วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

55. 壮族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าจ้วง





















คัดลอกภาพจาก http://a3.att.hudong.com/35/05/01300000184180121713057894237.jpg


http://www.lztour.gov.cn/files/lyjq/qj4001.jpg


http://www.longzeng.com/newEbiz1/871longzengres/filerepository/images/c373e9153bed68808f7ad1aec416cf4e


ชาวจ้วงเป็นชนกลุ่มน้อยในจีนที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด มีถิ่นฐานอยู่ที่เขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงมณฑลกว่างซี เขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงและเผ่าเหมียวมณฑลยูนนาน และมีส่วนน้อยกระจายอยู่ในบริเวณต่างๆของมณฑลกว่างตง หูหนาน กุ้ยโจว และเสฉวน คำเรียกชื่อชาวจ้วงเป็นคำที่ชนกลุ่มนี้ใช้เรียกตนเองว่า “ปู้จ้วง” นอกจากนี้ชาวจ้วงมีคำเรียกตัวเองอีกมากมายแตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่ เช่น ปู้หนง(布侬Bùnónɡ) ปู้ถู่(布土Bùtǔ) ปู้ย่าง (布样Bùyànɡ) ปู้ปาน(布斑Bùbān) ปู้เยว่(布越Bùyuè) ปู้น่า(布那Bùnà) หนงอาน(侬安Nónɡ’ān) ปู้เพียน (布偏Bùpiān) ถูหล่าว(土佬Tǔlǎo) เกาหลาน(高栏Gāolán) ปู้ม่าน (布曼Bùmàn) ปู้ต้าย(布岱Bùdài) ปู้หมิ่น(布敏Bùmǐn) ปู้หลง(布陇Bùlǒnɡ) ปู้ตง(布东Bùdōnɡ) เป็นต้น หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รวมเรียกชื่อชนเผ่านี้ว่า “ถง” (僮族Tónɡ Zú) ในปี 1965 ตามข้อเสนอของโจวเอินหลาย (周恩来Zhōu Ēnlái) รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนชื่อเรียกชนกลุ่มนี้เป็น “จ้วง” (壮Zhuànɡ) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าจ้วง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 16,178,811 คน พูดภาษาจ้วง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาจ้วงไต ในสมัยซ่งใต้มีการใช้ภาษาเขียนที่เป็นอักษรจีนแบบเหลี่ยม แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ส่วนมากใช้สำหรับจดชื่อสถานที่ เขียนเพลงกลอน และบันทึกเรื่องราว ในปี 1955 รัฐบาลจีนพัฒนาระบบการเขียนอักษรภาษาจ้วงโดยใช้อักษรลาติน และใช้อย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบัน


ชาวจ้วงวิวัฒนาการมาจากชนร้อยเผ่าที่ชื่อ ป่ายเยว่(百越bǎiyuè) ในสมัยโบราณ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มชนชื่อ ซีหว่า (西瓯Xī’ōu) ลั่วเยว่ (骆越Luòyuè)ในสมัยโจว กลุ่มชนชื่อ เหลียว (僚Liáo) หลี่ (俚Lǐ) เหนียวหู่ (鸟浒Niǎohǔ) ในสมัยฮั่น ถัง และกลุ่มชนชื่อถง (僮Tónɡ) ถู่ (土Tǔ) ในสมัยซ่ง ก่อนที่ราชวงศ์ฉินจะเรืองอำนาจเข้าปกครองหลิ่งหนาน (岭南 Lǐnɡnán) มีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่หลิ่งหนานอยู่ก่อนแล้ว (ปัจจุบันคือมณฑลกว่างตงและกว่างซี) ชนกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มย่อยในกลุ่มชนร้อยเผ่าสองกลุ่ม คือ ซีหว่าและลั่วเยว่ กลุ่มชนสองกลุ่มดังกล่าวนี้ได้วิวัฒนาการมาเป็นชาวจ้วงในปัจจุบัน
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ในยุคชุนชิวและจ้านกว๋อ บรรพบุรุษชาวจ้วงเริ่มใช้เครื่องมือโลหะทองแดง ยกระดับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีสิทธิครอบครองทรัพย์สมบัติและทำมาหากินโดยอิสระ ทำให้มีชนบางกลุ่มร่ำรวยขึ้น ก่อให้เกิดความแตกต่างและชนชั้นทางสังคม ระบบสังคมของชาวจ้วงจึงเปลี่ยนไป จากการไม่มีระดับชั้นทางสังคม ไปสู่การมีระดับชั้นทางสังคม และพัฒนาไปสู่ระบบศักดินาและการครอบครองทาสในที่สุด

