วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

52. 彝族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าอี๋






























คัดลอกภาพจาก http://m1.aboluowang.com/life/data/uploadfile/200809/20080924235053317.jpg
http://a2.att.hudong.com/42/74/01300000093815121419747715102.jpg
http://www.huadongyou.com/upload/9412//Img248880355.jpg
http://img3.pchouse.com.cn/pchouse/1011/01/42470_4.jpg


เผ่าอี๋นับเป็นชนเผ่าที่มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนานที่สุดเผ่าหนึ่งของจีน มีชื่อเรียกตัวเองต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ เช่น นั่วซู (诺苏Nuòsū) น่าซู (纳苏Nàsū) หลัวอู่ (罗武Luówǔ) หมี่ซาโพ (米撒泼Mǐsāpō) ซาหนี (撒尼Sāní) อาซี (阿西Āxī) เป็นต้น มีถิ่นฐานอยู่ที่มณฑลยูนนาน เสฉวน กุ้ยโจว กว่างซี ชาวอี๋อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง และแต่ละที่ก็มีอยู่ไม่มาก บริเวณที่มีชาวอี๋อาศัยอยู่มากได้แก่ มณฑลเสฉวนมีชาวอี๋อยู่ที่กลุ่มปกครองตนเองชาวอี๋เขาเหลียงซาน(凉山Liánɡshān) ที่มณฑลยูนนานมีชาวอี๋อยู่ที่กลุ่มปกครองตนเองชาวอี๋เมืองสยงอี๋ (雄彝Xiónɡyí) และกลุ่มปกครองตนเองเผ่าฮานีเมืองหงเหอ (红河Hónɡhé) ที่มณฑลกุ้ยโจวมีชาวอี๋อยู่ที่เมืองปี้เจี๋ย (毕节Bìjié) และลิ่วผานสุ่ย (六盘水Liùpánshuǐ) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าอี๋มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 7,762,286 คน

ชาวอี๋มีภาษาเป็นของตนเองชื่อว่า ภาษาอี๋ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ มี 6 สำเนียงภาษา เดิมมีภาษาเขียนที่เป็นอักษรภาพ เรียกชื่อว่า อักษรหนาง (囊文 Nánɡwén) ในปี 1975 มณฑลเสฉวนได้พัฒนาอักษรภาษาอี๋ให้กับชาวอี๋ที่กลุ่มปกครองตนเองชาวอี๋เมืองเหลียงซาน

ที่อนุสาวรีย์บรรพชนชาวอี๋ ในอำเภอปกครองตนเองชาวอี๋อำเภอเอ๋อซาน มณฑลยูนนาน (云南省峨山彝族自治县Yúnnán shěnɡ Éshān Yí Zú zìzhìxiàn) มีอักษรสลักบนอนุสาวรีย์บรรยายเกี่ยวกับตำนานของบรรพบุรุษชาวอี๋ที่ชื่อ อาผู่ ตู่มู่ (阿普笃慕 Āpǔ dǔmù) และลูกชายทั้งหกที่เป็นผู้นำพาชาวอี๋เดินทางอพยพและตั้งถิ่นฐานในดินแดนของมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน ตลอดจนเป็นผู้กำหนดชีวิตของชาวอี๋ในปัจจุบัน http://photo.chinaxinge.com/show.asp?id=31344


