วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

12. 独龙族ชนกลุ่มน้อยเผ่าตรุง


































ชาวเผ่าตรุง ภาษาจีนออกเสียงว่า ตู๋หลง อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำตรุง (独龙河 Dúlónɡ hé) ซึ่งเป็นเขตติดต่อกันของเขตปกครองตนเองนู่เจียง (怒江Nùjiānɡ) เผ่าลี่ซู (傈僳族 Lìsù Zú) และอำเภอปกครองตนเองก้งซาน (贡山Gònɡshān) เผ่าตรุงเผ่านู่(怒族Nù Zú) ของมณฑลยูนนาน(云南省Yúnnán shěnɡ) และยังมีส่วนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำนู่ (怒江Nùjiānɡ) บริเวณตอนเหนือของตำบลก้งซาน จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าตรุงมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 7,426 คน พูดภาษาตรุง เป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต(汉藏语系Hàn Zànɡ yǔxì) สาขาทิเบต-พม่า(藏缅语族Zànɡ Miǎn yǔ Zú) ภาษาของชนเผ่าตรุงทั้งสองบริเวณไม่แตกต่างกัน ไม่มีภาษาอักษร


เอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงชาวตรุงคือ บันทึกการรวมราชวงศ์หยวน《大元一统志》Dàyuán yì tǒnɡzhì กล่าวถึงชาวตรุงในชื่อ “เชี่ยว” (撬Qiào) ต่อมาในสมัยหมิงและชิงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ฉิว” (俅Qiú ) หรือ “ฉวี่” (曲Qǔ) บันทึกทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าชาวตรุงในสมัยถังและซ่งอยู่ใต้การปกครองของน่านเจ้า(南诏Nánzhào) และต้าหลี่(大理Dàlǐ) ถึงสมัยหยวน หมิง และชิงอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองลี่เจียง กลางสมัยราชวงศ์ชิงแบ่งเป็นสองส่วนอยู่ภายใต้การปกครองของชนเผ่าน่าซีแห่งเมืองลี่เจียง (丽江纳西族Lìjiānɡ Nàxī Zú) และเมืองเย่จือ(叶枝Yèzhī) ต่อมาถูกจัดรวมกันอีกครั้งให้อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองเย่จือทั้งหมดในเวลาต่อมา ปี 1909 มีการแต่งตั้งผู้ควบคุมดูแลบริเวณแม่น้ำตรุง ปี 1918 ก่อตั้งเขตปกครองขึ้นในบริเวณที่เป็นอำเภอก้งซานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ของชาวตรุงนั่นเอง


ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวตรุงนับได้ตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนหน้านั้นชาวตรุงแม้จะไม่มีความรู้ในการผลิตเหล็กสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ แต่ด้วยความที่อยู่ใกล้ชิดกับชาวทิเบต ชาวฮั่น ชาวน่าซี ชาวป๋าย จึงได้รับอิทธิพลการผลิตเครื่องมือเหล็ก เช่น ขวาน มีด มาผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของตน โดยเฉพาะใช้ในการเกษตร จอบเสียมที่เดิมทำมาจากไม้ พัฒนามาเป็นจอบเสียมไม้หุ้มเหล็ก ระบบการเกษตรจึงเปลี่ยนจากเครื่องมือไม้มาเป็นเครื่องมือเหล็ก แต่อย่างไรก็ตามชาวตรุงยังคงคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือไม้อยู่ ผลผลิตทางการเกษตรก็ยังคงมีปริมาณไม่มาก ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค จึงต้องหาอาหารโดยการเก็บของป่าและล่าสัตว์น้ำ อุปกรณ์จับสัตว์น้ำก็ถักและสานขึ้นง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ เถาวัลย์ แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือเหล็กทำให้ผลผลิตเพิ่มปริมาณมากขึ้น และมีเหลือพอที่จะนำไปแลกผลผลิตอื่นกับชาวตรุงด้วยกัน การแลกเปลี่ยนนี้เองเริ่มพัฒนาไปเป็นการนับราคาสินค้าด้วยวิธีใช้เชือกผูกไม้ การผูก 1 ครั้งเท่ากับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนของหนึ่งอย่าง เกิดเป็นการตั้งราคาสินค้าในหมู่ชาวตรุงขึ้น


ระบบสังคมของชาวตรุงสืบสายตระกูลโดยญาติสายตรงเพศชาย การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินมีสามลักษณะคือ หนึ่ง “ที่ดินประจำตระกูล” คือที่ที่ร่วมมือกันหักร้างถางพงจับจองและสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ สอง “ที่ดินร่วมใช้” คือที่ดินที่ชาวบ้านสองสามครอบครัวช่วยกันบุกเบิกจับจองและถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน สาม “ ที่ดินส่วนตัว” คือที่ดินที่เป็นสมบัติส่วนตัวของครอบครัวหนึ่งๆ ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารที่เกิดตามธรรมชาติในที่ดินทั้งสามประเภทนี้ก็ใช้วิธีการแบ่งกรรมสิทธิ์ตามเจ้าของที่ดิน สมาชิกที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีสิทธิ์ในอาหารธรรมชาติเหล่านั้นด้วย หากเป็นที่ที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ร่วมกันหลายคนต้องแบ่งอาหารธรรมชาติในที่ดินเหล่านั้นอย่างเท่าเทียมกัน หลังฤดูเก็บเกี่ยวเป็นฤดูล่าสัตว์ ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันผู้ถือกรรมสิทธิ์มีสิทธิ์ล่าสัตว์ในที่ดินนั้นได้ ทุกคนถือกฎอย่างเคร่งครัดที่จะไม่ล่าสัตว์ในที่ดินของผู้อื่น


