที่เรียนในชั้นปีที่ 2 หรือ 3 แต่กระนั้นก็ตาม แต่ละหลักสูตรมีการกำหนดรายวิชานี้เพียง 1 – 2 วิชาเท่านั้น ทั้งที่เป็นทักษะขั้นสูงที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้น 

หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ในปี 2560 เป็นต้นมา พบว่า มีการสร้างวิชาการแปลเพิ่มขึ้น เช่น การแปลทางธุรกิจ การแปลเชิงวิชาการ การแปลสำหรับงานบริการ เป็นต้น แต่ส่วนมากก็ยังเป็นการแปลเอกสารเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นการแปลที่ใช้ทักษะขั้นสูงอย่าง “การแปลแบบล่าม” ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า การแปลแบบล่ามเป็นการฝึกทักษะขั้นสูงขึ้นไป นั่นก็หมายความว่า การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะขั้นสูงอย่าง “การแปล” ยังไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ในการศึกษาชั้น “ปริญญาตรี”

          3.3.4 การสร้างหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรภาษาจีนขั้นสูง  การแปล การล่าม ดังที่กล่าวข้างต้นว่าทักษะการแปล เป็นทักษะทางภาษาขั้นสูงขึ้นมากว่าทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ทักษะและไวยากรณ์ที่เข้มแข็งเสียก่อน จึงจะสามารถไปถึงทักษะการแปลได้ การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนให้มีคุณภาพระดับการแปลของไทยจึงยังอยู่ในขั้น “การสร้างบุคลากรผู้มีความรู้ภาษาจีน” เท่านั้น  อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาบางแห่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนให้มีทักษะทางภาษาระดับสูงนี้ จึงมีความพยายามเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับการแปลและการล่ามภาษาจีนในระดับปริญญาโท เช่น หลักสูตรสาขาการแปลและการล่ามภาษาจีน-ไทย[4]  หลักสูตรสาขาการแปล วิชาเอกการแปลสายภาษาจีน[5]  แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรขั้นสูงด้านนี้ได้มากเท่าใดนัก หรืออีกนัยหนึ่งพบว่า มีผู้สมัครเข้าศึกษาในสาขาดังกล่าวนี้น้อยมาก จนกระทั่งไม่มีผู้สมัครเข้าศึกษา และต้องปิดรับนักศึกษาไปในที่สุด

                   

          จากหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา สะท้อนว่า การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนของไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะการผลิต “ผู้มีความรู้ภาษาจีน” เพื่อเติมเข้าสู่ระบบการศึกษา และเริ่มเข้าสู่การผลิตสู่สาขาอาชีพ แต่ยังไม่ถึงการพัฒนา “ผู้มีความสามารถขั้นสูงภาษาจีน” อย่างการแปลและการล่าม

         

3.3  การพัฒนาบุคลากรสายวิชาการและวิชาชีพ 

3.3.1 การพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ

     นอกจากข้อกำหนดด้านคุณวุฒิระดับปริญญาโท ปริญญาเอกและการฝึกอบรมต่างๆแล้ว ข้อกำหนด

เกี่ยวกับการขอตำแหน่งทางวิชาการ เป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรสายวิชาการในระดับอุดมศึกษาให้เป็นบุคลากรขั้นสูงด้านภาษาจีนจากการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ หลักเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการคือการผลิตผลงานทางวิชาการหลายประเภทและหลายรูปแบบ ได้แก่ ผลงานวิจัย ผลงานแต่งตำรา หนังสือ ผลงานแปล นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลาย จึงมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้สามารถนำผลงานลักษณะอื่นๆ มาขอกำหนดตำแหน่งทาวิชาการได้ เช่น ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม ผลงานสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานด้านสุนทรียะและศิลปะ สิทธิบัตร ซอฟท์แวร์ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสายวิชาการสามารถพัฒนาตนเองในทิศทางที่สนใจและเกิดประโยชน์ในทางวิชาการและการพัฒนาประเทศได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

          ผลจากเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการนี้เอง ทำให้บุคลากรสายวิชาการด้านภาษาจีนมีการพัฒนาความรู้ความสามารถให้ก้าวหน้าไปสู่บุคลากรขั้นสูงมากยิ่งขึ้น ปัญหาการจัดการเรียนการสอนที่เกิดจากผลงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาด้านสื่อการสอน หนังสือ ตำรา ที่ยังขาดแคลน ได้รับการเติมเต็มให้สมบูรณ์  ตัวอย่างเช่น

 

 

 

ผลงานประเภทตำรา คือ ผลงานทางวิชาการที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆในหลักสูตร

          ตำราแบบเรียนด้านทักษะภาษา แต่เดิมใช้ของมหาวิทยาลัยภาษาปักกิ่งหรือของฮั่นป้าน มีการแต่ง เรียบเรียงเพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนชาวไทยและท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค เช่น ตำราเกี่ยวกับทักษะภาษาจีน ฟัง พูด อ่าน เขียน สนทนาภาษาจีน การออกเสียงภาษาจีน  ไวยากรณ์จีน  

          ตำราด้านความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน เช่น ความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน วัฒนธรรมจีน ภูมิศาสตร์จีน ปรัชญาจีน วรรณคดีจีน

          ตำราด้านภาษาเพื่อการใช้งาน เช่น ภาษาจีนเพื่อธุรกิจ ภาษาจีนเพื่องานโรงแรม ภาษาจีนเพื่องานบริการการบิน ภาษาจีนเพื่อธุรกิจสุขภาพ ภาษาจีนเพื่องานอุตสาหกรรม ภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยว (มีระบุกลุ่มท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เช่น ท่องเที่ยวในประเทศไทย ท่องเที่ยวต่างประเทศ ท่องเที่ยวภาคต่างๆ ของไทย)

 

ผลงานประเภทหนังสือ คือ ผลงานวิชาการที่เกิดจากการค้นคว้าความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

คัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ (ปกรณ์,2553) รูปเคารพเจิ้งเหอ ในสังคมไทย (สุรสิทธิ์, 2565) เพลงและดนตรีจีน

(เมชฌ, 2554) สารานุกรมชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน (เมชฌ, 2555) นานาภาษาในประเทศจีนตอนใต้ 2: ภาษาตระกูลไท (เมชฌ, 2560)  เป็นต้น

         

ผลงานประเภทงานแปล เป็นผลงานการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยเป็นภาษาจีน มีผลงานการแปลของนักวิชาการเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น

          101 คำถามสามก๊ก (ถาวร,2559) หลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน. (กนกพร,2564) ลอดลายมังกร ฉบับแปลภาษาจีน. (สุรสิทธิ์,2560) บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน (ฉบับภาษาจีน) / (สุรสิทธิ์ และ บุรินทร์. แปล, 2011) โจโฉ วีรบุรุษแห่งสามก๊ก (จตุวิทย์,2020) หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน (กำพล, 2560)

          ผลงานวิชาการที่เกิดจากการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการระดับอุดมศึกษา สามารถนำไปใช้และเกิดประสิทธิผลในการพัฒนา “ผู้มีทักษะและความรู้ภาษาจีน” แต่ยังไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาทักษะขั้นสูงอย่าง ทักษะด้าน “การแปล-การล่าม” ได้ ขณะที่ความต้องการบุคลากรด้านนี้มีสูงขึ้นมาตลอด

 

          มีผลงานโดดเด่นที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่แสดงว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การพัฒนาบุคลากรขั้นสูงด้านภาษาจีน คือ การสร้างตำราที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนก้าวข้ามทักษะพื้นฐาน ฟัง พูด อ่าน เขียน ไปสู่ทักษะขั้นสูง คือ“ทักษะการแปล” ได้ มีทั้งรูปแบบการพัฒนาทักษะการแปลเอกสารและการล่าม ตัวอย่างผลงานเช่น 

ตำรา        การแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีน (กนกพร, 2554)

     หนังสือ       ทักษะการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย (กนกพร, 2563)

