วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การพรรณนาภาษาผู่เปียว


ข้อมูลการตั้งถิ่นฐานในประเทศจีน นักภาษาศาสตร์จีนเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์และชื่อภาษานี้ว่า “ผู่เปียว” ใช้อักษรจีนจดว่า普标Pǔbiāo และเมื่อนักภาษาศาสตร์จีนนำเสนอรายงานภาษานี้เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะใช้ชื่อที่ถอดเสียงมาจากอักษรพินอินว่า “Pubiao” แต่ชาวผู่เปียวเรียกตัวเองเหมือนกับชาวผู่เปียวที่อาศัยอยู่ในเวียดนามว่า /qa33 biau33/ รายงานของนักภาษาศาสตร์จีนเกี่ยวกับภาษาผู่เปียวที่สำคัญคือ ผลงานของ เหลียงหมิ่น จางจวิน หรูและหลี่หยวินปิง (Liáng Mǐn, Zhāng Jūnrú, Lǐ Yúnbīng: 2007,4) ระบุว่า ในประเทศจีนมีชาวผู่เปียวอาศัยอยู่ที่ชุมชนเถียฉ่าง อำเภอหมาลี่โพ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตปกครองตนเองชาวจ้วง ชาวเหมียวเหวินซาน มณฑลยูนนาน   (云南省文山壮族苗族自治州麻栗坡县铁厂乡Yúnnán shěng Wénshān Zhuàngzú Miáozú Zìzhìzhōu Málìpō xiàn Tiěchǎng xiāng) ครอบคลุมพื้นที่อำเภอต่างๆ ได้แก่ หม่าถง /ma33 thuN55/ (马同Mǎtóng)[1]  ผู่น่ง /ma33 l6huaN53/ (普弄Pǔnòng) ผู่เผิน /ma33 qaN44/ (普盆Pǔ pén) ผู่เฟิง /mu33 phu53/  (普峰Pǔ fēng) หลงหลง /pə33 l6hau53/ (竜龙Lónglóng) หม่าคุน (马坤Mǎ kūn) และหลงหลิน (龙林Lónglín) มีชาวผู่เปียวตั้งบ้านเรือน 74 ครอบครัว จำนวนประชากร 307 คน (การสำรวจสำมะโนประชากร ปี 2000) รวมจำนวนประชากรชาวผู่เปียวที่อยู่ในประเทศจีนและเวียดนามจำนวน 777 คน
เกี่ยวกับชื่อเรียก มีประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกับตอนที่อธิบายชื่อภาษาปู้ยัง ดังจะพบว่าภาษาต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสาขาจ้วง-ต้งในประเทศจีนตอนใต้ มีชื่อเรียกตนเองที่มีลักษณะที่สอดคล้องกัน คือ มักเป็นคำสองพยางค์ พยางค์แรกเป็นคำที่มีความหมายว่า “คน” แบ่งเป็นสองพวก คือ พวกที่ใช้คำว่า “อ้าย” (ไอ้/อ่าย/อาย) กับพวกที่ใช้คำว่า “ผู้” /(ปู้/ปู/มู่/ผู่/พือ) และพยางค์หลังเป็นชื่อเฉพาะ แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้คำอื่น หรือไม่มีคำนำหน้า ดังนี้ 
“อ้าย”
“ผู้”
คำอื่น (คำหน้าแปลว่า “คน”)
ไม่มีคำนำหน้า
ai3 ma:k8  มาก
pu4 ʔjui4     ปู้อี
lak8 kja3 ลักกะ
tai2   ไต
ai3 ȶa:m1  จาม
pou4 ɕu:ŋ6  จ้วง
ʔɑŋ˧ɓe˧  เบ
kam1 ต้ง
ai1 na:n6  เหมาหนาน
mu6 lam1    มูลัม