“ชาวอี๋” คือชนเผ่าเชียงโบราณ(古羌人Gǔqiānɡrén) ที่อพยพลงใต้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านการผสมผสานกลมกลืนทั้งทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์กับชนพื้นถิ่น และสืบทอดอารยธรรมต่อกันมาจนเกิดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ขึ้น เมื่อหกพันปีก่อน ชนเผ่าเชียงโบราณที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณเมืองเหอหวง(河湟Héhuánɡ) เริ่มขยายถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง ในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งที่ขยายการตั้งถิ่นฐานไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน จนกระทั่งเมื่อ 3,000 ปีก่อน ชนกลุ่มนี้ก่อตั้งตนเองเป็นกลุ่มชนและเรียกชื่อตามถิ่นที่อยู่อาศัย ได้แก่ กลุ่ม “ลิ่วอี๋” (六夷Liùyí) “ชีเชียง” (七羌Qīqiānɡ) “จิ่วตี” (九氐Jiǔdī) ซึ่งก็คือกลุ่มชนที่บันทึกทางประวัติศาสตร์จีนเรียกชื่อตามถิ่นที่อยู่อาศัยว่ากลุ่ม “เยว่ซงอี๋” (越嵩夷Yuèsōnɡyí) “ชิงเชียง” (青羌Qīnɡqiānɡ) “อู๋” (侮Wǔ) “คุนหมิง” (昆明Kūnmínɡ) “เหลาจิ้น” (劳浸Láojìn) “หมีโม่” (靡莫Mímò) นั่นเอง ในยุคที่กลุ่มชนเชียงโบราณอพยพร่อนเร่มาถึงบริเวณตะวันตกเฉียงใต้นั้น ได้มีชนเผ่าโบราณกลุ่มต่างๆหลายต่อหลายกลุ่มอพยพมา และตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ในประวัติศาสตร์จีนเรียกกลุ่มชนโบราณนี้ว่า “ป่ายเยว่” 百越族Bǎi yuè Zú, หมายถึง ชนร้อยเผ่า) เมื่อชนเชียงโบราณอพยพมาถึงบริเวณตะวันตกเฉียงใต้แล้ว ก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนรวมกันกับชนร้อยเผ่า ระยะเวลาที่อยู่อาศัยร่วมกันเป็นเวลายาวนานนี้เอง ชนเผ่าเชียงโบราณได้มีปฏิสัมพันธ์ ซึมซับ ผสมผสานและกลมกลืนวัฒนธรรมของตนกับกลุ่มชนร้อยเผ่า จนถึงสมัยเว่ยจิ้นเป็นต้นมา (魏晋WèiJìn) ชนกลุ่มคุนหมิงหลอมรวมกับชนกลุ่มเฝินเกิดเป็นชนกลุ่มเหลียว (僚人Liáorén) นับจากสมัยฮั่นจนถึงสมัยหกราชวงศ์ (汉至六朝Hàn zhì Liùcháo) อารยธรรมชาวฮั่นเข้มแข็งขึ้น เรียกชนที่อาศัยอยู่บริเวณตะวันออกของยูนนาน ตะวันตกของกุ้ยโจว และตอนใต้ของเสฉวนว่า “ชาวโส่ว” (叟人Sǒurén) บางครั้งก็เหมารวมเอาชาวผู (濮Pú) เข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกันนี้ด้วย