221 ปี ก่อนคริสตกาล หลังจากที่จิ๋นซีรวบรวมดินแดนหกประเทศ (六国Liùɡuó) แล้ว ก็ได้ส่งกองกำลังห้ากองเข้าประชิดหลิ่งหนานเพื่อทำศึกกับชาวซีหว่าจนได้รับชัยชนะ จากนั้นก็ได้รวบเอาหลิ่งหนานเข้ามาอยู่ในอาณาเขต แล้วก่อตั้งเป็นเมืองกุ้ยหลินและหนานห่าย ขึ้นตรงต่ออำนาจของราชสำนักส่วนกลาง นอกจากนี้ยังส่งคนงานเข้าสู่กว่างซีเพื่อก่อสร้างคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเซียง (湘江Xiānɡjiānɡ) กับแม่น้ำหลี (漓江Líjiānɡ) แม่น้ำแยงซี (长江Chánɡjiānɡ)เชื่อมกับแม่น้ำจู (珠江Zhūjiānɡ) จากนั้นอพยพประชาชนชาวฮั่นระลอกใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกับชนชาวหว่าและลั่วเยว่ ชนกลุ่มนี้ปฏิสัมพันธ์ด้วยการแต่งงานและวิวัฒนาการเป็นชาวจ้วงในปัจจุบัน

นับแต่สมัยฮั่นจนถึงต้นสมัยถัง เกิดสายตระกูลขึ้นในชุมชนชาวจ้วงหลายแซ่ เช่น ที่เมืองพานหยวี(番禺Pānyú) มีแซ่ หลวี่ (吕Lǚ) เกา (高Gāo) ที่เหอผู่(合浦Hépǔ) มีแซ่ เสี่ยน(冼Xiǎn) ที่ชินโจว(钦州Qīnzhōu) มีแซ่หนิง (宁Nínɡ) บันทึกสมัยนั้นเรียกแซ่เหล่านี้ว่าแซ่ของชนป่ายเยว่ ในสมัยถังทางการแบ่งหลิ่งหนานเป็นสองส่วนคือ ฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก ก่อตั้งเป็นห้าจังหวัด ในแต่ละจังหวัดแบ่งเป็นห้าอำเภอ ในจำนวนนี้อำเภอกุ้ย (桂Guì) ยง(邕Yōnɡ) หรง (容Rónɡ) คือบริเวณที่บรรพบุรุษชาวจ้วงตั้งถิ่นฐานอยู่ ในสมัยซ่ง หยวน หมิงและชิง ราชสำนักเข้มงวดกับการปกครองเมืองหลิ่งหนาน โดยกำหนดให้เป็นเมืองประเทศราชของจีน ชาวจ้วงถูกกดขี่รังแกเยี่ยงทาสจนเกิดการลุกขึ้นต่อต้านบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยได้รับชัยชนะเลยสักครั้ง ซ้ำร้ายยังถูกปราบปรามจากทางการอย่างหนักหน่วง ในยุคที่ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นรุกรานจีน ชาวจ้วงได้ต่อต้านผู้รุกรานเพื่อปกป้องชุมชนของตน นับเป็นคุณูปการแก่ประเทศจีนอย่างใหญ่หลวง