ɬai1   ฮไล(หลี)
ai˩ tʰən˧   เท็น
pɯ55 lau55 เกอลาว

ai3 sui3    สุ่ย
pu biao       ผู่เปียว

puo˩ ʔja:ŋ˦  ปูยัง
li pu lio        ละติ
*หมายเหตุ สัทอักษรที่ปรากฏนี้อ้างอิงมาจากหนังสือพรรณนาภาษาต่างๆหลายเล่ม และจากผู้เขียนหลายคน ทำให้ระบบที่ใช้ไม่เป็นแบบเดียวกัน
            ชื่อที่ชาวผู่เปียวในประเทศจีนกับชาวผู่เปียวในเวียดนามเรียกตนเองคือ qa biao พิจารณาจากลักษณะของคำศัพท์ในภาษาผู่เปียวมักมีหน่วยคำเติมหน้า /qa/  ที่เมื่อเติมแล้วบางกลุ่มคำก็เป็นคำนามเรียกคน เช่น /qa33 lu:n33/ “คนใบ้”  /qa33 Nan45/ “คนหูหนวก” /qa33 liak45/ “คนลัก(โจร)” บางกลุ่มก็เป็นชื่อที่ชาวผู่เปียวเรียกกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น /qa33 miau45/ “ชื่อเรียกชาวเหมียว” /qa33 ʨi33/ “ชื่อเรียกชาวเหยา” แต่บางกลุ่มคำก็ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ (ดูเรื่องหน่วยคำเติมหน้า ได้อธิบายไว้ในหัวข้อระบบคำ) ดังนั้นความหมายของชื่อ /qa33 biao33/ น่าจะหมายความว่า “คนเบียว” เหมือนกับชื่อ คนไต คนจ้วง คนสุ่ย คนยัง คนหลีเป็นต้น       

เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาชาวผู่เปียวอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา  อีกทั้งจำนวนประชากรก็น้อยมาก ทำให้ในบันทึกเอกสารโบราณต่างๆไม่ปรากฏข้อมูลของชาวผู่เปียว มีเพียงคำบอกเล่าและมุขปาฐะของชาวผู่เปียวที่เล่าต่อกันมาว่า  บรรพบุรุษชาวผู่เปียวมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ชุมชนโบราณ ชื่อ ผู่เหมย /gə33 mei33/ (普梅Pǔ méi)  และ ผู่หยาง / gə33 wan55/ (普杨Pǔyáng) ซึ่งเป็นพื้นที่ของเมืองฟู่โจว จังหวัดกว่างหนาน (广南府富州Guǎngnán fǔ, Fù zhōu)  ปัจจุบันคือพื้นที่เขตปกครองตนเองชาวจ้วงกว่างซี (广西壮族自治区境Guǎngxī Zhuàngzú zìzhìqū jìng)  ในยุคจักรพรรดิคังซีปีที่หก (1667)  มีการจัดระเบียบและแบ่งเขตการปกครองใหม่ ตัดเมืองฟู่โจวออกไปขึ้นกับเขตอื่น  ทำให้ในบันทึกประวัติศาสตร์จังหวัดกว่างหนาน (广南府志Guǎngnán fǔ zhì,1825) ไม่มีบันทึกถึงชาวผู่เปียว  สันนิษฐานว่าชาวผู่เปียวอพยพจากถิ่นฐานเดิมไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทยอยเข้าไปตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านต่างๆ บริเวณชายแดนจีนและเวียดนามในยุคจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง(1654 -1722)