ตั้งแต่สมัยสุยและถังเป็นต้นมา บรรพบุรุษของชาวอี๋แบ่งออกเป็นสองกลุ่มเรียกชื่อว่า “อูหมาน” (乌蛮Wū Mán หมายถึง “หมานดำ”) และ “ป๋ายหมาน” (白蛮Bái Mán หมายถึง “หมานขาว”) กลุ่มอูหมาน คือกลุ่มที่พัฒนามาจากชนเผ่าบริเวณคุนหมิง ส่วนชนส่วนใหญ่ของกลุ่มป๋ายหมานคือกลุ่มชนชาวโส่วและชาวผูเป็นหลัก นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยผสมกลมกลืนเข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกันอีกด้วย ช่วงการพัฒนาและก่อตัวขึ้นของชาวอี๋นี้ มีวิถีชีวิตครอบคลุมอาณาบริเวณ 3 มณฑลได้แก่ ยูนนาน เสฉวน กุ้ยโจว และส่วนหนึ่งของมณฑลกว่างซี โดยมีศูนย์กลางของชนเผ่าอยู่ที่บริเวณที่เป็นเขตรอยต่อของทั้งสามมณฑลนั่นเอง
ประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวอี๋คือ การรักษาระบอบการปกครองแบบทาสเป็นเวลาอันยาวนาน สองร้อยปีก่อนคริตศักราช คือก่อนยุคซีฮั่น (西汉Xī Hàn) ขึ้นไป บรรพบุรุษของชาวอี๋มีบางกลุ่มดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน บางกลุ่มเริ่มมีการตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งแล้ว นับแต่สมัยตงฮั่น (东汉Dōnɡhàn) จนถึงเว่ยจิ้น(魏晋Wèi Jìn) บรรพบุรุษของชาวอี๋เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นกลุ่มชนต่างๆและตั้งตนเป็นหัวหน้ากลุ่มชน ดังปรากฏมีชื่อเรียกหัวหน้ากลุ่ม เช่น นายพลโส่ว (叟帅Sǒushuài) พระเจ้าอี๋ (夷王Yíwánɡ) เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบรรพบุรุษชาวอี๋ที่สามารถตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ และสามารถควบคุมชนกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวผู (濮人Púrén) ชาวคุนหมิง ในฐานะทาสได้ นับเป็นการเริ่มต้นและพัฒนาการสังคมจากเดิมที่เป็นสังคมบุพกาลเข้าสู่ระบบทาสขึ้นในประวัติศาสตร์ชาวอี๋


ศตวรรษที่ 8 ปีที่ 30 อาณาจักรเหมิงเส่อ (蒙舍诏Ménɡshě zhào) รวบรวมหกอาณาจักร (六诏Liùzhào)เป็นผลสำเร็จ บรรพบุรุษชาวอี๋และบรรพบุรุษชาวป๋าย (白族Bái Zú) ร่วมมือกันกับชนกลุ่มใหญ่น้อยต่างๆ ก่อตั้งอาณาจักรที่มีระบบการปกครองแบบชนชั้นศักดินากับทาสขึ้น เรียกว่าอาณาจักรน่านเจ้า (南诏Nánzhào) มีศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ที่เขตปกครองตนเองเมืองต้าหลี่ของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน โดยมีอาณาเขตครอบคลุมดินแดนในปัจจุบันคือ ตะวันออกของมณฑลยูนนาน ตะวันตกของมณฑลกุ้ยโจว ตอนใต้ของมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอี๋นั่นเอง


อาณาจักรน่านเจ้าปกครองบรรพบุรุษชาวอี๋มาเป็นเวลานานด้วยระบบสังคมแบบทาส การปกครองเช่นนี้ ทำให้ชีวิตและสังคมของชาวอี๋ได้รับความยากลำบากมาก จนถึงปี ค.ศ.902 ตรงกับปีที่สองแห่งรัชสมัยของพระเจ้าถังเทียนฟู่ (唐天复Tánɡ Tiānfù) อาณาจักรน่านเจ้าล่มสลาย แต่ระบบทาสในสังคมชาวอี๋ยังคงมีอยู่ ตลอดระยะเวลา 300 ปีแห่งราชวงศ์ซ่ง อาณาเขตเมืองหรง (戎Rónɡ ปัจจุบันคืออำเภออี๋ปิน宜宾Yíbīn) เมืองหลู (泸Lú ปัจจุบันคืออำเภอหลู泸县Lúxiàn) และหลี (黎Lí ปัจจุบันคือเมืองฮั่นหยวน汉原Hànyuán) ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวอี๋ ตกเป็นดินแดนที่ถูกแย่งชิงระหว่างราชสำนักซ่งกับเมืองต้าหลี่ ระบบทาสยังคงดำรงอยู่และเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของบริเวณดังกล่าว