ถึงปี 1949 เป็นยุคการปลดปล่อย(解放jiěfànɡ) มีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นสมบัติส่วนตัวขึ้นในหมู่ชาวตรุง มีการเลี้ยงหมู ไก่ เป็นสมบัติของตัวเองและแลกเปลี่ยนเพื่อการค้าระหว่างกัน สื่อกลางที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนสินค้าคือ “วัว” ในที่ดินที่ถือครองกรรมสิทธิ์ ชาวตรุงจะปลูกพืชจำพวกข้าวโพดและมันเพื่อการบริโภคในครัวเรือน การเพาะปลูกมีจำนวนมากขึ้นจึงนำออกมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีวัวเป็นของตัวเอง ต้องเช่าวัวจากผู้ที่ร่ำรวยกว่าโดยใช้ลูกสาวเป็นหลักประกัน จากระบบเศรษฐกิจที่พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ชาวตรุงมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าชนกลุ่มอื่นในละแวกเดียวกัน ชนกลุ่มที่มีความเจริญน้อยกว่ายอมเป็นทาสรับใช้ชาวตรุง ทาสที่มาจากชนเผ่าอื่นนี้ก็ถือเป็นสมบัติที่ใช้แลกเปลี่ยนหรือใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืม หรือเช่าที่นาได้อีกอย่างหนึ่ง ต่อมาที่ดินส่วนใหญ่กลายเป็นสมบัติส่วนตัวจนหมด ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินใช้จอบ เสียม ไก่ หมู เป็นค่าเช่าหรือค่าประกันในการเช่าที่ดินทำกิน บางรายที่เคยเป็นเจ้าของที่ดินใช้ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์อยู่ไปแลกกับสิ่งที่ต้องการเช่น อาหาร สัตว์เลี้ยง เครื่องมือการเกษตร จึงเกิดการค้าขายที่ดินเกิดขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สมบัติในการเช่าที่ก็ใช้วิธีขายแรงงานแลกกับผลผลิตที่ได้ จึ งเกิดการจ้างแรงงานขึ้นในหมู่ชาวตรุง


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวตรุงมีชีวิตและสังคมแบบใหม่ โดยในปี 1956 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองเผ่าตรุงเผ่านู่ที่อำเภอก้งซาน (贡山独龙族怒族自治县Gònɡshān Dúlónɡ Zú Nù Zú zìzhìxiàn) รัฐบาลสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการทำการเกษตร สาธารณูปโภค ระบบน้ำ ไฟฟ้า ผลผลิตการเกษตรสูงขึ้นเป็นลำดับ การผลิตยา ผลิตภัณฑ์หนังจากธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวตรุงเริ่มเลี้ยงวัว แกะ หมูเป็นสัตว์เศรษฐกิจ รัฐบาลก่อตั้งแหล่งกำเนิดไฟฟ้าและน้ำขึ้น มีการก่อสร้างระบบคมนาคม สะพาน นอกจากนี้ระบบการสาธารณสุข และการศึกษาก็ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวาง

ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวตรุง ชาวตรุงเป็นชนเผ่าที่รักการร้องเล่นเต้นรำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆเช่น ระหว่างทำนา เก็บเกี่ยว ล่าสัตว์ สร้างตึก จีบสาว การเฉลิมฉลองเป้นต้น ล้วนใช้เพลงเป็นสื่อขับกล่อมบรรยายความรู้สึกทุกข์ สุข รัก หรือเศร้าของตน เพลงที่ร้องในการทำงานพัฒนามาเป็นวัฒนธรรมการเต้นรำ ขับร้องและดนตรีในเวลาต่อมา เครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบการขับร้องและเต้นรำได้แก่ พิณ ฆ้องโหม่ง ขลุ่ย กลองหนังและพิณ ในงานฉลองรื่นเริง ผู้หญิชาวตรุงจะเป็นผู้บรรเลงพิณประกอบกับการขับร้อง ส่วนชายชาวตรุงดื่มเหล้าฉลองสนุกสนานครื้นเครง การเต้นรำบ้างเรียงเป็นแถวชายหญิงหันหน้าเข้าหากัน ทั้งร้องทั้งเต้น บ้างจับมือกันเป็นวงกลมร้องเพลงเต้นรำ เสียงเพลงสะท้อนความสนุกสนานอันบริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันก็แฝงด้วยความองอาจกล้าหาญของชาวเผ่าตรุง