เมื่อไม่มีบันทึกถึงชาวผู่เปียวโดยตรง นักประวัติศาสตร์จีนได้สืบค้นเพื่อเสาะหาประวัติความเป็นมาของชาวผู่เปียวจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือชาวเกอ-ยัง (仡央Gē Yāng)[1]  บรรพบุรุษของชาวเกอ-ยังเกี่ยวข้องกับชนเผ่าโบราณสองกลุ่มคือ ชาวผู () และชาวเหลียว(Liáo) ชาวผูโบราณมีสาขาย่อยอีกมาก ส่วนที่เกี่ยวข้องกับพวกเกอ-ยังคือ ก้ายเฟินอายผูหรือหย่งชางผู (盖分哀濮或永昌濮Gài fēn āi pú huò Yǒngchāng pú) จวี้ติงผู (句町濮Jùdīng pú) และฉู่ผู (楚濮Chǔ pú) ชาวผูทั้งสามแขนงนี้แตกแขนงไปเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาต่างๆ ได้แก่ 
ก้ายเฟินอายผู หรือหย่งชางผูเป็นบรรพบุรุษของพวกที่พูดภาษามอญ-เขมร ได้แก่ ผูม่าน (濮曼Pú màn) เป็นบรรพบุรุษของชาวปู้หล่าง  ผูหลง (濮龙Pú lóng) เป็นบรรพบุรุษของชาวเต๋ออ๋าง  ผูหราว(濮饶Pú ráo)  เป็นบรรพบุรุษของชาวหว่า 
จวี้ติงผู แตกแขนงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาแขนงจ้วง-ไต คือ ผูหนง (濮农Pú nóng) เป็นบรรพบุรุษของชาวจ้วงแขนงนุง (ไทนุง) ผูจ้วง (濮僮Pú zhuàng) เป็นบรรพบุรุษของชาวจ้วง ผูอี (濮衣Pú yī) เป็นบรรพบุรุษของชาวปู้อี 
ฉู่ผู แตกแขนงไปอีกหลายกลุ่มย่อยๆ ในจำนวนนี้มีชื่อ จิวเหลียว (鸠僚Jiūliáo) กลุ่มจิวเหลียวนี้พัฒนาไปเป็นชาว “เหลียว (Liáo )”  บันทึกในยุคเว่ยจิ้นหนานเป่ย(220-589) กลุ่มชนที่แตกแขนงมาจากจิวเหลียวล้วนเรียกรวมกันว่า  “เหลียว ”  จนถึงสมัยซ่ง (960-1279) ปรากฏชื่อ “เกอลาว” ซึ่งเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่แตกแขนงมาจากชาวเหลียว จากความสัมพันธ์ของชาวผู่เปียวที่เกี่ยวข้องกับชาวเกอ-ยัง จึงสันนิษฐานได้ว่า บรรพบุรุษของชาวผู่เปียวก็คือชนเผ่าโบราณชื่อ ฉู่ผู และจิวเหลียว
 ส่วนชื่อที่ออกเสียงว่า “ผู่เปียว” หรือใกล้เคียงที่เป็นลายลักษณ์อักษรในบันทึกเอกสารโบราณของจีนนั้นเริ่มปรากฏครั้งแรกในยุคจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง พงศาวดารจังหวัดคายฮว่า[2] ฉบับขนบธรรมเนียม (开化府志 风俗志Kāihuà fǔ zhì Fēngsú zhì) ปรากฏชื่อ ผู่เพียว (普剽Pǔ piāo) ความว่า 普剽,俗与喇乌小异,不头。男著青白长领短衣,不分寒暑,身披布被,镶火焰边;女桶裙,遍身挂红绿珠。亲亡令子跳舞,亲属击鼓、鸣锣、鸣角祭献,名曰:娱尸。性醇,吉事款客,吹角、高唱,节以征瞽。男子衣不及膝,女则长服委地,开化府属有之Pǔ piāo, sú yǔ lǎ wū xiǎo yì, bù tì tóu. Nánzhe qīngbái zhǎng lǐng duǎn yī, bù fēn hánshǔ, shēn pī bù bèi, xiāng huǒyàn biān; nǚ tǒng qún, biàn shēn guà hóng lǜ zhū. Qīn wáng lìngzi xù tiàowǔ, qīnshǔ jī gǔ, míng luó, míng jiǎo jì xiàn, míng yuē: Yú shī. Xìng chún, jíshì kuǎn kè, chuījiǎo, gāo chàng, jié yǐ zhēng gǔ. Nánzǐ yī bùjí xī, nǚ zé zhǎng fú wěi de, kāihuà fǔ shǔ yǒu zhī. ผู่เพียว ขนบประเพณีต่างกับลาอู[3]เล็กน้อย ไม่โกนหัว ชายสวมเสื้อมีปกยาวลำตัวสั้นสีครามขาว ไม่เว้นหนาวร้อน มีผ้าคลุมตัว ปลายผ้าปักลวดลายเปลวไฟ หญิงสวมผ้าถุง ประดับลูกปัดสีแดงเขียวทั่วตัว เมื่อพ่อแม่ตายลูกและสะใภ้ต้องร่ายรำ เหล่าญาติลั่นกลอง ตีโหม่งฆ้อง เป่าแตรบวงสรวง นัยว่า เป็นการจัดงานศพที่รื่นเริงให้กับผู้ตาย ชาวผู่เปียวมีอุปนิสัยเรียบง่าย สุภาพเรียบร้อย    เมื่อมีงานมงคลจะจัดเลี้ยงญาติและมิตรสหาย เป่าแตร ขับลำ เมื่อถึงเทศกาลจะตีกลองไม้ กางเกงชายไม่ถึงเข่า ผ้านุ่งหญิงยาวคลุมทั้งตัว  มีถิ่นฐานอยู่เมืองคายฮว่า[4]  พงศาวดารยุคต่อๆมา เช่น พงศาวดารชื่อ “ว่าด้วยชาวอี๋แห่งยูนนาน” (滇省夷人图说Diān shěng Yí rén túshuō)  พงศาวดารในสมัยพระเจ้ากวางซวี่แห่งราชวงศ์ชิง (清光绪Qīng Guāngxù) ชื่อ “พงศาวดารยูนนาน” (云南通志Yúnnán tōng zhì)  ล้วนบันทึกชื่อและเรื่องราวของ “ชาวผูเพียว” โดยอิงตาม พงศาวดารจังหวัดคายฮว่านั่นเอง 
จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สามารถยืนยันได้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ช่วงปลายราชวงศ์หมิง ต่อกับต้นราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1636 - 1644) เป็นที่แน่นอนว่ามีชาวผู่เปียวดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณรอยต่อของประเทศจีนกับเวียดนามแล้ว แต่ในพงศาวดารต่างๆที่ปรากฏชื่อและมีรายละเอียดชัดเจนมากก็คือ “ชาวเกอลาว” พื้นที่ที่ชาวผู่เปียวอาศัยอยู่เป็นพื้นที่เดียวกันกับชาวเกอลาว แต่ชาวผู่เปียวมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับชาวเกอลาว บันทึกต่างๆ จึงกล่าวถึงชาวผู่เปียวเหมารวมไปกันกับชาวเกอลาว      