ด้านเศรษฐกิจและสังคม เริ่มตั้งแต่นับพันปีเป็นต้นมา บรรพบุรุษชาวจ้วงเริ่มรู้จักใช้และทำเครื่องมือที่ทำจากหินเช่น ขวานหิน มีดหิน เสียมหินแล้ว เครื่องมือดังกล่าวใช้ในการล่าสัตว์และทำการเกษตร ในสมัยฉินและฮั่น ชาวจ้วงที่อาศัยอยู่บริเวณทางตะวันออกของกว่างซีเริ่มเพาะปลูกข้าวแล้ว เริ่มมีการใช้แรงงานสัตว์จำพวกวัวควายและใช้เครื่องมือเหล็กในการทำนาด้วย นับเป็นกลุ่มชนที่มีวิวัฒนาการการเพาะปลูกและการผลิตสูงมากกลุ่มหนึ่งในยุคนั้น หลังจากสมัยสุยและถัง ชาวจ้วงเริ่มใช้ไถเหล็กและไถคราดเหล็กแบบเหยียบ เริ่มรู้จักใช้แร่ธาตุธรรมชาติ ตีเหล็ก พัฒนาการทอผ้า และงานหัตถกรรมอื่นๆ ในสมัยหมิงผลผลิตจากชุมชนชาวจ้วงส่งเลี้ยงผู้คนในประเทศไปทั่วสารทิศ ถึงสมัยชิงการผลิตของชาวจ้วงพัฒนาจนเท่าเทียมกับชาวฮั่น แต่ในยุคกว๋อหมินตั่งไม่ได้ให้ความสนใจการพัฒนาการผลิตและอาชีพของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนชาวจ้วงพัฒนาไปอย่างช้า ๆ

หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชุมชนชาวจ้วงเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รัฐบาลให้อำนาจในการปกครองตนเองแก่ชนกลุ่มน้อย ชุมชนชาวจ้วงได้รับการก่อตั้งให้เป็นเขตปกครองตนเองหลายแห่ง ได้แก่

ปี 1952 ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวจ้วงขึ้นที่ เมืองกุ้ยซี มณฑลกว่างซี (广西省桂西
壮族自治区Guǎnɡxīshěnɡ Guìxī Zhuànɡ Zú zìzhìqū) รวมอาณาเขตถึง 41 อำเภอ
ปี 1958 ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวจ้วงชาวเหมียวขึ้นที่เมืองเหวินซาน มณฑลยูนนาน (云南省文山壮族苗族自治州Yúnnánshěnɡ Wénshān Zhuànɡ Zú Miáo Zú zìzhì zhōu)
ปี 1962 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวจ้วงชาวเหยาขึ้นที่อำเภอเหลียนซาน มณฑลกว่างตง (广东省连山壮族瑶族自治县 Guǎnɡdōnɡshěnɡ Liánshān Zhuànɡ Zú Yáo Zú zìzhìxiàn)
ภายใต้ความร่วมมืออันดีของชาวจ้วง และการสนับสนุนของรัฐบาลกิจการด้านการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิตในชุมชนชาวจ้วงพัฒนารุดหน้าไปมาก นอกจากนี้กิจการด้านการศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม การสื่อสารก็ได้รับการเอาใจใส่และยกระดับขึ้น นำความอยู่ดีกินดีและสภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาสู่ชุมชนชาวจ้วง มีการทำการค้าทั้งกับในและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนชาวจ้วงมีความเจริญก้าวหน้าและขยายวงกว้างอย่างไม่หยุดยั้ง