การแต่งกายของชาวตรุง ชายหญิงชาวตรุงสวมเสื้อผ้าฝ้ายคลุมไหล่ข้างเดียว พาดเฉียงไปทางขวา ใช้เชือกร้อยมีดเป็นปมที่ใต้รักแร้ขวา ชายสวมกางเกงขากว้างสั้น แขวนมีดหรือลูกศรธนูไว้ที่เอว ชายหญิงชาวตรุงชอบไว้ผมยาว ทรงผมที่นิยมคือด้านหน้ายาวลงมาถึงคิ้ว ด้านหลังยาวถึงบ่า ด้านข้างยาวปิดหูทั้งสองข้าง ผู้หญิงชอบสวมตุ้มหูและสร้อยคอ และคาดเอวด้วยเถาวัลย์ย้อมหลากสีสัน หากออกจากบ้านจะแขวนกระบอกไม้ไผ่ไว้ที่เอว สวมผ้าถุงสีสันสดใส พันขาด้วยผ้าฝ้าย นอกจากนี้สตรีชาวตรุงยังนิยมวาดหน้าด้วยสีจากธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหนึ่งของชาวตรุง


ด้านอาหารการกิน อาหารหลักของชาวตรุงคือข้าวเจ้าและข้าวสาลี ในอดีตเนื่องจากการเพาะปลูกไม่เพียงพอ อาหารจำพวกสัตว์ป่าที่ล่ามาได้ก็เป็นอาหารหลักที่สำคัญของชาวตรุงอีกอย่างหนึ่ง โดยเนื้อที่ได้มาส่วนใหญ่ทำให้สุกโดยวิธีการย่าง ชาวตรุงชอบดื่มเหล้าที่หมักเองและชอบสูบฝิ่น บ้านเรือนของชาวตรุงสร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ ในบ้านแบ่งเป็นสามห้อง คือส่วนที่เป็นห้องพักอาศัยหนึ่งห้อง และครัวสองห้องอยู่ตรงกันข้ามกัน ครัวหนึ่งเป็นของหัวหน้าครอบครัว อีกครัวหนึ่งเป็นของลูกที่แต่งงานแล้ว ลูกที่แต่งงานแล้วไม่แยกครอบครัว แต่จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยกินอยู่รอบๆ ครัวอีกฟากหนึ่งนั่นเอง หากมีลูกมาก บ้านไม่เพียงพอ ก็จะต่อเติมบ้านเพิ่มขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน หรือสร้างต่อกันกับบ้านของพ่อแม่


ธรรมเนียมการแต่งงานของชาวตรุงยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว แต่ในอดีตมีการแต่งงานเป็นหมู่ ผู้ชายมีภรรยาหลายคน โดยแต่งกับพี่สาวและน้องสาว หนุ่มสาวชาวตรุงมีอิสระในการพบคู่รัก แต่การแต่งงานพ่อแม่จะเป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด บางครั้งมีการหมั้นหมายกันไว้ตั้งแต่เด็ก เมื่อแต่งงานไปแล้ว ทุกครั้งที่ภรรยาคลอดลูก 1 คน ลูกเขยจะต้องมอบวัวหรือสิ่งของมีค่าให้กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง หากภรรยาเสียชีวิตตั้งแต่ยังอายุน้อย พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะต้องคืนสินสอดส่วนหนึ่งให้ฝ่ายชายเพื่อเป็นค่าช่วยเหลือในการแต่งงานใหม่


พิธีศพของชาวตรุงทำพิธีศพโดยการฝัง หากเสียชีวิตด้วยโรคร้ายจะทำพิธีศพโดยการเผา


ในด้านความเชื่อ ชาวตรุงเชื่อว่าสรรพสิ่งมีวิญญาณ จึงนับถือผีต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก เชื่อว่าลม ฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภูเขา แม่น้ำ ก้อนหินใหญ่ ต้นไม้รูปร่างแปลกประหลาดล้วนมีผีสิงสถิตย์อยู่ ซึ่งชาวตรุงเชื่อว่าผีเหล่านี้จะทำร้ายคน ดังนั้นจึงต้องอธิษฐานขอพร และเซ่นสังเวยผีต่างๆเหล่านี้ การบูชาผีจะมีหมอผีประจำเผ่าเป็นผู้ประกอบพิธี ด้วยความเชื่อว่าหมอผีเป็นผู้ติดต่อกับผีได้ ดังนั้นชาว

ตรุงจึงให้ความเคารพนับถือหมอผีประจำเผ่ามาก


เทศกาลสำคัญของชาวตรุงมีเพียงเทศกาลเดียวคือการขึ้นปีใหม่ แต่การขึ้นปีใหม่ของชาวตรุงไม่มีกำหนดแน่นอน ต้องดูว่าปริมาณผลผลิตที่ได้มากน้อยเพียงใด จึงจะสามารถกำหนดวันขึ้นปีใหม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น