[1] นักภาษาศาสตร์จีนจัดภาษาผู่เปียวไว้เป็นสมาชิกของแขนงภาษาเกอ-ยัง คำว่า “เกอ” มาจากชื่อภาษาเกอลาว (仡佬Gēlǎo) ส่วนคำว่า “ยัง” มาจากชื่อภาษาปู้ยัง (布央Bù yāng)  ซึ่งทั้งสองภาษานี้เดิมทีจัดไว้ในแขนงต้ง-สุ่ย แต่แยกออกมาให้เป็นคู่ขนานกับแขนงต้ง-สุ่ย ตั้งชื่อว่า เกอ-ยัง
[2] ชื่อจังหวัดในการแบ่งเขตการปกครองของมณฑลยูนนานในยุคคังซีปีที่หกแห่งราชวงศ์ชิง (清康熙六年Qīng Kāngxī liù nián 1667) ต่อมาสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งปีที่แปด (雍正八年Yōngzhèng bā nián 1730) ก่อตั้งเป็นอำเภอเหวินซาน(文山县Wénshān xiàn) ปัจจุบันคือบริเวณตอนกลางของอำเภอเหวินซาน   
[3] ลาอู เรียกอีกชื่อว่า หลาหลู่ (喇鲁Lǎ lǔ) จากบันทึกถึงชาวลาอูในพงศาวดารยูนนาน (云南通志Yúnnán tōng zhì)  ที่บันทึกโดยหลี่หยวนหยาง ในยุคราชวงศ์หมิง (*李元阳Míng Li Yuányáng) สันนิษฐานได้ว่า ชาวลาอูเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าไต 
[4] ขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความอนุเคราะห์ตรวจสำนวนการแปล 


[1] ข้อมูลชื่อเรียกเรียงลำดับดังนี้ ชื่อภาษาไทย(ถ่ายถอดเสียงอ่านจากอักษรจีน) /ชื่อภาษาผู่เปียวจดโดยสัทอักษร/ (ชื่อภาษาจีน เสียงอ่านพินอิน) ชื่อเรียกสองชื่อสุดท้ายคือ หม่าคุน และหลงหลิน ไม่มีชื่อภาษาผู่เปียว   