ในปี ค.ศ. 1253 ตรงกับปีที่สามแห่งรัชสมัยพระเจ้าเมิ๋งเกอข่าน (蒙哥汗Ménɡɡēhàn) แห่งราชวงศ์มองโกล มองโกลได้ส่งกองกำลังทหารเข้ามาทางเสฉวนบุกโจมตียูนนาน กองทัพมองโกลได้เดินทัพผ่านอาณาเขตของชาวอี๋ เป็นเหตุให้ชาวอี๋ที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณรวมตัวกันลุกขึ้นต่อต้านมองโกล ในยุคเริ่มแรกรวบรวมกันภายใต้ชื่อกลุ่มว่า “ชาวหลัวหลัว” (罗罗族Luóluó Zú) ชาวมองโกลเพิ่มกำลังและแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และพัฒนามาเป็นหัวหน้าชุมชนต่างๆ ในบริเวณซินเจียง นับตั้งแต่ปี 1263 ถึง ปี 1287 มีการก่อตั้งเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้นที่เมืองต่างๆ ได้แก่ เยว่ซี (越西Yuèxī) ซีชาง (西昌Xīchānɡ) ต้าฟาง (大方Dàfānɡ) ผิงซาน (屏山Pínɡshān) เจาทง(昭通Zhāotōnɡ) และเวยหนิง (威宁Wēinínɡ)

ในสมัยหมิง ช่วงปี ค.ศ. 276 ชาวอี๋ที่เมืองต่างๆ ของทั้งสามมณฑลคือ ยูนนาน กุ้ยโจวและเสฉวนที่เป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อน รักษาระบบการปกครองแบบทาสไว้ สนับสนุนการปกครองซึ่งกันและกัน สบันสนุนการผลิตซึ่งกันและกัน สังคมชาวอี๋สามารถแบ่งเป็น 3 ชนชั้น ได้แก่
1. ชนชั้นเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดิน
2. ชนชั้นกระดูกดำ
3. ชนชั้นกระดูกขาวและชนชั้นทาส

การปกครองระบบทาสในสังคมชาวอี๋เป็นมาจนถึงสมัยหมิง บริเวณสำคัญที่ดำเนินการปกครองแบบทาส เช่น ชุมชนชาวอี๋ที่เมืองสุ่ยซี (水西Shuǐxī) เจี้ยนชาง (建昌Jiànchānɡ) อูเหมิง (乌蒙Wūménɡ) เป็นต้น

สมัยจักรพรรดิคังซีและยงเจิ้ง (康熙、雍正Kānɡxī、Yōnɡzhènɡ) ได้มีการดำเนินนโยบายรวมกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนสู่ราชสำนัก อันเป็นการโจมตีเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างหนัก จากนโยบายดังกล่าว ทำให้ระบบสังคมของชาวอี๋ได้ปรับเปลี่ยนจากระบบทาสมาสู่สังคมศักดินาอย่างรวดเร็ว


ด้านระบบเศรษฐกิจและสังคม ในอดีต ชุมชนชาวอี๋มีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณมณฑลยูนนาน กุ้ยโจวและกว่างซี มีระบบเศรษฐกิจแบบเจ้าศักดินาถือครองที่ดิน เจ้าศักดินามีอำนาจปกครองชนชั้นชาวนา เจ้าของที่ดินกดขี่ข่มเหงเก็บค่าเช่าที่นาในราคาสูง แต่การใช้และจ้างแรงงานในชุมชนชาวอี๋ถูกกดขี่ค่าแรงมาก ยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบบสังคมของชนเผ่าอี๋ยังเป็นแบบสังคมศักดินาเป็นหลัก ในบางพื้นที่ยังคงมีระบบทาส และมีเจ้าทาสอยู่