หนังสือ      ภาษาจีนเพื่อการล่ามในธุรกิจ (กนกพร, 2563)

         

 

 

 

3.3.2 การพัฒนาบุคลากรสายวิชาชีพ การพัฒนาวิชาชีพบุคลากรขั้นสูงด้านภาษาจีนนั้น มีการจัดตั้งหน่วยงาน

เกี่ยวกับการรับรองความรู้ความสามารถด้านภาษาจีนทั้งภาครัฐและเอกชน หรือมีความร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย และส่วนมากก็เป็นการรับรองวิชาชีพหรือสมรรถนะด้าน “ผู้สอน” เป็นหลัก สะท้อนว่าการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนในประเทศไทยก็ยังคงมีความจำเป็นและยังอยู่ในชั้นของการเติมเต็มให้กับระบบการศึกษาอยู่ เช่น    

-          สมาคมครูภาษาจีนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

-          ศูนย์ฝึกอบรมครูไทยสอนภาษาจีน สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดศูนย์เมื่อ 3 สิงหาคม 2564

-          โครงการจัดทำสมรรถนะมาตรฐานอาชีพผู้สอนภาษาจีนของประเทศไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

-                    ศูนย์ทดสอบสมรรถนะอาชีพผู้สอนภาษาต่างประเทศ (ภาษาจีน)   

-          ศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพมหานคร (CLEC, Bangkok) 

 

มีโครงการเพื่อพัฒนาบุคลากรสายวิชาชีพภาษาจีนที่น่าสนใจคือ โครงการบัดดี้ภาษามหาวิทยาลัยไทย-จีน

(อว.) เน้นชักชวนภาคอุตสาหกรรมจากจีนมาร่วมพัฒนาการการเรียนการสอนแบบ “ภาษาจีน + ทักษะวิชาชีพ” ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนที่นอกเหนือจากการผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบการศึกษา นั่นก็คือ การผลิตผู้มีความรู้ภาษาจีนและทักษะวิชาชีพเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรม (ปวีณ, 2565)

 

4. บทสรุปการพัฒนาบุคลากรขั้นสูงภาษาจีนของไทยอดีต ปัจจุบัน อนาคต

 

4.1 อดีต วิเคราะห์ได้สองมิติ คือ บุคลากรที่มีความรู้ภาษาจีนในอดีต มีความสามารถในการศึกษา สืบสาวและถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตได้ เช่น สายธารอารยธรรมจีน ปรัชญา วรรณคดี ศาสนา เป็นต้น อีกมิติหนึ่งคือ นักวิชาการที่มีความรู้ทางวิชาการภาษาจีน สามารถย้อนเวลาหาอดีตจนสามารถศึกษาวิเคราะห์และถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตตามหลักวิชาการได้ เช่น การศึกษาภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ สามารถศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาไทยในฐานะภาษาร่วมตระกูลได้ การศึกษาทางประวัติศาสตร์ สามารถศึกษาประวัติความเป็นมาของชาวไทยกับชาวไทในประเทศจีนตอนใต้จากหลักฐานทางโบราณคดีได้ การศึกษาภาษาจีนโบราณ บันทึก จารึก เอกสารโบราณ ทำให้สามารถอธิบายความสัมพันธ์หรืออิทธิพลของจีนที่มีต่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภูมิภาคเอเชียและโลกได้ เป็นต้น

4.2.ปัจจุบัน ในยุคปัจจุบันนี้ บุคลากรด้านภาษาจีนของไทยเป็นกลุ่มที่มีความรู้เชิงวิชาการ เป็นบุคลากรที่มีโอกาสได้ไปศึกษาวิชาต่างๆจากประเทศจีน จึงมีความรู้ทั้งด้านภาษาและวิชาชีพเฉพาะทาง สามารถศึกษาวิทยาการปัจจุบันของจีน นำมาถ่ายทอดรวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน และเป็นกลไกหลักในการเชื่อมสัมพันธ์ของจีนและไทยทั้งสองฝ่ายได้