สรุปสาระสำคัญของภาษาผู่เปียวจากที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้นคือ  ชาวผู่เปียวตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ตอนตอนใต้ของประเทศจีนและตอนเหนือของประเทศเวียดนาม การสำรวจสำมะโนประชากร ปี 2000 มีจำนวนประชากรทั้งในประเทศจีนและเวียดนามรวมกัน 777 คน นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่า บรรพบุรุษของชาวผู่เปียวคือชนเผ่าโบราณชื่อฉูผู่และจิวเหลียว โดยมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงชาวผู่เปียวคือ ช่วงปลายราชวงศ์ หมิง ต่อกับต้นราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1636-1644) ในชื่อ “ผู่เพียว” แต่ความจริงแล้วบรรพบุรุษของชาวผู่เปียวคงจะมีมาก่อนหน้านั้น แต่ด้วยเหตุที่มีจำนวนประชากรไม่มาก และอาศัยร่วมกับชาวเกอลาวซึ่งมีประชากรมากกว่า จึงถูกเหมารวมและจดบันทึกรวมกันไปกับชาวเกอลาว ในด้านภาษาศาสตร์ นักวิชาการจีนจัดภาษาผู่เปียวไว้ภายใต้ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แต่แยกแขนงออกมาเป็นแขนงภาษาเกอ-ยัง คู่ขนานไปกับแขนงจ้วง-ไต แขนงต้ง-สุ่ย และแขนงหลี วงคำศัพท์ของภาษาผู่เปียว นอกจากจะมีความสัมพันธ์กับภาษาตระกูลไทแล้ว ยังมีคำศัพท์ที่สอดคล้องกับภาษาตระกูลมอญ-เขมร และภาษาจีนทั้งที่เป็นคำยืมภาษาจีนเก่า(หรือเรียกว่าคำศัพท์ร่วมเชื้อสายไท-จีน) และคำยืมภาษาจีนใหม่ด้วย       ด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวผู่เปียวมีความเชื่อเรื่องผี เคารพบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ เทพเจ้า และวิญญาณของทุกสรรพสิ่ง ตลอดจนมีความเชื่อเกี่ยวกับตำนานการสร้างโลก การกำเนิดชนเผ่าร่วมกับชนเผ่าตระกูลไทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับน้ำท่วมโลก สองพี่น้องชายหญิงผู้เป็นต้นตระกูลของชนเผ่า และบูชาน้ำเต้า
เกี่ยวกับข้อสงสัยในวงวิชาการของไทยดังปรากฏในหนังสือนานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ ภาษาตระกูลไท(สุริยา,  2548 หน้า 145-151) อธิบายว่าชื่อเรียกกลุ่มชนที่พูดภาษาลักกะ(Laqua) มีหลายชื่อ เพราะเป็นชื่อที่ชนเผ่าอื่นๆเรียกพวกเขา แต่ข้อที่น่าสนใจก็คือ มีรายงานเกี่ยวกับภาษา “ปูเบียว” ของ จางจวินหรู (Zhāng Jūnrú1990) ว่า ชื่อที่พวกนี้เรียกตนเองคล้ายกับชื่อที่พวกลักกะเรียกตนเอง คือ Kàbèò ซึ่งตรงกับที่พวกม้งเรียกพวกลักกะว่า Púbèò