เศรษฐกิจหลักของชาวอี๋คือการทำการเกษตร พืชเศรษฐกิจที่ปลูกเป็นหลักได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง ข้าวเจ้า ข้าวโอ๊ต เป็นต้น เครื่องมือการเกษตรยังไม่ทันสมัยนัก ยังคงใช้ไถ จอบ เสียมทำนาด้วยแรงงานคนและสัตว์ ในพื้นที่ราบสูงบนหุบเขาห่างไกล มีประชากรไม่มากนัก พืชพันธุ์ทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ ชาวอี๋ในพื้นที่ดังกล่าวประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ทุ่งหญ้าเป็นหลัก สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ วัว ม้า หมู แกะ เป็นต้น ส่วนชาวอี๋ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาประกอบอาชีพเก็บของป่า ยาสมุนไพร ล่าสัตว์ และทำป่าไม้ ชาวอี๋ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก ส่วนงานหัตถกรรมทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ภายในครัวเรือนเท่านั้น มีบางพื้นที่ที่มีการกำหนดเวลานำสินค้าออกมาแลกเปลี่ยนกันและกัน


กำลังการผลิตของสังคมชาวอี๋ตกอยู่ในภาวะล้าหลังอยู่เป็นเวลานาน ผลผลิตที่ได้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในครอบครัวเท่านั้น ส่วนสินค้าอื่นๆ ไม่มีการพัฒนาเท่าใดนัก โดยเฉพาะการค้าขายแบบแลกเปลี่ยนสินค้ากัน เป็นเพียงการนำผลผลิตที่ได้มาแลกข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นเช่น เข็ม ด้าย เกลือเท่านั้น สิ่งที่ชาวอี๋ถือเป็นของมีค่าที่สุดคือวัวและแกะ ชาวอี๋ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องวัดความสามารถ ความแข็งแกร่ง ความอ่อนแอ ศักดิ์ศรีและความมีหน้ามีตาในชุมชน การได้เป็นเจ้าของครอบครองฝูงวัวแกะนับร้อย คือความปรารถนาอันสูงสุดของชาวอี๋


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน 50 ปีแห่งก่อร่างสร้างตัว ชุมชนชาวอี๋พัฒนาไปมาก ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่น้อยเกิดขึ้นในชุมชนชาวอี๋มากมาย เช่น โรงงานเหล็กกล้า ถลุงเหล็ก ถลุงแร่ เหมืองแร่ โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงเลื่อยไม้ ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรกล อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น เพื่อขนส่งสินค้าสู่ภายนอก รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างทางหลวง ทางรถไฟหลายต่อหลายสายสู่ชุมชนชาวอี๋ นำความเจริญมาสู่ชุมชนชาวอี๋อย่างไม่หยุดยั้ง


ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ชนเผ่าอี๋มีอารยธรรมยาวนาน สร้างสรรค์และสืบสานงานด้านวรรณกรรม ศิลปกรรมที่งดงาม ชุมชนชาวอี๋ในท้องที่ต่างๆ มีเอกสารโบราณที่จดบันทึกด้วยลายมือเป็นภาษาอี๋มากมายนับร้อยนับพัน ปัจจุบันมีการแปลเป็นฉบับภาษาจีน ตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นคลังความรู้และหลักฐานด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศาสนาอีกนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึก โลหะจารึกภาษาอี๋ และวรรณกรรมมุขปาฐะอันทรงคุณค่ายิ่งนัก โดยเฉพาะการแพทย์แผนโบราณเผ่าอี๋ที่มีการบันทึกตำรายา ตำราการรักษา นับเป็นแบบฉบับการรักษาแผนโบราณของวงการแพทย์แผนจีนเลยทีเดียว นอกจากนี้นักวิชาการด้านวัฒนธรรมจีนในปัจจุบันเชื่อกันว่าชาวอี๋เป็นผู้บุกเบิกการใช้ปฏิทินสุริยคติเป็นกลุ่มแรก