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวจ้วงที่อาศัยอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำได้รับขนานนามว่า “รมย์” ส่วนที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซ้ายได้รับขนานนามว่า “กลอน” ซึ่งหมายความว่า ชาวจ้วงช่ำชองการร้องรำทำเพลง รักชีวิตที่สนุกสนานรื่นรมย์ ดังจะเห็นว่าชาวจ้วงมีเทศกาลร้องรำทำเพลงที่จัดเป็นประจำทุกปี เรียกเทศกาลนี้ว่า “ตลาดนัดจำเรียง” จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 3 เดือน 3 ของทุกปี มีชาวจ้วงจากทั่วสารทิศนับพันนับหมื่นมาร่วมกันขับลำนำรำฟ้อนกัน เนื้อหาของเพลงชาวจ้วงมีหลากหลาย เช่น เพลงเชื้อเชิญ เพลงวิงวอน เพลงโต้ เพลงยกย่อง เพลงส่ง เพลงลา เพลงไล่ เพลงรับ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ชาวจ้วงจึงได้รับการขนานนามว่า “เทพแห่งบทเพลง” ในงานตลาดนัดจำเรียงนี้ชาวจ้วงยังมีกิจกรรมรื่นเริงและมีอาหารการกินอีกมากมาย ที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์คือ “ข้าวเบญจรงค์” คือธัญพืชห้าสี การกินข้าวเบญจรงค์ก็หมายถึงการอวยพรให้การเพาะปลูกธัญพืชต่างๆได้ผลผลิตที่ดีนั่นเอง ในงานเทศกาลนี้ชาวจ้วงที่ยูนนานจะนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรรมต่างๆมาแลกเปลี่ยนกันด้วย งานนี้จัดขึ้นในเดือนสามซึ่งเป็นฤดูกาลเริ่มเพาะปลูก การจัดงานนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกอันแสนเหน็ดเหนื่อยที่จะมาถึง

ตั้งแต่สมัยถังเป็นต้นมาชาวจ้วงก็เริ่มมีการเต้นรำแล้ว ความจริงมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เริ่มมาชัดเจนเอาในสมัยถังนี่เอง ระบำที่มีชื่อเสียงเช่น ระบำตำข้าว ในสมัยซ่งประดิษฐ์ระบำขึ้นอีกหลายระบำ เช่น ระบำเก็บชา ระบำช้อนกุ้ง ระบำวัว เป็นต้น ท่วงท่าการเต้นระบำของฝ่ายชายมีท่าทีหนักแน่นทรงพลัง ฝ่ายหญิงอ่อนช้อยนุ่มนวล ระบำดังกล่าวสืบทอดมาจนปัจจุบัน ในสมัยฮั่น ชาวจ้วงได้รับอิทธิพลด้านนาฏศิลป์การแสดงของชาวฮั่นผสมผสานกับศิลปะดนตรีและการเต้นรำของตน เกิดมีการแสดงอุปรากรจ้วงและละครหุ่นไม้จ้วงขึ้น อุปรากรจ้วงยังแบ่งเป็น อุปรากรจ้วงเหนือ(北路壮剧Běi lù Zhuànɡjù) ได้รับความนิยมมากในกลุ่มชนชาวจ้วงแถบเมืองเถียนหลิน(田林Tiánlín) ซีหลิน(西林Xīlín) ป่ายเซ่อ(百色Bǎisè) อุปรากรจ้วงใต้ (南路壮剧Nánlù Zhuànɡjù) ได้รับความนิยมแถบเมืองเต๋อป่าว (德保Débǎo) ชิงซี(青西Qīnɡxī) เครื่องดนตรีของชาวจ้วงมีซอกะโหลกน้ำเต้า ซอกระดูกม้า ขลุ่ย พิณสามสาย ซอเอ้อร์หู โหม่ง ฆ้อง กลอง เป็นต้น