ด้วยความคล้ายคลึงและที่ตั้งถิ่นฐานนี้เอง สุริยาจึงได้นำคำศัพท์ของภาษาปูเบียวกับภาษาลักกะมาเปรียบเทียบกัน และพบว่า “ภาษาปูเบียว (Pubiao) มีความคล้ายคลึงกับภาษาลักกะ (Laqua) มากจนเรียกได้ว่าเป็นสำเนียงท้องถิ่น(dialect) ของภาษาเดียวกัน จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องสนใจติดตามดูข้อมูลภาษาปูเบียวที่ Zhang Junru และคนอื่นๆจะได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในระยะต่อไป เพื่อจะได้แน่ใจว่าเป็นภาษาลักกะหรือไม่” จากข้อสงสัยดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าได้สังเคราะห์ผลงานของนักวิชาการจีนเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดแล้ว  และได้ทราบว่านักวิชาการจีนไม่ได้มีข้อคลางแคลงสงสัยว่าภาษาลักกะกับภาษาผู่เปียวเป็นภาษาเดียวกัน  หรือเป็นภาษาถิ่นของกันและกันแต่อย่างใด  แต่แยกศึกษาเป็นสองกลุ่มชาติพันธุ์และสองภาษา ยิ่งไปกว่านั้นยังจัดกลุ่มภาษาทั้งสองไว้คนละแขนง คือ จัดภาษาลักกะไว้ในแขนงต้ง-สุ่ย จัดตั้งขึ้นเป็นแขนงภาษาใหม่ชื่อเกอ-ยัง แล้วจัดภาษาผู่เปียวไว้ในแขนงใหม่นี้ ระบบเสียงของภาษาลักกะ[1]กับภาษาผู่เปียวมีข้อแตกต่างกันเด่นชัด คือ ภาษาผู่เปียวมีเสียงพยัญชนะควบกล้ำ /-l/ แต่ภาษาลักกะไม่มี ภาษาผู่เปียวมีพยัญชนะเปลี่ยนเป็นเพดาน 7 เสียง ภาษาลักกะมี 3 เสียง ภาษาผู่เปียวมีพยัญชนะเปลี่ยนเป็นริมฝีปาก 3 เสียง แต่ภาษาลักกะมี 10 เสียง ภาษาผู่เปียวมีวรรณยุกต์ สระเปิดและสระปิดรวมกัน 7 เสียง แต่ภาษาลักกะมี 10 เสียง วงคำศัพท์ภาษาผู่เปียวมีคำศัพท์ร่วมเชื้อสายกับภาษาลักกะ 23.08% (Liáng Mǐn, Zhāng Jūnrú, Lǐ Yúnbīng, 83) เป็นต้น          
แม้ว่าความสัมพันธ์ทางเครือญาติของภาษาไทยกับภาษาผู่เปียวจะห่างไกลกันแบบลูกพี่ลูกน้องหรือเครือญาติสายที่ห่างออกไป แต่ร่องรอยความสัมพันธ์ที่ยังมีอยู่ก็สมควรที่จะนำมากล่าวถึงให้เป็นข้อพิจารณากัน จากการตรวจสอบรายการคำศัพท์ภาษาผู่เปียว ผู้เขียนพบจุดที่น่าสนใจและชวนให้ขบคิดอย่างหนึ่งคือ เสียงพยัญชนะต้นของภาษาผู่เปียวกับคำที่มีเสียงอักษร “ห” นำ ในภาษาไทย โปรดดูข้อมูลและคำอธิบายต่อไปนี้
A
B
C
D
qa33 muak45  หมอก
qa33 huaN213  ขวาง
qham53 หวาน
qa0 muat33  ?มอด
qo33 nai33  หนู
qhau213  เขย่า
qhon33  หน (ทาง)
qa0 ȵaN33   ?ยุง
qa0 mat33   หมัด (เห็บ)
qa:i53  ควาย
qon53 ห่ม
qa33 taN33  ?ดั้ง (จมูก)
qa0 Nan33   หง่อม (แก่)
qai53   ไก่