ชาวอี๋เชี่ยวชาญการระบำรำร้อง บทเพลงของชาวอี๋มีท่วงทำนองหลากหลาย เช่น เพลงปีนเขา เพลงเยี่ยมบ้าน เพลงรับแขก เพลงเสพสุรา เพลงขอสาว เพลงร่ำโศก เป็นต้น บางทำนองเพลงมีเนื้อเพลงที่จำเพาะเจาะจง บางทำนองเพลงเป็นทำนองที่ใช้สำหรับร้องด้นเนื้อเพลงสดๆ เพลงภูเขาเป็นอีกทำนองเพลงหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอี๋ ในแต่ละชุมชนก็มีท่วงทำนองเพลงภูเขาแตกต่างกันไป เครื่องดนตรีของชาวอี๋ก็มีหลากหลายชนิด เช่น ปี่น้ำเต้า พิณเป่า พิณวงเดือน ขลุ่ย พิณสามสาย ระฆังพวง กลองเหล็ก กลองยาว ปี่รวง(เสียงคล้ายแคน ภาษาอี๋เรียกว่า ปาอู(巴乌Bāwū),ดูภาพประกอบ) เป็นต้น การเต้นรำของชาวอี๋ก็โดดเด่นเป็นหนึ่ง แบ่งเป็นการระบำแบบเดี่ยวและการระบำแบบหมู่ แต่ในเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ชาวอี๋นิยมรวมตัวกันร้องเล่นเต้นรำ เริงระบำแบบหมู่อย่างสนุกสนาน ระบำที่นิยมเช่น ระบำเพลง ระบำดนตรี ระบำวงเดือน เป็นต้น ท่าทางการร่ายรำเร่งเร้า ท่วงทำนองเข้มแข็ง มีพลัง มักใช้เครื่องดนตรีจำพวกขลุ่ย พิณวงเดือน และพิณสามสายบรรเลงประกอบ เพลงที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางชื่อเพลง อี๋จู๋ อู๋ ฉวี่ 《彝族舞曲》Yí zú Wǔ qǔ “เพลงระบำเผ่าอี๋” ก็มีที่มาจากทำนองเพลงพื้นเมืองเผ่าอี๋นี่เอง


ศิลปะ หัตถกรรมของชาวอี๋มีการเขียนสี งานปัก เครื่องประดับเงิน งานแกะสลัก วาดภาพ เป็นต้น งานเขียนสีนิยมวาดลงบนถ้วยชามภาชนะเครื่องใช้ กาน้ำ กระบอกลูกธนู โล่ อานม้า เครื่องดนตรี ใช้สีดำ เหลืองและแดงเป็นหลัก ด้านงานปักถือเป็นงานฝีมือชิ้นเอกของหญิงชาวอี๋ ผ้าปักนิยมใช้เป็นผ้าโพกศีรษะ เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง ผ้าคาดเอว กระเป๋า เป็นต้น


การแต่งกายของชาวอี๋แตกต่างกันในแต่ละท้องที่ ชาวอี๋ที่เมืองเหลียงซาน เฉียนซี ชายสวมเสื้อสีดำลำตัวแคบ ผ่าอกเฉียงลงทางขวา สวมกางเกงขาพอง จีบรอบ ยาวถึงตาตุ่ม บางท้องที่ก็สวมกางเกงขาลีบ ยาว ก็มี มวยผมเป็นกระจุกตรงกลางศีรษะ โพกด้วยผ้าสีขาวและติดกิ๊บที่มุมขวา ส่วนการแต่งกายของหญิงชาวอี๋ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชนเผ่า ศีรษะพันด้วยผ้าเป็นทรงกลมสูง พันรอบเอวด้วยผ้าทอมือและปักลวดลายงดงาม สวมกระโปรงจีบรอบยาวกรอมส้น สีสันฉูดฉาดเป็นลายขวางสลับสีรอบลำตัว สวมเครื่องประดับเงินและทองจำพวกตุ้มหู กำไล แหวน สร้อยระย้า เป็นต้น