4.3.อนาคต การพัฒนาบุคลากรขั้นสูงด้านภาษาจีน-ไทย ทั้งฝ่ายไทยมีผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน ทั้งฝ่ายจีนมีผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย ทำให้เราสามารถก้าวข้ามกำแพงภาษาที่เคยมีมาในอดีต ข้ามไปสู่การร่วมมือกัน การเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ร่วมกันศึกษาวิจัย และพัฒนาวิทยาการด้านต่างๆไปด้วยกัน

 

การจัดประชุมเสวนาสุดยอด "บุคลากรขั้นสูงภาษาจีน-ไทย +" ในความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การศึกษาและการวิจัย ครั้งที่ 1 นี้ นับเป็นการจับมือกันร่วมเปิดประตูและก้าวไปสู่อนาคตร่วมกัน  

 

 

บรรณานุกรม

กนกพร นุ่มทอง. (2554)การแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัย

เกษตรศาสตร์.

กนกพร นุ่มทอง. (2563)ทักษะการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาตะวันออก

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 

กนกพร นุ่มทอง. (2563)ภาษาจีนเพื่อการล่ามในธุรกิจ. กรุงเทพฯ : สาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

กนกพร นุ่มทอง แปลและเรียบเรียง. 2564. หลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาภาษาจีน

ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

จตุวิทย์ แก้วสุวรรณ์.(2020) โจโฉ วีรบุรุษแห่งสามก๊ก. กรุงเทพฯ: บริษัท สยามพรินซ์จำกัด.

ชนประเสริญ คินทรักษ์. แต่ง, สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ และ บุรินทร์ ศรีสมถวิล. แปล. (2011) บันทึกสี่เท้าจากหัวใจ

ผู้ไร้บ้าน (ฉบับภาษาจีน). Bangkok : Officer of contemporary art and culture.

เทคโนโลยีสารสนเทศกลุ่มการศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศ, ฝ่าย. สำนักงาน ก.พ. สถิตินักเรียนและ

ข้าราชการในความดูแลของก.พ. ที่กำลังศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศ. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14

มีนาคม 2565. เข้าถึงได้ทาง https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/document/480101-

total48.pdf           

นริศ  วศินานนท์. (2559). การศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย. จีน

ศึกษา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.2559. (2) , 13-25.

ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์. (2553) คัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์.

 

ปวีณ ควรแย้ม.(2565) อว. ร่วมประสาน ศธ. รง. อีอีซี และสถาบันขงจื้อ สร้าง Sandbox เชื่อมไทย-จีน

ยกระดับศักยภาพบุคลากร เดินหน้าขยายอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่พื้นที่ทั่วประเทศ.ออนไลน์. สืบค้น

เมื่อ 12 มีนาคม 2565. เข้าถึงได้ทาง https://www.mhesi.go.th/index.php/pr-executive-               news/7056-110365.html

ประทีป ว่องวีระยุทธและคณะ. (2020) การศึกษาแนวคิดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาผู้สอนวิชา

ภาษาจีน. Panyapiwat Journal. 12 (1), 304 - 314

ประภัสสร เสวิกุล.แต่ง, สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ .แปล. (2560) ลอดลยมงกร ฉบับแปลภาษาจีน.กรุงเทพฯ :

นานมีบุ๊คส์.

พสุภา ชินวรโสภาค.(บรรณาธิการ) (2564) วิทย์ไมตรีไทย-จีนจากกรุงปักกิ่ง. ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2565. เข้าถึงได้ทาง

https://www.mhesi.go.th/images/Pusit2021/pdfs/THA-CHN-Feb2564.pdf

พิชัย  รัตนพล. (2512) วิวัฒนาการควบคุมโรงเรียนจีน, วิทยานิพนธ์รัฐศาสนศาสตรมหาบัณฑิต.สถาบัน

พัฒนบริหารศาสตร์.

เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์. (มกราคม - ธันวาคม 2550) การควบคุมโรงเรียนจีนของรัฐไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลง

การปกครองถึงสมัยจอมพล ป. พิบุลสงคราม (พ.ศ. 2475 - 2487). วารสารประวัติศาสตร์. 100-

118.