qa0 mi213    ?มือ
qa0 qəiʔ45   หน่อย (นิด)

qa33 liak45  ?ลัก (ขโมย)
ข้อสันนิษฐานเสียงดั้งเดิม

qa0 ham53 หวาน
qa0 luai45    ?รอย
qa0 hon33  หน (ทาง)
qə0 luəN33   ?ดวง(ดาว)
qa0 hon53 ห่ม
qa0 nuai33    ?น้อย (เด็ก)

          คำในตารางช่อง A ภาษาผู่เปียวเป็นคำสองพยางค์ ขณะที่เมื่อเทียบกับภาษาไทยจะเป็นคำพยางค์เดียว และเราจะเห็นว่าคำพยางค์เดียวในภาษาไทยจะเป็นคำที่มี “ห” นำ พิจารณาจากฐานกรณ์ของเสียง /h, ʔ/ กับเสียง /q/ อยู่ใกล้เคียงกัน หากเราลองมองข้ามเรื่องอักขระวิธีของการใช้อักษรนำ “ห” ในภาษาไทยที่ทำหน้าที่เปลี่ยนอักษรต่ำเป็นอักษรสูง แล้วมองดูที่การออกเสียงเทียบกับภาษาผู่เปียว ก็จะเห็นร่องรอยที่นำไปสู่ข้อสันนิษฐานได้ว่าคำที่ภาษาไทยมีอักษร “ห” นำนั้น ต้นตระกูลของคำศัพท์ชุดนี้ออกเสียงเป็นคำสองพยางค์เหมือนกับภาษาผู่เปียว เป็น /ha mɔ:k/ “หมอก”  /ha nu:/ “หนู”  /ha mat/ “หมัด” /ha Nɔm/ “หง่อม” /ha nɔi/ “หน่อย” จากนั้นพยางค์หน้า /ha/ กร่อนหายไป คงเหลือเป็นเสียงพยัญชนะต้นนาสิก /m, n, N/ เป็น /mɔ:k/ “หมอก” /nu:/ “หนู” /mat/ “หมัด” /Nɔm/ “หง่อม” /nɔi/ “หน่อย” อย่างในภาษาไทยปัจจุบัน ปรากฏการณ์พยางค์หน้ากร่อนและสูญหายไปนี้ก็มีร่องรอยให้เห็นในภาษาผู่เปียวด้วยเช่นกัน  ดังคำอธิบายถัดไป  
          คำในตารางช่อง B ภาษาผู่เปียวมีร่องรอยของพัฒนาการจากคำสองพยางค์ ลดรูปเป็นคำพยางค์เดียวแบบพยัญชนะต้นคู่ และพยัญชนะคู่หายไปเหลือเป็นพยัญชนะเดี่ยว คำชุดนี้เมื่อเทียบกับคำภาษาไทยจะพบว่าเป็นเสียงควบกล้ำ สันนิษฐานว่าต้นตระกูลคำศัพท์ของทั้งภาษาผู่เปียวและภาษาไทยชุดนี้ออกเสียงเป็นคำสองพยางค์เหมือนกัน เป็น /qa huaN/ “ขวาง”  /qa huai/ “ควาย”  /qa jau/ “เขย่า” แล้วต่อมาภาษาไทยและภาษาผู่เปียวเกิดการกร่อนของเสียงพยัญชนะต้นลดรูปคำเป็นคำพยางค์เดียว ในภาษาผู่เปียวมีร่องรอยของคำที่พยางค์หน้ายังไม่ถูกกร่อน เช่น /qa33 huaN213/  “ขวาง”  ส่วนร่องรอยที่คำสองพยางค์กร่อนเป็นพยัญชนะต้นคู่ เช่น /qhau213/ “เขย่า” และร่องรอยที่คำสองพยางค์กร่อนเป็นพยัญชนะต้นเดี่ยว เช่น /qa:i53/  ควาย” ส่วนร่องรอยในภาษาไทยคือเสียงควบกล้ำ /khw, khj/   
          คำในตารางช่อง C เป็นปรากฏการณ์ของคำสองพยางค์ในช่อง A ที่สระพยางค์หน้ากร่อนหายไป กลายเป็นคำพยางค์เดียวที่มีพยัญชนะต้นคู่ และสุดท้ายเหลือเพียงพยัญชนะต้นเดี่ยว เมื่อเทียบกับคำในช่อง A แล้วสันนิษฐานได้ว่าคำต้นตระกูลชุดนี้ในภาษาผู่เปียวและภาษาไทยออกเสียงเป็นคำสองพยางค์ /qa wan/ “หวาน” /qa hon/ “หน” /qa hom/ “ห่ม”     
          คำในตารางช่อง D จะเห็นได้ชัดว่า คำในภาษาไทยล้วนเป็นคำพยางค์เดียวที่ไม่มี “ห” นำ ขณะที่ภาษาผู่เปียวเป็นคำสองพยางค์ทั้งหมด คำชุดนี้เป็นหลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานข้างต้นทั้งสามแบบ สัญลักษณ์ “?” หมายถึงข้อสันนิฐานเสียงดั้งเดิมของคำภาษาไทยว่า ถ้าใช้ภาษาผู่เปียวเป็นตัวเทียบดังที่ได้อธิบายมาข้างต้นแล้ว ภาษาดั้งเดิมของภาษาไทยก็จะต้องออกเสียงเป็นคำสองพยางค์ว่า      / qa0 มอด/, /qa0 ยุง/, / qa0 ดั้ง/, / qa0 มือ/, / qa0 ลัก/, /qa0 รอย/, / qa0 ดวง/, / qa0 น้อย/ 
          จากตัวอย่างคำศัพท์ที่เปรียบเทียบให้ดูข้างต้นนี้  จะสังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงนาสิก ซึ่งพยัญชนะต้นกลุ่มเสียงนาสิกในภาษาตระกูลไทถือเป็นกลุ่มเสียงที่น่าสนใจมาก เนื่องจากมีการแปรของเสียงที่ซับซ้อน นักภาษาศาสตร์นิยมใช้เสียงเหล่านี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การจัดกลุ่มภาษาอีกด้วย  หากเปรียบเทียบกับภาษาในแขนงต้ง(กัม)-สุ่ย จะพบว่าภาษาสุ่ยเป็นภาษาที่มีเสียงพยัญชนะนาสิกครบที่สุด ส่วนภาษาสุ่ยและภาษาเหมาหนานเป็นภาษาที่ยังคงรักษาเสียงพยัญชนะต้นนาสิกที่มี /ˀ-/ นำหน้าไว้ได้ ในขณะที่ภาษาอื่นไม่มี[2] หรือไม่ก็สูญหายหมดแล้ว ดังนี้
ภาษา
m
n
ȵ
ŋ
การเปรียบต่าง
สุ่ย
m̥
m
ˀm
n̥
n
ˀn
ȵ8
ȵ
ˀȵ
ŋ 8
N
ˀŋ
3
เหมาหนาน