ด้านอาหารการกิน ชาวอี๋นิยมบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลัก รองลงมาได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า มันฝรั่ง ข้าวโอ๊ต อาหารเนื้อได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะและเนื้อไก่ ประกอบเป็นอาหารด้วยการหั่นเป็นก้อนใหญ่ ๆ แล้วต้มให้สุก ชาวฮั่นเรียกอาหารของชาวอี๋นี้ว่า “เนื้อลูกตุ้ม” (砣砣肉Tuótuóròu) ชาวอี๋ไม่กินเนื้อสุนัข เนื้อม้า รวมทั้งเนื้อสัตว์จำพวกกบและสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ รสชาติที่ชาวอี๋โปรดปรานได้แก่ อาหารรสเปรี้ยวและเผ็ด นิยมใช้เหล้าในการต้อนรับแขกถือเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้มาเยือน เมื่อมีเหตุการณ์ขัดแย้งวิวาท จะใช้เหล้าเป็นสื่อประสานสัมพันธ์ นอกจากนี้ในการคบเพื่อน แต่งงาน งานศพ งานเฉลิมฉลองรื่นเริงต่างๆ ล้วนต้องมีเหล้าเป็นสื่อกลางในการทำพิธีและเชื่อมความสัมพันธ์ต่อกันเสมอ


บ้านเรือนของชาวอี๋ปลูกสร้างคล้ายคลึงกับบ้านเรือนของชาวฮั่น ชาวอี๋ที่เหลียงซานมุงหลังคาบ้านด้วยไม้แผ่น ก่อฝาบ้านด้วยอิฐฉาบด้วยโคลน ส่วนชาวอี๋ที่กว่างซีและบริเวณตะวันออกของยูนนานสร้างบ้านด้วยไม้


ครอบครัวของชาวอี๋สืบสายตระกูลสายพ่อและก่อตั้งเป็นครอบครัวเล็กๆ ลูกคนสุดท้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ส่วนพี่ชายพี่สาวเมื่อแต่งงานแล้วจะแยกไปตั้งครอบครัวใหม่ สถานภาพของผู้หญิงในสังคมเผ่าอี๋ต่ำกว่าผู้ชายมาก การแบ่งมรดกของพ่อแม่จะแบ่งให้ลูกชายทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ไม่แบ่งให้ลูกสาว ชาวอี๋ยึดถือการตั้งชื่อของลูกชายแบบลูกโซ่ กล่าวคือ ใช้คำในชื่อของพ่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งชื่อลูก และเมื่อมีลูกก็จะนำชื่อของตนไปเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งชื่อลูกคล้องกันไปทุกๆรุ่น ธรรมเนียมเช่นนี้ ยึดถือปฏิบัติมาจนถึงยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ค่อยๆลดความเคร่งครัดลง


สำหรับประเพณีเรื่องการแต่งงาน ชาวอี๋ยึดถือการแต่งงานแบบสามีภรรยาเดียว การแต่งสะใภ้เข้าบ้านฝ่ายชายต้องจ่ายค่าสินสอดให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงจำนวนที่สูงมาก การแต่งงานแบบแลกคู่สะใภ้กันระหว่างสองบ้านเป็นที่นิยมมาก หากสามีตายฝ่ายหญิงก็ไม่ถือว่าเป็นสะใภ้บ้านนั้นแล้ว ต้องย้ายออกไป


พิธีศพของชาวอี๋ยึดธรรมเนียมการเผาศพ โดยเฉพาะชาวอี๋ที่เหลียงซาน และยูนนาน แต่ชาวอี๋ที่บริเวณอื่นๆ หลังจากสมัยหมิงและชิงประกอบพิธีศพโดยการฝัง