เมชฌ สอดส่องกฤษ.(2554) ดนตรีและเพลงจีน. พิมพ์ครั้งที่ 1.อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2555) สารานุกรมชนกลุ่มน้อยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน. พิมพ์ครั้งที่2.

อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย 

เมชฌ สอดสองกฤษ.(2559) นานาภาษาในประเทศจีนตอนใต้ 2: ภาษาตระกูลไท เล่ม 1. อุบลราชธานี:  โรงพิมพ์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. อุบลราชธานี.  

แม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัย. (2558) หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแปลและการล่ามภาษาจีน-ไทย

พ.ศ.2558. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2565 เข้าถึงได้ทาง https://ftp.mfu.ac.th/master-art-

translate.php

รามคำแหง, มหาวิทยาลัย. (2557) หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการแปล วิชาเอกการแปลสายภาษาจีน

พ.ศ. 2557 ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2565 เข้าถึงได้ทาง http://www.human.ru.ac.th

/grad/images/PDF/translation.pdf

ศึกษาธิการ,กระทรวง.(2557) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน

ภาษาจีน. ออนไลน์.สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2565. เข้าถึงได้ทาง http://www.phatthalung2.go.th/

myoffice/2557/data/tkk1/25570219_111522_7711.pdf

ส่งเสริมและพัฒนาทุนทางปัญญา,กอง. สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร. บัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ

เพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการฯของ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์

วิจัยและนวัตกรรม. ออนไลน์.สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2565 เข้าถึงได้ทาง

http://202.44.139.32/index.aspx. 

สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์. (2563) รูปเคารพเจิ้งเหอ ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์ต้นฉบับจำกัด.

เส้าหย่ง,หวังไห่เผิง.แต่ง. กำพล ปิยะศิริกุล.แปล. (2560)  หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน.

กรุงเทพฯ : มติชน.

หลี่ฉวนจวิน และคณะ เขียน ; ถาวร สิกขโกศล แปล. (2559) 101 คำถามสามก๊ก. กรุงเทพฯ : มติชน.

“อีอีซี’ เร่งสร้างแรงงานรับลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ดึงสถาบันขงจื้อสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน อิงโมเดล

Sandbox เชื่อมไทย – จีน” โพสต์ทูเดย์. วันที่ 14 มี.ค. 2565.ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2565.

เข้าถึงได้ทาง https://www.posttoday.com/economy/news/678073

อุทัยวรรณ เฉลิมชัย. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน.ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2565.

เข้าถึงได้ทาง http://www.vajiravudh.ac.th/KM/Vichakarn-Document/teaching-

doc/Year2552/lib2_02102008.htm

 

 



[1] พสุภา ชินวรโสภาค.(บรรณาธิการ) (กุมภาพันธ์,2564) วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีนจากกรุงปักกิ่ง. ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง. (ออนไลน์)   

[2] งานวิจัยนี้เผยแพร่เมื่อปี 2559 รายงานว่ามีผู้มีตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาภาษาจีน 1 คน  แต่จากข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการฯ ของ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศเมื่อ 27 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรับปรุงล่าสุด สาขาภาษาจีน ไม่ปรากฏว่า “มีผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์”  (กองส่งเสริมและพัฒนาทุนทางปัญญา.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร. ออนไลน์.)

[3] การแปลแบบพูด เป็นลักษณะของวิชาการล่าม แต่ขึ้นอยู่กับผู้สอนว่าจะเลือกจัดการเรียนการสอนแบบใด แต่โดยมากแล้ว ทักษะของผู้เรียนยังไปไม่ถึงทักษะขั้นสูงนี้ ส่วนมากจึงยังอยู่ที่ชั้นการฝึกแปลเอกสาร

[4] หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแปลและการล่ามภาษาจีน-ไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ.2558 (ออนไลน์.)

[5] หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการแปล  วิชาเอกการแปลสายภาษาจีน มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2557 (ออนไลน์.)