m
ˀm

n
ˀn

 ȵ
ˀȵ

N
ˀŋ
2
มูลัม
m̥
m

n̥
n

ȵ8
ȵ

ŋ 8
N

2
ต้ง

m


n


ȵ


N

ไม่มี
ผู่เปียว
m̥
m

n̥
n

ȵ8
ȵ

ŋ 8
N

2

          เมื่อนำคำภาษาผู่เปียวเทียบกับคำศัพท์ภาษาสุ่ยและภาษาเหมาหนาน  ก็จะสามารถสรุปให้เห็นพัฒนาการของการแปรจากคำสองพยางค์เป็นคำพยางค์เดียวตามข้อสันนิษฐานข้างต้น ได้ดังตัวอย่างคำต่อไปนี้   
ผู่เปียว
สุ่ย
เหมาหนาน
ไทย
qa - m, n(t), N
ˀm, ˀn, ˀN
ˀm, ˀn, ˀN
m, n, N
m, n (d), N
qa0 mat33   
m̥at7
ni4mat7
มัด
qa33 taN33   
ˀnaN7   
ˀnaN1
ดั้ง (จมูก)
tə0 ne33
ˀna1
na1
นา
qa0 Nauʔ33
ˀnun1
nu:n1
นอน
tə0 Nuə33
ˀNa1
ˀȵa1
งา
         
เมื่อหลักฐานเป็นดังข้อมูลที่กล่าวมานี้ ก็เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของภาษาผู่เปียวว่าเป็นภาษาโบราณที่สามารถสืบสร้างและเทียบหาเสียงและคำที่เก่าแก่ขึ้นไปกว่าภาษาไทย(แขนงจ้วง-ไต) ภาษาสุ่ย ภาษาเหมาหนาน(แขนงต้ง-สุ่ย) ได้


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.la.ubu.ac.th/2010/project/tathai2_2.pdf


[1] ข้อมูลภาษาลักกะศึกษาจาก การวิจัยภาษาลักกะ (Lán Qìngyuán: 2011, 6-16)
[2]เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อธิบายรายละเอียดไว้แล้วในเล่ม 1 ในบทพรรณนาภาษาสุ่ย