ด้านศาสนาและความเชื่อ ความเชื่อของชาวอี๋สะท้อนถึงสีสันของความเชื่อแบบสังคมบุพกาลอย่างเด่นชัด ซึ่งก็คือการนับถือบูชาสรรพเทพ ชาวอี๋เชื่อว่าสรรพสิ่งในโลกแม้ไม่มีชีวิต แต่มีวิญญาณสิงสถิตย์อยู่ ดังนั้นชาวอี๋จึงนับถือเทพที่มีอยู่ตามธรรมชาติทุกหนทุกแห่ง และยังบูชาวิญญาณบรรพบุรุษอีกด้วย เทพธรรมชาติที่ชาวอี๋นับถือหลักๆได้แก่ วิญญาณและผีสาง สิ่งของเครื่องใช้ของญาติผู้ใหญ่หรือญาติในบ้านที่เสียชีวิตไปแล้ว ล้วนมีวิญาณของเจ้าของสิงสถิตย์อยู่ เรียกวิญญาณเหล่านี้ว่า “จี๋เอ๋อร์” (吉尔jí’ěr) โดยเชื่อว่าสิ่งของเหล่านี้มีความขลังและสามารถปกปักรักษา อำนวยพรให้ครอบครัวคนในบ้านอยู่เย็นเป็นสุข แต่หลังจากมีการปฏิสัมพันธ์กับชนเผ่าภายนอก ศาสนาพุทธได้เริ่มเผยแผ่เข้าสู่ชุมชนชาวอี๋ ในช่วงตอนต้นสมัยราชวงศ์ชิงลัทธิเต๋าก็ได้เผยแผ่เข้าสู่ชุมชนชาวอี๋ด้วย หลังจากการรุกรานของประเทศจักรวรรดินิยม ศาสนาเยซูก็ได้เข้ามาเผยแผ่ในชุมชนชาวอี๋ด้วยเช่นกัน


เทศกาลสำคัญของชาวอี๋หลักๆ คือ เทศกาลคบเพลิงไฟ เทศกาลขึ้นปีใหม่อี๋ เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ เทศกาลระบำรำร้อง ในจำนวนนี้เทศกาลคบเพลิงไฟถือเป็นเทศกาลที่ชาวอี๋ให้ความสำคัญมากและจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มำกำหนดจัดงานเดือนหกวันที่ 15 หรือ 24 ตามปฏิทินสุริยคติ ในงานเทศกาลคบเพลิงไฟนี้ชนชาวอี๋ถ้วนหน้าจะสวมชุดประจำเผ่าชุดใหม่เต็มยศมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองและบูชาเทพต่างๆ จากนั้นร่วมกันร้องเพลง เต้นรำอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรื่นเริงอื่นๆอีก เช่น แข่งม้า มวยปล้ำ เป็นต้น ตกกลางคืนชาวอี๋ทุกครัวเรือนจุดคบเพลิงสว่างไสวไปทั่วชุมชน ถึงเวลานัดหมายแต่ละคนจะถือคบเพลิงตรงไปที่ลานกลางแจ้งร่วมกันก่อกองไฟ จากนั้นร้องระบำรำเต้นกันอย่างสนุกสนาน


มีเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นเพลงที่มีที่มาจากเพลงเผ่าอี๋ชื่อว่า “อี๋จู๋ อู๋ฉวี่” (彝族舞曲Yí Zúwúqǔ,หมายถึง “เพลงระบำเผ่าอี๋”) ประพันธ์โดยหัวหน้ากองดุริยางค์กรมการรักษาดินแดน ชื่อ หวางฮุ่ยหราน (王惠然wánɡhuìrán) เมื่อปี ค.ศ. 1956 โดยผู้ประพันธ์ได้ใช้เค้าโครงทำนองจากเพลงพื้นเมืองเดิมของชนเผ่าอี๋ ประพันธ์ขึ้นเป็นเพลงเอกสำหรับบรรเลงเดี่ยวของเครื่องดีดจีนชื่อ ผีพา จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1994 ศิลปินชาวไต้หวันชื่อ ถายเจิ้งเซียว (邰正宵Tái Zhènɡxiāo) ได้นำทำนองเพลงนี้ไปแต่งเป็นเพลงยอดนิยมชื่อ จิ๋วป่ายจิ่วสือจิ่วตั่ว เหมยกุ้ย (999朵玫瑰,999 duǒ méiɡui) “กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก” ต่อมาศิลปินชาวไทยได้นำทำนองเพลงนี้มาแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาไทย ให้ชื่อเพลงว่า “กุหลาบแดง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น