ด้านโบราณวัตถุและโบราณสถาน พบภาพเขียนสีโบราณตามหน้าผาในชุมชนชาวจ้วง ในระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรนับตั้งแต่ เมืองหนิงหมิง (宁明Nínɡmínɡ) หลงโจว(龙州Lónɡzhōu) ผิงเสียง(凭祥Pínɡxiánɡ) ฉงจั่ว(崇左Chónɡzuǒ) ฝูสุย(扶绥Fúsuí) ของมณฑลกว่างซี มีภาพเขียนสีกว่า 60 กลุ่ม เป็นภาพคน สัตว์และสัญลักษณ์รูปทรงต่างๆ เป็นเครื่องยืนยันได้ถึงอารยธรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความสามารถด้านจิตรกรรมของบรรพบุรุษชาวจ้วง เนื้อหาของภาพเขียนสีที่พบเป็นการเล่าเรื่องราวการดำรงชีวิต และการปีนขึ้นไปเขียนสีบนหน้าผาสูงชัน ทั้งยังพบว่ากลองมโหระทึกซึ่งถือเป็นสิ่งของล้ำค่าของชาวจ้วง ก็ปรากฏอยู่ในภาพเขียนสีนี้ด้วย
http://images.china.cn/attachement/jpg/site1000/20081209/000bcdb95f170aa81b8c26.jpg http://pic14.nipic.com/20110522/2967589_131150722108_2.jpg
http://www.bn888.com/UpFile/2011527163639.jpg

งานด้าน ศิลปะหัตถกรรม ผ้าแพรของชาวจ้วงงดงามมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว ทอขึ้นจากใยสำลีและไหมห้าสี ลวดลายเด่นชัด มีความคงทน ผ้าแพรของชาวจ้วงมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยถังและซ่ง นับเวลากว่าพันปีมาแล้ว จนถึงสมัยชิง วิวัฒนาการการทอผ้าแพรจ้วงเผยแพร่สู่ชุมชนชาวจ้วงทั่วไป กลายมาเป็นสินค้าพื้นเมืองชิ้นเอกของชาวจ้วง หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน การทอแพรของชาวจ้วงได้รับการสนับสนุนวิทยาการที่ทันสมัย มีการคิดค้นลวดลายใหม่ๆที่งดงามและหลากหลาย การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ผ้าแพรก็กว้างขวางมากขึ้น แต่เดิมที่ใช้เป็นเสื้อผ้า พัฒนามาเป็นเครื่องประดับตกแต่ง ภาพแขวนผนัง ผ้าม่าน ผ้าคลุมโต๊ะ เตียง โซฟา เป็นต้น ปัจจุบันโรงงานผลิตแพรของชาวจ้วงที่เมืองจิ้งซี (靖西Jìnɡxī) ปินหยาง (宾阳Bīnyánɡ) ของมณฑลกว่างซี เป็นโรงงานผลิตที่มีชื่อเสียง และส่งออกผ้าแพรจ้วงจำหน่ายไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ

ศิลปะ การต่อสู้ของชาวจ้วงมีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ในสมัยหมิงชาวจ้วงที่เมืองกุ้ยซี (桂西Guìxī) เมื่อเด็กอายุครบสิบขวบจะต้องฝึกมวยจ้วง ชาวจ้วงเองก็รักและนิยมฝึกมวยนี้เช่นกัน ทุกๆปี เมื่อว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยว ชาวจ้วงจะจัดประลองมวยจ้วงขึ้น เพื่อหาผู้ที่มีความสามารถโดดเด่น และยกย่องให้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดและสอนมวยจ้วงให้กับชนรุ่นหลังต่อไป

ด้าน ขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งงานของชาวจ้วงแต่เดิมพ่อแม่เป็นผู้จัดการให้ แต่ก่อนการแต่งงานหนุ่มสาวสามารถเลือกคู่คนรักได้โดยอิสระ ยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว หลังพิธีแต่งงานฝ่ายหญิงกลับไปอยู่บ้านเดิมของตน ไม่ย้ายเข้าบ้านฝ่ายชาย จนถึงเทศกาลสำคัญหรือฤดูการทำนาและฤดูเก็บเกี่ยวจึงจะย้ายมาอยู่บ้านสามี เพื่อช่วยบ้านสามีทำงาน ทำให้ฝ่ายหญิงมีความเป็นอิสระมาก ซึ่งอาจกินเวลานานสามถึงห้าปีก็ได้ ต่อเมื่อตั้งครรภ์จึงจะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของบ้านฝ่ายชายได้อย่างเต็ม ตัว ปัจจุบันชุมชนจ้วงบางแห่งยังคงรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ ต่อมาชาวจ้วงรู้สึกว่าไม่เหมาะสม จึงยกเลิกธรรมเนียมนี้ไป โดยให้ฝ่ายหญิงย้ายเข้าบ้านฝ่ายชายหลังจากแต่งงาน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิตเลยทีเดียว

บ้าน เรือนที่อยู่อาศัยของชาวจ้วงคล้ายคลึงกับชาวฮั่น สร้างบ้านในรั้วรอบ สร้างเป็นบ้านสองชั้น ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ชั้นล่างเป็นคอกเลี้ยงสัตว์และเก็บข้าวของ แต่ในระยะหลังการสร้างบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยแยกคอกสัตว์ออกจากที่พักอาศัย

การ แต่งกายของชาวจ้วงแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ชาวจ้วงฝั่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกว่างซี หญิงสูงอายุสวมเสื้อไม่มีปก ผ่าอกเฉียงไปทางซ้าย ปักลวดลายตามชายขอบของแขนเสื้อ ชายเสื้อ คอเสื้อ สวมกางเกงขากว้าง มีผ้าคาดเอวที่ปักลวดลายสวยงาม และนิยมใส่เครื่องประดับที่ทำจากเงิน ส่วนชาวจ้วงฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของกว่างซี แถบเมืองหลงโจว (龙州Lónɡzhōu) ผิงเสียง (凭祥Pínɡxiánɡ) หญิงสวมเสื้อสีดำไม่มีปก ผ่าอกเฉียงลงทางซ้าย คลุมด้วยผ้าผืนสี่เหลี่ยมสีดำ สวมกางเกงขายาวและกว้าง สีดำ ส่วนชายสวมเสื้อคอจีนเหมือนอย่างชาวฮั่น ผ้าที่ใช้ตัดเย็บทอด้วยฝีมือชาวจ้วงเอง แต่ปัจจุบันมีผ้าทอด้วยเครื่องจักรแล้ว แต่เดิมชาวจ้วงนิยมหักฟันสองสามซี่แล้วเสริมด้วยฟันทอง นอกจากนี้ยังนิยมสักลวดลายตามร่างกาย แต่ปัจจุบันไม่สู้นิยมนัก

ด้าน อาหารการกิน ชาวจ้วงชอบกินอาหารจำพวกของหมักดอง ปลาดิบเป็นอาหารเมนูโปรดของชาวจ้วง อาหารหลักคือข้าวเจ้า และข้าวโพด ในเทศกาลสำคัญใช้แป้งที่โม่จากข้าวเจ้าทำอาหารหลายประเภท หญิงชาวจ้วงนิยมเคี้ยวหมากให้ฟันดำ เพราะเชื่อว่าเป็นความงามและแข็งแรง ในงานแต่งงาน สินสอดที่ขาดมิได้เลยคือ “หมาก

ด้าน ความเชื่อ ชาวจ้วงนับถือบรรพบุรุษ และบูชาสรรพเทพตามธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีเทพประจำอยู่ เช่น เทพน้ำ เทพต้นไม้ เทพธรณี เทพภูพาน เทพเตา เทพอาทิตย์ เป็นต้น หลังจากสมัยถังเป็นต้นมาศาสนาพุทธและเต๋าเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ชุมชนชาวจ้วง ในยุคปัจจุบันหมอสอนศาสนาคริสต์เริ่มเข้าสู่ชุมชนชาวจ้วง และได้สร้างโบสถ์คริสต์ขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากชาวจ้วงมากนัก ชาวจ้วงยังคงนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการบูชาบรรพบุรุษและเทพต่างๆ ตามที่เคยนับถือมาแต่เดิม

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2555 เวลา 14:59

    สนใจเรื่องเพลงที่ชาวจ้วงร้องในพิธีแต่งงานค่ะ อาจาร์ยพอจะมีข้อมูลไหม รบกวนด้วยค่ะ yupanich_6@hotmail.com

    ตอบลบ